นักการธนาคาร ผู้นำขบวนการชุมชนไทย (2)

นักการธนาคาร ผู้นำขบวนการชุมชนไทย (2)


(คอลัมน์ “วิถีแห่งผู้นำ” โดย นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เรื่อง“ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม: นักการธนาคาร ผู้นำขบวนการชุมชนไทย ตอน นักการธนาคารผู้นำขบวนการชุมชนไทย” ลงใน นสพ.สยามรัฐ ฉบับวันที่ 23 พ.ย. 50 หน้า 18)

นับตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 (พ.ศ.2540 – 2544) เป็นต้นมา แนวคิดเรื่องชุมชนเข้มแข็ง หรือวัฒนธรรมชุมชนได้ถูกบรรจุไว้เป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาสังคมที่หน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐได้นำไปเป็นกรอบในการจัดทำแผนงาน โครงการ และงบประมาณประจำปี ในขณะเดียวกันกระบวนการเคลื่อนไหวขององค์กรพัฒนาเอกชน และองค์กรชาวบ้านก็ได้รับการยอมรับในสถานภาพ และได้รับการสนับสนุนมากขึ้นโดยลำดับ จนทำให้แนวคิด และบทบาท ขบวนการชุมชนไทยมีความสูงเด่นขึ้นอย่างมากในกระแสการพัฒนาประเทศในช่วง 10 ปีหลัง ทั้งในด้านการพัฒนาด้านการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ด้านการพัฒนาสังคม การดูแลสิ่งแวดล้อม และแม้แต่ในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจก็ตาม

พัฒนาการของแนวคิดวัฒนธรรมชุมชน

ขบวนการชุมชนเข้มแข็งและประชาสังคมในประเทศไทยเป็นผลผลิตที่เกิดมาจาก “แนวคิดวัฒนธรรมชุมชน” ที่มีจุดกำเนิดจากองค์กรพัฒนาเอกชนเมื่อต้นพุทธทศวรรษที่ 2520

แนวคิดวัฒนธรรมชุมชนในประเทศไทยมีพัฒนาการแบ่งได้เป็น 3 ระยะ ซึ่งในแต่ละขั้นตอนของพัฒนาการ แนวคิดวัฒนธรรมชุมชนได้ปะทะและประสานกับแนวคิดอื่นในกระบวนการดังกล่าว ทำให้สาระสำคัญของแนวคิดนี้ได้รับการเสริมเติมจนมีความเข้มแข็งมากขึ้น และได้รับการยอมรับกว้างขวางขึ้น

ระยะที่ 1 : แนวคิดวัฒนธรรมชุมชนในฐานะ “เป็นทางเลือกของการพัฒนา” (พ.ศ.2520 – 2529)

แนวคิดวัฒนธรรมชุมชนกำเนิดจากองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานในชนบทเพื่อเฝ้ามองผลกระทบอันเนื่องมาจากการพัฒนาประเทศตามทิศทางของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของรัฐ

องค์กรพัฒนาเอกชนที่จุดประกายแนวคิดนี้มี 2 สาย ได้แก่ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยที่ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นผู้ก่อตั้ง ซึ่งนักวิจัยของมูลนิธิได้ค้นพบองค์ความรู้จากการฝังตัวในพื้นที่ชนบทภาคกลางที่จังหวัดชัยนาทว่าแท้ที่จริงแล้ว ท่ามกลางกระแสการพัฒนาในระบบทุนนิยมนั้น เมืองไทยมีวัฒนธรรม 2 กระแส คือด้านหนึ่งเป็นวัฒนธรรมทุนนิยม อีกด้านหนึ่งคือวัฒนธรรมชาวบ้าน และเสนอว่าการพัฒนาประเทศควรยึดแนววัฒนธรรมชาวบ้าน

อีกสายหนึ่งคือสภาคาทอลิกแห่งประเทศไทยเพื่อการพัฒนา ผู้นำนักพัฒนาขององค์กรได้แนวคิดจากการประชุมสังคายนาวาติกันที่ 2 (ค.ศ.1962 – 1965) ซึ่งเสนอว่า ศาสนจักรคาทอลิกต้องเข้าใจวัฒนธรรมพื้นเมือง และต้องทำให้ศาสนาคริสต์กลายเป็นศาสนาพื้นเมือง มิใช่มุ่งปรับเปลี่ยนพื้นเมืองให้เป็นตะวันตก

กล่าวโดยสรุปแล้วสาระสำคัญของแนวคิดนี้ในช่วงต้นมี 3 ประการ ได้แก่

1) มีความเข้าใจแล้วว่าสังคมไทยประกอบขึ้นจากชุมชนของชาวบ้าน วัฒนธรรมแต่โบราณของไทยเป็นวัฒนธรรมที่เป็นความสำคัญของความเป็นชุมชน ซึ่งแตกต่างจากวัฒนธรรมทุนนิยมที่เน้นความเป็นปัจเจกชนตัวใครตัวมัน แข่งขันและเอารัดเอาเปรียบ

2) จะพัฒนาชุมชนต้องเริ่มจากฐานวัฒนธรรมของชุมชน ถ้ามีวัฒนธรรมชุมชนเข้มแข็ง การรวมกลุ่มของชาวบ้านเพื่อทำกิจกรรมส่วนรวมจะสำเร็จได้ไม่ยาก และสามารถต่อต้านการเอารัดเอาเปรียบจากภายนอกได้

3) วิธีการพัฒนาชุมชนต้องทำให้ชาวบ้านมีจิตสำนึกที่แจ่มชัดในคุณค่าวัฒนธรรมของเขา ซึ่งปัญญาชนของชาวบ้าน ( Organic Intellectual) และชาวบ้านควรร่วมกันศึกษาและวิเคราะห์ประวัติศาสตร์วัฒนธรรมชุมชนของเขาเอง

ระยะที่ 2 : แนวคิดวัฒนธรรมชุมชนพัฒนาขึ้นเป็น “แนวคิดเศรษฐกิจและสังคม” (พ.ศ.2530 – 2539)

จาก “ทางเลือกการพัฒนา” ของกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน ต่อมาได้รับการพัฒนาทางด้านแนวคิดทฤษฎีโดยกลุ่มนักวิชาการสถาบันต่างๆ จนสามารถยกระดับขึ้นเป็น “แนวคิดเศรษฐกิจและสังคม” โดยชี้ให้เห็นความสำคัญ 2 ประการ คือ

1) สถาบันชุมชนและวัฒนธรรมชุมชนในประวัติศาสตร์คือฐานะ และบทบาทของชาวบ้านในกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ชุมชนเป็นระบบซึ่งเป็นแกนกลางของสังคมไทย วัฒนธรรมชุมชนเป็นแกนกลางของวัฒนธรรมไทย โดยพื้นฐานสังคมไทยเป็นสังคมแบบชุมชน ไม่ใช่แบบทุนนิยม

2) เส้นทางการพัฒนาโดยแนวคิดวัฒนธรรมชุมชนเป็นเส้นทางที่ชอบธรรมที่ให้ประโยชน์เต็มที่แก่ชาวบ้านพื้นเมือง และเป็นเส้นทางของผู้คนส่วนข้างมากที่สุดในประเทศ อีกทั้งเป็นเส้นทางที่สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ ความอุดมสมบูรณ์ของเขตทรอปปิก สถานะทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของสังคมไทยที่มีหน่วยพื้นฐานคือครอบครัวและชุมชน

ระยะที่ 3 : แนวคิดวัฒนธรรมชุมชนในฐานะ “อุดมการณ์ของสังคม” (พ.ศ.2540 – ปัจจุบัน)

หลังวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 แนวคิดวัฒนธรรมชุมชนได้รับการขานรับอย่างกว้างขวางจากประชาชนจนมีฐานะเป็น “อุดมการณ์ของสังคม” กล่าวคือเป็นอีกอุดมการณ์หนึ่งที่สำคัญที่สุดของสังคมไทยปัจจุบัน ที่นอกเหนือจากอุดมการณ์ทุนนิยม

แนวคิดสำคัญที่หลอมรวมและมีส่วนสำคัญในการขยายแนวคิดวัฒนธรรมชุมชนให้เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในช่วงนี้ ได้แก่

1) แนวคิดเชิงพุทธ ซึ่งเสนอให้ปรับปรุงวัฒนธรรมพื้นบ้าน โดยเพิ่มหลักธรรมของพุทธศาสนาเข้าไปเป็นฐานชุมชนธรรมนิยม

2) แนวคิดธุรกิจชุมชน ที่เสนอว่าธุรกิจชุมชนเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจชุมชน และเป็นส่วนที่ไปติดต่อสัมผัสกับระบบเศรษฐกิจทุน แต่ไม่ใช่เป็นส่วนของระบบเศรษฐกิจทุน

3) แนวคิดความขัดแย้ง ซึ่งเป็นกลุ่มแนวคิดสำนักมาร์กซิสม์ที่มีเป้าหมายโต้แย้งแนวคิดทุนนิยมโดยตรง แต่แนวคิดนี้สุดโต่งและไม่สอดคล้องกับสังคมไทยจึงอ่อนกำลังลงในภายหลัง

4) ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงเสนอแนวทางดำเนินงานเป็น 3 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนพออยู่พอกินพึ่งตนเองได้ ขั้นตอนรวมพลังเป็นชุมชนในรูปแบบสหกรณ์ และขั้นตอนการร่วมมือกับองค์กรหรือภาคเอกชนภายนอก

บทบาทของไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

ในกระบวนการพัฒนาของแนวคิดวัฒนธรรมชุมชนในประเทศไทย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ถือเป็นผู้มีส่วนร่วมอย่างสำคัญ ในฐานะนักคิดนักอุดมการณ์ทางสังคม ทั้งในฐานะที่เป็นผู้บริหารมูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยฯ และในฐานะที่เป็นนักยุทธศาสตร์ที่ผลักดันการพัฒนาโดยอาศัยพลังของเครือข่ายปฏิบัติการในพื้นที่

เขามีความเชื่อมั่นในแนวคิดการพัฒนาสังคมที่ “ชุมชนเป็นแกนหลัก พื้นที่เป็นตัวตั้ง” และพยายามผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนเกิดความเข้าใจ ยอมรับและร่วมทำงานไปในทิศทางเดียวกัน

นอกจากนั้น ในฐานะที่เขาเป็นนักเศรษฐศาสตร์ เขาจึงมีบทบาทอย่างมากต่อการนำแนวคิดธุรกิจชุมชนเข้ามาเสริมเติมแนวคิดวัฒนธรรมชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจ โดยผ่านบทบาทในการบริหารธนาคารออมสิน และกองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/149649

<<< กลับ

นักการธนาคาร ผู้นำขบวนการชุมชนไทย (1)

นักการธนาคาร ผู้นำขบวนการชุมชนไทย (1)


(คอลัมน์ “วิถีแห่งผู้นำ” โดย นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เรื่อง “นักการธนาคาร ผู้นำขบวนการชุมชนไทย ตอน …นักพัฒนาสังคมไทยผู้โดดเด่น” ลงใน นสพ.สยามรัฐ ฉบับวันที่ 20 พ.ย. 50 หน้า 18)

ในช่วง 4 ทศวรรษของการก่อตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในระบบทุนนิยมยุคใหม่ตั้งแต่พุทธทศวรรษที่ 2500 เป็นต้นมา สังคมไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และการพัฒนา

แต่จากข้อสรุปของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อันเป็นผลสะท้อนของดำเนินการตามนโยบายของแผนพัฒนาประเทศตั้งแต่ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2504 – 2509) ถึงฉบับที่ 7 (พ.ศ.2535 – 2539) ที่กล่าวว่า “เศรษฐกิจดี สังคมมีปัญหา การพัฒนาไม่ยั่งยืน” ได้ฉายภาพให้เห็นบรรยากาศการขับเคลื่อนประเทศที่เต็มไปด้วยแรงขับดัน การดิ้นรน การเรียนรู้ การปรับตัว ความขัดแย้ง การต่อสู้ และการเปลี่ยนผ่านของประชาชน ชุมชน ท้องถิ่น และสถาบันต่างๆ อย่างหลากหลาย ทั้งส่วนที่ได้รับผลประโยชน์ และส่วนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายและแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเหล่านั้น

ในช่วงดังกล่าวประชากรของประเทศเพิ่มจาก 26 ล้านคนในปี 2500 มาเป็น 61 ล้านคนในปี 2543 เศรษฐกิจ ( GDP) เติบโตโดยเฉลี่ยร้อยละ 7 ต่อปี ความเหลื่อมล้ำระหว่างภูมิภาคยิ่งห่างออกไปทุกที เงินลงทุนจากต่างชาติและการลงทุนในประเทศกระจุกอยู่บริเวณกรุงเทพมหานคร และที่ราบลุ่มภาคกลาง จนทำให้มีสัดส่วนของ GDP รวมกันประมาณร้อยละ 70 ของประเทศ ส่วนที่เหลือกระจายไปในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคเหนือ ตามลำดับ

ในด้านสังคม ช่องว่างทางรายได้ยิ่งแย่ลง รายได้ต่อหัวประชากรในกรุงเทพฯ และปริมณฑลสูงกว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 12 เท่า กลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้สูงสุด 20 % แรกมีสัดส่วนรายได้ร้อยละ 59 ในขณะที่กลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำสุด 20% ข้างล่างมีสัดส่วนรายได้เพียงร้อยละ 4 เท่านั้น

ทางด้านการเมืองการปกครอง การลุกขึ้นต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยของขบวนนักศึกษาประชาชน 5 แสนคนในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 นำมาซึ่งการสิ้นสุดการปกครองระบอบเผด็จการทหารที่ยาวนาน 15 ปี และนำมาสู่ระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่การโต้กลับภายใน 3 ปีถัดมาของกระแสขวาจัดในเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม 2519 ได้นำประเทศเข้าสู่การต่อสู้ทางอุดมการณ์ที่รุนแรงเมื่อนักศึกษาประชาชนเกือบ 5,000 คนเข้าป่าจับปืนร่วมกับกองกำลังของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศต่อสู้กับอำนาจรัฐ ซึ่งสังคมไทยต้องใช้เวลาร่วม 10 ปีจึงสามารถปรับตัวจนเอาชนะสงครามอุดมการณ์ภายในประเทศลงได้ และก้าวเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยที่ถือการเลือกตั้งเป็นใหญ่ ( Thai Electocracy) อย่างเต็มตัวนับแต่นั้นเป็นต้นมา

ท่ามกลางกระบวนการต่อสู้ทางความคิด การช่วงชิงกำหนดทิศทางประเทศ และการผลักดันนโยบายในการพัฒนาสังคมในช่วงดังกล่าว ได้มีนักคิด นักพัฒนา ผู้นำชุมชน และผู้ทรงคุณวุฒิที่ใส่ใจต่อปัญหาสังคมปรากฏตัวและแสดงบทบาทที่แตกต่างหลากหลายอันส่งผลให้การพัฒนาสังคมไทยมีวิวัฒนาการที่ก้าวหน้ามาโดยลำดับ

ในบรรดานักพัฒนาสังคมดังกล่าว ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม นับเป็นผู้มีบทบาทและมีผลงานที่โดดเด่นที่สุดคนหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 2 ทศวรรษหลัง

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม เป็นนักเศรษฐศาสตร์ นักการเงินการธนาคาร เป็นลูกศิษย์ของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผู้เป็นปูชนียบุคคลที่สำคัญคนหนึ่งของสังคมไทย เมื่อจบการศึกษาแล้ว ได้เข้าทำงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทยในปี 2510 เป็นคณะทำงานจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์ในปี 2517 เป็นกรรมการผู้จัดการตลาดทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2523 และเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการทั่วไปธนาคารไทยทนุอยู่ 5 ปีเศษ ระหว่าง พ.ศ.2525 – 2531

อย่างไรก็ตาม การที่เขาได้เข้าไปช่วยงานมูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์อันเป็นสถาบันที่ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์เป็นผู้ก่อตั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มูลนิธิได้รับผลกระทบทางการเมือง จนกระทั่งเขาเข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะชนบทฯ ทำงานเต็มเวลาในปี 2531 นั้นถือเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม หันเหวิถีชีวิตการทำงานจากนักการเงินการธนาคารมาเป็นนักพัฒนาชนบทและนักพัฒนาสังคมอย่างเต็มตัว

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม มีความศรัทธายึดมั่นในแนวทางการพัฒนาที่ “ชุมชนเป็นแกนหลัก พื้นที่เป็นตัวตั้ง” และได้ผลักดันแนวคิดนี้อย่างเอาจริงเอาจังตลอดเวลา 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ด้วยบุคลิกที่เป็นนักประสานเชื่อมโยง ด้วยสถานภาพที่เป็นนักการเงินการธนาคารผู้ประสบความสำเร็จ ด้วยทักษะในการทำงานเชิงยุทธศาสตร์ และด้วยฐานภาพของผู้นำทางสังคมที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ทำให้เขาประสบความสำเร็จในการผลักดันนโยบายของรัฐในการส่งเสริมสนับสนุนชุมชนตามแนวคิดและแนวทางดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเห็นได้จากการที่กลไกและมาตรการการพัฒนาชุมชนและพัฒนาสังคมของรัฐบาลในแต่ละยุคสมัยที่เขามีส่วนร่วมเสนอความคิด และร่วมขับเคลื่อน ได้แสดงบทบาทอย่างสำคัญจนทำให้ขบวนการชุมชนเข้มแข็งเกิดการขยายตัวอย่างรวดเร็ว และแผ่ตัวขยายเครือข่ายออกไปทั่วประเทศ กลไกเหล่านั้นได้แก่ :- สำนักงานพัฒนาชุมชนเมือง (Urban Community Development Office – UCDO) ในปี 2535, กองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม (Social Investment Fund – SIF) ในปี 2541, สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (Community Organizations Development Institute – CODI) ในปี 2543, ศูนย์ต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนภาคประชาชน (ศตจ.ปชช.) ในปี 2544, ฯลฯ

นอกจากผลงานที่โดดเด่นในด้านการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชุมชนเข้มแข็งแล้ว ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ยังเป็นผู้สร้างนวัตกรรมทางสังคมชิ้นสำคัญสำหรับการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยของคนยากจนตามแหล่งสลัมในเมือง โดยเขาค้นพบแนวทางขึ้นมาจากการเข้าไปช่วยเหลือชุมชนถูกไล่รื้อโดยยึดหลักการทำงานในแนวทางพัฒนาที่ “ชุมชนเป็นแกนหลัก พื้นที่เป็นตัวตั้ง” ที่เขาศรัทธายึดมั่น จึงเกิดเป็นรูปแบบ “โครงการบ้านมั่นคง” ที่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาความไม่มั่นคงของมนุษย์ด้านที่อยู่อาศัยของคนในเมือง และได้รับการตอบรับจากผู้บริหารเมืองและชุมชนแออัดอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ รวมทั้งได้รับการยอมรับในวงการพัฒนาที่อยู่อาศัยคนยากจนในระดับสากลอีกด้วย

ปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่า ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม คือผู้นำขบวนการชุมชนไทยที่ได้รับการยอมรับอย่างสูงทั้งจากเครือข่ายองค์กรชุมชนทั่วประเทศ จากหน่วยงานภาครัฐทุกกระทรวง จากแวดวงนักวิชาการ นักคิด นักพัฒนาสังคมทุกระดับ และจากผู้นำนักการเมืองไทยทุกพรรค.

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/148462

<<< กลับ

สังขารก็เป็นเช่นนี้

สังขารก็เป็นเช่นนี้


(จากคอลัมน์ “ซูม” เหะหะพาที ในไทยรัฐ ฉบับวันที่ 11 ต.ค. 50 หน้า 5)

ก่อนที่ผมจะนั่งรถเข้าโรงพิมพ์เพื่อที่จะมาเขียนคอลัมน์วันนี้ เปิดอินเตอร์เน็ต ไทยรัฐดอตคอมเช็กข่าว ทำให้ทราบว่า ท่านรองนายกรัฐมนตรีไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม เกิดอาการวูบในห้องประชุมคณะรัฐมนตรี จนต้องออกมานั่งพักแล้วก็ถูกส่งตัวไปโรงพยาบาล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะลงมาขึ้นรถเพื่อเดินทางไปโรงพยาบาลรามาธิบดีนั้น ท่านรองฯไพบูลย์มีอาการเหนื่อยอ่อนอย่างเห็นได้ชัด

แต่ยังยิ้มสู้บอกกับผู้สื่อข่าวว่า “ ยังไหว ”

คุณหมอ มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ ออกมาส่งรองฯไพบูลย์ บอกกับผู้สื่อข่าวว่า ท่านรองฯทำงานหนักติดต่อ กันหลายวัน ทำให้มีอาการความดันโลหิตต่ำ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุที่ทำงานหนัก

บอกตรงๆว่า ขณะนั่งอ่านข่าวอินเตอร์เน็ตนั้น ผมใจระทึกอยู่ตลอด เพราะทราบดีว่าคนอายุปูนนี้แล้ว เวลาเกิดอาการวูบขึ้นมาเนี่ยมันสาหัส สากรรจ์จริงๆ

เห็นเดือนเห็นดาว หมดแรงข้าวต้มอย่างที่โบราณเขาว่าไว้

พอเข้าถึงโรงพิมพ์ ผมก็รีบไปตรวจสอบข่าวคืบหน้าที่โต๊ะข่าว และพบว่า อาการของท่านอยู่ในเกณฑ์หนักหนาพอสมควรทีเดียว

ดูเหมือนเส้นเลือดที่เข้าไปเลี้ยงหัวใจจะตีบถึง 3 เส้น

ดังนั้น เมื่อต้องทำงานหนัก พักผ่อนไม่พอ จึงเกิดอาการแน่นหน้าอก และหน้ามืดดังที่เป็นข่าว

ล่าสุด คณะแพทย์ที่โรงพยาบาลรามาธิบดีต้องรับตัวไว้รักษา และ อาจจะต้องอยู่ที่โรงพยาบาลอีกระยะหนึ่ง

ก็ขอให้ท่านรองฯรักษาเนื้อรักษาตัวและพักผ่อนให้สบายใจเถอะครับ ตัดอะไรได้ก็ตัดทิ้งไปเสียบ้าง…โดยเฉพาะเรื่องงานต่างๆ

ผมยังจำได้ว่า ท่านรองฯเป็นคนขยันขันแข็ง มุ่งมั่นทุ่มเทมาโดยตลอด…มีอยู่ช่วงหนึ่งผมกับท่านมักไปร่วมงานสัมมนากันเป็นประจำ

บางครั้งเวลาไปต่างจังหวัด เรานั่งถกกันตั้งแต่เช้ายันเย็น แถมด้วยภาคค่ำไปจนดึกดื่นเที่ยงคืนยังไม่ยอมหยุดพัก

แต่ตอนโน้นน่ะท่านอายุ 50 กว่าๆนิดๆ ถือว่ายังหนุ่มยังแน่น เรื่อง นอนดึกเรื่องทำงานหนักไม่ต้องห่วง

มาถึงวันนี้ อายุท่านคงจะราวๆ 65 หรือ 66 ปีแล้ว จะโหมเหมือน สมัยก่อนคงจะไม่ไหว

ผมก็ได้แต่หวังว่า หลังจากนี้ไปท่านคงจะหย่อนมือลงบ้าง… อะไรที่ผ่องให้ท่านรัฐมนตรีช่วยหรือท่านปลัดกระทรวงได้ ก็ผ่องไปเยอะๆนะครับ อย่าแบกเอาไว้เลย

ส่วนงานของรองนายกรัฐมนตรีที่เป็นพิธีการ หรือการตรวจเยี่ยมต่างๆ อาจจะขอให้ท่านนายกรัฐมนตรีท่านฝากรองนายกฯท่านใหม่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ช่วยทำแทนบ้างก็ได้

แม้งานหลักของรองฯสนธิจะเป็นเรื่องมั่นคง แต่ในสถานการณ์เช่นนี้ หากจะช่วยดูแลอย่างอื่นด้วยก็คงจะช่วยผ่อนแรงท่านไพบูลย์ขณะรักษาตัวได้เยอะ

พล.อ.สนธิท่านยังหนุ่มกว่า เพราะอายุ 60 กว่านิดๆ ยังแบกงานหนัก ได้มากกว่า ว่างั้นเถอะ

สรุปว่าออกจากโรงพยาบาลแล้วก็ขอให้ทำงานเบาๆลงอย่างที่ผมเสนอ นะครับท่านรองฯไพบูลย์

อย่าถึงขั้นลาออกเลย เพราะช่วงนี้ออกไปหลายคนแล้ว ถ้าท่านรองฯลาออกเสียอีกคน แม้จะด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ ก็จะยิ่งทำให้ ครม.เหลือน้อย ลงไปอีก

จะตั้งเพิ่มก็คงไม่เหมาะสมนัก เพราะอีกไม่นาน เมื่อมีพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งออกมา รัฐบาลก็จะเป็นรัฐบาลรักษาการแล้ว

อึดใจประคองๆให้อยู่จนครบวาระ แล้วค่อยอำลาตำแหน่งไปพร้อมๆกันน่าจะเหมาะที่สุด

สำหรับท่านรัฐมนตรีอื่นๆก็อย่าประมาท หมั่นตรวจสุขภาพกันบ่อยๆนะครับ

คนเราพออายุใกล้ 65 หรือเกิน 65 แล้ว สังขารชักเริ่มไม่เที่ยง และความเจ็บป่วยมักจะถามหาอย่างนี้แหละ

ผมเองพอยุท่านรัฐมนตรีเสร็จสรรพ ก็คงต้องแวะไปหาหมอเหมือนกัน…เฮ้อ! พูดไปทำไมมี ก็อายุอานามพอๆกันแหละ ผมกับ รมต.ส่วนใหญ่ใน ครม.ชุดนี้น่ะ…

ท่านเป็นขิงแก่ระดับรัฐบาล ส่วนผมก็ขิงแก่ของวงการหนังสือพิมพ์… มีคำว่าแก่ห้อยท้ายคล้ายๆกันครับ.

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/141326

<<< กลับ

“ไพบูลย์” ทรุดกลางวง ครม. ส่งรพ.ทำบัลลูนหัวใจด่วน!

“ไพบูลย์” ทรุดกลางวง ครม. ส่งรพ.ทำบัลลูนหัวใจด่วน!


(ข่าวจากนสพ.มติชน ฉบับวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2550 หน้า 1)

                “ไพบูลย์” หวิดน็อคกลางวง ครม. มีอาการหน้ามืด-แน่นหน้าอก ขอนายกฯออกนอกห้องประชุมกลางคัน นำตัวส่ง รพ.รามาธิบดี ตรวจพบลิ่มเลือดอุดตันหัวใจ ต้องบัลลูนเร่งด่วน ล่าสุดพ้นขีดอันตราย แต่ยังต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ยังตีบอีก 2 เส้นที่ต้องวางแผนรักษา เผยเหตุจากกรำงานหนัก นอนดึก

                นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เกิดอาการแน่นหน้าอกและจะเป็นลม ระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต้องนำตัวส่งโรงพยาบาลรามาธิบดี แพทย์ตรวจพบมีอาการหลอดเลือดหัวใจอุดตัน จึงขยายหลอดเลือดหัวใจโดยใช้วิธีบัลลูน ล่าสุดอาการพ้นขีดอันตรายแล้ว แต่ยังจะต้องวางแผนเพื่อรักษาภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบอีก 2 เส้นต่อไป

                ทั้งนี้ เมื่อเวลา 13.45 น. วันที่ 9 ตุลาคม ระหว่างการประชุม ครม. นายไพบูลย์ได้มีอาการแน่นหน้าอกและหน้ามืดจะเป็นลม จึงเดินไปแจ้ง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่เป็นประธานการประชุม เพื่อขอออกจากห้องประชุม ซึ่ง พล.อ.สุรยุทธ์ได้บอกให้ นพ.มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ติดตามออกไปดูอาการ ก่อนนำตัวส่งโรงพยาบาลรามาธิบดี โดยระหว่างที่นั่งรถเข็นเพื่อนำส่งโรงพยาบาลนั้น ผู้สื่อข่าวถามว่า กำลังใจยังดีหรือไม่ ซึ่งนายไพบูลย์ได้พยักหน้า ก่อนที่หลับตาพิงพนักเบาะรถ

                นพ.มงคลกล่าวว่า นายไพบูลย์มีสีหน้าซีดมาก นายกฯจึงสั่งให้ตามออกมาดูอาการ โดยสาเหตุที่ทำให้นายไพบูลย์เกิดอาการหน้ามืด เนื่องจากนายไพบูลย์ทำงานหนักมาก ทราบมาว่าเมื่อคืนวันที่ 8 ตุลาคม ที่ผ่านมา นอนดึกและต้องตื่นแต่เช้าเพื่อตรวจสอบรายละเอียดของการประชุม ครม. 

                “นายไพบูลย์บอกว่า รู้สึกแน่นหน้าออก ซึ่งเป็นอาการของคนที่เป็นความดันต่ำ ซึ่งผมได้ตรวจดูความดันของนายไพบูลย์ พบว่าอยู่ที่ 90/60 ซึ่งถือว่าต่ำมาก” นพ.มงคลกล่าว

                ผู้สื่อข่าวถามว่า นายไพบูลย์มีโรคประจำตัวหรือไม่ นพ.มงคลกล่าวว่า มีโรคเล็กๆ น้อยๆ ตามปกติของคนที่อายุขนาดนี้ ไม่มีอะไรรุนแรง 

                ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อนายไพบูลย์ถูกนำตัวถึงโรงพยาบาลรามาธิบดี แพทย์ได้นำตัวไปที่ห้องสวนหัวใจ ชั้น 2 ตึกศูนย์การแพทย์สิริกิติ์ เพื่อตรวจอาการ และพบว่าหลอดเลือดหัวใจตีบตัน จึงทำการขยายหลอดเลือดโดยใช้วิธีบัลลูน ซึ่งใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงเศษ จากนั้นได้นำนายไพบูลย์ไปพักรักษาตัวที่ห้องซีซียู (CCU) หอผู้ป่วยเฝ้าดูอาการวิกฤต ชั้น 9 อาคาร 1 โดยมี นพ.มงคล นพ.พลเดช ปิ่นประทีป รัฐมนตรีช่วยว่าการ พม. และคุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม ภริยานายไพบูลย์ เฝ้าดูแลอาการอย่างใกล้ชิด

                ต่อมา ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน คณบดีคณะแพทยศาสตร์ พร้อม ศ.นพ.อร่าม โรจนสกุล รองคณบดีฝ่ายบริหาร ศ.นพ.วินิต พัวประดิษฐ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี และ รศ.นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ หัวหน้าหน่วยโรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ในฐานะแพทย์เจ้าของไข้ ร่วมกันแถลงข่าวถึงอาการป่วยของนายไพบูลย์ โดย ศ.นพ.รัชตะกล่าวว่า ก่อนที่นายไพบูลย์เข้ารักษาตัว มีอาการแน่นหน้าอก วิงเวียนศีรษะ ซึ่งหลังจากแพทย์ได้ตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมพบว่ามีอาการของหลอดเลือดหัวใจอุดตัน จึงได้รักษาด้วยการขยายหัวใจโดยใช้วิธีบัลลูนแล้ว ขณะนี้อาการแข็งแรงดี แพทย์เจ้าของไข้ให้พักรักษาตัวระยะหนึ่ง เพื่อเฝ้าระวังอาการแทรกซ้อนเฉียบพลัน  

                ด้าน รศ.นพ.สรณกล่าวว่า นายไพบูลย์มีอาการวิงเวียนศีรษะ แน่นหน้าอก ซึ่งเป็นภาวะของหลอดเลือดหัวใจอุดตัน หรือหลอดเลือดแดงอุดตัน ซึ่งเป็นโรคที่พบบ่อยและเป็นภาวะเร่งด่วน ทำให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่ได้ เนื่องจากมีลิ่มเลือดเข้าไปอุดตัน ทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือ “ฮาร์ท แอทแท็ค” (Heart attack) ทั้งนี้ ถือว่าโชคดีที่เข้ารักษาตัวได้ทันท่วงที โดยแพทย์ได้ตรวจพบว่ามีภาวะหลอดเลือดหัวใจ 1 เส้น ถือเป็นภาวะเร่งด่วนต้องทำบัลลูน เพื่อขยายหลอดเลือดหัวใจ ร่วมกับให้ยารักษาอาการแน่นหน้าอก ทำให้มีอาการง่วงนอน ต้องได้รับการพักผ่อนอย่างเพียงพอ 

                “แพทย์ยังตรวจพบว่า นายไพบูยย์ยังมีภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบอีก 2 เส้น ซึ่งยังไม่น่าเป็นห่วงแต่ต้องมีการวางแผนการรักษาภาวะดังกล่าวต่อไป” รศ.นพ.สรณกล่าว

                รศ.นพ.สรณกล่าวว่า นายไพบูลย์ต้องนอนพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลอย่างน้อย 1 สัปดาห์ โดยต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากแม้จะได้รับการรักษาด้วยการทำบัลลูนแล้ว แต่ก็ถือเป็นภาวะเสี่ยง เพราะอาจเกิดภาวะความดันตก หัวใจแปรปรวน และอาจเสียชีวิตได้ ดังนั้น ระยะนี้จึงต้องเฝ้าดูอาการก่อน และจำเป็นต้องจำกัดผู้เยี่ยม เนื่องจากผู้ป่วยจำเป็นต้องพักผ่อนอย่างเพียงพอ โดยคาดว่าอีกประมาณ 2-3 วัน คงย้ายไปห้องธรรมดาได้

                “ผู้ป่วยกรณีนี้ หากไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างดีพอ อาจทำให้เสียชีวิตได้ ข้อมูลที่ผ่านมาพบประมาณ 15 คน ใน 100 คน แต่กรณีนายไพบูลย์ไม่ต้องวิตกกังวล เพราะแพทย์ได้ดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งโดยปกติหลังการรักษา 1-2 สัปดาห์ ก็สามารถทำงานได้อย่างปกติ” รศ.นพ.สรณกล่าว และว่า สำหรับปัจจัยเสี่ยงมีมากมาย อาทิ อายุที่มากขึ้น การสูบบุหรี่จัด ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน ความเครียดในการทำงาน ซึ่งกรณีนี้เชื่อว่ามาจากความเครียด ดังนั้น แม้จะรักษาหายแล้วก็จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ทั้งด้านอารมณ์ และอาหารการกิน

                นพ.มงคลกล่าวว่า นายไพบูลย์ไม่เคยมีอาการของภาวะหลอดเลือดมาก่อน โดยอาการที่เกิดขึ้นอาจมีส่วนมาจากการทำงานอย่างหนัก แต่เชื่อว่าหลังจากเข้ารับการรักษาและพักฟื้นอย่างเต็มที่จะสามารถทำงานได้ปกติตามเดิม

                พล.อ.สุรยุทธ์ให้สัมภาษณ์กรณีนายไพบูลย์มีอาการหลอดเลือดหัวใจตีบเพราะทำงานมากเกินไปหรือไม่ว่า คงประกอบกันหลายอย่าง ไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นเพราะอะไร ส่วนในเรื่องงานที่ต้องดูแลได้มีการแบ่งมอบหมายกันอยู่แล้วว่าใครที่จะปรับงานที่ดูแลในแต่ละส่วนได้ 

                รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า ได้มีการสั่งยกเลิกภารกิจทุกภารกิจของนายไพบูลย์ไปจนถึงสิ้นเดือนตุลาคม ตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อให้นายไพบูลย์ได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ ส่วนจะกลับเข้ามาทำงานที่ทำเนียบรัฐบาลได้เมื่อไหร่นั้น ต้องรอดูอาการและการอนุญาตจากแพทย์เป็นหลัก 

                ทั้งนี้ มีรายงานข่าวว่า นายไพบูลย์เคยมีอาการดังกล่าวมาแล้วครั้งหนึ่ง หลังเข้าร่วมรัฐบาลใหม่ๆ โดยเกิดขึ้นระหว่างปฏิบัติราชการในต่างจังหวัด แต่แพทย์ได้เข้ารักษาบรรเทาอาการได้ทันท่วงที โดยให้ออกซิเจนถึงห้องพักภายในสนามบิน พร้อมกำชับให้ลดงานให้เหลือน้อยลงและพักผ่อนให้มากขึ้น แต่นายไพบูลย์ยังไม่ยอมลดงาน มักจะอยู่ทำงานที่ทำเนียบจนดึกดื่นเป็นประจำ

อ้างอิง

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

เว็บไซต์เดิม  :  https://www.gotoknow.org/posts/137481

<<< กลับ

แม่ผมเป็นคนบ้านนาคู (4)

แม่ผมเป็นคนบ้านนาคู (4)


8. การปกครอง : บ้านเราเขาครอง

พ่อของแม่คือ “ตา” ของผม ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ใหญ่บ้าน เมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่

จึงนับว่าครอบครัวของแม่เป็นที่ยอมรับนับถือกันในชุมชนพอสมควร

ตาเสียชีวิตตั้งแต่ก่อนผมเกิด ผมจึงไม่เคยเห็นหน้า ไม่รู้จัก และไม่ค่อยรู้เรื่องตาเท่าใด โดยเฉพาะเรื่องในฐานะเป็นผู้ใหญ่บ้าน

ผู้ใหญ่บ้านที่ผมรู้จักคือผู้ใหญ่บ้านที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในขณะผมใช้ชีวิตวัยเด็กอยู่ที่บ้านนาคู

แม่จะพูดถึงผู้ใหญ่บ้านเป็นครั้งคราว เพราะเวลามีอะไรสำคัญที่เกี่ยวกับทางราชการ เราจะนึกถึงผู้ใหญ่บ้าน

หรือเวลามีปัญหา หรือเรื่องราวที่เป็นส่วนรวม หรือมีผลต่อส่วนรวม เราก็จะนึกหรือปรึกษาหรือรับฟังรับรู้จากผู้ใหญ่บ้านอีกเช่นกัน

บ้านผู้ใหญ่บ้านอยู่ไม่ไกลจากบ้านของเรา ผมมีโอกาสได้ไปบ้านของผู้ใหญ่บ้านบ้างเหมือนกัน โดยติดตามไปกับแม่

แต่ส่วนมากไปด้วยเรื่องที่เกี่ยวข้องในฐานะเป็นคนคุ้นเคยกัน ไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับราชการบ้านเมืองแต่ประการใด

คำว่า “ราชการ” หรือ “บ้านเมือง” เราก็ไม่ค่อยรู้จัก หรือเข้าใจ

เรารู้จักคำว่า “หลวง” ซึ่งหมายถึงทางราชการหรือทางรัฐบาล

และเรารู้จักคำว่า “ข้าหลวง” ซึ่งหมายถึงผู้ว่าราชการจังหวัด

แต่ “ข้าหลวง” ของเราเป็นใคร หน้าตาอย่างไร มีหน้าที่อะไร มีความสำคัญต่อเราหรือไม่อย่างไร เราไม่รู้

อย่างน้อยผมเป็นคนหนึ่งที่ไม่รู้ และคิดว่าแม่คงไม่ค่อยรู้เหมือนกัน หรือรู้ก็ไม่เคยอธิบายให้ผมฟัง

ผมมาได้ยินคำว่า “ข้าหลวง” เป็นครั้งแรกเอาเมื่อเกิดเหตุร้ายขึ้นที่บ้านของเรา

โจรปล้นบ้าน !

บ้านของเรามี 3 หลังแยกกัน เชื่อมด้วยสะพาน เดินถึงกันได้สะดวก

บ้านริมที่ติดคลองเป็นบ้านของตาและยาย ต่อมาตาเสียชีวิตเหลือแต่ยาย ก็ให้น้าผู้หญิงที่แต่งงานแล้วแต่ไม่มีลูกอยู่ด้วย พร้อมทั้งน้าเขย

บ้านกลางเป็นบ้านที่แม่และผมอยู่ พร้อมด้วยพี่ๆ บางคน ขณะนั้นพ่อได้เข้ามาค้าขายในกรุงเทพฯ แล้ว

บ้านริมอีกด้านหนึ่งซึ่งอยู่ติดทุ่งนา เป็นของน้าผู้ชายซึ่งอยู่กับน้าสะใภ้พร้อมด้วยลูกๆ

“โจร” คงจะได้ข่าวว่ายายจะทำบุญให้วัด และได้เตรียมเงินที่ได้จากการขายข้าวไว้จำนวนหนึ่งเพื่อการนั้น

วันหนึ่ง เวลาบ่ายเกือบเย็น มีเรือลำหนึ่งเข้ามาในบ้านเรา คนในเรือแต่งกายแบบตำรวจบอกว่าจะมาขอค้นของผิดกฎหมาย ให้ทุกคนมานั่งรวมกัน และถ้ามีอาวุธปืนในบ้านให้เอามามอบให้ด้วย

พวกเราทำตามเพราะคิดว่าเป็นตำรวจจริง

เมื่อทุกคนมานั่งพร้อมกันแล้ว คนในเครื่องแบบตำรวจซึ่งมีอาวุธปืนและกุญแจมือประจำตัวก็ประกาศว่าตนเป็นโจร ขอให้บอกที่เก็บเงิน เพื่อจะได้ไม่ต้องเจ็บตัว

โชคดีอย่างหนึ่งที่ยายได้นำเงินทำบุญไปมอบให้วัดเมื่อเช้าของวันนั้นแล้ว เงินส่วนนั้นจึงรอดจากมือโจรไป

แต่เงินที่พอมีติดบ้านบ้างไม่มากนัก โจรเอาไปหมด แม้แต่เงินเล็กน้อยในกระปุกออมสินก็เอาไปด้วย

ผมและพี่ๆ เด็ดดอกจำปีที่บ้านไปขายที่โรงเรียนเป็นครั้งคราว ได้ดอกละ 1-2 สตางค์ เก็บรายได้นั้นเข้ากระปุกออมสินสะสมไว้ได้หลายบาท

ก็มาหมดเกลี้ยงเพราะน้ำมือโจรนี่เอง

โจรเก็บกวาดของที่พอมีค่าบ้างจากในบ้านไปเยอะเหมือนกัน เช่น ขันเงิน ถาดทองเหลือง สร้อยคอ ผ้าห่ม เสื้อหนาว หม้อข้าวหม้อแกง เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ

โจรคงคิดว่า ไหนๆ เสี่ยงมาปล้นทั้งที และมีเรือลำใหญ่มาด้วย เงินแท้ๆ ก็ได้หน่อยเดียว เลยต้องขนเอาข้าวของไปให้มากที่สุด

ปล้นเสร็จโจรก็ลงเรือ หายไปในความมืด เพราะช่วงนั้นตกกลางคืนแล้ว

การปล้นอย่างเป็นระบบมีเครื่องแบบตำรวจใส่ มีอาวุธปืน พร้อมกุญแจมือ นั่งเรือมาอย่างเป็นเรื่องเป็นราวเช่นนี้ คงจะถือเป็นเรื่องใหญ่พอสมควรที่ทางราชการต้องให้ความสนใจ

บ้านเราเลยมีเกียรติได้ต้อนรับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของจังหวัด ได้แก่ นายอำเภอและข้าหลวงซึ่งมาสืบสวนคดี

ในที่สุดดูเหมือนจะจับคนร้ายได้บางคน นับว่าฝีมือของทางการใช้ได้ดีเดียว

การที่เราต้องมีเหตุร้าย เช่น โจรปล้นบ้าน จึงมารับรู้ว่าใครเป็นนายอำเภอ ใครเป็นข้าหลวงสะท้อนถึงระบบการปกครองท้องถิ่น ที่ผู้ปกครองกับผู้ถูกปกครองไม่ค่อยมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันนัก โดยเฉพาะในยามปกติ

มองอีกแง่หนึ่ง บ้านนาคูก็มีความเป็นเอกเทศดี ไม่ค่อยมีใครมายุ่ง

มีกำนัน มีผู้ใหญ่บ้าน ก็ปกครองดูแลกันไป

แม่ซึ่งเป็นลูกบ้านคนหนึ่งของตำบลนาคู คงไม่ค่อยรู้หรือเข้าใจอะไรนักเกี่ยวกับระบบปกครองสำหรับบ้านนาคู

ผมเองก็ไม่เข้าใจเลยในสมัยนั้น

และไม่แน่ใจว่า แม้สมัยนี้คนบ้านนาคูจะเข้าใจกันแค่ไหนเกี่ยวกับระบบการบริหารส่วนท้องถิ่น เช่น ตำบลนาคู และการบริหารหมู่บ้านต่างๆ ที่ประกอบกันเป็นตำบลนาคู

สำคัญกว่านั้น ถ้าชาวบ้านเข้าใจระบบการปกครองหรือระบบการบริหารส่วนท้องถิ่น อย่างดีแล้ว

จะพอใจกับระบบปัจจุบัน

หรือจะอยากได้ระบบที่ดีกว่า ?

. อนาคต : ไปแต่อยู่

แม่จากโลกไปแล้ว

จากลูกๆ ที่แม่รัก

จากญาติพี่น้องและคนคุ้นเคยที่แม่ห่วง

จากบ้านนาคูที่แม่ผูกพัน

แม่กลับมาอีกไม่ได้

แต่ผู้ยังอยู่จะต้องดำเนินชีวิตต่อไป

บ้านนาคูจะต้องวิวัฒนาการต่อไป

ไม่ว่าจะในทางดีขึ้น หรือเลวลง

ผมซึ่งเป็นเด็กบ้านนาคู และยังรู้สึกผูกพันกับบ้านนาคู ย่อมอยากเห็นวิวัฒนาการของบ้านนาคูไปในทางที่ดีขึ้น

แม่คงคิดเหมือนกับผมในประเด็นนี้

แต่อย่างไรล่ะ จึงจะเรียกว่า “ดีขึ้น” ?

ถ้าไปถามคนบ้านนาคู เขาอาจมีคำตอบต่างๆ กัน

แต่รวมๆ แล้ว น่าจะเป็นอย่างนี้กระมัง………

คนบ้านนาคูคงอยากให้พวกเขาสามารถมี “ความเป็นอยู่” ที่ดี

มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงแข็งแรง สะดวกสบาย ปลอดภัย มีที่หลับนอนเป็นสัดส่วน มีที่ทำอาหาร ที่ประกอบกิจวัตรประจำวัน อันได้แก่ การล้างหน้า แปรงฟัน อาบน้ำ บรรเทาทุกข์ เป็นต้น

บริเวณบ้านสะอาดเรียบร้อยพอควร ปลอดขยะมูลฝอย น้ำเสีย กลิ่นเหม็น เสียงรบกวน สารพิษ

มีน้ำกินน้ำใช้เพียงพอตามความจำเป็น

ไปไหนมาไหนได้สะดวกปลอดภัยพอสมควร

คนบ้านนาคูคงอยากมี “สิ่งแวดล้อม” ที่ดี

ดิน น้ำ อากาศ ที่อยู่รอบๆ เอื้ออำนวยเพียงพอ

สภาพดินเหมาะสมกับการทำการเกษตร คุณภาพไม่เสื่อมถอยลง

น้ำมีปริมาณพอดีๆไม่มากไป ไม่น้อยไป และไม่มีสารพิษเจือปน

อากาศบริสุทธิ์ไม่เป็นอันตราย ฟ้าฝนตกต้องตามฤดูกาล ไม่มีพายุร้ายแรง

คนบ้านนาคู คงต้องการมีอาชีพเป็นหลักเป็นฐาน มีแหล่งทำมาหากินเป็นกิจจลักษณะ มีรายได้มั่นคง เพียงสำหรับเลี้ยงตนเองและครอบครัว รวมทั้งเก็บออมสำหรับวันข้างหน้า

นั่นคือคนบ้านนาคูคงต้องการมีฐานะทาง “เศรษฐกิจ” ที่ดี

มีกิน มีใช้ มีเก็บ ไม่ขัดสน ทั้งวันนี้และวันหน้า

คนบ้านนาคูคงต้องการมี “สุขภาพ” ที่ดี

แข็งแรง สมบูรณ์ มีเรี่ยวแรง ไม่อ่อนเพลีย ไม่เจ็บไข้ ไม่เป็นโรค

ถ้าเจ็บไข้ได้ป่วย ก็มีบริการรักษาพยาบาลที่สะดวก และมีคุณภาพดีพอควร

คนบ้านนาคูคงต้องการให้พวกเขามี “จิตใจ” ที่เป็นสุข อบอุ่น มั่นคง เข้มแข็ง

ไม่เดือดร้อน วุ่นวาย วิตก กังวล หวั่นกลัว โศกเศร้า เหงาหงอย

มีทั้งสุขภาพจิต และพลังจิตที่ดี

คนบ้านนาคูคงอยากให้ “สังคม” ของพวกเขาสงบร่มรื่น

ไปมาหาสู่กัน พบปะสังสรรค์กัน ร่วมจิตร่วมใจกัน ร่วมมือร่วมแรงกัน ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เมตตากรุณาต่อกัน

เป็นชุมชนที่อบอุ่น ปลอดภัย เหนียวแน่น มีพลัง

และคนบ้านนาคูคงต้องการมีบทบาทอย่างเพียงพอใน “การปกครอง” ท้องถิ่นของพวกเขา

เพื่อพวกเขาจะสามารถบอกได้ว่า “บ้านนาคู” ของเขา มีปัญหาอะไรมีความเดือดร้อนอะไร มีอุปสรรคอะไร

สามารถบอกได้ว่าพวกเขาอยากเห็น “บ้านนาคู” ของเขาเป็นอย่างไร

ตลอดจนสามารถ “ดำเนินการ” ด้วยตัวของพวกเขาเอง เพื่อให้เกิดผลตามที่พวกที่เขาเห็นว่าดีและเหมาะสม สำหรับ “บ้านนาคู” ของพวกเขา

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้คงเป็น “สภาพที่พึงปรารถนา” สำหรับบ้านนาคู

แล้ว “วิธีการ” ที่จะให้ได้มาซึ่ง “สภาพที่พึงปรารถนา” เหล่านั้นจะเป็นอย่างไร?

คำตอบในประเด็นนี้ คงมีหลายหลากอีกเช่นกัน

คำตอบที่ถูกต้องคืออะไร ผมก็ไม่แน่ใจนัก

แต่อดคิดไม่ได้ว่า วิธีการที่จะได้ผลดีน่าจะตั้งอยู่บนพื้นฐานของ “หลักการ 3 ข้อ” ดังต่อไปนี้

หลักการข้อแรก คือ “การพึ่งตัวเอง”

ไม่มีใคร หมู่คณะใด หรือชุมชนใด จะประสบความสำเร็จอย่างแท้จริงได้โดยไม่คิดพึ่งตนเอง

การพึ่งตนเองทำให้มีพลัง สามารถฟันฝ่าอุปสรรคนานาประการได้ แล้วประสบความสำเร็จในที่สุด

ผู้นิยมพึ่งตนเอง เมื่อจำเป็นต้องรับความช่วยเหลือก็มีคนอยากช่วย

หลักการข้อที่สอง ได้แก่ “การรวมพลัง”

ชุมชนประกอบด้วยคนจำนวนมาก มีความรู้ ประสบการณ์ ความคิด ความสามารถ ความชำนาญ หลายหลากมากมาย

เมื่อนำมารวมกันจะเกิดพลังยิ่งใหญ่

ยิ่งรวมกันในลักษณะที่ประสานสอดคล้อง สร้างเสริมซึ่งกันและกันเป็นอย่างดี พลังจะยิ่งมากมหาศาลเป็นทวีคูณ

หลักการข้อที่สามขอเรียกว่า “การศึกษาคิดค้น”

การขวนขวายหาความรู้ ความเข้าใจ แนวคิด และพยายามค้นหาแนวทาง วิธีการที่เหมาะสม ที่ได้ผล ที่ดีขึ้นไปอีกอยู่เสมอ

ช่วยให้คน หมู่คณะ ชุมชน สามารถแก้ปัญหา และเจริญก้าวหน้าไปได้เรื่อยๆ

ผมเชื่อว่า ถ้าชาวบ้านนาคูใช้หลักการ 3 ข้อที่กล่าวข้างต้น มากำหนดแนวทางและวิธีการในการพัฒนาบ้านนาคูน่าจะได้ผลดี

สามารถนำไปสู่ “สภาพที่พึงปรารถนา” สำหรับคนบ้านนาคูได้

แต่การเลือกเป้าหมาย วิธีการ ในการพัฒนาบ้านนาคู เป็นเรื่องของคนบ้านนาคูจะต้องตัดสินใจเอง

สิ่งที่จะเกิดขึ้นในบ้านนาคู ขึ้นอยู่กับการกระทำของคนบ้านนาคู

อนาคตของบ้านนาคู

อยู่ในมือของคนบ้านนาคูนั่นเอง

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

5 ก.พ. 50

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/76316

<<< กลับ

แม่ผมเป็นคนบ้านนาคู (3)

แม่ผมเป็นคนบ้านนาคู (3)


“หมอ” แนะนำอย่างไรก็ทำอย่างนั้น

บางกรณีจึงน่าสงสาร เช่น คนไข้ถูกทุบตีเพื่อ “ไล่ผี” ที่ “หมอ” วินิจฉัยว่าได้เข้าไปสิงอยู่ในร่าง

ผมไม่เคยเห็นกับตา ได้แต่ฟังเขาเล่ากัน ก็น่ากลัวพออยู่แล้ว

ตามคำบอกเล่า คนไข้บางคนเมื่อถูกตีเพื่อ “ไล่ผี” ก็ร้องว่า “กลัวแล้วๆ”

ไม่รู้เหมือนกันว่าที่ร้องน่ะ “คน” หรือ “ผี” กันแน่ !

สำหรับบ้านนาคู การเจ็บไข้ได้ป่วยก็มีเป็นธรรมดา ประเภทปวดหัว ตัวร้อน เป็นไข้ ปวดท้อง ท้องเสีย เป็นบิด ออกหัด อีสุกอีใส อุบัติเหตุต่างๆ เป็นต้น

ลูกพี่ลูกน้องของผมคนหนึ่งเคยเป็นไข้จับสั่นเกือบเอาชีวิตไม่รอด แต่ “หมอ” ก็เก่งรักษาให้หายได้

ความสามารถของ “หมอชาวบ้าน” นับว่าใช้ได้ทีเดียว

ผมเองไม่เคยเป็นอะไรหนักๆ ส่วนใหญ่ประเภทปวดหัวตัวร้อน

เป็นเมื่อไรแม่จะเป็นผู้รักษาเป็นเบื้องต้น

วิธีรักษาอย่างหนึ่งคือการ “กวาดยา” นับว่าผะอืดผะอมพอดู แต่ก็มักได้ผลคือการเจ็บไข้หายไปในเวลาอันสมควร

แม่จึงเป็น “หมอ” สำหรับลูกๆ ด้วย

แต่ถ้าการเจ็บป่วยรุนแรงหน่อยก็ต้องหา “หมอ” เป็นพิเศษ

หาในหมู่บ้านไม่ได้ก็ต้องหาจากนอกหมู่บ้าน บางครั้งต้องไปตามตัวหมอจากอีกจังหวัดหนึ่งเท่าที่พอรู้จัก หรือได้ยินกิตติศัพท์ หรือได้รับคำแนะนำต่อๆ กันมา

คนบ้านนาคูโดยทั่วไปคงพอกล่าวได้ว่า มีสุขภาพอยู่ในเกณฑ์พอใช้

ระหว่างผมอยู่กับแม่ที่บ้านนาคู ไม่ปรากฏว่ามีโรคระบาด หรือมีการเจ็บป่วยรุนแรงเกินปกติ

แต่ที่ผมได้เห็นว่าผู้เจ็บป่วยต้องทนทุกข์ทรมานน่าสงสาร ก็มีอยู่พอสมควรและนึกเศร้าใจอยู่บ่อยๆ

ตรงนี้แหละที่ทำให้เห็นชัดเจนว่า คนชนบทลำบากกว่าคนกรุง

เพราะความที่มีรายได้น้อย ความรู้น้อย ไกลหมอ ไกลยา ไกลสถานพยาบาล

เวลาที่ร่างกายปกติ ชาวชนบทเช่นคนบ้านนาคู สามารถมีความสุขความพอใจในชีวิตไม่น้อยไปกว่าคนกรุง หรืออาจมากกว่าด้วยซ้ำ

ถึงแม้ว่าจะมีรายได้น้อย ความเป็นอยู่ลำบาก ต้องทำงานหนัก ก็ตาม

แต่เมื่อนึกถึงคราวเจ็บป่วย โดยเฉพาะถ้าเป็นการเจ็บป่วยเรื้อรัง ชาวชนบทย่อมยากที่จะทำใจให้มีความสุขความพอใจอยู่ได้

บางคนต้องทนทุกข์ทรมานไปเรื่อยๆ

จนกระทั้งถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

6. จิตใจ : สุขทุกข์ตามธรรมชาติ

คนบ้านนาคูที่รุ่นราวคราวเดียวกับแม่ ส่วนใหญ่ไม่ได้เรียนหนังสือกัน โดยเฉพาะถ้าเป็นผู้หญิง

แม่จึงเป็นคนหนึ่งที่ไม่ได้เข้าโรงเรียน เพียงแต่ให้หัดอ่าน ก.ไก่ ข.ไข่ บ้าง

แต่แม่ไปวัดเช่นเดียวกับคนบ้านนาคูทั่วๆ ไป ไปทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์ ฟังธรรม

ซึ่งเป็นการศึกษาที่มีค่าอย่างหนึ่ง

มีค่าต่อการดำเนินชีวิต มีค่าต่อจิตใจ

ใจของแม่ จึงเป็นใจที่มีการศึกษา

แม่มีจิตใจที่ซื่อสัตย์ รักความจริง รักความยุติธรรม มีความเมตตา กรุณา

แต่แม่ก็มีวินัยด้วย

รวมถึงวินัยกับลูกๆ

ใครทำไม่ดี ไม่ถูกต้อง แม่จะว่ากล่าว บางครั้งก็ลงโทษ

ผมเองก็เคยต้องเจ็บก้นบ้างเหมือนกัน แต่จำได้ว่านานๆ ที รวมแล้วไม่กี่ครั้ง

คนที่แม่คอยช่วยเหลือ เมื่อทำไม่ถูกหรือไม่ดี แม่ก็ว่า แต่ยังคงให้ความช่วยเหลืออยู่นั่นเอง

แม่ไม่ถึงกับเป็นคนธรรมะธัมโมเข้มข้นนัก

มีโกรธ มีขึ้ง มีสุข มีทุกข์ ในใจ เยี่ยงคนทั้งหลาย

คนบ้านนาคูโดยทั่วไปก็เป็นอย่างนั้น

เรียกว่ามีธรรมะกันแบบชาวบ้านๆ ก็คงได้

จิตใจก็สุขๆ ทุกข์ๆ ไปตามธรรมชาติ

แม่ทำบุญ ตักบาตร พอสมควร

ทั้งหน้าน้ำ และหน้าแล้ง พระมาบิณฑบาตที่หน้าบ้านเราเป็นประจำ

หน้าน้ำพระพายเรือมา หน้าแล้งก็เดินมา

ผมช่วยแม่ตักบาตรเป็นบางคราว แต่ส่วนใหญ่แม่ทำเอง

การทำบุญตักบาตรทำให้จิตใจของผู้กระทำเบิกบานเป็นสุข เกิดกุศลจิตและเมตตาจิตสะสมไปเรื่อยๆ

การฟังเทศน์ฟังธรรมก็เช่นเดียวกัน

แม้ไม่เข้าใจอย่างลึกซึ้ง แต่การตั้งจิตให้สงบ ฟังคำสอน บทสวด ของพระ ก็พอกล่อมเกลาจิตใจให้สงบ มุ่งบุญ มุ่งกุศล มากกว่ากิเลส และอบายมุข

อย่างน้อยช่วยให้คนรักษาศีล 5 จิตใจของผู้ปฏิบัติก็เป็นสุขพอสมควร และป้องกันตัวเองไม่ให้ต้องเดือดร้อนอันเนื่องมาจากผิดศีล

คนบ้านนาคูอันที่จริงก็มีผิดศีลกันบ้าง ในข้อใดข้อหนึ่ง หรือแม้แต่หลายข้อ

เมื่อผิดศีลก็มักต้องเดือดเนื้อร้อนใจไปตามหลักแห่งกรรม ไม่ช้าก็เร็ว

เป็นตัวอย่างให้คนอื่นได้เห็น ว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

แม่เป็นผู้รักษาศีล 5 ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าแม่ตั้งใจทำอันเนื่องจากฟังคำพระสอน หรือทำไปตามธรรมชาติของผู้ไม่คิดร้ายในจิตใจ

แต่ผมรู้อย่างหนึ่งว่า การอยู่กับแม่อย่างใกล้ชิดเมื่อผมเด็กๆ นี้ ช่วยให้จิตใจผมได้รับการกล่อมเกลาในทางบุญ ทางกุศล ทางเมตตา กรุณา

โดยผมไม่รู้สึกตัวเลย

หรือการที่บ้านนาคูสมัยนั้น ไม่มีสิ่งล่อใจมากนัก

ไม่มีวิทยุ ไม่มีโทรทัศน์ ไม่มีหนังสือพิมพ์ ติดต่อไปไหนมาไหน ไม่สะดวกไม่ได้เห็นว่าที่อื่นเขาทำอะไร เขามีอะไร

อาจทำให้จิตใจคนบ้านนาคู ไม่ฟุ้งซ่าน อยากได้ อยากมี อยากทำ อะไรต่ออะไรมากนัก

มีเวลาและโอกาสปล่อยใจให้สบายๆ

สังสรรค์กัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน ถ้อยทีถ้อยอาศัยกันพอสมควร

เช่น เวลาค่ำ ส่วนใหญ่เราไม่ค่อยมีอะไรทำมากนักเพราะมืด ทำอะไรไม่สะดวก

เราจึงมักนั่งสนทนากัน เรื่องนั้นเรื่องนี้ ดูอบอุ่นเพลิดเพลินดี

จิตใจก็พลอยสงบ สบายไปด้วย

บ่อยครั้งที่ผมอยู่กับแม่ในวงสนทนาแบบนี้

รู้สึกชีวิตเป็นสุข

ไม่ดึกมากนัก ก็เข้านอน

ตื่นเช้าตรู่รู้สึกปลอดโปร่งแจ่มใส ไม่เร่งรีบอะไร

สภาพเหล่านี้ คงมีอิทธิพลต่อจิตใจและบุคลิกของผมพอสมควร

ทั้งในวัยเด็กที่อยู่บ้านนาคู

และคงมีผลถึงปัจจุบันด้วย

7. สังคม : มิตรศัตรูคู่กัน

“งานวัด” เป็นโอกาสที่ชาวบ้านนาคูไปหาความสำราญ ชมมหรสพ พบคนรู้จัก เฮฮากับเพื่อนฝูง เปลี่ยนบรรยากาศ เปิดหูเปิดตา

คนที่ไปมีทั้งผู้ใหญ่ เด็ก หญิง ชาย หนุ่ม สาว

จัดเป็นงานสังคมของท้องถิ่นที่มีขึ้นเป็นระยะๆ

แม่จะพาผมไปงานอย่างนี้บ้างเป็นบางครั้ง ไม่ทุกครั้ง

หน้าน้ำก็พายเรือไป หน้าแล้งก็เดินไป

เนื่องจากบ้านเราอยู่ไกลจากวัดสักหน่อย ไปทีมาทีจึงมิใช่เรื่องสะดวกสบายทีเดียว

จำได้ว่าบางครั้งขาไปผมเดินไป แต่ครั้นขากลับแม่ต้องอุ้มหรือให้ผมขี่คอเพราะผมเดินไม่ไหว และง่วงมาก

ถ้าเป็นฤดูน้ำพายเรือไปจะง่ายหน่อย คือขากลับผมง่วงก็นอนในเรือได้ ในขณะที่พวกผู้ใหญ่เขาก็พายกันไป

ที่งานวัดส่วนใหญ่เรียบร้อยไม่มีอะไร

แต่บางครั้งมีเรื่องตื่นเต้นที่เรียก “ตีกัน”

คือมีคน 2 คน หรือ 2 กลุ่ม ทำร้ายกัน หรือต่อสู้กัน

พอเกิดเหตุคนจะฮือ งานต้องหยุดชั่วคราว แต่อาจเริ่มใหม่ถ้าเรื่องดูเรียบร้อยแล้ว

การฮือของคนมักสร้างความโกลาหลวุ่นวายไม่น้อยทีเดียว

เพราะการเกิดเรื่องเช่นว่า มักอยู่ท่ามกลางผู้คนจำนวนมาก อาจยืนดูมหรสพอยู่

หรือถ้าเป็นฤดูน้ำก็จอดเรือเป็นตับเรียงรายกันเพื่อดูมหรสพ

พอเกิดเรื่องคนจะพยายามหลบห่างจากที่เกิดเหตุ ต่างคนต่างรีบหลบไปให้เร็วและไกล

จึงไม่ต้องสงสัยว่า เหตุใดจึงเกิดความโกลาหลวุ่นวาย

ยิ่งกรณีเกิดเรื่องบนเรือ และเรือลำอื่นๆ พยายามหลบห่างออกไป ยิ่งสับสนอลหม่านโครมครามน่ากลัวเป็นพิเศษ

ผมเคยเห็นเหตุการณ์แบบนี้บ้างเหมือนกัน บางครั้งเมื่อไปกับแม่ บางครั้งเมื่อไปกับพี่ๆ

รู้สึกตกใจพอสมควร แต่อยู่ไม่ใกล้จุดที่เขาตีกันจริงๆ จึงไม่เห็นภาพที่น่าหวาดเสียวด้วยตาตนเอง

มาฟังเขาเล่าภายหลังว่าเกิดอะไรขึ้น ส่วนใหญ่ไม่ถึงตาย แค่บาดเจ็บ

การทะเลาะเบาะแว้งกันเช่นนี้ นับว่าปกติพอสมควรสำหรับบ้านนาคู

จึงไม่อาจกล่าวได้ว่า บ้านนาคูมีแต่ความสันติสุขร่มรื่น ทุกคนรักใคร่ปรองดองกัน

คงเหมือนกับชุมชนทั้งหลาย มีรักกัน เกลียดกัน ดีกัน ทะเลาะกัน แม้ถึงขั้นทำร้ายกันรุนแรง

แต่อาวุธที่ใช้ต่อสู้กันที่บ้านนาคูสมัยนั้นมักเป็นตะพด ดาบ มีดพก ไม้คมแฝก เสียเป็นส่วนใหญ่

ปืนผาหน้าไม้ไม่ค่อยใช้กัน ก็ดีไปอย่างคือไม่ค่อยถึงตาย

วิธีทำร้ายกันอีกแบบหนึ่งสำหรับคนที่เป็นศัตรูกัน คือ คอยซุ่มดักตีหัวด้วยไม้ตะพด หรือรุนแรงกว่านั้น ก็ดักฟันด้วยมีดดาบ โดยมากในเวลากลางคืน เช่น เวลาศัตรูเดินกลับจากการชมมหรสพ

ผมมักได้ยินผู้ใหญ่เขาเล่ากันว่า คนนั้นคนนี้ถูกดักตีหัว หรือถูกฟันหัว ได้รับบาดเจ็บ แต่ไม่รู้ว่าใครเป็นคนทำ

ฟังแล้วรู้สึกกลุ้มแทนคนถูกตีเหลือเกิน เพราะเจ็บตัวแล้วยังไม่รู้ว่าใครทำอีก ต้องสันนิษฐานเอาว่าน่าจะเป็นใคร

สันนิษฐานถูกก็ดีไป แต่ถ้าสันนิษฐานผิดก็จะยุ่งกันไปใหญ่ อาจกลายเป็นศึกหลายเส้าขึ้นมาอย่างไม่ตั้งใจ

แต่โดยทั่วไปแล้วบ้านนาคูสงบร่มรื่นพอสมควร

ชาวบ้านทำมาหากิน ไปมาหาสู่ ถามสารทุกข์สุขดิบ ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน

มีประเพณีลงแขก มีการเล่นพื้นบ้าน เช่น ในวันสงกรานต์ และการร้องเพลงเรือเวลาพายเรือไปงานมหรสพ

มีการทำบุญตักบาตรที่วัดเป็นระยะๆ ในวันสำคัญทางศาลนา และอื่นๆ

วัฒนธรรมประเพณีและแนวปฏิบัติเหล่านี้ ผูกโยงชาวบ้านนาคูเข้าด้วยกัน ให้เป็นชุมชนที่มีจิตวิญญาณ มีความอบอุ่น มีความเป็นปึกแผ่น มีพลัง

คำว่า “บ้านนาคู” จึงมีความหมายพิเศษสำหรับคนบ้านนาคู โดยอาจไม่รู้ด้วยซ้ำ

เช่น แม่เป็นคนหนึ่งที่ดูเหมือนว่ามีวิญญาณของบ้านนาคูอยู่ใจจิตใจอย่างเต็มเปี่ยม

ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาที่แม่ยังอยู่บ้านนาคูเป็นหลัก

หรือช่วงที่แม่ไปๆ มาๆ ระหว่างบ้านนาคูกับกรุงเทพฯ

หรือแม้ในระหว่างที่แม่ต้องอยู่กรุงเทพฯเป็นหลัก เนื่องจากความชราและร่างกายที่ไม่เอื้ออำนวยให้เดินทางไปไหนมาไหนได้สะดวก

แม่จะนึกถึงบ้านนาคูเสมอ ถามถึงบ้านนาคูอยู่เสมอ

แม่ “เป็นมิตร” กับบ้านนาคู อย่างแท้จริง

<มีต่อ>

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/76315

<<< กลับ

แม่ผมเป็นคนบ้านนาคู (2)

แม่ผมเป็นคนบ้านนาคู (2)


3. สิ่งแวดล้อม : เน่าตามฤดูกาล

คนชนบทสมัยผมยังเด็ก ไม่รู้จักคำว่า “สิ่งแวดล้อม” หรอก

ผมเองก็ไม่เคยได้ยิน มาได้ยินได้ฟังมาเมื่อไม่กี่ปีมานี่เอง

เพราะเมื่อก่อนนี้สิ่งแวดล้อมยังไม่เป็นปัญหา โดยเฉพาะในชนบท คนทั่วไปยิ่งนึกไม่ออกว่า “สิ่งแวดล้อม” จะเป็นปัญหาไปได้อย่างไร

อากาศแสนบริสุทธิ์ อาจจะร้อนระอุในหน้าร้อน เย็นเฉียบเมื่อถึงฤดูหนาว มีพายุลมแรงเป็นครั้งคราวในหน้าฝน ก็ถือเป็นเรื่องธรรมดาของธรรมชาติ

ฝนชุก ฝนแล้ง สลับกันไป นับว่าปกติ

น้ำจากฝน น้ำจากคลอง น้ำจากบ่อ มีเพียงพอสำหรับการทำนาทำไร่ทำสวน สำหรับเป็นน้ำดื่มน้ำใช้ และเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญ ได้แก่ปลา

ดินมีคุณภาพดีพอควร ปลูกข้าว ปลูกพืชไร่ ปลูกผัก ปลูกต้นไม้ ได้งอกงาม มีการใช้ปุ๋ยบำรุงดินบ้างก็คือปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก ซึ่งเป็นของตามธรรมชาติ มาจากสัตว์ มาจากพืช มาจากคน

ชาวบ้านไม่เคยใช้ และไม่รู้จักสิ่งที่เรียกว่าปุ๋ยเคมี

ผมเองจำไม่ได้ว่า รู้จักคำว่า “ปุ๋ย” หรือไม่

แต่ได้เห็นแม่เอาขี้ควายที่ปนกับดินแล้วไปใส่โคนต้นไม้และหลุมปลูกผัก ก็รู้ว่านั่นจะช่วยให้ต้นไม้และพืชผักงอกงามดีขึ้น

ได้เห็นมูลคนหรือมูลสัตว์เกลื่อนกลาดตามทุ่งนา และเห็นว่าที่ใดมีมูลสัตว์มูลคน ที่นั่นมักมีต้นอะไรสักอย่าง ขึ้นอย่างงอกงามดี

สมัยนั้นคนบ้านนาคู ล้วนแต่ใช้ท้องทุ่งหรือพื้นนาหลังบ้านเป็นส้วมกันทั้งสิ้น

ในฤดูน้ำหลากน้ำล้นฝั่งคลองและท่วมเต็มท้องทุ่ง ชาวบ้านนาคูจะต้องถ่อเรือไปกลางทุ่งที่เต็มไปด้วยข้าว เพื่อปลดปล่อยของที่ร่างกายไม่ต้องการ โดยนั่งบนหัวเรือและทำกิจวัตรดังกล่าว

เป็นศิลปะที่ผู้ไม่เคยฝึกหัดมาก่อนจะทำได้ยากทีเดียว

ดีไม่ดีอาจหงายหลังตกน้ำตามของที่ตนเองปลดปล่อยออกมา !

ทั้งคนทั้งสัตว์ที่บ้านนาคูต่างปล่อยของที่ร่างกายไม่ต้องการลงดินลงน้ำเป็นปกติวิสัย

แต่แปลก ชาวบ้านไม่ยักรู้สึกว่าน้ำมีปัญหาด้านคุณภาพแต่ประการใด

สามารถใช้กินใช้อาบได้อย่างสบาย

ในฤดูน้ำหลาก ชาวบ้านนาคูต้องไปไหนมาไหนทางเรือทั้งนั้น

ผมเองต้องพายเรือไปโรงเรียน 2 กิโลเมตร กลับ 2 กิโลเมตร เป็นประจำ

เมื่อพี่และลูกพี่ลูกน้องยังเรียนหนังสืออยู่ที่บ้านนาคูพร้อมกับผม ก็ลงเรือลำเดียวกันและช่วยกันพาย

พอพี่และลูกพี่ลูกน้องเรียนจบเหลือผมคนเดียวในบ้านที่ยังเรียนอยู่ ก็เลยต้องใช้เรือขนาดเล็กพายไปคนเดียว

ขณะพายเรือไปในลำคลอง ถ้าหิวน้ำก็ใช้มือวักน้ำในคลองมาดื่ม

จำได้ว่าน้ำในคลองสมัยนั้นดูใสสะอาด น่าดื่ม ไม่มีลักษณะน่ารังเกียจแต่ประการใด

ยกเว้นเมื่อถึงช่วงเวลา “น้ำเน่า” ซึ่งมาตามฤดูกาล

นั่นคือเมื่อถึงฤดูน้ำหลาก น้ำไหลมาจากภาคเหนือของประเทศอันเนื่องมาจากฝนที่ตกลงบนภูเขาและพื้นดินที่สูงกว่า

น้ำจะล้นแม่น้ำลำคลอง เอ่อท่วมพื้นดินสองฝั่งเจิ่งนองทั่วไป

ระดับน้ำจะสูงขึ้น สูงขึ้น จนบางแห่งสูงถึง 2 หรือ 3 เมตร เหนือพื้นดิน

ต้นข้าวในนาที่น้ำท่วมเช่นนี้จะโตสูงตามน้ำไปเรื่อยๆ เช่นกัน ในท้องนาจึงยังคงเขียวชอุ่มไปด้วยต้นข้าว

ถือเป็นสภาพปกติของชาวนาภาคกลางรวมทั้งคนบ้านนาคู

ในช่วงที่น้ำกำลังมีระดับสูงขึ้นมากๆ นี้ น้ำจะใสสะอาดน่าดื่มน่าใช้

โดยปกติจะตรงกับเดือน 12 ทางจันทรคติ

ก่อนวันเพ็ญเดือน 12 แม่มักจะสอนให้ลูกๆ หัดทำ “กระทง” เอาไว้ลอยตามประเพณี

กระทงนี้มักทำด้วยต้นโสน (อ่านว่าสะโหน) ซึ่งเบาและลอยน้ำได้เองตามธรรมชาติ จะเรียกว่า เป็นโฟมธรรมชาติก็คงได้

คืนวันเพ็ญเดือน 12 หลังจากลอยกระทงกันอย่างสนุกสนานเบิกบานแล้ว แม่จะให้ลูกๆ ช่วยกันตัก “น้ำเพ็ง” เข้าตุ่มไว้มากๆ

เพราะ “น้ำเพ็ง” (ซึ่งชาวบ้านนาคูเรียกกันอย่างนั้น และอาจเพี้ยนมาจากคำว่า “น้ำ (คืนวัน) เพ็ญ”) นอกจากเป็นน้ำที่ใสสะอาดแล้ว ชาวบ้านยังเชื่อกันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์อะไรบางอย่างรวมอยู่ด้วย

เมื่อคืนวันเพ็ญเดือน 12 ผ่านไประยะหนึ่งก็จะมาถึงช่วงระดับน้ำถึงจุดสูงสุด น้ำจะนิ่งไม่ไหลขึ้นหรือไหลลง

ช่วงนี้แหละที่น้ำจะเน่า มีฟองปุดอยู่ทั่วไป ส่งกลิ่นเหม็น

การใช้น้ำจากคลองเพื่อดื่ม หรือเกี่ยวกับอาหารการกิน ต้องหยุดชั่วคราวจนกว่าช่วง “น้ำเน่า” จะได้ผ่านพ้นไป

หลังจากช่วงน้ำเน่าผ่านไปแล้วก็เริ่มฤดูน้ำลด น้ำจะใสมากมองเห็นปลาในน้ำได้ชัดเจน

ชาวบ้านนิยมตั้งซุ้มลอยน้ำอยู่ข้างคลอง

ซุ้มทำให้เกิดร่มเงาทอดลงในน้ำ คนที่นั่งอยู่ใต้ซุ้มจะสามารถมองเห็นปลาในน้ำได้ถนัดมาก

ประจวบกับในฤดูน้ำลดนี้ ปลาหลายชนิดจะพากันว่ายจากนาสู่คลอง จากคลองสู่แม่น้ำ

คนที่นั่งอยู่ใต้ซุ้มพร้อมฉมวกจะสามารถล่าปลา โดยใช้ฉมวกแทงได้วันละมากๆ

ผมเคยทำอย่างนั้นบ้างเหมือนกัน รู้สึกสนุกเพลิดเพลินจริงๆ แต่ไม่เก่งเท่าไร ได้ปลาไม่ค่อยมาก

แต่แม่ไม่เคยทำเพราะการใช้ฉมวกล่าปลานี้นิยมกันในหมู่ผู้ชาย ผู้หญิงจะใช้วิธีอื่นมากกว่า

การมีชีวิตอยู่บ้านนอกอย่างบ้านนาคูสมัยที่ผมอยู่กับแม่ ไม่ค่อยรู้สึกว่าสิ่งแวดล้อมมีพิษภัยอะไร

แม้แต่เรื่องน้ำเน่าตามที่ว่ามาก็ดูเป็นเรื่องปกติตามฤดูกาล ผ่านมาระยะหนึ่งแล้วก็ผ่านไป ทุกอย่างดูเรียบร้อย ไม่ใช่ปัญหาที่ทำให้คนรู้สึกเดือดร้อน

ไม่เฉพาะน้ำในคลองที่ชาวบ้านอาศัยอาบ กิน ใช้

น้ำในหนองกลางทุ่งนาชาวบ้านก็ใช้ดื่มได้ในสมัยนั้น

แม่เคยให้ผมร่วมไปกับญาติๆ เอาควายไปเลี้ยงกลางทุ่งไกลจากบ้าน

เราจะเอาใบตองห่อข้าวสวยพร้อมด้วยกับข้าวประเภทแห้งๆ ใช้ปลายผ้าขาวม้าห่อทับอีกชั้นเพื่อให้สะดวกในการหิ้วไปกับตัว สำหรับไว้กินเป็นอาหารกลางวัน

เวลาที่รู้ว่าอาหารมันแห้งคอเกินไป เราก็เอาน้ำในหนองมาพรมข้าวให้เปียก จะได้กินคล่องคอขึ้น

อาจเรียกว่า “ข้าวแช่” ตำรับบ้านนาคูได้กระมัง!

4. เศรษฐกิจ : ไม่มีไม่กิน

แม่เป็นคนขยัน ประหยัด อดทน เอื้ออารี

ข้าวเปลือกที่เราปลูกได้ แม่นำมาสีด้วยเครื่องสีด้วยมือให้เปลือกหลุดจากเมล็ดใน แล้วนำมาซ้อมมือใน “ครกตำข้าว” ให้เป็นข้าวสารเอาไว้หุงข้าว

รำและปลายข้าวเอาไว้เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่

แกลบเอาไว้ “สุมไฟ” ให้เกิดควันสำหรับไล่ยุงไม่ให้กัดควายในคอก

แม่ปลูกผัก ทำสวนครัว เลี้ยงไก่ เป็ด หมู เป็นงานเสริมนอกจากการทำนา

เราจึงมีอาหารประเภทผัก ไข่ไก่ ไข่เป็ด ทานเป็นประจำ

ส่วนเนื้อไก่ เนื้อเป็ด เนื้อหมู นั้นนานๆ ครั้งจึงได้ทาน

ปลาเป็นกับข้าวหลักของชาวบ้านนาคู รวมทั้งครอบครัวของผม

เรามีปลากินทั้งในฤดูน้ำ ซึ่งชาวบ้านนาคูเรียกว่า “หน้าน้ำ” และในฤดูแล้ง (“หน้าแล้ง”)

ในฤดูน้ำเราจะจับปลาจากคลอง จากท้องนาที่เต็มไปด้วยน้ำ และจากใต้ถุนที่มีน้ำเอ่อล้นพื้นดิน 1-2 เมตร

เครื่องมือจับปลามี ยอ แห ตะแกรง สวิง เบ็ด ลอบ ไซ ฉมวก เป็นหลัก

นอกจากปลา สัตว์น้ำอย่างอื่นที่มีมาก และชาวบ้านนิยมนำมาเป็นอาหาร ได้แก่ กุ้งฝอย กุ้งก้ามกราม หอย ปู ปลาไหล

แม่ชำนาญในการใช้เบ็ด สวิง ตะแกรง อย่างหลังนี้ส่วนใหญ่ใช้ช้อนกุ้ง

แม่พายเรือไปตกปลาทีไรมักได้ปลามามาก

ถ้าไปช้อนกุ้งต้องไปสองคน คนหนึ่งพายอีกคนช้อน

ผมเคยพายให้แม่ช้อนกุ้งรู้สึกสนุก และดีใจที่เห็นแม่ช้อนกุ้งได้

นานๆ ได้ปลาไหลติดมาด้วย รู้สึกตื่นเต้นดี

การใช้เบ็ดตกปลาทำได้ทั้งในคลอง ในทุ่งนาที่น้ำท่วม และใต้ถุนบ้านที่น้ำขึ้นสูงพอ

แม่ชำนาญเรื่องนี้และสอนลูกทุกคนให้ทำได้

ผมเองทำได้ดีพอควร คงไม่เก่งเท่าแม่ แต่พอจับปลาเป็นอาหารเลี้ยงตัวเองได้

การหากับข้าวแต่ละวันในสมัยนั้นดูง่ายและสะดวก

ตกเย็นกลับบ้านจากโรงเรียนแล้ว ถ้าผมอยากกินปลาเป็นกับข้าวก็เอาเบ็ดเกี่ยวเหยื่อทำด้วยข้าวสุกผสมรำข้าว หย่อนลงในน้ำใต้ถุนบ้าน

ภายในเวลาครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมงก็ได้ปลาเล็กปลาน้อยเพียงพอสำหรับเป็นกับข้าวหนึ่งมื้อหรือมากกว่า

นานๆ ครั้งโชคดีอาจได้ปลาตัวใหญ่หน่อย เช่น ปลาตะเพียน หรือ ปลาอีกา (สีดำเหมือนอีกา)

แต่ก็อาจทำให้เครื่องมือตกปลาเสียหายได้เหมือนกัน ถ้าปลาใหญ่เกินไป เช่น ขอเบ็ดอาจล้าหรือสายเบ็ดขาด หรือคันเบ็ดหัก

ในช่วงน้ำลดใกล้จะแห้งท้องนา ชาวบ้านมีโอกาสจับปลาได้มากเป็นพิเศษ เพราะปลาจะว่ายออกจากท้องนาสู่คูคลอง

ที่บ้านผมแม่และน้าๆ ช่วยกันขุด “บ่อโจน” (หรือ “บ่อโจร” ผมก็ไม่แน่ใจ) ซึ่งเป็นบ่อขนาดเล็กที่ไม่มีน้ำ หรือเป็นหลุมขนาดใหญ่นั่นเอง ขวางทางน้ำที่ไหลจากทุ่งนาลงคลอง

ใช้ดินเหนียวทำเป็นคันบ่อให้สูงกว่าระดับน้ำนิดหน่อย เสมือนเป็นเขื่อนเล็กๆ กั้นทางน้ำ ปรับผิวของคันบ่อหรือเขื่อนเล็กๆ นั้นให้ลื่น เหมาะสำหรับให้ปลากระโดดหรือตะกายข้าม

เวลากลางคืนปลาจะว่ายตามร่องน้ำที่ออกจากท่งนา เมื่อมาเจอเขื่อนเล็กๆ ที่เป็นดินลื่นๆ สูงกว่าระดับน้ำนิดเดียว หรือปริ่มๆ น้ำด้วยซ้ำ ตะกายหรือกระโดดข้ามเขื่อนตกลงไปในบ่อหรือหลุมที่เราขุดดักไว้

ในวันแรกๆ ของแต่ละฤดูที่เราจับปลาด้วยวิธีนี้ จะได้ปลาคืนละเป็นร้อยๆ ตัว ส่วนใหญ่เป็นปลาช่อน แต่ก็มีปลาดุกและปลาอื่นๆ ด้วย

แม่จะนำปลาส่วนใหญ่ที่จับได้ซึ่งไม่สามารถกินสดๆได้หมด มาทำเป็นปลาเค็มและปลาย่างเก็บไว้กินเองส่วนหนึ่ง แจกญาติโยมและเพื่อนบ้านอีกส่วนหนึ่ง

พอน้ำแห้งท้องทุ่งและใต้ถุนบ้าน เราก็มีบ่อและ “คู” (แอ่งน้ำยาวๆไม่กลมเหมือนบ่อ) สำหรับเป็นแหล่งน้ำใช้ และเป็นที่อาศัยของปลานานาชนิดซึ่งว่ายเข้ามาอยู่ในบ่อหรือคูเองโดยอัตโนมัติ

แหล่งน้ำนี้ใช้สำหรับอาบ ซักเสื้อผ้า รดต้นไม้ โดยเฉพาะประเภทผัก เป็นน้ำดื่มให้สัตว์เลี้ยงและอื่นๆ

แต่ถ้าจะใช้เป็นน้ำดื่มหรือใช้หุงหาอาหาร ก็มักจะแยกบ่อไว้พิเศษ 1 บ่อ เพื่อการนั้น คือ ไม่ให้คนลงไปจับปลา ถ้าจับต้องใช้เบ็ด และไม่ให้สัตว์เลี้ยงลงไป

การลงไปจับปลาในบ่อหรือในคูที่มีไว้เพื่อการนั้น แม่จะไม่เป็นคนทำเพราะชาวบ้านนาคูไม่นิยมให้ผู้หญิงลงน้ำจับปลา

ผมจึงมักอาสาทำหน้าที่นี้ โดยใช้ “สุ่ม” สำหรับ “สุ่มปลา” เป็นหลัก และมักทำในวันที่ไม่ได้ไปโรงเรียน

พอได้ปลาสดมาเป็นอาหารประจำวัน นอกเหนือไปจากปลาแห้งที่แม่ทำเก็บไว้จากผลผลิตของ “บ่อโจน”

ปลาบางชนิดชอบอยู่ในโคลน หรือตามโพรงดินของขอบบ่อส่วนที่อยู่ใต้น้ำ

เราสามารถดำน้ำลงไปจับด้วยมือเปล่า แต่ต้องชำนาญหน่อย

ผมทำอย่างนั้นบ้างเหมือนกัน พอได้ผล แต่บ่อยครั้งก็ถูกปลาที่มี “เงี่ยง” หรือส่วนของลำตัวที่คมๆ ทำให้เกิดบาดแผลที่มือ เจ็บพอดูทีเดียว

เมื่อผมจับปลามาได้ก็ขอให้แม่ช่วยทำเป็นอาหารให้

แม่ทำอาหารถูกปากลูกๆ มาก แม้เป็นของง่ายๆ มี ปลา ผัก ไข่ เป็นพื้น

มีอาหารกิน มีบ้านอยู่ มีเสื้อผ้าใช้พอสมควร มียาและการรักษาโรคแบบชาวบ้าน เรารู้สึกว่าชีวิตไม่เดือดร้อนอะไรนัก

แต่แม่ไม่เคยอยู่เฉยๆ หรือว่างๆ

แม่ตื่นแต่เช้ามืดเป็นประจำ มักจะก่อนใครๆ ทั้งสิ้น แล้วก็ทำอะไรต่ออะไรง่วนไปทั้งวัน

ใช้เวลาที่มีอยู่ทำประโยชน์อย่างเต็มที่ ด้วยน้ำพักน้ำแรงของตัวเอง

อาศัยทรัพยากรธรรมชาติรอบข้างตามสมควร ได้แก่ ดิน น้ำ ปลา สัตว์น้ำอื่นๆ พืชที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น โสน บัว ผักบุ้ง ผักกะเฉด

อะไรที่หายากเกินไปก็ไม่ดิ้นรนหามา

มีรายได้จากการขายของที่ผลิตได้ แม้ไม่มากเท่าไร ก็ใช้เพียงส่วนหนึ่ง เก็บออมไว้ส่วนหนึ่ง

ญาติพี่น้องหรือคนคุ้นเคยที่เดือดร้อนที่แม่รู้เข้า หรือเขามาหาแม่ แม่ก็มักให้ความช่วยเหลือเท่าที่พอช่วยได้

อุปนิสัยและการปฏิบัติตนของแม่ได้ซึมซาบสู่ลูกๆ โดยแม่ไม่ได้เอ่ยปากสอนแต่ประการใด

แม่ถ่ายทอดวิชาเศรษฐกิจ หรือหลักการทำมาหากินและการดำเนินชีวิตด้วยการทำให้เห็นเป็นสำคัญ

เป็นวิธีการสอนที่ได้ผลมาก

โดยพวกเราลูกๆ แทบไม่รู้ตัวเลย

5. สุขภาพ : เจ็บหนักก็ตาย

แม่เป็นคนแข็งแรง สุขภาพอยู่ในเกณฑ์ดี ไม่ค่อยป่วย ไม่ค่อยไข้

ระหว่างที่อยู่บ้านนาคู แม่ไม่เคยเจ็บป่วยมากๆ เลย

แต่สำหรับคนบ้านนาคูโดยทั่วไป เรื่องเจ็บป่วยก็ถือเป็นเรื่องธรรมดา

เจ็บบ้าง ไข้บ้าง เป็นมากบ้าง เป็นน้อยบ้าง โรคนั้นบ้าง โรคนี้บ้าง

เป็นอะไรขึ้นมาก็รักษากันตามมีตามเกิด เท่าที่ชาวบ้านนาคูสมัยนั้นพอจะมีความรู้ความเข้าใจ หรือมีหมอชาวบ้านมาแนะนำหรือรักษาให้

การรักษามีแบบต่างๆ กินยาหม้อ ยาดอง ทาสมุนไพร นวด พ่นน้ำมนต์ รดน้ำมนต์ ไล่ผี แล้วแต่ผู้รักษาจะวินิจฉัยและแนะนำ

คนบ้านนาคูไม่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องการแพทย์ เรื่องการรักษาโรค

อ้างอิง

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

เว็บไซต์เดิม  :  https://www.gotoknow.org/posts/76313

<<< กลับ

แม่ผมเป็นคนบ้านนาคู

แม่ผมเป็นคนบ้านนาคู


โดย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

(จากหนังสือ “ลูกชาวบ้าน : ความเรียงที่แม่ไม่เคยอ่าน” โดย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม และดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ “ขอคิดด้วยคน” โทร. 0-2663-4064 พิมพ์ครั้งที่หนึ่ง ธันวาคม 2549)

คำนำสำนักพิมพ์

“ลูกชาวบ้าน” ได้รวมเอาข้อเขียน 2 เรื่อง ของลูกชาวบ้าน 2 คน ต่างเขียนบันทึกความทรงจำ บอกเล่าประสบการณ์ชีวิต การเรียนรู้ และสิ่งที่ได้เรียนรู้จาก “แม่” ซึ่งเป็นลูกชาวบ้านธรรมดาๆ

แม่ชาวบ้านสอนลูกอย่างไร … จึงทำให้ลูกเติบโตขึ้นมาเป็นคนอย่าง “คุณไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และ “ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง” อดีตสมาชิกวุฒิสภา ผู้ดำเนินรายการชื่อดัง

แม่ชาวบ้านสอนลูกอย่างไร … จึงทำให้ลูกเรียนรู้ชีวิต ชุมชนท้องถิ่น วัฒนธรรมสังคมพื้นฐาน การบ้านการเมืองรอบตัว รวมไปถึงวิธีคิดแบบเศรษฐศาสตร์ได้อย่างฝังลึก เข้าใจ และสอดผสานกับชีวิตจริง

เป็น “ลูกชาวบ้าน” ที่เข้าใจชีวิต เข้าใจชาวบ้าน และรู้ทันเหตุบ้านการเมือง

“แม่” คือครูที่สำคัญที่สุดในชีวิตของลูกทุกคน

“แม่ผมเป็นคนบ้านนาคู” ของคุณไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม และ “เพราะแม่สอนไว้” ของ ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง แม้จะเขียนกันคนละช่วงเวลาต่างกรรม ต่างสถานที่ แต่เป็นการเขียนในห้วงยามที่คิดถึงแม่อย่างที่สุดเหมือนกัน คือ ในช่วงที่ทั้ง 2 ท่านต้องจัดงานศพให้คุณแม่

เป็นความเรียงบันทึกชีวิตและการเรียนรู้ถึงแม่ ที่แม่ของผู้เขียนไม่มีโอกาสได้อ่าน

สำนักพิมพ์เชื่อว่า สำหรับคนที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ หากใครเป็น “แม่ชาวบ้าน” จะมีกำลังใจและแนวคิดในการเลี้ยงลูกมากยิ่งขึ้น และหากใครเป็น “ลูกชาวบ้าน” ก็จะรักแม่ของท่านมากยิ่งขึ้น

เปิดอ่านทุกครั้ง จะคิดถึงแม่ รักของแม่ และสิ่งที่ได้เรียนรู้จากแม่…

ขอบพระคุณแม่

สำนักพิมพ์ ขอคิดด้วยคน

ต้นฤดูหนาว พฤศจิกายน 2549

แม่ผมเป็นบ้านนาคู

โดย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

1. นำเรื่อง : ดวงใจแม่

เช้าตรู่ วันที่ 23 มิถุนายน 2534

ผมและพี่ๆ ยืนอยู่ข้างเตียงของแม่ มือกอดบางส่วนของร่างกายแม่ไว้

ดวงใจแม่อ่อนแรงมากแล้ว

แม่ได้เดินทางชีวิตมา 89 ปี

เวลา 6.29 น.

ดวงใจของพวกเรา แทบหยุดตามไปด้วย เมื่อแม่สูดลมหายใจครั้งสุดท้ายอย่างแผ่วเบา แต่สงบ

ชีวิตของแม่จากพวกเราไปแล้ว ตามวิถีอันเป็นธรรมชาติ

แต่ดวงใจของแม่หาได้จากไปไม่

ดวงใจแม่ที่บริสุทธิ์ ยังอยู่กับพวกเราลูกๆ เป็นศูนย์รวมความยึดเหนี่ยวและเกลียวสัมพันธ์ของพวกเรา

ดวงใจดวงนี้ ได้ติดตามแม่ไปตามเส้นทางแห่งชีวิต ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ ณ ถิ่นกำเนิด แล้วไปๆมาๆ ระหว่างถิ่นกำเนิดกับกรุงเทพมหานคร จวบจนวาระสุดท้าย ในกรุงเทพมหานคร

แม่เกิดที่ตำบลนาคู หรือบ้านนาคู อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2445

แม่เติบโตที่บ้านนาคู พร้อมด้วยพี่น้องอีก 6 คน เป็นชาย 3 หญิง 3

แต่งงานเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2467 กับพ่อซึ่งเป็นจีนย้ายถิ่น

ตามพ่อไปอยู่ตลาดที่อำเภอผักไห่ เพื่อทำการค้า แต่พออยู่ได้ไม่นานคิดถึงบ้าน จึงชวนพ่อย้ายกลับมาอยู่บ้านนาคู

ใช้ชีวิตช่วยพ่อค้าขายและทำนาด้วย อยู่ที่บ้านนาคูเป็นเวลานาน

มีลูกกับพ่อรวม 11 คน เสียชีวิตเมื่อยังเป็นเด็กเสีย 3 คน อยู่จนโตมีครอบครัวอยู่แปดคน ผมเป็นคนเล็กสุดใน 8 คนนี้

ลูกที่เสียชีวิตแต่เด็ก เป็นหญิงทั้งสิ้น ส่วนที่อยู่อีก 8 คน เป็นชาย 5 หญิง 3

ลูกทุกคนใช้ชีวิตวัยเด็กที่บ้านนาคู เมื่อจบการศึกษาชั้นประถมแล้ว ก็อยู่ช่วยพ่อแม่ทำงานที่บ้านนาคู ยกเว้นพี่ชายคนโต ซึ่งย้ายไปอยู่กับลุงเพื่อเรียนต่อที่อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง

แม่เลี้ยงดูลูกๆ ด้วยความรักตามธรรมชาติ มีวินัยตามสมควร เรามีความเป็นอยู่อย่างธรรมดาๆ เยี่ยงชาวบ้านทั่วไป

แม่กับพ่อ ช่วยกันทำหากิน เลี้ยงดูครอบครัว อยู่ที่บ้านนาคูเป็นเวลาหลายปี โดยเปิดเป็นร้านค้าขึ้นในหมู่บ้าน ขายของกินของใช้ ตัดเย็บเสื้อผ้า และทำนาบ้าง

ต่อมาเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2490 พ่อย้ายมาทำการค้าในกรุงเทพฯ โดยเช่าแผงขายเสื้อผ้าที่ตลาดโบ๊เบ๊ ถนนกรุงเกษม ใกล้วัดบรมนิวาส

แม่อยู่ต่อที่บ้านนาคู เพื่อดูแลยายที่อายุมากแล้ว รวมทั้งดูแลบ้านและลูกเล็กอีก 4 คน รวมทั้งผม ส่วนพี่คนอื่นๆได้แต่งงานแยกเรือนไป 1 คน อยู่วัดเพื่อเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ 1 คน อีก 2 คน ย้ายไปช่วยพ่อค้าขาย

แม่จึงขึ้นๆ ล่องๆ ระหว่างกรุงเทพฯ กับบ้านนาคูเป็นประจำ

ต่อมาเมื่อพี่ชายคนถัดไปของผมจบชั้นประถมปีที่ 4 ได้ย้ายไปอยู่กับลุงที่อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง เพื่อเรียนต่อชั้นมัธยม

ช่วงนั้น ผมจึงเป็นลูกคนเดียวที่ยังอยู่กับแม่ที่บ้านนาคู

สองปีต่อมา พ.ศ. 2496 ผมจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 แล้ว ก็ย้ายมาอยู่กับพ่อที่กรุงเทพฯ เพื่อเรียนต่อชั้นมัธยม

แม่ยังคงไปๆ มาๆ ระหว่างกรุงเทพกับบ้านนาคู เพราะยายยิ่งอายุมากขึ้นไปอีก และต้องการการดูแลมากขึ้น

พ่อเสียชีวิตก่อนยายที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ.2505 อายุได้ 65 ปี

ส่วนยายเสียชีวิตที่บ้านนาคูนี่เอง เมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2509 ขณะมีอายุ 96 ปี

ในด้านลูกๆ ของแม่ ได้แต่งงานตั้งรกรากอยู่กรุงเทพฯ กันทุกคน ยกเว้นพี่สาวคนโต ซึ่งแรกเริ่มก็สร้างครอบครัวอยู่ที่บ้านนาคู แต่ต่อมาได้ย้ายตามลูกๆ ของตนเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ ด้วยเหมือนกัน

เมื่อไม่มียายที่บ้านนาคู และลูกๆ อยู่กรุงเทพฯ กันหมด แม่จึงมาอยู่กับลูกที่กรุงเทพฯ บ้านนั้นบ้าง บ้านนี้บ้าง

แต่ยังคงหาโอกาสไปเยี่ยมบ้านนาคูอยู่เนืองๆ

แม้เมื่ออายุแม่มากแล้ว ขาก็ประสบอุบัติเหตุ เดินแทบไม่ได้ แม่ยังขอให้พาไปบ้านนาคู เพื่อเยี่ยมบ้านญาติ และคนรู้จักที่ยังอยู่

แม่ทำบุญให้วัดและช่วยคนบ้านนาคูอยู่เสมอๆ เท่าที่มีกำลังทรัพย์ทำได้

ใจของแม่ คิดถึงบ้านนาคูอยู่เนืองๆ มักถามถึง บางครั้งละเมอถึงขณะหลับ

แม่เป็นคนบ้านนาคูโดยแท้ทีเดียว

2. ความเป็นอยู่ : ลำบากบริสุทธ์

ในสายตาคนกรุง ชีวิตบ้านนอกดูลำบาก

เพราะเปรียบเทียบกับในกรุงแล้ว ความเป็นอยู่ในชนบท ไม่สู้สะดวกสบายเอาเลย

น้ำกิน น้ำใช้ ไฟฟ้า ประปา ห้องน้ำ ห้องส้วม การหุงหาอาหาร บ้านเรือน การเดินทาง การติดต่อสื่อสาร ล้วนแล้วแต่ยากลำบากกว่าในกรุงทั้งสิ้น

แต่แปลก ผมไม่เคยรู้สึกเช่นนั้นเลย ในสมัยที่ผมมีชีวิตอยู่ที่บ้านนาคู

และไม่เคยได้ยินแม่บ่นถึงความลำบากเหล่านั้นแม้แต่น้อย

บ้านนาคู แม้จะอยู่ไม่ไกลกรุงเทพฯ ในแง่ระยะทาง คือประมาณ 100 กิโลเมตร แต่เป็นตำบลสุดท้ายของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ถัดจากบ้านนาคูไปนิดเดียวทางทิศเหนือก็ถึงเขตจังหวัดอ่างทอง และถัดไปเล็กน้อยทางทิศตะวันตกคือเขตจังหวัดสุพรรณบุรี

บ้านนาคู จึงอยู่ห่างไกลจากศูนย์กลางของจังหวัดมาก ไปถึงลำบาก

สมัยผมยังเด็ก และแม่อายุ 40 เศษ ต้องใช้เวลาเดินทาง 1 วัน จากกรุงเทพฯ โดยนั่งเรือ 2 ต่อ แล้วเดินเท้าอีกประมาณ 4 กิโลเมตร หรือนั่งเรือ 3 ต่อ ถ้าเป็นฤดูน้ำหลาก

แม้เดี๋ยวนี้ มีถนนไปถึง ก็ยังเป็นถนนลูกรังที่ขรุขระมาก และยังต้องใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง โดยรถยนต์ส่วนตัวจากกรุงเทพฯ

ช่วงสุดท้ายก่อนเข้าบ้านผม เป็นถนนดินเหนียว ประมาณ 1.5 กิโลเมตร หน้าฝน หรือเวลาฝนตกหนัก จะใช้ไม่ได้ ต้องรอให้ฝนหายและดินถนนนั้นแห้งก่อน

ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านนั้น ลำบากอยู่เป็นปกติ

แม่ผมใช้ชีวิตลำบากมาตั้งแต่เกิด จึงเคยชิน และไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องน่าหนักอกหนักใจอะไร

ผมเองก็รู้สึกเช่นนั้นในสมัยนั้น เพราะไม่เคยได้สัมผัสชีวิตที่สบายกว่า

เขาถึงมีคำพูดว่า ถ้าไม่เคยสัมผัส ก็ไม่รู้สึกคิดถึง

แม่จะตื่นแต่เช้าตรู่เสมอ เพื่อเตรียมอาหารให้ลูกๆ และครอบครัว ดูแลบ้านช่องให้เรียบร้อย ทำภารกิจต่างๆ ที่ควรทำ เช่น ปล่อยเป็ดไปหาอาหาร เก็บผัก รดน้ำพืชผัก เลี้ยงหมา ขุนหมู ทำความสะอาดโรงควาย แล้วแต่ว่ามีอะไรให้ทำ แม่จะทำอย่างขะมักเขม้น เหมือนไม่รู้จักเหนื่อย

ผมได้ช่วยแม่บ้างเหมือนกัน โดยเฉพาะในช่วงที่พี่ๆ ไม่ได้อยู่ที่บ้านนาคูแล้ว และมีแต่ผมกับแม่กับลูกพี่ลูกน้องอายุไล่เลี่ยกับผมอีก 1 คน แต่เนื่องจากผมยังเด็กมาก จึงช่วยได้เฉพาะงานเบาๆ

งานหนักๆ แม่เป็นคนทำ ผมก็ได้แต่ดูและอยู่เป็นเพื่อนบ้าง

ผมเห็นแม่เกี่ยวข้าวได้อย่างรวดเร็ว มัดข้าวเป็นฟ่อนใหญ่ๆ ยกฟ่อนข้าวใหญ่ๆ นั้นขึ้นล้อลากข้าวเพื่อลากมาบ้าน ดูแม่เป็นคนแข็งแรงมาก

ข้าวที่เกี่ยวมาแล้วต้องใช้ควายนวด แยกเม็ดข้าวออกจากฟาง เมล็ดก็ขนเข้าเก็บในยุ้งรอการขาย หรือนำไปสีเป็นข้าวสาร ส่วนฟางนำไปสุมเป็นกอง เก็บไว้ให้ควายกิน

งานเหล่านี้ ก็แม่นั้นแหละเป็นคนทำ

ในช่วงที่น้ำยังท่วมพื้นดินอยู่ไม่สามารถใช้ควายนวดข้าวได้ ถ้าจะรีบนวดข้าว เช่น ข้าวเหนียวที่จะใช้ทำขนม ต้องใช้วิธีเอารวงข้าวมามัดเป็นกำเล็กๆ ฟาดกับของแข็งให้เมล็ดหลุดออกบ้างแล้วใช้เท้าคนนวดอีกชั้นหนึ่ง

ผมเห็นแม่และผู้ใหญ่อื่นๆ เอาเท้าเปล่านวดข้าว เคยอาสาช่วยนวดด้วยวิธีนั้นบ้าง ปรากฏว่านวดได้ไม่นานเท้าก็พอง ต้องไปหารองเท้าผ้าใบมาใส่นวด ยังความขบขันให้ผู้ที่ได้เห็นมิใช่น้อย

บ้านนาคูเป็นที่ราบลุ่มมาก น้ำท่วมสูง 2-3 เมตรทุกปีและน้ำจะท่วมท้องนารวมทั้งพื้นดินบริเวณบ้านเป็นเวลาประมาณ 6 เดือน ใน 1 ปี

ผลประการหนึ่ง คือ จะหาผลไม้จากบ้านนาคูได้ยากมาก แม้แต่กล้วย

เพื่อให้ลูกๆได้มีผลไม้และอาหารอย่างอื่นรับประทานนอกจากปลา ไข่และผักที่หาได้หรือปลูกได้เอง แม่จะเดินด้วยเท้าไปตลาดซึ่งอยู่ไกลออกไป 4-5 กิโลเมตร ซื้ออาหารใส่กระจาดแล้วหาบด้วยคานหาบสาแหรกเดินมาคนเดียวท่ามกลางแดดที่ร้อนระอุ

ลูกที่โตหน่อย ซึ่งมักจะเป็นพี่สาวของผม จะคอยดูอยู่ที่บ้าน ว่าแม่เข้ามาใกล้พอมองเห็นหรือยัง เมื่อมองเห็นแม่หาบของมาก็จะออกไปรับหาบ พอช่วยแบ่งเบาความเหนื่อยยากของแม่ได้บ้าง

ผมเห็นแม่หาบของหนักเป็นระยะทางไกลกลางแดดที่ร้อนแรงแล้วรู้สึกเหนื่อยแทนจริงๆ

แต่ก็ดูแม่เต็มใจทำ และทำอยู่เนืองๆ เป็นเรื่องปกติ

การดำเนินชีวิตของแม่ คละเคล้าอยู่กับความยากลำบากนานาประการอีกหลายแบบ หลายอย่าง

ที่ยังประทับความทรงจำผมอยู่มากๆ เรื่องหนึ่งคือ การเดินทางโดยอาศัยเรือแจวหรือเรือพายเป็นพาหนะ

ถ้ามีน้ำมาก ก็ค่อนข้างสะดวก เพียงแต่ต้องแจวหรือพายนานหน่อยเท่านั้น

แต่บ่อยครั้งน้ำในคลองจะเหลือน้อย แจวหรือพายไม่ได้ คนต้องเดินลงมาที่คันคลอง ใช้เชือกโยงหรือลากเรือไปตามคลอง ส่วนใหญ่อาศัยผู้ใหญ่ 2 คนขึ้นไป เดินคนละฝั่งคลอง ก็พอจะลากเรือไปได้ไม่ลำบากนัก

ผมเห็นแม่ทำเช่นนี้หลายครั้ง ดูเป็นเรื่องปกติอีกเช่นกัน

แต่มีครั้งหนึ่ง ที่ผมรู้สึกสงสารแม่เป็นพิเศษ

ครั้งนั้นแม่กับผมไปกันสองคน เรือบรรทุกของหนักพอควร เจอน้ำตื้น แม่ต้องลงมาลากเรือเพียงคนเดียว เพราะผมก็ยังเด็กมาก

แม่ใช้เชือกสองเส้น เส้นหนึ่งโยงกับหัวเรือ อีกเส้นหนึ่งโยงกับท้ายเรือ เพื่อบังคับเรือให้ไปตามทิศที่ต้องการได้

แต่มันเป็นวิธีที่ผู้ลากต้องเหนื่อยและลำบากมากจริงๆ แถมต้องมีความชำนาญในการบังคับเรือด้วย

แม่ต้องลากเรืออยู่นานทีเดียวในครั้งนั้น จวนเจียนจะไม่ไหวก็หลายช่วง

ผมจำได้ว่า ผมรู้สึกอยากร้องไห้ด้วยความสงสารแม่

แต่ไม่ได้เห็นแม่แสดงความย่อท้อ หรือปริปากบ่นอะไรเลย

นี่แหละครับ ความลำบากของชนบท

มันเป็นความลำบากที่บริสุทธิ์จริงๆ

<มีต่อ>

อ้างอิง

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/76312

<<< กลับ

หลากหลายแต่เรียบง่ายแบบ ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

หลากหลายแต่เรียบง่ายแบบ ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม


(บทความโดย ‘ทิพย์พิมล’ ลงในนิตยสาร “สานฝัน” ฉบับ ตุลาคม – ธันวาคม 2548)

“คนเราก็เลือกใช้ชีวิตเป็นช่วงๆผมทำงานแบงก์ชาติ ตลาดหลักทรัพย์ ก็ถือเป็นภาครัฐ แล้วมาอยู่ธนาคารพาณิชย์ก็ภาคธุรกิจ พอมาอยู่ภาคสังคมหรือภาคประชาชน คิดว่าเป็นงานที่พอใจจะทำ…ชีวิตคนเราผันแปรได้ ไม่จำเป็นต้องทำอย่างเดียว”

สำหรับมนุษย์ทำงานคนหนึ่ง หลังจากลืมตาตื่นมากว่า 23,000 วัน อาจถึงเวลาแล้วที่จะบอกตัวเองว่า “ฉันจะพักผ่อน”

แต่สภาพบุรุษร่างเล็กวัย 64 ปีคนนี้ กลับเลือกที่จะแต่งชุดทำงาน หรือแต่งแบบลำลอง เช่นสวมเสื้อเชิ้ตหรือชุดผ้าไทย ออกจากบ้านแทบทุกวัน ถ้าเป็นคนอื่นอาจคิดว่าต้องมีรายได้งามๆรออยู่ข้างหน้า

แต่เปล่าเลย เพราะผลตอบแทนที่ได้อยู่ทุกวันนี้ เขาปฏิเสธที่เปิดเผยเป็นตัวเลข บอกแต่เพียงว่า “เลี้ยงตัวเองพอได้ แต่เลี้ยงครอบครัวไม่ได้แน่”

น้ำเสียงของประโยคข้างต้น ปราศจากความรันทด หดหู่ใดๆทั้งสิ้น ตรงกันข้าม กลับเต็มไปด้วยรอยยิ้ม ชนิดไม่ต้องบอกก็รู้ว่าไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ณ วันนี้ มีความสุขดีตามอัตภาพ

ประวัติการทำงาน ตั้งแต่ กรรมการผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (พ.ศ. 2523-2525) ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการทั่วไปธนาคารไทยทนุ (พ.ศ. 2526-2531) สมาชิกวุฒิสภา (พ.ศ. 2539-2543) และผู้อำนวยการธนาคารออมสิน (พ.ศ. 2540-2543) ฟังดู ก็หนักหนาอยู่ไม่น้อย ถ้าจะเลือกนอนอ่านหนังสือ หรือปลูกกล้วยไม้อยู่บ้านในบั้นปลาย ก็คงไม่มีใครกล้าว่าอะไร

“ชีวิตตอนนี้เป็นชีวิตที่พักอยู่แล้ว ในแง่หนึ่งก็ไม่ได้รับผิดชอบมาก งานไม่หนักเท่าไร เป็นงานที่พอจะทำได้ เหมือนงานคนเกษียณ ยิ่งถ้าเป็นงานที่เราพอใจจะทำ ก็ไม่เรียกว่างาน แต่เป็นกิจกรรม ซึ่งเป็นความสุขและการพักผ่อนอยู่ในตัว”

ถ้าว่ากันตามตัวเลข  อดีตผู้อำนวยการธนาคารออมสินคนนี้  เข้าสู้ตำแหน่งผู้สูงอายุเต็มตัวแล้ว  ทุกวันนี้  หลายคนมักพบตัวเขาได้ตามงานบรรยายปาฐกถาต่าง ๆ  ในฐานะวิทยากร  หรือตามสถานที่ประชุมต่างๆ  ซึ่งมักขึ้นป้ายหน้าไมค์ไว้ว่า  ที่ปรึกษาหรือไม่ก็กรรมการ

ยิ่งไปกว่านั้น  ผู้ชายที่บอกว่ารายได้พอใช้คนนี้  เวลานี้คนนอกมาขอติดต่อหรือรบกวนทีไร  ต้องไหว้วานเลขานุการช่วยเช็คคิวให้อีกต่างหาก

ถ้าเป็นกิจกรรมอย่างที่เจ้าตัวว่าจริงๆ  ก็คงเป็นกิจกรรมที่เอาจริงเอาจัง ขนาดเรียกว่างานก็ย่อมได้

และอะไรที่ทำให้สุภาพบุรุษท่านนี้ยังเป็นที่ต้องการของสังคมเสมอๆ  การเริ่มต้นอธิบายด้วยอัตชีวประวัติฉบับย่อๆ  ตั้งแต่สมัย  ด.ช.ไพบูลย์  ยังวิ่งเล่นอยู่แถวๆ  อำเภอผักไห่  จังหวัดอยุธยา  คงปูพื้นให้เข้าใจได้บ้าง

“ผมเองพื้นฐานชีวิตมาจากเด็กบ้านนอก  อยู่ท้องไร่ท้องนา  เรียนโรงเรียนวัด  แล้วเข้ามาต่อที่โรงเรียนไพศาลศิลป์ในกรุงเทพฯ  จากนั้นเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมฯ  แล้วเข้าเรียนปี 1  ในคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์  มหาวิทยาลัยมหิดล  ก่อนได้ทุนการศึกษาของแบงก์ชาติ  ไปเรียนเศรษฐศาสตร์ที่ประเทศอังกฤษ”

จบกลับมา  จึงต้องมาใช้ทุนโดยการทำงานให้กับธนาคารแห่งประเทศไทย  และได้จับงานด้านตลาดหลักทรัพย์อยู่ช่วงหนึ่ง  และสิบกว่าปีต่อมา  อดีตนักเรียนทุนคนนี้ก็ได้นั่งเก้าอี้กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย  เพราะเป็นคนไทยเพียงไม่กี่รายที่ศึกษาและเชียวชาญเรื่องตลาดหลักทรัพย์  ในสมัยที่คนค่อนประเทศยังไม่ค่อยคุ้นกับคำว่า  “หุ้น”

จากภาครัฐวิสาหกิจ  ด้วยความที่สนใจและอยากจะเข้าใจเรื่องธุรกิจ  จึงไปหาประสบการณ์ด้วยตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการทั่วไปธนาคารไทยทุนอยู่  5  ปีเศษ  และในระหว่างนั้นเอง  ก็มีโอกาสไปช่วยงานภาคสังคมที่มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย  ที่ฮีโร่ในดวงใจ  ซึ่งก็คือ  อ.ป๋วย  อึ๊งภากรณ์  ก่อตั้งขึ้น  และนั่นเป็นก้าวสำคัญที่ผลักให้คุณไพบูลย์ตัดสนใจอำลาวงการธุรกิจ  ลงสู่สนามรากหญ้าอย่างเต็มตัว  ด้วยการประเดิมตำแหน่งผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย  เป็นตำแหน่งแรก

“พื้นฐานเป็นคนชนบท  เคยเห็นความยากลำบาก  ยิ่งได้ไปทำงานมูลนิธิบูรณะชนบท  ยิ่งเห็นว่างานพัฒนาสังคมชนบท  ยังต้องการคนไปช่วยทำอีกเยอะ  และมีคนทำอยู่น้อย  ในขณะงานภาคธุรกิจมีคนอยากทำมากอยู่แล้ว”

กรรมการผู้จัดการสำนักงานพัฒนาชุมชนเมืองในสังกัดการเคหะแห่งชาติ  คือ  ตำแหน่งถัดมา  และ  5  ปีหลังจากนั้น  เจ้าตัวก็ถูกเชิญมานั่งเก้าอี้ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน  ในช่วง  4   ปีสุดท้ายของการทำงาน

แม้จะกลับมาสู่แวดวงเงินๆ  ทองๆ  แต่ก็เป็นเรื่องเงินเรื่องทองเพื่อสังคมมิใช่เพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ  ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่จูงใจคุณไพบูลย์จนยอมมานั่งเก้าอี้นี้  คือ  ช่วงเวลานั้นรัฐบาลมีนโยบายอยากเห็นธนาคารออมสินทำประโยชน์ให้สังคม

“ฉะนั้นช่วงที่เป็นผู้อำนวยการธนาคารออมสิน  ผมก็ยังทำงานเพื่อสังคมอยู่นั่นเอง  ไม่ได้เป็นการกลับไปสู่ภาคธุรกิจหรอก  เพราะถ้าให้ผมกลับไปภาคธุรกิจ  เช่น  ไปบริหารธนาคารพาณิชย์  ผมคงไม่ไป”

ถ้ายังอยู่กับภาครัฐ  ก็ได้รับการคาดหมายว่าจะได้ขึ้นสู่ตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย  หรือถ้าอยู่ภาคธุรกิจต่อไป  ก็คงเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ของธนาคารพาณิชย์  แต่อนาคตงดงามเหล่านี้  ไม่อยู่ในความสนใจของคุณไพบูลย์เลย  เพราะเจ้าตัวย้ำชัดว่า  ไม่ได้เป็นคนที่ให้ความสำคัญกับตำแหน่งหรือผลตอบแทน  แต่ให้ความสำคัญกับเนื้องานและคุณค่าของงานมากกว่า

ด้วยความคิดเช่นนี้เอง  องค์การหน่วยงานภาคต่าง ๆ  จึงมารุมจีบจนเนื้อหอม  เริ่มตั้งแต่ตำแหน่งบิ๊ก  เช่น  สมาชิกวุฒิสภา  ลดหลั่นลงไปเป็นประธานมูลนิธิ  กรรมการ  ที่ปรึกษา ฯลฯ  สืบเนื่องเรื่อยมาจนเกษียณอายุการทำงาน

พูดได้ว่า  ตารางการทำงานช่วงนั้นแน่นมากถึงมากที่สุด  จนต้องใช้คำว่า  “ล้นมือ”  เพราะใน  1  วันธรรมดา  นัดแรกจะเริ่มต้นตอนเช้ามืด  และนัดสุดท้ายไปสิ้นสุดเอาดึกดื่น  เสาร์-อาทิตย์  ก็ไม่ค่อยได้พัก  จนกระทั่งวันหนึ่ง  คนไม่เคยพัก  ก็มีอันต้องพักจริงๆ …นานเสียด้วย

“ปีที่แล้วเพิ่งป่วยเป็นเนื้องอก  ต้องผ่าตัดใหญ่  ตัดอวัยวะไปหลายอย่าง  ตับอ่อน   กระเพาะ  ถุงน้ำดี  ท่อน้ำดี ลำไส้เล็ก  อยู่โรงพยาบาลเดือนครึ่งรวมถึงที่ต้องนอนห้องไอซียูถึง  3  วัน  พักที่บ้านอีกเดือนครึ่ง  จึงเริ่มทำงานใหม่ได้แบบเบา ๆ หน่อย”

ถามความรู้สึกในช่วงนั้น  แทนที่จะได้ฟ้งน้ำเสียงตื่นเต้นประสาคนเพิ่งพ้นวิกฤติ  แต่คนตอบกลับส่ายหน้าแถมยิ้มนิดๆ  บอกเพียงสั่นๆ  ว่า… ปกติ

“ไม่ได้เดือดร้อนอะไร  ป่วยก็ป่วย  (หัวเราะ)  คนเราป่วยกันได้  อันที่จริงตลอดชีวิตผมไม่เคยป่วยจนต้องเข้าโรงพยาบาลเลย  ครั้งนั้นเป็นครั้งแรกเพราะก่อนหน้านั้นสุขภาพค่อนข้างดี  และเป็นก็เป็นปุบปั๊บ  รู้ตัวว่าไม่สบายแค่  2  อาทิตย์  ทีแรกนึกว่านิดหน่อย  แต่พอไปให้หมอตรวจ  บอกว่าพบก้อนเนื้อ  แล้วแนะนำว่าควรผ่าตัด  ผ่าตัดใหญ่ด้วย  (หัวเราะ)  เกือบ  9  ชั่วโมงแนะ

น้ำเสียงเย็นๆ  ประกอบการเล่าอย่างเรียบ ๆ  ยิ่งช่วยย้ำว่า  ป่วยก็คือป่วย  ไม่มีอะไรมากกว่านั้น

ที่เป็นเช่นนี้  เพราะคุณไพบูลย์บอกว่า  ที่ผ่านมาตัวเองได้ทำอะไรมาพอสมควรแล้ว  ครอบครัวดูแลตัวเองได้  หน้าที่พึงทำก็ทำมาแล้ว  ฉะนั่นจึงไม่มีเรื่องต้องกังวล  ประกอบกับการศึกษาปฏิบัติธรรมะ  ทำให้ไม่ยึดติด  เมื่อเกิดอะไรขึ้น  ก็พร้อมรับสภาพ  ไม่ได้ทุกข์หรือห่วงอะไร

“ในแง่หนึ่งก็เป็นประสบการณ์ดีเหมือนกัน  ไม่เคยป่วย  ได้ป่วยซะบ้าง  ไม่เคยนอนโรงพยาบาลก็ได้นอน  ที่จริงกลับสบายเสียด้วยซ้ำเพราะไม่มีเรื่องต้องขบคิด  สมองโล่งหน่อย  เพราะตอนยังไม่ป่วยมีเรื่องให้คิดตลอดเวลา  ถึงแม้จะไม่ได้เป็นทุกข์แต่ก็มีความคร่ำเคร่งอยู่บ้าง  มีประเด็นปัญหามีเรื่องให้ต้องคิดหาทางออก  สมองต้องทำงาน  พอป่วยสมองเลยได้พักยาว”

เมื่อผ่านพ้นการผ่าตัดใหญ่แล้ว  คนไข้มือใหม่ได้ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งต่างๆ  รวมแล้วทั้งสิ้น  21  ตำแหน่ง เหลือเอาไว้อีกราวๆ  20  ตำแหน่งในประเภทที่ไม่ต้องรับผิดชอบมาก  เช่น  นานๆ  ประชุมที

หลังจากพักร้อนไป  3  เดือน  สุขภาพก็เริ่มกลับเข้าที่อีกครั้ง  และโดยอัตโนมัติ  หน่วยงานต่างๆ  ก็ยื่นบัตรเชิญมาให้กลับไปทำงานอีก  แต่คราวนี้  เจ้าตัวปฏิเสธมากขึ้น  เลือกรับแต่พอดีๆ  เพราะไม่อยากกลับไปนอนเตียงผู้ป่วยอีก  แต่พอถามว่า  ขณะนี้สุขภาพเป็นอย่างไรบ้าง  คุณไพบูลย์  บอกว่าปกติแต่ยอมรับว่าไม่  100  เปอร์เซ็นต์เหมือนในอดีต

“อาจจะเหลือ  99  เปอร์เซ็นต์นะผมว่า”  แล้วสุภาพบุรุษก็ฉีกยิ้มอีกหนึ่งรอบ

ณ  ปัจจุบัน  งานหลักๆ  ของคุณไพบูลย์  คือ  ประธานศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม  ประธานที่ปรึกษาสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน  ประธานบริหารแผนคณะที่  3  ของ  สสส.  ฯลฯ

งานประเภทช่วยคิดช่วยทำแบบนี้  หลายแห่งไม่มีรายได้  มีแต่เบี้ยประชุมเล็กๆ  น้อยๆ  เริ่มตั้งแต่ไม่กี่ร้อยบาท  เจ้าตัวแอบกระซิบว่า  325  บาท  คืออัตราต่ำสุดที่เคยได้  แต่เมื่อรวบรวมตอนสิ้นเดือนแล้ว  ก็ถือว่าพอดูแลตัวเองได้  แต่ยังขาดอีกเยอะถ้าจะเลี้ยงครอบครัว

ถามว่ารายได้ลดลงไหม  อดีตผู้อำนวยการธนาคารชื่อดังพยักหน้าแทนคำตอบ  แต่ไม่ใช่เรื่องที่ต้องเก็บมาคิดให้กลุ้ม

“ตำแหน่งผู้อำนวยการแบงก์  เงินเดือนก็ไม่ได้เยอะมากนะ  สูงกว่าราชการนิดหน่อย  เชื่อไหม  ตลอดชีวิตการทำงานของผม  ไม่เคยได้เงินเดือนถึงแสนเลย”

หากเงินคือพระเจ้าสำหรับบางคน  คงยากที่จะเป็นคนคนนั้นลงมาทำงานเพื่อสังคม  แต่โชคดีที่ความคิดนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับคุณไพบูลย์  ฉะนั้นในวันนี้เขาจึงเป็นบุคลากรสำคัญของการทงานภาคสังคม  โดยเฉพาะกับชุมชนท้องถิ่น  และเป็นคนแรกๆ  ที่แนะนำคำว่า  “ประชาสังคม”  ให้สาธารณะได้ทำความรู้จัก

ส่วนหนึ่ง  ต้องย้อนกลับไปสมัยได้รับทุนธนาคารแห่งประเทศไทย  ณ  วันนั้น  บัณฑิตใหม่จากอังกฤษ  ตระหนักดีว่า  ทุนจากธนาคารแห่งประเทศไทยที่เขาได้นั้น  อีกนัยหนึ่งก็คือทุนของสังคม  ดังนั้น  แม้ภายหลังจากใช้ทุนจนครบวาระไปแล้ว  แต่ด้วยความรู้สึกทางใจที่ยังคงค้าง  คุณไพบูลย์จึงยังทำงานเพื่อสังคมเรื่อยมา  เพราะถือว่าตอบแทนที่ได้รับความอนุเคราะห์จากสังคม

ไม่ว่าจะเป็นงานภาครัฐ  ธุรกิจ  หรือสังคมที่ผ่านมือมา  อย่างหลังคืองานที่เจ้าตัวพอใจมากที่สุด  แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะไม่ชอบงานสองอย่างแรก

“คงไม่ใช่เห็นความต่างอะไรหรอก  คนเราก็ต้องเลือกใช้ชีวิตเป็นช่วงๆ  ผมทำงานแบงก์ชาติ  และตลาดหลักทรัพย์ก็ถือเป็นภาครัฐ  แล้วมาอยู่ธนาคารพาณิชย์ก็ภาคธุรกิจ  พอมาอยู่ภาคสังคมหรือภาคประชาชน  คิดว่าเป็นงานที่พอใจจะทำ…  ชีวิตคนเราผันแปรได้ ไม่จำเป็นต้องทำอย่างเดียวตลอด”

เช่นเดียวกับ  สภาพสังคมที่ผันผวนชวนให้เหนื่อยใจได้ตลอดเวลา  โดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจขณะนี้ที่โดนพิษราคาน้ำมันจนอ่วมไปทั่วทุกกลุ่มชั้น

ในฐานะที่ผ่านมาหลายวงการ  ตั้งแต่ระดับบน  ลากลงไปจนถึงระดับล่าง  เขามีคำแนะนำว่า  สำหรับการใช้ชีวิตให้ปลอดภัยที่สุดว่า  ต้องไม่ยึดติด  ใช้ชีวิตเรียบง่าย  รู้จักพอ  ทำอะไรที่พอเหมาะพอสมควร  และมีความรอบคอบระมัดระวัง  ไม่ทำอะไรเกินตัว  ถ้าทำแบบนั้นก็จะไม่เดือดร้อนกับสิ่งที่เผชิญอยู่

เบื้องต้นคือภูมิคุ้มกัน  เมื่อต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลง  สภาพจิตใจพร้อมที่จะรับ  ปรับตัวไปได้  แต่ถ้าใครโชคร้ายเจอสภาพที่ผันผวนรุนแรง  หรือเคยใช้ชีวิตแบบสุดโต่งในโลกวัตถุนิยม  ช่วงวิกฤตแบบนี้ก็อาจเป็นโอกาสดีให้หลายคนกลับมาทบทวนปรัชญาในการดำเนินชีวิต  พูดง่ายๆ  คือใช้วิกฤตเป็นโอกาส  ใช้ปัญหาสร้างปัญญา

“แล้ววันหลังอาจจะขอบคุณที่มีปัญหาเพราะทำให้เราได้คิด  และปรับวิธีคิด  วิธีดำเนินชีวิตเสียใหม่”

ต้นคิดประชาสังคม  เน้นให้ครองชีวิตอยู่กับสติ  และความพอประมาณ  ยิ่งถ้าปล่อยวางได้จะดีมาก  แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น  ไม่ได้หมายความว่าละทุกอย่างจนไม่ยึดติดเลย  เพราะเหลือกำลังที่มนุษย์คนหนึ่งพึงกระทำได้

“อย่ายึดติดมาก  แบบนี้น่าจะพอทำได้  ชีวิตก็จะมีความสุข  อบอุ่น  แบบเรียบง่ายแต่มั่นคง  ไม่ใช่แบบบริโภควัตถุมาก  ฟู่ฟ่า  เร้าใจ  นั่นเป็นความสุขที่ไม่ค่อยยั่งยืน  ต้องคอยแต่จะไขว่าคว้าวัตถุหรือความเร้าใจมากขึ้นเรื่อยๆ”

จากการดำเนินชีวิตในครรลองเช่นนี้  ส่งผลให้  24  ชั่วโมงของสุภาพบุรุษวัย  64  เรียบๆ  ไม่หวือหวา  ทว่าโดดเด่นในฐานะนักวิชาการที่งานชุกมากที่สุดคนหนึ่ง  ซึ่งเจ้าตัวก็ยิ้มรับด้วยความเต็มใจ  คล้ายกับว่าได้ขลุกอยู่กับงานอดิเรกที่รักตลอดเวลา

ถ้าวันไหน  วิทยากรคิวชุกเกิดว่างจริงๆ  จะเลือกพักผ่อนสบายๆ  อยู่กับบ้าน  อ่านหนังสือที่ชอบ  หรือออกไปเที่ยวต่างจังหวัดกับครอบครัว

แต่นั่นไม่ได้เป็นสิ่งที่เจ้าตัวมีความสุขที่สุด  เพราะความสุขที่สุด  อยู่ที่การได้ใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์กับสังคม

“ทุกวันนี้พอแล้ว ไม่ได้ต้องการอะไร เมื่อไม่ต้องการอะไรก็ไม่เป็นทุกข์ ไม่อยากได้ตำแหน่ง ไม่อยากมีฐานะ ไม่ติดยึดแม้กระทั่งตัวเอง”

น่าจะดี  ถ้าหลายคนคิดได้แบบนี้  แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง  คนต้องยอมรับว่าลมหายใจของส่วนใหญ่ยังต้องกระเพื่อมตามภาวะเศรษฐกิจ  โดยไม่สามารถควบคุมหรือเป็นนาย  “มัน”  ได้

การทำใจยอมรับในความผันผวนคือวิธีที่ดีที่สุด  เพราะประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาก็บอกแล้วว่าความไม่แน่นอน คือความธรรมดาที่เกิดขึ้นได้กับทุกอย่าง  ไม่ว่าจะเป็น  ธรรมชาติ  เศรษฐกิจ  แม้กระทั่งความสุข

“ร่างกายก็เก็บไว้ไม่ได้  สิ่งที่เราจัดการได้คือจิตใจ  แต่ต้องจัดการให้เป็นธรรมชาติไม่ใช่ไปบังคับหรือกดทับไว้  เพราะถึงจุดหนึ่งมันจะระเบิดออกมา  ที่ทำได้คือพัฒนาจิต  ค่อยๆ  ฝึกฝน  โดยใช้ปัญญาเท่าที่มี  ชีวิตก็จะสงบสุข”

แบบเรียนชีวิตของผู้ชายคนนี้  ที่ผ่านมาทั้งสูท  เครื่องแบบองค์กรรัฐ  ชุดผ้าไทย  ไล่ลงไปจนถึงม่อฮ่อม  อาจจะไม่ดีเด่นเป็น  best  seller  เสียจนคนไทยทุกคนต้องอ่าน  แต่ถ้าได้หยิบบางเสียว  บางมุม  ของผู้ชายคนนี้มาทดลองใช้

ไม่แน่ว่า…ความสุขแบบเรียบๆ  ง่ายๆ  อาจจะลัดคิวมาหาคุณเร็วขึ้น

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

24 ต.ค. 49

อ้างอิง

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย  ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

เว็บไซต์เดิม  :  https://www.gotoknow.org/posts/55564

ปัจจัย 4 ข้อ กุญแจ 3 ดอก เปิดประตูสู่ชุมชนสร้างคนรุ่นใหม่

ปัจจัย 4 ข้อ กุญแจ 3 ดอก เปิดประตูสู่ชุมชนสร้างคนรุ่นใหม่


   (สรุปสาระจากปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “การสร้างคนรุ่นใหม่เพื่อสำนึกรักในชุมชนท้องถิ่น” ในการสัมมนาเพื่อสรุปบทเรียนการดำเนินการ “โครงการบัณฑิตคืนถิ่น” ซึ่งจัดขึ้น ณ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร กรุงเทพมหานคร ระหว่าง 28 – 29 กรกฎาคม 2549 ใช้หัวข้อการสัมมนาว่า “การสร้างและพัฒนาคนรุ่นใหม่ เพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่น”

                เป็นการสรุปสาระจากปาฐกถาพิเศษในรูปของบทความรายงานที่เรียบเรียงโดย “ประพันธ์ สีดำ” ลงใน นสพ.ไทยโพสต์ ฉบับ 5 – 6 สิงหาคม 2549 หน้า 21)

                ความจริงข้อหนึ่งที่ทำให้ลูกหลานที่จบการศึกษาไม่สนใจที่จะกลับไปพัฒนาบ้านเกิดของตนเอง นั่นก็คือระบบการศึกษาอันผิดพลาดที่สอนแต่เรื่องไกลตัว มีเป้าหมายเพื่อดึงคนออกจากท้องถิ่นไปเป็นแรงงานในเมือง แต่ข้อนี้ไม่เป็นความจริงทั้งหมด ยังมีปัจจัยต่างๆ อีกมากที่คนหนุ่มสาวไม่กลับบ้านเกิด

ดังนั้นการสนับสนุนให้บัณฑิตมีโอกาสกลับคืนสู่ท้องถิ่นถือว่าเป็นเรื่องดี อย่างน้อยชุมชนก็ได้บุคลากรที่มีคุณภาพซึ่งเป็นลูกเป็นหลานของคนในชุมชน และเข้าใจในท้องถิ่นนั้นๆ ได้ดี แล้วนำความรู้ที่ได้เรียนมานำไปผสมผสานเข้ากับผู้นำในชุมชน จนทำให้มีความมั่นใจที่จะกลับไปอยู่บ้านเกิดและได้อยู่กับครอบครัวอย่างอบอุ่น

เมื่อวันที่ 29 กรกฎคม 2549 ที่ผ่านมา โครงการบัณฑิตคืนถิ่น อันเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานโครงการส่วนพระองค์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) และเครือข่ายองค์กรชุมชน ได้เชิญชาวบัณฑิตคืนถิ่น ผู้ปกครอง นักศึกษาในคณะสังคมศาสตร์ ปราชญ์ชาวบ้าน และผู้เกี่ยวข้อง 100 กว่าคน  ระดมความคิดสรุปบทเรียนหลังจากที่โครงการนี้ดำเนินงานมาครบ 1 ปี โดยมีอยู่ตอนหนึ่งที่ได้เชิญ อาจารย์ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ประธานศูนย์คุณธรรมและประธานที่ปรึกษาสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) มาปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “การสร้างคนรุ่นใหม่ เพื่อสำนึกรักในชุมชนท้องถิ่น” โดยมีใจความสำคัญว่า ที่ผ่านมาเมื่อท้องถิ่นไม่น่าอยู่ไม่น่ารักแล้วจะทำให้คนรักท้องถิ่นได้อย่างไร แต่ถ้าท้องถิ่นน่ารักน่าอยู่เราไม่ต้องไปทำอะไรมาก ใครๆก็อยากกลับไปอยู่บ้านเกิด ดังนั้น ทำอย่างไรที่จะทำให้ท้องถิ่นน่ารักน่าอยู่ ซึ่งไม่ใช่ใครที่ไหนจะมาทำท้องถิ่นให้น่าอยู่หากไม่ใช่คนในท้องถิ่นเองเป็นคนทำ

ถ้าจะให้คนรุ่นใหม่มีสำนึกรักท้องถิ่น และอยากไปอยู่ในท้องถิ่น ก็ควรสร้างโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับท้องถิ่นเท่าที่จะทำได้ เช่น มีงานให้คนรุ่นใหม่ทำในท้องถิ่น อาจเป็นงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น งานกับองค์กรชุมชน งานกลับกลุ่มออมทรัพย์ งานศึกษาวิจัย หรือกิจกรรมอาสาสมัครเป็นครั้งคราว เป็นต้น

อาจารย์ไพบูลย์ ได้ให้ความคิดเห็นว่า การที่จะทำให้ชุมชนน่าอยู่และสร้างสำนึกรักบ้านเกิดได้นั้น มีปัจจัยสำคัญอยู่ 4 ประการ คือ

                ปัจจัยข้อแรก ทำอย่างไรที่จะให้ท้องถิ่นน่าอยู่สำหรับคนรุ่นใหม่ คือต้องเป็นท้องถิ่นที่ดี มีสภาพสังคมดี สิ่งแวดล้อมดี มีโอกาสในเรื่องอาชีพ และต้องมีกิจกรรมที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นศิลปะวัฒนธรรม และกิจกรรมทางสังคมที่ทำให้ชีวิตในท้องถิ่นเป็นชีวิตที่ดี มีความสุข มีความน่าพึงพอใจ เกิดความอบอุ่น มีความเจริญก้าวหน้าตามสมควร อย่างที่คนในท้องถิ่นทั้งหลายพึงคาดหวัง เพราะบางทีกลับไปไม่รู้จะทำอะไร ดังนั้นเราต้องให้โอกาสสำหรับคนรุ่นใหม่ได้สร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา

เชื่อว่าทุกวันนี้มีท้องถิ่นหลายแห่งที่คนรุ่นใหม่ได้กลับไปอยู่ในบ้านเกิดของตัวเอง เราต้องไปดูว่าบัณฑิตเหล่านั้นเขาทำอะไร และทำได้ยังไง มีอะไรดี ทำไมคนกลุ่มนั้นจึงเต็มใจที่จะอยู่บ้านเกิด

ปัจจัยข้อที่สอง ทำอย่างไรให้คนรุ่นใหม่เป็นที่พึงปรารถนาของท้องถิ่น ไม่ใช่ท้องถิ่นเป็นที่พึงปรารถนาของคนรุ่นใหม่เพียงอย่างเดียว ข้อนี้จึงขึ้นอยู่กับระบบการศึกษาของชาติว่ามีเป้าประสงค์จะผลิตคนเพื่อรับใช้ท้องถิ่นหรือไม่อย่างไร

                ปัจจัยข้อที่สาม ควรมีนโยบายอย่างไรที่เอื้อต่อการทำให้ท้องถิ่นน่ารักน่าอยู่ เป็นที่พึงปรารถนาสำหรับคนรุ่นใหม่ ประเด็นนี้โยงไปถึงคนหรือหน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่ในการเอื้อให้ทั้ง 2 อย่างเกิดขึ้น คือ ท้องถิ่นเป็นที่พึงปรารถนาของคนรุ่นใหม่ และคนรุ่นใหม่เป็นที่พึงปรารถนาของท้องถิ่น ต้องไล่มาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ ที่รัฐธรรมนูญเอื้อเฟื้อสนับสนุนท้องถิ่น แต่รัฐธรรมนูญอย่างเดียวไม่พอ เราต้องมีนโยบายของรัฐ เช่น เขากำลังยกร่างแผนฯ 10 จะต้องมีในแผนฯ 10 ที่เอื้อเฟื้อให้ท้องถิ่นเป็นที่พึงปรารถนาของคนรุ่นใหม่และคนรุ่นใหม่เป็นที่พึงปรารถนาของท้องถิ่นด้วย

                ส่วนปัจจัยข้อสุดท้าย อะไรคือกุญแจสำคัญสำหรับเรื่องทั้งหมด อ .ไพบูลย์ ให้ความเห็นว่า สิ่งที่เป็นกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จของเรื่องที่กล่าวมามีอยู่ 3 ดอก ได้แก่

กุญแจดอกแรกคือ ความรักและความดี ทั้งหลายทั้งปวงจะไปได้ดีถ้ามีสองอย่างนี้เป็นที่ตั้ง ความรัก ความปรารถนาดี เป็นส่วนหนึ่งของคุณธรรม 4 ประการ ตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อวันฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี 9 มิถุนายน 2549 นั่นคือ ความเมตตาปรารถนาดีต่อกัน คิด พูด และทำด้วยความมุ่งดี มุ่งเจริญต่อกัน ควบคู่กับความรักคือความดี ซึ่งสองอย่างนี้เป็นเครื่องค้ำจุนโลก ค้ำจุนสังคม

                กุญแจดอกที่สอง คือ เรื่องของการเรียนรู้ที่มากกว่าความรู้ โครงการบัณฑิตคืนถิ่นให้ความสำคัญมากกับการเรียนรู้ เป็นการเรียนรู้ร่วมกันควบคู่ไปกับการปฏิบัติ ถือเป็นเรื่องที่ดีมาก ส่วนการปฏิบัติจะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ที่ผสมผสาน มีหลากหลายมิติ และบูรณาการ ถ้าจะผสมด้วยสิ่งที่เราเรียกว่า การจัดการความรู้ หมายถึงการค้นหาความรู้ความสามารถที่มีอยู่กับคนทุกคนในทุกๆ ท้องถิ่น แล้วนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ประมวลเก็บไว้ให้สะดวกต่อการนำมาใช้ เผยแพร่ออกไป นำมาวิเคราะห์สังเคราะห์ จนถึงระดับขยายผล หรือสร้างนวัตกรรมต่อๆ กันไป จากนั้นจึงกลับมาทบทวนสิ่งที่ได้ทำไว้แล้วว่าได้ผลดีมากน้อยแค่ไหน จะปรับปรุงอย่างไร เป็นการเรียนรู้ที่เป็นวงจร เป็นวัฏจักรที่จะทำต่อไปอย่างต่อเนื่อง

ส่วนกุญแจสำคัญดอกสุดท้าย คือ การจัดการ หมายถึงการดำเนินการกับปัจจัยต่างๆ ให้บรรลุผลที่พึงประสงค์ ซึ่งศาสตร์ของการจัดการนี้ เรียนเท่าไรก็ไม่มีวันจบสิ้น การจัดการเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ซึ่งเราสามารถพัฒนาได้

คนเราต้องมีการจัดการอยู่ 2 อย่าง อย่างแรกคือ การจัดการตนเอง ไม่ว่าจะเป็นบุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กร ต้องจัดการตนเอง อย่างที่สอง การจัดการร่วมกัน เช่น ต้องมีหลายๆฝ่ายเข้ามาจัดการร่วมกัน ทั้ง ชุมชน อบต. สถานีอนามัย วัด โรงเรียน เป็นต้น หรือว่าให้เครือข่ายมาจัดการร่วมกัน

อาจารย์ไพบูลย์ย้ำอีกว่า ปัจจัย 4 ข้อ กุญแจ 3 ดอก จะเปิดประตูสู่ชุมชนสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีสำนึกรักบ้านเกิดได้ ก็ต่อเมื่อทั้งคนรุ่นใหม่และชุมชนพัฒนาเข้าหากัน มิใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งปรับตัวเพียงลำพัง

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

13 ก.ย. 49

อ้างอิง

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย  ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

เว็บไซต์เดิม  :  https://www.gotoknow.org/posts/49954

<<< กลับ