‘ไพบูลย์’ เตือนวิกฤตจริยธรรม จี้ ‘การเมือง – ภาครัฐ’ ฟื้นศรัทธา

‘ไพบูลย์’ เตือนวิกฤตจริยธรรม จี้ ‘การเมือง – ภาครัฐ’ ฟื้นศรัทธา


(สกู๊ปข่าวในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ  ฉบับวันที่  23  พฤศจิกายน  2553  หน้า  15)

ประเทศไทยประสบปัญหามาตลอดจนกลายเป็นวิกฤติที่ยิ่งใหญ่ 4 เรื่อง  คือ  1.วิกฤติทางเศรษฐกิจ  แต่นับว่าประเทศไทยยังโชคดีที่ไม่มีวิกฤติด้านสถาบันการเงินซึ่งเป็นผลมาจากการปรับปรุงพัฒนาด้านธรรมาภิบาลในภาคธุรกิจ  และทำให้หลายสถาบันการเงินของไทยสามารถผ่านพ้นวิกฤติรอบนี้ไปได้  ผมหวังว่าภาครัฐจะให้ความสำคัญเรื่องนี้โดยจัดให้มีพระราชบัญญัติธรรมาภิบาลหรือการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดีเพราะปัจจุบันยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร

2.  วิกฤติด้านการเมือง  จะเห็นได้ว่า 2-3 ปีที่ผ่านมา ไทยเกิดปัญหาความแตกแยกในบ้านเมือง  ทำให้ผู้คนหยิบอาวุธมาต่อสู้มีผู้บาดเจ็บล้มตายกันเป็นจำนวนมาก  ทำให้อาคาร  ทรัพย์สิน  และผู้คนจำนวนมากได้รับความเสียหายจากการชุมนุมทางการเมืองที่เกิดขึ้น

3.  วิกฤติด้านสังคม  ประเด็นนี้เกิดจากการเมืองนำไปสู่ความแตกแยก  แบ่งสี  แบ่งข้าง  แม้แต่ในครอบครัวเดียวกันหรือในองค์กรหรือในชุมชนเดียวกัน  ก็พบว่ามีการแบ่งเป็น 2 สี

และ 4.  วิกฤติทางภัยธรรมชาติ  ครั้งนี้ถือเป็นวิกฤติภัยธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดกว่าที่เคยประสบมาในอดีต  มีจำนวนจังหวัดเกินครึ่งของประเทศได้รับความเสียหายจากอุทกภัยและพิบัติภัยที่เกิดขึ้นทำให้ผู้คนบาดเจ็บล้มตาย  ไร่นาและเศรษฐกิจได้รับความเสียหายคิดเป็นมูลค่านับแสนล้านบาท

สิ่งที่น่าแปลกใจอย่างมากคือการขาดจริยธรรมในการแก้ไขวิกฤติดังกล่าว  ยังมีการยักยอกทรัพย์สินและสิ่งของที่บริจาคเพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับผู้ประสบภัยน้ำท่วม  มีการฉกชิงสิ่งที่คนบริจาคหรือนำไปแจกจ่ายโดยสวมรอยเป็นชื่อของตนเอง  เป็นต้น  ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าละอายเป็นอย่างยิ่ง  ผมมองว่ามันเป็นการทุจริตคดโกงกันดื้อๆหน้าด้านๆ  แสดงให้เห็นว่าระดับคุณธรรมและจริยธรรมในสังคมไทยอ่อนด้อยลงเรื่อยๆ  โดยเฉพาะด้านการเมืองยังมีการให้สินบนหรือการฮั้วประมูลระหว่างผู้รับเหมาในการจัดซื้อจัดจ้าง  ถือเป็นการร่วมกันทำความเลวของคนไทยด้วยกัน

                จากวิกฤติดังกล่าวทำให้ต้องดำเนินการปฏิรูปประเทศไทยแบบถอนรากถอนโคน  ไม่ใช่เป็นการแก้ปัญหาประเทศด้วยการแก้ไขความเดือดร้อนเท่านั้น  แต่เป็นการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรม  ปรับเปลี่ยนจิตสำนึก  ให้มีผลไปยังต้นตอของความคิด  การพูด  การกระทำ  ให้นำไปสู่ความดี  ความสามารถ  ความสุข  ความสร้างสรรค์  และความเจริญก้าวหน้าไม่เสื่อมถอย

ที่ผ่านมาจะเห็นว่านักการเมืองใหญ่ๆต้องสิ้นสุดอำนาจเพราะเรื่องบกพร่องทางจริยธรรม  ผมคิดว่าองค์กรใดก็ตามที่สนับสนุนสามกงล้อหลักแห่งความดี  ความสามารถ  และความสุขได้อย่างเพียงพอและสมดุล  ก็จะนำไปสู่คุณธรรมและจริยธรรมที่ดีได้  แต่ประเทศไทยถ้าเทียบกับนานาชาติ  ถือว่าอ่อนด้อยบกพร่องด้านกงล้อหลักแห่งความดีซึ่งนำไปสู่ปัญหาวิกฤติทั้ง  4  ดังกล่าว

นอกจากนี้  กระบวนการ  ทัศนคติ  และสาระ  ถือเป็นสิ่งสำคัญเช่นเดียวกัน  ยกตัวอย่างเช่น  การที่ผู้นำรัฐบาลไปหารือพูดคุยเจรจากับคู่ขัดแย้งผ่านทางโทรทัศน์  และมีการใช้คำพูดในลักษณะกล่าวหา  ให้ร้ายหรือดูถูกดูแคลนกันต่อหน้าสาธารณชนผ่านทีวี  ถือเป็นการขาดคุณภาพในการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี

ผมมองว่าเมื่อขาดจิตสำนึกด้านจริยธรรมก็จะจัดการกับความขัดแย้งไม่ได้  ทำให้ขาดความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกันแต่เป็นการมุ่งเอาชนะคะคานกันด้วยความพร่องทางจริยธรรม  ทำให้แก้ไขความขัดแย้งไม่ได้แต่จะทำให้ความขัดแย้งเพิ่มขึ้นอีก  ฉะนั้นพลังทางสังคมต้องให้ความสำคัญไม่ให้มีการทุจริตหรือแอบอ้างเพื่อผลประโยชน์ของพวกใดพวกหนึ่ง  ด้านพลังปัญญาต้องไม่ทำเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการกลุ่มทุนเท่านั้น  ส่วนพลังอำนาจรัฐก็ต้องไม่ออกกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยไม่เหมาะสม

การสร้างจริยธรรมภาครัฐถือว่าเป็นฐานสำคัญที่สุดในการเป็นตัวอย่าง  เป็นผู้นำที่จะชักชวนให้ผู้อื่นทำตาม  โดยเฉพาะผู้แทนราษฎรเป็นตัวแทนของประชาชนที่สะท้อนภาพไปสู่เด็กและเยาวชน  การเมืองระดับชาติปฏิบัติตัวอย่างไรย่อมส่งผลไปถึงการเมืองท้องถิ่นและประชาชนทั่วไป  นอกจากนี้ธุรกิจถือเป็นส่วนหนึ่งที่เชื่อมโยงระหว่างภาคการเมืองหรือภาครัฐกับภาคประชาชน  ดังนั้น  ผู้นำทั้งในภาคการเมืองและภาคธุรกิจ  จึงควรทำตนเป็นแบบอย่างที่ดีตามแนวคิด  3  กงล้อหลัก  คือ  ความดี  ความสามารถ  และความสุข

การรับสินบน  การให้สินบน  หรือการซื้อเสียงต่างๆถือตัวอย่างของการขาดจริยธรรมที่จะเป็นต้องแก้ไข  คงไม่ต้องให้ครบถ้วนตามหลักทศพิธราชธรรมร้อยเปอร์เซ็นต์  แค่ทำดีตามจรรยาบรรณและข้อบังคับด้านการทำความดีก็ถือว่าใช้ได้แล้ว

ผมอยากเห็นการกระทำที่ถูกต้องตามจริยธรรมในภาคการเมือง  รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  ขอให้เรามาช่วยกันยกมาตรฐานคุณธรรมจริยธรรมให้สูงขึ้น  ช่วยกันทำให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งคุณธรรม  จริยธรรม  ผมเชื่อว่าแม้จะไม่สำเร็จภายใน 1-2 ปี  แต่ถ้าเราพยายามอย่างต่อเนื่องภายใน  10 – 20 ปี  ความเจริญก้าวหน้าและอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันของสังคมไทยจะดีขึ้น  พร้อมกับระดับการทุจริตของประเทศไทยที่จะต้องลดลงอย่างแน่นอน

ส่วนการส่งเสริมจริยธรรม  ต้องดำเนินการโดยมีกฎหมายและนโยบายสนับสนุนที่เหมาะสมจริงจัง  มีการจัดการความรู้รวมถึงการสร้างความรู้  มีการส่งเสริมความเป็นเครือข่ายและการจัดการเครือข่ายที่ดี  มีการสื่อสาร
ที่เพียงพอและได้ผล  มีการจัดการที่ดี  พร้อมกับมีการเรียนรู้จากการปฏิบัติและจากแหล่งอื่นๆต่อด้วยการปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง  ทั้งนี้ควรมีเครื่องมือวัดระดับจริยธรรม  โดยไม่จำเป็นต้องจัดอันดับจริยธรรมก็ได้  ซึ่งตัวชี้วัดได้แก่การประเมินผลของหน่วยงาน  สำรวจความเห็น  สำรวจภาพลักษณ์  หรืออาจทำเป็นดัชนีทำนองเดียวกับดัชนีวัดคอร์รัปชันก็ได้

ทั้งนี้ขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน  คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)  คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ  (ป.ป.ท.)  กระทรวงต่างๆ  ศูนย์คุณธรรม  มูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด  และองค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย  ร่วมมือเป็นภาคีในเบื้องต้น  เน้นการสร้างสรรค์บ่มเพาะมากกว่าการไปกล่าวหาหรือตั้งข้อหาทางจริยธรรม  หากทำได้จะทำให้ความไม่ดีค่อยๆลดลงและหายไปหรือหรือคงเหลือน้อยมากในที่สุด  และขอสนับสนุนให้การส่งเสริมจริยธรรมถือเป็นวาระแห่งชาติ

และจากการที่รัฐบาลจัดให้มีคณะกรรมการปฏิรูป  (คปร.)  และคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป  (คสป.)  ซึ่งมี  นายอานันท์  ปันยารชุน  และ ศ.นพ.ประเวศ  วะสี  เป็นประธานคณะกรรมการของแต่ละชุดตามลำดับนั้น  เชื่อว่าการดำเนินการภายใน 3-4 เดือนข้างหน้าจะมีข้อสรุปนำไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายได้  โดยภายในเดือน  มี.ค.  หรือเม.ย.  2554  น่าจะเห็นผลอย่างแน่นอน”

หมายเหตุ             นายไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม  กรรมการสมัชชาปฏิรูป  อดีตรองนายกรัฐมนตรี  กล่าวปาฐกถาเปิดงานเรื่อง  “ปฏิรูปประเทศไทยโดยใช้จริยธรรม”  ในการสัมมนาทางวิชาการว่าด้วยสัปดาห์ส่งเสริมจริยธรรมแห่งชาติ  ประจำปี 2553  ที่โรงแรมคอนราด  “กรุงเทพธุรกิจ”  เห็นว่ามีเนื้อหาน่าสนใจ  จึงนำมาเสนออย่างละเอียด

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/410214

<<< กลับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *