แม่ผมเป็นคนบ้านนาคู (3)

แม่ผมเป็นคนบ้านนาคู (3)


“หมอ” แนะนำอย่างไรก็ทำอย่างนั้น

บางกรณีจึงน่าสงสาร เช่น คนไข้ถูกทุบตีเพื่อ “ไล่ผี” ที่ “หมอ” วินิจฉัยว่าได้เข้าไปสิงอยู่ในร่าง

ผมไม่เคยเห็นกับตา ได้แต่ฟังเขาเล่ากัน ก็น่ากลัวพออยู่แล้ว

ตามคำบอกเล่า คนไข้บางคนเมื่อถูกตีเพื่อ “ไล่ผี” ก็ร้องว่า “กลัวแล้วๆ”

ไม่รู้เหมือนกันว่าที่ร้องน่ะ “คน” หรือ “ผี” กันแน่ !

สำหรับบ้านนาคู การเจ็บไข้ได้ป่วยก็มีเป็นธรรมดา ประเภทปวดหัว ตัวร้อน เป็นไข้ ปวดท้อง ท้องเสีย เป็นบิด ออกหัด อีสุกอีใส อุบัติเหตุต่างๆ เป็นต้น

ลูกพี่ลูกน้องของผมคนหนึ่งเคยเป็นไข้จับสั่นเกือบเอาชีวิตไม่รอด แต่ “หมอ” ก็เก่งรักษาให้หายได้

ความสามารถของ “หมอชาวบ้าน” นับว่าใช้ได้ทีเดียว

ผมเองไม่เคยเป็นอะไรหนักๆ ส่วนใหญ่ประเภทปวดหัวตัวร้อน

เป็นเมื่อไรแม่จะเป็นผู้รักษาเป็นเบื้องต้น

วิธีรักษาอย่างหนึ่งคือการ “กวาดยา” นับว่าผะอืดผะอมพอดู แต่ก็มักได้ผลคือการเจ็บไข้หายไปในเวลาอันสมควร

แม่จึงเป็น “หมอ” สำหรับลูกๆ ด้วย

แต่ถ้าการเจ็บป่วยรุนแรงหน่อยก็ต้องหา “หมอ” เป็นพิเศษ

หาในหมู่บ้านไม่ได้ก็ต้องหาจากนอกหมู่บ้าน บางครั้งต้องไปตามตัวหมอจากอีกจังหวัดหนึ่งเท่าที่พอรู้จัก หรือได้ยินกิตติศัพท์ หรือได้รับคำแนะนำต่อๆ กันมา

คนบ้านนาคูโดยทั่วไปคงพอกล่าวได้ว่า มีสุขภาพอยู่ในเกณฑ์พอใช้

ระหว่างผมอยู่กับแม่ที่บ้านนาคู ไม่ปรากฏว่ามีโรคระบาด หรือมีการเจ็บป่วยรุนแรงเกินปกติ

แต่ที่ผมได้เห็นว่าผู้เจ็บป่วยต้องทนทุกข์ทรมานน่าสงสาร ก็มีอยู่พอสมควรและนึกเศร้าใจอยู่บ่อยๆ

ตรงนี้แหละที่ทำให้เห็นชัดเจนว่า คนชนบทลำบากกว่าคนกรุง

เพราะความที่มีรายได้น้อย ความรู้น้อย ไกลหมอ ไกลยา ไกลสถานพยาบาล

เวลาที่ร่างกายปกติ ชาวชนบทเช่นคนบ้านนาคู สามารถมีความสุขความพอใจในชีวิตไม่น้อยไปกว่าคนกรุง หรืออาจมากกว่าด้วยซ้ำ

ถึงแม้ว่าจะมีรายได้น้อย ความเป็นอยู่ลำบาก ต้องทำงานหนัก ก็ตาม

แต่เมื่อนึกถึงคราวเจ็บป่วย โดยเฉพาะถ้าเป็นการเจ็บป่วยเรื้อรัง ชาวชนบทย่อมยากที่จะทำใจให้มีความสุขความพอใจอยู่ได้

บางคนต้องทนทุกข์ทรมานไปเรื่อยๆ

จนกระทั้งถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

6. จิตใจ : สุขทุกข์ตามธรรมชาติ

คนบ้านนาคูที่รุ่นราวคราวเดียวกับแม่ ส่วนใหญ่ไม่ได้เรียนหนังสือกัน โดยเฉพาะถ้าเป็นผู้หญิง

แม่จึงเป็นคนหนึ่งที่ไม่ได้เข้าโรงเรียน เพียงแต่ให้หัดอ่าน ก.ไก่ ข.ไข่ บ้าง

แต่แม่ไปวัดเช่นเดียวกับคนบ้านนาคูทั่วๆ ไป ไปทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์ ฟังธรรม

ซึ่งเป็นการศึกษาที่มีค่าอย่างหนึ่ง

มีค่าต่อการดำเนินชีวิต มีค่าต่อจิตใจ

ใจของแม่ จึงเป็นใจที่มีการศึกษา

แม่มีจิตใจที่ซื่อสัตย์ รักความจริง รักความยุติธรรม มีความเมตตา กรุณา

แต่แม่ก็มีวินัยด้วย

รวมถึงวินัยกับลูกๆ

ใครทำไม่ดี ไม่ถูกต้อง แม่จะว่ากล่าว บางครั้งก็ลงโทษ

ผมเองก็เคยต้องเจ็บก้นบ้างเหมือนกัน แต่จำได้ว่านานๆ ที รวมแล้วไม่กี่ครั้ง

คนที่แม่คอยช่วยเหลือ เมื่อทำไม่ถูกหรือไม่ดี แม่ก็ว่า แต่ยังคงให้ความช่วยเหลืออยู่นั่นเอง

แม่ไม่ถึงกับเป็นคนธรรมะธัมโมเข้มข้นนัก

มีโกรธ มีขึ้ง มีสุข มีทุกข์ ในใจ เยี่ยงคนทั้งหลาย

คนบ้านนาคูโดยทั่วไปก็เป็นอย่างนั้น

เรียกว่ามีธรรมะกันแบบชาวบ้านๆ ก็คงได้

จิตใจก็สุขๆ ทุกข์ๆ ไปตามธรรมชาติ

แม่ทำบุญ ตักบาตร พอสมควร

ทั้งหน้าน้ำ และหน้าแล้ง พระมาบิณฑบาตที่หน้าบ้านเราเป็นประจำ

หน้าน้ำพระพายเรือมา หน้าแล้งก็เดินมา

ผมช่วยแม่ตักบาตรเป็นบางคราว แต่ส่วนใหญ่แม่ทำเอง

การทำบุญตักบาตรทำให้จิตใจของผู้กระทำเบิกบานเป็นสุข เกิดกุศลจิตและเมตตาจิตสะสมไปเรื่อยๆ

การฟังเทศน์ฟังธรรมก็เช่นเดียวกัน

แม้ไม่เข้าใจอย่างลึกซึ้ง แต่การตั้งจิตให้สงบ ฟังคำสอน บทสวด ของพระ ก็พอกล่อมเกลาจิตใจให้สงบ มุ่งบุญ มุ่งกุศล มากกว่ากิเลส และอบายมุข

อย่างน้อยช่วยให้คนรักษาศีล 5 จิตใจของผู้ปฏิบัติก็เป็นสุขพอสมควร และป้องกันตัวเองไม่ให้ต้องเดือดร้อนอันเนื่องมาจากผิดศีล

คนบ้านนาคูอันที่จริงก็มีผิดศีลกันบ้าง ในข้อใดข้อหนึ่ง หรือแม้แต่หลายข้อ

เมื่อผิดศีลก็มักต้องเดือดเนื้อร้อนใจไปตามหลักแห่งกรรม ไม่ช้าก็เร็ว

เป็นตัวอย่างให้คนอื่นได้เห็น ว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

แม่เป็นผู้รักษาศีล 5 ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าแม่ตั้งใจทำอันเนื่องจากฟังคำพระสอน หรือทำไปตามธรรมชาติของผู้ไม่คิดร้ายในจิตใจ

แต่ผมรู้อย่างหนึ่งว่า การอยู่กับแม่อย่างใกล้ชิดเมื่อผมเด็กๆ นี้ ช่วยให้จิตใจผมได้รับการกล่อมเกลาในทางบุญ ทางกุศล ทางเมตตา กรุณา

โดยผมไม่รู้สึกตัวเลย

หรือการที่บ้านนาคูสมัยนั้น ไม่มีสิ่งล่อใจมากนัก

ไม่มีวิทยุ ไม่มีโทรทัศน์ ไม่มีหนังสือพิมพ์ ติดต่อไปไหนมาไหน ไม่สะดวกไม่ได้เห็นว่าที่อื่นเขาทำอะไร เขามีอะไร

อาจทำให้จิตใจคนบ้านนาคู ไม่ฟุ้งซ่าน อยากได้ อยากมี อยากทำ อะไรต่ออะไรมากนัก

มีเวลาและโอกาสปล่อยใจให้สบายๆ

สังสรรค์กัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน ถ้อยทีถ้อยอาศัยกันพอสมควร

เช่น เวลาค่ำ ส่วนใหญ่เราไม่ค่อยมีอะไรทำมากนักเพราะมืด ทำอะไรไม่สะดวก

เราจึงมักนั่งสนทนากัน เรื่องนั้นเรื่องนี้ ดูอบอุ่นเพลิดเพลินดี

จิตใจก็พลอยสงบ สบายไปด้วย

บ่อยครั้งที่ผมอยู่กับแม่ในวงสนทนาแบบนี้

รู้สึกชีวิตเป็นสุข

ไม่ดึกมากนัก ก็เข้านอน

ตื่นเช้าตรู่รู้สึกปลอดโปร่งแจ่มใส ไม่เร่งรีบอะไร

สภาพเหล่านี้ คงมีอิทธิพลต่อจิตใจและบุคลิกของผมพอสมควร

ทั้งในวัยเด็กที่อยู่บ้านนาคู

และคงมีผลถึงปัจจุบันด้วย

7. สังคม : มิตรศัตรูคู่กัน

“งานวัด” เป็นโอกาสที่ชาวบ้านนาคูไปหาความสำราญ ชมมหรสพ พบคนรู้จัก เฮฮากับเพื่อนฝูง เปลี่ยนบรรยากาศ เปิดหูเปิดตา

คนที่ไปมีทั้งผู้ใหญ่ เด็ก หญิง ชาย หนุ่ม สาว

จัดเป็นงานสังคมของท้องถิ่นที่มีขึ้นเป็นระยะๆ

แม่จะพาผมไปงานอย่างนี้บ้างเป็นบางครั้ง ไม่ทุกครั้ง

หน้าน้ำก็พายเรือไป หน้าแล้งก็เดินไป

เนื่องจากบ้านเราอยู่ไกลจากวัดสักหน่อย ไปทีมาทีจึงมิใช่เรื่องสะดวกสบายทีเดียว

จำได้ว่าบางครั้งขาไปผมเดินไป แต่ครั้นขากลับแม่ต้องอุ้มหรือให้ผมขี่คอเพราะผมเดินไม่ไหว และง่วงมาก

ถ้าเป็นฤดูน้ำพายเรือไปจะง่ายหน่อย คือขากลับผมง่วงก็นอนในเรือได้ ในขณะที่พวกผู้ใหญ่เขาก็พายกันไป

ที่งานวัดส่วนใหญ่เรียบร้อยไม่มีอะไร

แต่บางครั้งมีเรื่องตื่นเต้นที่เรียก “ตีกัน”

คือมีคน 2 คน หรือ 2 กลุ่ม ทำร้ายกัน หรือต่อสู้กัน

พอเกิดเหตุคนจะฮือ งานต้องหยุดชั่วคราว แต่อาจเริ่มใหม่ถ้าเรื่องดูเรียบร้อยแล้ว

การฮือของคนมักสร้างความโกลาหลวุ่นวายไม่น้อยทีเดียว

เพราะการเกิดเรื่องเช่นว่า มักอยู่ท่ามกลางผู้คนจำนวนมาก อาจยืนดูมหรสพอยู่

หรือถ้าเป็นฤดูน้ำก็จอดเรือเป็นตับเรียงรายกันเพื่อดูมหรสพ

พอเกิดเรื่องคนจะพยายามหลบห่างจากที่เกิดเหตุ ต่างคนต่างรีบหลบไปให้เร็วและไกล

จึงไม่ต้องสงสัยว่า เหตุใดจึงเกิดความโกลาหลวุ่นวาย

ยิ่งกรณีเกิดเรื่องบนเรือ และเรือลำอื่นๆ พยายามหลบห่างออกไป ยิ่งสับสนอลหม่านโครมครามน่ากลัวเป็นพิเศษ

ผมเคยเห็นเหตุการณ์แบบนี้บ้างเหมือนกัน บางครั้งเมื่อไปกับแม่ บางครั้งเมื่อไปกับพี่ๆ

รู้สึกตกใจพอสมควร แต่อยู่ไม่ใกล้จุดที่เขาตีกันจริงๆ จึงไม่เห็นภาพที่น่าหวาดเสียวด้วยตาตนเอง

มาฟังเขาเล่าภายหลังว่าเกิดอะไรขึ้น ส่วนใหญ่ไม่ถึงตาย แค่บาดเจ็บ

การทะเลาะเบาะแว้งกันเช่นนี้ นับว่าปกติพอสมควรสำหรับบ้านนาคู

จึงไม่อาจกล่าวได้ว่า บ้านนาคูมีแต่ความสันติสุขร่มรื่น ทุกคนรักใคร่ปรองดองกัน

คงเหมือนกับชุมชนทั้งหลาย มีรักกัน เกลียดกัน ดีกัน ทะเลาะกัน แม้ถึงขั้นทำร้ายกันรุนแรง

แต่อาวุธที่ใช้ต่อสู้กันที่บ้านนาคูสมัยนั้นมักเป็นตะพด ดาบ มีดพก ไม้คมแฝก เสียเป็นส่วนใหญ่

ปืนผาหน้าไม้ไม่ค่อยใช้กัน ก็ดีไปอย่างคือไม่ค่อยถึงตาย

วิธีทำร้ายกันอีกแบบหนึ่งสำหรับคนที่เป็นศัตรูกัน คือ คอยซุ่มดักตีหัวด้วยไม้ตะพด หรือรุนแรงกว่านั้น ก็ดักฟันด้วยมีดดาบ โดยมากในเวลากลางคืน เช่น เวลาศัตรูเดินกลับจากการชมมหรสพ

ผมมักได้ยินผู้ใหญ่เขาเล่ากันว่า คนนั้นคนนี้ถูกดักตีหัว หรือถูกฟันหัว ได้รับบาดเจ็บ แต่ไม่รู้ว่าใครเป็นคนทำ

ฟังแล้วรู้สึกกลุ้มแทนคนถูกตีเหลือเกิน เพราะเจ็บตัวแล้วยังไม่รู้ว่าใครทำอีก ต้องสันนิษฐานเอาว่าน่าจะเป็นใคร

สันนิษฐานถูกก็ดีไป แต่ถ้าสันนิษฐานผิดก็จะยุ่งกันไปใหญ่ อาจกลายเป็นศึกหลายเส้าขึ้นมาอย่างไม่ตั้งใจ

แต่โดยทั่วไปแล้วบ้านนาคูสงบร่มรื่นพอสมควร

ชาวบ้านทำมาหากิน ไปมาหาสู่ ถามสารทุกข์สุขดิบ ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน

มีประเพณีลงแขก มีการเล่นพื้นบ้าน เช่น ในวันสงกรานต์ และการร้องเพลงเรือเวลาพายเรือไปงานมหรสพ

มีการทำบุญตักบาตรที่วัดเป็นระยะๆ ในวันสำคัญทางศาลนา และอื่นๆ

วัฒนธรรมประเพณีและแนวปฏิบัติเหล่านี้ ผูกโยงชาวบ้านนาคูเข้าด้วยกัน ให้เป็นชุมชนที่มีจิตวิญญาณ มีความอบอุ่น มีความเป็นปึกแผ่น มีพลัง

คำว่า “บ้านนาคู” จึงมีความหมายพิเศษสำหรับคนบ้านนาคู โดยอาจไม่รู้ด้วยซ้ำ

เช่น แม่เป็นคนหนึ่งที่ดูเหมือนว่ามีวิญญาณของบ้านนาคูอยู่ใจจิตใจอย่างเต็มเปี่ยม

ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาที่แม่ยังอยู่บ้านนาคูเป็นหลัก

หรือช่วงที่แม่ไปๆ มาๆ ระหว่างบ้านนาคูกับกรุงเทพฯ

หรือแม้ในระหว่างที่แม่ต้องอยู่กรุงเทพฯเป็นหลัก เนื่องจากความชราและร่างกายที่ไม่เอื้ออำนวยให้เดินทางไปไหนมาไหนได้สะดวก

แม่จะนึกถึงบ้านนาคูเสมอ ถามถึงบ้านนาคูอยู่เสมอ

แม่ “เป็นมิตร” กับบ้านนาคู อย่างแท้จริง

<มีต่อ>

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/76315

<<< กลับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *