แนวคิดด้านประชาสังคมกับการดำเนินงานของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

แนวคิดด้านประชาสังคมกับการดำเนินงานของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ


ในโอกาสที่สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ดำเนินงานมาครบ ๑๐ ปี นายไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมทั้งอดีตสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติชุดที่ ๑ และปัจจุบันท่านเป็นกรรมการในคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป  ท่านได้กรุณาสละเวลาอันมีค่าให้ผู้เขียนเข้าพบในช่วงสายของวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๓  ณ บ้านพักย่านสุขุมวิท เพื่อขอสรุปย่อคำบรรยายพิเศษที่ท่านได้บรรยายไว้ เรื่อง  ”ประชาสังคม : ความคาดหวังของสังคมไทย”  เนื่องจากมีเนื้อหาและแนวคิดที่สภาที่ปรึกษาฯ สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ จึงขออนุญาตเพื่อนำมาลงในหนังสือ ๑ ทศวรรษของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในครั้งนี้ด้วย ซึ่งท่านก็ได้อนุญาต นอกจากนี้ท่านยังกรุณาให้ผู้เขียนได้มีโอกาสสนทนาเกี่ยวกับบทบาทการดำเนินงานของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติด้วย

 

ดังนั้นบทความในหัวข้อนี้จึงแบ่งออกเป็น ๒ ตอน โดยตอนที่หนึ่งเป็นสรุปการสนทนาที่เกี่ยวกับบทบาทการดำเนินงานของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และตอนที่สองเป็นแนวคิดด้านประชาสังคมกับการปฏิรูปสังคมไทยในภาวะวิกฤต ที่นำมาจากบทคัดย่อของการบรรยายพิเศษเรื่อง “ประชาสังคม : ความคาดหวังของสังคมไทย“ ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้

 

ตอนที่หนึ่ง สรุปการสนทนาเกี่ยวกับบทบาทการดำเนินงานของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

 

สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นองค์กรสะท้อนปัญหาเศรษฐกิจและสังคม มิใช่เป็นองค์กรเพื่อต่อรองผลประโยชน์ของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใด การทำงานควรยึดตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ คือ การมีส่วนร่วมของประชาชนในการสะท้อนปัญหาเศรษฐกิจและสังคมเป็นหลัก และทำงานในรูปแบบคล้าย ๆ กับคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป  ซึ่งมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้น ๑๔ ชุด ประกอบด้วย คณะกรรมการเครือข่ายองค์กรชุมชนเพื่อการปฏิรูป  คณะกรรมการเครือข่ายพลังสตรีเพื่อการปฏิรูป คณะกรรรมการเครือข่ายผู้พิการเพื่อการปฏิรูป เป็นต้น โดยคณะกรรมการทั้ง ๑๔ ชุดนี้ จะไประดมความคิดเห็นแล้วจัดทำเป็นข้อสรุปเสนอคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป  เพื่อนำไปสังเคราะห์เป็นนโยบายที่สามารถปฏิบัติได้ต่อไป

 

การทำงานของสภาที่ปรึกษาฯ ก็เช่นกันควรเน้นการระดมความคิดเห็นจากภาคประชาชน หากทำโดยสมาชิกทั้ง ๙๙ คน จะเป็นแบบผู้แทน แต่หากทำโดยภาคประชาชนมีส่วนร่วมด้วยจะมีพลังมากกว่า แล้วนำความเห็นที่ได้มาประมวลและสังเคราะห์ต่อไป   ในการเชื่อมโยงกับภาคประชาชนนั้นในแต่ละจังหวัดซึ่งมีประชาสังคมอยู่แล้ว ประชาสังคมคือภาคประชาชนที่เน้นหนักถึงกิจกรรม เป็นนักกิจกรรม รวมถึงชาวบ้านด้วย เป็นการทำเพื่อสังคมไม่ใช่เพื่อตัวเอง ตัวเองอาจไม่เดือดร้อนโดยตรงแต่เป็นการทำงานเพื่อส่วนรวม ทำให้กับสังคม นักกิจกรรมทำงานเพราะชาวบ้าน เพราะส่วนรวมเดือดร้อน หรือการที่กลุ่มองค์กรไม่เห็นด้วยกับการทำลายทรัพยากร ก็ออกมาแสดงความคิดเห็น เป็นการทำเพื่อส่วนรวม

 

ในแต่ละจังหวัดมีประชาคมอยู่แล้ว หลาย ๆ ประชาคมรวมกันก็เป็นประชาคมจังหวัด สภาที่ปรึกษาฯ ควรไปเก็บเกี่ยวความเห็นจากภาคประชาชนซึ่งในบางประเด็นเขามีความคิดเห็นอยู่แล้ว

นอกจากนี้การทำงานของสภาที่ปรึกษาฯ ควรยึดพื้นที่เป็นตัวตั้ง ทำงานเป็นภูมิภาค แต่ละภูมิภาคมีปัญหาไม่เหมือนกัน จะได้เห็นความแตกต่างของแต่ละพื้นที่

 

            ตอนที่สอง   แนวคิดด้านประชาสังคมกับการปฏิรูปสังคมไทยในภาวะวิกฤติ เป็นบทคัดย่อจากการบรรยายพิเศษเรื่อง  “ประชาสังคม : ความคาดหวังของสังคมไทย”  โดยการตอบคำถามใน ๓ ข้อคือ ประชาสังคมคืออะไร ประชาสังคมจะมีส่วนช่วยปฏิรูปสังคมไทยได้อย่างไร และควรทำอะไรบ้างเพื่อส่งเสริมสนับสนุนประชาสังคมไทยให้เจริญก้าวหน้าเป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยได้ดียิ่งขึ้นและมากยิ่งขึ้น ซึ่งคำตอบทั้ง ๓ ข้อนี้มีดังนี้

. ความหมายของ “ประชาสังคม”

ประชาสังคมคือกิจกรรมของประชาชนที่มาทำเรื่องต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน หรือเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ทั้งนี้โดยไม่มีอำนาจอะไร ถ้ามีอำนาจ เช่น ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายอำเภอ  เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นรัฐมนตรี พอใช้อำนาจแล้วตรงนี้เป็นภาครัฐ หรือถ้ามารวมตัวกันและไปค้าไปขาย ซื้อของไปขายได้กำไรเอามาแบ่งกัน อย่างนี้เรียกว่าธุรกิจ

ภาคประชาชนและภาคประชาสังคมไปด้วยกัน ประชาชนเป็นฐาน ประชาสังคมเป็นกิจกรรมคือเกิดเป็นองค์กร เป็นกลุ่มขึ้นมาหรือเป็นเครือข่าย เราเรียกว่าองค์กรประชาสังคม หรือ เครือข่ายประชาสังคม เป็นกิจกรรมประชาสังคม ทั้งหมดรวม ๆ แล้ว เรียกว่าภาคประชาสังคม หรือ   Civil Society Sector

สรุปได้ว่าเมื่อมีประชาชน มีกิจกรรม ก็เกิดเป็น “ประชาสังคม” จากนั้นจึงเกิดอีก ๒ อย่างตามมา ได้แก่ “ภาคธุรกิจ” และ “ภาครัฐ” นั่นคือประชาชนมีการค้าขาย มีการผลิต มีการจำหน่าย เราเรียกว่า “ภาคธุรกิจ” พร้อมกันนั้น เมื่อคนมาอยู่ร่วมกัน มีเรื่อง มีประเด็นมากขึ้น ก็ต้องมีคนมาดูแลจัดระเบียบ ออกกฎข้อบังคับจึงเกิดเป็น “ภาครัฐ” ซึ่งมีอำนาจหน้าที่จัดการดูแลสังคม ฉะนั้นสังคมจึงมีองค์ประกอบ ๓ ส่วนคือ

๑.)  ภาคประชาชน หรือ ภาคประชาสังคม

๒.)  ภาคธุรกิจ

๓.)  ภาครัฐ

ที่เรียงลำดับเช่นนี้เพราะว่าระดับการเกิดเป็นแบบนั้น ในความคิดเชิงรัฐศาสตร์หรือเชิงการบริหารจัดการบ้านเมือง ภาคประชาชนควรสำคัญที่สุด ภาคธุรกิจสำคัญรองลงมา และภาครัฐควรสำคัญน้อยที่สุด คำว่าสำคัญหมายถึง ความยิ่งใหญ่ ความมีศักดิ์ศรี ความมีบารมี ควรอยู่ที่ภาคประชาชนเป็นอันดับต้น ส่วนภาคธุรกิจรองลงมา และภาครัฐควรน้อยที่สุด ภาครัฐคือผู้รับใช้ประชาชนเพราะได้รับมอบหมายอำนาจมาจากประชาชน

 

ฉะนั้นจึงหวังว่าคำว่า “ประชาสังคม” ไม่ใช่คำที่ลึกลับซับซ้อนมากมายอะไร ก็คือกิจกรรมของประชาชนที่รวมตัวกันกระทำในเรื่องต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์ร่วมกันหรือเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เช่นเป็นสมาคม มูลนิธิ หรือจะรวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เราก็เรียกว่าประชาสังคม ส่วนอีก ๒ ภาคคือภาคธุรกิจและภาครัฐก็มีความสำคัญด้วย และในสังคมที่ดี ๓ ภาคนี้จะต้องเชื่อมโยงเกี่ยวพันเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ซึ่งผมจะได้พูดถึงในอันดับต่อไป

            ๒ . ประชาสังคมกับการปฏิรูปสังคมไทย

ในสภาวะที่บ้านเมืองวิกฤติและหลายฝ่ายได้ออกมาบอกว่าเราจะต้องปฏิรูปประเทศไทย พร้อม ๆ ไปกับการสร้างความปรองดอง

การปฏิรูปคือการปรองดองทางอ้อมหรือการปรองดองระยะยาวซึ่งเป็นสิ่งที่ดีและควรทำ แต่ถ้าจะพูดถึงการปรองดองทางตรงก็คือให้คู่กรณีมาพูดจากันจนกระทั่งหาข้อตกลงร่วมกันได้ หย่าศึกกันได้ จนกระทั่งเรื่องร้อนมันเย็นลง อาจจะไม่ถึงกับหันมารักกันแต่ก็อย่างน้อยเรื่องร้อนเย็นลงและฝ่ายที่เห็นต่างกันอยู่ร่วมกันได้โดยไม่ทำร้ายกัน

 

ประชาสังคมต้องเกี่ยวข้องกับการปฏิรูปแน่ ๆ และควรต้องมีส่วนร่วมให้มากที่สุดในการปฏิรูปนั้น สำคัญที่ว่าคนไปจัด ๆ ให้ดีได้อย่างไร จัดสมัชชาให้ดีอย่างไร จัดสัมมนาระดมความคิดให้ดีอย่างไร จัด Focus group อย่างไรถึงจะดี

 

การทำอะไรยาก ๆ ที่สลับซับซ้อนหรือที่ละเอียดอ่อนมาก ๆ โดยเฉพาะในเรื่องความขัดแย้งที่เราพยายามแก้ไข พร้อมกับความพยายามจะปฏิรูปซึ่งจะเป็นการปฏิรูปภายใต้ภาวะความขัดแย้ง การจะทำเรื่องที่ยาก ละเอียดอ่อน และสลับซับซ้อนเช่นนี้ ควรต้องมี ๓ องค์ประกอบที่สำคัญประสานพลังกันอย่างเพียงพอและสมดุลย์ ได้แก่

องค์ประกอบที่  ๑  คือเรื่องกระบวนการ วิธีที่เราดำเนินการเป็นอย่างไร มีจังหวะ มีลีลา มีขั้นตอนต่าง ๆ อย่างไร และอื่น ๆ

องค์ประกอบที่  ๒  เรื่องทัศนคติ เราจะสร้างทัศนคติหรือสร้างบรรยากาศให้ดีได้อย่างไร

องค์ประกอบที่  ๓  คือเรื่องสาระ เป็นตัวเนื้อหาที่จะหยิบยกขึ้นหารือ เจรจาต่อรอง ใช้ความคิดสร้างสรรค์ เพื่อหาข้อตกลงร่วมกันให้ได้ในที่สุด

 

ส่วนใหญ่ที่ความพยายามปรองดองไม่ประสบความสำเร็จเพราะเรามักกระโจนเข้าสู่สาระเลย และข้ามขั้นตอนหรือขาดองค์ประกอบในด้านกระบวนการที่เหมาะสม และขาดการสร้างทัศนคติหรือบรรยากาศที่เอื้ออำนวย ทำให้ไม่สามารถได้ข้อตกลงที่พอใจหรือยอมรับร่วมกันได้ ถ้าจัดกระบวนการดี สร้างบรรยากาศดี ทำให้เกิดทัศนคติดี สาระดีๆ จะตามมา ฉะนั้น ถ้าจะให้ภาคประชาสังคมมีส่วนสำคัญในการปฏิรูปประเทศไทยก็ขอให้ดำเนินการโดยที่ว่ามีการจัดกระบวนการที่ดี  มีการสร้างทัศนคติที่ดี จะช่วยให้ได้สาระที่ดี  เกิดเป็นข้อตกลงที่พอใจร่วมกัน  นั่นคือ  คลี่คลายความขัดแย้งและสร้างความปรองดองได้

 

            ๓ . ควรทำอะไรบ้างเพื่อส่งเสริมสนับสนุนประชาสังคมไทยให้เจริญก้าวหน้าเป็นประโยชน์ต่อสังคมได้ดียิ่งขึ้นและมากยิ่งขึ้น

 

การส่งเสริมประชาสังคมเพื่อการพัฒนา ขณะนี้ได้มีความพยายามจากหลายฝ่ายที่จะผลักดันให้เกิดกลไกระดับจังหวัด เป็นกลไกพหุพาคีคือหลาย ๆ ฝ่ายมาร่วมกันที่จังหวัด เพื่อรวมพลังสร้างสรรค์ หรือช่วยกันขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดให้ไปในทิศทางที่พึงประสงค์ ให้เกิดการพัฒนาที่พึงปรารถนา พหุภาคีนี้ควรที่จะได้สมดุลย์ระหว่างภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และภาครัฐ ภาคประชาชนก็คือภาคประชาสังคมถือว่าเป็นพวกเดียวกัน ฉะนั้นเริ่มต้นต้องนึกถึงตัวแทนเครือข่ายชุมชนท้องถิ่น ซึ่งเป็นฐานล่างที่สุดและเขามีกลไกอยู่แล้ว มีเครือข่ายองค์กรชุมชน ระดับตำบล ระดับจังหวัด ระดับชาติ มีเครือข่ายสภาองค์กรชุมชน ทั้งระดับตำบล ระดับจังหวัด และระดับชาติเช่นเดียวกัน เป็นต้น

 

นอกจากบรรดาองค์กรชุมชนต่าง ๆ แล้วก็จะมีเครือข่ายภาคประชาสังคมของจังหวัด พวกนี้ได้แก่ นักจัดกิจกรรมหรือทำกิจกรรมทั้งหลาย ที่ดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องปัญหายาเสพติด เรื่องสร้างคุณธรรม จริยธรรม เรื่องส่งเสริมศิลปะวัฒนธรรม มูลนิธิ สมาคม ทั้งหลาย ก็รวมอยู่ในคำว่าภาคประชาสังคม ซึ่งเขามีเครือข่ายอยู่และก็สามารถมารวมตัวกันหรือส่งตัวแทนมาในระดับจังหวัดได้ นี่คือ ภาคประชาชนและประชาสังคม ขยายความอีกหน่อยก็ต้องรวมถึงสถาบันวิชาการ เช่น มหาวิทยาลัยซึ่งอยู่ในจังหวัดที่เราจะขับเคลื่อน หรืออยู่ในจังหวัดใกล้เคียง เพราะเขาเป็นนักวิชาการที่จะมาเป็นประโยชน์ได้ นอกจากมหาวิทยาลัยก็มีวิทยาลัย โรงเรียน ล้วนสามารถเป็นประโยชน์ได้ด้วย มีสถาบันศาสนา สถาบันจริยธรรม สถาบันศิลปะวัฒนธรรม ศิลปิน สื่อ สื่อท้องถิ่น สื่อในจังหวัด หรือสื่อระดับชาติที่ไปทำงานที่จังหวัด เหล่านี้รวมอยู่ในคำว่า “ภาคประชาชนและประชาสังคม”  ซึ่งคือชุดที่ ๑

 

ชุดที่ ๒ คือภาคธุรกิจ เช่น หอการค้า สภาอุตสาหกรรม สมาคมธนาคารไทย สภาธุรกิจตลาดทุน สภาการท่องเที่ยว ซึ่งต้องทำงานในเชิงพื้นที่ ถึงจะเห็นรูปธรรม เสนอให้จัดกิจกรรม กระจายคลุมทั้งประเทศได้ ซึ่ง พื้นที่ที่คิดว่าเป็นพื้นที่ระดับยุทธศาสตร์คือจังหวัด ผมได้เคยเสนอแนะว่าอาจจะลองไปทำที่จังหวัดใกล้ๆกรุงเทพฯ เช่นจังหวัดนครปฐม เพราะบังเอิญมีมหาวิทยาลัยมหิดลอยู่และเขาก็สนใจที่จะร่วมด้วย ฉะนั้นถ้าไปจัดที่นครปฐมก็จะมีตัวแทนขององค์กรชุมชน ของประชาสังคม ของฝ่ายวิชาการ ฝ่ายศาสนา ฝ่ายสื่อ และอื่นๆของจังหวัดนครปฐม ส่วนภาคธุรกิจในจังหวัดนครปฐม ก็จะมี สภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครปฐม หอการค้าจังหวัดนครปฐม สภาการท่องเที่ยวจังหวัดนครปฐม ชมรมธนาคารจังหวัดนครปฐม และอาจมีสภาธุรกิจตลาดทุนจังหวัดนครปฐมด้วยก็ได้ ข้อนี้ผมไม่แน่ใจ แต่เฉพาะภาคธุรกิจมี 5-6 แขนง พร้อมเข้าร่วมได้อย่างแน่นอน

 

ชุดต่อไปหรือชุดที่ ๓ ก็คือ ภาครัฐ ได้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัด ราชการส่วนภูมิภาค นายอำเภอ รวมถึงกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เรามีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อบจ. อบต. เทศบาล ก็ถือเป็นภาครัฐประเภทท้องถิ่น รวมไปถึงหน่วยงานของกระทรวงต่าง ๆ  และองค์กรภาครัฐอื่นๆ  เช่น  สปสช., สสส., พอช.,  สช.  ฯลฯ

 

ทั้งหมดนี้ควรมารวมพลังกัน ผมเรียกว่า “เครือข่ายพหุภาคีขับเคลื่อนจังหวัด” หรืออาจเรียกยาว ๆ ว่า “เครือข่ายความร่วมมือพหุภาคีรวมพลังสร้างสรรค์ขับเคลื่อนจังหวัดไปสู่การพัฒนาที่พึงปรารถนา” ซึ่งเขาจะต้องไปทำงานร่วมกัน และก็คิดกันว่าอยากจะเห็นจังหวัดของเขาพัฒนาไปอย่างไร และเขาจะทำอะไรกันบ้าง อะไรที่เขาทำได้เอง อะไรที่จะนำเสนอหน่วยเหนือเพื่อให้ความเห็นชอบ เช่นบางอย่างต้องให้รัฐบาลแก้กฎหมายหรือข้อบังคับหรือแก้ไขนโยบาย บางอย่างจังหวัดทำได้เองแต่ต้องเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดทำ หรือ อบจ.ทำ หรือเทศบาลทำ หรือ อบต.ทำ บางอย่างต้องลงไปถึงระดับท้องถิ่นหรือระดับชุมชน  นั่นคือ  ชุมชนเองควรต้องทำอะไร  หรืออาจแยกเป็นชุมชนในท้องถิ่นจะทำอะไร  โรงเรียนในท้องถิ่นจะทำอะไร  วัดในท้องถิ่นจะทำอะไร  ฯลฯ

 

กล่าวโดยทั่วไป “ประชาสังคม” คือกิจกรรมที่ดีของประชาชน เป็นกิจกรรมที่สร้างสรรค์ซึ่งควรได้รับการส่งเสริมสนับสนุน แต่การส่งเสริมสนับสนุนถ้าเราเลือกจุดที่เป็นยุทธศาสตร์  เช่น กรณีที่ผมเสนอเกี่ยวกับ “ การรวมพลังเครือข่ายพหุภาคีขับเคลื่อนจังหวัด” นั้น ผมคิดว่าเป็นยุทธศาสตร์สามารถทำได้ทุกจังหวัด แต่อย่าไปทำพร้อมกันทุกจังหวัด ควรเริ่มเพียง ๑,๒,๓ จังหวัด แล้วค่อยขยาย ถ้าทำแล้วผลออกมาดีจะมีจังหวัดอื่นตามมาและจะไปได้เร็วในภายหลัง โดยเป็นการไปเร็วที่ได้ผลดีด้วย

หมายเหตุ

1 จรัสโฉม วีระพรวณิชย์กุล นักวิเคราะห์นโยบายและแผนเชี่ยวชาญ  สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

2 สรุปคัดย่อจากคำบรรยายพิเศษในการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “ประชาสังคม: ความคาดหวังของสังคมไทย” โดย นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม จัดโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วันที่ ๘-๙ กรกฎาคม ๒๕๕๓ ณ โรงแรมแม่น้ำรามาดาพลาซา กรุงเทพฯ

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/415090

<<< กลับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *