ความเห็นเกี่ยวกับวิกฤตการเมืองไทย

ความเห็นเกี่ยวกับวิกฤตการเมืองไทย


(จากสกู๊ป “3 ผู้อาวุโสแนะผ่าทางตัน เลี่ยง ‘สงครามกลางเมือง’” ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 8 กันยายน 2551 หน้า 2)

                                                                                                   ความเห็นของ ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

                                                                                                  อดีตรองนายกรัฐมนตรี

พอจะเห็นทางออกของประเทศในยามนี้หรือไม่

                จริงๆ แล้วการดูแลและจัดการบริหารประเทศเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบ ไม่ว่าจะเกิดปัญหาอะไร จะดีหรือไม่ดีก็ตาม รัฐบาลต้องจัดการให้เรียบร้อย ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ ส่วนฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ ก็ทำหน้าที่ของตัวเองไป ขณะที่ในส่วนของประชาชนควรเข้ามามีส่วนร่วม แต่ปัญหาคือตอนนี้ประชาชนถูกแยกเป็นกลุ่มๆ จึงเข้าไปจัดการลำบาก แต่รัฐบาลยังเป็นหนึ่งเดียวกันอยู่ ดังนั้น หลายฝ่ายจึงเห็นตรงกันว่า หากต้องการให้ความขัดแย้งคลี่คลายควรใช้สันติวิธี แต่ในทางปฏิบัติมีรายละเอียดที่ซับซ้อนมาก

                เราต้องหาคนกลางซึ่งเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย และไม่ใช่การตั้งโต๊ะนั่งเจรจากันเลย เพราะต้องผ่านหลายขั้นตอนและค่อยๆ ไป หาจุดเริ่มต้นให้ได้ก่อน อาจไม่จำเป็นต้องใช้เวลามาก แม้ไม่สำเร็จก็ต้องพยายามต่อไป เพื่อหาวิธีให้คู่ปรปักษ์ได้คุยกันซึ่งเป็นเรื่องยาก

แต่ปัญหาเฉพาะหน้าขณะนี้คือทั้ง 2 ฝ่ายกำลังเผชิญหน้ากัน 

                ต้องทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายตระหนักว่าการใช้ความรุนแรงไม่ใช่ทางออก ควรหาทางพูดจากัน แต่ตอนนี้รัฐบาลไม่อยากพูด พันธมิตรก็ไม่อยากพูด ยังดีที่มีคนอื่นเห็นว่าควรมีการพูดจากัน พูดทีละฝ่ายก็ได้แล้วค่อยๆ ขยับขึ้นไปซึ่งตรงนี้เป็นศิลปะ การที่เสนอให้ประธานวุฒิสภาเข้ามาทำหน้าที่นี้ก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องทำกันหลายขั้นตอน เรื่องนี้คล้ายกับปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งคู่ปฏิปักษ์คือรัฐและฝ่ายต่อต้าน เพียงแต่ภาคใต้ยากกว่าเพราะไม่รู้ว่าเป็นใคร และทั้งคู่ต่างใช้ความรุนแรงกันแล้ว จึงไม่รู้ว่าอีกฝ่ายหนึ่งควรพูดคุยกับใคร แต่ที่นี่รู้แล้วว่าเป็นกลุ่มพันธมิตร                     จริงๆ แล้วสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้ก็มีสิ่งดีๆ เกิดขึ้นเหมือนกัน คือประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในเหตุการณ์บ้านเมืองมากขึ้น เรื่องการใช้ความรุนแรงก็มีการออกมาต่อต้านกันมาก

พูดกันว่าหากปล่อยให้สถานการณ์เป็นไปในลักษณะนี้อาจกลายเป็นสงครามกลางเมือง

                ทุกอย่างเป็นไปได้ทั้งนั้น เพราะการเกิดแผ่นดินไหวทุกครั้งมาจากการสะสมแรงกดดันทีละน้อย ดังนั้น เราต้องเปลี่ยนทิศทางการสะสมจากแรงกดดันมาสู่การผ่อนคลาย โดยเชื่อมต่อและพูดคุยกัน ยิ่งถ้ารัฐคิดอยากทำเรื่องสันติวิธีจะง่ายขึ้น ซึ่งตอนนี้ยังไม่แน่ใจว่ารัฐคิดเรื่องนี้หรือไม่ จริงๆ แล้วเคยมีคำสั่งของนายกรัฐมนตรี 187/2546 พูดถึงแนวทางและวิธีการสันติวิธีไว้แล้ว ดังนั้น หากริเริ่มโดยรัฐ ทุกอย่างจะง่ายขึ้นโดยมีปัจจัย 3 ประการ คือ 1.การสร้างกระบวนการและวิธีจัดการ 2.ทัศนคติในการสร้างบรรยากาศ และ 3.เรื่องสาระ 

                หากทั้ง 2 ข้อแรกไม่เกิดขึ้นก็ไม่อาจเกิดสาระที่ดีได้

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/207030

<<< กลับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *