ความคิดเห็น เรื่อง “สถานการณ์ดำเนินธุรกิจ ควบคู่กับการทำประโยชน์เพื่อสังคม” ของ บริษัทบางจากปิโตรเลียมจำกัด (มหาชน)

ความคิดเห็น เรื่อง “สถานการณ์ดำเนินธุรกิจ ควบคู่กับการทำประโยชน์เพื่อสังคม” ของ บริษัทบางจากปิโตรเลียมจำกัด (มหาชน)


(บทสัมภาษณ์ความคิดเห็นลงในรายงานวิจัย เรื่อง “คุณธรรมในธุรกิจ : สถานการณ์ดำเนินธุรกิจ ควบคู่กับการทำประโยชน์เพื่อสังคม” โดย นางจุฬา สุดบรรทัด ภาคผนวก 2 หน้า 84 นำเสนอปี 2549)

                อาจารย์ไพบูลย์รู้จักบางจากฯ ตั้งแต่คุณโสภณ  สุภาพงษ์ เป็นผู้จัดการ แต่มารู้จักมากขึ้นปี ๒๕๓๑ จำได้ที่บางจากฯ ทำงานกับชุมชน อาจารย์ไพบูลย์ก็เริ่มทำงานกับชุมชน ปี ๒๕๒๙ โดยเริ่มดำเนินการเต็มเวลาอย่างจริงจัง ปี ๒๕๓๑

                            ภาพลักษณ์ของบริษัทบางจากฯ สมัยนั้น เห็นว่า พยายามทำงานเพื่อสังคมชัดเจน สมัยนั้นอาจารย์ไปบางจากฯ บ่อย เป็นเครือข่ายโดยร่วมวงกับกระบวนการพัฒนาด้านต่าง ๆ เท่าที่จำได้มีเครือซิเมนต์ไทย เครือสหพัฒน์ และบางจาก แต่หลัง ๆ ไม่ค่อยได้ยินที่บางจากต่างคือ ๑. ทำให้โรงกลั่นไปกับธุรกิจ เช่น เปิดปั๊มสหกรณ์ การให้ชาวบ้านขายของผ่านร้านค้า ๒. ให้พนักงานเข้ามามีบทบาท ๓. ทำโดยเข้าไปร่วมกับผู้อื่น ทั้งในระดับความคิด เคลื่อนไหวกระบวนการ และปฏิบัติการ

                            การที่บริษัทบางจากฯ ใช้แนวคิดการทำธุรกิจควบคู่กับการทำประโยชน์เพื่อสังคมนั้น ที่จริงธุรกิจกับประโยชน์ประชาชนกลมกลืนกันอยู่แล้ว ไม่อย่างนั้นก็อยู่ไม่ได้ ประชาชนจะไม่ซื้อ เพียงแต่จุดเน้นต่างกัน แต่ถ้ากลมกลืนลึกซึ้งอย่างที่บางจากทำเป็นเรื่องที่ยากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นไปไม่ได้ ที่อื่น ๆ ทำก็มีที่กลมกลืนที่ทำกับชาวบ้านที่มาดูแลเลี้ยงไก่ ปลูกพืช หรือธนาคารกรุงเทพให้สินเชื่อยุคบุกเบิกผ่านเกษตรกร

                            การดำเนินกิจกรรมของบริษัทบางจากฯ ที่ทำประโยชน์เพื่อสังคม ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนถึงปัจจุบันไม่ได้สังเกตว่ามีความเหมือนหรือแตกต่างกันหรือไม่

                            กิจกรรมส่วนใหญ่ที่บริษัทบางจากฯ ได้ทำเพื่อสังคม สามารถตอบสนองความต้องการของสังคมหรือไม่นั้น เห็นว่าสังคมใหญ่ซับซ้อนมาก องค์กรหนึ่งทำได้เท่าที่วิสัยจะทำได้ ถ้าแห่งหนึ่งทำดี คนอื่นเห็นดีจะได้เอาอย่าง

                            กิจกรรมของบริษัทบางจากฯ ที่ควรได้รับการสนับสนุนคงมีความหลากหลาย แล้วแต่ผู้เกี่ยวข้องมาปรึกษากัน จะมากำหนดรูปแบบก่อนไม่ได้ การทำอะไรขึ้นกับสถานการณ์และคนเกี่ยวข้อง ไม่ควรมีสูตรตายตัว

                            สังคมควรมีบทบาทในการผลักดันให้องค์กรธุรกิจได้เข้ามาร่วมช่วยเหลืออุ้มชูสังคม โดยทำได้หลายรูปแบบ

                            ๑. เห็นใครทำดีก็สนับสนุนอย่างมั่นคงเหนียวแน่น ซื้อสินค้า ถือหุ้น

                            ๒. ให้ความสนใจมีการติดตามศึกษาเปรียบเทียบ เพื่อให้เข้าใจมากขึ้น แลกเปลี่ยนเรียนรู้ สิ่งที่จะทำขยายวง

                            ๓. อาจยกย่องเชิดชูเกียรติ ให้คุณค่าต่อคนดี ส่วนคนที่ไม่ดีมีผลเสีย ถ้าสังคมเห็นคงไม่จำเป็นถึงขั้นต้องต่อต้านก็เพียงแต่ไม่นิยม ไม่ซื้อสินค้า ไม่ถือหุ้น

                            ๔. ฝ่ายวิชาการมีการศึกษาวิจัยให้เห็นทั้งดีและไม่ดี ควรศึกษาธุรกิจที่รัฐทำด้วย เช่น ยาสูบ และกิจการที่มีลักษณะการพนัน

                            เรื่องธุรกิจกับสังคม เชื่อว่ามีมาแต่เราไม่ได้ค้น ขณะเดียวกันการทำประโยชน์ก็มีหลากหลาย ทำให้ดี ซื่อสัตย์ ขายสิ่งที่เหมาะสม ไม่เสียสมดุล ก็ดี ไม่จำเป็นต้องทำอย่างบางจาก

                            องค์กรที่ได้ทำธุรกิจเพื่อสังคมอย่างแท้จริงในประเทศไทยมี ๑. บางจาก (แต่ไม่ทราบเดี๋ยวนี้เป็นอย่างไร) ๒. สหพัฒน์ สายคุณณรงค์ กลุ่มแพน ๓. ออมสิน ซึ่งอาจารย์ไพบูลย์พยายามทำให้การทำงานของออมสินกับการทำประโยชน์ให้สังคมเป็นเนื้อเดียวกัน โดยมีแนวคิดว่า “ธนาคารเจริญ สังคมได้ประโยชน์ พนักงานเป็นสุข” เพราะการทำประโยชน์ต้องทำอย่างยั่งยืน เกื้อกูลกันอย่างสมดุล ถ้าไม่สมดุลจะไม่ยั่งยืน

                            การที่ยุค ๒๐๐๐ นี้ กระแสโลกให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจควบคู่กับการทำประโยชน์เพื่อสังคม ถึงกับบรรจุเข้าไว้เป็นหลักสูตร และมีการทำวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาเอก ถือเป็นเรื่องที่ดี และควรมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นการยกระดับความรู้ให้ดีขึ้นไปอีก

                            การดำเนินธุรกิจเพื่อสังคมจะสามารถช่วยเศรษฐกิจ สังคม การเมือง/สภาวะโดยรวมของประเทศได้ โดยพยามยามทำมากขึ้น คนไปประยุกต์ต่อ ผลในที่สุดก็เยอะ

                            การดำเนินการตามแนวคิด “ทำธุรกิจควบคู่กับการทำประโยชน์เพื่อสังคม” มีผลต่อบริษัทบางจากฯ และสังคม ก็อาจเป็นทัศนคติ ท่าที การสื่อความ จึงไม่น่าสรุปว่า เพราะทำประโยชน์จึงมีปัญหา เพราะอย่างน้อยสังคมก็ตอบรับดี ทำประโยชน์…ดี เป็นการทำหน้าที่ที่ดี เพื่อจะได้ค้นหาอะไรดี ๆ ส่วนเรื่องความสัมพันธ์กับรัฐ คงเป็นเรื่องบุคคล

                            นอกจากที่ให้สัมภาษณ์ครั้งนี้ อาจารย์ไพบูลย์ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการส่งเสริมปีแห่งการพัฒนางานอาสาสมัครไทย เคยกล่าวถึงจิตวิญญาณอาสาสมัครและบริษัทบางจากฯ ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ๒๕๔๖ ชมรมรัฐวิสาหกิจเพื่อชุมชน เมื่อ ๒๒ มกราคม ๒๕๔๖ ณ ห้องประชุมใหญ่บริษัทบางจากฯ ในโอกาสที่อาจารย์ได้รับเชิญมาให้ความรู้สมาชิกชมรมฯ เรื่อง กิจกรรมงานอาสาสมัครไทย ความตอนหนึ่งว่า “เทคโนโลยีไม่มีจิตใจ แต่คนซึ่งเป็นผู้ใช้เทคโนโลยีมีจิตใจ คนจึงควรเป็นนายของเทคโนโลยี คนและสังคมควรมีความเมตตา กรุณา (Compassion) จิตวิญญาณที่สำคัญ คือการนึกถึงคนอื่นมากกว่าตนเอง ซึ่งในที่สุดจะเกิดผลสะท้อนกลับมาเอื้อต่อผู้มีจิตวิญญาณนั้นเอง ตัวอย่างเช่น กรณีบริษัทบางจากฯ ซึ่งทำความดีมาตลอด จึงได้รับผลดี ทำให้บริษัทอยู่รอดได้” 

                            ปัจจุบันในองค์กรต่าง ๆ เกิดชมรมมากมายเป็น Corporate social investment กิจกรรมกึ่งอาสาสมัครเกิดผลดีด้านอื่นด้วย จำเป็นอย่างยิ่งที่น่าส่งเสริมโดยเฉพาะคนรุ่นหนุ่มสาว ซึ่งยังมีเวลามากในการ “ให้” กับสังคม

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

22 ธ.ค. 49

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/68741

<<< กลับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *