แผนชุมชนและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของชุมชน

แผนชุมชนและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของชุมชน


(คำบรรยายเปิดการสัมมนาวิชาการ เรื่อง “การวางแผนพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”  จัดโดย  ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง  คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์  สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง  ณ ศูนย์วิจัยจุฬาภรณ์  วันที่ 30 พฤษภาคม 2551)

                ท่านคณบดี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ท่านวิทยากร เพื่อนๆ พี่น้องที่รักและเคารพทุกคนครับ  ผมยินดีและดีใจที่ได้มาร่วมในการสัมมนาสำคัญที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์จัดขึ้น  ครั้งแรกก็แปลกใจหน่อยว่า เกี่ยวกันอย่างไร สถาปัตยกรรมศาสตร์กับการวางแผนเศรษฐกิจพอเพียง การพัฒนาที่ยั่งยืน  แต่เมื่อทราบว่าสิ่งหนึ่งที่มีการเรียนการสอนกันที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ก็คือ เรื่องของการวางแผนพัฒนาเมือง การวางผังเมือง ซึ่งเป็นศาสตร์ที่เรียนที่สอนกันในสถาบัน โดยเฉพาะในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ แล้วไปเกี่ยวโยงกับเรื่องของการกระจายอำนาจการปกครองสู่ท้องถิ่น  ซึ่งเดิมนั้นการวางผังเมืองก็เป็นหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย แต่ตามแนวทางการกระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่น กำหนดมอบหมายอำนาจหน้าที่นี้ไปที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การวางผังเมืองกับเรื่องของการวางแผนเพื่อพัฒนาท้องถิ่นเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกัน อาจจะไม่เหมือนกัน ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ แต่เกี่ยวข้องและควรจะเกี่ยวข้อง  ที่แล้วมาเป็นปัญหาเพราะว่าไม่เกี่ยวข้องกัน ทำให้การวางผังเมืองก็เป็นการวางผังเมืองไป การพัฒนาท้องถิ่นก็พัฒนาไป ไม่ได้เกี่ยวกันหรือไม่ได้เกี่ยวกันอย่างสนิทชิดเชื้ออย่างผสมกลมกลืน หรือที่เราเรียกว่าอย่างบูรณาการ  มิหนำซ้ำ การวางผังเมืองยังขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่ส่วนกลางเป็นหลัก แม้จะมีการรับฟังความเห็นจากท้องถิ่น ก็ยังไม่ใช่เป็นเรื่องของท้องถิ่น โดยท้องถิ่น และเพื่อท้องถิ่น  ส่วนเรื่องการวางแผนพัฒนาท้องถิ่นมีคนเกี่ยวข้องอยู่ ๓ ฝ่าย ฝ่ายที่ ๑ เบื้องต้นก็คือราชการส่วนภูมิภาค ด้วยเหตุว่าประเทศไทยมีการปกครองแบบรวมศูนย์มาช้านาน ราชการส่วนภูมิภาคเป็นเครื่องมือของราชการส่วนกลาง มีหน้าที่ไปวางแผนพัฒนาท้องถิ่น ฉะนั้นคนที่อยู่ในท้องถิ่นจึงอยู่ในสภาพที่เรียกว่าถูกพัฒนามาโดยตลอด คือไม่ได้เป็นผู้พัฒนา ถูกพัฒนาเพราะราชการส่วนกลางมอบหมายราชการส่วนภูมิภาคให้ไปพัฒนาท้องถิ่น บางครั้งราชการส่วนกลางก็ลงไปพัฒนาเสียเอง เป็นการพัฒนาจากภายนอก  ดำเนินการมาช้านาน

                จนกระทั่งมาถึงยุคสมัยการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ ๘ ที่ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ สังคม และท้องถิ่น ชุมชนท้องถิ่นจึงเริ่มมีบทบาทในการวางแผนพัฒนาตนเองชัดเจนขึ้น และชุมชนที่มีความริเริ่ม มีความกล้าหาญสามารถดำเนินการไปก็มีตัวอย่าง เช่น ตำบลไม้เรียง อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช  คุณลุงประยงค์ รณรงค์ ที่ได้รับรางวัลแมกไซไซ เป็นผู้ที่บุกเบิกการพัฒนาท้องถิ่นโดยคนในท้องถิ่น เพื่อคนในท้องถิ่น แต่เป็นส่วนน้อยมาก  ฉะนั้น ตั้งแต่ปี ๒๕๔๐ คือช่วงแผนพัฒนาฉบับที่ ๘ ก็อาจกล่าวได้ว่า ได้เริ่มระบบของการพัฒนาท้องถิ่นที่คนท้องถิ่นมีส่วนมีบทบาทร่วมด้วย ถึงเรียกว่าเป็น “ชุมชนร่วมพัฒนา” จากเดิมที่ถูกพัฒนาก็ได้ร่วมพัฒนา จากความริเริ่มของชุมชนที่พยายามพัฒนาตนเอง วางแผนเอง และมีกรรมวิธีในการวางแผนที่ละเอียด ศึกษาจากข้อมูลข้อเท็จจริง เก็บข้อมูลอาจไม่ใช่แบบหลักวิชาทางสถิติ หรือใช้แผนที่ภูมิศาสตร์ แบบสถาปัตยกรรมศาสตร์ แต่เป็นการเก็บข้อมูล เช่น รายได้-รายจ่ายครัวเรือน ทรัพย์สิน-หนี้สิน ผลหมากรากไม้ที่มีอยู่ ทรัพยากรธรรมชาติ  ก็ใช้สามัญสำนึก ชุมชนเข้ามาร่วมพัฒนาวางแผนพัฒนาชุมชน  การริเริ่มนั้นได้มีชุมชนอีกหลายแห่งได้รับรู้ เรียนรู้ ประยุกต์ใช้การพัฒนาทำให้การวางแผนชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน ขยายวงกว้างขึ้นๆ

                ต่อมาในช่วงแผน ๙ และแผน ๑๐ ความคิดในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงได้โดดเด่นขึ้นมา แผน ๙ กำหนดให้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญานำทาง  แผน ๑๐ ตอกย้ำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  ยิ่งรัฐบาลที่แล้วก็เป็นรัฐบาลเศรษฐกิจพอเพียงก็ตอกย้ำเข้าไปอีก และชุมชนหลายแห่งได้ก้าวหน้าถึงขั้นที่สามารถวางแผนพัฒนาตนเองได้อย่างมีหลักการ มีวิธีการ มีกระบวนการ กำหนดเป้าหมาย กำหนดวัตถุประสงค์ มียุทธศาสตร์ ยุทธวิธี หลายแห่งก็ใช้ภาษาสมัยใหม่ เช่น ยุทธศาสตร์ (เดิมเค้าไม่ใช้กัน) ชาวบ้านก็เรียนรู้เร็ว เดี๋ยวนี้ใช้ภาษา อังกฤษกันเยอะ เช่น ดิฉันเป็น Board อยู่ที่นั่น ทีแรกก็ฟังเป็น Board อะไร  ตาบอดรึอะไรบอด เป็น Board ก็เป็นกรรมการ  Board คือกรรมการ  ชาวบ้านใช้กันเพราะเดี๋ยวนี้รัฐบาลนิยมใช้ภาษาต่างประเทศ  อาจจะเริ่มตั้งแต่สมัยรัฐบาลก่อนหน้าโน้น  แม้กระทั่งชื่อสถานีโทรทัศน์ เขาก็ใช้ภาษาต่างประเทศ  Modern Nine  เดี๋ยวนี้ก็มี NBT  แต่ฉบับของประชาชนก็เป็นภาษาไทย ทีวีไทยทีวีสาธารณะ  เป็นภาษาไทยมีภาษาบาลีด้วย

                ในช่วงแผน ๑๐ ประกอบกับเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงและการพัฒนาที่ยั่งยืน การทำแผนชุมชนได้ก้าวหน้าถึงขั้นที่มีตัวอย่างดีๆ ให้ดูเยอะเลย  ตำบลที่สามารถทำแผนชุมชนได้ดีนับเป็นพันตำบล มีเครือข่าย เช่น ที่เขาเรียกตัวเองว่าเครือข่ายแผนแม่บทชุมชนพึ่งตนเอง ๔ ภาค ซึ่งเป็นเครือข่ายของประชาชน ดำเนินการโดยภาคประชาชน มีหน่วยงานของรัฐที่เป็นองค์การมหาชน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ช่วยเป็นผู้อำนวยความสะดวกเป็นฝ่ายเลขานุการให้  แต่เครือข่ายแผนแม่บทชุมชน ๔ ภาคก็ดำเนินการเอง  มีการจัดให้มีการเรียนรู้ ขยายผล  มีศูนย์เรียนรู้ขยายวงออกไปมาก  แล้วไปต่อเชื่อมกับขบวนการของชาวบ้าน  เป็นเรื่องสวัสดิการชุมชนจัดระบบสวัสดิการกันเอง โดยใช้เงินออมของตนเองไม่ได้ใช้เงินจากรัฐ  แต่มีรัฐบาลที่เป็นองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่ง รวมทั้งราชการส่วนกลางบางแห่งเห็นว่าที่ชาวบ้านมีสวัสดิการชุมชนเป็นเรื่องดี  จึงนำงบประมาณไปสมทบเพื่อให้การจัดสวัสดิการชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน ขยายวงก้าวหน้า

                ลักษณะเช่นนี้ทำให้เรื่องของชุมชนกับการวางแผนมาถึงขั้นที่ผมเรียกว่า “การที่ชุมชนเป็นผู้พัฒนา” คือพัฒนาปรับเปลี่ยนจากเป็นผู้ถูกพัฒนา คิดเอง ทำเอง จัดการเอง ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีและความก้าวหน้าด้านนี้ยังคงดำเนินอยู่  ล่าสุดมีการออกพระราชบัญญัติมารองรับและสนับสนุนการรวมตัวกันของภาคประชาชนที่ชื่อว่า พระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน และได้เกิดสภาองค์กรชุมชนอย่างเป็นทางการแห่งแรกที่ตำบลศรีสว่าง อำเภอควนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด เข้าประชุมทางการในที่สาธารณะเมื่อสัก ๒ เดือนมานี้ ผมก็ไปร่วมกับเค้าด้วยเพราะเชื่อว่าจะมีสภาองค์กรชุมชนเกิดขึ้นตามมา  ซึ่งสภาองค์กรชุมชนเป็นกรอบเป็นแนวทางทำให้ประชาชนที่รวมตัวกันเป็นองค์กรจำนวนมากนับหมื่นทั่วประเทศสามารถที่จะจัดระบบตนเองได้ดียิ่งขึ้น  ภายใต้ชื่อสภาองค์กรชุมชนคือ การรวมเป็นเครือข่ายขององค์กรชุมชนโดยมีพื้นที่เป็นตัวตั้งในระดับตำบล  และสามารถเชื่อมโยงการทำงานกับองค์กรส่วนท้องถิ่น กับราชการส่วนภูมิภาค กับหน่วยงานของรัฐ ตลอดจนองค์กรอื่นๆ เช่น องค์กรสาธารณะประโยชน์ภาคประชาสังคม เป็นต้น  การรวมตัวกันเป็นเครือข่ายไม่ได้แปลว่าจะกันตัวเองออกจากคนอื่น  ที่จริงแล้วต้องประสานกับคนอื่น  สรรพสิ่งในโลกเกี่ยวพันกันหมด  การพัฒนาที่ดีคือ การพัฒนาที่ประสานเชื่อมโยงสอดคล้องบูรณาการซึ่งกันและกัน  ไม่ควรเป็นการพัฒนาที่แยกกันหรือสู้กัน  การพัฒนาการเมืองไทยปัจจุบันในลักษณะของการสู้กันพัฒนาได้ยาก  ต้องเชื่อมโยงกัน  เราจัดกลุ่มได้  แต่กลุ่มก็โยงกันเป็นพันธมิตรผู้ที่ปรารถนาดีต่อกัน เกื้อกูลกัน

                ฉะนั้น ที่พัฒนามาจนถึงขั้นนี้ สภาองค์กรชุมชนเป็นเครื่องบ่งบอกถึงความเจริญก้าวหน้าของขบวนการชุมชน  ผมอยากจะใช้คำว่าขบวนการชุมชน และอยากจะเห็นว่าเป็นขบวนการไม่ใช่เป็นแค่รูปแบบ ไม่ใช่เป็นแค่วิธีการ  เป็นขบวนการหมายถึงมีการขับเคลื่อน มีการดำเนินการ มีการศึกษาเรียนรู้และพัฒนาอยู่เสมอ ต่อเชื่อมกันขยายวงออกไป เพิ่มพลังในทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ  ผมมีความเชื่อว่าถ้าคนจำนวนมากมารวมกัน โดยเฉพาะรวมตัวกันในลักษณะที่ตัวเองเปิดเชื่อมโยงกับคนอื่น พลังแห่งความดีจะมีอำนาจเหนือพลังแห่งความไม่ดี  ถ้าคนรวมตัวกันโดยไม่แยกจากคนอื่น ความดีจะมีประโยชน์ คนจะเห็นเอง  แต่ความชั่วจะทำให้เกิดความเสียหายเขาก็ไม่ทำ เช่น คนในกลุ่มนี้พอรวมตัวกันก็ไปกันใหญ่เลยจะเกิดประโยชน์อะไร  รวมตัวกันแล้วช่วยกันคิดช่วยกันทำ มีอาหารเข้ามาจัดแบ่งกันกินแทนที่จะแย่งกัน ฉะนั้น คนรวมตัวกันในลักษณะที่อิสระเสรีแบบเปิดพลังสร้างสรรค์จะมากกว่า

                มีบทพิสูจน์เยอะแยะในทั้งประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ว่า การที่ประชาชนรวมตัวกันร่วมคิดร่วมทำ  เชื่อมเครือข่ายทำให้เกิดความเป็นมิตรเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจ กลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า ทุนทางสังคม เปรียบเสมือนทุนทางการเงิน  ทุนเปรียบเสมือนผู้ให้กำลัง  เงินให้กำลังเพราะว่าเอาไปซื้อของได้  ทุนทางสังคมก็คือกำลังทางสังคม ทำให้สังคมมีพลังมากขึ้น  ถ้าคนเรามีความเป็นมิตร รักสามัคคี ปรารถนาดีต่อกัน ไว้เนื้อเชื่อใจกัน จะเห็นว่าเป็นกำลัง ทำอะไรก็ไม่ต้องหวาดระแวง ไม่ต้องจ้างตำรวจมาคอยกันขโมย ไม่ต้องจ้างคนมาตรวจคอยจับผิด  เกิดความผิดมาก็ต้องมาสอบสวน เสียพลังงาน เสียค่าใช้จ่ายเป็นอันมาก  ชุมชนที่มีความสุจริต ทำงานกันดี รักใคร่ปรองดอง จะเจริญก้าวหน้าเห็นได้ชัด  แต่ชุมชนไหนมีการทุจริต ยิ่งผู้นำไม่สุจริต หรือแม้แต่ผู้นำสุจริตแต่สมาชิกไม่สุจริต จะยุ่งยากวุ่นวายกำลังจะอ่อนลงไป  เรียกว่าทุนทางสังคมถูกบ่อนทำลาย  ฉะนั้น ความดี ความรัก ความสามัคคี การเกาะกลุ่มกันเป็นกลุ่มเครือข่ายเชื่อมโยงกันเป็นสภาองค์กรชุมชนหรืออย่างอื่น เป็นทุนทางสังคม  มีบางคนไปตีความว่า ถ้าเกิดสภาองค์กรชุมชนแล้วจะเกิดความแตกแยกวุ่นวายมาก เพราะเขามองไปว่าพลังความชั่วจะออกมา  ถ้าคนรวมตัวกันแล้วจะเกิดพลังความชั่วก็เป็นไปได้  ก็ถ้าโจรรวมตัวกันเขาถึงจะทำความชั่ว  แต่โดยทั่วไป ถ้าคนรวมตัวกันโดยไม่มีใครมาบังคับตามความสมัครใจ  ความดีจะมีความโดดเด่นขึ้นมา  เพราะความดีทำให้เกิดผลดี  มองดูก็รู้ว่าทำดีแล้วจะได้ดี

                ฉะนั้น  เป็นที่น่าดีใจว่าบัดนี้เราได้มาถึงขั้นที่ชุมชนจำนวนมากพอสมควรสามารถวางแผนพัฒนาตนเอง  เป็นการพัฒนาที่ทำให้เกิดประโยชน์สุขของชุมชน  และโดยทั่วไปการพัฒนาของชุมชนจะโน้มไปในทางที่ยั่งยืนมากกว่าการพัฒนาที่คนข้างนอกจัดให้หรือการพัฒนาที่เป็นไปตามกระแสทางธุรกิจ  เช่น  ส่งเสริมให้ปลูกพืชเชิงเดี่ยว  ราคาดีบ้างไม่ดีบ้าง เสียหายบ้าง เกิดการไม่มั่นคง  แต่พัฒนาแบบแผนชุมชนที่เขาทำกัน  ศึกษาข้อมูลความเป็นจริง  รู้ว่าปัญหาคืออะไร โอกาสคืออะไร  ศักยภาพคืออะไร  แล้วพัฒนาช่วยกันคิดช่วยกันทำ  ทำไปแล้วก็ศึกษาเรียนรู้จากสิ่งที่ทำ  ไปศึกษาเรียนรู้จากคนอื่นที่เค้าทำ  เช่นนี้แนวโน้มจะไปทางที่ยั่งยืน  ยั่งยืนหมายถึงว่าพัฒนาไปแล้วเกิดผลที่ดีขึ้นดีขึ้นโดยไม่สะดุด  ถ้าพัฒนาไปแล้วสะดุด เรียกว่าไม่ยั่งยืน เช่น พัฒนาไปแล้วดินเสื่อมหมด สะดุดไม่ยั่งยืน  พัฒนาไปแล้วคนเป็นโรคจากสารพิษในท้องนาจากยาฆ่าแมลง  พัฒนาไปแล้วน้ำเสีย  อย่างนี้ไม่ยั่งยืน

                พัฒนาไปแล้วไม่สะดุดไม่เกิดปัญหาแทรกซ้อนเข้ามาไม่ได้แปลว่าพัฒนาแล้วสิ่งแวดล้อมดีอย่างเดียว  คือคำว่าการพัฒนาแบบยั่งยืนของฝรั่งเริ่มมาจากเรื่องสิ่งแวดล้อม  แต่ในประเทศไทยเราก้าวหน้ากว่าฝรั่ง  ยั่งยืนของเรานั้นหมายถึงยั่งยืนด้วยประการทั้งปวง สิ่งแวดล้อมก็รวมด้วย เศรษฐกิจก็รวมด้วย คุณธรรมจริยธรรมก็รวมด้วย  พัฒนาไปแล้วมีความดีเกิดขึ้น  ถ้าพัฒนาไปแล้วมีความชั่ว มีความเลว ทุจริต แก่งแย่งแข่งขัน โลภโมโทสัน จะไม่ยั่งยืน  เดี๋ยวก็มีคนโกงไป  กลุ่มออมทรัพย์หลายแห่งที่ล้มไปเพราะพัฒนาไปแล้วมีความโลภมีความชั่วเกิดขึ้นก็เป็นอันต้องล้มเลิกไป  แต่ส่วนใหญ่ไปได้ดีเพราะว่ามีความดี  การวางแผนที่จะยั่งยืนนั้นต้องมีความดี คุณธรรม คุณธรรมก็คือความดี ความงาม ความถูกต้อง ความเป็นธรรม เกิดประโยชน์ที่เหมาะสมต่อประชาชน  เราเรียกว่าความดี

                ฉะนั้น การพัฒนาที่ยั่งยืนต้องมีความดี  แล้วทั้งหมดสอดคล้องกับเศรษฐกิจพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานทฤษฎีนี้ให้  เพราะเศรษฐกิจพอเพียงก็คือ การทำอะไรที่พอประมาณ ที่สมเหตุสมผล ที่มีภูมิคุ้มกันป้องกันความเสี่ยง  มีภูมิคุ้มกันหมายความว่าป้องกันความเสี่ยง เกิดปัญหาอะไรขึ้นก็รองรับได้  การออมทรัพย์ไว้ก็เป็นการป้องกันความเสี่ยงมีภูมิคุ้มกัน  การรักษาคุณภาพดิน คุณภาพน้ำก็คือป้องกันความเสี่ยง  การปลูกพืชหลายๆ อย่างก็เป็นการป้องกันความเสี่ยง  ที่ยังป้องกันได้ยากก็คือปัญหาภัยธรรมชาติ  ก็มีทางถ้าเกิดว่าเราสามารถจัดระบบการประกันภัยพืชผล  ซึ่งเคยพยายามเมื่อ ๑๐ กว่าปีมาแล้ว  ธ.ก.ส. ก็เตรียมลงเงินไว้แล้ว  แต่จะต้องลงกัน ๓ ฝ่าย  ผมจะไม่ได้ว่าฝ่ายไหนไม่ลง  เรื่องก็เลยชะงักไป  การประกันภัยพืชผลเป็นเรื่องยากแต่ทำได้เป็นวิธีป้องกันความเสี่ยง  ฉะนั้น เศรษฐกิจพอเพียงก็คือ ทำอะไรพอประมาณ ไม่สุดโต่ง ไม่มากไป ไม่เว่อร์ไป มีเหตุผล ต้องอธิบายได้  ไม่ใช่เชื่อตามเขา ใครเขาว่าอะไรก็เชื่อ เห็นเขาทำก็ทำบ้าง ไม่มีเหตุมีผล ต้องคิดด้วยเหตุด้วยผล  แล้วก็ต้องมีภูมิคุ้มกัน  แล้วก็ยังต้องมีการใช้ความรู้ ต้องศึกษา ต้องคิด ใช้ข้อมูล มีการเรียนรู้จากตนเอง เรียนรู้จากคนอื่น  และต้องมีความดี มีคุณธรรม มีความรัก ความสามัคคี ความซื่อสัตย์ ขยัน อดทน  นี่คือเศรษฐกิจพอเพียง

                ฉะนั้น ที่ท่านทั้งหลายทำแผนพัฒนาชุมชนโดยเน้นการพึ่งตนเอง เน้นการร่วมมือกันเชื่อมโยงกับทุกฝ่าย เรียนรู้จากตนเอง เรียนรู้จากคนอื่น ดูข้อมูลให้ดี คิดหลายๆ อย่าง ทำหลายๆ อย่างให้ผสมกลมกลืนจะเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนและสอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  เหล่านี้เป็นเรื่องที่น่ายินดี  ฉะนั้น ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้ริเริ่มโครงการที่จะผสมผสานเรื่องการวางผังเมืองเข้ากับการวางแผนชุมชนเพื่อการพัฒนาแบบยั่งยืนสอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นเรื่องที่ดี เป็นเรื่องที่น่าชื่นชม  และหวังว่าท่านทั้งหลายที่มาร่วมกิจกรรมนี้ท่านจะทำแผนชุมชนอยู่แล้ว  ท่านอาจจะทำได้ดีอยู่แล้ว เป็นการพัฒนาแบบยั่งยืนอยู่แล้ว สอดคล้องกับเศรษฐกิจพอเพียงอยู่แล้ว  แต่ก็ยังมีเรื่องที่จะเรียนรู้เพิ่มเติมพัฒนาเพิ่มเติม  ในชีวิตในโลกในสังคมไม่มีอะไรหรอกที่บอกว่าดีที่สุดแล้วปรับปรุงไม่ได้แล้ว  จะปรับปรุงได้เสมอ  พัฒนาต่อได้เสมอ  บริษัทญี่ปุ่นขนาดใหญ่แห่งหนึ่งบอกว่าไม่มีอะไรที่ปรับปรุงไม่ได้  ฉะนั้น เขาจะทำเช่น เรื่อง QC หรือการให้พนักงานเสนอความคิดเห็น  ปรากฏว่าบริษัทใหญ่ เช่น โตโยต้า พวกเรารู้จักโตโยต้ากันหมด  มีใครไม่เคยนั่งรถโตโยต้า  ผมนั่งเป็นประจำ รถผมเป็นรถโตโยต้า  ปีหนึ่งเขาจะได้รับคำแนะนำจากพนักงานเป็นแสนๆ ความเห็นว่าให้ปรับปรุงอะไรบ้างทุกปี  แล้วเค้าก็เลือกมานำไปปรับปรุง  แล้วก็ให้รางวัลที่แนะนำ  เค้าถึงเจริญเติบโตจากรถกระป๋องที่สู้ฝรั่งไม่ได้เลย จนกระทั่งกลายเป็นรถชั้นนำรายได้มาก  ไม่ทราบเป็นอันดับ ๑ หรือ ๒  แล้วก็ราคาไม่แพง  คุณภาพดีไม่เสียบ่อย  เค้าปรับปรุงอยู่เรื่อย ปรับปรุงตรงนั้นตรงนี้เล็กๆ น้อยๆ เค้าปรับปรุงอยู่เรื่อย  หรือ QC เค้าให้คนกลุ่มเล็กๆ มาประชุมวิเคราะห์กันอยู่เรื่อยว่างานที่เราทำอยู่นี่เป็นอย่างไร  มีปัญหาตรงไหนบ้าง  เหตุของปัญหาคืออะไร  ถ้าเราจะแก้ แก้ยังไง  แล้วแก้ให้ได้ผลยั่งยืนทำยังไง  ฉะนั้น ถ้าท่านทำแผนชุมชนแล้วนึกว่าท่านทำดีที่สุดแล้วไม่ปรับปรุง ท่านจะล้าหลังไปเรื่อยๆ  ท่านต้องคิดว่าทุกอย่างปรับปรุงได้  จึงจะเกิดการปรับปรุงพัฒนาอยู่เสมอ  ทำให้ความเจริญก้าวหน้าเกิดอย่างต่อเนื่อง

                การทำแผนชุมชนให้ได้ผลเป็นการพัฒนาแบบยั่งยืนสอดคล้องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ผสมผสานเข้ากับศาสตร์อื่นๆ ได้เสมอ รวมถึงศาสตร์เรื่องการวางผังเมือง การทำแผนที่ภูมิศาสตร์ การคำนึงถึงสภาพแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ ต้องไม่ลืมผู้คน  พวกผังเมืองบางทีลืมคน คิดแต่ผัง ลืมไปว่าคนก็อยู่ในนั้น ลืมคน ลืมสัตว์ ลืมพืช ต้องรวมหมด คน สัตว์ พืช ดิน น้ำ ทุกอย่างผสมผสานกัน เกื้อกูลซึ่งกันละกัน หรือไม่ก็มีผลในทางทำลายซึ่งกันและกัน  ถ้าองค์ประกอบดีก็จะเกื้อกูลกัน องค์ประกอบไม่ดีทำลายกัน  ฉะนั้น ศาสตร์การวางผังเมืองเขาผสมผสานเข้ากับการวางแผนชุมชนที่เน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง ให้ประชาชนเป็นเจ้าของ ประชาชนเป็นผู้ทำแผน เป็นแผนของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน เป็นหลัก

                ส่วนคนอื่นๆ ก็เกี่ยวข้องด้วย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเกี่ยวข้องอันดับแรกเลยเพราะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นกลไกของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชนนั่นเอง หมายถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ดี  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ดีๆ มีเยอะ  ผมเป็นคนหนึ่งซึ่งเชียร์องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตั้งแต่เริ่มเกิดมา เพราะเชื่อว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็เป็นเครื่องมือสำคัญของประชาชน ซึ่งอยู่ใกล้ประชาชนที่สุด  แล้วถ้าจัดระบบการเลือกตั้งที่ดีได้คนดีเข้ามา โดยประชาชนไม่ทิ้ง ไม่ใช่ว่าเลือกเสร็จก็ปล่อยให้เขาบริหารไปเลย  เลือกเสร็จยังต้องติดตามดูแลต้องมีส่วนร่วมตลอด  เป็นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมหรือประชาธิปไตยแบบร่วมคิด  ประชาธิปไตยเหล่านี้มี ๓ ระดับ คือ ระดับที่ ๑ เขาเรียกประชาธิปไตยแบบตัวแทน เราเลือก สส. เลือก อบต.ไปแล้วก็ปล่อยให้เค้าจัดการไป  ระดับที่ ๒ เค้าเรียกว่า มีส่วนร่วม คือเลือกไปแล้วยังต้องติดตามดูแลให้ความคิดความเห็น  ระดับที่ ๓ ก็คือ แบบร่วมคิด บางทีก็เรียกว่าแบบร่วมไตร่ตรอง คือ มีส่วนในการคิดในการทำแทบจะเป็นเนื้อเดียวกับรัฐบาลหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  แบบหลังนี่เป็นแบบที่ก้าวหน้าที่สุด  ตอนนี้ประชาธิปไตยแบบร่วมคิดในระดับชาติจะทำยากหน่อย แต่ทำได้และควรทำ ซึ่งในประเทศไทยเรายังก้าวไปไม่ถึง  เรายังเป็นประชาธิปไตยแบบตัวแทนถึงมีปัญหาอยู่นี่  พอประชาชนจะมีส่วนร่วมกลายเป็นว่าประชาชนมีความเห็นไม่ตรงรัฐบาล กลายเป็นผู้บ่อนทำลายชาติ อย่างนี้ยังไม่ใช่ทัศนคติที่มองประชาธิปไตยที่ก้าวหน้า ประชาธิปไตยที่ก้าวหน้า ต้องมองประชาชนเป็นเจ้าของ  ความเห็นทุกอย่างของประชาชนถือว่าสำคัญ  แต่ท้องถิ่นทำได้ไม่ยาก  ที่ท้องถิ่นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับประชาชนเป็นเนื้อเดียวกันได้ไม่ยาก จะเป็นประชาธิปไตยของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน  เลือก อบต.ไปแล้วก็ยังติดตามดูแล ร่วมคิดร่วมทำ  เป็นประชาธิปไตยระดับท้องถิ่นแบบร่วมคิดร่วมทำ  ภาษาอังกฤษเรียกว่า Deliberative Democracy ใครที่อยากใช้ภาษาอังกฤษ แบบแรกเค้าเรียกว่า Representative Democracy คือแบบตัวแทน  แบบที่ ๒ เค้าเรียกว่า Participatory Democracy แบบมีส่วนร่วม  แต่แบบที่ก้าวหน้าที่สุดเรียกว่า Deliberative Democracy คือแบบร่วมคิดร่วมทำ  ที่ท้องถิ่นทำได้เพราะว่าตำบลไม่ใหญ่เกินไป  มีหลายแห่งที่ก้าวหน้าถึงขั้นว่าการเลือกคนไปบริหาร อบต. เขาปรึกษาหารือกันในหมู่ประชาชน  ก็มีผู้นำอาวุโสเป็นแกนแล้วก็ปรึกษาหารือกัน  จนกระทั่งได้ข้อสรุปร่วมกันว่าใครควรจะเป็นผู้นำ ใครควรจะเป็นผู้บริหาร  เวลาไปเลือกก็เลยได้คนนั้น  เขาเรียกการเมืองท้องถิ่นแบบนี้ว่าการเมืองเชิงสมานฉันท์  มีหลายแห่งแล้วและเป็นตัวอย่างที่ดีมากให้กับท้องถิ่นอื่นๆ และควรจะเป็นตัวอย่างให้กับระดับประเทศด้วย  ที่จริงการพัฒนาถ้าเริ่มจากท้องถิ่น เริ่มจากพื้นฐานจะดีมากเพราะเป็นความแน่นหนามั่นคง  เริ่มจากข้างบน เร็วแต่อาจไม่มั่นคง  ดีที่สุดก็คือทำทั้ง ๒ ทาง ระดับบนก็พยายามทำให้ดี ระดับล่างนี่ทำดีไปเรื่อยๆ  มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ดี  มีชุมชนที่ดีมากขึ้นๆ จะเป็นฐานที่แข็งแกร่งให้กับสังคมไทย  แล้วการเมือง เศรษฐกิจสังคมระดับประเทศจะดีไปด้วย และดีอย่างมั่นคง  ดีอย่างยั่งยืนสอดคล้องกับเศรษฐกิจพอเพียงในระดับชาติ

                ผมจึงหวังว่า การสัมมนาของท่านทั้งหลายในวันนี้ จะเป็นการผสมผสานบูรณาการหลายๆอย่างที่มีอยู่แล้ว การทำแผนชุมชน การพัฒนาอย่างยั่งยืน เศรษฐกิจพอเพียง การวางผังเมือง การพัฒนาเมืองและภูมิภาคที่เป็นศาสตร์ ซึ่งเรียนและสอนกันในสถาบันผสมกลมเกลียวกันเข้ามา  ถ้าจะไปเอาศาสตร์เรื่องการวางผังเมืองก็จะได้เรียนรู้เรื่องการทำแผนที่ การใช้ภูมิศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ใช้หลายๆอย่างเข้ามาผสมผสานก็ทำให้การทำแผนชุมชนที่ทำอยู่แล้วดีขึ้นไปอีก ก้าวหน้าขึ้นไปอีก  และอย่างที่ผมกล่าวไว้แล้วว่า การศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติม การพัฒนาเพิ่มเติมไม่มีวันจบหรอกครับ ทำไปได้เรื่อยๆ  ท่านทำไปท่านก็ติดตามผลตัวเองไปด้วยว่า ทำไปแล้วได้ผลเป็นอย่างไร ตรงไหนดีตรงไหนไม่ดีควรจะปรับปรุงอะไรได้อีก ไปศึกษาจากคนอื่นได้อะไรก็เอามาผสม ไปศึกษาเรื่องการวางผังเมืองได้ความคิดความเห็นอะไรดีๆ ก็เอามาผสม

                เครื่องมือใหม่ๆ หลายอย่างที่เอามาใช้ได้  เครื่องมือหนึ่งซึ่งผมพยายามส่งเสริมให้ใช้แต่ยังใช้กันไม่มากก็คือ การทำตัวชี้วัดเป้าหมายการพัฒนา หรือตัวชี้วัดสภาพความอยู่เย็นเป็นสุขของประชาชน  ตามแผน ๑๐ กำหนดไว้ว่า เป้าหมายสุดท้าย วิสัยทัศน์ของการพัฒนาคือสังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน  “สังคม” ก็หมายถึงประชาชนทั้งหมด คำว่า ”อยู่เย็นเป็นสุข” เป็นคำไทยๆ หมายถึง ดีด้วยประการทั้งปวง ร่างกาย จิตใจ แล้วก็ “ร่วมกัน” ไม่ใช่สุขอยู่คนเดียวหรือกลุ่มเดียว  เป็นสุขร่วมกัน  ถ้าในชุมชนก็เป็นสุขกันทั้งชุมชน ในสังคมก็เป็นสุขกันทั้งสังคม สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันทั้งระดับชาติระดับท้องถิ่น  ฉะนั้น ในตำบลหนึ่งเราก็บอกได้ว่า ถ้าตำบลเราจะเป็นตำบลที่อยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน สภาพที่เป็นอยู่จริงๆ คืออะไร  ท่านก็แยกได้นะว่า เรื่องปัจจัย ๔ เป็นอย่างไรบ้าง อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย เป็นอย่างไร สุขภาพอนามัยเป็นอย่างไร เราก็อยากมีสุขภาพที่ดีใช่ไหม ความปลอดภัยเป็นอย่างไร  สภาพแวดล้อมเป็นอย่างไร ดินฟ้าอากาศ ทรัพยากรต่างๆ เรื่องของศิลปวัฒนธรรมเป็นอย่างไร  เป็นเครื่องจรรโลงจิตใจ  ครอบครัวเราเป็นอย่างไร  การศึกษาเป็นอย่างไร  เพราะการศึกษาจะช่วยให้เราพัฒนาระยะยาว วัฒนธรรมเป็นอย่างไร อิสรภาพ เสรีภาพเราเป็นยังไง  เรามีเสรีภาพ เรามีส่วนร่วมในการปกครองท้องถิ่นมากแค่ไหน  คุณธรรมในจิตใจ ความรักความสามัคคีร่วมกันเป็นอย่างไร  เราดูสภาพพวกนี้ได้แล้วก็หาตัวชี้วัดออกมา พอได้ตัวชี้วัดอย่างนี้ ท่านก็มาคิดได้สิว่าปัจจุบันเป็นอย่างนี้ ปีหน้า ปีนู้น เราอยากให้ดีขึ้นอย่างไร  ท่านกำหนดเป้าหมายได้  พอกำหนดเป้าหมายได้แบบนี้ ท่านก็มาคิด ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี วิธีการว่าทำอย่างไรให้บรรลุเป้าหมาย  จะทำให้การคิดแผนงานของท่านนี่มีพลังมากขึ้น มีทิศทางดีขึ้น มีรายละเอียดดีขึ้น แล้วก็ตรวจสอบได้นะว่า พอสิ้นปีได้ผลสักแค่ไหน สมหวังแค่ไหน ผิดหวังแค่ไหน  ท่านก็เรียนรู้และพัฒนาต่อไปได้อีก

                ฉะนั้น การใช้ตัวชี้วัดเป็นเครื่องมือเป็นเรื่องที่น่าทำ โดยใช้ตัวชี้วัดไม่ใช่ชี้วัดรายได้อย่างเดียว แต่ชี้วัดความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน เป็นตัวชี้วัดที่บูรณาการ  เรื่องนี้สอดคล้องกับกระแสในโลกกำลังก่อตัวแล้วก็กำลังแรงขึ้น ที่เรียกว่า GNH (Gross National Happiness) หรือ ความสุขมวลรวมประชาชาติ  ที่ถือกำเนิดขึ้นในประเทศภูฏาณอย่างเป็นจริงเป็นจัง  ประกาศเป็นนโยบายประเทศ อยู่ในรัฐธรรมนูญเลย  รัฐธรรมนูญเขาเขียนเลยว่าจะต้องมีเป้าหมายคือความอยู่เย็นเป็นสุข  แม้กระทั่งป่าไม้ เขาเขียนในรัฐธรรมนูญเลยว่าต้องรักษาไว้ไม่น้อยกว่าเท่านั้นเท่านี้เปอร์เซ็นต์ เขาบอกไว้เลย  แล้วรัฐบาลก็ใช้นโยบาย GHN  มีหลายประเทศสนใจก็จัดประชุมทางวิชาการกันมา  ๓ ปีแล้ว  ปีที่แล้วมาจัดที่ประเทศไทย  ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่นำความคิดเรื่อง GHN มาใช้  ตั้งแต่แผน ๘  เราพูดกันถึงความสุขมวลรวมประชาชาติ แต่ไม่ดังเท่าภูฏาณ  ภูฏาณเขาประเทศเล็กนิดเดียว แต่เขาดังกว่าเพราะเขาเอาจริงเอาจังมาก และมีการศึกษาวิจัย มีสถาบันตั้งกันมาเพื่อการนี้  มีชาวต่างประเทศไปวิจัยแล้วก็มาประชุมวิชาการกัน  บ้านเราเมืองไทยมันใหญ่ก็เลยมีหลายเรื่อง เรื่องดีๆ ถูกเรื่องที่ไม่ค่อยดีกลบไปหมด  ขณะนี้เรื่องดีๆ ก็มีเยอะ ประเทศไทยขณะนี้ ณ วันนี้  แต่เรื่องไม่ดีมันเยอะมันเลยกลบ ข่าวก็มีแต่เรื่องไม่ดี เรื่องดีน้อย  เราต้องช่วยกันค้นหาเรื่องดีแล้วก็เอาเรื่องดีมาพูดแล้วมาทำ  แล้วเรื่องไม่ดีจะค่อยๆ หายไปหรือน้อยลง

                ฉะนั้น เรื่องการใช้ตัวชี้วัด ผมอยากจะส่งเสริมและผมเองได้เกี่ยวข้องกับเรื่องการพัฒนาชุมชนมาเป็นเวลานาน  ๒๐ ปีคงจะได้ ก็คิดว่าถึงเวลาที่สามารถจะนำเอาวิธีการต่างๆ ที่ดีๆ มาผสมผสาน โดยเฉพาะเรื่องการมีตัวชี้วัดสภาพความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน จะเรียกว่าตัวชี้วัดความสุขก็ได้ มีคนศึกษาวิจัยอยู่แต่ยังไม่ถึงขั้นมาประยุกต์ปฏิบัติ  ผมอยากให้เอามาประยุกต์ปฏิบัติได้  ก็เคยคุยกับชุมชนหลายแห่ง  รวมทั้งที่ชุมชนหนองสาหร่ายที่คุณ  ศิวโรฒจะมาพูด  ลองทำขึ้นมาแล้วเราก็มาเรียนรู้จากสิ่งที่ทำ  ไม่มีสูตรสำเร็จ  ผมไม่ได้มีสูตรสำเร็จให้ เพียงแต่มีความคิดว่าเป็นเรื่องที่ดี  แล้วเรื่องการวางผังเมืองนี่ ถ้าเกิดทางสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังจะเผยแพร่เรื่องนี้  มีสิ่งดีๆ อยู่ในนั้น  เรื่องการวางผังเมืองเราก็มาผสมผสานกัน ในชนบท ในเมือง  หลักใหญ่แล้วเหมือนกัน แต่ว่ารายละเอียดจะต่างกัน  ในเมืองก็มีขบวนการระดับโลกที่เขาเรียกว่า Healthy City ก็คือเมืองแห่งความสุขนั่นเอง  แล้วก็จะมีการกำหนดตัวชี้วัด มียุทธศาสตร์ มีวิธีการต่างๆ  การวางผังเมืองก็เป็นส่วนหนึ่งของ Healthy City เรามาแปลงคำว่า Healthy City เป็นคำว่า Healthy Community คือชุมชนเป็นสุข  ยังมีแผนงานที่ สสส. สนับสนุนอยู่เยอะเหมือนกัน  ฉะนั้น เรามีหลายๆ อย่างที่เป็นพื้นฐานเอื้อต่อการพัฒนาชุมชนให้อยู่เย็นเป็นสุข โดยเฉพาะอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน  มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนสอดคล้องกับแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง  และผสมผสานศาสตร์ต่างๆ รวมทั้งการวางผังเมืองและการนำตัวชี้วัดเข้ามา

                ผมหวังว่าท่านทั้งหลายจะได้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าจากการสัมมนาครั้งนี้ และเชื่อว่าความพยายามร่วมกันของหลายๆ ฝ่าย บนพื้นฐานของความรัก ความเป็นมิตร ความปรารถนาดี จะช่วยให้เกิดความเจริญก้าวหน้า ความสันติสุขร่วมกันดียิ่งขึ้นตลอดไป  ผมขอเปิดการประชุมและขอสวัสดี ขอขอบคุณและขอให้ทุกท่านจงมีความสันติ ความเจริญ และความสุขโดยทั่วกัน ขอบคุณครับ สวัสดีครับ

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/323795

<<< กลับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *