จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 37 (22 ธ.ค. 50)

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 37 (22 ธ.ค. 50)


รู้สึกเหมือนกำลังจะปิดเทอมแต่ยังมีการบ้านและต้องรอผลสอบ

                เดือนธันวาคม 2550 เป็นช่วงเวลาที่ผมมีกิจกรรมสำคัญๆหลายรายการ รวมถึงการได้ประชุมคณะกรรมการในรอบ “ปิดท้าย” หรือ “ก่อนปิดท้าย” หลายคณะ

                วันที่ 1 ธันวาคม ร่วมพิธีเริ่มกิจกรรมปิดโครงการ “ทำดีเพื่อพ่อ” ซึ่งจะมีกิจกรรมระหว่าง 1-5 ธ.ค. 50 

                วันที่ 2 ธันวาคม ร่วมพิธีสวนสนามถวายสัตย์ปฏิญาณตนของทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ได้ชมการแสดงและการสวนสนามที่สง่า งดงาม และน่าประทับใจ

                วันที่ 3 ธันวาคม ร่วมพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณเป็นข้าราชการที่ดีที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ในตอนเช้า

                เป็นประธานการประชุมรอบ “ปิดท้าย” ของคณะกรรมการอำนวยการโครงการ “เจ้าพระยาสดใส เทิดไท้องค์ราชัน” โดยคณะกรรมการมีมติให้ดำเนินกิจกรรมต่อไปภายใต้โครงสร้างที่มีอยู่แล้ว และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณานำเสนอรัฐบาลชุดใหม่ให้สนับสนุนโครงการนี้ต่อไป โดยอาจปรับปรุงโครงสร้างคณะกรรมการและแนวทางการดำเนินงานให้เหมาะสมและเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

                บ่าย เป็นประธานรับฟังการนำเสนอและมอบรางวัลในโครงการประกวดภาพยนตร์สั้น เพื่อรณรงค์ส่งเสริมคุณธรรม จัดโดย “ศูนย์คุณธรรม”

                ช่วงค่ำ เป็นประธาน (แทนท่านนายกรัฐมนตรี) ในพิธีถวายพระพรชัยมงคลโดยผู้แทนศาสนาต่างๆ จัดโดยมูลนิธิ 5 ธันวามหาราช ณ บริเวณท้องสนามหลวง

                วันที่ 4 ธันวาคม ร่วมพิธีเข้าเฝ้าถวายพระพรชัยมงคลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังสวนจิตรลดา

                วันที่ 5 ธันวาคม ร่วมในพิธีเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสเสด็จออกมหาสมาคม ณ “มุขเด็จ” พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 80 พรรษา ในวันนี้

                ช่วงบ่าย ร่วมในพิธีเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในโอกาสทรงถวายสมณศักดิ์แด่พระภิกษุ ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง

                จากนั้น (ช่วงค่ำ) ไปร่วมในพิธีจุดเทียนชัยถวายพระพร ณ บริเวณท้องสนามหลวง จัดโดยมูลนิธิ 5 ธันวามหาราช โดยมีท่านนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

                วันที่ 6 ธันวาคม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาชุมชนแออัด ซึ่งน่าจะเป็นการประชุม “ปิดท้าย” ก่อนหมดวาระรัฐบาลชุดปัจจุบัน

                วันที่ 7 ธันวาคม เป็นประธานคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร คณะนี้ยังจะมีการประชุมอีกอย่างน้อย 2 ครั้ง จึงยังไม่ “ปิดท้าย”

                ตอนค่ำ เข้าร่วมกิจกรรม “สโมสรสันนิบาต” ถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ สนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เป็นองค์ประธาน เสร็จแล้วไปเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ในโอกาสเสด็จทอดพระเนตรการแสดงบัลเลต์ โดยคณะ “Mariinsky” ที่ลือชื่อก้องโลก จากประเทศรัสเซีย ณ ห้องประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

                วันที่ 8 ธันวาคม (ค่ำ) ไปร่วมในพิธีไว้อาลัยและสวดศพ “คุณวนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์” ณ วัดวชิรธรรมสาธิต ถนนสุขุมวิท 101 คุณวนิดา (มด) เป็น “เอ็นจีโอ” (นักพัฒนาอิสระ) ที่มีชื่อเสียงและผลงานโดดเด่นมาก เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง ขณะอายุเพียง 52 ปี

                วันที่ 9 ธันวาคม (กับคุณหญิงชฎา) ไปต้อนรับเลขาธิการสหประชาชาติ Mr. Ban Ki-Moon และภริยาที่สนามบินสุวรรณภูมิ เลขาธิการสหประชาชาติมาเยี่ยมประเทศไทยอย่างเป็นทางการระหว่าง 9- 10 ธ.ค. 50 โดยมีกำหนดเข้าพบหารือกับท่านนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 10 ธ.ค. ช่วงเช้า และเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในบ่ายวันเดียวกัน

                วันที่ 10 ธันวาคม ร่วมในการต้อนรับเลขาธิการสหประชาชาติอย่างเป็นพิธีการที่ทำเนียบรัฐบาล โดยท่านนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธีต้อนรับ แล้วนายกรัฐมนตรีแนะนำคณะรัฐมนตรีและทูตานุทูต จากนั้นนายกรัฐมนตรีพบหารือเฉพาะตัวกับเลขาธิการสหประชาชาติ ก่อนการพบหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีและคณะ (ซึ่งผมร่วมอยู่ด้วย) กับเลขาธิการสหประชาชาติและคณะ ก่อนการร่วมกันแถลงข่าวและร่วมในงานเลี้ยงอาหารกลางวัน ณ ตึกสันติไมตรี

                ระหว่างวันที่ 10 ตอนค่ำ – วันที่ 12 ธ.ค. ผมต้องรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรีซึ่งเดินทางไปราชการ ณ ประเทศบาห์เรน และท่านรองนายกฯโฆษิต อยู่ระหว่างเดินทางไปประเทศเยอรมนี และเดนมาร์ก

                วันที่ 11 ธันวาคม เช้า (กับคุณหญิงชฎา) ไปส่งเลขาธิการสหประชาชาติและภริยาที่สนามบินสุวรรณภูมิ

                เป็นประธานการประชุม ครม. แทนท่านนายกรัฐมนตรี ซึ่งเดินทางไปต่างประเทศและท่านรองนายกฯโฆษิต  ก็อยู่ต่างประเทศเช่นเดียวกัน ผมจึงได้รับมอบหมายให้รักษาราชการแทนท่านนายกรัฐมนตรี

                ตอนค่ำ เป็นประธานการมอบรางวัลประกาศเกียรติคุณ “คณะกรรมการแห่งปี” (Board of the Year Award) จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ “สมาคมสถาบันกรรมการบริษัทไทย” (Institute of Directors – I.O.D.) และองค์กรร่วมจัดอื่นๆอีกจำนวนหนึ่ง

                วันที่ 12 ธันวาคม เช้า เข้าร่วมประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อนำเสนอร่าง พรบ. กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หลังจากที่ผมได้นำเสนอ (สั้นๆ) ฉบับร่างของรัฐบาล และสมาชิก สนช. (ว่าที่ รอ.จิตร์ ศิรธรานนท์) ได้นำเสนอฉบับของสมาชิก สนช. แล้ว ได้มีการอภิปรายโดยสมาชิก สนช. หลายคน ในขณะที่มีกลุ่มประชาชน นำโดยคุณจอน อึ๊งภากรณ์ ชุมนุมกันนอกสภาฯ รณรงค์ให้สภาฯยุติการประชุมหรือยุติร่างกฎหมายที่ประชาชนคัดค้าน แล้วได้บุกเข้าไปในสภาฯถึงหน้าห้องประชุม ทำให้การประชุมต้องหยุดชะงักและประธานสั่งเลิกประชุมสำหรับวันนี้ โดยการพิจารณาร่าง พรบ. กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ยังไม่เสร็จสิ้น (ยังไม่ได้ลงมติรับหลักการ)

                เดินทางไปบรรยายหัวข้อ “ธรรมาภิบาลราชการไทย” ให้กับนักศึกษาโรงเรียนนายร้อยทหารและตำรวจ ปี 4 และนักเรียนเตรียมทหาร ปี 3 พร้อมด้วยผู้บังคับบัญชาและอาจารย์ รวมประมาณ 1,000 คน ณ โรงเรียนเตรียมทหาร ตำบลศรีกะอาง อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก การบรรยายนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการจัดการอบรมคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาล ซึ่งจัดโดยกรมยุทธศึกษาทหาร กองบัญชาการทหารสูงสุด

                วันที่ 13 ธันวาคม เช้า (กับ รมต.ธีรภัทร์) พบสนทนากับคุณจอน อึ๊งภากรณ์ และคณะเกี่ยวกับเหตุการณ์เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. และความเห็นต่างๆที่เกี่ยวข้อง โดยผมรับที่จะถ่ายทอดความเห็นของคุณจอนและคณะต่อท่านนายกรัฐมนตรี และท่านประธาน สนช. ซึ่งผมได้ดำเนินการในเวลาต่อมา

                ช่วงสายไปร่วมประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่ประชุมเริ่มด้วยการพิจารณาร่าง พรบ. กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ โดยไม่มีผู้อภิปรายต่อ จึงลงคะแนนรับหลักการทั้ง 2 ร่าง คือ ทั้งร่างของรัฐบาลและร่างของ สนช. แต่ให้ใช้ร่างของ สนช. เป็นหลัก และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ 48 คน โดยกำหนดให้แปรญัติได้ภายใน 5 วัน

                บ่าย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้าน ซึ่งคาดว่าเป็นการประชุมนัดก่อนสุดท้ายภายใต้รัฐบาลชุดนี้

                ค่ำ เป็นประธาน (แทนท่านนายกรัฐมนตรี) ในงานมอบถ้วยรางวัลและเลี้ยงสังสรรค์ หลังการแข่งขันกีฬาระหว่างหน่วยงานในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี

                วันที่ 14 ธันวาคม เช้า เป็นประธานมอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ดิเรกคุณาภรณ์ แก่ผู้ทำคุณประโยชน์ซึ่งเสนอโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

                บ่าย เป็นประธานร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่างไทย (โดย รมว. พม.) กับโปรตุเกส (โดยเอกอัครราชทูตโปรตุเกส ประจำประเทศไทย) เพื่อดำเนินโครงการจัดตั้งบ้านพักเด็กและครอบครัว จังหวัดภูเก็ต

                จากนั้น เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการจัดงานวันผู้สูงอายุแห่งชาติ ประจำปี 2551 ซึ่งได้ข้อสรุปหลักการและแนวทางการจัดประชุมที่ชัดเจน และนัดประชุมอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 11 ม.ค. 51

                วันที่ 15 ธันวาคม เป็นประธานเปิดการประชุมประจำปีของสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย และปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ความเป็นอิสระกับการพัฒนาสหกรณ์ไทย”

                วันที่ 17 ธันวาคม เดินทางไปที่ “อุทยานการเรียนรู้” มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา จ.ชลบุรี และกล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “งานพัฒนาชุมชนภายใต้โลกยุคใหม่ ขับเคลื่อนเพื่อโลกอนาคต” ในการสัมมนาทางวิชาการพัฒนาชุมชน ครั้งที่ 1 เรื่อง “ขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชน เพื่อโลกอนาคต” วันที่ 17 – 18 ธ.ค. 50 จัดโดยภาควิชาการพัฒนาชุมชน คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับภาคีเครือข่ายทางวิชาการพัฒนาชุมชน (จากสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ)

                กลางวัน ร่วมโต๊ะสนทนาพร้อมรับประทานอาหารกับท่านนายกรัฐมนตรี (ซึ่งจัดให้มีขึ้นเป็นประจำทุกวันจันทร์ เป็นการร่วมโต๊ะสนทนา พร้อมรับประทานอาหารกลางวันแบบง่ายๆ ระหว่างนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีทุกคน และทีมงานของท่านนายกฯ 3 คน)

                บ่าย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติ (กกช.) ซึ่งคาดว่า เป็นการประชุมนัดสุดท้ายภายใต้รัฐบาลนี้

                ค่ำ ไปร่วมงานเลี้ยงรับรองฉลองการครบ 100 ปี ของวันชาติประเทศภูฏาน

                วันที่ 18 ธันวาคม เข้าร่วมประชุม ครม. ซึ่งมีวาระมากเป็นพิเศษ กว่า 40 เรื่อง และประชุมจนถึง 16.00 น.

                บ่าย (กับคุณหญิงชฎา) ไปร่วมเข้าเฝ้าสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ในโอกาสเสด็จทอดพระเนตร งาน “ศิลป์แผ่นดิน” ครั้งที่ 5 ซึ่งจัดขึ้นภายในพระที่นั่งอนันตสมาคม งานเริ่มประมาณ 16.30 น. เสด็จถึงงานประมาณ 17.00 น. และเสด็จกลับประมาณ 19.30 น.

                วันที่ 19 ธันวาคม เช้า เป็นประธานเปิดการสัมมนาเปิดตัวโครงการ “ทศวรรษแห่งการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติในประเทศไทย” ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ แล้วมาเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอรัฐมนตรี คณะที่ 2 ซึ่งเป็นการประชุมนัดสุดท้ายก่อนที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไปใน วันที่ 23 ธ.ค.

                บ่าย เป็นประธานการลงนามความร่วมมือโครงการ “สโมสรต้นกล้าเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งดำเนินการโดย มูลนิธิส่งเสริมยุวเกษตรกรไทยในพระราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กระทรวงศึกษาธิการ) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และธนาคารออมสิน

                จากนั้น เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการการจัดประชุมนานาชาติเรื่อง “ชุมชนปลอดภัย” ซึ่งได้จัดขึ้นไปเรียบร้อยแล้วและครั้งนี้เป็นการประชุม “ปิดงาน” โดยมีมติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ เรื่อง “ชุมชนปลอดภัย”ในประเทศไทยต่อไปให้มากยิ่งขึ้นและดียิ่งขึ้น

                ตอนเย็น ให้สัมภาษณ์แบบเจาะลึกกับผู้สื่อข่าวคณะหนึ่ง ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง

                วันที่ 20 ธันวาคม เช้า เป็นประธานเปิดการสัมมนาและกล่าวปาฐกถาพิเศษที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เรื่องเกี่ยวกับการจัดระเบียบหอพัก และประกาศของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ว่าด้วยการจดทะเบียนหอพัก แล้วมาเป็นประธานการประชุม “คณะกรรมการสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” ซึ่งเป็นการประชุมนัดสุดท้ายภายใต้รัฐบาลชุดนี้ และถือเป็นการประชุม “ปิดงาน” ไปด้วยในตัว

                บ่าย เป็นประธานการประชุม “คณะกรรมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ” ต่อด้วยการเป็นประธานการประชุม “คณะกรรมการส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” ทั้ง 2 คณะนี้เป็นการประชุม “ปิดท้าย” ก่อนการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล

                เย็น ให้สัมภาษณ์แบบเจาะลึกกับผู้สื่อข่าวอีกคณะหนึ่ง ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง

                วันที่ 21 ธันวาคม เช้า เป็นประธานการประชุม “คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ” 

                บ่าย  เป็นประธานการประชุม “คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร” ทั้งสองคณะนี้ได้กำหนดที่จะประชุมอีกครั้งหนึ่ง ก่อนกลางเดือนมกราคม 2551

                เย็น ประชุม “คณะกรรมการศึกษาการพัฒนาระบบธรรมาภิบาล” (พิจารณากรณีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) โดยผมเข้าร่วมด้วยเพียงระยะสั้นๆ เนื่องจากติดพันกับการประชุมคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟู ฯ ซึ่งยืดเยื้อมากเพราะมีการพิจารณาการสรรหาเลขาธิการกองทุนฯ   ซึ่งมีประเด็นหลายชั้นแต่ในที่สุดก็หาข้อสรุปได้และได้เลขาธิการคนใหม่คือคุณนคร ศรีวิพัฒน์ แทนคุณจุฬารัตน์ นิรัติศยกุล ซึ่งรักษาการเลขาธิการมานานเกือบ 2 ปี สำหรับการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบธรรมาภิบาลฯ  ถือเป็นการประชุม “ปิดท้าย” ก่อนทำรายงานเสนอคณะรัฐมนตรี

                วันที่ 21 ธันวาคม นี้เป็นวันสุดท้ายของการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติต่าง ๆ โดยสภาฯ ได้ผ่านร่างพระราชบัญญัติในช่วง 3 วัน (19-21 ธ.ค.) รวม 65 ฉบับ อนุสัญญา 1 ฉบับ เป็นผลให้ร่างพระราชบัญญัติที่ผ่านความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติตลอดสมัยการประชุมรวมทั้งสิ้น 215  ฉบับ สำหรับร่าง พรบ. กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ไม่สามารถบรรจุเข้าระเบียบวาระได้ในสัปดาห์นี้ จึงเป็นอันยุติไปโดยไม่ได้มีการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญที่ได้แต่งตั้งไว้แล้ว (แต่รัฐบาลใหม่สามารถหยิบยกร่าง พรบ. นี้ขึ้นมาเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่หนึ่งได้ภายใน 60 วัน หลังจากเข้ารับหน้าที่) 

                วันที่ 22  ธันวาคม  เช้า ไปร่วมกิจกรรมจัดโดยสภามหาวิทยาลัยมหิดลชื่อว่า “เวทีเสวนาสานพลังมหิดล (Mahidol Policy Dialogue): มองปัจจุบัน… สร้างสรรค์อนาคต” ณ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จ.นครปฐม ใช้เวลาครึ่งวัน

            ที่สรุปมาเป็นภาพกิจกรรมเกี่ยวกับภารกิจของผมตลอดเดือนธันวาคม 2550 จนถึงวันนี้ (22 ธ.ค.) พรุ่งนี้ (23 ธ.ค. 50)  คือวันสำคัญที่จะกำหนดการเปลี่ยนผ่านของสังคมไทยและประเทศไทย

            ขณะเดียวกัน ผมก็รู้สึกคล้ายๆ กำลังจะปิดเทอม แต่ยังมีการบ้านให้ทำ และยังต้องรอผลสอบ  คือผลของเหตุการณ์ วันที่ 23 ธ.ค.50 นั่นเอง !

                                                                                                                สวัสดีครับ

                                                                                         ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/155878

<<< กลับ

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 38 (2 ม.ค. 51)

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 38 (2 ม.ค. 51)


วันเวลาที่ผ่านไป ควรเป็นการเรียนรู้และการพัฒนาของคนและสังคม ที่ดีขึ้นเป็นลำดับ สวัสดีปีใหม่ครับ !

                ในโอกาสการเปลี่ยนปีปฏิทิน จาก พ.ศ. 2550 เป็น พ.ศ. 2551 ผมขออวยพรให้ “ญาติมิตรพัฒนาสังคม” ทุกท่านมีสุขภาพพลานามัยที่ดี มีสติปัญญาความสามารถที่เข้มแข็ง มีความอยู่เย็นเป็นสุขในตัวเอง และอยู่ในสังคมแห่งความสันติสมานไมตรีที่มั่นคงยั่งยืน ตลอดกาลนาน !

                วันเวลาที่ผ่านไปไม่ว่าจะนับจากเมื่อใด ผมเห็นว่าคนไทยและสังคมไทยได้เรียนรู้และได้พัฒนาดีขึ้นในหลายประการ แม้จะยังมีส่วนที่ไม่ดีอยู่ด้วย ซึ่งก็เป็นธรรมดาของคนและสังคมอันยากจะถึงซึ่งความสมบูรณ์ ไม่ว่าจะในอดีต ในปัจจุบัน หรือในอนาคต

                เราจึงต้องพยายามอยู่เสมอที่จะเรียนรู้ให้มากและพัฒนาให้ดี ทั้งที่ทำตามลำพังและร่วมกันทำ เพื่อให้คนไทย และสังคมไทยมีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นเป็นลำดับ เราควรเน้นการคิดและทำเพื่อสร้างอนาคตที่ดีกว่า มากกว่าการบ่นว่าอดีต หรือการวิพากษ์วิจารณ์ปัจจุบัน โดยไม่ทำอะไร

                สำหรับสัปดาห์ที่ผ่านมา มีเวลาทำงาน 4 วัน (วันที่ 24 ธ.ค. หยุดราชการอันเนื่องจากการเลือกตั้งในวันที่ 23 ธ.ค.)

                วันที่ 25 ธ.ค. (เช้า)ร่วมประชุม ครม. ซึ่งมีวาระพอประมาณไม่มากจนเกินไป (กลางวัน)ไปร่วมการเลี้ยงขอบคุณคณะอนุกรรมการและผู้สนับสนุน “การขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง” (ที่ สนง.ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์)  (บ่าย)ไปกล่าวปาฐกถามอบนโยบายการกระจาย “กองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม” สู่ภูมิภาคและท้องถิ่น แล้วไปเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการฝ่ายโครงการจัดงานเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา (เป็นการประชุมปิดท้าย)

                วันที่ 26 ธ.ค. (เช้า)เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ (บ่าย)เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ (อยู่ระยะหนึ่งแล้วมอบหมาย รมช.นพ.พลเดช เป็นประธานแทน) (เย็น)บันทึกเทปโทรทัศน์เพื่อประชาสัมพันธ์งานสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติและตลาดนัดคุณธรรม ครั้งที่ 3 (จะจัดปลายเดือนมกราคม 2551 วันที่ 25 – 27)

                วันที่ 27 ธ.ค. (เช้า)เป็นประธานการประชุม “คณะกรรมการช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจน” แล้วไปเป็นประธานการประชุม “คณะกรรมการศึกษาการพัฒนาภาคมหานครแบบบูรณาการ” (กทม./นนทบุรี/นครปฐม/ปทุมธานี/สมุทรปราการ/สมุทรสาคร) (บ่าย)ไปปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การเสริมสร้างคุณธรรมในสังคมไทย” เนื่องในวัน “กำพล วัชรพล” จัดโดย “มูลนิธิไทยรัฐ” (ที่ สนง. นสพ.ไทยรัฐ) (เย็น/ค่ำ)ร่วมประชุมหารือเรื่องเกี่ยวกับสถานีโทรทัศน์สาธารณะ (TITV ปัจจุบัน)

                วันที่ 28 ธ.ค. (วันทำงานสุดท้ายของปี) เป็นประธานการประชุมหารือ เรื่อง “แผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาชุมชนแออัด” และมีการพบหารือกับบุคคลคณะต่างๆ กับกิจกรรมอื่นๆ

                สำหรับ “ผลสอบ” หรือผลของการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 23 ธ.ค. นั้น เป็นที่ทราบและมีการวิเคราะห์วิจารณ์กันมากแล้ว ผมเองขอให้ความเห็นสั้นๆ โดยย้อนกลับไปที่ข้อความตอนต้นของจดหมายฉบับนี้ก็นะครับ !

                                                                                                                สวัสดีครับ

                                                                                          ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/157153

<<< กลับ

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 39 (7 ม.ค. 51)

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 39 (7 ม.ค. 51)


ปีใหม่ที่มีเรื่อง ดีๆ ผสมกับเรื่อง ยุ่งๆ อยู่ด้วยเป็นธรรมดา

                 ปีใหม่ที่เวียนมาครั้งใด เราก็อวยพรให้กันและกัน ให้ทุกอย่างดีขึ้นกับทุกคน ให้สุขภาพดี กิจการงานดี ชีวิตดี มีความเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้า เกิดความสงบสุขสันติ มีความรักความสามัคคี เป็นมิตรไมตรีซึ่งกันและกัน และอื่นๆ

                แต่ในความเป็นจริง ไม่ว่าจะปีเก่าหรือปีใหม่ หรือช่วงเวลาใด จะมีทั้งเรื่องดีและไม่ดี ความสุขและความทุกข์ ความเจริญและความเสื่อม ความเป็นมิตรและความเป็นปฏิปักษ์ ความราบรื่นและความยุ่งเหยิง ความสันติและความรุ่มร้อน ปะปนคละเคล้ากันไป

สำหรับคนไทยทั่วประเทศ พอวันขึ้นปีใหม่เพิ่งผ่านไป ก็ได้ทราบถึงการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงสงขลานครินทร์ ในวันที่ 2 ม.ค. 51 ซึ่งสร้างความเศร้าโศกเสียใจอาลัยรักอย่างกว้างขวาง แต่พร้อมกันนั้นคนไทยทั้งหลายก็ได้ตระหนักถึงพระมหากรุณาธิคุณใหญ่หลวงที่มีต่อประชาชนและสังคมไทย พระปรีชาสามารถในด้านต่างๆอันน่าปลื้มปิติ และพระจริยาวัตรที่งดงามตลอดจนพระเมตตาปราณีอย่างลึกซึ้งของพระองค์ท่าน ซึ่ งจะสถิตย์อยู่ในใจของคนไทยโดยทั่วไปตราบนานเท่านาน

                สำหรับผมเอง เริ่มทำงานวันแรก 2 ม.ค. 51 ก็เจอเรื่อง “ยุ่งๆ” 2 เรื่อง คือเกี่ยวกับ “กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.)” (ที่ผมเป็นประธาน) เรื่องหนึ่ง กับที่เกี่ยวกับ “กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)” (ที่ผมเป็น รมว.และนพ.พลเดช เป็น รมช.) อีกเรื่องหนึ่ง

เรื่องกองทุน “กฟก.” เป็นการชุมนุมของ “เครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย” หน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเรียกร้องเกี่ยวกับการจัดการหนี้สินของชาวนาที่ยังค้างคาอยู่และเกี่ยวกับการสรรหาและแต่งตั้ง “เลขาธิการ กฟก.” ซึ่งเรื่องหลังนี้จะเกี่ยวกับผมเป็นการเฉพาะเจาะจงมากหน่อย เนื่องจากผมเป็นประธานคณะกรรมการ กฟก. ซึ่งรับผิดชอบและตัดสินใจในขั้นตอนสำคัญๆของกระบวนการสรรหาและแต่งตั้งเลขาธิการ กฟก.

ข้อเรียกร้องคือ ไม่เห็นด้วยกับกระบวนการและการตัดสินใจแต่งตั้งเลขาธิการ กฟก. คนใหม่ ซึ่งขณะนี้ยังคงอยู่ในกระบวนการแต่งตั้งและทำสัญญาที่ยังไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์ โดยคาดว่าจะพิจารณาประเด็นและแง่มุมต่างๆให้เรียบร้อยตลอดจนนำเข้าหารืออีกรอบหนึ่งในคณะกรรมการ กฟก. ในวันที่ 11 ม.ค. 51 นี้ เพื่อให้ได้รับความเห็น ชอบร่วมกันและเกิดความเรียบร้อยราบรื่นอย่างมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ส่วนเรื่องกระทรวง “พม.” ได้มีการออกหนังสือร้องเรียนและเรียกร้องโดยไม่ระบุชื่อผู้ร้องเรียน แจกจ่ายให้สื่อมวลชนหน้าห้องประชุม ครม. เป็นเรื่องเกี่ยวกับการย้ายปลัดกระทรวงไปเป็นที่ปรึกษาระดับ 11 สังกัดสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ผู้ร้องเรียน (ซึ่งไม่ระบุชื่อ) เห็นว่าไม่ควรดำเนินการและเรียกร้องให้ระงับการย้ายไว้ก่อน พร้อมทั้งกล่าวหารัฐมนตรีว่าการและรัฐมนตรีช่วยว่าการว่าเจตนาไม่บริสุทธ์กับมีข้อกล่าวหาอื่นๆด้วย

เรื่องนี้ผมกับ รมช.พลเดช ได้หารือกันแล้ว เห็นควรนำเข้าหารือในการประชุมคณะผู้บริหารกระทรวง พม. ในวันที่ 8 ม.ค. 51 เพื่อพิจารณาร่วมกันว่า ควรดำเนินการอะไรอย่างไรบ้าง เพื่อให้เหมาะสมเป็นธรรมกับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย พร้อมทั้งเกิดผลดีต่อข้าราชการกระทรวง พม. โดยรวม เป็นผลดีต่อองค์กรคือตัวกระทรวง พม. และเป็นผลดีต่อสังคมรวมถึงประชาชนในที่สุด

                นอกจากเรื่อง “ยุ่งๆ” ดังกล่าว ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้พบกับเรื่อง “ดีๆ” เสียเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่ การแสดงความรัก ความปรารถนาดี และความเป็นมิตรไมตรีต่อกัน ที่อบอุ่นสร้างสรรค์จรรโลงใจ เนื่องในโอกาสขึ้นปีใหม่ ในหมู่ญาติ หมู่มิตร หมู่เพื่อนร่วมงาน ผู้ร่วมกิจกรรม ผู้ร่วมสถาบัน ฯลฯ ทำให้เห็นชัดว่า “ความรักความเป็นมิตร” หรือ “เมตตาธรรม” เป็น “เครื่องค้ำจุนโลก” ได้จริงๆ

การประชุม ครม. (วันที่ 2 ม.ค.) เป็นไปด้วยดี ยังคงมีเรื่อง “ดีๆ” ที่ ครม. ให้ความเห็นชอบหลายเรื่อง

การประชุม “คณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอ ครม. คณะที่ 2” (เช้าวันที่ 3 ม.ค.) ซึ่งผมเป็นประธาน ก็เป็นไปด้วยดี มีการสรุปข้อคิดว่า คณะกรรมการชุดนี้ได้มีทัศนคติ มีวิธีคิด และใช้กระบวนการที่ช่วยให้สามารถกลั่นกรองเรื่องได้อย่างมีคุณภาพ รวมถึงการคลี่คลายกรณีที่มีความเห็นขัดแย้งให้หาข้อยุติร่วมกันได้อย่างราบรื่นในที่สุด

(บ่ายวันที่ 3 ม.ค.) เป็นประธานการประชุมหารือปัญหาข้อขัดข้องเกี่ยวกับการตั้งงบประมาณระหว่างสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กับสำนักงบประมาณ สามารถหาข้อสรุปที่พอใจร่วมกันได้ จากนั้นให้สัมภาษณ์ยาวกับผู้จัดทำวารสาร “กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร” โดยให้ความคิดเห็นของผมเกี่ยวกับวิธีแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรให้ได้ผลอย่างแท้จริงและยั่งยืน และประเด็นอื่นๆ

(วันที่ 4 ม.ค.) (เช้า) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการซึ่งรัฐบาลเพิ่งตั้งขึ้นเพื่อช่วยประสานการติดตามเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน (จากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ) ได้ข้อสรุปที่ดีเกี่ยวกับวิธีดำเนินการในเรื่องนี้ ซึ่งจะลงมือทำเลยพร้อมทั้งรายงานให้คณะรัฐมนตรีทราบ

(กลางวัน) เป็นประธานการประชุมหารือเกี่ยวกับโครงการ “วังปลาไทยเทิดไท้องค์ราชัน” ซึ่งกรมประมงเป็นผู้ดำเนินการในเขตแม่น้ำเจ้าพระยา ปรากฎว่าที่ทำไปแล้ว 9 แห่ง ได้ผลดีจึงจะขยายการดำเนินการต่อไปอีกตลอดช่วงแม่น้ำเจ้าพระยา

(บ่าย) เป็นประธานการประชุม “คณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลเจริญพระชนมายุ 7 รอบ 6 พฤษภาคม 2550” (ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ) เป็นการประชุมปิดงานซึ่งเสร็จสิ้นเรียบร้อยหมดแล้ว มีงบประมาณเหลือประมาณ 150 ล้านบาท (จากที่ได้รับจัดสรร) ซึ่งคณะกรรมการเห็นควรส่งคืนกระทรวงการคลังต่อไป

                สรุปแล้ว จะเห็นว่าในสัปดาห์แรกของปีผมได้พบกับ “เรื่องดีๆ” มากกว่า “เรื่องยุ่งๆ” หรือ “เรื่องไม่ดี” อย่างชัดเจน ผมจึงเชื่อว่า สภาพตลอดปี 2551 จะคล้ายๆกัน คือ มีเรื่องดีๆมากกว่าเรื่องไม่ดีหลายเท่า

สวัสดีครับ

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/157923

<<< กลับ

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 40 (8 ม.ค. 51)

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 40 (8 ม.ค. 51)


ไม่คาดคิดว่าผมกำลังจะอำลากระทรวงการพัฒนาสังคมฯไปพร้อมกับความรู้สึกเศร้าแล เสียใจ แทรกอยู่ในความรู้สึกดีๆ

                อีกประมาณ 1 เดือน คงเป็นเวลาที่ผมจะต้องอำลากระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในฐานะรัฐมนตรีว่าการ ที่ได้ทำหน้าที่มาปีเศษ

                ผมมีความรู้สึกดีๆสะสมอยู่เป็นอันมากเกี่ยวกับการทำงานกับกระทรวง พม.

                แต่ที่ไม่เคยคาดคิด คือ เมื่อวันอำลามาถึงผมจะมีความรู้สึกเศร้าและเสียใจ แทรกอยู่ด้วยในความรู้สึกดีๆเหล่านั้น

                กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีฐานมาจาก “กรมประชาสงเคราะห์” ซึ่งเคยสังกัดกระทรวงมหาดไทย ก่อนย้ายมาสังกัดกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม จนในที่สุดเปลี่ยนชื่อเป็น “กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ” สังกัดกระทรวง พม.

                ผมรู้จักและคุ้นเคยกับ “กรมประชาสงเคราะห์” ตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. 2529 รู้จักคุ้นเคยกับอธิบดีของกรมนี้เป็นส่วนใหญ่ ได้แก่ คุณหญิงสมศรี กันธมาลา คุณไสว พราหมณี เป็นต้น และยังรู้จักคุ้นเคยกับข้าราชการอีกหลายคน

                ได้ช่วยงานและร่วมงานกับกรมนี้มาเป็นอันมากและตลอดมา จนกระทั่ง “กรมประชาสงเคราะห์” เปลี่ยนชื่อและมาเป็นส่วนหนึ่งของกระทรวง พม. ผมก็ยังตามมาช่วยงานต่อ

                สำหรับกระทรวง พม. ในฐานะเป็นกระทรวงใหม่นั้น ผมเกี่ยวข้องตั้งแต่การตั้งชื่อกระทรวงและการกำหนดวิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์ ฯลฯ ในช่วงการพิจารณาจัดตั้งและต่อมาถึงระยะแรกหลังการจัดตั้ง

                เมื่อกระทรวงฯดำเนินงานเป็นเรื่องเป็นราวแล้ว ผมก็ได้ช่วยงานและร่วมงานกับกระทรวงฯมากขึ้นและอย่างใกล้ชิด

                ผมจึงรู้สึกเหมือนเป็น “ญาติสนิท” หรือ “เพื่อนสนิท” ของกระทรวงฯมาเป็นเวลานาน

                เมื่อพลเอกสุรยุทธ์มาทาบทามให้ผมเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวง พม. ในรัฐบาลของท่าน (เดือนตุลาคม 2549) ผมจึงรับเป็นรัฐมนตรีโดยไม่รู้สึกลำบากใจเท่าใด เนื่องจากรู้สึกคุ้นเคยกับกระทรวงนี้ดี

                หลังจากที่ผมเข้ารับหน้าที่รัฐมนตรี พม. แล้ว ผมเห็นว่างานของกระทรวงฯเดินหน้าไปได้ดีและเร็ว ทั้งนี้โดยความร่วมแรงร่วมใจพากเพียรพยายามของผู้บริหาร และผู้ปฏิบัติงานของกระทรวงฯ ซึ่งผมชื่นชมและขอบคุณมาตลอด

                ผู้บริหารตั้งแต่ปลัดกระทรวง อธิบดีหรือเทียบเท่า และคนอื่นๆ ล้วนมีความสามารถและความตั้งใจปฏิบัติหน้าที่อย่างแข็งขัน

                เราทำงานอย่างเป็นทีม ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ร่วมมือสนับสนุนกันด้วยความเป็นมิตรไมตรีต่อกัน ทำให้งานของกระทรวงฯลุล่วงก้าวหน้าไปด้วยดี เป็นที่พอใจของผู้เกี่ยวข้องทั้งหลาย

                โดยเฉพาะปลัดกระทรวง ซึ่งเป็นผู้บริหารสูงสุดของข้าราชการประจำ มีประสบการณ์และความสามารถสูง ผมให้ความชื่นชม ให้ความนับถือ และให้การสนับสนุนมาตลอด เช่น แต่งตั้งให้เป็นประธานคณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงฯ มอบอำนาจในการสั่งการและดำเนินงานของกระทรวงฯอย่างเต็มที่ ให้ความไว้วางใจในการช่วยแก้ปัญหาและจัดการงานยากๆหลายเรื่อง เป็นต้น

                ส่วนอธิบดีและผู้บริหารอื่นๆ ผมก็ชื่นชมในความสามารถและความตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ จึงให้ความไว้วางใจและให้การสนับสนุนในทางต่างๆมาโดยตลอดเช่นกัน

                มีคำกล่าวหา มีบัตรสนเท่ห์ร้องเรียน เกี่ยวกับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงฯ อยู่เป็นระยะๆตั้งแต่ในช่วงแรกที่ผมเข้ารับตำแหน่ง แต่ในเมื่อไม่ปรากฏชื่อผู้ร้องเรียน และไม่มีเหตุหลักฐานชัดเจนพอที่จะทำให้คำร้องเรียนมีน้ำหนัก ผมจึงไม่ได้ลงมือทำอะไร เพียงแต่เก็บเรื่องไว้เฉยๆ

                จนกระทั่งคำกล่าวหาร้องเรียนสะสมบานปลายปรากฏในสื่อมวลชนจำนวนมาก (เมื่อเดือน ต.ค. 50) ผมและรมช. (พลเดช) จึงต้องตัดสินใจเสนอท่านนายกฯให้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง โดยพยายามสรรหาประธานและกรรมการสอบข้อเท็จจริงที่เชื่อว่าได้รับการยอมรับสูงในความเที่ยงธรรมและความสามารถ

                คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงได้ทำหน้าที่อย่างแข็งขัน สามารถสรุปผลการสอบข้อเท็จจริงเสนอท่านนายกฯได้ในเดือนธันวาคม 2550

                ผลของการสอบข้อเท็จจริงแสดงว่า ข้อร้องเรียนต่างๆต่อผู้บริหารระดับสูงนั้น มีมูลเหตุอยู่จริง ซึ่งจะต้องมีการดำเนินการต่อไปอีก และจะเป็นการสมควรหากจะย้ายผู้บริหารระดับสูงออกจากตำแหน่งที่ดำรงอยู่ไปดำรงตำแหน่งอีกตำแหน่งหนึ่ง

                นี่คือที่มาของการที่ได้มีคำสั่งย้ายผู้บริหารระดับสูงของกระทรวง พม. ดังเป็นที่ทราบกัน

                ผมและรมช.พลเดช ได้ไตร่ตรองพร้อมทั้งปรึกษากับท่านนายกฯด้วยแล้ว เห็นว่าเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด คือ ดีต่อประโยชน์ส่วนรวม อันได้แก่ ประโยชน์ของกระทรวง พม. ประโยชน์ของข้าราชการ พม.โดยรวม และประโยชน์ของสังคมและประชาชน

                ไม่มีประโยชน์ของผม หรือของ รมช.พลเดช หรือของท่านนายกฯเข้ามาเกี่ยวข้องแต่ประการใด

                พวกเราทั้งหมดที่มาเป็นรัฐบาล กำลังจะลาจากในเวลาอีกประมาณ 1 เดือนเท่านั้น เรามิได้ต้องการอำนาจต้องการประโยชน์ หรือต้องการอิทธิพลใดๆ เราขอเพียงที่จะอำลาจากกันด้วยความรักและความเป็นมิตรไมตรีต่อกันก็พอใจแล้ว

                แต่ดูเหมือนว่า กรณีของผมและรมช.พลเดช กับกระทรวง พม. และข้าราชการกระทรวง พม. ทำท่าจะไม่เป็นดังที่ผมคาดหวังเสียแล้ว จากการที่มีข่าวลงในสื่อมวลชนว่า ผู้บริหารและข้าราชการจำนวนหนึ่ง ได้ทำหนังสือร้องเรียนท่านนายกฯ กล่าวหาผมกับ รมช.พลเดช ว่าปฏิบัติไม่เหมาะสมและทำความเสียหายให้กับกระทรวงฯและข้าราชการของกระทรวงฯนานาประการ

                แม้ผมจะมีสติและปัญญาพอที่จะไม่หวั่นไหวกับข้อกล่าวหาดังกล่าว แต่ก็อดไม่ได้ที่จะรู้สึกเศร้าและเสียใจ

                เหมือนพ่อแม่ที่รักลูก พยายามทำเพื่อลูกและเพื่อครอบครัวมาตลอด แล้วมาได้รับคำกล่าวหาจากลูกว่า พ่อแม่ เป็นผู้ทำร้ายลูก ทำร้ายครอบครัว

                อดไม่ได้หรอกครับที่จะรู้สึกเศร้าและเสียใจไม่มากก็น้อย

                                                                                                                สวัสดีครับ

                                                                                                           ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/158119

<<< กลับ

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 41 (14 ม.ค. 51)

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 41 (14 ม.ค. 51)


ปัญหาที่กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ (พม.) และกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) คือ โอกาสของ การพัฒนาใหม่

                เรื่องที่ผมต้องให้ความสนใจและให้เวลามากหน่อยในสัปดาห์ที่ผ่านมา คือ ปัญหากระทรวง พม. กับปัญหากองทุน กฟก.

                หลังจากเขียน “จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 40” แล้ว ผมได้เชิญให้ผู้บริหารของกระทรวงฯ ตั้งแต่รองอธิบดีขึ้นไปมาพบหารือกัน (วันที่ 8 ม.ค.) เราคุยกันอย่างเป็นมิตรและสร้างสรรค์ ช่วยกันระดมความคิดหาทางดำเนินการให้สถานการณ์ดีขึ้น รวมถึงให้มีการพัฒนาในด้านต่างๆดีขึ้น อะไรควรทำอะไรไม่ควรทำก็พูดกันด้วยโดยไม่มีการพูดให้ร้ายใครหรือมีการคิดมาตรการที่จะให้เกิดผลเสียแก่ใคร

                รายงานข่าวทางสื่อมวลชนจึงออกมาในเชิงสร้างสรรค์หลังจากนั้น และข่าวเชิงปัญหาและความขัดแย้งก็ค่อยๆเงียบไปในเวลาต่อมา

                เรื่องกองทุน กฟก. มีปัญหาขัดข้องอยู่พอสมควรเกี่ยวกับการแต่งตั้งเลขาธิการใหม่ ซึ่งยังมีทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายคัดค้าน ผมเชิญผู้เกี่ยวข้องมาหารือนอกรอบ 2 ครั้ง (วันที่ 7 และ 10 ม.ค.) ก็ยังไม่สามารถหาข้อสรุปที่จะเห็นพ้องต้องกันได้ พอวันประชุมคณะกรรมการกองทุนฯ (11 ม.ค.) ต้องใช้เวลาจาก 14.00 น. ถึง 19.00 น. จึงได้มติแบบเฉียดฉิว (อีกครั้งหนึ่ง) ยืนยันการแต่งตั้งเลขาธิการคนใหม่ตามที่ที่ประชุมได้มีมติไว้แล้ว และให้ดำเนินการตามขั้นตอนและกระบวนการต่อไป รวมถึงให้รักษาการเลขาธิการคนเดิมยุติการปฏิบัติงานกับแต่งตั้งผู้ช่วยเลขาธิการเป็นผู้รักษาการเลขาธิการเป็นการชั่วคราวจนกว่าเลขาธิการคนใหม่จะเข้ารับหน้าที่ได้โดยเรียบร้อย

                ทั้งเรื่องกระทรวง พม. และกองทุน กฟก. คงจะยังมีปัญหาข้อขัดข้องต่อไปอีก นี้เป็นธรรมดาขององค์กรในช่วงการเปลี่ยนผ่านซึ่งย่อมเกิดขึ้นเป็นระยะๆในชีวิตอันยาวไกลขององค์กร แต่ถ้าผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายมีทัศนคติเชิงบวกและสร้างสรรค์ หันหน้าเข้าหากัน ใช้ความดี ใช้ความรักความเป็นมิตร ความสามัคคีปรองดอง ใช้ความรู้ ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ร่วมคิด ร่วมพิจารณา ร่วมตัดสินใจ ร่วมดำนินการ ร่วมเรียนรู้และพัฒนาจากผลการดำเนินการ ฯลฯ เช่นนี้อย่างต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ผมมั่นใจว่า จะเกิด “การพัฒนาใหม่” ทั้งในกระทรวง พม. และกองทุน กฟก. ทำให้องค์กรมีความเจริญก้าวหน้าเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมและต่อประชาชนตลอดจนเป็นผลดีต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องพร้อมกันไป

                                                                                                                สวัสดีครับ

                                                                                         ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/159170

<<< กลับ

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 42 (23 ธ.ค. 51)

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 42 (23 ธ.ค. 51)


บันทึกประสบการณ์ชีวิตจากห้อง “ไอซียู”

                                                                                                                               ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

หมายเหตุนำเรื่อง : แด่นายแพทย์สงวน  นิตยารัมภ์พงศ์

ผมได้รับการเชิญชวนให้เขียนบทความเพื่อประกอบเป็นหนังสือ “นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ กับการพัฒนาสาธารณสุขไทย” ผมจึงเขียนบทความนี้ขึ้นด้วยความรักอาลัยระลึกถึง “คุณหมอสงวน” ผู้เป็นกัลยาณมิตรที่งดงาม เป็นแพทย์ผู้มีหัวใจแห่งความเป็นมนุษย์สูงมาก เป็นนักคิดนักพัฒนาที่ยิ่งใหญ่แห่งวงการระบบสุขภาพของไทย และเป็นผู้มีผลงานสร้างสรรค์อันเป็นประโยชน์ใหญ่หลวงแก่ปวงชนชาวไทยและสังคมไทย

(นายแพทย์สงวน ถึงแก่กรรมด้วยโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอดเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2551 หลังจากที่ได้เผชิญกับโรคนี้อยู่เป็นเวลาประมาณ 4 ปี)

คนจำนวนไม่มากนักจะมี “โอกาส” ได้เข้าไปอยู่ในห้อง “ไอซียู” ( Intensive Care Unit – ICU – หรือ “หอผู้ป่วยวิกฤต”) สำหรับคนจำนวนหนึ่ง ห้อง “ไอซียู” คือ “ห้องนอนสุดท้าย” ของชีวิต แต่คนอีกจำนวนหนึ่งก็กลับออกมาใช้ชีวิตปกติต่อไปได้

ผมเป็นหนึ่งในจำนวนคนกลุ่มหลังนี้ และเห็นว่า “ประสบการณ์ชีวิตจากห้องไอซียู” คงเป็นประโยชน์ที่จะนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้สนใจ จึงปรับ “บันทึกประจำวัน” ที่ผมเขียนขึ้นระหว่างการพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเมื่อกว่า 3 ปีมาแล้ว (7 กันยายน – 24 ตุลาคม 2547 โดยเป็นการอยู่ในห้อง “ไอซียู” รวม 5 วัน) เพื่อนำไปประกอบเป็นหนังสือดังกล่าวข้างต้น

“บันทึกประจำวัน” ที่ผมเขียนขึ้นนั้น เป็นการเขียนแบบ “ส่วนตัว” และมุ่งให้อ่านกันในหมู่ “ญาติมิตรคนชิดใกล้” เป็นสำคัญ เมื่อนำมาทำเป็นบทความให้อ่านกันได้โดยทั่วไป ผมจึงปรับปรุงสาระและถ้อยคำบางแห่งให้เหมาะสมกับการเป็น “บทความสาธารณะ” มากขึ้น

(7 ก.ย.47) ประสบการณ์ครั้งแรกในชีวิต

“นอนโรงพยาบาล” เป็นครั้งแรกในชีวิต ! (หมายถึง เข้าพักรักษาตัวแบบต้องอยู่ค้างคืน) (เพิ่งนึกขึ้นมาว่าเวลาคนพูดว่า “เข้าโรงพยาบาล” มักหมายถึง “นอนโรงพยาบาล” ถ้าไม่ถึงกับต้องอยู่ค้างคืน คนมักพูดว่า “ไปโรงพยาบาล”)

ห้องเล็กสักหน่อย แต่วิวดี เห็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ราชกรีฑาสโมสร รถไฟฟ้า BTS บทถนนราชดำริ สวนลุมพินี และบรรดาอาคารสูงในทิศเดียวกัน

คนมาเยี่ยมหลายคณะ ที่เขารู้เพราะไปทำภารกิจให้เขาไม่ได้ต้องบอกเลิกพร้อมเหตุผล เขาจึงถือโอกาสมาเยี่ยมก่อนผ่าตัด

ในแง่จิตใจรู้สึกปกติ พร้อมรับสถานการณ์ และถือว่าการเข้าโรงพยาบาลครั้งนี้ เสมือนเป็น “ฮอลิเดย์” ชนิดหนึ่ง!

หมอให้ทานอาหารอ่อน ซึ่งทานได้นิดเดียว นอนหลับได้ปกติ

(8 ก.ย.47) “ล้างท้อง” ก่อน “ผ่าตัดใหญ่”

หมอให้ทานอาหารเหลวใส ทานได้แต่ไม่ได้รู้สึกอยากทาน เป็นการพยายามทาน

หลังกลางวันหมอให้ยาถ่ายแบบ “ล้างท้อง” ออกฤทธิ์หลังจากประมาณ 1 ชม. ถ่ายรวมแล้ว 13 ครั้ง เป็นประสบการณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อนในชีวิต (ตอนค่ำยังมีการ “สวน” อีกด้วย เพื่อช่วยล้างลำไส้อีกทางหนึ่ง)

ยังคงมีคนมาเยี่ยมหลายคณะ เพื่อให้ทันก่อนผ่าตัด

(9 ก.ย.47) “ทารกเทคโนโลยี”

Big Day! (หรือ Operation “Operation” )

“วันผ่าตัดใหญ่” (ของตัวเอง)

ประสบการณ์ครั้งแรกในชีวิต

สรรพสิ่ง โดยเฉพาะสังขาร ย่อมไม่เที่ยง ไม่แน่นอน

เป็นการเรียนรู้ชนิดหนึ่งที่เพิ่งมีโอกาสได้รับ ทำให้ชีวิตมีความ “บริบูรณ์” มากขึ้น!

ฯลฯ

ความคิดเหล่านี้เกิดขึ้นภายหลังทั้งสิ้น ส่วนวันนั้น (9 ก.ย.47) …….

ออกจากห้องประมาณ 8.30 น. นอนรถเข็นไปตามทางเดินระหว่างตึก เข้าห้องผ่าตัด นอนรอในห้องผ่าตัดระยะหนึ่ง มี “เพื่อนร่วมกิจกรรม” อย่างน้อย 4-5 คน

นพ. (หมอดมยาสลบ) มาแนะนำตัวและให้ข้อมูลที่ควรทราบ หลังจากนั้น นอนรถเข็นต่อไปอีก แล้ว…….

ไม่รู้เรื่องอะไรเลย! เหมือน “หายตัว” (หรือ “ตัวหาย”) ไปชั่วคราว! 

ทราบภายหลังว่าแพทย์ใช้เวลาประมาณ 8 ชั่วโมงครึ่ง นพ.(ผู้ทำการผ่าตัด) เป็นหลักด้านผ่าตัด นพ.(ผู้ดมยาสลบ) เป็นหลักด้านดมยาสลบ นพ.(ผู้เป็นแพทย์อาวุโสและเป็นเพื่อนของผม) ได้มาช่วยดูแลสนับสนุนอยู่ด้วย ได้รับแจ้งภายหลังว่าเป็นการผ่าตัดที่ละเอียดสลับซับซ้อนและยากทีเดียว

ออกจากห้องผ่าตัดมาอยู่ห้องไอซียู (ICU) ประมาณ 18.00 น.

ภรรยาเล่าว่าเมื่อออกมาจากห้องผ่าตัดแล้วนั้น มองเห็นว่าผม “ตัวเหลืองอ๋อยเหมือนทาขมิ้น” ! นั่นคือเหลืองมากกว่าเมื่อก่อนเข้าห้องผ่าตัด (เข้าใจว่า) เริ่มรู้สึกตัวประมาณ 19.00 น. แต่จำไม่ได้ว่าสิ่งแรกที่รับรู้คืออะไร ที่จำได้คือเสียงภรรยามาพูดอะไรบางอย่างในช่วงที่ยังค่อนข้างสลึมสะลือ และสลึมสะลือต่อไปค่อนข้างนาน

ชีวิตหลังการผ่าตัดใหญ่ อาจเรียกว่าเป็น “ทารกเทคโนโลยี” คือ ช่วยตัวเองไม่ได้เลย ต้องอาศัยเทคโนโลยี (การแพทย์) ผนวกกับบริการดูแลโดยพยาบาลและแพทย์อย่างใกล้ชิด

เทคโนโลยีช่วยการทำงานของอวัยวะหลายอย่าง เกี่ยวกับการหายใจ การรับอาหาร การปัสสาวะ การถ่ายของเสียจากที่ต่างๆ การถ่ายลมออกจากกระเพาะ ฯลฯ รวมแล้วจึงมีสายระโยงระยางมากมาย เข้าใจว่ากว่า 10 สาย

หากเกิดขัดข้องสายใดสายหนึ่ง ชีวิตของ “ทารก” คนนี้ก็จะหาไม่

บริการอย่างใกล้ชิดของพยาบาลและแพทย์ก็สำคัญมาก ต้องคอยตรวจ คอยวัด ฉีดยา จัดการเกี่ยวกับสายระโยงระยางต่างๆ แก้ปัญหาฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้น สนองความต้องการจำเป็นต่างๆ รวมถึงการดูแลสุขอนามัยทั่วๆไป เช่น เช็ดตัว เช็ดหน้า แปรงฟัน แม้กระทั่งโกนหนวด ! ฯลฯ

นี่คือความจำเป็น ความสำคัญ และคุณค่า ของห้องไอซียูและพยาบาลห้องไอซียู!

                ถ้าไม่ได้เข้าไปสัมผัสด้วยตนเอง คงไม่เข้าใจและซาบซึ้งเต็มที่อย่างนี้

(10 ก.ย.47) “ชีวิตบนเตียง”

วันที่ 2 ในห้องไอซียู

จำได้ว่าภรรยามาเยี่ยม (คิดว่า) จับมือและส่งเสียงทัก จึงยิ้มให้ และมีเสียงภรรยาตามมาว่า “อ้า! พ่อยิ้มให้แม่ได้แล้ว!

ไม่รู้ว่าขณะนั้นเวลาเท่าใด หรือได้หลับไปนานเท่าใด แต่รู้ว่าตื่นอยู่ สมองโปร่งพอควร ซึ่งทำให้แปลกใจแกมยินดีอยู่หน่อยๆ อย่างไรก็ดีฤทธิ์ยาระงับการปวดคงทำให้ค่อนข้างหลับอยู่ตลอดกลางวันวันนั้น รู้คร่าวๆว่ามีคนมากและพูดด้วย แต่ไม่สามารถจำอะไรได้ชัดเจน

จำได้แต่ที่ภรรยาเป็นคนพูด คงมีอะไรพิเศษกระมัง!

เมื่อเป็น “ทารกเทคโนโลยี” ชีวิตโดยทั่วไปจึงเป็น “ชีวิตบนเตียง”

ของเข้า ของออก การเช็ด การล้าง การนั่ง การนอน การทำกิจกรรมประเภท คิด พูด อ่าน เขียน การตรวจ การวัด การดูแลต่างๆ ฯลฯ

ล้วนกระทำหรือเกิดขึ้นบนเตียง ซึ่งปรับได้ 2 อย่าง คือ สูงขึ้น ต่ำลง ทั้งด้านศีรษะและด้านเท้า หรือทั้งเตียง

วันนี้หมอเอาเครื่องช่วยหายใจออกเพราะเห็นว่าไม่จำเป็นแต่ได้ใส่สายเสริมออกซิเจนที่รูจมูกแทน (เกือบทั้งหมดเป็นการหายใจเอง)

ด้วยเหตุที่ค่อนข้างหลับตลอดกลางวัน ช่วงกลางคืนของวันนี้จึงรู้สึก “ตื่น” คือเท่ากับเป็นช่วงตื่น (ของกลางวัน) และเริ่มรับรู้ถึงสถานการณ์ทั้งเกี่ยวกับตัวเอง เกี่ยวกับคนไข้ไอซียูที่เป็น “เพื่อนบ้าน” ทั้งเบื้องซ้ายและเบื้องขวา และเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของพยาบาลและแพทย์

นับเป็นประสบการณ์ที่ “พิเศษ” อันหาได้ยากสำหรับคนๆหนึ่งที่ไม่ได้เป็นแพทย์หรือพยาบาล!

(11 ก.ย.47)  “วันที่ยาวนานที่สุด” (The Longest Day)

                วันนี้ไม่ง่วง และพยายามไม่หลับ โดยหวังว่ากลางคืนจะได้ง่วงและหลับได้

“เพื่อนบ้าน” เป็นผู้หญิงทั้งคู่ คนหนึ่งพยาบาลมักเรียกว่า “อาม้า” อีกคนหนึ่งพยาบาลมักเรียกว่า “คุณป้า” ส่วนผมเอง (ผู้เขียน) พยาบาลเรียกว่า “คุณลุง” บ้าง “คุณไพบูลย์” บ้าง (แต่เป็นส่วนน้อย)

“อาม้า” พูดได้เสียงดัง และช่างพูดด้วย พยาบาลก็เอาใจใส่ดีมาก และช่วยพูดคุยกับ “อาม้า” ค่อนข้างมาก บางครั้งฟังดูเหมือนเป็นการ “พูดจาสังสรรค์” มากกว่าการดูแลความเจ็บป่วย

แต่ “อาม้า” มีปัญหาพิเศษ ต้องพยายามเอาเสลด (ซึ่งฟังจากเสียงน่าจะมีปริมาณมาก) ออกจากหลอดลม (หรืออะไรทำนองนั้น) โดยมีพยาบาลช่วยด้วย (ไม่แน่ใจว่าใช้เครื่องมืออะไรด้วยหรือเปล่า)

จากเสียงการพยายามเอาเสลดออกที่ดังโครกครากมาก เสียงครวญครางด้วยความเจ็บปวดแสนสาหัสของ “อาม้า” ซึ่งบางครั้งมีถ้อยคำออกมาว่า “โอย…..เจ็บเหลือเกิน…..ทนไม่ไหวแล้ว…..ขอตายดีกว่า…..ขอไม่อยู่แล้ว…..ทนไม่ไหวจริงๆ…..ฯลฯ” สลับกับเสียงพยาบาล ซึ่งคาดว่ามี 2-4 คน คอยช่วยแนะนำ ให้กำลังใจ บังคับกลายๆบ้าง ด้วยถ้อยคำเช่น “อาม้าต้องสู้นะ…..พยายามอีกหน่อย…..ได้แล้วเห็นไหม…..ต้องทำตรงนี้ให้ได้แล้วจะหาย…..อาม้าสู้เพื่อลูกหลานนะ…..ฯลฯ”

ฟังแล้วรู้ว่า “อาม้า” ต้องทนทุกข์ทรมานมากจริงๆ และกิจกรรมกับเสียงเช่นนี้เกิดขึ้นหลายครั้งในรอบ 24 ชั่วโมง ทุกครั้งที่ฟังเสียงครวญครางก็รู้สึกสงสาร “อาม้า” มากแต่ก็นึกชมเชยที่ “อาม้า” สามารถพูดได้เสียงดังฟังชัด และมีน้ำใจดี เช่น เมื่อสบายดีก็จะพูดกับพยาบาลอย่างลูกหลาน เช่น “ขอบใจมากนะลูกหลานเอ๊ย…..ขอให้มีชีวิตดีๆนะ…..ฯลฯ”

ส่วนพยาบาลนั้น น่าประทับใจและน่าชื่นชมเป็นพิเศษในความเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด ความอุทิศตน ความขะมักเขม้นเต็มอัตรา ความมานะอดทน ความมีน้ำใจ มีอัธยาศัยไมตรี มีอารมณ์ช่วยสร้างบรรยากาศที่ดี ฯลฯ ซึ่งปรากฏชัดเจนมากจากกรณีของ “อาม้า” ดังกล่าวที่สังเกตได้ต่อเนื่องมาตลอดประมาณ 3 วันเต็ม

ถ้าเปรียบกรณีของ “อาม้า” เพื่อนบ้านเบื้องซ้าย เป็นเสมือน “ฉากงิ้ว” เพราะมีเสียงเอะอะโวยวายโฉ่งฉ่างพอสมควร วันละหลายครั้ง ก็ต้องเปรียบกรณีเพื่อนบ้านเบื้องขวาคือ “คุณป้า” เป็นเสมือน “ฉากโขน” เพราะมีเสียงพากย์เสียงบอกกำกับ แต่ไม่มีเสียงจาก “ผู้แสดง” เนื่องจากต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ

“คุณป้า” คงมีปัญหาความเจ็บปวดแบบทุกข์ทรมานไม่ใช่น้อยเหมือนกัน สังเกตจากเสียงโครกครากแสดงสภาพที่เป็นปัญหาอยู่เป็นระยะแต่ไม่บ่อยและดังเท่ากรณี “อาม้า” และดูจะเป็นปัญหา “วิกฤต” ด้วยเพราะได้ยินพยาบาลพูดทำนองว่า “คุณป้าต้องพยายามนะคะ…..ถ้าไม่ทำตรงนี้ จะเอาเครื่องช่วยหายใจออกไม่ได้…..คุณป้าต้องพยายามนะคะ ต้องทำให้ได้นะคะ…..ฯลฯ”

ส่วนบทบาทและการทำหน้าที่ของพยาบาลในกรณี “คุณป้า” นับว่าน่าประทับใจและน่าชื่นชม เช่นเดียวกับที่ปฏิบัติกับกรณี “อาม้า” ซึ่งไม่แปลกเพราะคือพยาบาลชุดเดียวกันที่มีอยู่ 4-5 คน ซึ่งดูแลบริเวณนั้น

สำหรับกรณี “ตัวผมเอง” อาจเปรียบได้เป็น “ฉากละครรำ” คือ ช้าๆ เนิบๆ เรียบๆ มีเสียงเบาๆจากตัวละครเป็นระยะๆตามกิจวัตรที่ต้องทำ ที่มีเสียงเบาๆเพราะพูดไม่ค่อยมีเสียง พบว่าเสียงหายไป พอพูดออกเสียงแหบๆได้ คงประมาณ 10% ของระดับเสียงปกติ จนครั้งหนึ่งพยาบาลถามว่า “ปกติพูดออกเสียงได้แค่นี้หรือคะ ?” (ซึ่งคำตอบคือไม่ใช่ !)

นอกจากปัญหาเรื่องเสียงแล้ว สภาพโดยทั่วไปคงเป็นไปตามที่พึงเป็นอันเนื่องจากการ “ผ่าตัดใหญ่ ตับอ่อน-กระเพาะ-ลำไส้-ท่อน้ำดี-ถุงน้ำดี” (ยังไม่ได้เช็คความถูกต้องจากแพทย์ เป็นความเข้าใจที่ปะติดปะต่อเอาเอง ครั้นจะพูดกับแพทย์หรือผู้รู้ก็มีปัญหาเรื่องพูดไม่มีเสียง) แต่จากคำพูดของแพทย์ที่คอยไปตรวจอาการ (แพทย์ผู้ทำการผ่าตัดและแพทย์อื่น ๆ) บอกว่า “การฟื้นตัวอยู่ในเกณฑ์ดี”

ความรู้สึกโดยรวมคือ ยอมรับสภาพที่เป็นอยู่ โชคดีที่ไม่มีความเจ็บปวดเดือดร้อนทุรนทุรายอะไรเป็นพิเศษ มีในระดับที่ใจยอมรับอยู่จึงไม่รู้สึกเป็นทุกข์ (ทางกายและทางใจ)

มีปัญหาหนึ่งคือ คืนวันนี้ยังคงนอนไม่หลับ ทั้งๆที่กลางวันไม่ได้หลับ คงเนื่องจากสภาพร่างกาย สภาพระบบประสาท สภาพแวดล้อมที่มีทั้งแสงสว่าง เสียงดังอึงคะนึงอันเนื่องจากการดูแลคนไข้ในสภาวะวิกฤต อากาศอุณหภูมิที่รู้สึกหนาวไปบ้างร้อนไปบ้าง ฯลฯ

อ่านหนังสือ “ The Web of Life ” โดย Fritjof Capra หนังสือ “พระไตรปิฎก สิ่งที่ชาวพุทธต้องรู้” โดยพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) และหนังสือ “คู่มือสวดมนต์แปล ฉบับอุบาสก-อุบาสิกา วัดสังฆทาน” สลับกันไป

ตั้งใจอ่านบทสวดมนต์แปลเพื่อช่วยให้นอนหลับ ผสมด้วยการสวดมนต์ในใจ การตั้งสมาธิ ฯลฯ แต่ไม่เป็นผล คืนนี้จึงเป็นว่านอนไม่หลับแทบทั้งคืน

ตอนกลางวันแพทย์ได้เอาสายเสริมออกซิเจนออก (หายใจเอง 100%)

พยาบาลเอาเก้าอี้มาให้นั่งอยู่ชั่วเวลาหนึ่งในช่วงกลางวัน และเปลี่ยนเตียงนอนให้เป็นแบบสบายขึ้น เป็นทั้งเก้าอี้เก่าและเตียงเก่า (ดูจากสภาพ เช่นเตียงนั้นมีปุ่มกดให้ยกศีรษะได้ แต่พอจะกลับที่เดิมต้องใช้คันโยกแทน! ส่วนเก้าอี้ก็ดูค่อนข้างโทรมแต่นั่งได้สบายพอควร)

(มีต่อ)

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/160949

<<< กลับ

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 42 (23 ธ.ค. 51) (ต่อ)

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 42 (23 ธ.ค. 51) (ต่อ)


(12 ก.ย.47) “ฝันร้าย”

วันที่ 11 กันยายน 2547 คงถือได้ว่าเป็น “ The Longest Day ” (วันที่ยาวนานที่สุด)

เพราะก่อนหน้า 1 คืน แทบไม่ได้นอนหลับ ทั้งวันของวันที่ 11 ก.ย. ยังคงไม่ได้หลับ และสภาพไม่ได้หลับนี้คงอยู่ต่อมาในช่วงกลางวันทั้งวันของวันที่ 12 ก.ย.

รวมแล้วไม่ได้หลับต่อเนื่องกันประมาณ 48 ชั่วโมง อาจเรียกว่าเป็น The Longest Extended Day ” (วันควบต่อเนื่องที่ยาวนานที่สุด) ก็ได้

นอกจากไม่ได้หลับแล้ว การเผชิญ รับรู้ เหตุการณ์และสถานการณ์ในรอบ 48 ชั่วโมงนั้น นับว่ามากทีเดียว

ระหว่างอยู่ในห้องไอซียู (ICU) นอกจากการดูแลอย่างใกล้ชิดของ “ทีมพยาบาล” และเจ้าหน้าที่อื่นๆแล้ว แพทย์ก็หมุนเวียน แวะเวียนมาตรวจอาการและสนทนาด้วยเป็นประจำ และบอกว่าการฟื้นตัวโดยทั่วไปอยู่ในเกณฑ์ดีและไม่มีปัญหาแทรกซ้อนอะไร ถือว่าน่าพอใจ

ภรรยา ลูกชาย ลูกสาว หมุนเวียนกันมาเยี่ยมเยียนดูแลผู้ที่พยาบาลเรียกว่า “คุณลุงเตียง 8” (คือตัวผมนั่นเอง) อยู่เป็นประจำ มานั่งคุย นั่งเฝ้า บีบนวด (บ่อยครั้งรู้สึกเท้าเย็นเพราะหนาว) ช่วยให้ได้ผลดีทั้งทางกายและโดยเฉพาะทางใจ

มีญาติวงในมาเยี่ยมบ้างแต่ไม่มาก เพราะปกติห้องไอซียู (ICU) เขาไม่อนุญาตให้คนเข้ามาง่ายนัก และเข้าใจว่ามีป้าย “ห้ามเยี่ยม” (“คุณลุงเตียง 8”) ติดไว้ด้วย

หมอถอดสายดูดปัสสาวะออก เริ่มปัสสาวะเองได้

บุรุษพยาบาลช่วยโกนหนวดให้ (ผมทำได้เองบางส่วน)

เริ่มพยายาม “เดิน” (ประมาณ 7-8 เมตรแล้วกลับ)

หมอให้เริ่ม “อมน้ำแข็ง” (ก้อนเล็กๆ เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.5 ซ.ม.)

                รู้สึกว่ากลางคืนคงมีปัญหาการหลับ พยาบาลจึงให้ยาแก้ปวดเพื่อช่วยหลับ ปรากฏว่าพอหลับได้แต่เกิดการ “ฝันร้าย” ถึง 2 ครั้ง

ครั้งแรก ฝันว่าไปดูการแสดงอะไรสักอย่าง โดยใส่เสื้อผ้าชุดคนไข้ (สีเขียว) ไป คนที่อยู่รอบๆตัวผมเกิดการล้มตัวทับกันและมาทับผมด้วยโดยผมดึงตัวออกไม่ได้ ขณะเดียวกันผมพยายามหาของสำคัญที่หายไปแต่หาไม่พบ มองไปเห็นภรรยาอยู่ทางหนึ่ง และเห็นลูกสาวพร้อมรถยนต์อยู่อีกทางหนึ่งคล้ายๆจะมารับผม แต่ก็ติดต่อถึงกันไม่ได้ ทั้งกรณีภรรยาและลูกสาว เพราะอยู่ห่างกันเกินไป ทำให้รู้สึกวุ่นวายมาก

หลังจากตื่นมาแล้วได้พยายามกลับไปหลับใหม่ แต่ก็มี “ฝันร้าย” รอบที่สอง คือฝันว่าไปที่ “โรงงาน” อะไรบางอย่างแถวๆซอยสุขุมวิท 61 ถูกพนักงานคนหนึ่งแกล้งเอากระเป๋าของผมไปแล้วไม่คืนให้ ใช้วิธีหลอกล่อยั่วยวนต่างๆ ครั้นผมจะชี้แจง ต่อว่า หรือเรียกร้องอะไรก็ “พูดออกเสียงไม่ได้” ทำให้รู้สึกอึดอัดขัดข้องวุ่นวายอารมณ์อย่างยิ่ง

(13 ก.ย.47) คุณค่ายิ่งยวดของการ “ผายลม” !

                ย้ายจาก “ชีวิตบนเตียง” (ห้องไอซียู) สู่ “ชีวิตในห้อง” (ห้องพักผู้ป่วยพิเศษ) เมื่อประมาณ 10.00 น.

ระหว่างอยู่ห้องไอซียู แพทย์และพยาบาลจะถามอยู่บ่อยๆว่า “ผายลมบ้างไหม…..ผายลมหรือยัง…..” ซึ่งตลอดเวลาที่อยู่ห้องไอซียู (ICU) ผมต้องตอบว่า “ยัง…..มีแต่เรอ…..”

พอมาอยู่ห้องพักผู้ป่วยพิเศษจึงได้เริ่มผายลมบ้าง และเกิดความตระหนักว่า เรื่องซึ่งปกติคนอาจรู้สึกรังเกียจหน่อยๆนั้น อันที่จริงมีความสำคัญต่อ “ชีวิต” อย่างยิ่งยวด นั่นคือหากไม่สามารถผายลมได้หลังการผ่าตัดจะเกิดการอืดสะสมเป็นปัญหาใหญ่ทีเดียว

เข้านอนประมาณ 4 ทุ่มและนอนได้ดีเป็นครั้งแรก (คืนแรก) หลังจากการผ่าตัด โดยตื่นมาปัสสาวะ 2 ครั้ง

(14 ก.ย.47)  “ชีวิตในห้อง”

“ชีวิตในห้อง” สงบเงียบพอควร มีเวลาอ่านหนังสือ ซึ่งมุ่งอ่าน “ The Web of Life ” (“ข่ายใยแห่งชีวิต”)เป็นหลักเนื่องจากอยากอ่านมานานแล้ว ที่สำคัญคือเป็นข้อเขียนทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับ “ชีวิต” และ “สรรพสิ่ง” ในโลกตลอดไปถึงในจักรวาล ซึ่งข้อค้นพบและข้อเสนอทางวิทยาศาสตร์ที่ประมวลไว้ในหนังสือเล่มนี้ สามารถนำใช้ประกอบการอธิบาย พิสูจน์ หรือเสริมต่อ “หลักธรรม” ของพระพุทธเจ้า โดยเฉพาะเรื่อง “อนิจจัง ทุกขังอนัตตา” (ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของ “หัวใจ” ของพระพุทธศาสนา) ได้เป็นอย่างดี

สำหรับตัวเอง คิดว่า การได้อ่าน “ The Web of Life ” เป็นการค้นพบที่สำคัญยิ่ง คาดว่าจะนำไปใช้ประโยชน์ได้มาก และอาจมีผลอย่างสำคัญต่อวิถีชีวิตที่จะเลือกเดินในอนาคตที่เหลือ

หมอมาถอดสายดูดผ่านรูจมูกออก สายนี้สร้างความรำคาญและความลำบากค่อนข้างมาก หมอบอกว่าคนไข้โดยทั่วไปจะรอคอยวันที่ถอดสายดูดนี้ออกได้ ซึ่งตัวเองก็คิดเช่นนั้น รู้สึกเหมือนได้ “อิสรภาพ” (จากเทคโนโลยี) ที่สำคัญ รู้สึกโล่งขึ้น สบายขึ้น สามารถจัดการเรื่องรูจมูกและบริเวณใกล้รูจมูกได้สะดวกสบายขึ้นมาก

หมอให้เริ่ม “จิบน้ำ” ได้ (หลังจากที่ให้อมน้ำแข็งก้อนจิ๋วก่อนหน้านี้)

เริ่มเขียน “บันทึกการเจ็บป่วยครั้งสำคัญในชีวิต” โดยย้อนหลังไปจากประมาณวันที่ 23 สิงหาคม 2547 เป็นการบันทึกเหตุการณ์ สถานการณ์ ความรู้สึก ความคิด ฯลฯ แล้วแต่ว่านึกอะไรได้และรู้สึกอยากบันทึกไว้ สำหรับเก็บเป็นความทรงจำ (ก่อนจะลืมเสียเป็นส่วนใหญ่) และเพื่ออ่านกันในหมู่ “ญาติมิตรคนชิดใกล้” เป็นสำคัญ

เมื่อหมอถอดสายดูดที่ผ่านลำคอและรูจมูก (ข้างขวา) คิดว่าจะพูดออกเสียงได้ดีขึ้น ปรากฏว่าตรงกันข้าม ยิ่งพูดแล้วเสียงออกแบบแผ่วลง และรู้สึกมีความลำบากในการพูดออกเสียงแต่ละคำ

ด้วยเหตุนี้ จึงริเริ่มใช้วิธีเขียนโน้ตสั้นๆไว้ให้ผู้มาเยี่ยมอ่าน จะได้ไม่ต้องพูด หรือพูดแต่น้อยๆ และพูดเบาๆทำนองกระซิบ

.gotoknow-responsive-middle { width: 300px; height: 250px; } @media(min-width: 260px) { .gotoknow-responsive-middle { width: 300px; height: 260px; } } @media(min-width: 350px) { .gotoknow-responsive-middle { width: 336px; height: 280px; } } @media(min-width: 740px) { .gotoknow-responsive-middle { width: 728px; height: 90px; } }

(15 ก.ย.47) สู่ “สภาพปกติ” มากขึ้น

                หมอมาถอดเอาสายหยอดของเหลวขาวข้นออก เท่ากับได้ “อิสรภาพ” ที่สำคัญเพิ่มขึ้นอีก 1 อย่าง

เริ่ม “ดื่มน้ำ” และเริ่มทาน “อาหารเหลวใส” เท่ากับเป็นบันไดขั้นต้นของการไม่ต้องพึ่ง “สายหยอดสารอาหาร” ที่นอกจาก “ผิดธรรมชาติ” และทำให้ไม่รู้สึกหิว แล้วยังสร้างความ “ไม่สะดวกสบาย” อีกด้วยพอสมควร เช่นไม่สะดวกเวลาจะเดินไปทำนั่นทำนี่ เป็นต้น

พยาบาลพิเศษสระผมให้ (ครั้งแรกหลังการผ่าตัด) และโกนหนวดเองแบบ “เต็มรูป” เป็นครั้งแรกหลังการผ่าตัดเช่นเดียวกัน

เท่ากับว่าชีวิตเข้าสู่ “สภาพปกติ” มากขึ้นเป็นลำดับ

หมอบอกว่าสภาพฟื้นตัวโดยทั่วไปอยู่ในเกณฑ์ดีน่าพอใจ ยังต้องรอผลการวิเคราะห์ก้อนเนื้อ และอาจต้องให้แพทย์เฉพาะทางช่วยดูปัญหาการพูดออกเสียงไม่ได้

ตอนเช้าได้ตักบาตรพระ 1 รูป ท่านมาจากวัดบวรฯ ทราบว่าเป็น มรว. บวชมา 9 พรรษา แล้ว

หมายเหตุท้ายเรื่อง : ธรรมะแห่งชีวิต

            ผมยังคงต้องรับการรักษาพยาบาลและพักฟื้นอยู่ในห้องผู้ป่วยพิเศษอีกเป็นเวลานาน เนื่องจากเป็นการ “ผ่าตัดใหญ่” ที่ตัดอวัยวะสำคัญถึง 4 อย่าง ได้แก่ (1) ส่วนหัวของตับอ่อนประมาณ 30% ของตับอ่อนทั้งหมด รวมถึงก้อนเนื้องอกซึ่งติดอยู่ที่ส่วนหัวของตับอ่อนนั้น (2) ท่อน้ำดีพร้อมด้วยถุงน้ำดี (ทำให้เป็นคน “ไม่มีดี”!) (3) กระเพาะประมาณ 30%ของกระเพาะทั้งหมด และ(4) ลำไส้เล็กส่วนต้นที่ออกจากกระเพาะหรือ Duodenum ประมาณ 30 ซม.  ดังนั้นต้องใช้เวลาค่อยๆรักษาส่วนที่ผ่าตัดและได้รับการ “ต่อเชื่อม” ใหม่ ซึ่งมีชื่อทางการแพทย์ว่า “Whipple Operation” (สำหรับการผ่าตัดอวัยวะในช่องท้องแล้วต่อเชื่อมใหม่ในลักษณะนี้)

                เมื่อเวลาผ่านไป ผมก็ได้รับการ “ถอดสายท่อ” (ซึ่งมีอยู่หลายสายด้วยกัน ทั้งประเภท “นำเข้า” และประเภท“ระบายออก”) ออกจากร่างกายทีละอย่างๆ 

                สายท่อซึ่งสำคัญที่สุด ต้องอยู่ในร่างกายนานที่สุด และอ่อนไหวต่อการมีชีวิตอยู่ของผมมากที่สุด คือ “สายท่อระบายน้ำย่อยจากตับอ่อน” ซึ่งในที่สุดก็สามารถ “ดึง” (โดยไม่แรงนัก)ออกจากช่องท้องของผมได้ เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2547  

                ทำให้ผมสามารถออกจากห้องพักผู้ป่วยในโรงพยาบาลและกลับไปพักฟื้นต่อที่บ้านได้ในวันที่ 24 ตุลาคม 2547

                รวมแล้วผมต้องอยู่โรงพยาบาลทั้งหมด 48 วัน โดยผมได้ไปพักฟื้นต่อที่บ้าน (ใช้ ชีวิตในบ้าน”) อีกประมาณเดือนครึ่ง แล้วจึงเริ่มใช้ “ชีวิตนอกบ้าน” ได้ด้วยตามสมควร ซึ่งรวมถึงการเดินทางไปต่างจังหวัดและต่างประเทศเป็นบางครั้ง

                หลังจากนั้นสุขภาพของผมค่อยๆกลับเข้าอยู่ในเกณฑ์ “ปกติ” พอสมควร จนกระทั่งมีเหตุให้ต้อง “เข้านอนโรงพยาบาล” อีกครั้งเมื่อเร็วๆนี้ (9-15 ตุลาคม 2550) ด้วยโรค “หลอดเลือดหัวใจอุดตัน” ที่ทำให้ผมเกือบเป็นอันตรายถึงชีวิตหากแพทย์พาไปโรงพยาบาลไม่ทันเวลา โดยครั้งนี้เป็นการอยู่ห้อง “ซีซียู” (CCU ) 4 วัน ( CCU คือ Coronary Care Unit หรือ “หออภิบาลผู้ป่วยวิกฤตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด”) 

                จาก “ความพลิกผลันในชีวิต” ที่เกิดขึ้นในครั้งล่าสุดนี้ ผมได้เคยเขียนสรุปเป็นข้อคิดเอาไว้ ซึ่งผมขอนำมาเป็นบทสรุปอย่างเดียวกันสำหรับ “ประสบการณ์ชีวิตจากห้องไอ ียู ที่เล่ามาข้างต้น บทสรุปเชิงข้อคิดของผมเป็นดังนี้ครับ

                “ความพลิกผันในชีวิตเกิดขึ้นได้เสมอ !  โดยเฉพาะในเรื่องสุขภาพ !

                นี่คืออนิจจัง (ไม่เที่ยง) !

                นี่คือสัจธรรม (ความจริงแท้) !

                นี่คือชีวิต !

                เราจึงควรดำเนินชีวิตอย่างมีสติ ใช้ปัญญา หมั่นทำความดี หมั่นทำคุณประโยชน์ที่เหมาะสมให้แก่ผู้อื่น ให้แก่หมู่คณะ   ให้แก่ส่วนรวม ให้แก่สังคม ให้แก่ประเทศ ให้แก่โลก ให้แก่มนุษยชาติ เท่าที่พึงทำได้อยู่เสมอ

                เพื่อว่าเมื่อถึงเวลาต้องอำลาชีวิต เราก็จะรู้สึกพร้อม เพราะรู้อยู่ว่าเราได้ทำหน้าที่ของคนคนหนึ่งมาอย่างเพียงพอและพอสมควรแล้ว

                ……. สำหรับคุณหมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์  แม้จะต้องจากโลกนี้ไปก่อนเวลาอันควรด้วยอายุเพียง 55 ปี แต่ระหว่างมีชีวิตอยู่ คุณหมอสงวนได้ประกอบคุณความดีอยู่เป็นเนื่องนิตย์และอย่างเอนกอนันต์  คุณหมอสงวนมีหัวใจเพื่อเพื่อนมนุษย์อย่างมหาศาล โดยเฉพาะประชาชนฐานรากและผู้ยากไร้ คุณหมอสงวนเป็นนักสร้างเสริมสุขภาพเพื่อประชาชนและเป็นบุคคลชั้นแนวหน้าที่บุกเบิกพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศไทยจนเป็นระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ประเทศไทยใช้อยู่ทุกวันนี้ แม้ประสบอุปสรรคปัญหาใหญ่หลวงนานัปการ รวมถึงปัญหาสุขภาพของตนเอง คุณหมอสงวนก็มิได้ย่อท้อ ยังคงมุ่งมั่น บากบั่น เดินหน้าพัฒนาระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าจนมีความก้าวหน้าลงหลักปักฐานและได้รับความสำเร็จเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปทั้งในประเทศไทยและในระดับนานาชาติ

                ถือได้ว่า คุณหมอสงวนได้ทำหน้าที่ในชีวิตของคนคนหนึ่งในช่วงเวลาเท่าที่ธรรมชาติกำหนดให้ อย่างมีประโยชน์สร้างสรรค์และมีคุณค่าเต็มที่แล้ว การทำหน้าที่ในชีวิตของคุณหมอสงวนสมบูรณ์ที่สุดแล้ว เราเชื่อมั่นได้ว่าวิญญาณของคุณหมอสงวนจะไปสู่สุคติอย่างแน่นอน……

                                                                                                                            สวัสดีครับ

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/160952

<<< กลับ

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 43 (28 ธ.ค. 51)

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 43 (28 ธ.ค. 51)


ประชุมอำลาในเดือนสุดท้ายของการทำหน้าที่ในรัฐบาล

                เดือนมกราคม 2551 น่าจะเป็นเดือนสุดท้ายของการทำหน้าที่ของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ซึ่งก็ย่อมจะเป็นเดือนสุดท้ายของการทำหน้าที่ของผมในรัฐบาลไปด้วย

                คณะรัฐมนตรีได้มีการประชุม “นัดสุดท้าย เมื่อวันอังคารที่ 22 มกราคม 2551 โดยพิจารณาวาระปกติ 34 เรื่องและวาระจร 19 เรื่อง ประชุมจนถึง 17.00 น. จึงเสร็จซึ่งขณะนั้นเหลือรัฐมนตรีนั่งประชุมอยู่รวม 16 คน

                ส่วนคณะกรรมการชุดต่างๆที่ผมได้เข้าร่วมประชุมเป็น “นัดสุดท้าย” ในช่วงเดือนมกราคม 2551 ได้แก่

                Ø     (เป็นประธาน) คณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลเจริญพระชนมายุ ครบ 7 รอบ 6 พฤษภาคม 2550 (ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์) ประชุมเมื่อ 4 ม.ค. 51

                Ø       (ร่วมประชุม) คณะกรรมการการเคหะแห่งชาติ เมื่อ 10 ม.ค. 51

                 Ø       (เป็นประธาน) คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) เมื่อ 14 ม.ค. 51

                 Ø     (เป็นประธาน) คณะกรรมการกองทุนพัฒนาการกีฬา เมื่อ 14 ม.ค. 51 โดยกำหนดจะมีการประชุมอีกครั้งในวันที่ 18 ม.ค. 51 แต่ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ได้ขอให้เลื่อนการประชุมครั้งนี้ไปก่อน

                 Ø       (เป็นประธาน) คณะกรรมการศึกษาการพัฒนาภาคมหานครอย่างบูรณาการ (กทม. นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร) เมื่อ 15 ม.ค. 51

                Ø       (เป็นประธาน) คณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ เมื่อ 16 ม.ค. 51

                Ø       (เป็นประธาน) คณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เมื่อ 17 ม.ค. 51

                 Ø       (เป็นประธาน) คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ เมื่อ 17 ม.ค. 51

                 Ø       (ร่วมประชุม) คณะกรรมการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) เมื่อ 18 ม.ค. 51

                 Ø     (เป็นประธานแต่ไม่ได้เข้าประชุมเพราะติดภารกิจอื่น) คณะกรรมการฝ่ายจัดสร้างพระเมรุ สิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุ และบูรณะปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศ ในงานพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อ 21 ม.ค. 51

                Ø       (เป็นประธาน) คณะกรรมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ เมื่อ 21 ม.ค. 51

                Ø     (เป็นประธานแต่ไม่ได้เข้าประชุมเพราะติดประชุม ครม. ซึ่งประชุมนานเป็นพิเศษ) คณะกรรมการวางกรอบแนวทางการศึกษาระบบการจัดการลุ่มแม่น้ำยมโดยใช้กระบวนการนโยบายสาธารณะแบบบูรณาการ เมื่อ 22 ม.ค. 51

                 Ø     (เป็นประธานแต่ไม่ได้เข้าประชุมเพราะยังประชุม ครม. ไม่เสร็จ) คณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ (กสค.) เมื่อ 22 ม.ค. 51

                Ø       (เป็นประธาน) คณะกรรมการส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนาการแข่งขันของอุตสาหกรรม MICE เมื่อ 23 ม.ค. 51

                Ø       (ร่วมประชุม) คณะกรรมการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) เมื่อ 23 ม.ค. 51

                Ø       (เป็นประธาน) คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน เมื่อ 23 ม.ค. 51

                Ø     (เป็นประธาน) คณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 2 (ไม่มีเรื่องให้ “กลั่นกรอง” แล้ว แต่เป็นการประชุมสรุปวิเคราะห์ผลการดำเนินงานและระดมความคิดสรุปข้อสังเกตเพื่อบันทึกเป็นเอกสารไว้) เมื่อ 24 ม.ค. 51

                Ø       (เป็นประธานเปิดการประชุม) คณะกรรมการอำนวยการโครงการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชน เมื่อ 24 ม.ค. 51

                Ø     (เป็นประธาน) คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) (ซึ่งในเดือนมกราคมนี้ มีการประชุมรวม 3 ครั้ง แต่ละครั้งใช้เวลากว่า 5 ชั่วโมง รวมถึงครั้งสุดท้ายนี้ ซึ่งเลิกประชุม เมื่อเวลา 20.30 น.) เมื่อ 24 ม.ค. 51

                Ø       (เป็นประธาน) คณะกรรมการติดตามการแก้ไขปัญหากรณีร้องเรียนผ่านคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เมื่อ 25 ม.ค. 51

                Ø       (เป็นประธาน) คณะกรรมการช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจน (กชก.) เมื่อ 25 ม.ค. 51

                เมื่อเป็นการประชุมนัดสุดท้ายที่ผมเข้าร่วมด้วย ผมจึงอำลาคณะกรรมการแต่ละคณะ และส่งความปรารถนาดีให้งานของคณะกรรมการทุกคณะมีความเจริญก้าวหน้าต่อไป รวมทั้งได้รับการสนับสนุนด้วยดีจากรัฐบาลใหม่ด้วย

                                                                                                                สวัสดีครับ

                                                                                                              ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/161915

<<< กลับ

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 44 ( 8 ก.พ. 51 ) (1)

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 44 ( 8 ก.พ. 51 ) (1)


เสร็จสิ้นภารกิจหลังจากที่ “คลุกวงในทำเนียบ” อยู่ 16 เดือน

ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของการทำหน้าที่ในรัฐบาล   ผมได้เข้าประชุมนัดสุดท้าย (ภายใต้รัฐบาล พลเอกสุรยุทธ์) ของคณะกรรมการอีกจำนวนหนึ่ง ได้แก่

  • คณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประชาชนอยู่ดีมีสุข (ท่านนายกฯ เป็นประธาน) (เมื่อ 28 ม.ค. 51)
  • (ร่วมประชุม) คณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) (ดร.สมชัย ฤชุพันธ์ เป็นประธาน) (เมื่อ 28 ม.ค. 51)
  • (เป็นประธาน) คณะกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการฝายราษีไศล (เมื่อ 30 ม.ค. 51)
  •  (เป็นประธาน) คณะกรรมการกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ (เมื่อ 30 ม.ค. 51)
  • (เป็นประธาน) คณะกรรมการสนับสนุนการจัดสวัสดิการชุมชนท้องถิ่น (เมื่อ 30 ม.ค.51)

คณะกรรมการหลังสุดนี้ ถือเป็นคณะกรรมการชุดสุดท้าย และเป็นการประชุมนัดสุดท้ายที่ผมเข้าร่วมประชุมในฐานะประธาน อันเนื่องมาจากการมีตำแหน่งในรัฐบาล

ในรอบเดือนสุดท้ายของการทำหน้าที่ในรัฐบาล ผมยังได้ปฏิบัติภารกิจและมีกิจกรรมที่เห็นควรบันทึกไว้เพิ่มเติมดังต่อไปนี้ครับ

  • เข้าร่วมพิธีถวายความเคารพพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ โดยมีพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมด้วย เมื่อวันที่ 2 ม.ค.51 (บ่าย – พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ เสด็จ) วันที่ 4 ม.ค. 51 (เช้ามืด- สมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาฯ เสด็จ) และวันที่ 9 ม.ค. 51 (บ่าย – พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ เสด็จ)
  • ประชุมติดตามผลและหารือเรื่องการส่งเสริม “วังปลา” ในบริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น ที่วัดระฆังโฆษิตาราม” ซึ่งได้ผลเบื้องต้นน่าพอใจ (เมื่อ 4 ม.ค. 51)
  • ประชุมสรุปงานกับผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมปลัดและรองปลัดสำนักนายกยกรัฐมนตรี (เมื่อ 7 ม.ค. 51)
  • ประชุมหารือรอบพิเศษกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง พม. พร้อมผู้บริหารระดับสูง(รองอธิบดีขึ้นไป) ของกระทรวง พม. เรื่องเกี่ยวกับสถานการณ์ภายในกระทรวง พม. (เมื่อ 8 ม.ค. 51)
  • เป็นประธานมอบรางวัลการใช้ภาษาไทยดีเด่น จัดโดยราชบัณฑิตยสถาน (เมื่อ 9 ม.ค. 51)
  •        เป็นผู้กราบบังคมทูล รายงานต่อองค์ประธาน(สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ) ในพิธีเปิดงาน “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการอนุรักษ์มรดกไทย” จัดโดยกระทรวงวัฒนธรรม (เมื่อ 11 ม.ค. 51)
  • ประชุมหารือกับ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (คุณหญิงทิพาวดี) และผู้ที่เกี่ยวข้องอีกจำนวนหนึ่ง เรื่องเกี่ยวกับ “โทรทัศน์สาธารณะ” (ได้แก่ Thai Public Broadcasting Service หรือ Thai PBS หรือ TPBS) ซึ่งได้มีพระราชบัญญัติรองรับ โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 15 เม.ย. 51 (เมื่อ 11 ม.ค. 51)
  • ประชุมหารือคลี่คลายปัญหาความล่าช้าในการจัดการเรื่อง ที่ดินสำหรับประชาชน ที่จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งท่านนายกฯ ขอให้เร่งรัดให้แล้วเสร็จโดยเร็ว (เมื่อ 18 ม.ค. 51)
  • เป็นประธานและกล่าวปาฐกถา ในพิธีปิดเวทีกลไกการมีส่วนร่วมของเด็ก เยาวชน และครอบครัว สู่วาระเด็กและเยาวชนปี 2551 (เมื่อ 20 ม.ค. 51)
  • เป็นประธานและกล่าวปาฐกถาในพิธีเปิดการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซี่ยน ( Asean Tourism Ministers หรือ “ATM”) ครั้งที่ 11 (เมื่อ 21 ม.ค. 51)
  • เข้าร่วมในพิธีเปิดการประชุมรัฐสภา ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม (เมื่อ 21 ม.ค. 51)
  • เป็นประธานนำคณะ(จากกระทรวงวัฒนธรรม) เข้าเฝ้าทูลเกล้าฯ ถวายแผ่นทองคำจารึกพระราชสมัญญา “พระบิดาแห่งการอนุรักษ์มรดกไทย” แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฏราชกุมาร ทรงเป็นผู้รับ ณ วังศุโขทัย (เมื่อ 23 ม.ค. 51)
  • เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมคณะกรรมการอำนวยการโครงการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชน และบรรยายพิเศษเรื่อง “นโยบายด้านสังคมต่อการพัฒนาศักยภาพของชุมชน” ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย จัดโดยกระทรวงวัฒนธรรม (เมื่อ 24 ม.ค. 51)
  • กล่าวปาฐกถาเรื่อง “ทิศทางข้างหน้าของสวัสดิการสังคมไทย” ในงานสัมมนาทางวิชาการเนื่องในวันสถาปนาคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ครบรอบ 45 ปี ที่หอประชุมเล็ก (หอประชุมศรีบูรพา) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ (เมื่อ 25 ม.ค. 51)
  • เป็นประธานและกล่าวปาฐกถาในพิธีปิดการประชุมสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 3 ที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี (เมื่อ 26 ม.ค. 51)
  • ร่วมสังสรรค์และรับประทานอาหารกลางวันกับกลุ่มศิษย์เก่าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา รุ่น 21 (ต.อ. 21 ซึ่งเริ่มเข้าศึกษาในปี พ.ศ. 2501) (เมื่อ 27 ม.ค. 51)
  • เป็นประธานในพิธีสงฆ์สมโภชน์ แผ่นศิลา “หลักจรรยาบรรณ พม.” ที่กระทรวง พม. (อาคารกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ) จัดโดยคณะผู้บริหารและข้าราชการ พม. (โดยมี รมช.พม. ร่วมอยู่ด้วย) (เมื่อ 28 ม.ค. 51)
  • ร่วมประชุมและให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการเตรียมการขับเคลื่อนสภาองค์กรชุมชน (ซึ่งมีพระราชบัญญัติ สภาองค์กรชุมชน พ.ศ. 2551 รองรับ โดยได้ผ่านความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อ 28 พ.ย. 50 และอยู่ระหว่างรอลงในราชกิจจานุเบกษา เพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมาย) ที่ห้องประชุมของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ถนนนวมินทร์ คลองจั่น เขตบางกะปิ (เมื่อ 28 ม.ค. 51)
  •         เป็นตัวแทนท่านนายกรัฐมนตรีไปเขียนบันทึกไว้อาลัยแด่ นายพลซูฮาร์โต อดีตประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ที่สถานทูตอินโดนีเซีย ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ (เมื่อ 28 ม.ค. 51)
  • เข้าร่วมในพิธีเปิด “หอเกียรติภูมินายกรัฐมนตรี” ณ บ้านมนังคศิลา ดำเนินการโดย สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (เมื่อ 28 ม.ค. 51 ตอนบ่าย)
  • ร่วมงาน “รวมพลังสร้างสรรค์ พม. เพื่อก้าวต่อไป” จัดโดย กระทรวง พม. ที่โรงแรมปริ๊นซ์พาเลซ โดยมีผู้บริหารกระทรวงและข้าราชการจากภูมิภาค จำนวนพอสมควรเข้าร่วมงาน ซึ่งผมและ รมช.พม. (นพ.พลเดช) ได้ใช้โอกาสนี้กล่าวชื่นชมการปฏิบัติหน้าที่ที่ดี ขอบคุณ และอำลาข้าราชการของกระทรวงทั้งหมดด้วย (เมื่อ 28 ม.ค. 51 ตอนค่ำ)
  • บันทึกเทปโทรทัศน์ ( 1 นาที) กล่าวคำอวยพรให้กับชาวจีนในประเทศต่างๆ จัดทำโดยสถานีโทรทัศน์ NTDTV (โดยคุณไพศาล สุริยะวงศ์ไพศาล และคณะ) สำหรับออกอากาศไปทั่วโลกในโอกาสวันตรุษจีนปีนี้ (7ก.พ. 51)(บันทึกเทปที่ห้องทำงานผม เมื่อ 29 มกราคม 51)
  • ประชุมคณะผู้ก่อตั้ง “มูลนิธิหัวใจอาสา” ซึ่งผมเป็นผู้ริเริ่มจัดตั้งขึ้น สำหรับเป็นฐานในการทำกิจกรรมเพื่อการพัฒนาสังคม ภายหลังจากที่ผมพ้นภารกิจการเป็นรัฐบาลไปแล้ว (ประชุมในห้องทำงานผม เมื่อ 29 ม.ค. 51)
  • ประชุมอำลาผู้บริหารกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยมี รมช. (นพ.พลเดช) ร่วมด้วย และมีผู้บริหารตั้งแต่ระดับ 8 – 9 ขึ้นไป ซึ่งอยู่ในส่วนกลาง จำนวนประมาณ 70 คน เข้าร่วมประชุม ณ ห้อง ปกรณ์ อังศุสิงห์ กระทรวง พม. ใช้เวลาสนทนากัน 2 ชั่วโมงเต็ม แล้วผม หมอพลเดช และทีมงานได้ไปเคารพอำลาต่อรูปปั้นของผู้ก่อตั้งกรมประชาสงเคราะห์ (จอมพล ป.พิบูลสงคราม) พร้อมกับรูปปั้นของผู้มีคุณูปการต่อวงการประชาสงเคราะห์ (คุณปกรณ์ อังศุสิงห์) (ซึ่งขณะนี้มีแผ่นศิลา “หลักจรรยาบรรณ พม.” อยู่ตรงกลางระหว่างรูปปั้นทั้งสอง) ต่อศาลพระภูมิประจำกระทรวง ต่อพระประชาบดี (เทพประจำกระทรวง) ทั้งที่อยู่ในบริเวณลานกลางแจ้ง หน้ากระทรวง และที่อยู่บนชั้น 2 ของ “ตึกวัง” ต่อภาพถ่ายของ “เจ้าของวัง” (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวุฒิไชยเฉลิมลาภ กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร ซึ่งอยู่บนชั้น 3 ของ “ตึกวัง” และต่อ “ศาลกรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร”  ซี่งอยู่หน้า “ตึกวัง” เป็นจุดสุดท้าย และเป็นการเสร็จสิ้นการอำลากระทรวง พม. อย่างเป็นพิธีการ

ในการนี้ ผมได้มอบหนังสือ “คู่มือมนุษย์” โดยท่านพุทธทาสภิกขุ ให้แก่ผู้บริหารที่มาร่วมประชุม และแก่ผู้สื่อข่าวประจำกระทรวง พม. ที่มาทำข่าว เพื่อแสดงความปรารถนาดีและเป็นของที่ระลึกประกอบการอำลาด้วย (เมื่อ 29 ม.ค. 51)

  • ร่วมประชุมหารือเกี่ยวกับการจัดทำหลักสูตร “ประกาศนียบัตรผู้นำชุมชน” ของ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ที่ห้องทำงานผม (เมื่อ 29 ม.ค. 51)
  • ให้สัมภาษณ์กับเจ้าหน้าที่ของ “สถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD) หัวข้อ “รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล” ที่ห้องทำงานผม (เมื่อ 29 ม.ค. 51)
  • ร่วมในงานพิธีมอบเงินรางวัล (จากกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ซึ่งผมเป็นประธาน) แก่นักกีฬาที่ชนะในการแข่งขันนานาชาติที่ผ่านมาแล้ว และยังมิได้มีการมอบเงินรางวัล ซึ่งรวมถึงการแข่งขันกีฬาอาเซียนพาราเกมส์ ที่เพิ่งเสร็จสิ้นไปด้วย โดยท่านนายกรัฐมนตรีเป็นประธานผู้มอบเงินรางวัล และมีการเลี้ยงอาหารค่ำแก่ผู้มาร่วมงานด้วย ณ ตึกสันติไมตรี (เมื่อ 29 ม.ค. 51 ตอนค่ำ)
  • ทำพิธีเคารพอำลาสถานที่ทำงานอันได้แก่ “ทำเนียบรัฐบาล” โดยการสักการะศาลพระพรหม ซึ่งอยู่บนหลังคาของตึกไทยคู่ฟ้า (“บ้านนรสิงห์” เดิม) และ “ศาลพระภูมิเจ้าที่” ประจำทำเนียบรัฐบาล โดยมีทีมงาน (ที่มาช่วยงานผมและมาจากภายนอกทำเนียบรัฐบาล) เข้าร่วมในการเคารพอำลาครั้งนี้ด้วย (เมื่อ 30 ม.ค. 51 ตอนกลางวัน)

ในการนี้ ได้มีผู้สื่อข่าวจำนวนหนึ่งมาทำข่าว (ทั้งโทรทัศน์ วิทยุ และหนังสือพิมพ์) โดยผมได้ให้สัมภาษณ์ กล่าวคำอำลา และมอบหนังสือ “คู่มือมนุษย์” (โดยท่านพุทธทาสภิกขุ) เพื่อแสดงความปรารถนาดีและเป็นที่ระลึกแก่ผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาลทุกคน (ไปฝากไว้ที่ “รังนักข่าว” ทั้ง 2 รัง สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้รับ)

  • เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินในพิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2550 ของมูลนิธิสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม (เมื่อ 30 ม.ค. 51 ตอนบ่าย)
  • ร่วมงานพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำผู้ที่ได้รับพระราชทานรางวัล สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2550 ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเป็นเจ้าภาพ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม (เมื่อ 30 ม.ค. 51 ตอนค่ำ)
  • เป็นวิทยากรบรรยายพิเศษ เรื่อง “แนวคิดเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน” ในโครงการสัมมนาซึ่งจัดโดย สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่โรงแรมใบหยกสกาย ประตูน้ำ (เมื่อ 31 ม.ค. 51)
  • พบสนทนาและอำลาผู้บริหารจำนวนหนึ่ง ของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ห้องทำงานผม (เมื่อ 31 ม.ค. 51)
  • เป็นประธานในพิธีและสักขีพยานรวมถึงกล่าวแสดงความเห็นในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือก่อตั้ง “สภาความร่วมมือเครือข่ายความปลอดภัยด้านอาหาร” ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ชั้น 3 (เป็นความร่วมมือระหว่าง 19 หน่วยงาน ประกอบด้วย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณะสุข สสส. ธกส. เป็นต้น) (เมื่อ 31 ม.ค. 51)
  • ไปร่วมประชุมคณะกรรมการสถาบัน ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มูลนิธิอาจารย์ป๋วย ณ ห้องสโมสรปัญญา ดำหนักใหญ่ วังเทวะเวศม์ ธนาคารแห่งประเทศไทย บางขุนพรหม (ต้องทำหน้าที่ประธานการประชุม เนื่องจาก มรว.ปรีดิยาธร เทวกุล ประธานตัวจริง ไม่สามารถมาประชุมได้) (เมื่อ 31 ม.ค. 51 ตอนเย็น – ค่ำ)
  • ไปร่วมกับคณะผู้บริหารสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) และผู้นำชุมชนที่ขับเคลื่อนเรื่อง “สภาองค์กรชุมชน” ในการไปเยี่ยมสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้สื่อข่าวของเครือ “มติชน” ที่สำนักงานหนังสือพิมพ์มติชน โดยสนทนาเกี่ยวกับเรื่อง “สภาองค์กรชุมชน” และอื่นๆ (เมื่อ 1 ก.พ. 51 ตอนกลางวัน)
  • ไปร่วมหารือเกี่ยวกับ “ทิศทางและยุทธศาสตร์การจัดการทางสังคม” ซึ่งเป็นการขอหารือโดยผู้บริหารของ “วิทยาลัยการจัดการทางสังคม (วจส.)” ที่ห้องประชุม สสส. อาคารเอสเอ็มทาวเวอร์ (เมื่อ 1 ก.พ. 51 ตอนบ่าย)
  • ร่วมสังสรรค์ขอบคุณและอำลาคณะทำงานของรองนายกรัฐมนตรี(ไพบูลย์ ฯ) ที่ร้านอาหาร “พึงชม” ซอยอารีย์สัมพันธ์ ถนนพหลโยธิน โดยผมได้มอบหนังสือ “คู่มือมนุษย์” ให้กับทุกคนเป็นที่ระลึกด้วย (เมื่อ 1 ก.พ. 51 ตอนค่ำ)

(ก่อนไปร้านอาหาร “พึงชม” ได้แวะไปที่ร้านอาหาร “รถเสบียง” ซึ่งไม่ไกลกันเพื่อกล่าวขอบคุณ อำลา และมอบหนังสือ “คู่มือมนุษย์” แก่คณะทำงานของ รมช.พม. (นพ.พลเดช) ซึ่งถือว่าเป็นคณะทำงานที่ช่วยงาน รมว.พม. ด้วย)

  • เป็นประธานและกล่าวปาฐกถาในพิธีมอบ “รางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ” ซึ่งประกอบด้วย รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ รางวัลผลงานวิจัย รางวัลวิทยานิพนธ์ ประจำปี 2550 และรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2551 รวมผู้รับรางวัลทั้งหมด 70 คน ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี (เมื่อ 2 ก.พ. 51 ตอนเช้า แล้วรับประทานอาหารกลางวันร่วมกันกับผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และผู้ได้รับรางวัลทั้งหมด โดยมีการกล่าวขอบคุณและอำลากันด้วย)
  • เป็นผู้กราบบังคมทูลรายงานต่อองค์ประธาน คือ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในพิธีเปิดนิทรรศการงาน “วันนักประดิษฐ์” และ “วันนักประดิษฐ์นานาชาติ” ครั้งที่1 ( The First International Inventor’s Day Convention – The 1st IIDC ) ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี (เมื่อ 2 ก.พ. 51 ตอนเย็น และได้ตามเสด็จทรงเยี่ยมทอดพระเนตรนิทรรศการในจุดต่างๆ อยู่ประมาณ 1.5 ชม. จนเสด็จพระราชดำเนินกลับ เมื่อประมาณ 19.00 น.)
  • เป็นประธานการประชุม “คณะที่ปรึกษาสถาบันธุรกิจเพื่อสังคม” ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (เมื่อ 4 ก.พ. 51)
  • ร่วมงานสังสรรค์อำลาของคณะรัฐมนตรี พร้อมคู่สมรส เลขานุการ และที่ปรึกษาโดยการล่องเรือ “อังสนา” ของกองทัพเรือ (เมื่อ 4 ก.พ. 51 ตอนค่ำ)
  • แวะไปทำเนียบรัฐบาลเป็นครั้งสุดท้าย ที่ยังอยู่ในตำแหน่ง “รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นตงของมนุษย์” เนื่องจากมีเอกสาร 2 เรื่อง ที่เจ้าหน้าที่แจ้งว่าสมควรไปลงนามและเขียนข้อความให้ (เมื่อ 5 ก.พ. 51 ตอนบ่าย)

วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2551 เวลาบ่าย ได้มี พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี จนครบคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลใหม่ และคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลใหม่ (ซึ่งมีคุณสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี) ได้เข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณตน ต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในเวลาประมาณ 16.30 น. ของวันเดียวกัน

รัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งผมรวมอยู่ด้วย จึงหมดวาระและหมดภารกิจอย่างสมบูรณ์ ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2551 นี้

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/164228

<<< กลับ

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 44 (8 ก.พ. 51) (2)

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 44 (8 ก.พ. 51) (2)


  รัฐบาลที่มีพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี และมีผมร่วมอยู่ด้วยนี้ มีภารกิจสำคัญที่สุดคือ การนำพาพร้อมกับสนับสนุนการนำพาประเทศกลับสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ให้ได้โดยเร็วที่สุด ซึ่งผมคิดว่าภารกิจดังกล่าวได้สำเร็จลุล่วง อย่างเรียบร้อยและน่าพึงพอใจ ส่วนภารกิจอื่น ๆ ของ “รัฐบาลช่วงเปลี่ยนผ่าน” นั้น ผมคิดว่าเราก็ทำได้พอสมควรตามสภาวะและปัจจัยที่เอื้ออำนวยพร้อมกับเป็นข้อจำกัดนานาประการ

                พร้อมกับการหมดวาระและหมดภารกิจของผมในรัฐบาล (หลังจากที่ได้ “คลุกวงในทำเนียบ” อยู่ 16 เดือน) ผมจึงขอจบการเขียน “ จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม” ไว้เพียงฉบับที่ 44 นี้ ผมขอถือโอกาสนี้ขอบคุณ “ญาติมิตรพัฒนาสังคม” ทุกท่านที่ได้สนใจเปิดอ่าน “จดหมาย” ของผม และขออภัยหากข้อเขียนของผมบางส่วนบางตอน อาจทำให้บางท่านผิดหวังหรือไม่ชอบใจด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง รวมทั้งขออภัยท่านที่ตั้งคำถามกับผมแล้วผมมิได้ตอบ

                และผมขอถือโอกาสนี้เช่นเดียวกัน อวยพรให้ “ญาติมิตรพัฒนาสังคม” ทุกท่าน เจริญด้วยสุขภาพพลานามัย สติ ปัญญา ความดี ความสามารถ นำพาให้ชีวิตเป็นสุข สันติ มั่นคง พัฒนา ก้าวหน้า ยิ่ง ๆ ขึ้นตลอดไป

                หมายเหตุ :- สำหรับการบันทึกข้อความอย่างใดอย่างหนึ่งลงในบล็อก (Blog) paiboon.gotoknow.org เป็นครั้งคราว (ซึ่งไม่อยู่ในรูป “จดหมาย” นั้น) ผมจะยังคงทำต่อไป แต่อาจจะไม่บ่อยนัก

                                                                                                                      สวัสดีครับ

                                                                                                         ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/164775

<<< กลับ