สารจากที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ ในรายงานประจำปี 2553 ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม (ศูนย์คุณธรรม) สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน)

สารจากที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ ในรายงานประจำปี 2553 ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม (ศูนย์คุณธรรม) สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน)


ในสังคมมี 3 องค์ประกอบหลักที่จะต้องขับเคลื่อนอย่างสัมพันธ์กัน เพื่อให้บุคคล ชุมชน องค์กร   สังคม สามารถเจริญก้าวหน้า  พร้อมกับความสงบสันติสุขและมั่นคง อย่างต่อเนื่องยั่งยืน  นั่นคือ ความดี ความสามารถ และความสุข ความดีจึงเป็น 1 ใน 3 องค์ประกอบสำคัญ ที่สมควรต้องขับเคลื่อนไปพร้อม ๆกับอีก 2 องค์ประกอบสำคัญให้เชื่อมโยงเกื้อหนุนและได้ดุลซึ่งกันและกัน

การจะทำให้ความดีเป็นเรื่องที่ปฏิบัติกันอย่างทั่วไป และอย่างเป็นขบวนการ(Movement) ต้องใช้ยุทธศาสตร์ 6 ประการ ได้แก่

ประการแรก การสร้างเครือข่าย เป็นยุทธศาสตร์สำคัญเพื่อให้ทุกกลุ่ม ทุกพื้นที่ ขับเคลื่อนเรื่องความดี และเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนรู้เพิ่มพลังให้แก่กันและกัน

ประการที่สอง ความรู้ที่เหมาะสม  เพราะการขับเคลื่อนสิ่งใดโดยปราศจากความรู้ก็เหมือนปราศจากเข็มทิศ และการค้นหายุทธศาสตร์ที่มีความรู้เป็นฐานย่อมได้ยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนหนักแน่นสอดคล้องกับความเป็นจริง

ประการที่สาม การสื่อสารที่ดี  ทำให้ความดีได้รับการถ่ายทอดแพร่ขยายและเป็นที่เข้าใจตลอดจนสร้างแรงกระตุ้นและแรงบันดาลใจอย่างกว้างขวางเพียงพอ

ประการที่สี่ มีนโยบายที่ดี  ที่สนับสนุนเกื้อกูลการทำความดีทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ในทุกระดับ นั่นคือทั้ง ระดับบุคคล  ครอบครัว  ชุมชน  องค์กร และสังคมโดยรวม

ประการที่ห้า การจัดการที่ดี ทั้งทีเป็นการจัดการ แผนงาน โครงการ หรือกิจกรรม และการจัดการองค์กรที่เกี่ยวข้อง

ประการที่หก  การเรียนรู้และพัฒนาหรืออภิวัฒน์ อย่างต่อเนื่อง โดยเรียนรู้จากการกระทำและการเรียนรู้จากแหล่งหรือวิธีการอื่น ๆ ให้นำไปสู่การกระทำ และการดำเนินการที่ดียิ่งขึ้นอยู่เสมอ

 

6 ขวบปีของศูนย์คุณธรรม กับการขับเคลื่อนงานตามพันธกิจในการเสริมหนุน เชื่อมประสาน เพิ่มพลังเครือข่ายในการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมที่เป็นการรวมพลัง ยกระดับ แพร่ขยายในบริบทต่างๆ ในทุกภาคส่วนของสังคม ศูนย์คุณธรรมได้ปฏิบัติตามวิธีการดังกล่าวมาโดยตลอด

 

อีกภารกิจหนึ่งที่ศูนย์คุณธรรมขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่อง คือเรื่องสมัชชาคุณธรรม เป็นกระบวนการให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสบการณ์ของเรื่องคุณธรรมความดีและยกย่องความดี เพื่อเผยแพร่ให้สังคมได้รับรู้ และนำไปสู่การปฏิบัติ ทั้งในระดับผู้เกี่ยวข้อง เช่น โรงเรียน ชุมชน วัด หรือธุรกิจนำไปปฏิบัติเอง และระดับที่เป็นนโยบายสาธารณะ

โดยในแต่ละปีจะกำหนดประเด็นหนึ่งขึ้นมาตามบริบทและความเร่งด่วนของสังคม ในปีที่ผ่านมาความดีที่สำคัญและเป็นประเด็นเร่งด่วนคือเรื่องความซื่อตรง ซึ่งความซื่อตรงก็คือความหมายรวมของความซื่อสัตย์ ความรับผิดชอบ และความพอเพียง นั่นเอง

 

ในปี 2553 ศูนย์คุณธรรมจึงได้จัดสมัชชาคุณธรรมขึ้น ตามแนวคิดหลักส่งเสริมคุณธรรม เรื่อง “ความซื่อสัตย์ ความรับผิดชอบ และความพอเพียง” มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างองค์กรภาคีเครือข่ายระดับภูมิภาคใน 7 ประเด็นย่อย ได้แก่ ประเด็นการศึกษา ประเด็นชุมชน ประเด็นศาสนา ประเด็นธุรกิจ ประเด็นสื่อ ประเด็นนักการเมือง และประเด็นข้าราชการ ต่อจากนี้ไปจะเป็นการประมวลรวบรวมความรู้ความคิดจากกระบวนการสมัชชาระดับภูมิภาค สังเคราะห์ร่วมกันเป็นปฏิญญา(ข้อตกลงร่วมกัน) แผนปฏิบัติการ และข้อเสนอเชิงนโยบาย และนำทั้งหมดเสนอในที่ประชุมสมัชชาแห่งชาติที่จะมีขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2554 เพื่อช่วยกันวิพากษ์วิจารณ์หรือช่วยกันเสริมเติมแต่งให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

แม้วันนี้ศูนย์คุณธรรมจะเดินหน้ามาไกลพอสมควร หากดูจากผลงานการสร้างเครือข่าย สร้างองค์ความรู้ การสื่อสาร การเสนอแนะนโยบาย การบริหารจัดการ ตลอดจนการเรียนรู้และพัฒนาหรืออภิวัฒน์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งก้าวหน้ามาเป็นลำดับ แต่เรื่องของคุณธรรมความดีเป็นเรื่องที่หยุดนิ่งไม่ได้ เพราะหากหยุดก็เหมือนกับกำลังก้าวถอยหลัง ภาระงานของศูนย์คุณธรรมจึงต้องใช้ทั้งพลังกาย พลังใจ พลังสติปัญญา และพลังคุณธรรมในการขับเคลื่อน ผมในฐานะที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ขอชื่นชมกับการทำงานของกรรมการ  ผู้บริหาร เจ้าหน้าที่   และผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมของศูนย์คุณธรรมทุกท่าน และขอเป็นกำลังใจกับก้าวต่อ ๆ ไปของภารกิจอันเป็นคุณประโยชน์ต่อทุกคนทุกฝ่าย ต่อชุมชน องค์กร สถาบัน และองค์ประกอบอื่น ๆ ของสังคม ตลอดจนต่อสังคมโดยรวม ทั้งสังคมไทยและรวมถึงสังคมโลกด้วย

 

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์

ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม

สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน)

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/425198

<<< กลับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *