เข้มแข็งจากภายใน ประเทศไทยยั่งยืน

เข้มแข็งจากภายใน ประเทศไทยยั่งยืน


เรียบเรียงจากบทสัมภาษณ์ นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

(ลงในหนังสือ  “แสงแห่งความคิด  ที่จะส่งความสว่างต่อๆไป”  ซึ่งเป็นหนังสือเผยแพร่เนื่องในโอกาสครบรอบ  15  ปี  ของบริษัท  ดาวฤกษ์  คอมมูนิเคชั่นส์  จำกัด  พิมพ์ครั้งแรก  มีนาคม  2554  โดยเป็นบทสัมภาษณ์  “10  ผู้ห่วงใยสังคม”)

                สถานการณ์ประเทศไทยในห้วงเวลาที่ผ่านมา ทำให้หลายฝ่ายเกิดความกังวลและเป็นห่วงอนาคตประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ผลลัพธ์ที่เห็น คือ การเผชิญหน้าระหว่างกลุ่มคนสองฝ่ายที่มีความคาดหวังและการรับรู้ที่ต่างกัน โดยที่ฝ่ายหนึ่งรู้สึกว่าตนด้อยโอกาส ไม่ได้รับความเป็นธรรม และความเสมอภาคในเรื่องต่างๆ จนทำให้ปัญหายิ่งบานปลาย

วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นก่อให้เกิดกระแสความตื่นตัวและเรียกร้องให้มีการเร่งสะสางปัญหาอย่างจริงจังครั้งใหญ่จากทุกภาคส่วนของสังคม

แต่ทว่า วิกฤตครั้งนี้ ไม่อาจแก้ไขได้ด้วยวิธีการแบบเดิมโดยรอให้ภาครัฐเป็นผู้จัดการเพียงฝ่ายเดียว หากจะแก้ปัญหาให้ตรงจุด จำเป็นต้องปฏิรูปประเทศกันใหม่ โดยแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ลดความแตกต่าง เหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมและความเสมอภาคให้เกิดขึ้น โดยให้ “คน” และ “ชุมชน” เป็น “ศูนย์กลางการพัฒนา”

ด้วยความเชื่อที่ว่า การสร้างความเข้มแข็งของ “ชุมชน”ซึ่งเป็น “ทุน” และ “ฐาน” ทางสังคมที่สำคัญให้สามารถจัดการ ดูแล และแก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง จะเป็นรากฐานที่มั่นคงต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อมของประเทศได้อย่างยั่งยืน

 

“กระจายอำนาจสู่ชุมชน”  “ตั้งฐานของชาติให้แข็งแรง”  คือ  หัวใจของการปฏิรูปครั้งนี้

ในอดีต ความเข้มแข็งของสังคมชนบท คือ รากฐานความยั่งยืนของสังคมทั้งหมดประชาชนในชนบททำมาหากิน ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง มีวิถีการดำรงชีวิตกลมกลืนไปกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่การเร่งรัดพัฒนาประเทศเพียงชั่วไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้วิถีชีวิตประชาชนเปลี่ยน ชุมชนอ่อนแอ ประสบความยากจน เกิดปัญหาสังคมตามมามากมาย สังคมไทยในภาพรวมจึงดูเหมือนจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ถดถอยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ยิ่งไปกว่านั้น การบ่มเพาะให้ประชาชนคุ้นชินแต่การเป็นผู้รอรับ รอคอยความช่วยเหลือจากภายนอก ยิ่งลดทอนความสามารถและความพยายามในการช่วยเหลือตนเองลง

การปฏิรูปครั้งนี้ จึงต้องเริ่มจากการปฏิรูปการบริหารประเทศโดยให้ชุมชนมีกระบวนการรวมตัวกันอย่างจริงจังและเข้มแข็งมากขึ้น มีอิสระในการบริหารจัดการและพัฒนาชุมชนด้วยตนเอง เปลี่ยนจากผู้ “รอรับ” เป็นผู้ “ขับเคลื่อน” การพัฒนา ภายใต้หลักการที่ว่า “เรื่องของใคร คนนั้นย่อมรู้ปัญหา รู้ความต้องการ และรู้วิธีการแก้ปัญหาได้ดีที่สุด” โดยเปิดโอกาสให้ชุมชนได้ร่วมกันคิด ร่วมวางแผน ร่วมตัดสินใจ ร่วมลงมือทำ ร่วมเรียนรู้ ร่วมรับผิดชอบ ร่วมแก้ไขปัญหา และบริหารจัดการโครงการของรัฐและท้องถิ่นเพื่ออนาคตชุมชนด้วยตนเอง สอดคล้องตามความหลากหลายของวัฒนธรรม วิถีชีวิต และภูมิปัญญาที่สืบทอดมา ควบคู่ไปกับการปลูกสร้างจิตสำนึกให้รู้จักปกป้องรักษาผลประโยชน์ของชุมชน เสียสละเพื่อชุมชน ตลอดจนขับเคลื่อนนโยบายให้เป็นไปตามแนวทางที่ท้องถิ่นปรารถนา

ในขณะที่ส่วนกลางหรือภาครัฐต้องปรับวิธีคิดและวิธีการทำงานใหม่จากการเป็น “ผู้สั่งการ” มาเป็น “ผู้สนับสนุน” หรือเป็นเพียง “ตัวช่วย” เท่านั้น

 

ย้อนรอยงานพัฒนาชุมชน : มองอนาคต ผ่านอดีต

คำว่า “ชุมชนเข้มแข็ง” ปรากฏขึ้นในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2510 ตามแนวคิดของ DR. Y.C. James Yen ผู้ก่อตั้งและประธานองค์การ Institute of International Rural Reconstruction (I.I.R.R.-สถาบันนานาชาติเพื่อการบูรณะชนบท) เพื่อสนับสนุนกลุ่มคนที่มีใจรักงานพัฒนาชนบท โดยขณะนั้นใช้คำว่า Reconstruction ซึ่งแปลว่า “บูรณะ” อันหมายถึง “การทำของที่เสื่อมโทรมให้ดีขึ้น”

แนวคิดการพัฒนาชนบทของดอกเตอร์เยนนั้น จะไม่เน้นการสงเคราะห์หรือช่วยเหลือชุมชน แต่จะเน้นการสร้างนักพัฒนาชุมชนให้เข้าไปคลุกคลี สร้างความคุ้นเคยเป็นกันเองกับชาวบ้าน เรียนรู้วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวบ้านให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ ร่วมกับชาวบ้านในการวิเคราะห์ปัญหา สร้างกระบวนการแก้ปัญหา และเริ่มต้นการพัฒนาบนรากฐานวิถีชีวิตและวัฒนธรรมเดิม พร้อมทั้งใช้หลักการพัฒนาชนบทแบบผสมผสาน 4 องค์ประกอบ คือ 1. การมีอาชีพ การทำมาหากิน 2. การมีสุขภาพอนามัยที่ดี 3. มีการศึกษาเรียนรู้ อ่านออกเขียนได้ เรียนรู้ได้ และ 4. การจัดการตนเอง

ส่วนการพัฒนาชนบทในประเทศไทยเริ่มต้นอย่างเป็นรูปธรรมเมื่อ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ก่อตั้ง มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์1 ใน พ.ศ. 2510 และเป็นประธานมูลนิธิฯ คนแรก ถือเป็นองค์กรเอกชนแห่งแรกที่ทำงานพัฒนาชนบทอย่างเป็นกิจลักษณะ ก่อนที่หน่วยงานราชการจะนำหลักการทำนองเดียวกันไปประยุกต์ใช้

กิจกรรมของมูลนิธิฯ ดำเนินเรื่อยมา จนกระทั่งหลังเหตุการณ์ทางการเมือง 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 กิจกรรมต่างๆ ของมูลนิธิฯ ได้ชะลอตัวลงชั่วระยะหนึ่ง จนกระทั่ง พ.ศ. 2531 นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม เข้ามาเป็นผู้อำนวยการ มูลนิธิฯ จึงมีการฟื้นฟู และดำเนินการต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน

จะเห็นได้ว่า แนวคิดการแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศโดยการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น การพัฒนาชนบท และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างชุมชนเข้มแข็ง ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เกิดขึ้นในประเทศไทยมานานกว่าสี่ทศวรรษแล้ว ทั้งที่ดำเนินการโดยภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรชุมชน

แต่เริ่มชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากขึ้น หลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจใน พ.ศ. 2540 เมื่อรัฐปรับทิศทางการพัฒนาประเทศใหม่โดยเน้น “คนและชุมชน เป็นศูนย์กลางการพัฒนา” มุ่งสร้างการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน และกลับหัวปิระมิดการพัฒนา“จากยอดสู่ฐานราก” มาเป็น “จากฐานรากสู่ยอด” ขณะเดียวกันก็ได้มีการจัดตั้ง “กองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม” (Social Investment Fund : SIF) หรือ “กองทุนชุมชน” ขึ้น เพื่อสนับสนุนกิจกรรมขององค์กรชุมชนทั่วประเทศ เป็นทั้ง “โอกาส” และ “บทเรียน” ที่ทำให้ชาวบ้านได้รับทุนโดยตรงไปบริหารจัดการเอง เกิดโครงการที่ชุมชนคิด พัฒนา และบริหารกันเองอย่างกว้างขวาง ถือเป็นการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ของภาคประชาชน และเป็นการปรับแนวคิดและกระบวนการทางสังคมใหม่ท่ามกลางบริบทที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วและสลับซับซ้อน

 

เรียนรู้อุปสรรค มุ่งมั่นพัฒนา

อย่างไรก็ดี แม้จะมีความพยายามพัฒนาชุมชนให้พึ่งตนเองได้มาระยะหนึ่งแล้วแต่ความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมนั้นยังจำกัดอยู่ในวงแคบเพราะในทางปฏิบัติยังมีปัญหาและอุปสรรคขัดขวางการพัฒนาอยู่มาก ได้แก่

                1. การประเมินความสามารถของชุมชนในระดับต่ำ โดยประชาชนถูกมองว่าเป็นผู้ไม่รู้ ไม่มีความคิดในการคิดพัฒนา จำเป็นต้องให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปควบคุม จัดการ เป็นผู้นำความคิดและการพัฒนาในทุกด้าน ส่งผลให้ชุมชนยิ่งอ่อนแอลงเรื่อยๆ

                2. การขาดความอดทนและรอคอย ชุมชนเข้มแข็งต้นแบบทั้งหลายไม่ได้เข้มแข็งเพียงชั่วข้ามคืน แต่ใช้เวลานานมากเพื่อเรียนรู้และจัดการวิถีชีวิตของตนเอง แต่ชุมชนโดยมากมักต้องการทางลัด ต้องการสูตรสำเร็จ เมื่อพัฒนาแล้วไม่เห็นผลสำเร็จในเวลาอันสั้น ก็เกิดความท้อแท้และท้อถอยไปในที่สุด

                3. นิยมเลียนแบบ มากกว่าเรียนรู้ แม้จะมีการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ของชุมชนด้วยการดูงาน แต่ใช่ว่าจะเรียนรู้กันได้ง่ายๆ ส่วนใหญ่มักเป็นแค่การเลียนแบบเท่านั้น ไม่ใช่ความรู้ที่เกิดจากการเรียนรู้ ประสบการณ์ และการลงมือปฏิบัติอย่างแท้จริง

                4. ประชาชนในชนบทขี้เกรงใจ ไม่กล้าแสดงออก ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตาม ทำให้ไม่ทราบความต้องการที่แท้จริง การวางแผนการถ่ายทอดความรู้ และความเข้าใจในเรื่องต่างๆ ไม่สามารถวัดผลได้ในทันที

                5. ผู้นำหมู่บ้านตามกฎหมายมักไม่ใช่ผู้นำตามธรรมชาติ โดยมากประชาชนจึงไม่ให้การยอมรับ ความร่วมมือในการแก้ปัญหาหรือพัฒนาจึงมีน้อย

                6. ความเคยชินกับกรอบและระบบสั่งการจากข้างบนซึ่งมิได้ตอบสนองความต้องการที่แท้จริง ไม่ส่งเสริมความสามารถของชุมชน และยิ่งทำให้ชุมชนอ่อนแอ

                7. ธรรมชาติของสังคมไทย เป็นสังคมตามกระแส สามารถตื่นตัวได้ง่ายๆ ตามกระแสนิยม แต่ขณะเดียวกัน ก็เป็นสังคมที่ลืมง่ายเช่นกัน ธรรมชาติของการพัฒนาต่างๆ จึงมักเอาจริงเอาจังในช่วงต้น แผ่วกลาง และค่อยๆ เลือนหายไปในที่สุด ไม่ใช่รูปแบบการพัฒนาที่ยั่งยืน

                8. ที่สำคัญที่สุด คือ ขาดความเข้าใจความแตกต่างระหว่างการพัฒนาชุมชนกับการพัฒนาที่มักทำกัน กล่าวคือ

  • การพัฒนาชุมชนมุ่งให้ความสำคัญกับคน มากกว่า วัตถุหรือเศรษฐกิจ
  • เน้นการมีส่วนร่วมโดยให้ประชาชนมีบทบาทสำคัญอย่างแท้จริง มิใช่ ชักชวนให้ประชาชนเข้ามารับรู้หรือร่วมด้วยบ้างตามหลักการหรือเพียงเพื่อให้ครบขั้นตอนเท่านั้น
  • ต้องการให้ประชาชนช่วยเหลือตัวเองและจัดการตนเองได้ โดยรัฐเพียงให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนและวิชาการตามสมควร แทนที่ จะต้องพึ่งพารัฐหรือบุคคลภายนอกตลอด
  • ให้ความสำคัญกับวิธีการหรือกระบวนการในการคิด ตัดสินใจ วางแผน ลงมือปฏิบัติ ติดตามประเมินผล เรียนรู้จากการปฏิบัติและการประเมินผล และคิดค้นหาทางปรับปรุงพัฒนาต่อไป เป็นวงจรเช่นนี้อย่างต่อเนื่อง มิใช่ การมุ่งผลสำเร็จหรือเป้าหมายแต่เพียงอย่างเดียว

แต่ไม่ว่าจะมีอุปสรรคเพียงใด ความพยายามในการสร้างชุมชนเข้มแข็งก็ยังดำเนินเรื่อยมาภายใต้หลักการสำคัญในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน คือ ต้องมีผู้นำที่เข้มแข็งมีจิตอาสา มีคุณธรรม และมีความสามารถ มีผู้สนับสนุนหรือสมาชิกที่มีแนวคิดไปในทิศทางเดียวกันหรือมีอุดมการณ์ร่วมกัน มีกิจกรรมร่วมหรือการรวมกลุ่มของชุมชน ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนชุมชนและเชื่อมกระชับความสัมพันธ์ของคนในชุมชนให้แน่นแฟ้น มีเอกลักษณ์หรือศักยภาพที่โดดเด่น เช่น ภูมิปัญญา วัฒนธรรมอันดีงาม หรือทรัพยากรท้องถิ่นมีความสามารถในการพึ่งพาตนเอง ลดการพึ่งพาภายนอก มีการเติบโตหรือพัฒนาการอย่างเป็นขั้นเป็นตอนไม่เร่งรัดฉาบฉวยมีกระบวนการเรียนรู้และการถ่ายทอดความรู้จากรุ่นสู่รุ่น และจากชุมชนสู่ชุมชน ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งของวัฒนธรรมชุมชน มากกว่าความเข้มแข็งจากวัตถุ สามารถผลักดันให้กลไกของรัฐทำงานเอื้อประโยชน์และสอดคล้องกับความต้องการของชุมชน

                ขณะเดียวกันการสร้างชุมชนให้เข้มแข็งอย่างมีประสิทธิภาพ และยั่งยืนควรมีองค์ประกอบดังนี้ด้วย คือ ประการแรก ชุมชนต้องวางแผนอย่างมีเป้าหมาย พร้อมสร้างตัวชี้วัดที่เป็นรูปธรรม ประการที่สอง ต้องมีการขยายผลจากภายในชุมชน และสร้างเครือข่ายความร่วมมือทั้งภายในและภายนอกชุมชน ประการที่สาม มีงานศึกษา วิจัย ค้นคว้าด้านวิชาการประกอบร่วมกับการทำงานของชุมชน และประการสุดท้าย มีการสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ ปฏิบัติ และสร้างเสริมคุณภาพร่วมกันกับชุมชนอื่นๆ เพื่อขยายผลการทำงานให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น

                เหนืออื่นใด คือ ต้องดำเนินไป ภายใต้ 3 กงล้อหลักที่จะขับเคลื่อนชุมชนให้มีทั้งความเข้มแข็ง ความเจริญ และสันติสุข อย่างยั่งยืน คือ

                1. ความดี

                2. ความสามารถ

                3. ความสุข

ความดี หรือ การมีคุณธรรมประจำใจ ถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ถ้าขาดพื้นฐานความดีจะทำกิจการงานใดๆ ก็ไม่ราบรื่น เช่น หากตั้งกลุ่มออมทรัพย์ขึ้นมาแล้วมีการฉ้อโกงทุจริต ก็คงดำเนินการต่อไปไม่ได้ หรือมีการค้ายาเสพติด ทะเลาะเบาะแว้ง แตกความสามัคคี ขาดผู้นำที่ดี ชุมชนคงวุ่นวาย ขาดความสงบสุข

ความสามารถ ต้องรู้จักคิด แก้ปัญหา วางแผน จัดการ บริหารงาน บริหารเงิน บริหารคน

ความสุข ทั้งสุขทางกาย คือ สุขภาพดี ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ สุขทางใจ ไม่โลภ โกรธ หลง มัวเมาในกิเลส อบายมุข รู้จักพอ สุขทางจิตวิญญาณหรือทางปัญญา คือ การเข้าถึงธรรมะ ซึ่งถือว่าเป็นขั้นสุดยอด และสุขทางสังคม คือ อยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข สงบ สันติ

โดยทั้ง 3 องค์ประกอบนี้ต้องดำเนินไปด้วยกัน เกื้อกูลกัน อย่างดีพอ เพียงพอ และสมดุล และเกิดกับทั้งตัวคนและตัวชุมชน

 

พัฒนาการงานพัฒนาชุมชน ก้าวย่างอย่างมั่นคง

พัฒนาการของงานพัฒนาชุมชนที่เห็นอย่างชัดเจนในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา คือ กระบวนการพัฒนาชุมชนเกิดขึ้นและขยายตัวอย่างกว้างขวางจนเป็นปึกแผ่นมั่นคง เข้มแข็งพอสมควร การรวมตัวของชาวบ้านทำได้ดีขึ้น เป็นระบบขึ้น เกิดเครือข่ายความร่วมมือที่มีเครือข่ายองค์กรชุมชนเป็นแกนกลางในระดับจังหวัดและระดับภาค ธุรกิจชุมชนมีการเติบโตและขยายผล มีการจัดทำแผนแม่บทชุมชน จัดสวัสดิการชุมชนที่ชุมชนบริหารจัดการเอง เกิดสถาบันการเงินชุมชนระดับหมู่บ้าน ตำบล และมีเครือข่ายในระดับจังหวัดและระดับชาติ สมาชิกองค์กรชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ช่วยตัวเองได้มากขึ้น พึ่งพารัฐน้อยลง เกิดการรวมตัวของกลุ่มต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการพัฒนาแนวใหม่ที่ปรับเปลี่ยนไปจากบริบทเดิมๆ ขององค์กรชุมชนที่ไม่ใช่เพียงการจัดตั้งกลุ่มองค์กรชุมชนเท่านั้นแต่ยังเน้นการสร้างกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาพลังปัญญาของชุมชนท้องถิ่นที่เชื่อมโยง ขยายผล หรือดัดแปลงจากองค์ความรู้ วัฒนธรรม และภูมิปัญญาดั้งเดิมที่มีอยู่ ขณะที่รัฐเองก็ปรับลดบทบาท เพิ่มอำนาจให้ขบวนองค์กรชุมชนและประชาสังคมมากขึ้น

อีกหนึ่งความสำเร็จที่สำคัญยิ่งของงานพัฒนาชุมชน คือ การที่เครือข่ายชุมชนได้ร่วมกันร่าง “พระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน” ขึ้นในพ.ศ. 2550 เพื่อให้มี พ.ร.บ. ที่จะช่วยหนุนเสริม สร้างการยอมรับการทำงานแบบสภาองค์กรชุมชน และรับรองให้เวทีการปรึกษาหารือของชุมชนมีสถานะที่ชัดเจน เป็นที่ยอมรับร่วมกันของทุกฝ่าย โดยเป็นกฎหมายที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 ถือเป็นประวัติศาสตร์ ความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญที่ทำให้องค์กรชุมชนทั้งหลาย รวมทั้งตัวแทนจากทุกหมู่บ้านที่มารวมกันเป็นสภาองค์กรชุมชน มีสถานะที่กฎหมายรองรับ สามารถเข้าไปหนุนเสริมกระบวนการทำงานในระดับท้องถิ่นร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และหน่วยงานอื่นๆ ได้อย่างเต็มภาคภูมิโดยมีกฎหมายรองรับเป็นครั้งแรก

ซึ่งนับแต่มี “พระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน” กระบวนการแก้ปัญหาที่เกิดจากชุมชนฐานรากก็มีความเด่นชัดและเป็นที่ยอมรับมากขึ้นเป็นลำดับ นับเป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะไขไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมทีละเล็กละน้อยอย่างมั่นคง

จริงอยู่ที่การปฏิรูปประเทศไทย มิอาจทำสำเร็จได้ด้วยมิติใดมิติหนึ่ง ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย จากหลายมิติที่เชื่อมโยงกัน ในระยะเวลาพอสมควร

จากจุดเริ่มต้น จนถึงวันนี้ บางเรื่องเป็นไปตามที่คาดหวังและบรรลุไปแล้วบางเรื่องยังต้องสานต่อ ขยายผลอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เห็นผลที่ชัดเจนมากขึ้น ในขณะที่บางเรื่องยังมิได้ดำเนินการ

แต่จากบทเรียนและประสบการณ์ของคนชุมชน ที่ได้ติดตามหรือได้สัมผัสกับพัฒนาการของชุมชนมาหลายสิบปี พอจะมองเห็นความหวังว่า หากการขับเคลื่อนประเทศไทยเป็นไปตามกระบวนการนี้ โดยชุมชนเป็นผู้มีบทบาทสำคัญและเป็นแกนหลัก ในการพัฒนา เน้นการจัดการตนเองเป็นกุญแจสำคัญ ก็น่าจะเชื่อได้ว่า ประเทศไทยภายใน 10 ปีข้างหน้า จะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ได้

 

10 ผู้ห่วงใยและปรารถนาดีต่อประเทศไทย  เจ้าของบทสัมภาษณ์ในหนังสือเล่มนี้

1. ดร. จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา

ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

2. ดร. พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์

เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ

3. ดร. ประเสริฐ ภัทรมัย

ประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัททีม

4. ดร. อมรวิชช์ นาครทรรพ

ผู้อำนวยการสถาบันรามจิตติ และอาจารย์ประจำภาควิชานโยบาย การจัดการและความเป็นผู้นำทางการศึกษา

คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

5. นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

ประธานคณะกรรมการเครือข่ายองค์กรชุมชนเพื่อการปฏิรูป

6. ดร. วรากรณ์ สามโกเศศ

อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์และนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์

7. ดร. คณิศ แสงสุพรรณ

ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง (สวค.)

และสถาบันวิทยาการเศรษฐกิจและการคลัง

8. นายพีระพงษ์ กลิ่นละออ

ผู้อำนวยการสำนักงานสำนึกรักบ้านเกิด

บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน)

9. ดร. ชัยวัฒน์ สถาอานันท์

ศาสตราจารย์ประจำและหัวหน้าสาขาวิชาการเมือง

การปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

10. พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/444117

<<< กลับ

อภิมหาอันตรายของประเทศไทยและของโลกกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

อภิมหาอันตรายของประเทศไทยและของโลกกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง


“เศรษฐกิจพอเพียงจะช่วยให้โลกพ้นจากวิกฤตได้”

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2554

        อภิมหาอันตรายของประเทศไทยและของโลก

กับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

                    (เรียบเรียงและเพิ่มเติมจากข้อคิดเห็นของนายไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม  ในการประชุมของคณะกรรมการ  

        เตรียมงานประชุมประจำปี 2554  ของมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาประเทศตามปรัชญาของศรษฐกิจพอเพียง(มพพ.)  

                   เมื่อวันจันทร์ที่ 25 กรกฏาคม 2554 ณ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์)  

 

ในขณะนี้โลกและประเทศไทยกำลังประสบสิ่งที่เรียกว่า “อภิมหาอันตรายของประเทศไทยและของโลก”  ซึ่งอภิมหาอันตรายดังกล่าวสามารถสรุปได้ 3 ประเด็นดังนี้

1 การมีประชากรหนาแน่นเกินไป เมื่อ 60 ปีที่แล้ว ประเทศไทยมีประชากรไม่ถึง 20 ล้านคน แต่ปัจจุบันมีถึง 67 ล้านคน ในขณะที่ทรัพยากรมีจำนวนเท่าเดิม คือ ที่ดินมีเท่าเดิม แต่ ป่าและน้ำจืด กลับมีจำนวนน้อยลงหรือสร้างปัญหามากขึ้น ในขณะที่ทั้งดิน น้ำ ป่า ทะเล  อากาศ  สิ่งแวดล้อม  ถูกทำลายและทำให้เสื่อมโทรมไปเยอะมากและสั่งสมมากขึ้น ๆ มาตลอด  แต่จำนวนคนกลับเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัว จึงเป็นเหตุขั้นพื้นฐานให้เกิด กรณีวังน้ำเขียว กรณีการขุดแร่ตะกั่ว  แร่ลิกไนต์  ที่ทำร้ายประชาชนให้ล้มตายและเป็นโรคกันมาก   ตลอดจนกรณี มาบตาพุด เป็นต้น  สาเหตุทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะความหนาแน่นของประชากร ทำให้ต้องแก่งแย่งแข่งขัน ช่วงชิงทรัพยากร นำทรัพยากรมาใช้มากขึ้น ๆ เป็นผลให้ทรัพยากรหมดไปเหลือน้อยลง ๆ เกิดเป็นความขาดแคลนซึ่งบางกรณีถึงขั้นวิกฤติ หรือทรัพยากรถูกทำให้เสื่อมโทรมจนเป็นอันตราย หรือเป็นผลเสียต่อประชากรจำนวนมากขึ้น ๆ  และมีความรุนแรงมากขึ้น ๆ เรื่อย ๆ  รวมถึงการเกิดภัยพิบัติต่าง ๆ ที่ปรากฏมากขึ้น ๆ ทั้งโดยธรรมชาติและอันเป็นผลโดยตรงหรือโดยอ้อมจากกิจกรรมของมนุษย์  เรื่องประชากรหนาแน่นเกินไปกับผลที่ตามมานั้นไม่ได้เป็นสถานการณ์เฉพาะในประเทศไทย  แต่

เป็นสถานการณ์และเป็นแนวโน้มร่วมกันทั้งโลก  ทำให้ทั้งโลกกำลังเผชิญภาวะวิกฤตซึ่งนับวันจะรุนแรงมากขึ้น  ๆ  หากไม่ได้รับการแก้ไขร่วมกันโดยประชากรของโลก ซึ่งย่อมจะต้องใช้เวลากว่าจะแก้ไขได้สำเร็จเป็นที่น่าพอใจ

2  วัตถุนิยมบริโภคนิยมมากเกินไป  วัตถุนิยมเป็นกระแสโลกที่ทำให้เรามุ่งสะสมความร่ำรวย สะสมวัตถุต่าง ๆ ทั้งที่ไม่มีความจำเป็นอะไร แต่ในขณะเดียวกัน เรายังมีความยากจน ความอดอยาก การขาดอาหารอยู่ในประเทศไทยและในโลก โดยประชากรของโลกประมาณ 1,000 ล้านคน ยังมีอาหารไม่พอรับประทาน  ที่เป็นเช่นนั้น ก็เพราะประชากรที่รวยที่สุด 20 %  บริโภคถึง 55 % ของการบริโภคทั้งหมด  และคนที่จนที่สุด 20% บริโภคประมาณ 4 % นี่เป็นปัญหาที่ไปซ้ำเติมเพิ่มพูนปัญหาอันเกิดจากการที่เรามีประชากรหนาแน่นเกินไป ทำให้คนที่เก่งมีความสามารถที่จะครอบครอง ช่วงชิงเพื่อให้บริโภคได้มากกว่า  ทั้งโดยวิธีการที่ถูกกฏหมายและโดยวิธีการที่ผิดกฏหมายหรือไม่ชอบธรรม ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำในฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง  ระหว่างกลุ่มคนต่าง ๆ มากขึ้น ๆ บางกรณีนำไปสู่ความรุนแรง รวมถึงการใช้อาวุธประหัตประหารทำร้ายกัน ทำให้สังคมทั้งในประเทศและในโลกเกิดความแตกแยกและขาดความสันติสุขอย่างกว้างขวาง

คุณธรรมความดีน้อยเกินไป ด้วยสาเหตุมาจาก 2 ข้อแรก ถ้าของมีมากพอสำหรับทุกคน ก็จะไม่เกิดการแย่งชิงกันเท่าไร  สมัยก่อนการแย่งชิงทรัพยากรมีน้อย เพราะมีทรัพยากรมากพอ  มาปัจจุบันทรัพยากรเหลือน้อย แถมถูกทำให้เสื่อมโทรม บวกกับวัตถุนิยมบริโภคนิยมมากเกินขอบเขต ทำให้ต้องแก่งแย่งแข่งขันต่อสู้แย่งชิงกันมากขึ้น ผู้คนนำลักษณะนิสัยส่วนที่ไม่ดีในจิตใจออกใช้ ได้แก่ ความโลภ ความโกรธ ความเกลียด  ความเห็นผิดเป็นชอบ ความยึดถือตัวตน ความเห็นแก่ตัว ความมีทิฏฐิมานะ และความไม่ดีอื่น ๆ  แต่ส่วนที่เป็นคุณธรรมความดี  ซึ่งเป็นพื้นฐานอยู่ในทุกคน ได้แก่  ความรัก ความเป็นมิตร  ความมีเมตตาไมตรี ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความซื่อสัตย์สุจริต ความรักความยุติธรรม การมุ่งประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว  ความมีกตัญญูรู้คุณ ความรู้จักพอดีพอประมาณ  เป็นต้น  กลับถูกลดทอนความสำคัญ ไม่ถูกนำออกมาใช้ ไม่ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนมากพอ คุณธรรมความดีในตัวคนและในสังคมจึงเสียดุลมากขึ้น ๆ เมื่อเทียบกับความไม่ดี

จาก “อภิมหาอันตราย”  ของสังคมไทยและสังคมโลกนี้ ยุทธศาสตร์หนึ่งที่จะช่วยได้คือ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระราชดำรัสกับท่านองคมนตรี น.พ.เกษม วัฒนชัย และผู้เข้าเฝ้าฯอื่น ๆ จำนวนหนึ่ง เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2554 ว่า  “เศรษฐกิจพอเพียงจะช่วยให้โลกพ้นจากวิกฤตได้  ถ้าเราคิดในภาพใหญ่แบบนี้เศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่เรื่องเล็ก เป็นเรื่องใหญ่ และเป็นเรื่องสำคัญมากทุกระดับตั้งแต่ระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กร สังคม โลก และมนุษยชาติ การที่โลก

กำลังประสบปัญหาวิกฤตใหญ่ ในรูปมหันตภัยมากมายทั้งทางธรรมชาติและจากการกระทำของมนุษย์  ก็เป็นผลมาจากกิจกรรมทำร้ายตัวเองของมนุษย์นั่นเอง  มีบทความในวารสาร The  Economist เรียกยุคปัจจุบันว่าเป็น  Anthropocene – The age of man กล่าวว่าโลกในหมื่นปีที่ผ่านมา เป็นยุคของความมีเสถียรภาพพอสมควร แต่จากนี้ไปจะเป็นยุคที่มนุษย์ครองโลก และมนุษย์ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่เกิดความเสียสมดุลอย่างแรงในโลก ถ้ามนุษย์ไม่แก้ไขมนุษย์จะต้องรับกรรม โดยมีการทำนายกันว่าภายใน 10 ถึง 20 ปี  หรืออย่างน้อยภายในศตวรรษนี้  จะมีอันตรายร้ายแรงประเภทน้ำทะเลเอ่อท่วมพื้นที่ต่าง ๆ ในโลกอย่างกว้างขวาง เป็นต้น

ฉะนั้น “เศรษฐกิจพอเพียง” หรือ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”  ถ้าคิดให้กว้าง คิดให้ไกล ไม่ไปเข้มงวดกับความหมาย แต่เอาหัวใจของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คือความพอประมาณ ความมีเหตุผล การมีภูมิคุ้มกัน การใช้คุณธรรมความดี และการใช้ความรู้ความสามารถอย่างรอบคอบระมัดระวังและเหมาะสม  ถ้าใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในความหมายเช่นนี้ แล้วนำมาประยุกต์ใช้ให้เป็นยุทธศาสตร์และแผนงานในระดับประเทศและระดับโลก รวมทั้งทำให้เป็นขบวนการทางสังคม (Social Movement)  ที่ทุกฝ่ายในสังคมรวมถึงฝ่ายการเมือง ภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม ภาคประชาชนและชุมชน ตลอดจนนักการศาสนา นักวิชาการ นักวิชาชีพ ศิลปิน ฯลฯ  มาร่วมกันขับเคลื่อน “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”โดยอาจดัดแปลง รูปแบบ การบวนการ วิธีการ ฯลฯ ให้เหมาะกับบริบทและสถานการณ์ในแต่ละกรณีด้วยก็ได้ เชื่อได้ว่าจะสามารถช่วยบรรเทาและแก้ปัญหา “อภิมหาอันตรายของประเทศไทยและของโลก”  ได้แม้จะต้องใช้เวลาและความมานะพยายามอย่างยิ่งยวด เนื่องจากเป็นปัญหาที่มนุษย์ ประเทศ และโลก ได้ปล่อยปละละเลยให้ปัญหาสั่งสมมาเป็นเวลานานนับศตวรรษแล้ว

ในการดำเนินการส่งเสริมขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีหน่วยจัดการที่สำคัญ 2 ระดับที่ควรพิจารณา คือ :-

  1. ระดับฐานราก ซึ่งประกอบด้วย ท้องถิ่นและองค์กร คนในชนบทที่อยู่ในท้องถิ่น มีปฏิสัมพันธ์ มีการจัดการ เช่น มีการจัดการในรูปแบบของคณะกรรมการท้องถิ่น องค์กรชุมชน อบต. เทศบาล อบจ. ซึ่งเป็นหน่วยจัดการที่เอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง คลุมทั่วประเทศ แต่ยังมีประชาชนอีกประมาณ 50% ที่อาจจะไม่ผูกพันกับท้องถิ่นมากนัก  แต่ผูกพันกับองค์กรที่เขาทำงานด้วย คือ คนที่ทำงานในโรงงาน ในสถานประกอบการ  ในหน่วยงานของรัฐ ในหน่วยงานภาคประชาสังคม  องค์การมหาชน มูลนิธิ สมาคมต่าง  ๆ เป็นต้น เหล่านี้เป็นหน่วยจัดการระดับฐานราก  ซึ่งจำนวนมากได้นำปรัชญาของเศรษฐกิจไปประยุกต์ใช้และเกิดผลดีอย่างน่าพอใจ
  2. ระดับประเทศทั้งประเทศ เป็นหน่วยจัดการที่มีความสลับซับซ้อนมากกว่าหน่วยจัดการในระดับฐานรากอย่างมาก เพราะต้องรวมถึงสถาบันระดับชาติ องค์กรระดับชาติ เช่น สถาบันฝ่ายนิติบัญญัติ สถาบันฝ่ายบริหาร สถาบันฝ่ายตุลาการ หน่วยงานของรัฐระดับชาติ  หน่วยงานพิเศษต่าง ๆ ที่เป็นหน่วยงานระดับชาติ สถาบันภาคธุรกิจและภาคประชาชน ที่รวมตัวกันเป็นระดับชาติ  สำหรับหน่วยจัดการระดับประเทศทั้งประเทศนี้ การประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงยังไม่ชัดเจน ยังไม่หนักแน่น ดังนั้น จะดีที่สุดหากรัฐบาลประกาศว่าจะเป็น “รัฐบาลเศรษฐกิจพอเพียง” หรือมีการประกาศนโยบายสำคัญว่า “ประเทศไทยจะเป็นประเทศเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งจะเป็นการปฏิรูปทั้งด้านวิธีคิดหรือกระบวนทัศน์ วิธีทำ วัฒนธรรม ระบบ โครงสร้าง กลไก กระบวนการ ฯลฯ  ครั้งยิ่งใหญ่ของประเทศไทย  ก่อนที่จะพิจารณาไปนำเสนอต่อสหประชาชาติ  ให้พิจารณาประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในระดับโลก เพราะ องค์การสหประชาชาติได้เริ่มเห็นแล้วว่า ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สามารถเป็นทางออกของโลกที่กำลังวิกฤต ได้

ดังได้กล่าวแล้วว่าเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงต้องทำให้เป็น  Social Movement   ได้แก่การเป็น “ขบวนการทางสังคม”  ดังนั้นต้องมีอุดมการณ์ เป้าหมาย ยุทธศาสตร์ แผนงาน และต้องมีตัวชี้วัดเพื่อช่วย  ให้สามารถจัดการขบวนการได้อย่างมีคุณภาพมีประสิทธิภาพและบรรลุเป้าหมาย

องค์ประกอบสำคัญในการสร้างขบวนการทางสังคม ประกอบด้วย

  1.  ความรู้ ถ้ามีตัวชี้วัดจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ การจัดการความรู้ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม
  2. การสร้างเครือข่าย จะเป็นกลไกช่วยให้เกิดขบวนการที่ขยายและมีพลังเพิ่มขึ้นทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ
  3. การสื่อสาร  ควรมีการใช้รูปแบบการสื่อสารที่หลากหลาย มีคุณภาพและเหมาะสมทั้งภายในขบวนการเองและระหว่างขบวนการกับสังคม
  4. นโยบายสาธารณะ ทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น รวมถึงการมีนโยบาย กฏหมาย ข้อบังคับ การจัดสรรงบประมาณ ที่ดีและเหมาะสมทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น
  5. การจัดการ คือ การจัดการขบวนการ ซึ่งประกอบด้วย คณะกรรมการ ฝ่ายเลขานุการ คณะทำงานและผู้ทรงคุณวุฒิ  ต้องจัดการให้สามารถทำงานได้อย่างมีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ และยังหมายความรวมถึงการจัดการของทุกหน่วยที่ทำเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงด้วย
  6. การเรียนรู้และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการวัดผล ประเมินผล พิจารณาทบทวน หาทางปรับปรุงพัฒนาสร้างนวัตกรรมอย่างสร้างสรรค์ นำมาวางแผนและดำเนินการใหม่ ฯลฯ ทำเช่นนี้ให้เป็นวงจรต่อเนื่องไม่รู้จบ  เพื่อให้มีความเจริญก้าวหน้าไปเรื่อย ๆ และควรมีการใช้กระบวนการนี้เป็นระยะ ๆ อย่างน้อยปีละครั้ง

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

16  สิงหาคม 2554

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/453867

<<< กลับ

สดุดี เอนก นาคะบุตร

สดุดี เอนก นาคะบุตร


เอนก นาคะบุตร เป็นเพื่อนร่วมงานพัฒนาที่ผมรัก นับถือ เชื่อมั่น และไว้วางใจมากที่สุดคนหนึ่ง

          ผมมีโอกาสรู้จักกับเอนกเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2530 ขณะที่เอนกเป็นผู้อำนวยการ LDAP (Local Development Assistance Program) ซึ่งสถานฑูตแคนาดาสนับสนุนอยู่ และผมเป็นผู้บริหารธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง โดยได้ใช้เวลาไม่น้อยช่วยงานของสมาคมธนาคารไทย ซึ่งมีส่วนเข้ามามีความร่วมมือกับสถานฑูตแคนาดา ในงานพัฒนาสังคมทางด้านธุรกิจ พร้อมกันนั้นผมก็มีกิจกรรมเสริมเป็นประธานคณะกรรมการบริหารมูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ด้วย  และได้ตัดสินใจไว้แล้วว่าจะลาออกจากธนาคารพาณิชย์ไปรับหน้าที่บริหารงานของมูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยฯ แบบเต็มเวลาในตำแหน่งผู้อำนวยการมูลนิธิฯ ในปี 2531 ด้วยเหตุนี้ผมจึงสนใจเรื่องของการพัฒนาชนบท การพัฒนาท้องถิ่น การพัฒนาชุมชน และการพัฒนาสังคม เมื่อมีโอกาสได้รู้จักกับเอนกผู้มีความรู้และประสบการณ์มากในเรื่องการพัฒนาท้องถิ่น และมิติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง  ผมจึงใช้โอกาสนั้นเรียนรู้เรื่องต่าง ๆ จากเอนก  ซึ่งให้ประโยชน์ต่อผมเป็นอันมาก

ประจวบกับเป็นช่วงเวลาที่ LDAP  กำลังจะแปรรูปเป็น LDI (Local Development Institute หรือ “สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา”)  ซึ่งผมได้เข้าร่วมในกระบวนการนี้ด้วย ในปี 2531 โดยมีส่วนช่วยศึกษาความเป็นไปได้ด้านการเงินและความยั่งยืน (Sustainability) ของ LDI เมื่อ LDI  ถือกำเนิดเป็นรูปธรรมแล้ว  โดยมีเอนกเป็นผู้อำนวยการ  ผมได้เข้าไปมีส่วนในการดำเนินงานของ LDI อยู่พอสมควรเป็นระยะเวลาหนึ่ง  ซึ่งช่วยให้ผมได้เรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับการพัฒนาท้องถิ่น ชุมชนและสังคม โดยเฉพาะจากปฏิสัมพันธ์กับเอนก  ซึ่งบัดนี้มีความสนิทสนมกันมากขึ้นเป็นลำดับ

ปี 2540  เกิดวิกฤตทางการเงินและเศรษฐกิจของประเทศไทยครั้งใหญ่ ที่เรียกกันว่า “วิกฤตต้มยำกุ้ง”  รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์เข้าบริหารประเทศต่อจากรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ  มีคุณธารินทร์ นิมมานเหมินท์ เป็น รมว.กระทรวงการคลัง ได้ติดต่อหารือกับธนาคารโลกเกี่ยวกับการมี “กองทุนฟื้นฟูสังคม”  ขึ้น โดยธนาคารโลกจะให้เงินกู้เพื่อจัดตั้งและดำเนินการกองทุนนี้ประมาณ 4,300 ล้านบาท คุณธารินทร์ ได้ขอให้ผม และคุณโสภณ สุภาพงษ์ เป็นผู้ทำหน้าที่หารือจัดทำข้อตกลงกับธนาคารโลก โดยมีเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังให้การสนับสนุนอยู่ด้วย  ผมได้ขอให้เอนก นาคะบุตร เข้ามาช่วยอีกแรงหนึ่งด้วยความ “เชื่อมือ” และเชื่อถือในตัวเอนก คณะเจรจาหลักฝ่ายไทยจึงมี 3 คน ส่วนฝ่ายธนาคารโลกมีประมาณ 2-3 คน  เราเจรจากันอย่างจริงจังเข้มข้น และเป็นเวลานาน ด้วยความยากลำบาก เนื่องจากว่าความคิดพื้นฐานหรือ “กระบวนทัศน์” (Paradigm) ของฝ่ายเรานั้นถือ “ประชาชน” เป็นตัวตั้ง หรือเป็น “แกนหลัก” ในการพัฒนา ส่วนฝ่ายธนาคารโลกยังคงถือ “หน่วยงาน” เป็นตัวตั้ง ที่จะเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์  เงื่อนไข วิธีการ ฯลฯ ให้ประชาชนปฏิบัติ ซึ่งเขาได้ทำเช่นนี้ในหลายประเทศที่ประสบภาวะวิกฤตมาแล้ว  มีอยู่ระยะหนึ่งที่ฝ่ายเราบอกว่า ถ้าไม่สามารถทำอย่างที่เราเสนอได้ก็ขอไม่กู้เงินดีกว่า  ทำเอาฝ่ายธนาคารโลกสะดุ้ง  เพราะเขาก็อยากให้เรากู้เพื่อเขาจะมีผลงาน  ในที่สุดจึงพบกันครึ่งทางแล้วทำข้อตกลงได้  พร้อมคู่มือปฏิบัติงาน (Manual) และอื่น ๆ  ซึ่งกว่าจะตกลงกันได้ก็ต้องใช้เวลานานทีเดียว และสามารถเริ่มดำเนินงานได้ในปี 2541  ในรูป “กองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม” หรือ “Social Investment Fund” หรือ “SIF” (ซิฟ) ซึ่งเป็นการลงทุนเพื่อการฟื้นฟูสังคม (ข้อนี้เป็นความคิดหลักของธนาคารโลก) พร้อมกับเป็นการเสริมสร้าง “ทุนทางสังคม” (Social capital)  ให้เกิดมีมากขึ้นด้วย (ข้อนี้เป็นส่วนเสริมที่ฝ่ายไทยเน้นและให้ความสำคัญเป็นพิเศษ และถือเป็น “นวัตกรรม” ที่กองทุนเช่นนี้ของธนาคารโลกยังไม่เคยทำมาก่อน)

“กองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม” หรือ “SIF” (ซิฟ) ดำเนินงานโดยตั้งเป็น “หน่วยงานพิเศษ”  ในธนาคารออมสิน  ซึ่งขณะนั้นผมเป็นผู้อำนวยการอยู่  มีข้อบังคับของธนาคารจัดตั้งขึ้น  ให้ต่างจากหน่วยงานปกติของธนาคารออมสิน  มีคณะกรรมการซึ่งธนาคารออมสินแต่งตั้งขึ้น ประกอบด้วยประธานที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก (ศ.ดร.อัมมาร สยามวาลา)  และกรรมการประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก รวมถึงผู้นำชุมชนหลายคน ส่วนฝ่ายธนาคารออมสินมีผู้อำนวยการเป็นรองประธาน และมีผู้แทนธนาคารออมสินอีกเพียง 1 คน เป็นกรรมการ  คณะกรรมการกองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคมได้จัดให้มีกระบวนการสรรหา “ผู้อำนวยการ”  ซึ่งมีบุคคลให้เลือกหลายคน รวมถึงเอนก นาคะบุตร แต่ในที่สุด กรรมการสรรหาได้เลือก เอนก นาคะบุตร  ให้เป็นผู้อำนวยการ “SIF” เพราะเห็นว่าเหมาะสมที่สุด

ผมกับเอนกจึงได้ร่วมงานกันอย่างจริงจังและต่อเนื่องเป็นเวลาประมาณ 3 ปี  ช่วงเวลานี้เองที่ศักยภาพ ความคิดสร้างสรรค์ ความสามารถ ศิลปะ และวิธีการทำงานพัฒนา ตลอดจนวิธีการแก้ปัญหาข้อขัดข้องที่จะได้ผลดี ได้ออกมาจากตัวตนของเอนกอย่างเต็มที่ เป็นที่ประจักษ์ในหมู่คณะกรรมการและผู้เกี่ยวข้องต่าง ๆ เพราะเป็นโครงการที่ใหญ่มาก ใช้เงินจำนวนมาก เกี่ยวข้องกับประชาชนฐานราก  รวมถึงผู้ยากลำบากจำนวนมากทั่วประเทศ ผมประทับใจและชื่นชมในตัวเอนกมาก  ถือเป็นโชคดีที่ได้เอนกมาเป็นผู้อำนวยการกองทุน “SIF”   ซึ่งอยู่ในความดูแลของธนาคารออมสินผู้ต้องรับผิดชอบต่อผลดีผลเสียที่เกิดขึ้นโดยรับผิดชอบต่อกระทรวงการคลังอีกทอดหนึ่ง เพราะกระทรวงการคลังได้มอบหมายภารกิจการบริหารกองทุนนี้ให้กับธนาคารออมสิน

เมื่อโครงการกองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม (SIF) ถึงวาระสิ้นสุดลงในปี  2545  (ขณะนั้นผมไม่ได้เป็นผู้อำนวยการธนาคารออมสินแล้ว เพราะได้ลาออกในปลายปี 2543 เพื่อไปดำรงตำแหน่งประธานสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  หรือ พอช.)  ทางธนาคารโลกได้แสดงความชื่นชมว่า “SIF” เป็นโครงการกองทุนฟื้นฟูสังคมที่ดีที่สุดเท่าที่ธนาคารโลกได้เคยทำมา   ซึ่งความดีส่วนใหญ่ต้องยกให้เป็นของเอนก   เพราะเป็นผู้รับผิดชอบสูงสุดแบบเต็มเวลาโดยต้องจัดการดูแล รวมทั้งแก้ไขสถานการณ์ปัญหาต่าง ๆ ให้ลุล่วงไปด้วยดี  ซึ่งผมเห็นว่า เอนก ทำได้ในเกณฑ์ A+  ทีเดียว

เอนกกับผมได้เข้ามาร่วมงานกันอย่างใกล้ชิดอีกครั้งหนึ่ง เมื่อผมได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.)  ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2549   โดยเอนกได้เข้ามาเป็น “ที่ปรึกษารัฐมนตรี”  ซึ่งเป็นตำแหน่งการเมือง  เอนกได้ใช้ความรู้ความสามารถศิลปะและประสบการณ์อันยาวนาน มาประยุกต์ใช้ในฐานะที่ปรึกษารัฐมนตรีอย่างเต็มที่ รวมถึงการลงปฏิบัติงานในภาคสนามเพื่อแปลงนโยบายเป็นปฏิบัติให้เป็นจริงได้ดีที่สุด  ซึ่งช่วยงานผมได้มากทีเดียว  คู่กับหมอพลเดช ปิ่นประทีป ซึ่งทำหน้าที่เลขานุการรัฐมนตรี   เรา 3 คน (เอนก หมอพลเดช และผม) ร่วมงานกันอย่างเต็มที่และอย่างพี่น้อง  อย่างไรก็ดี  ในเดือนมีนาคม 2550  ผมได้รับแต่งตั้งให้เป็น “รองนายกรัฐมนตรี  ดูแลด้านสังคม” อีกตำแหน่งหนึ่ง โดยผมได้ขอให้มีการแต่งตั้งหมอพลเดช  เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการ และผมพยายามมอบอำนาจให้หมอพลเดชในฐานะ รมช. เป็นผู้ดำเนินการแทนให้มากที่สุดเพื่อผมจะได้มีเวลาทำหน้าที่รองนายกรัฐมนตรีดูแลด้านสังคมได้อย่างเต็มที่ จากจุดนี้เองทำให้บทบาทของเอนกเริ่มไม่ชัดเจน  เอนกจึงขอลาออกเพื่อไปทำงานที่ถนัดตามแนวของตนเอง ผมรู้สึกเสียดายมากที่เอนกจะจากไป แต่สถานการณ์นำพาให้ต้องเป็นเช่นนั้น  เราจึงทำใจยอมรับกันได้

จากนั้นเอนกกับผมก็ได้ติดต่อพบปะกันเป็นครั้งคราวเรื่อยมาตามที่โอกาสอำนวย  โดยยังคงมีความรู้สึกเป็นเพื่อนและเป็นพี่เป็นน้องร่วมงานพัฒนาชุมชนและสังคม ที่อาจจะทำคนละสถานที่ คนละสถานการณ์    แต่อุดมการณ์  ความเชื่อ แนวความคิด รูปแบบ วิธีการทำงาน  และอื่น ๆ ของเราสองคนมี  จุดร่วมกันอยู่มาก ทั้งเราเป็นชาวอยุธยาด้วยกัน มีพื้นเพชีวิตคล้าย ๆ กัน ทำให้ความรู้สึกเป็นพี่เป็นน้อง  ความเป็นเพื่อนร่วมงานพัฒนา ตลอดจนความรู้สึกผูกพันต่อกันยังคงมีอยู่ไม่เสื่อมคลายจนกระทั่งทุกวันนี้

เอนกเป็นนักพัฒนาด้วยหัวใจและปัญญา  เป็นผู้ทุ่มเทชีวิตการทำงานให้กับงานพัฒนาท้องถิ่นชุมชนและสังคมอย่างเต็มกำลังความสามารถ โดยไม่ยอมว่างเว้น จวบจนปัจจุบัน  โดยทำในหลายต่อหลายโครงการ ในหลายต่อหลายสถานการณ์   ทั้งต้องเผชิญกับโจทย์และการท้าทายหลากหลายรูปแบบ ซึ่งเอนกได้จัดการให้ผ่านไปได้ด้วยดีเสมอ พร้อมกับได้เรียนรู้และพัฒนาเทคนิควิธีการเพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลา ทำให้ ณ วันนี้ถือได้ว่า  เอนก นาคะบุตร  คือบุคลากร ผู้มีคุณค่ายิ่งต่อสังคมและประเทศ  ผู้ควรได้รับยกย่องสรรเสริญและถือเป็นตัวอย่างในการศึกษาเรียนรู้ของนักพัฒนารุ่นหลัง ๆ ตลอดจนผู้สนใจทั่วไป

ในโอกาสที่ เอนก  นาคะบุตร  มีอายุครบ 5 รอบ หรือ 60 ปี  ผมขออวยพรให้เอนกมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ ทั้งทางกาย ทางใจ ทางปัญญา และทางสังคม  มีครอบครัวที่อบอุ่นมั่นคง  มีชีวิตที่อยู่เย็นเป็นสุขพร้อมกับการสร้างประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นและส่วนรวมในรูปแบบของโครงการพัฒนาต่าง ๆ ได้ตามความเหมาะควรไปอีกนานเท่านาน

ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม

กันยายน  2554

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/463800

<<< กลับ