บทบาทของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในการนำสังคมไทย ก้าวไปสู่อนาคตที่พึงประสงค์

บทบาทของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในการนำสังคมไทย ก้าวไปสู่อนาคตที่พึงประสงค์


สรุปการสัมภาษณ์ ให้กับคณะนักวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์กรในกำกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี)  เมื่อวันอังคารที่ 15 ธันวาคม 2552  ณ บ้านเลขที่ 54 ถนนสุขุมวิท 61)

 

ผู้เข้าร่วมการสัมภาษณ์

 

  1. นางสาวกิ่งกนก           ชวลิตธำรง                นักวิจัยนโยบาย สวทน.
  2. นายนนทวัฒน์            มะกรูดอินทร์             ผู้ช่วยนักวิจัยนโยบาย สวทน.
  3. นายปรินันท์               วรรณสว่าง                ผู้ช่วยนักวิจัยนโยบาย สวทน.
  4. นางสาวพสชนัน          นิรมิตรไชยานนท์        ผู้ช่วยนักวิจัยนโยบาย สวทน.
  5. นางสาวภัทรวรรณ        จารุมิลินท                 ผู้ช่วยนักวิจัยนโยบาย สวทน.
  6. นางสาวสิริพร              พิทยโสภณ               นักวิจัยนโยบาย สวทน.
  7. นางสาวอุบลทิต           จังติยานนท์              ผู้ช่วยนักวิจัยนโยบาย สวทน.

 

 

สรุปการสัมภาษณ์

 

1. ทิศทางอนาคตในการพัฒนาสังคมไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า มีประเด็นอะไรที่น่าจับตามองเป็นพิเศษ

 

คำว่า “สังคม” ในที่นี้ หมายถึง “ประเทศ ซึ่งรวมถึง การเมือง เศรษฐกิจ ธรรมชาติ มนุษย์ ดวงดาว จักรวาล เป็นต้น”

 

ประเด็นใหญ่ของสังคม ประกอบด้วย

 

  • ธรรมชาติ (ทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และบรรยากาศ) – ที่ผ่านมา โลกของเราเปลี่ยนแปลงไปมากทั้งเย็นจนเป็นน้ำแข็ง ร้อนระอุ ในอนาคต น่าจะเกิดปัญหาหลายเรื่องทั้งสิ่งแวดล้อม สารพิษ น้ำท่วม แผ่นดินทรุด (การเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติเกิดขึ้นจากการกระทำของมนุษย์และธรรมชาติ ส่งผลให้ธรรมชาติเกิดความไม่สมดุล)
  • มนุษย์ – ความไม่สมดุลระหว่างคนและธรรมชาติทำให้เกิดปัญหาต่างๆ มากมาย ในอดีต ยังมีประชากรจำนวนไม่มาก เมื่อเกิดภัยธรรมชาติในพื้นที่นั้นๆ คนสามารถย้ายถิ่นฐานได้
  • ระบบการบริหารจัดการบ้านเมือง – ระบบทั้งหมดของประเทศ เช่น ระบบการเมือง ระบบราชการ ระบบการปกครองท้องถิ่น ระบบการศึกษา ระบบเศรษฐกิจ ระบบวัฒนธรรม (วัตถุประสงค์ของการแยกระบบ คือ สะดวกในการบริหารจัดการ ไม่ใช่เพราะเป็นสิ่งที่ควรจะเป็น) ควรจะมีปฏิสัมพันธ์กัน (ในระบบใหญ่ มีระบบย่อย ไปจนถึงระบบย่อยที่สุด) ทำอย่างไรให้สามารถบริหารจัดการบ้านเมืองได้ดี มีคุณภาพ ในปัจจุบัน บ้านเมืองเรามีปัญหาเรื่องความขัดแย้งแตกแยกในหลายมิติ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของการความขัดแย้งเท่านั้น

 2. อะไรที่จะนำสังคมไทยก้าวไปสู่ภาพอนาคตที่พึงประสงค์ในอีก 10 ปีข้างหน้า 

 

ภาพพึงประสงค์ของสังคมในอนาคต คือ สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน โดยใช้กลไก 3 เสาหลักดังแสดงในรูปด้านล่าง

2.1       ปัจจัยสำคัญในการนำสังคมไทยก้าวไปสู่อนาคตที่พึงประสงค์  

  • ระบบการเมือง – การมีระบบการเมืองที่ดี จะทำให้สามารถดูแลบริหารจัดการบ้านเมืองได้มีประสิทธิภาพ สามารถแก้ไขปัญหาของประเทศได้ เช่น ความยากจน

 

2.2       ประเด็นนโยบายที่คิดว่าสำคัญและเร่งด่วน 

  • การเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ
  • การพัฒนามนุษย์ให้มีคุณภาพ
  • การพัฒนาระบบการเมือง

 

2.3       บทบาทของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.)  ในการนำสังคมไทยก้าวไปสู่อนาคตที่พึงประสงค์

  • วทน. กับการพัฒนา – วทน. มีบทบาทในการพัฒนาเรื่องอื่นๆ  ทำตามความต้องการของสังคม มากกว่าที่จะอยู่ตามลำพัง โดยการไปค้นหาสิ่งดีๆ ที่มีอยู่แล้ว และนำมาขยายผลต่อไปในวงกว้าง
  • วทน. กับการเมือง – วทน. เช่น ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ การจัดการความรู้ ช่วยให้ข้อมูลข่าวสารเข้าถึงประชาชนมากขึ้น การสื่อสารระหว่างท้องถิ่นและส่วนกลางดีขึ้น ทำให้คนรู้เท่าทัน แก้ไขปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน ลดปัญหาความขัดแย้ง ซึ่งการเมืองท้องถิ่นมีบทบาทสำคัญมากในเรื่องนี้
  • วทน. กับการเรียนรู้ – วทน. เช่น ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ จะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของประชาชน
  • วทน. กับเศรษฐกิจชุมชน – วทน. สามารถรวบรวมองค์ความรู้ที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ช่วยให้สินค้าชุมชนมีคุณภาพดีขึ้น  มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น

 

2.4       กลไกที่จะนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม 

  • พลัง 3 ส่วนเกื้อหนุนกัน (พลังทางความรู้ พลังทางสังคม พลังทางนโยบาย) – พลังทางความรู้จะได้ผลเร็ว ส่วนพลังทางสังคมจะต้องใช้เวลาในการขับเคลื่อน
  • การกระจายอำนาจการปกครอง – องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาสังคมมาก ในอนาคต แนวคิดนี้มีแนวโน้มที่จะได้รับการสนับสนุนเพิ่มมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากการมีนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)  นายกเทศมนตรี  และนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ที่มีคุณภาพมากขึ้น
  • การทำงานร่วมกันเป็นเครือข่าย – ต้องทำงานร่วมกัน ไม่แข่งขันกัน พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน โดยให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ยึดตนเองเป็นหลัก
  • การสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม – ในการกำหนด/ผลักดันนโยบาย ควรจะมีผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดมาช่วยกัน
  • การสำรวจหาต้นแบบที่ดีมาขยายผล – ควรนำผลงานวิจัยชุมชนที่ประสบความสำเร็จของชาวบ้าน มาต่อยอดขยายผลเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
  • การจัดทำแผนชุมชน – สร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับคนในชุมชน ทำให้คนมีความคิดเป็นเหตุเป็นผล เป็นระบบ ในระยะแรก แผนชุมชนเกิดขึ้นตามธรรมชาติโดยชาวบ้านในชุมชน ต่อมา ได้มีการนำยุทธศาสตร์เข้ามาช่วยทำให้เกิดแผนชุมชนทั่วประเทศ

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/324275

<<< กลับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *