นักการธนาคาร ผู้นำขบวนการชุมชนไทย (2)

นักการธนาคาร ผู้นำขบวนการชุมชนไทย (2)


(คอลัมน์ “วิถีแห่งผู้นำ” โดย นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เรื่อง“ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม: นักการธนาคาร ผู้นำขบวนการชุมชนไทย ตอน นักการธนาคารผู้นำขบวนการชุมชนไทย” ลงใน นสพ.สยามรัฐ ฉบับวันที่ 23 พ.ย. 50 หน้า 18)

นับตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 (พ.ศ.2540 – 2544) เป็นต้นมา แนวคิดเรื่องชุมชนเข้มแข็ง หรือวัฒนธรรมชุมชนได้ถูกบรรจุไว้เป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาสังคมที่หน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐได้นำไปเป็นกรอบในการจัดทำแผนงาน โครงการ และงบประมาณประจำปี ในขณะเดียวกันกระบวนการเคลื่อนไหวขององค์กรพัฒนาเอกชน และองค์กรชาวบ้านก็ได้รับการยอมรับในสถานภาพ และได้รับการสนับสนุนมากขึ้นโดยลำดับ จนทำให้แนวคิด และบทบาท ขบวนการชุมชนไทยมีความสูงเด่นขึ้นอย่างมากในกระแสการพัฒนาประเทศในช่วง 10 ปีหลัง ทั้งในด้านการพัฒนาด้านการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ด้านการพัฒนาสังคม การดูแลสิ่งแวดล้อม และแม้แต่ในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจก็ตาม

พัฒนาการของแนวคิดวัฒนธรรมชุมชน

ขบวนการชุมชนเข้มแข็งและประชาสังคมในประเทศไทยเป็นผลผลิตที่เกิดมาจาก “แนวคิดวัฒนธรรมชุมชน” ที่มีจุดกำเนิดจากองค์กรพัฒนาเอกชนเมื่อต้นพุทธทศวรรษที่ 2520

แนวคิดวัฒนธรรมชุมชนในประเทศไทยมีพัฒนาการแบ่งได้เป็น 3 ระยะ ซึ่งในแต่ละขั้นตอนของพัฒนาการ แนวคิดวัฒนธรรมชุมชนได้ปะทะและประสานกับแนวคิดอื่นในกระบวนการดังกล่าว ทำให้สาระสำคัญของแนวคิดนี้ได้รับการเสริมเติมจนมีความเข้มแข็งมากขึ้น และได้รับการยอมรับกว้างขวางขึ้น

ระยะที่ 1 : แนวคิดวัฒนธรรมชุมชนในฐานะ “เป็นทางเลือกของการพัฒนา” (พ.ศ.2520 – 2529)

แนวคิดวัฒนธรรมชุมชนกำเนิดจากองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานในชนบทเพื่อเฝ้ามองผลกระทบอันเนื่องมาจากการพัฒนาประเทศตามทิศทางของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของรัฐ

องค์กรพัฒนาเอกชนที่จุดประกายแนวคิดนี้มี 2 สาย ได้แก่ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยที่ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นผู้ก่อตั้ง ซึ่งนักวิจัยของมูลนิธิได้ค้นพบองค์ความรู้จากการฝังตัวในพื้นที่ชนบทภาคกลางที่จังหวัดชัยนาทว่าแท้ที่จริงแล้ว ท่ามกลางกระแสการพัฒนาในระบบทุนนิยมนั้น เมืองไทยมีวัฒนธรรม 2 กระแส คือด้านหนึ่งเป็นวัฒนธรรมทุนนิยม อีกด้านหนึ่งคือวัฒนธรรมชาวบ้าน และเสนอว่าการพัฒนาประเทศควรยึดแนววัฒนธรรมชาวบ้าน

อีกสายหนึ่งคือสภาคาทอลิกแห่งประเทศไทยเพื่อการพัฒนา ผู้นำนักพัฒนาขององค์กรได้แนวคิดจากการประชุมสังคายนาวาติกันที่ 2 (ค.ศ.1962 – 1965) ซึ่งเสนอว่า ศาสนจักรคาทอลิกต้องเข้าใจวัฒนธรรมพื้นเมือง และต้องทำให้ศาสนาคริสต์กลายเป็นศาสนาพื้นเมือง มิใช่มุ่งปรับเปลี่ยนพื้นเมืองให้เป็นตะวันตก

กล่าวโดยสรุปแล้วสาระสำคัญของแนวคิดนี้ในช่วงต้นมี 3 ประการ ได้แก่

1) มีความเข้าใจแล้วว่าสังคมไทยประกอบขึ้นจากชุมชนของชาวบ้าน วัฒนธรรมแต่โบราณของไทยเป็นวัฒนธรรมที่เป็นความสำคัญของความเป็นชุมชน ซึ่งแตกต่างจากวัฒนธรรมทุนนิยมที่เน้นความเป็นปัจเจกชนตัวใครตัวมัน แข่งขันและเอารัดเอาเปรียบ

2) จะพัฒนาชุมชนต้องเริ่มจากฐานวัฒนธรรมของชุมชน ถ้ามีวัฒนธรรมชุมชนเข้มแข็ง การรวมกลุ่มของชาวบ้านเพื่อทำกิจกรรมส่วนรวมจะสำเร็จได้ไม่ยาก และสามารถต่อต้านการเอารัดเอาเปรียบจากภายนอกได้

3) วิธีการพัฒนาชุมชนต้องทำให้ชาวบ้านมีจิตสำนึกที่แจ่มชัดในคุณค่าวัฒนธรรมของเขา ซึ่งปัญญาชนของชาวบ้าน ( Organic Intellectual) และชาวบ้านควรร่วมกันศึกษาและวิเคราะห์ประวัติศาสตร์วัฒนธรรมชุมชนของเขาเอง

ระยะที่ 2 : แนวคิดวัฒนธรรมชุมชนพัฒนาขึ้นเป็น “แนวคิดเศรษฐกิจและสังคม” (พ.ศ.2530 – 2539)

จาก “ทางเลือกการพัฒนา” ของกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน ต่อมาได้รับการพัฒนาทางด้านแนวคิดทฤษฎีโดยกลุ่มนักวิชาการสถาบันต่างๆ จนสามารถยกระดับขึ้นเป็น “แนวคิดเศรษฐกิจและสังคม” โดยชี้ให้เห็นความสำคัญ 2 ประการ คือ

1) สถาบันชุมชนและวัฒนธรรมชุมชนในประวัติศาสตร์คือฐานะ และบทบาทของชาวบ้านในกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ชุมชนเป็นระบบซึ่งเป็นแกนกลางของสังคมไทย วัฒนธรรมชุมชนเป็นแกนกลางของวัฒนธรรมไทย โดยพื้นฐานสังคมไทยเป็นสังคมแบบชุมชน ไม่ใช่แบบทุนนิยม

2) เส้นทางการพัฒนาโดยแนวคิดวัฒนธรรมชุมชนเป็นเส้นทางที่ชอบธรรมที่ให้ประโยชน์เต็มที่แก่ชาวบ้านพื้นเมือง และเป็นเส้นทางของผู้คนส่วนข้างมากที่สุดในประเทศ อีกทั้งเป็นเส้นทางที่สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ ความอุดมสมบูรณ์ของเขตทรอปปิก สถานะทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของสังคมไทยที่มีหน่วยพื้นฐานคือครอบครัวและชุมชน

ระยะที่ 3 : แนวคิดวัฒนธรรมชุมชนในฐานะ “อุดมการณ์ของสังคม” (พ.ศ.2540 – ปัจจุบัน)

หลังวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 แนวคิดวัฒนธรรมชุมชนได้รับการขานรับอย่างกว้างขวางจากประชาชนจนมีฐานะเป็น “อุดมการณ์ของสังคม” กล่าวคือเป็นอีกอุดมการณ์หนึ่งที่สำคัญที่สุดของสังคมไทยปัจจุบัน ที่นอกเหนือจากอุดมการณ์ทุนนิยม

แนวคิดสำคัญที่หลอมรวมและมีส่วนสำคัญในการขยายแนวคิดวัฒนธรรมชุมชนให้เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในช่วงนี้ ได้แก่

1) แนวคิดเชิงพุทธ ซึ่งเสนอให้ปรับปรุงวัฒนธรรมพื้นบ้าน โดยเพิ่มหลักธรรมของพุทธศาสนาเข้าไปเป็นฐานชุมชนธรรมนิยม

2) แนวคิดธุรกิจชุมชน ที่เสนอว่าธุรกิจชุมชนเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจชุมชน และเป็นส่วนที่ไปติดต่อสัมผัสกับระบบเศรษฐกิจทุน แต่ไม่ใช่เป็นส่วนของระบบเศรษฐกิจทุน

3) แนวคิดความขัดแย้ง ซึ่งเป็นกลุ่มแนวคิดสำนักมาร์กซิสม์ที่มีเป้าหมายโต้แย้งแนวคิดทุนนิยมโดยตรง แต่แนวคิดนี้สุดโต่งและไม่สอดคล้องกับสังคมไทยจึงอ่อนกำลังลงในภายหลัง

4) ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงเสนอแนวทางดำเนินงานเป็น 3 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนพออยู่พอกินพึ่งตนเองได้ ขั้นตอนรวมพลังเป็นชุมชนในรูปแบบสหกรณ์ และขั้นตอนการร่วมมือกับองค์กรหรือภาคเอกชนภายนอก

บทบาทของไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

ในกระบวนการพัฒนาของแนวคิดวัฒนธรรมชุมชนในประเทศไทย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ถือเป็นผู้มีส่วนร่วมอย่างสำคัญ ในฐานะนักคิดนักอุดมการณ์ทางสังคม ทั้งในฐานะที่เป็นผู้บริหารมูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยฯ และในฐานะที่เป็นนักยุทธศาสตร์ที่ผลักดันการพัฒนาโดยอาศัยพลังของเครือข่ายปฏิบัติการในพื้นที่

เขามีความเชื่อมั่นในแนวคิดการพัฒนาสังคมที่ “ชุมชนเป็นแกนหลัก พื้นที่เป็นตัวตั้ง” และพยายามผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนเกิดความเข้าใจ ยอมรับและร่วมทำงานไปในทิศทางเดียวกัน

นอกจากนั้น ในฐานะที่เขาเป็นนักเศรษฐศาสตร์ เขาจึงมีบทบาทอย่างมากต่อการนำแนวคิดธุรกิจชุมชนเข้ามาเสริมเติมแนวคิดวัฒนธรรมชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจ โดยผ่านบทบาทในการบริหารธนาคารออมสิน และกองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/149649

<<< กลับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *