จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 42 (23 ธ.ค. 51) (ต่อ)

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 42 (23 ธ.ค. 51) (ต่อ)


(12 ก.ย.47) “ฝันร้าย”

วันที่ 11 กันยายน 2547 คงถือได้ว่าเป็น “ The Longest Day ” (วันที่ยาวนานที่สุด)

เพราะก่อนหน้า 1 คืน แทบไม่ได้นอนหลับ ทั้งวันของวันที่ 11 ก.ย. ยังคงไม่ได้หลับ และสภาพไม่ได้หลับนี้คงอยู่ต่อมาในช่วงกลางวันทั้งวันของวันที่ 12 ก.ย.

รวมแล้วไม่ได้หลับต่อเนื่องกันประมาณ 48 ชั่วโมง อาจเรียกว่าเป็น The Longest Extended Day ” (วันควบต่อเนื่องที่ยาวนานที่สุด) ก็ได้

นอกจากไม่ได้หลับแล้ว การเผชิญ รับรู้ เหตุการณ์และสถานการณ์ในรอบ 48 ชั่วโมงนั้น นับว่ามากทีเดียว

ระหว่างอยู่ในห้องไอซียู (ICU) นอกจากการดูแลอย่างใกล้ชิดของ “ทีมพยาบาล” และเจ้าหน้าที่อื่นๆแล้ว แพทย์ก็หมุนเวียน แวะเวียนมาตรวจอาการและสนทนาด้วยเป็นประจำ และบอกว่าการฟื้นตัวโดยทั่วไปอยู่ในเกณฑ์ดีและไม่มีปัญหาแทรกซ้อนอะไร ถือว่าน่าพอใจ

ภรรยา ลูกชาย ลูกสาว หมุนเวียนกันมาเยี่ยมเยียนดูแลผู้ที่พยาบาลเรียกว่า “คุณลุงเตียง 8” (คือตัวผมนั่นเอง) อยู่เป็นประจำ มานั่งคุย นั่งเฝ้า บีบนวด (บ่อยครั้งรู้สึกเท้าเย็นเพราะหนาว) ช่วยให้ได้ผลดีทั้งทางกายและโดยเฉพาะทางใจ

มีญาติวงในมาเยี่ยมบ้างแต่ไม่มาก เพราะปกติห้องไอซียู (ICU) เขาไม่อนุญาตให้คนเข้ามาง่ายนัก และเข้าใจว่ามีป้าย “ห้ามเยี่ยม” (“คุณลุงเตียง 8”) ติดไว้ด้วย

หมอถอดสายดูดปัสสาวะออก เริ่มปัสสาวะเองได้

บุรุษพยาบาลช่วยโกนหนวดให้ (ผมทำได้เองบางส่วน)

เริ่มพยายาม “เดิน” (ประมาณ 7-8 เมตรแล้วกลับ)

หมอให้เริ่ม “อมน้ำแข็ง” (ก้อนเล็กๆ เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.5 ซ.ม.)

                รู้สึกว่ากลางคืนคงมีปัญหาการหลับ พยาบาลจึงให้ยาแก้ปวดเพื่อช่วยหลับ ปรากฏว่าพอหลับได้แต่เกิดการ “ฝันร้าย” ถึง 2 ครั้ง

ครั้งแรก ฝันว่าไปดูการแสดงอะไรสักอย่าง โดยใส่เสื้อผ้าชุดคนไข้ (สีเขียว) ไป คนที่อยู่รอบๆตัวผมเกิดการล้มตัวทับกันและมาทับผมด้วยโดยผมดึงตัวออกไม่ได้ ขณะเดียวกันผมพยายามหาของสำคัญที่หายไปแต่หาไม่พบ มองไปเห็นภรรยาอยู่ทางหนึ่ง และเห็นลูกสาวพร้อมรถยนต์อยู่อีกทางหนึ่งคล้ายๆจะมารับผม แต่ก็ติดต่อถึงกันไม่ได้ ทั้งกรณีภรรยาและลูกสาว เพราะอยู่ห่างกันเกินไป ทำให้รู้สึกวุ่นวายมาก

หลังจากตื่นมาแล้วได้พยายามกลับไปหลับใหม่ แต่ก็มี “ฝันร้าย” รอบที่สอง คือฝันว่าไปที่ “โรงงาน” อะไรบางอย่างแถวๆซอยสุขุมวิท 61 ถูกพนักงานคนหนึ่งแกล้งเอากระเป๋าของผมไปแล้วไม่คืนให้ ใช้วิธีหลอกล่อยั่วยวนต่างๆ ครั้นผมจะชี้แจง ต่อว่า หรือเรียกร้องอะไรก็ “พูดออกเสียงไม่ได้” ทำให้รู้สึกอึดอัดขัดข้องวุ่นวายอารมณ์อย่างยิ่ง

(13 ก.ย.47) คุณค่ายิ่งยวดของการ “ผายลม” !

                ย้ายจาก “ชีวิตบนเตียง” (ห้องไอซียู) สู่ “ชีวิตในห้อง” (ห้องพักผู้ป่วยพิเศษ) เมื่อประมาณ 10.00 น.

ระหว่างอยู่ห้องไอซียู แพทย์และพยาบาลจะถามอยู่บ่อยๆว่า “ผายลมบ้างไหม…..ผายลมหรือยัง…..” ซึ่งตลอดเวลาที่อยู่ห้องไอซียู (ICU) ผมต้องตอบว่า “ยัง…..มีแต่เรอ…..”

พอมาอยู่ห้องพักผู้ป่วยพิเศษจึงได้เริ่มผายลมบ้าง และเกิดความตระหนักว่า เรื่องซึ่งปกติคนอาจรู้สึกรังเกียจหน่อยๆนั้น อันที่จริงมีความสำคัญต่อ “ชีวิต” อย่างยิ่งยวด นั่นคือหากไม่สามารถผายลมได้หลังการผ่าตัดจะเกิดการอืดสะสมเป็นปัญหาใหญ่ทีเดียว

เข้านอนประมาณ 4 ทุ่มและนอนได้ดีเป็นครั้งแรก (คืนแรก) หลังจากการผ่าตัด โดยตื่นมาปัสสาวะ 2 ครั้ง

(14 ก.ย.47)  “ชีวิตในห้อง”

“ชีวิตในห้อง” สงบเงียบพอควร มีเวลาอ่านหนังสือ ซึ่งมุ่งอ่าน “ The Web of Life ” (“ข่ายใยแห่งชีวิต”)เป็นหลักเนื่องจากอยากอ่านมานานแล้ว ที่สำคัญคือเป็นข้อเขียนทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับ “ชีวิต” และ “สรรพสิ่ง” ในโลกตลอดไปถึงในจักรวาล ซึ่งข้อค้นพบและข้อเสนอทางวิทยาศาสตร์ที่ประมวลไว้ในหนังสือเล่มนี้ สามารถนำใช้ประกอบการอธิบาย พิสูจน์ หรือเสริมต่อ “หลักธรรม” ของพระพุทธเจ้า โดยเฉพาะเรื่อง “อนิจจัง ทุกขังอนัตตา” (ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของ “หัวใจ” ของพระพุทธศาสนา) ได้เป็นอย่างดี

สำหรับตัวเอง คิดว่า การได้อ่าน “ The Web of Life ” เป็นการค้นพบที่สำคัญยิ่ง คาดว่าจะนำไปใช้ประโยชน์ได้มาก และอาจมีผลอย่างสำคัญต่อวิถีชีวิตที่จะเลือกเดินในอนาคตที่เหลือ

หมอมาถอดสายดูดผ่านรูจมูกออก สายนี้สร้างความรำคาญและความลำบากค่อนข้างมาก หมอบอกว่าคนไข้โดยทั่วไปจะรอคอยวันที่ถอดสายดูดนี้ออกได้ ซึ่งตัวเองก็คิดเช่นนั้น รู้สึกเหมือนได้ “อิสรภาพ” (จากเทคโนโลยี) ที่สำคัญ รู้สึกโล่งขึ้น สบายขึ้น สามารถจัดการเรื่องรูจมูกและบริเวณใกล้รูจมูกได้สะดวกสบายขึ้นมาก

หมอให้เริ่ม “จิบน้ำ” ได้ (หลังจากที่ให้อมน้ำแข็งก้อนจิ๋วก่อนหน้านี้)

เริ่มเขียน “บันทึกการเจ็บป่วยครั้งสำคัญในชีวิต” โดยย้อนหลังไปจากประมาณวันที่ 23 สิงหาคม 2547 เป็นการบันทึกเหตุการณ์ สถานการณ์ ความรู้สึก ความคิด ฯลฯ แล้วแต่ว่านึกอะไรได้และรู้สึกอยากบันทึกไว้ สำหรับเก็บเป็นความทรงจำ (ก่อนจะลืมเสียเป็นส่วนใหญ่) และเพื่ออ่านกันในหมู่ “ญาติมิตรคนชิดใกล้” เป็นสำคัญ

เมื่อหมอถอดสายดูดที่ผ่านลำคอและรูจมูก (ข้างขวา) คิดว่าจะพูดออกเสียงได้ดีขึ้น ปรากฏว่าตรงกันข้าม ยิ่งพูดแล้วเสียงออกแบบแผ่วลง และรู้สึกมีความลำบากในการพูดออกเสียงแต่ละคำ

ด้วยเหตุนี้ จึงริเริ่มใช้วิธีเขียนโน้ตสั้นๆไว้ให้ผู้มาเยี่ยมอ่าน จะได้ไม่ต้องพูด หรือพูดแต่น้อยๆ และพูดเบาๆทำนองกระซิบ

.gotoknow-responsive-middle { width: 300px; height: 250px; } @media(min-width: 260px) { .gotoknow-responsive-middle { width: 300px; height: 260px; } } @media(min-width: 350px) { .gotoknow-responsive-middle { width: 336px; height: 280px; } } @media(min-width: 740px) { .gotoknow-responsive-middle { width: 728px; height: 90px; } }

(15 ก.ย.47) สู่ “สภาพปกติ” มากขึ้น

                หมอมาถอดเอาสายหยอดของเหลวขาวข้นออก เท่ากับได้ “อิสรภาพ” ที่สำคัญเพิ่มขึ้นอีก 1 อย่าง

เริ่ม “ดื่มน้ำ” และเริ่มทาน “อาหารเหลวใส” เท่ากับเป็นบันไดขั้นต้นของการไม่ต้องพึ่ง “สายหยอดสารอาหาร” ที่นอกจาก “ผิดธรรมชาติ” และทำให้ไม่รู้สึกหิว แล้วยังสร้างความ “ไม่สะดวกสบาย” อีกด้วยพอสมควร เช่นไม่สะดวกเวลาจะเดินไปทำนั่นทำนี่ เป็นต้น

พยาบาลพิเศษสระผมให้ (ครั้งแรกหลังการผ่าตัด) และโกนหนวดเองแบบ “เต็มรูป” เป็นครั้งแรกหลังการผ่าตัดเช่นเดียวกัน

เท่ากับว่าชีวิตเข้าสู่ “สภาพปกติ” มากขึ้นเป็นลำดับ

หมอบอกว่าสภาพฟื้นตัวโดยทั่วไปอยู่ในเกณฑ์ดีน่าพอใจ ยังต้องรอผลการวิเคราะห์ก้อนเนื้อ และอาจต้องให้แพทย์เฉพาะทางช่วยดูปัญหาการพูดออกเสียงไม่ได้

ตอนเช้าได้ตักบาตรพระ 1 รูป ท่านมาจากวัดบวรฯ ทราบว่าเป็น มรว. บวชมา 9 พรรษา แล้ว

หมายเหตุท้ายเรื่อง : ธรรมะแห่งชีวิต

            ผมยังคงต้องรับการรักษาพยาบาลและพักฟื้นอยู่ในห้องผู้ป่วยพิเศษอีกเป็นเวลานาน เนื่องจากเป็นการ “ผ่าตัดใหญ่” ที่ตัดอวัยวะสำคัญถึง 4 อย่าง ได้แก่ (1) ส่วนหัวของตับอ่อนประมาณ 30% ของตับอ่อนทั้งหมด รวมถึงก้อนเนื้องอกซึ่งติดอยู่ที่ส่วนหัวของตับอ่อนนั้น (2) ท่อน้ำดีพร้อมด้วยถุงน้ำดี (ทำให้เป็นคน “ไม่มีดี”!) (3) กระเพาะประมาณ 30%ของกระเพาะทั้งหมด และ(4) ลำไส้เล็กส่วนต้นที่ออกจากกระเพาะหรือ Duodenum ประมาณ 30 ซม.  ดังนั้นต้องใช้เวลาค่อยๆรักษาส่วนที่ผ่าตัดและได้รับการ “ต่อเชื่อม” ใหม่ ซึ่งมีชื่อทางการแพทย์ว่า “Whipple Operation” (สำหรับการผ่าตัดอวัยวะในช่องท้องแล้วต่อเชื่อมใหม่ในลักษณะนี้)

                เมื่อเวลาผ่านไป ผมก็ได้รับการ “ถอดสายท่อ” (ซึ่งมีอยู่หลายสายด้วยกัน ทั้งประเภท “นำเข้า” และประเภท“ระบายออก”) ออกจากร่างกายทีละอย่างๆ 

                สายท่อซึ่งสำคัญที่สุด ต้องอยู่ในร่างกายนานที่สุด และอ่อนไหวต่อการมีชีวิตอยู่ของผมมากที่สุด คือ “สายท่อระบายน้ำย่อยจากตับอ่อน” ซึ่งในที่สุดก็สามารถ “ดึง” (โดยไม่แรงนัก)ออกจากช่องท้องของผมได้ เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2547  

                ทำให้ผมสามารถออกจากห้องพักผู้ป่วยในโรงพยาบาลและกลับไปพักฟื้นต่อที่บ้านได้ในวันที่ 24 ตุลาคม 2547

                รวมแล้วผมต้องอยู่โรงพยาบาลทั้งหมด 48 วัน โดยผมได้ไปพักฟื้นต่อที่บ้าน (ใช้ ชีวิตในบ้าน”) อีกประมาณเดือนครึ่ง แล้วจึงเริ่มใช้ “ชีวิตนอกบ้าน” ได้ด้วยตามสมควร ซึ่งรวมถึงการเดินทางไปต่างจังหวัดและต่างประเทศเป็นบางครั้ง

                หลังจากนั้นสุขภาพของผมค่อยๆกลับเข้าอยู่ในเกณฑ์ “ปกติ” พอสมควร จนกระทั่งมีเหตุให้ต้อง “เข้านอนโรงพยาบาล” อีกครั้งเมื่อเร็วๆนี้ (9-15 ตุลาคม 2550) ด้วยโรค “หลอดเลือดหัวใจอุดตัน” ที่ทำให้ผมเกือบเป็นอันตรายถึงชีวิตหากแพทย์พาไปโรงพยาบาลไม่ทันเวลา โดยครั้งนี้เป็นการอยู่ห้อง “ซีซียู” (CCU ) 4 วัน ( CCU คือ Coronary Care Unit หรือ “หออภิบาลผู้ป่วยวิกฤตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด”) 

                จาก “ความพลิกผลันในชีวิต” ที่เกิดขึ้นในครั้งล่าสุดนี้ ผมได้เคยเขียนสรุปเป็นข้อคิดเอาไว้ ซึ่งผมขอนำมาเป็นบทสรุปอย่างเดียวกันสำหรับ “ประสบการณ์ชีวิตจากห้องไอ ียู ที่เล่ามาข้างต้น บทสรุปเชิงข้อคิดของผมเป็นดังนี้ครับ

                “ความพลิกผันในชีวิตเกิดขึ้นได้เสมอ !  โดยเฉพาะในเรื่องสุขภาพ !

                นี่คืออนิจจัง (ไม่เที่ยง) !

                นี่คือสัจธรรม (ความจริงแท้) !

                นี่คือชีวิต !

                เราจึงควรดำเนินชีวิตอย่างมีสติ ใช้ปัญญา หมั่นทำความดี หมั่นทำคุณประโยชน์ที่เหมาะสมให้แก่ผู้อื่น ให้แก่หมู่คณะ   ให้แก่ส่วนรวม ให้แก่สังคม ให้แก่ประเทศ ให้แก่โลก ให้แก่มนุษยชาติ เท่าที่พึงทำได้อยู่เสมอ

                เพื่อว่าเมื่อถึงเวลาต้องอำลาชีวิต เราก็จะรู้สึกพร้อม เพราะรู้อยู่ว่าเราได้ทำหน้าที่ของคนคนหนึ่งมาอย่างเพียงพอและพอสมควรแล้ว

                ……. สำหรับคุณหมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์  แม้จะต้องจากโลกนี้ไปก่อนเวลาอันควรด้วยอายุเพียง 55 ปี แต่ระหว่างมีชีวิตอยู่ คุณหมอสงวนได้ประกอบคุณความดีอยู่เป็นเนื่องนิตย์และอย่างเอนกอนันต์  คุณหมอสงวนมีหัวใจเพื่อเพื่อนมนุษย์อย่างมหาศาล โดยเฉพาะประชาชนฐานรากและผู้ยากไร้ คุณหมอสงวนเป็นนักสร้างเสริมสุขภาพเพื่อประชาชนและเป็นบุคคลชั้นแนวหน้าที่บุกเบิกพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศไทยจนเป็นระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ประเทศไทยใช้อยู่ทุกวันนี้ แม้ประสบอุปสรรคปัญหาใหญ่หลวงนานัปการ รวมถึงปัญหาสุขภาพของตนเอง คุณหมอสงวนก็มิได้ย่อท้อ ยังคงมุ่งมั่น บากบั่น เดินหน้าพัฒนาระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าจนมีความก้าวหน้าลงหลักปักฐานและได้รับความสำเร็จเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปทั้งในประเทศไทยและในระดับนานาชาติ

                ถือได้ว่า คุณหมอสงวนได้ทำหน้าที่ในชีวิตของคนคนหนึ่งในช่วงเวลาเท่าที่ธรรมชาติกำหนดให้ อย่างมีประโยชน์สร้างสรรค์และมีคุณค่าเต็มที่แล้ว การทำหน้าที่ในชีวิตของคุณหมอสงวนสมบูรณ์ที่สุดแล้ว เราเชื่อมั่นได้ว่าวิญญาณของคุณหมอสงวนจะไปสู่สุคติอย่างแน่นอน……

                                                                                                                            สวัสดีครับ

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/160952

<<< กลับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *