หลากหลายแต่เรียบง่ายแบบ ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

หลากหลายแต่เรียบง่ายแบบ ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม


(บทความโดย ‘ทิพย์พิมล’ ลงในนิตยสาร “สานฝัน” ฉบับ ตุลาคม – ธันวาคม 2548)

“คนเราก็เลือกใช้ชีวิตเป็นช่วงๆผมทำงานแบงก์ชาติ ตลาดหลักทรัพย์ ก็ถือเป็นภาครัฐ แล้วมาอยู่ธนาคารพาณิชย์ก็ภาคธุรกิจ พอมาอยู่ภาคสังคมหรือภาคประชาชน คิดว่าเป็นงานที่พอใจจะทำ…ชีวิตคนเราผันแปรได้ ไม่จำเป็นต้องทำอย่างเดียว”

สำหรับมนุษย์ทำงานคนหนึ่ง หลังจากลืมตาตื่นมากว่า 23,000 วัน อาจถึงเวลาแล้วที่จะบอกตัวเองว่า “ฉันจะพักผ่อน”

แต่สภาพบุรุษร่างเล็กวัย 64 ปีคนนี้ กลับเลือกที่จะแต่งชุดทำงาน หรือแต่งแบบลำลอง เช่นสวมเสื้อเชิ้ตหรือชุดผ้าไทย ออกจากบ้านแทบทุกวัน ถ้าเป็นคนอื่นอาจคิดว่าต้องมีรายได้งามๆรออยู่ข้างหน้า

แต่เปล่าเลย เพราะผลตอบแทนที่ได้อยู่ทุกวันนี้ เขาปฏิเสธที่เปิดเผยเป็นตัวเลข บอกแต่เพียงว่า “เลี้ยงตัวเองพอได้ แต่เลี้ยงครอบครัวไม่ได้แน่”

น้ำเสียงของประโยคข้างต้น ปราศจากความรันทด หดหู่ใดๆทั้งสิ้น ตรงกันข้าม กลับเต็มไปด้วยรอยยิ้ม ชนิดไม่ต้องบอกก็รู้ว่าไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ณ วันนี้ มีความสุขดีตามอัตภาพ

ประวัติการทำงาน ตั้งแต่ กรรมการผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (พ.ศ. 2523-2525) ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการทั่วไปธนาคารไทยทนุ (พ.ศ. 2526-2531) สมาชิกวุฒิสภา (พ.ศ. 2539-2543) และผู้อำนวยการธนาคารออมสิน (พ.ศ. 2540-2543) ฟังดู ก็หนักหนาอยู่ไม่น้อย ถ้าจะเลือกนอนอ่านหนังสือ หรือปลูกกล้วยไม้อยู่บ้านในบั้นปลาย ก็คงไม่มีใครกล้าว่าอะไร

“ชีวิตตอนนี้เป็นชีวิตที่พักอยู่แล้ว ในแง่หนึ่งก็ไม่ได้รับผิดชอบมาก งานไม่หนักเท่าไร เป็นงานที่พอจะทำได้ เหมือนงานคนเกษียณ ยิ่งถ้าเป็นงานที่เราพอใจจะทำ ก็ไม่เรียกว่างาน แต่เป็นกิจกรรม ซึ่งเป็นความสุขและการพักผ่อนอยู่ในตัว”

ถ้าว่ากันตามตัวเลข  อดีตผู้อำนวยการธนาคารออมสินคนนี้  เข้าสู้ตำแหน่งผู้สูงอายุเต็มตัวแล้ว  ทุกวันนี้  หลายคนมักพบตัวเขาได้ตามงานบรรยายปาฐกถาต่าง ๆ  ในฐานะวิทยากร  หรือตามสถานที่ประชุมต่างๆ  ซึ่งมักขึ้นป้ายหน้าไมค์ไว้ว่า  ที่ปรึกษาหรือไม่ก็กรรมการ

ยิ่งไปกว่านั้น  ผู้ชายที่บอกว่ารายได้พอใช้คนนี้  เวลานี้คนนอกมาขอติดต่อหรือรบกวนทีไร  ต้องไหว้วานเลขานุการช่วยเช็คคิวให้อีกต่างหาก

ถ้าเป็นกิจกรรมอย่างที่เจ้าตัวว่าจริงๆ  ก็คงเป็นกิจกรรมที่เอาจริงเอาจัง ขนาดเรียกว่างานก็ย่อมได้

และอะไรที่ทำให้สุภาพบุรุษท่านนี้ยังเป็นที่ต้องการของสังคมเสมอๆ  การเริ่มต้นอธิบายด้วยอัตชีวประวัติฉบับย่อๆ  ตั้งแต่สมัย  ด.ช.ไพบูลย์  ยังวิ่งเล่นอยู่แถวๆ  อำเภอผักไห่  จังหวัดอยุธยา  คงปูพื้นให้เข้าใจได้บ้าง

“ผมเองพื้นฐานชีวิตมาจากเด็กบ้านนอก  อยู่ท้องไร่ท้องนา  เรียนโรงเรียนวัด  แล้วเข้ามาต่อที่โรงเรียนไพศาลศิลป์ในกรุงเทพฯ  จากนั้นเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมฯ  แล้วเข้าเรียนปี 1  ในคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์  มหาวิทยาลัยมหิดล  ก่อนได้ทุนการศึกษาของแบงก์ชาติ  ไปเรียนเศรษฐศาสตร์ที่ประเทศอังกฤษ”

จบกลับมา  จึงต้องมาใช้ทุนโดยการทำงานให้กับธนาคารแห่งประเทศไทย  และได้จับงานด้านตลาดหลักทรัพย์อยู่ช่วงหนึ่ง  และสิบกว่าปีต่อมา  อดีตนักเรียนทุนคนนี้ก็ได้นั่งเก้าอี้กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย  เพราะเป็นคนไทยเพียงไม่กี่รายที่ศึกษาและเชียวชาญเรื่องตลาดหลักทรัพย์  ในสมัยที่คนค่อนประเทศยังไม่ค่อยคุ้นกับคำว่า  “หุ้น”

จากภาครัฐวิสาหกิจ  ด้วยความที่สนใจและอยากจะเข้าใจเรื่องธุรกิจ  จึงไปหาประสบการณ์ด้วยตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการทั่วไปธนาคารไทยทุนอยู่  5  ปีเศษ  และในระหว่างนั้นเอง  ก็มีโอกาสไปช่วยงานภาคสังคมที่มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย  ที่ฮีโร่ในดวงใจ  ซึ่งก็คือ  อ.ป๋วย  อึ๊งภากรณ์  ก่อตั้งขึ้น  และนั่นเป็นก้าวสำคัญที่ผลักให้คุณไพบูลย์ตัดสนใจอำลาวงการธุรกิจ  ลงสู่สนามรากหญ้าอย่างเต็มตัว  ด้วยการประเดิมตำแหน่งผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย  เป็นตำแหน่งแรก

“พื้นฐานเป็นคนชนบท  เคยเห็นความยากลำบาก  ยิ่งได้ไปทำงานมูลนิธิบูรณะชนบท  ยิ่งเห็นว่างานพัฒนาสังคมชนบท  ยังต้องการคนไปช่วยทำอีกเยอะ  และมีคนทำอยู่น้อย  ในขณะงานภาคธุรกิจมีคนอยากทำมากอยู่แล้ว”

กรรมการผู้จัดการสำนักงานพัฒนาชุมชนเมืองในสังกัดการเคหะแห่งชาติ  คือ  ตำแหน่งถัดมา  และ  5  ปีหลังจากนั้น  เจ้าตัวก็ถูกเชิญมานั่งเก้าอี้ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน  ในช่วง  4   ปีสุดท้ายของการทำงาน

แม้จะกลับมาสู่แวดวงเงินๆ  ทองๆ  แต่ก็เป็นเรื่องเงินเรื่องทองเพื่อสังคมมิใช่เพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ  ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่จูงใจคุณไพบูลย์จนยอมมานั่งเก้าอี้นี้  คือ  ช่วงเวลานั้นรัฐบาลมีนโยบายอยากเห็นธนาคารออมสินทำประโยชน์ให้สังคม

“ฉะนั้นช่วงที่เป็นผู้อำนวยการธนาคารออมสิน  ผมก็ยังทำงานเพื่อสังคมอยู่นั่นเอง  ไม่ได้เป็นการกลับไปสู่ภาคธุรกิจหรอก  เพราะถ้าให้ผมกลับไปภาคธุรกิจ  เช่น  ไปบริหารธนาคารพาณิชย์  ผมคงไม่ไป”

ถ้ายังอยู่กับภาครัฐ  ก็ได้รับการคาดหมายว่าจะได้ขึ้นสู่ตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย  หรือถ้าอยู่ภาคธุรกิจต่อไป  ก็คงเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ของธนาคารพาณิชย์  แต่อนาคตงดงามเหล่านี้  ไม่อยู่ในความสนใจของคุณไพบูลย์เลย  เพราะเจ้าตัวย้ำชัดว่า  ไม่ได้เป็นคนที่ให้ความสำคัญกับตำแหน่งหรือผลตอบแทน  แต่ให้ความสำคัญกับเนื้องานและคุณค่าของงานมากกว่า

ด้วยความคิดเช่นนี้เอง  องค์การหน่วยงานภาคต่าง ๆ  จึงมารุมจีบจนเนื้อหอม  เริ่มตั้งแต่ตำแหน่งบิ๊ก  เช่น  สมาชิกวุฒิสภา  ลดหลั่นลงไปเป็นประธานมูลนิธิ  กรรมการ  ที่ปรึกษา ฯลฯ  สืบเนื่องเรื่อยมาจนเกษียณอายุการทำงาน

พูดได้ว่า  ตารางการทำงานช่วงนั้นแน่นมากถึงมากที่สุด  จนต้องใช้คำว่า  “ล้นมือ”  เพราะใน  1  วันธรรมดา  นัดแรกจะเริ่มต้นตอนเช้ามืด  และนัดสุดท้ายไปสิ้นสุดเอาดึกดื่น  เสาร์-อาทิตย์  ก็ไม่ค่อยได้พัก  จนกระทั่งวันหนึ่ง  คนไม่เคยพัก  ก็มีอันต้องพักจริงๆ …นานเสียด้วย

“ปีที่แล้วเพิ่งป่วยเป็นเนื้องอก  ต้องผ่าตัดใหญ่  ตัดอวัยวะไปหลายอย่าง  ตับอ่อน   กระเพาะ  ถุงน้ำดี  ท่อน้ำดี ลำไส้เล็ก  อยู่โรงพยาบาลเดือนครึ่งรวมถึงที่ต้องนอนห้องไอซียูถึง  3  วัน  พักที่บ้านอีกเดือนครึ่ง  จึงเริ่มทำงานใหม่ได้แบบเบา ๆ หน่อย”

ถามความรู้สึกในช่วงนั้น  แทนที่จะได้ฟ้งน้ำเสียงตื่นเต้นประสาคนเพิ่งพ้นวิกฤติ  แต่คนตอบกลับส่ายหน้าแถมยิ้มนิดๆ  บอกเพียงสั่นๆ  ว่า… ปกติ

“ไม่ได้เดือดร้อนอะไร  ป่วยก็ป่วย  (หัวเราะ)  คนเราป่วยกันได้  อันที่จริงตลอดชีวิตผมไม่เคยป่วยจนต้องเข้าโรงพยาบาลเลย  ครั้งนั้นเป็นครั้งแรกเพราะก่อนหน้านั้นสุขภาพค่อนข้างดี  และเป็นก็เป็นปุบปั๊บ  รู้ตัวว่าไม่สบายแค่  2  อาทิตย์  ทีแรกนึกว่านิดหน่อย  แต่พอไปให้หมอตรวจ  บอกว่าพบก้อนเนื้อ  แล้วแนะนำว่าควรผ่าตัด  ผ่าตัดใหญ่ด้วย  (หัวเราะ)  เกือบ  9  ชั่วโมงแนะ

น้ำเสียงเย็นๆ  ประกอบการเล่าอย่างเรียบ ๆ  ยิ่งช่วยย้ำว่า  ป่วยก็คือป่วย  ไม่มีอะไรมากกว่านั้น

ที่เป็นเช่นนี้  เพราะคุณไพบูลย์บอกว่า  ที่ผ่านมาตัวเองได้ทำอะไรมาพอสมควรแล้ว  ครอบครัวดูแลตัวเองได้  หน้าที่พึงทำก็ทำมาแล้ว  ฉะนั่นจึงไม่มีเรื่องต้องกังวล  ประกอบกับการศึกษาปฏิบัติธรรมะ  ทำให้ไม่ยึดติด  เมื่อเกิดอะไรขึ้น  ก็พร้อมรับสภาพ  ไม่ได้ทุกข์หรือห่วงอะไร

“ในแง่หนึ่งก็เป็นประสบการณ์ดีเหมือนกัน  ไม่เคยป่วย  ได้ป่วยซะบ้าง  ไม่เคยนอนโรงพยาบาลก็ได้นอน  ที่จริงกลับสบายเสียด้วยซ้ำเพราะไม่มีเรื่องต้องขบคิด  สมองโล่งหน่อย  เพราะตอนยังไม่ป่วยมีเรื่องให้คิดตลอดเวลา  ถึงแม้จะไม่ได้เป็นทุกข์แต่ก็มีความคร่ำเคร่งอยู่บ้าง  มีประเด็นปัญหามีเรื่องให้ต้องคิดหาทางออก  สมองต้องทำงาน  พอป่วยสมองเลยได้พักยาว”

เมื่อผ่านพ้นการผ่าตัดใหญ่แล้ว  คนไข้มือใหม่ได้ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งต่างๆ  รวมแล้วทั้งสิ้น  21  ตำแหน่ง เหลือเอาไว้อีกราวๆ  20  ตำแหน่งในประเภทที่ไม่ต้องรับผิดชอบมาก  เช่น  นานๆ  ประชุมที

หลังจากพักร้อนไป  3  เดือน  สุขภาพก็เริ่มกลับเข้าที่อีกครั้ง  และโดยอัตโนมัติ  หน่วยงานต่างๆ  ก็ยื่นบัตรเชิญมาให้กลับไปทำงานอีก  แต่คราวนี้  เจ้าตัวปฏิเสธมากขึ้น  เลือกรับแต่พอดีๆ  เพราะไม่อยากกลับไปนอนเตียงผู้ป่วยอีก  แต่พอถามว่า  ขณะนี้สุขภาพเป็นอย่างไรบ้าง  คุณไพบูลย์  บอกว่าปกติแต่ยอมรับว่าไม่  100  เปอร์เซ็นต์เหมือนในอดีต

“อาจจะเหลือ  99  เปอร์เซ็นต์นะผมว่า”  แล้วสุภาพบุรุษก็ฉีกยิ้มอีกหนึ่งรอบ

ณ  ปัจจุบัน  งานหลักๆ  ของคุณไพบูลย์  คือ  ประธานศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม  ประธานที่ปรึกษาสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน  ประธานบริหารแผนคณะที่  3  ของ  สสส.  ฯลฯ

งานประเภทช่วยคิดช่วยทำแบบนี้  หลายแห่งไม่มีรายได้  มีแต่เบี้ยประชุมเล็กๆ  น้อยๆ  เริ่มตั้งแต่ไม่กี่ร้อยบาท  เจ้าตัวแอบกระซิบว่า  325  บาท  คืออัตราต่ำสุดที่เคยได้  แต่เมื่อรวบรวมตอนสิ้นเดือนแล้ว  ก็ถือว่าพอดูแลตัวเองได้  แต่ยังขาดอีกเยอะถ้าจะเลี้ยงครอบครัว

ถามว่ารายได้ลดลงไหม  อดีตผู้อำนวยการธนาคารชื่อดังพยักหน้าแทนคำตอบ  แต่ไม่ใช่เรื่องที่ต้องเก็บมาคิดให้กลุ้ม

“ตำแหน่งผู้อำนวยการแบงก์  เงินเดือนก็ไม่ได้เยอะมากนะ  สูงกว่าราชการนิดหน่อย  เชื่อไหม  ตลอดชีวิตการทำงานของผม  ไม่เคยได้เงินเดือนถึงแสนเลย”

หากเงินคือพระเจ้าสำหรับบางคน  คงยากที่จะเป็นคนคนนั้นลงมาทำงานเพื่อสังคม  แต่โชคดีที่ความคิดนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับคุณไพบูลย์  ฉะนั้นในวันนี้เขาจึงเป็นบุคลากรสำคัญของการทงานภาคสังคม  โดยเฉพาะกับชุมชนท้องถิ่น  และเป็นคนแรกๆ  ที่แนะนำคำว่า  “ประชาสังคม”  ให้สาธารณะได้ทำความรู้จัก

ส่วนหนึ่ง  ต้องย้อนกลับไปสมัยได้รับทุนธนาคารแห่งประเทศไทย  ณ  วันนั้น  บัณฑิตใหม่จากอังกฤษ  ตระหนักดีว่า  ทุนจากธนาคารแห่งประเทศไทยที่เขาได้นั้น  อีกนัยหนึ่งก็คือทุนของสังคม  ดังนั้น  แม้ภายหลังจากใช้ทุนจนครบวาระไปแล้ว  แต่ด้วยความรู้สึกทางใจที่ยังคงค้าง  คุณไพบูลย์จึงยังทำงานเพื่อสังคมเรื่อยมา  เพราะถือว่าตอบแทนที่ได้รับความอนุเคราะห์จากสังคม

ไม่ว่าจะเป็นงานภาครัฐ  ธุรกิจ  หรือสังคมที่ผ่านมือมา  อย่างหลังคืองานที่เจ้าตัวพอใจมากที่สุด  แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะไม่ชอบงานสองอย่างแรก

“คงไม่ใช่เห็นความต่างอะไรหรอก  คนเราก็ต้องเลือกใช้ชีวิตเป็นช่วงๆ  ผมทำงานแบงก์ชาติ  และตลาดหลักทรัพย์ก็ถือเป็นภาครัฐ  แล้วมาอยู่ธนาคารพาณิชย์ก็ภาคธุรกิจ  พอมาอยู่ภาคสังคมหรือภาคประชาชน  คิดว่าเป็นงานที่พอใจจะทำ…  ชีวิตคนเราผันแปรได้ ไม่จำเป็นต้องทำอย่างเดียวตลอด”

เช่นเดียวกับ  สภาพสังคมที่ผันผวนชวนให้เหนื่อยใจได้ตลอดเวลา  โดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจขณะนี้ที่โดนพิษราคาน้ำมันจนอ่วมไปทั่วทุกกลุ่มชั้น

ในฐานะที่ผ่านมาหลายวงการ  ตั้งแต่ระดับบน  ลากลงไปจนถึงระดับล่าง  เขามีคำแนะนำว่า  สำหรับการใช้ชีวิตให้ปลอดภัยที่สุดว่า  ต้องไม่ยึดติด  ใช้ชีวิตเรียบง่าย  รู้จักพอ  ทำอะไรที่พอเหมาะพอสมควร  และมีความรอบคอบระมัดระวัง  ไม่ทำอะไรเกินตัว  ถ้าทำแบบนั้นก็จะไม่เดือดร้อนกับสิ่งที่เผชิญอยู่

เบื้องต้นคือภูมิคุ้มกัน  เมื่อต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลง  สภาพจิตใจพร้อมที่จะรับ  ปรับตัวไปได้  แต่ถ้าใครโชคร้ายเจอสภาพที่ผันผวนรุนแรง  หรือเคยใช้ชีวิตแบบสุดโต่งในโลกวัตถุนิยม  ช่วงวิกฤตแบบนี้ก็อาจเป็นโอกาสดีให้หลายคนกลับมาทบทวนปรัชญาในการดำเนินชีวิต  พูดง่ายๆ  คือใช้วิกฤตเป็นโอกาส  ใช้ปัญหาสร้างปัญญา

“แล้ววันหลังอาจจะขอบคุณที่มีปัญหาเพราะทำให้เราได้คิด  และปรับวิธีคิด  วิธีดำเนินชีวิตเสียใหม่”

ต้นคิดประชาสังคม  เน้นให้ครองชีวิตอยู่กับสติ  และความพอประมาณ  ยิ่งถ้าปล่อยวางได้จะดีมาก  แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น  ไม่ได้หมายความว่าละทุกอย่างจนไม่ยึดติดเลย  เพราะเหลือกำลังที่มนุษย์คนหนึ่งพึงกระทำได้

“อย่ายึดติดมาก  แบบนี้น่าจะพอทำได้  ชีวิตก็จะมีความสุข  อบอุ่น  แบบเรียบง่ายแต่มั่นคง  ไม่ใช่แบบบริโภควัตถุมาก  ฟู่ฟ่า  เร้าใจ  นั่นเป็นความสุขที่ไม่ค่อยยั่งยืน  ต้องคอยแต่จะไขว่าคว้าวัตถุหรือความเร้าใจมากขึ้นเรื่อยๆ”

จากการดำเนินชีวิตในครรลองเช่นนี้  ส่งผลให้  24  ชั่วโมงของสุภาพบุรุษวัย  64  เรียบๆ  ไม่หวือหวา  ทว่าโดดเด่นในฐานะนักวิชาการที่งานชุกมากที่สุดคนหนึ่ง  ซึ่งเจ้าตัวก็ยิ้มรับด้วยความเต็มใจ  คล้ายกับว่าได้ขลุกอยู่กับงานอดิเรกที่รักตลอดเวลา

ถ้าวันไหน  วิทยากรคิวชุกเกิดว่างจริงๆ  จะเลือกพักผ่อนสบายๆ  อยู่กับบ้าน  อ่านหนังสือที่ชอบ  หรือออกไปเที่ยวต่างจังหวัดกับครอบครัว

แต่นั่นไม่ได้เป็นสิ่งที่เจ้าตัวมีความสุขที่สุด  เพราะความสุขที่สุด  อยู่ที่การได้ใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์กับสังคม

“ทุกวันนี้พอแล้ว ไม่ได้ต้องการอะไร เมื่อไม่ต้องการอะไรก็ไม่เป็นทุกข์ ไม่อยากได้ตำแหน่ง ไม่อยากมีฐานะ ไม่ติดยึดแม้กระทั่งตัวเอง”

น่าจะดี  ถ้าหลายคนคิดได้แบบนี้  แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง  คนต้องยอมรับว่าลมหายใจของส่วนใหญ่ยังต้องกระเพื่อมตามภาวะเศรษฐกิจ  โดยไม่สามารถควบคุมหรือเป็นนาย  “มัน”  ได้

การทำใจยอมรับในความผันผวนคือวิธีที่ดีที่สุด  เพราะประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาก็บอกแล้วว่าความไม่แน่นอน คือความธรรมดาที่เกิดขึ้นได้กับทุกอย่าง  ไม่ว่าจะเป็น  ธรรมชาติ  เศรษฐกิจ  แม้กระทั่งความสุข

“ร่างกายก็เก็บไว้ไม่ได้  สิ่งที่เราจัดการได้คือจิตใจ  แต่ต้องจัดการให้เป็นธรรมชาติไม่ใช่ไปบังคับหรือกดทับไว้  เพราะถึงจุดหนึ่งมันจะระเบิดออกมา  ที่ทำได้คือพัฒนาจิต  ค่อยๆ  ฝึกฝน  โดยใช้ปัญญาเท่าที่มี  ชีวิตก็จะสงบสุข”

แบบเรียนชีวิตของผู้ชายคนนี้  ที่ผ่านมาทั้งสูท  เครื่องแบบองค์กรรัฐ  ชุดผ้าไทย  ไล่ลงไปจนถึงม่อฮ่อม  อาจจะไม่ดีเด่นเป็น  best  seller  เสียจนคนไทยทุกคนต้องอ่าน  แต่ถ้าได้หยิบบางเสียว  บางมุม  ของผู้ชายคนนี้มาทดลองใช้

ไม่แน่ว่า…ความสุขแบบเรียบๆ  ง่ายๆ  อาจจะลัดคิวมาหาคุณเร็วขึ้น

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

24 ต.ค. 49

อ้างอิง

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย  ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

เว็บไซต์เดิม  :  https://www.gotoknow.org/posts/55564

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *