จาก “ความสุขมวลรวมประชาชาติ” ของภูฏาน สู่อุดมการณ์ “สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” ของไทย

จาก “ความสุขมวลรวมประชาชาติ” ของภูฏาน สู่อุดมการณ์ “สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” ของไทย


ตามล่าหา “GNH” (Gross National Happiness)

ระหว่างวันที่ 25 – 29 สิงหาคม 2549 คณะของเรา 14 ชีวิต จาก 10 องค์กร ผนวกด้วยผู้นำการทัศนศึกษาเชิงวัฒนธรรมอีก 2 คน จากประเทศไทย ได้มุ่งสู่ประเทศภูฏาน เพื่อค้นหาตัว “GNH” (“Gross National Happiness” หรือ “ความสุขมวลรวมประชาชาติ) อันลือเลื่องไปทั่วโลกและได้รับความสนใจเป็นพิเศษในประเทศไทย

เราพยายามไปดูว่าตัว “GNH” หน้าตาเป็นอย่างไร มีพี่น้องลูกหลายแผ่ขยายไปมากเพียงใด ได้รับความนิยมและนำไปอยู่ในหน่วยงานของรัฐ หน่วยงานของเอกชน ในองค์กร ในสถาบัน และในหมู่ประชาชนทั่วไป อย่างเข้มข้นจริงจังขนาดไหน และวิธีเลี้ยงดู “GNH” ให้เจริญงอกงาม มีชีวิตชีวา เขาทำกันอย่างไร ฯลฯ

เราตั้งเป้าหมายไว้มาก และรู้อยู่แล้วว่าคงไม่สมประสงค์ทั้งหมดหรอก คงได้เท่าที่เป็นไปได้ภายในเวลาเพียง 5 วัน และภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ

“ GNH ” หรือ “ Gross National Happiness ” ถือกำเนิดในประเทศภูฏาน ในปี 2517 โดยเป็นพราะราชดำริและพระราชปณิธานของพระราชาธิบดี จิกมี ซิงเย วังชุก หลังจากที่พระองค์ได้ขึ้นครองราชย์ในปี 2515

พราะราชปณิธานนั้น คือ “ Gross National Happiness is more important than Gross National Product. ” หรือ “ความสุขมวลรวมประชาชาติ มีความสำคัญมากกว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ”

น่าจะเทียบเคียงได้กับ “พระปฐมบรมราชโองการ” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของไทย ที่ว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

ปัจจุบันพระราชดำริและพระราชปณิธานของพระราชาธิบดี ได้ฝังรากชัดเจนเป็นอุดมการณ์และเป้าประสงค์แห่งชาติ ( National Goal) ซึ่งปรากฏในร่างรัฐธรรมนูญที่จะเริ่มใช้ในปี 2008 ปรากฏในวิสัยทัศน์และนโยบายของรัฐบาล เป็นธงชัยและแนวดำเนินการให้กับหน่วยงานภาครัฐทั้งหลาย ลงไปถึงอยู่ในหนังสือเรียนและบทเรียนสำหรับนักเรียนระดับมัธยมอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม

GNH อยู่ในรัฐธรรมนูญและอยู่ในโรงเรียน

ร่างรัฐธรรมนูญ (ซึ่งมี 34 มาตรา) มาตรา 9 ว่าด้วยหลักการสำหรับนโยบายแห่งรัฐ ( Principles of State Policy ) วรรค 2 ระบุชัดเจนว่า รัฐต้องมุ่งสร้างเงื่อนไขทั้งหลายอันจะนำสู่การบรรลุ ความสุขมวลรวมประชาชาติ ( The State shall strive to promote those conditions that will enable the pursuit of Gross National Happiness. )

ในหนังสือเรียน “ Bhutan Civics ” ว่าด้วยระบบการปกครอง สถาบันทางสังคม และหน้าที่พลเมืองของภูฏาน บทที่ 9 (จากทั้งหมด 10 บท) เป็นบทว่าด้วย National Goals (เป้าหมายแห่งชาติ) และระบุชัดเจนว่า เป้าหมายแห่งชาติที่สำคัญประกอบด้วย

  1. Gross National Happiness (ความสุขมวลรวมประชาชาติ)
  2. People’s participation (การมีส่วนร่วมของประชาชน)
  3. National self – reliance (การพึ่งพาตนเองได้ของชาติ)
  4. Sustainability                (การพัฒนาอย่างยั่งยืน)
  5. Preservation and promotion of cultural and traditional values

(การรักษาและส่งเสริมคุณค่าทางวัฒนธรรม และประเพณี)

  1. National integration (ความเป็นปึกแผ่นแห่งชาติ)

ในหมู่บ้านเล็กๆแห่งหนึ่ง ซึ่งไกลจากเมืองหลวงพอสมควรและเราได้เข้าไปเยี่ยมโดยไม่ได้วางแผนเตรียมการไว้ล่วงหน้า เด็กหนุ่มคนหนึ่งซึ่งเรียนชั้นมัธยมปลาย เล่าว่า เขาเรียนเกี่ยวกับ GNH ในบทเรียนรวม 3 วิชา คือ หน้าที่พลเมือง ภูมิศาสตร์ และภาษาอังกฤษ

สำหรับโรงเรียนชั้นประถม ครูใหญ่ของโรงเรียนที่เราได้ไปเยี่ยมบอกว่าไม่มีการสอน GNH ในหลักสูตรโดยตรง แต่ GNH เป็นหลักสำคัญที่โรงเรียนจะประยุกต์สอดแทรกให้กลมกลืนอยู่ทั่วๆไป และครูใหญ่ผู้นั้นมีความภูมิใจว่าโรงเรียนเขาเป็นโรงเรียนแห่งความสุข และเขามั่นใจว่าเด็กนักเรียนของเขามีความสุขกับชีวิตในโรงเรียน ซึ่งวัดได้จากการที่เด็กเต็มใจอยากมาโรงเรียนและไม่ขาดเรียนเป็นต้น

สี่เสาหลักของ GNH

เราพบว่า GNH ไม่ใช่อุดมการณ์ลอยๆ แต่มีแนวปฏิบัติชัดเจน เรียกว่า “สี่เสาหลัก” ( Four Pillars ) ดังนี้

  1. การพัฒนาเศรษฐกิจสังคมอย่างยั่งยืน เท่าเทียม และพึ่งพาตนเองได้
  2. การอนุรักษ์ดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  3. การรักษาส่งเสริมคุณค่าทางวัฒนธรรม
  4. การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี (หรือการมีธรรมาภิบาล)

ทั้ง 4 เสาหลักนี้ปรากฏอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญชัดเจน แสดงถึงความจริงจังหนักแน่นในระดับชาติ เรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมอย่างยืน เท่าเทียม และพึ่งพาตนเองได้ (เสาหลักที่ 1 ) กับเรื่องการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี (เสาหลักที่ 4 ) ปรากฏโดยปริยายอยู่ในมาตรา 9 ว่าด้วยหลักการของนโยบายแห่งรัฐ ( Principles of State policy ) ส่วนเสาหลักที่ 2 การอนุรักษ์ดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับเสาหลักที่ 3 การรักษาส่งเสริมคุณค่าทางวัฒนธรรม ปรากฏเด่นชัดในร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 5 (ว่าด้วย “ Culture ”) และมาตรา 4 (ว่าด้วย “ Environment ”) ตามลำดับ

เฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม เขากำหนดไว้ในร่างรัฐธรรมนูญเลยว่าจะต้องรักษาพื้นที่ป่าไว้ให้มีไม่น้อยว่าร้อยละ 60 ตลอดไป

เมื่อมีโอกาสได้ประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงและองค์กรต่างๆของภูฏาน พบว่าเขาสามารถอธิบายขยายความการนำ GNH ตามแนวทางของ “สี่เสาหลัก” ไปปฏิบัติได้อย่างชัดเจนพอสมควร

เรารับทราบด้วยว่า เขากำลังพยายามพัฒนาตัวชี้วัด GNH ในลักษณะต่างๆ ทั้งที่เป็น “ภาวะเป็นสุข” (วัดเชิงภววิสัย) และ “ความรู้สึกสุข” (วัดเชิงอัตวิสัย) แต่ยังไม่ถึงกับลงตัวแน่ชัดและใช้ปฏิบัติอย่างเป็นทางการ ซึ่งเขายินดีและประสงค์จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับประเทศไทยในเรื่องการพัฒนาตัวชี้วัดเกี่ยวกับ “ความสุข” ดังกล่าว

สู่อุดมการณ์ “สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” ของประเทศไทย

สะท้อนมาดูประเทศไทยของเรา เรามีพระปฐมบรมราชโองการตั้งแต่ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 ว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” ซึ่งเป็นพระราชสัตยาธิษฐานตามโบราณราชประเพณีของพระมหากษัตริย์ไทย

ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2540 – 44) ได้เริ่มต้นนวัตกรรมทางความคิดที่ให้ “คนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา” และมีการประดิษฐ์คำพูดเชิงวัสัยทัศน์ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้ “คนมีความสุข ครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเข้มแข็ง สังคมสันติ สิ่งแวดล้อมยั่งยืน”

ในแผนฯ 8 ยังระบุด้วยว่าจะมีการสร้างดัชนีชี้วัดเพื่อวัดผลกระทบขั้นสุดท้ายของการพัฒนา ทั้งในด้านการพัฒนา คน สังคม เศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม

ครั้นมาถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2545 – 49) ได้สานต่อแนวคิด “คนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา” และน้อมนำพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่าด้วย “เศรษฐกิจพอเพียง” มาเป็นปรัชญานำทางในการพัฒนาประเทศ

จุดมุ่งหมายในการพัฒนาประเทศตามแผนฯ 9 มุ่งเน้นให้เกิด “การพัฒนาที่ยั่งยืน และความอยู่ดีมีสุขของคนไทย” โดยกำหนดสภาพสังคมไทยที่พึงประสงค์ ว่าควรเป็น “สังคมที่เข้มแข็งและมีดุลยภาพ” บนพื้นฐานของการอนุรักษ์วัฒนธรรมและเอกลักษณ์ของความเป็นไทย และสังคมที่พึงประสงค์ดังกล่าว ควรประกอบไปด้วย 3ลักษณะ ได้แก่ (1) สังคมคุณภาพ (2) สังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้ และ(3) สังคมสมานฉันท์และเอื้ออาทรต่อกัน

ภายใต้แผนฯ 9 ยังได้มีการพัฒนา “ดัชนีชี้วัดความอยู่ดีมีสุข” และดัชนีหรือตัวชี้วัดอื่นๆ ได้แก่ ดัชนีชี้วัดความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ ดัชนีชี้วัดการพัฒนาที่ยั่งยืน ดัชนีชี้วัดทุนทางสังคม เป็นต้น

และในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550 – 54) ได้กำหนดเป็น “วิสัยทัศน์ประเทศไทย”ว่า มุ่งพัฒนาสู่ “สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” โดย “คนไทยมีคุณธรรมนำความรอบรู้ รู้เท่าทันโลก ครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเข้มแข็ง สังคมสันติสุข เศรษฐกิจมีคุณภาพ เสถียรภาพ และเป็นธรรม สิ่งแวดล้อมมีคุณภาพและทรัพยากรธรรมชาติยั่งยืน อยู่ภายใต้ระบบบริหารจัดการประเทศที่มีธรรมาภิบาล ดำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และอยู่ในประชาคมโลกได้อย่างมีศักดิ์ศรี”

ไทยกับภูฏานจะเป็นเพื่อนร่วมเดินทางกันได้ดี

จะเห็นว่าอุดมการณ์ “สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” ของประเทศไทย ตามที่ระบุในแผนฯ 10 กับแนวคิด “ความสุขมวลรวมประชาชาติ” ( Gross National Happiness – GNH ) ของภูฏานนั้น เทียบเคียงกันได้อย่างดี รวมทั้งข้อความใน “วิสัยทัศน์ประเทศไทย” ยังสอดครับกับแนวทาง “4 เสาหลัก” ของภูฏานอีกด้วย

ในรายละเอียดของแผนฯ 10 ได้กำหนดเป็น “ยุทธศาตร์” ขับเคลื่อนแผนพัฒนาฯสู่การปฏิบัติ รวม 5 ยุทธศาสตร์ ดังนี้

  1. ยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพคนและสังคมไทยสู่สังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้
  2. ยุทธศาสตร์การสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและสังคมเป็นรากฐานที่มั่นคงของประเทศ
  3. ยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้สมดุลและยั่งยืน
  4. ยุทธศาสตร์การพัฒนาบนฐานความหลากหลายทางชีวภาพและการสร้างความมั่นคงของฐานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม
  5. ยุทธศาตร์การเสริมสร้างธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการประเทศ

อ่านแล้วน่าจะถือได้ว่าประเทศไทยกับภูฏาน สามารถและควรจะเป็น “เพื่อนร่วมเดินทาง” ในเส้นทางแห่งการพัฒนาประเทศได้เป็นอย่างดี เพราะต่างมีเป้าหมายและแนวทางที่คล้ายกันมาก

เมื่อเป็นเพื่อนกันก็สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้เอื้อเฟื้อเกื้อกูลซึ่งกันและกันในเรื่องต่างๆและด้วยวิธีการต่างๆอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเกิดประโยชน์ทั้งในเชิงรูปธรรมและในทางจิตใจต่อทั้งสองฝ่าย

แนวทางปฏิบัติสำหรับประเทศไทยที่ควรลงมือทำ

ในขณะที่ภูฏานเดินหน้าไปแล้วพอสมควรทีเดียวในการใช้ “ความสุขมวลรวมประชาชาติ” หรือ “ GNH ” เป็นเป้าหมายหลักในการพัฒนาประเทศ โดยไม่ให้ความสำคัญกับ “ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ” หรือ “ GNP ” มากนัก ประเทศไทยเราเองแม้จะมีเป้าหมายเรื่องการพัฒนาคนและการสร้าง “ความเป็นสุข” ( Well-being ) ของคนและสังคม มาตั้งแต่แผนฯ 8 แต่ในความเป็นจริงแล้ว รัฐบาลไทยและสังคมไทยโดยรวมได้เน้น “ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ” ( GNP ) หรือ “ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ” ( Gross Domestic Product – GDP ) กับเรื่องของรายได้ที่เป็นตัวเงินเป็นเป้าหมายหลักในการพัฒนาประเทศมาจนทุกวันนี้

ดังนั้น ในโอกาสของการเข้าสู่ช่วงเวลาของแผนฯ 10 ที่กำหนดให้ “ความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” เป็น “วิสัยทัศน์ประเทศไทย” ภายใต้ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” จึงเป็นจังหวะเวลาเหมาะสมอย่างยิ่งที่ทั้งรัฐบาลไทย ฝ่ายการเมือง หน่วยงาน องค์กร สถาบัน ท้องถิ่น ชุมชน และสังคมไทยโดยรวม จะเอาจริงเอาจังกับการมุ่งมั่นดำเนินการต่างๆรวมถึงการปฏิบัติตามแนวทาง “เศรษฐกิจพอเพียง” ให้ได้อย่างดีที่สุด

แนวทางตามยุทธศาสตร์ทั้ง 5 ประการที่ระบุในแผนฯ 10 นั้นถือได้ว่าดีพออยู่แล้ว แต่สำคัญที่ต้องพยายามปฏิบัติให้ได้

จะปฏิบัติได้ ต้องรู้ว่าใครเกี่ยวข้องกับการดำเนินการตามยุทธศาสตร์เหล่านั้น แล้วจัดกระบวนการให้บุคคล หน่วยงาน องค์กร สถาบัน ฯลฯที่เกี่ยวข้อง มาร่วมมือประสานงานประสานพลังกันให้ได้อย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพ

บทบาทในการจัดกระบวนการเช่นนี้ น่าจะเป็นของสภาพัฒน์ (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ – สศช.) แต่สภาพัฒน์ไม่จำเป็นและไม่สมควรต้องมีบทบาทเป็นผู้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ทั้ง 5 ประการนั้น เพราะบทบาทหน้าที่ที่จะดำเนินการตามยุทธศาสตร์ดังกล่าว มีผู้รับผิดชอบครบถ้วนอยู่แล้ว

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/52975

<<< กลับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *