ความเป็นอิสระกับการพัฒนาสหกรณ์ไทย (1)

ความเป็นอิสระกับการพัฒนาสหกรณ์ไทย (1)


   คำบรรยายพิเศษ

                                            เรื่อง ความเป็นอิสระกับการพัฒนาสหกรณ์ไทย

                                                          โดย นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

                            ในโอกาส การประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2550 สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย

                        วันที่ 15 ธันวาคม 2550  ณ ห้องบอลรูม โรงแรมบางกอกพาเลซ กรุงเทพฯ

เรียนท่านอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์  ท่านประธานกรรมการดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ท่านผู้แทนสหกรณ์ทุกประเภททั่วประเทศ และท่านผู้มีเกียรติที่เคารพครับ ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มาเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2550 ของสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ในวันนี้ ผมเองเป็นเพื่อนของขบวนการสหกรณ์มาเป็นเวลาเนิ่นนาน นับย้อนไปคงจะประมาณยี่สิบปี และก็ยังเป็นอยู่ทุกวันนี้นะครับ ฉะนั้นในวันนี้เป็นวันสำคัญที่เป็นการประชุมใหญ่สามัญประจำปีของ สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย และผมยังได้รับเกียรติให้บรรยายพิเศษในเรื่อง “ความเป็นอิสระกับการพัฒนาสหกรณ์ไทย” ซึ่งหลักการในเรื่องความเป็นอิสระ เป็นหลักการที่บรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 จึงนับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งครับ

จากที่ท่านประธานคณะกรรมการดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ได้รายงานมาก็ทราบว่าท่านทั้งหลายเป็นผู้นำสหกรณ์และเป็นผู้แทนของสหกรณ์ทุกประเภทจากทั่วประเทศ  ฉะนั้นวันนี้จึงเป็นโอกาสสำคัญยิ่งที่ท่านทั้งหลายได้มาประชุมร่วมกันและปรึกษาหารือกัน เกี่ยวกับการทำงานและร่วมกันหาแนวทางที่จะปฏิรูประบบสหกรณ์ของประเทศไทย ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถดำเนินการไปได้ด้วยดีและบังเกิดผลอย่างสร้างสรรค์

ผมเองได้ให้ความสนใจกับงานด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงการพัฒนาสหกรณ์มาโดยตลอด มีโอกาสได้ร่วมทำงานกับประชาชนกับชาวบ้านในระดับพื้นฐานมาเป็นเวลานาน และได้เห็นว่าระบบสหกรณ์เป็นแนวทางที่เหมาะสม ที่จะส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนในระดับพื้นฐานหรือฐานราก หรือชาวบ้านนั่นเอง ได้นำไปใช้เป็นแนวทางในการทำงานร่วมกัน และในโอกาสที่ผมได้เข้ามาทำงานรับผิดชอบทางด้านการพัฒนาสังคม ซึ่งรวมถึงงานด้านการพัฒนาบุคคลและการส่งเสริมกิจการสหกรณ์ของรัฐ ผมจึงมีความสนใจและอยากสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนได้นำแนวทางและหลักการของสหกรณ์ไปใช้ ไปประยุกต์ ไปส่งเสริมให้ถูกต้องและบังเกิดผล เพื่อว่าสังคมไทยจะได้ประโยชน์จากระบบสหกรณ์อย่างเต็มที่

ท่านผู้มีเกียรติครับ ที่ผมมาเป็นประธานในที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี ของสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย รวมทั้งได้รับเชิญให้บรรยายพิเศษ เรื่อง “ความเป็นอิสระกับการพัฒนาสหกรณ์ไทย” ในวันนี้ ถือเป็นโอกาสที่จะได้เสนอแนะแนวคิด แนวทางปฏิบัติ ที่จะปฏิรูประบบสหกรณ์ร่วมกัน เพื่อให้ทุกฝ่ายได้สามารถขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง การพัฒนาสหกรณ์ ให้บังเกิดผลต่อไปครับ

บัดนี้ได้เวลาอันสมควร ผมจึงขอเปิดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2550 ของสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย และขออำนวยพรให้การประชุมครั้งนี้บรรลุผลตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ทุกประการ ขอให้ท่านผู้มีเกียรติที่เข้าร่วมการประชุมทุกท่านประสบความสุข ความเจริญ มีสุขภาพพลานามัยที่สมบูรณ์แข็งแรง และร่วมกันทำให้ขบวนการสหกรณ์รวมทั้งสังคมไทย เจริญพัฒนาสถาพรต่อไป ขอบคุณครับ

ในเรื่อง “ความเป็นอิสระกับการพัฒนาสหกรณ์ไทย” ซึ่งคงต้องใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมงนะครับ ท่านผู้มีเกียรติครับ เรื่องของสหกรณ์เป็นเรื่องเก่ามาก เพราะเราทำกันมาหลายสิบปี อีกไม่นานจะถึงร้อยปี แต่ถ้าถามว่าแล้วสหกรณ์ดีหรือเปล่า ? เชื่อว่าทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่ายังดีอยู่ ไม่ว่าจะในประเทศไทยหรือประเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะในประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศพัฒนาแล้ว ตัวอย่างเช่นที่ท่านมีความร่วมมือกับประเทศสวีเดน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว เขาก็ยังมีระบบสหกรณ์ที่เจริญก้าวหน้า ในประเทศอเมริกา แคนาดา เยอรมัน ฝรั่งเศส ใกล้บ้านเรา ญี่ปุ่น เกาหลี เขาก็มีระบบสหกรณ์ที่ยังเข้มแข็ง และเป็นประโยชน์ ในประเทศไทยเราเอง ขบวนการสหกรณ์ก็ก้าวหน้าไปมากนะครับ มีจำนวนสหกรณ์ถึง เจ็ดแปดพันแห่งทั่วประเทศ มีสินทรัพย์รวมกันเกือบ ล้านล้านบาท มีสมาชิกประมาณ 10 ล้านคน เป็นขบวนการใหญ่ทีเดียว

ที่น่าสนใจคือขณะนี้ก็มีขบวนการภาคประชาชนที่เราเรียกว่าองค์กรชุมชน เป็นการรวมตัวกันของชาวบ้านในระดับหมู่บ้าน ตำบลหรือ เขตนิเวศที่ใช้ลักษณะสหกรณ์นั่นเอง และเป็นไปโดยสมัครใจนะครับ ไม่มีใครบังคับ ไม่ได้มีกฎหมายรองรับด้วยซ้ำไป แต่ที่สำคัญก็คือว่าขบวนการขององค์กรชุมชนกำลังก้าวหน้าไปด้วยดี ลักษณะการรวมตัวกันที่เรียกว่ากลุ่มต่างๆ กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มสัจจะ กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มเยาวชน ลักษณะทั่วไป คล้ายคลึงมากกับระบบสหกรณ์ รวมถึงกรณีของข้าราชการที่นำทรัพยากรคือเงินเข้ามาบริหารร่วมกัน  ก็ใช้ระบบสหกรณ์ ถ้าคิดจำนวนเงินที่หมุนเวียนอยู่ ถ้าไม่นับกองทุนหมู่บ้านนะครับ ก็หลายหมื่นล้านบาท แต่ถ้านับกองทุนหมู่บ้านด้วยก็กว่าแสนล้านบาท แสดงว่าระบบสหกรณ์ยังใช้ได้ ยังดี ทั้งในประเทศไทย และในนานาชาติ

เราจึงพอสรุปได้ว่า สหกรณ์เป็นเรื่องที่ดี เป็นเรื่องที่จะเป็นประโยชน์ ทั้งต่อประชาชนและต่อสังคม ยิ่งในยุคหลังๆ ที่สังคมได้ตระหนักถึงการอยู่ร่วมกันที่จะต้องคำนึงถึงมิติต่างๆ ที่ไม่ใช่มิติทางเศรษฐกิจ  และธุรกิจเท่านั้น  มีมิติทางสังคม  ทางจิตใจทางวัฒนธรรม ที่ต้องคำนึงถึง และยังมีมิติของการอยู่ร่วมกันไม่ใช่เฉพาะระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ แต่ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ คือต้องช่วยกันดูแลให้มนุษย์กับธรรมชาติผสมกลมกลืนกันได้อย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นที่มาของการจัดการ เช่น ในเรื่องปัญหาโลกร้อน ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนปัญหาการแก่งแย่งแข่งขันโดย เอาธุรกิจเป็นหลัก และนำไปสู่ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ สภาพสิ่งแวดล้อม และสภาพทางสังคม

และนั่นก็เป็นฐานที่มาอย่างหนึ่งของปรัชญาแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระราชทานพระราชดำรินี้ให้กับประชาชนและสังคมไทย และประชาชนสังคมไทยก็ได้น้อมรับ เอาแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ ปฏิบัติ หรือสานต่อ เพราะการปฏิบัติจำนวนมาก ที่ทำกันมาตามประเพณีวัฒนธรรมไทย มีลักษณะสอดรับ กับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอยู่แล้ว เมื่อมีพระราชดำรัสในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ก็ช่วยตอกย้ำถึงคุณค่า ประโยชน์ ความสำคัญของวิถีชีวิตแบบไทยที่สอดคล้องกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ขณะนี้ถือได้ว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้เป็นปรัชญานำทางการพัฒนาของประเทศไทย ตรงตามที่ได้ระบุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 และฉบับที่ 10 และในระดับนานาชาติ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงก็ได้เป็นที่รับรู้ ชื่นชม และสนใจประยุกต์ใช้กว้างขวางออกไป

.gotoknow-responsive-middle { width: 300px; height: 250px; } @media(min-width: 260px) { .gotoknow-responsive-middle { width: 300px; height: 260px; } } @media(min-width: 350px) { .gotoknow-responsive-middle { width: 336px; height: 280px; } } @media(min-width: 740px) { .gotoknow-responsive-middle { width: 728px; height: 90px; } }

ที่ล่าสุดคือการมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของเลขาธิการสหประชาชาติ มิสเตอร์บัน คี มูน ที่ได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสนทนากับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอยู่เกือบหนึ่งชั่วโมง ท่านได้ชมกิจกรรมในบริเวณพระราชวังสวนจิตรลดา และก็ได้เห็นพัฒนาการในประเทศไทยบนพื้นฐานของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีมิติที่ลึกซึ้งและกว้างขวาง

วิถีสังคมไทยกับแนวทางของสหกรณ์ ไปด้วยกันได้เป็นอย่างดี เพราะสหกรณ์คือการอยู่ร่วมกัน การคิด การทำ การบริหารจัดการร่วมกัน คำนึงถึงประโยชน์ร่วมกัน เพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน  ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์การพัฒนาประเทศไทยในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 ที่มีวิสัยทัศน์ให้ประเทศไทยเป็นสังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน สังคมจะอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันก็ต่อเมื่อประชาชนรวมตัวกัน คิดด้วยกัน ทำด้วยกัน ถ้าต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างทำก็จะแก่งแย่งแข่งขัน ไม่นำไปสู่การเป็นสังคมที่อยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน

สรุปอีกครั้งหนึ่งก็คือว่า ระบบสหกรณ์ หลักการสหกรณ์ วิธีการสหกรณ์ ยังดีอยู่ และจะยิ่งดีมากขึ้น ยิ่งจำเป็นและยิ่งสมควรกับประเทศไทย กับโลกในยุคสมัยปัจจุบันและอนาคต ข้อนี้คิดว่าเป็นข้อสรุปที่ชัดเจน หนักแน่น อย่างน้อยในใจผม แต่เชื่อว่าท่านทั้งหลายยิ่งอยู่ในขบวนการสหกรณ์ก็น่าจะมีความเห็นพ้องต้องกัน และถ้าเราได้มาแสดงความเห็นยืนยันร่วมกัน ก็ทำให้เรามีความชัดเจน หนักแน่น รวมทั้งอุ่นใจมากขึ้นว่า ยังเป็นความคิดที่ถูกต้อง ยังเป็นหลักการที่ดี ยังเป็นแนวทางที่ควรส่งเสริมสนับสนุน

คำถามต่อไปคือ แล้วทำไมระบบสหกรณ์ไทยถึงยังไม่พัฒนามากเท่าที่เราอยากเห็น ? พัฒนาบ้างนะครับ ไม่ใช่ไม่พัฒนา แต่ไม่มากเท่าที่เราอยากเห็น ยังมีปัญหา ยังมีข้อขัดข้อง ยังมีจุดอ่อน ให้เราต้องวิตก ต้องกังวล ต้องลำบาก เหมือนกับมีแรงฉุดอยู่ เดินหน้าก็เดินไปนะครับ แต่ขณะเดียวกันก็มีแรงฉุดแรงถ่วงอยู่ เราได้ยินเสียงบ่น เสียงวิเคราะห์วิจารณ์ทำนองนี้มาเป็น สิบสิบปี ผมเองได้ยินมาอย่างน้อยยี่สิบปี พูดคุยกับคนในขบวนการสหกรณ์ทั้งรุ่นเก่า รุ่นกลาง รุ่นใหม่ จนรุ่นเก่าที่อายุมากกว่าผมก็อาวุโสมากๆทีเดียว บางท่านลาโลกไปแล้ว บางท่านอยู่ในวัยที่จะไปเมื่อไหร่ก็คงไม่เป็นเรื่องแปลกประหลาดอะไร รวมทั้งผมด้วย จากนี้ไปวัยก็จะมากขึ้นๆ และได้ยินมาตลอดว่าสหกรณ์ไทย ยังไปไม่ดีไม่ไกลเท่าที่ควร เทียบกับหลายๆ ประเทศที่เขาพัฒนาไปได้ดี

คำถามคือ ทำไม ? ทำไม? และทำไม? คงจะมีข้อวิเคราะห์ต่างๆ นานาครับ ปัญหาสังคม  ปัญหาการบริหาร ชี้ไปตรงไหนคงจะไม่ผิด แต่ปัจจัย ที่เกี่ยวข้องมีมากและซับซ้อน ปัญหาสังคมนี่ไม่เหมือนปัญหาเทคนิค ปัญหาเทคนิคเราสามารถคลำหาสาเหตุ ซึ่งอาจจะมีจุดเดียว พอเจอสาเหตุที่จุดนั้นเราแก้ได้ แต่ปัญหาสังคมเหมือนกับร่างกายเรา เป็นระบบที่สลับซับซ้อนและเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน จี้ไปที่จุดไหนก็ถูก แต่ไม่ใช่ถูกที่เดียว มันถูกหลายแห่ง ทำให้จับต้นชนปลายได้ยาก

อีกอย่างหนึ่งที่มีการกล่าวถึงกันมาก คงจะเป็นที่มาของการตั้งหัวข้อให้ผมบรรยายในวันนี้ คือเรื่องของความเป็นอิสระ ความเป็นอิสระคงหมายถึง ความสามารถที่จะคิด ที่จะทำ ที่จะจัดการ โดยไม่ถูกครอบงำ กำกับ กดดันหรือชักจูงมากเกินไป และคงจะเป็นที่มาของการเคลื่อนไหว บรรจุสาระเข้าไปในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ท่านทั้งหลายคงทราบดีอยู่ว่าใน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ได้มีการบรรจุข้อความ ในแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐหมวด 5 มาตรา 85 ที่บอกว่า “รัฐต้องส่งเสริม สนับสนุน และคุ้มครองระบบสหกรณ์” สั้นๆ แต่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 ได้มีการเคลื่อนไหวจากท่านทั้งหลายที่อยู่ในขบวนการสหกรณ์ ที่จะบรรจุข้อความให้ละเอียดกว่าปี 2540 ในที่สุดท่านก็ได้ข้อความประมาณ 3 บรรทัด เยอะนะครับ สำหรับข้อความที่จะบรรจุลงในรัฐธรรมนูญ และมีคำว่า “ให้เป็นอิสระ” อยู่ในนั้น ให้รัฐคุ้มครองพัฒนาระบบสหกรณ์ให้มีความเป็นอิสระ ผมจึงวิเคราะห์ว่า ที่ผู้อยู่ในขบวนการสหกรณ์ได้พยายามบรรจุคำว่า “ความเป็นอิสระ” ไว้ในรัฐธรรมนูญ ก็คงจะเล็งเห็นว่า เหตุสำคัญเหตุหนึ่งที่ทำให้ระบบขบวนการสหกรณ์ไทย ยังไม่พัฒนาก้าวหน้าเท่าที่ควร น่าจะเป็นเรื่องความเป็นอิสระ แต่ดังที่ผมได้กล่าวไว้แล้วนะครับว่า ปัญหาทางสังคมก็มีหลายปัจจัยเกี่ยวพันซึ่งกันและกัน ฉะนั้นคงไม่ใช่เรื่องใดเรื่องหนึ่งเพียงเรื่องเดียว ความเป็นอิสระมีความสำคัญแต่คงไม่ใช่ประเด็นเดียว ถ้าแก้ที่ความเป็นอิสระเพียงจุดเดียว อาจไม่สามารถแก้ไขปัญหาทั้งหมดได้ ดีไม่ดีถ้าปัจจัยอื่นๆไม่พร้อม ความเป็นอิสระนั้นเอง อาจจะนำมาซึ่งปัญหาแทรกซ้อนได้

ท่านทั้งหลาย คงจะพอทราบเรื่องกองทุนพื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร  กองทุนเจ้าปัญหา ซึ่งในการก่อตั้งกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร มีเกษตรกรผู้หวังดีจำนวนมากขับเคลื่อน และออกแบบในกฎหมาย ให้มีความเป็นอิสระ ให้เกษตรกรมีบทบาทสูง ในการเข้ามาบริหารจัดการ จะต้องมีการเลือกตั้ง และเน้นคำว่าเลือกตั้งนะครับ กรรมการที่เป็นเกษตรกรทั่วไป ประมาณครึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมด หน่วยงานของรัฐ ผมยังไม่เห็นหน่วยงานไหนเลยครับ ที่จะมีตัวแทนของประชาชนเข้าไปมากขนาดนี้คือครึ่งหนึ่งนะครับ นี่ยังไม่นับรวมผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งก็อาจจะมีประเภทเกษตรกรเข้าไปอีกนะครับ และการเลือกตั้งก็บอกว่า ต้องเลือกตั้งอย่างกว้างขวาง เลยไปเลือกตั้งกันทั่วประเทศ เลือกตั้งครั้งหนึ่งใช้เงินประมาณ 60 ล้านบาท และในอดีตถ้าไม่นับครั้งล่าสุด มีคนไปเลือกตั้งประมาณ 3% จากผู้มีสิทธิ์ร้อยคนไปเลือกตั้งเพียง 3 คน ครั้งที่แล้วเราทำได้ดีขึ้น จากผู้มีสิทธิ์ร้อยคนมาเลือกตั้ง 6 คน ก็ดีขึ้นเท่าตัว แต่ต้องใช้เงินไป 60 ล้านบาท คนเลือกก็ไม่ค่อยรู้จักคนถูกเลือกเพราะเลือกกันทั่วประเทศ นี่คือการสุดโต่งของระบบ สุดไปเลยครับ ให้ผู้แทนเกษตรกรเข้าไปครึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมด และให้ผู้แทนเกษตรกรมีบทบาทมาก ผลคือทะเลาะกันยุ่งไปหมดเลยครับ ไปแก่งแย่งแข่งขัน ทะเลาะเบาะแว้งต่อสู้ พวกนั้นพวกนี้ เป็นการเมืองในระดับทางราบ แล้วพอถูกการเมืองระดับบนแทรกเข้าไปอีก คราวนี้เลยเกิดปัญหาหลายมิติจึงต้องแก้ไข ต้องฟื้นฟูกองทุนฟื้นฟูนะครับ ผมเองไม่รู้ว่าเคราะห์ดีหรือเคราะห์ร้ายที่มารับผิดชอบเป็นประธานกองทุนนี้ ในช่วงที่ทำหน้าที่ในรัฐบาลและเป็นรองนายก เดิมทีเดียวไม่ได้เป็นรองนายกเลยไม่ได้รับผิดชอบ แต่พอเป็นรองนายกได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบก็ได้พยายามที่จะเข้าไปคลี่คลายระบบต่างๆให้เข้าที่และบริหารจัดการกันได้ ซึ่งเชื่อว่าได้ทำให้ดีขึ้นมาระดับหนึ่ง

นั่นคือความเป็นอิสระ ถ้าอยากจะใช้ความเป็นอิสระให้เต็มที่ ความเป็นอิสระก็รวมถึงภาคประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของเรื่องเข้ามาบริหารจัดการเต็มที่ ไม่ใช่ไม่ดีนะครับ ไม่ใช่ว่าความเป็นอิสระไม่ดี หรือการที่ประชาชนเข้ามามีบทบาทไม่ดี เพียงแต่ปัจจัยที่เกี่ยวข้องนั้นมีมากกว่าหนึ่งประการ ซึ่งถ้าการประกอบร่วมกันไม่ดีพอ ผลก็จะไม่ดี นี่คือตัวอย่างของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ต้องขออภัยหากผมพูดถึงให้เห็นปัญหา และจุดอ่อนของกองทุน ซึ่งผมเห็นว่ามีจริง และผมก็พูดไปโดยบริสุทธิ์ใจและด้วยความปรารถนาดีนะครับ ที่อยากจะช่วยและอยากจะเห็นกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พัฒนาได้ดีขึ้น ซึ่งอาจจะต้องไปพัฒนา เช่นระบบการเลือกตั้งและอื่นๆ ก็ตั้งใจว่าจะต้องพัฒนาไม่ให้เป็นระบบที่สุดโต่ง แต่ขาดคุณภาพ และมีความทรุดโทรมอย่างที่เป็นอยู่ พร้อมกันนั้นระบบการบริหารกองทุน ระบบการบริหารคณะกรรมการต่างๆ นานา ก็ต้องพัฒนาให้ดีขึ้น

กลับมาเรื่องของสหกรณ์ อะไรเป็นเหตุให้การพัฒนาสหกรณ์ของไทยเรายังไม่ก้าวไปไกลเท่าที่ควร ? ได้มีการวิเคราะห์ว่าเรื่องความเป็นอิสระน่าจะเป็นสาเหตุหนึ่ง แต่ผมเห็นว่าคงมีมากกว่าหนึ่งเหตุ และอย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์เหตุในกรณีปัญหาหรือประเด็นทางสังคม อาจจะไม่ได้ช่วยให้เรา กำหนดยุทธศาสตร์และทิศทางให้ดีเสมอไป การที่จะกำหนดยุทธศาสตร์และแนวทางให้ดีนั้น ต้องทำมากกว่าการวิเคราะห์สาเหตุ ต้องใช้จินตนาการ ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งไม่ได้มาจากการวิเคราะห์เหตุ วิเคราะห์ผลตรงๆ  แต่มาจาก การมองลึก มองกว้าง มองไกล และความเข้าใจถึงปัจจัยต่างๆ ที่ปฏิสัมพันธ์กัน โดยหาทางทำให้ปฏิสัมพันธ์กันแล้วนำไปสู่การพัฒนาที่พึงปรารถนา

ฉะนั้นในประเด็นต่อไปที่ผมจะพูดถึง คือแนวทางการพัฒนาสหกรณ์ของประเทศไทยน่าจะเป็นอย่างไร ? ผมจึงจะไม่ขอวิเคราะห์ว่าเหตุมีอะไรบ้าง?แล้วก็เสนอแนะแนวทางไปตามเหตุ แต่ผมขอคิดรวบยอดไปเลยว่า จะมีพลังอะไรบ้าง มีปัจจัยอะไรบ้าง ซึ่งจะเป็นพลังที่เกาะเกี่ยวกัน เป็นพลังที่เกาะเกี่ยวกันนะครับ แล้วก็ขับเคลื่อนการพัฒนาสหกรณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและบังเกิดผล ผมคิดได้เป็น 5 ประการด้วยกัน ก็ถือเป็นความคิดเห็นส่วนตัวแล้วกันนะครับ เป็นความคิดเห็นส่วนตัวที่มาจากการได้เกี่ยวข้องรับรู้ขบวนการสหกรณ์ ทั้งที่เป็นขบวนการที่เป็นทางการ และขบวนการที่ไม่เป็นทางการ ที่เป็นระบบชุมชน ระบบองค์กรชุมชน และจากการที่ผมอยู่ในวงการบริหารจัดการ ทำให้คิดอะไรเป็นเชิงระบบ และคิดว่าปัจจัยสำคัญ 5 ประการนี้ หรือพลังสำคัญ 5 ประการนี้ น่าจะเป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนาสหกรณ์ไทยได้

                พลังที่หนึ่ง คือ พลังของความรู้ ผมได้พบเห็นมาจากการปฏิบัตินะครับ ไม่ใช่จากทฤษฎี ว่าพลังแห่งความรู้มีจริงและช่วยได้จริง ถ้าได้มีการศึกษาวิจัยให้ได้ความรู้ที่แท้จริง ที่ถูกต้อง ที่ลึกซึ้งและสกัดความรู้นั้นมาใช้ประโยชน์ในการขับเคลื่อน ทั้งขับเคลื่อนการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบาย ที่ใช้มากก็เช่น ในขบวนการสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งได้ใช้ระบบความรู้มากทีเดียว ถึงขั้นมีสถาบันที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายนะครับ ชื่อว่า สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ซึ่งเน้นเรื่องการวิจัยสร้างความรู้ และนำความรู้มาขับเคลื่อนเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งคิดว่าหลายท่านในที่นี้อาจได้มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น ใช้ความรู้ ในการขับเช่นเคลื่อนเรื่อง ลด ละ เลิก การดื่มสุรา ลด ละ เลิก การสูบบุหรี่ การแก้ปัญหาโรคภัยไข้เจ็บที่ร้ายแรงต่างๆ มีการใช้ความรู้มาเป็นเครื่องมือมากทีเดียว

ฉะนั้นผมคิดว่าในเรื่องสหกรณ์ก็เช่นเดียวกัน  การศึกษาวิจัย วิเคราะห์ให้ลึก ให้กว้าง ให้ไกล และนำความรู้นั้น มาประยุกต์ใช้ในการขับเคลื่อน จะเป็นประโยชน์มาก แต่คำว่า “ความรู้” ผมอยากจะรวมถึง “การจัดการความรู้” เข้าไปด้วย การจัดการความรู้เป็นแนวคิดและแนวทางค่อนข้างใหม่  ในประเทศไทยได้มีความตื่นตัวและทำเรื่องการจัดการความรู้ประมาณ 10 ปีมานี่เอง ในนานาชาติก็ประมาณ 20 ปี การจัดการความรู้หมายถึงการนำความรู้ในการปฏิบัติของผู้คนทั้งหลาย มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันแล้วพัฒนาให้เป็นความรู้ที่ลึกลงไปอีก ที่กว้างออกไปอีก ที่ดีขึ้นไปอีก คำว่าความรู้ก็ดี การจัดการความรู้ก็ดี ก็รวมถึงกิจกรรมที่ สันนิบาตสหกรณ์ฯ ทำไปแต่มากกว่า มากกว่านะครับ ที่ท่านทำมานี่ดีแล้วแต่ในความเห็นของผมยังไม่พอ คำว่าการใช้ความรู้ ใช้พลังของความรู้และการจัดการความรู้ จะไปลึก ไปมาก ไปไกล และไปอย่างมีคุณภาพ ตรงประเด็นในการขับเคลื่อนขบวนการมากกว่าที่สันนิบาตสหกรณ์ฯ ทำ แต่นั่นแปลว่าท่านเดินทางมาดีแล้ว เพียงแต่ทำให้ลึกขึ้น ให้กว้างขึ้น ให้มีคุณภาพมากขึ้น ให้ก้าวหน้ามากขึ้น ใช้แนวคิดและแนวทางที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ในประเทศไทยและนานาชาติว่าด้วยการศึกษาวิจัยและการจัดการความรู้ให้มากขึ้น ซึ่งเป็นบทบาทที่ชอบธรรมและเป็นบทบาทที่เหมาะสมของสันนิบาตสหกรณ์ แต่ก็เป็นบทบาทของสหกรณ์ทั้งหลายด้วย รวมทั้งเป็นบทบาทของบรรดาชุมนุมสหกรณ์ทั้งหลาย เป็นบทบาทของกรมส่งเสริมสหกรณ์ นั่นคือบทบาทของทุกๆ ฝ่ายที่จะช่วยทำให้ความรู้และการจัดการความรู้เป็นพลังที่สำคัญ นี่คือพลังที่หนึ่งนะครับ พลังของความรู้ ซึ่งรวมถึงการจัดการความรู้ 

พลังที่สอง คือ พลังของขบวนการ ความเป็นขบวนการ ท่านทั้งหลายเป็นขบวนการมาแต่ไหนแต่ไร ท่านถึงมีสหกรณ์ มีชุมนุมสหกรณ์ มีสันนิบาตสหกรณ์  โครงสร้างและปัจจัยแบบนี้เป็นการชี้ว่าควรต้องพัฒนาในรูปของขบวนการ แต่คำว่าขบวนการคงไม่ใช่เฉพาะโครงสร้าง ไม่ใช่เฉพาะเปลือกผิว ต้องรวมไส้ในด้วยครับ ไส้ในของขบวนการคือเรื่องจิตวิญญาณ เรื่องหลักคิด เรื่องระบบคิด เรื่องวิธีทำ เรื่องการคิดด้วยกัน  ทำด้วยกัน  พัฒนาไปด้วยกัน  รวมตัวกัน รวมตัวตามพื้นที่ ตามประเด็น ตามประเภท มีการรวมตัวหลายอย่างจึงเป็นขบวนการ ไม่ใช่แค่บริหารจัดการธุรกิจของท่านไปตามปกติและนานๆ มาประชุมกันในรูปของชุมนุม นานๆมาประชุมกันในรูปของสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย อย่างนี้ยังไม่ใช่ขบวนการครับ ยังไม่เห็นพลัง ยังดูแห้งๆ  ดูธรรมดาๆ มีแต่รูป ไม่มีแรง  ฉะนั้นทำเป็นขบวนการต้องมากกว่านี้ ต้องลึกกว่านี้ ต้องเข้มกว่านี้

ในระบบขององค์กรชุมชน เขาพยายามทำเป็นขบวนการ เขามีการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายโดยเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง เพราะองค์กรชุมชนขณะนี้มีหลากหลายเหมือนกันนะครับ หลากหลายประเภท หลากหลายลักษณะ เขาจะรวมตัวกันโดยเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง อยู่ตำบลเดียวกัน อำเภอเดียวกัน จังหวัดเดียวกัน มารวมตัวกัน นั่นวิธีหนึ่ง ขณะเดียวกันก็มีการรวมตัวกันตามประเภท อย่างที่ท่านรวมตัวกันตามประเภท ประเภทสหกรณ์การเกษตร สหกรณ์บริการ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน สหกรณ์ออมทรัพย์ และมีการเคลื่อนไหวร่วมกันตามประเด็น ตามพื้นที่ ตามประเภท การขับเคลื่อนตามประเด็นมักไม่เป็นกลไกถาวรแต่จะขับเคลื่อนตามประเด็นนั้นๆ อย่างต่อเนื่องจนบรรลุผล อย่างนี้แหละเป็นขบวนการ ซึ่งขบวนการองค์กรชุมชน ได้ก้าวหน้ามาเป็นลำดับ โดยไม่ได้มีกฎหมายรองรับ แต่ล่าสุดเขาไปได้พระราชบัญญัติซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันมากพอสมควร คือพระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน ในแง่หนึ่งจะคล้ายๆ กับสันนิบาตสหกรณ์ฯ แต่เขาจะให้รวมตัวกันในระดับพื้นที่ แล้วจะมีการประชุมเป็นขบวนการในระดับพื้นที่ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ  ฉะนั้นพลังที่สอง คือ พลังของความเป็นขบวนการ ซึ่งขณะนี้สหกรณ์ไทยเป็นขบวนการแต่ พลังของความเป็นขบวนการยังไม่มาก ทั้งๆ ที่พัฒนามาหลายสิบปีแล้ว ก็น่าจะต้องเพิ่มความเป็นขบวนการให้เข้ม ให้มีพลังมากจึงจะช่วยพัฒนาระบบสหกรณ์ได้อย่างจริงจัง

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/165587

<<< กลับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *