ปัจจัย 4 ข้อ กุญแจ 3 ดอก เปิดประตูสู่ชุมชนสร้างคนรุ่นใหม่

ปัจจัย 4 ข้อ กุญแจ 3 ดอก เปิดประตูสู่ชุมชนสร้างคนรุ่นใหม่


   (สรุปสาระจากปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “การสร้างคนรุ่นใหม่เพื่อสำนึกรักในชุมชนท้องถิ่น” ในการสัมมนาเพื่อสรุปบทเรียนการดำเนินการ “โครงการบัณฑิตคืนถิ่น” ซึ่งจัดขึ้น ณ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร กรุงเทพมหานคร ระหว่าง 28 – 29 กรกฎาคม 2549 ใช้หัวข้อการสัมมนาว่า “การสร้างและพัฒนาคนรุ่นใหม่ เพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่น”

                เป็นการสรุปสาระจากปาฐกถาพิเศษในรูปของบทความรายงานที่เรียบเรียงโดย “ประพันธ์ สีดำ” ลงใน นสพ.ไทยโพสต์ ฉบับ 5 – 6 สิงหาคม 2549 หน้า 21)

                ความจริงข้อหนึ่งที่ทำให้ลูกหลานที่จบการศึกษาไม่สนใจที่จะกลับไปพัฒนาบ้านเกิดของตนเอง นั่นก็คือระบบการศึกษาอันผิดพลาดที่สอนแต่เรื่องไกลตัว มีเป้าหมายเพื่อดึงคนออกจากท้องถิ่นไปเป็นแรงงานในเมือง แต่ข้อนี้ไม่เป็นความจริงทั้งหมด ยังมีปัจจัยต่างๆ อีกมากที่คนหนุ่มสาวไม่กลับบ้านเกิด

ดังนั้นการสนับสนุนให้บัณฑิตมีโอกาสกลับคืนสู่ท้องถิ่นถือว่าเป็นเรื่องดี อย่างน้อยชุมชนก็ได้บุคลากรที่มีคุณภาพซึ่งเป็นลูกเป็นหลานของคนในชุมชน และเข้าใจในท้องถิ่นนั้นๆ ได้ดี แล้วนำความรู้ที่ได้เรียนมานำไปผสมผสานเข้ากับผู้นำในชุมชน จนทำให้มีความมั่นใจที่จะกลับไปอยู่บ้านเกิดและได้อยู่กับครอบครัวอย่างอบอุ่น

เมื่อวันที่ 29 กรกฎคม 2549 ที่ผ่านมา โครงการบัณฑิตคืนถิ่น อันเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานโครงการส่วนพระองค์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) และเครือข่ายองค์กรชุมชน ได้เชิญชาวบัณฑิตคืนถิ่น ผู้ปกครอง นักศึกษาในคณะสังคมศาสตร์ ปราชญ์ชาวบ้าน และผู้เกี่ยวข้อง 100 กว่าคน  ระดมความคิดสรุปบทเรียนหลังจากที่โครงการนี้ดำเนินงานมาครบ 1 ปี โดยมีอยู่ตอนหนึ่งที่ได้เชิญ อาจารย์ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ประธานศูนย์คุณธรรมและประธานที่ปรึกษาสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) มาปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “การสร้างคนรุ่นใหม่ เพื่อสำนึกรักในชุมชนท้องถิ่น” โดยมีใจความสำคัญว่า ที่ผ่านมาเมื่อท้องถิ่นไม่น่าอยู่ไม่น่ารักแล้วจะทำให้คนรักท้องถิ่นได้อย่างไร แต่ถ้าท้องถิ่นน่ารักน่าอยู่เราไม่ต้องไปทำอะไรมาก ใครๆก็อยากกลับไปอยู่บ้านเกิด ดังนั้น ทำอย่างไรที่จะทำให้ท้องถิ่นน่ารักน่าอยู่ ซึ่งไม่ใช่ใครที่ไหนจะมาทำท้องถิ่นให้น่าอยู่หากไม่ใช่คนในท้องถิ่นเองเป็นคนทำ

ถ้าจะให้คนรุ่นใหม่มีสำนึกรักท้องถิ่น และอยากไปอยู่ในท้องถิ่น ก็ควรสร้างโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับท้องถิ่นเท่าที่จะทำได้ เช่น มีงานให้คนรุ่นใหม่ทำในท้องถิ่น อาจเป็นงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น งานกับองค์กรชุมชน งานกลับกลุ่มออมทรัพย์ งานศึกษาวิจัย หรือกิจกรรมอาสาสมัครเป็นครั้งคราว เป็นต้น

อาจารย์ไพบูลย์ ได้ให้ความคิดเห็นว่า การที่จะทำให้ชุมชนน่าอยู่และสร้างสำนึกรักบ้านเกิดได้นั้น มีปัจจัยสำคัญอยู่ 4 ประการ คือ

                ปัจจัยข้อแรก ทำอย่างไรที่จะให้ท้องถิ่นน่าอยู่สำหรับคนรุ่นใหม่ คือต้องเป็นท้องถิ่นที่ดี มีสภาพสังคมดี สิ่งแวดล้อมดี มีโอกาสในเรื่องอาชีพ และต้องมีกิจกรรมที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นศิลปะวัฒนธรรม และกิจกรรมทางสังคมที่ทำให้ชีวิตในท้องถิ่นเป็นชีวิตที่ดี มีความสุข มีความน่าพึงพอใจ เกิดความอบอุ่น มีความเจริญก้าวหน้าตามสมควร อย่างที่คนในท้องถิ่นทั้งหลายพึงคาดหวัง เพราะบางทีกลับไปไม่รู้จะทำอะไร ดังนั้นเราต้องให้โอกาสสำหรับคนรุ่นใหม่ได้สร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา

เชื่อว่าทุกวันนี้มีท้องถิ่นหลายแห่งที่คนรุ่นใหม่ได้กลับไปอยู่ในบ้านเกิดของตัวเอง เราต้องไปดูว่าบัณฑิตเหล่านั้นเขาทำอะไร และทำได้ยังไง มีอะไรดี ทำไมคนกลุ่มนั้นจึงเต็มใจที่จะอยู่บ้านเกิด

ปัจจัยข้อที่สอง ทำอย่างไรให้คนรุ่นใหม่เป็นที่พึงปรารถนาของท้องถิ่น ไม่ใช่ท้องถิ่นเป็นที่พึงปรารถนาของคนรุ่นใหม่เพียงอย่างเดียว ข้อนี้จึงขึ้นอยู่กับระบบการศึกษาของชาติว่ามีเป้าประสงค์จะผลิตคนเพื่อรับใช้ท้องถิ่นหรือไม่อย่างไร

                ปัจจัยข้อที่สาม ควรมีนโยบายอย่างไรที่เอื้อต่อการทำให้ท้องถิ่นน่ารักน่าอยู่ เป็นที่พึงปรารถนาสำหรับคนรุ่นใหม่ ประเด็นนี้โยงไปถึงคนหรือหน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่ในการเอื้อให้ทั้ง 2 อย่างเกิดขึ้น คือ ท้องถิ่นเป็นที่พึงปรารถนาของคนรุ่นใหม่ และคนรุ่นใหม่เป็นที่พึงปรารถนาของท้องถิ่น ต้องไล่มาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ ที่รัฐธรรมนูญเอื้อเฟื้อสนับสนุนท้องถิ่น แต่รัฐธรรมนูญอย่างเดียวไม่พอ เราต้องมีนโยบายของรัฐ เช่น เขากำลังยกร่างแผนฯ 10 จะต้องมีในแผนฯ 10 ที่เอื้อเฟื้อให้ท้องถิ่นเป็นที่พึงปรารถนาของคนรุ่นใหม่และคนรุ่นใหม่เป็นที่พึงปรารถนาของท้องถิ่นด้วย

                ส่วนปัจจัยข้อสุดท้าย อะไรคือกุญแจสำคัญสำหรับเรื่องทั้งหมด อ .ไพบูลย์ ให้ความเห็นว่า สิ่งที่เป็นกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จของเรื่องที่กล่าวมามีอยู่ 3 ดอก ได้แก่

กุญแจดอกแรกคือ ความรักและความดี ทั้งหลายทั้งปวงจะไปได้ดีถ้ามีสองอย่างนี้เป็นที่ตั้ง ความรัก ความปรารถนาดี เป็นส่วนหนึ่งของคุณธรรม 4 ประการ ตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อวันฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี 9 มิถุนายน 2549 นั่นคือ ความเมตตาปรารถนาดีต่อกัน คิด พูด และทำด้วยความมุ่งดี มุ่งเจริญต่อกัน ควบคู่กับความรักคือความดี ซึ่งสองอย่างนี้เป็นเครื่องค้ำจุนโลก ค้ำจุนสังคม

                กุญแจดอกที่สอง คือ เรื่องของการเรียนรู้ที่มากกว่าความรู้ โครงการบัณฑิตคืนถิ่นให้ความสำคัญมากกับการเรียนรู้ เป็นการเรียนรู้ร่วมกันควบคู่ไปกับการปฏิบัติ ถือเป็นเรื่องที่ดีมาก ส่วนการปฏิบัติจะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ที่ผสมผสาน มีหลากหลายมิติ และบูรณาการ ถ้าจะผสมด้วยสิ่งที่เราเรียกว่า การจัดการความรู้ หมายถึงการค้นหาความรู้ความสามารถที่มีอยู่กับคนทุกคนในทุกๆ ท้องถิ่น แล้วนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ประมวลเก็บไว้ให้สะดวกต่อการนำมาใช้ เผยแพร่ออกไป นำมาวิเคราะห์สังเคราะห์ จนถึงระดับขยายผล หรือสร้างนวัตกรรมต่อๆ กันไป จากนั้นจึงกลับมาทบทวนสิ่งที่ได้ทำไว้แล้วว่าได้ผลดีมากน้อยแค่ไหน จะปรับปรุงอย่างไร เป็นการเรียนรู้ที่เป็นวงจร เป็นวัฏจักรที่จะทำต่อไปอย่างต่อเนื่อง

ส่วนกุญแจสำคัญดอกสุดท้าย คือ การจัดการ หมายถึงการดำเนินการกับปัจจัยต่างๆ ให้บรรลุผลที่พึงประสงค์ ซึ่งศาสตร์ของการจัดการนี้ เรียนเท่าไรก็ไม่มีวันจบสิ้น การจัดการเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ซึ่งเราสามารถพัฒนาได้

คนเราต้องมีการจัดการอยู่ 2 อย่าง อย่างแรกคือ การจัดการตนเอง ไม่ว่าจะเป็นบุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กร ต้องจัดการตนเอง อย่างที่สอง การจัดการร่วมกัน เช่น ต้องมีหลายๆฝ่ายเข้ามาจัดการร่วมกัน ทั้ง ชุมชน อบต. สถานีอนามัย วัด โรงเรียน เป็นต้น หรือว่าให้เครือข่ายมาจัดการร่วมกัน

อาจารย์ไพบูลย์ย้ำอีกว่า ปัจจัย 4 ข้อ กุญแจ 3 ดอก จะเปิดประตูสู่ชุมชนสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีสำนึกรักบ้านเกิดได้ ก็ต่อเมื่อทั้งคนรุ่นใหม่และชุมชนพัฒนาเข้าหากัน มิใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งปรับตัวเพียงลำพัง

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

13 ก.ย. 49

อ้างอิง

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย  ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

เว็บไซต์เดิม  :  https://www.gotoknow.org/posts/49954

<<< กลับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *