ข้อเสนอการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของนักศึกษาในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ข้อเสนอการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของนักศึกษาในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


(29 มิ.ย. 49) ร่วมเป็นวิทยากรอภิปรายในหัวข้อ “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรูปแบบใหม่กับจริยธรรมตามแนวธรรมราชา” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการจัดสัมมนาทางวิชาการ โดยสภาคณาจารย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเฉลิมฉลองวโรกาศที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี

ผู้ร่วมอภิปรายคือ รศ.ดร.โคทม อารียา โดยมี ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย

ได้อภิปรายให้ความเห็น สรุปได้ดังนี้

1. การพัฒนานักศึกษาให้เป็น “คนที่พึงปรารถนา” ควรเน้น

(1) การทำความดี (เป็นอันดับต้น)

(2) การสร้างสุขภาวะ

(3) การพัฒนาความสามารถ

กรณีมหาวิทยาลัยพุทธฉือจี้ ประเทศไต้หวัน และกรณีสถาบันการศึกษาในประเทศเวียดนาม เน้นการส่งเสริมให้นักศึกษา/นักเรียนมีจิตใจดีและทำความดีเป็นพื้นฐานสำคัญ

คุณจรัล ภักดีธนากุล (เลขาธิการประธานศาลฎีกา) กล่าวเมื่อเร็วๆนี้ว่า “คนเก่งอย่างเดียวอาจเป็นมหาโจรได้ ส่วนคนดีอย่างเดียวก็เป็นเหยื่อของมหาโจรได้ง่าย”

2. การ “ทำความดี” ที่ควรพิจารณาปฏิบัติ ได้แก่

(1) การมุ่งมั่นพัฒนาตนเอง (ให้มีความดี มีสุขภาวะ มีความสามารถ)

(2) การมุ่งมั่นทำประโยชน์ให้ผู้อื่น (โดยไม่จำกัดกลุ่มจำกัดพวก)

(3) การมุ่งมั่นทำประโยชน์ให้ส่วนรวม (รวมถึงประโยชน์ขององค์กร ของชุมชน ของท้องถิ่น ของสังคม ของโลก)

ทั้งนี้ เพื่อให้เกิด ความสันติ ความเจริญ และความสุข ร่วมกันอย่างต่อเนื่องในสังคม

การ “ทำความดี” อาจให้หมายรวมถึง “การสร้างบุญ 3 ประการ” คือ “ทาน ศีล ภาวนา” ด้วยก็ได้

3. ด้วยแรงบันดาลใจจากพระปฐมบรมราชโองการ “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” อาจารย์ บุคลากรมหาวิทยาลัย และนักศึกษา อาจตั้งปณิธานร่วมกันทำนองนี้ คือ “เราจะใช้ชีวิตด้วยความดี เพื่อความสันติ ความเจริญ และความสุขร่วมกันในสังคมและในหมู่มวลมนุษย์”

4. เพื่อให้เกิดการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของนักศึกษาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอาจพิจารณาดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) กำหนดเป็นนโยบาย (อาจอยู่ในรูปปรัชญา วิสัยทัศน์ ฯลฯ) ให้ชัดเจนและหนักแน่น ว่าจะให้ความสำคัญต่อเรื่องคุณธรรมจริยธรรมของนักศึกษาเป็นอันดับต้น เช่น ส่งเสริมให้นักศึกษา “ทำความดี สร้างสุขสภาวะ และพัฒนาความสามารถ” เป็นต้น พร้อมกับพยายามให้นโยบายดังกล่าวเข้าไปอยู่ใน “จิตวิญญาณ” และมีสภาพเป็น “วัฒนธรรม” ของประชาคมและขององค์กรให้ได้อย่างดีที่สุด

(2) จัดสภาพแวดล้อม ให้เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของนักศึกษา รวมถึงการจัดอาคารสถานที่ ปฏิมากรรม โปสเตอร์ ฯลฯ

(3) พัฒนาคุณภาพและบทบาทที่เหมาะสมของผู้บริหาร อาจารย์ และบุคลากร ให้สอดรับกับนโยบายดังกล่าวข้างต้น รวมถึงการพัฒนาให้ผู้บริหาร อาจารย์ และบุคลากร เป็นผู้ที่ “ทำความดี สร้างสุขสภาวะ และพัฒนาความสามารถ” อยู่เสมอด้วย

(4) ดำเนินการส่งเสริมสนับสนุนให้นักศึกษา ได้ “ทำความดี สร้างสุขภาวะ พัฒนาความสามารถ” โดยบูรณาการและผสมกลมกลืนอยู่ในกระบวนการเรียนการสอนและการศึกษาวิจัย ให้ได้อย่างดีและอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งดำเนินการให้ผู้ปกครองและครอบครัวของนักศึกษา ตลอดจนอดีตนักศึกษา มีบทบาทที่สร้างสรรค์และเหมาะสมอย่างสอดรับกันด้วย

(5) ส่งเสริมสนับสนุนให้มีการพัฒนาจากการปฏิบัติจริง รวมถึงการจัดตั้งและประสานเครือข่ายทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย และการจัดการความรู้ (Knowledge management) ร่วมกันของสมาชิกเครือข่าย เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และการพัฒนาร่วมกันอย่างต่อเนื่อง

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

7 มิ.ย. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/33254

<<< กลับ

 

ข้อเสนอแนวคิดและแนวทางการจัดการศึกษาในมหาวิทยาลัย

ข้อเสนอแนวคิดและแนวทางการจัดการศึกษาในมหาวิทยาลัย


(นำเสนอในการอภิปรายเรื่อง “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรูปแบบใหม่กับจริยธรรมตามแนวธรรมราชา” ร่วมกับ รศ.ดร.โคทม อารียา ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ดำเนินการอภิปราย โดย ผศ.ดร. จุมพล พูลภัทรชีวิน ประธานคณะกรรมการกิจการบริหารมหาวิทยาลัย สภาคณาจารย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ 29 พ.ค. 2549 ณ ห้องประชุมสารนิเทศ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

ขอสวัสดีท่านอาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่รักและเคารพทุกท่าน ผมวนเวียนเข้ามาในจุฬาฯ ทั้งในเชิงกายภาพ คือเข้ามาในสถานที่ และเข้ามาในเชิงจิตใจ เพราะความเกี่ยวพันต่างๆ ค่อนข้างมาก แต่ไม่ได้เข้ามาอยู่ในเนื้อในเท่าไร คือ ไม่เคยได้มาสอนหรือมาเป็นศิษย์เป็นอาจารย์ หรือกรรมการใดๆ ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ที่วนเวียนเข้ามาเยอะเพราะมาร่วมอภิปรายบ้างมาฟังการประชุมบ้าง มาร่วมกิจกรรมต่างๆ บ้าง ซึ่งหลายกรณีไม่ใช่กิจกรรมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่เป็นกิจกรรมขององค์กรอื่นๆ เช่น องค์กรด้านการพัฒนาสังคม หรือเป็นกิจกรรมอื่นๆ ที่องค์กรต่างๆ จัดขึ้นแล้วมาอาศัยบริเวณและสถานที่ของจุฬาลงกรณ์หาวิทยาลัย

ผมเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา อยู่ฟากโน้น เฝ้ามองจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอยู่  นึกว่าจะได้ข้ามฟากมาเรียน ผลสุดท้ายสอบได้เหมือนกันแต่เนื่องจากมีทางเลือก คือ อาจารย์สตางค์เปิดคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ขึ้นมาใหม่ สังกัดมหาวิทยาลัยมหิดล ดูแล้วน่าสนใจ เลยขอไปทางโน้น แต่ผมก็ยังมีเพื่อนในจุฬาฯ หลายคนผมรุ่นเดียวกับอาจารย์ดร.สุจิต บุญบงการ ดร. โชคชัย อักษรนันท์ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช เอ่ยเพียงบางชื่อที่คงเป็นที่รู้จักกัน ฉะนั้น เวลาเข้าที่นี่ รู้สึกอบอุ่นเป็นกันเอง แต่อาจจะไม่รู้จักใครแบบใกล้ชิดมาก เห็นหน้าก็พอรู้จัก ได้พูดได้คุยกันบ้าง ท่านอาจารย์จุมพลก็เพิ่งได้รู้จักเมื่อไม่นานในกิจกรรมเกี่ยวกับทางด้านการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม โดยศูนย์คุณธรรมที่ผมเป็นประธานอยู่

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรูปแบบใหม่กับจริยธรรมตามแนวธรรมราชา

วันนี้หัวข้อ คือ “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรูปแบบใหม่กับจริยธรรมตามแนวธรรมราชา ” หัวข้อชวนให้ฉงนว่ากำลังพยายามจะคิดอะไร ทำอะไร

“จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรูปแบบใหม่” เข้าใจว่านึกถึงการแปลงรูปไปสู่มหาวิทยาลัยในกำกับ ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะเป็นรูปแบบใหม่หรือไม่ เพราะดูมหาวิทยาลัยหลายแห่งที่เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับ มักจะมีคำถามเหมือนกันว่าเราต่างจากมหาวิทยาลัยของรัฐอย่างไร บางแห่งก็บอกว่าไม่ค่อยต่างเท่าไร ดูวิธีบริหารจัดการ วิธีคิด วิธีทำ ดูจะเดิมๆ เสียมากกว่าแต่อาจจะไม่เชิง 100% เพราะมหาวิทยาลัยในกำกับได้มีนวัตกรรม เช่น การคิดวิธีการบริหาร การจัดโครงสร้าง การจัดระบบงาน พยายามฉีกแนวไปและมีความเป็นอิสระมากขึ้น

ส่วนที่ 2 ของหัวข้อ คือ “จริยธรรมตามแนวธรรมราชา ” ต้องคิดต่อว่ากำลังพยายามจะมุ่งสู่อะไร ผมเองพอได้เห็นคำว่าธรรมราชา ราชาแห่งธรรม แน่นอนเราคงนึกถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเมื่อโยงเรื่องธรรมะกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คงต้องนึกถึงพระปฐมบรมราชโองการ ที่ว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” คำนี้เป็นพระราชปณิธานที่ทรงพลังและมีความหมายอย่างยิ่ง  แต่ความหมายนั้นไม่ใช่เพราะถ้อยคำ  แต่เพราะการปฏิบัติของพระองค์ท่านตลอด 60 ปีที่ผ่านมา  ปีนี้เป็นปีเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ก็ยิ่งเป็นโอกาสอันดีที่จะนึกถึงพระปฐมบรมราชโองการกับแนวทางปฏิบัติที่พระองค์ท่านได้ดำเนินมาอย่างสม่ำเสมอ อย่างแท้จริงอย่างมีความหมาย และเป็นการปฏิบัติที่น่าจะเป็นตัวอย่างอันดีงามให้กับทั้งประชาชน องค์กร หน่วยงานทั้งหลาย รวมทั้งมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาชั้นสูง

คำว่า “โดยธรรม” หมายถึงอะไร เป็นการประจวบเหมาะมากที่ปีนี้เป็นการครบ “100 ปีชาติกาลพระพุทธทาส” ท่านพุทธทาสได้ให้ความหมายคำว่าธรรมะไว้ 4 ประการ คือ

1. ธรรมชาติ

2. กฎธรรมชาติ

3. การปฏิบัติหน้าที่ตามกฎธรรมชาติ

4. ผลที่เกิดจากการปฏิบัติตามกฎธรรมชาติ

เป็นความหมายของคำว่าธรรมะที่ผมคิดว่ากระจ่างแจ้ง ลึกซึ้ง และให้คุณค่ามากถ้าจะนำมาคิด นำมาปฏิบัติ ท่านอาจารย์พุทธทาสได้ให้ความหมายธรรมะอีกข้อหนึ่ง ท่านบอกว่าธรรมะเป็นเทคนิค ท่านใช้ภาษาอังกฤษว่า technique แล้วบอกว่าไม่ใช่ technical และไม่ใช่เทคโนโลยี หมายถึงเป็นเครื่องมือต่างๆ  ผมไม่ถึงกับเข้าใจลึกซึ้งว่า ท่านพุทธทาสใช้คำว่า technique ความละเอียดเป็นอย่างไรแต่พอจะอนุมานได้ว่าหมายถึง “ศิลปะและวิทยาการในการคิด การพูด การทำ”และมีคำที่ท่านพุทธทาสใช้ คือ “technique สู่การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์” ข้อความหลังนี้สำคัญ ท่านบอกว่า ธรรมะคือ technique หรือศิลปะและวิทยาการในการคิด การพูด การทำ วรรคหลังนี้เป็นของผมเอง แต่วรรคต่อไปเป็นของท่านพุทธทาส คือ สู่การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ฉะนั้นคำว่า “โดยธรรม” จึงเป็นการครองแผ่นดินโดยอาศัยธรรมะเป็นฐาน เป็นแนวทาง เป็นแนวปฏิบัติ แต่ธรรมะนั้นถ้าตีความหมายตามท่านพุทธทาสคือธรรมชาติ กฎธรรมชาติ การปฏิบัติหน้าที่ตามกฎธรรมชาติ และผลที่เกิดจากการปฏิบัติตามกฎธรรมชาติ หรือเป็น technique เป็นศิลปะและวิทยาการสู่การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์

ธรรมะ” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ผมเองคิดง่ายๆ ซึ่งจะถูกต้องหรือไม่ไม่ทราบ  แต่หากเกิดประโยชน์ก็น่าจะใช้ได้ ผมคิดง่ายๆ ว่าธรรมะคือความถูกต้องดีงาม ฉะนั้นที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชปณิธานว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” ผมก็ตีความอย่างง่ายๆ ว่าท่านจะปฏิบัติหน้าที่โดยยึดความถูกต้องดีงามเป็นหลัก แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม เป็นประโยชน์สุขของมหาชน ของคนทั้งหมด ของคนทั้งสังคม ไม่ใช่ของเฉพาะกลุ่มเฉพาะเหล่า นั่นเป็นสิ่งที่น่าจะอนุมานได้จากพระราชปณิธาน

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังได้ตรัสถึงธรรมะหลายต่อหลายครั้ง เป็นร้อยๆ ครั้ง แต่มีอยู่ครั้งหนึ่งที่พระองค์ท่านได้ทรงแนะนำคุณธรรมพื้นฐาน 4 ประการสำหรับประชาชนชาวไทย ซึ่งผมคิดว่าประยุกต์มาจากฆราวาสธรรม 4 ของพระพุทธเจ้า นั่นคือสัจจะ ทมะ ขันติ และจาคะ  แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงประยุกต์และอธิบายความที่มีความหมายเจาะจงสำหรับสังคมไทยมากขึ้น

สัจจะ หมายถึง ความซื่อสัตย์ ความสุจริต ความจริงใจ

ทมะ  คือ การข่มใจ การที่ไม่ยอมพ่ายแพ้ต่อความอ่อนแอหรือความกดดัน

ขันติ คือ ความอดทน พยายาม พากเพียร

จาคะ คือ การสละประโยชน์ส่วนตน คือ การให้ สละสิ่งที่ไม่ดี สละประโยชน์ส่วนตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวม

คุณธรรมพื้นฐาน 4 ประการ จึงเป็นธรรมะที่เป็นพื้นฐานและเป็นแนวทางแห่งการดำเนินภารกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่เป็นไปตามพระราชปณิธานว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม”

“เศรษฐกิจพอเพียง”

ประชาชนคนไทยได้รับประโยชน์มหาศาลจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะพระองค์ท่านทรงปฏิบัติให้เห็นเป็นตัวอย่างและทรงมีพระราชดำรัสเป็นครั้งคราว จนกระทั่งล่าสุดได้มีพระราชดำรัสว่าด้วย “เศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งอาจเรียกว่าเป็นสูตร เป็นรูปแบบ ถ้าใช้ภาษาสมัยใหม่ก็เรียกว่าเป็น โมเดล (Model) แต่พูดถึงโมเดล ก็ไม่อยากจะนึกถึงเช่น “อาจสามารถโมเดล” ซึ่งก็เป็นโมเดลหนึ่ง แต่เป็นโมเดลที่ดีหรือไม่ดีขอให้ท่านพิจารณาเอาเองแล้วกัน

แต่โมเดลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวคือเศรษฐกิจพอเพียง เป็นสูตร เป็นรูปแบบ เป็นกระบวนการดำเนินชีวิตและประกอบภารกิจของบุคคล ของครอบครัว ของหน่วยงาน ของชุมชนและของสังคม

เศรษฐกิจพอเพียงนั้น มีหลักใหญ่ ๆ 5 ประการ บางคนแบ่งเป็น 2 ส่วน บางคนแบ่งเป็น 3 ห่วง 2 เงื่อนไข  คือมีลักษณะ 3 ประการ และมีเงื่อนไข 2 ประการ ท่านองคมนตรี คุณหมอเกษม วัฒนชัย เป็นคนแยกแยะออกมาว่าเป็นเงื่อนไขสำคัญ เป็น Prerequisite คือ 2 ส่วนหลัง แต่ 3 ส่วนแรกเรียกว่าเป็นลักษณะสำคัญ

คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงที่ ดร. จิรายุ  อิศรางกูร ณ อยุธยา เป็นประธาน ได้ให้ความหมาย พูดง่ายๆ เขียนเป็น 3 ห่วงเกี่ยวโยงกัน และมี 2 เงื่อนไข

สามห่วงที่ว่านั้น คือ 1) ความพอประมาณ 2) ความมีเหตุผล 3) การมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร พอประมาณ คงพอจะเข้าใจ คือไม่สุดโต่ง ไม่มากไป ถ้าแปลเป็นภาษาภาษาทางเศรษฐกิจ ต้องบอกว่าไม่โลภมาก  มีเหตุผลคือมีเหตุมีผล อธิบายได้ เป็นไปตามหลักการที่สมเหตุสมผล มีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรหมายถึงมีกลไก มีเครื่องมือ มีวิธีการที่จะป้องกันความเสี่ยงไม่ให้เกิดขึ้นหรือให้เกิดขึ้นแต่น้อย หรือเกิดขึ้นก็สามารถจะรองรับได้ พระองค์ท่านใช้คำว่าที่ดีพอสมควร หมายถึงว่าไม่ใช่จะป้องกันความเสี่ยงได้ 100% ความเสี่ยงย่อมมีอยู่ อันตรายย่อมมีอยู่ รวมทั้งภัยธรรมชาติย่อมมีอยู่ ภัยทางสังคมทางเศรษฐกิจจะมีตลอดเวลา จึงต้องป้องกันความเสี่ยง วิธีป้องกันความเสี่ยงคือความไม่โลภมากนั่นเอง ไม่ขยายจนมากเกินไป ไม่กู้เงินมากเกินไป ไม่ไปทำโครงการที่ยังไม่ได้พิจารณาให้รอบคอบ คือไม่สมเหตุสมผลนั่นเอง จะเห็นว่า สามลักษณะนี้อธิบายได้ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล ความมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร

สองเงื่อนไขหรือหลักการอีก 2 ข้อ คือ 1) เงื่อนไขความรู้ ความรอบรู้ รอบคอบ ระมัดระวัง พระองค์ท่านบอกว่ารอบรู้หมายถึง ใช้ความรู้ แต่ผสมด้วยความรอบคอบ ระมัดระวัง คือใช้ความรู้อย่างระมัดระวัง แปลว่าต้องรู้ให้ถ้วนทั่ว รู้ให้ลึก รู้ให้จริง และใช้ความระมัดระวัง ใช้ความรอบคอบ 2) เงื่อนไขคุณธรรม มีจิตสำนึกในคุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริต ความอดทน ความพากเพียร การใช้สติ ใช้ปัญญา ฉะนั้นคำว่าเงื่อนไขคุณธรรมมีความหมายกว้างและลึก รวมถึงจิตสำนึก คุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต อดทน มีความเพียร มีสติ มีปัญญา ใช้สติใช้ปัญญา

นี่คือเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นรูปแบบในการดำเนินชีวิต ในการดำเนินกิจการ ในการประกอบภารกิจทั้งปวง ใช้ได้ตั้งแต่ระดับชุมชนฐานรากจนถึงระดับโลก ไม่ใช่แค่ระดับประเทศ นั่นคือใช้ได้ตั้งแต่ระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กร สังคม ประเทศ และโลก

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เลขาธิการสหประชาชาติได้ถวายรางวัลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นรางวัลที่เขาเรียกว่า Lifetime Achievement Award in Human Development หรือรางวัลความสำเร็จแห่งชีวิตในการพัฒนาคน เป็นรางวัลแรกที่สหประชาชาติให้แก่บุคคลที่อุทิศชีวิตเพื่อการพัฒนาคน โดยคำนึงว่าที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงปฏิบัติมาเป็นคุณธรรม เป็นพระปรีชาสามารถและเป็นการให้แนวทางที่จะเป็นแนวทางสำหรับโลกในศตวรรษใหม่ แนวทางสำหรับการพัฒนาคนที่มากกว่าการพัฒนาเศรษฐกิจ นั่นคือการพัฒนาให้คนมีความมั่นคงปลอดภัย อยู่ร่วมกันอย่างมีสันติภาพและสันติสุข และสหประชาชาติได้ให้ความสำคัญกับปรัชญาหรือหลักการของเศรษฐกิจพอเพียงว่าเป็นหลักการที่จะเป็นแนวทางของโลกในอนาคต ฉะนั้น สิ่งต่างๆที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงทำมาและเสนอแนะต่อประชาชนชาวไทย จึงน่าจะถือว่ามีคุณค่ามหาศาล ไม่ใช่เฉพาะต่อสังคมไทยแต่รวมถึงต่อสังคมโลกด้วย

ภารกิจของมหาวิทยาลัยกับแนวทางการพัฒนา

คราวนี้มาดูว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถ้าจะคิดทำอะไรที่อาศัยแรงบันดาลใจจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในฐานะเป็นธรรมราชา อาจจะแถมด้วยแรงบันดาลใจจากพระเดชพระคุณท่านพุทธทาสที่มีชาติกาลครบ 100 ปีประกอบเข้ามาด้วย เพราะทั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระพุทธทาสมีทั้งวัตรปฏิบัติและข้อคิดแนวทางที่สอดรับผสมกลมกลืนกันอย่างดียิ่ง

คำถามที่มหาวิทยาลัยคงต้องถามตัวเองที่เกี่ยวพันกับการประกอบภารกิจของมหาวิทยาลัย ซึ่งโดยทั่วไปถือว่าประกอบด้วย 1) การผลิตบัณฑิต  2) การวิจัย 3) การบริการสังคม และ 4) การทำนุบำรุงศิลปะวัฒนธรรม

อันที่จริงข้อ 4 ผมเห็นว่าน่าจะรวมอยู่ในข้อ 3 เพราะดูทั่วๆไป จริงๆ แล้วสำหรับมหาวิทยาลัยทั้งหลาย ข้อ 4 จะเป็นข้อปลีกย่อย หรือเป็นข้อท้ายๆ แต่ถ้ารวมอยู่ในข้อ 3 ดูจะมีความหมายดีขึ้นในความเห็นของผม เพราะศิลปะวัฒนธรรมเป็นส่วนสำคัญของสังคม ถ้าไปคิดแยกออกมา อาจจะทำให้กลายเป็นเรื่องปลีกย่อยไปโดยไม่จำเป็น แต่ถ้ารวมอยู่ในเรื่องการบริการสังคม ไม่ใช่เฉพาะบริการวิชาการ บริการสังคมคือทำประโยชน์ให้แก่สังคม ก็น่าจะรวมถึงเรื่องศิลปะวัฒนธรรม โดยเฉพาะวัฒนธรรมในความหมายที่แท้จริง คือ วิถีชีวิต ไม่ใช่เรื่องของศิลปะ เช่น การร้องรำทำเพลง ดนตรีอย่างเดียว แต่รวมถึงการมีวิถีชีวิตอันดีงามร่วมกันของคนในสังคม

“ความเก่ง” กับ “ความดี” อะไรมาก่อน

เมื่อคำนึงถึงภารกิจของมหาวิทยาลัยดังที่กล่าวมา คำถามที่มักจะต้องถามกันและเป็นคำถามที่เกิดขึ้นในภาวะที่บ้านเมืองเรากำลังมีปัญหาวุ่นวาย บางคนก็ว่าถึงวิกฤต คือ ปัญหาเรื่อง “ความเก่ง” กับ “ความดี” มหาวิทยาลัยต้องตอบคำถามนี้อยู่เนืองๆ ว่า เราจะผลิตนักศึกษาที่เก่งหรือดี หรือทั้งสองอย่าง และถ้าทั้งสองอย่าง อะไรมาก่อน อะไรมาหลัง

เมื่อเร็วๆนี้ คุณจรัล ภักดีธนากุล ได้ไปอภิปรายเรื่องการปฏิรูปการเมือง ข้อความตอนหนึ่งคุณจรัลได้พูดถึงเรื่องคนเก่งกับคนดีไว้อย่างน่าฟัง คุณจรัลบอกว่า “ถ้าคนเก่งอย่างเดียวจะเป็นมหาโจรได้ ถ้าคนดีอย่างเดียวก็ตกเป็นเหยื่อมหาโจรได้” ฉะนั้นต้องการทั้งเก่งทั้งดี แต่คุณจรัลไม่ได้ลำดับว่าอะไรก่อน อะไรหลัง

ผมเองอยากจะลำดับ ผมคิดเรื่องพวกนี้มานานพอสมควร เนื่องจากว่าอยู่ในแวดวงการศึกษาบ้าง ไม่ถึงกับข้างใน แต่อยู่รอบๆ ผมมีโอกาสเข้าร่วมกับอาจารย์สิปปนนท์ เกตุทัต เมื่อ 10 กว่าปีมาแล้วในการขบคิดเรื่องการปฏิรูปการศึกษา ตอนนั้นเป็นโครงการภายใต้การสนับสนุนของธนาคารกสิกรไทย ก่อนที่จะมีพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ และอาจารย์ ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ เป็นผู้หนึ่งที่ได้เข้าไปร่วมและเป็นคนที่เขียนหนังสือออกมา ชื่อ “ความฝันของแผ่นดิน” ท่านอาจจะเคยอ่านหรือจำได้

ผมเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยอยู่บางแห่ง เคยเป็นอยู่ 5 แห่งพร้อมกัน รู้สึกมากไปเลยลาออกเสียบ้าง ลาออกจากธรรมศาสตร์ด้วย ทั้งๆ ที่คนส่วนใหญ่อยากจะอยู่ที่ธรรมศาสตร์ ผมก็คิดเรื่องพวกนี้อยู่ หลังๆ ผมไปได้รับอิทธิพลเพิ่มเติมจากประสบการณ์การไปศึกษาดูงาน ไปเยี่ยมเยียนที่อื่น เช่น ไปที่เวียดนามเมื่อเร็วๆนี้ เวียดนามได้ชื่อว่ามีความพยายามพัฒนาการศึกษาได้ดี  เรียกว่าพยายามพัฒนา เขาอาจจะยังไม่เป็นการศึกษาที่ดีที่สุดแต่เขาพยายามพัฒนา และมีคนไปศึกษาวิจัยเรื่องการศึกษาของเวียดนาม ค่อนข้างจะออกมาในทางที่ชื่นชมความพยายามของเขา  ผมไปเยี่ยมชมโรงเรียนประถม และไปเยี่ยมมหาวิทยาลัยด้วย

การจัดการศึกษาที่ประเทศเวียดนาม

สิ่งหนึ่งที่เขาพูดซึ่งผมก็ฟังหูไว้หู เขาบอกว่า เขาให้ความสำคัญคุณธรรมจริยธรรมมาก่อน เขาจะสอนเด็กให้เป็นคนดี ยกตัวอย่างเช่น ที่เวียดนามตอนกลาง ข้อนี้เอามาจากงานวิจัยของ ดร. นิติภูมิ นวรัตน์ ที่บอกว่าเขาจะตั้งคำถามเป็นโจทย์ให้เด็กทำการบ้านทุกวัน 5 ข้อ คือ

1) วันนี้หนูได้ทำความดีอะไรบ้าง

2) วันที่ผ่านมา หนูได้ช่วยพ่อแม่ทำอะไรบ้าง

3) ในชุมชนของหนูมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

4) ให้เล่าเหตุการณ์หนึ่งเหตุการณ์ในประเทศเวียดนาม  และ

5) ให้เล่าเหตุการณ์หนึ่งเหตุการณ์ในโลก

จะเห็นว่าเขาเริ่มจากการทำความดี ทำความดีในตัวเอง ทำความดีให้คนอื่น ให้พ่อแม่ และมีความรอบรู้เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ไปดูโรงเรียนประถมที่ฮานอย จะเห็นว่าในห้องเรียนมีป้าย 2 ป้าย ซ้ายกับขวา ด้านหนึ่งจะมีปณิธานหรือคำขวัญ 5 ข้อของโฮจิมินห์ คือ

1) รักชาติ รักประชาชน

2) เรียนดี ทำงานดี

3) สามัคคี มีวินัย

4) รักษาอนามัยดี ข้อนี้น่าสนใจ คำนึงถึงเรื่องสุขภาพอนามัย แต่ที่จริงสุขภาพอนามัยคนเวียดนามยังไม่ดีเท่าคนไทย แต่ต้องเห็นใจ เขาผ่านภาวะสงครามมาไม่รู้เท่าไร ขณะนี้สุขภาพอนามัยยังไม่ดีแต่เขาให้ความสำคัญ  แต่ทั้งๆ ที่สุขภาพไม่ดี เขาก็รบชนะมหาอำนาจถึง 2 รอบ ด้วยความบึกบึนในจิตใจ และ

5) ถ่อมตน ซื่อสัตย์ กล้าหาญ

ข้อ 1 เขาถือว่าสำคัญมาก ตรงกับที่ธรรมศาสตร์ เคยมีอุดมการณ์ที่ว่าฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน ขออนุญาตพูดถึงธรรมศาสตร์ เพราะถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยมิตรภาพเก่าแก่กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อีกป้ายหนึ่ง เป็นคำพูดของโฮจิมินห์ว่า “ประเทศเวียดนามจะสวยงาม มีสถานะที่เทียบได้กับทวีป 5 ทวีปของโลก ขึ้นอยู่กับการเรียนของลูกหลาน” คณะที่ไปดูงานร่วมกับผมมีครูบาอาจารย์ไปด้วย เขาบอกว่าเขายอมรับว่าที่เวียดนามการศึกษาแข็งดี เทียบชั้นเดียวกันกับเมืองไทย ของเขาสอนมากกว่า นักเรียนทำได้ดีกว่า ถ้าเราถือเอารางวัลโอลิมปิกเป็นเกณฑ์ เวียดนามได้รางวัลโอลิมปิกหลายรางวัล โดยเฉพาะทางคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เหนือกว่าประเทศไทย

คณะเราที่ไปสนใจเรื่องคุณธรรมจริยธรรมด้วย ก็มีคนมาบอกว่าเวียดนามมีคอรัปชันเยอะ คนไม่ค่อยซื่อสัตย์ อาจจะจริง แต่ต้องไม่ลืมว่าเวียดนามผ่านภาวะสงครามมานาน และมีเวียดนามเหนือ เวียดนามใต้ คนเวียดนามตั้ง 80 ล้านคน แล้วแต่เราไปเจอใคร ทำให้ผมนึกถึงอีกประเทศหนึ่งที่จะเอามาเทียบเคียง คือประเทศไต้หวัน  

การพัฒนาคุณธรรมที่ประเทศไต้หวัน

ไต้หวัน ถ้าพูดขึ้น พวกเราจะนึกถึงการตีกันในสภา คนที่ทำธุรกิจจะนึกถึงนักธุรกิจไต้หวันที่เอาเปรียบแรงงาน แม้กระทั่งในไต้หวันเองก็เอาเปรียบแรงงานถึงขั้นที่แรงงานไทยประท้วง แต่ท่านทราบไหมว่าไต้หวันในรอบ 10 กว่าปีที่ผ่านมามีการฟื้นฟูพุทธศาสนาครั้งสำคัญ หลังจากที่รัฐบาลได้ผ่อนคลายเรื่องการควบคุมต่างๆ ไต้หวันตกอยู่ภายใต้ความกดดันเยอะ คล้ายๆเวียดนาม มีภัยธรรมชาติมาก มีพายุ แผ่นดินไหว น้ำท่วม เพียงแต่ไม่มีภูเขาไฟเท่านั้น และที่สำคัญมีภัยทางการเมือง เขาต้องพยายามช่วยตัวเอง แต่ในรอบ 10 กว่าปีที่ผ่านมา ด้วยการผ่อนคลายทางด้านการควบคุมเกี่ยวกับลัทธิความเชื่อต่างๆ ทำให้เกิดชาวพุทธเชิงปฏิบัติขึ้นมากมาย ข้อมูลหนึ่งบอกว่าจากเดิมนับแสนคนมาเป็นหลายล้านคน ที่เป็นชาวพุทธเชิงปฏิบัติ ไม่ใช่ชาวพุทธแบบผิวเผิน อย่างคนไทยจำนวนมากบอกเป็นชาวพุทธ แต่อาจเป็นชา

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/43854

<<< กลับ

ข้อเสนอแนวคิดและแนวทางการจัดการศึกษาในมหาวิทยาลัย (ต่อ)

ข้อเสนอแนวคิดและแนวทางการจัดการศึกษาในมหาวิทยาลัย (ต่อ)


มหาวิทยาลัยที่เน้นการสร้างคนดี

เขามีมหาวิทยาลัย 1 แห่ง และใน 1 แห่งนี้มีคณะแพทย์ซึ่งมีชื่อเสียงมาก  มีคณะจากประเทศไทยไปดูงาน ที่ศูนย์คุณธรรมจัด 3 รุ่น รุ่นสุดท้ายเขาจัดกันเอง คุณหมอประเวศ วะสี นำคณะไป มีคณบดีคณะแพทยศาสตร์จากมหาวิทยาลัยมหิดล 2 คณะ คือศิริราชกับรามาฯ และจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีอธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต และมีคนอื่นๆ อีก ได้รับความประทับใจในเรื่องการเรียนการสอน ที่มหาวิทยาลัยฉือจี้ เขาเน้นเรื่องคุณธรรมอย่างยิ่ง คุณธรรมคือการทำความดี คุณธรรมของเขาเป็นคุณธรรมที่ใครๆ ก็ทำได้ เด็กเล็กเก็บขยะ มาแยกขยะ ก็ทำความดี คนแก่หลังโกงเก็บขยะมา เข็นรถขยะไปโดยไม่เอาอะไรเข้าตัวเอง นำไปขายอาจจะได้วันละ 200-300 บาทก็นำรายได้เข้ากองกลาง แล้วเขาเก็บประณีตมาก ถือเป็นการปฏิบัติธรรมตลอด เหมือนกับที่ท่านพุทธทาสว่าธรรมะคือการทำหน้าที่ การทำหน้าที่และการทำการงานคือการปฏิบัติธรรม เหมือนกันเลย รายได้จากการเก็บขยะเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสถานีโทรทัศน์ ได้ 1 /4 อีก 3/4 มาจากการบริจาค อาจจะขึ้นชื่อผู้บริจาคเป็นตัววิ่ง แต่ไม่มีโฆษณาสินค้า เป็นสถานีที่นำเสนอแต่เรื่องดีๆ เรื่องความดี เรื่องคุณธรรม และนำเสนออย่างมีศิลปะจนคนนิยมดู ที่เรียกว่าความดีขายได้ถ้าทำได้ดี คำนี้ผมฟังมาจากนักสื่อมวลชนไทย ที่ฉือจี้ เขาทำ เขาเอาเรื่องคนเล็กคนน้อย ใครต่อใครที่ทำดีมาเล่า แต่เล่าอย่างมีศิลปะ ทำให้เรื่องความดีขายได้

ทีนี้ในมหาวิทยาลัยโดยเฉพาะคณะแพทย์ เขาสอนแพทย์ให้มีจิตใจละเอียดอ่อน เช่น ในหลักสูตรจะมีวิชาการชงน้ำชา เป็นศิลปะที่ละเอียดอ่อน ต้องนึกถึงว่าชามาจากไหน ใครเป็นคนปลูก ใครเป็นคนทำ มีความเคารพ มีความกตัญญูต่อคนที่ปลูกชา แล้วเวลาจะเอาน้ำชาให้คนอื่นต้องให้ด้วยความเคารพ ให้ด้วยความนอบน้อม มีวิชาศิลปะการเขียนพู่กันจีน ศิลปะการจัดดอกไม้ ที่จริงหลักสูตรหรือวิชาเช่นนี้เขาทำมาตั้งแต่ในระดับโรงเรียน สอนกันมาอย่างนี้ พอถึงมหาวิทยาลัย เขาก็สอนอย่างนี้ต่อ แล้วปรากฏว่าคนที่มาเข้าเรียนที่คณะแพทย์ของเขา ตอนมาเข้าเป็นคนที่ได้คะแนนธรรมดา อาจจะต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยด้วยซ้ำไป แต่พอเรียนจบ คะแนนอยู่ในเกณฑ์ดีมาก โดยที่เขาเน้นเรื่องคุณธรรมเป็นพื้นฐาน รวมถึงความเป็นแพทย์ที่เขาเรียกว่า Humane doctor เป็นแพทย์ที่มีความเป็นมนุษย์ในหัวใจ ซึ่งสอดคล้องกับอุดมการณ์ในการผลิตแพทย์ของประเทศไทยที่สมเด็จพระราชบิดาได้ตั้งต้นไว้ว่าแพทย์ต้องเป็นมนุษย์ที่ดี มนุษย์แปลว่าคนที่มีจิตใจสูง ซึ่งที่ไต้หวัน เขาทำได้จริงและทำเป็นรูปธรรม ที่โรงพยาบาลจะมีการบริการที่แพทย์เอาใจใส่คนไข้อย่างดีมาก ให้ความเคารพนับถือ อ่อนน้อมถ่อมตน และมีอาสาสมัครมาช่วยทำความสะอาด ช่วยเล่นดนตรี ช่วยดูแลคนไข้โดยไม่มีค่าตอบแทน นี่คือการทำความดี

                  จากที่ผมเล่าให้ฟังทั้งเรื่องเวียดนามและไต้หวัน ทำให้มั่นใจว่าการศึกษาของเราต้องเน้นความดีมาก่อน ความดี ความมีคุณธรรมต้องมาก่อน และพิสูจน์แล้วที่ไต้หวัน ที่เวียดนามผมไม่แน่ใจ แต่ที่ไต้หวันแน่ใจ

ความดีจะนำไปสู่ความเก่ง แม้ไม่ตั้งใจ เพราะอย่างที่ท่านพุทธทาสว่า ความดีคือการทำตามธรรมะ ทำตามหน้าที่ที่ดีสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ถ้าทำความดี ความดีจะช่วยให้มีความรับผิดชอบ มีความอดทน มีความขยัน มุ่งทำประโยชน์ให้คนอื่น มุ่งทำประโยชน์ให้ส่วนรวม ถ้าจะทำประโยชน์ให้คนอื่นและส่วนรวมก็ต้องมีความสามารถ ไม่อย่างนั้นจะทำได้อย่างไร แต่ความสามารถมีเท่าไรก็ทำเท่านั้น ไม่ได้แปลว่าต้องรอให้เก่งกาจมาก ทุกคนทำประโยชน์ให้คนอื่นได้ คนแก่อายุ 80 ก็ยังทำประโยชน์ให้คนอื่นได้ ช่วยเก็บขยะ ทำประโยชน์ให้ส่วนรวม ช่วยดูแลคนที่มารักษาพยาบาล ไม่ต้องใช้ความรู้ความสามารถมาก แต่ต้องมีใจ  ฉะนั้นผมว่าความดีจะเป็นต้นทาง และเป็นแหล่งที่จะไปสร้างความสามารถ

แนวทางการสร้างคนที่พึงปรารถนา

ในความเห็นของผม คนที่พึงปรารถนาน่าจะประกอบด้วย 3 ส่วน คือ

ส่วนแรก การมุ่งมั่นทำความดีกับตนเอง หรือทำความดีให้ตนเอง  คำว่าทำความดีให้ตนเอง คือ พัฒนาตนเอง มุ่งมั่นพัฒนาตนเอง พัฒนาทั้งจิตใจ ร่างกาย คุณธรรม ความสามารถ และอื่นๆ

ส่วนที่ 2 การมุ่งมั่นทำประโยชน์ให้คนอื่น รวมทั้งเห็นคุณค่าคนอื่น ให้ความเคารพคนอื่น การทำประโยชน์ที่ง่ายที่สุดคือเคารพคนอื่น เห็นคุณค่าและความสำคัญของคนอื่น ก็ทำประโยชน์ได้แล้ว

ส่วนที่ 3 การมุ่งมั่นทำประโยชน์ให้ส่วนรวม ที่ไม่ได้จำกัดแค่กลุ่มคนหรือบุคคล ถ้าทำประโยชน์ให้คนอื่น เราอาจจะนึกถึงพ่อแม่พี่น้อง เพื่อนฝูง แต่ทำประโยชน์ให้คนอื่นตามนัยยะของธรรมะ ไม่ว่าจะเป็นที่ไต้หวันหรือที่ประเทศไทย คือให้คนอื่นที่ไม่จำกัดว่าเป็นชนชาติใด นับถือศาสนาอะไร รู้จัก ไม่รู้จัก ก็ทำประโยชน์ให้ทั้งนั้น ส่วนคำว่าทำประโยชน์ให้ส่วนรวม จะมุ่งไปที่การอยู่ร่วมกัน ให้คนได้อยู่ร่วมกันอย่าง “สันติเจริญสุข” คือทั้งสันติ ทั้งเจริญ และทั้งสุข ร่วมกัน

สรุปอีกทีหนึ่ง คนที่พึงปรารถนาน่าจะประกอบด้วย 3 ส่วน คือ 1) มุ่งมั่นทำความดีให้ตนเองหรือพัฒนาตนเอง 2) มุ่งมั่นทำประโยชน์ให้คนอื่น และ 3) มุ่งมั่นทำประโยชน์ให้ส่วนรวม

ทีนี้ การจะเป็นคนที่พึงปรารถนาได้ น่าจะต้องทำดังต่อไปนี้ คือ

1) ทำความดี ผมใช้คำว่าทำความดี ไม่ใช่เป็นคนดี ทำความดีสำคัญกว่าเป็นคนดี เพราะทำความดีนี้ทำได้ทุกวัน  ทำได้แค่ไหนก็ทำแค่นั้น แต่ถ้าเป็นคนดี บางทีคิดลำบาก เราเป็นคนดีหรือเปล่า คนดีต้องรวมหมดทุกอย่าง คนเราอาจจะมีจุดอ่อน อาจจะทำไม่ดีบ้าง ไม่เป็นไร ตราบใดที่เราคิดทำความดีอยู่เรื่อย ส่วนดีจะมากขึ้นๆ  ส่วนไม่ดีจะน้อยลงๆ

2) สร้างความสุข สุขคือสุขภาวะ ความเป็นสุขหรือความอยู่เย็นเป็นสุข ทั้งทางกาย ทางใจ ทางสังคมและทางปัญญาหรือทางจิตวิญญาณ นี่คือความหมายของคำว่าสุขภาพหรือสุขภาวะที่เป็นสากล คือ หนึ่ง สุขภาพทางกายคือร่างกายอนามัยดี สอง สุขภาพทางใจ จิตใจปลอดโปร่ง สบาย อารมณ์ดี สาม สุขภาพทางสังคม คือ อยู่ร่วมกับคนอื่นได้ดี และสี่ สุขภาพทางจิตวิญญาณ คือลึกเข้าไปในจิตสำนึก

3) พัฒนาความสามารถ เมื่อทำความดี สร้างความสุข แล้วก็พัฒนาความสามารถ เพื่อจะได้ไปทำประโยชน์ให้คนอื่นได้ ให้ส่วนรวมได้

                เพราะฉะนั้น ผมจึงคิดว่าในการผลิตนักศึกษาของมหาวิทยาลัย น่าจะเรียงลำดับดังนี้

1. ทำความดี ที่จริงไม่จำเป็นต้องรอจนเป็นบัณฑิต คือในระหว่างที่เป็นนักศึกษาให้เน้นทำความดี

2. สร้างความสุข คือ ความสุขนี้ต้องสร้าง ไม่ใช่รอให้มีความสุข รอให้คนอื่นมาทำความสุขให้ สร้างความสุขหมายถึงดูแลร่างกายให้ดีและดูแลจิตใจให้ดี อยู่ร่วมกับคนอื่นดี สุดท้ายคือพัฒนาทางจิตสำนึกหรือจิตวิญญาณ

3. พัฒนาความสามารถ

ถ้านักศึกษาพยายามสร้าง 3 อย่างอยู่ตลอดเวลา คือ 1) ทำความดี 2) สร้างความสุข 3) พัฒนาความสามารถ ผมคิดว่าน่าจะเป็นจุดมุ่งหมายหรือวัตถุประสงค์ของการจัดการศึกษา

แนวทางการพัฒนาของมหาวิทยาลัย

มาถึงประเด็นที่ว่า ถ้าจุดมุ่งหมายเป็นอย่างนั้น ในฐานะเป็นมหาวิทยาลัยน่าจะทำอย่างไรที่เป็นองค์รวม ที่บูรณาการ  การที่จะได้บัณฑิตที่ทำความดี สร้างความสุข พัฒนาความสามารถ สู่การเป็นมนุษย์หรือเป็นคนที่พึงปรารถนา คือคนที่มุ่งมั่นพัฒนาความสามารถตนเอง มุ่งมั่นทำความดีให้คนอื่นหรือทำประโยชน์ให้คนอื่น และมุ่งมั่นทำประโยชน์ให้ส่วนรวม ผมคิดว่ามหาวิทยาลัยคงจะต้องคิดเชิงบูรณาการ ซึ่งมากกว่าที่จะเน้นการผลิตนักศึกษาอย่างเดียว การบูรณาการที่ว่านั้นน่าจะประกอบด้วยอย่างน้อย 5 ประการ

ประการที่ 1       คงจะต้องเริ่มที่นโยบายของมหาวิทยาลัย เพราะนโยบายคือแนวทาง ทิศทางใหญ่ที่จะกำกับการบริหารกิจการของมหาวิทยาลัย นโยบายน่าจะรวมถึงการมีวิสัยทัศน์ มีปรัชญา ที่ลึกเข้าไปถึงขั้นเป็นจิตวิญญาณและเป็นวัฒนธรรม ซึ่งจิตวิญญาณและวัฒนธรรมคงสร้างทันทีไม่ได้ แต่ค่อยๆสร้างได้ ถ้ามีนโยบายชัดเจนว่ามีวิสัยทัศน์ มีปรัชญาอย่างไร จะนำไปสู่การสร้างจิตวิญญาณและวัฒนธรรม

ประการที่ 2       เรื่องสภาพแวดล้อม ไปดูที่ไต้หวัน การจัดสภาพแวดล้อม ไม่ว่าอาคารสถานที่ มีภาพดีๆ มีประติมากรรมดีๆ เช่น รูปปั้นคนเก็บขยะ ให้เห็นคุณค่าของการเก็บขยะ รูปปั้นแสดงแพทย์ดูแลคนไข้อย่างไร อาสาสมัครมาช่วยอย่างไร อย่างนี้เป็นต้น แม้กระทั่งทางเดินก็เอาใจใส่ ดูแลสภาพแวดล้อมดินให้มีโอกาสหายใจ ไม่ไปเทคอนกรีตเต็มไปหมด สภาพแวดล้อมเช่นนี้สำคัญและจะช่วยเป็นเครื่องสอนใจ หรือสร้างแรงบันดาลใจ นอกเหนือจากที่เป็นความเรียบร้อยสวยงาม

ประการที่ 3       คุณภาพและบทบาทของบุคลากร รวมทั้งผู้บริหาร อาจารย์ เจ้าหน้าที่ ต้องไปด้วยกัน จะผลิตบัณฑิตที่ดีโดยที่ผู้บริหาร อาจารย์ ไม่ได้เป็นตัวอย่างที่ดี หรือสร้างบรรยากาศที่ดีนั้น ย่อมได้ผลน้อย ฉะนั้นจริงๆ แล้ว เรื่องการสร้างความดีในมหาวิทยาลัยต้องรวมถึงความดีของผู้บริหาร ของอาจารย์ ของเจ้าหน้าที่ ซึ่งจะเป็นแม่แบบ เป็นตัวอย่างที่เห็นกันทุกนาทีให้แก่นักศึกษา ฉะนั้นคุณภาพและบทบาทของผู้บริหาร อาจารย์ เจ้าหน้าที่ จึงสำคัญ

                        ประการที่ 4       ตัวนักศึกษา ซึ่งจะต้องมีวิธีการในการจัดการเรียนการสอนที่เอื้ออำนวยต่อการทำความดีของนักศึกษา เอื้ออำนวยต่อการที่นักศึกษาจะรู้จักสร้างความสุขที่แท้จริงและมีคุณค่า เอื้ออำนวยต่อการที่นักศึกษาจะพัฒนาความสามารถ และเอื้ออำนวยต่อการที่นักศึกษาจะพยายามเป็นคนที่สมบูรณ์ด้วยการพัฒนาตนเอง ช่วยคนอื่น ช่วยส่วนรวม  และคำว่า “นักศึกษา” นี้จะต้องรวมไปถึงครอบครัวนักศึกษา และผู้ปกครองด้วย ที่เวียดนามเขาเล่าให้ฟังว่า ระหว่างโรงเรียนกับผู้ปกครองสัมพันธ์กันมาก ครูจะรู้จักผู้ปกครองและติดต่อสื่อสารกันเป็นประจำ ชุมชนเขาจะมีคณะกรรมการที่เป็นตัวแทนมาสัมพันธ์กับโรงเรียน ดูแลช่วยเหลือทั้งโรงเรียนและครู ฉะนั้นผู้ปกครองก็สำคัญ

ประการที่ 5       ใช้แนวทางที่อาจจะสรุปได้ว่าเป็นการสร้างเครือข่ายและจัดการความรู้ทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย เครือข่ายของอาจารย์ เครือข่ายของนักศึกษา เครือข่ายใหญ่ เครือข่ายเล็ก เครือข่ายของเครือข่าย คือกลุ่มกิจกรรมต่างๆ จะแยกไปตามคณะ ตามภาควิชา หรือตามความสนใจ และมีกิจกรรมที่ดี มีการจัดการความรู้ คือแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันระหว่างกลุ่ม ระหว่างคณะ ทั้งในหมู่อาจารย์และนักศึกษา และสามารถจะคละกันได้หมดทั้งอาจารย์  นักศึกษา ผู้ปกครอง  การที่มีเครือข่าย มีการจัดการความรู้อยู่เนืองๆ และต่อเนื่อง จะช่วยทำให้สิ่งที่เป็นความดีความงามถูกค้นหา และปรากฏ เป็นการมาเปรียบเทียบแลกเปลี่ยน เก็บเป็นองค์ความรู้ ผสมผสาน ยกระดับให้เป็นความรู้ที่มีความหมายยิ่งขึ้น เอาไปประยุกต์ใช้ เอามาปรับปรุงหรือพัฒนาใหม่ อาจจะมีการศึกษาวิจัยตามมาเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ฉะนั้น เรื่องความดี ความสามารถต่างๆ จะเป็นประเด็นที่เอามาพูดจากัน ค้นหา แลกเปลี่ยนและพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง

                        ผมคิดว่าทั้งหมดนี้น่าจะเป็นแนวทางที่มหาวิทยาลัยจะในหรือนอกระบบก็ตาม หรือจะเป็นสถาบันการศึกษาแบบอื่นที่ไม่ใช่มหาวิทยาลัยก็ตาม น่าจะนำไปปฏิบัติได้ เพื่อจะให้สอดคล้องกับแนวทางที่เน้นความดี ขณะเดียวกันก็ให้มีความสุขและมีความสามารถ และทั้งหมดนี้เป็นไปเพื่อประโยชน์ที่ชอบธรรมต่อตนเอง พร้อมทั้งเพื่อประโยชน์อันมีคุณค่าต่อผู้อื่น ประโยชน์อันมีคุณค่าต่อส่วนรวม และกว้างที่สุดคือประโยชน์อันมีคุณค่าต่อมวลมนุษย์

“เราจะใช้ชีวิตโดยธรรม เพื่อความสันติเจริญสุขร่วมกันของมวลมนุษย์”

ถ้าจะขอพระบรมราชานุญาตนำเอาพระราชปณิธาน “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” มาประยุกต์ เป็นคำพูดที่เป็นปณิธานแห่งความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ปณิธานนี้น่าจะมีถ้อยคำทำนองนี้คือ

                        “เราจะใช้ชีวิตโดยธรรม เพื่อความสันติเจริญสุขร่วมกันของมวลมนุษย์”

                          “เราจะใช้ชีวิตโดยธรรม” โดยธรรมก็อย่างที่อธิบายแล้วว่าธรรมะคืออะไร “เพื่อความสันติเจริญสุข” คือเพื่อสันติภาพ ความเจริญ และความสุขร่วมกัน ขอเน้นคำว่า “ร่วมกันของมวลมนุษย์” ซึ่งถ้าเผื่อว่าจะพัฒนาก้าวหน้ากว่านี้ในอนาคตอันไกล อาจจะหมายความรวมถึงสรรพสิ่งในจักรวาลด้วย  นั่นแปลว่าจิตวิญญาณเราก้าวไปไกลมาก ถึงขั้นที่มองสรรพสิ่งในจักรวาลเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย ซึ่งถึงตอนนั้นคงเป็นในขั้นที่เราเรียกกันว่ายุคพระศรีอาริย์ แม้ว่าจะไปถึงหรือไม่ถึง แต่ถ้าเรามุ่งไปสู่ทิศนั้น คือ “เราจะใช้ชีวิตโดยธรรม เพื่อความสันติเจริญสุขร่วมกันของมวลมนุษย์” ผมคิดว่าน่าจะเป็นปณิธานที่ดี ที่อาศัยพระบรมราชปณิธาน “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” มาเป็นหลักให้ประยุกต์ใช้ ก็จะถือว่าเป็นการอาศัยคุณูปการจากความเป็นธรรมราชาและมหาราชาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา   คิดอย่างไรกับ

“ธรรมัตตาธิปไตย”

(ตอบคำถามครั้งที่ 1) ขอแลกเปลี่ยนความเห็น คงไม่มีอะไรผิด อะไรถูก ที่อาจารย์ใช้คำว่า “ธรรมัตตาธิปไตย” ก็เหมาะสม มีคนบอกว่าคนที่ยึดถือตัวตนมากที่สุดกลุ่มหนึ่งคือคนซึ่งอ้างว่าเป็นคนมีคุณธรรม มีศีล เลยคิดว่าถ้าศีลแบบอื่นไม่ถูก ต้องศีลแบบเรา หรือคุณธรรมแบบอื่นไม่ถูก ต้องคุณธรรมแบบเรา ก็เป็นความจริง แสดงว่าการเข้าถึงธรรมะยังไม่ถึงขั้น ถ้าตีความตามนัยยะที่ท่านพุทธทาสก็ดี ท่านประยุทธ์ ปยุตฺโตก็ดี พูดถึง

ผมคิดง่ายๆ จากแนวทางที่ผมเสนอและอาจารย์จุมพลได้กรุณาพูดซ้ำ คือ ถ้าเรามาเน้นเรื่องทำความดี จะคลายตัวไปได้ ทำความดีหมายถึงการทำประโยชน์ให้คนอื่น ทำประโยชน์ให้ส่วนรวม และพัฒนาตนเอง ถ้าเรามาเน้นตรงนี้ ก็ไม่ต้องไปพูดว่าเราดีกว่าใครหรือไม่ดีกว่าใคร มุ่งทำความดีไปเรื่อยๆ ทำประโยชน์ให้คนอื่น ทำประโยชน์ให้ส่วนรวม ถ้าเกี่ยวกับตนเองก็พัฒนาตนเอง การพัฒนาตนเองที่ผมกล่าวไปแล้วก็กลับมาเรื่องทำความดี และสร้างความสามารถ สร้างสุขภาวะ ทำให้ร่างกายจิตใจเข้มแข็งไปด้วย เราเน้นให้นักศึกษาทำอย่างนี้ และอาจารย์ด้วยทำอย่างนี้ ทำความดี แม้เป็นความดีเล็กๆก็ถือว่าดี

ที่ศูนย์คุณธรรม ปีที่แล้วเรารณรงค์ว่า “ทำดีได้ไม่ต้องเดี๋ยว” ก็ตรงกับขบวนการฉือจี้ที่ไต้หวัน เขาเริ่มต้นจากคน 20 กว่าคน เริ่มด้วยการบอกว่า ทำเลย ทำความดีเลย ไปช่วยคนอื่นเลย เห็นคนเขาเดือดร้อนไปช่วยเขาเลย และช่วยแบบเอาตัวเองไปช่วย ภิกษุณีที่เป็นผู้นำของฉือจี้เริ่มต้นด้วยการถือหลักว่าไม่รับบิณฑบาต ไม่รับความช่วยเหลือจากคนอื่น ถ้าคนอื่นจะช่วยเหลือ ก็เอาสิ่งที่คนอื่นช่วยเหลือไปช่วยคนอื่นต่อ ทั้งหมด 100 % ฉะนั้นการกินอยู่ต้องเลี้ยงตัวเอง มีคติว่า “ไม่ทำ ไม่กิน” ถ้าไม่ทำงานไม่กิน ฉะนั้น เขาก็ปั้นเทียนไขขาย ปลูกพืชต่างๆ ไว้กินเอง และกินอยู่เรียบง่ายมาก จึงสร้างศรัทธาได้มาก เพราะทำความดีอยู่เรื่อย เขาชวนสมาชิก 20 กว่าคนซึ่งเป็นแม่บ้าน ออมเงินวันละ 25 เซ็นต์ หรือประมาณวันละบาท เก็บใส่กระบอกไม้ไผ่เอาไว้คอยช่วยคนอื่น เล็กๆ น้อยๆ

ฉะนั้น ถ้าเราเน้นเรื่องทำความดี ผมคิดว่าความดีเป็นความหมายสากลได้ ไม่ต้องเป็นธรรมะศาสนาใดศาสนาหนึ่ง เป็นความดีในวิถีชีวิต ทุกคนทำได้ และทำได้เลย ทำไปเรื่อยๆ ทำให้คนอื่นได้ประโยชน์ ให้ส่วนรวมได้ประโยชน์ ความติดตัวตนจะลดลง ถ้าได้มาปฏิบัติธรรมตามแนวทางพุทธธรรม จะทำให้การติดตัวตนคลายออกมากขึ้น จนกระทั่งเราไม่มีคำว่าธรรมัตตาธิปไตย จะหายไปเอง แต่ถ้าเรานึกว่าเราเป็นคนดี เราเริ่มติดตัวตนแล้ว และอาจคิดว่าคนอื่นไม่ดี หรือไม่ดีเท่าเรา

บทบาทของใคร และควรเริ่มต้นอย่างไร

                (ตอบคำถามครั้งที่ 2) พูดเรื่องอธิการบดี ผมกำลังได้รับมอบหมายให้เป็นประธานคณะกรรมการสรรหาอธิการบดีอยู่แห่งหนึ่ง มีใครแถวนี้น่าสนใจช่วยบอกผมด้วย ต้องไปอยู่ต่างจังหวัด

ผมคิดว่าที่ท่านอาจารย์ทั้งหลายให้ความคิดเห็น รวมทั้งตั้งคำถาม เป็นเรื่องที่น่าสนใจและมีคุณค่ามาก ที่จริงวันนี้คนที่สำคัญคือพวกท่าน มากกว่าเราสองคน เพราะอาจารย์โคทมแม้เป็นอดีตอาจารย์ที่นี่ เดี๋ยวนี้ก็ไม่ได้เป็นแล้ว คนที่สำคัญที่สุดคือคนที่ยังทำหน้าที่อยู่ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคนที่ยังมีกิจกรรมอยู่ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นี่คือเจ้าของเรื่องที่แท้จริง คือผู้บริหาร อาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนิสิตนักศึกษา ผมคิดว่านี่เป็นประชาคมผสมผสานที่สำคัญยิ่ง ฉะนั้นอะไรจะเกิดขึ้น จะดีไม่ดีอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับประชาคมนี้ ประชาคมนี้มีจำนวนมากมายหลากหลาย แต่ถ้าให้แคบลงมาคือท่านทั้งหลายที่นั่งอยู่ในที่นี้ เพราะพวกเรามานั่งคุยกันในเรื่องนี้ และพรุ่งนี้จะไปคุยกันต่อ ที่จริงสามารถจะนั่งสนทนากันได้อีกยาวนานและคงมีแง่มุมต่างๆ มากมาย

แต่เนื่องจากเวลาหมดแล้ว ผมขอให้ความคิดเห็นสั้นๆ ในเชิงแลกเปลี่ยนเช่นเดียวกัน ไม่ใช่ว่าเป็นเรื่องถูกหรือผิด หรือไม่ใช่ว่าสิ่งที่ผมพูดจะดีที่สุด ผมคิดว่าง่ายๆ เรื่องทั้งหลายถ้าเราคิดเชิงพัฒนา ผมก็อยู่ในกระบวนการพัฒนา พัฒนาสังคม พัฒนาต่างๆ ผมคิดว่าสิ่งที่น่าทำที่สุดคือเริ่มจากการทำความดี หรือทำสิ่งที่ดีๆ เริ่มตรงนี้ก่อนและเริ่มที่ตัวเอง เริ่มที่กลุ่มเรา เริ่มที่หน่วยงานเรา ถ้าทำความดีอะไรได้ ทำเรื่องดีๆ อะไรได้ ก็ทำเลย เมื่อทำอย่างนี้ และทุกแห่งทุกคนทำอย่างนี้ จะเปิดโอกาสให้เราทำสิ่งถัดไป ที่ขอใช้คำว่า “จัดการความรู้” รายละเอียดทั้งหลายท่านคงทราบอยู่แล้วหรือถ้าต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถศึกษาหรือลองทำกัน ผมไม่ทราบว่าที่นี่ทำเรื่องจัดการความรู้มากน้อยแค่ไหน

คำว่าจัดการความรู้ ย่อๆ คือการไปค้นหาความดี ค้นหาความสามารถ นำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน แล้วมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ เพื่อจะได้มีมาตรฐาน หรือตัวชี้วัดความสามารถที่สำคัญ เราจะได้พัฒนาความสามารถขึ้นไปอีก พัฒนาความดีขึ้นไปอีก ฉะนั้นเมื่อลงมือทำความดี ทำเรื่องดีๆ จัดการความรู้ ค้นหาสิ่งที่ดี นำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ก็จะพัฒนาทั้งความดี พัฒนาความสามารถ ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ต้องเน้นคำว่าทำไปเรื่อยๆ ทำต่อเนื่อง เรื่องการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาตนเอง พัฒนาสังคม พัฒนาชุมชน เป็นเรื่องต้องใช้เวลา แต่ไม่มีทางเลือกอื่น เราต้องทำไป คือ ทำไปเรื่อยๆ จะดีขึ้น ที่มีปัญหามากก็จะมีปัญหาน้อยลง ที่ท่านทั้งหลายพูดว่ามีอุปสรรคนานาประการ สะสมมายาวนาน จะให้หายไปในวันนี้พรุ่งนี้คงไม่ได้ ต้องค่อยๆเป็นไป ซึ่งมีข้อพิสูจน์แล้ว ว่าสามารถนำสู่ความสำเร็จได้จริง ที่จริงมีเรื่องดีๆ ในประเทศไทยมากมาย อาจารย์ท่านหนึ่งพูดถึงสันติอโศก เขาเริ่มจากคนๆเดียว แล้วทำไปใหม่ๆ ถูกวิพากษ์วิจารณ์ ต่อว่าต่อขานเยอะเลย แต่เขามุ่งมั่นทำความดีไปเรื่อย ถึงวันนี้ต้องถือว่าสันติอโศกเข้มแข็งมากและทำประโยชน์ให้คนอื่นมากมาย โดยเขาไม่เรียกร้องอะไร ทั้งนี้ใช้เวลาหลายสิบปีเหมือนกันคิดว่าประมาณ 40-50ปี

ฉือจี้ที่ไต้หวัน ภิกษุณีที่เป็นคนเริ่มต้น ตั้งปณิธานไว้ว่าจะทำ 4 อย่าง อย่างละ 10 ปี ได้แก่

1. ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์

2. รักษาพยาบาล

3. การศึกษา

4. มนุษยธรรมและวัฒนธรรม

เขาทำมา ปีนี้ครบ 40 ปีพอดี เขาทำครบทั้ง 4 อย่างภายใน 40 ปี จากเริ่มต้น 23 คน เดี๋ยวนี้มีคนหลายล้านคนทั่วโลก เป็นขบวนการที่คุณหมอประเวศบอกว่าเป็นขบวนการมนุษยธรรมที่ใหญ่ที่สุดในโลก พระที่ได้รับมอบหมายจากศูนย์คุณธรรมไปทำการวิจัย ใช้เวลา 6 เดือน แต่ใช้ชีวิตในไต้หวัน 5 ปีเป็นพระอยู่ที่นั่น ท่านบอกว่าเป็นบรรษัทข้ามชาติเชิงคุณธรรม ที่เรียกว่าบรรษัทข้ามชาติเพราะเกาะเกี่ยวโยงใยเหมือนบรรษัทข้ามชาติทางธุรกิจเลย เพียงแต่ทำเรื่องความดี เรื่องคุณธรรม แล้วใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย มีการบริหารจัดการเทียบเท่าธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งไม่น่าแปลกใจ เพราะคนที่มาช่วยบริหารจัดการเป็น CEO ของมูลนิธิขณะนี้ เป็นนักธุรกิจชาวไต้หวันแต่ไปอยู่อเมริกา เป็นเจ้าของธนาคารแห่งหนึ่งแต่เลิกทำเอง ปล่อยให้ลูกหลานทำ แล้วมาบริหารงานเต็มเวลาในฐานะอาสาสมัคร นอกจากนั้นยังมีนักธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ มากมายมาเป็นอาสาสมัครช่วยกันทำงาน ช่วยให้กิจกรรมของขบวนการฉือจี้เป็นไปด้วยดีมากๆ

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/43855

<<< กลับ

แนวนโยบายประสานพลังภาครัฐ – ภาคประชาชน ฟื้นฟูชุมชนประสบอุทกภัย

แนวนโยบายประสานพลังภาครัฐ – ภาคประชาชน ฟื้นฟูชุมชนประสบอุทกภัย


(สาระสำคัญจากการบรรยายเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การประสานพลังภาครัฐ – ภาคประชาชน ฟื้นฟูชุมชนประสบอุทกภัย” จัดโดย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วันพุธที่ 10 มกราคม 2550 ณ โรงแรมปริ๊นพาเลซ กรุงเทพมหานคร)

  1. การฟื้นฟูที่ดี คือ การฟื้นฟูเชิงพัฒนา : เตรียมพร้อม ป้องกัน สร้างความเข้มแข็ง
  2. การพัฒนาที่ดีมีหลัก 3 ประการ : พื้นที่เป็นตัวตั้ง ประชาชนมีบทบาทสำคัญ ทุกฝ่ายประสานความร่วมมือ
  3. การร่วมกันเรียนรู้และพัฒนาจากการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง จะช่วยให้การพัฒนามีคุณภาพดีขึ้นเรื่อยๆ
  4. ควรมีการประสานทุนงบประมาณจากหลายฝ่าย รวมถึงทุนงบประมาณจากประชาชนและประชาสังคม และทุนที่สำคัญมากในการพัฒนา คือ “ทุนมนุษย์” กับ “ทุนสังคม”

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

11 ม.ค. 50

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/72050

<<< กลับ

ออมสินรับกระแส “สังคมคุณธรรม จริยธรรม”

ออมสินรับกระแส “สังคมคุณธรรม จริยธรรม”


สกู๊ปข่าวลงในหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 3 เมษายน 50 โดย คุณกนกวรรณ บุญประเสริฐ

ท่ามกลางการบริหารงานของรัฐบาลขิงแก่ ซึ่งมี การปลุกกระแสเรื่องสังคมคุณธรรมให้เกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย โดยถือเป็นเป้าหมายสำคัญของการทำงานของรัฐบาลชุดนี้ เพื่อล้างวิธีการทำงานของรัฐบาลเก่า ที่ถูกมองว่าเป็นผู้ชักนำระบอบทุนนิยมเข้ามาครอบงำ

ครอบจิต ครอบใจ จนทำให้คนให้ความสำคัญที่เรื่องของวัตถุ มากกว่าคุณธรรม จริยธรรม

คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2549 ได้ยกร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมธรรมาภิบาลภาครัฐ และกำหนดยุทธศาสตร์ในการดำเนินงานตามวาระแห่งชาติถึง 7 ยุทธศาสตร์

เริ่มจาก การสร้างกลุ่มผู้นำและรูปแบบองค์การแห่งสุจริตธรรม

การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ วัฒนธรรม ค่านิยม และการพัฒนาข้าราชการ

การให้คำปรึกษา แนะนำ และการจัดการความรู้เพื่อส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาล

การปรับปรุงระบบบริหารงานบุคคลให้เอื้อต่อการส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรม

การพัฒนาระบบบริหารจัดการด้านคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาล

การวัดผลและตรวจสอบด้านจริยธรรม

และการวางระบบสนับสนุนและปัจจัยพื้นฐานด้านจริยธรรมและธรรมาภิบาล

ถือเป็นกรอบในการปลุกคนในบ้านเมืองให้ตื่นจาก “กิเลส” หันมาเน้นเรื่อง “คุณธรรมนำชีวิต”

พอปี่กลองเชิดปุ๊บ ธนาคารออมสิน เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจแห่งแรกที่ขานรับนโยบายดังกล่าวแบบฮิตาชิ

แบงก์เด็กงัดโครงการจริยธรรมและจรรยาบรรณดีเด่น เพื่อปลูกฝังให้พนักงานนับตั้งแต่ ระดับผู้บริหาร พนักงาน ไปจนถึงลูกจ้างของธนาคารให้มีทัศนคติที่ดี มีคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณในการปฏิบัติงาน มีความรับผิดชอบต่อตนเอง ต่องาน และต่อสังคม เพื่อพัฒนาบุคลากรให้มีประสิทธิภาพ

ครบครันตามวัตถุประสงค์เปี๊ยบ

พร้อมกับมีการแจกรางวัลเพื่อเป็นแรงจูงใจถึง 10 รางวัล แยกเป็น รางวัลระดับผู้บริหาร 1 รางวัล (ระดับผู้อำนวยการฝ่ายหรือเทียบเท่าขึ้นไป)

รางวัลระดับสายกิจการสาขา 7 รางวัล และรางวัลส่วนกลาง 2 รางวัล มีของรางวัลที่น่าสนใจได้แก่ เข็มกลัดรูปวัชรทองคำฝังเพชร พร้อมสลักชื่อผู้ที่ได้รางวัล มูลค่ารางวัลละ 3 หมื่นบาท

โล่ประกาศเกียรติคุณ และได้รับการบันทึกลงในทะเบียนประวัติพนักงาน เป็นต้น

ทั้งนี้ ธนาคารได้เปิดให้ลูกจ้าง พนักงาน และ ผู้บริหารที่สนใจ สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการ โดยกรอกแบบฟอร์มเสนอชื่อตนเองและบุคคลอื่นที่เห็นว่าเหมาะสม เพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกผลงานที่แสดงถึงความเป็นผู้มีจริยธรรมและจรรยาบรรณ

งานนี้หมดเขตสิ้นเดือนธันวาคมปีนี้ และมอบรางวัลในวันที่ 1 เมษายน 2551 โน่น

เรียกว่าเปิดทางให้พนักงานเสนอคนดีเข้าประกวด ขณะเดียวกันก็เป็นการ “เชิดชู” คนดีให้ได้รับ “ผลแห่งการทำความดี” แทนที่มุ่งเน้นที่ “การทำเงิน”

พร้อมกันนี้ ธนาคารออมสิน ได้เชิญ นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะอดีตผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ผู้ซึ่งเคยวาง รากฐานในเรื่องคุณธรรม จริยธรรมมาปาฐกถาพิเศษเรื่องการสร้างองค์กรแห่งคุณธรรม จริยธรรม เรียก “ต่อมน้ำย่อย” ของการทำความดีให้พนักงานให้ประจักษ์

“ไพบูลย์” ผู้ซึ่งดำเนินวิถีพออยู่ พอกิน พอดี มีคุณธรรมนำทาง จุดพลุว่า การสร้างองค์กรแห่ง จริยธรรม และคุณธรรม ไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่หลายคนพยายามตีความให้เข้าใจได้ยาก

เพราะการสร้างคุณธรรมและจริยธรรม ประกอบด้วย 3 เรื่องคือ

หนึ่ง การทำความดี ซึ่งเราจะรู้เองว่าอะไรดี ไม่ดี อะไรควร ไม่ควร ถ้าเราทำสิ่งที่ดี สิ่งที่ควร อันนี้เรียกว่า การทำความดี

สอง ทำในสิ่งที่เกิดความถูกต้อง เป็นเรื่องที่คล้ายกับศีล มีข้อห้าม ข้อต้องทำ ซึ่งเราต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะเราอยู่ในสังคม ซึ่งความถูกต้องในเชิงจรรยาบรรณ เป็นข้อตกลงภายในองค์กร เช่น การทุจริต คดโกง การลักขโมย เป็นสิ่งที่ต้องละเว้น เหมือนกรณีของพนักงานที่ประพฤติมิชอบ ซึ่งมีกันทุกองค์กร ไม่เว้นแม้ธนาคารออมสิน แต่เป็นเรื่องที่ต้องยอมรับ เพราะอาจเป็นไปได้ที่เขาอาจเป็นคนดีแต่มีจุดอ่อน หรือมีสถานการณ์ที่บีบคั้นให้ทำ เช่น การรับ ผลประโยชน์จากลูกค้าเงินกู้ เพื่อช่วยให้ลูกค้าได้เงินกู้โดยไม่ผ่านกติกานั่นคือ ความไม่ถูกต้อง

สาม สร้างความเป็นธรรม อยู่ระหว่างความดี กับความถูกต้อง ความเป็นธรรมคือความเท่าเทียม

เช่น ธนาคารออมสิน ต้องดูแลลูกค้าอย่างเท่าเทียมเสมอภาค มิใช่ลูกค้ารายใหญ่ต้องดูแลมากหน่อย

ส่วนลูกค้ารายเล็กต้องดูแลน้อย อันนี้เรียกว่าไม่เป็นธรรม

สิ่งสำคัญของการสร้างคุณธรรม จริยธรรม ในสังคม คือการเอาหลักปรัชญาในหนังสือเอามาประยุกต์ให้เกิดเป็นแนวทางในการปฏิบัติ

และเรื่องที่สำคัญที่สุดคือ ผู้นำองค์กร คือหัวใจสำคัญของการนำพาองค์กรไปในทางใดทางหนึ่ง

อย่าง ธนาคารออมสิน คือ ผู้อำนวยการธนาคาร ซึ่งเป็นผู้บริหารองค์กร ถ้าระดับประเทศ ต้องยกให้นายกรัฐมนตรี ถ้าระดับจังหวัดต้องยกให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ถ้าระดับอำเภอ ต้องเป็นนายอำเภอ เป็นต้น

รองลงมา ได้แก่ คณะกรรมการ คือ คณะบุคคลที่ได้รับมอบหมายจากสังคม ผ่านกลไกโดยให้รัฐบาลเป็นผู้จัดตั้งคณะกรรมการเข้ามากำกับ

“แต่ที่ผมจะขอเน้นย้ำ และให้น้ำหนักมากที่สุด คือ ผู้อำนวยการ เป็นสำคัญ เพราะต้องทำหน้าที่ดูแลองค์กรตลอด 24 ชั่วโมง แม้ท่านจะเดินทางไปต่างประเทศบ่อยๆ ยังเขียนหนังสือพนักงานนำมารวมเล่มขายได้เงินอีก” ทำเอาคนในแบงก์เด็กยิ้มแฉ่ง

แต่คณะกรรมการมาประชุมเดือนละครั้ง ถ้า 2 ฝ่ายสามารถทำความเข้าใจ และให้ความสำคัญ และมุ่งมั่นเรื่องการสร้างคุณธรรมและจริยธรรม ก็เป็นเรื่องที่ไม่ยากในการดำเนินการโดยสนับสนุนให้หน่วยงานต่างๆที่รับแนวคิดไปทำต่อต้องรู้จักการคิดเองและทำเอง ว่าอะไรคือความดี ความถูกต้องเมื่อให้พนักงานคิดแล้วตกลงกันแล้วทำตามแนวคิดนั้น แล้วสร้างระบบการประเมินผลไปด้วยวิธีการแบบนี้เรียกว่า การเรียนรู้จากการปฏิบัติ หรือ AFTER ACTION REVIEW(ARR)ซึ่งเป็นระบบที่นำมาจากกองทัพอเมริกา ใช้ในการทำสงคราม แล้วภายหลังภาคธุรกิจนำมาปรับใช้กันอย่างแพร่หลายคือ การเรียนรู้จากการกระทำ ถือเป็นส่วนหนึ่งของการจดการความรู้

การนำสิ่งที่มาพินิจพิจารณาแล้วนำเอาสิ่งนั้นมาประมวลผลเป็นความรู้ แล้วเอาไปแลกเปลี่ยนกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อให้เกิดการประยุกต์ให้เกิดจริยธรรมในหน่วยงาน

สำหรับโครงการที่เริ่มขึ้นนี้ เชื่อว่าจะทำให้ธนาคารออมสินเป็นองค์กรชั้นนำที่มีผลต่อการขยายหรือสร้างเครือข่ายในอนาคตทั้งภาครัฐ และเชื่อมต่อไปจนถึงภาคเอกชน หากมีการสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างองค์กร

นอกจากนี้ ภาครัฐยังมีการสนับสนุนโครงการลักษณะดังกล่าวร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยบริษัทจดทะเบียน สภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม สมาคมธนาคารไทย เพื่อสร้างสภาธุรกิจเพื่อสังคมคาดว่าจะได้ข้อสรุปในเดือนเมษายนนี้

“ไพบูลย์” ยังกล่าวอีกว่า อยากให้ธนาคารออมสินสร้างตัวชี้วัดความสุขของพนักงาน แล้วจะเห็นว่าความสุขขององค์กร คือการมีคูณธรรม จริยธรรม และเป็นธุรกิจที่ควรช่วยเหลือสังคม เพราะถือเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ลูกค้ารู้สึกต้องการความช่วยเหลือธุรกิจที่มีการช่วยเหลือสังคม เพราะถือเป็นสิ่งสำคัญทีทำให้ลูกค้ารู้สึกต้องการความช่วยเหลือธุรกิจที่มีการช่วยเหลือสังคม

ในประเทศไทยมีตัวอย่างให้เห็น เช่น กรณีของบริษัท บางจาก และบริษัท มติชน เพราะบริษัทเหล่านี้ทำประโยชน์เพื่อสังคม และเมื่อบริษัทมีปัญหาจะมีสังคมเข้าไปช่วย และพนักงานที่ทำงานในบริษัทที่ทำความผูกพัน จนทำให้พนักงานยอมอุทิศตนในการทำงาน มีความภูมิใจที่ทำงานในบริษัทเหล่านี้มากกว่าการได้รับเงินเดือนสูงๆ

ความสุขที่เกิดจากการมีคุณธรรม จริยธรรม ถือเป็นความสุขที่อยู่ในใจ

ขณะนี้ประเทศไทยกำลังสนับสนุนเรื่ององค์กรภาครัฐเป็นองค์การแห่งคุณธรรม จริยธรรม คือการให้พนักงานและข้าราชการ คิดหาแนวทางในการปฏิบัติเพื่อนำไปสู่การสร้างธรรมาภิบาลในภาครัฐต่อไป

กล่อมเสร็จสรรพบรรดาผู้ร่วมงานปราบมือให้ “อดีตผู้อำนวยการ” ลั่น

แม้วิธีคิด วิธีพูด วิธีการนำเสนอของไพบูลย์จะเรียบง่ายตามสไตล์คนเรียบๆ แบบผ้าพื้น แต่หัวจิตหัวใจในการต้องการเห็น “คุณธรรมนำไทย” ของนักปฏิบัติที่ไพบูลย์ยึดถือมาเป็นแสงส่องทางในชีวิตนั้น

เสมือนประหนึ่ง “ไฟฉายเล็กๆ” ที่ทำให้คนในสังคมที่มองเห็นแต่ตัวเงิน วัดผลที่กำรี้กำไร เปลี่ยนมา “มองเห็นแสงสว่างในชีวิต”

ระยะเวลาเกือบปี ยังพอมีเวลาให้คนในองค์กรนี้ได้ปรับตัว ปรับวิธีคิด วิธีการทำงาน

ส่วนจะได้ผลมากแค่ไหนต้องรอลุ้น

เพราะ “นามธรรมที่ยิ่งใหญ่อย่าง คุณธรรม จริยธรรม” นั้น มิใช่ผู้ที่ประพฤติแล้วจะได้รับและบอกกล่าวว่าตัวเองมีจริยธรรม มีคุณธรรม

หากแต่เกิดจากผู้รับ ผู้ใต้บังคับบัญชา ลูกค้าคนข้างเคียงต่างหากที่จะเป็นกระจกส่องแล้วบอกว่า “ดีเลิศในปฐพี”

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

9 เม.ย. 50

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/89288

<<< กลับ

องค์กรชุมชนกับการพัฒนาประชาธิปไตยไทย

องค์กรชุมชนกับการพัฒนาประชาธิปไตยไทย


(เอกสารประกอบการบรรยาย  หัวข้อ  “องค์กรชุมชนกับการพัฒนาประชาธิปไตยไทย”  จัดโดยสถาบันพระปกเกล้า  หลักสูตร พรรคการเมืองกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย รุ่นที่ 7   ที่ อาคารรำไพพรรณี ณ พิพิธภัณฑ์พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  เมื่อ 30 มกราคม 2553)

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/337000

<<< กลับ

อุดมศึกษา ร่วมสร้างประเทศไทยน่าอยู่

อุดมศึกษา ร่วมสร้างประเทศไทยน่าอยู่


( PowerPoint  และเอกสารประกอบการบรรยายพิเศษ  เรื่อง  “อุดมศึกษาร่วมสร้างประเทศไทยน่าอยู่”  ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมวิชาการระดับชาติประจำปี  2553  ภายใต้แนวเรื่อง  “อุดมศึกษาร่วมสร้างประเทศไทยน่าอยู่”  วันที่  13 – 15  ธันวาคม  2553  ณ  บางกอกคอนแวนชั่นเซ็นเตอร์  เซ็นทรัลลาดพร้าว  กรุงเทพมหานคร  จัดโดย  สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา  กระทรวงศึกษาธิการ)

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/414432

<<< กลับ

สารจากที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ ในรายงานประจำปี 2553 ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม (ศูนย์คุณธรรม) สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน)

สารจากที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ ในรายงานประจำปี 2553 ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม (ศูนย์คุณธรรม) สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน)


ในสังคมมี 3 องค์ประกอบหลักที่จะต้องขับเคลื่อนอย่างสัมพันธ์กัน เพื่อให้บุคคล ชุมชน องค์กร   สังคม สามารถเจริญก้าวหน้า  พร้อมกับความสงบสันติสุขและมั่นคง อย่างต่อเนื่องยั่งยืน  นั่นคือ ความดี ความสามารถ และความสุข ความดีจึงเป็น 1 ใน 3 องค์ประกอบสำคัญ ที่สมควรต้องขับเคลื่อนไปพร้อม ๆกับอีก 2 องค์ประกอบสำคัญให้เชื่อมโยงเกื้อหนุนและได้ดุลซึ่งกันและกัน

การจะทำให้ความดีเป็นเรื่องที่ปฏิบัติกันอย่างทั่วไป และอย่างเป็นขบวนการ(Movement) ต้องใช้ยุทธศาสตร์ 6 ประการ ได้แก่

ประการแรก การสร้างเครือข่าย เป็นยุทธศาสตร์สำคัญเพื่อให้ทุกกลุ่ม ทุกพื้นที่ ขับเคลื่อนเรื่องความดี และเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนรู้เพิ่มพลังให้แก่กันและกัน

ประการที่สอง ความรู้ที่เหมาะสม  เพราะการขับเคลื่อนสิ่งใดโดยปราศจากความรู้ก็เหมือนปราศจากเข็มทิศ และการค้นหายุทธศาสตร์ที่มีความรู้เป็นฐานย่อมได้ยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนหนักแน่นสอดคล้องกับความเป็นจริง

ประการที่สาม การสื่อสารที่ดี  ทำให้ความดีได้รับการถ่ายทอดแพร่ขยายและเป็นที่เข้าใจตลอดจนสร้างแรงกระตุ้นและแรงบันดาลใจอย่างกว้างขวางเพียงพอ

ประการที่สี่ มีนโยบายที่ดี  ที่สนับสนุนเกื้อกูลการทำความดีทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ในทุกระดับ นั่นคือทั้ง ระดับบุคคล  ครอบครัว  ชุมชน  องค์กร และสังคมโดยรวม

ประการที่ห้า การจัดการที่ดี ทั้งทีเป็นการจัดการ แผนงาน โครงการ หรือกิจกรรม และการจัดการองค์กรที่เกี่ยวข้อง

ประการที่หก  การเรียนรู้และพัฒนาหรืออภิวัฒน์ อย่างต่อเนื่อง โดยเรียนรู้จากการกระทำและการเรียนรู้จากแหล่งหรือวิธีการอื่น ๆ ให้นำไปสู่การกระทำ และการดำเนินการที่ดียิ่งขึ้นอยู่เสมอ

 

6 ขวบปีของศูนย์คุณธรรม กับการขับเคลื่อนงานตามพันธกิจในการเสริมหนุน เชื่อมประสาน เพิ่มพลังเครือข่ายในการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมที่เป็นการรวมพลัง ยกระดับ แพร่ขยายในบริบทต่างๆ ในทุกภาคส่วนของสังคม ศูนย์คุณธรรมได้ปฏิบัติตามวิธีการดังกล่าวมาโดยตลอด

 

อีกภารกิจหนึ่งที่ศูนย์คุณธรรมขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่อง คือเรื่องสมัชชาคุณธรรม เป็นกระบวนการให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสบการณ์ของเรื่องคุณธรรมความดีและยกย่องความดี เพื่อเผยแพร่ให้สังคมได้รับรู้ และนำไปสู่การปฏิบัติ ทั้งในระดับผู้เกี่ยวข้อง เช่น โรงเรียน ชุมชน วัด หรือธุรกิจนำไปปฏิบัติเอง และระดับที่เป็นนโยบายสาธารณะ

โดยในแต่ละปีจะกำหนดประเด็นหนึ่งขึ้นมาตามบริบทและความเร่งด่วนของสังคม ในปีที่ผ่านมาความดีที่สำคัญและเป็นประเด็นเร่งด่วนคือเรื่องความซื่อตรง ซึ่งความซื่อตรงก็คือความหมายรวมของความซื่อสัตย์ ความรับผิดชอบ และความพอเพียง นั่นเอง

 

ในปี 2553 ศูนย์คุณธรรมจึงได้จัดสมัชชาคุณธรรมขึ้น ตามแนวคิดหลักส่งเสริมคุณธรรม เรื่อง “ความซื่อสัตย์ ความรับผิดชอบ และความพอเพียง” มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างองค์กรภาคีเครือข่ายระดับภูมิภาคใน 7 ประเด็นย่อย ได้แก่ ประเด็นการศึกษา ประเด็นชุมชน ประเด็นศาสนา ประเด็นธุรกิจ ประเด็นสื่อ ประเด็นนักการเมือง และประเด็นข้าราชการ ต่อจากนี้ไปจะเป็นการประมวลรวบรวมความรู้ความคิดจากกระบวนการสมัชชาระดับภูมิภาค สังเคราะห์ร่วมกันเป็นปฏิญญา(ข้อตกลงร่วมกัน) แผนปฏิบัติการ และข้อเสนอเชิงนโยบาย และนำทั้งหมดเสนอในที่ประชุมสมัชชาแห่งชาติที่จะมีขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2554 เพื่อช่วยกันวิพากษ์วิจารณ์หรือช่วยกันเสริมเติมแต่งให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

แม้วันนี้ศูนย์คุณธรรมจะเดินหน้ามาไกลพอสมควร หากดูจากผลงานการสร้างเครือข่าย สร้างองค์ความรู้ การสื่อสาร การเสนอแนะนโยบาย การบริหารจัดการ ตลอดจนการเรียนรู้และพัฒนาหรืออภิวัฒน์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งก้าวหน้ามาเป็นลำดับ แต่เรื่องของคุณธรรมความดีเป็นเรื่องที่หยุดนิ่งไม่ได้ เพราะหากหยุดก็เหมือนกับกำลังก้าวถอยหลัง ภาระงานของศูนย์คุณธรรมจึงต้องใช้ทั้งพลังกาย พลังใจ พลังสติปัญญา และพลังคุณธรรมในการขับเคลื่อน ผมในฐานะที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ขอชื่นชมกับการทำงานของกรรมการ  ผู้บริหาร เจ้าหน้าที่   และผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมของศูนย์คุณธรรมทุกท่าน และขอเป็นกำลังใจกับก้าวต่อ ๆ ไปของภารกิจอันเป็นคุณประโยชน์ต่อทุกคนทุกฝ่าย ต่อชุมชน องค์กร สถาบัน และองค์ประกอบอื่น ๆ ของสังคม ตลอดจนต่อสังคมโดยรวม ทั้งสังคมไทยและรวมถึงสังคมโลกด้วย

 

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์

ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม

สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน)

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/425198

<<< กลับ

ความเห็นว่านโยบายของมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับนักศึกษา

ความเห็นว่านโยบายของมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับนักศึกษา


(เอกสารประกอบการเสวนา  หัวข้อ  “ นโยบายสภามหาวิทยาลัยต่อนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล”  ในการจัดฝึกอบรมของ  “โครงการฝึกอบรมหลักสูตรพัฒนาผู้นำการศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล  รุ่นที่ 2”  เมื่อวันที่  7  มีนาคม  2554  ณ  ห้องมหาสวัส  ชั้น 6  วิทยาลัยนานาชาติ  ม.มหิดล)

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/431245

<<< กลับ