แนวคิด ทิศทางการพัฒนาประเทศในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11

แนวคิด ทิศทางการพัฒนาประเทศในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11


(สรุปคำอภิปราย “แนวคิด ทิศทางการพัฒนาประเทศในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11” ในการประชุมประจำปี 2552 เรื่อง “จากวิสัยทัศน์ 2570…สู่แผนฯ 11” วันศุกร์ที่ 10 กรกฎาคม 2552 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ)

 

เป็นการนำเสนอตัวชี้วัดความสำเร็จและกงล้อหลักสู่ความสำเร็จของการพัฒนา  ผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาและโครงสร้างที่เอื้ออำนวย กระบวนการวางแผนที่เป็นของประชาชนโดยภาครัฐมีส่วนร่วมและสนับสนุน และการวางแผนในลักษณะเคลื่อนที่ โดยมีสาระสำคัญดังนี้

  1. ภาพรวมของการวางแผน การวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ผ่านมา มีการอภิวัตน์หรือการปรับปรุงครั้งสำคัญ 2 ครั้ง คือ ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 3 มีการเพิ่มเติมเรื่องการพัฒนาสังคมเข้าไปในแผน และในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 ที่มีการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำแผนอย่างสูงมาก ซึ่งในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 นี้ น่าจะถึงเวลาที่ควรมีการอภิวัตน์การวางแผนอีกครั้ง โดยควรเปลี่ยนชื่อแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็น “แผนพัฒนาประเทศ” เพื่อให้เป็นการวางแผนที่ครอบคลุมทุกเรื่องที่สำคัญอย่างเป็นบูรณาการ ไม่จำกัดเฉพาะด้านเศรษฐกิจและสังคมเท่านั้น และควรให้ประชาชนเป็นเจ้าของเรื่องและมีบทบาทสำคัญในการวางแผนและแก้ไขปัญหา
  2. ตัวชี้วัดความสำเร็จของการพัฒนา และกงล้อหลักสู่ความสำเร็จของการพัฒนา
    • ตัวชี้วัดความสำเร็จของการพัฒนา ควรมีตัวชี้วัด “ความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” ใน 4 ส่วนอย่างได้ดุล ดังนี้
  • ในเขตการปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ ตำบล เทศบาล จังหวัด
  • ในองค์กรที่คนมาทำงานหรือทำกิจกรรมร่วมกันในลักษณะองค์กรหรือสถาบัน
  • ในประเด็นสำคัญที่ภาคประชาชนร่วมกับภาครัฐเห็นว่าสำคัญ
  • ระดับประเทศ

ปัจจุบัน สศช. จัดทำตัวชี้วัดเฉพาะในระดับประเทศเท่านั้น สำหรับตัวชี้วัดข้อ 1 และ 2 ควรให้ประชาชนสร้างตัวชี้วัดเอง ตลอดจนใช้ตัวชี้วัดเพื่อการวางแผน การจัดการ การปฏิบัติ ติดตามผล และปรับปรุงพัฒนาด้วยชุมชนเองจึงจะเกิดผล

  • กงล้อหลักสู่ความสำเร็จของการพัฒนา
  • ความมีสุขภาวะ ทางกาย ทางใจ ทางปัญญา ทางสังคม
  • ความดี ได้แก่ การทำสิ่งเป็นคุณ ไม่ทำสิ่งเป็นโทษ สร้างศักยภาพที่จะทำดี
  • ความสามารถ ในการคิด ในการทำ ในการจัดการ

ดังนั้น การสร้างตัวชี้วัดความสำเร็จของการพัฒนา จึงควรวัดผลที่แสดงความมีสุขภาวะ การมีความดี การมีความสามารถ เป็นสำคัญ

  1. ผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนา และโครงสร้างที่เอื้ออำนวยต่อผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนา

3.1  ผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนา

  • ประชาชนที่รวมตัวกันในลักษณะเขตการปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีรัฐธรรมนูญและกฎหมายรองรับ เช่น ตำบล เทศบาล จังหวัด
  • ประชาชนที่รวมตัวกันในลักษณะองค์กรหรือสถาบัน อาทิ สถานประกอบการ หน่วยงานของรัฐ สถานศึกษา เป็นต้น
  • ประชาชนและภาครัฐที่ร่วมกันดูแลจัดการประเด็นที่เห็นร่วมกันว่าสำคัญ เช่น ภาวะโลกร้อน เศรษฐกิจสร้างสรรค์ เป็นต้น

3.2    โครงสร้างที่เอื้ออำนวยต่อผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนา

(1)  โอนอำนาจการจัดการพัฒนาพื้นที่ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างสมบูรณ์และบูรณาการ รวมถึงการมีจังหวัดที่เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ตามรัฐธรรมนูญ

(2)  ยังคงมีผู้ว่าราชการจังหวัดพร้อมสำนักงานเล็กๆ มีหน้าที่ประสานนโยบายส่วนกลางกับ อบจ. และกลุ่มจังหวัด

  1. กระบวนการวางแผนที่เป็นของประชาชนโดยภาครัฐมีส่วนร่วมและสนับสนุน
    • กระบวนการวางแผนที่เป็นของประชาชน โดยการจัด “สานเสวนาประชาชน” (Citizen Dialogue) ให้ครบทุกส่วนของประชาชนที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนา โดยใช้วิธีสุ่มตัวอย่างจากแต่ละส่วน ได้แก่
  • ประชาชนในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ ตำบล เทศบาล จังหวัด (เชิงท้องถิ่น)
  • ประชาชนที่รวมตัวกันในลักษณะองค์กรหรือสถาบัน (เชิงองค์กร)
  • ประชาชนและภาครัฐที่ร่วมกันดูแลจัดการประเด็นที่เห็นร่วมกันว่าสำคัญ (เชิงประเด็น)
    • ภาครัฐมีส่วนร่วมและสนับสนุน ดังนี้

(1)  ภาครัฐ หมายรวมถึง รัฐบาล ฝ่ายค้าน รัฐสภา หน่วยงานของรัฐ

(2)  ประชาชน หมายรวมถึง ชุมชนท้องถิ่น ชุมชนองค์กร ภาคธุรกิจ ภาควิชาการ ภาคศาสนา ภาคประชาสังคม (Civil Society) องค์กรสาธารณประโยชน์ องค์กรพัฒนาเอกชน กลุ่ม ชมรม เครือข่าย ฯลฯ

(3)  ภาครัฐมีส่วนร่วม หมายรวมถึง ร่วมในกระบวนการวางแผน ในการปฏิบัติตามแผน ในการวัดผลและเรียนรู้เพื่อปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

(4)  ภาครัฐสนับสนุน หมายรวมถึง สนับสนุนกระบวนการวางแผน สนับสนุนการปฏิบัติตามแผน ตลอดจนการวัดผลเพื่อเรียนรู้และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และสนับสนุนด้วยโครงสร้าง กลไก กฎหมาย นโยบาย มาตรการ งบประมาณ ฯลฯ ที่เหมาะสม

  1. การวางแผนในลักษณะ “เคลื่อนที่” (Moving Plan) เนื่องจากสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากเมื่อถึงเวลาใช้แผน ทำให้แผนดังกล่าวอาจไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปนั้นๆ อาทิ วิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในช่วงการใช้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 และ 10 จึงจำเป็นต้องมีการวางแผนที่มีการ “เคลื่อนที่” (Moving) ซึ่งหมายถึง การทบทวนแผน (Review) หรือ “วางแผนใหม่” (Replan) ทุก 2 ปี พร้อมการ “เคลื่อนที่” ไปข้างหน้า 2 ปี โดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่

5.1  แผนระยะสั้น ระยะเวลา 2 ปี นับจากปัจจุบัน เน้นจุด “คานงัด” สำคัญในการเคลื่อนสู่แผนระยะกลางอย่างน่าพึงพอใจ ตัวอย่างเช่น การบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างสร้างสรรค์และมีคุณค่า การฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจอย่างมีจินตนาการและสร้างสรรค์เพื่อผลทั้งระยะสั้นและระยะยาว การสร้างความสมานฉันท์ในสังคมและการเมืองด้วยกระบวนการสันติวิธี การสร้างความเจริญสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยให้ประชาชนเป็นเจ้าของเรื่องและมีบทบาทสำคัญ เป็นต้น

5.2  แผนระยะกลาง ระยะเวลา 6 ปี เน้นยุทธศาสตร์ (Strategy) และแผนงานสำคัญ (Program)

5.3  แผนระยะยาว ระยะเวลา 12 ปี เน้นผลสำเร็จสุดท้ายอันพึงปรารถนาร่วมกัน (หรือวิสัยทัศน์) และทิศทางสำคัญในการบรรลุผลสำเร็จสุดท้าย

ดังนั้น เมื่อรวมระยะเวลาของแผนทั้ง 3 ระยะแล้ว จะเป็นระยะเวลาในการวางแผนทั้งหมด 20 ปี ซึ่งสำหรับการวางแผนแล้ว ระยะเวลา 20 ปี หรือแม้กระทั่ง 50 ปี เป็นระยะเวลาที่ไม่ยาวนานหรือไกลเกินไป

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/293263

<<< กลับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *