แกะรอยเส้นทางความสุข “ภูฏาน” : สัมผัสคมคิดวิถีสร้างสุขมนุษยชาติ

แกะรอยเส้นทางความสุข “ภูฏาน” : สัมผัสคมคิดวิถีสร้างสุขมนุษยชาติ


เยาวชนกับการเรียนการสอนในสถานศึกษา

                ช่วงเวลาไม่กี่วันที่ได้มีโอกาสซึมซับความสุขที่ภูฏาน “ประธานศูนย์คุณธรรม” บอกว่า จากศาสนสถาน สถานที่บริหารราชการ ไปถึงบ้านชาวบ้านในชนบท พบว่า นโยบายของรัฐบาลที่ยึดถือ “ความสุขมวลรวมประชาชาติ” เป็นเป้าหมายสูงสุดหรือเป็นธงชัยในการบริหารประเทศนั้น มีผลเชื่อมโยงถึงวิถีปฏิบัติของส่วนต่างๆในสังคมตลอดจนการดำเนินชีวิตของชาวภูฏานอย่างชัดเจน 

                เด็กเล็กๆ ตั้งแต่ระดับประถมจะได้รับอิทธิพลจากแนวคิดและแนวนโยบายว่าด้วยความสุขมวลรวมประชาชาติ แม้จะไม่ได้เป็นบทเรียนโดยตรง ส่วนนักเรียนระดับมัธยมจะมีเรื่องความสุขมวลรวมประชาชาติอยู่ในบทเรียนมากกว่า 1 วิชา

                “ผมได้ถามครูใหญ่ของโรงเรียนระดับประถมศึกษาแห่งหนึ่ง ว่าทางโรงเรียนนำเรื่องความสุขมวลรวมประชาชาติมาประยุกต์เป็นภาคปฏิบัติอย่างไรบ้าง เขาตอบว่า เป็นการผสมกลมกลืนอยู่ในเรื่องการเรียนการสอนทั้งหมด ไม่ได้นำมาเป็นบทเรียนในวิชาใดวิชาหนึ่งอย่างชัดเจน

                หนุ่มคนหนึ่งจากโรงเรียนมัธยมเล่าให้ฟังว่า เรื่องความสุขมวลรวมประชาชาตินั้น อยู่ในวิชาเรียนรวม 3 วิชา ดูเหมือนจะเป็นวิชาหน้าที่พลเมือง (Bhutan Civics) ภูมิศาสตร์ และภาษาอังกฤษ”

                “ไพบูลย์” บอกว่า สิ่งที่ประทับใจอีกอย่างหนึ่งและต้องหมายเหตุไว้เลย คือ ภูฏานจัดให้นักเรียนเรียนภาษาอังกฤษตั้งแต่ระดับอนุบาล ดังนั้นคนภูฏานที่อายุต่ำกว่า 40 ปีลงมาจึงสามารถพูดภาษาอังกฤษได้อย่างดีหรือค่อนข้างดี เด็กตัวเล็กๆก็สามารถสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษกับพวกเราได้ และเด็กเหล่านั้น มีความเป็นธรรมชาติ สดใส กล้าหาญ ไม่เอียงอาย ไม่หวาดกลัว ทักทายและสนทนาโต้ตอบกับผู้มาเยือนอย่างเป็นกันเอง 

                และนี่คือสิ่งที่ดี ในขณะที่ภูฏานจำกัดการทะลักของโลกาภิวัตน์แต่ก็เปิดประตู่สู่โลกภายนอกทางภาษา คนภูฏานจึงไปเรียนต่อต่างประเทศกันเยอะ เพราะฐานภาษาอังกฤษดี 

                โดยรวมแล้ว สังคมภูฏานอยู่กันอย่างพออยู่พอกิน นิยมความเรียบง่าย ไม่มุ่งที่จะก้าวให้ทันความเจริญทางวัตถุเหมือนกับนานาชาติ แต่มุ่งที่การอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข แบบพอประมาณ มีศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว มีวัฒนธรรมเป็นฐาน มีสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย มีระบบการปกครองที่ดี

พัฒนาการสู่อนาคต

                จะเห็นว่า เรื่องความสุขมวลรวมประชาชาติ เริ่มต้นจากพระราชปณิธาน เป็นปรัชญา เป็นหลักคิด แล้วแปลเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ตั้งอยู่บน 4 เสาหลัก ตามด้วยการดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบายดังกล่าวผ่านหน่วยงานต่างๆของรัฐ ส่วนเรื่องการสร้างตัวชี้วัดความสุขและความสำเร็จของ 4 เสาหลักนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาที่ยังไม่มีความชัดเจนแน่นอนทีเดียว

                วันนี้ภูฏานกำลังเตรียมการที่จะก้าวจากการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขในปี 2008 รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐจึงมีภารกิจหลักเพิ่มขึ้นอีกประการหนึ่ง ได้แก่ การนำรัฐธรรมนูญไปชี้แจง ไปพูดคุยกับประชาชน และการเตรียมความพร้อมต่างๆสู่ระบอบการปกครองแบบใหม่ 

                “ประธานศูนย์คุณธรรม”บอกต่อไปว่า ระหว่างเดินทางเยี่ยมศึกษาประเทศภูฏาน คณะทำงานทั้ง 16 ชีวิต 11 องค์กรได้มีการประชุมกันอย่างต่อเนื่อง ตอนเช้าบ้าง ค่ำบ้าง ในรถบ้าง และสุดท้ายสรุปตรงกันว่า การพิจารณาทำอะไรสำหรับประเทศไทย จะต้องคิดจากฐานของประเทศไทย คิดจากสถานการณ์และสภาพแวดล้อมของไทย คิดจากระบบและสภาพของสังคมไทย เป็นหลัก ส่วนเรื่องของประเทศอื่นที่ดีมีคุณค่าในฐานะเป็นแรงบันดาลใจ หรือเป็นข้อคิด เป็นบทเรียนที่มีประโยชน์ เราก็สามารถนำมาเป็นเครื่องช่วยหรือนำมาประกอบการพิจารณาด้วยได้

                สำหรับศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม หรือศูนย์คุณธรรมได้พยายามส่งเสริมในเรื่องของคุณธรรมความดี ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของสังคมที่พึงปรารถนา คุณธรรมความดีจะช่วยให้เกิดความสุข ซึ่งเป็นความสุขที่ดีและยั่งยืน ความดีกับความสุขจะเป็นร่มและเป็นเชื้อให้กับการสร้างความสามารถซึ่งมักจะเป็นความสามารถในทางที่ดี คือไม่ใช่ความสามารถชนิดที่ไปทำความเดือดร้อนหรือความทุกข์ให้กับคนอื่น หรือไปทำความเสียหายให้กับสังคมหรือสิ่งแวดล้อม 

                “ความดี ความสุข ความสามารถ จึงเป็น 3 องค์ประกอบที่เกื้อกูลซึ่งกันและกันในทางที่ดี จะเรียกว่าเป็น ‘รัตนตรัยแห่งสังคมที่พึงปรารถนา’ ก็น่าจะได้ และนี่อาจจะเป็นฐานคิดหรือแนวความคิดในการสร้าง ‘ความสุข’ หรือ ‘สังคมอยู่เย็นเป็นสุข’ ในประเทศไทย” คือคำกล่าวทิ้งท้ายของ คุณไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ประธานศูนย์คุณธรรม ที่ให้คำสัมภาษณ์ภายหลังการพาคณะไปเยี่ยมศึกษาประเทศภูฏาน.

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

28 ก.ย. 49

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/52364

<<< กลับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *