จาก “ความสุขมวลรวมประชาชาติ” ของภูฏาน สู่อุดมการณ์ “สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” ของไทย (ต่อ)

จาก “ความสุขมวลรวมประชาชาติ” ของภูฏาน สู่อุดมการณ์ “สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” ของไทย (ต่อ)


ถึงเวลาทำดัชนีชี้วัดความสุขให้ใช้งานได้อย่างมีคุณประโยชน์แท้จริง

เรื่องสำคัญมากอีกเรื่องหนึ่งที่ควรลงมือทำอย่างจริงจัง คือการพัฒนาดัชนีชี้วัดความสุข ให้สามารถใช้งานได้อย่างมีคุณประโยชน์แท้จริง โดยเป็นที่ยอมรับร่วมกันของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย

จะทำให้เกิดผลเช่นนี้ได้ ต้องจัดกระบวนการให้ผู้เกี่ยวข้องที่สำคัญๆทั้งหมดมาร่วมมือประสานงานกันในความพยายามร่วมกัน

ในการนี้ควรต้องให้ความสำคัญต่อภาคประชาชน ภาคชุมชน และภาคท้องถิ่น ให้มากเป็นพิเศษ เพราะภาคเหล่านี้เป็นเป้าหมายสำคัญของการพัฒนา และควรเป็น “ตัวตั้ง” ในการวัด “ความสุข” หรือ “ความอยู่เย็นเป็นสุข” ดังนั้น การกำหนดตัวชี้วัดหรือดัชนีชี้วัด จึงควรต้องให้ประชาชน ชุมชน และท้องถิ่น มีบทบาทสำคัญทั้งในการให้ข้อมูลและความคิดเห็น ในการให้ความเห็นชอบต่อระบบและวิธีการที่จะนำมาใช้ ในการนำระบบและวิธีการที่ตกลงกันมาประยุกต์ใช้จริง และในการติดตามผล พร้อมกับการศึกษาเรียนรู้และพัฒนาต่อไปอย่างต่อเนื่อง

เรื่องดัชนีชี้วัดความสุขนี้ กำลังได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆในระดับนานาชาติ ดังนั้น ประเทศไทยจึงสามารถทำเรื่องนี้ของเราไป พร้อมๆกับการศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้ปฏิบัติและผู้สนใจในประเทศอื่นๆด้วย ซึ่งแน่นอนย่อมรวมถึงประเทศภูฏานที่ได้พยายามพัฒนาดัชนีชี้วัดความสุขทั้งที่เป็นเชิง ภววิสัย (ภาวะเป็นสุข) และเชิงอัตวิสัย (ความรู้สึกสุข) อยู่แล้ว

ที่สำคัญ ควรมองเรื่องดัชนีชี้วัดความสุขหรือความอยู่เย็นเป็นสุข เป็น “เครื่องมือ” หรือเป็น “กุศโลบาย” ให้เกิดการตื่นตัว การพัฒนาความคิด การพัฒนาทัศนคติ การพัฒนาศาสตร์และศิลป์ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการสร้างการมีส่วนร่วมและการร่วมมือประสานงานระหว่างผู้เกี่ยวข้อง อันจะนำไปสู่การร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมเรียนรู้ และร่วมปรับปรุงพัฒนา อย่างต่อเนื่อง

การใช้ดัชนีชี้วัดความสุขหรือความอยู่เย็นเป็นสุข เป็น “เครื่องมือ” หรือ “กุศโลบาย” เช่นนี้ สำคัญกว่า มีคุณค่ามากกว่า และเป็นประโยชน์มากกว่าการมีดัชนีชี้วัดที่ถูกต้องสมบูรณ์ ซึ่งการจะสร้างความถูกต้องสมบูรณ์ของดัชนีชี้วัดที่ว่านี้ ย่อมยากมากอยู่แล้ว และถ้าจะหาข้อสรุปที่เห็นพ้องต้องกันในระหว่างผู้เกี่ยวข้องทั้งหลาย ก็ย่อมยากมากยิ่งขึ้นไปอีก

ดังนั้นจึงไม่ควรมุ่งหาดัชนีชี้วัดที่ถูกต้องสมบูรณ์ แต่ควรมุ่งสร้าง “เครื่องมือ” ที่สามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ดีในระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย จะเป็นประโยชน์คุ้มค่าและมีความเหมาะสมกว่ามาก

การลงทุนที่คุ้มค่า

กล่าวโดยสรุป ถ้าคณะ “ตามล่าหา GNH ” ที่เดินทางไปประเทศภูฏานรวม 5 วัน สามารถช่วยกันทำให้มีการดำเนินการใน 2 เรื่องใหญ่ที่เสนอมาข้างต้น คือ

(1) การร่วมมือประสานงานอย่างจริงจังและต่อเนื่องภายใต้อุดมการณ์และยุทธศาสตร์ของแผนฯ 10 ในระหว่างผู้เกี่ยวข้องทั้งหลาย และ

(2) การร่วมมือประสานงานในระหว่างผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายเพื่อพัฒนาดัชนีชี้วัดความสุขหรือความอยู่เย็นเป็นสุขจนสามารถนำมาใช้ร่วมกันได้อย่างเป็นประโยชน์และต่อเนื่อง

ถ้าทั้ง 2 เรื่องนี้เกิดได้จริง ค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่คณะผู้ “ตามล่าหา GNH ” ดังกล่าวต้องใช้ไป ก็จะคุ้มเกินคุ้มหลายตลบ

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/52976

<<< กลับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *