หลักการและวิธีการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวัฒนธรรมและสันติวิธี

หลักการและวิธีการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวัฒนธรรมและสันติวิธี


( Power Point ประกอบการบรรยายหัวข้อ “ทฤษฎีและแนวคิดด้านสังคมในการเข้าใจความขัดแย้ง” ให้กับนักศึกษา รุ่นที่ 1 ของหลักสูตรมหาบัณฑิต สาขาการจัดการความขัดแย้งแบบบูรณาการ ของมหาวิทยาลัยราชฏัทรวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ศูนย์กรุงเทพมหานคร โดยมี นพ.บรรพต ต้นธีรวงศ์ เป็นผู้อำนวยการ หลักสูตร)

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

11 ส.ค. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/44350

<<< กลับ

แกะรอยเส้นทางความสุข “ภูฏาน” : สัมผัสคมคิดวิถีสร้างสุขมนุษยชาติ(บทสัมภาษณ์)

แกะรอยเส้นทางความสุข “ภูฏาน” : สัมผัสคมคิดวิถีสร้างสุขมนุษยชาติ(บทสัมภาษณ์)


(บทสัมภาษณ์ ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม เรียบเรียงโดย เอื้อมพร สิงหกาญจน์ ซึ่งได้ตัดแต่งให้กระชับมากขึ้นและนำไปลงเป็นบทความใน นสพ. ประชาชาติธุรกิจ ฉบับ 7 – 10 ก.ย. 49 หน้า 44)

วันนี้ “ภูฏาน”กลายเป็นประเทศที่มีความโดดเด่นน่าสนใจ เป็นสถานที่ที่หลายคนอยากไปเยือน อยากไปสัมผัสมากที่สุดประเทศหนึ่ง เพราะนอกจากทัศนียภาพและภูมิประเทศที่สวยงามแล้ว ภูฏานยังเป็นประเทศที่ได้รับการกล่าวขานว่าประชาชนอยู่กันอย่างมีความสุข

หลังจากมกุฎราชกุมาร จิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก แห่งราชอาณาจักรภูฏาน ได้เดินทางมาร่วมงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา คนไทยจำนวนไม่น้อยก็หันมาให้ความสนใจ คำว่า GNH (Gross National Happiness) หรือความสุขมวลรวมประชาชาติ อันเป็นหลักการบริหารประเทศของภูฏาน หลายภาคส่วนอาศัยกระแสหลักนี้ผลักดันเรื่องของความสุขมวลรวมประชาชาติ หรือสังคมอยู่เย็นเป็นสุข เป็นวาระแห่งชาติสำหรับประเทศไทยด้วย

ตามล่าหาความจริงเกี่ยวกับ “ความสุขมวลรวมประชาชาติ”

ล่าสุดระหว่าง 25 – 29 สิงหาคม 2549 “ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม” ประธานศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม หรือที่รู้จักกันในนามศูนย์คุณธรรม ได้พาคณะคนไทยรวม 16 ชีวิต จาก 11 องค์กร อันประกอบไปด้วยพระ 1 รูป ปราชญ์ชาวบ้าน 1 คน ตัวแทนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 1 คน ตัวแทนจากสำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ (สปรส.) 1 คน ผู้อำนวยการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI) 1 คน รองเลขาธิการสภาพัฒน์ 1 คน อาจารย์จากมหาวิทยาลัย 1 คน นักวิชาการจากสถาบันการบริหารและจิตวิทยา 1 คน ผู้บริหารจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) 1 คน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม 2 คน และผู้บริหารศูนย์คุณธรรม 4 คน บินลัดฟ้าข้ามผ่านโลกทุนนิยมเสรี ไปทำความเข้าใจ ศึกษาความเป็นมาของธงชัยในเรื่องความสุขมวลรวมประชาชาติของราชอาณาจักรภูฏาน ว่าเขาพัฒนากันอย่างไร ปฏิบัติกันอย่างไร ได้ผลอย่างไร

ประเทศภูฏานได้นำหลักการที่เรียกว่าความสุขมวลรวมประชาติ หรือ GNH มาเป็นธงชัยในการบริหารบ้านเมือง เป็นทั้งเป้าหมาย หลักคิด และแนวดำเนินการ มาตั้งแต่ประมาณปี 2517

ปฐมบทเรื่องนี้ เริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อครั้งพระราชาธิบดีองค์ปัจจุบัน ซึ่งมีพระนามว่า จิกมี ซิงเย วังชุก เสด็จขึ้นครองราชย์ ในปี 2515 จากนั้นไม่นาน ก็ประกาศธงชัยเรื่อง GNH เน้นไปที่ 4 เสาหลัก คือ 1.การพัฒนาเศรษฐกิจสังคมอย่างยั่งยืน เท่าเทียม และพึ่งพาตนเองได้ 2.การอนุรักษ์ดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 3.การรักษาส่งเสริมคุณค่าทางวัฒนธรรม และ 4.การส่งเสริมหลักธรรมาภิบาล หรือการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี

ผู้ใหญ่ในภูฏานท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า เดิมทีเดียว GNH เป็นเพียงพระราโชบายของพระราชาธิบดี ต่อมาได้ปรับมาเป็นนโยบายรัฐบาล โดยให้เป็นเป้าหมายและหลักการสำคัญเพื่อกำกับนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินให้เอื้ออำนวยต่อการสร้างความอยู่เย็นเป็นสุขของประชาชน ซึ่งไม่ได้หมายถึงการพยายามทำให้เกิดความสุขรายบุคคล แต่มุ่งมั่นในการบริหารประเทศให้อยู่บนฐานและทิศทางการสร้างความสุขโดยรวมของประชาชนเป็นสำคัญ และเป็นการผสมผสานให้เกิดความพอดีระหว่างการพัฒนาและผลลัพธ์ทางวัตถุ กับการพัฒนาและผลลัพธ์ทางจิตใจ

รัฐบาลจะต้องคิดและพยายามในเรื่องของการสร้างความสุขมากกว่าการสร้างความร่ำรวย เพราะถ้าฝ่ายรัฐเน้นเรื่องความร่ำรวย ก็จะไปสร้างสิ่งต่างๆในลักษณะที่ก่อให้เกิดแต่ความร่ำรวยแก่คนบางกลุ่ม แต่อาจไปทำลายธรรมชาติ ทำลายวัฒนธรรม ทำลายสังคม หนุนนำความโลภ และสร้างความสุขแบบวัตถุนิยมที่ไม่ยั่งยืน

เรื่อง GNH ในภูฏานแม้ว่าจะเริ่มมานาน แต่เพิ่งมีการับรู้ ศึกษา วิเคราะห์ วิจารณ์ กันอย่างกว้างขวางในช่วง ประมาณ 10 ปีที่ผ่านมานี่เอง

แนวคิดเกี่ยวกับ “ความสุข” ในประเทศไทย

ซึ่งหากย้อนกลับมาดูประเทศไทย จะเห็นว่าเริ่มได้ยินเรื่องในแนวเดียวกันนี้มาประปรายบ้างเมื่อประมาณ 10 ปีที่ผ่านมาเช่นกัน แต่มาเริ่มเข้มข้นจนเป็นกระแสชัดเจนของสังคมในช่วงที่มีการฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีในปีนี้ โดยเป็นการผสมอุดมการณ์ความอยู่เย็นเป็นสุข หรือสุขภาวะ เข้ากับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อันเป็นพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา

“ด้วยความเป็นหนุ่มรูปหล่อ มีพระจริยวัตรงดงาม ของมกุฎราชกุมาร จิกมี่ เคเซอร์ นัมเกล วังชุก แห่งราชอาณาจักรภูฏาน ประกอบกับความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประเทศภูฏานกับประเทศไทย ทำให้ประเทศภูฏานโดดเด่นขึ้นมาพร้อมๆ กับแนวคิดว่าด้วยความสุขมวลรวมประชาชาติ ซึ่งจริงๆ แล้วประเทศไทยสนใจพัฒนาประเทศโดยเน้นความอยู่เย็นเป็นสุขของประชาชนมาตั้งแต่แผนฯ 8 ถึงแผนฯ 9  แต่ยังไม่มีรูปธรรมในเรื่องการพัฒนาที่ชัดเจน ดังนั้นในแผนฯ 10 ที่จะเริ่มประกาศใช้ในเดือนตุลาคม 2549 นี้ จึงมีการชูธงไปที่การพัฒนาอันจะก่อให้เกิด “ความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน”ในสังคมไทย โดยมี “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” เป็นปรัชญานำทาง

GNH หรือความสุขมวลรวมประชาชาติ จึงไม่ถึงกับเป็นของใหม่สำหรับประเทศไทย แต่เป็นสิ่งที่คนไทยให้ความสนใจอยู่แล้ว และที่ผ่านมาได้มีความพยายามสร้างตัวชี้วัด เพื่อบ่งบอกถึงสภาวะความอยู่เย็นเป็นสุขในหลายรูปหลายแบบ มีขบวนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือบางทีเรียกว่าสุขภาวะ คือ ภาวะความเป็นสุข และอื่นๆ

กล่าวได้ว่า คำว่า “ความสุขมวลรวมประชาชาติ” ของภูฏาน มีลักษณะคล้ายๆกับ “ความอยู่เย็นเป็นสุข” หรือ “สุขภาวะ” และ “เศรษฐกิจพอเพียง” ของประเทศไทยนั่นเอง คณะของเราจึงอยากไปเรียนรู้และแลกเปลี่ยนข้อมูลความคิดเห็นกับบุคคลต่างๆของประเทศภูฏาน เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้นเกี่ยวกับเรื่องนี้”

สู่ “ดินแดนแห่งมังกรผู้รักสันติ”

“ไพบูลย์” เล่าว่า สิ่งแรกที่กระทบสายตา ทันทีที่เท้าเหยียบผืนแผ่นดินภูฏาน คือความงดงามตระการตาของภูมิประเทศ ทัศนียภาพโดยรอบ ที่มีลักษณะเป็นภูเขาลูกใหญ่ ลูกน้อย สลับกันไปอย่างดูเหมือนไม่รู้จบ

“ภูฏาน” แปลว่าดินแดนบนที่สูง หรืออาณาจักรบนฟ้า แต่ชาวภูฏานเรียกประเทศตนเองว่า “ดรุกยุล” หรือ “ดินแดนแห่งมังกรผู้รักสันติ” และเรียกเผ่าพันธุ์ตนเองว่า “ดรุกปา” หรือ “ชาวมังกรสันติ”

“ก่อนเดินทางได้อ่านเอกสาร ศึกษาจากคำบอกเล่าของผู้รู้ ก็เห็นว่าภูฏานเป็นประเทศที่เป็นภูเขาทั้งสิ้น แทบจะไม่มีพื้นที่ราบเลย ขนาดสนามบินยังต้องตั้งอยู่ห่างจากเมืองหลวงถึง 70 กว่ากิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางจากสนามบินถึงเมืองหลวงประมาณชั่วโมงครึ่ง ไต่ไหล่เขาไปเรื่อยๆ

พอไปสัมผัสจริงๆ ภาพก็ชัดขึ้น สนามบินของภูฏานจะมีรูปแบบคล้ายๆ กับสนามบินในจังหวัดแม่ฮ่องสอนของประเทศไทย เครื่องบินขึ้นลงค่อนข้างลำบาก ต้องใช้ความระมัดระวังสูง เครื่องบินขนาดใหญ่มากก็ใช้ไม่ได้ เพราะภูมิประเทศที่เป็นภูเขาลูกใหญ่สลับซับซ้อนมาก แต่สิ่งที่น่าสนใจคือภูฏานสามารถรักษาพื้นที่ป่าไว้ได้ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ภูมิประเทศโดยรวมจึงสวยสดงดงามมาก

“ไพบูลย์” เล่าด้วยความชื่นชมว่า ประเทศภูฏานนั้น นอกจากเรื่องศิลปะ วัฒนธรรม วิถีชีวิต วิถีการอยู่ร่วมกัน จะน่าสนใจแล้ว ระบบและวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองก็ยังน่าสนใจมาก

ประเทศภูฏานมีประชากรประมาณ 700,000 คน มีเนื้อที่ของประเทศประมาณ 47,000 ตารางกิโลเมตร หรือพอๆกับจังหวัดแม่ฮองสอน เชียงราย เชียงใหม่ และลำพูนรวมกัน ได้แบ่งพื้นที่ทั้งหมดออกเป็น 20 จังหวัด จังหวัดหนึ่งจะมีศูนย์กลาง เรียกว่า DZONG (ซอง) เป็นศาสนสถาน และศูนย์กลางของพระ ในขณะเดียวกันก็เป็นป้อมปราการ และเป็นศูนย์การบริหารจังหวัดสำหรับจังหวัดนั้นๆ ด้วย

ศูนย์การบริหารแต่ละจังหวัดนั้น ดั้งเดิมมีพระเป็นผู้บริหารดูแล เนื่องจากในประวัติศาสตร์ประเทศภูฏานนั้นได้ก่อตัวขึ้นมาจากการที่พระไปรวบรวมผู้คน รวบรวมจังหวัดต่างๆ เข้ามาไว้ด้วยกัน แล้วมีการบริหารปกครองกันต่อๆมา เพราะฉะนั้น พระจึงได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการบริหารกิจการบ้านเมือง วัดซึ่งเป็นศูนย์กลางอยู่แล้วจึงกลายเป็นที่ทำการสำหรับการบริหารไปด้วย

ต่อมาเมื่อมีพระราชาธิบดีเกิดขึ้น เมื่อเกือบ 100 ปีที่ผ่านมา พระราชาธิบดีก็เข้ามาทำหน้าที่ในการบริหารประเทศควบคู่ไปกับบทบาทของพระสงฆ์

DZONG (ซอง) จึงเป็นที่อยู่ของพระสงฆ์ เป็นศูนย์กลางการประกอบภารกิจของสงฆ์ ไปพร้อมๆ กับการเป็นศูนย์กลางการบริหารราชการแผ่นดิน และเป็นป้อมปราการ

DZONG (ซอง) ส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในทำเลที่เหมาะสม บางจังหวัดอาจจะอยู่ใกล้กับแม่น้ำในหุบเขา บางจังหวัดอาจจะอยู่บนภูผาที่สูงชัน

วิถีชีวิตชาวภูฏาน

“วิถีชีวิตของชาวภูฏาน โดยทั่วไปค่อนข้างเรียบง่าย ปลูกบ้านหลังไม่เล็กไม่ใหญ่ กระจายไปตามภูเขา อยู่กันแบบพออยู่พอกิน เน้นกิจกรรมทางด้านศาสนา เช่น การสวดมนต์ การประกอบพิธีกรรมต่างๆยังมีอยู่มาก

และประเพณีสำคัญอย่างหนึ่งที่ชาวภูฏานยังคงอนุรักษ์ไว้จนถึงยุคปัจจุบัน คือ ทุกครอบครัวจะให้ลูกชายคนเล็กไปอยู่กับพระเพื่อเรียนหนังสือตั้งแต่อายุ 8 ขวบจนถึงอายุ 20 ปี จากนั้นจึงค่อยตัดสินใจอีกครั้งว่าจะเป็นพระต่อไปหรือจะออกมาใช้ชีวิตเป็นฆราวาส ซึ่งเด็กชายจำนวนมากก็เลือกที่จะเป็นพระไปตลอดชีวิต

ด้วยเหตุนี้ ความใกล้ชิดระหว่างประชาชนชาวภูฏานกับศาสนาจึงมีมาก”

“ประธานศูนย์คุณธรรม” เล่าต่อว่า ด้วยความที่ภูฏานมีลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาลูกใหญ่ ลูกน้อย สลับกันไป ประชากรส่วนใหญ่จึงยึดอาชีพเกษตรกรรมในการเลี้ยงชีพ ซึ่งบางส่วนทำในลักษณะขั้นบันได เน้นการพึ่งตนเองเป็นหลัก เนื่องจากการติดต่อคมนาคมยังค่อนข้างลำบากอยู่มาก ผลไม้ที่เห็นปลูกกันมากคือ แอปเปิ้ล แต่ในยุคปัจจุบันได้มีอาชีพอื่นๆ ผสมผสานเข้ามาด้วย

หากดูโดยรวม ภาคเกษตรน่าจะเป็นภาคที่สร้างรายได้หลักให้กับประเทศภูฏาน แต่ความจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น “ประธานศูนย์คุณธรรม” บอกว่า แม้ว่าประชากรส่วนใหญ่ของภูฏานจะมีอาชีพเกษตรกรรม แต่ผลผลิตทางด้านการเกษตรก็ไม่สามารถสร้างรายได้ให้กับภูฏานมากนัก เพราะเป็นการเกษตรแบบพึ่งตนเอง ส่วนใหญ่จึงผลิตแล้วบริโภคกันภายในประเทศเสียมากกว่า ส่วนรายได้หลักของภูฏานจริงๆ มาจากพลังงานน้ำ เพราะภูมิประเทศที่เป็นภูเขาสลับกับหุบเขา ทำให้ภูฏานมีน้ำที่อุดมสมบูรณ์ สามารถกั้นเขื่อนผลิตไฟฟ้าไปขายให้กับประเทศอินเดียและสร้างรายได้เข้าประเทศมากถึงระดับเป็นรายได้หลักทีเดียว

ส่วนรายได้จากการท่องเที่ยวถือว่ายังค่อนข้างน้อย เนื่องจากในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไปที่ภูฏานเป็นหลักพันเท่านั้น ยกเว้นปีล่าสุดที่นักท่องเที่ยวมีจำนวนมากที่สุดถึงประมาณ 13,000 คน สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ไม่ใช่ว่าภูฏานไม่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว แต่เป็นเพราะว่ารัฐบาลภูฏานจำกัดในเรื่องของการท่องเที่ยว เกรงว่าจะไปกระทบกับสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติรวมถึงวัฒนธรรมประเพณีต่างๆที่มีอยู่ ซึ่งหากเทียบกับประเทศไทยเฉพาะภูเก็ตจังหวัดเดียวปีหนึ่งมีคนมาเที่ยวไม่ต่ำกว่า 4 ล้านคน ซึ่งนำรายได้เข้ามามากแต่สิ่งที่สูญเสียไปก็มีมากด้วย

แนวปฏิบัติตาม “สี่เสาหลัก” ของ “ความสุขมวลรวมประชาชาติ”

“ประธานศูนย์คุณธรรม” เล่าว่า หลายสิ่งหลายอย่างที่ได้เห็นในภูฏาน ทำให้สัมผัสได้ถึงความสุขแบบเรียบง่ายที่กระจายไปทุกพื้นที่ แต่นั่นยังไม่ใช่แก่นของ GNH ที่คณะจากประเทศไทยต้องการไปทำความเข้าใจ

สิ่งที่อยากรู้ คือ 4 เสาหลักของความสุขมวลรวมประชาชาติ ซึ่งได้แก่ 1.การพัฒนาเศรษฐกิจสังคมอย่าง ยั่งยืน เท่าเทียม และพึ่งพาตนเองได้ 2.การอนุรักษ์ดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 3.การรักษาส่งเสริมคุณค่าทางวัฒนธรรม และ 4.การส่งเสริมหลักธรรมาภิบาล หรือการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี นั้น ภูฏานได้สร้างระบบอย่างไร มีแนวปฏิบัติอย่างไร แล้วผลลัพท์ที่ออกมาเป็นอย่างไร เหล่านี้ต่างหากที่คณะผู้เดินทางอยากไปเห็นของจริง

จากการได้สนทนากับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงหลักๆในภูฏาน เช่น กระทรวงมหาดไทย และวัฒนธรรม กระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น ก็เริ่มเห็นภาพชัดขึ้น เห็นแนวทางในการดำเนินการที่ชัดเจนและสอดคล้องกัน เพราะทุกกระทรวงได้ยึดเรื่อง GNH เป็นหลักในการดำเนินงาน มีการปลูกฝังเรื่องความสุขมวลรวมประชาชาติเข้าไปในสถานศึกษาและอื่นๆ

นอกจากการทัศนศึกษา DZONG (ซอง) รวม 4 แห่งแล้ว คณะผู้เดินทางได้ไปเยี่ยมโรงเรียนระดับประถมศึกษา 1 แห่ง และระดับมัธยมศึกษา 1 แห่ง กับไปดูความเป็นอยู่ของชาวบ้าน 1 หมู่บ้าน ได้เห็นวิถีชีวิตที่แท้จริงของชาวภูฏานส่วนหนึ่ง รวมทั้งได้พูดคุยกับชาวบ้านทั้งที่เป็นผู้ใหญ่และเด็กเยาวชนหลายคน

“เรามีโอกาสเข้าไปในบ้านหลังหนึ่งในหมู่บ้านเล็กๆที่ไปเยี่ยมโดยไม่มีการวางแผนไว้ก่อนบ้านหลังนี้ เป็นที่อยู่อาศัยของสตรีสูงวัยพร้อมทั้งลูกหลานรวม 10 คน เป็นบ้าน 2 ชั้น มี 2 ห้องนอน กับ 1 ห้องพระด้วยซึ่งใช้เป็นห้องนอน

สังเกตว่าเขาจะนอนกางมุ้งกับพื้นเป็นหลัก นอกจากห้องนอนแล้วจะมีห้องพระหรือห้องสวดมนต์ ซึ่งอาจใช้เป็นห้องนอนด้วย มีรูปพระพุทธเจ้าหรือพระโพธิสัตว์และอาจมีรูปพระเจ้าแผ่นดินด้วยสำหรับกราบไหว้บูชา นอกนั้นก็มีห้องครัวและห้องเก็บสิ่งของแล้วแต่อาชีพของเจ้าของบ้าน เช่นเก็บเครื่องมือการเกษตรและวัสดุกับผลผลิตการเกษตร

ห้องพระหรือห้องสวดมนต์นั้นถือว่าเป็นห้องที่มีความสำคัญมาก ทุกบ้านจะต้องมี ไม่ว่ายากดีมีจนก็จะต้องมีห้องพระ เป็นห้องประกอบกิจกรรมทางศาสนารวมทั้งสวดมนต์ บางบ้านใช้นอนด้วย หากเป็นบ้านของผู้มีศักดิ์สูงหน่อยก็จะเก็บห้องนี้ไว้เป็นพิเศษสำหรับต้อนรับแขกผู้มีเกียรติ หรือพระที่เดินทางมาจากที่ไกลๆ ให้เข้ามาพักที่ห้องพระ

ชาวภูฏานจะสวดมนต์ทุกวัน เราได้รับการบอกเล่าว่า พระราชมารดาของพระเจ้าแผ่นดินสวดมนต์เป็นประจำทุกคืน และกราบแบบภูฏานคืนละ 108 ครั้ง

บริเวณฝาผนังของบ้านที่เราได้เข้าไปดู มีการวาดภาพตกแต่งสวยงาม เป็นวัฒนธรรมของชาวภูฏานที่น่าชื่นชม กล่าวคือ มีจิตรกรรมฝาผนังแทนวอลเปเปอร์ แม้ในบ้านของชาวบ้านที่อยู่ในหมู่บ้านธรรมดาๆ ”

บ้านเรือนและความเป็นอยู่

“โรงแรมที่เราเข้าไปพักในคืนสุดท้ายก่อนขึ้นเครื่องบินกลับประเทศไทย เคยเป็นบ้านของเจ้าเมืองเก่า ที่ฝาผนังห้องเต็มไปด้วยภาพวาดและลวดลายสวยงามตระการตา มีภาพสัญลักษณ์มงคล 8 ประการ เป็นต้น นับเป็นวัฒนธรรมที่งดงามมาก

บ้านเรือนเท่าที่เห็นทั้งในเมืองและในชนบทล้วนปลูกสร้างด้วยสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของภูฏาน เข้าใจว่าเป็นเช่นนี้ทั้งประเทศ เพราะมีกฏหมายกำหนดให้บ้านทุกหลังที่ก่อสร้างจะต้องเป็นแบบภูฏาน ไม่ให้เป็นแบบอื่นๆ มองไปทางไหนจึงดูสวยงามไม่ระเกะระกะ สีสันอาจแตกต่างกันไปบ้างแต่รูปทรงจะคล้ายๆกัน ขนาดของบ้านส่วนมากดูค่อนข้างใหญ่ ผนังของบ้านค่อนข้างหนาโดยเฉพาะที่เป็นบ้านเก่า โดยสร้างจากดินที่นำมาอัดให้ติดกันคล้ายๆ กับเป็นซีเมนต์เพื่อความแข็งแรงและกันความหนาวเย็นเพราะภูฏานเป็นเมืองหนาว

เท่าที่เห็น ไม่ว่าจะเป็นบ้านผู้ที่มีศักดิ์สูง หรือบ้านชาวบ้านธรรมดาต่างมีห้องพระเหมือนกัน แต่ห้องพระของชาวบ้านจะไม่มีการตกแต่งสวยงามเท่ากับบ้านของผู้ที่มีฐานะทางการเงินดีกว่า ”

“ประชาชนชาวภูฏานดูจะใช้ชีวิตอย่างพออยู่ พอกิน เราไม่เห็นความฟุ่มเฟื่อย หรือความหรูหรา และก็ไม่ได้เห็นความยากจนข้นแค้นอะไรนัก เดิมทีได้รับข้อมูลว่าประเทศภูฏานไม่มีขอทาน แต่ช่วงที่เราไปเดินตลาดสดได้พบขอทาน 2 คน เป็นคนแก่

เรื่องอบายมุข เหล้า บุหรี่  การพนัน นัยว่าเริ่มมีเพิ่มขึ้นเพราะโลกาภิวัตน์ที่คืบคลานเข้ามา แต่เป็นการเพิ่มขึ้นจากฐานที่เล็ก ซึ่งรัฐบาลภูฏานก็ดูกังวลอยู่ไม่ใช่น้อยและพยายามที่จะหาหนทางป้องกันอยู่

สิ่งไหนที่เป็นอบายมุขหรือเป็นสิ่งไร้ประโยชน์หรือเป็นพิษเป็นภัยต่อสังคม รัฐบาลภูฏานจะจำกัดการขยายตัว เช่น แต่ก่อนรายการมวยปล้ำที่ถ่ายทอดผ่านทีวีจะได้รับความนิยมอย่างมาก แต่เมื่อรัฐบาลเห็นว่าการนำเสนอกิจกรรมลักษณะนี้จะเป็นการส่งเสริมความรุนแรงก็ได้มีคำสั่งให้ยกเลิกการถ่ายทอดรายการมวยปล้ำทางทีวี

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

28 ก.ย. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/52358

<<< กลับ

แกะรอยเส้นทางความสุข “ภูฏาน” : สัมผัสคมคิดวิถีสร้างสุขมนุษยชาติ

แกะรอยเส้นทางความสุข “ภูฏาน” : สัมผัสคมคิดวิถีสร้างสุขมนุษยชาติ


เยาวชนกับการเรียนการสอนในสถานศึกษา

                ช่วงเวลาไม่กี่วันที่ได้มีโอกาสซึมซับความสุขที่ภูฏาน “ประธานศูนย์คุณธรรม” บอกว่า จากศาสนสถาน สถานที่บริหารราชการ ไปถึงบ้านชาวบ้านในชนบท พบว่า นโยบายของรัฐบาลที่ยึดถือ “ความสุขมวลรวมประชาชาติ” เป็นเป้าหมายสูงสุดหรือเป็นธงชัยในการบริหารประเทศนั้น มีผลเชื่อมโยงถึงวิถีปฏิบัติของส่วนต่างๆในสังคมตลอดจนการดำเนินชีวิตของชาวภูฏานอย่างชัดเจน 

                เด็กเล็กๆ ตั้งแต่ระดับประถมจะได้รับอิทธิพลจากแนวคิดและแนวนโยบายว่าด้วยความสุขมวลรวมประชาชาติ แม้จะไม่ได้เป็นบทเรียนโดยตรง ส่วนนักเรียนระดับมัธยมจะมีเรื่องความสุขมวลรวมประชาชาติอยู่ในบทเรียนมากกว่า 1 วิชา

                “ผมได้ถามครูใหญ่ของโรงเรียนระดับประถมศึกษาแห่งหนึ่ง ว่าทางโรงเรียนนำเรื่องความสุขมวลรวมประชาชาติมาประยุกต์เป็นภาคปฏิบัติอย่างไรบ้าง เขาตอบว่า เป็นการผสมกลมกลืนอยู่ในเรื่องการเรียนการสอนทั้งหมด ไม่ได้นำมาเป็นบทเรียนในวิชาใดวิชาหนึ่งอย่างชัดเจน

                หนุ่มคนหนึ่งจากโรงเรียนมัธยมเล่าให้ฟังว่า เรื่องความสุขมวลรวมประชาชาตินั้น อยู่ในวิชาเรียนรวม 3 วิชา ดูเหมือนจะเป็นวิชาหน้าที่พลเมือง (Bhutan Civics) ภูมิศาสตร์ และภาษาอังกฤษ”

                “ไพบูลย์” บอกว่า สิ่งที่ประทับใจอีกอย่างหนึ่งและต้องหมายเหตุไว้เลย คือ ภูฏานจัดให้นักเรียนเรียนภาษาอังกฤษตั้งแต่ระดับอนุบาล ดังนั้นคนภูฏานที่อายุต่ำกว่า 40 ปีลงมาจึงสามารถพูดภาษาอังกฤษได้อย่างดีหรือค่อนข้างดี เด็กตัวเล็กๆก็สามารถสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษกับพวกเราได้ และเด็กเหล่านั้น มีความเป็นธรรมชาติ สดใส กล้าหาญ ไม่เอียงอาย ไม่หวาดกลัว ทักทายและสนทนาโต้ตอบกับผู้มาเยือนอย่างเป็นกันเอง 

                และนี่คือสิ่งที่ดี ในขณะที่ภูฏานจำกัดการทะลักของโลกาภิวัตน์แต่ก็เปิดประตู่สู่โลกภายนอกทางภาษา คนภูฏานจึงไปเรียนต่อต่างประเทศกันเยอะ เพราะฐานภาษาอังกฤษดี 

                โดยรวมแล้ว สังคมภูฏานอยู่กันอย่างพออยู่พอกิน นิยมความเรียบง่าย ไม่มุ่งที่จะก้าวให้ทันความเจริญทางวัตถุเหมือนกับนานาชาติ แต่มุ่งที่การอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข แบบพอประมาณ มีศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว มีวัฒนธรรมเป็นฐาน มีสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย มีระบบการปกครองที่ดี

พัฒนาการสู่อนาคต

                จะเห็นว่า เรื่องความสุขมวลรวมประชาชาติ เริ่มต้นจากพระราชปณิธาน เป็นปรัชญา เป็นหลักคิด แล้วแปลเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ตั้งอยู่บน 4 เสาหลัก ตามด้วยการดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบายดังกล่าวผ่านหน่วยงานต่างๆของรัฐ ส่วนเรื่องการสร้างตัวชี้วัดความสุขและความสำเร็จของ 4 เสาหลักนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาที่ยังไม่มีความชัดเจนแน่นอนทีเดียว

                วันนี้ภูฏานกำลังเตรียมการที่จะก้าวจากการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขในปี 2008 รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐจึงมีภารกิจหลักเพิ่มขึ้นอีกประการหนึ่ง ได้แก่ การนำรัฐธรรมนูญไปชี้แจง ไปพูดคุยกับประชาชน และการเตรียมความพร้อมต่างๆสู่ระบอบการปกครองแบบใหม่ 

                “ประธานศูนย์คุณธรรม”บอกต่อไปว่า ระหว่างเดินทางเยี่ยมศึกษาประเทศภูฏาน คณะทำงานทั้ง 16 ชีวิต 11 องค์กรได้มีการประชุมกันอย่างต่อเนื่อง ตอนเช้าบ้าง ค่ำบ้าง ในรถบ้าง และสุดท้ายสรุปตรงกันว่า การพิจารณาทำอะไรสำหรับประเทศไทย จะต้องคิดจากฐานของประเทศไทย คิดจากสถานการณ์และสภาพแวดล้อมของไทย คิดจากระบบและสภาพของสังคมไทย เป็นหลัก ส่วนเรื่องของประเทศอื่นที่ดีมีคุณค่าในฐานะเป็นแรงบันดาลใจ หรือเป็นข้อคิด เป็นบทเรียนที่มีประโยชน์ เราก็สามารถนำมาเป็นเครื่องช่วยหรือนำมาประกอบการพิจารณาด้วยได้

                สำหรับศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม หรือศูนย์คุณธรรมได้พยายามส่งเสริมในเรื่องของคุณธรรมความดี ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของสังคมที่พึงปรารถนา คุณธรรมความดีจะช่วยให้เกิดความสุข ซึ่งเป็นความสุขที่ดีและยั่งยืน ความดีกับความสุขจะเป็นร่มและเป็นเชื้อให้กับการสร้างความสามารถซึ่งมักจะเป็นความสามารถในทางที่ดี คือไม่ใช่ความสามารถชนิดที่ไปทำความเดือดร้อนหรือความทุกข์ให้กับคนอื่น หรือไปทำความเสียหายให้กับสังคมหรือสิ่งแวดล้อม 

                “ความดี ความสุข ความสามารถ จึงเป็น 3 องค์ประกอบที่เกื้อกูลซึ่งกันและกันในทางที่ดี จะเรียกว่าเป็น ‘รัตนตรัยแห่งสังคมที่พึงปรารถนา’ ก็น่าจะได้ และนี่อาจจะเป็นฐานคิดหรือแนวความคิดในการสร้าง ‘ความสุข’ หรือ ‘สังคมอยู่เย็นเป็นสุข’ ในประเทศไทย” คือคำกล่าวทิ้งท้ายของ คุณไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ประธานศูนย์คุณธรรม ที่ให้คำสัมภาษณ์ภายหลังการพาคณะไปเยี่ยมศึกษาประเทศภูฏาน.

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

28 ก.ย. 49

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/52364

<<< กลับ

ขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง ระดับชาติ – ชุมชน – ครัวเรือน

ขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง ระดับชาติ – ชุมชน – ครัวเรือน


    (บทสัมภาษณ์พิเศษโดย กิ่งอ้อ เล่าฮง , ปกรณ์ พึ่งเนตร ลงใน นสพ. กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 8 ตุลาคม 2549)

                “เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเรามีอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องส่งเสริมให้มากขึ้น เพื่อลดความเร่าร้อนรุนแรงของเศรษฐกิจในแบบมุ่งรายได้ มุ่งเติบโต และมุ่งเอาชนะ คือเราต้องพยายามเดินสายกลางให้มากขึ้น เพื่อดึงพวกสุดโต่งให้กลับมา”

ในขณะที่ทุกภาคส่วนของประเทศไทย หรืออาจจะเป็นทั่วโลก กำลังตื่นเต้นกับ จีเอ็นเอช (GNH – Gross National Happiness) หรือความสุขมวลรวมประชาชาติ ที่ประเทศภูฏานใช้เป็น “ธงนำ” ในการพัฒนาชาติ แต่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า ประเทศไทยของเราก็พูดเรื่องราวลักษณะเดียวกันนี้มาหลายปีดีดักแล้ว

ที่สำคัญเรายังมี “เศรษฐกิจพอเพียง” อันเป็นพระบรมราโชบายที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้กับปวงชนชาวไทย เพื่อเป็นปรัชญานำพาชาติให้พัฒนาอย่างยั่งยืนในยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งนับว่ามีคุณูปการและกำลังได้รับความสนใจจากนานาประเทศไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า จีเอ็นเอช  เช่นกัน

ยิ่ง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ประกาศใช้ “เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นหลักในการพัฒนาประเทศ ยิ่งทำให้ปรัชญานี้ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง

แต่การขับเคลื่อน “เศรษฐกิจพอเพียง” ให้เห็นผลเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะในรัฐบาลชั่วคราวที่มีเวลาจำกัดเพียง 1 ปีนั้น ย่อมต้องใช้บุคคลที่มีความรู้ความเข้าใจอย่างสูง รวมทั้งทำงานด้านนี้มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

และชื่อที่มีการเอ่ยถึง จนกลายเป็น “แคนดิเดท” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงด้านสังคมกระทรวงใดกระทรวงหนึ่งอยู่ในขณะนี้ ก็คือ ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

กล่าวสำหรับไพบูลย์ ชื่อของเขาปรากฏอยู่ในตำแหน่งสำคัญๆ ต่างๆ มากมาย อาทิเช่น ประธานสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ทว่าตำแหน่งล่าสุดที่เขาได้รับมอบหมายจากคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) นอกเหนือจากตำแหน่งรัฐมนตรีที่กำลังลุ้นกันอยู่ในขณะนี้ ก็คือประธานคณะที่ปรึกษาฝ่ายการเสริมสร้างสมานฉันท์และความเป็นธรรมในสังคม

และนี่คือสายธารความคิดของเขาเกี่ยวกับ จีเอ็นเอช กับเศรษฐกิจพอเพียง ที่กำลังจะเป็น “เป้าหมายใหม่” ของประเทศไทย ที่น่าจะเรียกได้ว่าสวนทางแบบ 180 องศา กับรัฐบาลก่อนหน้าที่มีผู้นำชื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร !

                “จริงๆ เรื่อง จีเอ็นเอช ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มีการคิดและทำกันมาตลอด” ไพบูลย์ เอ่ยขึ้นในเบื้องแรก และว่า การจะบริหารประเทศและสังคมท้องถิ่นให้ได้ผลอย่างไรนั้น โดยทั่วไปย่อมต้องการให้ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข หรืออยู่ดีมีสุข หรือมีความผาสุก แบบที่เรียกว่า Well being  ไม่ว่าประเทศไทยหรือประเทศอื่นๆ ก็จะเห็นตรงกันเช่นนี้

อย่างไรก็ดี ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา โลกของเรามีพัฒนาการความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจสูงมาก ทำให้นักเศรษฐศาสตร์คิด “ตัวชี้วัด” รายได้ประชาชาติเป็น จีดีพี ( GDP – Gross Domestic Product) หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศขึ้นมา ซึ่งเชื่อมโยงกับการจ้างงาน  การผลิต และการใช้จ่ายของประชาชน

                “ต้องยอมรับว่า จีดีพี มีจุดเด่นตรงที่วัดได้ด้วยตัวเงิน ทำให้เห็นภาพชัด และโลกของเราทุกวันนี้ก็มีเงินเป็นสื่อกลาง ทำให้นโยบายของรัฐบาลต่างๆ หันไปผูกโยงกับเรื่องเศรษฐกิจมากขึ้น ส่วนความผาสุกหรือความสุขมวลรวมประชาชาติ ที่เรียกว่า จีเอ็นเอช นั้น วัดได้ยากกว่า” 

ไพบูลย์ อธิบายว่า หลักการของ จีเอ็นเอช นั้นตั้งอยู่บนเสาหลัก 4 ประการ คือ 1.การพัฒนาเศรษฐกิจสังคมให้ยั่งยืน เท่าเทียม และพึ่งพาตนเองได้ 2.การอนุรักษ์ดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 3.การอนุรักษ์ส่งเสริมคุณค่าทางวัฒนธรรม และ 4.การมีธรรมาภิบาล หรือการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี

ด้วยหลักการดังกล่าวนี้ ไพบูลย์ บอกว่า ประเทศไทยเองก็ให้ความสำคัญ เพราะในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8  (ปี 2540-2544) ก็พูดถึงการพัฒนาที่ทำให้เกิดเป้าหมาย “ชีวิตที่เป็นสุข” โดยมีคนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งในแผนฯ 8 ใช้คำว่า “การพัฒนาเพื่อให้คนมีความสุข ครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเข้มแข็ง สังคมสันติ และสิ่งแวดล้อมยั่งยืน” 

ต่อมาในแผนฯ 9 (2545-2549)  ก็ยังเน้นเรื่อง “อยู่ดีมีสุข” อย่างต่อเนื่อง โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ได้พัฒนาตัวชี้วัดขึ้นมา เพื่อวัดความอยู่ดีมีสุขของประชาชน ซึ่งการวัดแบบนี้ซับซ้อนและยากกว่าการวัดด้วย จีดีพี

กระทั่งในแผนฯ 10 (2550 เป็นต้นไป) ก็มุ่งการพัฒนาเพื่อให้คนอยู่อย่างเป็นสุข โดยมีวิสัยทัศน์ให้ประเทศไทยมี “สังคมที่อยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” ซึ่งแสดงถึงความเป็นปึกแผ่น โดยใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญานำทาง

                “นี่เป็นการชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยก็คิดเรื่องนี้มาตั้งแต่แผนฯ 8 กระทั่งถึงแผนฯ 10 ก็พูดเรื่องสังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน โดยมีเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเสาหลัก” ไพบูลย์ ระบุ

เขาอธิบายว่า ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีหลักอยู่ 5 ประการคือ 1.ความพอประมาณ 2.ความมีเหตุผล  3.ความมีภูมิคุ้มกัน 4.ความรอบรู้รอบคอบ และ 5.คุณธรรมความดี ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วก็มีหลักการในทางเดียวกันกับ จีเอ็นเอช จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่รัฐบาลชุดใหม่ประกาศเดินหน้าเรื่องความผาสุกของประชาชนโดยใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักการสำคัญ

อย่างไรก็ดี คำว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” ดูจะยังมีความสับสนในแง่ของความหมาย แต่ ไพบูลย์ บอกว่า จริงๆ แล้วคนไทยที่ใช้ชีวิตอย่างพอเพียงก็มีไม่น้อย ซึ่งไม่เฉพาะแต่เพียงชาวบ้านเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงคนที่มีฐานะดี มีหน้าที่การงานในระดับสูง และข้าราชการอีกเป็นจำนวนมาก เพราะแท้ที่จริงแล้วการใช้ชีวิตอย่างพอเพียงก็คือไม่โลภ ใช้ชีวิตแต่พอดี ไม่ฟุ้งเฟ้อ และมีความสุขตามอัตภาพ

                “เพราะฉะนั้นเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเรามีอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องส่งเสริมให้มากขึ้น เพื่อลดความเร่าร้อนรุนแรงของเศรษฐกิจในแบบมุ่งรายได้ มุ่งการเติบโต และมุ่งเอาชนะ คือเราต้องพยายามเดินสายกลางให้มากขึ้น เพื่อดึงพวกสุดโต่งให้กลับมา” 

ไพบูลย์ ย้ำว่า เศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่ค้าขายกับใคร แต่อยู่ที่เจตนาของการทำธุรกิจมากกว่า

                “เราต้องดูที่เจตนา ถ้าหวังร่ำรวยกว่าคนอื่น ใหญ่โตกว่าคนอื่น ก็ไม่ใช่เศรษฐกิจพอเพียง แต่ถ้าเจตนาอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข มองคนอื่นเป็นมิตร ไม่ใช่คู่แข่ง หรือถ้าจะแข่งขันก็แข่งกันแบบเป็นมิตร และอนุรักษ์สิ่งที่มีคุณค่าไว้ เช่น สิ่งแวดล้อม หรือวัฒนธรรมอันดีงาม แบบนี้ก็ถือเป็นเศรษฐกิจพอเพียงได้” 

ไพบูลย์ บอกว่า จริงๆ แล้วเศรษฐกิจพอเพียงต้องถือเป็นปรัชญาของโลก เพราะโลกกำลังหาทางออกจากภยันตรายของมวลมนุษยชาติอันเกิดจากความโลภ อาทิเช่น ปัญหาโลกร้อน ซึ่งเศรษฐกิจพอเพียงคือทางออก

                “พอดีก็คือสมดุล เมื่อสมดุลก็จะยั่งยืน แต่เรื่องเศรษฐกิจก็ยังคงอยู่ การค้าขายก็ยังคงอยู่ เพียงแต่เราต้องรู้ว่าเราผลิตเพื่อบริโภคและจำหน่าย ดังนั้นถ้าเราบริโภคแต่พอดี ก็จะผลิตและจำหน่ายอย่างพอดี แต่ถ้าเราบริโภคมาก เราก็ต้องผลิตมากและส่งออกมากเพื่อนำเงินเข้ามาบริโภค ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือการบริโภคน้ำมันของบ้านเรา ถ้าบริโภคมาก จะต้องนำข้าวกี่เกวียนไปแลก ” เขายกตัวอย่างพร้อมตั้งคำถาม และว่า

                “ผมมองว่าประเทศไทยกำลังก้าวหน้า ล้ำหน้าประเทศอื่นด้วยซ้ำ ที่ยกเอาเรื่องความผาสุก การอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข และเศรษฐกิจพอเพียงขึ้นมาเป็นปรัชญาในการพัฒนาประเทศ” 

ไพบูลย์ บอกอีกว่า กระบวนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงดำเนินมาอย่างเงียบๆ ตั้งแต่แผนฯ 9 ที่อัญเชิญแนวคิด “เศรษฐกิจพอเพียง” มาเป็นปรัชญาในการพัฒนาประเทศ โดยมีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งมี ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา เป็นประธาน มีสำนักงานอยู่ที่สภาพัฒน์ และพยายามเผยแพร่ให้ความรู้กระจายออกไปยังวงการต่างๆรวมถึงสถานศึกษาและธุรกิจ

                “ปีนี้พลังเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเกิดขึ้นมาก เนื่องจากเป็นปีมหามงคล มีการเฉลิมฉลองในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ทำให้มีกระแสและมีความตื่นตัวสูง แต่ต้องยอมรับว่าในเชิงปฏิบัติยังน้อยอยู่ ถือว่าเพิ่งเริ่มต้น เพราะฉะนั้นต้องขับเคลื่อนต่อไป โดยยกระดับให้เป็นองค์ความรู้มากขึ้น รวมถีงการทำให้เป็นหลักสูตรสอนในสถานศึกษา และการดำเนินการอื่นๆ”

ไพบูลย์ บอกว่า หากจะเปรียบสิ่งที่กำลังทำในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ก็ไม่ต่างจากหยดน้ำเล็กๆ มากมายไหลมารวมกันเป็นแม่น้ำสายใหญ่ ซึ่งต้องพยายามให้เกิดเป็นแม่น้ำสายหลักให้ได้ เพราะในแง่ปฏิบัติแล้ว วันนี้เศรษฐกิจพอเพียงยังเปรียบเสมือนลำธารเท่านั้น

                “ผมคิดว่า 1 ปีนับจากนี้น่าจะเป็นโอกาสอันดีที่เศรษฐกิจพอเพียงจะก้าวหน้าต่อไป และถ้าไปได้ดี ย่อมมีพลังขับเคลื่อนหลังจากนั้น ไม่ว่าใครจะเข้ามาเป็นรัฐบาลบริหารประเทศต่อไปก็ตาม” 

ไพบูลย์ บอกด้วยว่า การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ใช่แค่การขับเคลื่อนระดับชาติ แต่ต้องทำในระดับชุมชนไปพร้อมกันด้วย เช่น การเสริมความรู้ให้คนในท้องถิ่นรู้จักทำแผนชุมชน กระตุ้นให้คนในหมู่บ้านมานั่งพูดคุยกันเพื่อแก้ปัญหาของตัวเอง เป็นต้น เพราะเมื่อแต่ละชุมชนรู้ปัญหา ก็จะคิดหาทางออกร่วมกัน โดยอาจจะตั้งวิสาหกิจชุมชนขึ้นมา เพื่อร่วมกันคลี่คลายปัญหาอย่างมีเหตุผล

นอกจากนั้น ยังต้องปลูกฝังแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงลงไปถึงระดับครัวเรือน เพื่อให้รู้จักคิดวิเคราะห์ว่าแต่ละครัวเรือนมีปัญหาอะไร มีรายจ่ายเท่าไหร่ ทำไมถึงมีหนี้สิน

                “ถ้าแต่ละครัวเรือนรู้ความจริงของตัวเองว่าในแต่ละเดือนเราหมดเงินไปกับการดื่มเหล้าเท่าไหร่ สูบบุหรี่เท่าไหร่ เมื่อความจริงเกิดขึ้น ความดีงามก็จะตามมา ความคิดดีๆ ก็จะเกิดขึ้น” ไพบูลย์ บอก

เขายังเห็นว่า ความเข้าใจและการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจเพียงจะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อีกด้วย เพราะความต้องการดำรงอยู่ในอัตลักษณ์ของชาวมลายูมุสลิมภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ ซึ่งสอดคล้องกับแนวเศรษฐกิจพอเพียง เป็นเรื่องที่ฝ่ายรัฐในอดีต คงจะยังไม่เข้าใจและให้ความสำคัญมากพอ จึงกลายเป็นต้นตอหนึ่งของปัญหาอันนำไปสู่ความรุนแรงในภาคใต้

                “ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเรื่อง จีเอ็นเอช และเศรษฐกิจพอเพียงในปีหน้านี้ ซึ่งจะมีนักคิด นักพัฒนา และบุคคลระดับชั้นนำจากหลายๆ ประเทศเข้าร่วม ซึ่งผมเชื่อว่าจะสามารถผลักดันแนวคิดนี้ให้เป็นเป้าหมายหลักของชาติและของสังคมโลกเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างยั่งยืนต่อไป”

(ล้อมกรอบ)

เห็นด้วย คปค.ตั้งคณะที่ปรึกษา

เปิดช่องทางสื่อสารภาคประชาสังคม

ภายหลังการยึดอำนาจการปกครองของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ได้เพียงไม่กี่วัน คปค.ก็ออกคำสั่งที่ 17/2549 แต่งตั้งคณะที่ปรึกษา 4 ชุด ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ เป็นจำนวนมาก

และชื่อ ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ก็ปรากฏเป็นหนึ่งในนั้น ในฐานะประธานคณะที่ปรึกษาฝ่ายการเสริมสร้างสมานฉันท์และความเป็นธรรมในสังคม

ไพบูลย์ เล่าให้ฟังว่า หลังได้รับแต่งตั้ง ก็ได้เรียกประชุมคณะที่ปรึกษาไปแล้ว 1 ครั้ง แต่ประเด็นการหารือยังไม่ได้ลงรายละเอียดมากนัก เพียงแต่หารือกันเพื่อกำหนดกรอบงานกว้างๆ

                “ผมว่าก็ดีที่ คปค.คิดในเรื่องแบบนี้ ถือว่าจับประเด็นได้ดี การมีคณะที่ปรึกษาเป็นช่องทางหนึ่งที่จะได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน และสื่อสารกับประชาชนได้มากขึ้น โดยภาคประชาสังคมเองก็สามารถเคลื่อนไหวในประเด็นต่างๆ ผ่านกลไกของคณะที่ปรึกษาได้ ถือเป็นช่องทางที่เสริมเข้ามาเพื่อให้แนวทางดำเนินการมีความหลากหลายมากขึ้น และน่าจะเป็นประโยชน์กับสังคมและประชาชนในภาพรวม”

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

24 ต.ค. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/55563

<<< กลับ

4 ทิศทางสู่สังคมคุณธรรม สอดรับ 5 หลักการปรัชญาเศรษฐกิจ พอเพียง

4 ทิศทางสู่สังคมคุณธรรม สอดรับ 5 หลักการปรัชญาเศรษฐกิจ พอเพียง


    (สรุปจากปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “นโยบายการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในกระบวนการภาคประชาชน” ในงาน “สัมมนาเวทีนโยบายสาธารณะเศรษฐกิจพอเพียง กับกระบวนการภาคประชาชน กรณีศึกษานโยบายการจัดการกองทุนชุมชน”  ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2549 และลงในนสพ. มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 26 ต.ค. 2549)

              ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นปรัชญาที่ถือว่าเป็นนวัตกรรมที่มีคุณค่ายิ่ง และยังมีความลึกซึ้ง ก้าวหน้า และเหมาะสมสำหรับสังคมมากที่สุด

             ครั้งแรกที่รัฐบาลประกาศว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงคือยุทธศาสตร์หลักของประเทศ เริ่มต้นหลายคนก็มีปฏิกิริยาในทางลบ คิดว่าจะกลับไปสู่ยุคโบราณอีกครั้ง ไม่สอดคล้องกับยุคโลกาภิวัตน์แม้แต่น้อย แต่หลังจากได้อธิบาย ก็มีคนเห็นด้วยมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภาคประชาชน ซึ่งมีแนวโน้มจะเข้าใจและยอมรับมากขึ้น

        แต่น่าแปลกใจและน่าชื่นใจที่ภาคธุรกิจสนใจเข้ามาศึกษาและยอมรับแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงเพิ่มขึ้น

           นั่นหมายความว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาพื้นฐานสำหรับทุกวงการ ทุกมิติ ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะบุคคล เมื่อใช้ในภาคธุรกิจได้ ก็สามารถใช้ในภาคอื่นได้อย่างไม่ต้องสงสัย

        หลายคนบอกว่าภาคการเมืองน่าจะนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้เป็นปรัชญาการเมืองด้วย เพราะจะทำให้การเมืองมีคุณค่ามากยิ่งขึ้น แม้จะเป็นภาคส่วนที่มีแนวโน้มจะเข้าใจปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงน้อยที่สุดก็ตาม

          สิ่งสำคัญที่สุดหากต้องการให้สังคมไทยยึดถือปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างเป็นระบบเท่าเทียมกัน ต้องร่วมมือกันผลักดันในหลายๆ ภาคส่วน และช่วยกันอธิบายว่าปรัชญานี้ไม่ได้เข้าใจยาก เพียงแต่มันมีความลึกซึ้งและมีคุณค่าเป็นอย่างยิ่ง

                หลักการสำคัญ 5 ประการของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงคือ

                         1.ความพอประมาณ คือ ความพอดีๆ ไม่น้อยเกินไป ไม่มากเกินไป ไม่เติบโตเร็วเกินไป ไม่ช้าเกินไปและไม่สุดโต่ง

                         2.ความมีเหตุผล คือ ทุกอย่างต้องมีที่มาที่ไป อธิบายได้ การส่งเสริมกันในทางที่ดี สอดคล้องกับหลักการพุทธธรรม คือหลักปฏิจจสมุปบาท และอิทัปปัจจยตา ที่กล่าวถึงความเป็นเหตุเป็นผล เพราะมีสิ่งนี้ทำให้เกิดสิ่งนี้ ทุกสิ่งเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย

                            3.ความมีภูมิคุ้มกันที่ดี จะต้องปกป้องคุ้มครองไม่ให้เกิดความเสี่ยงที่ไม่ควรจะเป็น เช่น เกิดความเสี่ยงเพราะมีความโลภมากเกินไป หรือเสี่ยงเพราะปล่อยกู้มากเกินไป หรือกักตุนสินค้าเพื่อเก็งกำไรมากเกินไป จนก่อให้เกิดความเสี่ยง

                          4.ความรอบรู้ ต้องมีความรอบคอบ มีการใช้ความรู้ใช้วิชาการด้วยความระมัดระวัง ไม่บุ่มบ่าม มีการจัดการองค์ความรู้ที่ดี ดำเนินการอย่างรอบคอบถ้วนทั่ว รอบด้านครบทุกมิติ

                          5.คุณธรรมความดี เป็นพื้นฐานของความมั่นคง หากเปรียบเป็นต้นไม้ใหญ่ถือเป็นรากแก้วและรากแขนงที่มีขนาดและคุณภาพเพียงพอ โดยมีเศรษฐกิจเป็นรากฝอยคอยหล่อเลี้ยง ที่ประกอบด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต มานะอดทนและพากเพียร

               เราจะเห็นว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักการง่ายๆ เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยาก แม้จะไม่สามารถนำไปใช้ได้สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อใช้ได้ส่วนหนึ่งก็เป็นสิ่งที่ดีแล้ว

                นอกจากนี้ เราต้องสืบค้น ค้นหาภูมิปัญญาที่ดีที่มีอยู่และสามารถสืบค้นสิ่งที่ไม่ดีที่เป็นปัญหาด้วย ซึ่งจะนำไปสู่กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างชุมชน สังคม หรือระดับจังหวัดต่อไป ไม่ว่าเรื่องกลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มสวัสดิการ รวมทั้งการจัดการภายในครัวเรือน ในเรื่องของสิ่งที่ดีและสิ่งที่เป็นปัญหา ซึ่งจะเกิดการขยายตัวขยายความร่วมมือต่อไป รวมทั้งสามารถเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่องด้วย

                และยังมี 4 ทิศทางสำคัญเพื่อสร้างความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันและเป็นการสร้างสังคมที่พึงปรารถนา รวมทั้งสอดรับกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงด้วย คือ

                  1.สังคมที่ไม่ทอดทิ้งกัน เราควรทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่มองเห็นความทุกข์และความสุขของคนอื่นร่วมกัน มีความเอื้ออาทรไม่นิ่งดูดายเมื่อเห็นผู้อื่นเป็นทุกข์ ร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน ซึ่งจะเห็นการเกิดขึ้นของ กองทุนสวัสดิการ, แนวทางอาสาสมัคร จัดว่าอยู่ในกลุ่มนี้

                      2.สังคมที่เข้มแข็ง เป็นสังคมที่มีชุมชนท้องถิ่นที่เข้มแข็ง ภาคประชาสังคมที่เข้มแข็ง ตามลักษณะภูมินิเวศ กลุ่มคนและประเด็น ซึ่งจะพบงานที่เกี่ยวข้องคือการทำงานเรื่องเด็กและชุมชน

                       3.สังคมคุณธรรม เป็นสังคมที่เป็นปึกแผ่น ร่มเย็นเป็นสุข โดยการใช้ศาสนธรรม มาร่วมกันคิดมาร่วมกันทำในชุมชน แม้จะมีความแตกต่างกันของการนับถือศาสนา แต่ก็เคารพคุณค่าระหว่างกัน มีความเข้าใจกันระหว่างศาสนา และหลีกหนีออกจากวัตถุนิยม

                    4.สังคมประชาธิปไตย เป็นสังคมที่ประชาชนมีส่วนในการกำหนดกลไกต่างๆ ทางสังคม มีเคารพในคุณค่าของความเป็นมนุษย์ เป็นสังคมประชาธิปไตยที่ดี ไม่ใช่เพียงแค่ตามรูปแบบหรือกฎหมาย แต่ประชาชนเป็นผู้มีบทบาทในเนื้อหาสาระอย่างแท้จริงไม่ใช่บอกว่ามีการเลือกตั้งแล้วบอกว่านี่แหละประชาธิปไตย ทั้งที่การเลือกตั้งเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย ไม่ใช่สาระสำคัญ แต่การให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมคือสิ่งสำคัญที่สุด

              เรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ถ้าเราปฏิบัติได้อย่างแท้จริงและต่อเนื่อง ผมเชื่อว่าทำให้สังคมกลายเป็นสังคมที่ดีอยู่เย็นเป็นสุขได้

             ทั้งหมดนี้จะเป็นปฏิบัติบูชาที่มีคุณค่ายิ่งต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในปีหน้าจะเป็นวโรกาสที่พระองค์จะทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา ไม่มีสิ่งอื่นใดจะยิ่งใหญ่กว่านี้อีกแล้ว หากเราช่วยกันขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้สังคมทุกภาคส่วนได้นำไปใช้ จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยในระยะยาว

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

31 ต.ค. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/56593

<<< กลับ

ตั้งสภาผู้นำท้องถิ่น ดันการเมืองรากแก้วเข้มแข็ง

ตั้งสภาผู้นำท้องถิ่น ดันการเมืองรากแก้วเข้มแข็ง


     (สัมภาษณ์พิเศษลงใน นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 10 ธันวาคม 2549 หน้าที่ 2)

                นายไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ผมจะเสนอเรื่องชุมชน ซึ่งเหมือนมองจากพื้นดินขึ้นสู่ฟ้า คำถามคือชุมชนท้องถิ่นเรียนรู้อะไรในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งแยกแยะออกมาได้ 7 ประการ คือหนึ่ง การเรียนรู้ทุกข์สุขอย่างเฉียบพลัน ซึ่งไม่ได้ลบทั้งหมด มีบวกในเรื่องราคาเกษตรบางตัวดีขึ้น แต่ทางลบการจ้างงานหยุด ต้องกลับไปชนบท เพื่อทำมาหากินเท่าที่จะทำได้ 

                ประการที่ 2 เรียนรู้ว่าบางชุมชน การป้องกันที่มีศักยภาพดีมีภูมิคุ้มกันดีมีการเรียนรู้ค้นความจริง เตรียมการสร้างความคุ้มกันเช่น ตำบลแม่เรียง นครศรีธรรม  ผู้นำได้รางวัลแมกไซไซ

                ประการที่ 3 เกิดวิกฤติคำพูดใหม่ทีเรียกว่า “ตาข่ายคุ้มครองทางสังคม” สร้างวิสาหกิจชุมชนรองรับลูกหลาน และเกิดจากภาครัฐ ตั้งกองทุนทางสังคม กองทุนต่าง ๆ เปิดโอกาสให้ชุมชนดูแลกันเอง

                ประการที่ 4 เรียนรู้ยานขนานใหญ่ประชานิยม  เกิดโครงการต่าง ๆ มากมาย  กองทุนหมู่บ้าน  30  บาท  พักหนี้เกษตรกร  หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์  เน้นการเจริญทางเศรษฐกิจและทำให้เกิดอำนาจนิยมและคะแนนเสียงนิยมในท้องถิ่น

                “ช่วงนี้ชุมชนเรียนรู้มากมาย  ถูกถาโถมจากมาตรการทางประชานิยมทั้งบวกและลม  ชุมชนที่มีศักยภาพดีก็นำเงินไปสร้างประโยชน์ที่ไม่มีความพร้อมก็ไปทำลายด้อยศักยภาพจากกระแสประชานิยมที่เกิดขึ้นไม่ได้แปลว่าประชานิยมไม่ได้เรียนรู้เรื่องอื่น  กิจกรรมของรัฐมากมาย  โลกาภิวัตน์  ชุมชนมีวิวัฒนาการ  การพึ่งตัวเองมากขึ้น”

                ประการที่  5  ชุมชนเข้าสู่ยุคของการทำแผนชุมชนระดมความคิดออกมาเป็นแผนปฏิบัติ  เป็นแผนทางสังคมวัฒนธรรม  การจัดชุมชนที่เน้นการพึ่งพาตัวเองขยายวงออกไปจำนวนมาก   จากจุดเริ่มต้นวิกฤติเศรษฐกิจ  ขยายวงการจัดการชุมชนในรูปแบบต่างๆ  รำทำแผนชุมชน  การพัฒนาเกษตรธรรมชาติ และมีการเรียนรู้กันว่าการจัดการในเชิงการเมืองที่เรียกว่างการเมืองแบบสมานฉันท์  ในเชิงการเมืองที่เรียกว่าการเมืองแบบสมานฉันท์มากขึ้น  เรียนรู้ว่า  การเลือกตั้งแบบเดิมก่อให้เกิดความแตกแยก  กลับไปสู่การพูดจาก  หารือ  อาศัยผู้อาวุโสผู้ตำตามธรรมชาติแม้แข่งขันถือเป็นมิตร

                ประการที่ 6 การเรียนรู้ควบคู่การจัดการชุมชน  คือการเรียนรู้เรื่องจิต  หรือมนุษย์นิยมการพัฒนาที่มีคนเป็นหลัก  แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่  8  แม้ว่ารัฐบาลไม่ได้นำเอาแผนฯ  8  มาปฏิบัติเจาะจงเข้มข้น  แต่ปรัชญาซึมซับไปสู่ชุมชนไม่น้อย  ทำให้เกิดคำว่าพอเพียงได้รับความนิยม  ซึ่งได้รับจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

                ประการที่ 7 การเรียนรู้ที่สำคัญสู่อนาคต  มีจิตนาการ  ซึ่งการเรียนรู้ที่สำคัญมาก  การพัฒนาท้องถิ่นแบบบูรณการทุกฝ่ายประสานความร่วมมือกัน  หลักการที่ปฏิบัติเอาพื้นที่เป็นตัวตั้งไม่ใช่มองทั้งประเทศ

                นายไพบูลย์  กล่าวว่า  หลักการข้อที่  1  ต้องเอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง  และหลักการข้อที่  2  คือการประสานร่วมมือกันทุกฝ่าย  จั้งแต่ประชาชนองค์กรชุมชน  อบต.  และเทศบาล  ข้าราชการส่วนภูมิภาค  มีกลไกประสานความร่วมมือทุกฝ่าย  น่าจะเป็นหลักการสำคัญในการพัฒนา  มีเป้าหมายที่สำคัญ  สังคมอยู่เย็นเป็นสุขเป็นเป้าหมายร่วมกันที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  นำออกมาเป็นเป้าหมายร่วมที่เรียกว่า  สังคมท้องถิ่นดีงานอยู่เย็นเป็นสุข  และยุทธศาสตร์ในการจัดการท้องถิ่น  มี  3  ส่วน  คือ  1.  สังคมไม่ทอดทิ้งกัน  2.  สังคมเข้มแข็ง  และ  3.  สังคมคุณธรรม

                นอกจากนี้จิตนาการสู่อนาคต  คือการจัดให้มีสภาที่ปรึกษาของท้องถิ่นที่ไม่มีอำนาจ  แต่มีบทบาทในการคิดพิจารณาศึกษาติดตามให้ความคิดเห็นเพื่อประโยชน์ต่อท้องถิ่น  ซึ่งมีคณะทำงาน  ยกร่าง พ.ร.บ.ที่จะเสนอให้มีสภาที่ปรึกษาชุมชนท้องถิ่น  แต่ชื่อยังไม่ชัดเจน  เพราะว่าเป็นจินตนาการที่สำคัญช่วยสร้างความเข้มแข็งในระดับท้องถิ่น  ถือเป็นฐานรากที่สำคัญช่วยสังคมโดยรวมมีความเข้มแข็ง

                “สิ่งที่ผมคิดว่าจะต้องเร่งดำเนินการ  คือการยกร่างกฎหมายในการจัดตั้งสภาผู้นำท้องถิ่นแม้จะไม่มีอำนาจ  แต่เพื่อให้คำปรึกษากับการเมืองในระดับพื้นที่ในการสร้างการเมืองท้องถิ่นให้เข้มแข็ง”  นายไพบูลย์  กล่าว

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

22 ธ.ค. 49

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/68735

<<< กลับ

ความคิดเห็น เรื่อง “สถานการณ์ดำเนินธุรกิจ ควบคู่กับการทำประโยชน์เพื่อสังคม” ของ บริษัทบางจากปิโตรเลียมจำกัด (มหาชน)

ความคิดเห็น เรื่อง “สถานการณ์ดำเนินธุรกิจ ควบคู่กับการทำประโยชน์เพื่อสังคม” ของ บริษัทบางจากปิโตรเลียมจำกัด (มหาชน)


(บทสัมภาษณ์ความคิดเห็นลงในรายงานวิจัย เรื่อง “คุณธรรมในธุรกิจ : สถานการณ์ดำเนินธุรกิจ ควบคู่กับการทำประโยชน์เพื่อสังคม” โดย นางจุฬา สุดบรรทัด ภาคผนวก 2 หน้า 84 นำเสนอปี 2549)

                อาจารย์ไพบูลย์รู้จักบางจากฯ ตั้งแต่คุณโสภณ  สุภาพงษ์ เป็นผู้จัดการ แต่มารู้จักมากขึ้นปี ๒๕๓๑ จำได้ที่บางจากฯ ทำงานกับชุมชน อาจารย์ไพบูลย์ก็เริ่มทำงานกับชุมชน ปี ๒๕๒๙ โดยเริ่มดำเนินการเต็มเวลาอย่างจริงจัง ปี ๒๕๓๑

                            ภาพลักษณ์ของบริษัทบางจากฯ สมัยนั้น เห็นว่า พยายามทำงานเพื่อสังคมชัดเจน สมัยนั้นอาจารย์ไปบางจากฯ บ่อย เป็นเครือข่ายโดยร่วมวงกับกระบวนการพัฒนาด้านต่าง ๆ เท่าที่จำได้มีเครือซิเมนต์ไทย เครือสหพัฒน์ และบางจาก แต่หลัง ๆ ไม่ค่อยได้ยินที่บางจากต่างคือ ๑. ทำให้โรงกลั่นไปกับธุรกิจ เช่น เปิดปั๊มสหกรณ์ การให้ชาวบ้านขายของผ่านร้านค้า ๒. ให้พนักงานเข้ามามีบทบาท ๓. ทำโดยเข้าไปร่วมกับผู้อื่น ทั้งในระดับความคิด เคลื่อนไหวกระบวนการ และปฏิบัติการ

                            การที่บริษัทบางจากฯ ใช้แนวคิดการทำธุรกิจควบคู่กับการทำประโยชน์เพื่อสังคมนั้น ที่จริงธุรกิจกับประโยชน์ประชาชนกลมกลืนกันอยู่แล้ว ไม่อย่างนั้นก็อยู่ไม่ได้ ประชาชนจะไม่ซื้อ เพียงแต่จุดเน้นต่างกัน แต่ถ้ากลมกลืนลึกซึ้งอย่างที่บางจากทำเป็นเรื่องที่ยากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นไปไม่ได้ ที่อื่น ๆ ทำก็มีที่กลมกลืนที่ทำกับชาวบ้านที่มาดูแลเลี้ยงไก่ ปลูกพืช หรือธนาคารกรุงเทพให้สินเชื่อยุคบุกเบิกผ่านเกษตรกร

                            การดำเนินกิจกรรมของบริษัทบางจากฯ ที่ทำประโยชน์เพื่อสังคม ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนถึงปัจจุบันไม่ได้สังเกตว่ามีความเหมือนหรือแตกต่างกันหรือไม่

                            กิจกรรมส่วนใหญ่ที่บริษัทบางจากฯ ได้ทำเพื่อสังคม สามารถตอบสนองความต้องการของสังคมหรือไม่นั้น เห็นว่าสังคมใหญ่ซับซ้อนมาก องค์กรหนึ่งทำได้เท่าที่วิสัยจะทำได้ ถ้าแห่งหนึ่งทำดี คนอื่นเห็นดีจะได้เอาอย่าง

                            กิจกรรมของบริษัทบางจากฯ ที่ควรได้รับการสนับสนุนคงมีความหลากหลาย แล้วแต่ผู้เกี่ยวข้องมาปรึกษากัน จะมากำหนดรูปแบบก่อนไม่ได้ การทำอะไรขึ้นกับสถานการณ์และคนเกี่ยวข้อง ไม่ควรมีสูตรตายตัว

                            สังคมควรมีบทบาทในการผลักดันให้องค์กรธุรกิจได้เข้ามาร่วมช่วยเหลืออุ้มชูสังคม โดยทำได้หลายรูปแบบ

                            ๑. เห็นใครทำดีก็สนับสนุนอย่างมั่นคงเหนียวแน่น ซื้อสินค้า ถือหุ้น

                            ๒. ให้ความสนใจมีการติดตามศึกษาเปรียบเทียบ เพื่อให้เข้าใจมากขึ้น แลกเปลี่ยนเรียนรู้ สิ่งที่จะทำขยายวง

                            ๓. อาจยกย่องเชิดชูเกียรติ ให้คุณค่าต่อคนดี ส่วนคนที่ไม่ดีมีผลเสีย ถ้าสังคมเห็นคงไม่จำเป็นถึงขั้นต้องต่อต้านก็เพียงแต่ไม่นิยม ไม่ซื้อสินค้า ไม่ถือหุ้น

                            ๔. ฝ่ายวิชาการมีการศึกษาวิจัยให้เห็นทั้งดีและไม่ดี ควรศึกษาธุรกิจที่รัฐทำด้วย เช่น ยาสูบ และกิจการที่มีลักษณะการพนัน

                            เรื่องธุรกิจกับสังคม เชื่อว่ามีมาแต่เราไม่ได้ค้น ขณะเดียวกันการทำประโยชน์ก็มีหลากหลาย ทำให้ดี ซื่อสัตย์ ขายสิ่งที่เหมาะสม ไม่เสียสมดุล ก็ดี ไม่จำเป็นต้องทำอย่างบางจาก

                            องค์กรที่ได้ทำธุรกิจเพื่อสังคมอย่างแท้จริงในประเทศไทยมี ๑. บางจาก (แต่ไม่ทราบเดี๋ยวนี้เป็นอย่างไร) ๒. สหพัฒน์ สายคุณณรงค์ กลุ่มแพน ๓. ออมสิน ซึ่งอาจารย์ไพบูลย์พยายามทำให้การทำงานของออมสินกับการทำประโยชน์ให้สังคมเป็นเนื้อเดียวกัน โดยมีแนวคิดว่า “ธนาคารเจริญ สังคมได้ประโยชน์ พนักงานเป็นสุข” เพราะการทำประโยชน์ต้องทำอย่างยั่งยืน เกื้อกูลกันอย่างสมดุล ถ้าไม่สมดุลจะไม่ยั่งยืน

                            การที่ยุค ๒๐๐๐ นี้ กระแสโลกให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจควบคู่กับการทำประโยชน์เพื่อสังคม ถึงกับบรรจุเข้าไว้เป็นหลักสูตร และมีการทำวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาเอก ถือเป็นเรื่องที่ดี และควรมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นการยกระดับความรู้ให้ดีขึ้นไปอีก

                            การดำเนินธุรกิจเพื่อสังคมจะสามารถช่วยเศรษฐกิจ สังคม การเมือง/สภาวะโดยรวมของประเทศได้ โดยพยามยามทำมากขึ้น คนไปประยุกต์ต่อ ผลในที่สุดก็เยอะ

                            การดำเนินการตามแนวคิด “ทำธุรกิจควบคู่กับการทำประโยชน์เพื่อสังคม” มีผลต่อบริษัทบางจากฯ และสังคม ก็อาจเป็นทัศนคติ ท่าที การสื่อความ จึงไม่น่าสรุปว่า เพราะทำประโยชน์จึงมีปัญหา เพราะอย่างน้อยสังคมก็ตอบรับดี ทำประโยชน์…ดี เป็นการทำหน้าที่ที่ดี เพื่อจะได้ค้นหาอะไรดี ๆ ส่วนเรื่องความสัมพันธ์กับรัฐ คงเป็นเรื่องบุคคล

                            นอกจากที่ให้สัมภาษณ์ครั้งนี้ อาจารย์ไพบูลย์ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการส่งเสริมปีแห่งการพัฒนางานอาสาสมัครไทย เคยกล่าวถึงจิตวิญญาณอาสาสมัครและบริษัทบางจากฯ ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ๒๕๔๖ ชมรมรัฐวิสาหกิจเพื่อชุมชน เมื่อ ๒๒ มกราคม ๒๕๔๖ ณ ห้องประชุมใหญ่บริษัทบางจากฯ ในโอกาสที่อาจารย์ได้รับเชิญมาให้ความรู้สมาชิกชมรมฯ เรื่อง กิจกรรมงานอาสาสมัครไทย ความตอนหนึ่งว่า “เทคโนโลยีไม่มีจิตใจ แต่คนซึ่งเป็นผู้ใช้เทคโนโลยีมีจิตใจ คนจึงควรเป็นนายของเทคโนโลยี คนและสังคมควรมีความเมตตา กรุณา (Compassion) จิตวิญญาณที่สำคัญ คือการนึกถึงคนอื่นมากกว่าตนเอง ซึ่งในที่สุดจะเกิดผลสะท้อนกลับมาเอื้อต่อผู้มีจิตวิญญาณนั้นเอง ตัวอย่างเช่น กรณีบริษัทบางจากฯ ซึ่งทำความดีมาตลอด จึงได้รับผลดี ทำให้บริษัทอยู่รอดได้” 

                            ปัจจุบันในองค์กรต่าง ๆ เกิดชมรมมากมายเป็น Corporate social investment กิจกรรมกึ่งอาสาสมัครเกิดผลดีด้านอื่นด้วย จำเป็นอย่างยิ่งที่น่าส่งเสริมโดยเฉพาะคนรุ่นหนุ่มสาว ซึ่งยังมีเวลามากในการ “ให้” กับสังคม

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

22 ธ.ค. 49

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/68741

<<< กลับ

“ไพบูลย์” แนะผนึกเบญจภาคี ฟื้นฟูชุมชนลุ่มน้ำภาคกลาง

“ไพบูลย์” แนะผนึกเบญจภาคี ฟื้นฟูชุมชนลุ่มน้ำภาคกลาง


(บทสัมภาษณ์ลงในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ วันที่ 19 พ.ค. 50  หน้า 10)

                รองนายกฯ ชี้หนทางฟื้นฟูวิถีชุมชนให้สำเร็จต้องผนึกพลังจากผู้เกี่ยวข้อง 5 ส่วน ทั้งภาคประชาชน-ประชาสังคม-องค์กรท้องถิ่น-ราชการ-รัฐบาล มาร่วมคิด ร่วมทำด้านเครือข่ายอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมลุ่มน้ำภาคกลางยื่นข้อเสนอให้รัฐกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม จัดทำแนวเขตป่าแก้ไขปัญหาเขตทับซ้อน คุมการใช้สารเคมีเกษตร จัดตั้งองค์กรอิสระบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ

                        นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้กล่าวในงาน “มหกรรมฟื้นฟูวิถีชุมชนคนลุ่มน้ำภาคกลาง” ที่จัดขึ้น ณ ศูนย์วัฒนธรรมเสาไห้ อ.เสาไห้ จ.สระบุรี เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2550 ถึงแนวทางการสนับสนุนให้ชุมชนได้เข้าไปมีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์ฟื้นฟูลุ่มน้ำทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมว่าการดำเนินงานจะสำเร็จลุล่วงไปได้จะต้องผนึกจากผู้เกี่ยวข้อง 5 ส่วนมาทำงานร่วมกัน คือ

                        1) ภาคประชาชนต้องสร้างองค์กรชุมชนที่เข้มแข็งขึ้นมาร่วมคิดร่วมทำเพื่อให้พึ่งตนเองได้ 2) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตั้งแต่ อบต.., เทศบาล, อบจ., ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่ใกล้ชิดประชาชนที่สุด จะต้องเข้ามาหนุนเสริมให้ภาคประชาชนสามารถทำงานพัฒนาได้อย่างสะดวก ทั้งด้านงบประมาณ ข้อมูล และเทคนิคต่างๆ 3) ราชการส่วนภูมิภาคทั้งกำนัน, ผู้ใหญ่บ้าน, อำเภอ, จังหวัด ซึ่งเป็นส่วนราชการที่ทำหน้าที่ด้านการปกครอง จะต้อง เดินเข้าหาประชาชน และใช้อำนาจไปในทางด้านหนุนเสริมองค์กรชุมชนมากกว่าการเข้าไปสั่งการ

                4) ภาคประชาชนสังคมต่างๆ ทั้งหน่วยงานธุรกิจ นักพัฒนาเอกชน และผู้รู้ต่างๆ ก็สามารถเข้าไปมีบทบาทในการหนุนเสริมองค์กรชุมชนได้ และ5) รัฐบาลหรือภาคนโยบายที่จะต้องเข้ามาดำเนินนโยบาย และจัดสรรงบประมาณลงไปหนุนเสริมสนับสนุนให้องค์กรชุมชนนำไปพัฒนาความเข้มแข็งได้

                รองนายกรัฐมนตรีกล่าวอีกว่า หากสามารถผนึกพลังเบญจภาคีดังกล่าวได้ ก็ให้นำหลักไตรสิกขาไปใช้ในการทำงาน ซึ่งหลักไตรสิกขานั้นประกอบด้วย 1) หลักร่วมคิด ร่วมทำ กล่าวคือ ในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นให้เข้มแข็ง ต้องให้ภาคประชาชน ซึ่งเป็นเจ้าของปัญหา เป็นหลักในการพัฒนาโดยมีภาคีอีก 4 ฝ่ายดังกล่าวทำหน้าที่สนับสนุนและร่วมกันคิดร่วมกันทำ เป็นหลักแห่งความสามัคคี สมานฉันท์ ซึ่งจะทำให้งานบรรลุเป้าหมายไปได้

                2) หลักของการจัดการความรู้ การเรียนรู้ เป็นการเรียนรู้ท่ามกลางการปฏิบัติ นำความรู้ไปพัฒนาพัฒนางานให้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ และ3) คือ หลักของการสนับสนุนด้านนโยบาย ที่หน่วยงานภาครัฐจะต้องเขาไปสนับสนุนในทุกระดับ นโยบายระดับท้องถิ่นก็เป็นหน้าที่ของ อบต., เทศบาล, อบจ. นโยบายระดับสูงก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลโดยอาจทำได้ทั้งการปรับปรุงหรือการออกกฎหมายใหม่ ตลอดจนจัดสรรงบประมาณสนับสนุนการทำงานของภาคประชาชน

                ในการจัดงานครั้งนี้มีองค์กรชุมชนที่ทำกิจกรรมด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมใน 9 จังหวัดภาคกลาง เข้าร่วมประมาณ 1,000 คน เพื่อร่วมกันคิดค้นแนวทางในการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในภาคกลาง พร้อมกับได้จัดทำข้อเสนอทางนโยบายเสนอนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรี เช่น นโยบายด้านที่ดินของรัฐจะต้องกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมการจัดทำแนวที่ดินอย่างเป็นธรรม การจัดทำแนวที่ดินเขตป่า เขตชุมชนให้มีความชัดเจนเพื่อแก้ปัญหาที่ดินทับซ้อน และเร่งผ่าน พรบ.ป่าชุมชนฉบับชาวบ้าน

                นโยบายด้านเกษตรกรรมยั่งยืนรัฐควรควบคุมการนำเข้าปุ๋ยและสารเคมี ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและควบคุมสื่อโฆษณาที่ส่งเสริมการใช้สารเคมี และนโยบายการจัดการน้ำรัฐควรตั้งองค์กรอิสระเพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการน้ำทั้งระบบ และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมกับชุมชนในการจัดการน้ำ

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

25 พ.ค. 50

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/98680

<<< กลับ

จิตวิญญาณนักสังคมสงเคราะห์

จิตวิญญาณนักสังคมสงเคราะห์


(ลงในนสพ.มติชน โดย ภาสกร จำลองราช ฉบับวันที่ 14 ต.ค. 50 หน้า 9)

                ผมไม่รู้ว่าข้าราชการในกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยเฉพาะคนของกรมประชาสงเคราะห์เดิมที่ทำหน้าที่นักสังคมสังเคราะห์ คิดกันอย่างไรเมื่อเห็นภาพนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี พม. หรือที่เรียกกันติดปากว่าอาจารย์ไพบูลย์ ถูกหามออกจากห้องประชุมคณะรัฐมนตรีส่งโรงพยาบาล

                แม้จะเป็นเรื่องของสังขาร แต่ต้องยอมรับว่าในช่วงของการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี อาจารย์ไพบูลย์เป็นคนที่ทำงานหนักในระดับต้นๆ ของคณะรัฐมนตรีชุดนี้ ในวันธรรมดาปฏิบัติภารกิจหน้าที่ประธานการประชุมและกิจกรรมของหน่วยงานต่างๆ แน่นเอี้ยด ส่วนเสาร์-อาทิตย์ออกต่างจังหวัดพบคุยหาทางออกร่วมกับชาวบ้านตามเครือข่ายต่างๆ ที่มีปัญหาสารพัด จนบางครั้งถูกกระแหนะกระแหนจากคนในคณะรัฐมนตรีด้วยกันเอง ว่าเป็นรัฐมนตรีเอ็นจีโอ

                จริงๆ แล้วคนในวัย 66 ปี นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีในสถานการณ์นับถอยหลังรอวันเลือกตั้ง อยู่สบายๆ ทำแค่เรื่องที่ผู้ใต้บังคับบัญชาชงสำเร็จรูปให้ก็จบ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกแยกสำหรับคณะรัฐมนตรีชุดนี้ แต่อาจารย์ไพบูลย์เลือกที่จะรุกเข้าไปในเนื้องานที่อยู่นอกเหนือจากกรอบของข้าราชการประจำ

            ช่วงเกือบสองสัปดาห์ที่ผ่านมา อาจารย์ไพบูลย์รุกเข้าถึงเรื่องคุณธรรมและจริยธรรมใน พม. เพราะมีเสียงร้องอื้ออึงด้วยปัญหาชู้สาวและการฉ้อราษฎร์บังหลวง ซึ่งคนภายในหน่วยงานต่างรับรู้กันดี เพราะไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่ความเลวร้ายนี้สั่งสมกันมาหลายปี จนฉาวโฉ่ออกมาข้างนอกองค์กร

                สิ่งที่เกิดขึ้นใน พม.เป็นเรื่องที่ท้าทายจิตวิญญาณของคนที่ทำงานด้านสังคมสงเคราะห์เป็นอย่างยิ่ง 

                ภาพอาจารย์ไพบูลย์ถูกหามออกจากห้องประชุมคณะรัฐมนตรีเพราะทำงานหนัก ขณะที่คนส่วนใหญ่ในประชาคมประชาสงเคราะห์ที่เป็นเจ้าของปัญหาร่วม กลับยังสับสนในตัวเองถึงความ “กล้า”

                การชำระสะสางความมืดมนต์กลายเป็นเรื่องของอาจารย์ไพบูลย์และสื่อมวลชน แต่คนวงในที่สัมผัสข้อมูลกลับเป็นเพียงผู้ชม ซึ่งเป็นภาพสะท้อนที่ชวนเศร้าใจไม่น้อย

                เมื่อปี 2543 ผมมีโอกาสร่วมเขียนในหนังสือในวาระครบรอบ 60 ปี กรมประชาสงเคราะห์ ซึ่งจัดทำโดยกรมประชาสังเคราะห์ขณะนั้น โดยที่หน้าปกเขียนคำขวัญไว้ตัวโตเหมือนเป็นชื่อหนังสือว่า “มุ่งสร้างสรรค์สถาบันครอบครัว”

                ครั้งนั้นผมเขียนในทำนองว่า ยังรู้สึกดีเมื่อพูดถึงคำว่า “นักสังคมสงเคราะห์” เช่นเดียวกับเมื่อได้ยินชื่อของกรมประชาสงเคราะห์ เพราะทำให้เกิดความรู้สึกเอื้ออาทรและไม่ทอดทิ้งกันในสังคม แต่ก็ได้เตือนไว้ว่าด้วยระบบการตรวจสอบที่เข้มข้น หากมีคนของกรมนี้สร้างความเสียหายจนเกิดรอยด่างขึ้นมา จะทำให้ต้นทุนสั่งสมมายาวนานได้รับผลกระทบรุนแรงมากกว่าหน่วยราชการทั่วไป เพราะคุณยืนอยู่บนความเห็นใจและความศรัทธาของคนในสังคม

                นอกจากนี้ ในตอนจบผมยังได้แสดงความเป็นห่วงเรื่องการเอื้อประโยชน์ต่อนักการเมืองในทางที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งเป็นอันตรายมาก ซึ่งตอนนั้นเริ่มมีข่าวระแคะระคายเกี่ยวกับการใช้งบประมาณสนองตอบนักการเมืองในทางที่ไม่โปร่งใส

                เสียดายในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วง 5 ปี หลังจากกรมประชาสงเคราะห์แยกออกจากกระทรวงแรงงาน และยกระดับเป็นกระทรวง ต้นทุนที่สั่งสมไว้ได้ถูกกัดกร่อนอย่างหนักจากคนภายในองค์กรเอง แม้ผมเองอยู่ห่างออกมา แต่ก็ได้ยินข่าวในทางลบอยู่เรื่อยๆ 

                สังคมไทยอุดมสมบูรณ์ไปด้วยน้ำใจ แต่ถ้าสิ้นศรัทธาเสียอย่าง น้ำใจก็เกิดยาก เหมือนกับที่มีเสียงต่อต้านการให้เงินขอทาน เพราะรับรู้กันทั่วไปแล้วว่า ให้เงินไปก็เหมือนเป็นการทำร้ายคนอื่นเพราะกลุ่มมิจฉาชีพลักพาเด็กๆ และคนพิการมาบังคับให้ขอทาน การหลับหูหลับตาทำทานเช่นนี้เท่ากับเป็นการส่งเสริมคนทำผิด

                เช่นเดียวกับคนห่มเหลืองที่รับบาตรเวียนเทียนอยู่หน้าร้านข้าวแกง เพราะต้องการแปลงข้าวของที่ญาติโยมนำมาตักบาตรเป็นเงินเข้ากระเป๋า จนกลายเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่รายได้ดี เพราะฉะนั้นการให้จึงต้องให้อย่างมีสติ

                ดังนั้น จึงไม่ควรปล่อยให้งานสังคมสงเคราะห์ ตกอยู่ในสภาพที่ชวนหวาดระแวงเช่นเดียวกับขอทานและแก๊งห่มเหลืองไปเรื่อยๆ เพราะผู้ที่รับเคราะห์ไปด้วยคือ คนด้อยโอกาส 

                ผมไม่แน่ใจว่าถ้ามีงานครบรอบ 70 ปี ของสถาบันนักสังคมสงเคราะห์แห่งนี้ ยังกล้าใช้คำว่า “มุ่งสร้างสรรค์สถาบันครอบครัว” อยู่หรือไม่ เพราะเรื่องที่ฉาวโฉ่และอื้ออึงอยู่ใน พม.จนกระเพื่อมออกมาให้สังคมได้รับรู้นั้น ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่ทำลายสถาบันครอบครัวทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปมชู้สาว เรื่องความไม่โปร่งใสของการจัดเงินสงเคราะห์ครอบครัว เรื่องทุจริตโรงรับจำนำ ฯลฯ

                การใช้เงินบริจาคในมูลนิธิต่างๆ ประจำสถานสงเคราะห์ไปในทางผิดวัตถุประสงค์ของผู้ให้ เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่บ่อนทำลายความศรัทธาอย่างใหญ่หลวง หากสังคมพบว่าเงินที่พวกเขาส่งไปให้เด็กๆ และคนด้อยโอกาสทั้งหลาย ถูกแปลงไปใช้เป็นค่าเดินทางต่างประเทศอย่างเอิกเกริก โดยอ้างเรื่องการศึกษาดูงาน หรือนำไปซื้อรถยนต์ที่อ้างเป็นภารกิจของสถานสงเคราะห์ แต่กลับกลายเป็นรถยนต์ประจำตำแหน่งของใครบางคน ผู้บริจาคจะคิดอย่างไร 

                สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องมีการตรวจสอบและวางระบบอย่างสมดุล

                ผมเชื่อว่าข้อมูลที่อาจารย์ไพบูลย์ได้ยินได้ฟังมานั้น คงหนาหูพอสมควร มิฉะนั้นคงไม่ตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นมาทันที แต่ปัญหาและอุปสรรคใหญ่ก็คือ คนที่มีข้อเท็จจริงอยู่ในมือยังคงลังเลเพราะเป็นห่วงผลกระทบต่อสถานภาพของตัวเอง

                วันนี้ คนในประชาคม พม.จะมัวแต่บนบานต่อองค์พระประชาบดี ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำหน่วยงานเพียงอย่างเดียวคงไม่พอ แต่ทุกคนควรเข้ามามีส่วนร่วมในการปลุกจิตสำนึกความเป็นนักสังคมสงเคราะห์ที่แท้จริง ซึ่งสำคัญกว่าการหาตัวคนผิดมาลงโทษอีก เพราะกรรมใดใครก่อ จะช้าหรือเร็วเขาย่อมหนีไม่พ้น ยิ่งถ้าเขาหาประโยชน์โดยใช้คนด้อยโอกาสเป็นเครื่องมือ ด้วยการแปลงน้ำใจเป็นน้ำเงินให้ตัวเอง นรกในอกเขาย่อมร้อนระอุกว่าขุมอื่น

                อย่าปล่อยให้งานด้านสังคมสงเคราะห์ต้องมัวหมองไปมากกว่านี้ อย่างน้อย ตู้ ป.ณ.10 ทำเนียบรัฐบาล ก็น่าจะเป็นช่องทางหนึ่งในการแสวงหาคำตอบร่วมกัน

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/141327

<<< กลับ

แนวคิด ทิศทาง ในการวางแผนพัฒนาประเทศ

แนวคิด ทิศทาง ในการวางแผนพัฒนาประเทศ


(สรุปสาระสำคัญซึ่งนำเสนอในการอภิปรายภายใต้หัวข้อ  “แนวคิด  ทิศทางการพัฒนาประเทศในช่วงแผนพัฒนาฯ  ฉบับที่  11”  ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมประจำปี  2552  เรื่อง  “จากวิสัยทัศน์  2570  สู่แผนฯ  11”  จัดโดย  สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  (สศช.)  ในวันศุกร์ที่  10  กรกฎาคม  2552  ณ  ห้องแกรนด์ไดมอนด์บอลรูม  ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค  เมืองทองธานี  จังหวัดนนทบุรี

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/274824

<<< กลับ