แนวคิดเรื่องความขัดแย้งในสังคมไทย

แนวคิดเรื่องความขัดแย้งในสังคมไทย


(สรุปสาระสำคัญซึ่งนำเสนอในการประชุมระดมสมอง  เรื่อง  “แนวคิดเรื่องความขัดแย้งในสังคมไทย : ปัจจัยแห่งความขัดแย้ง  โดยศึกษากรณีปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง  และความรุนแรงในภาคใต้”  จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  เมื่อวันที่  18  มิถุนายน  2552  ณ  ห้องประชุมสิปปนนท์  เกตุทัต  ชั้น  1  อาคาร  4)

 

  • ปัญหาทางสังคมเป็นสิ่งที่ซับซ้อนเพราะเป็นปัญหาที่เกิดจากการรวมตัวกันของคนจำนวนมาก ไม่สามารถแก้ไขได้ง่ายแบบปัญหาทางวิทยาศาสตร์ทั่วๆ ไป

 

  • จุดบอดที่สำคัญของการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งคือ ไม่ได้ให้เจ้าของปัญหาที่แท้จริงเข้ามามีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหาของตัวเอง เจ้าของปัญหาในที่นี้คือ ประชาชน ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาแทน และให้ประชาชนมีส่วนร่วมแค่เพียงรับฟังเท่านั้น

 

  • รัฐบาลมีเจตนาดี แต่การไปถือเป็นเจ้าของเรื่อง  เมื่อถือเป็นเจ้าของเรื่องก็จะดำเนินการต่างๆ  ตามที่เห็นว่าดี  ซึ่ง 1) อาจจะไม่ถูก  2) ไม่เป็นที่เข้าใจ  3) ไม่ได้รับความร่วมมือ  และ  4) ไม่ยั่งยืน  เพราะคนที่จะทำให้ยั่งยืนคือประชาชน การจับประเด็นความขัดแย้งเพื่อนำไปเป็นส่วนหนึ่งของแผนฯ  11  จำเป็นต้องทบทวนกันใหม่โดย  “ให้ประชาชนมีบทบาทในการคลี่คลาย  แก้ปัญหา  และป้องกันปัญหา  ตลอดจนพัฒนาความเข้มแข็งเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต”

 

  • การแก้ไขความขัดแย้งมีกุญแจสำคัญ 3 ดอก ที่จะต้องไปด้วยกัน คือ

o   ทัศนคติ ความรู้สึก อารมณ์ บรรยากาศ

o   กระบวนการ  วิธีการ  ขั้นตอน

o   เนื้อหาสาระ  การตั้งโจทย์  การตอบคำถาม

กุญแจทั้งสามดอกนี้ต้องไปด้วยกัน หมุนวนไป เริ่มต้นจากเวทีเล็กๆ และขยายใหญ่ขึ้นไป แต่ก็ต้องพยายามเป็นขั้นตอน จุดสำคัญคือสร้างทัศนคติและกระบวนการ การสร้างทัศนคติที่ดีหรือจัดกระบวนการที่เหมาะสมก็จะไปเสริมทัศนคติ แล้วเรื่องสาระจะตามมาเอง การตั้งโจทย์ ต้องเปลี่ยนจุดยืนมาเป็นจุดประสงค์ หาจุดประสงค์ที่ตรงกันจากนั้นมาช่วยกันหาวิธีการ ในส่วนกระบวนการก็ต้องตกลงร่วมกันเสมอ จึงจะเกิดความยั่งยืน

 

  • ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องปรับกระบวนทรรศน์ (Paradigm) ใหม่โดยเปลี่ยนจุดศูนย์กลางของการแก้ไขปัญหาจากรัฐบาลไปเป็นประชาชน และรัฐบาลมีหน้าที่เป็นผู้สนับสนุนให้งานภาคประชาชนสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ ส่วนนักวิชาการนั้นก็มีหน้าที่เป็น Facilitator คอยสนับสนุนข้อมูลเพื่อการคิดและตัดสินใจของประชาชน

 

  • แม้ว่าการพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่มีประชาชนเป็นตัวขับเคลื่อนหลักจะใช้เวลานานในแต่ละกระบวนการ แต่ท้ายที่สุดแล้ว นี่อาจเป็นวิธีเดียวที่ประสบความสำเร็จได้อย่างแท้จริงและยั่งยืน ในขณะที่วิธีการแบบเก่าที่รัฐบาลเป็นผู้นำและแก้ปัญหาเพื่อแค่ให้ผ่านพ้นไป อาจจะไปก่อให้เกิดปัญหาซ้ำขึ้นมาอีกและกลายเป็นปัญหาเรื้อรังจนไม่คุ้มค่ากัน

 

  • การให้ประชาชนมีส่วนร่วมอาจต้องเริ่มต้นในระดับแต่ละพื้นที่ เพื่อให้มีความเฉพาะเจาะจงกับปัญหาของท้องถิ่น ถ้ามองปัญหาเหล่านี้ในระดับประเทศ อาจทำให้เข้าใจภาพผิดไป ความเข้าใจอย่างถูกต้องจากเวทีระดับพื้นที่เหล่านี้จะมีอิทธิพลส่งผลต่อเวทีระดับชาติได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง การสร้างความสมานฉันท์

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/276055

<<< กลับ

แนวคิด ทิศทางการพัฒนาประเทศในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11

แนวคิด ทิศทางการพัฒนาประเทศในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11


(สรุปคำอภิปราย “แนวคิด ทิศทางการพัฒนาประเทศในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11” ในการประชุมประจำปี 2552 เรื่อง “จากวิสัยทัศน์ 2570…สู่แผนฯ 11” วันศุกร์ที่ 10 กรกฎาคม 2552 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ)

 

เป็นการนำเสนอตัวชี้วัดความสำเร็จและกงล้อหลักสู่ความสำเร็จของการพัฒนา  ผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาและโครงสร้างที่เอื้ออำนวย กระบวนการวางแผนที่เป็นของประชาชนโดยภาครัฐมีส่วนร่วมและสนับสนุน และการวางแผนในลักษณะเคลื่อนที่ โดยมีสาระสำคัญดังนี้

  1. ภาพรวมของการวางแผน การวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ผ่านมา มีการอภิวัตน์หรือการปรับปรุงครั้งสำคัญ 2 ครั้ง คือ ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 3 มีการเพิ่มเติมเรื่องการพัฒนาสังคมเข้าไปในแผน และในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 ที่มีการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำแผนอย่างสูงมาก ซึ่งในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 นี้ น่าจะถึงเวลาที่ควรมีการอภิวัตน์การวางแผนอีกครั้ง โดยควรเปลี่ยนชื่อแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็น “แผนพัฒนาประเทศ” เพื่อให้เป็นการวางแผนที่ครอบคลุมทุกเรื่องที่สำคัญอย่างเป็นบูรณาการ ไม่จำกัดเฉพาะด้านเศรษฐกิจและสังคมเท่านั้น และควรให้ประชาชนเป็นเจ้าของเรื่องและมีบทบาทสำคัญในการวางแผนและแก้ไขปัญหา
  2. ตัวชี้วัดความสำเร็จของการพัฒนา และกงล้อหลักสู่ความสำเร็จของการพัฒนา
    • ตัวชี้วัดความสำเร็จของการพัฒนา ควรมีตัวชี้วัด “ความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” ใน 4 ส่วนอย่างได้ดุล ดังนี้
  • ในเขตการปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ ตำบล เทศบาล จังหวัด
  • ในองค์กรที่คนมาทำงานหรือทำกิจกรรมร่วมกันในลักษณะองค์กรหรือสถาบัน
  • ในประเด็นสำคัญที่ภาคประชาชนร่วมกับภาครัฐเห็นว่าสำคัญ
  • ระดับประเทศ

ปัจจุบัน สศช. จัดทำตัวชี้วัดเฉพาะในระดับประเทศเท่านั้น สำหรับตัวชี้วัดข้อ 1 และ 2 ควรให้ประชาชนสร้างตัวชี้วัดเอง ตลอดจนใช้ตัวชี้วัดเพื่อการวางแผน การจัดการ การปฏิบัติ ติดตามผล และปรับปรุงพัฒนาด้วยชุมชนเองจึงจะเกิดผล

  • กงล้อหลักสู่ความสำเร็จของการพัฒนา
  • ความมีสุขภาวะ ทางกาย ทางใจ ทางปัญญา ทางสังคม
  • ความดี ได้แก่ การทำสิ่งเป็นคุณ ไม่ทำสิ่งเป็นโทษ สร้างศักยภาพที่จะทำดี
  • ความสามารถ ในการคิด ในการทำ ในการจัดการ

ดังนั้น การสร้างตัวชี้วัดความสำเร็จของการพัฒนา จึงควรวัดผลที่แสดงความมีสุขภาวะ การมีความดี การมีความสามารถ เป็นสำคัญ

  1. ผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนา และโครงสร้างที่เอื้ออำนวยต่อผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนา

3.1  ผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนา

  • ประชาชนที่รวมตัวกันในลักษณะเขตการปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีรัฐธรรมนูญและกฎหมายรองรับ เช่น ตำบล เทศบาล จังหวัด
  • ประชาชนที่รวมตัวกันในลักษณะองค์กรหรือสถาบัน อาทิ สถานประกอบการ หน่วยงานของรัฐ สถานศึกษา เป็นต้น
  • ประชาชนและภาครัฐที่ร่วมกันดูแลจัดการประเด็นที่เห็นร่วมกันว่าสำคัญ เช่น ภาวะโลกร้อน เศรษฐกิจสร้างสรรค์ เป็นต้น

3.2    โครงสร้างที่เอื้ออำนวยต่อผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนา

(1)  โอนอำนาจการจัดการพัฒนาพื้นที่ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างสมบูรณ์และบูรณาการ รวมถึงการมีจังหวัดที่เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ตามรัฐธรรมนูญ

(2)  ยังคงมีผู้ว่าราชการจังหวัดพร้อมสำนักงานเล็กๆ มีหน้าที่ประสานนโยบายส่วนกลางกับ อบจ. และกลุ่มจังหวัด

  1. กระบวนการวางแผนที่เป็นของประชาชนโดยภาครัฐมีส่วนร่วมและสนับสนุน
    • กระบวนการวางแผนที่เป็นของประชาชน โดยการจัด “สานเสวนาประชาชน” (Citizen Dialogue) ให้ครบทุกส่วนของประชาชนที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนา โดยใช้วิธีสุ่มตัวอย่างจากแต่ละส่วน ได้แก่
  • ประชาชนในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ ตำบล เทศบาล จังหวัด (เชิงท้องถิ่น)
  • ประชาชนที่รวมตัวกันในลักษณะองค์กรหรือสถาบัน (เชิงองค์กร)
  • ประชาชนและภาครัฐที่ร่วมกันดูแลจัดการประเด็นที่เห็นร่วมกันว่าสำคัญ (เชิงประเด็น)
    • ภาครัฐมีส่วนร่วมและสนับสนุน ดังนี้

(1)  ภาครัฐ หมายรวมถึง รัฐบาล ฝ่ายค้าน รัฐสภา หน่วยงานของรัฐ

(2)  ประชาชน หมายรวมถึง ชุมชนท้องถิ่น ชุมชนองค์กร ภาคธุรกิจ ภาควิชาการ ภาคศาสนา ภาคประชาสังคม (Civil Society) องค์กรสาธารณประโยชน์ องค์กรพัฒนาเอกชน กลุ่ม ชมรม เครือข่าย ฯลฯ

(3)  ภาครัฐมีส่วนร่วม หมายรวมถึง ร่วมในกระบวนการวางแผน ในการปฏิบัติตามแผน ในการวัดผลและเรียนรู้เพื่อปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

(4)  ภาครัฐสนับสนุน หมายรวมถึง สนับสนุนกระบวนการวางแผน สนับสนุนการปฏิบัติตามแผน ตลอดจนการวัดผลเพื่อเรียนรู้และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และสนับสนุนด้วยโครงสร้าง กลไก กฎหมาย นโยบาย มาตรการ งบประมาณ ฯลฯ ที่เหมาะสม

  1. การวางแผนในลักษณะ “เคลื่อนที่” (Moving Plan) เนื่องจากสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากเมื่อถึงเวลาใช้แผน ทำให้แผนดังกล่าวอาจไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปนั้นๆ อาทิ วิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในช่วงการใช้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 และ 10 จึงจำเป็นต้องมีการวางแผนที่มีการ “เคลื่อนที่” (Moving) ซึ่งหมายถึง การทบทวนแผน (Review) หรือ “วางแผนใหม่” (Replan) ทุก 2 ปี พร้อมการ “เคลื่อนที่” ไปข้างหน้า 2 ปี โดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่

5.1  แผนระยะสั้น ระยะเวลา 2 ปี นับจากปัจจุบัน เน้นจุด “คานงัด” สำคัญในการเคลื่อนสู่แผนระยะกลางอย่างน่าพึงพอใจ ตัวอย่างเช่น การบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างสร้างสรรค์และมีคุณค่า การฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจอย่างมีจินตนาการและสร้างสรรค์เพื่อผลทั้งระยะสั้นและระยะยาว การสร้างความสมานฉันท์ในสังคมและการเมืองด้วยกระบวนการสันติวิธี การสร้างความเจริญสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยให้ประชาชนเป็นเจ้าของเรื่องและมีบทบาทสำคัญ เป็นต้น

5.2  แผนระยะกลาง ระยะเวลา 6 ปี เน้นยุทธศาสตร์ (Strategy) และแผนงานสำคัญ (Program)

5.3  แผนระยะยาว ระยะเวลา 12 ปี เน้นผลสำเร็จสุดท้ายอันพึงปรารถนาร่วมกัน (หรือวิสัยทัศน์) และทิศทางสำคัญในการบรรลุผลสำเร็จสุดท้าย

ดังนั้น เมื่อรวมระยะเวลาของแผนทั้ง 3 ระยะแล้ว จะเป็นระยะเวลาในการวางแผนทั้งหมด 20 ปี ซึ่งสำหรับการวางแผนแล้ว ระยะเวลา 20 ปี หรือแม้กระทั่ง 50 ปี เป็นระยะเวลาที่ไม่ยาวนานหรือไกลเกินไป

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/293263

<<< กลับ

บทบาทของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในการนำสังคมไทย ก้าวไปสู่อนาคตที่พึงประสงค์

บทบาทของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในการนำสังคมไทย ก้าวไปสู่อนาคตที่พึงประสงค์


สรุปการสัมภาษณ์ ให้กับคณะนักวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์กรในกำกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี)  เมื่อวันอังคารที่ 15 ธันวาคม 2552  ณ บ้านเลขที่ 54 ถนนสุขุมวิท 61)

 

ผู้เข้าร่วมการสัมภาษณ์

 

  1. นางสาวกิ่งกนก           ชวลิตธำรง                นักวิจัยนโยบาย สวทน.
  2. นายนนทวัฒน์            มะกรูดอินทร์             ผู้ช่วยนักวิจัยนโยบาย สวทน.
  3. นายปรินันท์               วรรณสว่าง                ผู้ช่วยนักวิจัยนโยบาย สวทน.
  4. นางสาวพสชนัน          นิรมิตรไชยานนท์        ผู้ช่วยนักวิจัยนโยบาย สวทน.
  5. นางสาวภัทรวรรณ        จารุมิลินท                 ผู้ช่วยนักวิจัยนโยบาย สวทน.
  6. นางสาวสิริพร              พิทยโสภณ               นักวิจัยนโยบาย สวทน.
  7. นางสาวอุบลทิต           จังติยานนท์              ผู้ช่วยนักวิจัยนโยบาย สวทน.

 

 

สรุปการสัมภาษณ์

 

1. ทิศทางอนาคตในการพัฒนาสังคมไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า มีประเด็นอะไรที่น่าจับตามองเป็นพิเศษ

 

คำว่า “สังคม” ในที่นี้ หมายถึง “ประเทศ ซึ่งรวมถึง การเมือง เศรษฐกิจ ธรรมชาติ มนุษย์ ดวงดาว จักรวาล เป็นต้น”

 

ประเด็นใหญ่ของสังคม ประกอบด้วย

 

  • ธรรมชาติ (ทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และบรรยากาศ) – ที่ผ่านมา โลกของเราเปลี่ยนแปลงไปมากทั้งเย็นจนเป็นน้ำแข็ง ร้อนระอุ ในอนาคต น่าจะเกิดปัญหาหลายเรื่องทั้งสิ่งแวดล้อม สารพิษ น้ำท่วม แผ่นดินทรุด (การเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติเกิดขึ้นจากการกระทำของมนุษย์และธรรมชาติ ส่งผลให้ธรรมชาติเกิดความไม่สมดุล)
  • มนุษย์ – ความไม่สมดุลระหว่างคนและธรรมชาติทำให้เกิดปัญหาต่างๆ มากมาย ในอดีต ยังมีประชากรจำนวนไม่มาก เมื่อเกิดภัยธรรมชาติในพื้นที่นั้นๆ คนสามารถย้ายถิ่นฐานได้
  • ระบบการบริหารจัดการบ้านเมือง – ระบบทั้งหมดของประเทศ เช่น ระบบการเมือง ระบบราชการ ระบบการปกครองท้องถิ่น ระบบการศึกษา ระบบเศรษฐกิจ ระบบวัฒนธรรม (วัตถุประสงค์ของการแยกระบบ คือ สะดวกในการบริหารจัดการ ไม่ใช่เพราะเป็นสิ่งที่ควรจะเป็น) ควรจะมีปฏิสัมพันธ์กัน (ในระบบใหญ่ มีระบบย่อย ไปจนถึงระบบย่อยที่สุด) ทำอย่างไรให้สามารถบริหารจัดการบ้านเมืองได้ดี มีคุณภาพ ในปัจจุบัน บ้านเมืองเรามีปัญหาเรื่องความขัดแย้งแตกแยกในหลายมิติ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของการความขัดแย้งเท่านั้น

 2. อะไรที่จะนำสังคมไทยก้าวไปสู่ภาพอนาคตที่พึงประสงค์ในอีก 10 ปีข้างหน้า 

 

ภาพพึงประสงค์ของสังคมในอนาคต คือ สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน โดยใช้กลไก 3 เสาหลักดังแสดงในรูปด้านล่าง

2.1       ปัจจัยสำคัญในการนำสังคมไทยก้าวไปสู่อนาคตที่พึงประสงค์  

  • ระบบการเมือง – การมีระบบการเมืองที่ดี จะทำให้สามารถดูแลบริหารจัดการบ้านเมืองได้มีประสิทธิภาพ สามารถแก้ไขปัญหาของประเทศได้ เช่น ความยากจน

 

2.2       ประเด็นนโยบายที่คิดว่าสำคัญและเร่งด่วน 

  • การเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ
  • การพัฒนามนุษย์ให้มีคุณภาพ
  • การพัฒนาระบบการเมือง

 

2.3       บทบาทของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.)  ในการนำสังคมไทยก้าวไปสู่อนาคตที่พึงประสงค์

  • วทน. กับการพัฒนา – วทน. มีบทบาทในการพัฒนาเรื่องอื่นๆ  ทำตามความต้องการของสังคม มากกว่าที่จะอยู่ตามลำพัง โดยการไปค้นหาสิ่งดีๆ ที่มีอยู่แล้ว และนำมาขยายผลต่อไปในวงกว้าง
  • วทน. กับการเมือง – วทน. เช่น ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ การจัดการความรู้ ช่วยให้ข้อมูลข่าวสารเข้าถึงประชาชนมากขึ้น การสื่อสารระหว่างท้องถิ่นและส่วนกลางดีขึ้น ทำให้คนรู้เท่าทัน แก้ไขปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน ลดปัญหาความขัดแย้ง ซึ่งการเมืองท้องถิ่นมีบทบาทสำคัญมากในเรื่องนี้
  • วทน. กับการเรียนรู้ – วทน. เช่น ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ จะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของประชาชน
  • วทน. กับเศรษฐกิจชุมชน – วทน. สามารถรวบรวมองค์ความรู้ที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ช่วยให้สินค้าชุมชนมีคุณภาพดีขึ้น  มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น

 

2.4       กลไกที่จะนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม 

  • พลัง 3 ส่วนเกื้อหนุนกัน (พลังทางความรู้ พลังทางสังคม พลังทางนโยบาย) – พลังทางความรู้จะได้ผลเร็ว ส่วนพลังทางสังคมจะต้องใช้เวลาในการขับเคลื่อน
  • การกระจายอำนาจการปกครอง – องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาสังคมมาก ในอนาคต แนวคิดนี้มีแนวโน้มที่จะได้รับการสนับสนุนเพิ่มมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากการมีนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)  นายกเทศมนตรี  และนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ที่มีคุณภาพมากขึ้น
  • การทำงานร่วมกันเป็นเครือข่าย – ต้องทำงานร่วมกัน ไม่แข่งขันกัน พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน โดยให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ยึดตนเองเป็นหลัก
  • การสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม – ในการกำหนด/ผลักดันนโยบาย ควรจะมีผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดมาช่วยกัน
  • การสำรวจหาต้นแบบที่ดีมาขยายผล – ควรนำผลงานวิจัยชุมชนที่ประสบความสำเร็จของชาวบ้าน มาต่อยอดขยายผลเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
  • การจัดทำแผนชุมชน – สร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับคนในชุมชน ทำให้คนมีความคิดเป็นเหตุเป็นผล เป็นระบบ ในระยะแรก แผนชุมชนเกิดขึ้นตามธรรมชาติโดยชาวบ้านในชุมชน ต่อมา ได้มีการนำยุทธศาสตร์เข้ามาช่วยทำให้เกิดแผนชุมชนทั่วประเทศ

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/324275

<<< กลับ

ควรคุยโรดแมพเพื่อแก้วิกฤติ

ควรคุยโรดแมพเพื่อแก้วิกฤติ


(บทความลงในหนังสือกรุงเทพธุรกิจ  ฉบับวันศุกร์ที่  2  เมษายน  2553  หน้าที่ 2)

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  จัดราชดำเนินเสวนา  ในหัวข้อ “เนื้อหาที่ควรคุยในวิกฤติความขัดแย้ง”  โดยนายไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม  อดีตรองนายกรัฐมนตรี  กล่าวตอนหนึ่งว่าผู้ที่ถนัดกับการจัดการปัญหายากๆรู้ดีว่าวิกฤติเป็นโอกาสเช่นเดียวกับญี่ปุ่น เยอรมนี  ที่เผชิญกับวิกฤติสงครามโลกแต่พัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้ามาได้

สำหรับประเทศไทยได้เผชิญวิกฤติมาหลายครั้งเป็นวิกฤติที่ให้กำไรกับสังคมไทยการเจรจาระหว่างรัฐบาลกับ นปช.  2 ครั้งที่ผ่านมาถือว่าเป็นมือใหม่พอใช้ได้  กระบวนการยังไม่ดี  ควรวางกติกาก่อนเจรจา  เช่น  ไม่ด่าว่ากัน  ไม่เอาเรื่องอดีตมาพูด  ไม่ค้นหาว่าใครผิดใครถูก  ตั้งประเด็นในการเจรจาโดยเริ่มจากเรื่องง่ายๆถ้ามีกระบวนการปรับทัศนคติที่ดีจะเอื้ออำนวยให้เจรจาประสบความสำเร็จ

สิ่งที่ควรพูดคุยกันในวิกฤติความขัดแย้ง คือ โรดแมพเพื่อแก้วิกฤติและใช้โอกาสของวิกฤติ  เป็นยุทธศาสตร์ 3 ด้านเพื่อ  1. แก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง  สร้างการเมืองแบบร่วมคิดร่วมทำการเจรจาเพื่อยุติสงครามต้องชนะด้วยกัน  ถ้าตั้งสติให้ดีคงไม่มีใครคิดว่าการที่เราชนะแล้วอีกฝ่ายแพ้เป็นเรื่องดี  ถ้าคิดอย่างนั้นเป็นเพียงความคิดครึ่งทาง  คิดสุดทางคือ  ต้องชนะด้วยกัน

จึงหวังว่าสิ่งที่จะพูดจากันต่อไปคือการหาข้อสรุปที่พอใจร่วมกันแม้ว่าจะมีการแก้รัฐธรรมนูญก็ยังไม่สมบูรณ์เราต้องร่วมกันสร้างการเมืองประชาธิปไตยที่ประชาชนร่วมคิดร่วมทำจึงขอให้ใช้วิกฤติครั้งนี้เป็นโอกาสในการสร้างการเมืองที่ดี

ยุทธศาสตร์ที่ 2  คือ  การร่วมกันแก้ปัญหาเศรษฐกิจหนี้สินและความยากจนแบบบูรณาการ  ส่วนยุทธศาสตร์ที่ 3  คือ  แก้ปัญหาความไม่เป็นธรรม  สร้างความเป็นมิตรไมตรีในสังคม

                “ขณะนี้หลายเวทีจัดสัมมนาหาทางออกให้ประเทศพูดกันมากว่ายุบหรือไม่ยุบสภาเปรียบเหมือนบ้านหลังใหญ่ที่อยู่มานาน  ปลวกกินจนชำรุดพี่น้อง  2  คนทะเลาะกันให้รื้อบ้าน  คนหนึ่งให้รื้อใน 15 วัน  อีกคนขอรื้อใน 9 เดือน  ทั้งที่การรื้อบ้านเป็นเรื่องของคนทั้งครอบครัว  จะรื้อหรือปรับปรุงสร้างใหม่เป็นประเด็นที่คนทั้งครอบครัวต้องช่วยกันคิด  เช่นเดียวกับการฟื้นฟูประเทศที่เป็นเรื่องของคนไทยทั้งหมดไม่ว่าไพรหรืออำมาตย์”

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/351023

<<< กลับ

“วิกฤติ” คิดเชิงบวก (1)

“วิกฤติ” คิดเชิงบวก (1)


(บทสนทนากับ  อาจารย์ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ประธานมูลนิธิหัวใจอาสาและอดีตรองนายกรัฐมนตรี)

(ลงใน นสพ. ไทยโพสต์  6 มิถุนายน  2553 หน้าแทบลอยด์)

…………………………………..

“เราต้องวิจัยเชิงลึก เรื่องวิกฤติครั้งนี้ สาเหตุที่สลับซับซ้อน วิธีการที่จะสามารถคลี่คลายสาเหตุเหล่านั้น หรือว่าวิธีการที่จะทำให้เราหลุดจากพันธนาการของโครงสร้างองค์ประกอบหลายอย่างที่เมื่อรวมกันแล้วทำให้เราเกิดวิกฤติ เราจะไปจับที่จุดใดจุดหนึ่งจะเป็นการมองที่ตื้นเขินเกินไป เช่น ไปจับที่กลุ่มเสื้อแดง หรือไปเริ่มที่รัฐประหาร หรือกระทั่งย้อนหลังไปหลังพฤษภา 2535 มันก็ยังไม่ถูกต้องทีเดียว สิ่งที่เป็นพันธนาการสังคมไทยให้อยู่ในวังวนของปัญหาความขัดแย้ง ในบางระยะก็พัฒนาการมาเป็นความขัดแย้งรุนแรง เป็นสิ่งที่สะสมมาเนิ่นนาน ไม่ว่าจะเป็นระบบการเมือง ระบบราชการ ระบบของธุรกิจ ระบบการศึกษา วัฒนธรรม”

“เมื่อยังไม่ชัดเจนเรื่องการยุบสภาจึงเป็นประเด็นขัดแย้งอยู่ เหมือนกับเรายังมีเสี้ยนอยู่ในเนื้อ มันยังไม่ได้ถูกถอนออกไป มันอาจจะเป็นหนองขึ้นมาเมื่อไหร่ พุพองขึ้นมาเมื่อไหร่ก็ได้ หรือเป็นฝีอยู่ ซึ่งเราต้องเอาฝีนี้ออก เอาเสี้ยนนี้ออก ที่จริงไม่ใช่เสี้ยนหรอก เป็นตะปูด้วยซ้ำ มันคือตะปูที่ยังอยู่ในร่างกายเรา ฉะนั้นต้องเอาออก แต่วิธีเอาออกก็ไม่ใช่ว่าฝ่ายหนึ่งอยู่ดีๆ มาดึงไปโดยที่อีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้รับรู้ด้วยหรือไม่ได้เห็นด้วย หรือไม่ก็มาตีให้มันหนักเข้าไปอีกให้มันเจ็บหนักไปอีก ต้องมาคุยกันประเด็นนี้ เพราะมันอยู่ในแผนปรองดองแห่งชาติครั้งแรก และก็ยังเป็นประเด็นอยู่ ยังมีคนสงสัยข้องใจ ยังมีคนถือเป็นประเด็น และก็อาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งรอบใหม่ ความขัดแย้งที่จะต่อเนื่องไปอีก”

(-ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม)

…………………………………..

     หากเทียบกับภาวะบ้านเมืองตลอดช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา วันนี้หลายคนคิดว่าวิกฤติได้ผ่านพ้นไปแล้ว ทว่านี่คือภาวะที่ใบไม้นิ่งเพียงชั่วขณะ แต่ความขัดแย้งที่ถือว่ารุนแรงที่สุดในสังคมไทยยังคงอยู่ รอเพียงวันปะทุอีกครั้งหากเราไม่เรียนรู้และไม่ทำอะไรเลย

   ในประเทศไทยขณะนี้ความขัดแย้งทางความคิดลงลึกแทบจะทุกหมู่บ้าน ในชุมชนมีทั้งเหลืองและแดง  มองแทบไม่เห็นหนทางแห่งความสมานฉันท์ แต่ อาจารย์ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ซึ่งชีวิตทั้งก่อนและหลังตำแหน่งอดีตรองนายกฯ-รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ คลุกคลีกับงานพัฒนาชนบทและสังคมมาแทบทั้งชีวิต ชาวบ้านรู้จัก อ.ไพบูลย์ ดีพอๆ กับที่อาจารย์รู้จัก และเห็นวิวัฒนาการของประชาธิปไตยฐานรากว่าเข้มแข็งพอที่จะทำให้เชื่อมั่นได้ว่าจะพาให้ชุมชนก้าวผ่านความขัดแย้งหนนี้ไปได้

 

สร้างคุณค่า-จินตนาการร่วมกัน


ก่อนเกิดเหตุการณ์
 19 พ.ค. ไม่กี่สัปดาห์ แทบลอยด์ได้สัมภาษณ์ พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ และพูดถึงความพยายามที่จะเปิดวงสันติสานเสวนาของทุกฝ่ายของความขัดแย้ง โดยวางตัวอาจารย์เป็นคนกลาง เพื่อสกัดกั้นความรุนแรงที่เห็นอยู่ตรงหน้า แต่แล้วสิ่งนั้นก็ไม่มีโอกาสเกิดขึ้น

     สำหรับความรุนแรงครั้งล่าสุด อาจารย์ไพบูลย์เรียกว่าวิกฤติ ‘เมษา-พฤษภา มหาวินาศ (2553)’ และได้เขียนบันทึกแนวทางการฟื้นฟูและขับเคลื่อนประเทศไทยนับจากนี้

 

“ผมเสนอว่ามีอยู่ 6 ประเด็นใหญ่ที่ต้องจัดการ หนึ่งก็คือการเยียวยาที่ดี คำว่าดีนี่สำคัญนะ ดีหมายถึงว่าเหมาะสม เท่าเทียม มีประสิทธิภาพ สองก็คือการให้ความยุติธรรมที่ดี ก็คือความเป็นอิสระ ความโปร่งใส สามคือการค้นหาความจริง ก็ต้องค้นหาทั้งระดับต้นก็คืออะไรเกิดขึ้นจริงๆ และระดับลึก ซึ่งอันนี้ต้องใช้เวลา สี่คือการฟื้นฟูทั้งร่างกาย กายภาพ กิจการธุรกิจ และลึกลงไปถึงระดับจิตใจ ระดับบรรยากาศในสังคม อย่างหลังนี่จะยากกว่าส่วนแรก ข้อห้าคือการปฏิรูป ซึ่งจะเป็นเรื่องใหญ่เลย และหลายฝ่ายกำลังคิดกำลังพยายามทำ แต่ผมแถมข้อหกก็คือว่ารัฐบาลมีแผนปรองดองแห่งชาติ ห้าข้อแรกถือเป็นเรื่องของสังคม ซึ่งรวมรัฐบาล แต่ไม่ใช่ว่าเป็นของรัฐบาล และไม่ใช่อยู่ภายใต้รัฐบาล เป็นเรื่องของสังคมที่จะดูแลว่าการเยียวยานั้นดี ทั่วถึง เหมาะสม ดูแลว่าการให้ความเป็นธรรมนั้นทำได้อย่างเหมาะสม ถูกต้อง เท่าเทียม เป็นธรรม ดูแลว่าการค้นหาความจริงก็ทำได้อย่างเป็นอิสระ โปร่งใส และก็ได้ความจริงที่คนยอมรับได้ ดูแลว่าการฟื้นฟูต่างๆ สังคมก็ต้องมาช่วยกันทำ มาทำกันอย่างกว้างขวาง ทำให้ถ้วนทั่ว และดูแลว่าเรื่องการปฏิรูปก็ทำอย่างลึกซึ้งถ้วนทั่วเช่นเดียวกัน”

 

ความจริงระดับต้นรัฐบาลต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดำเนินการ  แต่ความจริงระดับ ‘ลึก’ คือสิ่งที่คนไทยต้องเรียนรู้กันเสียที

 

“ผมเห็นว่าควรจะมีคณะบุคคลมาศึกษาวิจัยเชิงลึก เรื่องวิกฤติครั้งนี้ สาเหตุที่สลับซับซ้อน วิธีการที่จะสามารถคลี่คลายสาเหตุเหล่านั้น หรือว่าวิธีการที่จะทำให้เราหลุดจากพันธนาการของโครงสร้างองค์ประกอบหลายอย่าง ที่เมื่อรวมกันแล้วทำให้เราเกิดวิกฤติ เราจะไปจับที่จุดใดจุดหนึ่งจะเป็นการมองที่ตื้นเขินเกินไป เช่น ไปจับที่กลุ่มเสื้อแดง หรือไปเริ่มที่รัฐประหาร หรือกระทั่งย้อนหลังไปหลังพฤษภา 2535 มันก็ยังไม่ถูกต้องทีเดียว สิ่งที่เป็นพันธนาการสังคมไทยให้อยู่ในวังวนของปัญหาความขัดแย้ง ในบางระยะก็พัฒนาการมาเป็นความขัดแย้งรุนแรง เป็นสิ่งที่สะสมมาเนิ่นนาน ไม่ว่าจะเป็นระบบการเมือง ระบบราชการ ระบบของธุรกิจ ระบบการศึกษา วัฒนธรรม เช่น ค่านิยมต่างๆ อุปถัมภ์นิยม แม้กระทั่งศาสนา ธรรมะของพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นสิ่งที่ดีเลิศประเสริฐยิ่ง แต่ว่าประชาชนคนไทยอาจจะไม่ได้ปฏิบัติตามธรรมะเหล่านั้น หรือทำในทางตรงกันข้าม หรือวัฒนธรรมที่ดีของเราก็ถูกกัดกร่อน มีวัฒนธรรมใหม่ๆ ที่ไม่ดีเข้ามา หลายสิ่งหลายอย่างเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงผสมผสาน และกลายเป็นโครงสร้าง กลายเป็นกลไก กลายเป็นช่องทางต่างๆ ที่นำไปสู่ปัญหาที่รุมเร้าเข้ามา การจะคลี่คลายสิ่งเหล่านี้ก็ต้องคิดเชิงยุทธศาสตร์ ว่าจะมียุทธศาสตร์หลักๆ อะไรบ้าง คงไม่ใช่การแก้ปัญหาเป็นรายข้อ คำนึงถึงปัญหา สาเหตุของปัญหา แต่ตอนจะแก้ต้องคิดเชิงยุทธศาสตร์ และก็ดำเนินการ ซึ่งดีที่สุดก็ต้องมีการรวมพลังสร้างสรรค์กันทั้งสังคม ทุกๆ ฝ่ายร่วมกัน สร้างวิสัยทัศน์หรือเป้าหมายใหญ่ร่วมกัน สร้างจินตนาการร่วมกัน สร้างคุณค่าร่วมกัน และก็ช่วยกันทำหลายๆ อย่าง ที่จะนำไปสู่วิสัยทัศน์หรือว่าเป้าหมาย จินตนาการใหญ่”

 

“ซึ่งถ้าเราจะทำก็คือว่าวิกฤติที่เกิดขึ้นเป็นปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญ วิกฤติครั้งนี้ต้องถือว่าใหญ่มาก ใหญ่ที่สุดในช่วงเวลาอันยาวนาน ทำให้เกิดความแตกแยกแตกร้าว ร้าวฉาน โกรธเกลียดเคียดแค้นชิงชังอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน แต่ถ้าเราจะคิดเชิงบวก ซึ่งเราควรจะคิดเชิงบวก คิดเชิงอนาคต คิดที่จะมุ่งไปข้างหน้า ไม่มาเศร้าโศกเสียใจหรือว่าเคียดแค้นชิงชังกับเรื่องที่ผ่านมาแล้ว คิดไปข้างหน้า คิดถึงอนาคตที่ดี จินตนาการที่เรามีร่วมกัน ช่วยกันคิดและช่วยกันทำ ก็จะเป็นโอกาสครั้งสำคัญ คือใช้วิกฤติเป็นตัวกระตุ้น ผมว่าไม่มีครั้งใดหรอกที่สังคมไทยเหมือนกับถูกเขย่าอย่างแรง เป็นตัวกระตุ้นที่เราสามารถใช้พลังสร้างสรรค์ที่เรามีอยู่ ใช้ความดีที่เราอยู่ ใช้ความสามารถที่เรามีอยู่ ใช้พละกำลังที่เรามีอยู่ ร่วมแรงร่วมใจกันทำ ผมเชื่อว่าเราทำได้”
ถือว่าความขัดแย้งหนนี้เขย่าทุกชนชั้นในสังคมไทย

 

“เขย่าแน่ๆ และก็เขย่าอย่างมีนัยสำคัญ ผมเพิ่งฟังคนซึ่งอยู่ในวงการธุรกิจ เป็นนักบริหารระดับสูง ซึ่งชีวิตเขากับชีวิตชาวบ้านมันคนละแบบเลย เขาก็มาพูดทำนองว่าเอ๊ะสังคมไทยต้องเปลี่ยนแปลง ความเหลื่อมล้ำของผู้คน โอกาสที่ไม่ทัดเทียม ต้องจัดกันใหม่ ซึ่งของอย่างนี้เมื่อก่อนเราจะไม่ค่อยได้ยิน คนจะไม่รู้สึกมาก และคนหลายคน นักบริหารนักธุรกิจเขาเป็นคนฐานะดี มีบ้านใหญ่โต มีเงินทองมากมาย แต่พอเกิดเหตุอย่างนี้ทำให้เขาคิด ซึ่งเขาอาจจะคิดอยู่บ้างแล้ว แต่ครั้งนี้มันเขย่าจนเขาคิดจริงจังขึ้น และเขาคิดเชิงบวกด้วยนะ เขาไม่ได้คิดไปโกรธไปแค้นไปรังเกียจใครด้วย เราต้องปรับปรุงสังคมเราอย่างนี้ดี เพราะฉะนั้นถ้าเราใช้โอกาสนี้ที่จะรวมพลังสร้างสรรค์ของคนทุกกลุ่มทุกหมู่เหล่า ทุกวงการทุกอาชีพ ทุกชั้น และทุกพื้นที่ เวลาทำงานเรื่องสังคมต้องคิดเชิงพื้นที่ด้วย คือไม่ใช่คิดแต่ที่กรุงเทพฯ ต้องคิดว่าในหมู่บ้านในตำบล ในชุมชนต่างๆ เขามีผู้คนอยู่ ซึ่งเขาเป็นเจ้าของพื้นที่ และเป็นเจ้าของเรื่อง ในพื้นที่ของเขา เขาควรจะมีบทบาทสำคัญในการจัดการเรื่องของเขา พื้นที่ของเขา โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีราชการส่วนภูมิภาค มีหน่วยงานของรัฐ ให้โอกาสเขาเป็นตัวของเขาเอง ให้โอกาสเขาที่จะเข้าถึงทรัพยากร เข้าถึงเงินทุน เข้าถึงงบประมาณได้ตามสมควร แต่ขณะเดียวกัน เขาก็ควรจะมีบทบาทในการที่จะร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อให้ได้มาซึ่งนโยบายของรัฐที่ดี เพราะนโยบายของรัฐที่ดีควรจะมาจากการมีส่วนร่วมของประชาชน การมีส่วนร่วมมาจากไหน ก็มาจากประชาชนทุกพื้นที่ ไม่ใช่เราบอกว่า โอ้ย เราเชิญมาหมดแล้วทั้งนักธุรกิจ นักวิชาการ นักการศาสนา แม้กระทั่งผู้นำชุมชน แต่ว่าเชิญมากรุงเทพฯ หมด ไม่พอ ต้องมีการมีส่วนร่วมของคนทุกพื้นที่ ทุกกลุ่ม ทุกวงการ และก็ทำไปเรื่อยๆ ทำอย่างต่อเนื่อง”

“เมื่อวานผมไป ต.คลองเขิน จ.สมุทรสงคราม เป็นชุมชนที่ดีมาก ผมก็เพิ่งทราบว่า จ.สมุทรสงคราม เขาได้รับการจัดอันดับอาณาเขตที่น่าอยู่เป็นที่ 3 ในโลก และตำบลคลองเขินที่เราไปเป็นตำบลดีเด่นเป็นที่ 1 ของจังหวัด รวมทั้งเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เรื่องอยู่เย็นเป็นสุข ประชาชนเขามีความสุข ยิ้มแย้มแจ่มใส ดูแลตัวเองได้ มีผู้นำที่หลากหลาย ที่น่าสนใจคือเขามีสภาองค์กรชุมชน ซึ่งจัดตั้งตาม พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนที่เกิดขึ้นในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ ผมเป็นคนเสนอ ปรากฏว่ากรรมการสภาองค์กรชุมชน หรือสมาชิกสภาองค์กรชุมชน ที่กฎหมายเขาจะบอกว่าให้มาจากอะไรบ้าง ในกว่า 30 คนนี่ ผู้หญิงกว่า 20 คน และประธานก็ผู้หญิง สมาชิกหรือกรรมการผู้หญิงก็ 2 ใน 3 ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของชุมชนที่เข้มแข็ง อาจจะไม่ใช่ว่าเข้มแข็งที่สุดหรอก แต่ว่าเข้มแข็งพอสมควร อย่างน้อยเขาก็มีชีวิตอยู่อย่างมีความสุข อาจจะมากกว่าคนในกรุงเทพฯ ด้วย”

 

แต่ความขัดแย้งที่ลงลึกในทุกชุมชนจะเป็นอุปสรรคของการมองเป้าหมายใหญ่ร่วมกัน

     “อย่างที่ตำบลคลองเขินดูแล้วไม่มีความขัดแย้ง ที่จริงแล้วในระดับชุมชน ถ้าเขาได้พูดได้คุยกัน เขาไม่ได้มีความขัดแย้งรุนแรง ชุมชนที่ก้าวหน้าสามารถที่จะอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ และเป็นประชาธิปไตยฐานรากที่สำคัญ บางแห่งเขาเลือกผู้นำด้วยการหาความเห็นร่วม เขาปรึกษาหารือกัน พูดคุยกัน อาจจะมีผู้ใหญ่เป็นแกน และก็ตกลงกันว่า เออคนนี้ควรจะเป็นนายก อบต. คนนี้ควรจะเป็นกำนัน เวลาไปลงคะแนนมันก็เป็นไปตามนั้น ปรึกษาหารือร่วมกัน คุยกัน และก็ไม่รู้สึกว่าเป็นฝ่ายตรงข้าม เวลาแข่งขันก็เป็นมิตร และคนที่ไม่ได้ก็ยังมาช่วยทำงาน มี อาจจะไม่มากแต่มี และก็เป็นตัวอย่างที่ดี อันนี้ชี้ให้เห็นว่าเรามีศักยภาพอยู่แล้วที่จะสร้างท้องถิ่นเข้มแข็ง ชุมชนเข้มแข็ง ชุมชนเป็นสุข ชุมชนประชาธิปไตย การเมืองภาคพลเมืองที่ดีมันมีตัวอย่างที่มีจริง เรามีศักยภาพที่จะทำอย่างนั้นได้ และนี่แหละจะเป็นส่วนสำคัญของการปฏิรูปการเมือง เพราะการปฏิรูปการเมืองควรจะต้องปฏิรูปโดยให้ประชาชนมีบทบาทสำคัญตั้งแต่ระดับฐานรากเลย และก็ประชาชนมีส่วนสำคัญในการจัดการดูแลตนเอง นี่คือการเมืองภาคพลเมือง การเมืองไม่ได้แปลว่ามาลงคะแนนเลือกตั้ง การเมืองคือการจัดการสังคม แต่สังคมเราไม่ได้มีแต่ระดับประเทศอย่างเดียว หรือมีที่กรุงเทพฯ เรามีสังคมเล็กสังคมน้อยเยอะไปหมด ก็ต้องให้ประชาชนเขามีโอกาสจัดการ จัดการเรื่องราวของเขามากเท่าไหร่ ก็ถือว่าเป็นการเมืองภาคพลเมืองที่ดีเท่านั้น”

 

หลังรัฐธรรมนูญ 2540 การเมืองภาคพลเมืองจะเข้มแข็งขึ้น แต่ก็ยังไม่หลุดพ้นวงจรอุปถัมภ์ของนักการเมือง

 

“คนที่เป็นนักการเมือง โดยเฉพาะนักการเมืองจากส่วนกลาง นักการเมืองระดับชาติ ก็เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การเมืองภาคพลเมืองไปได้ช้า เพราะนักการเมืองจำนวนมากส่วนใหญ่อาจจะยังมองการเมืองเป็นเรื่องอำนาจ เรื่องประโยชน์ เรื่องพวกพ้อง ฉะนั้น เป้าหมายไม่ใช่ให้ประชาชนมีบทบาทสำคัญ ต้องการเสียงจากประชาชนด้วยการมีอะไรไปให้มากกว่าที่ว่าให้ประชาชนเขาได้คิดเองทำเอง เขาทำเรื่องของเขา มีแต่ไปถามว่าคุณอยากได้อะไร ผมจะไปหาให้ ประชาชนเนื่องจากอยู่ในระบบอุปถัมภ์นิยมมานานก็อยากได้ เป็นนักการเมือง เออช่วยหน่อยสิ ช่วยงานศพ งานแต่งงาน ฝากลูกฝากหลาน หรือช่วยเอางบประมาณมา มันก็เลยกลายเป็นทั้งประชาชน ทั้งนักการเมือง ก็ทำให้เกิดวงจรอุบาทว์ นักการเมืองอุปถัมภ์ประชาชน ประชาชนก็เลยคาดหวังให้นักการเมืองอุปถัมภ์ วนไปวนมา แทนที่ประชาชนจะมีอิสระเป็นตัวของตัวเอง นักการเมืองคือผู้รับใช้ หาคนที่เหมาะสม คุณไปทำหน้าที่ให้ดี ทำหน้าที่ไม่ดีเราก็ไม่เลือกคุณอีก อะไรอย่างนี้เป็นต้น ต้องให้ประชาชนอยู่เหนือนักการเมือง ไม่ใช่นักการเมืองอยู่เหนือประชาชน นี่แหละก็เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการเมือง ถ้าเราพูดกันถึงเรื่องปฏิรูปประเทศไทย ก็ต้องปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปวัฒนธรรม ปฏิรูปเศรษฐกิจด้วย เช่น ให้เป็นเศรษฐกิจพอเพียงที่เหมาะสม เศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่แปลว่าไม่ค้าขายนะ เศรษฐกิจพอเพียงคือเศรษฐกิจที่ได้สมดุลในความพอดี เศรษฐกิจที่เป็นอยู่ พอเกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์เป็นการฟ้องว่าเศรษฐกิจที่ดำเนินไปเสียดุล เศรษฐกิจที่ถือว่าสมัยใหม่ ทุนนิยมเสรี แข่งขันเสรี มันเกินดุล นักธุรกิจก็คิดแต่เรื่องกอบโกยกำไร เห็นแก่ตัว ธุรกิจก็ต้องการเติบโต ไม่คำนึงถึงเรื่องการแข่งขันที่เป็นธรรม เรื่องการดูแลทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ก็เป็นเศรษฐกิจที่ไม่สมดุล ไม่พอดี ตอนนี้จึงเกิดธุรกิจที่เขาเรียกว่า ธุรกิจเพื่อสังคม social enterprise เป็นธุรกิจยุคใหม่ ซึ่งในอังกฤษมีเป็นหลายหมื่นเลยนะที่เขาตั้งขึ้นมา หรือว่ากำหนดวัตถุประสงค์เลยว่าต้องการให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม แต่ดำเนินงานเยี่ยงธุรกิจ มีผลกำไร แต่ผลกำไรไม่ใช่เป้าหมาย เป้าหมายคือให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม ผลกำไรเป็นวิธีการที่ทำให้สามารถดำเนินงานไปได้โดยไม่ติดขัด มันจะต่างกัน ธุรกิจโดยทั่วไป กำไรคือเป้าหมาย ประโยชน์ส่วนตัวคือเป้าหมาย ส่วนประโยชน์ต่อสังคมกลายเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ หรือว่าเขามีแฟชั่นให้ทำ หรือว่าทำเท่าที่จำเป็น มันจะต่างกัน อันนี้ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ว่าการมีระบบธุรกิจที่ดีเป็นไปได้ เพราะกำลังเกิด ประเทศไทยก็กำลังทำอยู่นะ รัฐบาลก็ประกาศเป็นนโยบาย มีคณะกรรมการที่จะส่งเสริมธุรกิจเพื่อสังคมหรือกิจการเพื่อสังคม รวมถึงส่งเสริมพวกเอ็นจีโอ องค์กรสาธารณประโยชน์ นอกเหนือจากธุรกิจให้สามารถที่จะทำประโยชน์ให้สังคมโดยพึ่งตนเองได้ทางการเงิน ฉะนั้น เศรษฐกิจเองก็ต้องการการปฏิรูป นอกเหนือจากการเมือง การศึกษา วัฒนธรรม ศาสนา ศาสนาหลักของเราคือศาสนาพุทธ ก็ต้องการการปฏิรูป พระท่านก็พูดเอง พระท่านก็บอกอยากปฏิรูประบบของพุทธศาสนา ตัวพุทธศาสนาดีอยู่แล้ว แต่วิธีที่เราจัดการในเรื่องการศาสนาสั่งสมปัญหามาเนิ่นนาน”

 

นั่นคือทุกองคาพยพในสังคมไทยเปื่อยมานานแล้ว พอเกิดความขัดแย้งครั้งใหญ่จะบีบให้แต่ละภาคส่วนต้องปฏิรูปตัวเอง

 

“ก็เป็นโอกาสดี ถามว่าแล้วใครจะมาคิดเรื่องยุทธศาสตร์ ผมคิดว่าน่าจะมีคณะออกมานะ ในบางประเทศเขาตั้งคณะกรรมาธิการของรัฐสภา ก็เป็นวิธีหนึ่ง แต่สำหรับประเทศไทย ผมคิดว่าน่าจะเป็นการร่วมกันหลายฝ่าย เป็นคณะที่มาจากหลากหลาย โดยเฉพาะมาจากภาคประชาชน ภาคประชาชนต้องรวมทุกฝ่าย ยกเว้นรัฐบาลนะ อะไรที่ไม่ใช่รัฐบาลเรียกว่าภาคประชาชน แต่ในการทำงานก็ให้ภาครัฐบาลเข้าไปร่วมด้วย คือถ้าเราบอกว่าเป็นเรื่องของหลายๆ ฝ่ายในสังคมเข้ามาร่วมกัน ก็คือรวมทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายประชาชน นักวิชาการ นักธุรกิจ นักการศาสนา ข้าราชการ นักการเมือง รวมเข้ามาหมดได้ แต่คนที่จะเป็นแกนในเรื่องนี้ ผมคิดว่าความเป็นไปได้อย่างหนึ่งคือ ผู้ที่อยู่ในวงการมหาวิทยาลัย เพราะมหาวิทยาลัยเป็นแหล่งเรียนรู้ แหล่งสร้างภูมิปัญญา ชื่อก็บอกอยู่แล้วมหาวิทยาลัย ที่แห่งวิทยาก็คือความรู้ และควรจะเป็นความรู้ที่ลึกซึ้ง กว้างขวาง มหาวิทยาลัยทั่วประเทศเรามีเกือบ 200 แห่ง เฉพาะมหาวิทยาลัยหลักๆ ที่เป็นมหาวิทยาลัยแห่งรัฐ ไม่ได้แปลงมาจากราชภัฏหรือราชมงคลก็มีเกือบร้อย ถ้าเราจะรวมตัวกันและก็เลือกคนที่เหมาะสม และสมัครใจมาตั้งต้นและก็ชวนคนอื่นๆ อีก ซึ่งมันจัดได้หลายแบบ อาจจะต้องมีทีมที่ไม่ใหญ่นักเป็นคนทำการศึกษาวิจัยคล้ายๆ คณะกรรมาธิการ และก็มีฝ่ายเทคนิค ฝ่ายเลขาฯ เล็กลงไปอีก หรือคณะทำงานที่แยกกันไปทำในเรื่องต่างๆ แล้วเอามาบูรณาการ มีเวทีที่ใหญ่ขึ้นเพื่อที่จะทดสอบความคิดเห็น ระดมความเห็นร่วมกัน เพื่อให้เกิดความเห็นร่วมกัน ให้เป็นเวทีที่ใหญ่ขึ้น ในที่สุดให้เป็นความเห็นร่วมกันของคนทั้งประเทศ คล้ายๆ กับที่เราทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระยะหลังๆ ตั้งแต่แผนฯ 8 เราใช้กระบวนการมีส่วนร่วมสูง ทำกันอาจจะประมาณ 1 ปีเต็มๆ รัฐธรรมนูญปี 2540 เกือบ 1 ปีเต็มที่มีส่วนร่วมสูงมาก แต่สำหรับเรื่องการปฏิรูปประเทศไทยต้องมีทีมศึกษาวิจัยเพื่อจะได้ลงลึก เพราะเป็นเรื่องที่ซับซ้อนมาก แต่ถ้าทำเป็นขั้นเป็นตอน เป็นกระบวนการ ก็คิดว่าทำได้และก็น่าทำ”

 

ปัญหาคือเมื่อจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสักชุด ‘คนกลาง’ คือเงื่อนไขสำคัญ ซึ่งต้องเป็นที่ยอมรับของสังคม แต่บุคลากรในอุดมศึกษา อธิการบดีหลายคน ก็ได้เลือกฝ่ายเลือกข้างกันไปแล้ว

 

“นั่นเป็นเรื่องที่เขาเข้าไปสู่ความขัดแย้ง แต่นี่เรากำลังจะทำเรื่องสร้างสรรค์ คนที่เกี่ยวข้องที่มาจัดการก็ต้องเลือกคนที่เหมาะสม ส่วนจะเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม จะมีเสียงสะท้อนอย่างไร ถ้ามีปัญหาเราก็แก้ไขได้ เพราะเรื่องที่ทำไม่ใช่อยู่ที่ว่าใครมาทำ แต่อยู่ที่เนื้อหาออกมาอย่างไร และคนในวงกว้างก็เห็นชอบเรื่องนั้น อาจจะเป็นเรื่องที่ไม่ได้เห็นชอบกันง่ายๆ นัก แต่ถ้าได้ศึกษาได้วิจัยให้ถ่องแท้ ให้กว้างขวางลึกซึ้ง เอามาตีแผ่พิจารณากันในที่สาธารณะซึ่งทุกฝ่ายมีส่วนร่วม ค่อยๆ ขัด ค่อยๆ เกลา ค่อยๆ ตะล่อมเข้ามา จนกระทั่งเป็นเรื่องที่เห็นชอบร่วมกันได้ และก็มาช่วยกันทำ ช่วยกันคิดแล้วก็มาช่วยกันทำ คนที่ทำไม่ใช่รัฐบาลทำ รัฐบาลต้องทำบางส่วน รัฐบาลก็คือฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติก็ต้องทำบางส่วน ฝ่ายตุลาการต้องทำบางส่วน ฝ่ายนักธุรกิจ ฝ่ายประชาชน ฝ่ายวิชาการก็ต้องทำบางส่วน ทุกฝ่ายต้องไปทำ ไปทำแล้วก็มาดูด้วยกัน มีการติดตามประเมินผล เราได้เรียนรู้อะไรจากสิ่งที่ทำ เราก็มาแก้ไขปรับปรุงพัฒนาต่อไป เรื่องปฏิรูปประเทศไทยไม่ใช่เป็นเรื่องแยกฝ่าย ไม่ใช่ไปหาความผิด ไม่ได้มาดูว่าใครผิดใครถูก ใครดีใครไม่ดี ไม่ใช่ เป็นการศึกษาวิเคราะห์เชิงลึกอย่างสร้างสรรค์ และทุกฝ่ายมาร่วมได้หมด ไม่มีสีไม่มีพวก แต่ถ้าใครรู้สึกว่ายังไม่มีส่วนร่วมและอยากจะเข้ามาร่วมก็เข้ามาได้ตลอดเวลา ทำอย่างนี้ไป เรื่องปฏิรูปไม่ใช่จะทำกันได้ปีสองปี มันต้องทำกันเป็นสิบปียี่สิบปี เพราะว่าเราพยายามพัฒนาการเมืองมาตั้ง 70 กว่าปีก็ยังพัฒนาไปได้ไม่ไกลเท่าไหร่”

 

ตั้งข้อสังเกตว่าสังคมไทยมักไม่เรียนรู้จากความขัดแย้งที่เคยเกิดขึ้น ทั้งเหตุการณ์เดือนตุลา มาถึงพฤษภาทมิฬ เมื่อเหตุการณ์ยุติเราก็ทำเป็นเหมือนฝังกลบสิ่งที่เกิดขึ้น และบอกตัวเองว่านี่จะเป็นความรุนแรงครั้งสุดท้ายของเมืองไทยแต่มันไม่ใช่

 

“ทุกอย่างมีทั้งแง่บวกแง่ลบ เป็นเหรียญสองด้านเสมอ เดือนพฤษภาเป็นวิกฤติที่จบเร็ว และก็ดูเหมือนจะราบเรียบ ก็เลยไม่ได้กระตุ้นคนเท่าที่ควร ให้คิดอะไรที่ลึกซึ้งไปกว่าว่า เอ้า รัฐประหารจบไปแล้ว มีรัฐบาลพลเรือนเข้ามาแล้ว เราเป็นประชาธิปไตยเต็มใบแล้ว และเราบอกว่าเดินของเราต่อไป ในแง่หนึ่งมันก็เป็นอย่างนั้น แต่สำหรับครั้งนี้รุนแรงและกระตุ้นคนมาก กระตุกอย่างแรง ก็น่าจะใช้เป็นโอกาสที่จะระดมพลังสร้างสรรค์ครั้งใหญ่ของคนไทยทั้งสังคม”

 

ขอแย้งว่านี่คือการมองวิกฤติแบบเชิงบวกในสายตาอาจารย์ว่าทุกชนชั้นจะต้องปรับตัวเอง แต่จะมั่นใจได้แค่ไหนว่าชนชั้นที่กุมโครงสร้างอำนาจของสังคมไทยอยู่จะยอมลดทอนลง ปฏิกิริยาในระยะนี้อาจจะเป็นเพียงการจำยอมไหลไปตามกระแสสังคมเท่านั้น

 

“คือวิธีคิดของผมเป็นวิธีคิดเชิงบวกและเชิงรุก จะถือว่าเป็นทัศนคติส่วนตัวก็ได้ ตลอดชีวิตผมก็ทำงานมาในลักษณะนี้ คิดเชิงบวกคิดเชิงรุก คือคิดไปข้างหน้า อย่างน้อยมีคนหลายกลุ่มหลายฝ่ายหลายคนมาช่วยกันทำเรื่องที่ดีๆ เรื่องที่สร้างสรรค์ ทั้งเฉพาะหน้าและระยะยาว และก็ทำให้กันให้กว้างขวางที่สุด คลุมพื้นที่ให้มากที่สุด คลุมประเด็นให้มากที่สุด ผมก็เชื่อว่าสิ่งที่ดีสิ่งที่สร้างสรรค์เหล่านี้มีอานุภาพในตัวเอง ที่จะค่อยๆ ทั้งแทรกซึมทั้งกลบและก็ทั้งข่มสิ่งที่ไม่ดีให้อ่อนกำลังลงหรือน้อยลงไปเอง เหมือนกับว่าในบริษัทเรามีคนอยู่ร้อยคน ดีครึ่งไม่ดีครึ่ง ถ้าเราไปนั่งด่าแต่คนไม่ดี ชวนคนดีมาด่าคนไม่ดี คนไม่ดีก็โกรธแค้น มาด่ากลับ คนที่เคยดีเลยกลายเป็นไม่ดีไปด้วย อย่างน้อยไปด่าเขาก็ไม่ดีแล้ว แต่ถ้าส่งเสริมให้คนดีก็ทำดีให้มากขึ้น ให้เห็นผลมากขึ้น และก็เอื้อเฟื้อเจือจุนไปถึงคนที่ไม่ดีด้วย และก็ชวนคนที่ไม่ดีมาร่วมกันทำสิ่งที่ดีๆ อิทธิพลนี้จะค่อยๆ ขยายออกไปๆ ฉะนั้นอาณาบริเวณของความดีของคนที่ทำสิ่งที่ดี ของผลลัพธ์ที่ดีก็มากขึ้นๆ คนที่สุดโต่งคนที่คิดทางลบ คิดทางร้ายก็จะค่อยๆ หยุดลง จนกระทั่งเหลือเพียงนิดเดียว ไม่มีกำลังมากพอที่จะมาทำลายส่วนใหญ่ได้ อาจจะไม่หมดร้อยเปอร์เซ็นต์ เป็นไปไม่ได้หรอกที่จะทำให้คนทั้งสังคมดีหมดร้อยเปอร์เซ็นต์ หันมาร่วมด้วยร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ว่าถ้าความดีหรือการทำสิ่งที่ดีที่สร้างสรรค์ มันสร้างผลดีด้วย ทำให้สังคมเข้มแข็งขึ้น การเมืองดีขึ้น เศรษฐกิจดีขึ้นแบบสมดุล การศึกษาดีขึ้น ชุมชนเข้มแข็ง ประชาธิปไตยฐานราก ประชาธิปไตยที่เป็นการเมืองภาคพลเมืองเข้มแข็งขึ้น สิ่งเหลานี้จะค่อยๆ เป็นพลังที่หนุนเสริมซึ่งกันและกัน และทำให้ส่วนที่อ่อนด้อย ส่วนที่สุดโต่ง ส่วนที่ไม่ดีหรือเลวร้าย ค่อยๆ อ่อนกำลังไป”

 

กระบวนการ-ทัศนคติ-สาระ

 

อาจารย์ไพบูลย์ให้ความเห็นว่าในแผนปรองดองแห่งชาติของนายกฯ อภิสิทธิ์ต้องดำเนินต่อไป และให้ความสำคัญกับ กระบวนการ ทัศนคติ และ สาระ

 

“ทั้งสามเรื่องไปด้วยกัน การแก้ปัญหายากๆ การทำเรื่องที่ใหญ่ เรื่องซับซ้อน และยิ่งเป็นเรื่องความขัดแย้ง ยิ่งต้องการกระบวนการที่ดี เหมือนอย่างการวางแผนยุทธศาสตร์ของธุรกิจต่างๆ เขาต้องมีกระบวนการนะ ไม่ใช่จู่ๆ ผู้จัดการใหญ่ก็มากำหนดวิสัยทัศน์ เขาต้องใช้กระบวนการที่มีส่วนร่วม บริษัทใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็นไอบีเอ็ม เชลล์ เอสโซ่ ธนาคารยักษ์ใหญ่ทั้งหลาย เขาต้องมีกระบวนการในการสร้างวิสัยทัศน์ร่วมกัน สร้างยุทธศาสตร์ร่วมกัน นี่คือกระบวนการ ไม่ใช่ว่าเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ หรือวิสัยทัศน์จะกำหนดกันได้ง่ายๆ อาจจะดีแต่ว่าถ้าไม่มีการมีส่วนร่วมสูง คนจะไม่รู้สึกเป็นเจ้าของ ความผูกพันก็จะน้อย แต่ถ้าได้มากำหนดร่วมกันคนจะรู้สึกเป็นเจ้าของ พอเป็นเจ้าของก็จะมุ่งมั่นที่จะทำให้สำเร็จ และหวงแหนถ้าเผื่อว่าจะเปลี่ยนแปลงไป ฉะนั้นกระบวนการที่ดีก็จะนำไปสู่ทัศนคติที่ดี จะรู้สึกว่าเออเราก็เป็นเจ้าของร่วมกันนะ เราเป็นเพื่อนกันนะ บรรยากาศในที่ทำงานก็จะดี การที่คิดจะทำอะไรที่เป็นเนื้องานมันก็จะดีด้วย ตัวสาระมันจะดี”

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/365358

<<< กลับ

“วิกฤติ” คิดเชิงบวก (2)

“วิกฤติ” คิดเชิงบวก (2)


“ถ้าเจาะจงมาที่การแก้ปัญหาความขัดแย้งยิ่งต้องการกระบวนการ เพราะถ้าขาดกระบวนการแล้วเรามาพูดกันเลยว่าคุณจะเอายังไง ผมจะเอายังไง สิ่งที่เกิดขึ้นซึ่งเราเห็นจากจอทีวีก็คือข้างหนึ่งก็มาชี้หน้าด่าอีกข้างหนึ่ง กล่าวหาอีกข้างหนึ่ง คือเรียกร้องอีกข้างหนึ่งว่าคุณต้องทำอย่างนั้นๆ ตัวเองต้องทำอะไรไม่พูด อีกข้างหนึ่งก็บอกว่าคุณต้องทำอย่างนั้นๆ ตัวเองทำอะไรก็ไม่พูด ก็ยืนอยู่คนละมุม เรียกว่าเอาจุดยืนเป็นตัวตั้ง เพราะว่าถ้าเริ่มต้นด้วยสาระเลยคนจะเอาจุดยืนเป็นตัวตั้ง บอกเลยว่าจุดยืนผมคืออย่างนี้ ก็แปลว่าผมไม่เปลี่ยนไปจากจุดยืน ถ้าอย่างนั้นการเจรจาการปรึกษาหารือมันก็ไร้ประโยชน์สิเพราะต่างคนต่างมีจุดยืนแล้วนี่ และจุดยืนมันขัดกัน ที่ทะเลาะกันเพราะจุดยืนมันขัดกัน เขาถึงต้องมีกระบวนการ ซึ่งเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่เรียนรู้กันได้ สถาบันพระปกเกล้าได้ตั้งศูนย์สันติวิธีและธรรมาภิบาลซึ่งผมเป็นคนเสนอแนะให้ตั้งตั้งแต่ประมาณสิบปีมาแล้ว ก็ได้ไปดูงาน ทั้งไปดูเอง เคยส่งสมาชิกรัฐสภาไปดูงานที่แคนาดา ที่อเมริกา ตอนนั้นประธานก็ไป จำได้ว่าคุณอุทัย พิมพ์ใจชน ก็ไป อ.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ในฐานะเป็นวุฒิสมาชิกก็ไป ไปหลายฝ่าย ก็ไปเห็นวิธีการที่ประเทศอย่างแคนาดาเวลาเขาจะกำหนดนโยบายใหญ่ๆ เขาจัดให้มีการปรึกษาหารือกันอย่างกว้างขวางเป็นเวลานาน ที่เขาเรียกว่า citizen dialogue การสานเสวนาประชาคม หรือว่าการสนทนาประชาชนแล้วแต่จะเรียก คือประชาชนก็ต้องสรรหาคนที่เหมาะสมหลายๆ ฝ่ายมาร่วมกันระดมความคิด แต่ในการระดมความคิดต้องจัดกระบวนการที่ดี ถึงจะได้สาระที่ดีออกมา ตัวนโยบายต้องมีกระบวนการ กระบวนการคือการมีส่วนร่วม แต่การมีส่วนร่วมจะทำให้เกิดได้อย่างไร มีเทคนิควิธีการ ประเทศสวีเดนจะออกกฎหมายเรื่องสุขภาพเขาตั้งคณะกรรมาธิการของทุกพรรค ทั้งรัฐบาลทั้งฝ่ายค้าน และก็ไปจัดเวทีสาธารณะเวทีรับฟังความเห็นทั่วประเทศ เอามาวิเคราะห์สังเคราะห์ และก็จัดอีกรอบอะไรแบบนี้เป็นเวลาประมาณ 3 ปีก่อนที่เขาจะสรุปว่ากฎหมายนี้หน้าตาจะเป็นอย่างไร แต่ผลที่ได้คือว่าพอกฎหมายนี้เข้ารัฐสภาก็ผ่านโดยเรียบร้อย เพราะมันผ่านกระบวนการที่ดี และกระบวนการที่ดีทำให้เกิดความรู้สึกนึกคิดที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นความขัดแย้ง ในประเทศไทยเราก็ทำกันนะ กรณีความขัดแย้ง หมอวันชัย วัฒนศัพท์ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการคนแรกของศูนย์สันติวิธีและธรรมาภิบาล พล.อ.เอกชัยนี่เป็นคนที่สอง แต่ก่อนหน้าจะมีศูนย์สันติวิธีฯ สถาบันสันติศึกษาที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นซึ่งคุณหมอวันชัยเป็นอธิการบดีเป็นคนริเริ่มจัดตั้งขึ้น ก็เริ่มต้นด้วยการไปศึกษาเรียนรู้จากประเทศที่เขาทำแล้ว ซึ่งแคนาดามีหลายมหาวิทยาลัยมากที่เขาทำเรื่องสันติวิธี และเขาไปช่วยแก้ความขัดแย้ง เช่นระหว่างรัฐบาลกับชนเผ่า หรือระหว่างคนที่ต้องการประโยชน์จากป่าไม้กับคนที่ต้องการรักษาป่าไม้ เขาจัดกระบวนการให้มาพูดมาคุยกัน จึงเป็นสิ่งที่ผมเรียกว่าเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ เมืองไทยเราก็ทำกันและที่ทำกันโดยธรรมชาติโดยผู้หลักผู้ใหญ่มาช่วยเป็นคนกลางพูดจากันในหมู่บ้านในชุมชน คือคุยกันแบบธรรมชาติก็ได้ถ้าเรื่องไม่ร้อนแรงมาก หรือโดยธรรมชาติของคนเราก็อยากจะเห็นการแก้ปัญหา ถ้าคุยกันได้ ผู้ใหญ่มาเป็นคนกลางให้ เอาหลายๆ ฝ่ายมาพูดมาคุยกัน ปรึกษาหารือกัน เกิดความคิดที่ดีร่วมกัน คือไม่ใช่มาเถียงกันว่าใครผิดใครถูก เพื่อจะเอาแพ้เอาชนะ มาช่วยกันหาทางออกร่วมกัน ทางออกซึ่งจะพอใจร่วมกัน การเจรจาที่ดีเป้าหมายคือได้ข้อสรุปที่พอใจร่วมกัน คือได้ข้อตกลง ถ้าตกลงกันได้ถือว่าดี”

ในกระบวนการนี้ ‘คนกลาง’ สำคัญอย่างยิ่ง

 

“คนกลางก็จะเป็นประโยชน์ แต่คนกลางต้องเป็นที่ยอมรับของคู่กรณี เดี๋ยวนี้ที่เราทำมากคือเรื่องคดีความในศาล ที่เรียกว่าเป็นความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์หรือ restorative justice เปรียบเทียบกับยุติธรรมเชิงเอาคืน หมายถึงว่าคุณทำผิดต้องลงโทษคุณหรือ retributive justice แค้นนี้ต้องชำระทำนองนั้น เดี๋ยวนี้ก็มานิยมใช้ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ นั่นคือคู่กรณีตกลงกันได้นอกศาล ก็เป็นคดีแพ่งนะเพราะคดีอาญาคงทำไม่ได้ ก็ประสานงานกัน สถาบันพระปกเกล้าก็มีส่วนในการช่วยจัดฝึกอบรมวิทยากรที่จะเป็นผู้ไกล่เกลี่ย คำว่าไกล่เกลี่ยไม่ได้แปลว่าไปพูดจาหว่านล้อมให้เขาตกลงกัน ไม่ใช่นะ ผู้ไกล่เกลี่ยที่เราเรียกคนกลางจริงๆ แล้วไม่ใช่คนไกล่เกลี่ยในความหมายภาษาไทย แต่หมายถึงคนจัดกระบวนการ คนอำนวยความสะดวกให้คู่กรณีได้พูดจากันอย่างมีขั้นมีตอน ที่เหมาะสม มันต้องค่อยไปทีละขั้น ถ้าไปเดินเร็วเกินไป อย่างเช่นการเจรจาของเราที่ออกทีวีทั้งสองครั้ง เร็วเกินไป เจอหน้ากับปั๊บบอกเลยว่าผมอยากได้อะไรคุณต้องทำอะไร ถ้าสมมติว่ามีคนกลางช่วยจัดกระบวนการจะไม่ใช่แบบนั้น จะต้องค่อยๆ ไป เริ่มต้นต้องสร้างบรรยากาศที่เหมาะสม ไม่ใช่มาถึงก็หน้าดำหน้าแดงชี้หน้าด่าเลย แสดงว่าอารมณ์ยังคุกรุ่นมาก แต่มันไก่กับไข่ เราจะเริ่มอะไรก่อน ก็ต้องเริ่มกระบวนการ เช่นว่ามานั่งกันให้สบายๆ และก็รอบแรกเราอย่าเพิ่งไปออกทีวี มาคุยกันสิว่าที่เราจะเจรจากันจะเจรจาโดยมีขั้นมีตอนอย่างไร จะใช้ที่ไหน ช่วงไหนที่เจรจาโดยยังไม่ออกทีวี ช่วงไหนจะออกทีวี คุยกันเรื่องพวกนี้ มันจะตกลงได้ไม่ยาก คุยกันอย่างสร้างสรรค์ มันจะรู้สึกอบอุ่น คือเพราะไม่มีกระบวนการมันทำให้คู่กรณีกระโจนเข้าใส่สาระ พร้อมทั้งจุดยืน พร้อมทั้งการระบายอารมณ์ พร้อมทั้งการกล่าวหา สบประมาท เสียดสี เกิดขึ้น เราเห็นตำตาเลย เป็นตัวอย่างที่เป็นบทเรียนว่านี่คือสิ่งที่ไม่ควรทำ แต่ถามว่าแล้วทำอะไรแทน มันต้องมีกระบวนการ กระบวนการนี้มีคนมาช่วยจัด ทั้งสองฝ่ายเขาจัดไม่ได้ หนึ่งอาจจะเขาไม่รู้ หรือสองเขาไม่อยู่ในฐานะที่จะจัดเพราะเขาเป็นคู่กรณี มันต้องคนกลาง คำว่าคนกลางไม่ใช่แปลว่าข้างใดข้างหนึ่ง และก็ไม่ได้ไปโน้มน้าวใคร ไม่ได้ไปตัดสินอะไรให้ใคร แต่ช่วยจัดกระบวนการ แต่การจัดกระบวนการทั้งหมดคู่กรณีต้องยอมรับเสมอ ฉะนั้นคนกลางก็จะถามว่าจัดกระบวนการอย่างนี้คุณเห็นด้วยใช่ไหม ถ้าไม่เห็นด้วยคุณมีข้อเสนออะไร สมมติพูดกันว่าเราจัดประชุมนัดแรกๆ โดยยังไม่ต้องออกทีวี เห็นด้วยไหม ถ้าฝ่ายหนึ่งเห็นว่าควรออกทีวีเลยแต่อีกฝ่ายไม่เห็นด้วย คือเห็นว่าถ้ายังไม่ออกจะดีกว่า ก็ลองปรึกษากัน อย่างนี้เป็นต้น เรามาพูดคุยกันเรื่องง่ายๆ ให้เสร็จสิ้นก่อนดีไหม สมมติว่าคุยกันแล้ว ซึ่งของอย่างนี้พูดกันหลังฉากมันง่ายกว่า ไปพูดกันต่อหน้าทีวีก็ไม่ได้เพราะนี่มันยังไม่ใช่เรื่องที่ประชาชนเขาจะสนใจ เขาสนใจข้อตกลงว่าคุณจะตกลงกันว่าอย่างไร การตกลงในเรื่องต้นๆ อย่างนี้คู่กรณีก็ต้องตกลงกันไปทีละเรื่อง เช่นบอกว่าในการเจรจาเราจะมีกติกาอะไรบ้าง ลองเสนอมาสิ ต่างฝ่ายต่างเสนอมา อาจจะรวมแล้ว 20 ข้อ แต่ที่ตรงกันและเห็นพ้องด้วยกัน 10 ข้อ ก็ตัดที่ไม่ตรงกัน 10 ข้อนั้นออกไป ตกลงมีกติกา 10 ข้อนะที่เห็นพ้องต้องกัน เราก็ทำไปตามกติกา 10 ข้อที่เห็นพ้องต้องกัน คนกลางไม่ใช่เป็นคนไปวางกติกา คู่กรณีต่างหากที่วางกติกา แต่คนกลางช่วยให้มีวาระนี้ขึ้น”

 

หลังจากนี้ dialogue ยิ่งควรจะต้องเกิดขึ้นในทุกพื้นที่

 

“ทั้งสามอย่างคือทั้งกระบวนการ ทั้งทัศนคติ ทั้งสาระ นอกจากจะต้องไปด้วยกันแล้วจะต้องทำในเรื่องต่างๆ ตามความเหมาะสม สมมติว่าตอนนี้มีชุมชนตั้งเยอะแยะที่มีทั้งแดงทั้งเหลือง ถ้าเราจะให้ชุมชนเขาได้มาพูดจากัน  ต้องมีคนไปช่วยจัดให้หน่อยซึ่งอาจเป็นวิธีง่ายๆ  เช่นช่องทีวีไทยเชิญชุมชนแถวทุ่งสองห้องใกล้ดอนเมืองมานั่งล้อมวงพุดคุยกันและออกทีวีด้วยเมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่นั่นเขามีทั้งแดงทั้งเหลือง ก็ผลัดกันพูด ฟังซึ่งกันและกัน แต่ถ้าให้ดีต้องฟังอย่างตั้งใจและฟังอย่างให้เกียรติ ซึ่งที่เขามาออกทีวีได้เพราะว่าเรื่องเขาไม่ได้ร้อนแรงถึงขนาดจะฆ่าจะฟันกัน หรือจะต้องมีเงื่อนไขอะไรกันมากมาย เขาไม่ได้ไปตีกันในชุมชน แต่เขาเห็นต่างกันเท่านั้น ก็มานั่งคุยกันได้ แล้วความรู้สึกจะดีขึ้น และอาจจะทำมากขึ้นหรือลงลึกขึ้น ในที่สุดก็ไปถึงจุดที่ว่าชุมชนนี้แม้จะมีความเห็นต่างก็ไม่เป็นไรอยู่ร่วมกันได้และสามารถมาร่วมกันพัฒนาชุมชนของเขาได้”

 

บทบาทของผู้นำชุมชนน่าจะช่วยให้บรรยากาศคลี่คลายได้บ้าง

 

“ผู้นำที่ฉลาดก็ต้องรู้วิธีที่จะสร้างความสมานฉันท์ และถ้าคิดว่าจำเป็นหรือสมควรต้องมีคนไปช่วย ที่เรียกว่าคนกลางหรือวิทยากรกระบวนการหรือ “กระบวนกร” ก็ไปหามา ซึ่งจะมีอาสาสมัครมีวิทยากรที่สถาบันพระปกเกล้าฝึกไว้ก็เยอะนะ ไปร้อยๆ ในรอบสิบปีที่ผ่านมา มีเครือข่ายทั่วประเทศ มาช่วยได้ อย่างน้อยเขาได้เรียนรู้เรื่องสันติวิธีมา ขณะนี้สถาบันพระปกเกล้ามีหลักสูตร 9 เดือน เรื่อง “การเสริมสร้างสังคมสันติสุข” หรือหลักสูตร “4ส.” รุ่นแรกเขาเน้นที่ภาคใต้ ที่จริงคลุมทุกเรื่อง คลุมความขัดแย้งอย่างน้อย 4 ประเภท หนึ่งคือภาคใต้ สองการเมือง สามเรื่องทรัพยากร สี่เรื่องประชากรหรือเรื่องทางสังคม ปีนี้ยังคงเรื่องภาคใต้ไว้แต่จะเพิ่มเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองและสังคมที่ยิ่งใหญ่เข้าไปในประเด็นของหลักสูตรด้วย”

 

ถือว่าในช่วงความขัดแย้งที่ผ่านมา ฝ่ายแนวทางสันติวิธีก็เรียนรู้ไปด้วย

“ใช่ คือคนที่สนใจหรือพยายามจะใช้สันติวิธีถือว่าเป็นส่วนน้อยในสังคม แต่ถ้าเทียบกับเมื่อสิบปีที่แล้วก็เพิ่มขึ้นเยอะ คนที่เข้าใจเรื่องสันติวิธีและเป็นผู้จัดกระบวนการได้ก็เพิ่มขึ้น ความเข้าใจของคนที่ไม่ได้เป็นผู้จัดกระบวนการแต่เข้าใจ เห็นคุณค่าก็เพิ่มขึ้น และอย่างน้อยที่สุดคนที่ตระหนักรับรู้ว่าสังคมเราขัดแย้ง ต้องมีความพยายามที่จะแก้ไข คืออย่างน้อยความตระหนักในปัญหาก็เพิ่มขึ้นมาก”

 

ฟื้นแผนปรองดอง-ยุบสภา

 

สถานการณ์ที่รัฐบาล (คิดว่า) ได้เปรียบ แผนปรองดองแห่งชาติถูกพับเก็บชั่วคราว ยิ่งเรื่องยุบสภายิ่งไม่มีการพูดถึง แต่อาจารย์ไพบูลย์กลับเห็นว่าแผนปรองดองของนายกฯ ต้องนำมาประยุกต์ดัดแปลงให้เหมาะสม และอย่าลืมเรื่องความชัดเจนในการยุบสภา

 

“เนื่องจากรัฐบาลมีแผนปรองดองแห่งชาติ ผมก็ผนวกเข้าไปว่าแผนนี้ต้องมีการปรับปรุงพัฒนาให้มันกลมกลืนไปกับแผนของสังคม ซึ่งที่ว่าปรับปรุงพัฒนามันจะมีประเด็นหนึ่งที่สำคัญ ซึ่งขณะนี้ดูประหนึ่งว่ายังหาข้อสรุปที่พอใจร่วมกันไม่ได้ หรือยังไม่ตกผลึก ก็คือการยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ ซึ่งตรงนี้เป็นประเด็นที่ทำให้ขัดแย้งกันสูง แต่ที่มาของประเด็นนี้ก็ซับซ้อน ไม่ใช่เฉพาะประเด็นแค่เรื่องยุบสภาหรอก มันซับซ้อนกว่าเรื่องยุบสภา แต่อย่างน้อยยุบสภาเป็นประเด็น และก็ได้เอามาพูดกันด้วย จนกระทั่งมีการต่อรองกันตั้งแต่ 2 สัปดาห์ไปจนถึง 9 เดือน และตอนหลังคุณอภิสิทธิ์ก็มาเสนอเลือกตั้งวันที่ 14 พ.ย. ยุบสภาก็ประมาณ ก.ย. แต่เนื่องจากว่ายังตกลงกันไม่ได้ เรื่องก็เลยบานปลายไปจนกระทั่งความรุนแรงเกิดขึ้น ฉะนั้นประเด็นเรื่องยุบสภาก็ยังเป็นอยู่ คุณอภิสิทธิ์ก็บอกว่ายังไม่ได้ปิดนะ ยังไม่ได้ปิดช่องที่ว่าจะยุบสภาก่อนครบวาระ เพียงแต่ต้องดูว่าสถานการณ์มันเหมาะสม แต่ประเด็นเหล่านี้เป็นการพูดกันทีละข้าง ยังไม่ได้มีกระบวนการมาช่วย ก็คือกระบวนการมาหารือร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งถ้าทำขณะนี้ยังทำได้ก็ควรทำ ความร้อนแรงก็จะน้อยกวาตอนที่มาออกทีวี เพราะว่าการเผชิญหน้ากันมันผ่านไปแล้ว อาจจะลงใต้ดินลงอะไรแต่อย่างน้อยอุณหภูมิได้ลดลงจาก 100 องศา หรือ 90 องศา มาเป็นอาจจะ 50-60 หรือถ้าเป็นอากาศก็ลดลงจาก 40-50 องศา ซึ่งมันร้อนมาก มาเป็น 30-40 ร้อนพอทนและยังร้อนอยู่ยังไม่เย็น ก็ยังมีเวลาที่จะมาพูดมาคุยกัน แต่การพูดคุยคราวนี้ต้องจัดกระบวนการให้ดี และก็หลายๆ ฝ่ายนะ ไม่ใช่เฉพาะ นปช.กับรัฐบาล อาจจะต้องคิดว่าหลายๆ ฝ่ายมาหารือร่วมกัน รวม นปช.และรวมรัฐบาล รวมฝ่ายนิติบัญญัติ ทั้ง ส.ส. ส.ว. รวมนักวิชาการ นักธุรกิจ ผู้นำชุมชน ภาคประชาชนสังคม เอ็นจีโอ ให้มีตัวแทนจากหลายๆ ฝ่ายของสังคม มาปรึกษากันว่าเอาละเรายังไม่ผ่านพ้นวิกฤติอย่างสมบูรณ์นะ มันยังมีประเด็นว่าจะเลือกตั้งเมื่อไหร่ซึ่งรัฐบาลก็ยังไม่ได้พูดชัดว่าจะยุบสภาเร็วกว่ากำหนดหรือไม่ เพียงแต่พูดว่าก็ยังมีความเป็นไปได้ ถ้าถูกถามก็จะบอกว่าก็ยังไม่ปิดโอกาส แต่ต้องให้สถานการณ์เหมาะสม แต่ว่าสถานการณ์เหมาะสมคืออะไร แล้วใครจะทำให้สถานการณ์มันเหมาะสม ถ้าเราจัดเวทีค่อยพูดค่อยจา จัดกระบวนการให้ดี ให้หลายๆ ฝ่ายได้มามีส่วนร่วม จัดขั้นตอนที่เหมาะสม บรรยากาศเริ่มดีขึ้น และถ้ามีหลายฝ่ายมาร่วม ดีกว่าสองฝาย เพราะสองฝ่ายคือคู่ขัดแย้งคนละขั้ว ถ้ามีฝ่ายอื่นๆ เขาไม่ได้ร่วมขัดแย้งด้วย เขาอยู่กลางๆ อาจจะเอียงข้างนี้บ้าง เอียงข้างนั้นบ้าง ไม่เป็นไร แต่รวมแล้วมันมีความสมดุลมากขึ้น ดังนั้นความรู้สึกและความคิดความเห็นก็จะดีกว่าถ้าเป็นแค่สองฝ่าย”

ที่สำคัญคือนำไปสู่ข้อตกลงร่วมกันก่อนการเลือกตั้งครั้งใหม่

 

“ก็สามารถจะค่อยๆ พูดค่อยๆ จาไป อาจจะหลายรอบนะ จนกระทั่งในที่สุดได้ข้อสรุปร่วมกันว่าเงื่อนไขที่เราต้องการก่อนที่จะมีการเลือกตั้งคืออะไร ที่เห็นพ้องต้องกัน ที่คุณอภิสิทธิ์บอกว่าสถานการณ์หรือเงื่อนไขต่างๆ ก็มาตกลงกันให้ได้ก่อนว่าเงื่อนไขหรือสถานการณ์ที่เห็นพ้องต้องกันว่าน่าจะมีก่อนการเลือกตั้งครั้งใหม่ เช่นแก้รัฐธรรมนูญ แก้ขนาดไหน มีกติกาเกี่ยวกับการเลือกตั้ง มีความตกลงร่วมกันว่าเราจะเลิกทำร้ายกัน เวลาที่ไปหาเสียงไม่ว่าจะเป็นที่ไหน และยอมรับผลการเลือกตั้ง ถ้าตกลงเงื่อนไขเหล่านี้ได้ก็คิดต่อว่าต้องทำอย่างไรถึงจะเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ เราจะมาช่วยกันทำอย่างไร แต่ไม่ใช่ว่าคุณต้องทำอะไร แต่เราจะมาช่วยกันทำอะไร ที่จะให้ เช่นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เรียบร้อย ไม่ใช่พอจะแก้ปั๊บมีคนออกมาประท้วงอีกแล้ว เพราะมีคนตั้งท่าประท้วงอยู่ ทำให้กติกาเกี่ยวกับการเลือกตั้งมันดีขึ้น ทำให้บรรยากาศในสังคม บรรยากาศทางการเมืองไม่มีการกล่าวหาทำร้ายกัน  คืออย่างน้อยไม่ทำร้ายกัน วิพากษ์วิจารณ์ไม่เป็นไร แต่ไม่ถึงขั้นชี้หน้าด่าว่า ตะโกนด่า หรือเอาไข่เน่าขว้างเอาไม้ไล่ตี ซึ่งที่แล้วมามันเกิดขึ้น ก็ต้องมาช่วยทำสถานการณ์ที่ดีๆ ให้มันเกิดขึ้น และเราพูดต่อไปว่าเอาละถ้าเราทำให้สถานการณ์ดีๆ เกิดขึ้นเราน่าจะทำให้ได้ภายในกี่เดือน 6 เดือน 10 เดือน ฉะนั้นเราน่าจะเลือกตั้งได้ภายใน 12 เดือน ตกลงไหม ไม่ตกลงก็อาจจะต่อรองว่าเอ๊ะผมอยากได้ 9 เดือน ถ้า 9 เดือนสถานการณ์ต้องดีขึ้นภายใน 6 เดือนจะช่วยกันทำอย่างไร พูดจนกระทั่งตกลงร่วมกันได้ เราก็จะได้ข้อสรุปร่วมกันในสังคมไม่ใช่นายกฯ ตัดสินใจอยู่คนเดียว ถ้าตกลงร่วมกันได้เงื่อนไขที่ดีก็จะเกิดขึ้น การเลือกตั้งที่ดีก็จะเกิดขึ้น และหลังเลือกตั้งก็จะเรียบร้อย ผลเป็นอย่างไรทุกฝ่ายยอมรับ”

 

รัฐบาลคิดว่ามีแต้มต่อ เลยเลี่ยงประเด็นยุบสภา

 

“จึงเป็นประเด็นขัดแย้งอยู่ แสดงว่าเหมือนกับเรายังมีเสี้ยนอยู่ในเนื้อ มันยังไม่ได้ถูกถอนออกไป มันอาจจะเป็นหนองขึ้นมาเมื่อไหร่ พุพองขึ้นมาเมื่อไหร่ก็ได้ หรือเป็นฝีอยู่ ซึ่งเราต้องเอาฝีนี้ออก เอาเสี้ยนนี้ออก ที่จริงไม่ใช่เสี้ยนหรอก เป็นตะปูด้วยซ้ำ มันคือตะปูที่ยังอยู่ในร่างกายเรา ฉะนั้นต้องเอาออก แต่วิธีเอาออกก็ไม่ใช่ว่าฝ่ายหนึ่งอยู่ดีๆ มาดึงไปโดยที่อีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้รับรู้ด้วยหรือไม่ได้เห็นด้วย หรือไม่ก็มาตีให้มันหนักเข้าไปอีกให้มันเจ็บหนักไปอีก ต้องมาคุยกันประเด็นนี้เพราะมันอยู่ในแผนปรองดองแห่งชาติครั้งแรก และก็ยังเป็นประเด็นอยู่ ยังมีคนสงสัยข้องใจยังมีคนถือเป็นประเด็น และก็อาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งรอบใหม่ อย่างน้อยความขัดแย้งที่จะต่อเนื่องไปอีก”

 

ยังติดอยู่ในใจของคนเสื้อแดงที่แพ้กลับบ้านไป

“ใช่ รวมทั้งคนที่จะลงใต้ดินเอยอะไรเอย ก็ยังจะอ้างประเด็นนี้ได้อยู่ เพราะไม่ได้มีข้อตกลงร่วมกันออกมา ไม่มีข้อสรุปร่วมกันออกมา”

การเป็นผู้นำท่ามกลางความขัดแย้งและต้องฟื้นฟูประเทศ อาจารย์ไพบูลย์ยกตัวอย่างคำสอนที่ท่านพุทธทาสที่เคยแนะนำต่อ อ.สัญญา ธรรมศักดิ์ เมื่อครั้งเป็นนายกรัฐมนตรีปี 2517

 

“ธรรมะดีทั้งนั้นแหละ ที่ท่านพุทธทาสแนะนำ อ.สัญญาก็ดีมาก สุทธิ ปัญญา เมตตา ขันตี สุทธิคือความบริสุทธิ์ความจริงใจ ความสุจริต รวมทั้งความเสียสละ ปัญญาคือการใช้ความคิดที่ลึกซึ้งแยบคาย เมตตาคือมีความรักความปรารถนาดี มีไมตรีจิต ขันตีคือความอดทนอดกลั้น ซึ่งที่จริงก็เป็นวัฒนธรรมไทยมาเนิ่นนาน เพียงแต่หลังๆ มันถูกกัดกร่อนเสื่อมไปเยอะ เราเคยเป็นสังคมที่มีความรักความเมตตากรุณา เอื้ออาทรต่อกัน อดทน อดกลั้นกัน ตอนนี้มันน้อยลง ก็ใช้ธรรมะข้อนี้ได้ หรือในฐานะผู้นำผู้บริหารอยากจะใช้ทศพิธราชธรรมก็ยิ่งดี เพราะทศพิธราชธรรมคือธรรมะของผู้ปกครอง ธรรมะของพระราชา ธรรมะของผู้บริหาร มีตั้ง 10 ข้อ ตั้งแต่ทาน เป็นฝ่ายให้ ไม่ใช่ไปเรียกร้อง ศีลก็คือการปฏิบัติตนให้ถูกต้อง บริจาคคือความเสียสละ อาชชว-ซื่อตรง มัททว-ความอ่อนโยน ตปะ-มีความบากบั่น อโกธ -ไม่โกรธ อวิหิงสา คือความไม่ก้าวร้าวไม่ทำร้าย ก็เหมือนอสิงหาคือไม่รุนแรงไม่ก้าวร้าว มันต้องมาจากใจด้วย ไม่ใช่บอกว่าผมจะไม่ยิงคุณนะแต่ผมจะด่าคุณ อย่างนี้ไม่ใช่อหิงสา นี่คือความก้าวร้าวรุนแรง มหาตมะ คานธีท่านบอกว่าที่เรียกว่าสันติอหิงสา สัตยาเคราะห์ จุดสูงสุดคือจิตใจที่ปราศจากกิเลส คือปราศจากความโลภ ความโกรธ ความหลง นี่คือมหาตมะ คานธีที่เรียกวาอหิงสาคืออย่างนี้ ไม่ใช่อหิงสาแค่บอกว่าผมไม่ยิงคุณ แต่ผมจะด่าคุณ ทำร้ายคุณ จะปิดล้อมคุณ อันนี้ไม่ใช่อหิงสาในความหมายของคานธี ข้อที่เก้าคือขันติ  ความอดทนอดกลั้น และข้อสุดท้ายคืออวิโรธน ความยึดมั่นในธรรม ยึดมั่นในสิ่งที่เป็นคุณงามความดีอย่างไม่หวั่นไหว”

“สิบข้อนี้คือทศพิธราชธรรม ธรรมะของผู้ปกครอง ซึ่งถ้าเราไปดูนักการเมือง ดูนักบริหารและลองเทียบกับสิบข้อนี่ก็พอจะวิเคราะห์ได้ว่าใครมีข้อไหนแข็งข้อไหนอ่อน ฉะนั้นนักการเมือง ผู้บริหาร ผู้ปกครองยิ่งสูงเท่าไหร่ยิ่งควรใช้ ซึ่งผมคิดว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรามีครบทั้งสิบข้อนี้ ลองไล่ดูทุกข้อสิ ไม่เห็นท่านโกรธใคร ขันติ ความอดทนอดกลั้น พระองค์ท่านอดทนอดกลั้นสูงมาก มีความกดดันพระองค์ท่านอย่างแรง ยิ่งระยะหลังและปัจจุบันความกดดันแรงมาก พระองค์ท่านมีความอดทนอดกลั้น และก็ความยึดมั่นในธรรมะ ความถูกต้องดีงาม สิบข้อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีครบ ทศพิธราชธรรม ฉะนั้นผู้ปกครองลองพิจารณาดูว่าถ้าใช้ทั้งสิบข้อนี้ มันจะนำไปสู่ความขัดแย้งแตกแยกหรือว่านำไปสู่ความสมานฉันท์สันติสุข เริ่มจากตัวเองทำและก็ชวนคนอื่นทำ เราก็หวังว่าการปฏิรูปครั้งใหญ่หรือว่าการที่ใช้วิกฤติเป็นโอกาสก็จะนำไปสู่สิ่งที่ดีงามเช่นนี้ ที่ผมเขียนบันทึกว่าการฟื้นฟูคงต้องมีธรรมะมาช่วย มีศิลปะมีกระบวนการที่ดีมาช่วย”

 

ในระหว่างกระบวนการนี้อาจมีการขอให้อาจารย์เป็นคนกลาง

“ผมพูดอยู่เสมอว่าคนกลางยิ่งในภาวะที่มีความขัดแย้ง คู่ขัดแย้งต้องเห็นชอบร่วมกัน ถ้าเห็นชอบร่วมกัน ซึ่งในประเทศไทยมีตั้งเยอะแยะก็ไปเลือกมา แต่ละฝ่ายเลือกมาสักคนละ 10 ชื่อ ถ้าตรงกันชื่อหนึ่งก็ใช้ได้แล้ว ส่วนใหญ่จะไม่ตรงกัน ไม่เป็นไร ฝ่ายละ 10 ชื่อรวมสองฝ่าย 20 ไม่สำเร็จ เอ้าเลือกมาอีก 20 เลือกมาอีก 30-40 เลือกมาจนกระทั่งได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่อายุมาก ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้มีบารมีเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ คนจัดกระบวนการเป็นคนรุ่นหนุ่มรุ่นสาวที่เขาเรียนวิชานี้มาเขาก็จัดได้ สมัยเมื่อ 20 มาแล้วถ้าจะจัดกระบวนการให้ผู้บริหารมาประชุมกัน คนจะระวังมากเลย คนที่จะไปจัดถ้าเป็นผู้น้อย เป็นคนรุ่นหนุ่มรุ่นสาวไม่กล้าไปทำ แต่เมื่อเวลาผ่านไปเดี๋ยวนี้ประชุมผู้บริหารอายุ 50-60 มีตำแหน่งเป็นผู้จัดการใหญ่เป็นประธาน เอาหนุ่มสาวอายุ 30 มาจัด ก็คุ้นเคยกันไม่ว่าอะไร ผมเองก็ไปร่วมสัมมนาแบบนี้บ่อย ที่คนจัดกระบวนการเป็นคนรุ่นลูกรุ่นหลาน”

 

นั่นเพราะผู้หลักผู้ใหญ่ในสังคมต่างก็ได้ใช้ต้นทุนทางสังคมหมดไปกับความขัดแย้งในช่วงตลอด 4-5 ปีนี้

 

“อย่าไปแบ่งเลย ใครช่วยได้ก็เข้ามาช่วยกัน เราไม่ต้องไปยึดติดว่าต้องเป็นผู้ใหญ่มีเครดิตในสังคม เพราะตอนนี้กระทั่งเด็กที่เขาสนใจ มีกลุ่มเยาวชนศึกษาสันติวิธีเขาก็ไปทำงานกัน ไปเยี่ยมเยียนผู้บาดเจ็บทั้งสองฝ่าย ไปค้นหาความเป็นจริง ระดมความคิดมาเสนอแนะ เยาวชนเขาก็ทำไปตามธรรมชาติ”

แต่ถ้าว่ากันตามตรงแม้จะได้ชื่อว่าเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร แต่ชื่อของ อ.ไพบูลย์ยังคงเป็นที่ยอมรับของหลายฝ่าย

 

“เราต้องทำอะไรเท่าที่ทำได้ เท่าที่เป็นไปได้ อย่าไปคาดหวังหรือไปตั้งเกณฑ์ว่าต้องได้เท่านั้นต้องได้เท่านี้ ต้องคนนั้นคนนี้ เรายืดหยุ่นปรับเปลี่ยนไปได้ตามสถานการณ์ คนที่คิดดีพูดดีทำดี คนที่เป็นที่ยอมรับของหลายๆ ฝ่ายยังมีอยู่อีกจำนวนไม่ใช่น้อย หรือคนรุ่นใหม่ คนหนุ่มสาว วัยกลางคนก็ยังมีอีกเยอะที่จะเข้ามาช่วยกัน ผมเองก็ป่วยอยู่ เป็นมะเร็ง แต่ช่วงนี้มีอะไรที่พอทำได้ก็เข้าไปช่วย ในเรื่องความเจ็บป่วยของผม ผมไม่เคยมาตั้งคำถามว่าจะหายป่วยเมื่อไหร่  แต่อะไรที่ช่วยให้ร่างกายดีขึ้นบ้างก็ทำ ในเรื่องปัญหาของประเทศในระยะนี้ผมมักเจอคนถามว่าสังคมเราตอนนี้มีปัญหายุ่งเหยิงวุ่นวายมากจะจบได้หรือ มันจะมีทางออกจริงหรือ สองฝ่ายเขาจะเจรจาได้ไหม ซึ่งผมมักตอบว่าแทนที่จะเอาแต่ตั้งคำถาม เรามาช่วยกันคิดเชิงบวก คิดเชิงสร้างสรรค์จะดีกว่ามาก ซึ่งเราต้องมาช่วยกันคิดว่า ใครควรทำอะไร อย่างไร และตัวเราเองจะทำอะไร และในส่วนของตัวเราเองถ้าทำอะไรได้ก็ทำไปเลย ไม่มามัวแต่ตั้งคำถามหรือรอให้คนอื่นทำก่อน”.

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/365360

<<< กลับ

‘ไพบูลย์’ เตือนวิกฤตจริยธรรม จี้ ‘การเมือง – ภาครัฐ’ ฟื้นศรัทธา

‘ไพบูลย์’ เตือนวิกฤตจริยธรรม จี้ ‘การเมือง – ภาครัฐ’ ฟื้นศรัทธา


(สกู๊ปข่าวในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ  ฉบับวันที่  23  พฤศจิกายน  2553  หน้า  15)

ประเทศไทยประสบปัญหามาตลอดจนกลายเป็นวิกฤติที่ยิ่งใหญ่ 4 เรื่อง  คือ  1.วิกฤติทางเศรษฐกิจ  แต่นับว่าประเทศไทยยังโชคดีที่ไม่มีวิกฤติด้านสถาบันการเงินซึ่งเป็นผลมาจากการปรับปรุงพัฒนาด้านธรรมาภิบาลในภาคธุรกิจ  และทำให้หลายสถาบันการเงินของไทยสามารถผ่านพ้นวิกฤติรอบนี้ไปได้  ผมหวังว่าภาครัฐจะให้ความสำคัญเรื่องนี้โดยจัดให้มีพระราชบัญญัติธรรมาภิบาลหรือการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดีเพราะปัจจุบันยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร

2.  วิกฤติด้านการเมือง  จะเห็นได้ว่า 2-3 ปีที่ผ่านมา ไทยเกิดปัญหาความแตกแยกในบ้านเมือง  ทำให้ผู้คนหยิบอาวุธมาต่อสู้มีผู้บาดเจ็บล้มตายกันเป็นจำนวนมาก  ทำให้อาคาร  ทรัพย์สิน  และผู้คนจำนวนมากได้รับความเสียหายจากการชุมนุมทางการเมืองที่เกิดขึ้น

3.  วิกฤติด้านสังคม  ประเด็นนี้เกิดจากการเมืองนำไปสู่ความแตกแยก  แบ่งสี  แบ่งข้าง  แม้แต่ในครอบครัวเดียวกันหรือในองค์กรหรือในชุมชนเดียวกัน  ก็พบว่ามีการแบ่งเป็น 2 สี

และ 4.  วิกฤติทางภัยธรรมชาติ  ครั้งนี้ถือเป็นวิกฤติภัยธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดกว่าที่เคยประสบมาในอดีต  มีจำนวนจังหวัดเกินครึ่งของประเทศได้รับความเสียหายจากอุทกภัยและพิบัติภัยที่เกิดขึ้นทำให้ผู้คนบาดเจ็บล้มตาย  ไร่นาและเศรษฐกิจได้รับความเสียหายคิดเป็นมูลค่านับแสนล้านบาท

สิ่งที่น่าแปลกใจอย่างมากคือการขาดจริยธรรมในการแก้ไขวิกฤติดังกล่าว  ยังมีการยักยอกทรัพย์สินและสิ่งของที่บริจาคเพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับผู้ประสบภัยน้ำท่วม  มีการฉกชิงสิ่งที่คนบริจาคหรือนำไปแจกจ่ายโดยสวมรอยเป็นชื่อของตนเอง  เป็นต้น  ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าละอายเป็นอย่างยิ่ง  ผมมองว่ามันเป็นการทุจริตคดโกงกันดื้อๆหน้าด้านๆ  แสดงให้เห็นว่าระดับคุณธรรมและจริยธรรมในสังคมไทยอ่อนด้อยลงเรื่อยๆ  โดยเฉพาะด้านการเมืองยังมีการให้สินบนหรือการฮั้วประมูลระหว่างผู้รับเหมาในการจัดซื้อจัดจ้าง  ถือเป็นการร่วมกันทำความเลวของคนไทยด้วยกัน

                จากวิกฤติดังกล่าวทำให้ต้องดำเนินการปฏิรูปประเทศไทยแบบถอนรากถอนโคน  ไม่ใช่เป็นการแก้ปัญหาประเทศด้วยการแก้ไขความเดือดร้อนเท่านั้น  แต่เป็นการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรม  ปรับเปลี่ยนจิตสำนึก  ให้มีผลไปยังต้นตอของความคิด  การพูด  การกระทำ  ให้นำไปสู่ความดี  ความสามารถ  ความสุข  ความสร้างสรรค์  และความเจริญก้าวหน้าไม่เสื่อมถอย

ที่ผ่านมาจะเห็นว่านักการเมืองใหญ่ๆต้องสิ้นสุดอำนาจเพราะเรื่องบกพร่องทางจริยธรรม  ผมคิดว่าองค์กรใดก็ตามที่สนับสนุนสามกงล้อหลักแห่งความดี  ความสามารถ  และความสุขได้อย่างเพียงพอและสมดุล  ก็จะนำไปสู่คุณธรรมและจริยธรรมที่ดีได้  แต่ประเทศไทยถ้าเทียบกับนานาชาติ  ถือว่าอ่อนด้อยบกพร่องด้านกงล้อหลักแห่งความดีซึ่งนำไปสู่ปัญหาวิกฤติทั้ง  4  ดังกล่าว

นอกจากนี้  กระบวนการ  ทัศนคติ  และสาระ  ถือเป็นสิ่งสำคัญเช่นเดียวกัน  ยกตัวอย่างเช่น  การที่ผู้นำรัฐบาลไปหารือพูดคุยเจรจากับคู่ขัดแย้งผ่านทางโทรทัศน์  และมีการใช้คำพูดในลักษณะกล่าวหา  ให้ร้ายหรือดูถูกดูแคลนกันต่อหน้าสาธารณชนผ่านทีวี  ถือเป็นการขาดคุณภาพในการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี

ผมมองว่าเมื่อขาดจิตสำนึกด้านจริยธรรมก็จะจัดการกับความขัดแย้งไม่ได้  ทำให้ขาดความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกันแต่เป็นการมุ่งเอาชนะคะคานกันด้วยความพร่องทางจริยธรรม  ทำให้แก้ไขความขัดแย้งไม่ได้แต่จะทำให้ความขัดแย้งเพิ่มขึ้นอีก  ฉะนั้นพลังทางสังคมต้องให้ความสำคัญไม่ให้มีการทุจริตหรือแอบอ้างเพื่อผลประโยชน์ของพวกใดพวกหนึ่ง  ด้านพลังปัญญาต้องไม่ทำเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการกลุ่มทุนเท่านั้น  ส่วนพลังอำนาจรัฐก็ต้องไม่ออกกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยไม่เหมาะสม

การสร้างจริยธรรมภาครัฐถือว่าเป็นฐานสำคัญที่สุดในการเป็นตัวอย่าง  เป็นผู้นำที่จะชักชวนให้ผู้อื่นทำตาม  โดยเฉพาะผู้แทนราษฎรเป็นตัวแทนของประชาชนที่สะท้อนภาพไปสู่เด็กและเยาวชน  การเมืองระดับชาติปฏิบัติตัวอย่างไรย่อมส่งผลไปถึงการเมืองท้องถิ่นและประชาชนทั่วไป  นอกจากนี้ธุรกิจถือเป็นส่วนหนึ่งที่เชื่อมโยงระหว่างภาคการเมืองหรือภาครัฐกับภาคประชาชน  ดังนั้น  ผู้นำทั้งในภาคการเมืองและภาคธุรกิจ  จึงควรทำตนเป็นแบบอย่างที่ดีตามแนวคิด  3  กงล้อหลัก  คือ  ความดี  ความสามารถ  และความสุข

การรับสินบน  การให้สินบน  หรือการซื้อเสียงต่างๆถือตัวอย่างของการขาดจริยธรรมที่จะเป็นต้องแก้ไข  คงไม่ต้องให้ครบถ้วนตามหลักทศพิธราชธรรมร้อยเปอร์เซ็นต์  แค่ทำดีตามจรรยาบรรณและข้อบังคับด้านการทำความดีก็ถือว่าใช้ได้แล้ว

ผมอยากเห็นการกระทำที่ถูกต้องตามจริยธรรมในภาคการเมือง  รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  ขอให้เรามาช่วยกันยกมาตรฐานคุณธรรมจริยธรรมให้สูงขึ้น  ช่วยกันทำให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งคุณธรรม  จริยธรรม  ผมเชื่อว่าแม้จะไม่สำเร็จภายใน 1-2 ปี  แต่ถ้าเราพยายามอย่างต่อเนื่องภายใน  10 – 20 ปี  ความเจริญก้าวหน้าและอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันของสังคมไทยจะดีขึ้น  พร้อมกับระดับการทุจริตของประเทศไทยที่จะต้องลดลงอย่างแน่นอน

ส่วนการส่งเสริมจริยธรรม  ต้องดำเนินการโดยมีกฎหมายและนโยบายสนับสนุนที่เหมาะสมจริงจัง  มีการจัดการความรู้รวมถึงการสร้างความรู้  มีการส่งเสริมความเป็นเครือข่ายและการจัดการเครือข่ายที่ดี  มีการสื่อสาร
ที่เพียงพอและได้ผล  มีการจัดการที่ดี  พร้อมกับมีการเรียนรู้จากการปฏิบัติและจากแหล่งอื่นๆต่อด้วยการปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง  ทั้งนี้ควรมีเครื่องมือวัดระดับจริยธรรม  โดยไม่จำเป็นต้องจัดอันดับจริยธรรมก็ได้  ซึ่งตัวชี้วัดได้แก่การประเมินผลของหน่วยงาน  สำรวจความเห็น  สำรวจภาพลักษณ์  หรืออาจทำเป็นดัชนีทำนองเดียวกับดัชนีวัดคอร์รัปชันก็ได้

ทั้งนี้ขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน  คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)  คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ  (ป.ป.ท.)  กระทรวงต่างๆ  ศูนย์คุณธรรม  มูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด  และองค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย  ร่วมมือเป็นภาคีในเบื้องต้น  เน้นการสร้างสรรค์บ่มเพาะมากกว่าการไปกล่าวหาหรือตั้งข้อหาทางจริยธรรม  หากทำได้จะทำให้ความไม่ดีค่อยๆลดลงและหายไปหรือหรือคงเหลือน้อยมากในที่สุด  และขอสนับสนุนให้การส่งเสริมจริยธรรมถือเป็นวาระแห่งชาติ

และจากการที่รัฐบาลจัดให้มีคณะกรรมการปฏิรูป  (คปร.)  และคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป  (คสป.)  ซึ่งมี  นายอานันท์  ปันยารชุน  และ ศ.นพ.ประเวศ  วะสี  เป็นประธานคณะกรรมการของแต่ละชุดตามลำดับนั้น  เชื่อว่าการดำเนินการภายใน 3-4 เดือนข้างหน้าจะมีข้อสรุปนำไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายได้  โดยภายในเดือน  มี.ค.  หรือเม.ย.  2554  น่าจะเห็นผลอย่างแน่นอน”

หมายเหตุ             นายไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม  กรรมการสมัชชาปฏิรูป  อดีตรองนายกรัฐมนตรี  กล่าวปาฐกถาเปิดงานเรื่อง  “ปฏิรูปประเทศไทยโดยใช้จริยธรรม”  ในการสัมมนาทางวิชาการว่าด้วยสัปดาห์ส่งเสริมจริยธรรมแห่งชาติ  ประจำปี 2553  ที่โรงแรมคอนราด  “กรุงเทพธุรกิจ”  เห็นว่ามีเนื้อหาน่าสนใจ  จึงนำมาเสนออย่างละเอียด

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/410214

<<< กลับ

แนวคิดด้านประชาสังคมกับการดำเนินงานของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

แนวคิดด้านประชาสังคมกับการดำเนินงานของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ


ในโอกาสที่สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ดำเนินงานมาครบ ๑๐ ปี นายไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมทั้งอดีตสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติชุดที่ ๑ และปัจจุบันท่านเป็นกรรมการในคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป  ท่านได้กรุณาสละเวลาอันมีค่าให้ผู้เขียนเข้าพบในช่วงสายของวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๓  ณ บ้านพักย่านสุขุมวิท เพื่อขอสรุปย่อคำบรรยายพิเศษที่ท่านได้บรรยายไว้ เรื่อง  ”ประชาสังคม : ความคาดหวังของสังคมไทย”  เนื่องจากมีเนื้อหาและแนวคิดที่สภาที่ปรึกษาฯ สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ จึงขออนุญาตเพื่อนำมาลงในหนังสือ ๑ ทศวรรษของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในครั้งนี้ด้วย ซึ่งท่านก็ได้อนุญาต นอกจากนี้ท่านยังกรุณาให้ผู้เขียนได้มีโอกาสสนทนาเกี่ยวกับบทบาทการดำเนินงานของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติด้วย

 

ดังนั้นบทความในหัวข้อนี้จึงแบ่งออกเป็น ๒ ตอน โดยตอนที่หนึ่งเป็นสรุปการสนทนาที่เกี่ยวกับบทบาทการดำเนินงานของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และตอนที่สองเป็นแนวคิดด้านประชาสังคมกับการปฏิรูปสังคมไทยในภาวะวิกฤต ที่นำมาจากบทคัดย่อของการบรรยายพิเศษเรื่อง “ประชาสังคม : ความคาดหวังของสังคมไทย“ ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้

 

ตอนที่หนึ่ง สรุปการสนทนาเกี่ยวกับบทบาทการดำเนินงานของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

 

สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นองค์กรสะท้อนปัญหาเศรษฐกิจและสังคม มิใช่เป็นองค์กรเพื่อต่อรองผลประโยชน์ของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใด การทำงานควรยึดตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ คือ การมีส่วนร่วมของประชาชนในการสะท้อนปัญหาเศรษฐกิจและสังคมเป็นหลัก และทำงานในรูปแบบคล้าย ๆ กับคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป  ซึ่งมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้น ๑๔ ชุด ประกอบด้วย คณะกรรมการเครือข่ายองค์กรชุมชนเพื่อการปฏิรูป  คณะกรรมการเครือข่ายพลังสตรีเพื่อการปฏิรูป คณะกรรรมการเครือข่ายผู้พิการเพื่อการปฏิรูป เป็นต้น โดยคณะกรรมการทั้ง ๑๔ ชุดนี้ จะไประดมความคิดเห็นแล้วจัดทำเป็นข้อสรุปเสนอคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป  เพื่อนำไปสังเคราะห์เป็นนโยบายที่สามารถปฏิบัติได้ต่อไป

 

การทำงานของสภาที่ปรึกษาฯ ก็เช่นกันควรเน้นการระดมความคิดเห็นจากภาคประชาชน หากทำโดยสมาชิกทั้ง ๙๙ คน จะเป็นแบบผู้แทน แต่หากทำโดยภาคประชาชนมีส่วนร่วมด้วยจะมีพลังมากกว่า แล้วนำความเห็นที่ได้มาประมวลและสังเคราะห์ต่อไป   ในการเชื่อมโยงกับภาคประชาชนนั้นในแต่ละจังหวัดซึ่งมีประชาสังคมอยู่แล้ว ประชาสังคมคือภาคประชาชนที่เน้นหนักถึงกิจกรรม เป็นนักกิจกรรม รวมถึงชาวบ้านด้วย เป็นการทำเพื่อสังคมไม่ใช่เพื่อตัวเอง ตัวเองอาจไม่เดือดร้อนโดยตรงแต่เป็นการทำงานเพื่อส่วนรวม ทำให้กับสังคม นักกิจกรรมทำงานเพราะชาวบ้าน เพราะส่วนรวมเดือดร้อน หรือการที่กลุ่มองค์กรไม่เห็นด้วยกับการทำลายทรัพยากร ก็ออกมาแสดงความคิดเห็น เป็นการทำเพื่อส่วนรวม

 

ในแต่ละจังหวัดมีประชาคมอยู่แล้ว หลาย ๆ ประชาคมรวมกันก็เป็นประชาคมจังหวัด สภาที่ปรึกษาฯ ควรไปเก็บเกี่ยวความเห็นจากภาคประชาชนซึ่งในบางประเด็นเขามีความคิดเห็นอยู่แล้ว

นอกจากนี้การทำงานของสภาที่ปรึกษาฯ ควรยึดพื้นที่เป็นตัวตั้ง ทำงานเป็นภูมิภาค แต่ละภูมิภาคมีปัญหาไม่เหมือนกัน จะได้เห็นความแตกต่างของแต่ละพื้นที่

 

            ตอนที่สอง   แนวคิดด้านประชาสังคมกับการปฏิรูปสังคมไทยในภาวะวิกฤติ เป็นบทคัดย่อจากการบรรยายพิเศษเรื่อง  “ประชาสังคม : ความคาดหวังของสังคมไทย”  โดยการตอบคำถามใน ๓ ข้อคือ ประชาสังคมคืออะไร ประชาสังคมจะมีส่วนช่วยปฏิรูปสังคมไทยได้อย่างไร และควรทำอะไรบ้างเพื่อส่งเสริมสนับสนุนประชาสังคมไทยให้เจริญก้าวหน้าเป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยได้ดียิ่งขึ้นและมากยิ่งขึ้น ซึ่งคำตอบทั้ง ๓ ข้อนี้มีดังนี้

. ความหมายของ “ประชาสังคม”

ประชาสังคมคือกิจกรรมของประชาชนที่มาทำเรื่องต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน หรือเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ทั้งนี้โดยไม่มีอำนาจอะไร ถ้ามีอำนาจ เช่น ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายอำเภอ  เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นรัฐมนตรี พอใช้อำนาจแล้วตรงนี้เป็นภาครัฐ หรือถ้ามารวมตัวกันและไปค้าไปขาย ซื้อของไปขายได้กำไรเอามาแบ่งกัน อย่างนี้เรียกว่าธุรกิจ

ภาคประชาชนและภาคประชาสังคมไปด้วยกัน ประชาชนเป็นฐาน ประชาสังคมเป็นกิจกรรมคือเกิดเป็นองค์กร เป็นกลุ่มขึ้นมาหรือเป็นเครือข่าย เราเรียกว่าองค์กรประชาสังคม หรือ เครือข่ายประชาสังคม เป็นกิจกรรมประชาสังคม ทั้งหมดรวม ๆ แล้ว เรียกว่าภาคประชาสังคม หรือ   Civil Society Sector

สรุปได้ว่าเมื่อมีประชาชน มีกิจกรรม ก็เกิดเป็น “ประชาสังคม” จากนั้นจึงเกิดอีก ๒ อย่างตามมา ได้แก่ “ภาคธุรกิจ” และ “ภาครัฐ” นั่นคือประชาชนมีการค้าขาย มีการผลิต มีการจำหน่าย เราเรียกว่า “ภาคธุรกิจ” พร้อมกันนั้น เมื่อคนมาอยู่ร่วมกัน มีเรื่อง มีประเด็นมากขึ้น ก็ต้องมีคนมาดูแลจัดระเบียบ ออกกฎข้อบังคับจึงเกิดเป็น “ภาครัฐ” ซึ่งมีอำนาจหน้าที่จัดการดูแลสังคม ฉะนั้นสังคมจึงมีองค์ประกอบ ๓ ส่วนคือ

๑.)  ภาคประชาชน หรือ ภาคประชาสังคม

๒.)  ภาคธุรกิจ

๓.)  ภาครัฐ

ที่เรียงลำดับเช่นนี้เพราะว่าระดับการเกิดเป็นแบบนั้น ในความคิดเชิงรัฐศาสตร์หรือเชิงการบริหารจัดการบ้านเมือง ภาคประชาชนควรสำคัญที่สุด ภาคธุรกิจสำคัญรองลงมา และภาครัฐควรสำคัญน้อยที่สุด คำว่าสำคัญหมายถึง ความยิ่งใหญ่ ความมีศักดิ์ศรี ความมีบารมี ควรอยู่ที่ภาคประชาชนเป็นอันดับต้น ส่วนภาคธุรกิจรองลงมา และภาครัฐควรน้อยที่สุด ภาครัฐคือผู้รับใช้ประชาชนเพราะได้รับมอบหมายอำนาจมาจากประชาชน

 

ฉะนั้นจึงหวังว่าคำว่า “ประชาสังคม” ไม่ใช่คำที่ลึกลับซับซ้อนมากมายอะไร ก็คือกิจกรรมของประชาชนที่รวมตัวกันกระทำในเรื่องต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์ร่วมกันหรือเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เช่นเป็นสมาคม มูลนิธิ หรือจะรวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เราก็เรียกว่าประชาสังคม ส่วนอีก ๒ ภาคคือภาคธุรกิจและภาครัฐก็มีความสำคัญด้วย และในสังคมที่ดี ๓ ภาคนี้จะต้องเชื่อมโยงเกี่ยวพันเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ซึ่งผมจะได้พูดถึงในอันดับต่อไป

            ๒ . ประชาสังคมกับการปฏิรูปสังคมไทย

ในสภาวะที่บ้านเมืองวิกฤติและหลายฝ่ายได้ออกมาบอกว่าเราจะต้องปฏิรูปประเทศไทย พร้อม ๆ ไปกับการสร้างความปรองดอง

การปฏิรูปคือการปรองดองทางอ้อมหรือการปรองดองระยะยาวซึ่งเป็นสิ่งที่ดีและควรทำ แต่ถ้าจะพูดถึงการปรองดองทางตรงก็คือให้คู่กรณีมาพูดจากันจนกระทั่งหาข้อตกลงร่วมกันได้ หย่าศึกกันได้ จนกระทั่งเรื่องร้อนมันเย็นลง อาจจะไม่ถึงกับหันมารักกันแต่ก็อย่างน้อยเรื่องร้อนเย็นลงและฝ่ายที่เห็นต่างกันอยู่ร่วมกันได้โดยไม่ทำร้ายกัน

 

ประชาสังคมต้องเกี่ยวข้องกับการปฏิรูปแน่ ๆ และควรต้องมีส่วนร่วมให้มากที่สุดในการปฏิรูปนั้น สำคัญที่ว่าคนไปจัด ๆ ให้ดีได้อย่างไร จัดสมัชชาให้ดีอย่างไร จัดสัมมนาระดมความคิดให้ดีอย่างไร จัด Focus group อย่างไรถึงจะดี

 

การทำอะไรยาก ๆ ที่สลับซับซ้อนหรือที่ละเอียดอ่อนมาก ๆ โดยเฉพาะในเรื่องความขัดแย้งที่เราพยายามแก้ไข พร้อมกับความพยายามจะปฏิรูปซึ่งจะเป็นการปฏิรูปภายใต้ภาวะความขัดแย้ง การจะทำเรื่องที่ยาก ละเอียดอ่อน และสลับซับซ้อนเช่นนี้ ควรต้องมี ๓ องค์ประกอบที่สำคัญประสานพลังกันอย่างเพียงพอและสมดุลย์ ได้แก่

องค์ประกอบที่  ๑  คือเรื่องกระบวนการ วิธีที่เราดำเนินการเป็นอย่างไร มีจังหวะ มีลีลา มีขั้นตอนต่าง ๆ อย่างไร และอื่น ๆ

องค์ประกอบที่  ๒  เรื่องทัศนคติ เราจะสร้างทัศนคติหรือสร้างบรรยากาศให้ดีได้อย่างไร

องค์ประกอบที่  ๓  คือเรื่องสาระ เป็นตัวเนื้อหาที่จะหยิบยกขึ้นหารือ เจรจาต่อรอง ใช้ความคิดสร้างสรรค์ เพื่อหาข้อตกลงร่วมกันให้ได้ในที่สุด

 

ส่วนใหญ่ที่ความพยายามปรองดองไม่ประสบความสำเร็จเพราะเรามักกระโจนเข้าสู่สาระเลย และข้ามขั้นตอนหรือขาดองค์ประกอบในด้านกระบวนการที่เหมาะสม และขาดการสร้างทัศนคติหรือบรรยากาศที่เอื้ออำนวย ทำให้ไม่สามารถได้ข้อตกลงที่พอใจหรือยอมรับร่วมกันได้ ถ้าจัดกระบวนการดี สร้างบรรยากาศดี ทำให้เกิดทัศนคติดี สาระดีๆ จะตามมา ฉะนั้น ถ้าจะให้ภาคประชาสังคมมีส่วนสำคัญในการปฏิรูปประเทศไทยก็ขอให้ดำเนินการโดยที่ว่ามีการจัดกระบวนการที่ดี  มีการสร้างทัศนคติที่ดี จะช่วยให้ได้สาระที่ดี  เกิดเป็นข้อตกลงที่พอใจร่วมกัน  นั่นคือ  คลี่คลายความขัดแย้งและสร้างความปรองดองได้

 

            ๓ . ควรทำอะไรบ้างเพื่อส่งเสริมสนับสนุนประชาสังคมไทยให้เจริญก้าวหน้าเป็นประโยชน์ต่อสังคมได้ดียิ่งขึ้นและมากยิ่งขึ้น

 

การส่งเสริมประชาสังคมเพื่อการพัฒนา ขณะนี้ได้มีความพยายามจากหลายฝ่ายที่จะผลักดันให้เกิดกลไกระดับจังหวัด เป็นกลไกพหุพาคีคือหลาย ๆ ฝ่ายมาร่วมกันที่จังหวัด เพื่อรวมพลังสร้างสรรค์ หรือช่วยกันขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดให้ไปในทิศทางที่พึงประสงค์ ให้เกิดการพัฒนาที่พึงปรารถนา พหุภาคีนี้ควรที่จะได้สมดุลย์ระหว่างภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และภาครัฐ ภาคประชาชนก็คือภาคประชาสังคมถือว่าเป็นพวกเดียวกัน ฉะนั้นเริ่มต้นต้องนึกถึงตัวแทนเครือข่ายชุมชนท้องถิ่น ซึ่งเป็นฐานล่างที่สุดและเขามีกลไกอยู่แล้ว มีเครือข่ายองค์กรชุมชน ระดับตำบล ระดับจังหวัด ระดับชาติ มีเครือข่ายสภาองค์กรชุมชน ทั้งระดับตำบล ระดับจังหวัด และระดับชาติเช่นเดียวกัน เป็นต้น

 

นอกจากบรรดาองค์กรชุมชนต่าง ๆ แล้วก็จะมีเครือข่ายภาคประชาสังคมของจังหวัด พวกนี้ได้แก่ นักจัดกิจกรรมหรือทำกิจกรรมทั้งหลาย ที่ดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องปัญหายาเสพติด เรื่องสร้างคุณธรรม จริยธรรม เรื่องส่งเสริมศิลปะวัฒนธรรม มูลนิธิ สมาคม ทั้งหลาย ก็รวมอยู่ในคำว่าภาคประชาสังคม ซึ่งเขามีเครือข่ายอยู่และก็สามารถมารวมตัวกันหรือส่งตัวแทนมาในระดับจังหวัดได้ นี่คือ ภาคประชาชนและประชาสังคม ขยายความอีกหน่อยก็ต้องรวมถึงสถาบันวิชาการ เช่น มหาวิทยาลัยซึ่งอยู่ในจังหวัดที่เราจะขับเคลื่อน หรืออยู่ในจังหวัดใกล้เคียง เพราะเขาเป็นนักวิชาการที่จะมาเป็นประโยชน์ได้ นอกจากมหาวิทยาลัยก็มีวิทยาลัย โรงเรียน ล้วนสามารถเป็นประโยชน์ได้ด้วย มีสถาบันศาสนา สถาบันจริยธรรม สถาบันศิลปะวัฒนธรรม ศิลปิน สื่อ สื่อท้องถิ่น สื่อในจังหวัด หรือสื่อระดับชาติที่ไปทำงานที่จังหวัด เหล่านี้รวมอยู่ในคำว่า “ภาคประชาชนและประชาสังคม”  ซึ่งคือชุดที่ ๑

 

ชุดที่ ๒ คือภาคธุรกิจ เช่น หอการค้า สภาอุตสาหกรรม สมาคมธนาคารไทย สภาธุรกิจตลาดทุน สภาการท่องเที่ยว ซึ่งต้องทำงานในเชิงพื้นที่ ถึงจะเห็นรูปธรรม เสนอให้จัดกิจกรรม กระจายคลุมทั้งประเทศได้ ซึ่ง พื้นที่ที่คิดว่าเป็นพื้นที่ระดับยุทธศาสตร์คือจังหวัด ผมได้เคยเสนอแนะว่าอาจจะลองไปทำที่จังหวัดใกล้ๆกรุงเทพฯ เช่นจังหวัดนครปฐม เพราะบังเอิญมีมหาวิทยาลัยมหิดลอยู่และเขาก็สนใจที่จะร่วมด้วย ฉะนั้นถ้าไปจัดที่นครปฐมก็จะมีตัวแทนขององค์กรชุมชน ของประชาสังคม ของฝ่ายวิชาการ ฝ่ายศาสนา ฝ่ายสื่อ และอื่นๆของจังหวัดนครปฐม ส่วนภาคธุรกิจในจังหวัดนครปฐม ก็จะมี สภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครปฐม หอการค้าจังหวัดนครปฐม สภาการท่องเที่ยวจังหวัดนครปฐม ชมรมธนาคารจังหวัดนครปฐม และอาจมีสภาธุรกิจตลาดทุนจังหวัดนครปฐมด้วยก็ได้ ข้อนี้ผมไม่แน่ใจ แต่เฉพาะภาคธุรกิจมี 5-6 แขนง พร้อมเข้าร่วมได้อย่างแน่นอน

 

ชุดต่อไปหรือชุดที่ ๓ ก็คือ ภาครัฐ ได้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัด ราชการส่วนภูมิภาค นายอำเภอ รวมถึงกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เรามีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อบจ. อบต. เทศบาล ก็ถือเป็นภาครัฐประเภทท้องถิ่น รวมไปถึงหน่วยงานของกระทรวงต่าง ๆ  และองค์กรภาครัฐอื่นๆ  เช่น  สปสช., สสส., พอช.,  สช.  ฯลฯ

 

ทั้งหมดนี้ควรมารวมพลังกัน ผมเรียกว่า “เครือข่ายพหุภาคีขับเคลื่อนจังหวัด” หรืออาจเรียกยาว ๆ ว่า “เครือข่ายความร่วมมือพหุภาคีรวมพลังสร้างสรรค์ขับเคลื่อนจังหวัดไปสู่การพัฒนาที่พึงปรารถนา” ซึ่งเขาจะต้องไปทำงานร่วมกัน และก็คิดกันว่าอยากจะเห็นจังหวัดของเขาพัฒนาไปอย่างไร และเขาจะทำอะไรกันบ้าง อะไรที่เขาทำได้เอง อะไรที่จะนำเสนอหน่วยเหนือเพื่อให้ความเห็นชอบ เช่นบางอย่างต้องให้รัฐบาลแก้กฎหมายหรือข้อบังคับหรือแก้ไขนโยบาย บางอย่างจังหวัดทำได้เองแต่ต้องเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดทำ หรือ อบจ.ทำ หรือเทศบาลทำ หรือ อบต.ทำ บางอย่างต้องลงไปถึงระดับท้องถิ่นหรือระดับชุมชน  นั่นคือ  ชุมชนเองควรต้องทำอะไร  หรืออาจแยกเป็นชุมชนในท้องถิ่นจะทำอะไร  โรงเรียนในท้องถิ่นจะทำอะไร  วัดในท้องถิ่นจะทำอะไร  ฯลฯ

 

กล่าวโดยทั่วไป “ประชาสังคม” คือกิจกรรมที่ดีของประชาชน เป็นกิจกรรมที่สร้างสรรค์ซึ่งควรได้รับการส่งเสริมสนับสนุน แต่การส่งเสริมสนับสนุนถ้าเราเลือกจุดที่เป็นยุทธศาสตร์  เช่น กรณีที่ผมเสนอเกี่ยวกับ “ การรวมพลังเครือข่ายพหุภาคีขับเคลื่อนจังหวัด” นั้น ผมคิดว่าเป็นยุทธศาสตร์สามารถทำได้ทุกจังหวัด แต่อย่าไปทำพร้อมกันทุกจังหวัด ควรเริ่มเพียง ๑,๒,๓ จังหวัด แล้วค่อยขยาย ถ้าทำแล้วผลออกมาดีจะมีจังหวัดอื่นตามมาและจะไปได้เร็วในภายหลัง โดยเป็นการไปเร็วที่ได้ผลดีด้วย

หมายเหตุ

1 จรัสโฉม วีระพรวณิชย์กุล นักวิเคราะห์นโยบายและแผนเชี่ยวชาญ  สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

2 สรุปคัดย่อจากคำบรรยายพิเศษในการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “ประชาสังคม: ความคาดหวังของสังคมไทย” โดย นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม จัดโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วันที่ ๘-๙ กรกฎาคม ๒๕๕๓ ณ โรงแรมแม่น้ำรามาดาพลาซา กรุงเทพฯ

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/415090

<<< กลับ

มากกว่าเงินตรา

มากกว่าเงินตรา


(คำนิยมสำหรับหนังสือ  “มากกว่าเงินตรา”  โดย ดร.มิชิตา จำปาเทศ รอดสุทธิ)

 

โลกทุกวันนี้กำลังอยู่ในกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญหลายประการ ทั้งด้านเศรษฐกิจ ธุรกิจ การเมืองการปกครอง สังคม วัฒนธรรม จิตสำนึก หลักคิด วิธีคิด และอื่น ๆ

ปัจจัยหลัก ๆ ที่นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ได้แก่  ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ที่เสื่อมทรุดและบีบคั้นมนุษย์มากขึ้น ๆ ทุกขณะ   ภาวะทางเศรษฐกิจและธุรกิจที่เกิดภาวะวิกฤตอันได้แก่ ความล้มเหลวล่มสลายหรือล้มละลายเป็นระยะ  ๆ  หลายต่อหลายครั้ง ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะครั้งล่าสุดที่เริ่มในประเทศที่ร่ำรวย ก้าวหน้าที่สุดคือ สหรัฐอเมริกาเมื่อ 4-5 ปีมาแล้ว  เป็นผลให้สถาบันการเงินและบริษัทธุรกิจขนาดใหญ่ที่สุดหลายแหล่งอยู่ในภาวะล้มละลาย  และภาวะวิกฤตนี้ได้แพร่ขยายไปยังประเทศในยุโรป เอเซีย และอื่น  ๆ  เป็นลูกโซ่  สะเทือนมาถึงประเทศทั่ว ๆ ไปอย่างประเทศไทยด้วย

ภาวะวิกฤตด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผนวกกับภาวะวิกฤตด้านเศรษฐกิจและธุรกิจ คงเป็นปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่งที่กระตุ้นให้ผู้คนหันมาตั้งสติ “คิดใหม่ ทำใหม่”  หันมาให้ความสำคัญกับการดูแลอนุรักษ์พัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม กับการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจและวิธีการประกอบธุรกิจ ที่ไม่เพียงแต่ต้องพยายามดูแลเอาใจใส่เรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกันอย่างจริงจังต่อเนื่องแล้ว ยังต้องดูแลเอาใจใส่เรื่องชุมชนรอบข้าง และสังคมโดยรวม  การดูแลเอาใจใส่เรื่องวิธีการบริหารจัดการบุคลากรในองค์กร ตลอดจนปรัชญา หลักคิด ยุทธศาสตร์  ฯลฯ ขององค์กรที่ไปเชื่อมสัมพันธ์กับ “ความรับผิดชอบต่อสังคม” (Corporate Social Responsibility  หรือ  CSR ) หรือ  การสร้างและรักษาไว้ซึ่ง “ความยั่งยืน” (Sustainability) ขององค์กรร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง (All Stakeholders)

ได้เกิดความพยายามและ “นวัตกรรม”(Innovation) มากมายในเรื่องดังกล่าวข้างต้นเพื่อรองรับ การ “คิดใหม่ ทำใหม่”  หรือหลักคิด วิธีคิด ฯลฯ ที่เปลี่ยนไปในด้านการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ และวิธีการประกอบธุรกิจหรือบริหารจัดการธุรกิจ  เป็นต้นว่า ความริเริ่มเรื่อง “ความสุขมวลรวมประชาชาติ” (Gross National Happiness)  ซึ่งปัจจุบันแพร่ขยายไประดับนานาชาติอย่างกว้างขวาง  จนถึงขั้นความพยายามที่จะวัด “ความก้าวหน้าที่แท้จริง”(Genuine Progress) หรือ ดรรชนีความก้าวหน้าของชาติ” (National Progress Index หรือ NPI)   ซึ่งในประเทศไทยกำลังมีความพยายามในรูป “แผนงาน” (Program)  ที่สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  ร่วมกับ สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข  สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)และองค์กรหรือสถาบันอื่น ๆ อีกจำนวนหนึ่งโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เองก็ได้มีทั้ง “ตัวชี้วัดทางสังคม” (Social Indicators) และตัวชี้วัดความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน”(Green and Happiness Indicators)  อยู่เป็นระยะเวลาหนึ่งมาแล้ว

ในระดับชุมชน ได้มีความพยายามหรือนวัตกรรมในการสร้าง “ตัวชี้วัดความสุขชุมชน” (Community Wellbeing Indicators)  “ตัวชี้วัดความดี” (Goodness  หรือ Virtue  Indicators)  ซึ่งกำลังได้รับความสนใจและเกิดการแพร่ขยายในหมู่ชุมชนในหลาย ๆ พื้นที่ของประเทศ

สำหรับในภาคธุรกิจเองนั้น  ได้มีกิจกรรม โครงการ แผนงาน กลไก ฯลฯ เกิดขึ้นมากมายที่สะท้อนถึงหลักคิดวิธีคิดที่ได้เปลี่ยนแปลงไป หลายบริษัทหันมาให้ความเอาใจใส่ดูแลเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ชุมชนรอบข้าง พนักงาน การเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือชุมชนและสังคม ฯลฯ โดยการเปลี่ยนแปลงไป “ตามธรรมชาติ “คือ มิได้มีโครงการแผนงานอะไรเป็นพิเศษ แต่เกิดจาก จิตสำนึก วิธีคิด ฯลฯ ที่เปลี่ยนไป ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภาวะวิกฤตทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และอีกส่วนหนึ่งมาจากสภาวะวิกฤตทางธุรกิจและเศรษฐกิจ ปัจจัยทั้งสองนี้ ได้ส่งแรงกระตุ้นหรือบีบนำให้ธุรกิจขององค์กรหรือผู้บริหาร หันมา “คิดใหม่ ทำใหม่” ขณะเดียวกัน ก็ได้เกิดแผนงานหรือโครงการ เช่น “แผนงานองค์กรแห่งความสุข”  (Happy Workplace)  สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ซึ่งทำมาหลายปีแล้วและได้แพร่ขยายไปยังองค์กรทั้งในภาคธุรกิจและนอกภาคธุรกิจ  การจัดตั้ง “สถาบันธุรกิจเพื่อสังคม” (Corporate Social Responsibility Institute  หรือ  CSRI)  โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2550 การประกาศใช้และเผยแพร่ “เข็มทิศธุรกิจเพื่อสังคม” โดยคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.)  ร่วมกับ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)  การประกาศการประยุกต์ใช้ ISO 26000 ว่าด้วย “ความรับผิดชอบต่อสังคม” (Social Responsibility)  ในประเทศไทยโดยกระทรวงอุตสาหกรรมในปี 2553  การกำหนดเป็นนโยบายของรัฐบาลซึ่งรวมถึงการจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะกิจและการจัดสรรงบประมาณให้ เพื่อ”สร้างเสริมกิจการเพื่อสังคม” (Social Enterprise Promotion)  ในปี 2553 และยังมีความริเริ่มและนวัตกรรมอื่น ๆ อีก ที่ชี้ไปในแนวทางการ “คิดใหม่ ทำใหม่” ของภาคธุรกิจตลอดจนการส่งเสริมสนับสนุนจากภาครัฐ

ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นบ่งบอกชัดเจนว่า “การพัฒนา” ไม่ว่าจะเป็นทางด้าน เศรษฐกิจ ธุรกิจ สังคม และอื่น ๆ ได้หันมาให้ความสำคัญกับมิติหรือองค์ประกอบที่สำคัญของชีวิตและสังคม ซึ่งมากกว่าการสร้างรายได้  มากกว่าการสร้างกำไร นั่นคือ “มากกว่าเงินตรา”  อย่างแน่นอน  ดังนั้น  หนังสือ “มากกว่าเงินตรา” โดย ดร.มิชิตา จำปาเทศ รอดสุทธิ จึงเป็นหนังสือที่เข้ากับยุคสมัยและเหมาะกับช่วงเวลาเป็นอย่างยิ่ง โดยในหนังสือเล่มนี้ ท่านผู้อ่านจะได้รับรู้และเรียนรู้อย่างมีหลักการ อย่างเป็นรูปธรรม และอย่างละเอียด ในลีลาการเขียนที่เรียบง่าย อ่านง่าย อ่านสนุก มีสีสัน  เกี่ยวกับแง่มุมและมิติต่าง ๆ ของการบริหารธุรกิจหรือการบริหารองค์กรและบุคลากร ให้เป็นธุรกิจหรือองค์กรและบุคลากรที่มีความสุข มีความรับผิดชอบ ดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดูแลชุมชนรอบข้าง  สร้างสรรค์ช่วยเหลือผู้อื่นและสังคม พร้อม ๆ ไปกับการทำให้องค์กรมีความเข้มแข็งมั่นคงเป็นปึกแผ่น มีจิตวิญญาณ  มีคุณธรรม  มีความรักความสามัคคี มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีผลกำไรที่เพียงพอ ซึ่งน่าจะเป็น “ธุรกิจที่พึงปรารถนา” หรือ “องค์กรที่พึงปรารถนา”  สำหรับ(คริสต) ศตวรรษที่ 21 และแม้หลังจากนั้น

ดร.มิชิตา จำปาเทศ รอดสุทธิ เป็นผู้รู้ ผู้ชำนาญการ เป็นวิทยากร เป็นที่ปรึกษาในเรื่องการบริหารองค์กร การบริหารบุคคล และจิตวิทยา มาเป็นเวลานาน เป็นผู้บริหารสูงสุดของ “สถาบันการบริหารและจิตวิทยา” หรือ “เอ็มพีไอ” (Management and Psychology Institute  – MPI)  โดยเป็นการรับช่วงต่อจากคุณพ่อ คือ ศ.ดร.หลุย จำปาเทศ  ซึ่งเป็นปรมาจารย์ในเรื่องดังกล่าวและมีชื่อเสียงที่เป็นต้องการของหลายหน่วยงานขอให้ไปเป็นวิทยากรในหลักสูตรผู้บริหารในช่วงเวลาที่ยาวนาน          ดร.มิชิตา  ไม่เพียงแต่ศึกษาค้นคว้าหลักวิชาการจากแหล่งต่าง ๆ ทั้งใกล้ตัวและไกลตัว แต่ยังประยุกต์เข้าสู่การปฏิบัติทั้งในตัวผู้บริหารและองค์กรต่าง ๆ ที่ได้รับบริการจากสถาบันเอ็มพีไอ  ประยุกต์ใช้ในองค์กรของ ดร.มิชิตา  หรือ สถาบันเอ็มพีไอ ตลอดจนประยุกต์ใช้ในตัวตนของ ดร.มิชิตาเอง  ดังนั้น  จึงต้องขอขอบคุณ ดร.มิชิตา ที่ได้ใช้ความพยายามกลั่นเอาความรู้  ประสบการณ์ และ “ปัญญา” ที่ได้สั่งสมมาเป็นเวลานาน ให้เป็นหนังสือที่ค่อนข้างกระชับ อ่านง่าย อ่านสนุก แต่เต็มไปด้วยเนื้อหาสาระอันมีคุณค่าและเป็นประโยชน์สร้างสรรค์  บนพื้นฐานของหลักวิชาผสมกับความรู้ความเข้าใจที่ได้มาจากการปฏิบัติและประสบการณ์แท้จริง

ผมขอชื่นชมและเอาใจช่วย ดร.มิชิตา จำปาเทศ รอดสุทธิ ในความพยายามเขียนหนังสือเล่มนี้ และที่จะเขียนเล่มที่ 2 ในอันดับถัดไป  และขอเชิญชวนท่านผู้อ่านให้อ่านหนังสือเล่มนี้อย่างใช้วิจารณญาณ  พร้อมทั้งมีความคิดอิสระ  โดยอาจนำความคิดที่ได้จากการอ่านหนังสือเล่มนี้ไปทดลองปฏิบัติ หรือไปเสริมเติมการปฏิบัติที่ท่านมีอยู่แล้ว หรืออาจตั้งประเด็นความคิดเห็นเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับ ดร.มิชิตา (ผู้เขียน) และหรือกับเพื่อนร่วมงานหรือกับเพื่อนร่วมวงการหรือผู้สนใจทั่วไป ผมเชื่อ ว่าจะเกิดผลรวมที่สะสมเพิ่มเติมเป็นประโยชน์ต่อผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย  ตลอดจนเป็นประโยชน์ต่อสังคม ต่อประเทศ รวมถึงต่อโลกและมนุษยชาติ

ทั้งนี้เพราะหนังสือ “มากกว่าเงินตรา” เล่มนี้ แม้จะอ่านได้สบาย ๆ  แต่แท้จริงแล้วเกี่ยวพันกับเรื่องที่เป็นปัญหาใหญ่ที่มีความซับซ้อนลึกซึ้งของชีวิต ของชุมชน ขององค์กร ของสังคม ของโลก และของมนุษยชาติ

ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/428998

<<< กลับ

มั่นคงจากฐานราก เข้มแข็งจากภายใน ประเทศไทยยั่งยืน

มั่นคงจากฐานราก เข้มแข็งจากภายใน ประเทศไทยยั่งยืน


(เรียบเรียงจากการสัมภาษณ์ นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ประธานคณะกรรมการเครือข่ายองค์กรชุมชนเพื่อการปฏิรูป)

 

สถานการณ์ประเทศไทยในห้วงเวลาที่ผ่านมา ทำให้หลายฝ่ายเกิดความกังวลและเป็นห่วงอนาคตประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ผลลัพธ์ที่เห็น คือ การเผชิญหน้าระหว่างกลุ่มคนสองฝ่ายที่มีความคาดหวังและการรับรู้ที่ต่างกัน โดยที่ฝ่ายหนึ่งรู้สึกว่าตนด้อยโอกาส ไม่ได้รับความเป็นธรรม และความเสมอภาคในเรื่องต่างๆ จนทำให้ปัญหายิ่งบานปลาย

วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น ก่อให้เกิดกระแสความตื่นตัวและเรียกร้องให้มีการเร่งสะสางปัญหาอย่างจริงจังครั้งใหญ่จากทุกภาคส่วนของสังคม

แต่ทว่า วิกฤตครั้งนี้ ไม่อาจแก้ไขได้ด้วยวิธีการแบบเดิมโดยรอให้ภาครัฐเป็นผู้จัดการเพียงฝ่ายเดียว หากจะแก้ปัญหาให้ตรงจุด จำเป็นต้องปฏิรูปประเทศกันใหม่ โดยแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ลดความแตกต่าง เหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมและความเสมอภาคให้เกิดขึ้น โดยให้ “คน” และ “ชุมชน” เป็น “ศูนย์กลางการพัฒนา”

ด้วยความเชื่อที่ว่า การสร้างความเข้มแข็งของ “ชุมชน” ซึ่งเป็น “ทุน” และ “ฐาน”ทางสังคมที่สำคัญให้สามารถจัดการ ดูแล และแก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง จะเป็นรากฐานที่มั่นคงต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อมของประเทศได้อย่างยั่งยืน

 

 “กระจายอำนาจสู่ชุมชน” “ตั้งฐานของชาติให้แข็งแรง” คือ หัวใจของการปฏิรูปครั้งนี้

ในอดีต ความเข้มแข็งของสังคมชนบท คือ รากฐานความยั่งยืนของสังคมทั้งหมดประชาชนในชนบททำมาหากิน ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง มีวิถีการดำรงชีวิตกลมกลืนไปกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่การเร่งรัดพัฒนาประเทศเพียงชั่วไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้วิถีชีวิตประชาชนเปลี่ยน ชุมชนอ่อนแอ ประสบความยากจน เกิดปัญหาสังคมตามมามากมาย สังคมไทยในภาพรวมจึงดูเหมือนจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ถดถอยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ยิ่งไปกว่านั้น การบ่มเพาะให้ประชาชนคุ้นชินแต่การเป็นผู้รอรับ รอคอยความช่วยเหลือจากภายนอก ยิ่งลดทอนความสามารถและความพยายามในการช่วยเหลือตนเองลง

การปฏิรูปครั้งนี้ จึงต้องเริ่มจากการปฏิรูปการบริหารประเทศโดยให้ชุมชนมีกระบวนการรวมตัวกันอย่างจริงจังและเข้มแข็งมากขึ้น มีอิสระในการบริหารจัดการและพัฒนาชุมชนด้วยตนเอง เปลี่ยนจากผู้ รอรับ เป็นผู้ ขับเคลื่อน การพัฒนา ภายใต้หลักการที่ว่า “เรื่องของใคร คนนั้นย่อมรู้ปัญหา รู้ความต้องการและรู้วิธีการแก้ปัญหาได้ดีที่สุด โดยเปิดโอกาสให้ชุมชนได้ร่วมกันคิด ร่วมวางแผน ร่วมตัดสินใจ ร่วมลงมือทำ ร่วมเรียนรู้ ร่วมรับผิดชอบ ร่วมแก้ไขปัญหา และบริหารจัดการโครงการของรัฐและท้องถิ่นเพื่ออนาคตชุมชนด้วยตนเอง สอดคล้องตามความหลากหลายของวัฒนธรรม วิถีชีวิต และภูมิปัญญาที่สืบทอดมา ควบคู่ไปกับการปลูกสร้างจิตสำนึกให้รู้จักปกป้องรักษาผลประโยชน์ของชุมชน เสียสละเพื่อชุมชน ตลอดจนขับเคลื่อนนโยบายให้เป็นไปตามแนวทางที่ท้องถิ่นปรารถนา

ในขณะที่ส่วนกลางหรือภาครัฐต้องปรับวิธีคิดและวิธีการทำงานใหม่จากการเป็น  “ผู้สั่งการ” มาเป็น “ผู้สนับสนุน” หรือเป็นเพียง “ตัวช่วย” เท่านั้น

 

ย้อนรอยงานพัฒนาชุมชน : มองอนาคต ผ่านอดีต

คำว่า “ชุมชนเข้มแข็ง” ปรากฏขึ้นในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2510 ตามแนวคิดของ  DR. Y.C. James Yen ผู้ก่อตั้งและประธานองค์การ Institute of International Rural Reconstruction (I.I.R.R.สถาบันนานาชาติเพื่อการบูรณะชนบท) เพื่อสนับสนุนกลุ่มคนที่มีใจรักงานพัฒนาชนบท โดยขณะนั้นใช้คำว่า Reconstruction ซึ่งแปลว่า “บูรณะ” อันหมายถึง “การทำของที่เสื่อมโทรมให้ดีขึ้น”

แนวคิดการพัฒนาชนบทของดอกเตอร์เยนนั้น จะไม่เน้นการสงเคราะห์หรือช่วยเหลือชุมชน แต่จะเน้นการสร้างนักพัฒนาชุมชนให้เข้าไปคลุกคลี สร้างความคุ้นเคยเป็นกันเองกับชาวบ้าน  เรียนรู้วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวบ้านให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ ร่วมกับชาวบ้านในการวิเคราะห์ปัญหา สร้างกระบวนการแก้ปัญหา และเริ่มต้นการพัฒนาบนรากฐานวิถีชีวิตและวัฒนธรรมเดิม พร้อมทั้งใช้หลักการพัฒนาชนบทแบบผสมผสาน 4 องค์ประกอบ คือ  1. การมีอาชีพ การทำมาหากิน  2. การมีสุขภาพอนามัยที่ดี 3. มีการศึกษาเรียนรู้ อ่านออกเขียนได้ เรียนรู้ได้ และ  4. การจัดการตนเอง

ส่วนการพัฒนาชนบทในประเทศไทยเริ่มต้นอย่างเป็นรูปธรรมเมื่อ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ก่อตั้ง มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์*1 ใน พ.ศ. 2510 และเป็นประธานมูลนิธิฯ คนแรก ถือเป็นองค์กรเอกชนแห่งแรกที่ทำงานพัฒนาชนบทอย่างเป็นกิจลักษณะ ก่อนที่หน่วยงานราชการจะนำหลักการทำนองเดียวกันไปประยุกต์ใช้

กิจกรรมของมูลนิธิฯ ดำเนินเรื่อยมา จนกระทั่งหลังเหตุการณ์ทางการเมือง 6 ตุลาคม 2519 กิจกรรมต่างๆ ของมูลนิธิฯ ได้ชะลอตัวลงชั่วระยะหนึ่ง จนกระทั่ง พ.ศ.2531 นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม เข้ามาเป็นผู้อำนวยการ  มูลนิธิฯ จึงมีการฟื้นฟู และดำเนินการต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน

(1* พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับมูลนิธิฯ เข้าอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2512)

 

จะเห็นได้ว่า แนวคิดการแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศโดยการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น การพัฒนาชนบท และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างชุมชนเข้มแข็ง ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เกิดขึ้นในประเทศไทยมานานกว่าสี่ทศวรรษแล้ว ทั้งที่ดำเนินการโดยภาครัฐ  ภาคเอกชน  และองค์กรชุมชน

แต่เริ่มชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากขึ้น หลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจใน พ.ศ. 2540 เมื่อรัฐปรับทิศทางการพัฒนาประเทศใหม่โดยเน้น “คนและชุมชนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา มุ่งสร้างการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน และกลับหัวปิระมิดการพัฒนาจาก “จากยอดสู่ฐานราก”  มาเป็น “จากฐานรากสู่ยอด ขณะเดียวกันก็ได้มีการจัดตั้ง “กองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม”  (Social Investment Fund : SIF)  หรือ “กองทุนชุมชน” ขึ้น เพื่อสนับสนุนกิจกรรมขององค์กรชุมชน   ขององค์กรชุมชนทั่วประเทศ  เป็นทั้ง “โอกาส” และ “บทเรียน” ที่ทำให้ชาวบ้านได้รับทุนโดยตรงไปบริหารจัดการเอง เกิดโครงการที่ชุมชนคิด พัฒนา และบริหารกันเองอย่างกว้างขวาง ถือเป็นการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ของภาคประชาชน และเป็นการปรับแนวคิดและกระบวนการทางสังคมใหม่ท่ามกลางบริบทที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วและสลับซับซ้อน

 

เรียนรู้อุปสรรค มุ่งมั่นพัฒนา

อย่างไรก็ดี แม้จะมีความพยายามพัฒนาชุมชนให้พึ่งตนเองได้มาระยะหนึ่งแล้ว  แต่ความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมนั้นยังจำกัดอยู่ในวงแคบเพราะในทางปฏิบัติยังมีปัญหาและอุปสรรคขัดขวางการพัฒนาอยู่มาก ได้แก่

1. การประเมินความสามารถของชุมชนในระดับต่ำ โดยมองว่าประชาชนเป็นผู้ไม่รู้ ไม่มีความคิดในการคิดพัฒนา จำเป็นต้องให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปควบคุม จัดการ เป็นผู้นำความคิดและการพัฒนาในทุกด้าน ส่งผลให้ชุมชนยิ่งอ่อนแอลงเรื่อยๆ

2. การขาดความอดทนและรอคอย ชุมชนเข้มแข็งต้นแบบทั้งหลายไม่ได้เข้มแข็งเพียงชั่วข้ามคืน แต่ใช้เวลานานเพื่อเรียนรู้และจัดการวิถีชีวิตของตนเอง แต่ชุมชนโดยมากมักต้องการทางลัด ต้องการสูตรสำเร็จ เมื่อพัฒนาแล้วไม่เห็นผลสำเร็จในเวลาอันสั้น ก็เกิดความท้อแท้และท้อถอยไปในที่สุด

3. นิยมเลียนแบบ มากกว่าเรียนรู้ แม้จะมีการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ของชุมชนด้วยการดูงาน แต่ก็ใช่ว่าจะเรียนรู้กันได้ง่ายๆ ส่วนใหญ่มักเป็นแค่การเลียนแบบเท่านั้นไม่ใช่ความรู้ที่เกิดจากการเรียนรู้ ประสบการณ์ และการลงมือปฏิบัติอย่างแท้จริง

4. ประชาชนในชนบทขี้เกรงใจ ไม่กล้าแสดงออก ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตาม ทำให้ไม่ทราบความต้องการที่แท้จริง การวางแผนการถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจในเรื่องต่างๆ ไม่สามารถวัดผลได้ในทันที

5. ผู้นำหมู่บ้านตามกฎหมายมักไม่ใช่ผู้นำตามธรรมชาติ โดยมากประชาชนจึงไม่ให้การยอมรับ ความร่วมมือในการแก้ปัญหาหรือพัฒนาจึงมีน้อย

6. ความเคยชินกับกรอบและระบบสั่งการจากข้างบน ซึ่งมิได้ตอบสนองความต้องการที่แท้จริง ไม่ส่งเสริมความสามารถของชุมชน และยิ่งทำให้ชุมชนอ่อนแอ

7. ธรรมชาติของสังคมไทย เป็นสังคมตามกระแส สามารถตื่นตัวได้ง่ายๆ ตามกระแสนิยม แต่ขณะเดียวกัน ก็เป็นสังคมที่ลืมง่ายเช่นกัน ธรรมชาติของการพัฒนาต่างๆ จึงมักเอาจริงเอาจังในช่วงต้น แผ่วกลาง และค่อยๆ เลือนหายไปในที่สุด ไม่ใช่รูปแบบการพัฒนาที่ยั่งยืน

8. ที่สำคัญที่สุด คือ ขาดความเข้าใจความแตกต่างระหว่างการพัฒนาชุมชนที่แท้จริง กับการพัฒนาที่มักทำกัน  กล่าวคือ

* การพัฒนาชุมชนมุ่งให้ความสำคัญกับคน มากกว่า วัตถุหรือเศรษฐกิจ

* เน้นการมีส่วนร่วมโดยมีบทบาทสำคัญของประชาชนอย่างแท้จริง มิใช่ ชักชวนให้ประชาชนเข้ามารับรู้หรือร่วมด้วยบ้างตามหลักการหรือเพียงเพื่อให้ครบขั้นตอนเท่านั้น

* ต้องการให้ประชาชนช่วยเหลือตัวเองและจัดการตนเองได้ โดยรัฐเพียงให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนและวิชาการตามสมควร  แทนที่ จะต้องพึ่งพารัฐหรือบุคคลภายนอกตลอด

* ให้ความสำคัญกับวิธีการหรือกระบวนการในการคิด ตัดสินใจ วางแผน ลงมือปฏิบัติ ติดตามประเมินผล เรียนรู้จากการปฏิบัติและการประเมินผล และคิดค้นหาทางปรับปรุงพัฒนาต่อไป  เป็นวงจรเช่นนี้อย่างต่อเนื่อง   มิใช่ การมุ่งผลสำเร็จหรือเป้าหมายแต่เพียงอย่างเดียว

 

แต่ไม่ว่าจะมีอุปสรรคเพียงใด ความพยายามในการสร้างชุมชนเข้มแข็งก็ยังดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้หลักการสำคัญในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน คือ ต้องมีผู้นำที่เข้มแข็ง มีจิตอาสา มีคุณธรรม และมีความสามารถ มีผู้สนับสนุนหรือสมาชิกที่มีแนวคิดไปในทิศทางเดียวกันหรือมีอุดมการณ์ร่วมกัน มีกิจกรรมร่วมหรือการรวมกลุ่มของชุมชน ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนชุมชนและเชื่อมกระชับความสัมพันธ์ของคนในชุมชนให้แน่นแฟ้น มีเอกลักษณ์หรือศักยภาพที่โดดเด่น เช่น ภูมิปัญญา วัฒนธรรมอันดีงาม  หรือทรัพยากรท้องถิ่น มีความสามารถในการพึ่งพาตนเอง ลดการพึ่งพาภายนอก มีการเติบโตหรือพัฒนาการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ไม่เร่งรัดฉาบฉวย มีกระบวนการเรียนรู้และการถ่ายทอดความรู้จากรุ่นสู่รุ่น และจากชุมชนสู่ชุมชน ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งของวัฒนธรรมชุมชน มากกว่าความเข้มแข็งจากวัตถุ สามารถผลักดันให้กลไกของรัฐทำงานเอื้อประโยชน์และสอดคล้องกับความต้องการของชุมชน

ขณะเดียวกันการสร้างชุมชนให้เข้มแข็งอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนควรมีองค์ประกอบดังนี้ด้วย คือ ประการแรกชุมชนต้องวางแผนอย่างมีเป้าหมายพร้อมสร้างตัวชี้วัดที่เป็นรูปธรรม ประการที่สองต้องมีการขยายผลจากภายในชุมชน และสร้างเครือข่ายความร่วมมือ ทั้งภายในและภายนอกชุมชน ประการที่สามมีงานศึกษา วิจัย ค้นคว้าด้านวิชาการประกอบร่วมกับการทำงานของชุมชน และประการสุดท้าย มีการสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ ปฏิบัติ และสร้างเสริมคุณภาพร่วมกันกับชุมชนอื่นๆ เพื่อขยายผลการทำงานให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น

เหนืออื่นใด คือ ต้องดำเนินไป ภายใต้ 3 กงล้อหลักที่จะขับเคลื่อนชุมชนให้มีทั้งความเข้มแข็ง ความเจริญ และสันติสุขอย่างยั่งยืน คือ 1. ความดี  2.ความสามารถ  3. ความสุข

ความดี หรือ การมีคุณธรรมประจำใจ ถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ถ้าขาดพื้นฐานความดีจะทำกิจการงานใดๆ ก็ไม่ราบรื่น เช่น หากตั้งกลุ่มออมทรัพย์ขึ้นมาแล้วมีการโกงกัน ก็คงดำเนินการต่อไปไม่ได้ หรือมีการค้ายาเสพติด ทะเลาะเบาะแว้ง แตกความสามัคคี ขาดผู้นำที่ดี ชุมชนคงวุ่นวาย ขาดความสงบสุข

ความสามารถ ต้องรู้จักคิด แก้ปัญหา วางแผน จัดการ บริหารงาน บริหารเงิน บริหารคน

ความสุข ทั้งสุขทางกาย คือ สุขภาพดี ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ สุขทางใจ ไม่โลภ โกรธ หลง มัวเมาในกิเลส อบายมุข รู้จักพอ สุขทางจิตวิญญาณหรือทางปัญญา คือ การเข้าถึงธรรมะ ซึ่งถือว่าเป็นขั้นสุดยอด และสุขทางสังคม คือ อยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข สันติ

โดยทั้ง 3 องค์ประกอบนี้ต้องดำเนินไปด้วยกัน เกื้อกูลกัน อย่างดีพอ  เพียงพอและสมดุล และเกิดกับทั้งตัวคนและตัวชุมชน

 

พัฒนาการงานพัฒนาชุมชน ก้าวย่างอย่างมั่นคง

พัฒนาการของงานพัฒนาชุมชนที่เห็นอย่างชัดเจนในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาคือ กระบวนการพัฒนาชุมชนเกิดขึ้นและขยายตัวอย่างกว้างขวางจนเป็นปึกแผ่นมั่นคง เข้มแข็งพอสมควร การรวมตัวของชาวบ้านทำได้ดีขึ้น เป็นระบบขึ้น เกิดเครือข่ายความร่วมมือที่มีเครือข่ายองค์กรชุมชนเป็นแกนกลางในระดับจังหวัดและระดับภาค ธุรกิจชุมชนมีการเติบโตและขยายผล  มีการจัดทำแผนแม่บทชุมชน จัดสวัสดิการชุมชนที่ชุมชนบริหารจัดการเอง เกิดสถาบันการเงินชุมชนระดับ หมู่บ้าน ตำบล และมีเครือข่ายในระดับจังหวัดและระดับชาติ   สมาชิกองค์กรชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ช่วยตัวเองได้มากขึ้น พึ่งพารัฐน้อยลง เกิดการรวมตัวของกลุ่มต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการพัฒนาแนวใหม่ที่ปรับเปลี่ยนไปจากบริบทเดิมๆ ขององค์กรชุมชนที่ไม่ใช่เพียงการจัดตั้งกลุ่มองค์กรชุมชนเท่านั้น แต่ยังเน้นการสร้างกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาพลังปัญญาของชุมชนท้องถิ่นที่เชื่อมโยงขยายผลหรือดัดแปลงจากองค์ความรู้ วัฒนธรรม และภูมิปัญญาดั้งเดิมที่มีอยู่  ขณะที่รัฐเองก็ปรับลดบทบาท เพิ่มอำนาจให้ขบวนองค์กรชุมชนและประชาสังคมมากขึ้น

อีกหนึ่งความสำเร็จที่สำคัญยิ่งของงานพัฒนาชุมชน คือ การที่เครือข่ายชุมชนได้ร่วมกันร่าง “พระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน” ขึ้นในปี 2550 เพื่อให้มี พ.ร.บ. ที่จะช่วยหนุนเสริม สร้างการยอมรับการทำงานแบบสภาองค์กรชุมชน และรับรองให้เวทีการปรึกษาหารือของชุมชนมีสถานะที่ชัดเจน เป็นที่ยอมรับร่วมกันของทุกฝ่าย โดยเป็นกฎหมายที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2551 ถือเป็นประวัติศาสตร์ความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญที่ทำให้องค์กรชุมชนทั้งหลาย รวมทั้งตัวแทนจากทุกหมู่บ้านที่มารวมกันเป็นสภาองค์กรชุมชน มีสถานะที่กฎหมายรองรับ สามารถเข้าไปหนุนเสริมกระบวนการทำงานในระดับท้องถิ่นร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน  และหน่วยงานอื่น ๆ ได้อย่างเต็มภาคภูมิโดยมีกฎหมายรองรับเป็นครั้งแรก

ซึ่งนับแต่มี “พระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน” กระบวนการแก้ปัญหาที่เกิดจากชุมชนฐานรากก็มีความเด่นชัดและเป็นที่ยอมรับมากขึ้นเป็นลำดับ นับเป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะไขไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมทีละเล็กละน้อยอย่างมั่นคง

 

จริงอยู่ที่การปฏิรูปประเทศไทย มิอาจทำสำเร็จได้ด้วยมิติใดมิติหนึ่ง ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย จากหลายมิติที่เชื่อมโยงกัน ในระยะเวลาพอสมควร

จากจุดเริ่มต้น จนถึงวันนี้ บางเรื่องเป็นไปตามที่คาดหวังและบรรลุไปแล้ว  บางเรื่องยังต้องสานต่อ ขยายผลอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เห็นผลที่ชัดเจนมากขึ้น ในขณะที่บางเรื่องยังไม่ได้ดำเนินการ

แต่จากบทเรียนและประสบการณ์ของคนชุมชน ที่ได้ติดตามหรือได้สัมผัสกับพัฒนาการของชุมชนมาหลายสิบปี พอจะมองเห็นความหวังว่า หากการขับเคลื่อนประเทศไทย เป็นไปตามกระบวนการนี้ โดยชุมชนเป็นผู้มีบทบาทสำคัญและเป็นแกนหลักในการพัฒนา เน้นการจัดการตนเองเป็นกุญแจสำคัญ  ก็น่าจะเชื่อได้ว่า  ประเทศไทยภายใน 10 ปีข้างหน้า จะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ได้

   

(จากหนังสือ “แสงแห่งความคิด ที่จะส่งความสว่างต่อ ๆ ไป” จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสครบรอบ 15 ปี  บริษัท  ดาวฤกษ์คอมมูนิชั่นส์ จำกัด   เรียบเรียงบทสัมภาษณ์โดย รุจิรา จรรยชาติ  กุมภาพันธ์  2554)

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/431377

<<< กลับ