“วิกฤติ” คิดเชิงบวก (2)

“วิกฤติ” คิดเชิงบวก (2)


“ถ้าเจาะจงมาที่การแก้ปัญหาความขัดแย้งยิ่งต้องการกระบวนการ เพราะถ้าขาดกระบวนการแล้วเรามาพูดกันเลยว่าคุณจะเอายังไง ผมจะเอายังไง สิ่งที่เกิดขึ้นซึ่งเราเห็นจากจอทีวีก็คือข้างหนึ่งก็มาชี้หน้าด่าอีกข้างหนึ่ง กล่าวหาอีกข้างหนึ่ง คือเรียกร้องอีกข้างหนึ่งว่าคุณต้องทำอย่างนั้นๆ ตัวเองต้องทำอะไรไม่พูด อีกข้างหนึ่งก็บอกว่าคุณต้องทำอย่างนั้นๆ ตัวเองทำอะไรก็ไม่พูด ก็ยืนอยู่คนละมุม เรียกว่าเอาจุดยืนเป็นตัวตั้ง เพราะว่าถ้าเริ่มต้นด้วยสาระเลยคนจะเอาจุดยืนเป็นตัวตั้ง บอกเลยว่าจุดยืนผมคืออย่างนี้ ก็แปลว่าผมไม่เปลี่ยนไปจากจุดยืน ถ้าอย่างนั้นการเจรจาการปรึกษาหารือมันก็ไร้ประโยชน์สิเพราะต่างคนต่างมีจุดยืนแล้วนี่ และจุดยืนมันขัดกัน ที่ทะเลาะกันเพราะจุดยืนมันขัดกัน เขาถึงต้องมีกระบวนการ ซึ่งเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่เรียนรู้กันได้ สถาบันพระปกเกล้าได้ตั้งศูนย์สันติวิธีและธรรมาภิบาลซึ่งผมเป็นคนเสนอแนะให้ตั้งตั้งแต่ประมาณสิบปีมาแล้ว ก็ได้ไปดูงาน ทั้งไปดูเอง เคยส่งสมาชิกรัฐสภาไปดูงานที่แคนาดา ที่อเมริกา ตอนนั้นประธานก็ไป จำได้ว่าคุณอุทัย พิมพ์ใจชน ก็ไป อ.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ในฐานะเป็นวุฒิสมาชิกก็ไป ไปหลายฝ่าย ก็ไปเห็นวิธีการที่ประเทศอย่างแคนาดาเวลาเขาจะกำหนดนโยบายใหญ่ๆ เขาจัดให้มีการปรึกษาหารือกันอย่างกว้างขวางเป็นเวลานาน ที่เขาเรียกว่า citizen dialogue การสานเสวนาประชาคม หรือว่าการสนทนาประชาชนแล้วแต่จะเรียก คือประชาชนก็ต้องสรรหาคนที่เหมาะสมหลายๆ ฝ่ายมาร่วมกันระดมความคิด แต่ในการระดมความคิดต้องจัดกระบวนการที่ดี ถึงจะได้สาระที่ดีออกมา ตัวนโยบายต้องมีกระบวนการ กระบวนการคือการมีส่วนร่วม แต่การมีส่วนร่วมจะทำให้เกิดได้อย่างไร มีเทคนิควิธีการ ประเทศสวีเดนจะออกกฎหมายเรื่องสุขภาพเขาตั้งคณะกรรมาธิการของทุกพรรค ทั้งรัฐบาลทั้งฝ่ายค้าน และก็ไปจัดเวทีสาธารณะเวทีรับฟังความเห็นทั่วประเทศ เอามาวิเคราะห์สังเคราะห์ และก็จัดอีกรอบอะไรแบบนี้เป็นเวลาประมาณ 3 ปีก่อนที่เขาจะสรุปว่ากฎหมายนี้หน้าตาจะเป็นอย่างไร แต่ผลที่ได้คือว่าพอกฎหมายนี้เข้ารัฐสภาก็ผ่านโดยเรียบร้อย เพราะมันผ่านกระบวนการที่ดี และกระบวนการที่ดีทำให้เกิดความรู้สึกนึกคิดที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นความขัดแย้ง ในประเทศไทยเราก็ทำกันนะ กรณีความขัดแย้ง หมอวันชัย วัฒนศัพท์ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการคนแรกของศูนย์สันติวิธีและธรรมาภิบาล พล.อ.เอกชัยนี่เป็นคนที่สอง แต่ก่อนหน้าจะมีศูนย์สันติวิธีฯ สถาบันสันติศึกษาที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นซึ่งคุณหมอวันชัยเป็นอธิการบดีเป็นคนริเริ่มจัดตั้งขึ้น ก็เริ่มต้นด้วยการไปศึกษาเรียนรู้จากประเทศที่เขาทำแล้ว ซึ่งแคนาดามีหลายมหาวิทยาลัยมากที่เขาทำเรื่องสันติวิธี และเขาไปช่วยแก้ความขัดแย้ง เช่นระหว่างรัฐบาลกับชนเผ่า หรือระหว่างคนที่ต้องการประโยชน์จากป่าไม้กับคนที่ต้องการรักษาป่าไม้ เขาจัดกระบวนการให้มาพูดมาคุยกัน จึงเป็นสิ่งที่ผมเรียกว่าเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ เมืองไทยเราก็ทำกันและที่ทำกันโดยธรรมชาติโดยผู้หลักผู้ใหญ่มาช่วยเป็นคนกลางพูดจากันในหมู่บ้านในชุมชน คือคุยกันแบบธรรมชาติก็ได้ถ้าเรื่องไม่ร้อนแรงมาก หรือโดยธรรมชาติของคนเราก็อยากจะเห็นการแก้ปัญหา ถ้าคุยกันได้ ผู้ใหญ่มาเป็นคนกลางให้ เอาหลายๆ ฝ่ายมาพูดมาคุยกัน ปรึกษาหารือกัน เกิดความคิดที่ดีร่วมกัน คือไม่ใช่มาเถียงกันว่าใครผิดใครถูก เพื่อจะเอาแพ้เอาชนะ มาช่วยกันหาทางออกร่วมกัน ทางออกซึ่งจะพอใจร่วมกัน การเจรจาที่ดีเป้าหมายคือได้ข้อสรุปที่พอใจร่วมกัน คือได้ข้อตกลง ถ้าตกลงกันได้ถือว่าดี”

ในกระบวนการนี้ ‘คนกลาง’ สำคัญอย่างยิ่ง

 

“คนกลางก็จะเป็นประโยชน์ แต่คนกลางต้องเป็นที่ยอมรับของคู่กรณี เดี๋ยวนี้ที่เราทำมากคือเรื่องคดีความในศาล ที่เรียกว่าเป็นความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์หรือ restorative justice เปรียบเทียบกับยุติธรรมเชิงเอาคืน หมายถึงว่าคุณทำผิดต้องลงโทษคุณหรือ retributive justice แค้นนี้ต้องชำระทำนองนั้น เดี๋ยวนี้ก็มานิยมใช้ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ นั่นคือคู่กรณีตกลงกันได้นอกศาล ก็เป็นคดีแพ่งนะเพราะคดีอาญาคงทำไม่ได้ ก็ประสานงานกัน สถาบันพระปกเกล้าก็มีส่วนในการช่วยจัดฝึกอบรมวิทยากรที่จะเป็นผู้ไกล่เกลี่ย คำว่าไกล่เกลี่ยไม่ได้แปลว่าไปพูดจาหว่านล้อมให้เขาตกลงกัน ไม่ใช่นะ ผู้ไกล่เกลี่ยที่เราเรียกคนกลางจริงๆ แล้วไม่ใช่คนไกล่เกลี่ยในความหมายภาษาไทย แต่หมายถึงคนจัดกระบวนการ คนอำนวยความสะดวกให้คู่กรณีได้พูดจากันอย่างมีขั้นมีตอน ที่เหมาะสม มันต้องค่อยไปทีละขั้น ถ้าไปเดินเร็วเกินไป อย่างเช่นการเจรจาของเราที่ออกทีวีทั้งสองครั้ง เร็วเกินไป เจอหน้ากับปั๊บบอกเลยว่าผมอยากได้อะไรคุณต้องทำอะไร ถ้าสมมติว่ามีคนกลางช่วยจัดกระบวนการจะไม่ใช่แบบนั้น จะต้องค่อยๆ ไป เริ่มต้นต้องสร้างบรรยากาศที่เหมาะสม ไม่ใช่มาถึงก็หน้าดำหน้าแดงชี้หน้าด่าเลย แสดงว่าอารมณ์ยังคุกรุ่นมาก แต่มันไก่กับไข่ เราจะเริ่มอะไรก่อน ก็ต้องเริ่มกระบวนการ เช่นว่ามานั่งกันให้สบายๆ และก็รอบแรกเราอย่าเพิ่งไปออกทีวี มาคุยกันสิว่าที่เราจะเจรจากันจะเจรจาโดยมีขั้นมีตอนอย่างไร จะใช้ที่ไหน ช่วงไหนที่เจรจาโดยยังไม่ออกทีวี ช่วงไหนจะออกทีวี คุยกันเรื่องพวกนี้ มันจะตกลงได้ไม่ยาก คุยกันอย่างสร้างสรรค์ มันจะรู้สึกอบอุ่น คือเพราะไม่มีกระบวนการมันทำให้คู่กรณีกระโจนเข้าใส่สาระ พร้อมทั้งจุดยืน พร้อมทั้งการระบายอารมณ์ พร้อมทั้งการกล่าวหา สบประมาท เสียดสี เกิดขึ้น เราเห็นตำตาเลย เป็นตัวอย่างที่เป็นบทเรียนว่านี่คือสิ่งที่ไม่ควรทำ แต่ถามว่าแล้วทำอะไรแทน มันต้องมีกระบวนการ กระบวนการนี้มีคนมาช่วยจัด ทั้งสองฝ่ายเขาจัดไม่ได้ หนึ่งอาจจะเขาไม่รู้ หรือสองเขาไม่อยู่ในฐานะที่จะจัดเพราะเขาเป็นคู่กรณี มันต้องคนกลาง คำว่าคนกลางไม่ใช่แปลว่าข้างใดข้างหนึ่ง และก็ไม่ได้ไปโน้มน้าวใคร ไม่ได้ไปตัดสินอะไรให้ใคร แต่ช่วยจัดกระบวนการ แต่การจัดกระบวนการทั้งหมดคู่กรณีต้องยอมรับเสมอ ฉะนั้นคนกลางก็จะถามว่าจัดกระบวนการอย่างนี้คุณเห็นด้วยใช่ไหม ถ้าไม่เห็นด้วยคุณมีข้อเสนออะไร สมมติพูดกันว่าเราจัดประชุมนัดแรกๆ โดยยังไม่ต้องออกทีวี เห็นด้วยไหม ถ้าฝ่ายหนึ่งเห็นว่าควรออกทีวีเลยแต่อีกฝ่ายไม่เห็นด้วย คือเห็นว่าถ้ายังไม่ออกจะดีกว่า ก็ลองปรึกษากัน อย่างนี้เป็นต้น เรามาพูดคุยกันเรื่องง่ายๆ ให้เสร็จสิ้นก่อนดีไหม สมมติว่าคุยกันแล้ว ซึ่งของอย่างนี้พูดกันหลังฉากมันง่ายกว่า ไปพูดกันต่อหน้าทีวีก็ไม่ได้เพราะนี่มันยังไม่ใช่เรื่องที่ประชาชนเขาจะสนใจ เขาสนใจข้อตกลงว่าคุณจะตกลงกันว่าอย่างไร การตกลงในเรื่องต้นๆ อย่างนี้คู่กรณีก็ต้องตกลงกันไปทีละเรื่อง เช่นบอกว่าในการเจรจาเราจะมีกติกาอะไรบ้าง ลองเสนอมาสิ ต่างฝ่ายต่างเสนอมา อาจจะรวมแล้ว 20 ข้อ แต่ที่ตรงกันและเห็นพ้องด้วยกัน 10 ข้อ ก็ตัดที่ไม่ตรงกัน 10 ข้อนั้นออกไป ตกลงมีกติกา 10 ข้อนะที่เห็นพ้องต้องกัน เราก็ทำไปตามกติกา 10 ข้อที่เห็นพ้องต้องกัน คนกลางไม่ใช่เป็นคนไปวางกติกา คู่กรณีต่างหากที่วางกติกา แต่คนกลางช่วยให้มีวาระนี้ขึ้น”

 

หลังจากนี้ dialogue ยิ่งควรจะต้องเกิดขึ้นในทุกพื้นที่

 

“ทั้งสามอย่างคือทั้งกระบวนการ ทั้งทัศนคติ ทั้งสาระ นอกจากจะต้องไปด้วยกันแล้วจะต้องทำในเรื่องต่างๆ ตามความเหมาะสม สมมติว่าตอนนี้มีชุมชนตั้งเยอะแยะที่มีทั้งแดงทั้งเหลือง ถ้าเราจะให้ชุมชนเขาได้มาพูดจากัน  ต้องมีคนไปช่วยจัดให้หน่อยซึ่งอาจเป็นวิธีง่ายๆ  เช่นช่องทีวีไทยเชิญชุมชนแถวทุ่งสองห้องใกล้ดอนเมืองมานั่งล้อมวงพุดคุยกันและออกทีวีด้วยเมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่นั่นเขามีทั้งแดงทั้งเหลือง ก็ผลัดกันพูด ฟังซึ่งกันและกัน แต่ถ้าให้ดีต้องฟังอย่างตั้งใจและฟังอย่างให้เกียรติ ซึ่งที่เขามาออกทีวีได้เพราะว่าเรื่องเขาไม่ได้ร้อนแรงถึงขนาดจะฆ่าจะฟันกัน หรือจะต้องมีเงื่อนไขอะไรกันมากมาย เขาไม่ได้ไปตีกันในชุมชน แต่เขาเห็นต่างกันเท่านั้น ก็มานั่งคุยกันได้ แล้วความรู้สึกจะดีขึ้น และอาจจะทำมากขึ้นหรือลงลึกขึ้น ในที่สุดก็ไปถึงจุดที่ว่าชุมชนนี้แม้จะมีความเห็นต่างก็ไม่เป็นไรอยู่ร่วมกันได้และสามารถมาร่วมกันพัฒนาชุมชนของเขาได้”

 

บทบาทของผู้นำชุมชนน่าจะช่วยให้บรรยากาศคลี่คลายได้บ้าง

 

“ผู้นำที่ฉลาดก็ต้องรู้วิธีที่จะสร้างความสมานฉันท์ และถ้าคิดว่าจำเป็นหรือสมควรต้องมีคนไปช่วย ที่เรียกว่าคนกลางหรือวิทยากรกระบวนการหรือ “กระบวนกร” ก็ไปหามา ซึ่งจะมีอาสาสมัครมีวิทยากรที่สถาบันพระปกเกล้าฝึกไว้ก็เยอะนะ ไปร้อยๆ ในรอบสิบปีที่ผ่านมา มีเครือข่ายทั่วประเทศ มาช่วยได้ อย่างน้อยเขาได้เรียนรู้เรื่องสันติวิธีมา ขณะนี้สถาบันพระปกเกล้ามีหลักสูตร 9 เดือน เรื่อง “การเสริมสร้างสังคมสันติสุข” หรือหลักสูตร “4ส.” รุ่นแรกเขาเน้นที่ภาคใต้ ที่จริงคลุมทุกเรื่อง คลุมความขัดแย้งอย่างน้อย 4 ประเภท หนึ่งคือภาคใต้ สองการเมือง สามเรื่องทรัพยากร สี่เรื่องประชากรหรือเรื่องทางสังคม ปีนี้ยังคงเรื่องภาคใต้ไว้แต่จะเพิ่มเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองและสังคมที่ยิ่งใหญ่เข้าไปในประเด็นของหลักสูตรด้วย”

 

ถือว่าในช่วงความขัดแย้งที่ผ่านมา ฝ่ายแนวทางสันติวิธีก็เรียนรู้ไปด้วย

“ใช่ คือคนที่สนใจหรือพยายามจะใช้สันติวิธีถือว่าเป็นส่วนน้อยในสังคม แต่ถ้าเทียบกับเมื่อสิบปีที่แล้วก็เพิ่มขึ้นเยอะ คนที่เข้าใจเรื่องสันติวิธีและเป็นผู้จัดกระบวนการได้ก็เพิ่มขึ้น ความเข้าใจของคนที่ไม่ได้เป็นผู้จัดกระบวนการแต่เข้าใจ เห็นคุณค่าก็เพิ่มขึ้น และอย่างน้อยที่สุดคนที่ตระหนักรับรู้ว่าสังคมเราขัดแย้ง ต้องมีความพยายามที่จะแก้ไข คืออย่างน้อยความตระหนักในปัญหาก็เพิ่มขึ้นมาก”

 

ฟื้นแผนปรองดอง-ยุบสภา

 

สถานการณ์ที่รัฐบาล (คิดว่า) ได้เปรียบ แผนปรองดองแห่งชาติถูกพับเก็บชั่วคราว ยิ่งเรื่องยุบสภายิ่งไม่มีการพูดถึง แต่อาจารย์ไพบูลย์กลับเห็นว่าแผนปรองดองของนายกฯ ต้องนำมาประยุกต์ดัดแปลงให้เหมาะสม และอย่าลืมเรื่องความชัดเจนในการยุบสภา

 

“เนื่องจากรัฐบาลมีแผนปรองดองแห่งชาติ ผมก็ผนวกเข้าไปว่าแผนนี้ต้องมีการปรับปรุงพัฒนาให้มันกลมกลืนไปกับแผนของสังคม ซึ่งที่ว่าปรับปรุงพัฒนามันจะมีประเด็นหนึ่งที่สำคัญ ซึ่งขณะนี้ดูประหนึ่งว่ายังหาข้อสรุปที่พอใจร่วมกันไม่ได้ หรือยังไม่ตกผลึก ก็คือการยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ ซึ่งตรงนี้เป็นประเด็นที่ทำให้ขัดแย้งกันสูง แต่ที่มาของประเด็นนี้ก็ซับซ้อน ไม่ใช่เฉพาะประเด็นแค่เรื่องยุบสภาหรอก มันซับซ้อนกว่าเรื่องยุบสภา แต่อย่างน้อยยุบสภาเป็นประเด็น และก็ได้เอามาพูดกันด้วย จนกระทั่งมีการต่อรองกันตั้งแต่ 2 สัปดาห์ไปจนถึง 9 เดือน และตอนหลังคุณอภิสิทธิ์ก็มาเสนอเลือกตั้งวันที่ 14 พ.ย. ยุบสภาก็ประมาณ ก.ย. แต่เนื่องจากว่ายังตกลงกันไม่ได้ เรื่องก็เลยบานปลายไปจนกระทั่งความรุนแรงเกิดขึ้น ฉะนั้นประเด็นเรื่องยุบสภาก็ยังเป็นอยู่ คุณอภิสิทธิ์ก็บอกว่ายังไม่ได้ปิดนะ ยังไม่ได้ปิดช่องที่ว่าจะยุบสภาก่อนครบวาระ เพียงแต่ต้องดูว่าสถานการณ์มันเหมาะสม แต่ประเด็นเหล่านี้เป็นการพูดกันทีละข้าง ยังไม่ได้มีกระบวนการมาช่วย ก็คือกระบวนการมาหารือร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งถ้าทำขณะนี้ยังทำได้ก็ควรทำ ความร้อนแรงก็จะน้อยกวาตอนที่มาออกทีวี เพราะว่าการเผชิญหน้ากันมันผ่านไปแล้ว อาจจะลงใต้ดินลงอะไรแต่อย่างน้อยอุณหภูมิได้ลดลงจาก 100 องศา หรือ 90 องศา มาเป็นอาจจะ 50-60 หรือถ้าเป็นอากาศก็ลดลงจาก 40-50 องศา ซึ่งมันร้อนมาก มาเป็น 30-40 ร้อนพอทนและยังร้อนอยู่ยังไม่เย็น ก็ยังมีเวลาที่จะมาพูดมาคุยกัน แต่การพูดคุยคราวนี้ต้องจัดกระบวนการให้ดี และก็หลายๆ ฝ่ายนะ ไม่ใช่เฉพาะ นปช.กับรัฐบาล อาจจะต้องคิดว่าหลายๆ ฝ่ายมาหารือร่วมกัน รวม นปช.และรวมรัฐบาล รวมฝ่ายนิติบัญญัติ ทั้ง ส.ส. ส.ว. รวมนักวิชาการ นักธุรกิจ ผู้นำชุมชน ภาคประชาชนสังคม เอ็นจีโอ ให้มีตัวแทนจากหลายๆ ฝ่ายของสังคม มาปรึกษากันว่าเอาละเรายังไม่ผ่านพ้นวิกฤติอย่างสมบูรณ์นะ มันยังมีประเด็นว่าจะเลือกตั้งเมื่อไหร่ซึ่งรัฐบาลก็ยังไม่ได้พูดชัดว่าจะยุบสภาเร็วกว่ากำหนดหรือไม่ เพียงแต่พูดว่าก็ยังมีความเป็นไปได้ ถ้าถูกถามก็จะบอกว่าก็ยังไม่ปิดโอกาส แต่ต้องให้สถานการณ์เหมาะสม แต่ว่าสถานการณ์เหมาะสมคืออะไร แล้วใครจะทำให้สถานการณ์มันเหมาะสม ถ้าเราจัดเวทีค่อยพูดค่อยจา จัดกระบวนการให้ดี ให้หลายๆ ฝ่ายได้มามีส่วนร่วม จัดขั้นตอนที่เหมาะสม บรรยากาศเริ่มดีขึ้น และถ้ามีหลายฝ่ายมาร่วม ดีกว่าสองฝาย เพราะสองฝ่ายคือคู่ขัดแย้งคนละขั้ว ถ้ามีฝ่ายอื่นๆ เขาไม่ได้ร่วมขัดแย้งด้วย เขาอยู่กลางๆ อาจจะเอียงข้างนี้บ้าง เอียงข้างนั้นบ้าง ไม่เป็นไร แต่รวมแล้วมันมีความสมดุลมากขึ้น ดังนั้นความรู้สึกและความคิดความเห็นก็จะดีกว่าถ้าเป็นแค่สองฝ่าย”

ที่สำคัญคือนำไปสู่ข้อตกลงร่วมกันก่อนการเลือกตั้งครั้งใหม่

 

“ก็สามารถจะค่อยๆ พูดค่อยๆ จาไป อาจจะหลายรอบนะ จนกระทั่งในที่สุดได้ข้อสรุปร่วมกันว่าเงื่อนไขที่เราต้องการก่อนที่จะมีการเลือกตั้งคืออะไร ที่เห็นพ้องต้องกัน ที่คุณอภิสิทธิ์บอกว่าสถานการณ์หรือเงื่อนไขต่างๆ ก็มาตกลงกันให้ได้ก่อนว่าเงื่อนไขหรือสถานการณ์ที่เห็นพ้องต้องกันว่าน่าจะมีก่อนการเลือกตั้งครั้งใหม่ เช่นแก้รัฐธรรมนูญ แก้ขนาดไหน มีกติกาเกี่ยวกับการเลือกตั้ง มีความตกลงร่วมกันว่าเราจะเลิกทำร้ายกัน เวลาที่ไปหาเสียงไม่ว่าจะเป็นที่ไหน และยอมรับผลการเลือกตั้ง ถ้าตกลงเงื่อนไขเหล่านี้ได้ก็คิดต่อว่าต้องทำอย่างไรถึงจะเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ เราจะมาช่วยกันทำอย่างไร แต่ไม่ใช่ว่าคุณต้องทำอะไร แต่เราจะมาช่วยกันทำอะไร ที่จะให้ เช่นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เรียบร้อย ไม่ใช่พอจะแก้ปั๊บมีคนออกมาประท้วงอีกแล้ว เพราะมีคนตั้งท่าประท้วงอยู่ ทำให้กติกาเกี่ยวกับการเลือกตั้งมันดีขึ้น ทำให้บรรยากาศในสังคม บรรยากาศทางการเมืองไม่มีการกล่าวหาทำร้ายกัน  คืออย่างน้อยไม่ทำร้ายกัน วิพากษ์วิจารณ์ไม่เป็นไร แต่ไม่ถึงขั้นชี้หน้าด่าว่า ตะโกนด่า หรือเอาไข่เน่าขว้างเอาไม้ไล่ตี ซึ่งที่แล้วมามันเกิดขึ้น ก็ต้องมาช่วยทำสถานการณ์ที่ดีๆ ให้มันเกิดขึ้น และเราพูดต่อไปว่าเอาละถ้าเราทำให้สถานการณ์ดีๆ เกิดขึ้นเราน่าจะทำให้ได้ภายในกี่เดือน 6 เดือน 10 เดือน ฉะนั้นเราน่าจะเลือกตั้งได้ภายใน 12 เดือน ตกลงไหม ไม่ตกลงก็อาจจะต่อรองว่าเอ๊ะผมอยากได้ 9 เดือน ถ้า 9 เดือนสถานการณ์ต้องดีขึ้นภายใน 6 เดือนจะช่วยกันทำอย่างไร พูดจนกระทั่งตกลงร่วมกันได้ เราก็จะได้ข้อสรุปร่วมกันในสังคมไม่ใช่นายกฯ ตัดสินใจอยู่คนเดียว ถ้าตกลงร่วมกันได้เงื่อนไขที่ดีก็จะเกิดขึ้น การเลือกตั้งที่ดีก็จะเกิดขึ้น และหลังเลือกตั้งก็จะเรียบร้อย ผลเป็นอย่างไรทุกฝ่ายยอมรับ”

 

รัฐบาลคิดว่ามีแต้มต่อ เลยเลี่ยงประเด็นยุบสภา

 

“จึงเป็นประเด็นขัดแย้งอยู่ แสดงว่าเหมือนกับเรายังมีเสี้ยนอยู่ในเนื้อ มันยังไม่ได้ถูกถอนออกไป มันอาจจะเป็นหนองขึ้นมาเมื่อไหร่ พุพองขึ้นมาเมื่อไหร่ก็ได้ หรือเป็นฝีอยู่ ซึ่งเราต้องเอาฝีนี้ออก เอาเสี้ยนนี้ออก ที่จริงไม่ใช่เสี้ยนหรอก เป็นตะปูด้วยซ้ำ มันคือตะปูที่ยังอยู่ในร่างกายเรา ฉะนั้นต้องเอาออก แต่วิธีเอาออกก็ไม่ใช่ว่าฝ่ายหนึ่งอยู่ดีๆ มาดึงไปโดยที่อีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้รับรู้ด้วยหรือไม่ได้เห็นด้วย หรือไม่ก็มาตีให้มันหนักเข้าไปอีกให้มันเจ็บหนักไปอีก ต้องมาคุยกันประเด็นนี้เพราะมันอยู่ในแผนปรองดองแห่งชาติครั้งแรก และก็ยังเป็นประเด็นอยู่ ยังมีคนสงสัยข้องใจยังมีคนถือเป็นประเด็น และก็อาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งรอบใหม่ อย่างน้อยความขัดแย้งที่จะต่อเนื่องไปอีก”

 

ยังติดอยู่ในใจของคนเสื้อแดงที่แพ้กลับบ้านไป

“ใช่ รวมทั้งคนที่จะลงใต้ดินเอยอะไรเอย ก็ยังจะอ้างประเด็นนี้ได้อยู่ เพราะไม่ได้มีข้อตกลงร่วมกันออกมา ไม่มีข้อสรุปร่วมกันออกมา”

การเป็นผู้นำท่ามกลางความขัดแย้งและต้องฟื้นฟูประเทศ อาจารย์ไพบูลย์ยกตัวอย่างคำสอนที่ท่านพุทธทาสที่เคยแนะนำต่อ อ.สัญญา ธรรมศักดิ์ เมื่อครั้งเป็นนายกรัฐมนตรีปี 2517

 

“ธรรมะดีทั้งนั้นแหละ ที่ท่านพุทธทาสแนะนำ อ.สัญญาก็ดีมาก สุทธิ ปัญญา เมตตา ขันตี สุทธิคือความบริสุทธิ์ความจริงใจ ความสุจริต รวมทั้งความเสียสละ ปัญญาคือการใช้ความคิดที่ลึกซึ้งแยบคาย เมตตาคือมีความรักความปรารถนาดี มีไมตรีจิต ขันตีคือความอดทนอดกลั้น ซึ่งที่จริงก็เป็นวัฒนธรรมไทยมาเนิ่นนาน เพียงแต่หลังๆ มันถูกกัดกร่อนเสื่อมไปเยอะ เราเคยเป็นสังคมที่มีความรักความเมตตากรุณา เอื้ออาทรต่อกัน อดทน อดกลั้นกัน ตอนนี้มันน้อยลง ก็ใช้ธรรมะข้อนี้ได้ หรือในฐานะผู้นำผู้บริหารอยากจะใช้ทศพิธราชธรรมก็ยิ่งดี เพราะทศพิธราชธรรมคือธรรมะของผู้ปกครอง ธรรมะของพระราชา ธรรมะของผู้บริหาร มีตั้ง 10 ข้อ ตั้งแต่ทาน เป็นฝ่ายให้ ไม่ใช่ไปเรียกร้อง ศีลก็คือการปฏิบัติตนให้ถูกต้อง บริจาคคือความเสียสละ อาชชว-ซื่อตรง มัททว-ความอ่อนโยน ตปะ-มีความบากบั่น อโกธ -ไม่โกรธ อวิหิงสา คือความไม่ก้าวร้าวไม่ทำร้าย ก็เหมือนอสิงหาคือไม่รุนแรงไม่ก้าวร้าว มันต้องมาจากใจด้วย ไม่ใช่บอกว่าผมจะไม่ยิงคุณนะแต่ผมจะด่าคุณ อย่างนี้ไม่ใช่อหิงสา นี่คือความก้าวร้าวรุนแรง มหาตมะ คานธีท่านบอกว่าที่เรียกว่าสันติอหิงสา สัตยาเคราะห์ จุดสูงสุดคือจิตใจที่ปราศจากกิเลส คือปราศจากความโลภ ความโกรธ ความหลง นี่คือมหาตมะ คานธีที่เรียกวาอหิงสาคืออย่างนี้ ไม่ใช่อหิงสาแค่บอกว่าผมไม่ยิงคุณ แต่ผมจะด่าคุณ ทำร้ายคุณ จะปิดล้อมคุณ อันนี้ไม่ใช่อหิงสาในความหมายของคานธี ข้อที่เก้าคือขันติ  ความอดทนอดกลั้น และข้อสุดท้ายคืออวิโรธน ความยึดมั่นในธรรม ยึดมั่นในสิ่งที่เป็นคุณงามความดีอย่างไม่หวั่นไหว”

“สิบข้อนี้คือทศพิธราชธรรม ธรรมะของผู้ปกครอง ซึ่งถ้าเราไปดูนักการเมือง ดูนักบริหารและลองเทียบกับสิบข้อนี่ก็พอจะวิเคราะห์ได้ว่าใครมีข้อไหนแข็งข้อไหนอ่อน ฉะนั้นนักการเมือง ผู้บริหาร ผู้ปกครองยิ่งสูงเท่าไหร่ยิ่งควรใช้ ซึ่งผมคิดว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรามีครบทั้งสิบข้อนี้ ลองไล่ดูทุกข้อสิ ไม่เห็นท่านโกรธใคร ขันติ ความอดทนอดกลั้น พระองค์ท่านอดทนอดกลั้นสูงมาก มีความกดดันพระองค์ท่านอย่างแรง ยิ่งระยะหลังและปัจจุบันความกดดันแรงมาก พระองค์ท่านมีความอดทนอดกลั้น และก็ความยึดมั่นในธรรมะ ความถูกต้องดีงาม สิบข้อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีครบ ทศพิธราชธรรม ฉะนั้นผู้ปกครองลองพิจารณาดูว่าถ้าใช้ทั้งสิบข้อนี้ มันจะนำไปสู่ความขัดแย้งแตกแยกหรือว่านำไปสู่ความสมานฉันท์สันติสุข เริ่มจากตัวเองทำและก็ชวนคนอื่นทำ เราก็หวังว่าการปฏิรูปครั้งใหญ่หรือว่าการที่ใช้วิกฤติเป็นโอกาสก็จะนำไปสู่สิ่งที่ดีงามเช่นนี้ ที่ผมเขียนบันทึกว่าการฟื้นฟูคงต้องมีธรรมะมาช่วย มีศิลปะมีกระบวนการที่ดีมาช่วย”

 

ในระหว่างกระบวนการนี้อาจมีการขอให้อาจารย์เป็นคนกลาง

“ผมพูดอยู่เสมอว่าคนกลางยิ่งในภาวะที่มีความขัดแย้ง คู่ขัดแย้งต้องเห็นชอบร่วมกัน ถ้าเห็นชอบร่วมกัน ซึ่งในประเทศไทยมีตั้งเยอะแยะก็ไปเลือกมา แต่ละฝ่ายเลือกมาสักคนละ 10 ชื่อ ถ้าตรงกันชื่อหนึ่งก็ใช้ได้แล้ว ส่วนใหญ่จะไม่ตรงกัน ไม่เป็นไร ฝ่ายละ 10 ชื่อรวมสองฝ่าย 20 ไม่สำเร็จ เอ้าเลือกมาอีก 20 เลือกมาอีก 30-40 เลือกมาจนกระทั่งได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่อายุมาก ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้มีบารมีเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ คนจัดกระบวนการเป็นคนรุ่นหนุ่มรุ่นสาวที่เขาเรียนวิชานี้มาเขาก็จัดได้ สมัยเมื่อ 20 มาแล้วถ้าจะจัดกระบวนการให้ผู้บริหารมาประชุมกัน คนจะระวังมากเลย คนที่จะไปจัดถ้าเป็นผู้น้อย เป็นคนรุ่นหนุ่มรุ่นสาวไม่กล้าไปทำ แต่เมื่อเวลาผ่านไปเดี๋ยวนี้ประชุมผู้บริหารอายุ 50-60 มีตำแหน่งเป็นผู้จัดการใหญ่เป็นประธาน เอาหนุ่มสาวอายุ 30 มาจัด ก็คุ้นเคยกันไม่ว่าอะไร ผมเองก็ไปร่วมสัมมนาแบบนี้บ่อย ที่คนจัดกระบวนการเป็นคนรุ่นลูกรุ่นหลาน”

 

นั่นเพราะผู้หลักผู้ใหญ่ในสังคมต่างก็ได้ใช้ต้นทุนทางสังคมหมดไปกับความขัดแย้งในช่วงตลอด 4-5 ปีนี้

 

“อย่าไปแบ่งเลย ใครช่วยได้ก็เข้ามาช่วยกัน เราไม่ต้องไปยึดติดว่าต้องเป็นผู้ใหญ่มีเครดิตในสังคม เพราะตอนนี้กระทั่งเด็กที่เขาสนใจ มีกลุ่มเยาวชนศึกษาสันติวิธีเขาก็ไปทำงานกัน ไปเยี่ยมเยียนผู้บาดเจ็บทั้งสองฝ่าย ไปค้นหาความเป็นจริง ระดมความคิดมาเสนอแนะ เยาวชนเขาก็ทำไปตามธรรมชาติ”

แต่ถ้าว่ากันตามตรงแม้จะได้ชื่อว่าเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร แต่ชื่อของ อ.ไพบูลย์ยังคงเป็นที่ยอมรับของหลายฝ่าย

 

“เราต้องทำอะไรเท่าที่ทำได้ เท่าที่เป็นไปได้ อย่าไปคาดหวังหรือไปตั้งเกณฑ์ว่าต้องได้เท่านั้นต้องได้เท่านี้ ต้องคนนั้นคนนี้ เรายืดหยุ่นปรับเปลี่ยนไปได้ตามสถานการณ์ คนที่คิดดีพูดดีทำดี คนที่เป็นที่ยอมรับของหลายๆ ฝ่ายยังมีอยู่อีกจำนวนไม่ใช่น้อย หรือคนรุ่นใหม่ คนหนุ่มสาว วัยกลางคนก็ยังมีอีกเยอะที่จะเข้ามาช่วยกัน ผมเองก็ป่วยอยู่ เป็นมะเร็ง แต่ช่วงนี้มีอะไรที่พอทำได้ก็เข้าไปช่วย ในเรื่องความเจ็บป่วยของผม ผมไม่เคยมาตั้งคำถามว่าจะหายป่วยเมื่อไหร่  แต่อะไรที่ช่วยให้ร่างกายดีขึ้นบ้างก็ทำ ในเรื่องปัญหาของประเทศในระยะนี้ผมมักเจอคนถามว่าสังคมเราตอนนี้มีปัญหายุ่งเหยิงวุ่นวายมากจะจบได้หรือ มันจะมีทางออกจริงหรือ สองฝ่ายเขาจะเจรจาได้ไหม ซึ่งผมมักตอบว่าแทนที่จะเอาแต่ตั้งคำถาม เรามาช่วยกันคิดเชิงบวก คิดเชิงสร้างสรรค์จะดีกว่ามาก ซึ่งเราต้องมาช่วยกันคิดว่า ใครควรทำอะไร อย่างไร และตัวเราเองจะทำอะไร และในส่วนของตัวเราเองถ้าทำอะไรได้ก็ทำไปเลย ไม่มามัวแต่ตั้งคำถามหรือรอให้คนอื่นทำก่อน”.

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/365360

<<< กลับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *