นักการธนาคาร ผู้นำขบวนการชุมชนไทย (1)

นักการธนาคาร ผู้นำขบวนการชุมชนไทย (1)


(คอลัมน์ “วิถีแห่งผู้นำ” โดย นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เรื่อง “นักการธนาคาร ผู้นำขบวนการชุมชนไทย ตอน …นักพัฒนาสังคมไทยผู้โดดเด่น” ลงใน นสพ.สยามรัฐ ฉบับวันที่ 20 พ.ย. 50 หน้า 18)

ในช่วง 4 ทศวรรษของการก่อตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในระบบทุนนิยมยุคใหม่ตั้งแต่พุทธทศวรรษที่ 2500 เป็นต้นมา สังคมไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และการพัฒนา

แต่จากข้อสรุปของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อันเป็นผลสะท้อนของดำเนินการตามนโยบายของแผนพัฒนาประเทศตั้งแต่ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2504 – 2509) ถึงฉบับที่ 7 (พ.ศ.2535 – 2539) ที่กล่าวว่า “เศรษฐกิจดี สังคมมีปัญหา การพัฒนาไม่ยั่งยืน” ได้ฉายภาพให้เห็นบรรยากาศการขับเคลื่อนประเทศที่เต็มไปด้วยแรงขับดัน การดิ้นรน การเรียนรู้ การปรับตัว ความขัดแย้ง การต่อสู้ และการเปลี่ยนผ่านของประชาชน ชุมชน ท้องถิ่น และสถาบันต่างๆ อย่างหลากหลาย ทั้งส่วนที่ได้รับผลประโยชน์ และส่วนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายและแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเหล่านั้น

ในช่วงดังกล่าวประชากรของประเทศเพิ่มจาก 26 ล้านคนในปี 2500 มาเป็น 61 ล้านคนในปี 2543 เศรษฐกิจ ( GDP) เติบโตโดยเฉลี่ยร้อยละ 7 ต่อปี ความเหลื่อมล้ำระหว่างภูมิภาคยิ่งห่างออกไปทุกที เงินลงทุนจากต่างชาติและการลงทุนในประเทศกระจุกอยู่บริเวณกรุงเทพมหานคร และที่ราบลุ่มภาคกลาง จนทำให้มีสัดส่วนของ GDP รวมกันประมาณร้อยละ 70 ของประเทศ ส่วนที่เหลือกระจายไปในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคเหนือ ตามลำดับ

ในด้านสังคม ช่องว่างทางรายได้ยิ่งแย่ลง รายได้ต่อหัวประชากรในกรุงเทพฯ และปริมณฑลสูงกว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 12 เท่า กลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้สูงสุด 20 % แรกมีสัดส่วนรายได้ร้อยละ 59 ในขณะที่กลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำสุด 20% ข้างล่างมีสัดส่วนรายได้เพียงร้อยละ 4 เท่านั้น

ทางด้านการเมืองการปกครอง การลุกขึ้นต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยของขบวนนักศึกษาประชาชน 5 แสนคนในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 นำมาซึ่งการสิ้นสุดการปกครองระบอบเผด็จการทหารที่ยาวนาน 15 ปี และนำมาสู่ระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่การโต้กลับภายใน 3 ปีถัดมาของกระแสขวาจัดในเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม 2519 ได้นำประเทศเข้าสู่การต่อสู้ทางอุดมการณ์ที่รุนแรงเมื่อนักศึกษาประชาชนเกือบ 5,000 คนเข้าป่าจับปืนร่วมกับกองกำลังของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศต่อสู้กับอำนาจรัฐ ซึ่งสังคมไทยต้องใช้เวลาร่วม 10 ปีจึงสามารถปรับตัวจนเอาชนะสงครามอุดมการณ์ภายในประเทศลงได้ และก้าวเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยที่ถือการเลือกตั้งเป็นใหญ่ ( Thai Electocracy) อย่างเต็มตัวนับแต่นั้นเป็นต้นมา

ท่ามกลางกระบวนการต่อสู้ทางความคิด การช่วงชิงกำหนดทิศทางประเทศ และการผลักดันนโยบายในการพัฒนาสังคมในช่วงดังกล่าว ได้มีนักคิด นักพัฒนา ผู้นำชุมชน และผู้ทรงคุณวุฒิที่ใส่ใจต่อปัญหาสังคมปรากฏตัวและแสดงบทบาทที่แตกต่างหลากหลายอันส่งผลให้การพัฒนาสังคมไทยมีวิวัฒนาการที่ก้าวหน้ามาโดยลำดับ

ในบรรดานักพัฒนาสังคมดังกล่าว ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม นับเป็นผู้มีบทบาทและมีผลงานที่โดดเด่นที่สุดคนหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 2 ทศวรรษหลัง

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม เป็นนักเศรษฐศาสตร์ นักการเงินการธนาคาร เป็นลูกศิษย์ของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผู้เป็นปูชนียบุคคลที่สำคัญคนหนึ่งของสังคมไทย เมื่อจบการศึกษาแล้ว ได้เข้าทำงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทยในปี 2510 เป็นคณะทำงานจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์ในปี 2517 เป็นกรรมการผู้จัดการตลาดทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2523 และเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการทั่วไปธนาคารไทยทนุอยู่ 5 ปีเศษ ระหว่าง พ.ศ.2525 – 2531

อย่างไรก็ตาม การที่เขาได้เข้าไปช่วยงานมูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์อันเป็นสถาบันที่ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์เป็นผู้ก่อตั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มูลนิธิได้รับผลกระทบทางการเมือง จนกระทั่งเขาเข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะชนบทฯ ทำงานเต็มเวลาในปี 2531 นั้นถือเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม หันเหวิถีชีวิตการทำงานจากนักการเงินการธนาคารมาเป็นนักพัฒนาชนบทและนักพัฒนาสังคมอย่างเต็มตัว

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม มีความศรัทธายึดมั่นในแนวทางการพัฒนาที่ “ชุมชนเป็นแกนหลัก พื้นที่เป็นตัวตั้ง” และได้ผลักดันแนวคิดนี้อย่างเอาจริงเอาจังตลอดเวลา 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ด้วยบุคลิกที่เป็นนักประสานเชื่อมโยง ด้วยสถานภาพที่เป็นนักการเงินการธนาคารผู้ประสบความสำเร็จ ด้วยทักษะในการทำงานเชิงยุทธศาสตร์ และด้วยฐานภาพของผู้นำทางสังคมที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ทำให้เขาประสบความสำเร็จในการผลักดันนโยบายของรัฐในการส่งเสริมสนับสนุนชุมชนตามแนวคิดและแนวทางดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเห็นได้จากการที่กลไกและมาตรการการพัฒนาชุมชนและพัฒนาสังคมของรัฐบาลในแต่ละยุคสมัยที่เขามีส่วนร่วมเสนอความคิด และร่วมขับเคลื่อน ได้แสดงบทบาทอย่างสำคัญจนทำให้ขบวนการชุมชนเข้มแข็งเกิดการขยายตัวอย่างรวดเร็ว และแผ่ตัวขยายเครือข่ายออกไปทั่วประเทศ กลไกเหล่านั้นได้แก่ :- สำนักงานพัฒนาชุมชนเมือง (Urban Community Development Office – UCDO) ในปี 2535, กองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม (Social Investment Fund – SIF) ในปี 2541, สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (Community Organizations Development Institute – CODI) ในปี 2543, ศูนย์ต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนภาคประชาชน (ศตจ.ปชช.) ในปี 2544, ฯลฯ

นอกจากผลงานที่โดดเด่นในด้านการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชุมชนเข้มแข็งแล้ว ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ยังเป็นผู้สร้างนวัตกรรมทางสังคมชิ้นสำคัญสำหรับการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยของคนยากจนตามแหล่งสลัมในเมือง โดยเขาค้นพบแนวทางขึ้นมาจากการเข้าไปช่วยเหลือชุมชนถูกไล่รื้อโดยยึดหลักการทำงานในแนวทางพัฒนาที่ “ชุมชนเป็นแกนหลัก พื้นที่เป็นตัวตั้ง” ที่เขาศรัทธายึดมั่น จึงเกิดเป็นรูปแบบ “โครงการบ้านมั่นคง” ที่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาความไม่มั่นคงของมนุษย์ด้านที่อยู่อาศัยของคนในเมือง และได้รับการตอบรับจากผู้บริหารเมืองและชุมชนแออัดอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ รวมทั้งได้รับการยอมรับในวงการพัฒนาที่อยู่อาศัยคนยากจนในระดับสากลอีกด้วย

ปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่า ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม คือผู้นำขบวนการชุมชนไทยที่ได้รับการยอมรับอย่างสูงทั้งจากเครือข่ายองค์กรชุมชนทั่วประเทศ จากหน่วยงานภาครัฐทุกกระทรวง จากแวดวงนักวิชาการ นักคิด นักพัฒนาสังคมทุกระดับ และจากผู้นำนักการเมืองไทยทุกพรรค.

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/148462

<<< กลับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *