จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 42 (23 ธ.ค. 51)

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 42 (23 ธ.ค. 51)


บันทึกประสบการณ์ชีวิตจากห้อง “ไอซียู”

                                                                                                                               ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

หมายเหตุนำเรื่อง : แด่นายแพทย์สงวน  นิตยารัมภ์พงศ์

ผมได้รับการเชิญชวนให้เขียนบทความเพื่อประกอบเป็นหนังสือ “นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ กับการพัฒนาสาธารณสุขไทย” ผมจึงเขียนบทความนี้ขึ้นด้วยความรักอาลัยระลึกถึง “คุณหมอสงวน” ผู้เป็นกัลยาณมิตรที่งดงาม เป็นแพทย์ผู้มีหัวใจแห่งความเป็นมนุษย์สูงมาก เป็นนักคิดนักพัฒนาที่ยิ่งใหญ่แห่งวงการระบบสุขภาพของไทย และเป็นผู้มีผลงานสร้างสรรค์อันเป็นประโยชน์ใหญ่หลวงแก่ปวงชนชาวไทยและสังคมไทย

(นายแพทย์สงวน ถึงแก่กรรมด้วยโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอดเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2551 หลังจากที่ได้เผชิญกับโรคนี้อยู่เป็นเวลาประมาณ 4 ปี)

คนจำนวนไม่มากนักจะมี “โอกาส” ได้เข้าไปอยู่ในห้อง “ไอซียู” ( Intensive Care Unit – ICU – หรือ “หอผู้ป่วยวิกฤต”) สำหรับคนจำนวนหนึ่ง ห้อง “ไอซียู” คือ “ห้องนอนสุดท้าย” ของชีวิต แต่คนอีกจำนวนหนึ่งก็กลับออกมาใช้ชีวิตปกติต่อไปได้

ผมเป็นหนึ่งในจำนวนคนกลุ่มหลังนี้ และเห็นว่า “ประสบการณ์ชีวิตจากห้องไอซียู” คงเป็นประโยชน์ที่จะนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้สนใจ จึงปรับ “บันทึกประจำวัน” ที่ผมเขียนขึ้นระหว่างการพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเมื่อกว่า 3 ปีมาแล้ว (7 กันยายน – 24 ตุลาคม 2547 โดยเป็นการอยู่ในห้อง “ไอซียู” รวม 5 วัน) เพื่อนำไปประกอบเป็นหนังสือดังกล่าวข้างต้น

“บันทึกประจำวัน” ที่ผมเขียนขึ้นนั้น เป็นการเขียนแบบ “ส่วนตัว” และมุ่งให้อ่านกันในหมู่ “ญาติมิตรคนชิดใกล้” เป็นสำคัญ เมื่อนำมาทำเป็นบทความให้อ่านกันได้โดยทั่วไป ผมจึงปรับปรุงสาระและถ้อยคำบางแห่งให้เหมาะสมกับการเป็น “บทความสาธารณะ” มากขึ้น

(7 ก.ย.47) ประสบการณ์ครั้งแรกในชีวิต

“นอนโรงพยาบาล” เป็นครั้งแรกในชีวิต ! (หมายถึง เข้าพักรักษาตัวแบบต้องอยู่ค้างคืน) (เพิ่งนึกขึ้นมาว่าเวลาคนพูดว่า “เข้าโรงพยาบาล” มักหมายถึง “นอนโรงพยาบาล” ถ้าไม่ถึงกับต้องอยู่ค้างคืน คนมักพูดว่า “ไปโรงพยาบาล”)

ห้องเล็กสักหน่อย แต่วิวดี เห็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ราชกรีฑาสโมสร รถไฟฟ้า BTS บทถนนราชดำริ สวนลุมพินี และบรรดาอาคารสูงในทิศเดียวกัน

คนมาเยี่ยมหลายคณะ ที่เขารู้เพราะไปทำภารกิจให้เขาไม่ได้ต้องบอกเลิกพร้อมเหตุผล เขาจึงถือโอกาสมาเยี่ยมก่อนผ่าตัด

ในแง่จิตใจรู้สึกปกติ พร้อมรับสถานการณ์ และถือว่าการเข้าโรงพยาบาลครั้งนี้ เสมือนเป็น “ฮอลิเดย์” ชนิดหนึ่ง!

หมอให้ทานอาหารอ่อน ซึ่งทานได้นิดเดียว นอนหลับได้ปกติ

(8 ก.ย.47) “ล้างท้อง” ก่อน “ผ่าตัดใหญ่”

หมอให้ทานอาหารเหลวใส ทานได้แต่ไม่ได้รู้สึกอยากทาน เป็นการพยายามทาน

หลังกลางวันหมอให้ยาถ่ายแบบ “ล้างท้อง” ออกฤทธิ์หลังจากประมาณ 1 ชม. ถ่ายรวมแล้ว 13 ครั้ง เป็นประสบการณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อนในชีวิต (ตอนค่ำยังมีการ “สวน” อีกด้วย เพื่อช่วยล้างลำไส้อีกทางหนึ่ง)

ยังคงมีคนมาเยี่ยมหลายคณะ เพื่อให้ทันก่อนผ่าตัด

(9 ก.ย.47) “ทารกเทคโนโลยี”

Big Day! (หรือ Operation “Operation” )

“วันผ่าตัดใหญ่” (ของตัวเอง)

ประสบการณ์ครั้งแรกในชีวิต

สรรพสิ่ง โดยเฉพาะสังขาร ย่อมไม่เที่ยง ไม่แน่นอน

เป็นการเรียนรู้ชนิดหนึ่งที่เพิ่งมีโอกาสได้รับ ทำให้ชีวิตมีความ “บริบูรณ์” มากขึ้น!

ฯลฯ

ความคิดเหล่านี้เกิดขึ้นภายหลังทั้งสิ้น ส่วนวันนั้น (9 ก.ย.47) …….

ออกจากห้องประมาณ 8.30 น. นอนรถเข็นไปตามทางเดินระหว่างตึก เข้าห้องผ่าตัด นอนรอในห้องผ่าตัดระยะหนึ่ง มี “เพื่อนร่วมกิจกรรม” อย่างน้อย 4-5 คน

นพ. (หมอดมยาสลบ) มาแนะนำตัวและให้ข้อมูลที่ควรทราบ หลังจากนั้น นอนรถเข็นต่อไปอีก แล้ว…….

ไม่รู้เรื่องอะไรเลย! เหมือน “หายตัว” (หรือ “ตัวหาย”) ไปชั่วคราว! 

ทราบภายหลังว่าแพทย์ใช้เวลาประมาณ 8 ชั่วโมงครึ่ง นพ.(ผู้ทำการผ่าตัด) เป็นหลักด้านผ่าตัด นพ.(ผู้ดมยาสลบ) เป็นหลักด้านดมยาสลบ นพ.(ผู้เป็นแพทย์อาวุโสและเป็นเพื่อนของผม) ได้มาช่วยดูแลสนับสนุนอยู่ด้วย ได้รับแจ้งภายหลังว่าเป็นการผ่าตัดที่ละเอียดสลับซับซ้อนและยากทีเดียว

ออกจากห้องผ่าตัดมาอยู่ห้องไอซียู (ICU) ประมาณ 18.00 น.

ภรรยาเล่าว่าเมื่อออกมาจากห้องผ่าตัดแล้วนั้น มองเห็นว่าผม “ตัวเหลืองอ๋อยเหมือนทาขมิ้น” ! นั่นคือเหลืองมากกว่าเมื่อก่อนเข้าห้องผ่าตัด (เข้าใจว่า) เริ่มรู้สึกตัวประมาณ 19.00 น. แต่จำไม่ได้ว่าสิ่งแรกที่รับรู้คืออะไร ที่จำได้คือเสียงภรรยามาพูดอะไรบางอย่างในช่วงที่ยังค่อนข้างสลึมสะลือ และสลึมสะลือต่อไปค่อนข้างนาน

ชีวิตหลังการผ่าตัดใหญ่ อาจเรียกว่าเป็น “ทารกเทคโนโลยี” คือ ช่วยตัวเองไม่ได้เลย ต้องอาศัยเทคโนโลยี (การแพทย์) ผนวกกับบริการดูแลโดยพยาบาลและแพทย์อย่างใกล้ชิด

เทคโนโลยีช่วยการทำงานของอวัยวะหลายอย่าง เกี่ยวกับการหายใจ การรับอาหาร การปัสสาวะ การถ่ายของเสียจากที่ต่างๆ การถ่ายลมออกจากกระเพาะ ฯลฯ รวมแล้วจึงมีสายระโยงระยางมากมาย เข้าใจว่ากว่า 10 สาย

หากเกิดขัดข้องสายใดสายหนึ่ง ชีวิตของ “ทารก” คนนี้ก็จะหาไม่

บริการอย่างใกล้ชิดของพยาบาลและแพทย์ก็สำคัญมาก ต้องคอยตรวจ คอยวัด ฉีดยา จัดการเกี่ยวกับสายระโยงระยางต่างๆ แก้ปัญหาฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้น สนองความต้องการจำเป็นต่างๆ รวมถึงการดูแลสุขอนามัยทั่วๆไป เช่น เช็ดตัว เช็ดหน้า แปรงฟัน แม้กระทั่งโกนหนวด ! ฯลฯ

นี่คือความจำเป็น ความสำคัญ และคุณค่า ของห้องไอซียูและพยาบาลห้องไอซียู!

                ถ้าไม่ได้เข้าไปสัมผัสด้วยตนเอง คงไม่เข้าใจและซาบซึ้งเต็มที่อย่างนี้

(10 ก.ย.47) “ชีวิตบนเตียง”

วันที่ 2 ในห้องไอซียู

จำได้ว่าภรรยามาเยี่ยม (คิดว่า) จับมือและส่งเสียงทัก จึงยิ้มให้ และมีเสียงภรรยาตามมาว่า “อ้า! พ่อยิ้มให้แม่ได้แล้ว!

ไม่รู้ว่าขณะนั้นเวลาเท่าใด หรือได้หลับไปนานเท่าใด แต่รู้ว่าตื่นอยู่ สมองโปร่งพอควร ซึ่งทำให้แปลกใจแกมยินดีอยู่หน่อยๆ อย่างไรก็ดีฤทธิ์ยาระงับการปวดคงทำให้ค่อนข้างหลับอยู่ตลอดกลางวันวันนั้น รู้คร่าวๆว่ามีคนมากและพูดด้วย แต่ไม่สามารถจำอะไรได้ชัดเจน

จำได้แต่ที่ภรรยาเป็นคนพูด คงมีอะไรพิเศษกระมัง!

เมื่อเป็น “ทารกเทคโนโลยี” ชีวิตโดยทั่วไปจึงเป็น “ชีวิตบนเตียง”

ของเข้า ของออก การเช็ด การล้าง การนั่ง การนอน การทำกิจกรรมประเภท คิด พูด อ่าน เขียน การตรวจ การวัด การดูแลต่างๆ ฯลฯ

ล้วนกระทำหรือเกิดขึ้นบนเตียง ซึ่งปรับได้ 2 อย่าง คือ สูงขึ้น ต่ำลง ทั้งด้านศีรษะและด้านเท้า หรือทั้งเตียง

วันนี้หมอเอาเครื่องช่วยหายใจออกเพราะเห็นว่าไม่จำเป็นแต่ได้ใส่สายเสริมออกซิเจนที่รูจมูกแทน (เกือบทั้งหมดเป็นการหายใจเอง)

ด้วยเหตุที่ค่อนข้างหลับตลอดกลางวัน ช่วงกลางคืนของวันนี้จึงรู้สึก “ตื่น” คือเท่ากับเป็นช่วงตื่น (ของกลางวัน) และเริ่มรับรู้ถึงสถานการณ์ทั้งเกี่ยวกับตัวเอง เกี่ยวกับคนไข้ไอซียูที่เป็น “เพื่อนบ้าน” ทั้งเบื้องซ้ายและเบื้องขวา และเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของพยาบาลและแพทย์

นับเป็นประสบการณ์ที่ “พิเศษ” อันหาได้ยากสำหรับคนๆหนึ่งที่ไม่ได้เป็นแพทย์หรือพยาบาล!

(11 ก.ย.47)  “วันที่ยาวนานที่สุด” (The Longest Day)

                วันนี้ไม่ง่วง และพยายามไม่หลับ โดยหวังว่ากลางคืนจะได้ง่วงและหลับได้

“เพื่อนบ้าน” เป็นผู้หญิงทั้งคู่ คนหนึ่งพยาบาลมักเรียกว่า “อาม้า” อีกคนหนึ่งพยาบาลมักเรียกว่า “คุณป้า” ส่วนผมเอง (ผู้เขียน) พยาบาลเรียกว่า “คุณลุง” บ้าง “คุณไพบูลย์” บ้าง (แต่เป็นส่วนน้อย)

“อาม้า” พูดได้เสียงดัง และช่างพูดด้วย พยาบาลก็เอาใจใส่ดีมาก และช่วยพูดคุยกับ “อาม้า” ค่อนข้างมาก บางครั้งฟังดูเหมือนเป็นการ “พูดจาสังสรรค์” มากกว่าการดูแลความเจ็บป่วย

แต่ “อาม้า” มีปัญหาพิเศษ ต้องพยายามเอาเสลด (ซึ่งฟังจากเสียงน่าจะมีปริมาณมาก) ออกจากหลอดลม (หรืออะไรทำนองนั้น) โดยมีพยาบาลช่วยด้วย (ไม่แน่ใจว่าใช้เครื่องมืออะไรด้วยหรือเปล่า)

จากเสียงการพยายามเอาเสลดออกที่ดังโครกครากมาก เสียงครวญครางด้วยความเจ็บปวดแสนสาหัสของ “อาม้า” ซึ่งบางครั้งมีถ้อยคำออกมาว่า “โอย…..เจ็บเหลือเกิน…..ทนไม่ไหวแล้ว…..ขอตายดีกว่า…..ขอไม่อยู่แล้ว…..ทนไม่ไหวจริงๆ…..ฯลฯ” สลับกับเสียงพยาบาล ซึ่งคาดว่ามี 2-4 คน คอยช่วยแนะนำ ให้กำลังใจ บังคับกลายๆบ้าง ด้วยถ้อยคำเช่น “อาม้าต้องสู้นะ…..พยายามอีกหน่อย…..ได้แล้วเห็นไหม…..ต้องทำตรงนี้ให้ได้แล้วจะหาย…..อาม้าสู้เพื่อลูกหลานนะ…..ฯลฯ”

ฟังแล้วรู้ว่า “อาม้า” ต้องทนทุกข์ทรมานมากจริงๆ และกิจกรรมกับเสียงเช่นนี้เกิดขึ้นหลายครั้งในรอบ 24 ชั่วโมง ทุกครั้งที่ฟังเสียงครวญครางก็รู้สึกสงสาร “อาม้า” มากแต่ก็นึกชมเชยที่ “อาม้า” สามารถพูดได้เสียงดังฟังชัด และมีน้ำใจดี เช่น เมื่อสบายดีก็จะพูดกับพยาบาลอย่างลูกหลาน เช่น “ขอบใจมากนะลูกหลานเอ๊ย…..ขอให้มีชีวิตดีๆนะ…..ฯลฯ”

ส่วนพยาบาลนั้น น่าประทับใจและน่าชื่นชมเป็นพิเศษในความเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด ความอุทิศตน ความขะมักเขม้นเต็มอัตรา ความมานะอดทน ความมีน้ำใจ มีอัธยาศัยไมตรี มีอารมณ์ช่วยสร้างบรรยากาศที่ดี ฯลฯ ซึ่งปรากฏชัดเจนมากจากกรณีของ “อาม้า” ดังกล่าวที่สังเกตได้ต่อเนื่องมาตลอดประมาณ 3 วันเต็ม

ถ้าเปรียบกรณีของ “อาม้า” เพื่อนบ้านเบื้องซ้าย เป็นเสมือน “ฉากงิ้ว” เพราะมีเสียงเอะอะโวยวายโฉ่งฉ่างพอสมควร วันละหลายครั้ง ก็ต้องเปรียบกรณีเพื่อนบ้านเบื้องขวาคือ “คุณป้า” เป็นเสมือน “ฉากโขน” เพราะมีเสียงพากย์เสียงบอกกำกับ แต่ไม่มีเสียงจาก “ผู้แสดง” เนื่องจากต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ

“คุณป้า” คงมีปัญหาความเจ็บปวดแบบทุกข์ทรมานไม่ใช่น้อยเหมือนกัน สังเกตจากเสียงโครกครากแสดงสภาพที่เป็นปัญหาอยู่เป็นระยะแต่ไม่บ่อยและดังเท่ากรณี “อาม้า” และดูจะเป็นปัญหา “วิกฤต” ด้วยเพราะได้ยินพยาบาลพูดทำนองว่า “คุณป้าต้องพยายามนะคะ…..ถ้าไม่ทำตรงนี้ จะเอาเครื่องช่วยหายใจออกไม่ได้…..คุณป้าต้องพยายามนะคะ ต้องทำให้ได้นะคะ…..ฯลฯ”

ส่วนบทบาทและการทำหน้าที่ของพยาบาลในกรณี “คุณป้า” นับว่าน่าประทับใจและน่าชื่นชม เช่นเดียวกับที่ปฏิบัติกับกรณี “อาม้า” ซึ่งไม่แปลกเพราะคือพยาบาลชุดเดียวกันที่มีอยู่ 4-5 คน ซึ่งดูแลบริเวณนั้น

สำหรับกรณี “ตัวผมเอง” อาจเปรียบได้เป็น “ฉากละครรำ” คือ ช้าๆ เนิบๆ เรียบๆ มีเสียงเบาๆจากตัวละครเป็นระยะๆตามกิจวัตรที่ต้องทำ ที่มีเสียงเบาๆเพราะพูดไม่ค่อยมีเสียง พบว่าเสียงหายไป พอพูดออกเสียงแหบๆได้ คงประมาณ 10% ของระดับเสียงปกติ จนครั้งหนึ่งพยาบาลถามว่า “ปกติพูดออกเสียงได้แค่นี้หรือคะ ?” (ซึ่งคำตอบคือไม่ใช่ !)

นอกจากปัญหาเรื่องเสียงแล้ว สภาพโดยทั่วไปคงเป็นไปตามที่พึงเป็นอันเนื่องจากการ “ผ่าตัดใหญ่ ตับอ่อน-กระเพาะ-ลำไส้-ท่อน้ำดี-ถุงน้ำดี” (ยังไม่ได้เช็คความถูกต้องจากแพทย์ เป็นความเข้าใจที่ปะติดปะต่อเอาเอง ครั้นจะพูดกับแพทย์หรือผู้รู้ก็มีปัญหาเรื่องพูดไม่มีเสียง) แต่จากคำพูดของแพทย์ที่คอยไปตรวจอาการ (แพทย์ผู้ทำการผ่าตัดและแพทย์อื่น ๆ) บอกว่า “การฟื้นตัวอยู่ในเกณฑ์ดี”

ความรู้สึกโดยรวมคือ ยอมรับสภาพที่เป็นอยู่ โชคดีที่ไม่มีความเจ็บปวดเดือดร้อนทุรนทุรายอะไรเป็นพิเศษ มีในระดับที่ใจยอมรับอยู่จึงไม่รู้สึกเป็นทุกข์ (ทางกายและทางใจ)

มีปัญหาหนึ่งคือ คืนวันนี้ยังคงนอนไม่หลับ ทั้งๆที่กลางวันไม่ได้หลับ คงเนื่องจากสภาพร่างกาย สภาพระบบประสาท สภาพแวดล้อมที่มีทั้งแสงสว่าง เสียงดังอึงคะนึงอันเนื่องจากการดูแลคนไข้ในสภาวะวิกฤต อากาศอุณหภูมิที่รู้สึกหนาวไปบ้างร้อนไปบ้าง ฯลฯ

อ่านหนังสือ “ The Web of Life ” โดย Fritjof Capra หนังสือ “พระไตรปิฎก สิ่งที่ชาวพุทธต้องรู้” โดยพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) และหนังสือ “คู่มือสวดมนต์แปล ฉบับอุบาสก-อุบาสิกา วัดสังฆทาน” สลับกันไป

ตั้งใจอ่านบทสวดมนต์แปลเพื่อช่วยให้นอนหลับ ผสมด้วยการสวดมนต์ในใจ การตั้งสมาธิ ฯลฯ แต่ไม่เป็นผล คืนนี้จึงเป็นว่านอนไม่หลับแทบทั้งคืน

ตอนกลางวันแพทย์ได้เอาสายเสริมออกซิเจนออก (หายใจเอง 100%)

พยาบาลเอาเก้าอี้มาให้นั่งอยู่ชั่วเวลาหนึ่งในช่วงกลางวัน และเปลี่ยนเตียงนอนให้เป็นแบบสบายขึ้น เป็นทั้งเก้าอี้เก่าและเตียงเก่า (ดูจากสภาพ เช่นเตียงนั้นมีปุ่มกดให้ยกศีรษะได้ แต่พอจะกลับที่เดิมต้องใช้คันโยกแทน! ส่วนเก้าอี้ก็ดูค่อนข้างโทรมแต่นั่งได้สบายพอควร)

(มีต่อ)

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/160949

<<< กลับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *