แนวคิดเรื่องความขัดแย้งในสังคมไทย

แนวคิดเรื่องความขัดแย้งในสังคมไทย


(สรุปสาระสำคัญซึ่งนำเสนอในการประชุมระดมสมอง  เรื่อง  “แนวคิดเรื่องความขัดแย้งในสังคมไทย : ปัจจัยแห่งความขัดแย้ง  โดยศึกษากรณีปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง  และความรุนแรงในภาคใต้”  จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  เมื่อวันที่  18  มิถุนายน  2552  ณ  ห้องประชุมสิปปนนท์  เกตุทัต  ชั้น  1  อาคาร  4)

 

  • ปัญหาทางสังคมเป็นสิ่งที่ซับซ้อนเพราะเป็นปัญหาที่เกิดจากการรวมตัวกันของคนจำนวนมาก ไม่สามารถแก้ไขได้ง่ายแบบปัญหาทางวิทยาศาสตร์ทั่วๆ ไป

 

  • จุดบอดที่สำคัญของการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งคือ ไม่ได้ให้เจ้าของปัญหาที่แท้จริงเข้ามามีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหาของตัวเอง เจ้าของปัญหาในที่นี้คือ ประชาชน ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาแทน และให้ประชาชนมีส่วนร่วมแค่เพียงรับฟังเท่านั้น

 

  • รัฐบาลมีเจตนาดี แต่การไปถือเป็นเจ้าของเรื่อง  เมื่อถือเป็นเจ้าของเรื่องก็จะดำเนินการต่างๆ  ตามที่เห็นว่าดี  ซึ่ง 1) อาจจะไม่ถูก  2) ไม่เป็นที่เข้าใจ  3) ไม่ได้รับความร่วมมือ  และ  4) ไม่ยั่งยืน  เพราะคนที่จะทำให้ยั่งยืนคือประชาชน การจับประเด็นความขัดแย้งเพื่อนำไปเป็นส่วนหนึ่งของแผนฯ  11  จำเป็นต้องทบทวนกันใหม่โดย  “ให้ประชาชนมีบทบาทในการคลี่คลาย  แก้ปัญหา  และป้องกันปัญหา  ตลอดจนพัฒนาความเข้มแข็งเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต”

 

  • การแก้ไขความขัดแย้งมีกุญแจสำคัญ 3 ดอก ที่จะต้องไปด้วยกัน คือ

o   ทัศนคติ ความรู้สึก อารมณ์ บรรยากาศ

o   กระบวนการ  วิธีการ  ขั้นตอน

o   เนื้อหาสาระ  การตั้งโจทย์  การตอบคำถาม

กุญแจทั้งสามดอกนี้ต้องไปด้วยกัน หมุนวนไป เริ่มต้นจากเวทีเล็กๆ และขยายใหญ่ขึ้นไป แต่ก็ต้องพยายามเป็นขั้นตอน จุดสำคัญคือสร้างทัศนคติและกระบวนการ การสร้างทัศนคติที่ดีหรือจัดกระบวนการที่เหมาะสมก็จะไปเสริมทัศนคติ แล้วเรื่องสาระจะตามมาเอง การตั้งโจทย์ ต้องเปลี่ยนจุดยืนมาเป็นจุดประสงค์ หาจุดประสงค์ที่ตรงกันจากนั้นมาช่วยกันหาวิธีการ ในส่วนกระบวนการก็ต้องตกลงร่วมกันเสมอ จึงจะเกิดความยั่งยืน

 

  • ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องปรับกระบวนทรรศน์ (Paradigm) ใหม่โดยเปลี่ยนจุดศูนย์กลางของการแก้ไขปัญหาจากรัฐบาลไปเป็นประชาชน และรัฐบาลมีหน้าที่เป็นผู้สนับสนุนให้งานภาคประชาชนสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ ส่วนนักวิชาการนั้นก็มีหน้าที่เป็น Facilitator คอยสนับสนุนข้อมูลเพื่อการคิดและตัดสินใจของประชาชน

 

  • แม้ว่าการพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่มีประชาชนเป็นตัวขับเคลื่อนหลักจะใช้เวลานานในแต่ละกระบวนการ แต่ท้ายที่สุดแล้ว นี่อาจเป็นวิธีเดียวที่ประสบความสำเร็จได้อย่างแท้จริงและยั่งยืน ในขณะที่วิธีการแบบเก่าที่รัฐบาลเป็นผู้นำและแก้ปัญหาเพื่อแค่ให้ผ่านพ้นไป อาจจะไปก่อให้เกิดปัญหาซ้ำขึ้นมาอีกและกลายเป็นปัญหาเรื้อรังจนไม่คุ้มค่ากัน

 

  • การให้ประชาชนมีส่วนร่วมอาจต้องเริ่มต้นในระดับแต่ละพื้นที่ เพื่อให้มีความเฉพาะเจาะจงกับปัญหาของท้องถิ่น ถ้ามองปัญหาเหล่านี้ในระดับประเทศ อาจทำให้เข้าใจภาพผิดไป ความเข้าใจอย่างถูกต้องจากเวทีระดับพื้นที่เหล่านี้จะมีอิทธิพลส่งผลต่อเวทีระดับชาติได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง การสร้างความสมานฉันท์

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/276055

<<< กลับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *