อนาคตประเทศไทยบนพื้นฐานความปรองดอง

อนาคตประเทศไทยบนพื้นฐานความปรองดอง


(คำบรรยาย ในงานสัมมนาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรรมการบริหาร และรัฐมนตรีพรรคประชาธิปัตย์ ณ โรงแรมเมอร์ลิน บีช รีสอร์ท จังหวัดภูเก็ต วันที่ 31 กรกฎาคม 2553)

 

เรียน ท่านผู้มีเกียรติที่รักและนับถือทุกท่าน

                ผมยินดีและเต็มใจมาพูดแลกเปลี่ยนความเห็นกับสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ เพราะผมถือว่าพรรคการเมืองเป็นกลไกที่สำคัญของบ้านเมือง เป็นเสาหลัก และเป็นแรงผลักดันที่สำคัญมาก แต่เราก็รู้กันอยู่ว่าเสาหลักนี้ยังคลอนแคลนอยู่ ยังไม่เป็นเสาหลักที่มั่นคงแข็งแรงให้กับบ้านเมือง บ้านเมืองเราประสบวิกฤต เสาหลักก็คือบรรดาพรรคการเมืองทั้งหลายนะครับไม่ใช่เฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ พรรคการเมืองทั้งหลายยังไม่ได้เป็นปัจจัยที่เกื้อกูลเท่าที่ควร  ซ้ำยังเป็นปัจจัยที่เป็นต้นเหตุของปัญหา ขณะเดียวกันก็ไม่สามารถเข้าไปแก้ไขสถานการณ์ได้ดีพอ   เป็นคำถามให้เราต้องคิดโดยเฉพาะในช่วงเวลาที่บ้านเมืองวิกฤตและรัฐบาลโดยเฉพาะท่านนายกฯอภิสิทธิ์กับหลายๆฝ่ายในสังคมได้มีความตั้งใจร่วมกันว่าจะต้องทำ 2 อย่างให้เกิดขึ้น คือคำว่าปรองดองคำหนึ่งและคำว่าปฏิรูปอีกคำหนึ่ง เป็นคำ 2 คำซึ่งวนเวียนอยู่ในจิตใจของพวกเราและของประชาชนโดยทั่วไป

 

ความปรองดองกับการปฏิรูป  เจ้าของปัญหาควรเป็นผู้แก้ปัญหา

                ผมคิดว่าประชาชนโดยทั่วไปต้องการ  2 อย่างนี้แหละครับ   คือความปรองดองกับการปฏิรูปความปรองดองสำคัญเพราะว่าเราแตกแยก  เราสับสน เราเป็นปฏิปักษ์กันมามากพอและนานพอ   เกิดความรุนแรงที่เป็นวิกฤตมหาวิกฤตสำหรับประเทศไทยนะครับ อันที่จริงถ้าเทียบกับหลายๆประเทศ วิกฤตประเทศไทยไม่ถึงกับแรงเท่าไหร่ เทียบกับอัฟริกาใต้สมัยที่เขารบกันเป็นสิบๆปี ฆ่าฟันล้มตายเป็นอันมาก จนมาได้คิดทีหลังว่า  โธ่เอ๊ย เรามาฆ่ากันทำไม คุยกันดีกว่า พอคิดได้ดังนี้สองฝ่ายมาคุยกัน  เกิดสันติภาพ มีการเลือกตั้งได้ประธานาธิบดีที่คนส่วนใหญ่พอใจ   ประธานาธิบดีผู้นั้นคือ เนลสันมันเดลลา เขาริเริ่มกลไกที่เรียกว่า Truth and Reconciliation Commission คือคณะกรรมาธิการค้นหาความจริงและสร้างความปรองดอง ซึ่งเราประยุกต์มาใช้เป็นคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติที่มีท่านอาจารย์ ดร. คณิต ณ นคร เป็นประธาน แต่ถ้าเทียบกับของอัฟริกาใต้ต้องถือว่าของเรายังไม่สู้จะชัดเจนนัก  คือก้ำๆ กึ่งๆ ครึ่ง ๆ กลางๆ   แต่มีความตั้งใจทั้งโดยรัฐบาลและโดยท่านอาจารย์คณิตเองที่จะให้การค้นหาความจริงนำไปสู่ความปรองดอง แต่จะต้องค้นหาความจริงให้สมบูรณ์ก่อนหรือไม่  หรือสามารถสร้างความปรองดองได้เลย  เป็นสิ่งที่น่าคิดน่าพิจารณาโดยเฉพาะท่านทั้งหลายที่เป็นฝ่ายการเมือง  ซึ่งที่จริงฝ่ายการเมืองควรจะเป็นฝ่ายนำด้วยซ้ำไปนะครับในเรื่องการสร้างความปรองดอง เพราะถ้าจะว่าไปเหตุก็มาจากท่าน คำว่าท่านนี่ผมหมายถึงนักการเมืองทั่วไปนะครับ เหตุมาจากนักการเมือง  คนที่จะแก้ได้ดีที่สุดคือนักการเมือง

                เรื่องของใครคนนั้นแก้ดีที่สุด เช่นเราจะแก้ปัญหาความยากจนปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน  ให้ประชาชนแก้เองดีที่สุดครับ บังเอิญผมทำเรื่องนี้มาประมาณ 20 ปีก็รู้ดีว่าเรื่องของชุมชน ท้องถิ่น เรื่องประชาชน แม้แต่เรื่องครูที่มีปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัว ผมได้มีโอกาสสนทนากับท่านรัฐมนตรี ชินวรณ์ เมื่อเช้า  ก็เล่าให้ฟังว่าได้ริเริ่มโครงการที่เรียกว่าโครงการพัฒนาชีวิตครู ในสมัยที่ผมเป็นผู้อำนวยการธนาคารออมสิน คนแรกที่ไปทำให้เกิดการพูดจากันก็คือท่านอาคม เอ่งฉ้วน แล้วเมื่อโครงการเกิดขึ้นหลังจากได้ปรึกษาหารือกันเป็นเวลา 6 เดือน ตรงนี้สำคัญนะครับ เรื่องยากๆเช่นนี้เราผลีผลามทำก็ไม่ได้ ผลีผลามจะได้ผิวเผิน   ตอนที่ครูกับกระทรวงศึกษาธิการมาหาผมให้ช่วยแก้ปัญหาหนี้สินครูที่ล้นพ้นตัว ไม่มีใครรับนะครับ ธนาคารอื่นไม่รับ ผู้บริหารธนาคารออมสินก็ไม่รับ  แต่ผมเนื่องจากว่ายังใหม่ ไปรับหน้าที่ใหม่ๆ แล้วผมประกาศตั้งแต่วันเข้าไปรับหน้าที่ว่าธนาคารออมสินต้องเป็นธนาคารเพื่อสังคม ผมก็พูดว่า เรื่องปัญหาครูเป็นปัญหาสังคมนี่ครับ แล้วเราจะหลีกหนีไม่เข้าไปช่วยแก้ไขได้อย่างไร ผมก็ชวนครู ชวนกระทรวงศึกษาธิการ มานั่งคุยรวมกันเป็น 3 ฝ่าย  โดยใช้หลักการสำคัญที่ว่า ปัญหาของใครคนนั้นต้องแก้ ก็บอกว่าปัญหาครู ครูต้องแก้  แต่คุณต้องหาวิธีแก้ด้วย เราคุยกัน 6 เดือนครับกว่าจะตกลงกันได้แล้วก็สามารถดำเนินงานได้ พอดีเป็นช่วงที่ท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการ ดร. วิชัย ตันศิริ เข้ามาเป็นรัฐมนตรี แล้วก็มีข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการที่เอาใจใส่เรื่องนี้ มาช่วยกันทำ  งานก็เริ่มไปได้ด้วยดีนะครับ นับถึงปัจจุบัน 10 ปีกว่าผ่านไป ครูเข้าโครงการประมาณ 120,000 คน ใช้เงินธนาคารออมสินไปประมาณ120,000 ล้านบาท เป็นเงินหมุนเวียนนะครับ  ขณะนี้มียอดเงินให้กู้คงเหลือประมาณ 58,000 ล้านบาท  โครงการนี้ได้รับการประยุกต์ขยายไปถึงข้าราชการสามัญ ข้าราชการทหาร ข้าราชการตำรวจ ข้าราชการท้องถิ่น  ดังนั้นถ้ารวมข้าราชการทุกประเภทที่มาใช้บริการแก้หนี้กับธนาคารออมสิน จะมีจำนวนสะสมถึง 320,000 คน โดยประมาณ  รวมเป็นเงินให้กู้คงเหลือประมาณ 170,000 ล้านบาท  นั่นเป็นเชิงปริมาณ สำหรับด้านคุณภาพ คิดว่าส่วนที่ดีน่าจะเกิน 50 เปอร์เซนต์ อาจถึง 75 เปอร์เซนต์ โดยยังมีส่วนที่ไม่ดีหรือยังดีไม่พอประมาณ 25 เปอร์เซนต์  ผมก็เรียนท่านรัฐมนตรีชินวรณ์ว่า  เพียงแต่สานต่อเรื่องนี้  รักษาเอาส่วนดีไว้  เสริมให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น   ขยายส่วนดีให้มีมากขึ้น แล้วก็ไปลดส่วนที่ไม่ดีให้เหลือน้อยลง   จุดสำคัญคือต้องกลับไปที่หลักการพื้นฐานครับ  ปัญหาของใครคนนั้นต้องแก้ ปัญหาครู ครูต้องแก้ แต่มีเพื่อนมาช่วยสนับสนุนด้วย  ซึ่งในกรณีนี้ก็ได้แก่ธนาคารออมสินกับกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้ช่วยสนับสนุนครูในการแก้ปัญหาของครู   โครงการก็จะไปได้ดี เป็นผลดีกับทุกฝ่าย

                ถ้าเอาเรื่องการแก้ปัญหาหนี้ครูมาประยุกต์กับเรื่องการสร้างความปรองดอง ปัญหาความแตกแยกและไม่ปรองดองเกิดขึ้นจากนักการเมืองเป็นปฏิปักษ์กัน แล้วนำประชาชนเข้ามาสมทบกลายเป็นความแตกแยกทั่วประเทศ   ฉะนั้นคนที่จะแก้ได้ก็คือนักการเมืองกับประชาชน  นักวิชาการแก้ไม่ได้ คุณหมอประเวศ คุณอานันท์  แม้กระทั่งอาจารย์คณิต แก้เองไม่ได้  แต่สามารถเป็นคนไปกระตุ้นหรือคนไปเสริมหนุนให้ฝ่ายการเมืองกับฝ่ายประชาชนเข้ามาร่วมกันแก้ได้  ซึ่งผมมีหลักง่ายๆนะครับในการแก้ปัญหาความไม่ปรองดองหรือแก้ปัญหาความแตกแยก  คือต้องมี 3 องค์ประกอบที่สำคัญ ข้อแรกต้องมีกระบวนการที่ดี ต้องมีการจัดขั้นตอน สรรหาบุคคลที่เหมาะสมเข้ามาเกี่ยวข้อง  เริ่มเล็กๆ ง่ายๆก่อนแล้วค่อยๆ ขยับขึ้นไปสู่ระดับที่สูงขึ้นหรือยากขึ้น ไม่ใช่เริ่มต้นก็เข้าสู่สาระเลย ต่อรองกันเลยอย่างนั้น  ต้องขอประทานโทษที่จะขอกล่าวถึงเมื่อครั้งที่ท่านนายกฯกับ นปช. ไปเจอกันออกทางโทรทัศน์ เป็นการทำที่ไม่มีกระบวนการเตรียมการไว้ให้ดีพอ  เป็นการเข้าสู่การเจรจาสาระกันทันทีเลย ผลที่ออกมาดังที่เราเห็นก็คือว่าไม่สามารถตกลงกันได้  แถมบรรยากาศแทนที่จะดีกลับไม่ดี เพราะมีการชี้หน้าด่าว่ากันกล่าวหากันในสื่อสาธารณะที่มีคนชมคนฟังทั้งประเทศ

 

การแก้ปัญหาความขัดแย้งและสร้างความปรองดอง ต้องมีกระบวนการ ขั้นตอนและวิธีการที่ดี

                ถ้าจะทำเรื่องแก้ความขัดแย้งให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี  ต้องมีขั้นตอนทำนองนี้ครับ

                ข้อหนึ่ง มีกระบวนการที่ดี สาระยังไม่ต้องพูดถึง เน้นการร่วมกันจัดกระบวนการที่ดี ผมเคยไปทำเรื่องแก้ปัญหาความขัดแย้งเกี่ยวกับการสร้างท่อก๊าซ ไทย-พม่า เราใช้กระบวนการอยู่เป็นเดือนๆนะครับ เช่นก่อนจะยอมรับว่าใครเป็นคนกลางใช้เวลาเกือบเดือน ไม่ใช่ใครก็ได้ไปเป็นคนกลาง คนกลางต้องเป็นบุคคลหรือคณะบุคคลที่คู่กรณีทั้งหมดยอมรับ

                ข้อสอง ต้องเตรียมการแต่ละฝ่ายให้เข้าใจว่าการมาเจรจากัน เขาเจรจากันแบบไหน ไม่ใช่มายื่นข้อเรียกร้องกัน แต่มีขั้นตอนต่าง ๆ พอสมควรที่จะช่วยให้การเจรจาประสบความสำเร็จร่วมกัน

                ข้อสาม ต้องหารือกันถึงกติกาที่จะพูดคุยกัน จะวางกติกาแบบไหน พูดคุยกันอย่างไร  ใครควรเข้ามาร่วมในการเจรจาแต่ละขั้นตอน จะเจรจากันที่ไหน เปิดเผยต่อสื่อขนาดไหน และประเด็นอื่น ๆ แล้วแต่จะตกลงกัน

                ฉะนั้นกระบวนการจะเกิดขึ้น ตามกติกาที่ตกลงกัน  จากกระบวนการที่ดีจะช่วยให้ทัศนคติค่อยๆ ดีขึ้น   ในกรณีท่อก๊าซ ไทย-พม่า  จากที่เคยเกลียดกัน ไม่มองหน้ากัน อยากจะทุบตีด่าว่ากันระหว่างฝ่ายชาวบ้านที่ต่อต้านท่อก๊าซกับฝ่าย ปตท. ที่จะเป็นผู้ก่อสร้าง หลังจากได้คุยกันตามขั้นตอนที่ผมเล่ามาให้ฟัง  ประมาณ 4รอบ ในที่สุดคุยกันได้ดีขึ้น  เริ่มคุยแบบเป็นมิตรกันมากขึ้น จากที่เคยเกลียดกันไม่มองหน้ากันเลยนะครับ และจากไม่ยอมให้ดูสัญญามาเป็นให้ดูสัญญาได้เป็นต้น  แต่เสียดายที่ว่ามีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล และรัฐบาลใหม่ตัดสินใจไม่ใช้กระบวนการเจรจาต่อจากที่เราได้ปูทางไว้แล้ว   แต่ไปใช้วิธีตั้งคณะกรรมการศึกษาและรับฟังความเห็นจากฝ่ายต่าง ๆ คล้าย ๆ ระบบประชาพิจารณ์ หรือ Public Hearing  ซึ่งวิธีประชาพิจารณ์นี้ เป็นกระบวนการชนิดหนึ่งซึ่งเคยใช้มากที่สหรัฐอเมริกา แต่สมัยนี้แม้ในประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นผู้ริเริ่มได้เลิกใช้วิธีประชาพิจารณ์แล้ว เพราะการประชาพิจารณ์ยังเป็นการเผชิญหน้า  เอาข้อมูลเหตุผลมาต่อสู้กัน แบบเป็นคนละข้างหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน จึงไม่ค่อยได้ผลดีในแง่ของการสร้างความเห็นพ้องหรือข้อตกลงร่วมกันหรือความปรองดองสมานฉันท์นั่นเอง เขาหันมาใช้วิธีที่เรียกว่า Public Deliberation หรือประชาเสวนาหาทางออก หรือในบางประเทศเรียกว่า Citizen Dialogue  ในภาษาไทยเราใช้คำว่า ประชาเสวนา หรือถ้าไปแบบลึกๆ เขาเรียกว่า สุนทรียสนทนา  แต่นั่นเหมาะสำหรับกรณีที่เป็นองค์กรพูดคุยกันแบบลึกๆ แบบจับเข่าใจถึงใจ  ในเรื่องความขัดแย้งก็ใช้ได้เหมือนกันแต่ช่วงเริ่มต้นคงยังไม่ได้  ช่วงเริ่มต้นต้องเป็นประชาเสวนา คุยกันธรรมดาแต่ว่ามีคนกลางช่วย จัดขั้นตอน จัดประเด็น แล้วในที่สุดถ้ากระบวนการดีจะช่วยสร้างทัศนคติหรือบรรยากาศที่ดีขึ้น เป็นบวกมากขึ้น อาจยังไม่ถึงกับรักใคร่ปรองดองกันหรอกแต่ว่าดีขึ้น พอคุยกันได้  แล้วค่อยพูดเรื่องประเด็นสาระจากนั้นจะค่อย ๆ ได้ข้อตกลงทีละข้อหรือทีละเรื่องไปตามลำดับ

                ประเด็นสาระที่สามารถตกลงกันในเบื้องแรกจะเป็นเรื่องง่าย ๆ ก่อนแล้วค่อยขยับเข้าสู่เรื่องที่ยากขึ้น เป็นการตกลงกันระหว่างคนที่เป็นระดับกลางๆก่อนแล้วค่อยๆขยับขึ้นไปตกลงกันในระดับที่สูงขึ้นจนถึงระดับสูงสุด  จากนั้นก็ทำสัญญาประชาคมแล้วมีกลไกที่จะติดตามดูแลให้ปฏิบัติตามข้อตกลงนั้น ถ้ามีอะไรขัดข้องรีบป้องกันรีบแก้ไข กระบวนการจะไม่จบตอนมีข้อตกลงนะครับ จะต้องต่อเนื่องไปอีก นี่เป็นตัวอย่างครับของการที่จะสร้างความปรองดองและเป็นการสร้างความปรองดองโดยตรง สร้างความปรองดองจากความขัดแย้ง สร้างความปรองดองจากความเป็นปฏิปักษ์

 

แผนปรองดอง 5 ข้อ ของรัฐบาล เป็นแผนข้างเดียว ยังไม่เป็นข้อตกลง

                แต่พร้อมกันนั้นนะครับที่ขณะนี้เรากำลังทำกันอยู่นี้ เราสร้างความปรองดองอยู่แบบหนึ่งโดยรัฐบาลมีแผนปรองดอง 5 ข้อ  แต่ผมต้องขออนุญาตเรียนว่าแผนปรองดอง 5 ข้อของรัฐบาลยังเป็นแผนข้างเดียว เป็นแผนที่คิดข้างเดียว ฉะนั้นไม่ใช่ข้อตกลง  เมื่อไม่ใช่ข้อตกลงจะมีฝ่ายต่อต้าน ฝ่ายไม่เห็นด้วยเป็นธรรมดา อะไรที่คิดข้างเดียวจะมีปัญหา เช่นร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองความเสียหายจากการบริการสาธารณสุข แม้จะมีการหารือกันอย่างเป็นทางการระหว่างหลายฝ่าย นึกว่าได้ข้อตกลง  เอาเข้าจริงแพทย์พยาบาลผู้ให้บริการทั่วประเทศมาประท้วง  นี่แปลว่ากระบวนการยังขัดข้อง กระบวนการการหารือเรื่องพระราชบัญญัติฉบับนี้ตามรูปแบบอาจถูกต้อง คือมีการหารือกัน  แต่เนื้อในยังไม่ดีพอ การประชุมแบบมาพูดอภิปรายกันมักจะไม่ดีพอ  ต้องประชุมลงลึกที่เรียกว่าประชาเสวนาหรือ Public Deliberation  หรือ Citizen Dialogue  หรือถ้อยคำทำนองนี้นะครับ หรือจะเรียกว่าสันติเสวนา หรือ  Peace Dialogue ก็ได้

                คุณชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ เป็นคนหนึ่งที่สามารถจัดกระบวนการประเภทนี้ได้  และยังมีอีกหลายคนในประเทศไทยที่ทำได้  เพราะเราได้เรียนรู้จากต่างประเทศที่เขามีความขัดแย้งกันมาเหมือนเราแล้วเขาก็มีกรรมวิธีจัดกระบวนการที่เรียกว่า Dialogue  ประเภทต่าง ๆ ซึ่งช่วยป้องกันแก้ปัญหาความขัดแย้งได้ เช่นปัญหาความขัดแย้งในการทำอุตสาหกรรมป่าไม้ ปัญหาความขัดแย้งในการทำโครงการสาธารณะเช่นโรงไฟฟ้า เป็นต้น เขามีมาก่อนเราแล้วเขาป้องกันแก้ไขกันได้ครับ  แต่เรายังอยู่ระหว่างการเรียนรู้ ฉะนั้นถ้าจัดกระบวนการให้ดีซึ่งต้องเป็นกระบวนการที่ลงลึกถึงจิตถึงใจนะครับ ไม่ใช่ใช้สมองอย่างเดียว เวลาอภิปรายกัน  เรามักจะใช้สมองเป็นหลัก ใช้อารมณ์เป็นหลัก แต่ถ้าได้นั่งคุยล้อมวงกันกลุ่มเล็กๆ ไม่ใหญ่เกินไป หรือมีกระบวนการแบ่งกลุ่มเล็กบ้างใหญ่บ้าง บางทีต้องไปคุยนอกรอบบ้างในรอบบ้าง  ค่อยพูดค่อยจากันไป  โดยวิธีนี้เราจะได้ทั้งสมองทั้งจิตใจทั้งอารมณ์  แล้วจะเกิดความเห็นพ้องต้องกันอย่างสมบูรณ์ได้ในที่สุด ถ้าใช้วิธีทำนองนี้กับร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการบริการสาธารณสุข ผมเชื่อว่าจะได้ความเห็นพ้องต้องกันโดยไม่มีปัญหาขัดแย้งดังที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน   มีตัวอย่างของการออกพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพของประเทศสวีเดน รัฐสภาตั้งคณะกรรมธิการที่มีตัวแทนจากทุกพรรคร่วมกัน  ทุกพรรคนะครับ ไม่แบ่งเป็นฝ่ายค้านฝ่ายรัฐบาล คณะกรรมาธิการชุดนี้ไปจัดกระบวนการปรึกษาหารือประชาชนทั่วประเทศเป็นเวลา 3 ปี  3 ปีนะครับ และเขาไปทั่วประเทศเลย จึงได้ข้อสรุปที่ตกผลึกแน่นหนา พอร่างพระราชบัญญัติเข้าสภาไม่มีปัญหาเลย และออกเป็นกฎหมายได้โดยเรียบร้อย

                ผมขอเสนอว่าการจัดกระบวนการที่ดีเป็นเรื่องสำคัญมากในการป้องกันและแก้ไขความขัดแย้ง หรือสร้างความปรองดอง เมื่อจัดกระบวนการที่ดีจะก่อให้เกิดทัศนคติและบรรยากาศที่ดี จากนั้นการคุยสาระจะได้ผลดี แต่สำหรับในประเทศไทยในปัจจุบัน หนึ่ง เราไม่มีกระบวนการ  สอง ทัศนคติยังเป็นปฏิปักษ์ยังเป็นลบ ยากครับที่จะสร้างความปรองดอง  แต่คำว่ายากไม่ใช่แปลว่าไม่ควรพยายามนะครับ  ยิ่งยากยิ่งต้องใช้ความพยายาม  ซึ่งรัฐบาลก็พยายามอยู่  แต่ผมเรียนไปแล้วว่าเป็นการพยายามข้างเดียว   ต้องหาทางให้ไม่ใช่เป็นการพยายามข้างเดียว  ต้องพยายามร่วมกัน  และอาจจะไม่ใช่แค่ 2 ฝ่ายนะครับ อาจต้องเป็นหลายฝ่าย  เพราะคนที่เกี่ยวข้องมีหลายฝ่ายรวมถึงฝ่ายประชาชนด้วยนะครับ  ต้องอย่าลืมฝ่ายประชาชนเพราะเจ้าของประเทศที่แท้จริงคือประชาชนหรือบางทีเราเรียกว่าประชาสังคม พลังที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือพลังประชาชนและพลังประชาสังคม ต้องทำอย่างไรให้พลังประชาชนและพลังประชาสังคมเข้ามาร่วมด้วย ถ้า 2 ฝ่ายมักจะมีปัญหาว่าต่างฝ่ายต่างโต้กันไปโต้กันมา   แต่ถ้าเป็นหลายฝ่ายมักจะดีขึ้น    เพราะมีมุมมองที่แตกต่างออกไปเข้ามาช่วยให้เกิดความสมดุลได้ดีขึ้น  ผมทำงานกับชุมชนฐานรากมาเยอะพบว่าถ้ามีประเด็นปัญหาอะไรให้ชุมชนเขาไปจัดการกันเอง หรือถ้ามีปัญหา 2 ฝ่ายที่ไหนแล้วให้ฝ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมด้วยมักจะช่วยให้แก้ไขปัญหาได้ดีขึ้น  เข้าหลักที่ว่าหลายหัวดีกว่าหัวเดียว หลายนี่ต้องมากกว่าสอง เช่นความขัดแย้งทางการเมืองนี้มีใครบ้างล่ะครับ แค่รัฐบาลก็มีหลายฝ่ายแล้วนะครับ   ใช่ไหมครับ พรรคร่วมหลายฝ่ายอาจคิดไม่เหมือนกัน นปช.ก็มีหลายฝ่าย  แล้วยังมีคนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง  ธุรกิจเกี่ยวข้อง ชุมชนเกี่ยวข้อง ประชาสังคมทั่วไปเกี่ยวข้อง พ่อค้า แม้กระทั่งพระสงฆ์ก็เกี่ยวข้องนะครับ โดยมีทั้งพระสงฆ์ที่ให้ศีลให้พรและพระสงฆ์ที่เข้ามาร่วมประท้วงด้วย คนเกี่ยวข้องหลายฝ่ายมาก ต้องเข้ามาเป็นผู้เจรจาเพื่อคลี่คลายความขัดแย้งร่วมกันให้ได้อย่างบูรณาการมากที่สุด

 

หลากหลายวิธีในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง

                แต่การคลี่คลายความขัดแย้งสมัยนี้มีหลายแนวความคิด  หลายแบบ หลายวิธี   บางคนบอกว่าความขัดแย้งนี้เป็นธรรมชาติ ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ ฉะนั้นการแก้ความขัดแย้งจึงไม่ใช่ไปห้ามหรือทำให้      ไม่มีความขัดแย้ง แต่ควรหาทางแปรเปลี่ยนความขัดแย้งไปสู่การสร้างสรรค์  ภาษาอังกฤษเรียกว่า Conflict Transformation ส่วนแนวคิดหรือวิธีการอื่น ๆ ก็มีอีกมีคำหลายคำ เช่น  Conflict Management คือการจัดการความขัดแย้ง Conflict Prevention การป้องกันความขัดแย้ง Peace Building การสร้างสันติ สำหรับกรณีความขัดแย้งทางการเมืองของประเทศไทย ผมคิดว่าสิ่งที่จะช่วยได้ดีอาจจะเป็นการแปรเปลี่ยนความขัดแย้ง หรือ Conflict Transformation คือเราไม่ห้ามหรอกที่จะมีความขัดแย้งหรือ  conflict แต่เราแปรเปลี่ยนพลังที่จะมาสู้กันไปเป็นพลังสร้างสรรค์ร่วมกัน   จากสู้เป็นสร้าง เหมือนอย่างเราแก้เรื่องสุขภาพ จากซ่อมเป็นสร้าง สร้างนำซ่อม สร้างก่อนซ่อม ถึงได้มี สสส. ถึงได้มีสำนักงานวิจัยระบบสาธารณสุข ถึงได้มี สปสช. ซึ่งไปส่งเสริมเรื่องการสร้างสุขภาพเพราะไม่อยากจะต้องมาเสียเงินเพื่อซ่อมสุขภาพ เราใช้เงิน สสส. ปีละ 2 พันกว่าล้านเพื่อจะสร้างสุขภาพ จะได้ไม่ต้องมาซ่อมสุขภาพเพราะการสร้างจะถูกกว่าการซ่อม

                ปัญหาการขัดแย้งก็เช่นเดียวกัน ถ้าเราแปรเปลี่ยนความขัดแย้งมาเป็นการสร้างสรรค์ร่วมกัน ค่าใช้จ่ายในการสร้างความปรองดองถูกกว่าการจะต้องมาแก้ความขัดแย้ง แค่เราเสียชีวิตคนไปประมาณ 80 คน บาดเจ็บอีกพันกว่าคน แล้วญาติพี่น้องเพื่อนฝูงที่กระทบกระเทือนอีก อาคารบ้านเรือน กิจการธุรกิจต่างๆที่เสียหายเป็นหมื่นหรือเป็นแสนล้านบาท เทียบกับการที่เราจะมาสร้างสรรค์ร่วมกัน การสร้างสรรค์ร่วมกันถูกกว่ากันเยอะเลย แต่ก็ต้องลงทุน รัฐบาลได้ลงทุนไปบ้างด้วยการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหลายชุด แต่ก็มีอยู่ชุดเดียวเท่านั้นที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความปรองดองโดยตรง คือคณะกรรมการของท่านอาจารย์คณิต ณ นคร ที่เรียกตัวเองว่าเป็นคณะกรรมการอิสระตรวจสอบค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ แต่จนถึงปัจจุบัน ผมคิดว่าท่านยังคงหาหนทางอยู่ ท่านยังไม่ได้พบหนทางที่ชัดเจน แต่อย่างน้อยท่านตั้งใจจะหาหนทางหาวิธีการที่ทำแล้วจะได้ผลดี   ส่วนคณะกรรมการอื่นๆไม่ได้เป็นคณะกรรมการสร้างความปรองดองโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปสื่อ ปฏิรูปรัฐธรรมนูญ หรือปฏิรูปเฉยๆ โดยไม่บอกว่าปฏิรูปอะไร นั่นคือคณะกรรมการคุณอานันท์ ชื่อคณะกรรมการปฏิรูป  ชื่อย่อว่า คปร. ส่วนคณะคุณหมอประเวศ ชื่อว่าคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป ชื่อย่อว่า คสป. 2 คณะนี้ประกาศตั้งแต่แรกเลยว่า ไม่เกี่ยวกับการปรองดองโดยอธิบายว่า การปรองดองเป็นเรื่องอดีต รัฐบาลมีหน้าที่แก้ก็แก้ไป แต่คณะกรรมการปฏิรูปจะพิจารณาเรื่องอนาคต  จะเน้นการสร้างจินตนาการใหม่ สร้างวิสัยทัศน์ร่วมกันของประชาชนคนไทยทุกหมู่เหล่า ไม่แยกว่าเป็นฝ่ายนั้น ฝ่ายนี้ เป็นแดง เป็นเหลือง เป็นรัฐบาล เป็น นปช. เป็นการเมือง เป็นข้าราชการ เป็นนักธุรกิจ เป็นประชาชน ไม่แยกครับ ใช้คำว่าประชาชนโดยรวมหมดทุกกลุ่มทุกฝ่าย ซึ่งบางทีเราใช้คำว่าประชาสังคม

 

ประชาชน ประชาสังคม และพลังสังคม

                ประชาสังคมก็คือสังคมของประชาชน ประชาสังคมคือการที่ประชาชนมารวมตัวกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน เราเรียกว่ากิจกรรมประชาสังคม ภาษาอังกฤษ คือ Civil society จะรวมตัวกันเป็นสมาคม มูลนิธิ กลุ่ม ชมรม เครือข่าย แนวร่วม ขบวนการ เรียกว่าประชาสังคมทั้งสิ้น ส่วนใหญ่ทำเรื่องดี บางส่วนทำเรื่องไม่ดี ก็ยังเรียกว่าประชาสังคม เหมือนกับคำว่าวัฒนธรรม วัฒนธรรมที่ดีที่สร้างสรรค์ก็มี วัฒนธรรมที่ไม่ดีที่บ่อนทำลายก็มี เช่นวัฒนธรรมบริโภคนิยมนี่ไม่ดี วัฒนธรรมความรุนแรงก็ไม่ดี วัฒนธรรมเอาอย่างคนอื่นโดยไม่คิดก็ไม่ดี แต่วัฒนธรรมยิ้มแย้มแจ่มใส วัฒนธรรมรักษาประเพณีอันดีงาม วัฒนธรรมอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข วัฒนธรรมจับเข่าคุยกัน อย่างนี้ดี ฉะนั้นประชาสังคมไม่ได้แปลว่าดีหรือไม่ดีในตัวเอง แล้วแต่ว่าใช้อย่างไร ถ้าใช้ดีจึงจะดี มีอีกตัวอย่างหนึ่ง คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ได้มีพระราชดำรัสใจความทำนองว่า  การเรียนหนังสือให้อ่านออกเขียนได้ไม่ได้เป็นเครื่องมือให้คนดีหรือไม่ดี  แต่เป็นเครื่องมือให้คนทำความดีหรือความเลวได้คล่องแคล่วขึ้น  คนที่มีการศึกษามากสามารถทำความดีได้ดีขึ้นหรือไม่ก็ทำความเลวได้เก่งขึ้น ฉะนั้นประชาสังคม ใช้ให้ดีจะเป็นประโยชน์มาก แต่ถ้าใช้ไม่ดี อย่างเช่น เราใช้ประชาสังคมเพื่อการเป็นปฏิปักษ์ต่อสู้กัน อย่างนี้เสียหาย แต่ถ้าใช้ประชาสังคมมาร่วมกันสร้างเช่นที่คณะกรรมการคุณหมอประเวศพยายามทำอยู่ ถึงได้ชื่อว่าคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป คือจะต้องมีการรวมตัวกันของผู้คนทุกพื้นที่ ทุกวงการ ทุกระดับ ทุกพื้นที่หมายถึง หมู่บ้าน ตำบล เขตเทศบาล จังหวัด กลุ่มจังหวัด มาจนถึงประเทศ ทุกวงการหมายถึง วงการชุมชน วงการประชาสังคม วงการการศึกษา วงการธุรกิจ วงการสตรี แม้กระทั่งวงการของผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส ผู้ใช้แรงงาน เกษตรกร เรียกว่าเป็นวงการ หรือเป็นกลุ่มหรือเป็นเครือข่าย

                เมื่อ 2 วันที่แล้วประชุมคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปครั้งที่ 2 ได้ตกลงตั้งคณะกรรมการ 14 คณะตามวงการต่างๆ เนื่องจากผมทำงานกับชุมชนมาเยอะก็ได้รับมอบหมายให้ดูแลคณะที่เกี่ยวกับชุมชนท้องถิ่น ซึ่งชุมชนท้องถิ่นจะต้องเริ่มที่พื้นที่ แล้วการใช้พื้นที่เป็นตัวตั้งมีประโยชน์มาก เพราะพื้นที่เป็นที่อยู่ของคนทุกกลุ่ม ทุกประเภท และรวมทุกประเด็น เราก็คิดว่าอย่างน้อยจะต้องมี 3 ระดับ คือ 1. ระดับท้องถิ่น ได้แก่ ตำบลและเทศบาล 2. ระดับจังหวัด ทั้ง 2 ระดับนี้มีกลไกอยู่พร้อมมูล มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีองค์กรภาคประชาชน มีองค์กรภาคธุรกิจ มีองค์กรภาคการศึกษา โรงเรียน มหาวิทยาลัย มีองค์กรภาคจริยธรรม  วัด มัสยิด โบสถ์ มีอยู่พร้อมมูล ธุรกิจก็อยู่ด้วย จังหวัดก็มีกลไกการจัดการชัดเจน มีผู้ว่าราชการจังหวัด พร้อมทั้งนายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ด้านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มี อบจ. เทศบาล อบต.  สำหรับเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนมีทั้งที่เป็นชุมชนท้องถิ่นในรูปสภาองค์กรชุมชนบ้าง ขบวนชุมชนบ้าง สภาผู้นำชุมชนบ้าง มีเครือข่ายประชาสังคมที่ประกอบด้วย นักกิจกรรมทั้งหลายที่ทำงานเพื่อส่วนรวม มีกลไกภาคธุรกิจ ได้แก่ สภาอุตสาหกรรม หอการค้า ชมรมธนาคาร สภาการท่องเที่ยว อาจจะมีสภาธุรกิจตลาดทุนและอื่นๆ มีพร้อมอยู่ที่จังหวัด ฉะนั้นในพื้นที่ตำบลก็ดี เทศบาลก็ดี จังหวัดก็ดี สามารถจะรวมคนทุกฝ่ายเข้ามาเพื่อร่วมคิดร่วมทำ เพื่อกำหนดว่าในพื้นที่ของเรา ภาพที่พึงปรารถนาที่สุดคืออะไร เราจะเป็นตำบลที่น่าอยู่ที่สุด เราจะเป็นจังหวัดที่น่าอยู่ที่สุด เราจะเป็นจังหวัดที่อยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน  เราจะเป็นจังหวัดที่มีความเจริญก้าวหน้าพร้อมกับความสมานฉันท์ ก็แล้วแต่จะกำหนดขึ้นมา  โดยเป็นการร่วมกันกำหนดวิสัยทัศน์หรือสภาพที่พึงปรารถนาโดยภาคประชาชนและผู้เกี่ยวข้องทั้งหลาย    ด้วยวิธีที่ทำให้ได้ฉันทามติร่วมกันอย่างเรียบร้อยและราบรื่น

                คณะกรรมการคุณหมอประเวศได้กำหนดในเบื้องต้นว่าสิ่งที่น่าพึงปรารถนาร่วมกัน คือ 1. สร้างความเป็นธรรม 2. ลดความเหลื่อมล้ำ เพราะเป็นปัญหาที่ทำให้เกิดความแตกแยกในสังคม ฉะนั้นแต่ละแห่งก็สามารถกำหนดได้ว่าถ้าเราจะมุ่งสร้างความเป็นธรรม มุ่งลดความเหลื่อมล้ำ เราจะทำอะไรกันบ้าง เริ่มต้นที่ตัวเรา เราพูดกันว่า ปฏิรูปที่ดี ปฏิรูปที่แท้จริงต้องเริ่มจากตัวเอง ไม่ใช่ไปเสนอให้ใครเขาทำอะไรหมดแล้วตัวเองไม่ทำอะไรเลย นั่นเป็นความประมาทอย่างยิ่งและเป็นการไม่เป็นธรรมด้วย คือไม่เป็นธรรมที่ว่า ไปให้คนอื่นเขาทำอะไรกันหมดแล้วตัวเองไม่ทำอะไร เหมือนเป็นสมาชิกครอบครัว พ่อบ้านบอกว่าครอบครัวต้องปฏิรูปแล้ว แม่ต้องทำอย่างนั้น ลูกคนโตต้องทำอย่างนี้ ลูกคนกลางต้องทำอย่างนั้น ลูกคนเล็กต้องทำอย่างนี้ แต่ไม่บอกเลยว่าพ่อจะทำอะไร ที่ถูกแล้วทุกคนต้องทำ

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/385057

<<< กลับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *