คิดถึงอาจารย์ป๋วย : คิดถึงเพื่อทำดีให้มากขึ้น

คิดถึงอาจารย์ป๋วย : คิดถึงเพื่อทำดีให้มากขึ้น


โดย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

                อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นแหล่งพลังแห่งความดี ถ้าจะคิดถึงอาจารย์ป๋วย จึงควรคิดถึงเพื่อจะมีแรงบันดาลใจและสามารถทำความดีได้มากขึ้น

วิธีคิดถึงอาจารย์ป๋วยให้เป็นแรงบันดาลใจและเป็นการชี้แนวทางเพื่อการทำความดี คือคิดถึงข้อคิด หลักการ ธรรมะ หรือการกระทำที่ดีๆของอาจารย์ป๋วย ซึ่งมีมากมาย ล้วนมีคุณค่า ทรงความหมาย หลายกรณีมีความลึกซึ้ง คมคาย หรือเป็นศิลปะ ควรแก่การจดจำมาเป็นแนวทางหรือประกอบการพิจารณาในการดำเนินชีวิตของเรา

เช่น อุดมคติ หรือหลักธรรม หรือคุณธรรมประจำใจ ในการดำเนินชีวิตของอาจารย์ป๋วย คือ “ความจริง ความงาม และความดี” สามคำนี้มีความลึก หนักแน่น ทรงพลัง ช่วยให้เราจินตนาการสร้างสรรค์ประยุกต์มาเป็นการคิด การพูด และการกระทำ ที่ดี ของเราได้นานัปการ

อาจารย์ป๋วยได้อธิบายต่อไปว่า เมื่อกำหนด “ความจริง ความงาม และความดี” เป็นสิ่งที่พึงปรารถนา หรือเป็นเป้าหมายแล้ว อาจารย์ป๋วยได้เลือก “หนทางสู่เป้าหมาย” ดังกล่าว โดยอาศัยธรรมะของพระพุทธเจ้าข้อที่ว่าด้วย “จตุพละ” หรือ “กำลัง 4 ประการ” อันได้แก่

ปัญญาพละ           กำลังจากปัญญา รวมถึงความรอบรู้ ความรู้จริง

วิริยพละ                กำลังจากความพากเพียร อุตสาหวิริยะ ไม่ย่อท้อ

อนวัชชพละ         กำลังจากการทำสิ่งที่ไม่เป็นโทษ รวมถึงความซื่อสัตย์สุจริต เป็นต้น

สังคหพละ            กำลังจากการเกื้อกูลสงเคราะห์ การมุ่งทำประโยชน์ให้

ในภาพใหญ่ของสังคมโดยรวม อาจารย์ป๋วยให้หลักการว่า “สังคมที่พึงปรารถนา” จะต้องประกอบด้วยคุณธรรม 4 ประการ คือ

  1. มีสมรรถภาพ
  2. มีเสรีภาพ
  3. มีความชอบธรรม (หรือยุติธรรม)
  4. มีความเมตตากรุณา

อาจารย์ป๋วยยังได้เสนอ “อุดมการณ์” ของสังคมในอีกรูปแบบหนึ่งที่คล้ายคลึงกับ “สังคมที่พึงปรารถนา” ดังกล่าวข้างต้น โดยใช้คำพูดซึ่งกระชับกินความและเป็นที่จดจำกันจนทุกวันนี้ คำนั้น คือ “สันติประชาธรรม” อันมีความหมายรวมถึง สันติภาพ ประชาธิปไตย และความเป็นธรรม

น่าคิดว่า ถ้านำหลักการซึ่งดูง่ายๆแต่ลึกซึ้งของอาจารย์ป๋วย ว่าด้วย “สังคมที่พึงปรารถนา” และ “อุดมการณ์ของสังคม” ที่กล่าวมาแล้ว มาเป็นเกณฑ์วัดการพัฒนาของสังคมไทยในปัจจุบัน จะเห็นว่า เรายังไปได้ไม่ไกลเท่าไรเลย !

ในส่วนที่เป็นตัวตนของอาจารย์ป๋วยในฐานะ “ข้าราชการ” หรือ “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” คนหนึ่ง ผมคิดว่าอาจารย์ป๋วยมีลักษณะโดดเด่น เป็นแบบอย่างในการทำหน้าที่ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐหลายประการ ที่ทำให้อาจารย์ป๋วยเป็นที่เคารพนับถือ ยกย่อง สรรเสริญ ของคนจำนวนมาก รวมทั้งสามารถนำลักษณะที่โดดเด่นและวิธีทำงานที่ดีของอาจารย์ป๋วยมาเป็นแบบอย่างในการทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดี

ผมขอนำลักษณะโดดเด่นของอาจารย์ป๋วยบางประการมากล่าวไว้ดังต่อไปนี้

  1. ความเมตตาปรารถนาดี อาจารย์ป๋วยมีความรัก ความเมตตา ความปรารถนาดี อย่างแท้จริง ต่อทุกคนที่อยู่รอบข้าง รวมถึงพนักงานผู้น้อย (เช่น นักการ พนักงานขับรถ) ลูกน้อง ลูกศิษย์ นักศึกษา เพื่อนร่วมงานใกล้ไกล ฯลฯ และความรัก ความเมตตา ความปรารถนาดี นี้อาจารย์ยังแผ่ขยายอย่างเข้มข้น จริงจังและต่อเนื่อง ไปยังหมู่ประชาชน รวมถึงชาวบ้าน เยาวชน ฯลฯ ทั้งหลายอีกด้วย ซึ่งลักษณะประการหลังนี้นี่เอง ที่ทำให้อาจารย์ป๋วยมองหน้าที่การงานที่ไม่จำกัดวงแคบ แต่ขยายไปถึงแนวทางและวิธีการ อันจะก่อให้เกิดประโยชน์สุขกับหมู่ประชาชนโดยเฉพาะผู้มีโอกาสน้อยในสังคม
  2. ความซื่อสัตย์สุจริต ในส่วนตัวของอาจารย์ป๋วยเอง ท่านเป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริตอย่างยิ่งยวด และพร้อมกันนั้น ท่านได้พยายามสนับสนุนและดูแลให้บุคลากรของหน่วยงานที่ท่านบริหารอยู่ มีความซื่อสัตย์สุจริตอย่างจริงจังด้วย เช่นให้ความสำคัญกับความซื่อสัตย์สุจริต ว่าเป็นอันดับแรกของลักษณะที่พึงปรารถนาของบุคลากร ดูแลให้บุคลากรมีระดับรายได้ที่พอสมควรและเพียงพอ เพื่อจะไม่เป็นแรงบีบคั้นให้คิดทุจริตประพฤติมิชอบ เป็นต้น นอกจากนั้นอาจารย์ป๋วยก็เป็นผู้ที่ต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบอย่างแข็งขัน ด้วยความกล้าหาญพร้อมกับความฉลาดเฉลียวใช้ปัญญา
  3. 3. ความกล้าหาญชาญชัย อาจารย์ป๋วยเชื่อมั่นในความดี ความสุจริต และความสามารถที่บริสุทธิ์ พร้อมทั้งกล้าที่จะต่อต้านความไม่ดี ความไม่สุจริต ความไม่ถูกต้องชอบธรรมทั้งหลายในสังคม บ่อยครั้งอาจารย์ป๋วยกระทำการที่ท้าทายผู้มีอำนาจซึ่งไม่สุจริต ที่โดดเด่นที่สุดคงจะเป็น “จดหมายจากนายเข้ม เย็นยิ่ง” ที่มีส่วนสำคัญนำไปสู่การปฏิรูปการปกครองให้เป็นแบบประชาธิปไตย ในขณะที่ประเทศยังอยู่ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการ
  4. ความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยว อาจารย์ป๋วยไม่เคยอ่อนไหวท้อแท้ แต่เต็มไปด้วยความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวในภารกิจทุกอย่างที่อาจารย์ป๋วยทำ พร้อมด้วยความพากเพียรพยายาม ขยัน อดทน ตั้งแต่เรื่องเล็กสุด จนเรื่องใหญ่สุด อาจารย์ป๋วยเป็นผู้มีพลังมหาศาล พร้อมเดินหน้าอย่างมุ่งมั่นและสร้างสรรค์เสมอ
  5. ความฉลาดเฉลียวรอบรู้ อาจารย์ป๋วยเป็นผู้มีสติปัญญาเป็นเลิศพร้อมด้วยความฉลาดเฉลียวรอบรู้อย่างยากหาคนเปรียบเทียบได้ อาจารย์ป๋วยอ่านมาก ศึกษามาก ค้นคว้าหาความรู้ ความเข้าใจอยู่เสมอ จึงสามารถทำหน้าที่ทุกด้านได้เป็นอย่างดียิ่ง โดยอาศัย สติ ปัญญา ความสามารถ ความฉลาด ความเฉลียว ปฏิภาณไหวพริบ รวมทั้งการมีกุศโลบาย มีศิลปะ มีอารมณ์ขัน อย่างยอดเยี่ยม เป็นที่ชื่นชมและเลื่องลือกันอย่างกว้างขวางในช่วงที่อาจารย์ป๋วยทำหน้าที่อยู่และต่อๆมา

สรุปแล้ว ถ้าเราจะคิดถึงหรือรำลึกถึง อาจารย์ป๋วย อึ๊มงภากรณ์ ปูชนียบุคคลคนสำคัญคนหนึ่งของประเทศไทย ก็ควรคิดถึงหรือรำลึกถึงในลักษณะที่จะช่วยให้เราได้เห็นคุณความดีของอาจารย์ป๋วยได้อย่างชัดเจน แล้วนำมาเป็นแรงบันดาลใจตลอดจนเป็นแนวทางในการช่วยให้เราสามารถ คิด พูด และทำ ในทางที่สร้างสรรค์ดีงาม เกิดประโยชน์ต่อผู้อื่น ต่อหมู่คณะ ต่อส่วนรวม ได้ดียิ่งขึ้นและมากยิ่งขึ้น ก็จะเป็นคุณูปการอันเนื่องมาจากการคิดถึงหรือรำลึกถึงอาจารย์ป๋วยได้อย่างคุ้มค่าและคู่ควร

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/199608

<<< กลับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *