จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 42 (23 ธ.ค. 51)

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 42 (23 ธ.ค. 51)


บันทึกประสบการณ์ชีวิตจากห้อง “ไอซียู”

                                                                                                                               ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

หมายเหตุนำเรื่อง : แด่นายแพทย์สงวน  นิตยารัมภ์พงศ์

ผมได้รับการเชิญชวนให้เขียนบทความเพื่อประกอบเป็นหนังสือ “นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ กับการพัฒนาสาธารณสุขไทย” ผมจึงเขียนบทความนี้ขึ้นด้วยความรักอาลัยระลึกถึง “คุณหมอสงวน” ผู้เป็นกัลยาณมิตรที่งดงาม เป็นแพทย์ผู้มีหัวใจแห่งความเป็นมนุษย์สูงมาก เป็นนักคิดนักพัฒนาที่ยิ่งใหญ่แห่งวงการระบบสุขภาพของไทย และเป็นผู้มีผลงานสร้างสรรค์อันเป็นประโยชน์ใหญ่หลวงแก่ปวงชนชาวไทยและสังคมไทย

(นายแพทย์สงวน ถึงแก่กรรมด้วยโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอดเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2551 หลังจากที่ได้เผชิญกับโรคนี้อยู่เป็นเวลาประมาณ 4 ปี)

คนจำนวนไม่มากนักจะมี “โอกาส” ได้เข้าไปอยู่ในห้อง “ไอซียู” ( Intensive Care Unit – ICU – หรือ “หอผู้ป่วยวิกฤต”) สำหรับคนจำนวนหนึ่ง ห้อง “ไอซียู” คือ “ห้องนอนสุดท้าย” ของชีวิต แต่คนอีกจำนวนหนึ่งก็กลับออกมาใช้ชีวิตปกติต่อไปได้

ผมเป็นหนึ่งในจำนวนคนกลุ่มหลังนี้ และเห็นว่า “ประสบการณ์ชีวิตจากห้องไอซียู” คงเป็นประโยชน์ที่จะนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้สนใจ จึงปรับ “บันทึกประจำวัน” ที่ผมเขียนขึ้นระหว่างการพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเมื่อกว่า 3 ปีมาแล้ว (7 กันยายน – 24 ตุลาคม 2547 โดยเป็นการอยู่ในห้อง “ไอซียู” รวม 5 วัน) เพื่อนำไปประกอบเป็นหนังสือดังกล่าวข้างต้น

“บันทึกประจำวัน” ที่ผมเขียนขึ้นนั้น เป็นการเขียนแบบ “ส่วนตัว” และมุ่งให้อ่านกันในหมู่ “ญาติมิตรคนชิดใกล้” เป็นสำคัญ เมื่อนำมาทำเป็นบทความให้อ่านกันได้โดยทั่วไป ผมจึงปรับปรุงสาระและถ้อยคำบางแห่งให้เหมาะสมกับการเป็น “บทความสาธารณะ” มากขึ้น

(7 ก.ย.47) ประสบการณ์ครั้งแรกในชีวิต

“นอนโรงพยาบาล” เป็นครั้งแรกในชีวิต ! (หมายถึง เข้าพักรักษาตัวแบบต้องอยู่ค้างคืน) (เพิ่งนึกขึ้นมาว่าเวลาคนพูดว่า “เข้าโรงพยาบาล” มักหมายถึง “นอนโรงพยาบาล” ถ้าไม่ถึงกับต้องอยู่ค้างคืน คนมักพูดว่า “ไปโรงพยาบาล”)

ห้องเล็กสักหน่อย แต่วิวดี เห็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ราชกรีฑาสโมสร รถไฟฟ้า BTS บทถนนราชดำริ สวนลุมพินี และบรรดาอาคารสูงในทิศเดียวกัน

คนมาเยี่ยมหลายคณะ ที่เขารู้เพราะไปทำภารกิจให้เขาไม่ได้ต้องบอกเลิกพร้อมเหตุผล เขาจึงถือโอกาสมาเยี่ยมก่อนผ่าตัด

ในแง่จิตใจรู้สึกปกติ พร้อมรับสถานการณ์ และถือว่าการเข้าโรงพยาบาลครั้งนี้ เสมือนเป็น “ฮอลิเดย์” ชนิดหนึ่ง!

หมอให้ทานอาหารอ่อน ซึ่งทานได้นิดเดียว นอนหลับได้ปกติ

(8 ก.ย.47) “ล้างท้อง” ก่อน “ผ่าตัดใหญ่”

หมอให้ทานอาหารเหลวใส ทานได้แต่ไม่ได้รู้สึกอยากทาน เป็นการพยายามทาน

หลังกลางวันหมอให้ยาถ่ายแบบ “ล้างท้อง” ออกฤทธิ์หลังจากประมาณ 1 ชม. ถ่ายรวมแล้ว 13 ครั้ง เป็นประสบการณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อนในชีวิต (ตอนค่ำยังมีการ “สวน” อีกด้วย เพื่อช่วยล้างลำไส้อีกทางหนึ่ง)

ยังคงมีคนมาเยี่ยมหลายคณะ เพื่อให้ทันก่อนผ่าตัด

(9 ก.ย.47) “ทารกเทคโนโลยี”

Big Day! (หรือ Operation “Operation” )

“วันผ่าตัดใหญ่” (ของตัวเอง)

ประสบการณ์ครั้งแรกในชีวิต

สรรพสิ่ง โดยเฉพาะสังขาร ย่อมไม่เที่ยง ไม่แน่นอน

เป็นการเรียนรู้ชนิดหนึ่งที่เพิ่งมีโอกาสได้รับ ทำให้ชีวิตมีความ “บริบูรณ์” มากขึ้น!

ฯลฯ

ความคิดเหล่านี้เกิดขึ้นภายหลังทั้งสิ้น ส่วนวันนั้น (9 ก.ย.47) …….

ออกจากห้องประมาณ 8.30 น. นอนรถเข็นไปตามทางเดินระหว่างตึก เข้าห้องผ่าตัด นอนรอในห้องผ่าตัดระยะหนึ่ง มี “เพื่อนร่วมกิจกรรม” อย่างน้อย 4-5 คน

นพ. (หมอดมยาสลบ) มาแนะนำตัวและให้ข้อมูลที่ควรทราบ หลังจากนั้น นอนรถเข็นต่อไปอีก แล้ว…….

ไม่รู้เรื่องอะไรเลย! เหมือน “หายตัว” (หรือ “ตัวหาย”) ไปชั่วคราว! 

ทราบภายหลังว่าแพทย์ใช้เวลาประมาณ 8 ชั่วโมงครึ่ง นพ.(ผู้ทำการผ่าตัด) เป็นหลักด้านผ่าตัด นพ.(ผู้ดมยาสลบ) เป็นหลักด้านดมยาสลบ นพ.(ผู้เป็นแพทย์อาวุโสและเป็นเพื่อนของผม) ได้มาช่วยดูแลสนับสนุนอยู่ด้วย ได้รับแจ้งภายหลังว่าเป็นการผ่าตัดที่ละเอียดสลับซับซ้อนและยากทีเดียว

ออกจากห้องผ่าตัดมาอยู่ห้องไอซียู (ICU) ประมาณ 18.00 น.

ภรรยาเล่าว่าเมื่อออกมาจากห้องผ่าตัดแล้วนั้น มองเห็นว่าผม “ตัวเหลืองอ๋อยเหมือนทาขมิ้น” ! นั่นคือเหลืองมากกว่าเมื่อก่อนเข้าห้องผ่าตัด (เข้าใจว่า) เริ่มรู้สึกตัวประมาณ 19.00 น. แต่จำไม่ได้ว่าสิ่งแรกที่รับรู้คืออะไร ที่จำได้คือเสียงภรรยามาพูดอะไรบางอย่างในช่วงที่ยังค่อนข้างสลึมสะลือ และสลึมสะลือต่อไปค่อนข้างนาน

ชีวิตหลังการผ่าตัดใหญ่ อาจเรียกว่าเป็น “ทารกเทคโนโลยี” คือ ช่วยตัวเองไม่ได้เลย ต้องอาศัยเทคโนโลยี (การแพทย์) ผนวกกับบริการดูแลโดยพยาบาลและแพทย์อย่างใกล้ชิด

เทคโนโลยีช่วยการทำงานของอวัยวะหลายอย่าง เกี่ยวกับการหายใจ การรับอาหาร การปัสสาวะ การถ่ายของเสียจากที่ต่างๆ การถ่ายลมออกจากกระเพาะ ฯลฯ รวมแล้วจึงมีสายระโยงระยางมากมาย เข้าใจว่ากว่า 10 สาย

หากเกิดขัดข้องสายใดสายหนึ่ง ชีวิตของ “ทารก” คนนี้ก็จะหาไม่

บริการอย่างใกล้ชิดของพยาบาลและแพทย์ก็สำคัญมาก ต้องคอยตรวจ คอยวัด ฉีดยา จัดการเกี่ยวกับสายระโยงระยางต่างๆ แก้ปัญหาฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้น สนองความต้องการจำเป็นต่างๆ รวมถึงการดูแลสุขอนามัยทั่วๆไป เช่น เช็ดตัว เช็ดหน้า แปรงฟัน แม้กระทั่งโกนหนวด ! ฯลฯ

นี่คือความจำเป็น ความสำคัญ และคุณค่า ของห้องไอซียูและพยาบาลห้องไอซียู!

                ถ้าไม่ได้เข้าไปสัมผัสด้วยตนเอง คงไม่เข้าใจและซาบซึ้งเต็มที่อย่างนี้

(10 ก.ย.47) “ชีวิตบนเตียง”

วันที่ 2 ในห้องไอซียู

จำได้ว่าภรรยามาเยี่ยม (คิดว่า) จับมือและส่งเสียงทัก จึงยิ้มให้ และมีเสียงภรรยาตามมาว่า “อ้า! พ่อยิ้มให้แม่ได้แล้ว!

ไม่รู้ว่าขณะนั้นเวลาเท่าใด หรือได้หลับไปนานเท่าใด แต่รู้ว่าตื่นอยู่ สมองโปร่งพอควร ซึ่งทำให้แปลกใจแกมยินดีอยู่หน่อยๆ อย่างไรก็ดีฤทธิ์ยาระงับการปวดคงทำให้ค่อนข้างหลับอยู่ตลอดกลางวันวันนั้น รู้คร่าวๆว่ามีคนมากและพูดด้วย แต่ไม่สามารถจำอะไรได้ชัดเจน

จำได้แต่ที่ภรรยาเป็นคนพูด คงมีอะไรพิเศษกระมัง!

เมื่อเป็น “ทารกเทคโนโลยี” ชีวิตโดยทั่วไปจึงเป็น “ชีวิตบนเตียง”

ของเข้า ของออก การเช็ด การล้าง การนั่ง การนอน การทำกิจกรรมประเภท คิด พูด อ่าน เขียน การตรวจ การวัด การดูแลต่างๆ ฯลฯ

ล้วนกระทำหรือเกิดขึ้นบนเตียง ซึ่งปรับได้ 2 อย่าง คือ สูงขึ้น ต่ำลง ทั้งด้านศีรษะและด้านเท้า หรือทั้งเตียง

วันนี้หมอเอาเครื่องช่วยหายใจออกเพราะเห็นว่าไม่จำเป็นแต่ได้ใส่สายเสริมออกซิเจนที่รูจมูกแทน (เกือบทั้งหมดเป็นการหายใจเอง)

ด้วยเหตุที่ค่อนข้างหลับตลอดกลางวัน ช่วงกลางคืนของวันนี้จึงรู้สึก “ตื่น” คือเท่ากับเป็นช่วงตื่น (ของกลางวัน) และเริ่มรับรู้ถึงสถานการณ์ทั้งเกี่ยวกับตัวเอง เกี่ยวกับคนไข้ไอซียูที่เป็น “เพื่อนบ้าน” ทั้งเบื้องซ้ายและเบื้องขวา และเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของพยาบาลและแพทย์

นับเป็นประสบการณ์ที่ “พิเศษ” อันหาได้ยากสำหรับคนๆหนึ่งที่ไม่ได้เป็นแพทย์หรือพยาบาล!

(11 ก.ย.47)  “วันที่ยาวนานที่สุด” (The Longest Day)

                วันนี้ไม่ง่วง และพยายามไม่หลับ โดยหวังว่ากลางคืนจะได้ง่วงและหลับได้

“เพื่อนบ้าน” เป็นผู้หญิงทั้งคู่ คนหนึ่งพยาบาลมักเรียกว่า “อาม้า” อีกคนหนึ่งพยาบาลมักเรียกว่า “คุณป้า” ส่วนผมเอง (ผู้เขียน) พยาบาลเรียกว่า “คุณลุง” บ้าง “คุณไพบูลย์” บ้าง (แต่เป็นส่วนน้อย)

“อาม้า” พูดได้เสียงดัง และช่างพูดด้วย พยาบาลก็เอาใจใส่ดีมาก และช่วยพูดคุยกับ “อาม้า” ค่อนข้างมาก บางครั้งฟังดูเหมือนเป็นการ “พูดจาสังสรรค์” มากกว่าการดูแลความเจ็บป่วย

แต่ “อาม้า” มีปัญหาพิเศษ ต้องพยายามเอาเสลด (ซึ่งฟังจากเสียงน่าจะมีปริมาณมาก) ออกจากหลอดลม (หรืออะไรทำนองนั้น) โดยมีพยาบาลช่วยด้วย (ไม่แน่ใจว่าใช้เครื่องมืออะไรด้วยหรือเปล่า)

จากเสียงการพยายามเอาเสลดออกที่ดังโครกครากมาก เสียงครวญครางด้วยความเจ็บปวดแสนสาหัสของ “อาม้า” ซึ่งบางครั้งมีถ้อยคำออกมาว่า “โอย…..เจ็บเหลือเกิน…..ทนไม่ไหวแล้ว…..ขอตายดีกว่า…..ขอไม่อยู่แล้ว…..ทนไม่ไหวจริงๆ…..ฯลฯ” สลับกับเสียงพยาบาล ซึ่งคาดว่ามี 2-4 คน คอยช่วยแนะนำ ให้กำลังใจ บังคับกลายๆบ้าง ด้วยถ้อยคำเช่น “อาม้าต้องสู้นะ…..พยายามอีกหน่อย…..ได้แล้วเห็นไหม…..ต้องทำตรงนี้ให้ได้แล้วจะหาย…..อาม้าสู้เพื่อลูกหลานนะ…..ฯลฯ”

ฟังแล้วรู้ว่า “อาม้า” ต้องทนทุกข์ทรมานมากจริงๆ และกิจกรรมกับเสียงเช่นนี้เกิดขึ้นหลายครั้งในรอบ 24 ชั่วโมง ทุกครั้งที่ฟังเสียงครวญครางก็รู้สึกสงสาร “อาม้า” มากแต่ก็นึกชมเชยที่ “อาม้า” สามารถพูดได้เสียงดังฟังชัด และมีน้ำใจดี เช่น เมื่อสบายดีก็จะพูดกับพยาบาลอย่างลูกหลาน เช่น “ขอบใจมากนะลูกหลานเอ๊ย…..ขอให้มีชีวิตดีๆนะ…..ฯลฯ”

ส่วนพยาบาลนั้น น่าประทับใจและน่าชื่นชมเป็นพิเศษในความเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด ความอุทิศตน ความขะมักเขม้นเต็มอัตรา ความมานะอดทน ความมีน้ำใจ มีอัธยาศัยไมตรี มีอารมณ์ช่วยสร้างบรรยากาศที่ดี ฯลฯ ซึ่งปรากฏชัดเจนมากจากกรณีของ “อาม้า” ดังกล่าวที่สังเกตได้ต่อเนื่องมาตลอดประมาณ 3 วันเต็ม

ถ้าเปรียบกรณีของ “อาม้า” เพื่อนบ้านเบื้องซ้าย เป็นเสมือน “ฉากงิ้ว” เพราะมีเสียงเอะอะโวยวายโฉ่งฉ่างพอสมควร วันละหลายครั้ง ก็ต้องเปรียบกรณีเพื่อนบ้านเบื้องขวาคือ “คุณป้า” เป็นเสมือน “ฉากโขน” เพราะมีเสียงพากย์เสียงบอกกำกับ แต่ไม่มีเสียงจาก “ผู้แสดง” เนื่องจากต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ

“คุณป้า” คงมีปัญหาความเจ็บปวดแบบทุกข์ทรมานไม่ใช่น้อยเหมือนกัน สังเกตจากเสียงโครกครากแสดงสภาพที่เป็นปัญหาอยู่เป็นระยะแต่ไม่บ่อยและดังเท่ากรณี “อาม้า” และดูจะเป็นปัญหา “วิกฤต” ด้วยเพราะได้ยินพยาบาลพูดทำนองว่า “คุณป้าต้องพยายามนะคะ…..ถ้าไม่ทำตรงนี้ จะเอาเครื่องช่วยหายใจออกไม่ได้…..คุณป้าต้องพยายามนะคะ ต้องทำให้ได้นะคะ…..ฯลฯ”

ส่วนบทบาทและการทำหน้าที่ของพยาบาลในกรณี “คุณป้า” นับว่าน่าประทับใจและน่าชื่นชม เช่นเดียวกับที่ปฏิบัติกับกรณี “อาม้า” ซึ่งไม่แปลกเพราะคือพยาบาลชุดเดียวกันที่มีอยู่ 4-5 คน ซึ่งดูแลบริเวณนั้น

สำหรับกรณี “ตัวผมเอง” อาจเปรียบได้เป็น “ฉากละครรำ” คือ ช้าๆ เนิบๆ เรียบๆ มีเสียงเบาๆจากตัวละครเป็นระยะๆตามกิจวัตรที่ต้องทำ ที่มีเสียงเบาๆเพราะพูดไม่ค่อยมีเสียง พบว่าเสียงหายไป พอพูดออกเสียงแหบๆได้ คงประมาณ 10% ของระดับเสียงปกติ จนครั้งหนึ่งพยาบาลถามว่า “ปกติพูดออกเสียงได้แค่นี้หรือคะ ?” (ซึ่งคำตอบคือไม่ใช่ !)

นอกจากปัญหาเรื่องเสียงแล้ว สภาพโดยทั่วไปคงเป็นไปตามที่พึงเป็นอันเนื่องจากการ “ผ่าตัดใหญ่ ตับอ่อน-กระเพาะ-ลำไส้-ท่อน้ำดี-ถุงน้ำดี” (ยังไม่ได้เช็คความถูกต้องจากแพทย์ เป็นความเข้าใจที่ปะติดปะต่อเอาเอง ครั้นจะพูดกับแพทย์หรือผู้รู้ก็มีปัญหาเรื่องพูดไม่มีเสียง) แต่จากคำพูดของแพทย์ที่คอยไปตรวจอาการ (แพทย์ผู้ทำการผ่าตัดและแพทย์อื่น ๆ) บอกว่า “การฟื้นตัวอยู่ในเกณฑ์ดี”

ความรู้สึกโดยรวมคือ ยอมรับสภาพที่เป็นอยู่ โชคดีที่ไม่มีความเจ็บปวดเดือดร้อนทุรนทุรายอะไรเป็นพิเศษ มีในระดับที่ใจยอมรับอยู่จึงไม่รู้สึกเป็นทุกข์ (ทางกายและทางใจ)

มีปัญหาหนึ่งคือ คืนวันนี้ยังคงนอนไม่หลับ ทั้งๆที่กลางวันไม่ได้หลับ คงเนื่องจากสภาพร่างกาย สภาพระบบประสาท สภาพแวดล้อมที่มีทั้งแสงสว่าง เสียงดังอึงคะนึงอันเนื่องจากการดูแลคนไข้ในสภาวะวิกฤต อากาศอุณหภูมิที่รู้สึกหนาวไปบ้างร้อนไปบ้าง ฯลฯ

อ่านหนังสือ “ The Web of Life ” โดย Fritjof Capra หนังสือ “พระไตรปิฎก สิ่งที่ชาวพุทธต้องรู้” โดยพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) และหนังสือ “คู่มือสวดมนต์แปล ฉบับอุบาสก-อุบาสิกา วัดสังฆทาน” สลับกันไป

ตั้งใจอ่านบทสวดมนต์แปลเพื่อช่วยให้นอนหลับ ผสมด้วยการสวดมนต์ในใจ การตั้งสมาธิ ฯลฯ แต่ไม่เป็นผล คืนนี้จึงเป็นว่านอนไม่หลับแทบทั้งคืน

ตอนกลางวันแพทย์ได้เอาสายเสริมออกซิเจนออก (หายใจเอง 100%)

พยาบาลเอาเก้าอี้มาให้นั่งอยู่ชั่วเวลาหนึ่งในช่วงกลางวัน และเปลี่ยนเตียงนอนให้เป็นแบบสบายขึ้น เป็นทั้งเก้าอี้เก่าและเตียงเก่า (ดูจากสภาพ เช่นเตียงนั้นมีปุ่มกดให้ยกศีรษะได้ แต่พอจะกลับที่เดิมต้องใช้คันโยกแทน! ส่วนเก้าอี้ก็ดูค่อนข้างโทรมแต่นั่งได้สบายพอควร)

(มีต่อ)

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/160949

<<< กลับ

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 42 (23 ธ.ค. 51) (ต่อ)

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 42 (23 ธ.ค. 51) (ต่อ)


(12 ก.ย.47) “ฝันร้าย”

วันที่ 11 กันยายน 2547 คงถือได้ว่าเป็น “ The Longest Day ” (วันที่ยาวนานที่สุด)

เพราะก่อนหน้า 1 คืน แทบไม่ได้นอนหลับ ทั้งวันของวันที่ 11 ก.ย. ยังคงไม่ได้หลับ และสภาพไม่ได้หลับนี้คงอยู่ต่อมาในช่วงกลางวันทั้งวันของวันที่ 12 ก.ย.

รวมแล้วไม่ได้หลับต่อเนื่องกันประมาณ 48 ชั่วโมง อาจเรียกว่าเป็น The Longest Extended Day ” (วันควบต่อเนื่องที่ยาวนานที่สุด) ก็ได้

นอกจากไม่ได้หลับแล้ว การเผชิญ รับรู้ เหตุการณ์และสถานการณ์ในรอบ 48 ชั่วโมงนั้น นับว่ามากทีเดียว

ระหว่างอยู่ในห้องไอซียู (ICU) นอกจากการดูแลอย่างใกล้ชิดของ “ทีมพยาบาล” และเจ้าหน้าที่อื่นๆแล้ว แพทย์ก็หมุนเวียน แวะเวียนมาตรวจอาการและสนทนาด้วยเป็นประจำ และบอกว่าการฟื้นตัวโดยทั่วไปอยู่ในเกณฑ์ดีและไม่มีปัญหาแทรกซ้อนอะไร ถือว่าน่าพอใจ

ภรรยา ลูกชาย ลูกสาว หมุนเวียนกันมาเยี่ยมเยียนดูแลผู้ที่พยาบาลเรียกว่า “คุณลุงเตียง 8” (คือตัวผมนั่นเอง) อยู่เป็นประจำ มานั่งคุย นั่งเฝ้า บีบนวด (บ่อยครั้งรู้สึกเท้าเย็นเพราะหนาว) ช่วยให้ได้ผลดีทั้งทางกายและโดยเฉพาะทางใจ

มีญาติวงในมาเยี่ยมบ้างแต่ไม่มาก เพราะปกติห้องไอซียู (ICU) เขาไม่อนุญาตให้คนเข้ามาง่ายนัก และเข้าใจว่ามีป้าย “ห้ามเยี่ยม” (“คุณลุงเตียง 8”) ติดไว้ด้วย

หมอถอดสายดูดปัสสาวะออก เริ่มปัสสาวะเองได้

บุรุษพยาบาลช่วยโกนหนวดให้ (ผมทำได้เองบางส่วน)

เริ่มพยายาม “เดิน” (ประมาณ 7-8 เมตรแล้วกลับ)

หมอให้เริ่ม “อมน้ำแข็ง” (ก้อนเล็กๆ เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.5 ซ.ม.)

                รู้สึกว่ากลางคืนคงมีปัญหาการหลับ พยาบาลจึงให้ยาแก้ปวดเพื่อช่วยหลับ ปรากฏว่าพอหลับได้แต่เกิดการ “ฝันร้าย” ถึง 2 ครั้ง

ครั้งแรก ฝันว่าไปดูการแสดงอะไรสักอย่าง โดยใส่เสื้อผ้าชุดคนไข้ (สีเขียว) ไป คนที่อยู่รอบๆตัวผมเกิดการล้มตัวทับกันและมาทับผมด้วยโดยผมดึงตัวออกไม่ได้ ขณะเดียวกันผมพยายามหาของสำคัญที่หายไปแต่หาไม่พบ มองไปเห็นภรรยาอยู่ทางหนึ่ง และเห็นลูกสาวพร้อมรถยนต์อยู่อีกทางหนึ่งคล้ายๆจะมารับผม แต่ก็ติดต่อถึงกันไม่ได้ ทั้งกรณีภรรยาและลูกสาว เพราะอยู่ห่างกันเกินไป ทำให้รู้สึกวุ่นวายมาก

หลังจากตื่นมาแล้วได้พยายามกลับไปหลับใหม่ แต่ก็มี “ฝันร้าย” รอบที่สอง คือฝันว่าไปที่ “โรงงาน” อะไรบางอย่างแถวๆซอยสุขุมวิท 61 ถูกพนักงานคนหนึ่งแกล้งเอากระเป๋าของผมไปแล้วไม่คืนให้ ใช้วิธีหลอกล่อยั่วยวนต่างๆ ครั้นผมจะชี้แจง ต่อว่า หรือเรียกร้องอะไรก็ “พูดออกเสียงไม่ได้” ทำให้รู้สึกอึดอัดขัดข้องวุ่นวายอารมณ์อย่างยิ่ง

(13 ก.ย.47) คุณค่ายิ่งยวดของการ “ผายลม” !

                ย้ายจาก “ชีวิตบนเตียง” (ห้องไอซียู) สู่ “ชีวิตในห้อง” (ห้องพักผู้ป่วยพิเศษ) เมื่อประมาณ 10.00 น.

ระหว่างอยู่ห้องไอซียู แพทย์และพยาบาลจะถามอยู่บ่อยๆว่า “ผายลมบ้างไหม…..ผายลมหรือยัง…..” ซึ่งตลอดเวลาที่อยู่ห้องไอซียู (ICU) ผมต้องตอบว่า “ยัง…..มีแต่เรอ…..”

พอมาอยู่ห้องพักผู้ป่วยพิเศษจึงได้เริ่มผายลมบ้าง และเกิดความตระหนักว่า เรื่องซึ่งปกติคนอาจรู้สึกรังเกียจหน่อยๆนั้น อันที่จริงมีความสำคัญต่อ “ชีวิต” อย่างยิ่งยวด นั่นคือหากไม่สามารถผายลมได้หลังการผ่าตัดจะเกิดการอืดสะสมเป็นปัญหาใหญ่ทีเดียว

เข้านอนประมาณ 4 ทุ่มและนอนได้ดีเป็นครั้งแรก (คืนแรก) หลังจากการผ่าตัด โดยตื่นมาปัสสาวะ 2 ครั้ง

(14 ก.ย.47)  “ชีวิตในห้อง”

“ชีวิตในห้อง” สงบเงียบพอควร มีเวลาอ่านหนังสือ ซึ่งมุ่งอ่าน “ The Web of Life ” (“ข่ายใยแห่งชีวิต”)เป็นหลักเนื่องจากอยากอ่านมานานแล้ว ที่สำคัญคือเป็นข้อเขียนทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับ “ชีวิต” และ “สรรพสิ่ง” ในโลกตลอดไปถึงในจักรวาล ซึ่งข้อค้นพบและข้อเสนอทางวิทยาศาสตร์ที่ประมวลไว้ในหนังสือเล่มนี้ สามารถนำใช้ประกอบการอธิบาย พิสูจน์ หรือเสริมต่อ “หลักธรรม” ของพระพุทธเจ้า โดยเฉพาะเรื่อง “อนิจจัง ทุกขังอนัตตา” (ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของ “หัวใจ” ของพระพุทธศาสนา) ได้เป็นอย่างดี

สำหรับตัวเอง คิดว่า การได้อ่าน “ The Web of Life ” เป็นการค้นพบที่สำคัญยิ่ง คาดว่าจะนำไปใช้ประโยชน์ได้มาก และอาจมีผลอย่างสำคัญต่อวิถีชีวิตที่จะเลือกเดินในอนาคตที่เหลือ

หมอมาถอดสายดูดผ่านรูจมูกออก สายนี้สร้างความรำคาญและความลำบากค่อนข้างมาก หมอบอกว่าคนไข้โดยทั่วไปจะรอคอยวันที่ถอดสายดูดนี้ออกได้ ซึ่งตัวเองก็คิดเช่นนั้น รู้สึกเหมือนได้ “อิสรภาพ” (จากเทคโนโลยี) ที่สำคัญ รู้สึกโล่งขึ้น สบายขึ้น สามารถจัดการเรื่องรูจมูกและบริเวณใกล้รูจมูกได้สะดวกสบายขึ้นมาก

หมอให้เริ่ม “จิบน้ำ” ได้ (หลังจากที่ให้อมน้ำแข็งก้อนจิ๋วก่อนหน้านี้)

เริ่มเขียน “บันทึกการเจ็บป่วยครั้งสำคัญในชีวิต” โดยย้อนหลังไปจากประมาณวันที่ 23 สิงหาคม 2547 เป็นการบันทึกเหตุการณ์ สถานการณ์ ความรู้สึก ความคิด ฯลฯ แล้วแต่ว่านึกอะไรได้และรู้สึกอยากบันทึกไว้ สำหรับเก็บเป็นความทรงจำ (ก่อนจะลืมเสียเป็นส่วนใหญ่) และเพื่ออ่านกันในหมู่ “ญาติมิตรคนชิดใกล้” เป็นสำคัญ

เมื่อหมอถอดสายดูดที่ผ่านลำคอและรูจมูก (ข้างขวา) คิดว่าจะพูดออกเสียงได้ดีขึ้น ปรากฏว่าตรงกันข้าม ยิ่งพูดแล้วเสียงออกแบบแผ่วลง และรู้สึกมีความลำบากในการพูดออกเสียงแต่ละคำ

ด้วยเหตุนี้ จึงริเริ่มใช้วิธีเขียนโน้ตสั้นๆไว้ให้ผู้มาเยี่ยมอ่าน จะได้ไม่ต้องพูด หรือพูดแต่น้อยๆ และพูดเบาๆทำนองกระซิบ

.gotoknow-responsive-middle { width: 300px; height: 250px; } @media(min-width: 260px) { .gotoknow-responsive-middle { width: 300px; height: 260px; } } @media(min-width: 350px) { .gotoknow-responsive-middle { width: 336px; height: 280px; } } @media(min-width: 740px) { .gotoknow-responsive-middle { width: 728px; height: 90px; } }

(15 ก.ย.47) สู่ “สภาพปกติ” มากขึ้น

                หมอมาถอดเอาสายหยอดของเหลวขาวข้นออก เท่ากับได้ “อิสรภาพ” ที่สำคัญเพิ่มขึ้นอีก 1 อย่าง

เริ่ม “ดื่มน้ำ” และเริ่มทาน “อาหารเหลวใส” เท่ากับเป็นบันไดขั้นต้นของการไม่ต้องพึ่ง “สายหยอดสารอาหาร” ที่นอกจาก “ผิดธรรมชาติ” และทำให้ไม่รู้สึกหิว แล้วยังสร้างความ “ไม่สะดวกสบาย” อีกด้วยพอสมควร เช่นไม่สะดวกเวลาจะเดินไปทำนั่นทำนี่ เป็นต้น

พยาบาลพิเศษสระผมให้ (ครั้งแรกหลังการผ่าตัด) และโกนหนวดเองแบบ “เต็มรูป” เป็นครั้งแรกหลังการผ่าตัดเช่นเดียวกัน

เท่ากับว่าชีวิตเข้าสู่ “สภาพปกติ” มากขึ้นเป็นลำดับ

หมอบอกว่าสภาพฟื้นตัวโดยทั่วไปอยู่ในเกณฑ์ดีน่าพอใจ ยังต้องรอผลการวิเคราะห์ก้อนเนื้อ และอาจต้องให้แพทย์เฉพาะทางช่วยดูปัญหาการพูดออกเสียงไม่ได้

ตอนเช้าได้ตักบาตรพระ 1 รูป ท่านมาจากวัดบวรฯ ทราบว่าเป็น มรว. บวชมา 9 พรรษา แล้ว

หมายเหตุท้ายเรื่อง : ธรรมะแห่งชีวิต

            ผมยังคงต้องรับการรักษาพยาบาลและพักฟื้นอยู่ในห้องผู้ป่วยพิเศษอีกเป็นเวลานาน เนื่องจากเป็นการ “ผ่าตัดใหญ่” ที่ตัดอวัยวะสำคัญถึง 4 อย่าง ได้แก่ (1) ส่วนหัวของตับอ่อนประมาณ 30% ของตับอ่อนทั้งหมด รวมถึงก้อนเนื้องอกซึ่งติดอยู่ที่ส่วนหัวของตับอ่อนนั้น (2) ท่อน้ำดีพร้อมด้วยถุงน้ำดี (ทำให้เป็นคน “ไม่มีดี”!) (3) กระเพาะประมาณ 30%ของกระเพาะทั้งหมด และ(4) ลำไส้เล็กส่วนต้นที่ออกจากกระเพาะหรือ Duodenum ประมาณ 30 ซม.  ดังนั้นต้องใช้เวลาค่อยๆรักษาส่วนที่ผ่าตัดและได้รับการ “ต่อเชื่อม” ใหม่ ซึ่งมีชื่อทางการแพทย์ว่า “Whipple Operation” (สำหรับการผ่าตัดอวัยวะในช่องท้องแล้วต่อเชื่อมใหม่ในลักษณะนี้)

                เมื่อเวลาผ่านไป ผมก็ได้รับการ “ถอดสายท่อ” (ซึ่งมีอยู่หลายสายด้วยกัน ทั้งประเภท “นำเข้า” และประเภท“ระบายออก”) ออกจากร่างกายทีละอย่างๆ 

                สายท่อซึ่งสำคัญที่สุด ต้องอยู่ในร่างกายนานที่สุด และอ่อนไหวต่อการมีชีวิตอยู่ของผมมากที่สุด คือ “สายท่อระบายน้ำย่อยจากตับอ่อน” ซึ่งในที่สุดก็สามารถ “ดึง” (โดยไม่แรงนัก)ออกจากช่องท้องของผมได้ เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2547  

                ทำให้ผมสามารถออกจากห้องพักผู้ป่วยในโรงพยาบาลและกลับไปพักฟื้นต่อที่บ้านได้ในวันที่ 24 ตุลาคม 2547

                รวมแล้วผมต้องอยู่โรงพยาบาลทั้งหมด 48 วัน โดยผมได้ไปพักฟื้นต่อที่บ้าน (ใช้ ชีวิตในบ้าน”) อีกประมาณเดือนครึ่ง แล้วจึงเริ่มใช้ “ชีวิตนอกบ้าน” ได้ด้วยตามสมควร ซึ่งรวมถึงการเดินทางไปต่างจังหวัดและต่างประเทศเป็นบางครั้ง

                หลังจากนั้นสุขภาพของผมค่อยๆกลับเข้าอยู่ในเกณฑ์ “ปกติ” พอสมควร จนกระทั่งมีเหตุให้ต้อง “เข้านอนโรงพยาบาล” อีกครั้งเมื่อเร็วๆนี้ (9-15 ตุลาคม 2550) ด้วยโรค “หลอดเลือดหัวใจอุดตัน” ที่ทำให้ผมเกือบเป็นอันตรายถึงชีวิตหากแพทย์พาไปโรงพยาบาลไม่ทันเวลา โดยครั้งนี้เป็นการอยู่ห้อง “ซีซียู” (CCU ) 4 วัน ( CCU คือ Coronary Care Unit หรือ “หออภิบาลผู้ป่วยวิกฤตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด”) 

                จาก “ความพลิกผลันในชีวิต” ที่เกิดขึ้นในครั้งล่าสุดนี้ ผมได้เคยเขียนสรุปเป็นข้อคิดเอาไว้ ซึ่งผมขอนำมาเป็นบทสรุปอย่างเดียวกันสำหรับ “ประสบการณ์ชีวิตจากห้องไอ ียู ที่เล่ามาข้างต้น บทสรุปเชิงข้อคิดของผมเป็นดังนี้ครับ

                “ความพลิกผันในชีวิตเกิดขึ้นได้เสมอ !  โดยเฉพาะในเรื่องสุขภาพ !

                นี่คืออนิจจัง (ไม่เที่ยง) !

                นี่คือสัจธรรม (ความจริงแท้) !

                นี่คือชีวิต !

                เราจึงควรดำเนินชีวิตอย่างมีสติ ใช้ปัญญา หมั่นทำความดี หมั่นทำคุณประโยชน์ที่เหมาะสมให้แก่ผู้อื่น ให้แก่หมู่คณะ   ให้แก่ส่วนรวม ให้แก่สังคม ให้แก่ประเทศ ให้แก่โลก ให้แก่มนุษยชาติ เท่าที่พึงทำได้อยู่เสมอ

                เพื่อว่าเมื่อถึงเวลาต้องอำลาชีวิต เราก็จะรู้สึกพร้อม เพราะรู้อยู่ว่าเราได้ทำหน้าที่ของคนคนหนึ่งมาอย่างเพียงพอและพอสมควรแล้ว

                ……. สำหรับคุณหมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์  แม้จะต้องจากโลกนี้ไปก่อนเวลาอันควรด้วยอายุเพียง 55 ปี แต่ระหว่างมีชีวิตอยู่ คุณหมอสงวนได้ประกอบคุณความดีอยู่เป็นเนื่องนิตย์และอย่างเอนกอนันต์  คุณหมอสงวนมีหัวใจเพื่อเพื่อนมนุษย์อย่างมหาศาล โดยเฉพาะประชาชนฐานรากและผู้ยากไร้ คุณหมอสงวนเป็นนักสร้างเสริมสุขภาพเพื่อประชาชนและเป็นบุคคลชั้นแนวหน้าที่บุกเบิกพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศไทยจนเป็นระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ประเทศไทยใช้อยู่ทุกวันนี้ แม้ประสบอุปสรรคปัญหาใหญ่หลวงนานัปการ รวมถึงปัญหาสุขภาพของตนเอง คุณหมอสงวนก็มิได้ย่อท้อ ยังคงมุ่งมั่น บากบั่น เดินหน้าพัฒนาระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าจนมีความก้าวหน้าลงหลักปักฐานและได้รับความสำเร็จเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปทั้งในประเทศไทยและในระดับนานาชาติ

                ถือได้ว่า คุณหมอสงวนได้ทำหน้าที่ในชีวิตของคนคนหนึ่งในช่วงเวลาเท่าที่ธรรมชาติกำหนดให้ อย่างมีประโยชน์สร้างสรรค์และมีคุณค่าเต็มที่แล้ว การทำหน้าที่ในชีวิตของคุณหมอสงวนสมบูรณ์ที่สุดแล้ว เราเชื่อมั่นได้ว่าวิญญาณของคุณหมอสงวนจะไปสู่สุคติอย่างแน่นอน……

                                                                                                                            สวัสดีครับ

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/160952

<<< กลับ

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 43 (28 ธ.ค. 51)

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 43 (28 ธ.ค. 51)


ประชุมอำลาในเดือนสุดท้ายของการทำหน้าที่ในรัฐบาล

                เดือนมกราคม 2551 น่าจะเป็นเดือนสุดท้ายของการทำหน้าที่ของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ซึ่งก็ย่อมจะเป็นเดือนสุดท้ายของการทำหน้าที่ของผมในรัฐบาลไปด้วย

                คณะรัฐมนตรีได้มีการประชุม “นัดสุดท้าย เมื่อวันอังคารที่ 22 มกราคม 2551 โดยพิจารณาวาระปกติ 34 เรื่องและวาระจร 19 เรื่อง ประชุมจนถึง 17.00 น. จึงเสร็จซึ่งขณะนั้นเหลือรัฐมนตรีนั่งประชุมอยู่รวม 16 คน

                ส่วนคณะกรรมการชุดต่างๆที่ผมได้เข้าร่วมประชุมเป็น “นัดสุดท้าย” ในช่วงเดือนมกราคม 2551 ได้แก่

                Ø     (เป็นประธาน) คณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลเจริญพระชนมายุ ครบ 7 รอบ 6 พฤษภาคม 2550 (ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์) ประชุมเมื่อ 4 ม.ค. 51

                Ø       (ร่วมประชุม) คณะกรรมการการเคหะแห่งชาติ เมื่อ 10 ม.ค. 51

                 Ø       (เป็นประธาน) คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) เมื่อ 14 ม.ค. 51

                 Ø     (เป็นประธาน) คณะกรรมการกองทุนพัฒนาการกีฬา เมื่อ 14 ม.ค. 51 โดยกำหนดจะมีการประชุมอีกครั้งในวันที่ 18 ม.ค. 51 แต่ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ได้ขอให้เลื่อนการประชุมครั้งนี้ไปก่อน

                 Ø       (เป็นประธาน) คณะกรรมการศึกษาการพัฒนาภาคมหานครอย่างบูรณาการ (กทม. นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร) เมื่อ 15 ม.ค. 51

                Ø       (เป็นประธาน) คณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ เมื่อ 16 ม.ค. 51

                Ø       (เป็นประธาน) คณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เมื่อ 17 ม.ค. 51

                 Ø       (เป็นประธาน) คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ เมื่อ 17 ม.ค. 51

                 Ø       (ร่วมประชุม) คณะกรรมการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) เมื่อ 18 ม.ค. 51

                 Ø     (เป็นประธานแต่ไม่ได้เข้าประชุมเพราะติดภารกิจอื่น) คณะกรรมการฝ่ายจัดสร้างพระเมรุ สิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุ และบูรณะปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศ ในงานพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อ 21 ม.ค. 51

                Ø       (เป็นประธาน) คณะกรรมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ เมื่อ 21 ม.ค. 51

                Ø     (เป็นประธานแต่ไม่ได้เข้าประชุมเพราะติดประชุม ครม. ซึ่งประชุมนานเป็นพิเศษ) คณะกรรมการวางกรอบแนวทางการศึกษาระบบการจัดการลุ่มแม่น้ำยมโดยใช้กระบวนการนโยบายสาธารณะแบบบูรณาการ เมื่อ 22 ม.ค. 51

                 Ø     (เป็นประธานแต่ไม่ได้เข้าประชุมเพราะยังประชุม ครม. ไม่เสร็จ) คณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ (กสค.) เมื่อ 22 ม.ค. 51

                Ø       (เป็นประธาน) คณะกรรมการส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนาการแข่งขันของอุตสาหกรรม MICE เมื่อ 23 ม.ค. 51

                Ø       (ร่วมประชุม) คณะกรรมการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) เมื่อ 23 ม.ค. 51

                Ø       (เป็นประธาน) คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน เมื่อ 23 ม.ค. 51

                Ø     (เป็นประธาน) คณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 2 (ไม่มีเรื่องให้ “กลั่นกรอง” แล้ว แต่เป็นการประชุมสรุปวิเคราะห์ผลการดำเนินงานและระดมความคิดสรุปข้อสังเกตเพื่อบันทึกเป็นเอกสารไว้) เมื่อ 24 ม.ค. 51

                Ø       (เป็นประธานเปิดการประชุม) คณะกรรมการอำนวยการโครงการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชน เมื่อ 24 ม.ค. 51

                Ø     (เป็นประธาน) คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) (ซึ่งในเดือนมกราคมนี้ มีการประชุมรวม 3 ครั้ง แต่ละครั้งใช้เวลากว่า 5 ชั่วโมง รวมถึงครั้งสุดท้ายนี้ ซึ่งเลิกประชุม เมื่อเวลา 20.30 น.) เมื่อ 24 ม.ค. 51

                Ø       (เป็นประธาน) คณะกรรมการติดตามการแก้ไขปัญหากรณีร้องเรียนผ่านคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เมื่อ 25 ม.ค. 51

                Ø       (เป็นประธาน) คณะกรรมการช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจน (กชก.) เมื่อ 25 ม.ค. 51

                เมื่อเป็นการประชุมนัดสุดท้ายที่ผมเข้าร่วมด้วย ผมจึงอำลาคณะกรรมการแต่ละคณะ และส่งความปรารถนาดีให้งานของคณะกรรมการทุกคณะมีความเจริญก้าวหน้าต่อไป รวมทั้งได้รับการสนับสนุนด้วยดีจากรัฐบาลใหม่ด้วย

                                                                                                                สวัสดีครับ

                                                                                                              ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/161915

<<< กลับ

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 44 ( 8 ก.พ. 51 ) (1)

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 44 ( 8 ก.พ. 51 ) (1)


เสร็จสิ้นภารกิจหลังจากที่ “คลุกวงในทำเนียบ” อยู่ 16 เดือน

ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของการทำหน้าที่ในรัฐบาล   ผมได้เข้าประชุมนัดสุดท้าย (ภายใต้รัฐบาล พลเอกสุรยุทธ์) ของคณะกรรมการอีกจำนวนหนึ่ง ได้แก่

  • คณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประชาชนอยู่ดีมีสุข (ท่านนายกฯ เป็นประธาน) (เมื่อ 28 ม.ค. 51)
  • (ร่วมประชุม) คณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) (ดร.สมชัย ฤชุพันธ์ เป็นประธาน) (เมื่อ 28 ม.ค. 51)
  • (เป็นประธาน) คณะกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการฝายราษีไศล (เมื่อ 30 ม.ค. 51)
  •  (เป็นประธาน) คณะกรรมการกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ (เมื่อ 30 ม.ค. 51)
  • (เป็นประธาน) คณะกรรมการสนับสนุนการจัดสวัสดิการชุมชนท้องถิ่น (เมื่อ 30 ม.ค.51)

คณะกรรมการหลังสุดนี้ ถือเป็นคณะกรรมการชุดสุดท้าย และเป็นการประชุมนัดสุดท้ายที่ผมเข้าร่วมประชุมในฐานะประธาน อันเนื่องมาจากการมีตำแหน่งในรัฐบาล

ในรอบเดือนสุดท้ายของการทำหน้าที่ในรัฐบาล ผมยังได้ปฏิบัติภารกิจและมีกิจกรรมที่เห็นควรบันทึกไว้เพิ่มเติมดังต่อไปนี้ครับ

  • เข้าร่วมพิธีถวายความเคารพพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ โดยมีพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมด้วย เมื่อวันที่ 2 ม.ค.51 (บ่าย – พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ เสด็จ) วันที่ 4 ม.ค. 51 (เช้ามืด- สมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาฯ เสด็จ) และวันที่ 9 ม.ค. 51 (บ่าย – พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ เสด็จ)
  • ประชุมติดตามผลและหารือเรื่องการส่งเสริม “วังปลา” ในบริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น ที่วัดระฆังโฆษิตาราม” ซึ่งได้ผลเบื้องต้นน่าพอใจ (เมื่อ 4 ม.ค. 51)
  • ประชุมสรุปงานกับผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมปลัดและรองปลัดสำนักนายกยกรัฐมนตรี (เมื่อ 7 ม.ค. 51)
  • ประชุมหารือรอบพิเศษกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง พม. พร้อมผู้บริหารระดับสูง(รองอธิบดีขึ้นไป) ของกระทรวง พม. เรื่องเกี่ยวกับสถานการณ์ภายในกระทรวง พม. (เมื่อ 8 ม.ค. 51)
  • เป็นประธานมอบรางวัลการใช้ภาษาไทยดีเด่น จัดโดยราชบัณฑิตยสถาน (เมื่อ 9 ม.ค. 51)
  •        เป็นผู้กราบบังคมทูล รายงานต่อองค์ประธาน(สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ) ในพิธีเปิดงาน “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการอนุรักษ์มรดกไทย” จัดโดยกระทรวงวัฒนธรรม (เมื่อ 11 ม.ค. 51)
  • ประชุมหารือกับ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (คุณหญิงทิพาวดี) และผู้ที่เกี่ยวข้องอีกจำนวนหนึ่ง เรื่องเกี่ยวกับ “โทรทัศน์สาธารณะ” (ได้แก่ Thai Public Broadcasting Service หรือ Thai PBS หรือ TPBS) ซึ่งได้มีพระราชบัญญัติรองรับ โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 15 เม.ย. 51 (เมื่อ 11 ม.ค. 51)
  • ประชุมหารือคลี่คลายปัญหาความล่าช้าในการจัดการเรื่อง ที่ดินสำหรับประชาชน ที่จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งท่านนายกฯ ขอให้เร่งรัดให้แล้วเสร็จโดยเร็ว (เมื่อ 18 ม.ค. 51)
  • เป็นประธานและกล่าวปาฐกถา ในพิธีปิดเวทีกลไกการมีส่วนร่วมของเด็ก เยาวชน และครอบครัว สู่วาระเด็กและเยาวชนปี 2551 (เมื่อ 20 ม.ค. 51)
  • เป็นประธานและกล่าวปาฐกถาในพิธีเปิดการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซี่ยน ( Asean Tourism Ministers หรือ “ATM”) ครั้งที่ 11 (เมื่อ 21 ม.ค. 51)
  • เข้าร่วมในพิธีเปิดการประชุมรัฐสภา ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม (เมื่อ 21 ม.ค. 51)
  • เป็นประธานนำคณะ(จากกระทรวงวัฒนธรรม) เข้าเฝ้าทูลเกล้าฯ ถวายแผ่นทองคำจารึกพระราชสมัญญา “พระบิดาแห่งการอนุรักษ์มรดกไทย” แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฏราชกุมาร ทรงเป็นผู้รับ ณ วังศุโขทัย (เมื่อ 23 ม.ค. 51)
  • เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมคณะกรรมการอำนวยการโครงการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชน และบรรยายพิเศษเรื่อง “นโยบายด้านสังคมต่อการพัฒนาศักยภาพของชุมชน” ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย จัดโดยกระทรวงวัฒนธรรม (เมื่อ 24 ม.ค. 51)
  • กล่าวปาฐกถาเรื่อง “ทิศทางข้างหน้าของสวัสดิการสังคมไทย” ในงานสัมมนาทางวิชาการเนื่องในวันสถาปนาคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ครบรอบ 45 ปี ที่หอประชุมเล็ก (หอประชุมศรีบูรพา) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ (เมื่อ 25 ม.ค. 51)
  • เป็นประธานและกล่าวปาฐกถาในพิธีปิดการประชุมสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 3 ที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี (เมื่อ 26 ม.ค. 51)
  • ร่วมสังสรรค์และรับประทานอาหารกลางวันกับกลุ่มศิษย์เก่าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา รุ่น 21 (ต.อ. 21 ซึ่งเริ่มเข้าศึกษาในปี พ.ศ. 2501) (เมื่อ 27 ม.ค. 51)
  • เป็นประธานในพิธีสงฆ์สมโภชน์ แผ่นศิลา “หลักจรรยาบรรณ พม.” ที่กระทรวง พม. (อาคารกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ) จัดโดยคณะผู้บริหารและข้าราชการ พม. (โดยมี รมช.พม. ร่วมอยู่ด้วย) (เมื่อ 28 ม.ค. 51)
  • ร่วมประชุมและให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการเตรียมการขับเคลื่อนสภาองค์กรชุมชน (ซึ่งมีพระราชบัญญัติ สภาองค์กรชุมชน พ.ศ. 2551 รองรับ โดยได้ผ่านความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อ 28 พ.ย. 50 และอยู่ระหว่างรอลงในราชกิจจานุเบกษา เพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมาย) ที่ห้องประชุมของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ถนนนวมินทร์ คลองจั่น เขตบางกะปิ (เมื่อ 28 ม.ค. 51)
  •         เป็นตัวแทนท่านนายกรัฐมนตรีไปเขียนบันทึกไว้อาลัยแด่ นายพลซูฮาร์โต อดีตประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ที่สถานทูตอินโดนีเซีย ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ (เมื่อ 28 ม.ค. 51)
  • เข้าร่วมในพิธีเปิด “หอเกียรติภูมินายกรัฐมนตรี” ณ บ้านมนังคศิลา ดำเนินการโดย สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (เมื่อ 28 ม.ค. 51 ตอนบ่าย)
  • ร่วมงาน “รวมพลังสร้างสรรค์ พม. เพื่อก้าวต่อไป” จัดโดย กระทรวง พม. ที่โรงแรมปริ๊นซ์พาเลซ โดยมีผู้บริหารกระทรวงและข้าราชการจากภูมิภาค จำนวนพอสมควรเข้าร่วมงาน ซึ่งผมและ รมช.พม. (นพ.พลเดช) ได้ใช้โอกาสนี้กล่าวชื่นชมการปฏิบัติหน้าที่ที่ดี ขอบคุณ และอำลาข้าราชการของกระทรวงทั้งหมดด้วย (เมื่อ 28 ม.ค. 51 ตอนค่ำ)
  • บันทึกเทปโทรทัศน์ ( 1 นาที) กล่าวคำอวยพรให้กับชาวจีนในประเทศต่างๆ จัดทำโดยสถานีโทรทัศน์ NTDTV (โดยคุณไพศาล สุริยะวงศ์ไพศาล และคณะ) สำหรับออกอากาศไปทั่วโลกในโอกาสวันตรุษจีนปีนี้ (7ก.พ. 51)(บันทึกเทปที่ห้องทำงานผม เมื่อ 29 มกราคม 51)
  • ประชุมคณะผู้ก่อตั้ง “มูลนิธิหัวใจอาสา” ซึ่งผมเป็นผู้ริเริ่มจัดตั้งขึ้น สำหรับเป็นฐานในการทำกิจกรรมเพื่อการพัฒนาสังคม ภายหลังจากที่ผมพ้นภารกิจการเป็นรัฐบาลไปแล้ว (ประชุมในห้องทำงานผม เมื่อ 29 ม.ค. 51)
  • ประชุมอำลาผู้บริหารกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยมี รมช. (นพ.พลเดช) ร่วมด้วย และมีผู้บริหารตั้งแต่ระดับ 8 – 9 ขึ้นไป ซึ่งอยู่ในส่วนกลาง จำนวนประมาณ 70 คน เข้าร่วมประชุม ณ ห้อง ปกรณ์ อังศุสิงห์ กระทรวง พม. ใช้เวลาสนทนากัน 2 ชั่วโมงเต็ม แล้วผม หมอพลเดช และทีมงานได้ไปเคารพอำลาต่อรูปปั้นของผู้ก่อตั้งกรมประชาสงเคราะห์ (จอมพล ป.พิบูลสงคราม) พร้อมกับรูปปั้นของผู้มีคุณูปการต่อวงการประชาสงเคราะห์ (คุณปกรณ์ อังศุสิงห์) (ซึ่งขณะนี้มีแผ่นศิลา “หลักจรรยาบรรณ พม.” อยู่ตรงกลางระหว่างรูปปั้นทั้งสอง) ต่อศาลพระภูมิประจำกระทรวง ต่อพระประชาบดี (เทพประจำกระทรวง) ทั้งที่อยู่ในบริเวณลานกลางแจ้ง หน้ากระทรวง และที่อยู่บนชั้น 2 ของ “ตึกวัง” ต่อภาพถ่ายของ “เจ้าของวัง” (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวุฒิไชยเฉลิมลาภ กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร ซึ่งอยู่บนชั้น 3 ของ “ตึกวัง” และต่อ “ศาลกรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร”  ซี่งอยู่หน้า “ตึกวัง” เป็นจุดสุดท้าย และเป็นการเสร็จสิ้นการอำลากระทรวง พม. อย่างเป็นพิธีการ

ในการนี้ ผมได้มอบหนังสือ “คู่มือมนุษย์” โดยท่านพุทธทาสภิกขุ ให้แก่ผู้บริหารที่มาร่วมประชุม และแก่ผู้สื่อข่าวประจำกระทรวง พม. ที่มาทำข่าว เพื่อแสดงความปรารถนาดีและเป็นของที่ระลึกประกอบการอำลาด้วย (เมื่อ 29 ม.ค. 51)

  • ร่วมประชุมหารือเกี่ยวกับการจัดทำหลักสูตร “ประกาศนียบัตรผู้นำชุมชน” ของ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ที่ห้องทำงานผม (เมื่อ 29 ม.ค. 51)
  • ให้สัมภาษณ์กับเจ้าหน้าที่ของ “สถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD) หัวข้อ “รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล” ที่ห้องทำงานผม (เมื่อ 29 ม.ค. 51)
  • ร่วมในงานพิธีมอบเงินรางวัล (จากกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ซึ่งผมเป็นประธาน) แก่นักกีฬาที่ชนะในการแข่งขันนานาชาติที่ผ่านมาแล้ว และยังมิได้มีการมอบเงินรางวัล ซึ่งรวมถึงการแข่งขันกีฬาอาเซียนพาราเกมส์ ที่เพิ่งเสร็จสิ้นไปด้วย โดยท่านนายกรัฐมนตรีเป็นประธานผู้มอบเงินรางวัล และมีการเลี้ยงอาหารค่ำแก่ผู้มาร่วมงานด้วย ณ ตึกสันติไมตรี (เมื่อ 29 ม.ค. 51 ตอนค่ำ)
  • ทำพิธีเคารพอำลาสถานที่ทำงานอันได้แก่ “ทำเนียบรัฐบาล” โดยการสักการะศาลพระพรหม ซึ่งอยู่บนหลังคาของตึกไทยคู่ฟ้า (“บ้านนรสิงห์” เดิม) และ “ศาลพระภูมิเจ้าที่” ประจำทำเนียบรัฐบาล โดยมีทีมงาน (ที่มาช่วยงานผมและมาจากภายนอกทำเนียบรัฐบาล) เข้าร่วมในการเคารพอำลาครั้งนี้ด้วย (เมื่อ 30 ม.ค. 51 ตอนกลางวัน)

ในการนี้ ได้มีผู้สื่อข่าวจำนวนหนึ่งมาทำข่าว (ทั้งโทรทัศน์ วิทยุ และหนังสือพิมพ์) โดยผมได้ให้สัมภาษณ์ กล่าวคำอำลา และมอบหนังสือ “คู่มือมนุษย์” (โดยท่านพุทธทาสภิกขุ) เพื่อแสดงความปรารถนาดีและเป็นที่ระลึกแก่ผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาลทุกคน (ไปฝากไว้ที่ “รังนักข่าว” ทั้ง 2 รัง สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้รับ)

  • เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินในพิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2550 ของมูลนิธิสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม (เมื่อ 30 ม.ค. 51 ตอนบ่าย)
  • ร่วมงานพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำผู้ที่ได้รับพระราชทานรางวัล สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2550 ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเป็นเจ้าภาพ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม (เมื่อ 30 ม.ค. 51 ตอนค่ำ)
  • เป็นวิทยากรบรรยายพิเศษ เรื่อง “แนวคิดเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน” ในโครงการสัมมนาซึ่งจัดโดย สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่โรงแรมใบหยกสกาย ประตูน้ำ (เมื่อ 31 ม.ค. 51)
  • พบสนทนาและอำลาผู้บริหารจำนวนหนึ่ง ของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ห้องทำงานผม (เมื่อ 31 ม.ค. 51)
  • เป็นประธานในพิธีและสักขีพยานรวมถึงกล่าวแสดงความเห็นในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือก่อตั้ง “สภาความร่วมมือเครือข่ายความปลอดภัยด้านอาหาร” ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ชั้น 3 (เป็นความร่วมมือระหว่าง 19 หน่วยงาน ประกอบด้วย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณะสุข สสส. ธกส. เป็นต้น) (เมื่อ 31 ม.ค. 51)
  • ไปร่วมประชุมคณะกรรมการสถาบัน ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มูลนิธิอาจารย์ป๋วย ณ ห้องสโมสรปัญญา ดำหนักใหญ่ วังเทวะเวศม์ ธนาคารแห่งประเทศไทย บางขุนพรหม (ต้องทำหน้าที่ประธานการประชุม เนื่องจาก มรว.ปรีดิยาธร เทวกุล ประธานตัวจริง ไม่สามารถมาประชุมได้) (เมื่อ 31 ม.ค. 51 ตอนเย็น – ค่ำ)
  • ไปร่วมกับคณะผู้บริหารสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) และผู้นำชุมชนที่ขับเคลื่อนเรื่อง “สภาองค์กรชุมชน” ในการไปเยี่ยมสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้สื่อข่าวของเครือ “มติชน” ที่สำนักงานหนังสือพิมพ์มติชน โดยสนทนาเกี่ยวกับเรื่อง “สภาองค์กรชุมชน” และอื่นๆ (เมื่อ 1 ก.พ. 51 ตอนกลางวัน)
  • ไปร่วมหารือเกี่ยวกับ “ทิศทางและยุทธศาสตร์การจัดการทางสังคม” ซึ่งเป็นการขอหารือโดยผู้บริหารของ “วิทยาลัยการจัดการทางสังคม (วจส.)” ที่ห้องประชุม สสส. อาคารเอสเอ็มทาวเวอร์ (เมื่อ 1 ก.พ. 51 ตอนบ่าย)
  • ร่วมสังสรรค์ขอบคุณและอำลาคณะทำงานของรองนายกรัฐมนตรี(ไพบูลย์ ฯ) ที่ร้านอาหาร “พึงชม” ซอยอารีย์สัมพันธ์ ถนนพหลโยธิน โดยผมได้มอบหนังสือ “คู่มือมนุษย์” ให้กับทุกคนเป็นที่ระลึกด้วย (เมื่อ 1 ก.พ. 51 ตอนค่ำ)

(ก่อนไปร้านอาหาร “พึงชม” ได้แวะไปที่ร้านอาหาร “รถเสบียง” ซึ่งไม่ไกลกันเพื่อกล่าวขอบคุณ อำลา และมอบหนังสือ “คู่มือมนุษย์” แก่คณะทำงานของ รมช.พม. (นพ.พลเดช) ซึ่งถือว่าเป็นคณะทำงานที่ช่วยงาน รมว.พม. ด้วย)

  • เป็นประธานและกล่าวปาฐกถาในพิธีมอบ “รางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ” ซึ่งประกอบด้วย รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ รางวัลผลงานวิจัย รางวัลวิทยานิพนธ์ ประจำปี 2550 และรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2551 รวมผู้รับรางวัลทั้งหมด 70 คน ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี (เมื่อ 2 ก.พ. 51 ตอนเช้า แล้วรับประทานอาหารกลางวันร่วมกันกับผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และผู้ได้รับรางวัลทั้งหมด โดยมีการกล่าวขอบคุณและอำลากันด้วย)
  • เป็นผู้กราบบังคมทูลรายงานต่อองค์ประธาน คือ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในพิธีเปิดนิทรรศการงาน “วันนักประดิษฐ์” และ “วันนักประดิษฐ์นานาชาติ” ครั้งที่1 ( The First International Inventor’s Day Convention – The 1st IIDC ) ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี (เมื่อ 2 ก.พ. 51 ตอนเย็น และได้ตามเสด็จทรงเยี่ยมทอดพระเนตรนิทรรศการในจุดต่างๆ อยู่ประมาณ 1.5 ชม. จนเสด็จพระราชดำเนินกลับ เมื่อประมาณ 19.00 น.)
  • เป็นประธานการประชุม “คณะที่ปรึกษาสถาบันธุรกิจเพื่อสังคม” ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (เมื่อ 4 ก.พ. 51)
  • ร่วมงานสังสรรค์อำลาของคณะรัฐมนตรี พร้อมคู่สมรส เลขานุการ และที่ปรึกษาโดยการล่องเรือ “อังสนา” ของกองทัพเรือ (เมื่อ 4 ก.พ. 51 ตอนค่ำ)
  • แวะไปทำเนียบรัฐบาลเป็นครั้งสุดท้าย ที่ยังอยู่ในตำแหน่ง “รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นตงของมนุษย์” เนื่องจากมีเอกสาร 2 เรื่อง ที่เจ้าหน้าที่แจ้งว่าสมควรไปลงนามและเขียนข้อความให้ (เมื่อ 5 ก.พ. 51 ตอนบ่าย)

วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2551 เวลาบ่าย ได้มี พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี จนครบคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลใหม่ และคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลใหม่ (ซึ่งมีคุณสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี) ได้เข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณตน ต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในเวลาประมาณ 16.30 น. ของวันเดียวกัน

รัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งผมรวมอยู่ด้วย จึงหมดวาระและหมดภารกิจอย่างสมบูรณ์ ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2551 นี้

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/164228

<<< กลับ

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 44 (8 ก.พ. 51) (2)

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 44 (8 ก.พ. 51) (2)


  รัฐบาลที่มีพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี และมีผมร่วมอยู่ด้วยนี้ มีภารกิจสำคัญที่สุดคือ การนำพาพร้อมกับสนับสนุนการนำพาประเทศกลับสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ให้ได้โดยเร็วที่สุด ซึ่งผมคิดว่าภารกิจดังกล่าวได้สำเร็จลุล่วง อย่างเรียบร้อยและน่าพึงพอใจ ส่วนภารกิจอื่น ๆ ของ “รัฐบาลช่วงเปลี่ยนผ่าน” นั้น ผมคิดว่าเราก็ทำได้พอสมควรตามสภาวะและปัจจัยที่เอื้ออำนวยพร้อมกับเป็นข้อจำกัดนานาประการ

                พร้อมกับการหมดวาระและหมดภารกิจของผมในรัฐบาล (หลังจากที่ได้ “คลุกวงในทำเนียบ” อยู่ 16 เดือน) ผมจึงขอจบการเขียน “ จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม” ไว้เพียงฉบับที่ 44 นี้ ผมขอถือโอกาสนี้ขอบคุณ “ญาติมิตรพัฒนาสังคม” ทุกท่านที่ได้สนใจเปิดอ่าน “จดหมาย” ของผม และขออภัยหากข้อเขียนของผมบางส่วนบางตอน อาจทำให้บางท่านผิดหวังหรือไม่ชอบใจด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง รวมทั้งขออภัยท่านที่ตั้งคำถามกับผมแล้วผมมิได้ตอบ

                และผมขอถือโอกาสนี้เช่นเดียวกัน อวยพรให้ “ญาติมิตรพัฒนาสังคม” ทุกท่าน เจริญด้วยสุขภาพพลานามัย สติ ปัญญา ความดี ความสามารถ นำพาให้ชีวิตเป็นสุข สันติ มั่นคง พัฒนา ก้าวหน้า ยิ่ง ๆ ขึ้นตลอดไป

                หมายเหตุ :- สำหรับการบันทึกข้อความอย่างใดอย่างหนึ่งลงในบล็อก (Blog) paiboon.gotoknow.org เป็นครั้งคราว (ซึ่งไม่อยู่ในรูป “จดหมาย” นั้น) ผมจะยังคงทำต่อไป แต่อาจจะไม่บ่อยนัก

                                                                                                                      สวัสดีครับ

                                                                                                         ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/164775

<<< กลับ

ความเป็นอิสระกับการพัฒนาสหกรณ์ไทย (1)

ความเป็นอิสระกับการพัฒนาสหกรณ์ไทย (1)


   คำบรรยายพิเศษ

                                            เรื่อง ความเป็นอิสระกับการพัฒนาสหกรณ์ไทย

                                                          โดย นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

                            ในโอกาส การประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2550 สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย

                        วันที่ 15 ธันวาคม 2550  ณ ห้องบอลรูม โรงแรมบางกอกพาเลซ กรุงเทพฯ

เรียนท่านอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์  ท่านประธานกรรมการดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ท่านผู้แทนสหกรณ์ทุกประเภททั่วประเทศ และท่านผู้มีเกียรติที่เคารพครับ ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มาเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2550 ของสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ในวันนี้ ผมเองเป็นเพื่อนของขบวนการสหกรณ์มาเป็นเวลาเนิ่นนาน นับย้อนไปคงจะประมาณยี่สิบปี และก็ยังเป็นอยู่ทุกวันนี้นะครับ ฉะนั้นในวันนี้เป็นวันสำคัญที่เป็นการประชุมใหญ่สามัญประจำปีของ สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย และผมยังได้รับเกียรติให้บรรยายพิเศษในเรื่อง “ความเป็นอิสระกับการพัฒนาสหกรณ์ไทย” ซึ่งหลักการในเรื่องความเป็นอิสระ เป็นหลักการที่บรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 จึงนับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งครับ

จากที่ท่านประธานคณะกรรมการดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ได้รายงานมาก็ทราบว่าท่านทั้งหลายเป็นผู้นำสหกรณ์และเป็นผู้แทนของสหกรณ์ทุกประเภทจากทั่วประเทศ  ฉะนั้นวันนี้จึงเป็นโอกาสสำคัญยิ่งที่ท่านทั้งหลายได้มาประชุมร่วมกันและปรึกษาหารือกัน เกี่ยวกับการทำงานและร่วมกันหาแนวทางที่จะปฏิรูประบบสหกรณ์ของประเทศไทย ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถดำเนินการไปได้ด้วยดีและบังเกิดผลอย่างสร้างสรรค์

ผมเองได้ให้ความสนใจกับงานด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงการพัฒนาสหกรณ์มาโดยตลอด มีโอกาสได้ร่วมทำงานกับประชาชนกับชาวบ้านในระดับพื้นฐานมาเป็นเวลานาน และได้เห็นว่าระบบสหกรณ์เป็นแนวทางที่เหมาะสม ที่จะส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนในระดับพื้นฐานหรือฐานราก หรือชาวบ้านนั่นเอง ได้นำไปใช้เป็นแนวทางในการทำงานร่วมกัน และในโอกาสที่ผมได้เข้ามาทำงานรับผิดชอบทางด้านการพัฒนาสังคม ซึ่งรวมถึงงานด้านการพัฒนาบุคคลและการส่งเสริมกิจการสหกรณ์ของรัฐ ผมจึงมีความสนใจและอยากสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนได้นำแนวทางและหลักการของสหกรณ์ไปใช้ ไปประยุกต์ ไปส่งเสริมให้ถูกต้องและบังเกิดผล เพื่อว่าสังคมไทยจะได้ประโยชน์จากระบบสหกรณ์อย่างเต็มที่

ท่านผู้มีเกียรติครับ ที่ผมมาเป็นประธานในที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี ของสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย รวมทั้งได้รับเชิญให้บรรยายพิเศษ เรื่อง “ความเป็นอิสระกับการพัฒนาสหกรณ์ไทย” ในวันนี้ ถือเป็นโอกาสที่จะได้เสนอแนะแนวคิด แนวทางปฏิบัติ ที่จะปฏิรูประบบสหกรณ์ร่วมกัน เพื่อให้ทุกฝ่ายได้สามารถขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง การพัฒนาสหกรณ์ ให้บังเกิดผลต่อไปครับ

บัดนี้ได้เวลาอันสมควร ผมจึงขอเปิดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2550 ของสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย และขออำนวยพรให้การประชุมครั้งนี้บรรลุผลตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ทุกประการ ขอให้ท่านผู้มีเกียรติที่เข้าร่วมการประชุมทุกท่านประสบความสุข ความเจริญ มีสุขภาพพลานามัยที่สมบูรณ์แข็งแรง และร่วมกันทำให้ขบวนการสหกรณ์รวมทั้งสังคมไทย เจริญพัฒนาสถาพรต่อไป ขอบคุณครับ

ในเรื่อง “ความเป็นอิสระกับการพัฒนาสหกรณ์ไทย” ซึ่งคงต้องใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมงนะครับ ท่านผู้มีเกียรติครับ เรื่องของสหกรณ์เป็นเรื่องเก่ามาก เพราะเราทำกันมาหลายสิบปี อีกไม่นานจะถึงร้อยปี แต่ถ้าถามว่าแล้วสหกรณ์ดีหรือเปล่า ? เชื่อว่าทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่ายังดีอยู่ ไม่ว่าจะในประเทศไทยหรือประเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะในประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศพัฒนาแล้ว ตัวอย่างเช่นที่ท่านมีความร่วมมือกับประเทศสวีเดน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว เขาก็ยังมีระบบสหกรณ์ที่เจริญก้าวหน้า ในประเทศอเมริกา แคนาดา เยอรมัน ฝรั่งเศส ใกล้บ้านเรา ญี่ปุ่น เกาหลี เขาก็มีระบบสหกรณ์ที่ยังเข้มแข็ง และเป็นประโยชน์ ในประเทศไทยเราเอง ขบวนการสหกรณ์ก็ก้าวหน้าไปมากนะครับ มีจำนวนสหกรณ์ถึง เจ็ดแปดพันแห่งทั่วประเทศ มีสินทรัพย์รวมกันเกือบ ล้านล้านบาท มีสมาชิกประมาณ 10 ล้านคน เป็นขบวนการใหญ่ทีเดียว

ที่น่าสนใจคือขณะนี้ก็มีขบวนการภาคประชาชนที่เราเรียกว่าองค์กรชุมชน เป็นการรวมตัวกันของชาวบ้านในระดับหมู่บ้าน ตำบลหรือ เขตนิเวศที่ใช้ลักษณะสหกรณ์นั่นเอง และเป็นไปโดยสมัครใจนะครับ ไม่มีใครบังคับ ไม่ได้มีกฎหมายรองรับด้วยซ้ำไป แต่ที่สำคัญก็คือว่าขบวนการขององค์กรชุมชนกำลังก้าวหน้าไปด้วยดี ลักษณะการรวมตัวกันที่เรียกว่ากลุ่มต่างๆ กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มสัจจะ กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มเยาวชน ลักษณะทั่วไป คล้ายคลึงมากกับระบบสหกรณ์ รวมถึงกรณีของข้าราชการที่นำทรัพยากรคือเงินเข้ามาบริหารร่วมกัน  ก็ใช้ระบบสหกรณ์ ถ้าคิดจำนวนเงินที่หมุนเวียนอยู่ ถ้าไม่นับกองทุนหมู่บ้านนะครับ ก็หลายหมื่นล้านบาท แต่ถ้านับกองทุนหมู่บ้านด้วยก็กว่าแสนล้านบาท แสดงว่าระบบสหกรณ์ยังใช้ได้ ยังดี ทั้งในประเทศไทย และในนานาชาติ

เราจึงพอสรุปได้ว่า สหกรณ์เป็นเรื่องที่ดี เป็นเรื่องที่จะเป็นประโยชน์ ทั้งต่อประชาชนและต่อสังคม ยิ่งในยุคหลังๆ ที่สังคมได้ตระหนักถึงการอยู่ร่วมกันที่จะต้องคำนึงถึงมิติต่างๆ ที่ไม่ใช่มิติทางเศรษฐกิจ  และธุรกิจเท่านั้น  มีมิติทางสังคม  ทางจิตใจทางวัฒนธรรม ที่ต้องคำนึงถึง และยังมีมิติของการอยู่ร่วมกันไม่ใช่เฉพาะระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ แต่ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ คือต้องช่วยกันดูแลให้มนุษย์กับธรรมชาติผสมกลมกลืนกันได้อย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นที่มาของการจัดการ เช่น ในเรื่องปัญหาโลกร้อน ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนปัญหาการแก่งแย่งแข่งขันโดย เอาธุรกิจเป็นหลัก และนำไปสู่ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ สภาพสิ่งแวดล้อม และสภาพทางสังคม

และนั่นก็เป็นฐานที่มาอย่างหนึ่งของปรัชญาแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระราชทานพระราชดำรินี้ให้กับประชาชนและสังคมไทย และประชาชนสังคมไทยก็ได้น้อมรับ เอาแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ ปฏิบัติ หรือสานต่อ เพราะการปฏิบัติจำนวนมาก ที่ทำกันมาตามประเพณีวัฒนธรรมไทย มีลักษณะสอดรับ กับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอยู่แล้ว เมื่อมีพระราชดำรัสในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ก็ช่วยตอกย้ำถึงคุณค่า ประโยชน์ ความสำคัญของวิถีชีวิตแบบไทยที่สอดคล้องกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ขณะนี้ถือได้ว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้เป็นปรัชญานำทางการพัฒนาของประเทศไทย ตรงตามที่ได้ระบุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 และฉบับที่ 10 และในระดับนานาชาติ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงก็ได้เป็นที่รับรู้ ชื่นชม และสนใจประยุกต์ใช้กว้างขวางออกไป

.gotoknow-responsive-middle { width: 300px; height: 250px; } @media(min-width: 260px) { .gotoknow-responsive-middle { width: 300px; height: 260px; } } @media(min-width: 350px) { .gotoknow-responsive-middle { width: 336px; height: 280px; } } @media(min-width: 740px) { .gotoknow-responsive-middle { width: 728px; height: 90px; } }

ที่ล่าสุดคือการมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของเลขาธิการสหประชาชาติ มิสเตอร์บัน คี มูน ที่ได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสนทนากับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอยู่เกือบหนึ่งชั่วโมง ท่านได้ชมกิจกรรมในบริเวณพระราชวังสวนจิตรลดา และก็ได้เห็นพัฒนาการในประเทศไทยบนพื้นฐานของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีมิติที่ลึกซึ้งและกว้างขวาง

วิถีสังคมไทยกับแนวทางของสหกรณ์ ไปด้วยกันได้เป็นอย่างดี เพราะสหกรณ์คือการอยู่ร่วมกัน การคิด การทำ การบริหารจัดการร่วมกัน คำนึงถึงประโยชน์ร่วมกัน เพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน  ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์การพัฒนาประเทศไทยในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 ที่มีวิสัยทัศน์ให้ประเทศไทยเป็นสังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน สังคมจะอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันก็ต่อเมื่อประชาชนรวมตัวกัน คิดด้วยกัน ทำด้วยกัน ถ้าต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างทำก็จะแก่งแย่งแข่งขัน ไม่นำไปสู่การเป็นสังคมที่อยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน

สรุปอีกครั้งหนึ่งก็คือว่า ระบบสหกรณ์ หลักการสหกรณ์ วิธีการสหกรณ์ ยังดีอยู่ และจะยิ่งดีมากขึ้น ยิ่งจำเป็นและยิ่งสมควรกับประเทศไทย กับโลกในยุคสมัยปัจจุบันและอนาคต ข้อนี้คิดว่าเป็นข้อสรุปที่ชัดเจน หนักแน่น อย่างน้อยในใจผม แต่เชื่อว่าท่านทั้งหลายยิ่งอยู่ในขบวนการสหกรณ์ก็น่าจะมีความเห็นพ้องต้องกัน และถ้าเราได้มาแสดงความเห็นยืนยันร่วมกัน ก็ทำให้เรามีความชัดเจน หนักแน่น รวมทั้งอุ่นใจมากขึ้นว่า ยังเป็นความคิดที่ถูกต้อง ยังเป็นหลักการที่ดี ยังเป็นแนวทางที่ควรส่งเสริมสนับสนุน

คำถามต่อไปคือ แล้วทำไมระบบสหกรณ์ไทยถึงยังไม่พัฒนามากเท่าที่เราอยากเห็น ? พัฒนาบ้างนะครับ ไม่ใช่ไม่พัฒนา แต่ไม่มากเท่าที่เราอยากเห็น ยังมีปัญหา ยังมีข้อขัดข้อง ยังมีจุดอ่อน ให้เราต้องวิตก ต้องกังวล ต้องลำบาก เหมือนกับมีแรงฉุดอยู่ เดินหน้าก็เดินไปนะครับ แต่ขณะเดียวกันก็มีแรงฉุดแรงถ่วงอยู่ เราได้ยินเสียงบ่น เสียงวิเคราะห์วิจารณ์ทำนองนี้มาเป็น สิบสิบปี ผมเองได้ยินมาอย่างน้อยยี่สิบปี พูดคุยกับคนในขบวนการสหกรณ์ทั้งรุ่นเก่า รุ่นกลาง รุ่นใหม่ จนรุ่นเก่าที่อายุมากกว่าผมก็อาวุโสมากๆทีเดียว บางท่านลาโลกไปแล้ว บางท่านอยู่ในวัยที่จะไปเมื่อไหร่ก็คงไม่เป็นเรื่องแปลกประหลาดอะไร รวมทั้งผมด้วย จากนี้ไปวัยก็จะมากขึ้นๆ และได้ยินมาตลอดว่าสหกรณ์ไทย ยังไปไม่ดีไม่ไกลเท่าที่ควร เทียบกับหลายๆ ประเทศที่เขาพัฒนาไปได้ดี

คำถามคือ ทำไม ? ทำไม? และทำไม? คงจะมีข้อวิเคราะห์ต่างๆ นานาครับ ปัญหาสังคม  ปัญหาการบริหาร ชี้ไปตรงไหนคงจะไม่ผิด แต่ปัจจัย ที่เกี่ยวข้องมีมากและซับซ้อน ปัญหาสังคมนี่ไม่เหมือนปัญหาเทคนิค ปัญหาเทคนิคเราสามารถคลำหาสาเหตุ ซึ่งอาจจะมีจุดเดียว พอเจอสาเหตุที่จุดนั้นเราแก้ได้ แต่ปัญหาสังคมเหมือนกับร่างกายเรา เป็นระบบที่สลับซับซ้อนและเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน จี้ไปที่จุดไหนก็ถูก แต่ไม่ใช่ถูกที่เดียว มันถูกหลายแห่ง ทำให้จับต้นชนปลายได้ยาก

อีกอย่างหนึ่งที่มีการกล่าวถึงกันมาก คงจะเป็นที่มาของการตั้งหัวข้อให้ผมบรรยายในวันนี้ คือเรื่องของความเป็นอิสระ ความเป็นอิสระคงหมายถึง ความสามารถที่จะคิด ที่จะทำ ที่จะจัดการ โดยไม่ถูกครอบงำ กำกับ กดดันหรือชักจูงมากเกินไป และคงจะเป็นที่มาของการเคลื่อนไหว บรรจุสาระเข้าไปในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ท่านทั้งหลายคงทราบดีอยู่ว่าใน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ได้มีการบรรจุข้อความ ในแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐหมวด 5 มาตรา 85 ที่บอกว่า “รัฐต้องส่งเสริม สนับสนุน และคุ้มครองระบบสหกรณ์” สั้นๆ แต่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 ได้มีการเคลื่อนไหวจากท่านทั้งหลายที่อยู่ในขบวนการสหกรณ์ ที่จะบรรจุข้อความให้ละเอียดกว่าปี 2540 ในที่สุดท่านก็ได้ข้อความประมาณ 3 บรรทัด เยอะนะครับ สำหรับข้อความที่จะบรรจุลงในรัฐธรรมนูญ และมีคำว่า “ให้เป็นอิสระ” อยู่ในนั้น ให้รัฐคุ้มครองพัฒนาระบบสหกรณ์ให้มีความเป็นอิสระ ผมจึงวิเคราะห์ว่า ที่ผู้อยู่ในขบวนการสหกรณ์ได้พยายามบรรจุคำว่า “ความเป็นอิสระ” ไว้ในรัฐธรรมนูญ ก็คงจะเล็งเห็นว่า เหตุสำคัญเหตุหนึ่งที่ทำให้ระบบขบวนการสหกรณ์ไทย ยังไม่พัฒนาก้าวหน้าเท่าที่ควร น่าจะเป็นเรื่องความเป็นอิสระ แต่ดังที่ผมได้กล่าวไว้แล้วนะครับว่า ปัญหาทางสังคมก็มีหลายปัจจัยเกี่ยวพันซึ่งกันและกัน ฉะนั้นคงไม่ใช่เรื่องใดเรื่องหนึ่งเพียงเรื่องเดียว ความเป็นอิสระมีความสำคัญแต่คงไม่ใช่ประเด็นเดียว ถ้าแก้ที่ความเป็นอิสระเพียงจุดเดียว อาจไม่สามารถแก้ไขปัญหาทั้งหมดได้ ดีไม่ดีถ้าปัจจัยอื่นๆไม่พร้อม ความเป็นอิสระนั้นเอง อาจจะนำมาซึ่งปัญหาแทรกซ้อนได้

ท่านทั้งหลาย คงจะพอทราบเรื่องกองทุนพื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร  กองทุนเจ้าปัญหา ซึ่งในการก่อตั้งกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร มีเกษตรกรผู้หวังดีจำนวนมากขับเคลื่อน และออกแบบในกฎหมาย ให้มีความเป็นอิสระ ให้เกษตรกรมีบทบาทสูง ในการเข้ามาบริหารจัดการ จะต้องมีการเลือกตั้ง และเน้นคำว่าเลือกตั้งนะครับ กรรมการที่เป็นเกษตรกรทั่วไป ประมาณครึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมด หน่วยงานของรัฐ ผมยังไม่เห็นหน่วยงานไหนเลยครับ ที่จะมีตัวแทนของประชาชนเข้าไปมากขนาดนี้คือครึ่งหนึ่งนะครับ นี่ยังไม่นับรวมผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งก็อาจจะมีประเภทเกษตรกรเข้าไปอีกนะครับ และการเลือกตั้งก็บอกว่า ต้องเลือกตั้งอย่างกว้างขวาง เลยไปเลือกตั้งกันทั่วประเทศ เลือกตั้งครั้งหนึ่งใช้เงินประมาณ 60 ล้านบาท และในอดีตถ้าไม่นับครั้งล่าสุด มีคนไปเลือกตั้งประมาณ 3% จากผู้มีสิทธิ์ร้อยคนไปเลือกตั้งเพียง 3 คน ครั้งที่แล้วเราทำได้ดีขึ้น จากผู้มีสิทธิ์ร้อยคนมาเลือกตั้ง 6 คน ก็ดีขึ้นเท่าตัว แต่ต้องใช้เงินไป 60 ล้านบาท คนเลือกก็ไม่ค่อยรู้จักคนถูกเลือกเพราะเลือกกันทั่วประเทศ นี่คือการสุดโต่งของระบบ สุดไปเลยครับ ให้ผู้แทนเกษตรกรเข้าไปครึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมด และให้ผู้แทนเกษตรกรมีบทบาทมาก ผลคือทะเลาะกันยุ่งไปหมดเลยครับ ไปแก่งแย่งแข่งขัน ทะเลาะเบาะแว้งต่อสู้ พวกนั้นพวกนี้ เป็นการเมืองในระดับทางราบ แล้วพอถูกการเมืองระดับบนแทรกเข้าไปอีก คราวนี้เลยเกิดปัญหาหลายมิติจึงต้องแก้ไข ต้องฟื้นฟูกองทุนฟื้นฟูนะครับ ผมเองไม่รู้ว่าเคราะห์ดีหรือเคราะห์ร้ายที่มารับผิดชอบเป็นประธานกองทุนนี้ ในช่วงที่ทำหน้าที่ในรัฐบาลและเป็นรองนายก เดิมทีเดียวไม่ได้เป็นรองนายกเลยไม่ได้รับผิดชอบ แต่พอเป็นรองนายกได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบก็ได้พยายามที่จะเข้าไปคลี่คลายระบบต่างๆให้เข้าที่และบริหารจัดการกันได้ ซึ่งเชื่อว่าได้ทำให้ดีขึ้นมาระดับหนึ่ง

นั่นคือความเป็นอิสระ ถ้าอยากจะใช้ความเป็นอิสระให้เต็มที่ ความเป็นอิสระก็รวมถึงภาคประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของเรื่องเข้ามาบริหารจัดการเต็มที่ ไม่ใช่ไม่ดีนะครับ ไม่ใช่ว่าความเป็นอิสระไม่ดี หรือการที่ประชาชนเข้ามามีบทบาทไม่ดี เพียงแต่ปัจจัยที่เกี่ยวข้องนั้นมีมากกว่าหนึ่งประการ ซึ่งถ้าการประกอบร่วมกันไม่ดีพอ ผลก็จะไม่ดี นี่คือตัวอย่างของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ต้องขออภัยหากผมพูดถึงให้เห็นปัญหา และจุดอ่อนของกองทุน ซึ่งผมเห็นว่ามีจริง และผมก็พูดไปโดยบริสุทธิ์ใจและด้วยความปรารถนาดีนะครับ ที่อยากจะช่วยและอยากจะเห็นกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พัฒนาได้ดีขึ้น ซึ่งอาจจะต้องไปพัฒนา เช่นระบบการเลือกตั้งและอื่นๆ ก็ตั้งใจว่าจะต้องพัฒนาไม่ให้เป็นระบบที่สุดโต่ง แต่ขาดคุณภาพ และมีความทรุดโทรมอย่างที่เป็นอยู่ พร้อมกันนั้นระบบการบริหารกองทุน ระบบการบริหารคณะกรรมการต่างๆ นานา ก็ต้องพัฒนาให้ดีขึ้น

กลับมาเรื่องของสหกรณ์ อะไรเป็นเหตุให้การพัฒนาสหกรณ์ของไทยเรายังไม่ก้าวไปไกลเท่าที่ควร ? ได้มีการวิเคราะห์ว่าเรื่องความเป็นอิสระน่าจะเป็นสาเหตุหนึ่ง แต่ผมเห็นว่าคงมีมากกว่าหนึ่งเหตุ และอย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์เหตุในกรณีปัญหาหรือประเด็นทางสังคม อาจจะไม่ได้ช่วยให้เรา กำหนดยุทธศาสตร์และทิศทางให้ดีเสมอไป การที่จะกำหนดยุทธศาสตร์และแนวทางให้ดีนั้น ต้องทำมากกว่าการวิเคราะห์สาเหตุ ต้องใช้จินตนาการ ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งไม่ได้มาจากการวิเคราะห์เหตุ วิเคราะห์ผลตรงๆ  แต่มาจาก การมองลึก มองกว้าง มองไกล และความเข้าใจถึงปัจจัยต่างๆ ที่ปฏิสัมพันธ์กัน โดยหาทางทำให้ปฏิสัมพันธ์กันแล้วนำไปสู่การพัฒนาที่พึงปรารถนา

ฉะนั้นในประเด็นต่อไปที่ผมจะพูดถึง คือแนวทางการพัฒนาสหกรณ์ของประเทศไทยน่าจะเป็นอย่างไร ? ผมจึงจะไม่ขอวิเคราะห์ว่าเหตุมีอะไรบ้าง?แล้วก็เสนอแนะแนวทางไปตามเหตุ แต่ผมขอคิดรวบยอดไปเลยว่า จะมีพลังอะไรบ้าง มีปัจจัยอะไรบ้าง ซึ่งจะเป็นพลังที่เกาะเกี่ยวกัน เป็นพลังที่เกาะเกี่ยวกันนะครับ แล้วก็ขับเคลื่อนการพัฒนาสหกรณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและบังเกิดผล ผมคิดได้เป็น 5 ประการด้วยกัน ก็ถือเป็นความคิดเห็นส่วนตัวแล้วกันนะครับ เป็นความคิดเห็นส่วนตัวที่มาจากการได้เกี่ยวข้องรับรู้ขบวนการสหกรณ์ ทั้งที่เป็นขบวนการที่เป็นทางการ และขบวนการที่ไม่เป็นทางการ ที่เป็นระบบชุมชน ระบบองค์กรชุมชน และจากการที่ผมอยู่ในวงการบริหารจัดการ ทำให้คิดอะไรเป็นเชิงระบบ และคิดว่าปัจจัยสำคัญ 5 ประการนี้ หรือพลังสำคัญ 5 ประการนี้ น่าจะเป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนาสหกรณ์ไทยได้

                พลังที่หนึ่ง คือ พลังของความรู้ ผมได้พบเห็นมาจากการปฏิบัตินะครับ ไม่ใช่จากทฤษฎี ว่าพลังแห่งความรู้มีจริงและช่วยได้จริง ถ้าได้มีการศึกษาวิจัยให้ได้ความรู้ที่แท้จริง ที่ถูกต้อง ที่ลึกซึ้งและสกัดความรู้นั้นมาใช้ประโยชน์ในการขับเคลื่อน ทั้งขับเคลื่อนการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบาย ที่ใช้มากก็เช่น ในขบวนการสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งได้ใช้ระบบความรู้มากทีเดียว ถึงขั้นมีสถาบันที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายนะครับ ชื่อว่า สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ซึ่งเน้นเรื่องการวิจัยสร้างความรู้ และนำความรู้มาขับเคลื่อนเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งคิดว่าหลายท่านในที่นี้อาจได้มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น ใช้ความรู้ ในการขับเช่นเคลื่อนเรื่อง ลด ละ เลิก การดื่มสุรา ลด ละ เลิก การสูบบุหรี่ การแก้ปัญหาโรคภัยไข้เจ็บที่ร้ายแรงต่างๆ มีการใช้ความรู้มาเป็นเครื่องมือมากทีเดียว

ฉะนั้นผมคิดว่าในเรื่องสหกรณ์ก็เช่นเดียวกัน  การศึกษาวิจัย วิเคราะห์ให้ลึก ให้กว้าง ให้ไกล และนำความรู้นั้น มาประยุกต์ใช้ในการขับเคลื่อน จะเป็นประโยชน์มาก แต่คำว่า “ความรู้” ผมอยากจะรวมถึง “การจัดการความรู้” เข้าไปด้วย การจัดการความรู้เป็นแนวคิดและแนวทางค่อนข้างใหม่  ในประเทศไทยได้มีความตื่นตัวและทำเรื่องการจัดการความรู้ประมาณ 10 ปีมานี่เอง ในนานาชาติก็ประมาณ 20 ปี การจัดการความรู้หมายถึงการนำความรู้ในการปฏิบัติของผู้คนทั้งหลาย มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันแล้วพัฒนาให้เป็นความรู้ที่ลึกลงไปอีก ที่กว้างออกไปอีก ที่ดีขึ้นไปอีก คำว่าความรู้ก็ดี การจัดการความรู้ก็ดี ก็รวมถึงกิจกรรมที่ สันนิบาตสหกรณ์ฯ ทำไปแต่มากกว่า มากกว่านะครับ ที่ท่านทำมานี่ดีแล้วแต่ในความเห็นของผมยังไม่พอ คำว่าการใช้ความรู้ ใช้พลังของความรู้และการจัดการความรู้ จะไปลึก ไปมาก ไปไกล และไปอย่างมีคุณภาพ ตรงประเด็นในการขับเคลื่อนขบวนการมากกว่าที่สันนิบาตสหกรณ์ฯ ทำ แต่นั่นแปลว่าท่านเดินทางมาดีแล้ว เพียงแต่ทำให้ลึกขึ้น ให้กว้างขึ้น ให้มีคุณภาพมากขึ้น ให้ก้าวหน้ามากขึ้น ใช้แนวคิดและแนวทางที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ในประเทศไทยและนานาชาติว่าด้วยการศึกษาวิจัยและการจัดการความรู้ให้มากขึ้น ซึ่งเป็นบทบาทที่ชอบธรรมและเป็นบทบาทที่เหมาะสมของสันนิบาตสหกรณ์ แต่ก็เป็นบทบาทของสหกรณ์ทั้งหลายด้วย รวมทั้งเป็นบทบาทของบรรดาชุมนุมสหกรณ์ทั้งหลาย เป็นบทบาทของกรมส่งเสริมสหกรณ์ นั่นคือบทบาทของทุกๆ ฝ่ายที่จะช่วยทำให้ความรู้และการจัดการความรู้เป็นพลังที่สำคัญ นี่คือพลังที่หนึ่งนะครับ พลังของความรู้ ซึ่งรวมถึงการจัดการความรู้ 

พลังที่สอง คือ พลังของขบวนการ ความเป็นขบวนการ ท่านทั้งหลายเป็นขบวนการมาแต่ไหนแต่ไร ท่านถึงมีสหกรณ์ มีชุมนุมสหกรณ์ มีสันนิบาตสหกรณ์  โครงสร้างและปัจจัยแบบนี้เป็นการชี้ว่าควรต้องพัฒนาในรูปของขบวนการ แต่คำว่าขบวนการคงไม่ใช่เฉพาะโครงสร้าง ไม่ใช่เฉพาะเปลือกผิว ต้องรวมไส้ในด้วยครับ ไส้ในของขบวนการคือเรื่องจิตวิญญาณ เรื่องหลักคิด เรื่องระบบคิด เรื่องวิธีทำ เรื่องการคิดด้วยกัน  ทำด้วยกัน  พัฒนาไปด้วยกัน  รวมตัวกัน รวมตัวตามพื้นที่ ตามประเด็น ตามประเภท มีการรวมตัวหลายอย่างจึงเป็นขบวนการ ไม่ใช่แค่บริหารจัดการธุรกิจของท่านไปตามปกติและนานๆ มาประชุมกันในรูปของชุมนุม นานๆมาประชุมกันในรูปของสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย อย่างนี้ยังไม่ใช่ขบวนการครับ ยังไม่เห็นพลัง ยังดูแห้งๆ  ดูธรรมดาๆ มีแต่รูป ไม่มีแรง  ฉะนั้นทำเป็นขบวนการต้องมากกว่านี้ ต้องลึกกว่านี้ ต้องเข้มกว่านี้

ในระบบขององค์กรชุมชน เขาพยายามทำเป็นขบวนการ เขามีการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายโดยเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง เพราะองค์กรชุมชนขณะนี้มีหลากหลายเหมือนกันนะครับ หลากหลายประเภท หลากหลายลักษณะ เขาจะรวมตัวกันโดยเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง อยู่ตำบลเดียวกัน อำเภอเดียวกัน จังหวัดเดียวกัน มารวมตัวกัน นั่นวิธีหนึ่ง ขณะเดียวกันก็มีการรวมตัวกันตามประเภท อย่างที่ท่านรวมตัวกันตามประเภท ประเภทสหกรณ์การเกษตร สหกรณ์บริการ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน สหกรณ์ออมทรัพย์ และมีการเคลื่อนไหวร่วมกันตามประเด็น ตามพื้นที่ ตามประเภท การขับเคลื่อนตามประเด็นมักไม่เป็นกลไกถาวรแต่จะขับเคลื่อนตามประเด็นนั้นๆ อย่างต่อเนื่องจนบรรลุผล อย่างนี้แหละเป็นขบวนการ ซึ่งขบวนการองค์กรชุมชน ได้ก้าวหน้ามาเป็นลำดับ โดยไม่ได้มีกฎหมายรองรับ แต่ล่าสุดเขาไปได้พระราชบัญญัติซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันมากพอสมควร คือพระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน ในแง่หนึ่งจะคล้ายๆ กับสันนิบาตสหกรณ์ฯ แต่เขาจะให้รวมตัวกันในระดับพื้นที่ แล้วจะมีการประชุมเป็นขบวนการในระดับพื้นที่ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ  ฉะนั้นพลังที่สอง คือ พลังของความเป็นขบวนการ ซึ่งขณะนี้สหกรณ์ไทยเป็นขบวนการแต่ พลังของความเป็นขบวนการยังไม่มาก ทั้งๆ ที่พัฒนามาหลายสิบปีแล้ว ก็น่าจะต้องเพิ่มความเป็นขบวนการให้เข้ม ให้มีพลังมากจึงจะช่วยพัฒนาระบบสหกรณ์ได้อย่างจริงจัง

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/165587

<<< กลับ

ความเป็นอิสระกับการพัฒนาสหกรณ์ไทย (2)

ความเป็นอิสระกับการพัฒนาสหกรณ์ไทย (2)


  พลังที่สาม คือ พลังของโครงสร้าง พลังที่หนึ่ง อันได้แก่พลังของความรู้ เป็นเสมือนซอฟท์แวร์ พลังที่สอง พลังของขบวนการ เป็นเสมือนแรงไฟฟ้า ส่วนพลังที่สาม พลังของโครงสร้าง จะเป็นเสมือน ฮาร์ดแวร์ ทั้งหมดไปด้วยกัน โครงสร้างหมายถึงโครงสร้างในรูปของ กลไกต่างๆ เรามีโครงสร้างภายในสหกรณ์ ตรงนี้ไม่เป็นประเด็นเท่าไหร่นะครับ เพราะจัดไว้ค่อนข้างดี แต่โครงสร้างของขบวนการ ทั้งในประเทศ และในโลก ถ้าระดับโลก เขามีกลไกประเภทสมาคมระหว่างประเทศ ชุมนุมระหว่างประเทศ ซึ่งถือว่าดี แต่ภายในประเทศ เรามีโครงสร้าง ได้แก่ ระบบสหกรณ์ ซึ่งมีชุมนุมสหกรณ์ มีสันนิบาตสหกรณ์ฯ เรามีระบบส่งเสริม และกำกับดูแลโดยรัฐ ที่มีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นนายทะเบียน มีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นผู้ส่งเสริม และพัฒนามีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เป็นผู้คอยดูว่า ระบบบัญชี ระบบข้อมูลเรียบร้อย นี่เป็นโครงสร้างครับ คำถามคือว่าโครงสร้างนี้ ควรจะปรับปรุงอย่างไรหรือไม่ ? ซึ่งได้มีผู้ให้ความคิดความเห็นกันมา ตลอด สิบ ยี่สิบปีที่ผ่านมา ว่าน่าจะปรับปรุงโครงสร้างนี้ และครั้งล่าสุด ด้วยแรงผลักดันจากรัฐธรรมนูญว่าให้มีการส่งเสริมพัฒนาสหกรณ์ให้มีความเป็นอิสระ ซึ่งชี้ไปในเรื่องของโครงสร้างด้วย ผสมกับการเคลื่อนไหวที่มีมาตลอด สิบ ยี่สิบปี ที่เห็นว่าควรจัดโครงสร้างในการกำกับดูแล โดยที่ให้กลไกในการกำกับดูแล ไม่เป็นระบบราชการ แต่ให้เป็นองค์การอิสระ หรือองค์การมหาชน

                ตัวอย่างที่นำมาศึกษาประกอบการพิจารณาได้ คือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ “กลต.” ซึ่งเดิมมีสำนักงานนี้อยู่ในกระทรวงการคลัง เขาก็กำหนดใหม่ให้ออกจากระทรวงการคลังไปเป็นองค์การมหาชน ที่มีพระราชบัญญัติจัดตั้ง แต่รัฐมนตรียังเป็นประธานอยู่ ซึ่งในประเด็นนี้หลายฝ่ายเห็นว่ารัฐมนตรีไม่น่าจะเป็นประธาน คือไม่น่าจะให้ประธานเป็นฝ่ายการเมือง น่าจะให้ผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานจะดีกว่า นี่เป็นประเด็นย่อย แต่ที่สำคัญ คือ เป็นองค์การที่ไม่ใช่ราชการแต่เป็นของรัฐ และมีหน้าที่กำกับดูแลหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ คนทำงานก็เป็นพนักงานของรัฐ ซึ่งจะต้องมีระบบการคัดเลือก การแต่งตั้ง การกำกับดูแลที่เหมือนกับองค์การมหาชนที่พระราชบัญญัติจัดตั้งทั้งหลาย

                ล่าสุดได้มีการพิจารณาให้กรมการประกันภัย จากกระทรวงพาณิชย์ออกไปเป็นองค์การมหาชนที่มีพระราชบัญญัติจัดตั้ง ชื่อ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ “คปภ.” คือเจริญรอยตาม กลต. หรือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ โดยได้มีพระราชบัญญัติกำหนดให้ออกไปแล้วนะครับ ดังนั้นกรมการประกันภัยจึงไม่ได้อยู่ในกระทรวงพาณิชย์แล้ว ออกไปเป็นองค์การมหาชนที่มีพระราชบัญญัติจัดตั้งแล้ว ก็เลยมาเร่งความคิดว่าน่าจะจัดให้มีสำนักงานที่ดูแลในเรื่องสหกรณ์ ให้เป็นองค์การของรัฐแต่อยู่นอกระบบราชการ ซึ่งหมายถึงการโอนกรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ออกไปนั่นเอง แต่การโอนออกไปก็มีกรรมวิธีนะครับ คือไปตั้งใหม่และเปิดโอกาสให้ข้าราชการโอนไปได้ตามความสมัครใจ ไม่ไปก็ได้ นั่นเป็นเรื่องรายละเอียด แต่เหตุผลเบื้องหลังคือ ต้องการโครงสร้างแบบนี้เพื่อจะให้กลไกที่มาดูแลระบบสหกรณ์มีความเป็นอิสระมากขึ้น ไม่ใช่อิสระ 100% หรอกครับ ยังต้องอยู่ภายใต้นโยบายของรัฐบาล    รัฐบาลยังต้องกำกับดูแลเชิงนโยบายอยู่ครับ

                ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นตลาดหลักทรัพย์ การประกันภัย หรือกรณีอื่นๆ ที่ว่ามีความเป็นอิสระ ไม่ใช่แปลว่าจะอิสระจากรัฐบาลหรอกนะครับ รัฐบาลยังต้องดูแลในเชิงนโยบาย แต่ว่ามีความคล่องตัวในการบริหาร และมีความใกล้ชิดกับขบวนการและประชาชนมากขึ้น คือมีความเป็นราชการน้อยลง ความเป็นของประชาชนมากขึ้น แต่ไม่ได้เป็นเครื่องประกันนะครับว่า การจัดโครงสร้างอย่างนั้นแล้วผลจะเป็นอย่างที่ตั้งใจเสมอไป อย่างที่ผมอธิบายให้ฟังเรื่องกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร อาจจะถูกแทรกแซงด้วยพลังต่างๆได้นะครับ ไม่มีอะไรที่จะแน่ใจ 100%

                อย่างไรก็ตาม แนวความคิดเรื่องความเป็นอิสระของกลไกที่ดูแลสหกรณ์ ก็ได้เกิดขึ้นแล้ว ล่าสุดคือการใส่หลักการเข้าไปในรัฐธรรมนูญ แล้วก็มีตัวอย่างของกรมการประกันภัย จึงทำให้ความคิดที่จะมีสำนักงานดูแลสหกรณ์ ที่ยังเป็นของรัฐบาลแต่อยู่นอกระบบราชการ มีความเข้มมากขึ้น  และล่าสุดในแผนพัฒนาสหกรณ์ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์นำเสนอ ก็ได้บรรจุข้อความว่าให้มีการไปศึกษารูปแบบ กลไกการกำกับดูแลสหกรณ์ที่เหมาะสม โดยเฉพาะศึกษาความเหมาะสมที่จะมีสำนักงานทำนองกรมการประกันภัยที่ได้แปรรูปไปเป็นสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย 

                นี่คือ พลังที่สาม พลังของโครงสร้าง คือโครงสร้างในระดับประเทศนะครับ โครงสร้างจะไปมีผลต่อหลักการและวิธีการดำเนินงาน ถ้าผมจะเปรียบเทียบกับขบวนการสหกรณ์ที่ไม่เป็นทางการก็คือขบวนการองค์กรชุมชนนะครับ ขบวนการองค์กรชุมชนเป็นระบบสหกรณ์ที่ไม่เป็นทางการ รัฐบาลส่งเสริมด้วยการมีสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน เป็นองค์การมหาชน ซึ่งอยู่ภายใต้รัฐบาล แต่เป็นองค์การมหาชน มีคณะกรรมการของตัวเอง มีประธานของตัวเอง มีผู้อำนวยการบริหารสำนักงานแต่ไม่มีอธิบดีซึ่งเป็นข้าราชการ พนักงานที่ทำงานก็เป็นพนักงานของรัฐ กรรมการก็จะมีตัวแทนจากภาคประชาชน หนึ่งในสาม ตัวแทนของรัฐ หนึ่งในสาม และมีผู้ทรงคุณวุฒิ หนึ่งในสาม รวมกันเป็นคณะกรรมการ คงพอจะเทียบเคียงกันได้นะครับ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากลไกเช่นนั้นเป็นประโยชน์ แต่ที่เป็นประโยชน์ได้อาจจะไม่ใช่เพราะกลไกอย่างเดียวแต่เป็นผลมาจากประเด็นอย่างอื่นด้วย อย่างที่ผมบอกไปแล้วนะครับว่า การที่จะเกิดผลอะไรมักไม่ได้มาจากประเด็นเดียวแต่มาจากหลายประเด็น หลายปัจจัยนะครับ นี่คือพลังที่สามครับ คือ พลังของโครงสร้าง 

                พลังที่สี่ คือ พลังแห่งนโยบาย นโยบายในที่นี้หมายความรวมถึง นโยบายของรัฐตั้งแต่แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐที่บรรจุลงในรัฐธรรมนูญ   นั่นคือนโยบายใหญ่เลยนะครับ แต่แค่นั้นยังไม่พอ ต้องมีนโยบายของรัฐบาลแต่ละยุคแต่ละสมัย ซึ่งผมต้องยอมรับว่า รัฐบาลแทบจะทุกยุคทุกสมัยที่ผ่านมา ยังไม่เคยมีรัฐบาลไหน ที่มีนโยบายเรื่องสหกรณ์ชัดๆ และดีๆ รวมถึงรัฐบาลนี้ด้วยนะครับ เพราะว่ารัฐบาลนี้ซึ่งผมร่วมอยู่ด้วย ก็พอจะมีเหตุผลนะครับว่าเราเป็นรัฐบาลชั่วคราว เราเข้ามาในสถานการณ์พิเศษ  เราไม่มีฉันทานุมัติจากประชาชนให้มาบริหารประเทศ แต่เนื่องจากสถานการณ์คับขัน ทำให้เราต้องเข้ามาและดูแลในช่วงเปลี่ยนผ่านนะครับ จะไปทำอะไรเหมือนรัฐบาลที่เขาได้รับการเลือกตั้งมาคงไม่ได้ อันที่จริงเรามีนโยบายที่ได้ประกาศไว้ คือ นโยบายทางด้านเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง ต่างประเทศ และการเมืองการปกครอง แต่การที่จะเจาะลึกลงไปเฉพาะด้านเช่นเรื่องสหกรณ์นั้นเราไปไม่ถึง เพราะว่าแค่การเกษตรนี่ก็เยอะมากแล้ว บางเรื่องยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกัน ล่าสุดคือเรื่อง จีเอ็มโอ ยังถกเถียงกันอยู่มาก เรื่องสหกรณ์ก็คงจะถกเถียงกันอยู่บ้าง แต่เรื่องสหกรณ์คงไม่ถกเถียงกันรุนแรงอะไรหรอกครับ เพียงแต่ว่า เทียบกับอีกหลายๆสิบเรื่อง สหกรณ์คงไม่ได้เข้ามาในระดับที่เป็นนโยบายแนวหน้าของรัฐบาลชุดนี้ แต่ผมเองเห็นว่าถ้าเป็นรัฐบาลปกติน่าจะมีนโยบายด้านสหกรณ์ เพราะเป็นเรื่องสำคัญ เกี่ยวข้องกับประชาชนเป็น 10 ล้านคนนะครับ ซึ่งนับเฉพาะที่เป็นสมาชิก ถ้านับครอบครัวด้วยมากมายเลยครับ สหกรณ์เป็นขบวนการที่สำคัญ กระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนมากมาย และเป็นเรื่องที่ดีมากๆ  ผมจึงอยากเห็นนโยบายของรัฐบาลในเรื่องนี้ให้ชัดเจน ให้หนักแน่น ให้สอดรับกับรัฐธรรมนูญ โดยขยายความต่อและแปลออกมาในรูปของกฎหมายที่ดี ซึ่งเราก็อยู่ระหว่างการยกร่างพระราชบัญญัติแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติสหกรณ์ แต่ผมเรียนท่านอธิบดีไปแล้วนะครับว่าคงไม่ทัน ไม่ทันในรัฐบาลนี้ ไม่ทันในสภาชุด สนช. นี้ เพราะว่าสภาชุด สนช. กำลังถูกกดดันว่าให้เลิกพิจารณากฎหมายได้แล้ว มีคนบอกว่าพอได้แล้ว เมื่อเช้าก็มีบทความจากหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งบอกว่า พอแล้ว พอได้แล้ว จุดที่จะตัดคือ สัปดาห์หน้าเราจะมีการเลือกตั้งคือวันที่ 23 ธันวาคม  ฉะนั้นถ้าจะหยุดในวันที่ 23 ธันวาคม ก็มีเหตุผลนะครับ แต่การหยุดหมายถึงหยุดทำหน้าที่เป็นรัฐสภา ขณะนี้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เขาทำหน้าที่เป็นรัฐสภาคือเป็นสองสภา หมายถึงเป็นทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ต้องยุบมาเป็นสภาเดียวนั่นคือพอมีสภาผู้แทนราษฎรแล้วเขาจะปรับบทบาทเป็นวุฒิสภา สนช. จะกลายเป็นวุฒิสภาอย่างเดียว จนกระทั่งมีวุฒิสมาชิกตามรัฐธรรมนูญเข้ามาเรียบร้อยแล้ว สนช. ก็หมดบทบาท  ขณะนี้จึงเหลือทางเลือกระหว่างว่าจะประชุมไปจนถึง 28 ธันวาคม หรือ 21 ธันวาคม ฉะนั้นกฎหมายที่จะเข้าไปถ้าไม่ได้บรรจุวาระไว้แล้วคงจะไปไม่ทัน ที่บรรจุวาระไว้แล้วอาจจะได้เข้าสู่การพิจารณา อาจจะผ่านวาระที่ 1ไป แต่วาระที่ 2 และ 3 คงจะไม่ทัน ก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลต่อไปจะมาเลือกดูว่ากฎหมายที่ผ่านวาระที่ 1 แล้ว จะนำฉบับไหนมาขอให้สภาพิจารณาต่อ ถ้าเลือกมาสภาก็พิจารณาต่อ ถ้าไม่เลือกก็ตกไป แต่ตกไปไม่ได้แปลว่าเลิกกันเลยนะครับ อย่างกฎหมายสหกรณ์นี่รัฐบาลต่อไปก็เสนอได้ กระทรวงเกษตรก็เสนอได้ ขบวนการสหกรณ์ก็เสนอได้ เราเป็นประชาชนนี่ครับ เรารวมตัวกันหนึ่งหมื่นคนขึ้นไปก็เสนอกฎหมายได้ แต่ที่สำคัญไม่ใช่เรื่องจำนวนเท่านั้น ยังสำคัญที่สาระ สำคัญที่วิธีนำเสนอ สำคัญที่การขับเคลื่อนขบวนการในสังคม ฉะนั้นทุกท่านเสนอได้ครับ กฎหมายสหกรณ์ เพียงแต่ว่าก่อนเสนอถ้ามีขบวนการ มีการปรึกษาหารือ มีการระดมความคิดร่วมกันเยอะๆอย่างนี้แหละครับจึงจะดี และถึงแม้รัฐบาลเป็นผู้เสนอ รัฐบาลก็ควรต้องมีการระดมความคิดเห็นอย่างกว้างขวางจากประชาชน ในอนาคตผมหวังว่าจะไม่มีกฎหมายใดใด  ที่ออกโดยไม่ได้ผ่านการระดมความคิดเห็นจากประชาชนให้กว้างขวางพอ ซึ่งเป็นหลักการประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ไม่ใช่แค่ประชาธิปไตยแบบตัวแทน ที่แล้วมาเรามีประชาธิปไตยแบบตัวแทน เราเลือก สส. แล้ว สส. ก็ทำหน้าที่แทนเราหมดเลย อย่างนี้ยังไม่ดีพอ ต้องเป็นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม คือประชาชนต้องมีส่วนร่วมในกระบวนการต่างๆที่มีผลต่อสังคม ฉะนั้นจะออกกฎหมายต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม ยิ่งกฎหมายสหกรณ์ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมเยอะๆจึงจะดี

                ดังนั้นพลังแห่งนโยบายต้องรวมถึงการมีข้อความในรัฐธรรมนูญ มีนโยบายของรัฐบาล มีการออกพระราชบัญญัติ มีระเบียบข้อบังคับที่ดี และก็มีนโยบายในการกำกับดูแล ส่งเสริมพัฒนา  มีงบประมาณ มีบุคลากรที่เหมาะสม เหล่านี้รวมอยู่ในคำว่า “นโยบาย” ทั้งสิ้น นี่คือพลังแห่งนโยบาย ซึ่งผมคิดว่าที่แล้วมานโยบายด้านสหกรณ์ไม่ได้รับความสำคัญเท่าที่ควร ซึ่งได้มีผู้วิเคราะห์ว่าสาเหตุหนึ่งมาจากการจัดกลไกและองค์กรในการกำกับและส่งเสริมซึ่งไปอยู่ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งพอพูดถึงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คนจะไม่ได้นึกถึงสหกรณ์เท่าไหร่ แต่จะนึกถึงการเกษตรเป็นหลัก ซึ่งเรื่องการเกษตรอย่างเดียวก็เป็นเรื่องใหญ่โตกว้างขวางมาก สหกรณ์เป็นเรื่องรอง จะนึกถึงกันทีหลัง เพราะฉะนั้นนโยบายของรัฐบาลเท่าที่ผ่านมาในเรื่องสหกรณ์จึงไม่เข้ม ไม่หนักแน่น และไม่นำสู่การพัฒนาขบวนการสหกรณ์ได้ดีเท่าที่ควร

                พลังสุดท้าย พลังที่ห้า  คือ พลังของการจัดการ การจัดการเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ เป็นความสามารถที่จะทำให้บรรลุผล แต่การจัดการเป็นสิ่งที่ในประเทศไทยเรา ยังไม่มีความสามารถมากเท่าที่ควรโดยเฉพาะในการจัดการภาครัฐ และการจัดการทางสังคม ถ้าเป็นการจัดการในภาคธุรกิจคิดว่าเราใช้ได้เมื่อเทียบกับนานาชาติ แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นเก่งมากและยังจะต้องพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ ส่วนการจัดการในภาครัฐและการจัดการทางสังคมเรายังอ่อน ในความเห็นของผม ควรต้องพัฒนาให้มากขึ้น การจัดการภาครัฐต้องรวมถึงการจัดการของหน่วยงาน เช่น กระทรวง และกรม ที่เกี่ยวข้องกับสหกรณ์ ซึ่งหากมีการจัดการที่ดี มีคุณภาพ พร้อมทั้งประสิทธิภาพ และประสิทธิผล จะมีส่วนช่วยการพัฒนาขบวนการสหกรณ์ได้ 

                การจัดการของขบวนการสหกรณ์เองก็มีความสำคัญมาก การจัดการของชุมนุมสหกรณ์ การจัดการของสันนิบาตสหกรณ์ การจัดการของสหกรณ์แต่ละแห่ง ล้วนมีความสำคัญมากทั้งสิ้น

                พลังของการจัดการนั้นมีความสำคัญมาก ผมทราบว่าทางสันนิบาตสหกรณ์ได้มีหลักสูตรพัฒนาเรื่องการจัดการอยู่ ซึ่งดีแล้ว แต่ยังไม่พอ ต้องทำให้การจัดการมีคุณภาพ มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล สูงกว่าในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการจัดการของสหกรณ์ การจัดการของชุมนุมสหกรณ์ การจัดการของสันนิบาตสหกรณ์ การจัดการของกรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กระทรวงเกษตรฯ และการจัดการของรัฐบาล ซึ่งผมเองได้อยู่ในรัฐบาลมาปีเศษ ผมเห็นประเด็นเรื่องการจัดการเยอะเลย พอดีผมสนใจเรื่องการจัดการ ได้คิดอยู่ว่าเมื่อหมดหน้าที่ในรัฐบาลแล้วผมอาจจะขอพักสัก 3 เดือน และคิดว่าอาจจะเขียนหนังสือสักเล่มหนึ่ง เรื่องประสบการณ์ในรัฐบาล และข้อคิดต่างๆ รวมถึงเรื่องการจัดการ ผมเชื่อว่าถ้าเราพัฒนาการจัดการในแต่ละระดับตามที่กล่าวมาแล้วของสหกรณ์ ของเครือข่าย หรือชุมนุมสหกรณ์ ของสันนิบาตสหกรณ์ และการจัดการของกลไกของรัฐทั้งหลาย เชื่อว่าจะเป็นพลังที่สำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาสหกรณ์ ซึ่งรวมถึงการพัฒนาขบวนการสหกรณ์ ให้เดินไปได้ดียิ่งขึ้น

                สรุป รวมความแล้วมี 5 พลังที่ผมคิดว่าจะผสมผสานกันในการพัฒนาสหกรณ์ ซึ่งรวมถึงการพัฒนาขบวนการสหกรณ์ คือ ไม่ใช่พลังใดพลังหนึ่งนะครับ แต่ทั้ง 5 พลังผสมผสานกัน ได้แก่ 

  1. พลังของความรู้ และการจัดการความรู้
  2. พลังของความเป็นขบวนการ
  3. พลังของโครงสร้าง ซึ่งรวมถึงการมีกลไกที่ดีและเหมาะสม
  4. พลังของนโยบาย รวมถึงนโยบายในระดับต่างๆ และในรูปแบบต่างๆ เช่นในรูปแบบของกฎหมาย ในรูปแบบของยุทธศาสตร์ของรัฐ ในรูปแบบของการมีงบประมาณที่เพียงพอ เหล่านี้รวมอยู่ในคำว่านโยบาย และ
  5. พลังของการจัดการ ได้แก่ การจัดการในระดับต่างๆ และในภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาคประชาชนและภาครัฐ ตลอดจนกลไกต่างๆ ที่อยู่ในการขับเคลื่อนขบวนการสหกรณ์ 

                ท่านผู้มีเกียรติครับ ผมพูดมานานกว่าที่คิดไว้ คิดว่าจะครึ่งชั่วโมงแต่กลายเป็นสี่สิบห้าหรือเกือบห้าสิบนาที ขออภัยที่ใช้เวลามากไปหน่อย และขอขอบคุณที่ท่านให้ความสนใจการบรรยายพิเศษที่ผมได้นำเสนอมา หวังว่าคงจะเป็นประโยชน์ และสามารถนำไปประกอบการพิจารณาของทุกท่านได้ ซึ่งเข้าใจว่าในวันนี้ท่านจะพิจารณากันถึงเรื่องแนวทางการพัฒนาขบวนการสหกรณ์ ซึ่งอาจจะต้องถึงขั้นปฏิรูป จึงหวังว่าหากท่านได้นำข้อคิดต่างๆที่ผมนำเสนอไปประกอบการพิจารณาแล้ว จะสามารถร่วมกันคิด ร่วมกันพิจารณา จนกระทั่งได้ข้อสรุปที่ดี และนำไปสู่การปฏิบัติที่จะช่วยให้ระบบและขบวนการสหกรณ์ของพวกท่านทั้งหลาย เจริญก้าวหน้า เข้มแข็งมั่นคง เป็นประโยชน์อันเหมาะสมต่อสมาชิกสหกรณ์ ต่อสังคม และต่อประเทศชาติโดยรวม ขอบคุณครับ

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/165588

<<< กลับ

การส่งเสริมสร้างคุณธรรมสำหรับไทย (ตอนที่ 2)

การส่งเสริมสร้างคุณธรรมสำหรับไทย (ตอนที่ 2)


ฉะนั้นในการขับเคลื่อนความดี วิธีหนึ่ง คือการจัดสมัชชาเพื่อจะดูเรื่องความดี เรื่องคุณธรรมเป็นอย่างไร มีอยู่แล้วอย่างไร ยังไม่มีอะไร ควรจะและไม่ควรจะทำอย่างไร เพื่อให้เกิดคุณธรรมความดี และนำไปสู่การมีชีวิต มีชุมชน มีสังคมที่ดี ที่มีความความสุขแบบหลายๆ มิติ แบบหลายๆอย่าง ที่จะเรียกว่าแบบบูรณาการก็ได้ คำว่า ความสุขนี้บ้างครั้งเราเรียกว่าสุขภาวะ คือภาวะที่เป็นสุข ภาษาอังกฤษคือ Health หรือสุขภาพ ซึ่งประกอบด้วย สุขภาพทางกาย ทางใจ ทางปัญญาหรือทางจิตวิญญาณ และทางสังคม การจัดสมัชชาเช่นนี้จะเกิดเป็นขบวนการขึ้นในระดับชุมชนหรือระดับท้องถิ่น ระดับจังหวัด ระดับภาค แล้วขึ้นมาระดับชาติ

ในปีที่ผ่านมาเราได้เห็น ในระบบการศึกษา ที่กระทรวงศึกษาธิการ ได้ใช้แนวคิดและยุทธศาสตร์ ที่ใช้คำว่าคุณธรรมนำความรู้ ใช่ไหมครับ แล้วก็ส่งเสริมให้เกิดขึ้นในสถาบันการศึกษาต่างๆ โรงเรียนหลายแห่งเป็นโรงเรียนวิถีพุทธ หรือวิถีธรรม ซึ่งมีดีกรีหรือความเข้มต่างๆกัน โรงเรียนไทยรัฐหลายแห่งก็เป็นโรงเรียนวิถีพุทธ ผมเคยไปเยี่ยมโรงเรียนไทยรัฐบางแห่งเหมือนกัน โดยที่ไม่ได้จงใจจะไปโรงเรียนไทยรัฐ แต่ว่าไปโรงเรียนที่ดีบังเอิญเป็นโรงเรียนไทยรัฐ ก็ถือว่าโรงเรียนไทยรัฐ เป็นโรงเรียนอยู่ในกลุ่มที่ดีหลายแห่ง นี่เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการที่ใช้เรื่องคุณธรรมนำความรู้ โดยทำให้เป็นระบบ เป็นขบวนการ มีการขับเคลื่อนให้เกิดพลังขึ้นมา ผมไม่แน่ใจว่าอีกเรื่องหนึ่งเป็นขบวนการแค่ไหนที่มีข้อความว่าคุณธรรมนำไทย เอาเป็นว่าถือเป็นความพยายามส่วนหนึ่ง ที่จะให้เรื่องคุณธรรมเรื่องความดี ไปเป็นกำลังขับเคลื่อนในสังคม

ดังนั้นบันไดขั้นที่ 4 ที่เป็นการขับเคลื่อนความดี จึงรวมถึงขบวนการหลายๆอย่างที่กล่าวมา ที่จะให้ความดีเป็นขบวนการ ไม่ใช่เป็นแค่อุดมการณ์ หรือเป็นแค่จินตนาการที่อยากมีความดี แต่ทุกวันนี้เรามักพูดถึงเรื่องความเลว แล้วเราก็ได้แต่บ่นว่า ไอ้นั่นไม่ดี ไอ้นี่ไม่ดี แต่ถ้าเราให้เรื่องความดีเป็นขบวนการ แปลว่าเราคิดเรื่องความดี เราทำเรื่องความดี แล้วเราพยายามเชื่อมต่อ เชื่อมประสานกันให้เกิดเป็นขบวนการ ตั้งแต่ระดับย่อยไปถึงระดับใหญ่ เริ่มจากระดับตัวเอง ระดับครอบครัว ระดับชุมชน ระดับองค์กร ซึ่งไทยรัฐเป็นองค์กร ระดับสถาบัน เช่น โรงเรียน สถาบันการศึกษา สำหรับระดับชุมชน หรือท้องถิ่น อาจจะเป็นหมู่บ้าน เป็นตำบล เป็นเขตเทศบาล หรือใหญ่ขึ้นไปเป็นพื้นที่ระดับจังหวัด ทั้งหมดนี้ควรทำให้เป็นขบวนการ ขบวนการอาจจะเป็นแบบทำทุกเรื่องในพื้นที่เดียวกัน อย่างนี้เราเรียกว่าขบวนการเชิงพื้นที่ หรืออาจเป็นขบวนการเชิงประเด็น เช่นเป็นขบวนการเรื่องความซื่อสัตย์ ขบวนการเรื่องความสามัคคี ขบวนการเรื่องความกตัญญู ก็สามารถจะสร้างเป็นขบวนการได้

อย่างไรก็ดีในเรื่องสร้างขบวนการนี้ ถ้าจะคิดให้ละเอียด ให้ลึก ให้กว้าง คงมีประเด็นอีกมิใช่น้อย ที่จะทำให้ขบวนการนี้เกิดผลสำเร็จได้จริง เกิดพลังได้จริง ซึ่งผมเห็นว่า ถ้าจะทำให้ขบวนการความดีมีพลังอย่างเต็มที่ ควรจะต้องมองปัจจัยสำคัญๆ ที่มีผลต่อการมีความดีต่อการมีคุณธรรมด้วย 

ปัจจัยสำคัญข้อที่ 1 ซึ่งผมเองเห็นว่าสำคัญมาก คือ โครงสร้างในสังคม ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างทางการปกครองหรือโครงสร้างทางสังคมที่มีสถาบันต่างๆ โครงสร้างนี้มีผลอย่างสำคัญต่อเรื่องความดี เรื่องคุณธรรม แต่บางครั้งเราชินอยู่กับโครงสร้าง เราก็รับผลของโครงสร้าง เช่น โครงสร้างทางการเมืองการปกครองที่รวมศูนย์อำนาจ ทำให้เกิดอำนาจที่ส่วนกลาง แล้วเกิดช่องทางที่จะทำสิ่งที่ใช้อำนาจ ซึ่งโยงกับการได้รับผลประโยชน์อันมิชอบ กลายเป็นเรื่องทุจริตคอรัปชันต่อกันเป็นทอดๆ ถ้าถามว่าทำไมประเทศไทยมีการทุจริตกันมาก ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากโครงสร้างที่ไม่เหมาะสมนี่เอง ฉะนั้นเรื่องโครงสร้างในสังคม รวมถึงระบบต่างๆที่ประกอบกันเป็นโครงสร้าง จึงเป็นเรื่องสำคัญ

ปัจจัยสำคัญ ข้อที่ 2 คือ นโยบาย ได้แก่ นโยบายของรัฐ นโยบายของหน่วยงาน นโยบายระดับจังหวัด นโยบายระดับเทศบาล นโยบายที่ออกมาในรูปของกฎหมาย กติกาต่างๆ เหล่านี้จะมีผลอย่างสำคัญต่อเรื่องคุณธรรมความดี นโยบายที่ดีและเหมาะสม จะช่วยกระตุ้นหรือเอื้ออำนวยต่อการทำความดี ตรงกันข้าม นโยบายที่ไม่ดีหรือไม่เหมาะสม จะเพาะเชื้อความไม่ดีและนำไปสู่การทำสิ่งที่ไม่ดี

ปัจจัยสำคัญ ข้อที่ 3 เป็นเรื่องของวัฒนธรรม วัฒนธรรมที่สั่งสมมานับ สิบๆปี หรือเป็นร้อยๆปี วัฒนธรรมไทยชนิดหนึ่งที่กล่าวขวัญกันมากว่ามีทั้งคุณ และมีทั้งโทษ คือ วัฒนธรรมอุปถัมภ์นิยม เรานิยมการอุปถัมภ์ เรามีผู้ใหญ่ เรามีผู้น้อย เรามีผู้ให้ เรามีผู้รับ ในแง่หนึ่งเป็นข้อดีครับ เป็นความเมตตา กรุณา เอื้ออาทร ช่วยเหลือเกื้อกูล แต่พร้อมกันนั้นก็ทำให้เกิดความสัมพันธ์เชิงอำนาจบารมีที่ไม่เท่ากัน ที่ทำให้เกิดการเอาเปรียบ เกิดการเอาประโยชน์ เกิดการใช้ระบบอุปถัมภ์ เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ หรือเพื่อประโยชน์ของตนและพวกพ้องที่ไม่สุจริต หรือไม่ถูกต้อง หรือไม่เป็นธรรม นั่นคือเอื้อต่อการทำสิ่งที่ไม่ดีบางประการ หรือหลายประการ ฉะนั้นวัฒนธรรมจึงเป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่มีผลต่อการทำความดีหรือไม่ดี แต่วัฒนธรรมนั้นไม่ใช่สิ่งที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้โดยเร็ว วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่สร้างสม ถ้าจะเปลี่ยนแปลงต้องค่อยๆเปลี่ยน และต้องเปลี่ยนโดยประชาชนนั้นเอง จะไปบังคับไม่ได้ เช่นในอดีตเคยมีผู้บริหารประเทศพยายามจะบังคับการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรม ก็ทำได้ระดับหนึ่ง แต่จะมีปฏิกิริยาตอบกลับ สิ่งใดที่ไม่ได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แล้วไปบังคับให้ทำก็จะมีปฏิกิริยาเสมอ และอาจจะย้อนกลับมาเป็นอย่างเดิม

ปัจจัยสำคัญ ข้อที่ 4 ได้แก่ ความสามารถในการจัดการ เรื่องนี้สำคัญมาก เราอาจจะมีความคิด มีระบบ มีขบวนการต่างๆ แต่ในการดำเนินการอะไรนั้น เรื่องการจัดการสำคัญมาก ไม่ว่าจะเป็นการจัดการมาตรการ การจัดการองค์กร การจัดการระดับพื้นที่ เช่น ตำบล เทศบาล การจัดการระดับจังหวัด และท้ายสุดคือการจัดการระดับประเทศ ที่ผมมีโอกาสได้เข้าไปอยู่ในรัฐบาล ก็ได้เห็นมิติของการจัดการในระดับรัฐ ทำให้ผมมีข้อคิดหลายๆอย่าง ในเรื่องการจัดการของรัฐ แต่เนื่องจากว่ารัฐบาลนี้มาอยู่เพียงช่วงสั้น ผมเองก็มีหน้าที่จำกัด ฉะนั้นจะไปเปลี่ยนแปลงอะไรมากคงไม่อยู่ในวิสัยที่จะทำได้หรือควรทำ เพราะการเปลี่ยนแปลงระบบการจัดการโดยเฉพาะของรัฐ ต้องใช้เวลา

อย่างก็ตาม การจัดการจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราสามารถขับเคลื่อนเรื่องราวต่างๆได้สำเร็จ หรือทำให้เกิดผลในทางที่ดีขึ้น เช่นเดียวกับที่การจัดการช่วยให้ธุรกิจ เช่น ไทยรัฐ เป็นต้น เจริญเติบโต ยิ่งใหญ่ได้ แต่ใช้เวลาใช่ไหมครับ และต้องใช้ความสามารถในการจัดการสูง ในระบบการเมืองการปกครองก็ต้องใช้การจัดการเป็นอันมาก ฉะนั้นการจัดการจึงเป็นปัจจัยสำคัญอีกส่วนหนึ่งที่จะมีผลต่อการขับเคลื่อนเรื่องคุณธรรมความดี

สำหรับการขับเคลื่อนความดีในระดับท้องถิ่น ในระดับหมู่บ้านหรือตำบล มักจะรวมอยู่หรือบูรณาการอยู่ ในระบบหรือกระบวนการของการพัฒนาท้องถิ่นหรือการพัฒนาชุมชน ที่ส่งเสริมให้ชาวบ้านเป็นคนคิดเป็นคนทำ ซึ่งได้พบว่าชาวบ้านมีความสามารถสูงที่จะคิดที่จะทำ รวมถึงที่จะจัดการตนเอง ให้ดีขึ้นๆและทำกันได้มากขึ้นๆเป็นลำดับ เกิดเป็นขบวนการที่รวมถึงการจัดประชุม สัมมนา สมัชชา และอื่นๆ ขยายวงมากขึ้น นำไปสู่การพัฒนาทั้งเศรษฐกิจ จิตใจ สังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม ตลอดจนคุณธรรมความดี บูรณาการกันไปหมดนะครับ ซึ่งแสดงว่าเรื่องความดี เรื่องคุณธรรม ไม่ใช่เป็นเรื่องที่แยกออกจากเรื่องอื่นๆของชีวิตและของชุมชนหรือสังคม แต่เป็นเนื้อในของเรื่องต่างๆ เป็นเนื้อในของเรื่องโดยรวมของชีวิต ของชุมชน ของสังคม รวมถึงขององค์กรและสถาบัน เช่นหนังสือพิมพ์และโรงเรียน ความดีเป็นเนื้อในอยู่ในหลาย ๆ ด้าน ของสิ่งที่เรียกว่าชีวิต ชุมชน สังคม องค์กร และสถาบันต่างๆ

ท่านผู้มีเกียรติครับ ผมได้พูดมาพอสมควรเกี่ยวกับเรื่องการเสริมสร้างคุณธรรมในสังคม ซึ่งผมขอใช้คำง่าย ๆ ว่าเป็นการเสริมสร้างความดีในสังคม โดยใช้แนวคิดหลัก ได้แก่ บันไดวน 4 ขั้น ที่ใช้คำว่าบันไดวน เพื่อให้เห็นว่าไม่ได้จบ ไม่ใช่ว่าหนึ่งแล้วต้องไปสอง สองแล้วต้องไปสาม สามแล้วต้องไปสี่ แล้วจบ แต่วนไปเรื่อยๆครับ และวนแบบไม่ต้องตามลำดับเสมอไป อาจจะวนแบบหนึ่ง สอง สาม สี่ หรือหนึ่ง สอง สี่ สาม หรือสอง หนึ่ง สาม สี่ สำคัญที่ว่าเป็นการส่งเสริมความดีที่วนขึ้นไปเรื่อยๆ วนขึ้นอย่างต่อเนื่อง ช่วยให้ทำได้ดีขึ้นๆ ขยายวงมากขึ้นๆ เป็นขบวนการใหญ่ขึ้นๆ

ผมยังมีความเชื่อมั่นว่าในสังคมไทยมีความดีอยู่เป็นอันมาก คนไทยหรือมนุษย์ทุกคนครับ มีความดีอยู่เป็นหลัก ความไม่ดีเป็นรอง ถ้าคิดอย่างนี้ เชื่ออย่างนี้ แล้วค้นหาความดีอยู่เสมอ เรียนรู้ความดีอยู่เสมอ สื่อสารความดีอยู่เสมอ ขับเคลื่อนความดีอยู่เสมอ ผมก็มั่นใจว่า ชีวิตของคนไทยจะดีขึ้นได้ ชุมชนดีขึ้นได้ องค์กรและสถาบันดีขึ้นได้ สังคมหรือประเทศดีขึ้นได้ รวมถึงมนุษยชาติก็จะดีขึ้นได้ ด้วยการเอาความดีเป็นหลัก เอาความดีเป็นแกน เอาความดีเป็นเครื่องมือ และความดีเป็นเป้าหมาย

สุดท้ายนี้ ผมขอเอาใจช่วยท่านทั้งหลายที่มีภารกิจหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นการบริหารสถาบันการศึกษา การบริหารองค์กร การบริหารครอบครัว และรวมถึงการบริหารตนเองด้วยนะครับ ให้ท่านสามารถใช้ความดีที่มีอยู่ในตัวท่าน ในองค์กรของท่าน ในหน่วยงานของท่าน ในชุมชนที่ท่านอยู่ แล้วก็ขยายวง จับมือ เชื่อมโยงความดีทั้งหลาย ขับเคลื่อนเป็นขบวนการอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่ชีวิต องค์กร สถาบัน ชุมชน และสังคม ที่ดีขึ้นๆ เป็นลำดับ บังเกิดเป็นทั้งความสุข ความพอใจ ความเจริญรุ่งเรืองของท่านทั้งหลาย พร้อมๆ กับความสุข ความเจริญ ความรุ่งเรืองของส่วนรวม ขอบคุณครับ

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/166102

<<< กลับ

คิดถึงอาจารย์ป๋วย : คิดถึงเพื่อทำดีให้มากขึ้น

คิดถึงอาจารย์ป๋วย : คิดถึงเพื่อทำดีให้มากขึ้น


โดย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

                อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นแหล่งพลังแห่งความดี ถ้าจะคิดถึงอาจารย์ป๋วย จึงควรคิดถึงเพื่อจะมีแรงบันดาลใจและสามารถทำความดีได้มากขึ้น

วิธีคิดถึงอาจารย์ป๋วยให้เป็นแรงบันดาลใจและเป็นการชี้แนวทางเพื่อการทำความดี คือคิดถึงข้อคิด หลักการ ธรรมะ หรือการกระทำที่ดีๆของอาจารย์ป๋วย ซึ่งมีมากมาย ล้วนมีคุณค่า ทรงความหมาย หลายกรณีมีความลึกซึ้ง คมคาย หรือเป็นศิลปะ ควรแก่การจดจำมาเป็นแนวทางหรือประกอบการพิจารณาในการดำเนินชีวิตของเรา

เช่น อุดมคติ หรือหลักธรรม หรือคุณธรรมประจำใจ ในการดำเนินชีวิตของอาจารย์ป๋วย คือ “ความจริง ความงาม และความดี” สามคำนี้มีความลึก หนักแน่น ทรงพลัง ช่วยให้เราจินตนาการสร้างสรรค์ประยุกต์มาเป็นการคิด การพูด และการกระทำ ที่ดี ของเราได้นานัปการ

อาจารย์ป๋วยได้อธิบายต่อไปว่า เมื่อกำหนด “ความจริง ความงาม และความดี” เป็นสิ่งที่พึงปรารถนา หรือเป็นเป้าหมายแล้ว อาจารย์ป๋วยได้เลือก “หนทางสู่เป้าหมาย” ดังกล่าว โดยอาศัยธรรมะของพระพุทธเจ้าข้อที่ว่าด้วย “จตุพละ” หรือ “กำลัง 4 ประการ” อันได้แก่

ปัญญาพละ           กำลังจากปัญญา รวมถึงความรอบรู้ ความรู้จริง

วิริยพละ                กำลังจากความพากเพียร อุตสาหวิริยะ ไม่ย่อท้อ

อนวัชชพละ         กำลังจากการทำสิ่งที่ไม่เป็นโทษ รวมถึงความซื่อสัตย์สุจริต เป็นต้น

สังคหพละ            กำลังจากการเกื้อกูลสงเคราะห์ การมุ่งทำประโยชน์ให้

ในภาพใหญ่ของสังคมโดยรวม อาจารย์ป๋วยให้หลักการว่า “สังคมที่พึงปรารถนา” จะต้องประกอบด้วยคุณธรรม 4 ประการ คือ

  1. มีสมรรถภาพ
  2. มีเสรีภาพ
  3. มีความชอบธรรม (หรือยุติธรรม)
  4. มีความเมตตากรุณา

อาจารย์ป๋วยยังได้เสนอ “อุดมการณ์” ของสังคมในอีกรูปแบบหนึ่งที่คล้ายคลึงกับ “สังคมที่พึงปรารถนา” ดังกล่าวข้างต้น โดยใช้คำพูดซึ่งกระชับกินความและเป็นที่จดจำกันจนทุกวันนี้ คำนั้น คือ “สันติประชาธรรม” อันมีความหมายรวมถึง สันติภาพ ประชาธิปไตย และความเป็นธรรม

น่าคิดว่า ถ้านำหลักการซึ่งดูง่ายๆแต่ลึกซึ้งของอาจารย์ป๋วย ว่าด้วย “สังคมที่พึงปรารถนา” และ “อุดมการณ์ของสังคม” ที่กล่าวมาแล้ว มาเป็นเกณฑ์วัดการพัฒนาของสังคมไทยในปัจจุบัน จะเห็นว่า เรายังไปได้ไม่ไกลเท่าไรเลย !

ในส่วนที่เป็นตัวตนของอาจารย์ป๋วยในฐานะ “ข้าราชการ” หรือ “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” คนหนึ่ง ผมคิดว่าอาจารย์ป๋วยมีลักษณะโดดเด่น เป็นแบบอย่างในการทำหน้าที่ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐหลายประการ ที่ทำให้อาจารย์ป๋วยเป็นที่เคารพนับถือ ยกย่อง สรรเสริญ ของคนจำนวนมาก รวมทั้งสามารถนำลักษณะที่โดดเด่นและวิธีทำงานที่ดีของอาจารย์ป๋วยมาเป็นแบบอย่างในการทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดี

ผมขอนำลักษณะโดดเด่นของอาจารย์ป๋วยบางประการมากล่าวไว้ดังต่อไปนี้

  1. ความเมตตาปรารถนาดี อาจารย์ป๋วยมีความรัก ความเมตตา ความปรารถนาดี อย่างแท้จริง ต่อทุกคนที่อยู่รอบข้าง รวมถึงพนักงานผู้น้อย (เช่น นักการ พนักงานขับรถ) ลูกน้อง ลูกศิษย์ นักศึกษา เพื่อนร่วมงานใกล้ไกล ฯลฯ และความรัก ความเมตตา ความปรารถนาดี นี้อาจารย์ยังแผ่ขยายอย่างเข้มข้น จริงจังและต่อเนื่อง ไปยังหมู่ประชาชน รวมถึงชาวบ้าน เยาวชน ฯลฯ ทั้งหลายอีกด้วย ซึ่งลักษณะประการหลังนี้นี่เอง ที่ทำให้อาจารย์ป๋วยมองหน้าที่การงานที่ไม่จำกัดวงแคบ แต่ขยายไปถึงแนวทางและวิธีการ อันจะก่อให้เกิดประโยชน์สุขกับหมู่ประชาชนโดยเฉพาะผู้มีโอกาสน้อยในสังคม
  2. ความซื่อสัตย์สุจริต ในส่วนตัวของอาจารย์ป๋วยเอง ท่านเป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริตอย่างยิ่งยวด และพร้อมกันนั้น ท่านได้พยายามสนับสนุนและดูแลให้บุคลากรของหน่วยงานที่ท่านบริหารอยู่ มีความซื่อสัตย์สุจริตอย่างจริงจังด้วย เช่นให้ความสำคัญกับความซื่อสัตย์สุจริต ว่าเป็นอันดับแรกของลักษณะที่พึงปรารถนาของบุคลากร ดูแลให้บุคลากรมีระดับรายได้ที่พอสมควรและเพียงพอ เพื่อจะไม่เป็นแรงบีบคั้นให้คิดทุจริตประพฤติมิชอบ เป็นต้น นอกจากนั้นอาจารย์ป๋วยก็เป็นผู้ที่ต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบอย่างแข็งขัน ด้วยความกล้าหาญพร้อมกับความฉลาดเฉลียวใช้ปัญญา
  3. 3. ความกล้าหาญชาญชัย อาจารย์ป๋วยเชื่อมั่นในความดี ความสุจริต และความสามารถที่บริสุทธิ์ พร้อมทั้งกล้าที่จะต่อต้านความไม่ดี ความไม่สุจริต ความไม่ถูกต้องชอบธรรมทั้งหลายในสังคม บ่อยครั้งอาจารย์ป๋วยกระทำการที่ท้าทายผู้มีอำนาจซึ่งไม่สุจริต ที่โดดเด่นที่สุดคงจะเป็น “จดหมายจากนายเข้ม เย็นยิ่ง” ที่มีส่วนสำคัญนำไปสู่การปฏิรูปการปกครองให้เป็นแบบประชาธิปไตย ในขณะที่ประเทศยังอยู่ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการ
  4. ความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยว อาจารย์ป๋วยไม่เคยอ่อนไหวท้อแท้ แต่เต็มไปด้วยความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวในภารกิจทุกอย่างที่อาจารย์ป๋วยทำ พร้อมด้วยความพากเพียรพยายาม ขยัน อดทน ตั้งแต่เรื่องเล็กสุด จนเรื่องใหญ่สุด อาจารย์ป๋วยเป็นผู้มีพลังมหาศาล พร้อมเดินหน้าอย่างมุ่งมั่นและสร้างสรรค์เสมอ
  5. ความฉลาดเฉลียวรอบรู้ อาจารย์ป๋วยเป็นผู้มีสติปัญญาเป็นเลิศพร้อมด้วยความฉลาดเฉลียวรอบรู้อย่างยากหาคนเปรียบเทียบได้ อาจารย์ป๋วยอ่านมาก ศึกษามาก ค้นคว้าหาความรู้ ความเข้าใจอยู่เสมอ จึงสามารถทำหน้าที่ทุกด้านได้เป็นอย่างดียิ่ง โดยอาศัย สติ ปัญญา ความสามารถ ความฉลาด ความเฉลียว ปฏิภาณไหวพริบ รวมทั้งการมีกุศโลบาย มีศิลปะ มีอารมณ์ขัน อย่างยอดเยี่ยม เป็นที่ชื่นชมและเลื่องลือกันอย่างกว้างขวางในช่วงที่อาจารย์ป๋วยทำหน้าที่อยู่และต่อๆมา

สรุปแล้ว ถ้าเราจะคิดถึงหรือรำลึกถึง อาจารย์ป๋วย อึ๊มงภากรณ์ ปูชนียบุคคลคนสำคัญคนหนึ่งของประเทศไทย ก็ควรคิดถึงหรือรำลึกถึงในลักษณะที่จะช่วยให้เราได้เห็นคุณความดีของอาจารย์ป๋วยได้อย่างชัดเจน แล้วนำมาเป็นแรงบันดาลใจตลอดจนเป็นแนวทางในการช่วยให้เราสามารถ คิด พูด และทำ ในทางที่สร้างสรรค์ดีงาม เกิดประโยชน์ต่อผู้อื่น ต่อหมู่คณะ ต่อส่วนรวม ได้ดียิ่งขึ้นและมากยิ่งขึ้น ก็จะเป็นคุณูปการอันเนื่องมาจากการคิดถึงหรือรำลึกถึงอาจารย์ป๋วยได้อย่างคุ้มค่าและคู่ควร

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/199608

<<< กลับ

ความเห็นเกี่ยวกับวิกฤตการเมืองไทย

ความเห็นเกี่ยวกับวิกฤตการเมืองไทย


(จากสกู๊ป “3 ผู้อาวุโสแนะผ่าทางตัน เลี่ยง ‘สงครามกลางเมือง’” ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 8 กันยายน 2551 หน้า 2)

                                                                                                   ความเห็นของ ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

                                                                                                  อดีตรองนายกรัฐมนตรี

พอจะเห็นทางออกของประเทศในยามนี้หรือไม่

                จริงๆ แล้วการดูแลและจัดการบริหารประเทศเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบ ไม่ว่าจะเกิดปัญหาอะไร จะดีหรือไม่ดีก็ตาม รัฐบาลต้องจัดการให้เรียบร้อย ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ ส่วนฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ ก็ทำหน้าที่ของตัวเองไป ขณะที่ในส่วนของประชาชนควรเข้ามามีส่วนร่วม แต่ปัญหาคือตอนนี้ประชาชนถูกแยกเป็นกลุ่มๆ จึงเข้าไปจัดการลำบาก แต่รัฐบาลยังเป็นหนึ่งเดียวกันอยู่ ดังนั้น หลายฝ่ายจึงเห็นตรงกันว่า หากต้องการให้ความขัดแย้งคลี่คลายควรใช้สันติวิธี แต่ในทางปฏิบัติมีรายละเอียดที่ซับซ้อนมาก

                เราต้องหาคนกลางซึ่งเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย และไม่ใช่การตั้งโต๊ะนั่งเจรจากันเลย เพราะต้องผ่านหลายขั้นตอนและค่อยๆ ไป หาจุดเริ่มต้นให้ได้ก่อน อาจไม่จำเป็นต้องใช้เวลามาก แม้ไม่สำเร็จก็ต้องพยายามต่อไป เพื่อหาวิธีให้คู่ปรปักษ์ได้คุยกันซึ่งเป็นเรื่องยาก

แต่ปัญหาเฉพาะหน้าขณะนี้คือทั้ง 2 ฝ่ายกำลังเผชิญหน้ากัน 

                ต้องทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายตระหนักว่าการใช้ความรุนแรงไม่ใช่ทางออก ควรหาทางพูดจากัน แต่ตอนนี้รัฐบาลไม่อยากพูด พันธมิตรก็ไม่อยากพูด ยังดีที่มีคนอื่นเห็นว่าควรมีการพูดจากัน พูดทีละฝ่ายก็ได้แล้วค่อยๆ ขยับขึ้นไปซึ่งตรงนี้เป็นศิลปะ การที่เสนอให้ประธานวุฒิสภาเข้ามาทำหน้าที่นี้ก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องทำกันหลายขั้นตอน เรื่องนี้คล้ายกับปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งคู่ปฏิปักษ์คือรัฐและฝ่ายต่อต้าน เพียงแต่ภาคใต้ยากกว่าเพราะไม่รู้ว่าเป็นใคร และทั้งคู่ต่างใช้ความรุนแรงกันแล้ว จึงไม่รู้ว่าอีกฝ่ายหนึ่งควรพูดคุยกับใคร แต่ที่นี่รู้แล้วว่าเป็นกลุ่มพันธมิตร                     จริงๆ แล้วสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้ก็มีสิ่งดีๆ เกิดขึ้นเหมือนกัน คือประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในเหตุการณ์บ้านเมืองมากขึ้น เรื่องการใช้ความรุนแรงก็มีการออกมาต่อต้านกันมาก

พูดกันว่าหากปล่อยให้สถานการณ์เป็นไปในลักษณะนี้อาจกลายเป็นสงครามกลางเมือง

                ทุกอย่างเป็นไปได้ทั้งนั้น เพราะการเกิดแผ่นดินไหวทุกครั้งมาจากการสะสมแรงกดดันทีละน้อย ดังนั้น เราต้องเปลี่ยนทิศทางการสะสมจากแรงกดดันมาสู่การผ่อนคลาย โดยเชื่อมต่อและพูดคุยกัน ยิ่งถ้ารัฐคิดอยากทำเรื่องสันติวิธีจะง่ายขึ้น ซึ่งตอนนี้ยังไม่แน่ใจว่ารัฐคิดเรื่องนี้หรือไม่ จริงๆ แล้วเคยมีคำสั่งของนายกรัฐมนตรี 187/2546 พูดถึงแนวทางและวิธีการสันติวิธีไว้แล้ว ดังนั้น หากริเริ่มโดยรัฐ ทุกอย่างจะง่ายขึ้นโดยมีปัจจัย 3 ประการ คือ 1.การสร้างกระบวนการและวิธีจัดการ 2.ทัศนคติในการสร้างบรรยากาศ และ 3.เรื่องสาระ 

                หากทั้ง 2 ข้อแรกไม่เกิดขึ้นก็ไม่อาจเกิดสาระที่ดีได้

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/207030

<<< กลับ