‘ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม’ ขยายความ ‘อภิสิทธัตถะ’

‘ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม’ ขยายความ ‘อภิสิทธัตถะ’


(ข้อความข่าว  ลงในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน  ฉบับวันที่  4  สิงหาคม  2553  หน้า 11)

 

หมายเหตุ:- นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ชี้แจงผ่าน  ‘มติชน’  อธิบายความหมายของคำว่า ‘อภิสิทธัตถะ’

 

“อภิสิทธัตถะ”  กลายเป็นคำใหม่ที่ถูกเอ่ยถึงกันอย่างหนาหู  ในแวดวงการเมืองในช่วงนี้

ที่มาของคำนี้มาจาก  ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม  อดีตรองนายกรัฐมนตรี  ได้ไปกล่าวบรรยายพิเศษในหัวข้อ  “อนาคตประเทศไทยบนพื้นฐานความปรองดอง”  ในเวทีสัมมนากรรมการบริหารและ  ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์  เมื่อวันที่  31  กรกฎาคมที่ผ่านมา  ที่ว่า

“…การแก้ปัญหาแตกแยกจะต้องเริ่มที่ตัวเรา  ไม่ใช่เสนอให้คนอื่นทำอะไร  แต่ตัวเองไม่ทำอะไร  เหมือนพ่อบอกให้แม่กับลูกทำอย่างนั้น  แต่ตัวเองไม่บอกว่าจะทำอะไร  ปัญหาที่ซับซ้อนจะต้องใช้พลังสังคมเป็นตัวนำ  เหมือนในทฤษฎีสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา  ของ  นพ.ประเวศ  วะสี  ผมขอพูดต่อหน้านายกฯ  และสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ว่า เป็นคนหนึ่งที่ชื่นชมนายกฯอภิสิทธิ์ เพราะเห็นว่าเป็นคนดี  ฉลาดและซื่อตรง  ภาษาบาลีเรียกว่าเป็น  สัตบุรุษ  จึงอาจเรียกคุณอภิสิทธิ์ว่านายอภิสิทธิ์สัตตะ  สิ่งที่ท่านพยายามทำ  ทั้งสร้างความปรองดองและปฏิรูปประเทศให้ดีกว่าเดิม  อาจมีคนไม่ชอบบ้างเป็นธรรมดา  แต่คนส่วนใหญ่พอใจ  อยากให้ท่านทำ  ถ้าท่านทำได้สำเร็จ  ท่านจะไม่เป็นแต่เพียงนายอภิสิทธิ์สัตตะแต่จะเป็นอภิสิทธัตถะ…”

ทั้งนี้  “อาจารย์ไพบูลย์”  อธิบายคำว่า  “อภิสิทธัตถะ”  ความว่า  เป็นคำสมาส  อภิ+สิทธัตถะ  ซึ่งคำว่า  “สิทธัตถะ”  เป็นภาษาบาลี  แปลว่า  “ผู้สำเร็จความมุ่งหมายแล้ว”  หากนายอภิสิทธิ์สามารถสร้างความปรองดองของคนในชาติขึ้นได้  และช่วยให้การปฏิรูปประเทศไทยประสบความสำเร็จ  ก็จะเรียกได้ว่าเป็นนาย  “อภิสิทธัตถะ”  ซึ่งเป็นการเล่นคำที่ต้องการบ่งบอก  ว่านายอภิสิทธิ์ทำภารกิจสำคัญสำเร็จแล้ว  ไม่ได้หมายถึงการไปเทียบชั้นหรือเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าแต่อย่างใด  ซึ่งในการบรรยายของผู้บรรยาย  ได้อธิบายเกี่ยวกับความหมายของคำว่า  “สิทธัตถะ”  ไว้อย่างชัดเจน

                ไม่ต้องไปตีความหมายให้ไกลไปกว่านี้…

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/382253

<<< กลับ

อนาคตประเทศไทยบนพื้นฐานความปรองดอง

อนาคตประเทศไทยบนพื้นฐานความปรองดอง


(คำบรรยาย ในงานสัมมนาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรรมการบริหาร และรัฐมนตรีพรรคประชาธิปัตย์ ณ โรงแรมเมอร์ลิน บีช รีสอร์ท จังหวัดภูเก็ต วันที่ 31 กรกฎาคม 2553)

 

เรียน ท่านผู้มีเกียรติที่รักและนับถือทุกท่าน

                ผมยินดีและเต็มใจมาพูดแลกเปลี่ยนความเห็นกับสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ เพราะผมถือว่าพรรคการเมืองเป็นกลไกที่สำคัญของบ้านเมือง เป็นเสาหลัก และเป็นแรงผลักดันที่สำคัญมาก แต่เราก็รู้กันอยู่ว่าเสาหลักนี้ยังคลอนแคลนอยู่ ยังไม่เป็นเสาหลักที่มั่นคงแข็งแรงให้กับบ้านเมือง บ้านเมืองเราประสบวิกฤต เสาหลักก็คือบรรดาพรรคการเมืองทั้งหลายนะครับไม่ใช่เฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ พรรคการเมืองทั้งหลายยังไม่ได้เป็นปัจจัยที่เกื้อกูลเท่าที่ควร  ซ้ำยังเป็นปัจจัยที่เป็นต้นเหตุของปัญหา ขณะเดียวกันก็ไม่สามารถเข้าไปแก้ไขสถานการณ์ได้ดีพอ   เป็นคำถามให้เราต้องคิดโดยเฉพาะในช่วงเวลาที่บ้านเมืองวิกฤตและรัฐบาลโดยเฉพาะท่านนายกฯอภิสิทธิ์กับหลายๆฝ่ายในสังคมได้มีความตั้งใจร่วมกันว่าจะต้องทำ 2 อย่างให้เกิดขึ้น คือคำว่าปรองดองคำหนึ่งและคำว่าปฏิรูปอีกคำหนึ่ง เป็นคำ 2 คำซึ่งวนเวียนอยู่ในจิตใจของพวกเราและของประชาชนโดยทั่วไป

 

ความปรองดองกับการปฏิรูป  เจ้าของปัญหาควรเป็นผู้แก้ปัญหา

                ผมคิดว่าประชาชนโดยทั่วไปต้องการ  2 อย่างนี้แหละครับ   คือความปรองดองกับการปฏิรูปความปรองดองสำคัญเพราะว่าเราแตกแยก  เราสับสน เราเป็นปฏิปักษ์กันมามากพอและนานพอ   เกิดความรุนแรงที่เป็นวิกฤตมหาวิกฤตสำหรับประเทศไทยนะครับ อันที่จริงถ้าเทียบกับหลายๆประเทศ วิกฤตประเทศไทยไม่ถึงกับแรงเท่าไหร่ เทียบกับอัฟริกาใต้สมัยที่เขารบกันเป็นสิบๆปี ฆ่าฟันล้มตายเป็นอันมาก จนมาได้คิดทีหลังว่า  โธ่เอ๊ย เรามาฆ่ากันทำไม คุยกันดีกว่า พอคิดได้ดังนี้สองฝ่ายมาคุยกัน  เกิดสันติภาพ มีการเลือกตั้งได้ประธานาธิบดีที่คนส่วนใหญ่พอใจ   ประธานาธิบดีผู้นั้นคือ เนลสันมันเดลลา เขาริเริ่มกลไกที่เรียกว่า Truth and Reconciliation Commission คือคณะกรรมาธิการค้นหาความจริงและสร้างความปรองดอง ซึ่งเราประยุกต์มาใช้เป็นคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติที่มีท่านอาจารย์ ดร. คณิต ณ นคร เป็นประธาน แต่ถ้าเทียบกับของอัฟริกาใต้ต้องถือว่าของเรายังไม่สู้จะชัดเจนนัก  คือก้ำๆ กึ่งๆ ครึ่ง ๆ กลางๆ   แต่มีความตั้งใจทั้งโดยรัฐบาลและโดยท่านอาจารย์คณิตเองที่จะให้การค้นหาความจริงนำไปสู่ความปรองดอง แต่จะต้องค้นหาความจริงให้สมบูรณ์ก่อนหรือไม่  หรือสามารถสร้างความปรองดองได้เลย  เป็นสิ่งที่น่าคิดน่าพิจารณาโดยเฉพาะท่านทั้งหลายที่เป็นฝ่ายการเมือง  ซึ่งที่จริงฝ่ายการเมืองควรจะเป็นฝ่ายนำด้วยซ้ำไปนะครับในเรื่องการสร้างความปรองดอง เพราะถ้าจะว่าไปเหตุก็มาจากท่าน คำว่าท่านนี่ผมหมายถึงนักการเมืองทั่วไปนะครับ เหตุมาจากนักการเมือง  คนที่จะแก้ได้ดีที่สุดคือนักการเมือง

                เรื่องของใครคนนั้นแก้ดีที่สุด เช่นเราจะแก้ปัญหาความยากจนปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน  ให้ประชาชนแก้เองดีที่สุดครับ บังเอิญผมทำเรื่องนี้มาประมาณ 20 ปีก็รู้ดีว่าเรื่องของชุมชน ท้องถิ่น เรื่องประชาชน แม้แต่เรื่องครูที่มีปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัว ผมได้มีโอกาสสนทนากับท่านรัฐมนตรี ชินวรณ์ เมื่อเช้า  ก็เล่าให้ฟังว่าได้ริเริ่มโครงการที่เรียกว่าโครงการพัฒนาชีวิตครู ในสมัยที่ผมเป็นผู้อำนวยการธนาคารออมสิน คนแรกที่ไปทำให้เกิดการพูดจากันก็คือท่านอาคม เอ่งฉ้วน แล้วเมื่อโครงการเกิดขึ้นหลังจากได้ปรึกษาหารือกันเป็นเวลา 6 เดือน ตรงนี้สำคัญนะครับ เรื่องยากๆเช่นนี้เราผลีผลามทำก็ไม่ได้ ผลีผลามจะได้ผิวเผิน   ตอนที่ครูกับกระทรวงศึกษาธิการมาหาผมให้ช่วยแก้ปัญหาหนี้สินครูที่ล้นพ้นตัว ไม่มีใครรับนะครับ ธนาคารอื่นไม่รับ ผู้บริหารธนาคารออมสินก็ไม่รับ  แต่ผมเนื่องจากว่ายังใหม่ ไปรับหน้าที่ใหม่ๆ แล้วผมประกาศตั้งแต่วันเข้าไปรับหน้าที่ว่าธนาคารออมสินต้องเป็นธนาคารเพื่อสังคม ผมก็พูดว่า เรื่องปัญหาครูเป็นปัญหาสังคมนี่ครับ แล้วเราจะหลีกหนีไม่เข้าไปช่วยแก้ไขได้อย่างไร ผมก็ชวนครู ชวนกระทรวงศึกษาธิการ มานั่งคุยรวมกันเป็น 3 ฝ่าย  โดยใช้หลักการสำคัญที่ว่า ปัญหาของใครคนนั้นต้องแก้ ก็บอกว่าปัญหาครู ครูต้องแก้  แต่คุณต้องหาวิธีแก้ด้วย เราคุยกัน 6 เดือนครับกว่าจะตกลงกันได้แล้วก็สามารถดำเนินงานได้ พอดีเป็นช่วงที่ท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการ ดร. วิชัย ตันศิริ เข้ามาเป็นรัฐมนตรี แล้วก็มีข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการที่เอาใจใส่เรื่องนี้ มาช่วยกันทำ  งานก็เริ่มไปได้ด้วยดีนะครับ นับถึงปัจจุบัน 10 ปีกว่าผ่านไป ครูเข้าโครงการประมาณ 120,000 คน ใช้เงินธนาคารออมสินไปประมาณ120,000 ล้านบาท เป็นเงินหมุนเวียนนะครับ  ขณะนี้มียอดเงินให้กู้คงเหลือประมาณ 58,000 ล้านบาท  โครงการนี้ได้รับการประยุกต์ขยายไปถึงข้าราชการสามัญ ข้าราชการทหาร ข้าราชการตำรวจ ข้าราชการท้องถิ่น  ดังนั้นถ้ารวมข้าราชการทุกประเภทที่มาใช้บริการแก้หนี้กับธนาคารออมสิน จะมีจำนวนสะสมถึง 320,000 คน โดยประมาณ  รวมเป็นเงินให้กู้คงเหลือประมาณ 170,000 ล้านบาท  นั่นเป็นเชิงปริมาณ สำหรับด้านคุณภาพ คิดว่าส่วนที่ดีน่าจะเกิน 50 เปอร์เซนต์ อาจถึง 75 เปอร์เซนต์ โดยยังมีส่วนที่ไม่ดีหรือยังดีไม่พอประมาณ 25 เปอร์เซนต์  ผมก็เรียนท่านรัฐมนตรีชินวรณ์ว่า  เพียงแต่สานต่อเรื่องนี้  รักษาเอาส่วนดีไว้  เสริมให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น   ขยายส่วนดีให้มีมากขึ้น แล้วก็ไปลดส่วนที่ไม่ดีให้เหลือน้อยลง   จุดสำคัญคือต้องกลับไปที่หลักการพื้นฐานครับ  ปัญหาของใครคนนั้นต้องแก้ ปัญหาครู ครูต้องแก้ แต่มีเพื่อนมาช่วยสนับสนุนด้วย  ซึ่งในกรณีนี้ก็ได้แก่ธนาคารออมสินกับกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้ช่วยสนับสนุนครูในการแก้ปัญหาของครู   โครงการก็จะไปได้ดี เป็นผลดีกับทุกฝ่าย

                ถ้าเอาเรื่องการแก้ปัญหาหนี้ครูมาประยุกต์กับเรื่องการสร้างความปรองดอง ปัญหาความแตกแยกและไม่ปรองดองเกิดขึ้นจากนักการเมืองเป็นปฏิปักษ์กัน แล้วนำประชาชนเข้ามาสมทบกลายเป็นความแตกแยกทั่วประเทศ   ฉะนั้นคนที่จะแก้ได้ก็คือนักการเมืองกับประชาชน  นักวิชาการแก้ไม่ได้ คุณหมอประเวศ คุณอานันท์  แม้กระทั่งอาจารย์คณิต แก้เองไม่ได้  แต่สามารถเป็นคนไปกระตุ้นหรือคนไปเสริมหนุนให้ฝ่ายการเมืองกับฝ่ายประชาชนเข้ามาร่วมกันแก้ได้  ซึ่งผมมีหลักง่ายๆนะครับในการแก้ปัญหาความไม่ปรองดองหรือแก้ปัญหาความแตกแยก  คือต้องมี 3 องค์ประกอบที่สำคัญ ข้อแรกต้องมีกระบวนการที่ดี ต้องมีการจัดขั้นตอน สรรหาบุคคลที่เหมาะสมเข้ามาเกี่ยวข้อง  เริ่มเล็กๆ ง่ายๆก่อนแล้วค่อยๆ ขยับขึ้นไปสู่ระดับที่สูงขึ้นหรือยากขึ้น ไม่ใช่เริ่มต้นก็เข้าสู่สาระเลย ต่อรองกันเลยอย่างนั้น  ต้องขอประทานโทษที่จะขอกล่าวถึงเมื่อครั้งที่ท่านนายกฯกับ นปช. ไปเจอกันออกทางโทรทัศน์ เป็นการทำที่ไม่มีกระบวนการเตรียมการไว้ให้ดีพอ  เป็นการเข้าสู่การเจรจาสาระกันทันทีเลย ผลที่ออกมาดังที่เราเห็นก็คือว่าไม่สามารถตกลงกันได้  แถมบรรยากาศแทนที่จะดีกลับไม่ดี เพราะมีการชี้หน้าด่าว่ากันกล่าวหากันในสื่อสาธารณะที่มีคนชมคนฟังทั้งประเทศ

 

การแก้ปัญหาความขัดแย้งและสร้างความปรองดอง ต้องมีกระบวนการ ขั้นตอนและวิธีการที่ดี

                ถ้าจะทำเรื่องแก้ความขัดแย้งให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี  ต้องมีขั้นตอนทำนองนี้ครับ

                ข้อหนึ่ง มีกระบวนการที่ดี สาระยังไม่ต้องพูดถึง เน้นการร่วมกันจัดกระบวนการที่ดี ผมเคยไปทำเรื่องแก้ปัญหาความขัดแย้งเกี่ยวกับการสร้างท่อก๊าซ ไทย-พม่า เราใช้กระบวนการอยู่เป็นเดือนๆนะครับ เช่นก่อนจะยอมรับว่าใครเป็นคนกลางใช้เวลาเกือบเดือน ไม่ใช่ใครก็ได้ไปเป็นคนกลาง คนกลางต้องเป็นบุคคลหรือคณะบุคคลที่คู่กรณีทั้งหมดยอมรับ

                ข้อสอง ต้องเตรียมการแต่ละฝ่ายให้เข้าใจว่าการมาเจรจากัน เขาเจรจากันแบบไหน ไม่ใช่มายื่นข้อเรียกร้องกัน แต่มีขั้นตอนต่าง ๆ พอสมควรที่จะช่วยให้การเจรจาประสบความสำเร็จร่วมกัน

                ข้อสาม ต้องหารือกันถึงกติกาที่จะพูดคุยกัน จะวางกติกาแบบไหน พูดคุยกันอย่างไร  ใครควรเข้ามาร่วมในการเจรจาแต่ละขั้นตอน จะเจรจากันที่ไหน เปิดเผยต่อสื่อขนาดไหน และประเด็นอื่น ๆ แล้วแต่จะตกลงกัน

                ฉะนั้นกระบวนการจะเกิดขึ้น ตามกติกาที่ตกลงกัน  จากกระบวนการที่ดีจะช่วยให้ทัศนคติค่อยๆ ดีขึ้น   ในกรณีท่อก๊าซ ไทย-พม่า  จากที่เคยเกลียดกัน ไม่มองหน้ากัน อยากจะทุบตีด่าว่ากันระหว่างฝ่ายชาวบ้านที่ต่อต้านท่อก๊าซกับฝ่าย ปตท. ที่จะเป็นผู้ก่อสร้าง หลังจากได้คุยกันตามขั้นตอนที่ผมเล่ามาให้ฟัง  ประมาณ 4รอบ ในที่สุดคุยกันได้ดีขึ้น  เริ่มคุยแบบเป็นมิตรกันมากขึ้น จากที่เคยเกลียดกันไม่มองหน้ากันเลยนะครับ และจากไม่ยอมให้ดูสัญญามาเป็นให้ดูสัญญาได้เป็นต้น  แต่เสียดายที่ว่ามีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล และรัฐบาลใหม่ตัดสินใจไม่ใช้กระบวนการเจรจาต่อจากที่เราได้ปูทางไว้แล้ว   แต่ไปใช้วิธีตั้งคณะกรรมการศึกษาและรับฟังความเห็นจากฝ่ายต่าง ๆ คล้าย ๆ ระบบประชาพิจารณ์ หรือ Public Hearing  ซึ่งวิธีประชาพิจารณ์นี้ เป็นกระบวนการชนิดหนึ่งซึ่งเคยใช้มากที่สหรัฐอเมริกา แต่สมัยนี้แม้ในประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นผู้ริเริ่มได้เลิกใช้วิธีประชาพิจารณ์แล้ว เพราะการประชาพิจารณ์ยังเป็นการเผชิญหน้า  เอาข้อมูลเหตุผลมาต่อสู้กัน แบบเป็นคนละข้างหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน จึงไม่ค่อยได้ผลดีในแง่ของการสร้างความเห็นพ้องหรือข้อตกลงร่วมกันหรือความปรองดองสมานฉันท์นั่นเอง เขาหันมาใช้วิธีที่เรียกว่า Public Deliberation หรือประชาเสวนาหาทางออก หรือในบางประเทศเรียกว่า Citizen Dialogue  ในภาษาไทยเราใช้คำว่า ประชาเสวนา หรือถ้าไปแบบลึกๆ เขาเรียกว่า สุนทรียสนทนา  แต่นั่นเหมาะสำหรับกรณีที่เป็นองค์กรพูดคุยกันแบบลึกๆ แบบจับเข่าใจถึงใจ  ในเรื่องความขัดแย้งก็ใช้ได้เหมือนกันแต่ช่วงเริ่มต้นคงยังไม่ได้  ช่วงเริ่มต้นต้องเป็นประชาเสวนา คุยกันธรรมดาแต่ว่ามีคนกลางช่วย จัดขั้นตอน จัดประเด็น แล้วในที่สุดถ้ากระบวนการดีจะช่วยสร้างทัศนคติหรือบรรยากาศที่ดีขึ้น เป็นบวกมากขึ้น อาจยังไม่ถึงกับรักใคร่ปรองดองกันหรอกแต่ว่าดีขึ้น พอคุยกันได้  แล้วค่อยพูดเรื่องประเด็นสาระจากนั้นจะค่อย ๆ ได้ข้อตกลงทีละข้อหรือทีละเรื่องไปตามลำดับ

                ประเด็นสาระที่สามารถตกลงกันในเบื้องแรกจะเป็นเรื่องง่าย ๆ ก่อนแล้วค่อยขยับเข้าสู่เรื่องที่ยากขึ้น เป็นการตกลงกันระหว่างคนที่เป็นระดับกลางๆก่อนแล้วค่อยๆขยับขึ้นไปตกลงกันในระดับที่สูงขึ้นจนถึงระดับสูงสุด  จากนั้นก็ทำสัญญาประชาคมแล้วมีกลไกที่จะติดตามดูแลให้ปฏิบัติตามข้อตกลงนั้น ถ้ามีอะไรขัดข้องรีบป้องกันรีบแก้ไข กระบวนการจะไม่จบตอนมีข้อตกลงนะครับ จะต้องต่อเนื่องไปอีก นี่เป็นตัวอย่างครับของการที่จะสร้างความปรองดองและเป็นการสร้างความปรองดองโดยตรง สร้างความปรองดองจากความขัดแย้ง สร้างความปรองดองจากความเป็นปฏิปักษ์

 

แผนปรองดอง 5 ข้อ ของรัฐบาล เป็นแผนข้างเดียว ยังไม่เป็นข้อตกลง

                แต่พร้อมกันนั้นนะครับที่ขณะนี้เรากำลังทำกันอยู่นี้ เราสร้างความปรองดองอยู่แบบหนึ่งโดยรัฐบาลมีแผนปรองดอง 5 ข้อ  แต่ผมต้องขออนุญาตเรียนว่าแผนปรองดอง 5 ข้อของรัฐบาลยังเป็นแผนข้างเดียว เป็นแผนที่คิดข้างเดียว ฉะนั้นไม่ใช่ข้อตกลง  เมื่อไม่ใช่ข้อตกลงจะมีฝ่ายต่อต้าน ฝ่ายไม่เห็นด้วยเป็นธรรมดา อะไรที่คิดข้างเดียวจะมีปัญหา เช่นร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองความเสียหายจากการบริการสาธารณสุข แม้จะมีการหารือกันอย่างเป็นทางการระหว่างหลายฝ่าย นึกว่าได้ข้อตกลง  เอาเข้าจริงแพทย์พยาบาลผู้ให้บริการทั่วประเทศมาประท้วง  นี่แปลว่ากระบวนการยังขัดข้อง กระบวนการการหารือเรื่องพระราชบัญญัติฉบับนี้ตามรูปแบบอาจถูกต้อง คือมีการหารือกัน  แต่เนื้อในยังไม่ดีพอ การประชุมแบบมาพูดอภิปรายกันมักจะไม่ดีพอ  ต้องประชุมลงลึกที่เรียกว่าประชาเสวนาหรือ Public Deliberation  หรือ Citizen Dialogue  หรือถ้อยคำทำนองนี้นะครับ หรือจะเรียกว่าสันติเสวนา หรือ  Peace Dialogue ก็ได้

                คุณชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ เป็นคนหนึ่งที่สามารถจัดกระบวนการประเภทนี้ได้  และยังมีอีกหลายคนในประเทศไทยที่ทำได้  เพราะเราได้เรียนรู้จากต่างประเทศที่เขามีความขัดแย้งกันมาเหมือนเราแล้วเขาก็มีกรรมวิธีจัดกระบวนการที่เรียกว่า Dialogue  ประเภทต่าง ๆ ซึ่งช่วยป้องกันแก้ปัญหาความขัดแย้งได้ เช่นปัญหาความขัดแย้งในการทำอุตสาหกรรมป่าไม้ ปัญหาความขัดแย้งในการทำโครงการสาธารณะเช่นโรงไฟฟ้า เป็นต้น เขามีมาก่อนเราแล้วเขาป้องกันแก้ไขกันได้ครับ  แต่เรายังอยู่ระหว่างการเรียนรู้ ฉะนั้นถ้าจัดกระบวนการให้ดีซึ่งต้องเป็นกระบวนการที่ลงลึกถึงจิตถึงใจนะครับ ไม่ใช่ใช้สมองอย่างเดียว เวลาอภิปรายกัน  เรามักจะใช้สมองเป็นหลัก ใช้อารมณ์เป็นหลัก แต่ถ้าได้นั่งคุยล้อมวงกันกลุ่มเล็กๆ ไม่ใหญ่เกินไป หรือมีกระบวนการแบ่งกลุ่มเล็กบ้างใหญ่บ้าง บางทีต้องไปคุยนอกรอบบ้างในรอบบ้าง  ค่อยพูดค่อยจากันไป  โดยวิธีนี้เราจะได้ทั้งสมองทั้งจิตใจทั้งอารมณ์  แล้วจะเกิดความเห็นพ้องต้องกันอย่างสมบูรณ์ได้ในที่สุด ถ้าใช้วิธีทำนองนี้กับร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการบริการสาธารณสุข ผมเชื่อว่าจะได้ความเห็นพ้องต้องกันโดยไม่มีปัญหาขัดแย้งดังที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน   มีตัวอย่างของการออกพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพของประเทศสวีเดน รัฐสภาตั้งคณะกรรมธิการที่มีตัวแทนจากทุกพรรคร่วมกัน  ทุกพรรคนะครับ ไม่แบ่งเป็นฝ่ายค้านฝ่ายรัฐบาล คณะกรรมาธิการชุดนี้ไปจัดกระบวนการปรึกษาหารือประชาชนทั่วประเทศเป็นเวลา 3 ปี  3 ปีนะครับ และเขาไปทั่วประเทศเลย จึงได้ข้อสรุปที่ตกผลึกแน่นหนา พอร่างพระราชบัญญัติเข้าสภาไม่มีปัญหาเลย และออกเป็นกฎหมายได้โดยเรียบร้อย

                ผมขอเสนอว่าการจัดกระบวนการที่ดีเป็นเรื่องสำคัญมากในการป้องกันและแก้ไขความขัดแย้ง หรือสร้างความปรองดอง เมื่อจัดกระบวนการที่ดีจะก่อให้เกิดทัศนคติและบรรยากาศที่ดี จากนั้นการคุยสาระจะได้ผลดี แต่สำหรับในประเทศไทยในปัจจุบัน หนึ่ง เราไม่มีกระบวนการ  สอง ทัศนคติยังเป็นปฏิปักษ์ยังเป็นลบ ยากครับที่จะสร้างความปรองดอง  แต่คำว่ายากไม่ใช่แปลว่าไม่ควรพยายามนะครับ  ยิ่งยากยิ่งต้องใช้ความพยายาม  ซึ่งรัฐบาลก็พยายามอยู่  แต่ผมเรียนไปแล้วว่าเป็นการพยายามข้างเดียว   ต้องหาทางให้ไม่ใช่เป็นการพยายามข้างเดียว  ต้องพยายามร่วมกัน  และอาจจะไม่ใช่แค่ 2 ฝ่ายนะครับ อาจต้องเป็นหลายฝ่าย  เพราะคนที่เกี่ยวข้องมีหลายฝ่ายรวมถึงฝ่ายประชาชนด้วยนะครับ  ต้องอย่าลืมฝ่ายประชาชนเพราะเจ้าของประเทศที่แท้จริงคือประชาชนหรือบางทีเราเรียกว่าประชาสังคม พลังที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือพลังประชาชนและพลังประชาสังคม ต้องทำอย่างไรให้พลังประชาชนและพลังประชาสังคมเข้ามาร่วมด้วย ถ้า 2 ฝ่ายมักจะมีปัญหาว่าต่างฝ่ายต่างโต้กันไปโต้กันมา   แต่ถ้าเป็นหลายฝ่ายมักจะดีขึ้น    เพราะมีมุมมองที่แตกต่างออกไปเข้ามาช่วยให้เกิดความสมดุลได้ดีขึ้น  ผมทำงานกับชุมชนฐานรากมาเยอะพบว่าถ้ามีประเด็นปัญหาอะไรให้ชุมชนเขาไปจัดการกันเอง หรือถ้ามีปัญหา 2 ฝ่ายที่ไหนแล้วให้ฝ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมด้วยมักจะช่วยให้แก้ไขปัญหาได้ดีขึ้น  เข้าหลักที่ว่าหลายหัวดีกว่าหัวเดียว หลายนี่ต้องมากกว่าสอง เช่นความขัดแย้งทางการเมืองนี้มีใครบ้างล่ะครับ แค่รัฐบาลก็มีหลายฝ่ายแล้วนะครับ   ใช่ไหมครับ พรรคร่วมหลายฝ่ายอาจคิดไม่เหมือนกัน นปช.ก็มีหลายฝ่าย  แล้วยังมีคนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง  ธุรกิจเกี่ยวข้อง ชุมชนเกี่ยวข้อง ประชาสังคมทั่วไปเกี่ยวข้อง พ่อค้า แม้กระทั่งพระสงฆ์ก็เกี่ยวข้องนะครับ โดยมีทั้งพระสงฆ์ที่ให้ศีลให้พรและพระสงฆ์ที่เข้ามาร่วมประท้วงด้วย คนเกี่ยวข้องหลายฝ่ายมาก ต้องเข้ามาเป็นผู้เจรจาเพื่อคลี่คลายความขัดแย้งร่วมกันให้ได้อย่างบูรณาการมากที่สุด

 

หลากหลายวิธีในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง

                แต่การคลี่คลายความขัดแย้งสมัยนี้มีหลายแนวความคิด  หลายแบบ หลายวิธี   บางคนบอกว่าความขัดแย้งนี้เป็นธรรมชาติ ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ ฉะนั้นการแก้ความขัดแย้งจึงไม่ใช่ไปห้ามหรือทำให้      ไม่มีความขัดแย้ง แต่ควรหาทางแปรเปลี่ยนความขัดแย้งไปสู่การสร้างสรรค์  ภาษาอังกฤษเรียกว่า Conflict Transformation ส่วนแนวคิดหรือวิธีการอื่น ๆ ก็มีอีกมีคำหลายคำ เช่น  Conflict Management คือการจัดการความขัดแย้ง Conflict Prevention การป้องกันความขัดแย้ง Peace Building การสร้างสันติ สำหรับกรณีความขัดแย้งทางการเมืองของประเทศไทย ผมคิดว่าสิ่งที่จะช่วยได้ดีอาจจะเป็นการแปรเปลี่ยนความขัดแย้ง หรือ Conflict Transformation คือเราไม่ห้ามหรอกที่จะมีความขัดแย้งหรือ  conflict แต่เราแปรเปลี่ยนพลังที่จะมาสู้กันไปเป็นพลังสร้างสรรค์ร่วมกัน   จากสู้เป็นสร้าง เหมือนอย่างเราแก้เรื่องสุขภาพ จากซ่อมเป็นสร้าง สร้างนำซ่อม สร้างก่อนซ่อม ถึงได้มี สสส. ถึงได้มีสำนักงานวิจัยระบบสาธารณสุข ถึงได้มี สปสช. ซึ่งไปส่งเสริมเรื่องการสร้างสุขภาพเพราะไม่อยากจะต้องมาเสียเงินเพื่อซ่อมสุขภาพ เราใช้เงิน สสส. ปีละ 2 พันกว่าล้านเพื่อจะสร้างสุขภาพ จะได้ไม่ต้องมาซ่อมสุขภาพเพราะการสร้างจะถูกกว่าการซ่อม

                ปัญหาการขัดแย้งก็เช่นเดียวกัน ถ้าเราแปรเปลี่ยนความขัดแย้งมาเป็นการสร้างสรรค์ร่วมกัน ค่าใช้จ่ายในการสร้างความปรองดองถูกกว่าการจะต้องมาแก้ความขัดแย้ง แค่เราเสียชีวิตคนไปประมาณ 80 คน บาดเจ็บอีกพันกว่าคน แล้วญาติพี่น้องเพื่อนฝูงที่กระทบกระเทือนอีก อาคารบ้านเรือน กิจการธุรกิจต่างๆที่เสียหายเป็นหมื่นหรือเป็นแสนล้านบาท เทียบกับการที่เราจะมาสร้างสรรค์ร่วมกัน การสร้างสรรค์ร่วมกันถูกกว่ากันเยอะเลย แต่ก็ต้องลงทุน รัฐบาลได้ลงทุนไปบ้างด้วยการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหลายชุด แต่ก็มีอยู่ชุดเดียวเท่านั้นที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความปรองดองโดยตรง คือคณะกรรมการของท่านอาจารย์คณิต ณ นคร ที่เรียกตัวเองว่าเป็นคณะกรรมการอิสระตรวจสอบค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ แต่จนถึงปัจจุบัน ผมคิดว่าท่านยังคงหาหนทางอยู่ ท่านยังไม่ได้พบหนทางที่ชัดเจน แต่อย่างน้อยท่านตั้งใจจะหาหนทางหาวิธีการที่ทำแล้วจะได้ผลดี   ส่วนคณะกรรมการอื่นๆไม่ได้เป็นคณะกรรมการสร้างความปรองดองโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปสื่อ ปฏิรูปรัฐธรรมนูญ หรือปฏิรูปเฉยๆ โดยไม่บอกว่าปฏิรูปอะไร นั่นคือคณะกรรมการคุณอานันท์ ชื่อคณะกรรมการปฏิรูป  ชื่อย่อว่า คปร. ส่วนคณะคุณหมอประเวศ ชื่อว่าคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป ชื่อย่อว่า คสป. 2 คณะนี้ประกาศตั้งแต่แรกเลยว่า ไม่เกี่ยวกับการปรองดองโดยอธิบายว่า การปรองดองเป็นเรื่องอดีต รัฐบาลมีหน้าที่แก้ก็แก้ไป แต่คณะกรรมการปฏิรูปจะพิจารณาเรื่องอนาคต  จะเน้นการสร้างจินตนาการใหม่ สร้างวิสัยทัศน์ร่วมกันของประชาชนคนไทยทุกหมู่เหล่า ไม่แยกว่าเป็นฝ่ายนั้น ฝ่ายนี้ เป็นแดง เป็นเหลือง เป็นรัฐบาล เป็น นปช. เป็นการเมือง เป็นข้าราชการ เป็นนักธุรกิจ เป็นประชาชน ไม่แยกครับ ใช้คำว่าประชาชนโดยรวมหมดทุกกลุ่มทุกฝ่าย ซึ่งบางทีเราใช้คำว่าประชาสังคม

 

ประชาชน ประชาสังคม และพลังสังคม

                ประชาสังคมก็คือสังคมของประชาชน ประชาสังคมคือการที่ประชาชนมารวมตัวกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน เราเรียกว่ากิจกรรมประชาสังคม ภาษาอังกฤษ คือ Civil society จะรวมตัวกันเป็นสมาคม มูลนิธิ กลุ่ม ชมรม เครือข่าย แนวร่วม ขบวนการ เรียกว่าประชาสังคมทั้งสิ้น ส่วนใหญ่ทำเรื่องดี บางส่วนทำเรื่องไม่ดี ก็ยังเรียกว่าประชาสังคม เหมือนกับคำว่าวัฒนธรรม วัฒนธรรมที่ดีที่สร้างสรรค์ก็มี วัฒนธรรมที่ไม่ดีที่บ่อนทำลายก็มี เช่นวัฒนธรรมบริโภคนิยมนี่ไม่ดี วัฒนธรรมความรุนแรงก็ไม่ดี วัฒนธรรมเอาอย่างคนอื่นโดยไม่คิดก็ไม่ดี แต่วัฒนธรรมยิ้มแย้มแจ่มใส วัฒนธรรมรักษาประเพณีอันดีงาม วัฒนธรรมอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข วัฒนธรรมจับเข่าคุยกัน อย่างนี้ดี ฉะนั้นประชาสังคมไม่ได้แปลว่าดีหรือไม่ดีในตัวเอง แล้วแต่ว่าใช้อย่างไร ถ้าใช้ดีจึงจะดี มีอีกตัวอย่างหนึ่ง คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ได้มีพระราชดำรัสใจความทำนองว่า  การเรียนหนังสือให้อ่านออกเขียนได้ไม่ได้เป็นเครื่องมือให้คนดีหรือไม่ดี  แต่เป็นเครื่องมือให้คนทำความดีหรือความเลวได้คล่องแคล่วขึ้น  คนที่มีการศึกษามากสามารถทำความดีได้ดีขึ้นหรือไม่ก็ทำความเลวได้เก่งขึ้น ฉะนั้นประชาสังคม ใช้ให้ดีจะเป็นประโยชน์มาก แต่ถ้าใช้ไม่ดี อย่างเช่น เราใช้ประชาสังคมเพื่อการเป็นปฏิปักษ์ต่อสู้กัน อย่างนี้เสียหาย แต่ถ้าใช้ประชาสังคมมาร่วมกันสร้างเช่นที่คณะกรรมการคุณหมอประเวศพยายามทำอยู่ ถึงได้ชื่อว่าคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป คือจะต้องมีการรวมตัวกันของผู้คนทุกพื้นที่ ทุกวงการ ทุกระดับ ทุกพื้นที่หมายถึง หมู่บ้าน ตำบล เขตเทศบาล จังหวัด กลุ่มจังหวัด มาจนถึงประเทศ ทุกวงการหมายถึง วงการชุมชน วงการประชาสังคม วงการการศึกษา วงการธุรกิจ วงการสตรี แม้กระทั่งวงการของผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส ผู้ใช้แรงงาน เกษตรกร เรียกว่าเป็นวงการ หรือเป็นกลุ่มหรือเป็นเครือข่าย

                เมื่อ 2 วันที่แล้วประชุมคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปครั้งที่ 2 ได้ตกลงตั้งคณะกรรมการ 14 คณะตามวงการต่างๆ เนื่องจากผมทำงานกับชุมชนมาเยอะก็ได้รับมอบหมายให้ดูแลคณะที่เกี่ยวกับชุมชนท้องถิ่น ซึ่งชุมชนท้องถิ่นจะต้องเริ่มที่พื้นที่ แล้วการใช้พื้นที่เป็นตัวตั้งมีประโยชน์มาก เพราะพื้นที่เป็นที่อยู่ของคนทุกกลุ่ม ทุกประเภท และรวมทุกประเด็น เราก็คิดว่าอย่างน้อยจะต้องมี 3 ระดับ คือ 1. ระดับท้องถิ่น ได้แก่ ตำบลและเทศบาล 2. ระดับจังหวัด ทั้ง 2 ระดับนี้มีกลไกอยู่พร้อมมูล มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีองค์กรภาคประชาชน มีองค์กรภาคธุรกิจ มีองค์กรภาคการศึกษา โรงเรียน มหาวิทยาลัย มีองค์กรภาคจริยธรรม  วัด มัสยิด โบสถ์ มีอยู่พร้อมมูล ธุรกิจก็อยู่ด้วย จังหวัดก็มีกลไกการจัดการชัดเจน มีผู้ว่าราชการจังหวัด พร้อมทั้งนายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ด้านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มี อบจ. เทศบาล อบต.  สำหรับเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนมีทั้งที่เป็นชุมชนท้องถิ่นในรูปสภาองค์กรชุมชนบ้าง ขบวนชุมชนบ้าง สภาผู้นำชุมชนบ้าง มีเครือข่ายประชาสังคมที่ประกอบด้วย นักกิจกรรมทั้งหลายที่ทำงานเพื่อส่วนรวม มีกลไกภาคธุรกิจ ได้แก่ สภาอุตสาหกรรม หอการค้า ชมรมธนาคาร สภาการท่องเที่ยว อาจจะมีสภาธุรกิจตลาดทุนและอื่นๆ มีพร้อมอยู่ที่จังหวัด ฉะนั้นในพื้นที่ตำบลก็ดี เทศบาลก็ดี จังหวัดก็ดี สามารถจะรวมคนทุกฝ่ายเข้ามาเพื่อร่วมคิดร่วมทำ เพื่อกำหนดว่าในพื้นที่ของเรา ภาพที่พึงปรารถนาที่สุดคืออะไร เราจะเป็นตำบลที่น่าอยู่ที่สุด เราจะเป็นจังหวัดที่น่าอยู่ที่สุด เราจะเป็นจังหวัดที่อยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน  เราจะเป็นจังหวัดที่มีความเจริญก้าวหน้าพร้อมกับความสมานฉันท์ ก็แล้วแต่จะกำหนดขึ้นมา  โดยเป็นการร่วมกันกำหนดวิสัยทัศน์หรือสภาพที่พึงปรารถนาโดยภาคประชาชนและผู้เกี่ยวข้องทั้งหลาย    ด้วยวิธีที่ทำให้ได้ฉันทามติร่วมกันอย่างเรียบร้อยและราบรื่น

                คณะกรรมการคุณหมอประเวศได้กำหนดในเบื้องต้นว่าสิ่งที่น่าพึงปรารถนาร่วมกัน คือ 1. สร้างความเป็นธรรม 2. ลดความเหลื่อมล้ำ เพราะเป็นปัญหาที่ทำให้เกิดความแตกแยกในสังคม ฉะนั้นแต่ละแห่งก็สามารถกำหนดได้ว่าถ้าเราจะมุ่งสร้างความเป็นธรรม มุ่งลดความเหลื่อมล้ำ เราจะทำอะไรกันบ้าง เริ่มต้นที่ตัวเรา เราพูดกันว่า ปฏิรูปที่ดี ปฏิรูปที่แท้จริงต้องเริ่มจากตัวเอง ไม่ใช่ไปเสนอให้ใครเขาทำอะไรหมดแล้วตัวเองไม่ทำอะไรเลย นั่นเป็นความประมาทอย่างยิ่งและเป็นการไม่เป็นธรรมด้วย คือไม่เป็นธรรมที่ว่า ไปให้คนอื่นเขาทำอะไรกันหมดแล้วตัวเองไม่ทำอะไร เหมือนเป็นสมาชิกครอบครัว พ่อบ้านบอกว่าครอบครัวต้องปฏิรูปแล้ว แม่ต้องทำอย่างนั้น ลูกคนโตต้องทำอย่างนี้ ลูกคนกลางต้องทำอย่างนั้น ลูกคนเล็กต้องทำอย่างนี้ แต่ไม่บอกเลยว่าพ่อจะทำอะไร ที่ถูกแล้วทุกคนต้องทำ

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/385057

<<< กลับ

อนาคตประเทศไทยบนพื้นฐานความปรองดอง (ต่อ 2)

อนาคตประเทศไทยบนพื้นฐานความปรองดอง (ต่อ 2)


สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา สังคมนำ การเมืองตาม   

                ผมยังเห็นว่าในคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปของคุณหมอประเวศได้จงใจใช้ปรัชญาความคิดว่า สังคมนำ การเมืองตาม เพราะคุณหมอประเวศมีทฤษฎีซึ่งเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางและได้ใช้มาจนเห็นผลชัดเจน นั่นคือทฤษฎีสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา ที่ว่าสังคมสลับซับซ้อน เรื่องใหญ่ๆ ยากๆ ต้องใช้พลัง 3 พลังเป็นหลัก หนึ่งคือพลังสังคม  หมายถึงคนทั้งหลายที่มีหลายกลุ่ม หลายเหล่า หลายแขนง หลายเครือข่าย ทุกระดับ ทุกพื้นที่ ทุกวงการ นี่คือพลังสังคม ถ้ารวมกันแล้วยิ่งใหญ่มาก โดยเฉพาะถ้ารวมแบบสร้างสรรค์ ร่วมคิดร่วมทำ ถ้าภาษาประชาธิปไตยเราเรียกว่า Deliberative Democracy ประชาธิปไตยแบบร่วมไตร่ตรอง ท่านนายกฯ อภิสิทธิ์เคยใช้คำว่าร่วมใคร่ครวญ ก็พอๆกันครับ ไตร่ตรองหรือใคร่ครวญ คือมาร่วมคิดร่วมทำอย่างสร้างสรรค์ พลังนี้ยิ่งใหญ่มาก บางแห่งเราเรียกว่าทุนทางสังคม เป็นการรวมทุนทางสังคม ทุนทางสังคมหมายถึงการที่คนในสังคมรวมตัวกันร่วมคิดร่วมทำ มีความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน ความไว้เนื้อเชื่อใจทำให้เกิดทุนมหาศาล เทียบกับความไม่ไว้วางใจ เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน จะเกิดเป็นค่าใช้จ่ายมหาศาล เช่นเราไม่ไว้วางใจว่าจะมีคนมาปล้นเรา จะมาฆ่าเรา เราต้องสร้างเกราะคุ้มกันไม่รู้เท่าไหร่ จะไปไหนมาไหนต้องมีผู้ติดตาม นั่งรถต้องหุ้มเกราะ อยู่บ้านต้องล้อมรั้ว ในขณะที่เราไปเมืองฝรั่งหลายแห่ง บ้านเขาไม่มีรั้ว กลายเป็นว่าประเทศร่ำรวยมีค่าใช้จ่ายในการสร้างบ้านน้อยกว่าประเทศยากจน เรากลับต้องสร้างรั้วเยอะแยะ แต่ก็มีชุมชนยากจนหลายแห่งที่บังเอิญผมเกี่ยวข้องตามโครงการบ้านมั่นคงที่กำลังดำเนินไปได้ด้วยดีเพราะว่าเราจัดกระบวนการดี และข้อตกลงร่วมกันของชุมชนบ้านมั่นคงบางแห่งได้ตกลงกันว่าจะเป็นชุมชนที่บ้านไม่มีรั้ว เขาบอกว่าใช้น้ำใจเป็นรั้วแทน ก็น่าประทับใจและน่าชื่นชมนะครับ

                พูดถึงเรื่องกระบวนการต่ออีกหน่อย  บ้านมั่นคงเทียบกับบ้านเอื้ออาทร ท่านจะเห็นว่าต่างกันชัดเจนมากเลย ถ้าใครอยากทำกรณีศึกษาว่าทำไมนโยบายอย่างเดียวกัน สร้างบ้านให้คนจนและคนมีรายได้น้อยอยู่ แต่ดำเนินงานโดย 2 องค์กร องค์กรหนึ่งเต็มไปด้วยปัญหา อีกองค์กรหนึ่งไม่มีปัญหา  อะไรเป็นต้นเหตุ  เป็นกรณีที่น่าศึกษา ถ้าจะดูก็คือกระบวนการต่างกันชัดเจนมาก กระบวนการบ้านมั่นคงอาศัยการมีส่วนร่วมสูง  ใช้พลังประชาชน พลังประชาสังคมสูงมาก มีความโปร่งใสมาก ในขณะที่กระบวนการบ้านเอื้ออาทรรวบรัดตัดความ ใช้การประมูล การรับเหมา มีคนเกี่ยวข้องน้อยมาก ฉะนั้นโอกาสทุจริต โอกาสที่จะสูญเสียจึงมีมาก และเกิดปัญหามาก ทุกวันนี้ก็ยังแก้ไม่ตก ในขณะที่กระบวนการบ้านมั่นคงเดินหน้าไปได้ด้วยดี เริ่มต้นช้า บ้านเอื้ออาทรเริ่มต้นโด่งดังมาก ไปเร็วมาก แล้วก็มาสะดุดหยุดลง แล้วตอนนี้ยังลำบากมาก  แต่บ้านมั่นคงค่อยๆ ไป ช้าๆ ในระยะแรก  คนไม่ค่อยรู้เท่าไหร่หรอก แต่คนในวงการรู้ รัฐบาลก็รู้ แล้วรัฐบาลก็ทำดีกับโครงการมั่นคงนะครับ คือสนับสนุนในระดับนโยบายและงบประมาณ แต่ไม่เข้ามายุ่งในการปฏิบัติการ  การที่รัฐบาลไม่เข้ามายุ่งแต่ปล่อยให้ประชาชนและหน่วยงานที่รับผิดชอบทำไปเป็นนโยบายที่ดี  ช่วงนั้นผมเป็นประธานสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน  ซึ่งรับผิดชอบโครงการบ้านมั่นคง ผมบอกว่านโยบายนี้เรารับมาได้ แต่เราขอใช้วิธีการที่เราเห็นว่าดี เรารับนโยบาย แต่วิธีปฏิบัติขอให้เป็นของเรา เป้าหมายเป็นของรัฐบาลที่อยากจะสร้างบ้าน 200,000 หลัง ให้กับคนยากจนที่สุดโดยเฉพาะในเมือง เราจะสร้างให้ได้ เราของบประมาณมาให้เพียงพอ  แต่วิธีปฏิบัติการ การจัดกระบวนการ  และรายละเอียดอื่น ๆ เราขอเป็นผู้ทำ  สรุปได้ว่าโครงการบ้านมั่นคงมีกระบวนการที่ดี เป็นส่วนคำคัญที่ทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีมาจนทุกวันนี้  ในขณะที่โครงการบ้านเอื้ออาทรขาดกระบวนการที่ดี ทำให้เป็นปัญหาที่ยังต้องพยายามแก้กันอยู่ในปัจจุบัน

                กลับไปเรื่องคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป ที่มีหลักการว่าจะทำให้เกิดการปฏิรูปประเทศไทยโดยอาศัยพลังสังคมเป็นฝ่ายนำ และพลังสังคมต้องหมายถึงประชาชนทุกกลุ่มทุกเหล่า ทุกวงการ ทุกระดับ ถึงได้เริ่มจากพื้นที่ โดยเฉพาะทางด้านชุมชนท้องถิ่น  คือเครือข่ายชุมชนหรือองค์กรชุมชน  เราจะทำจากพื้นที่ ตำบล เทศบาล  ขึ้นมาที่จังหวัด แล้วอาจจะทำระดับกลุ่มจังหวัด เป็นภาคด้วยก็ได้ แล้วแน่ๆก็คือต้องมาระดับประเทศ จะเป็นสมัชชาใหญ่ระดับประเทศ ในบรรดาคนทั้งหลายที่เข้ามาเกี่ยวข้อง เป็นเจตนาเลยว่าไม่รวมฝ่ายการเมือง จะมีคณะกรรมการ 14 คณะ ซึ่งอาจจะเพิ่มเป็น 15 หรือ 16 ก็ได้ ถ้าเห็นว่ายังมีวงการใดหรือกลุ่มใดเครือข่ายใด อยากเข้ามาร่วมอีก

                ในคณะกรรมการ คสป.หรือคณะกรรมการสมัชชาปฎิรูป จะมีกระบวนการที่รวมคนหลายกลุ่มหลายเหล่า ทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  ชุมชนท้องถิ่น หรือเครือข่ายองค์กรชุมชน ประชาสังคม สตรี ซึ่งเราเชื่อว่ามีพลังสูงมาก และเป็นพลังที่สำคัญ  เรามีกลุ่มผู้ใช้แรงงาน เรามีกลุ่มนักวิชาการ หรือมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นพลังมหาศาลแต่ยังไม่เข้ามาทำงานคลุกคลีใกล้ชิดกับสังคมมากเท่าที่ควร  วันที่ 2 สิงหาคมนี้ รัฐบาลโดยสภาพัฒน์จะเชิญมหาวิทยาลัยทั่วประเทศมาประชุมระดมความคิด  ว่ามหาวิทยาลัยจะมีบทบาทในการปฏิรูปหรือพัฒนาประเทศไทยอย่างไร

                ฉะนั้นในกระบวนการสมัชชาปฏิรูปจะมีกลุ่มประชาชนหรือประชาสังคม แทบจะทุกกลุ่ม ทุกวงการ  ทุกประเภท รวมถึงนักธุรกิจที่มีทั้งสภาหอการค้าและหอการค้า สภาอุตสาหกรรม สมาคมธนาคาร สภาธุรกิจตลาดทุน สภาการท่องเที่ยว และอื่นๆ เข้ามาร่วมคิดร่วมทำ  แต่ยกเว้นไม่มีนักการเมือง  การไม่มีนักการเมืองเป็นเจตนาเลยนะครับ เพราะเราถือว่าคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปจะเน้นบทบาทภาคประชาชน หรือภาคประชาสังคม และเน้นการใช้ข้อมูล ความรู้ สติปัญญา ซึ่งรวมเป็นสองพลังในสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา  ได้แก่ หนึ่ง พลังสังคม  สอง พลังปัญญา เราจะต้องเน้นบทบาทและการระดมความคิดความเห็นจากภาคประชาชนทุกหมู่เหล่า ทุกพื้นที่ เน้นในเรื่องการใช้ความรู้ที่บริสุทธิ์ ความรู้ที่ลึก ที่กว้างพอ มีงานวิจัย ซึ่งเรามีงานวิจัยสนับสนุนพอสมควรอยู่บ้างแล้ว  เพียงแต่ไปประมวลหรือสังเคราะห์มาก็ใช้ได้เลยแต่อาจจะยังมีกรณีที่สมควรวิจัยเพิ่มเติม เราก็จะทำเพิ่มเติม    ส่วนพลังที่สาม ได้แก่ พลังอำนาจรัฐ ซึ่งเราไม่ได้ไปจับประเด็นพลังอำนาจรัฐเลยนะครับ เราจับประเด็นพลังสังคมกับพลังปัญญา และเราบอกว่าเราขอเป็นฝ่ายนำ  แล้วขอเชิญพลังอำนาจรัฐหรือพลังการเมืองมาพิจารณา ถ้าท่านเห็นว่าอะไรสมควรทำท่านก็คงจะนำไปปฏิบัติ  ฉะนั้นในบรรดาประชาสังคมของเราจึงไม่รวมฝ่ายการเมือง

                ซึ่งทำให้ผมมีข้อเสนอแนะว่า  ตามที่ผมพูดมาแล้วว่าฝ่ายการเมืองนี่แหละเป็นฝ่ายที่สำคัญยิ่ง  เป็นทั้งต้นเหตุของปัญหาและเป็นทั้งผู้ที่จะแก้ปัญหา  คือเป็นทั้งคู่น่ะครับ  ในบรรดาผู้คนที่จะมาช่วยกันแก้ปัญหาบ้านเมืองโดยใช้พลังสร้างสรรค์ กลุ่มต่างๆที่กล่าวมา เช่น สิบสี่คณะของคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป ดูแล้วควรจะรวมพลังสร้างสรรค์กันได้ไม่ยาก  มหาวิทยาลัยร้อยกว่าแห่งถ้าจะมาคุยกัน ตกลงกันว่าหนึ่งจังหวัดควรจะมีอย่างน้อยหนึ่งมหาวิทยาลัยเข้าไปช่วยดูแล แต่ไม่ควรเข้าไปดูแลฝ่ายเดียวนะครับ ต้องเข้าไปดูแลร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดความบูรณาการของการพัฒนา

 

สามกงล้อหลักสู่ความเจริญสันติสุขที่มั่นคงและยั่งยืน

                ตรงนี้ผมต้องขออ้างสามกงล้อหลักสู่ความเจริญสู่สันติสุข ที่ผมเขียนไว้ในเอกสาร สามกงล้อหลักนี้กงล้อที่หนึ่งคือความดี กงล้อที่สองคือความสามารถ กงล้อที่สามคือความสุข ไม่ว่าจะเป็นบุคคล ครอบครัวชุมชน  องค์กร สังคม  ประเทศ รวมไปถึงมนุษยชาติ  จะมีความเจริญสันติสุขอย่างยั่งยืนได้ต้องอาศัยสามกงล้อหลัก หรือสามเสาหลักนี่แหละครับ  ที่จำเป็นต้องมีให้มากพอและได้ดุลครับ  คือต้องมีความดีที่มากพอและได้ดุล ต้องมีความสามารถที่มากพอและได้ดุล ต้องมีความสุขหรือสุขสภาวะหรือความเป็นสุขที่มากพอและได้ดุล  ส่วนใหญ่เรามักจะได้หนึ่งหรือสอง แต่ไม่ครบสาม อย่างประเทศภูฏานเขาไปถึงขั้นเขียนในรัฐธรรมนูญว่า ประเทศของเขาจะต้องมีจุดมุ่งหมายใหญ่ คือการสร้างความสุขมวลรวมประชาชาติ  หรือ

Gross National Happiness   อยู่ในรัฐธรรมนูญเลยครับ แล้วกลไกทั้งหลายของภาครัฐก็จะต้องเอื้อไปสู่การสร้างความสุขมวลรวมประชาชาติ  ถือเป็นกรณีที่น่าสนใจมากครับ ที่เขาให้ความสำคัญของความสุขมวลรวมประฃาชาติมากถึงขั้นเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ

ฉะนั้นความดี ความสามารถ และความสุข ต้องได้ดุลกัน และต้องมากพอ ประเทศไทยเรามีความสามารถไม่แพ้ใคร ส่งนักเรียนไปแข่งโอลิมปิกก็ชนะมาเรื่อย ได้เหรียญทองมาเรื่อย เรารณรงค์เรื่องการสร้างเสริมสุขภาพ การเลิกบุหรี่ เลิกเหล้า ได้ดีกว่าหลายประเทศ เป็นประเทศชั้นนำในโลกเกี่ยวกับ เรื่องเหล่านี้ หรือในเรื่องความสามารถในการรวมตัวกันของภาคประชาชนเป็นชุมชนเข้มแข็ง  เราก็เป็นประเทศชั้นนำในระหว่างประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย อย่างเช่น โครงการบ้านมั่นคงของเรานี่ มหาวิทยาลัยของอเมริกาเอาไปเป็นกรณีศึกษาเยอะเลยนะครับ สหประชาชาติ ธนาคารโลก ส่งคนมาดูงาน ให้ทุนต่างประเทศมาศึกษา แล้วนำไปประยุกต์ใช้  ผู้ชำนาญการจากประเทศไทยได้รับเชิญให้ไปพูด ให้ไปขยายผลในต่างประเทศหลายแห่ง ฉะนั้นในประเทศไทยเรานี่ ความสามารถเรามีพอสมควร   ความสุขเราก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ใช้ได้ ทะเลาะกันบ้าง รบราฆ่าฟันกันบ้าง แต่ถ้าเปรียบเทียบกับหลายๆ ประเทศแล้วเราก็อยู่กลางๆ ถือว่าใช้ได้  แต่ในสิ่งหนึ่งซึ่งน่าเสียดายมาก ทั้งๆที่เราเป็นเมืองพุทธ เป็นประเทศที่ประชาชนนับถือศาสนาทั้ง พุทธ อิสลาม คริสต์  พราหมณ์  และซิกข์  แต่ระดับความดีของเราไม่ได้ดุลกับระดับความสามารถ และระดับความสุข คือมีไม่มากพอและไม่ได้ดุล  ความดีเราเคยมีมากแต่มาถดถอยและถูกละเลย ด้วยเหตุนี้ในการที่จะปฏิรูปประเทศไทย เรื่องหนึ่งที่ควรได้รับความสำคัญ และนำมาปฏิบัติให้ได้ผล คือเรื่อง การส่งเสริมความดี ส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม เพื่อให้สังคมไทยมีความดีที่มากพอและได้ดุลกับด้านความสามารถและด้านความสุข

 

ปรองดองกับปฏิรูป เป็นคนละเรื่องเดียวกัน

                พอดีท่านนายกฯมาถึงแล้ว  ผมจึงขอทวนสิ่งที่ได้พูดไปบางประการ นั่นคือเรื่องแผนปรองดองของท่านนายกฯ  ถือได้ว่าเป็นแผนที่มีเป้าหมายดีแต่เป็นแผนข้างเดียว การสร้างความปรองดองทำข้างเดียวไม่ได้ จะต้องทำสองข้างหรือหลายข้าง  ในหลายคณะกรรมการที่ท่านนายกฯได้ตั้งขึ้น  มีคณะเดียวที่ทำเรื่องปรองดอง แต่ยังอยู่ในขั้นพยายามหาวิธีอยู่  คือคณะของท่านอาจารย์คณิต ผมมีโอกาสได้ปรึกษากับท่าน ท่านก็สนใจในเรื่องวิธีการ ที่ต้องใช้กระบวนการที่ดี ต้องสร้างทัศนคติและบรรยากาศที่ดี  แล้วก็ต้องมีการเจรจากันในระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้สาระที่เป็นความตกลงร่วมกันแล้วนำไปสู่การปฏิบัติ   ส่วนคณะปฏิรูปสื่อ  คณะปฏิรูปรัฐธรรมนูญ ไม่ค่อยเกี่ยวกับการปรองดองเท่าไหร่นัก คณะคุณหมอประเวศ คณะคุณอานันท์ ที่ชื่อ คปร. และ คสป. ก็ประกาศว่าเป็นคนละเรื่องกับการปรองดอง  ซึ่งที่ท่านพูดเช่นนั้นผมคิดว่าก็เพื่อกันไว้ก่อนว่าไม่ควรมาคาดหวังให้คณะปฏิรูปมาทำเรื่องปรองดอง  เพราะท่านจะเน้นการวาดฝันวาดอนาคตที่พึงปรารถนา เป็นการสร้างจินตนาการใหญ่ร่วมกันของสังคมไทย  จินตนาการนี่เป็นเรื่องสำคัญ เป็นพลังที่จะทำให้คนมารวมตัวและร่วมคิดร่วมทำเพื่อให้ไปสู่อนาคตที่พึงปรารถนา  ฉะนั้นการปฏิรูปคือการสร้างความใฝ่ฝันร่วมกัน ซึ่งเบื้องต้นก็ใช้คำว่าสร้างความเป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำ  แต่ถ้าที่ไหนอยากจะมีคำอื่นที่ดีกว่านี้ก็ได้ และมาหาวิธีการที่จะทำให้เป็นผลสำเร็จ  ซึ่งวิธีการที่จะทำต้องแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนที่หนึ่ง ตัวเราจะทำอะไร ปฏิรูปที่ดีต้องเริ่มจากตัวเอง ส่วนที่สองคนอื่นควรทำอะไร พอพูดกันหมดแล้วทุกคนก็จะมีสิ่งที่ตัวเองจะทำ ซึ่งเป็นข้อผูกพัน และมีข้อเสนอให้คนอื่นทำ คนอื่นที่ได้รับข้อเสนอไป ก็จะได้รับข้อเสนอที่หลากหลาย ก็ต้องมากลั่นกรองและสังเคราะห์เอาเองว่า ที่คนเขาพูดมาให้เราทำนั่นทำนี่นั้น เราพิจารณาแล้วตกลงใจจะทำอะไรบ้าง  เช่นฝ่ายการเมือง จะมีคนเสนอแนะเยอะเลยว่าให้ฝ่ายการเมืองทำอะไรบ้าง  ท่านก็เอามาประมวลเข้าด้วยกัน  พิจารณากลั่นกรองแล้วสังเคราะห์ว่าท่านควรจะทำอะไรบ้าง   ซึ่งท่านก็ต้องนำไปทำจริง ๆ นะครับ  นี่แหละที่คุณหมอประเวศ ใช้คำว่า สังคมนำ การเมืองตาม

                ฝ่ายการเมืองถือเป็นหนึ่งในสามของภาคส่วนที่สำคัญของสังคม คือในสังคมเรา ถ้าจะแบ่งเป็นภาคส่วนใหญ่ๆ สามารถแบ่งได้สามส่วน  ส่วนที่หนึ่งคือภาคประชาชนหรือภาคประชาสังคม  ภาคนี้ใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุด  ประชาชนเป็นเจ้าของประเทศและมีอำนาจอธิปไตยสูงสุด คำว่าประชาชนนี่รวมทุกคนนะครับ รวมพวกท่านด้วย ในหมวกที่ไม่ใช่นักการเมือง  แต่ในหมวกของประชาชน คือท่านมีอย่างน้อยสองหมวก หนึ่งหมวกเป็นหมวกนักการเมืองซึ่งเป็นหมวกชั่วคราว ท่านไม่ได้เป็นนักการเมืองตลอดชีพ  อย่างน้อยก่อนที่ท่านจะเข้าสู่วงการการเมืองท่านก็ไม่ได้เป็นนักการเมือง และท่านอาจจะไม่เป็นนักการเมืองไปจนกระทั่งวันสุดท้ายของชีวิต  แต่ที่ท่านเป็นแน่ ๆ และเป็นตลอดชีพคือเป็นประชาชน  ฉะนั้นในฐานะประชาชนท่านก็อยู่ในภาคประชาชนนะครับ  นั่นคือภาคประชาชนหรือภาคประชาสังคม  เป็นส่วนที่หนึ่ง  ส่วนที่สองคือภาคธุรกิจ ภาคธุรกิจนี่หมายถึงธุรกิจทุกประเภท ทุกขนาด ทุกพื้นที่ ตั้งแต่ยักษ์ใหญ่ระดับเครือซีพี ธนาคารกรุงเทพ เครือซิเมนต์ไทย  และอื่นๆ จนกระทั่งถึงคนขายก๋วยเตี๋ยว คนขายกล้วยแขก คนประดิษฐ์หัตถกรรมในหมู่บ้าน ธุรกิจทั้งนั้นแหละครับ  ฉะนั้นคำว่าธุรกิจนี่ ใหญ่มาก ครอบคลุมหรือเกี่ยวข้องประชาชนทั้งประเทศ เพราะว่าเป็นผู้ผลิตก็เป็นธุรกิจ เป็นผู้จำหน่ายก็เป็นธุรกิจ เป็นคนส่งของให้ธุรกิจก็เป็นธุรกิจ เป็นผู้บริโภคก็เกี่ยวข้องกับธุรกิจ เป็นญาติพี่น้องของคนที่ทำงานในภาคธุรกิจถือว่าเกี่ยวข้องกับธุรกิจ ฉะนั้นธุรกิจจึงเกี่ยวข้องกับคนทั้งประเทศ

                ส่วนที่สามคือภาครัฐหรือองค์กรภาครัฐ  ลักษณะสำคัญของภาครัฐคือ มีอำนาจหน้าที่ตามกฏหมาย ในขณะที่ภาคประชาชนหรือภาคประชาสังคมไม่มีอำนาจและไม่ทำเพื่อแสวงกำไร  ส่วนภาคธุรกิจไม่มีอำนาจแต่ทำธุรกิจเพื่อแสวงกำไร   ภาครัฐไม่ทำเพื่อแสวงกำไรแต่มีอำนาจ  เป็นอำนาจที่ประชาชนมอบหมายให้  เป็นอำนาจตามกฏหมาย  แต่พร้อมกับอำนาจท่านมีหน้าที่  สรุปแล้วท่านเป็นหนึ่งในสามภาคของสังคม  ในภาษาอังกฤษเราเรียก 3 ภาคนี้ว่า  civil society sector หรือ people sector สำหรับภาคประชาสังคมหรือภาคประชาชน ถัดมาคือ  business sector หรือ private sector สำหรับภาคธุรกิจ สุดท้ายคือ government sector หรือ state sector สำหรับภาครัฐ ซึ่งนับเป็นหนึ่งในสามของสังคม  แต่ในเรื่องการปฏิรูปนี่ คุณหมอประเวศ  เสนอว่า ขอให้ฝ่ายประชาชนหรือภาคสังคมได้นำไปก่อน  แล้วท่านหรือภาครัฐค่อยมาดูว่า วิเคราะห์สังเคราะห์แล้วเห็นชอบอะไร ท่านก็ทำไปตามนั้น

 

ปรองดอง/ปฏิรูประยะสั้น  กับปรองดอง/ปฏิรูประยะยาว

                แต่ผมเองมีข้อเสนอแนะว่าภาคประชาชนได้รวมตัวกันมาเป็นแรมปี ได้กลั่นกรองความคิดมาเป็นเวลานานแล้ว ได้เสนอแนะสิ่งที่ควรจะทำอย่างเฉพาะเจาะจง  เช่นแก้กฏหมายข้อนี้ แก้นโยบายข้อนั้น แก้ไขข้อบังคับอย่างนี้  ควรปรับวิธีปฏิบัติอย่างนั้น  ชัดเจนมากครับ  ถ้าท่านสามารถประมวลมาวิเคราะห์สังเคราะห์  เลือกสิ่งที่ท่านคิดว่าดีที่สุดแล้วลงมือทำไปเลยน่าจะดี   ตัวอย่างล่าสุดที่คณะกรรมการคุณอานันท์เสนอว่า การประกาศ พรก.ว่าด้วยสถานการณ์ฉุกเฉินควรจะยกเลิกให้เร็วที่สุด ท่านนายกฯและรัฐบาลก็ตอบรับด้วยการไปดู แล้วก็ทยอยเลิกพื้นที่สถานการณ์ฉุกเฉินให้เร็วขึ้น ซึ่งถือว่าดี แต่นี่เป็นเพียงหนึ่งเรื่อง  ยังมีเรื่องสำคัญอื่น ๆ อีก  เป็นต้นว่าการจัดสรรที่ดินที่ทำกิน เรื่องสภาพแวดล้อม เรื่องปัญหาหนี้สิ้นล้นพ้นตัวของประชาชน   เรื่องความไม่เป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำต่างๆ ที่มีหลายแง่หลายมุม แล้วก็เรื่องอื่นๆอีก

                บางเรื่องก็ไม่ใช่เรื่องยากนะครับ  ผมยกตัวอย่าง บังเอิญเมื่อเช้าได้คุยกับท่านรัฐมนตรีชินวรณ์ เรื่องการแก้ปัญหาหนี้ครู ซึ่งเริ่มต้นสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์หรือรัฐบาลคุณชวนนะครับ มีหลายเรื่องดีๆ  ที่เริ่มต้นในสมัยรัฐบาลคุณชวน แล้วขาดช่วงไป  เป็นโอกาสของท่านนะครับที่จะมาสานต่อ  เช่นเรื่องแก้ปัญหาหนี้สินครูนี่จากเริ่มต้นเล็กๆ  มาถึงตอนนี้มีครูกว่าแสนคนเข้าสู่โครงการ  ใช้เงินธนาคารออมสินไปกว่าแสนล้านบาท ยอดคงเหลือเกือบหกหมื่นล้านบาท  นี่คิดเฉพาะโครงการพัฒนาชีวิตครู ยังไม่รวมข้าราชการอื่น ๆ   ซึ่งโครงการพัฒนาชีวิตครูได้ช่วยแก้ปัญหาหนี้สินของครูได้เป็นส่วนใหญ่  มีส่วนน้อยที่แก้ไม่ได้เพราะว่าขาดกระบวนการพัฒนาที่ดีพอ ครูกลับไปใช้นิสัยเดิม  แต่ไม่เป็นไรยังแก้ไขได้อยู่ครับ  เมื่อเช้าคุยกับท่านรัฐมนตรีชินวรณ์ไปแล้วคิดว่าคงจะมีกลไกที่จะทำให้เกิดการพัฒนาดีขึ้นได้   หรือเรื่องการพัฒนาองค์กรชุมชนท้องถิ่นก็เริ่มสมัยรัฐบาลคุณชวน คุณธารินทร์ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ขอให้ผมจัดสัมมนาโดยเชิญผู้นำชุมชน นักวิชาการ เอ็นจีโอ  และข้าราชการที่เกี่ยวข้องมาระดมความคิดกัน ได้ข้อสรุปว่าควรจะมีกลไกที่ไปส่งเสริมองค์กรชุมชนท้องถิ่น  เผอิญรัฐบาลคุณชวนหมดวาระลงหลังจากนั้นไม่นาน  แต่ก็โชคดีที่รัฐบาลใหม่คือรัฐบาลคุณบรรหาร ซึ่งมี ดร.สุรเกียรติเป็น รมว.คลังมาสานต่อ ทำให้มีนโยบายการเงินการคลังเพื่อสังคมซึ่งทำให้เกิด หนึ่ง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ พอช.  สอง  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ  หรือ สสส.  แต่เรื่องที่สามไม่เกิดทั้งๆ ที่อยู่ในสามลำดับแรกที่ถือว่าสำคัญ เรื่องที่สามนี้ คือการประกันภัยพืชผลการเกษตร ที่ไม่เกิดเพราะมีอุปสรรคบางประการ แต่ถ้าท่านจะมาเริ่มทำใหม่ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดีนะครับ

                ส่วนเรื่องชุมชนท้องถิ่นถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะเป็นฐานรากของสังคม  เป็นฐานรากของประเทศ คุณหมอประเวศย้ำแล้วย้ำอีก เรื่องนี้ริเริ่มสมัยรัฐบาลคุณชวน สานต่อโดยรัฐบาลคุณบรรหาร  สานต่อโดยรัฐบาลพลเอกชวลิต  แล้วมาจัดตั้งสำเร็จเป็นองค์การมหาชนในสมัยรัฐบาลคุณชวนรอบ 2     จากนั้นก็มีการพัฒนาเรื่อยมา ทั้งเรื่องการสร้างชุมชนเข้มแข็ง  การสร้างขบวนองค์กรชุมชน  ล่าสุดก็เกิดระบบสภาองค์กรชุมชน  ช่วยให้ขบวนชุมชนมีกลไกที่มีกฏหมายรองรับและสามารถดำเนินงานพัฒนาชุมชนได้ดียิ่งขึ้น   ถือได้ว่าในเรื่องชุมชนท้องถิ่นมีสิ่งดีๆเกิดขึ้น  และขณะนี้ขบวนองค์กรชุมชนได้พัฒนาไปมาก รัฐบาลก็ได้ตั้งคณะกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนแห่งชาติ  ที่มีคุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ เป็นประธาน ถ้าท่านเพียงแต่นำข้อเสนอของขบวนองค์กรชุมชนมาพิจารณา ซึ่งเขาประชุมกันมาหลายรอบมีข้อเสนอชัดเจนมากว่าควรจะทำอะไรบ้าง ถ้ารัฐบาลดูแล้วเห็นว่าควรทำอะไร ท่านทำได้เลย ฉะนั้นการปฏิรูปบางอย่างไม่ต้องรอถึง 3 ปี หรือแม้กระทั่ง 1 ปี อาจทำได้ภายใน 2-3 เดือน หรือ 5-6 เดือน

 

การปรองดอง/ปฏิรูปโดยอาศัยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี

                ที่จริงหลายเรื่องรัฐบาลก็ได้ริเริ่มโดยออกเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ถือว่าเป็นกลไกที่ใช้ได้  ท่านได้ริเริ่มให้มีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน  ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ   ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีที่ตั้งคณะกรรมการ 3 คณะ  คือคณะอาจารย์คณิต คณะคุณหมอประเวศ  และคณะคุณอานันท์  นอกจากนั้นยังมีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีที่ออกในสมัยรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์  แต่ยังไม่มีโอกาสตั้งกรรมการให้ปฏิบัติงานรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ก็หมดวาระไปก่อน แต่ตัวระเบียบยังมีผลใช้บังคับได้อยู่  เมื่อรัฐบาลท่านเห็นว่าดีก็เลยนำระเบียบเหล่านั้นมาใช้ ซึ่งผมชื่นชมเพราะเห็นว่าแม้ว่าท่านไม่ได้เป็นคนออกระเบียบแต่เมื่อท่านเห็นว่าระเบียบนั้น ๆ ดีท่านก็นำมาใช้  ก็คือ หนึ่ง ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ รัฐมนตรีวัฒนธรรมได้เอามาใช้อย่างแข็งขัน  สอง ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการส่งเสริมประชาสังคมเพื่อการพัฒนา ท่านรองนายกฯสุเทพเป็นประธาน  จัดสัมมนาไปรอบหนึ่งเพื่อจะวางแนวการดำเนินงานให้ดี  ผมได้รับเชิญไปพูดด้วย  ก็ถือว่าท่านใจกว้าง     แม้ไม่ใช่ระเบียบที่ท่านออก แต่ท่านเห็นว่าดีท่านก็นำมาใช้

                แต่มีระเบียบหนึ่งครับ เป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการเสริมสร้างความสมานฉันท์แห่งชาติ  พ.ศ. 2550 ประกาศในพระราชกิจจานุเบกษาวันที่ 20 ธันวาคม 2550  หลังจากประกาศแล้วพอถึงเดือนกุมภาพันธ์รัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ก็พ้นหน้าที่ไป  รัฐบาลถัดมาต้องยุ่งกับการประท้วงจึงไม่มีเวลามาคิดเรื่องนี้  ที่จริงน่าจะใช้ประโยชน์จากคณะกรรมการชุดนี้ได้ดี  ชื่อก็บอกแล้วว่าจะเสริมสร้างความสมานฉันท์แห่งชาติ  และเป็นการเสริมสร้างความสมานฉันท์แบบกว้างนะครับ ท่านอย่าลืมว่าความขัดแย้งหรือการสร้างความสมานฉันท์แห่งชาติไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะเรื่องการเมืองนะครับ ในท้องถิ่นมีปัญหาความขัดแย้ง  ภาคใต้มีปัญหาความรุนแรงมาหลายปีแล้ว อุตสาหกรรมมีปัญหาความขัดแย้งกับชุมชน  เกษตรกรรมก็มีปัญหาที่ทำให้เกิดความแตกแยกขัดแย้ง คณะกรรมการชุดนี้ถ้าสร้างดีๆ นะครับ  สามารถเป็นกลไกไปช่วยป้องกันแก้ไขความขัดแย้งและสร้างความสมานฉันท์ อย่างน้อยก็ทำให้ปัญหาหนักกลายเป็นเบา  หรือช่วยบรรเทาเบาบาง เรื่องที่ขัดแย้งรุนแรงลงได้บ้าง  ถ้าดีที่สุดก็คือว่าทำให้เกิดวัฒนธรรมสันติที่องค์การ UNESCO ส่งเสริมมาเป็นเวลาประมาณ 20 ปีแล้วครับ เขาเรียกว่า Culture of Peace  คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติได้มาแปลเป็นสันติวัฒนธรรม คณะกรรมการเสริมสร้างความสมานฉันท์แห่งชาติชุดนี้ หากได้ทำงานอย่างต่อเนื่อง  สามารถจะค่อยๆ สร้างสันติวัฒนธรรมในประเทศไทย จากการที่ชอบคิดอะไรเชิงขัดแย้ง       เชิงต่อสู้ เชิงปฎิปักษ์ คิดเชิงลบ ใครพูดอะไรออกมาต้องสงสัยว่าเลวไว้ก่อน ใครเสนออะไรขึ้นมาต้อง    คิดว่าเจตนาไม่ดีไว้ก่อน ให้ปรับมาเป็นการคิดเชิงบวก คิดเชิงสร้างสรรค์ คิดเชิงนวัตกรรม คิดเชิงที่จะ   มารวมพลังความดีเข้าด้วยกัน

                เสียดายที่ระเบียบนี้ออกในสมัยรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ แต่อยู่ไม่ทันนำออกมาใช้  รัฐบาลคุณสมัครไม่ได้ใช้ รัฐบาลคุณสมชายก็ไม่ได้ใช้ และขอประทานโทษรัฐบาลท่านก็ยังไม่ได้ใช้  กระทรวงยุติธรรมเป็นเลขานุการ  ตั้งฝ่ายเลขานุการขึ้นมาก่อนแต่ไม่มีประธาน ไม่มีกรรมการ  ฉะนั้นท่านก็ทำได้แต่งานธุรการ งานประสานเบื้องต้น  ผมคิดว่าคณะกรรมการชุดนี้ยังไม่สายเกินไปนะครับที่จะตั้งกรรมการขึ้นมา  โดยใช้วิธีการที่ท่านนายกฯ ใช้ซึ่งผมว่าดี คือท่านตั้งประธานคนเดียว   สรรหาเลือกประธานให้ดี เลือกประธานที่เหมาะสม และให้เขาไปปรึกษากันเพื่อจะหาคณะกรรมการที่เหมาะสม คณะกรรมการที่เหมาะสมไม่ใช่ว่าได้คนดีคนเก่งเท่านั้นนะครับ ต้องมีองค์ประกอบที่ดีด้วย  ความเป็นองค์ประกอบที่ดีนี้สำคัญพอ ๆ กับความเป็นตัวบุคคลที่ดี เช่นท่านตั้งคณะกรรมการพัฒนาการศึกษาแล้วท่านตั้งคนที่เป็นศาสตราจารย์ทุกคนเลยมาเป็นกรรมการ  จะไม่ดีหรอกครับ  ที่ดีควรตั้งคณะกรรมการพัฒนาการศึกษาที่มีศาตราจารย์บ้าง  ผู้บริหารมหาวิทยาลัยบ้าง ผู้ปกครองบ้าง นักจริยธรรมบ้าง นักการสื่อสารบ้าง ศิลปินบ้าง ท่านต้องคละเคล้ากันให้ได้องค์ประกอบที่ดี  ซึ่งคณะกรรมการคุณหมอประเวศและคณะกรรมการคุณอานันท์ ใช้วิธีนี้ครับ คือพยายามหากรรมการที่ดีพร้อมกับให้ได้องค์ประกอบที่ดี  แล้วมาช่วยกันทำงาน

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/385058

<<< กลับ

อนาคตประเทศไทยบนพื้นฐานความปรองดอง (ต่อ 3)

อนาคตประเทศไทยบนพื้นฐานความปรองดอง (ต่อ 3)


“คณะกรรมการเสริมสร้างความสมานฉันท์แห่งชาติ” พลังเสริมที่ยังไม่ถูกใช้

                ผมถือโอกาสเรียนว่า  คณะกรรมการเสริมสร้างความสมานฉันท์แห่งชาตินี้  จะมาเสริมท่านนะครับ  ไม่ใช่มาแทนท่าน มาเสริมความพยายามที่จะสร้างความปรองดอง  แต่เสริมในลักษณะพื้นฐาน  อาจจะเติมช่องว่าง  อาจจะปูพื้นฐาน เพื่อให้ในที่สุดประเทศไทยมีวัฒนธรรมสันติ  หรือสันติวัฒนธรรม  คือ  Culture  of  Peace  ซึ่งเป็นคำที่ใช้โดยองค์การ  UNESCO  สังคมเราจะเปลี่ยนไปครับ  จากสังคมที่ชอบความขัดแย้ง  ชอบความเหลื่อมล้ำ  ชอบอุปถัมป์  ชอบขอชอบให้  มาเป็นสังคมที่เอื้อเฟื้อเกื้อกูล  ช่วยเหลือ  สมานฉันท์  ซึ่งกันและกัน ซึ่งจะกลายเป็นพลังทางสังคม  กลายเป็นทุนทางสังคม  หรือ  Social  Capital  ที่ยิ่งใหญ่  และนั่นแหละจะเป็นฐานที่เข้มแข็งของสังคมไทย  และจะเป็นฐานที่สร้างความดีที่ผมว่าขาดไปในสังคมไทย  หรือพร่องไป  เรามีความสามารถ  เรามีความสุขพอประมาณ  แต่ความดีของเราพร่องไป  ต้องเติมเรื่องของความดี และจะเติมได้ด้วยการกระทำทั้งหลายที่เป็นไปในทางสร้างสรรค์  เป็นไปในทางที่จะรวมพลังกัน โดยเฉพาะรวมพลังด้านภาคประชาชน

                ผมคิดว่า  ขณะนี้ถ้าคณะคุณหมอประเวศ  คณะคุณอานันท์  ได้ทำหน้าที่ไปบ้างแล้ว ในระหว่างที่ทำหน้าที่อยู่  ท่านน่าจะไม่ต้องรอจนเขาเสนอผลงานสุดท้าย  เพราะว่ามีข้อเสนอมาเยอะแล้ว  และผมเชื่อว่าทั้ง 2 คณะนี้จะรีบเสนอโดยเร็ววัน มีอะไรบ้างที่เสนอได้คงจะรีบเสนอมา เพราะฝ่ายประชาชนเขามีข้อเสนอมาแล้วนะครับ  ผมได้มาหลายปึกเลยจากทางด้านชุมชน  ซึ่งเขากลั่นกรองมาหลายรอบแล้ว  พร้อมเสนอได้เลย  ท่านก็ไปเลือกเอาและลงมือทำได้  ท่านก็จะได้ทั้งการปฏิรูป  พร้อมกับการสมานฉันท์ทางอ้อม  เป็นการสมานฉันท์ขั้นพื้นฐาน  แม้คุณหมอประเวศและคุณอานันท์จะบอกว่าการปฏิรูปไม่ใช่เรื่องปรองดอง  แต่ผมคิดว่า ถ้าปฏิรูปได้ดี  กระบวนการปฏิรูปที่ดีคือกระบวนการปรองดอง เพราะคนทุกฝ่ายเข้ามาทำงานด้วยกัน

                เปรียบเสมือนบ้านเรากำลังพังกำลังทรุด  แล้วคนที่เกี่ยวข้องมาช่วยกันซ่อมบ้านสร้างบ้าน นั่นแหละเขาสมานฉันท์โดยไม่รู้ตัว  คนที่ไปช่วยกันกวาดขยะและซ่อมสิ่งสลักหักพังที่ราชประสงค์ เขาปรองดองสมานฉันท์โดยปริยาย  แล้วถ้าปฏิรูปดี ผลดีเกิดขึ้น คนเกิดความสุขความชื่นชม ความสมานฉันท์จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ  แต่สำหรับประเทศไทยอาจจะไม่พอ ต้องมีความสมานฉันท์ทางตรงด้วย  คือต้องมีความสมานฉันท์อันเนื่องมาจากการเผชิญหน้า การปะทะรุนแรง เพราะยังมีเรื่องความเป็นธรรม เรื่องการเยียวยา เรื่องการที่จะสร้างความโปร่งใส การค้นหาความเป็นจริง การให้กระบวนการยุติธรรมได้ทำหน้าที่อย่างถูกต้องตรงไปตรงมา การเกิดสำนึกที่จะขอโทษและให้อภัย  นั่นคือการปรองดอง  คำว่าปรองดองนี้จะรวมถึงการขอโทษและการให้อภัยด้วย  แล้วก็มาร่วมกันสร้างประเทศไทย  สร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมที่น่าอยู่ เป็นสังคมที่อยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน เป็นสังคมที่จะเป็นตัวอย่างของประเทศอื่นๆ ได้ เพราะเรามีศักยภาพที่จะเป็นตัวอย่างที่ดีของประเทศอื่นๆ ในการอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์สันติสุขได้ ผมก็หวังว่าความพยายามของรัฐบาลและของพรรคประชาธิปัตย์ ที่จะทำให้เกิดอนาคตของประเทศไทยที่ดีกว่า บนพื้นฐานของความปรองดอง น่าจะเป็นไปได้

 

จาก “คนดี คนฉลาด คนซื่อตรง”  สู่ “ผู้สำเร็จความมุ่งหมายแล้ว” ?

                สุดท้ายครับ ผมขออนุญาตพูดต่อหน้าท่านนายกฯ และท่านสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์  ว่าผมเป็นคนหนึ่งที่มีความชื่นชม เคารพนับถือท่านนายกรัฐมนตรีในฐานะที่ท่านเป็นคนดี มีความฉลาด มีความซื่อตรง คนที่เป็นคนดี คนฉลาด คนซื่อตรง ภาษาบาลีเรียกว่าเป็น “สัตบุรุษ” สัต แปลว่าเป็นคนดี คนฉลาด คนซื่อตรง ฉะนั้นเราอาจจะเรียกท่านว่า คุณอภิสิทธิ์สัต (ปรบมือ) หรือสัตอภิสิทธิ์  แต่  แต่ครับ  แม้ท่านเป็นคนดี เป็นคนฉลาด เป็นคนซื่อตรงก็จริง  แต่ท่านยังมีปณิธาน มีจุดมุ่งหมาย 2 เรื่องที่สำคัญ ยิ่งสำหรับสังคมไทยในปัจจุบัน คือ 1 สร้างความปรองดอง และ 2 ปฏิรูปประเทศไทยให้ดีกว่าเดิม ต้องมีสร้อยต่อครับว่าต้องปฏิรูปให้ดีกว่าเดิม ไม่ใช่ปฏิรูปแล้วเละเทะเลยนะครับ (หัวเราะ) ปฏิรูปแล้วแย่กว่าเดิมก็ไม่ดี ฉะนั้นท่านต้องสร้างความปรองดองความสมานฉันท์ที่แท้จริงให้เกิดขึ้น และต้องปฏิรูปประเทศไทยให้ดีกว่าเดิม ไหนๆ จะลงทุนลงแรงปฏิรูปต้องทำให้ดีกว่าเดิมใช่ไหมครับ

                อย่างประเทศญี่ปุ่น ประเทศเยอรมัน รวมถึงอิตาลี เขาแพ้สงคราม เขาปฏิรูปจนดีกว่าเดิมไม่รู้กี่เท่า อัฟริกาใต้ก็ปฏิรูปแล้วดีกว่าเดิม หลายประเทศที่ประสบปัญหาภายในเขาปฏิรูปแล้วดีกว่าเดิม เราก็ต้องทำได้ ต้องปฏิรูปแล้วดีกว่าเดิม ถ้าท่านนายกฯ ทำ 2 เรื่องแล้วสำเร็จนะครับ จะเลื่อนฐานะจากสัตบุรุษ คือ “คนดี คนฉลาด คนซื่อตรง” เป็น “ผู้สำเร็จความมุ่งหมายแล้ว”

                ท่านมีความมุ่งหมาย 2 ข้อ คือ 1 ปรองดอง 2 ปฏิรูป ปรองดองก็คือให้เกิดความสมานฉันท์ เลิกแบ่งข้างเลิกทะเลาะแต่มาร่วมมือกันสร้างสรรค์ประเทศ แล้วก็ร่วมมือกันปฏิรูป ปฏิรูปแล้วประเทศไทยดีกว่าเดิม ถ้าท่านทำเช่นนั้นได้ ภาษาบาลีเขาเรียกว่า “สิทธัตถะ” สิทธัตถะ ไม่ใช่ชื่อพระพุทธเจ้าเพียงอย่างเดียวนะครับ  เป็นคำภาษาบาลีที่มีความหมายว่า  “ผู้สำเร็จความมุ่งหมายแล้ว”  ฉะนั้นท่านจะเลื่อนฐานะจาก  “สัตอภิสิทธิ์”  หรือ  “อภิสิทธิ์สัต”  เป็น  “อภิสิทธัตถะ”  ครับ  (ปรบมือ)  ผมขอเอาใจช่วยนะครับ  ด้วยความจริงใจ  และผมเชื่อว่าคนในประเทศไทยจำนวนมากเลยเอาใจช่วยท่าน  ทั้งชื่นชมและเอาใจช่วย แต่แน่นอนครับ ในประเทศไทยคนที่ไม่ชอบท่านก็มี (หัวเราะ) เป็นธรรมชาติครับ เป็นสัจธรรม  แม้แต่พระพุทธเจ้ายังมีคนไม่ชอบได้  เราเป็นคนธรรมดามีคนไม่ชอบเป็นเรื่องธรรมดามากนะครับ  แต่ผมคิดว่าคนจำนวนมากชอบท่าน ชื่นชมท่าน และอยากให้ท่านขยับฐานะจาก“สัตอภิสิทธิ์” หรือ  “อภิสิทธิ์สัต” เป็น  “อภิสิทธัตถะ”  คือทำภารกิจใหญ่เรื่องความปรองดองและการปฏิรูปให้สำเร็จได้อย่างน่าพอใจ  ขอบคุณและสวัสดีครับ

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/385061

<<< กลับ

ประชาสังคมกับการปฏิรูปสังคมไทยในภาวะวิกฤติ

ประชาสังคมกับการปฏิรูปสังคมไทยในภาวะวิกฤติ


(คำบรรยายพิเศษในการสัมนาเชิงปฏิบัติการ  เรื่อง  “ประชาสังคม: ความคาดหวังของสังคมไทย”  จัดโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  วันที่ 8-9 กรกฏาคม 2553 ณ โรงแรมแม่น้ำรามาดาพลาซา กรุงเทพฯ)

                     กราบเรียนท่านรองนายกรัฐมนตรี คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ  ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ท่านผู้บริหารระดับสูงของกระทรวง พม. ท่านผู้มีเกียรติ เพื่อนๆพี่น้องทุกคนครับ  วันนี้ผมมาด้วยความยินดี  นอกเหนือจากผู้ซึ่งผมรู้จักคุ้นเคยและทำหน้าที่สำคัญอยู่ในบ้านเมืองคือท่านรองนายกรัฐมนตรี  และท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  ได้พบเพื่อนเก่าหลายคนในกระทรวง พม.  ได้พบเพื่อนเก่าหลายคนในวงการประชาสังคม  องค์กรพัฒนาเอกชนและอื่นๆ  และยินดีที่ได้รับเชิญให้มาพูดในหัวข้อซึ่งผมคิดว่ามีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าหัวข้ออื่นๆที่เราพูดกันในขณะนี้  อันเนื่องจากสถานการณ์บ้านเมืองที่ได้ผ่านความวิกฤติอย่างหนักและยังคงวิกฤติอยู่  แต่เราจะต้องช่วยกันรวมพลังสร้างสรรค์ขับเคลื่อนสังคมไทยให้พ้นจากวิกฤติไปสู่เส้นทางที่มีความเป็นปึกแผ่นมั่นคง  เจริญก้าวหน้า และสันติสุขให้ได้  โดยเฉพาะให้ดีกว่าเดิม  เพราะในเวลาหลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยอยู่ในสภาพที่ถือว่าไม่ดีเท่าไรนัก มีความไม่ดีที่สะสมมากขึ้นๆมาเรื่อยจนกระทั่งถึงจุดระเบิดเมื่อเดือนเมษายน  พฤษภาคม  ที่ผ่านมา  ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงปัญหาหรือความไม่ดีหลายๆอย่างที่สะสมมานั่นเอง

อาจเปรียบเทียบได้กับการเป็นโรคที่ผมเองบังเอิญเป็นอยู่ทั้งๆที่ผมมีสุขภาพดีมากมาตลอด  60  กว่าปีของการมีอายุ  แต่ผมก็มีส่วนของสุขภาพที่มีเหตุมีปัจจัยไม่ดีสะสมมาโดยไม่รู้ตัว  จนกระทั่งในวัย  63  ปี จนถึงวัย  69  ในปัจจุบันผมได้เป็นโรคที่ทำให้คนเสียชีวิตมากที่สุดในประเทศไทยและในโลกถึง  2  โรค ซ้อนกัน  2  โรคนี้ทำให้คนเสียชีวิตมากที่สุดเป็นอันดับ 1  และอันดับ 2  ผมเป็นทั้งคู่จึงถือว่าโชคดี  (หัวเราะ) คือน้อยคนนะครับจะมีโอกาสได้เป็น  คนจำนวนมากได้เป็นหนึ่งในสองโรค  ถือว่าดี  แต่ผมเป็นทั้ง  2  อย่างจึงถือว่าดีมาก  เป็นประสบการณ์ที่ให้คุณค่าดีทีเดียว  และผมยังคงรู้สึกเป็นคนที่มีความสุขมาโดยตลอด  วันนี้ผมก็มีความสุขที่ยังสามารถมานั่งพูดปาฐกถาได้  ตะกี้เดินหกล้มนิดหน่อยไม่เป็นไร  เหตุเพราะผมมีเรี่ยวแรงลดลงแต่ก็ยังพอมีแรง  อาจจะ  50%  ของปกติ  สมองยังทำงานได้อาจจะ 75 %  ของที่เคยเป็น  ก็ยังพอทำประโยชน์ได้  ผมตั้งใจอยู่เสมอว่าตราบใดที่ยังมีแรงพอทำประโยชน์ได้ก็จะทำไปเท่าที่สามารถทำได้  จนกว่าสัจธรรมของธรรมชาติจะกำหนดให้ร่างกายต้องแปรสภาพไปเป็นสิ่งไม่มีชีวิต  แปรสภาพไปเป็นอย่างอื่น  ก็จบกันสำหรับการเป็นคนที่มีชีวิต  คือผมมองชีวิตเป็นธรรมะเป็นธรรมชาติ  ฉะนั้นเรื่องโรคภัยไข้เจ็บสำหรับผมจึงไม่มีประเด็นและไม่มีความวิตกกังวลอะไร  ทุกวันนี้มีความสุขดี สำหรับเพื่อนๆผมก็ขอบคุณที่มีความห่วงใยและปรารถนาดีมากๆ  บางคนพูดกับผมว่าไม่รู้ว่าป่วยจะไปเยี่ยม  ผมก็บอกว่าผมไม่ได้ป่วยหรอก  เพียงแต่ร่างกายทรุดโทรมไปเหตุตามปัจจัยซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดาตามธรรมชาติ  ดังนั้นถ้าเป็นห่วงก็ส่งใจไปให้ก็พอ  บางคนนั่งสมาธิตอนกลางคืนส่งกระแสจิตมาให้  คงจะมาถึงบ้างทำให้ผมพอยังอยู่ได้และอยู่อย่างมีความสุข  ปราศจากความทุกข์ความกังวลใดๆ  ยิ่งถ้าเปรียบเทียบกับสมัยที่เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี  ปัจจุบันนี้มีความสุขมากกว่าอย่างชัดเจนเลยครับ  (หัวเราะ)

หัวข้อเรื่องที่จะพูดวันนี้ คือ “ประชาสังคมกับการปฏิรูปสังคมไทยในภาวะวิกฤติ” ผมจะพยายามตอบคำถาม  3  ข้อ

  1.   ประชาสังคมคืออะไร
  2. ประชาสังคมจะมีส่วนช่วยปฏิรูปสังคมไทยได้อย่างไร
  3.   ควรทำอะไรบ้างเพื่อส่งเสริมสนับสนุนประชาสังคมไทยให้เจริญก้าวหน้าเป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยได้ดียิ่งขึ้นและมากยิ่งขึ้น

หวังว่าทั้ง 3 หัวข้อคงตอบคำถามในใจของท่านได้ หรืออย่างน้อยก็ช่วยทำให้เกิดความกระจ่าง   ถ้าตรงกันท่านก็มีความมั่นใจมากขึ้น  ถ้าไม่ตรงกันท่านก็มีโจทย์ที่จะไปค้นหาคำตอบต่อไป  อ้อ!  เมื่อกี้ผมไม่ได้บอกว่ามีเรื่องที่ผมยินดีอีกหนึ่งเรื่องคือ  ท่านรองนายกรัฐมนตรีสุเทพและท่านรัฐมนตรีอิสระได้นำร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการส่งเสริมประชาสังคมเพื่อการพัฒนาแห่งชาติมาดำเนินการ
ซึ่งระเบียบนี้เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์  ที่จริงคือหมอพลเดชกับผมเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ก็ได้เสนอระเบียบและได้รับความเห็นชอบ  เมื่อเห็นชอบและออกเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีแล้ว  รัฐบาลก็หมดอายุไป  ต่อมาอีก 2 รัฐบาลคงจะยุ่งอยู่  จึงไม่ได้มีเวลามาจัดการกับระเบียบ  แต่มาถึงรัฐบาลชุดปัจจุบันแม้จะยุ่งแต่ก็มีที่ว่างในใจพอที่จะมาดูว่าระเบียบอะไรเป็นประโยชน์ก็นำมาใช้  ข้อนี้ต้องขอขอบคุณ  ชื่นชม  ยินดี  และผมก็ยินดีให้ความร่วมมือในฐานะที่มีส่วนทำให้เกิดระเบียบนี้ขึ้นมา

 

พี่น้อง  ท่านผู้มีเกียรติครับ  ต่อไปนี้ผมจะตอบคำถามที่ 1. “ประชาสังคม” คืออะไร

ประชาสังคม”  ถ้าเราคิดง่ายๆก็ไม่มีอะไรมาก  คือเรามองสังคม  และดูว่าองค์ประกอบคืออะไร ความเป็นสังคมก็คือการที่มีผู้คนและมีกิจกรรมเกิดขึ้น ถ้าไม่มีคนหรือว่ามีคนแต่อยู่เฉยไม่ทำอะไร ก็ไม่เรียกว่าสังคม แต่เพราะมีคนและทำอะไรกันจึงเรียกว่าสังคม  สิ่งที่ทำเราอาจจะแยกหรือถ้าเรียงลำดับ  จากใหญ่มาเล็ก  จากสำคัญมากมาสำคัญน้อย ผมต้องพูดถึงภาคประชาสังคมก่อน  ปกติคนชอบพูดภาครัฐก่อนเพราะความที่เราอยู่ภายใต้การจัดการของภาครัฐ การปกครองของภาครัฐ  เราจะนึกถึงภาครัฐก่อนแต่จริงๆแล้ว  สำคัญกว่าภาครัฐคือภาคประชาชน  ประชาชนมาก่อนครับ  ซึ่งก็ตรงกับคำขวัญของพรรคประชาธิปัตย์ที่ว่า  “ประชาชนต้องมาก่อน”  ไงครับ  (หัวเราะ)  ในสังคมจึงมีประชาชนซึ่งจะรวมตัวกันทำโน่นทำนี่  เช่นฝนตก  น้ำท่วมเขาก็มาช่วยกันทำเขื่อน  ไฟไหม้มาช่วยกันดับ  จะปลูกข้าวก็มาช่วยกันลงแขกและทำอาหารเลี้ยงกัน  คนทะเลาะเบาะแว้งกันมาช่วยกันห้าม  หรือญาติมาช่วยกันไกล่เกลี่ย  กิจกรรมประเภทนี้เป็นกิจกรรมของประชาชน และเราเรียกว่าเป็นกิจกรรมประชาสังคมหรือสังคมที่เป็นประชาชน  คำว่าสังคมก็หมายถึงการที่คนมารวมกันมาทำโน่นทำนี่  ฉะนั้นประชาสังคมก็คือกิจกรรมของประชาชนที่มาทำเรื่องต่างๆ  ที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน  หรือเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม  ทั้งนี้โดยไม่มีอำนาจอะไร ถ้ามีอำนาจ เช่นได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายอำเภอ  เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด  เป็นรัฐมนตรี  พอใช้อำนาจแล้วตรงนี้เป็นภาครัฐ  หรือถ้ามารวมตัวกันและไปค้าไปขาย  ซื้อของไปขายได้กำไรเอามาแบ่งกัน  อย่างนี้เรียกว่าธุรกิจ  ฉะนั้นภาคประชาชนและภาคประชาสังคมไปด้วยกัน  ประชาชนเป็นฐาน ประชาสังคมเป็นกิจกรรมคือเกิดเป็นองค์กร  เป็นกลุ่มขึ้นมาหรือเป็นเครือข่าย  เราเรียกว่าองค์กรประชาสังคม   หรือ เครือข่ายประชาสังคม   เป็นกิจกรรมประชาสังคม    ทั้งหมดรวม ๆ แล้ว เรียกว่าภาคประชาสังคม หรือ   Civil Society Sector

 

สรุปได้ว่าเมื่อมีประชาชน มีกิจกรรม  ก็เกิดเป็น “ ประชาสังคม”   จากนั้นจึงเกิดอีก 2 อย่างตามมา ได้แก่ “ภาคธุรกิจ”  และ “ภาครัฐ”   นั่นคือประชาชนมีการค้าขาย มีการผลิต  มีการจำหน่าย เราเรียกว่า “ภาคธุรกิจ”  พร้อมกันนั้น เมื่อคนมาอยู่ร่วมกัน มีเรื่อง มีประเด็นมากขึ้น  ก็ต้องมีคนมาดูแลจัดระเบียบ  ออกกฎข้อบังคับจึงเกิดเป็น “ภาครัฐ”  ซึ่งมีอำนาจหน้าที่จัดการดูแลสังคม  ฉะนั้นสังคมจึงมีองค์ประกอบ 3 ส่วนคือ

 

  1. ภาคประชาชน หรือ ภาคประชาสังคม
  2. ภาคธุรกิจ
  3. ภาครัฐ

 

ที่เรียงลำดับเช่นนี้เพราะว่าระดับการเกิดเป็นแบบนั้น ในความคิดเชิงรัฐศาสตร์หรือเชิงการบริหารจัดการบ้านเมือง ภาคประชาชนควรสำคัญที่สุด ภาคธุรกิจสำคัญรองลงมา และภาครัฐควรสำคัญน้อยที่สุด คำว่าสำคัญผมหมายถึงว่า ความยิ่งใหญ่ ความมีศักดิ์ศรี ความมีบารมี ควรอยู่ที่ภาคประชาชนเป็นอันดับต้น ส่วนภาคธุรกิจรองลงมา และภาครัฐควรน้อยที่สุด ภาครัฐคือผู้รับใช้ประชาชนเพราะได้อำนาจมาจากประชาชน  ไม่ใช่อยู่ดี ๆก็มีอำนาจ   แม้แต่สมัยเผด็จการ สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์พระเจ้าแผ่นดินจะครองราชย์อยู่ได้ก็เพราะประชาชนสนับสนุน  ถ้าประชาชนไม่สนับสนุนท่านก็อยู่ไม่ได้  พระเจ้าแผ่นดิน
จึงต้องมีทศพิศราชธรรมซึ่งเป็นธรรมะที่จะครองใจคนให้คนยอมรับนับถือ

 

ฉะนั้นจึงหวังว่าคำว่า  “ประชาสังคม”  ไม่ใช่คำที่ลึกลับซับซ้อนมากมายอะไร ก็คือกิจกรรมของประชาชนที่รวมตัวกันกระทำในเรื่องต่างๆ อันเป็นประโยชน์ร่วมกันหรือเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม  เช่นเป็นสมาคม มูลนิธิ  หรือจะรวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน  เราก็เรียกว่าประชาสังคม ส่วนอีก 2 ภาคคือภาคธุรกิจและภาครัฐก็มีความสำคัญด้วย  และในสังคมที่ดี  3  ภาคนี้จะต้องเชื่อมโยงเกี่ยวพันเกื้อกูลซึ่งกันและกัน  ซึ่งผมจะได้พูดถึงในอันดับต่อไป

 

คำถามที่ 2 คือ “ประชาสังคมจะมีส่วนปฏิรูปสังคมไทยได้อย่างไร” โดยเฉพาะในสภาวะที่บ้านเมืองวิกฤติและหลายฝ่ายได้ออกมาบอกว่าเราจะต้องปฏิรูปประเทศไทย พร้อมๆไปกับการสร้างความปรองดอง นี่คือ  Key word หรือคำสำคัญ 2 คำ  คือคำว่าปรองดองกับปฏิรูป ท่านนายกฯได้พูด 2 คำนี้  ท่านรองนายกสุเทพฯ ก็พูด 2 คำนี้   ผมเองเป็นคนนอกไม่ได้เกี่ยวข้องอยู่ในกระบวนการทั้งปรองดองและปฏิรูป  เป็นผู้สังเกตการณ์ แต่ก็ได้ให้ความคิดความเห็นไปบ้างเท่าที่ทำได้  โดยเฉพาะในช่วงประมาณ 1 เดือนที่ผ่านมา  คือผมอยู่ที่ประเทศอังกฤษระหว่างวันที่ 1 – 15 พฤษภาคม 2553  ก่อนเดินทางผมปรารภกับภรรยา คือไปกับภรรยา เดี๋ยวนี้ผมเดินทางไปไหนมาไหนคนเดียวไม่ค่อยได้ต้องมีคนไปด้วย  คนไปด้วยกันที่ดีที่สุดคือภรรยา ก็ปรารภกับภรรยาว่า 2 อาทิตย์ที่ไม่อยู่คงต้องเกิดเรื่องในประเทศไทยแน่ๆ แต่อยู่ไปตั้ง 10 กว่าวันยังเงียบอยู่   เปิด SMS ก็ไม่มีอะไรบอกเอ้อดี ๆ เพราะเคยไปต่างประเทศแบบนี้ เมื่อเมษาปีที่แล้วต้องไปฟังข่าว SMS เรื่องเมษาเลือดปี 52   ระหว่างอยู่อเมริกาใต้  และวันที่ 10 เดือนเมษา ปีนี้ผมและภรรยาอยู่ที่จอร์แดน ต้องมาฟังเรื่อง 10 เมษาที่จอร์แดนและข่าวลือเวลาไปจากเมืองไทยไปถึงต่างประเทศมันคนละเรื่อง เช่นข่าวลือทหารถูกยิงระหว่างนั่งเฮลิคอปเตอร์  ยิงทะลุท้องเฮลิคอปเตอร์ไปถูกนายทหารจนเสียชีวิต ข่าวลือโดยเฉพาะประเภทคลาดเคลื่อนไปเร็วมาก  เช่นเดียวกับเราอยู่เมืองไทย ข่าวลือจากต่างประเทศที่เราได้รับมามักแปลก ๆ และบูดเบี้ยว เช่นเมื่อ 2-3 วันก่อนมีคนโทรมาหาผมบอกว่าขอโทษที่ไม่ได้ไปเยี่ยม ไม่รู้ว่าคุณไพบูลย์ไม่สบาย เห็นว่าไปรักษาถึงอเมริกาหรือครับ  ซึ่งในความจริงผมไม่ได้ไปอเมริกา  และ ผมก็ไม่เคยไปรักษาตัวในต่างประเทศรวมถึงไม่เคยมีความคิดอยากไปรักษาตัวในต่างประเทศ  ยังไง ๆ ก็ขอรักษาตัวในเมืองไทย  ถ้าจะตายก็ขอตายในเมืองไทย  มากกว่าจะไปตายในต่างประเทศ  เพราะอย่างนั้นข่าวลือจะไปเร็วมากและโอกาสคลาดเคลื่อนสูงมาก  ท่านรองนายกสุเทพฯทราบดี  ในเรื่องข่าวลือนะครับ  ผมกับภรรยาเดินทางไปประเทศอังกฤษระหว่างวันที่ 1-15 พฤษภาคม  วันที่ 14 เป็นวันเดินทางกลับรู้สึกโล่งใจว่าไปอยู่ตั้ง 2 อาทิตย์ยังไม่มีเหตุการณ์รุนแรงในประเทศไทย  ที่ไหนได้นั่งอยู่สนามบิน CNN  ออกข่าวแล้วว่ายิงกันตูมตาม  ออกมาทางจอ CNN  กลับมาถึงกรุงเทพฯ  แล้วระหว่างวันที่ 15 -19 พฤษภาคม  ก็ตกอยู่ในสภาวะ
ที่พวกเราทราบดี

 

ผมคิดว่าผมควรทำอะไรบางอย่าง เลยเขียนออกมาเป็นบันทึกลงวันที่25 มิถุนายน ใช้หัวข้อว่า  “การฟื้นฟูและขับเคลื่อนประเทศไทย ภายหลังวิกฤติ “เมษา-พฤษภา มหาวินาศ” สำหรับเป็นเอกสารประกอบเวลาที่ผมได้รับเชิญไปพูดในที่ต่าง ๆ  และสำหรับเผยแพร่ทั่วไป  ปัญหาของประเทศไทยถ้าเปรียบเทียบกับหลายประเทศ จะพบว่าประเทศเหล่านั้นมีสภาพเลวร้ายกว่าเรา เช่นเปรียบเทียบกับฟิลิปปินส์ ผมว่า เขาแรงกว่าเรา เพราะเขารบกันเป็น 10 ปี  เทียบกับอินโดนีเซียสมัยที่รบกันก็แรงกว่าเรา เทียบกับศรีลังกา เป็นคนละเรื่องเลยเพราะเขารุนแรงแรงกว่าเรามาก  เทียบกับพม่าก็แรงกว่าเรามาก ตะวันออกกลางแรงสุด ๆ  อัฟกานิสถาน หรือ อัฟริกาใต้สมัยที่เขารบกัน ก็แรงมาก ๆ  แต่เดี่ยวนี้อินโดนีเซียสงบแล้ว ด้วยการเจรจาต่อรองโดยอาศัยคนกลางช่วย  ศรีลังกาสงบโดยรัฐบาลรบจนชนะกองกำลังพยัคฆ์ทมิฬ ส่วนที่อัฟริกาใต้ เราชื่นชมเนลสัน มันเดลลา ผู้ก่อให้เกิดความสมานฉันท์ได้สำเร็จโดยใช้กุศโลบายต่างๆ คือ การสร้างความสมานฉันท์เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์   มันเดลลาใช้รักบี้เป็นกุศโลบาย ถ้าใครได้อ่านหรือได้ดูหนังชื่อ “Invictus”  เป็นหนังเกี่ยวกับมันเดลลาซึ่งใช้กีฬารักบี้เป็นเครื่องมือสร้างความสมานฉันท์  และหลายครั้งเขาต้องขัดกับคนผิวดำด้วยกัน เพื่อจะทำให้เกิดทัศนคติที่จะเอื้อต่อการสร้างความสมานฉันท์ คือรักบี้เป็นกีฬาที่คนขาวเล่น แต่คนดำเล่นฟุตบอล ฉะนั้นคนดำจะไม่ชอบรักบี้  คนขาวจะไม่ชอบฟุตบอล ทำอย่างไรให้เข้ามาหากันได้อยู่ร่วมกันได้คือสิ่งที่มันเดลลาพยายามทำ  และในที่สุดเขาสามารถจัดรักบี้โลกและอย่างไม่น่าเชื่อ เขาได้เป็นแชมเปี้ยนโลกทั้งๆ ที่ทีมของเขาไม่ได้เก่งวิเศษมากนัก  แต่ด้วยแรงใจที่เขาทำให้คนมารวมกันได้ทำให้สามารถสร้างความสมานฉันท์จากกีฬารักบี้ได้เป็นผลสำเร็จ

 

ที่อังกฤษมีขบวนการที่เรียกว่ากองทัพสาธารณรัฐไอริช หรือไอริชริพับริกันอาร์มี  หรือ IRA ก่อการร้ายทั่วอังกฤษ มาถึงลอนดอน คล้าย ๆ เมืองไทยคือไม่รู้ใครทำ แต่มาทำถึงเมืองหลวง เป็นครั้งเป็นคราว ในที่สุดเขาตกลงกันได้โดยการพูดจากัน โอ้ยแต่พูดกันหลายรอบมากไม่ใช่พูดกันแค่เดือน 2 เดือน พูดกันเป็นปีๆ แล้วในที่สุดมีวุฒิสมาชิกชาวอเมริกันมาช่วยเป็นคนกลางในการเจรจา  ส่วนเรื่อง อาเจะในประเทศอินโดนีเซียซึ่งเป็นสงครามแบ่งแยกดินแดนก็อาศัยนายกรัฐมนตรีไอส์แลนด์มาช่วย คือมาช่วยทำหน้าที่คนกลางให้

 

ประเทศไทยอาจจะไม่ถึงขั้นต้องมีชาวต่างประเทศมาช่วยเป็นคนกลาง  แต่ว่าคนไทยด้วยกันน่าจะหาได้ถ้าตั้งใจจะหากันทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งฝ่ายรัฐบาลทั้งฝ่ายตรงข้าม   หรือหากหาไม่ได้ผมว่าตรงนี้ละครับ “ภาคประชาสังคม” อาจจะเข้ามามีบทบาทได้  ผมทราบว่าในระหว่างที่ขัดแย้งกันอย่างรุนแรงในเดือนเมษายนได้มีกลุ่มคนที่เรียกได้ว่าเป็น  ภาคประชาสังคม  คือไม่ได้ใช้อำนาจรัฐ  และไม่ได้ทำในเชิงธุรกิจ ได้พยายามเข้ามาช่วยเหลือเชื่อมโยงให้คู่กรณีได้พูดจากัน   ซึ่งปรากฏว่าได้ผลดีระดับหนึ่ง โดยเฉพาะในวันที่ 10 เมษายนถ้าเผื่อไม่ได้มีการพูดจากันคงจะรุนแรงมากกว่านั้น   แต่ด้วยเหตุที่ได้มีการพูดจากันบ้างแล้ว พอเกิดเหตุวิกฤติก็ยกหูโทรศัพท์พูดคุยกันและก็ตกลงยุติการใช้อาวุธ   ข้อมูลผมอาจจะไม่ถูกต้องก็ได้นะครับท่านรองสุเทพ  คงจะรู้ดีกว่าผม  แต่ว่าที่พูดนี้เพื่อชี้ว่าบทบาทของคนหลายฝ่ายในสังคม ถ้าหันมาเกื้อกูลกันและช่วยเหลือกันหลายครั้งก็ช่วยกันได้จริงและเกิดผลดีจริง

ขณะนี้เรากำลังพยายามจะปฏิรูปสังคมไทยและสร้างความปรองดอง  2 คำนี้เป็นคำที่สำคัญทั้งคู่และก็คู่ขนานกัน ไม่จำเป็นต้องเหมือนกันแต่เกี่ยวโยงกัน คุณหมอประเวศและคุณอานันท์ พยายามพูดว่าคณะกรรมการปฏิรูป 2 คณะของท่าน คือคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) และคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป(คสป.)ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องปรองดอง แต่ใจผมคิดว่าการปฏิรูปคือการปรองดองทางอ้อมหรือการปรองดองระยะยาวซึ่งเป็นสิ่งที่ดีและควรทำ  แต่ถ้าจะพูดถึงการปรองดองทางตรงก็คือให้คู่กรณีนี่แหละมาพูดจากันจนกระทั่งหาข้อตกลงร่วมกันได้  หย่าศึกกันได้  จนกระทั่งเรื่องร้อนมันเย็นลง  อาจจะไม่ถึงกับหันมารักกันแต่ก็อย่างน้อยเรื่องร้อนเย็นลง คืออย่างอิสราเอล กับ ปาเลสไตน์ ถ้าไปถึงขั้นให้เขาหยุดยิงกันได้ก็ถือว่าก้าวหน้าไป 50% แล้ว

ยังไม่ต้องถึงขั้นให้หันมารักกัน แต่ของเรายังไม่ถึงขั้นยิงถล่มใส่กันเหมือนอย่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ แต่เราก็มีการเผชิญหน้ามีความเป็นปฏิปักษ์สูงด้วยท่าที ด้วยถ้อยคำ ด้วยการกระทำผ่านสื่อต่างๆ เป็นบรรยากาศที่ไม่น่าจะทำให้คนไทยมีความสุข      ฉะนั้นน่าจะต้องพยายามต่อไปที่จะแก้ไขและสร้างความปรองดอง คือ  การสร้างความปรองดองมีกรรมวิธีซึ่งเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์  ถ้าเป็นกรณียาก ๆ มักจะต้องมีคนกลางช่วยหน่อยเหมือนอย่างวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 มีคณะจากวุฒิสภาพยายามไปเป็นคนกลาง คนกลางนี้จะต้องเป็นที่ยอมรับของทั้ง 2 ฝ่าย  คณะกรรมการของอาจารย์คณิต ณ นคร  อาจทำหน้าที่นี้ เพราะจะได้กำหนดภารกิจว่าจะตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ และ ณ ปัจจุบันยังไม่มีฝ่ายใดปฏิเสธบทบาทของคณะกรรมการชุดนี้ ฉะนั้นคณะนี้จึงถือว่า เป็นคนที่ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นชอบร่วมกันให้มาทำหน้าที่เป็นคณะปรองดองโดยได้   ส่วนคณะกรรมการปฏิรูปที่รัฐบาลตั้งอีก  3-4 หรือ 5 คณะ เช่น คณะคุณอานันท์ คณะคุณหมอประเวศ  คณะปฏิรูปสื่อ คณะพวกนี้ทำหน้าที่ปฏิรูปเป็นหลักครับไม่ใช่ทำเรื่องปรองดอง แต่ถ้าทำได้ดีก็จะมีผลในเชิงการปรองดองด้วย  แต่ไม่ใช่การปรองดองโดยตรง  ปรองดองโดยตรงคือคณะอาจารย์คณิต เพราะท่านจะค้นหาความเป็นจริง แล้วถึงมาปรองดอง  ก็คงจะเอาแบบมาจากอัฟริกาใต้ที่เขาเรียกว่า Truth and Reconciliation Commission ก็คือคณะกรรมการที่ค้นหาความเป็นจริงแล้วก็มาปรองดอง ในการค้นหาความจริงอย่างกรณีอัฟริกาใต้นั้น ถ้าพบว่าใครผิดอะไรจริงๆก็ให้ศาลดำเนินการไปตามกระบวนการยุติธรรม และคนที่ถูกพิสูจน์แล้วว่าผิดก็จะมีการสนับสนุนให้เขายอมรับว่าเขาผิดและก็ขอโทษ  คนที่ตกเป็นเหยื่อหรือญาติพี่น้องของเหยื่อ เมื่อความจริงปรากฎว่าใครเป็นคนทำผิดและคนคนนั้นขอโทษก็จะยอมให้อภัย  บรรยากาศดีขึ้นจากหน้ามือเป็นหลังมือ  แต่เรื่องของเราอาจจะซับซ้อนกว่าอัฟริกาใต้  ในแง่ของความรุนแรงเรื่องของเรารุนแรงน้อยกว่าอัฟริกาใต้  แต่มีความสลับซับซ้อนมากกว่าอัฟริกาใต้   ที่อัฟริกาใต้รุนแรงมาก  สู้กันเลยด้วยอาวุธ  เนลสันมันเดลลาจับอาวุธขึ้นสู้กับรัฐบาลเลยต้องไปติดคุก 27 ปี ระหว่างติดคุกก็เกิดวิสัยทัศน์ เกิดความตระหนักว่าการเจรจาน่าจะเป็นทางที่ดีกว่า  และโชคดีได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่แทนคนเก่าที่เป็นประเภทเหยี่ยว นิยมลัทธิแบ่งผิว และมีนโยบายใช้กำลังปราบปรามคนผิวดำ  แต่พอดีไม่สบาย คนใหม่มาแทนเป็นประเภทพิราบ นิยมสันติวิธี และเชื่อในเรื่องการเจรจาหาข้อตกลง ทั้ง 2 คนหรือ 2 ผู้นำของแต่ละฝ่ายที่เป็นคู่กรณี จึงพยายามหาทางเจรจากันแทนการรบหรือต่อสู้กัน  ในที่สุดก็เกิดสันติภาพในอัฟริกาใต้  ไม่ถึงกับ 100%  นะครับ ทุกวันนี้ก็ยังมีอาชญากรรมเยอะแต่นี่เป็นเรื่องปกติ แต่ว่าการต่อสู้ระหว่างผิวไม่มีแล้วและทั้งเนลสัน ทั้งนายกก็ได้รางวัลโนเบิลทั้งคู่ เป็นตัวอย่างที่ดี และผมเชื่อว่าคณะอาจารย์คณิตคงศึกษามาจากมันเดลลา เพราะว่าเมื่อ 2-3 สัปดาห์ที่แล้ว มีการเชิญวิทยากร2 – 3 คนจากต่างประเทศที่ทำเรื่อง Truth and Reconciliation Commission  มาเล่าให้ฟังว่าเขาทำกันอย่างไรและจะประยุกต์กับเข้าเมืองไทยอย่างไร  ผมก็เอาใจช่วยท่านอาจารย์คณิตอยู่ สมัยผมเป็นรองนายกก็ได้ขอให้ท่านมาเป็นประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายซึ่งท่านก็ยังเป็นอยู่  คือตามรัฐธรรมนูญต้องมีการปฏิรูปกฎหมาย เพราะกฎหมายของเราที่มีอยู่มากมายเป็นเหตุหนึ่งของปัญหาในบ้านเมือง คณะกรรมการชุดนี้เป็นคณะกรรมการชั่วคราว   มาศึกษาเรื่องการปฏิรูปกฎหมาย พร้อมกันนั้นก็ยกร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการปฏิรูปกฎหมายที่ต้องมีคณะกรรมการถาวรขึ้นมา  ท่านร่างเสร็จแล้วเสนอแล้วแต่รู้สึกว่าเรื่องยังไปไม่ถึงรัฐสภาหรือไปแล้วแต่ยังไม่จบ ถ้ายังไม่มีกฎหมายออกมาท่านก็ยังต้องดำรงตำแหน่งนี้ต่อไป

ขอกลับมาพูดเรื่องการสร้างความปรองดองหรือการปฏิรูปสังคม ตามแผนการปรองดองแห่งชาติ ของรัฐบาล ผมดิดว่าควรต้องให้ภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุด  ซึ่งคณะคุณอานันท์ คณะคุณหมอประเวศ แม้กระทั่งคณะอาจารย์สมบัติ หรือคณะปฏิรูปสื่อ ล้วนใช้วิธีการที่ถือว่าเป็นกิจกรรมประชาสังคม   คือเป็นเรื่องของประชาชนและเกี่ยวกับประชาชน  ซึ่งในบางครั้งอาจมีคนในภาครัฐ   หรือในภาคธุรกิจ มาทำกิจกรรมที่ไม่ได้เป็นธุรกิจและไม่ได้ใช้อำนาจรัฐ   เราก็ถือว่าป็นกิจกรรมประชาสังคม   สมมติว่าวันหนึ่งเราจัดสัมมนาพูดคุยกัน  ระดมความคิดเรื่องการปฏิรูปสื่อ  แล้วชวนท่านรองสุเทพมา    ท่านไม่ได้มาในฐานะเป็นรองนายก ท่านมาในฐานะเป็นนายสุเทพ มาให้ความคิดความเห็น ท่านก็มาทำกิจกรรมประชาสังคม ฉะนั้นเรื่องการปฏิรูปสังคมไทยที่เราตั้งต้นไว้ดีแล้วมีหลายคณะเลย มีทั้งคณะคุณอานันท์  คณะคุณหมอประเวศ  คณะอาจารย์สมบัติ  คณะอาจารย์จุฬาที่ทำเรื่องสื่อ  มีคณะพลตำรวจเอกวศิษฐ์ ที่ทำเรื่องการปฏิรูปตำรวจ  การปฏิรูปพวกนี้นะครับ ประชาสังคมควรมีส่วนร่วมด้วยแน่ๆ และเป็นเรื่องที่ดีเพราะว่าจะปฏิรูปสังคมก็ต้องเกี่ยวกับประชาชน และประชาชนที่รวมตัวกันเราเรียกว่าประชาสังคม  ฉะนั้นจึงไม่ต้องมีประเด็นว่าประชาสังคมเกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศไทยหรือไม่  หรือควรมีส่วนร่วมในการปฏิรูปสังคมไทยหรือไม่  ประชาสังคมต้องเกี่ยวข้องกับการปฏิรูปแน่ ๆ  และควรต้องมีส่วนร่วมให้มากที่สุดในการปฏิรูปนั้น   สำคัญที่ว่าคนไปจัด ๆ ให้ดีได้อย่างไร จัดสมัชชาให้ดีอย่างไร จัดสัมมนาระดมความคิดให้ดีอย่างไร จัด Focus group อย่างไรถึงจะดี หรือจัดเป็นอย่างที่คุณชัยวัฒน์จะมานำท่านทำกิจกรรมระดมความคิด เหล่านี้เป็นประเด็นสำคัญทั้งสิ้น

 

ตามที่ผมเขียนไว้ในเอกสาร การทำอะไรยากๆที่สลับซับซ้อนหรือที่ละเอียดอ่อนมาก ๆ  โดยเฉพาะในเรื่องความขัดแย้งที่เราพยายามแก้ไข พร้อมกับความพยายามจะปฏิรูปซึ่งจะเป็นการปฏิรูปภายใต้ภาวะความขัดแย้ง   การจะทำเรื่องที่ยาก ละเอียดอ่อน และสลับซับซ้อนเช่นนี้  ควรต้องมี 3 องค์ประกอบที่สำคัญประสานพลังกันอย่างเพียงพอและสมดุลย์ ได้แก่

 

         องค์ประกอบที่ 1  คือเรื่องกระบวนการ วิธีที่เราดำเนินการเป็นอย่างไร มีจังหวะ มีลีลา มี

ขั้นตอน ต่าง ๆ  อย่างไร  และ อื่น  ๆ

องค์ประกอบที่  2   เรื่องทัศนคติ เราจะสร้างทัศนคติหรือสร้างบรรยากาศให้ดีได้อย่างไร

องค์ประกอบที่  3   คือเรื่องสาระ เป็นตัวเนื้อหาที่จะหยิบยกขึ้นหารือ เจรจาต่อรอง เพื่อหาข้อตกลงร่วมกันให้ได้ในที่สุด

 

ส่วนใหญ่ที่ความพยายามปรองดองไม่ประสบความสำเร็จเพราะเรามักกระโจนเข้าสู่สาระเลย ข้ามขั้นตอนหรือขาดองค์ประกอบในด้านกระบวนการที่เหมาะสม และขาดการสร้างทัศนคติหรือบรรยากาศที่เอื้ออำนวย ทำให้ไม่สามารถได้ข้อตกลงที่พอใจหรือยอมรับร่วมกันได้ เช่น เราเชิญมาประชุมและบอกว่าเราจะเอาอย่างไรกันเลย อภิปรายกันคนนั้นจะเอาอย่างนี้คนนี้จะเอาอย่างนั้นแล้วก็ตกลงกันไม่ได้  ดีไม่ดีทะเลาะกันชี้หน้าด่ากัน อย่างที่เราเคยเห็นในจอโทรทัศน์ใช่ไหมครับ  ถ้าจัดกระบวนการดี สร้างบรรยากาศดี ทำให้เกิดทัศนคติดี สาระดีๆ จะตามมา   ฉะนั้นถ้าจะให้ภาคประชาสังคมมีส่วนสำคัญในการปฏิรูปประเทศไทยก็ขอให้ดำเนินการโดยที่ว่ามีการจัดกระบวนการที่ดี มีการสร้างทัศนคติที่ดี และก็จะได้สาระที่ดี

 

คำถามที่  3   ควรทำอะไรบ้างเพื่อส่งเสริมสนับสนุนประชาสังคมไทยให้เจริญก้าวหน้าเป็นประโยชน์ต่อสังคมได้ดียิ่งขึ้นและมากยิ่งขึ้น ผมเพิ่งได้อ่านตัวระเบียบซึ่งผมและหมอพลเดชได้ทำให้เกิดขึ้น เมื่อ 2 ปีกว่ามาแล้ว  และก็ลืมไปหมดแล้ว   แต่พอมาอ่านก็เห็นว่าดี ถ้าท่านเอาระเบียบมาดู และอ่านอย่างพินิจพิเคราะห์ จะเห็นว่ามีความสมบูรณ์ครบถ้วนอยู่ในระเบียบนี้ว่า ประชาสังคมคืออะไร มีคำจำกัดความให้อย่างชัดเจน พร้อมกับระบุด้วยว่าการส่งเสริมประชาสังคมเพื่อการพัฒนาควรทำอย่างไร เป็นข้อความสั้นๆ กระทัดรัด และกินความได้ดีพออยู่แล้ว

 

ฉะนั้นผมจึงไม่จำเป็นที่จะต้องไปอธิบายรายละเอียดของการส่งเสริมประชาสังคมเพื่อการพัฒนา ซึ่งลำดับไว้ในระเบียบเรียบร้อยหมดแล้ว เพียงแต่ผมอยากจะเสนอแนะรูปธรรมบางอย่างที่น่าจะทำซึ่งผมเชื่อว่าจะเป็นการส่งเสริมประชาสังคมเพื่อการพัฒนาได้เป็นอย่างดี นั่นคือขณะนี้ได้มีความพยายามจากหลายฝ่ายที่จะผลักดันให้เกิดกลไกระดับจังหวัด เป็นกลไกพหุพาคีคือหลาย ๆ ฝ่ายมาร่วมกันที่จังหวัด เพื่อรวมพลังสร้างสรรค์   หรือช่วยกันขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดให้ไปในทิศทางที่พึงประสงค์ ให้เกิดการพัฒนาที่พึงปรารถนา หลาย ๆ ฝ่ายหรือพหุภาคีนี้ควรมีใครบ้าง ผมนึกถึงเครือข่ายหรือองค์กรหรือตัวแทนของภาคส่วนต่างๆที่จะได้สมดุลย์ระหว่างภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และภาครัฐ    ภาคประชาชนก็คือภาคประชาสังคมถือว่าเป็นพวกเดียวกัน ฉะนั้นเริ่มต้นต้องนึกถึงตัวแทนเครือข่ายชุมชนท้องถิ่น ซึ่งเป็นฐานล่างที่สุดและเขามีกลไกอยู่แล้วครับ มีเครือข่ายองค์กรชุมชน ระดับตำบล  ระดับจังหวัด ระดับชาติ  มีเครือข่ายสภาองค์กรชุมชน ทั้งระดับตำบล ระดับจังหวัด และระดับชาติเช่นเดียวกัน เป็นต้น

นอกจากบรรดาองค์กรชุมชนต่างๆแล้วก็จะมีเครือข่ายภาคประชาสังคมของจังหวัด  พวกนี้ได้แก่นักจัดกิจกรรมหรือทำกิจการมทั้งหลาย ที่ดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องปัญหายาเสพติด เรื่องสร้างคุณธรรม จริยธรรม เรื่องส่งเสริมศิลปะวัฒนธรรม มูลนิธิ สมาคม ทั้งหลาย ก็รวมอยู่ในคำว่าภาคประชาสังคม ซึ่งเขามีเครือข่ายอยู่และก็สามารถมารวมตัวกันหรือส่งตัวแทนมาในระดับจังหวัดได้  นี่คือภาคประชาชนและประชาสังคม ขยายความอีกหน่อยก็ต้องรวมถึงสถาบันวิชาการ เช่นมหาวิทยาลัยซึ่งอยู่ในจังหวัดที่เราจะขับเคลื่อน หรืออยู่ในจังหวัดใกล้เคียง  เพราะเขาเป็นนักวิชาการที่จะมาเป็นประโยชน์ได้  นอกจากมหาวิทยาลัยก็มีวิทยาลัย โรงเรียน ล้วนสามารถเป็นประโยชน์ได้ด้วย มีสถาบันศาสนา สถาบันจริยธรรม สถาบันศิลปะวัฒนธรรม  ศิลปิน สื่อ สื่อท้องถิ่น  สื่อในจังหวัด หรือสื่อระดับชาติที่ไปทำงานที่จังหวัด  เหล่านี้ผมรวมอยู่ในคำว่า “ภาคประชาชนและประชาสังคม”  นี่คือชุดที่หนึ่ง ขององค์ประกอบ 3 ชุด นะครับ

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/385064

<<< กลับ

 

ประชาสังคมกับการปฏิรูปสังคมไทยในภาวะวิกฤติ (ต่อ)

ประชาสังคมกับการปฏิรูปสังคมไทยในภาวะวิกฤติ (ต่อ)


ชุดที่ 2 คือภาคธุรกิจ เมื่อวานนี้เองมีการจัดสัมมนาใหญ่ที่โรงแรมอิมพีเรียลควีนส์ปาร์ค เรื่อง

“ ธุรกิจเพื่อสังคม พลังขับเคลื่อนการปฏิรูประเทศไทย”  มีผู้แทนจากองค์กรภาคธุรกิจ  7-8 คนมาพูดกันว่าในส่วนของเขาจะทำอะไร  หอการค้าจะทำอะไร ธุรกิจต่าง ๆ จะทำอะไร สภาอุตสาหกรรมจะทำอะไร สมาคมธนาคารไทยจะทำอะไร สภาธุรกิจตลาดทุนจะทำอะไร สภาการท่องเที่ยวจะทำอะไร  มีตัวแทนของภาคประชาสังคมคือ สสส. เข้าไปพูดเหมือนกันว่าจะทำอะไร  ท่านนายกไปพูดปิดท้ายของครึ่งเช้า ท่านพูดดี ท่านพูดถึงบทบาทของธุรกิจกับการขับเคลื่อนประเทศไทย   ผมเองก็ไปเป็นองค์ปาฐกในตอนเช้า   ผมก็เสนออย่างเดียวกันครับว่าต้องทำงานในเชิงพื้นที่ ถึงจะเห็นรูปธรรม   ผมเสนอให้จัดกิจกรรม กระจายคลุมทั้งประเทศได้ ซึ่ง พื้นที่ที่คิดว่าเป็นพื้นที่ระดับยุทธศาสตร์คือจังหวัด ผมก็เสนอแนะว่าอาจจะลองไปทำที่จังหวัดใกล้ๆกรุงเทพฯ   เช่นจังหวัดนครปฐม เพราะบังเอิญมีมหาวิทยาลัยมหิดลอยู่และเขาก็สนใจที่จะร่วมด้วย  ฉะนั้นถ้าไปจัดที่นครปฐมก็จะมีตัวแทนขององค์กรชุมชน ของประชาสังคม ของฝ่ายวิชาการ ฝ่ายศาสนา ฝ่ายสื่อ และอื่นๆของจังหวัดนครปฐม  ส่วนภาคธุรกิจในจังหวัดนครปฐม ก็จะมี สภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครปฐม หอการค้าจังหวัดนครปฐม  สภาการท่องเที่ยวจังหวัดนครปฐม  ชมรมธนาคารจังหวัดนครปฐม และอาจมีสภาธุรกิจตลาดทุนจังหวัดนครปฐมด้วยก็ได้  ข้อนี้ผมไม่แน่ใจ แต่เฉพาะภาคธุรกิจมี 5-6 แขนง พร้อมเข้าร่วมได้อย่างแน่นอน

 

ชุดต่อไปหรือชุดที่ 3  ก็คือ ภาครัฐ ได้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัด ราชการส่วนภูมิภาค นายอำเภอ รวมถึงกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เรามีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อบจ. อบต. เทศบาล  ก็ถือเป็นภาครัฐประเภทท้องถิ่น  และก็มีหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ ที่ไปทำงานในจังหวัดนครปฐม เช่น สสส. พอช. สปสช. หลายท่านคงคุ้นเคยกับชื่อเหล่านี้ รวมไปถึงหน่วยงานของกระทรวงต่าง ๆ ที่ไปทำงานที่จังหวัดนครปฐม ส่วนในภาควิชาการก็มีมหาวิทยาลัยมหิดล  มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นต้น

 

ทั้งหมดนี้ควรมารวมพลังกัน ผมเรียกว่า “เครือข่ายพหุภาคีขับเคลื่อนจังหวัด” หรืออาจเรียกยาว ๆ ว่า  “เครือข่ายความร่วมมือพหุภาคีรวมพลังสร้างสรรค์ขับเคลื่อนจังหวัดไปสู่การพัฒนาที่พึงปรารถนา” ซึ่งเขาจะต้องไปทำงานร่วมกัน และก็คิดกันว่าอยากจะเห็นจังหวัดของเขาพัฒนาไปอย่างไร และเขาจะทำอะไรกันบ้าง อะไรที่เขาทำได้เอง อะไรที่จะนำเสนอหน่วยเหนือเพื่อให้ความเห็นชอบ เช่นบางอย่างต้องให้รัฐบาลแก้กฏหมายหรือข้อบังคับหรือแก้ไขนโยบาย บางอย่างจังหวัดทำได้เองแต่ต้องเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดทำ  หรือ อบจ.ทำ หรือเทศบาลทำ หรือ อบต.ทำ บางอย่างต้องลงไปถึงท้องถิ่นนะครับ  ชุมชนควรต้องทำอะไร ชุมชนท้องถิ่นก็ดี  โรงเรียน วัด จะทำอะไร   เกี่ยวพันกันหมดนะครับ เช่น สมมติว่าจะปรับปรุงเรื่องการท่องเที่ยว จะเกี่ยวพันไปหมดตั้งแต่ อาคารสถานที่ โบราณสถาน ร้านค้า ชุมชน ศิลปะวัฒนธรรม ศาสนา และบางแห่งเดี๋ยวนี้ฝรั่งนิยมมาเมืองไทยมาฝึกสมาธิ ทั้งหลายเหล่านี้ ถ้าพูดกันที่จังหวัด ความเป็นรูปธรรม การเห็นถึงลูกถึงคนจะดีขึ้น แล้วก็ที่ผมว่าเป็นระดับยุทธศาสตร์ก็คือว่า ที่จังหวัดเป็นที่ๆทุกฝ่ายอยู่และมีหน่วยงานจัดการอยู่ที่นั่น เบ็ดเสร็จในตัว และที่หลายฝ่ายเรียกร้องว่า  อยากให้จังหวัดจัดการตนเองให้ได้มากที่สุด     ให้ท้องถิ่นจัดการตนเองให้ได้มากที่สุด     ซึ่งรัฐบาลนี้ก็ดูว่าขานรับนะครับ เพราะมีนโยบายกระจายอำนาจการปกครองสู่ท้องถิ่นมาตั้งแต่ต้น  เมื่อ 2-3 วัน     ก็พูดกันใช่ไหมครับกับที่ประชุมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ   คำว่ากระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นไม่ใช่กระจายให้ อบจ. เทศบาล อบต. เท่านั้น แต่ต้องกระจายให้ประชาชนด้วย   โดยราชการส่วนภูมิภาควรเล่นบทเป็นผู้ประสานและเป็นผู้ที่คอยกำกับดูแลเชิงนโยบายของประเทศ หรือของรัฐบาลส่วนกลาง   แต่บทบาทหลักในการจัดการดูแลท้องถิ่นควรอยู่ที่ อบจ. อบต. เทศบาล เขาเป็นรัฐบาลของท้องถิ่นและเพื่อท้องถิ่นนะครับ  และเขาก็ควรต้องใช้ความเป็นประชาธิปไตยที่ดี นั่นคือให้ประชาชนฐานรากมีบทบาทในการเมืองการปกครองอย่างเหมาะสมและเพียงพอ ที่เราเรียกว่า Participatory Democracy คือเป็นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม หรือดียิ่งกว่านั้นก็เป็นประชาธิปไตยแบบร่วมไตร่ตรองที่ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า Deliberative Democracy

ในระดับท้องถิ่น  การมาร่วมคิดร่วมทำ  สามารถทำได้สะดวก หลายท้องถิ่นทำไปแล้ว  และทำได้ดี ในระดับจังหวัด ก็ยังสามารถให้ประชาชนมาร่วมคิดร่วมทำกันได้ไม่ยากนัก แต่ระดับชาติต้องยอมรับว่ายากหน่อย   ฉะนั้นการเอาจังหวัดเป็น Strategic Area หรือพื้นที่ยุทธศาสตร์ จึงน่าจะเหมาะสมจากจังหวัดจะส่งผลลงไปข้างล่างก็ไม่ยาก และอะไรต้องขึ้นมาข้างบนก็ขึ้นได้ไม่ยากเช่นกัน

 

การทำงานหรือกิจกรรมของภาคประชาชนหรือภาคประชาสังคม ซึ่งไม่ใช่รัฐและไม่ใช่ภาคธุรกิจ  ย่อมต้องหรือสมควรต้องโยงใยกับภาครัฐและโยงใยกับภาคธุรกิจด้วย และควรให้เป็นแบบเกื้อกูลซึ่งกันและกัน  ผมอยากเสนอตรงนี้แหละว่า วิธีทำงานร่วมกันในระดับจังหวัดตามที่กล่าวมานั้น จะเป็นวิธีที่ไปส่งเสริมภาคประชาสังคมพร้อม ๆ กับการแก้ไขปัญหา   ฟื้นฟูประเทศ แก้วิกฤติ    สร้างความปรองดอง ไปในตัว แม้ในกรณีที่จะสร้างความปรองดองโดยตรง  ก็อาจจะทำได้ไม่ยากนัก  หรือจังหวัดหนึ่งทำได้  แต่อีกจังหวัดหนึ่งอาจจะทำไม่ได้  ก็จะได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน แม้กระทั่งหมู่บ้านหนึ่งที่ดอนเมือง เขามีทั้งเสื้อแดงเสื้อเหลือง แต่พอมีคนชวนเขามานั่งคุยออก TV เขาก็มานั่งคุยกันแล้วรู้สึกดีขึ้น การได้คุยกันมักจะทำให้รู้สึกดีขึ้น  ถ้ายิ่งไม่ได้คุย เรายิ่งสร้างอคติมากขึ้นนะครับ  แต่ถ้าได้พูดได้คุยกันแล้วอคติจะค่อยๆลดลง กลายเป็นสมานฉันท์ได้ในที่สุด  ฉะนั้นในระดับจังหวัดหรือลงไปในระดับตำบล   หมู่บ้าน    การสร้างความปรองดอง  ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม จะสมารถทำได้อย่างไม่ยากเกินไปเลย

 

การไปพัฒนาจังหวัดร่วมกันเป็นการสร้างความปรองดองโดยอ้อม  พอเรามีจุดมุ่งหมายหรือเป้าประสงค์ร่วมกันความปรองดองจะเกิดขึ้นได้ง่าย   ถึงไม่ค่อยชอบหน้ากันแต่ก็พอจะอยู่ด้วยกันได้ โดยไม่ใช้กำลังเบียดเบียนหรือทำร้ายกัน   ยิ่งทำงานพัฒนาได้สำเร็จยิ่งปรองดองมากขึ้น  เหมือนทีมรักบี้อาฟริกาใต้เล่นได้ดี ชนะเลิศเป็นแชมเปี้ยนโลก  โอ้ย คนดำคนขาวกอดกันได้เลย  จากที่เคยเกลียดกันเต็มที่  สำหรับประเทศไทยเรา สมมุติที่เชียงใหม่ สถานการณ์ยังคุกรุ่นอยู่  ผมก็ว่าในเชียงใหม่คงมีคนในภาคประชาสังคมนี่แหละครับที่จะช่วยเป็นคนกลาง ช่วยพูด ช่วยทำให้เกิดความเข้าใจระหว่างคนเชียงใหม่ด้วยกัน   ยังไม่ต้องระหว่างเชียงใหม่กับกรุงเทพฯ  เอาระหว่างคนในเชียงใหม่ด้วยกันก่อน ถ้าคนในเชียงใหม่ปรองดองกันได้จะค่อย ๆ ทำให้คนในจังหวัดอื่น ๆ  จนกระทั่งระดับประเทศปรองดองกันได้ในที่สุด   แต่ขณะนี้กลายเป็นว่าระดับชาติไม่ปรองดองกันและขยายความไม่ปรองดองไปยังต่างจังหวัด  เราต้องทำสวนทางกัน ทำต่างจังหวัดให้ปรองดองกันได้  ที่ไหนทำได้แค่ไหนก็ทำแค่นั้น   แต่เชื่อว่าจะสามารถทำได้มากขึ้นมากขึ้น มันจะค่อยๆลด Degree ของความขัดแย้งส่วนกลางลง

สำหรับในส่วนกลาง ถ้าสามารถมีคนกลางหรือมีใครไปช่วยดำเนินการให้ได้  ซึ่งเรื่องนี้ไม่ง่ายเลยนะครับและจะต้องใช้ศิลปะเยอะ  แต่เราก็ควรจะต้องพยายามคิด  พยายามทำไป อาจต้องดั้นด้นไป  ไม่ได้ทางนี้เอาทางนั้น  ไม่ได้ด้วยวิธีนั้นมาพยายามวิธีนี้ พยายามไปเรื่อย ๆ ผมเชื่อว่าเราจะสำเร็จได้ในที่สุด  ก็หวังว่ารัฐบาลก็ดี  คณะกรรมการอาจารย์คณิตก็ดี  ที่มุ่งจะสร้างความปรองดอง จะสามารถทำได้สำเร็จในระยะเวลาที่ไม่นานเกินไป  เพราะสิ่งที่เป็นปัญหาขัดข้องของประเทศมากที่สุดขณะนี้ก็คือความแตกแยก  นี่แหละไม่มีอะไรร้ายแรงเท่า  พอแตกแยกแล้วก็ทำให้ทุกอย่างเสียไปหมด  บรรยากาศในสังคม ในครอบครัว   การเศรษฐกิจ  ภาพลักษณ์ต่างประเทศ  สารพัดอย่างเสียไปหมด  เราเองก็เดือดร้อน  ลูกหลานเราก็เดือดร้อน  เราจะเดือดร้อนเสียหายกันมากถ้าเราแก้เรื่องนี้ไม่ตก  แต่ผมเชื่อว่าเราจะสามารถแก้ให้ตกได้
และเราต้องพยายามแก้ให้ได้
 วิธีหนึ่งที่จะแก้ได้ก็ด้วยภาคประชาสังคมนี่แหละครับ   ถ้าเราส่งเสริมภาคประชาสังคมดี ๆ จะมีส่วนช่วยได้แน่นอน   ถ้าภาคประชาสังคมเข้มแข็งหมายถึงสังคมเราเข้มแข็ง ถ้าสังคมเราเข้มแข็งเรื่องความแตกแยกและปัญหาต่าง ๆ ของสังคมจะแก้ไขหรือป้องกันได้   เป็นเรื่องไก่กับไข่นะครับ  ขณะนี้สภาพต่าง ๆ ไม่เอื้ออำนวย   สังคม  ประชาสังคม ก็อ่อนแอไปด้วย   แต่ถ้าสังคม  ประชาสังคมเข้มแข็งขึ้นมา   ก็จะทำให้สภาพต่าง ๆ ในสังคมเอื้ออำนวยมากขึ้น ก็กลับไปช่วยสังคม ช่วยประชาสังคม  เป็นเรื่องที่เราต้องมาช่วยกันคิดว่า เราจะตัดวงจรที่เลวตรงไหน  จะเริ่มวงจรที่ดีตรงไหน

ผมคิดว่าเราจะเริ่มตรงไหนก็ได้  ถ้าเราเริ่มอย่างที่ผมเสนอแนะว่าเราลองไปจัดกระบวนการที่จังหวัดโดยอาจจะเริ่มต้นที่จังหวัดนครปฐม  เหตุเพราะอยู่ใกล้และเมื่อวานผมก็ได้พูดกับบางท่านและหลายท่านตอบรับ และอาจจะมีการประสานความร่วมมือระหว่างหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ที่เขาจัดสัมมนาเมื่อวาน  สสส. มหาวิทยาลัยมหิดล   หอการค้า สภาอุตสาหกรรม   เป็นต้น การไปจัดที่จังหวัดเราจะได้รูปธรรมและลงมือทำได้เลย  เช่นจัดระบบท่องเที่ยวให้ดีขึ้นได้เลย จัดระบบอุตสาหกรรมให้ดีขึ้นได้เลย  ให้มีปัญหากับประชาชนน้อยลง  เกื้อกูลประชาชนมากขึ้น  หรือว่าดูแลเรื่องการเงินการทองของประชาชน  แก้ปัญหาหนี้สิน พัฒนาการเกษตรที่เหมาะสม  กิจกรรมรูปธรรมพวกนี้แหละครับ ที่ผู้เกี่ยวข้องสามารถลงไปทำได้เลย  ถ้าทำอย่างนั้นได้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี   ส่วนที่จะไปขยายวิธีการส่งเสริม สนับสนุนประชาสังคมในรูปแบบอื่นๆ  ก็สามารถทยอยทำตามแนวทางที่เขียนไว้ในระเบียบนั่นแหละครับ   เช่นควรจะมีงานวิจัย และการสนับสนุนงานวิจัย ควรจะมีการพัฒนาองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับการส่งเสริมประชาสังคมเพื่อการพัฒนา  ควรจะมีการพัฒนานวัตกรรมด้านการพัฒนาสังคม     และการสนับสนุนประชาชนในการรวมกันเป็นกลุ่มหรือเป็นองค์กรด้านประชาสังคม  หรือเป็นเครือข่ายประชาสังคม  การส่งเสริมความเข้มแข็งของกลุ่ม ขององค์กรและของเครือข่ายประชาสังคม  การสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมขององค์กรด้านประชาสังคม  ซึ่งทั้งหมดนี้ระบุไว้ชัดเจนในระเบียบ ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถนำมาใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานได้โดยสะดวก

พูดถึงงานวิจัยผมเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก   หลายครั้งที่เราทำงานพัฒนา เราใช้สามัญสำนึก
ใช้ความรู้สึก  ความเชื่อ  แต่ขาดงานวิจัยสนับสนุน  ถ้าเรามีงานวิจัยสนับสนุนในเรื่องการพัฒนาประชาสังคม จะทำให้สามารถทำได้ดีและทำได้เร็วอย่างมีความมั่นใจมากขึ้น ในการนี้คงจะต้องมีการลงทุนลงแรงพอสมควรหรือให้มากพอ   แต่พอได้ผลมาแล้วจะเป็นเครื่องมือสำคัญช่วยให้เราเห็นว่า  เราเป็นอย่างไรกันแน่ จุดแข็งเราอยู่ตรงไหน จุดอ่อนเราอยู่ตรงไหน ถ้าจะพัฒนาต่อไปจะต้องทำอะไรบ้างและมีอะไรเป็นอุปสรรคขัดขวางบ้าง  ถ้าอุปสรรคเป็นกฎหมายข้อบังคับจะต้องแก้ตรงไหน  ถ้าเป็นประเพณีวัฒนธรรมจะต้องแก้ตรงไหน หรือต้องส่งเสริมตรงไหน  งานวิจัยช่วยได้มาก อย่างนี้เป็นต้น นี่แค่เป็นตัวอย่างนะครับ

ผมคิดว่าที่ผมได้แลกเปลี่ยนความคิดกับท่านทั้งหลาย หรือว่าปรารภความคิดกับท่านทั้งหลายคงเป็นประโยชน์บ้างตามสมควร  สำหรับประยุกต์ใช้ในการเริ่มต้นงานอันสำคัญของ “คณะกรรมการส่งเสริมประชาสังคมเพื่อการพัฒนาแห่งชาติ”  และท่านก็ได้ผู้นำที่ดี  ทั้งท่านรองนายกสุเทพและท่านรัฐมนตรีอิสระ  ท่านปลัดทั้งคนเดิมที่ดำรงตำแหน่งอยู่และที่จะขึ้นมาใหม่ในเวลาอันใกล้นี้    คงจะส่งเสริมสนับสนุนทีมงานต่างๆของกระทรวง พม. ซึ่งผมเชื่อว่ามีความพร้อมอยู่  มีความกระตือรือร้นที่จะทำงานด้านนี้อยู่  และงานด้านนี้ก็ได้ทำบ้างแล้ว ไม่ใช่มาเริ่มใหม่  การที่จะสานต่อไปจึงน่าจะไม่ยากจนเกินไป   ซึ่งจะสอดคล้องต้องกัน เสริมหนุนซึ่งกันและกันกับงานอื่นๆของกระทรวงได้เป็นอย่างดี   อาจกล่าวได้ว่าถ้าทำงานประชาสังคมได้เต็มที่สมบูรณ์แบบ   จะเป็นงานหลักของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  และจะสอดแทรกเข้าไปในแทบจะทุกเรื่องที่เป็นภารกิจหน้าที่ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  บ่ายนี้ผมก็ต้องไปพูดอีกที่หนึ่ง เรื่องประชาสังคมกับการป้องกันแก้ไขปัญหาของ เด็ก เยาวชน คือเรื่องที่เกี่ยวพันกับประชาสังคมจะสอดคล้องกันหมดครับ  เพราะประชาสังคมที่ผมกล่าวถึงตั้งแต่ตอนต้นว่าคือกิจกรรมของประชาชนที่รวมตัวกันโดยเฉพาะในเรื่องที่สร้างสรรค์ อย่างไรก็ดีคำว่าประชาสังคม อาจมีความหมายในทางที่ดีก็ได้  ไม่ดีก็ได้นะครับ  แก๊งรถซิ่งจักรยานยนต์นี่ก็คือประชาสังคมเหมือนกัน  แต่เราคงไม่คิดว่าดีใช่ใหมครับ  คือคำว่า “ประชาสังคม” จะคล้ายกับคำว่า “วัฒนธรรม” คือ ดีก็ได้  ไม่ดีก็ได้  คำว่า “ ประชาธิปไตย” ก็เป็นอีกคำหนึ่งที่สามารถเป็นประชาธิปไตยแบบเลวก็ได้   แบบดีก็ได้  ฉะนั้นการที่ประชาสังคมอาจดีก็ได้เลวก็ได้นั้น  เราต้องยอมรับ อะไรไม่ดีเราก็เลิกเสียหรือแก้ไข ป้องกัน ไม่ให้คงอยู่ต่อไป  ส่วนอะไรดีเราก็ควรส่งเสริมสนับสนุนให้มีมากขึ้นหรือดีมากขึ้น

 

แต่ถ้ากล่าวโดยทั่วไป “ประชาสังคม” คือกิจกรรมที่ดีของประชาชน  เป็นกิจกรรมที่สร้างสรรค์ซึ่งควรได้รับการส่งเสริมสนับสนุน   แต่การส่งเสริมสนับสนุนถ้าเราเลือกจุดที่เป็นยุทธศาสตร์  เช่นกรณี
ที่ผมเสนอเกี่ยวกับ  “การรวมพลังเครือข่ายพหุภาคีขับเคลื่อนจังหวัด”  นั้น  ผมคิดว่าเป็นยุทธศาสตร์สามารถทำได้ทุกจังหวัด   แต่อย่าไปทำพร้อมกันทุกจังหวัดทีเดียวเลยนะครับ  ควรเริ่มเพียง 1,2,3 จังหวัด แล้วค่อยขยาย  ถ้าทำแล้วผลออกมาดี  จะมีจังหวัดอื่นตามมา และจะไปได้เร็วในภายหลัง โดยเป็นการไปเร็วที่ได้ผลดีด้วย 
คือถ้าเราไปเริ่มเร็วเกินไป มักจะทำไม่ดี แล้วกลายเป็นช้าในภายหลัง  ฝรั่งเขามีคำพูดว่า  “Go slow in order to go fast ”  หมายความว่า ไปช้า ๆ ก่อนแล้วจะเร็วทีหลัง แต่ถ้าเราไป Go Fast ในตอนแรกในที่สุดจะต้อง Go Slow เพราะจะต้องกลับมาแก้ไขข้อติดขัดหรือข้อขัดข้องต่างๆ นิสัยคนไทยมักจะเป็นแบบหลัง ทำอะไรชอบทำเร็วและก็เกิดการติดขัดยุ่งเหยิงนานาประการ  ก็เลยต้องมารื้อของเก่าทำใหม่  ทำให้เรื่องเดินไปได้ช้า ในภายหลัง แต่ถ้าเริ่มช้าหน่อย อย่างในประเทศญี่ปุ่น เวลาจะตัดสินใจทำอะไร เขาจะต้องถามคนเยอะแยะไปหมด แม้นักการภารโรงเขาก็ถามด้วย   แต่เวลาตัดสินใจได้แล้วเป็นเรื่องที่ทุกคนรู้เรื่องหมดและเห็นชอบ จึงสามารถปฏิบัติไปได้อย่างราบรื่นและรวดเร็วมากเลย  คือช้าทีแรกแต่ไปเร็วทีหลัง ผมก็หวังว่าเรื่องการพัฒนาประชาสังคมจะคล้ายๆกันนะครับ  เริ่มช้า ๆ หน่อยแต่ว่าทำให้ดี จะไปได้เร็วทีหลัง

 

ก่อนจบการปาฐกถา  ผมขอแถมเรื่องที่ผมทำมาแล้ว โดยเริ่มต้นค่องข้างช้า แต่ไปได้ดีและไปได้เร็วมากในภายหลัง  นั่นคือเรื่อง โครงการแก้ปัญหาหนี้สินและพัฒนาชีวิตครู  เรื่องนี้ผมเริ่มต้นทำเมื่อครั้งเป็นผู้อำนวยการธนาคารออมสิน  ครูเป็นแสนคนมีปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัว  ไปหากู้ที่ไหนก็ไม่มีใครให้     จะไปทำโครงการกับธนาคารก็ไม่มีธนาคารไหนยอมทำ   พอมาที่ธนาคารออมสิน ผู้บริหารธนาคารบอกว่า โอ้ย เรื่องครูเป็นหนี้จะมากู้เงินธนาคารไปล้างหนี้ไม่ไหวหรอก   เรื่องเช่นนี้น่าจะทำไม่ได้  แต่ผมคิดอีกอย่างหนึ่ง  ผมว่ามันต้องทำได้ ต้องมีวิธีที่ทำได้   ก็มานั่งครุ่นคิดหาวิธีการอยู่พักใหญ่ แล้วก็ปรึกษากับครูกับทางราชการ คือกระทรวงศึกษาธิการ   ในที่สุดเรานั่งคุยกัน 6 เดือน เพื่อจะพัฒนาวิธีการขึ้นมา ผมถึงบอกว่าสำคัญที่กระบวนการไง  ผมไม่ได้เริ่มต้นโดยพิจารณาเลยและตัดสินใจว่าทำได้หรือทำไม่ได้  ผมใช้กระบวนการปรึกษาหารือ นานถึง 6 เดือน  จากทัศนคติครูที่เอะอะจะเอาแต่เงินกู้อย่างเดียว ส่วนผู้บริหารและพนักงานธนาคารก็จะห่วงเรื่องหลักประกันเป็นต้น  จากทัศนคติแบบนี้ในที่สุดเข้ามาหากัน ครูก็เริ่มได้คิดว่ามันไม่ใช่เงินกู้อย่างเดียวนะ แต่จะต้องมีการ ปรับวิธีคิด ปรับวิถีชีวิต ปรับพฤติกรรม ต้องมีการจัดการองค์กรร่วมกัน และอื่น ๆ    ผู้บริหารและพนักงานธนาคารก็เริ่มตระหนักว่าเราไม่ได้ทำหน้าที่ให้เงินกู้โดยมีหลักประกันเท่านั้น แต่เราต้องไปสนับสนุนดูแลเรื่องการพัฒนาบุคคล การพัฒนาจิตใจ การจัดองค์กรต่างๆ และเงื่อนไขอีกหลาย ๆ อย่างภายใต้โครงการนี้  ในที่สุดเกิดเป็นระบบที่เราเรียกว่า “เครือข่ายพัฒนาชีวิตครูเป็นระบบที่ซับซ้อนหน่อย แต่ว่าละเอียดและเป็นแผนทั่วประเทศ   พอเริ่มปล่อยเงินกู้ไป ปีแรกได้ 2-3 พันล้าน เจ้าหน้าที่บอกว่าปีนี้ได้ 3 พันล้าน ปีหน้าตั้งเป้า 6 พันล้าน ผมบอกว่ามันต่ำไปนะ   ปีหน้าควรจะเป็น 8 พันล้าน เจ้าหน้าที่ยังยืนยันว่าไม่ไหวแน่   แต่พอเอาเข้าจริงตัวเลขสินเชื่อครูในปีถัดมาออกมาเป็นกว่าหมื่นล้าน  เวลาผ่านไป 10 ปี เดี๋ยวนี้เงินกู้ที่ปล่อยไปถ้านับสะสมก็ประมาณหนึ่งแสนล้าน โดยมียอดคงเหลือประมาณ 5 หมื่นล้านบาท และทั้งหมดนี้ใช้เงินธนาคารออมสินทั้งสิ้นไม่ต้องใช้เงินของรัฐบาลเลยแม้แต่บาทเดียว   ดังนั้นโครงการนี้ครูได้ประโยชน์ ราชการได้ประโยชน์   ธนาคารออมสินเองก็ได้ประโยชน์ เป็น win- win-win นี่เป็นวิธีเชิงยุทธศาสตร์ ที่จะเห็นว่าทีแรกช้าแต่ผมคำนวณไว้แล้วว่ามันจะช้าในช่วงต้น แต่ในภายหลังจะเร็วขึ้น ที่เรียกว่าเติบโตแบบ  Exponential  โครงการพัฒนาชีวิตครูในตอนหลังเร็วมากจนคณะกรรมการแบงค์ตกใจ  มาดูว่าทำไมเงินกู้นี้ขึ้นเร็วมาก มีปัญหาความเสี่ยงหรือไม่ มาดูจริง ๆ ก็ไม่มีความเสี่ยงเท่าไร  อัตราหนี้สูญน้อยมากหรือแทบไม่มีเลย  แบงค์ชาติมาตรวจบอกว่าโอ้โห ธนาคารออมสินมีสินทรัพย์อยู่เรื่องหนึ่งที่ดีมากก็คือเงินกู้ครู เพราะเป็นสินเชื่อคุณภาพดี ทำรายได้ให้ธนาคารออมสินอยู่ในเกณฑ์ดี  ครูได้ประโยชน์มาก  ราชการก็ได้ประโยชน์โดยแทบไม่ต้องลงทุนอะไรเลย  เพียงแต่ต้องให้ความร่วมมือในการหักหนี้  คือหักเงินเดือนเวลาชำระหนี้ ที่ผมเล่ามานี้เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า  ต้องใช้กระบวนการหรือ Process ให้ดี    สร้างทัศนคติที่ดีให้สำเร็จ  แล้วสาระที่ดีจะทยอยตามมา  เช่น ทัศนคติเรื่องครูต้องทำงานแบบไตรภาคี  หลายฝ่ายต้องมาร่วมกันตัดสินใจ อย่าตัดสินใจฝ่ายเดียว ต้องร่วมคิดร่วมทำอยู่เสมอ และต้องพัฒนาควบคู่ไปกับการกู้เงิน ถ้ากู้เงินโดยไม่พัฒนาก็จะกลับไปเป็นหนี้เสียอย่างเดิม  ถ้ากู้เงินบวกกับการพัฒนา ครูจะแก้ไขปัญหาได้  หลายคนเหมือนตายแล้วเกิดใหม่ บางคนเดินผ่านธนาคารออมสินนี่ยกมือไหว้ขอบคุณที่ช่วยชีวิตไว้ มีบางคนเกือบฆ่าตัวตายอยู่แล้วแต่มากลับตัวได้  ขณะนี้โครงการในลักษณะคล้ายกันได้ขยายไปให้ข้าราชการสามัญ ให้ข้าราชการทหาร  ให้ข้าราชการตำรวจ เฉพาะครูก็เกือบแสนคนที่เข้าโครงการ  ถ้ารวมข้าราชการอื่นด้วยก็เกินแสนไปหลายหมื่น  รวมจำนวนเงินที่ได้ปล่อยไปเกินกว่าแสนล้าน นี้เป็นตัวอย่างของการทำเรื่องที่ดูเหมือนยากแต่ว่าด้วยกระบวนการที่ดี   ด้วยวิธีการที่ดี สามารถทำสำเร็จได้

ในโอกาสนี้ ผมจึงอยากเสนอให้ ท่านรองนายกสุเทพและกระทรวง พม. สนับสนุนส่งเสริม เรื่องประชาสังคมซึ่งอาจดูว่ายาก  เพราะมันใหญ่มากสลับซับซ้อนมาก ประชาสังคมไม่ใช่เป็นหนึ่งเดียวแต่หลากหลายมาก ทะเลาะกันก็มี ทะเลาะในกลุ่มเล็กของตัวก็มี   ทะเลาะระหว่างกลุ่มก็มีแต่อาจไม่รุนแรงมาก  แต่ประชาสังคมในภาพรวมหรืออย่างน้อยก็เป็นส่วนใหญ่ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี เพียงแต่อาจจะดีในระดับต่าง ๆกัน   และเรื่องประชาสังคมจะโยงใยอย่างดีมากกับเรื่องปฏิรูปทั้งหลายที่กำลังจะทำกันอยู่ รวมทั้งโยงใยได้กับเรื่องความปรองดองที่รัฐบาลและสังคมไทยโดยรวมอยากให้เกิดขึ้น  ขอให้กำลังใจท่านรองนายก ท่านรัฐมนตรี และทุก ๆ ท่านในที่นี้  ผมขอเอาใจช่วยและส่งใจส่งความคิดไปช่วยนะครับ  ในส่วนที่ผมยังพอมีแรงที่จะมาช่วยพูดช่วยทำเช่นในวันนี้ก็ยินดีครับ แต่อาจทำได้ไม่บ่อยนักด้วยเหตุผลด้านสุขภาพของร่างกาย ที่ไม่ถึงกับดีนัก แม้สุขภาพใจจะยังดีอยู่

บัดนี้ก็ได้เวลาที่พอสมควร อาจจะพูดนานไปนิดหนึ่ง แต่หวังว่าท่านผู้ฟังคงได้ประโยชน์บ้าง ตามสมควร  และขอบพระคุณท่านรองนายกสุเทพ  ท่านรัฐมนตรีอิสระ ที่ให้ความกรุณานั่งฟังอยู่ ก็ถือว่าเป็นการแลกเปลี่ยนความเห็น ท่านเองคงมีความคิดอะไรอยู่แล้ว แต่อาจฟังผู้อื่นด้วยเพื่อช่วยให้ความคิดของท่านดียิ่งขึ้นไปอีก  ขณะเดียวกันท่านก็ย่อมก็ได้ประโยชน์จากความคิดของคณะกรรมการที่มาจากหลากหลาย และมาช่วยกันทำงานเพื่อส่วนรวม งานด้านประชาสังคมเป็นงานเย็นไม่ใช่งานร้อน   แต่ถ้าทำได้ดีจะสามารถช่วยทำให้งานร้อนที่กำลังเกิดขึ้น ค่อย ๆ เย็นลงได้  พร้อมกับช่วยให้สังคมเดินไปข้างหน้าได้ดีขึ้น เกิดเป็นประโยชน์สุขให้แก่ทุกคนทุกฝ่าย ผมขอเอาใจช่วยอีกครั้งหนึ่งและขอขอบคุณครับ

 

                                                                                                              ถอดเทป/เรียบเรียง

                                                                                                         โดยนางวารุณี  ชินวินิจกุล

                                                                                                     นักสังคมสงเคราะห์ชำนาญการ

                                                                กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/385065

<<< กลับ

10 ปี พอช. พลังองค์กรชุมชน ปฏิรูปสังคมจากฐานราก

10 ปี พอช. พลังองค์กรชุมชน ปฏิรูปสังคมจากฐานราก


 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/406003

<<< กลับ

ปฏิรูปประเทศไทยโดยใช้จริยธรรม

ปฏิรูปประเทศไทยโดยใช้จริยธรรม


(เอกสารประกอบการปาฐกถาพิเศษ  เรื่อง  “ปฏิรูปประเทศไทยโดยใช้จริยธรรม”  ใน งานสัมมนาทางวิชาการ หัวข้อ  “จริยธรรมกับการเมืองไทย ฤาจะเป็นเพียงเส้นขนาน”  จัดโดย  สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน  เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2553  ณ  โรงแรม  คอนราด  กรุงเทพมหานคร)

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/410091

<<< กลับ

การปฏิรูป (ประเทศไทย) จะไม่สำเร็จด้วยดี ถ้า …

การปฏิรูป (ประเทศไทย) จะไม่สำเร็จด้วยดี ถ้า …

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/431376

<<< กลับ

มรรค 8 / บัญญัติ 8 ประการ ในการปฏิรูป (ประเทศไทย)

มรรค 8 / บัญญัติ 8 ประการ ในการปฏิรูป (ประเทศไทย)


   การปฏิรูป(ประเทศไทย) จะ ไม่ สำเร็จด้วยดี   ถ้า …..

  1.  ประชาชน โดยเฉพาะประชาชนฐานราก  ไม่มีบทบาทสำคัญ และไม่เป็นแกนหลักในการปฏิรูป
  2. ทุกภาคส่วน รวมถึง ภาคประชาชน  ภาคประชาสังคม  ภาควิชาการ ภาคธุรกิจ  ภาครัฐ  ไม่ร่วมมือรวมพลังสร้างสรรค์  ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมติดตามประเมินผล ร่วมเรียนรู้และปรับปรุงพัฒนาหรืออภิวัฒน์อย่างต่อเนื่อง
  3. ไม่ มี “เสาหลัก”  หรือ หลักการสำคัญ  หรือเป้าหมายสำคัญ    3  ประการในการปฏิรูป  ได้แก่      (1) ความดี  (คุณธรรม)  (2) ความสามารถ  (3) ความสุข (สุขภาวะ)  ที่ดีพอ มากพอ  และได้สมดุลกัน
  4. ไม่ มีการใช้ข้อมูล  ความรู้  วิจารณญาณ  ปัญญา  ที่ดีพอ ในการดำเนินการ  และหรือเสนอแนะ การปฎิรูป
  5. ไม่ มีการสื่อสารหลากหลายรูปแบบ  ที่ดีพอ เพื่อให้เกิดการรับรู้ ความเข้าใจ แรงจูงใจ  แรง  บันดาลใจ  ฯลฯ ในหมู่ประชาชนและสังคมโดยรวม  จนสามารถนำประชาชนเข้ามามีบทบาทในการปฏิรูปอย่างสมัครใจและเต็มใจ
  6. ไม่ มีการรวมตัว  ร่วมคิด ร่วมทำ ในพื้นที่ต่าง ๆ  ตามประเด็นต่าง ๆ   อย่างเป็นขบวนการ  และเป็นเครือข่ายเพื่อการปฏิรูป  ที่ดำเนินงานอย่างจริงจัง มุ่งมั่น พากเพียร อดทน เสียสละ  ฯลฯ อย่างต่อเนื่อง
  7. ไม่ มีการจัดการที่มีคุณภาพ  มีศิลปะ  และมีประสิทธิภาพ  ที่ดีพอ  ในทุกพื้นที่   ทุกองค์กร  ทุกเรื่อง และทุกระดับ รวมถึงระดับชาติ
  8. ไม่ มีการสนับสนุนร่วมมือเชิงนโยบายและงบประมาณ  รวมถึงการมี  นโยบาย แผนงาน โครงการ  กฏหมาย  กฎกระทรวง  ข้อบังคับ ระเบียบ ข้อบัญญัติ  (ท้องถิ่น) ฯลฯ   ที่เหมาะสม  โดยสถาบันหรือองค์กรในภาครัฐ   รวมถึง  สถาบันนิติบัญญัติ  สถาบันตุลาการ  ฝ่ายบริหาร / รัฐบาล/คณะรัฐมนตรี  กระทรวง/กรม/กอง หน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ  องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ  องค์การมหาชน ฯลฯ  และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกรูปแบบ

ดังนั้น….. ถ้าจะปฏิรูป  (ประเทศไทย) ให้สำเร็จด้วยดี จึงต้องใช้…..

                             “มรรค 8 /  บัญญัติ 8 ประการในการปฏิรูป(ประเทศไทย)”

                                    ซึ่งได้แก่การ    ตัดคำว่า “ไม่”  ออกจากทุกข้อ  ที่กล่าวข้างต้น

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/433172

<<< กลับ