อนาคตประเทศไทยบนพื้นฐานความปรองดอง (ต่อ 2)

อนาคตประเทศไทยบนพื้นฐานความปรองดอง (ต่อ 2)


สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา สังคมนำ การเมืองตาม   

                ผมยังเห็นว่าในคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปของคุณหมอประเวศได้จงใจใช้ปรัชญาความคิดว่า สังคมนำ การเมืองตาม เพราะคุณหมอประเวศมีทฤษฎีซึ่งเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางและได้ใช้มาจนเห็นผลชัดเจน นั่นคือทฤษฎีสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา ที่ว่าสังคมสลับซับซ้อน เรื่องใหญ่ๆ ยากๆ ต้องใช้พลัง 3 พลังเป็นหลัก หนึ่งคือพลังสังคม  หมายถึงคนทั้งหลายที่มีหลายกลุ่ม หลายเหล่า หลายแขนง หลายเครือข่าย ทุกระดับ ทุกพื้นที่ ทุกวงการ นี่คือพลังสังคม ถ้ารวมกันแล้วยิ่งใหญ่มาก โดยเฉพาะถ้ารวมแบบสร้างสรรค์ ร่วมคิดร่วมทำ ถ้าภาษาประชาธิปไตยเราเรียกว่า Deliberative Democracy ประชาธิปไตยแบบร่วมไตร่ตรอง ท่านนายกฯ อภิสิทธิ์เคยใช้คำว่าร่วมใคร่ครวญ ก็พอๆกันครับ ไตร่ตรองหรือใคร่ครวญ คือมาร่วมคิดร่วมทำอย่างสร้างสรรค์ พลังนี้ยิ่งใหญ่มาก บางแห่งเราเรียกว่าทุนทางสังคม เป็นการรวมทุนทางสังคม ทุนทางสังคมหมายถึงการที่คนในสังคมรวมตัวกันร่วมคิดร่วมทำ มีความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน ความไว้เนื้อเชื่อใจทำให้เกิดทุนมหาศาล เทียบกับความไม่ไว้วางใจ เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน จะเกิดเป็นค่าใช้จ่ายมหาศาล เช่นเราไม่ไว้วางใจว่าจะมีคนมาปล้นเรา จะมาฆ่าเรา เราต้องสร้างเกราะคุ้มกันไม่รู้เท่าไหร่ จะไปไหนมาไหนต้องมีผู้ติดตาม นั่งรถต้องหุ้มเกราะ อยู่บ้านต้องล้อมรั้ว ในขณะที่เราไปเมืองฝรั่งหลายแห่ง บ้านเขาไม่มีรั้ว กลายเป็นว่าประเทศร่ำรวยมีค่าใช้จ่ายในการสร้างบ้านน้อยกว่าประเทศยากจน เรากลับต้องสร้างรั้วเยอะแยะ แต่ก็มีชุมชนยากจนหลายแห่งที่บังเอิญผมเกี่ยวข้องตามโครงการบ้านมั่นคงที่กำลังดำเนินไปได้ด้วยดีเพราะว่าเราจัดกระบวนการดี และข้อตกลงร่วมกันของชุมชนบ้านมั่นคงบางแห่งได้ตกลงกันว่าจะเป็นชุมชนที่บ้านไม่มีรั้ว เขาบอกว่าใช้น้ำใจเป็นรั้วแทน ก็น่าประทับใจและน่าชื่นชมนะครับ

                พูดถึงเรื่องกระบวนการต่ออีกหน่อย  บ้านมั่นคงเทียบกับบ้านเอื้ออาทร ท่านจะเห็นว่าต่างกันชัดเจนมากเลย ถ้าใครอยากทำกรณีศึกษาว่าทำไมนโยบายอย่างเดียวกัน สร้างบ้านให้คนจนและคนมีรายได้น้อยอยู่ แต่ดำเนินงานโดย 2 องค์กร องค์กรหนึ่งเต็มไปด้วยปัญหา อีกองค์กรหนึ่งไม่มีปัญหา  อะไรเป็นต้นเหตุ  เป็นกรณีที่น่าศึกษา ถ้าจะดูก็คือกระบวนการต่างกันชัดเจนมาก กระบวนการบ้านมั่นคงอาศัยการมีส่วนร่วมสูง  ใช้พลังประชาชน พลังประชาสังคมสูงมาก มีความโปร่งใสมาก ในขณะที่กระบวนการบ้านเอื้ออาทรรวบรัดตัดความ ใช้การประมูล การรับเหมา มีคนเกี่ยวข้องน้อยมาก ฉะนั้นโอกาสทุจริต โอกาสที่จะสูญเสียจึงมีมาก และเกิดปัญหามาก ทุกวันนี้ก็ยังแก้ไม่ตก ในขณะที่กระบวนการบ้านมั่นคงเดินหน้าไปได้ด้วยดี เริ่มต้นช้า บ้านเอื้ออาทรเริ่มต้นโด่งดังมาก ไปเร็วมาก แล้วก็มาสะดุดหยุดลง แล้วตอนนี้ยังลำบากมาก  แต่บ้านมั่นคงค่อยๆ ไป ช้าๆ ในระยะแรก  คนไม่ค่อยรู้เท่าไหร่หรอก แต่คนในวงการรู้ รัฐบาลก็รู้ แล้วรัฐบาลก็ทำดีกับโครงการมั่นคงนะครับ คือสนับสนุนในระดับนโยบายและงบประมาณ แต่ไม่เข้ามายุ่งในการปฏิบัติการ  การที่รัฐบาลไม่เข้ามายุ่งแต่ปล่อยให้ประชาชนและหน่วยงานที่รับผิดชอบทำไปเป็นนโยบายที่ดี  ช่วงนั้นผมเป็นประธานสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน  ซึ่งรับผิดชอบโครงการบ้านมั่นคง ผมบอกว่านโยบายนี้เรารับมาได้ แต่เราขอใช้วิธีการที่เราเห็นว่าดี เรารับนโยบาย แต่วิธีปฏิบัติขอให้เป็นของเรา เป้าหมายเป็นของรัฐบาลที่อยากจะสร้างบ้าน 200,000 หลัง ให้กับคนยากจนที่สุดโดยเฉพาะในเมือง เราจะสร้างให้ได้ เราของบประมาณมาให้เพียงพอ  แต่วิธีปฏิบัติการ การจัดกระบวนการ  และรายละเอียดอื่น ๆ เราขอเป็นผู้ทำ  สรุปได้ว่าโครงการบ้านมั่นคงมีกระบวนการที่ดี เป็นส่วนคำคัญที่ทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีมาจนทุกวันนี้  ในขณะที่โครงการบ้านเอื้ออาทรขาดกระบวนการที่ดี ทำให้เป็นปัญหาที่ยังต้องพยายามแก้กันอยู่ในปัจจุบัน

                กลับไปเรื่องคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป ที่มีหลักการว่าจะทำให้เกิดการปฏิรูปประเทศไทยโดยอาศัยพลังสังคมเป็นฝ่ายนำ และพลังสังคมต้องหมายถึงประชาชนทุกกลุ่มทุกเหล่า ทุกวงการ ทุกระดับ ถึงได้เริ่มจากพื้นที่ โดยเฉพาะทางด้านชุมชนท้องถิ่น  คือเครือข่ายชุมชนหรือองค์กรชุมชน  เราจะทำจากพื้นที่ ตำบล เทศบาล  ขึ้นมาที่จังหวัด แล้วอาจจะทำระดับกลุ่มจังหวัด เป็นภาคด้วยก็ได้ แล้วแน่ๆก็คือต้องมาระดับประเทศ จะเป็นสมัชชาใหญ่ระดับประเทศ ในบรรดาคนทั้งหลายที่เข้ามาเกี่ยวข้อง เป็นเจตนาเลยว่าไม่รวมฝ่ายการเมือง จะมีคณะกรรมการ 14 คณะ ซึ่งอาจจะเพิ่มเป็น 15 หรือ 16 ก็ได้ ถ้าเห็นว่ายังมีวงการใดหรือกลุ่มใดเครือข่ายใด อยากเข้ามาร่วมอีก

                ในคณะกรรมการ คสป.หรือคณะกรรมการสมัชชาปฎิรูป จะมีกระบวนการที่รวมคนหลายกลุ่มหลายเหล่า ทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  ชุมชนท้องถิ่น หรือเครือข่ายองค์กรชุมชน ประชาสังคม สตรี ซึ่งเราเชื่อว่ามีพลังสูงมาก และเป็นพลังที่สำคัญ  เรามีกลุ่มผู้ใช้แรงงาน เรามีกลุ่มนักวิชาการ หรือมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นพลังมหาศาลแต่ยังไม่เข้ามาทำงานคลุกคลีใกล้ชิดกับสังคมมากเท่าที่ควร  วันที่ 2 สิงหาคมนี้ รัฐบาลโดยสภาพัฒน์จะเชิญมหาวิทยาลัยทั่วประเทศมาประชุมระดมความคิด  ว่ามหาวิทยาลัยจะมีบทบาทในการปฏิรูปหรือพัฒนาประเทศไทยอย่างไร

                ฉะนั้นในกระบวนการสมัชชาปฏิรูปจะมีกลุ่มประชาชนหรือประชาสังคม แทบจะทุกกลุ่ม ทุกวงการ  ทุกประเภท รวมถึงนักธุรกิจที่มีทั้งสภาหอการค้าและหอการค้า สภาอุตสาหกรรม สมาคมธนาคาร สภาธุรกิจตลาดทุน สภาการท่องเที่ยว และอื่นๆ เข้ามาร่วมคิดร่วมทำ  แต่ยกเว้นไม่มีนักการเมือง  การไม่มีนักการเมืองเป็นเจตนาเลยนะครับ เพราะเราถือว่าคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปจะเน้นบทบาทภาคประชาชน หรือภาคประชาสังคม และเน้นการใช้ข้อมูล ความรู้ สติปัญญา ซึ่งรวมเป็นสองพลังในสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา  ได้แก่ หนึ่ง พลังสังคม  สอง พลังปัญญา เราจะต้องเน้นบทบาทและการระดมความคิดความเห็นจากภาคประชาชนทุกหมู่เหล่า ทุกพื้นที่ เน้นในเรื่องการใช้ความรู้ที่บริสุทธิ์ ความรู้ที่ลึก ที่กว้างพอ มีงานวิจัย ซึ่งเรามีงานวิจัยสนับสนุนพอสมควรอยู่บ้างแล้ว  เพียงแต่ไปประมวลหรือสังเคราะห์มาก็ใช้ได้เลยแต่อาจจะยังมีกรณีที่สมควรวิจัยเพิ่มเติม เราก็จะทำเพิ่มเติม    ส่วนพลังที่สาม ได้แก่ พลังอำนาจรัฐ ซึ่งเราไม่ได้ไปจับประเด็นพลังอำนาจรัฐเลยนะครับ เราจับประเด็นพลังสังคมกับพลังปัญญา และเราบอกว่าเราขอเป็นฝ่ายนำ  แล้วขอเชิญพลังอำนาจรัฐหรือพลังการเมืองมาพิจารณา ถ้าท่านเห็นว่าอะไรสมควรทำท่านก็คงจะนำไปปฏิบัติ  ฉะนั้นในบรรดาประชาสังคมของเราจึงไม่รวมฝ่ายการเมือง

                ซึ่งทำให้ผมมีข้อเสนอแนะว่า  ตามที่ผมพูดมาแล้วว่าฝ่ายการเมืองนี่แหละเป็นฝ่ายที่สำคัญยิ่ง  เป็นทั้งต้นเหตุของปัญหาและเป็นทั้งผู้ที่จะแก้ปัญหา  คือเป็นทั้งคู่น่ะครับ  ในบรรดาผู้คนที่จะมาช่วยกันแก้ปัญหาบ้านเมืองโดยใช้พลังสร้างสรรค์ กลุ่มต่างๆที่กล่าวมา เช่น สิบสี่คณะของคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป ดูแล้วควรจะรวมพลังสร้างสรรค์กันได้ไม่ยาก  มหาวิทยาลัยร้อยกว่าแห่งถ้าจะมาคุยกัน ตกลงกันว่าหนึ่งจังหวัดควรจะมีอย่างน้อยหนึ่งมหาวิทยาลัยเข้าไปช่วยดูแล แต่ไม่ควรเข้าไปดูแลฝ่ายเดียวนะครับ ต้องเข้าไปดูแลร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดความบูรณาการของการพัฒนา

 

สามกงล้อหลักสู่ความเจริญสันติสุขที่มั่นคงและยั่งยืน

                ตรงนี้ผมต้องขออ้างสามกงล้อหลักสู่ความเจริญสู่สันติสุข ที่ผมเขียนไว้ในเอกสาร สามกงล้อหลักนี้กงล้อที่หนึ่งคือความดี กงล้อที่สองคือความสามารถ กงล้อที่สามคือความสุข ไม่ว่าจะเป็นบุคคล ครอบครัวชุมชน  องค์กร สังคม  ประเทศ รวมไปถึงมนุษยชาติ  จะมีความเจริญสันติสุขอย่างยั่งยืนได้ต้องอาศัยสามกงล้อหลัก หรือสามเสาหลักนี่แหละครับ  ที่จำเป็นต้องมีให้มากพอและได้ดุลครับ  คือต้องมีความดีที่มากพอและได้ดุล ต้องมีความสามารถที่มากพอและได้ดุล ต้องมีความสุขหรือสุขสภาวะหรือความเป็นสุขที่มากพอและได้ดุล  ส่วนใหญ่เรามักจะได้หนึ่งหรือสอง แต่ไม่ครบสาม อย่างประเทศภูฏานเขาไปถึงขั้นเขียนในรัฐธรรมนูญว่า ประเทศของเขาจะต้องมีจุดมุ่งหมายใหญ่ คือการสร้างความสุขมวลรวมประชาชาติ  หรือ

Gross National Happiness   อยู่ในรัฐธรรมนูญเลยครับ แล้วกลไกทั้งหลายของภาครัฐก็จะต้องเอื้อไปสู่การสร้างความสุขมวลรวมประชาชาติ  ถือเป็นกรณีที่น่าสนใจมากครับ ที่เขาให้ความสำคัญของความสุขมวลรวมประฃาชาติมากถึงขั้นเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ

ฉะนั้นความดี ความสามารถ และความสุข ต้องได้ดุลกัน และต้องมากพอ ประเทศไทยเรามีความสามารถไม่แพ้ใคร ส่งนักเรียนไปแข่งโอลิมปิกก็ชนะมาเรื่อย ได้เหรียญทองมาเรื่อย เรารณรงค์เรื่องการสร้างเสริมสุขภาพ การเลิกบุหรี่ เลิกเหล้า ได้ดีกว่าหลายประเทศ เป็นประเทศชั้นนำในโลกเกี่ยวกับ เรื่องเหล่านี้ หรือในเรื่องความสามารถในการรวมตัวกันของภาคประชาชนเป็นชุมชนเข้มแข็ง  เราก็เป็นประเทศชั้นนำในระหว่างประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย อย่างเช่น โครงการบ้านมั่นคงของเรานี่ มหาวิทยาลัยของอเมริกาเอาไปเป็นกรณีศึกษาเยอะเลยนะครับ สหประชาชาติ ธนาคารโลก ส่งคนมาดูงาน ให้ทุนต่างประเทศมาศึกษา แล้วนำไปประยุกต์ใช้  ผู้ชำนาญการจากประเทศไทยได้รับเชิญให้ไปพูด ให้ไปขยายผลในต่างประเทศหลายแห่ง ฉะนั้นในประเทศไทยเรานี่ ความสามารถเรามีพอสมควร   ความสุขเราก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ใช้ได้ ทะเลาะกันบ้าง รบราฆ่าฟันกันบ้าง แต่ถ้าเปรียบเทียบกับหลายๆ ประเทศแล้วเราก็อยู่กลางๆ ถือว่าใช้ได้  แต่ในสิ่งหนึ่งซึ่งน่าเสียดายมาก ทั้งๆที่เราเป็นเมืองพุทธ เป็นประเทศที่ประชาชนนับถือศาสนาทั้ง พุทธ อิสลาม คริสต์  พราหมณ์  และซิกข์  แต่ระดับความดีของเราไม่ได้ดุลกับระดับความสามารถ และระดับความสุข คือมีไม่มากพอและไม่ได้ดุล  ความดีเราเคยมีมากแต่มาถดถอยและถูกละเลย ด้วยเหตุนี้ในการที่จะปฏิรูปประเทศไทย เรื่องหนึ่งที่ควรได้รับความสำคัญ และนำมาปฏิบัติให้ได้ผล คือเรื่อง การส่งเสริมความดี ส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม เพื่อให้สังคมไทยมีความดีที่มากพอและได้ดุลกับด้านความสามารถและด้านความสุข

 

ปรองดองกับปฏิรูป เป็นคนละเรื่องเดียวกัน

                พอดีท่านนายกฯมาถึงแล้ว  ผมจึงขอทวนสิ่งที่ได้พูดไปบางประการ นั่นคือเรื่องแผนปรองดองของท่านนายกฯ  ถือได้ว่าเป็นแผนที่มีเป้าหมายดีแต่เป็นแผนข้างเดียว การสร้างความปรองดองทำข้างเดียวไม่ได้ จะต้องทำสองข้างหรือหลายข้าง  ในหลายคณะกรรมการที่ท่านนายกฯได้ตั้งขึ้น  มีคณะเดียวที่ทำเรื่องปรองดอง แต่ยังอยู่ในขั้นพยายามหาวิธีอยู่  คือคณะของท่านอาจารย์คณิต ผมมีโอกาสได้ปรึกษากับท่าน ท่านก็สนใจในเรื่องวิธีการ ที่ต้องใช้กระบวนการที่ดี ต้องสร้างทัศนคติและบรรยากาศที่ดี  แล้วก็ต้องมีการเจรจากันในระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้สาระที่เป็นความตกลงร่วมกันแล้วนำไปสู่การปฏิบัติ   ส่วนคณะปฏิรูปสื่อ  คณะปฏิรูปรัฐธรรมนูญ ไม่ค่อยเกี่ยวกับการปรองดองเท่าไหร่นัก คณะคุณหมอประเวศ คณะคุณอานันท์ ที่ชื่อ คปร. และ คสป. ก็ประกาศว่าเป็นคนละเรื่องกับการปรองดอง  ซึ่งที่ท่านพูดเช่นนั้นผมคิดว่าก็เพื่อกันไว้ก่อนว่าไม่ควรมาคาดหวังให้คณะปฏิรูปมาทำเรื่องปรองดอง  เพราะท่านจะเน้นการวาดฝันวาดอนาคตที่พึงปรารถนา เป็นการสร้างจินตนาการใหญ่ร่วมกันของสังคมไทย  จินตนาการนี่เป็นเรื่องสำคัญ เป็นพลังที่จะทำให้คนมารวมตัวและร่วมคิดร่วมทำเพื่อให้ไปสู่อนาคตที่พึงปรารถนา  ฉะนั้นการปฏิรูปคือการสร้างความใฝ่ฝันร่วมกัน ซึ่งเบื้องต้นก็ใช้คำว่าสร้างความเป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำ  แต่ถ้าที่ไหนอยากจะมีคำอื่นที่ดีกว่านี้ก็ได้ และมาหาวิธีการที่จะทำให้เป็นผลสำเร็จ  ซึ่งวิธีการที่จะทำต้องแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนที่หนึ่ง ตัวเราจะทำอะไร ปฏิรูปที่ดีต้องเริ่มจากตัวเอง ส่วนที่สองคนอื่นควรทำอะไร พอพูดกันหมดแล้วทุกคนก็จะมีสิ่งที่ตัวเองจะทำ ซึ่งเป็นข้อผูกพัน และมีข้อเสนอให้คนอื่นทำ คนอื่นที่ได้รับข้อเสนอไป ก็จะได้รับข้อเสนอที่หลากหลาย ก็ต้องมากลั่นกรองและสังเคราะห์เอาเองว่า ที่คนเขาพูดมาให้เราทำนั่นทำนี่นั้น เราพิจารณาแล้วตกลงใจจะทำอะไรบ้าง  เช่นฝ่ายการเมือง จะมีคนเสนอแนะเยอะเลยว่าให้ฝ่ายการเมืองทำอะไรบ้าง  ท่านก็เอามาประมวลเข้าด้วยกัน  พิจารณากลั่นกรองแล้วสังเคราะห์ว่าท่านควรจะทำอะไรบ้าง   ซึ่งท่านก็ต้องนำไปทำจริง ๆ นะครับ  นี่แหละที่คุณหมอประเวศ ใช้คำว่า สังคมนำ การเมืองตาม

                ฝ่ายการเมืองถือเป็นหนึ่งในสามของภาคส่วนที่สำคัญของสังคม คือในสังคมเรา ถ้าจะแบ่งเป็นภาคส่วนใหญ่ๆ สามารถแบ่งได้สามส่วน  ส่วนที่หนึ่งคือภาคประชาชนหรือภาคประชาสังคม  ภาคนี้ใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุด  ประชาชนเป็นเจ้าของประเทศและมีอำนาจอธิปไตยสูงสุด คำว่าประชาชนนี่รวมทุกคนนะครับ รวมพวกท่านด้วย ในหมวกที่ไม่ใช่นักการเมือง  แต่ในหมวกของประชาชน คือท่านมีอย่างน้อยสองหมวก หนึ่งหมวกเป็นหมวกนักการเมืองซึ่งเป็นหมวกชั่วคราว ท่านไม่ได้เป็นนักการเมืองตลอดชีพ  อย่างน้อยก่อนที่ท่านจะเข้าสู่วงการการเมืองท่านก็ไม่ได้เป็นนักการเมือง และท่านอาจจะไม่เป็นนักการเมืองไปจนกระทั่งวันสุดท้ายของชีวิต  แต่ที่ท่านเป็นแน่ ๆ และเป็นตลอดชีพคือเป็นประชาชน  ฉะนั้นในฐานะประชาชนท่านก็อยู่ในภาคประชาชนนะครับ  นั่นคือภาคประชาชนหรือภาคประชาสังคม  เป็นส่วนที่หนึ่ง  ส่วนที่สองคือภาคธุรกิจ ภาคธุรกิจนี่หมายถึงธุรกิจทุกประเภท ทุกขนาด ทุกพื้นที่ ตั้งแต่ยักษ์ใหญ่ระดับเครือซีพี ธนาคารกรุงเทพ เครือซิเมนต์ไทย  และอื่นๆ จนกระทั่งถึงคนขายก๋วยเตี๋ยว คนขายกล้วยแขก คนประดิษฐ์หัตถกรรมในหมู่บ้าน ธุรกิจทั้งนั้นแหละครับ  ฉะนั้นคำว่าธุรกิจนี่ ใหญ่มาก ครอบคลุมหรือเกี่ยวข้องประชาชนทั้งประเทศ เพราะว่าเป็นผู้ผลิตก็เป็นธุรกิจ เป็นผู้จำหน่ายก็เป็นธุรกิจ เป็นคนส่งของให้ธุรกิจก็เป็นธุรกิจ เป็นผู้บริโภคก็เกี่ยวข้องกับธุรกิจ เป็นญาติพี่น้องของคนที่ทำงานในภาคธุรกิจถือว่าเกี่ยวข้องกับธุรกิจ ฉะนั้นธุรกิจจึงเกี่ยวข้องกับคนทั้งประเทศ

                ส่วนที่สามคือภาครัฐหรือองค์กรภาครัฐ  ลักษณะสำคัญของภาครัฐคือ มีอำนาจหน้าที่ตามกฏหมาย ในขณะที่ภาคประชาชนหรือภาคประชาสังคมไม่มีอำนาจและไม่ทำเพื่อแสวงกำไร  ส่วนภาคธุรกิจไม่มีอำนาจแต่ทำธุรกิจเพื่อแสวงกำไร   ภาครัฐไม่ทำเพื่อแสวงกำไรแต่มีอำนาจ  เป็นอำนาจที่ประชาชนมอบหมายให้  เป็นอำนาจตามกฏหมาย  แต่พร้อมกับอำนาจท่านมีหน้าที่  สรุปแล้วท่านเป็นหนึ่งในสามภาคของสังคม  ในภาษาอังกฤษเราเรียก 3 ภาคนี้ว่า  civil society sector หรือ people sector สำหรับภาคประชาสังคมหรือภาคประชาชน ถัดมาคือ  business sector หรือ private sector สำหรับภาคธุรกิจ สุดท้ายคือ government sector หรือ state sector สำหรับภาครัฐ ซึ่งนับเป็นหนึ่งในสามของสังคม  แต่ในเรื่องการปฏิรูปนี่ คุณหมอประเวศ  เสนอว่า ขอให้ฝ่ายประชาชนหรือภาคสังคมได้นำไปก่อน  แล้วท่านหรือภาครัฐค่อยมาดูว่า วิเคราะห์สังเคราะห์แล้วเห็นชอบอะไร ท่านก็ทำไปตามนั้น

 

ปรองดอง/ปฏิรูประยะสั้น  กับปรองดอง/ปฏิรูประยะยาว

                แต่ผมเองมีข้อเสนอแนะว่าภาคประชาชนได้รวมตัวกันมาเป็นแรมปี ได้กลั่นกรองความคิดมาเป็นเวลานานแล้ว ได้เสนอแนะสิ่งที่ควรจะทำอย่างเฉพาะเจาะจง  เช่นแก้กฏหมายข้อนี้ แก้นโยบายข้อนั้น แก้ไขข้อบังคับอย่างนี้  ควรปรับวิธีปฏิบัติอย่างนั้น  ชัดเจนมากครับ  ถ้าท่านสามารถประมวลมาวิเคราะห์สังเคราะห์  เลือกสิ่งที่ท่านคิดว่าดีที่สุดแล้วลงมือทำไปเลยน่าจะดี   ตัวอย่างล่าสุดที่คณะกรรมการคุณอานันท์เสนอว่า การประกาศ พรก.ว่าด้วยสถานการณ์ฉุกเฉินควรจะยกเลิกให้เร็วที่สุด ท่านนายกฯและรัฐบาลก็ตอบรับด้วยการไปดู แล้วก็ทยอยเลิกพื้นที่สถานการณ์ฉุกเฉินให้เร็วขึ้น ซึ่งถือว่าดี แต่นี่เป็นเพียงหนึ่งเรื่อง  ยังมีเรื่องสำคัญอื่น ๆ อีก  เป็นต้นว่าการจัดสรรที่ดินที่ทำกิน เรื่องสภาพแวดล้อม เรื่องปัญหาหนี้สิ้นล้นพ้นตัวของประชาชน   เรื่องความไม่เป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำต่างๆ ที่มีหลายแง่หลายมุม แล้วก็เรื่องอื่นๆอีก

                บางเรื่องก็ไม่ใช่เรื่องยากนะครับ  ผมยกตัวอย่าง บังเอิญเมื่อเช้าได้คุยกับท่านรัฐมนตรีชินวรณ์ เรื่องการแก้ปัญหาหนี้ครู ซึ่งเริ่มต้นสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์หรือรัฐบาลคุณชวนนะครับ มีหลายเรื่องดีๆ  ที่เริ่มต้นในสมัยรัฐบาลคุณชวน แล้วขาดช่วงไป  เป็นโอกาสของท่านนะครับที่จะมาสานต่อ  เช่นเรื่องแก้ปัญหาหนี้สินครูนี่จากเริ่มต้นเล็กๆ  มาถึงตอนนี้มีครูกว่าแสนคนเข้าสู่โครงการ  ใช้เงินธนาคารออมสินไปกว่าแสนล้านบาท ยอดคงเหลือเกือบหกหมื่นล้านบาท  นี่คิดเฉพาะโครงการพัฒนาชีวิตครู ยังไม่รวมข้าราชการอื่น ๆ   ซึ่งโครงการพัฒนาชีวิตครูได้ช่วยแก้ปัญหาหนี้สินของครูได้เป็นส่วนใหญ่  มีส่วนน้อยที่แก้ไม่ได้เพราะว่าขาดกระบวนการพัฒนาที่ดีพอ ครูกลับไปใช้นิสัยเดิม  แต่ไม่เป็นไรยังแก้ไขได้อยู่ครับ  เมื่อเช้าคุยกับท่านรัฐมนตรีชินวรณ์ไปแล้วคิดว่าคงจะมีกลไกที่จะทำให้เกิดการพัฒนาดีขึ้นได้   หรือเรื่องการพัฒนาองค์กรชุมชนท้องถิ่นก็เริ่มสมัยรัฐบาลคุณชวน คุณธารินทร์ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ขอให้ผมจัดสัมมนาโดยเชิญผู้นำชุมชน นักวิชาการ เอ็นจีโอ  และข้าราชการที่เกี่ยวข้องมาระดมความคิดกัน ได้ข้อสรุปว่าควรจะมีกลไกที่ไปส่งเสริมองค์กรชุมชนท้องถิ่น  เผอิญรัฐบาลคุณชวนหมดวาระลงหลังจากนั้นไม่นาน  แต่ก็โชคดีที่รัฐบาลใหม่คือรัฐบาลคุณบรรหาร ซึ่งมี ดร.สุรเกียรติเป็น รมว.คลังมาสานต่อ ทำให้มีนโยบายการเงินการคลังเพื่อสังคมซึ่งทำให้เกิด หนึ่ง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ พอช.  สอง  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ  หรือ สสส.  แต่เรื่องที่สามไม่เกิดทั้งๆ ที่อยู่ในสามลำดับแรกที่ถือว่าสำคัญ เรื่องที่สามนี้ คือการประกันภัยพืชผลการเกษตร ที่ไม่เกิดเพราะมีอุปสรรคบางประการ แต่ถ้าท่านจะมาเริ่มทำใหม่ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดีนะครับ

                ส่วนเรื่องชุมชนท้องถิ่นถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะเป็นฐานรากของสังคม  เป็นฐานรากของประเทศ คุณหมอประเวศย้ำแล้วย้ำอีก เรื่องนี้ริเริ่มสมัยรัฐบาลคุณชวน สานต่อโดยรัฐบาลคุณบรรหาร  สานต่อโดยรัฐบาลพลเอกชวลิต  แล้วมาจัดตั้งสำเร็จเป็นองค์การมหาชนในสมัยรัฐบาลคุณชวนรอบ 2     จากนั้นก็มีการพัฒนาเรื่อยมา ทั้งเรื่องการสร้างชุมชนเข้มแข็ง  การสร้างขบวนองค์กรชุมชน  ล่าสุดก็เกิดระบบสภาองค์กรชุมชน  ช่วยให้ขบวนชุมชนมีกลไกที่มีกฏหมายรองรับและสามารถดำเนินงานพัฒนาชุมชนได้ดียิ่งขึ้น   ถือได้ว่าในเรื่องชุมชนท้องถิ่นมีสิ่งดีๆเกิดขึ้น  และขณะนี้ขบวนองค์กรชุมชนได้พัฒนาไปมาก รัฐบาลก็ได้ตั้งคณะกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนแห่งชาติ  ที่มีคุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ เป็นประธาน ถ้าท่านเพียงแต่นำข้อเสนอของขบวนองค์กรชุมชนมาพิจารณา ซึ่งเขาประชุมกันมาหลายรอบมีข้อเสนอชัดเจนมากว่าควรจะทำอะไรบ้าง ถ้ารัฐบาลดูแล้วเห็นว่าควรทำอะไร ท่านทำได้เลย ฉะนั้นการปฏิรูปบางอย่างไม่ต้องรอถึง 3 ปี หรือแม้กระทั่ง 1 ปี อาจทำได้ภายใน 2-3 เดือน หรือ 5-6 เดือน

 

การปรองดอง/ปฏิรูปโดยอาศัยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี

                ที่จริงหลายเรื่องรัฐบาลก็ได้ริเริ่มโดยออกเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ถือว่าเป็นกลไกที่ใช้ได้  ท่านได้ริเริ่มให้มีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน  ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ   ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีที่ตั้งคณะกรรมการ 3 คณะ  คือคณะอาจารย์คณิต คณะคุณหมอประเวศ  และคณะคุณอานันท์  นอกจากนั้นยังมีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีที่ออกในสมัยรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์  แต่ยังไม่มีโอกาสตั้งกรรมการให้ปฏิบัติงานรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ก็หมดวาระไปก่อน แต่ตัวระเบียบยังมีผลใช้บังคับได้อยู่  เมื่อรัฐบาลท่านเห็นว่าดีก็เลยนำระเบียบเหล่านั้นมาใช้ ซึ่งผมชื่นชมเพราะเห็นว่าแม้ว่าท่านไม่ได้เป็นคนออกระเบียบแต่เมื่อท่านเห็นว่าระเบียบนั้น ๆ ดีท่านก็นำมาใช้  ก็คือ หนึ่ง ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ รัฐมนตรีวัฒนธรรมได้เอามาใช้อย่างแข็งขัน  สอง ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการส่งเสริมประชาสังคมเพื่อการพัฒนา ท่านรองนายกฯสุเทพเป็นประธาน  จัดสัมมนาไปรอบหนึ่งเพื่อจะวางแนวการดำเนินงานให้ดี  ผมได้รับเชิญไปพูดด้วย  ก็ถือว่าท่านใจกว้าง     แม้ไม่ใช่ระเบียบที่ท่านออก แต่ท่านเห็นว่าดีท่านก็นำมาใช้

                แต่มีระเบียบหนึ่งครับ เป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการเสริมสร้างความสมานฉันท์แห่งชาติ  พ.ศ. 2550 ประกาศในพระราชกิจจานุเบกษาวันที่ 20 ธันวาคม 2550  หลังจากประกาศแล้วพอถึงเดือนกุมภาพันธ์รัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ก็พ้นหน้าที่ไป  รัฐบาลถัดมาต้องยุ่งกับการประท้วงจึงไม่มีเวลามาคิดเรื่องนี้  ที่จริงน่าจะใช้ประโยชน์จากคณะกรรมการชุดนี้ได้ดี  ชื่อก็บอกแล้วว่าจะเสริมสร้างความสมานฉันท์แห่งชาติ  และเป็นการเสริมสร้างความสมานฉันท์แบบกว้างนะครับ ท่านอย่าลืมว่าความขัดแย้งหรือการสร้างความสมานฉันท์แห่งชาติไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะเรื่องการเมืองนะครับ ในท้องถิ่นมีปัญหาความขัดแย้ง  ภาคใต้มีปัญหาความรุนแรงมาหลายปีแล้ว อุตสาหกรรมมีปัญหาความขัดแย้งกับชุมชน  เกษตรกรรมก็มีปัญหาที่ทำให้เกิดความแตกแยกขัดแย้ง คณะกรรมการชุดนี้ถ้าสร้างดีๆ นะครับ  สามารถเป็นกลไกไปช่วยป้องกันแก้ไขความขัดแย้งและสร้างความสมานฉันท์ อย่างน้อยก็ทำให้ปัญหาหนักกลายเป็นเบา  หรือช่วยบรรเทาเบาบาง เรื่องที่ขัดแย้งรุนแรงลงได้บ้าง  ถ้าดีที่สุดก็คือว่าทำให้เกิดวัฒนธรรมสันติที่องค์การ UNESCO ส่งเสริมมาเป็นเวลาประมาณ 20 ปีแล้วครับ เขาเรียกว่า Culture of Peace  คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติได้มาแปลเป็นสันติวัฒนธรรม คณะกรรมการเสริมสร้างความสมานฉันท์แห่งชาติชุดนี้ หากได้ทำงานอย่างต่อเนื่อง  สามารถจะค่อยๆ สร้างสันติวัฒนธรรมในประเทศไทย จากการที่ชอบคิดอะไรเชิงขัดแย้ง       เชิงต่อสู้ เชิงปฎิปักษ์ คิดเชิงลบ ใครพูดอะไรออกมาต้องสงสัยว่าเลวไว้ก่อน ใครเสนออะไรขึ้นมาต้อง    คิดว่าเจตนาไม่ดีไว้ก่อน ให้ปรับมาเป็นการคิดเชิงบวก คิดเชิงสร้างสรรค์ คิดเชิงนวัตกรรม คิดเชิงที่จะ   มารวมพลังความดีเข้าด้วยกัน

                เสียดายที่ระเบียบนี้ออกในสมัยรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ แต่อยู่ไม่ทันนำออกมาใช้  รัฐบาลคุณสมัครไม่ได้ใช้ รัฐบาลคุณสมชายก็ไม่ได้ใช้ และขอประทานโทษรัฐบาลท่านก็ยังไม่ได้ใช้  กระทรวงยุติธรรมเป็นเลขานุการ  ตั้งฝ่ายเลขานุการขึ้นมาก่อนแต่ไม่มีประธาน ไม่มีกรรมการ  ฉะนั้นท่านก็ทำได้แต่งานธุรการ งานประสานเบื้องต้น  ผมคิดว่าคณะกรรมการชุดนี้ยังไม่สายเกินไปนะครับที่จะตั้งกรรมการขึ้นมา  โดยใช้วิธีการที่ท่านนายกฯ ใช้ซึ่งผมว่าดี คือท่านตั้งประธานคนเดียว   สรรหาเลือกประธานให้ดี เลือกประธานที่เหมาะสม และให้เขาไปปรึกษากันเพื่อจะหาคณะกรรมการที่เหมาะสม คณะกรรมการที่เหมาะสมไม่ใช่ว่าได้คนดีคนเก่งเท่านั้นนะครับ ต้องมีองค์ประกอบที่ดีด้วย  ความเป็นองค์ประกอบที่ดีนี้สำคัญพอ ๆ กับความเป็นตัวบุคคลที่ดี เช่นท่านตั้งคณะกรรมการพัฒนาการศึกษาแล้วท่านตั้งคนที่เป็นศาสตราจารย์ทุกคนเลยมาเป็นกรรมการ  จะไม่ดีหรอกครับ  ที่ดีควรตั้งคณะกรรมการพัฒนาการศึกษาที่มีศาตราจารย์บ้าง  ผู้บริหารมหาวิทยาลัยบ้าง ผู้ปกครองบ้าง นักจริยธรรมบ้าง นักการสื่อสารบ้าง ศิลปินบ้าง ท่านต้องคละเคล้ากันให้ได้องค์ประกอบที่ดี  ซึ่งคณะกรรมการคุณหมอประเวศและคณะกรรมการคุณอานันท์ ใช้วิธีนี้ครับ คือพยายามหากรรมการที่ดีพร้อมกับให้ได้องค์ประกอบที่ดี  แล้วมาช่วยกันทำงาน

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/385058

<<< กลับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *