การสร้างองค์การแห่งคุณธรรมและจริยธรรม

การสร้างองค์การแห่งคุณธรรมและจริยธรรม


สรุปสาระสำคัญ ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง การสร้างองค์การแห่งคุณธรรมและจริยธรรม เมื่อวันจันทร์ที่ ๒ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๐ หอประชุมบุรฉัตร  ธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่

            เมื่อพูดถึงคำว่า คุณธรรม จริยธรรม หลายคนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องนามธรรม  ยากแก่การปฏิบัติให้เกิดผลอย่างจริงจัง แต่จริง ๆ เรื่องนี้มีหลักในการพิจารณาง่ายๆ อยู่ 3 ประการ คือ หนึ่ง  ความดี  สอง  ความถูกต้อง และ สาม คือ  ความเป็นธรรม ทั้งสามสิ่งนี้เป็นเกณฑ์วัดพื้นฐานที่สามารถนำไปเป็นหลักคิดพิจารณาในเรื่องต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ต่อตนเอง องค์กร และประเทศชาติ ได้    โดยในการนำไปปฏิบัติ ให้ยึดหลักว่า  เรื่องความดี  เป็นเรื่องที่ควรกระทำ    และสังคมควรช่วยกันสร้างค่านิยมในการทำความดี  ส่งเสริมการทำความดีให้แพร่หลาย  เรื่องของความถูกต้อง  เป็นเรื่องที่ต้องกระทำ  และประการสุดท้ายคือ  ความเป็นธรรม เป็นสิ่งที่ควรต้องกระทำ   ฉะนั้นในการประพฤติปฏิบัติก็จะมีด้วยกัน ๓ ระดับ คือ  ควรทำ  ต้องทำ และควรต้องทำ

             สำหรับแนวทางในการกระทำให้ทั้งสามประการเกิดผลที่น่าพึงพอใจ   ต้องเริ่มทำทุกส่วน  ทำในระดับบริหาร  และระดับพนักงาน ควบคู่กันไป โดยในระดับบริหารจะเป็นแนวทางนำไปสู่การประพฤติปฏิบัติอย่างเหมาะสมให้แก่พนักงาน  แล้วถ่ายทอดให้พนักงานได้เห็นแนวทาง  เป็นวิธีง่าย ๆ  ไม่ต้องไปบอกว่าควรจะทำอะไร  ให้เขาไปคิดไปพิจารณาเอง  เป็นการถอดแบบแนวคิด   อาจจะจัดเป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการ ( workshop)  ที่สำคัญคือทำแล้วก็ต้องมีการติดตามผล  เพื่อเรียนรู้จากสิ่งที่ทำ  รวมถึงการใช้เครื่องมือที่เรียกว่า “การจัดการความรู้”(Knowledge  Management)

            ในระดับพนักงาน  อาจทำเป็นหน่วยงาน  คือให้โอกาสไปคิด ไปดำเนินการกันเองว่า   ความดี  ความถูกต้อง ความเป็นธรรม  คุณจะทำอย่างไร  ให้พนักงานร่วมกันคิด ร่วมกันวางกติกาว่า ทำอย่างไรจึงจะเกิดสามสิ่งข้างต้น  ไม่จำกัดวงว่าต้องเป็นเรื่องในภาระหน้าที่ที่ปฏิบัติ  อาจเป็นกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือสังคม  กิจกรรมเพื่อสร้างความแข็งแกร่งของฐานคุณธรรม

หลักปฏิบัติในเรื่องความดี  ความถูกต้อง  ความเป็นธรรม

            เรื่องของความดี  อาจจะทำหรือไม่ทำก็ไม่มีใครมาว่า  แต่เป็นเรื่องสำคัญที่ขอใช้คำว่าควรทำอย่างยิ่ง  เช่น การรวมกลุ่มเป็นอาสาสมัครไปช่วยเหลือสังคมในด้านต่าง ๆ  ดูแลสิ่งแวดล้อม  ช่วยสอนช่วยแนะนำชาวบ้านในด้านการทำบัญชี เป็นต้น  ซึ่งเรื่องเหล่านี้ ผู้บริหารต้องช่วยส่งเสริมให้เกิดการขับเคลื่อนเป็นขบวนการในการทำความดีอย่างต่อเนื่องและจริงจัง

            ในเรื่องของการทำความถูกต้อง กล่าวอย่างสั้นและตรงที่สุดคือไม่ทุจริต เป็นหลักธรรมาภิบาล ( good governance) พื้นฐาน  เรื่องของความถูกต้องจะเกี่ยวพันกับระเบียบ ข้อบังคับ หลักการที่ยึดโยงให้กลไกต่าง ๆ ดำเนินไปอย่างสมบูรณ์  เปรียบเป็นศีล ที่ต้องยึดถือและปฏิบัติ ฉะนั้นหลักในการปฏิบัติจึงเข้มข้นเพราะเป็นสิ่งที่ต้องทำ ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งระดับใด  ก็ต้องมีความระมัดระวังรอบคอบในการทำงานให้เกิดความถูกต้องเป็นเบื้องแรก  ถูกต้องในที่นี้ หมายถึงการกระทำที่สุจริตจริงใจ ไม่ผ่อนปรนกับความไม่ถูกต้อง 

            ส่วนเรื่องของความเป็นธรรม  คือเรื่องของความเสมอภาค  การประพฤติปฏิบัติที่เข้าหลักการเสมอภาค  จะส่งผลให้เกิดสิ่งที่เป็นธรรมขึ้น  ซึ่งความเสมอภาคนี้  เป็นเรื่องที่สำคัญของสังคม  การอยู่ร่วมกันในสังคมไม่ว่าจะระดับประเทศ  ระดับหน่วยงาน  หรือแม้แต่ระดับบุคคล  ต้องพึงระวังให้มาก   เพราะมักนำไปสู่สาเหตุของการไม่เข้าใจและความขัดแย้งซึ่งกันและกัน ดังนั้นเรื่องของความเป็นธรรมจึงต้องร่วมมือกันทุกฝ่าย   ด้วยการไม่เลือกปฏิบัติ  ไม่เลือกที่รัก    มักที่ชัง   ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติต่อลูกค้า เพื่อนร่วมงาน  ผู้บังคับบัญชา  และผู้ใต้บังคับบัญชา   

            การสร้างองค์การแห่งคุณธรรม จึงต้องเริ่มทุกระดับ แล้วประสานความร่วมมือระหว่างกันให้ขยายวงกว้างออกไป ระดับผู้ใหญ่ก็ต้องเป็นแบบอย่างในการส่งเสริมคุณธรรม  ความดี ความถูกต้องและความเป็นธรรม ระดับผู้น้อยก็ต้องร่วมกันสร้างแนวทางการพัฒนาให้เกิดการเรียนรู้และมีการจัดการความรู้ในเรื่องดังกล่าวอย่างถ่องแท้ แล้วนำไปปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง

            เมื่อทุกคนทำ ทุกคนปฏิบัติบนฐานของคุณธรรม  ความเข้มแข็งของสังคมก็จะตามมา    ซึ่งตรงนี้จะเป็นประโยชน์มหาศาล   สังคมที่มีคุณธรรมนำการเรียนรู้  ใช้ความดีนำความรู้  จะเดินไปในทิศทางที่ดี  เมื่อคนทำความดี ความดีก็จะก่อให้เกิดความสุข  และในวันที่สังคมไทยมีความเข้มแข็ง  มีฐานของคุณธรรมความดี  เรื่องที่ไม่ดี ไม่งามต่าง ๆ  ก็จะลดน้อยลง  ปัญหาในเรื่องจริยธรรมที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน  ปัญหาเรื่องการทุจริตคอรัปชัน  การทะเลาะเบาะแว้ง การแตกแยกของสังคมก็จะค่อย ๆ ลดลงและคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

4 เม.ย. 50

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/88532

<<< กลับ

เปิดวิชันรมต.ด้านสังคม“กุญแจแห่งความสำเร็จ อยู่กับผู้ที่จะเข้ามาช่วยในการขับเคลื่อน”

เปิดวิชันรมต.ด้านสังคม“กุญแจแห่งความสำเร็จ อยู่กับผู้ที่จะเข้ามาช่วยในการขับเคลื่อน”


บทสัมภาษณ์ลงในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ในคอลัมน์การเมือง เปิดวิชันรมต.ด้านสังคม ‘กุญแจแห่งความสำเร็จ อยู่กับผู้ที่จะเข้ามาช่วยในการขับเคลื่อน’ ฉบับวันที่ 14 เมษายน 2550 หน้าที่ 3

หลังเข้ามาศึกษางานพบว่า ขณะนี้ได้เกิดปัญหาหลายประเด็นที่ต้องรับผิดชอบยกตัวอย่างเช่น ปัญหาหมอกควันทางภาคเหนือ ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ร่วมมือกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ จึงมีการตั้งคณะกรรมการ เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วน เพราะนอกจากจะกระทบกับปัญหาด้านสุขภาพและอนามัย ต่อประชาชนเป็นจำนวนมากแล้วนั้น ก็ยังเป็นปัญหาที่จะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ปีแล้วปีเล่า อีกทั้งจะทวีความรุนแรงมากขึ้น จึงถือเป็นปัญหาสังคมที่สำคัญ

ขณะเดียวกันได้มีเรื่องที่หยิบยกขึ้นมา เพื่อแก้ปัญหา อาทิ ปัญหาเรื่องสื่อ ที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากเป็นปัญหาที่กระทบต่อความปลอดภัยและความเจริญ มั่นคงของเด็กและเยาวชน อาทิเช่น สื่ออินเตอร์เน็ต คลิปวีดีโอ วีซีดี ดีวีดี หนังสือ นิตยสารต่างๆ ตลอดจนหนังสือพิมพ์ ที่มีลักษณะยั่วยุ มีการประพฤติปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม ที่จะนำไปสู่ภัยอันตราย จากสาเหตุการนัดหมาย เพื่อให้บริการทางเพศ และอื่นๆ ที่นำไปสู่อาชญากรรม ถึงขั้นที่เด็กถูกทำร้าย ล่อลวงก็มี ซึ่งมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาและแก้ไขแล้ว และจะดำเนินการแก้ปัญหาโดยด่วน

อีกกรณีคือ ปัญหาโรคเอดส์ ซึ่งประเทศไทย ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการป้องกันปัญหาในกรณีดังกล่าว แต่ในรอบ 5 ปี ที่ผ่านมาปัญหาโรคเอดส์เพิ่มมากขึ้น อยู่ในสถานการณ์น่าเป็นห่วง เนื่องจากมาตรการเชิงป้องกันของประเทศไทยน้อยลงหลังจากที่เข้มงวดมาหลายปี จึงมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา คือ คณะกรรมการเอดส์ชาติซึ่งมีผมเป็นประธาน ซึ่งจะมีการประชุมเพื่อคัดสรรค์ผู้ที่เหมาะสมเข้ามาช่วยเหลือเนื่องจาก การแก้ปัญหา จำเป็นต้องคัดสรรผู้ที่เหมาะสม เพราะกุญแจแห่งความสำเร็จ อยู่กับผู้ที่จะเข้ามาช่วยในการขับเคลื่อน การตั้งคณะกรรมการหรือให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยนั้นไม่ยาก แต่ที่ยากคือ บุคคลที่มีความสามารถ จริงจังในการขับเคลื่อน ซึ่งขณะนี้มีอยู่ในใจแล้ว

และเรื่องสุดท้าย คือ ปัญหาเกษตรกร ที่เพิ่งได้รับมอบหมาย ให้เร่งแก้ไขปัญหาเพราะเป็นปัญหาที่กระทบต่อเกษตรกรเป็นอย่างมาก และเป็นปัญหาที่พัวพันไปถึงเรื่องคุณภาพชีวิต ทั้งการเกษตร การทำมาหากิน รวมไปถึงเรื่องการพัฒนาชุมชน การสร้างความเข้มแข็งของครอบครัว ซึ่งการพยายามแก้ไข ต้องคิดในเชิงพื้นฐานในเรื่องการปรับโครงสร้างระยะยาว เพื่อแก้ไขปัญหาให้เกิดผลสำเร็จอย่างถาวร ไม่ใช่เป็นการแก้ไขเฉพาะหน้า

ในการนี้ จะมีคณะกรรมการ เพื่อคอยประสานงานให้ครบวงจร และหากพิจารณาและศึกษาก็พบว่า เรื่องนี้มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องการจัดการ ทั้งในระดับฟื้นที่และชุมชนซึ่งเมื่อพูดถึงเรื่องดังกล่าว จะมีองค์ประกอบที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย เช่น กองทุนหมู่บ้าน โครงการแก้ปัญหาความยากจน ซึ่งหากนำมาผสมผสานจะพบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นสามารถแก้ไขได้อย่างบูรณาการครบวงจร

มั่นใจหรือไม่ว่าการแก้ปัญหาในส่วนต่างๆ ให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม ?

เรื่องสำคัญ หากไม่ทำอะไรก็จะเป็นปัญหาของประชาชน ถ้าแก้ไขปัญหาสำเร็จก็จะเป็นผลดีของประชาชน ของประเทศชาติ ซึ่งจุดมุ่งหมายของรัฐบาล คือต้องแก้ไขปัญหาให้ได้ ผมรับหน้าที่รับผิดชอบก็ต้องแก้ปัญหาให้สำเร็จให้ได้ เพราะอย่างไรก็เป็นหน้าที่ที่จะต้องรับผิดชอบ

ที่ผ่านมาหลายฝ่ายออกมาวิพากษ์วิจารณ์การตั้งรองนายกฯด้านสังคม รู้สึกอย่างไรบ้าง

ตามโครงสร้างของรัฐบาล จะเห็นว่า มีรองนายกรัฐมนตรี 2 คน ดูแลงานด้านต่างๆ คนหนึ่งดูเศรษฐกิจ อีกคนดูสังคม ซึ่งการดูแลด้านสังคม ไม่ได้เป็นการทำงานแทนกัน เพราะในแต่ละกระทรวงจะมีหน้าที่ออกไป ซึ่งในฐานะรองนายกรัฐมนตรี ส่วนหนึ่งคือ การช่วยประสานงาน เพื่อให้เกิดการบูรณาการ ที่เป็นเรื่องสำคัญๆ ทางยุทธศาสตร์

หนักใจหรือไม่กับการทำงาน

ตามปรัชญาการทำงานของผม คือ การพยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ตระหนักว่าปัญหาแต่ละอย่าง เป็นปัญหาที่หนักและซับซ้อน เมื่อมาเป็นรัฐบาลก็ต้องดูแลปัญหาที่เกิดขึ้น และทำให้ดีที่สุด ให้ทำงานอย่างบูรณาการมากขึ้น ผสานกำลังในแต่ละท้องถิ่น ซึ่งมีความเคลื่อนไหวที่ชัดเจนมากขึ้น

สถานการณ์บ้านเมืองที่เกิดขึ้นขณะนี้รู้สึกอย่างไร

สถานการณ์บ้านเมืองของประเทศไทยอยู่ในสภาพที่แกว่งตัว มีความผันผวน ยังไม่ปกติ ซึ่งมีเหตุปัจจัยจากหลายๆ อย่าง ในฐานะรัฐบาลต้องดูแลช่วยในการดำเนินการแก้ปัญหา ให้การแกว่งตัวและไม่ปกติทั้งหลายลดน้อยลง เพื่อให้สภาพการณ์ที่เกิดขึ้นลงตัวมากขึ้น ในการนี้ สิ่งที่เราจะทำได้ทางหนึ่งก็คือ การพยายามแก้ปัญหาที่สำคัญๆ เพื่อคลี่คลายทั้งเศรษฐกิจและสังคม พร้อมๆ กับการสร้างสรรค์ด้านสังคม ควบคู่กัน ทั้งความไม่เข้าใจ ความขัดแย้ง ขณะเดียวกัน การสร้างสรรค์ การเพิ่มพลัง การสร้างความดี และสร้างความเข้มแข็งต้องทำไปด้วย เมื่อสังคมมีอะไรที่ดีเกิดขึ้น ก็จะทำให้สังคมเกิดความรู้สึกมั่นใจ อุ่นใจ พร้อมกันนั้นเราต้องพยายามลดปัญหาของสังคมไปด้วย เพราะหากสิ่งดีๆ เพิ่มขึ้น สิ่งที่เป็นปัญหาลดลง นั้นคือ สังคมที่ดีขึ้น ผู้คนมีความพอใจ จึงจะถือว่าผลงานของรัฐบาลประสบความสำเร็จ

ระยะเวลาของรัฐบาลอีก 7 เดือน เพียงพอหรือไม่ ในการแก้ไขสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น เนื่องจากสถานการณ์ยังไม่คลี่คลายและไม่ชัดเจน

สังคมมีชีวิตที่ยาวนาน ไม่ใช่เป็นปี ไม่ใช่ร้อยปี แต่เป็นพันๆ ปี มีเวลา 1วัน ก็ต้องทำให้เสร็จ มีเวลา 7 เดือน ก็ต้องทำให้เสร็จและที่เราจะทำได้ง่ายที่สุด คือ เราต้องทำงานให้มาก เรายินดีที่จะทำงานให้หนัก ทำล่วงเวลา ทำงานอย่างขะมักเขม้น ให้ได้ทั้งคุณภาพและปริมาณ เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ และดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ หากได้ผลแค่ไหน ก็คงแค่นั้น ภายในเวลาที่มีอยู่ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า หากทำดีที่สุดแล้วก็น่าจะมีความก้าวหน้ามีการพัฒนา ในที่สุดจะเกิดความพร้อมในการเดินหน้าต่อไป สามารถส่งต่อให้กับรัฐบาลชุดต่อไปได้ทันที

ทั้งนี้โครงการต่างๆ ขณะนี้เกิดขึ้นหลายอย่าง เช่น ชีวิตมั่นคงปลอดอบายมุข มีโครงการส่งเสริมการให้ เพื่อช่วยเหลือสังคม เป็นต้น โดยมีงบประมาณ ซึ่งจะเคลื่อนไหวในปีนี้สมมุติว่า หากเราดำเนินการทางกิจกรรม 1 ปี จะเกิดผลเพียง 1 ปี แต่ถ้าเราปรับโครงสร้าง ปรับกลไกต่างๆ ก็จะมีผลในระยะยาว ไปถึงรัฐบาลชุดที่จะเข้ามาใหม่

ขณะเดียวกันต้องพยายามดูแลและจัดสรรเวลาการทำงานให้ถูกต้อง และเสริมในส่วนที่ต้องเห็นว่าเป็นนโยบายสำคัญที่กระทรวงต่างๆ ต้องให้ให้เข้าไปช่วยเหลือเป็นหลัก

สถานการณ์ความไม่สงบทั้งในภาคใต้และกทม.ที่เกิดขึ้นจะเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างไรเพื่อแก้ปัญหา

ความสมานฉันท์เป็นสิ่งที่เราปรารถนา คือการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ซึ่งในส่วนที่ผมเกี่ยวข้องและต้องดูแลรับผิดชอบ มี 2 เรื่อง คือ 1.การส่งเสริมกระบวนการเสวนา คือการพูดคุยกันในของผู้ที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ดีเร็วๆ นี้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีการจัดให้มีประชาเสวนา ในแต่ละอำเภอ กว่า 900 อำเภอ ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นหนึ่งแนวทาง 2.เน้นบทบาทของประชาชน เพื่อรวมพลังในการต่อต้านสิ่งที่ไม่ดี เพื่อให้เกิดสิ่งที่ดีต่อสังคม ซึ่งถือเป็นสิ่งที่สมานฉันท์และเราทุกคนต้องการโดยเฉพาะประชาชน เพื่อที่จะร่วมกันแก้ปัญหา ซึ่งเป็นวิธีที่ดีอีกทางหนึ่ง หากทำได้ จะทำให้ผู้ที่แตกแยกกันมาเข้าร่วม จึงถือเป็นแนวทางสร้างสรรค์ ที่เป็นเชิงบวก ในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

มองแนวโน้มสถานการณ์ของรัฐบาลภายหลังช่วงสงกรานต์จะเป็นอย่างไรบ้าง

ที่แน่ๆ คือไม่แน่นอน ซึ่งทุกอย่างย่อมไม่แน่นอน ยิ่งสภาวะการเมืองไทยในปัจจุบัน ถือว่ายังไม่ตกผลึก ยังมีการแกว่งตัวค่อนข้างมาก ฉะนั้นความไม่แน่นอนจึงมีอยู่สูง ผมก็ตั้งสติไว้ว่า จะต้องพยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ทั้งในส่วนของตนเอง และส่วนที่ร่วมกับคณะรัฐบาล

ไพบูลย์ วัฒนศริธรรม

18 เม.ย. 50

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/90985

<<< กลับ

งานพัฒนาชุมชน ภายใต้โลกยุคใหม่ ขับเคลื่อนเพื่อโลกอนาคต

งานพัฒนาชุมชน ภายใต้โลกยุคใหม่ ขับเคลื่อนเพื่อโลกอนาคต


ประเด็นประกอบการปาฐกถาพิเศษ

โดย

นายไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม

รองนายกรัฐมนตรี

และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

วันที่ 17 ธันวาคม 2550 เวลา 9.20-10.20 น.

ในการประชุมสัมมนาทางวิชาการพัฒนาชุมชน ครั้งที่ 1

ณ อุทยานการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา

  1. โลกยุคใหม่ ไร้พรหมแดน
  • มนุษย์ติดต่อสื่อสารกันได้ทั่วโลก
  • การเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก ภูมิภาค ประเทศ และชุมชนท้องถิ่นจะเชื่อมโยงและส่งผลกระทบต่อกันทั้งเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การเมืองการปกครอง สภาพแวดล้อม และเทคโนโลยี ผลกระทบจะมีทั้งด้านการพัฒนาและการสร้างปัญหา
  • กระแสโลกาภิวัตน์ มีลักษณะอยู่ในบริบทของความโลภ ความหลง และความรุนแรง
  • งานพัฒนาชุมชนภายใต้โลกยุคใหม่จะได้รับผลกระทบเช่นกัน จึงต้องการการปรับตัวในการขับเคลื่อน
  1. สาระสำคัญของงานพัฒนาชุมชน
  • ความหมาย : การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้นทุกรูปแบบ ทุกด้าน ทั้งกายภาพ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ อนามัย จิตใจโดยความร่วมมือของประชาชนในชุมชนเอง และหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีการวางแผนและการจัดการสู่สภาพที่พึงปรารถนา
  • ปรัชญา : เป็นการคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์บนพื้นฐานของศรัทธา โดยเชื่อว่ามนุษย์มีความสามารถ มีพลัง และมีความพ้อมที่จะพัฒนาถ้ามีโอกาส
  • อุดมการณ์ คือ สร้างพลังชุมชนเละใช้พลังชุมชนในการพัฒนา ซึ่งพลังชุมชนในการพัฒนาเหล่านี้จะเป็นตัวกำหนดทิศทางการพัฒนาให้ชุมชนและองค์กรที่เกี่ยวข้อง
  • พัฒนาชุมชน มีความเป็นกระบวนการคือ เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่มีแบบแผนขั้นตอนของการวิเคราะห์ การวางแผน การดำเนินการ การประเมินผล
  • งานพัฒนาชุมชนยังคงเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาชุมชน ท้องถิ่น สังคม และประเทศได้
  1. บริบทของการขับเคลื่อน
  • เป้าหมายการพัฒนาชุมชน

                            Ø       ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง อยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน

Ø       สังคมคุณธรรม เศรษฐกิจพอเพียง การเมืองสมานฉันท์

  • หลักการพัฒนาที่ฐานการขับเคลื่อนอยู่ที่ชุมชน ( Community – Driven Development)

Ø       พื้นที่เป็นตัวตั้ง

Ø       ชุมชนเป็นแกนหลัก

Ø       ประชาชนมีบทบาทสำคัญ

Ø       รวมพลังความร่วมมือทุกภาคส่วน

Ø       บูรณาการทุกเรื่อง

  • บริบทของการขับเคลื่อน

ขับเคลื่อนทั้งระบบ : กฎหมาย – นโยบาย – โครงสร้าง – ยุทธศาสตร์- แผนงาน – การดำเนินงาน – งบประมาณ

ขับเคลื่อนทุกระดับ : ชุมชน – ท้องถิ่น – ภูมิภาค – ประเทศ – โลก

ขับเคลื่อนเป็นกระบวนการ  : เชื่อมโยงทุกกลไก ทุกภาคส่วน ร่วมกันอย่างมีพลัง

  1. การพัฒนาชุมชนท้องถิ่น
  • นโยบายรัฐบาล

                รัฐมุ่งสร้างความเข้มแข็งให้ทุกชุมชนท้องถิ่น และประชาสังคม ให้สามารถบริหารจัดการตนเองเกี่ยวกับความเป็นอยู่ เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การปกครอง และทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน

  • แนวทาง
  1. สร้างความเป็นธรรมทั้งด้านกฎหมายและสังคม
  2. ความเป็นเจ้าของตามวิถีชีวิต
  3. การมีส่วนร่วมที่แท้จริงตลอดกระบวนการ
  • ปัจจัยของการสร้างชุมชนเข้มแข็ง

                Ø       ทัศนคติการพึ่งตนเองและร่วมมือกันของชุมชน

Ø       การเรียนรู้และการพัฒนาผ่านปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง

Ø       การเชื่อมโยง รวมตัวกันเป็นเครือข่าย

Ø       มีกลไกสนับสนุนที่เหมาะสม

Ø       การมีนโยบายที่เอื้ออำนวย

  • การสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นโดยมีแนวทางให้ประชาชนเป็นเจ้าของการพัฒนาอย่างแท้จริง 

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดเป็นจุดๆในบางพื้นที่ตามโครงการพัฒนา แต่มีการทำงานที่ใช้พื้นที่เป็นหลัก และทำงานครอบคลุมเต็มพื้นที่ คือเชื่อมโยงชุมชนในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งหน่วยงานและภาคีอื่นๆ ให้เห็นภาพรวมและการทำงานร่วมกัน โดยประชาชนเป็นแกนหลัก เพื่อนำไปถูกทาง จัดระบบการทำงานและจัดความสัมพันธ์ใหม่ในท้องถิ่น ตั้งแต่ระบบข้อมูล แผนงาน งบประมาณ การบริหารจัดการ การแก้ไขปัญหา ให้เป็นระบบและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ซึ่งถ้าหากเราสามารถทำได้จริงจัง กว้างขวาง เราจะเปลี่ยนแปลงชุมชนท้องถิ่น ประเทศและประชาธิปไตยระบบใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยของประชาชนอย่างแท้จริง

ตัวอย่างที่ดำเนินการแนวนี้ เช่น แผนชุมชน บ้านมั่นคง สวัสดิการชุมชน องค์กรการเงินชุมชน

  • การบริหารจัดการชุมชน
  1. ข้อมูล                                                 2. ความรู้
  2. คน                                                      4. องค์กร
  3. การจัดความสัมพันธ์                       6. กิจการ
  4. เงิน                                                     8. กองทุน
  5. ชุมชน
  • การสร้างการเมืองสมานฉันท์ในท้องถิ่น
  1. ภาคประชาชนต้องสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง ร่วมคิด ร่วมทำให้พึ่งตนเองได้
  2. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องหนุนเสริมภาคประชาชน
  3. ราชการส่วนภูมิภาค กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ต้องเดินเข้าหาประชาชนใช้อำนาจหนุนเสริมมากกว่าสั่งการ
  4. ภาคประชาสังคมและผู้รู้ต้องมีบทบาทหนุนเสริมประชาชน
  5. รัฐบาลต้องกำหนดเป็นนโยบายจัดสรรงบประมาณสนับสนุนภาคประชาชน
  6. การขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนระดับโครงสร้างและนโยบาย

การพัฒนาชุมชนจะประสบความสำเร็จ บรรลุเป้าหมาย ตามปรัชญาและอุดมการณ์ได้ ไม่เพียงแต่การดำเนินงานที่ดีระดับชุมชนท้องถิ่น การสนับสนุนระดับมหภาคจะมีบทบาทสำคัญมาก

                5.1 รัฐธรรมนูญกับชุมชน

รัฐธรรมนูญปัจจุบันให้ความสำคัญกับชุมชน การมีส่วนร่วมของประชาชนในระดับท้องถิ่นและรับรองสิทธิชุมชนมากขึ้น ซึ่งจะเป็นเงื่อนไขเชิงโครงสร้างที่เกื้อหนุนต่องานพัฒนาชุมชน

                5.2 กระบวนการทางกฎหมาย

การมีกฎหมายที่รองรับ เอื้ออำนวยต่องานและขบวนการพัฒนาชุมชน เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งความสำคัญไม่ได้อยู่ที่สาระของกฎหมายอย่างเดียว แต่สำคัญที่ใช้กระบวนการเสนอกฎมายเป็นเครื่องมือการเรียนรู้ของชุมชน ขบวนการชุมชน ขบวนการทางสังคมของทุกฝ่ายร่วมกันซึ่งจะนำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งของสังคม การพัฒนาประชาธิปไตย และการสร้างธรรมาภิบาล

ตัวอย่าง พรบ. สภาองค์กรชุมชน  พรบ. สุขภาพแห่งชาติ

                5.3 การปฏิรูปสังคมและการเมือง

  • งานพัฒนาชุมชนเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนและชุมชน แต่ชุมชนอยู่ภายใต้ระบบใหญ่ของสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ดังนั้นจึงต้องพิจารณาการปฏิรูปสังคมและการเมืองไปสู่สิ่งพึงปรารถนาควบคู่ไปด้วย
  • ประชาธิปไตยคือประชาชนมีบทบาทสำคัญ ประชาชนคือองค์ประกอบสำคัญของสังคม รากฐานของสังคมคือชุมชน ประชาชนจะมีบทบาทได้ดีและสังคมจะพัฒนาได้อย่างมั่นคงยั่งยืนก็เมื่อมีชุมชนเข้มแข็ง ชุมชนที่เข้มแข้งจะเป็นชุมชนที่พอเพียงพร้อมกับเป็นประชาธิปไตย ชุมชนเข้มแข็ง ชุมชนพอเพียง และชุมชนประชาธิปไตย เป็นเรื่องเดียวกัน เป็นเรื่องเกื้อกูลซึ่งกันและกัน และควรเป็นเรื่องเดียวกัน

                5.4 การสร้างนโยบายเพื่อสนับสนุนความเข้มแข็งของชุมชน

  • นโยบายรัฐที่มีความสำคัญต่องานพัฒนาชุมชนในระดับโครงสร้างและส่งผลต่อปฏิบัติการในพื้นที่
  • การสร้างนโยบายเพื่อสนับสนุนความเข้มแข็งของชุมชนต้องพิจารณาถึง
  1. องค์ประกอบสำคัญของนโยบายที่ครบถ้วน
  2. ปรัชญา แนวคิด ทิศทาง ยุทธศาสตร์ ที่เชื่อมโยงกัน
  3. ระดับของนโยบายที่เชื่อมต่อทุกระดับตั่งแต่ท้องถิ่น จังหวัด ภาค ประเทศ และสังคมโลก
  4. กระบวนการสร้างนโยบายที่มีเวทีการเรียนรู้ร่วมกัน
  5. การบริหารนโยบายที่ดี ทั้งการดำเนินงาน การวัดผล และการพัฒนา

                5.5 การเรียนรู้และการจัดการความรู้

  • ต้องมีกระบวนการสร้างการเรียนรู้ในทุกขั้นตอนของกระบวนการ
  • สร้างการเรียนรู้ร่วมกันทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
  • มีการจัดการความรู้ ยกระดับจากประสบการณ์ บทเรียนไปสู่องค์ความรู้ที่มีสาระและคุณค่า ตั้งแต่ภูมิปัญญาท้องถิ่น ความรู้สังคมไทย ความรู้สังคมโลก
  1. บทสรุป

งานพัฒนาชุมชนเป็นกระบวนการและขบวนการที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ภูมิภาค และประเทศ เพราะปรัชญา อุดมการณ์ ที่ถูกต้องและใช้ได้ตลอดกาล แต่ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก ผู้เกี่ยวข้องต้องรู้เท่าทัน สามารถรับมือและบริหารจัดการการพัฒนาชุมชนให้เหมาะสมกับบริบทการเปลี่ยนแปลง ทั้งการพัฒนาในชุมชนท้องถิ่นและประเทศ ต้องทำอย่างเป็นระบบเป็นขบวนการในทุกระดับ โดยยังคงยึดมั่นในหลักการสำคัญที่ประชาชนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา และหัวใจสำคัญคือ การยึดมั่นความดี การเรียนรู้ต่อเนื่องและการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/154757

<<< กลับ

สังคมคู่คุณธรรมด้วยบันไดวน 4 ขั้น

สังคมคู่คุณธรรมด้วยบันไดวน 4 ขั้น


(บทความ เรื่อง “สังคมคู่คุณธรรมด้วยบันไดวน 4 ขั้น” จาก นสพ.ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 8 มกราคม 51 หน้า X-CIR 5)

                ชีวิตอยู่ดีมีสุข เป็นความปรารถนาที่เชื่อว่าทุกคนไม่ว่าอายุอานามเท่าไร ทำอาชีพแบบไหนล้วนอยากให้มีอยากให้เป็น แต่อย่างไรก็ตามการเดินสู่เป้าหมายอันเป็นยอดปรารถนาคงไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะในสังคมปัจจุบันที่เกิดความสับสนระหว่างเก่งแต่โกงนั้นควรจะยอมรับกันได้หรือเปล่า

                นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้แสดงปาฐกถาพิเศษเรื่อง “การเสริมสร้างคุณธรรมสำหรับสังคมไทย” เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างคุณธรรมให้เกิดขึ้นกับสังคมไทยต่อไป เมื่อเร็วๆ นี้ในโอกาสการประกาศผลรางวัล “กำพล วัชรพล” สำหรับวิทยานิพนธ์ด้านสื่อสารมวลชน ประจำปี 2550 ณ สำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ซึ่งนับว่าน่าคิดและน่านำไปปฏิบัติได้ และคงทำให้ความปรารถนาเป็นจริงได้ไม่ มากก็น้อย

                นายไพบูลย์ กล่าวว่า “การเสริมสร้างคุณธรรมสำหรับสังคมไทยเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่และสำคัญมาก ผมอยากให้เข้าใจว่าคำว่า คุณธรรม นั้นมีความหมายเดียวกับคำว่า ความดี เพราะคุณธรรมเป็นสิ่งที่ถูกต้องดีงามอยู่ในตัวเอง ทำแล้วจะเกิดผลดีต่อทั้งตนเองและสังคม ซึ่งเฉกเช่นเดียวกันกับความดีนั่นเอง ดังนั้น การจะเสริมสร้างคุณธรรมให้เกิดขึ้นได้นั้น เราต้องเริ่มต้นจากหลักการของบันไดวน 4 ขั้น ดังนี้

                บันไดขั้นที่ 1 การค้นหาความดี การจะสร้างสังคมที่ดีได้นั้นต้องเริ่มจากการค้นหาความดีที่มีอยู่ในตัวของบุคคลนั้นๆ ออกมาให้เป็นที่ประจักษ์ ถ้าเราอยากเห็นคนดีไม่ต้องไปไหนไกล ให้มองที่ตัวเรา , ครอบครัว , เพื่อน และคนรอบข้าง แล้วเราจะเห็นความดีมากมายที่อยู่รายรอบ แต่เราเองกลับทำตรงกันข้าม เราพยายามที่จะค้นหาแต่ความเลว ขยายความเลวที่มีอยู่น้อยนิดให้กับสังคมได้รับรู้ คนไทยมักให้ความสำคัญกับเรื่องร้ายๆ ที่ไม่เกิดประโยชน์ สิ่งดีงามจึงไม่ถูกตีแผ่ให้ปรากฏเท่าใดนัก คนทุกคนย่อมมีสิ่งดีๆ ในตัวเอง มีเกียรติมีศักดิ์ศรีและมีคุณค่า หากมีใครสักคนเห็นคุณค่าในตัวของเราและชื่นชม เราก็คงจะรู้สึกดีและอยากจะทำความดีนั้นต่อไป แต่ในทางกลับกัน ถ้าหากใครคนหนึ่งโดนขุดคุ้ยความเลวที่มีอยู่ให้คนอื่นได้รับรู้ มันก็จะยิ่งเกิดการกระทำที่ต่อต้านและกระทำความเลวนั้นๆ ซ้ำอีก เพราะฉะน การค้นหาความดีเป็นรากฐานสำคัญที่จะช่วยเพิ่มพลังแห่งความดีให้เกิดขึ้นในสังคมไทยได้อย่างน่าอัศจรรย์

                บันไดขั้นที่ 2 การเรียนรู้ความดี เมื่อเราค้นหาความดีจากบันไดขั้นที่ 1 เจอแล้ว เราก็ควรจะเรียนรู้ความดีนั้น ปฏิบัติ พัฒนาและขยายต่อไป อย่างที่เรียกกันว่า การจัดการความรู้ ซึ่งเป็นการเรียนรู้แบบบูรณาการครบด้าน ทำให้ความดีที่มีอยู่ได้เรียนรู้และถูกจัดระบบพร้อมที่จะเคลื่อนไหวต่อไป เพราะฉะนั้นการเรียนรู้ความดี จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้ความดีที่ถูกค้นหานั้นเกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

                บันไดขั้นที่ 3 การสื่อสารความดี การสื่อสารความดีนั้นทำได้ไม่ยาก โดยเริ่มต้นที่ครอบครัวเราก่อน เพราะประชากรในครอบครัวจะมีอยู่น้อยและใกล้ชิด หากสังคมไทยในทุกวันนี้ยังมีข้อจำกัดให้ต้องอยู่ห่างเหินและไกลกัน อาจบั่นทอนความสัมพันธ์นั้นได้ แต่เราก็ยังมีเครื่องมือสื่อสารอย่างโทรศัพท์ที่จะช่วยสานความสัมพันธ์ที่ดีนั้นได้อีกวิธีหนึ่งเช่นกัน แต่ในปัจจุบันเราได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับมหันตภัยของสื่อเนื่องจากเราเสพสื่อกันอย่างผิดประเภท จะมีคำพูดที่ว่า เรื่องดีๆ ขายไม่ได้แต่เรื่องร้ายๆ จะขายได้ดี แต่ผมยังมั่นใจและเชื่อว่ารายการโทรทัศน์ดีๆ ที่เป็นประโยชน์กับสังคมก็ยังเป็นที่นิยมและมีให้เห็นอยู่บ้าง

                บันไดขั้นที่ 4 การขับเคลื่อนความดี ความดีเป็นทุนและประโยชน์ หากความดีนั้นเคลื่อนไหวก็จะงอกเงยและเกิดพลังมากขึ้น เราต้องร่วมกันขับเคลื่อนความดีอย่างเป็นขบวนการ จากระดับล่างขึ้นสู่ระดับบน เช่น เมื่อเห็นความดีของคนในครอบครัว ก็ให้สังเกตดูว่าต้องเพิ่มเติมอะไรตรงไหน และพัฒนาความดีนั้นต่อไปเรื่อยๆ จากการขับเคลื่อนความดีระดับครอบครัว ควรขยายไปที่ระดับชุมชน ระดับองค์กร ระดับพื้นที่ ไปจนถึงการขับเคลื่อนในระดับประเทศ อย่างในหลายๆโรงเรียนที่ยึดหลักวิถีทางพุทธศาสนา ก็เป็นอีกหนึ่งการขับเคลื่อนความดีให้มีพลังและพัฒนาต่อไป

                การจะสร้างความดีนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เราสามารถทำได้อย่างเป็นขบวนการ จากบันไดขั้นที่ 1 ไปจนถึงขั้นที่ 4 วนแบบนี้เรื่อยไป ก็จะได้สังคมที่มีคุณธรรมและมีคุณภาพอย่างแน่นอน

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/158239

<<< กลับ

ความเป็นอิสระกับการพัฒนาสหกรณ์ไทย (1)

ความเป็นอิสระกับการพัฒนาสหกรณ์ไทย (1)


   คำบรรยายพิเศษ

                                            เรื่อง ความเป็นอิสระกับการพัฒนาสหกรณ์ไทย

                                                          โดย นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

                            ในโอกาส การประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2550 สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย

                        วันที่ 15 ธันวาคม 2550  ณ ห้องบอลรูม โรงแรมบางกอกพาเลซ กรุงเทพฯ

เรียนท่านอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์  ท่านประธานกรรมการดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ท่านผู้แทนสหกรณ์ทุกประเภททั่วประเทศ และท่านผู้มีเกียรติที่เคารพครับ ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มาเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2550 ของสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ในวันนี้ ผมเองเป็นเพื่อนของขบวนการสหกรณ์มาเป็นเวลาเนิ่นนาน นับย้อนไปคงจะประมาณยี่สิบปี และก็ยังเป็นอยู่ทุกวันนี้นะครับ ฉะนั้นในวันนี้เป็นวันสำคัญที่เป็นการประชุมใหญ่สามัญประจำปีของ สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย และผมยังได้รับเกียรติให้บรรยายพิเศษในเรื่อง “ความเป็นอิสระกับการพัฒนาสหกรณ์ไทย” ซึ่งหลักการในเรื่องความเป็นอิสระ เป็นหลักการที่บรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 จึงนับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งครับ

จากที่ท่านประธานคณะกรรมการดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ได้รายงานมาก็ทราบว่าท่านทั้งหลายเป็นผู้นำสหกรณ์และเป็นผู้แทนของสหกรณ์ทุกประเภทจากทั่วประเทศ  ฉะนั้นวันนี้จึงเป็นโอกาสสำคัญยิ่งที่ท่านทั้งหลายได้มาประชุมร่วมกันและปรึกษาหารือกัน เกี่ยวกับการทำงานและร่วมกันหาแนวทางที่จะปฏิรูประบบสหกรณ์ของประเทศไทย ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถดำเนินการไปได้ด้วยดีและบังเกิดผลอย่างสร้างสรรค์

ผมเองได้ให้ความสนใจกับงานด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงการพัฒนาสหกรณ์มาโดยตลอด มีโอกาสได้ร่วมทำงานกับประชาชนกับชาวบ้านในระดับพื้นฐานมาเป็นเวลานาน และได้เห็นว่าระบบสหกรณ์เป็นแนวทางที่เหมาะสม ที่จะส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนในระดับพื้นฐานหรือฐานราก หรือชาวบ้านนั่นเอง ได้นำไปใช้เป็นแนวทางในการทำงานร่วมกัน และในโอกาสที่ผมได้เข้ามาทำงานรับผิดชอบทางด้านการพัฒนาสังคม ซึ่งรวมถึงงานด้านการพัฒนาบุคคลและการส่งเสริมกิจการสหกรณ์ของรัฐ ผมจึงมีความสนใจและอยากสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนได้นำแนวทางและหลักการของสหกรณ์ไปใช้ ไปประยุกต์ ไปส่งเสริมให้ถูกต้องและบังเกิดผล เพื่อว่าสังคมไทยจะได้ประโยชน์จากระบบสหกรณ์อย่างเต็มที่

ท่านผู้มีเกียรติครับ ที่ผมมาเป็นประธานในที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี ของสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย รวมทั้งได้รับเชิญให้บรรยายพิเศษ เรื่อง “ความเป็นอิสระกับการพัฒนาสหกรณ์ไทย” ในวันนี้ ถือเป็นโอกาสที่จะได้เสนอแนะแนวคิด แนวทางปฏิบัติ ที่จะปฏิรูประบบสหกรณ์ร่วมกัน เพื่อให้ทุกฝ่ายได้สามารถขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง การพัฒนาสหกรณ์ ให้บังเกิดผลต่อไปครับ

บัดนี้ได้เวลาอันสมควร ผมจึงขอเปิดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2550 ของสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย และขออำนวยพรให้การประชุมครั้งนี้บรรลุผลตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ทุกประการ ขอให้ท่านผู้มีเกียรติที่เข้าร่วมการประชุมทุกท่านประสบความสุข ความเจริญ มีสุขภาพพลานามัยที่สมบูรณ์แข็งแรง และร่วมกันทำให้ขบวนการสหกรณ์รวมทั้งสังคมไทย เจริญพัฒนาสถาพรต่อไป ขอบคุณครับ

ในเรื่อง “ความเป็นอิสระกับการพัฒนาสหกรณ์ไทย” ซึ่งคงต้องใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมงนะครับ ท่านผู้มีเกียรติครับ เรื่องของสหกรณ์เป็นเรื่องเก่ามาก เพราะเราทำกันมาหลายสิบปี อีกไม่นานจะถึงร้อยปี แต่ถ้าถามว่าแล้วสหกรณ์ดีหรือเปล่า ? เชื่อว่าทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่ายังดีอยู่ ไม่ว่าจะในประเทศไทยหรือประเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะในประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศพัฒนาแล้ว ตัวอย่างเช่นที่ท่านมีความร่วมมือกับประเทศสวีเดน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว เขาก็ยังมีระบบสหกรณ์ที่เจริญก้าวหน้า ในประเทศอเมริกา แคนาดา เยอรมัน ฝรั่งเศส ใกล้บ้านเรา ญี่ปุ่น เกาหลี เขาก็มีระบบสหกรณ์ที่ยังเข้มแข็ง และเป็นประโยชน์ ในประเทศไทยเราเอง ขบวนการสหกรณ์ก็ก้าวหน้าไปมากนะครับ มีจำนวนสหกรณ์ถึง เจ็ดแปดพันแห่งทั่วประเทศ มีสินทรัพย์รวมกันเกือบ ล้านล้านบาท มีสมาชิกประมาณ 10 ล้านคน เป็นขบวนการใหญ่ทีเดียว

ที่น่าสนใจคือขณะนี้ก็มีขบวนการภาคประชาชนที่เราเรียกว่าองค์กรชุมชน เป็นการรวมตัวกันของชาวบ้านในระดับหมู่บ้าน ตำบลหรือ เขตนิเวศที่ใช้ลักษณะสหกรณ์นั่นเอง และเป็นไปโดยสมัครใจนะครับ ไม่มีใครบังคับ ไม่ได้มีกฎหมายรองรับด้วยซ้ำไป แต่ที่สำคัญก็คือว่าขบวนการขององค์กรชุมชนกำลังก้าวหน้าไปด้วยดี ลักษณะการรวมตัวกันที่เรียกว่ากลุ่มต่างๆ กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มสัจจะ กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มเยาวชน ลักษณะทั่วไป คล้ายคลึงมากกับระบบสหกรณ์ รวมถึงกรณีของข้าราชการที่นำทรัพยากรคือเงินเข้ามาบริหารร่วมกัน  ก็ใช้ระบบสหกรณ์ ถ้าคิดจำนวนเงินที่หมุนเวียนอยู่ ถ้าไม่นับกองทุนหมู่บ้านนะครับ ก็หลายหมื่นล้านบาท แต่ถ้านับกองทุนหมู่บ้านด้วยก็กว่าแสนล้านบาท แสดงว่าระบบสหกรณ์ยังใช้ได้ ยังดี ทั้งในประเทศไทย และในนานาชาติ

เราจึงพอสรุปได้ว่า สหกรณ์เป็นเรื่องที่ดี เป็นเรื่องที่จะเป็นประโยชน์ ทั้งต่อประชาชนและต่อสังคม ยิ่งในยุคหลังๆ ที่สังคมได้ตระหนักถึงการอยู่ร่วมกันที่จะต้องคำนึงถึงมิติต่างๆ ที่ไม่ใช่มิติทางเศรษฐกิจ  และธุรกิจเท่านั้น  มีมิติทางสังคม  ทางจิตใจทางวัฒนธรรม ที่ต้องคำนึงถึง และยังมีมิติของการอยู่ร่วมกันไม่ใช่เฉพาะระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ แต่ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ คือต้องช่วยกันดูแลให้มนุษย์กับธรรมชาติผสมกลมกลืนกันได้อย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นที่มาของการจัดการ เช่น ในเรื่องปัญหาโลกร้อน ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนปัญหาการแก่งแย่งแข่งขันโดย เอาธุรกิจเป็นหลัก และนำไปสู่ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ สภาพสิ่งแวดล้อม และสภาพทางสังคม

และนั่นก็เป็นฐานที่มาอย่างหนึ่งของปรัชญาแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระราชทานพระราชดำรินี้ให้กับประชาชนและสังคมไทย และประชาชนสังคมไทยก็ได้น้อมรับ เอาแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ ปฏิบัติ หรือสานต่อ เพราะการปฏิบัติจำนวนมาก ที่ทำกันมาตามประเพณีวัฒนธรรมไทย มีลักษณะสอดรับ กับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอยู่แล้ว เมื่อมีพระราชดำรัสในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ก็ช่วยตอกย้ำถึงคุณค่า ประโยชน์ ความสำคัญของวิถีชีวิตแบบไทยที่สอดคล้องกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ขณะนี้ถือได้ว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้เป็นปรัชญานำทางการพัฒนาของประเทศไทย ตรงตามที่ได้ระบุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 และฉบับที่ 10 และในระดับนานาชาติ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงก็ได้เป็นที่รับรู้ ชื่นชม และสนใจประยุกต์ใช้กว้างขวางออกไป

.gotoknow-responsive-middle { width: 300px; height: 250px; } @media(min-width: 260px) { .gotoknow-responsive-middle { width: 300px; height: 260px; } } @media(min-width: 350px) { .gotoknow-responsive-middle { width: 336px; height: 280px; } } @media(min-width: 740px) { .gotoknow-responsive-middle { width: 728px; height: 90px; } }

ที่ล่าสุดคือการมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของเลขาธิการสหประชาชาติ มิสเตอร์บัน คี มูน ที่ได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสนทนากับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอยู่เกือบหนึ่งชั่วโมง ท่านได้ชมกิจกรรมในบริเวณพระราชวังสวนจิตรลดา และก็ได้เห็นพัฒนาการในประเทศไทยบนพื้นฐานของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีมิติที่ลึกซึ้งและกว้างขวาง

วิถีสังคมไทยกับแนวทางของสหกรณ์ ไปด้วยกันได้เป็นอย่างดี เพราะสหกรณ์คือการอยู่ร่วมกัน การคิด การทำ การบริหารจัดการร่วมกัน คำนึงถึงประโยชน์ร่วมกัน เพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน  ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์การพัฒนาประเทศไทยในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 ที่มีวิสัยทัศน์ให้ประเทศไทยเป็นสังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน สังคมจะอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันก็ต่อเมื่อประชาชนรวมตัวกัน คิดด้วยกัน ทำด้วยกัน ถ้าต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างทำก็จะแก่งแย่งแข่งขัน ไม่นำไปสู่การเป็นสังคมที่อยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน

สรุปอีกครั้งหนึ่งก็คือว่า ระบบสหกรณ์ หลักการสหกรณ์ วิธีการสหกรณ์ ยังดีอยู่ และจะยิ่งดีมากขึ้น ยิ่งจำเป็นและยิ่งสมควรกับประเทศไทย กับโลกในยุคสมัยปัจจุบันและอนาคต ข้อนี้คิดว่าเป็นข้อสรุปที่ชัดเจน หนักแน่น อย่างน้อยในใจผม แต่เชื่อว่าท่านทั้งหลายยิ่งอยู่ในขบวนการสหกรณ์ก็น่าจะมีความเห็นพ้องต้องกัน และถ้าเราได้มาแสดงความเห็นยืนยันร่วมกัน ก็ทำให้เรามีความชัดเจน หนักแน่น รวมทั้งอุ่นใจมากขึ้นว่า ยังเป็นความคิดที่ถูกต้อง ยังเป็นหลักการที่ดี ยังเป็นแนวทางที่ควรส่งเสริมสนับสนุน

คำถามต่อไปคือ แล้วทำไมระบบสหกรณ์ไทยถึงยังไม่พัฒนามากเท่าที่เราอยากเห็น ? พัฒนาบ้างนะครับ ไม่ใช่ไม่พัฒนา แต่ไม่มากเท่าที่เราอยากเห็น ยังมีปัญหา ยังมีข้อขัดข้อง ยังมีจุดอ่อน ให้เราต้องวิตก ต้องกังวล ต้องลำบาก เหมือนกับมีแรงฉุดอยู่ เดินหน้าก็เดินไปนะครับ แต่ขณะเดียวกันก็มีแรงฉุดแรงถ่วงอยู่ เราได้ยินเสียงบ่น เสียงวิเคราะห์วิจารณ์ทำนองนี้มาเป็น สิบสิบปี ผมเองได้ยินมาอย่างน้อยยี่สิบปี พูดคุยกับคนในขบวนการสหกรณ์ทั้งรุ่นเก่า รุ่นกลาง รุ่นใหม่ จนรุ่นเก่าที่อายุมากกว่าผมก็อาวุโสมากๆทีเดียว บางท่านลาโลกไปแล้ว บางท่านอยู่ในวัยที่จะไปเมื่อไหร่ก็คงไม่เป็นเรื่องแปลกประหลาดอะไร รวมทั้งผมด้วย จากนี้ไปวัยก็จะมากขึ้นๆ และได้ยินมาตลอดว่าสหกรณ์ไทย ยังไปไม่ดีไม่ไกลเท่าที่ควร เทียบกับหลายๆ ประเทศที่เขาพัฒนาไปได้ดี

คำถามคือ ทำไม ? ทำไม? และทำไม? คงจะมีข้อวิเคราะห์ต่างๆ นานาครับ ปัญหาสังคม  ปัญหาการบริหาร ชี้ไปตรงไหนคงจะไม่ผิด แต่ปัจจัย ที่เกี่ยวข้องมีมากและซับซ้อน ปัญหาสังคมนี่ไม่เหมือนปัญหาเทคนิค ปัญหาเทคนิคเราสามารถคลำหาสาเหตุ ซึ่งอาจจะมีจุดเดียว พอเจอสาเหตุที่จุดนั้นเราแก้ได้ แต่ปัญหาสังคมเหมือนกับร่างกายเรา เป็นระบบที่สลับซับซ้อนและเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน จี้ไปที่จุดไหนก็ถูก แต่ไม่ใช่ถูกที่เดียว มันถูกหลายแห่ง ทำให้จับต้นชนปลายได้ยาก

อีกอย่างหนึ่งที่มีการกล่าวถึงกันมาก คงจะเป็นที่มาของการตั้งหัวข้อให้ผมบรรยายในวันนี้ คือเรื่องของความเป็นอิสระ ความเป็นอิสระคงหมายถึง ความสามารถที่จะคิด ที่จะทำ ที่จะจัดการ โดยไม่ถูกครอบงำ กำกับ กดดันหรือชักจูงมากเกินไป และคงจะเป็นที่มาของการเคลื่อนไหว บรรจุสาระเข้าไปในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ท่านทั้งหลายคงทราบดีอยู่ว่าใน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ได้มีการบรรจุข้อความ ในแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐหมวด 5 มาตรา 85 ที่บอกว่า “รัฐต้องส่งเสริม สนับสนุน และคุ้มครองระบบสหกรณ์” สั้นๆ แต่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 ได้มีการเคลื่อนไหวจากท่านทั้งหลายที่อยู่ในขบวนการสหกรณ์ ที่จะบรรจุข้อความให้ละเอียดกว่าปี 2540 ในที่สุดท่านก็ได้ข้อความประมาณ 3 บรรทัด เยอะนะครับ สำหรับข้อความที่จะบรรจุลงในรัฐธรรมนูญ และมีคำว่า “ให้เป็นอิสระ” อยู่ในนั้น ให้รัฐคุ้มครองพัฒนาระบบสหกรณ์ให้มีความเป็นอิสระ ผมจึงวิเคราะห์ว่า ที่ผู้อยู่ในขบวนการสหกรณ์ได้พยายามบรรจุคำว่า “ความเป็นอิสระ” ไว้ในรัฐธรรมนูญ ก็คงจะเล็งเห็นว่า เหตุสำคัญเหตุหนึ่งที่ทำให้ระบบขบวนการสหกรณ์ไทย ยังไม่พัฒนาก้าวหน้าเท่าที่ควร น่าจะเป็นเรื่องความเป็นอิสระ แต่ดังที่ผมได้กล่าวไว้แล้วนะครับว่า ปัญหาทางสังคมก็มีหลายปัจจัยเกี่ยวพันซึ่งกันและกัน ฉะนั้นคงไม่ใช่เรื่องใดเรื่องหนึ่งเพียงเรื่องเดียว ความเป็นอิสระมีความสำคัญแต่คงไม่ใช่ประเด็นเดียว ถ้าแก้ที่ความเป็นอิสระเพียงจุดเดียว อาจไม่สามารถแก้ไขปัญหาทั้งหมดได้ ดีไม่ดีถ้าปัจจัยอื่นๆไม่พร้อม ความเป็นอิสระนั้นเอง อาจจะนำมาซึ่งปัญหาแทรกซ้อนได้

ท่านทั้งหลาย คงจะพอทราบเรื่องกองทุนพื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร  กองทุนเจ้าปัญหา ซึ่งในการก่อตั้งกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร มีเกษตรกรผู้หวังดีจำนวนมากขับเคลื่อน และออกแบบในกฎหมาย ให้มีความเป็นอิสระ ให้เกษตรกรมีบทบาทสูง ในการเข้ามาบริหารจัดการ จะต้องมีการเลือกตั้ง และเน้นคำว่าเลือกตั้งนะครับ กรรมการที่เป็นเกษตรกรทั่วไป ประมาณครึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมด หน่วยงานของรัฐ ผมยังไม่เห็นหน่วยงานไหนเลยครับ ที่จะมีตัวแทนของประชาชนเข้าไปมากขนาดนี้คือครึ่งหนึ่งนะครับ นี่ยังไม่นับรวมผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งก็อาจจะมีประเภทเกษตรกรเข้าไปอีกนะครับ และการเลือกตั้งก็บอกว่า ต้องเลือกตั้งอย่างกว้างขวาง เลยไปเลือกตั้งกันทั่วประเทศ เลือกตั้งครั้งหนึ่งใช้เงินประมาณ 60 ล้านบาท และในอดีตถ้าไม่นับครั้งล่าสุด มีคนไปเลือกตั้งประมาณ 3% จากผู้มีสิทธิ์ร้อยคนไปเลือกตั้งเพียง 3 คน ครั้งที่แล้วเราทำได้ดีขึ้น จากผู้มีสิทธิ์ร้อยคนมาเลือกตั้ง 6 คน ก็ดีขึ้นเท่าตัว แต่ต้องใช้เงินไป 60 ล้านบาท คนเลือกก็ไม่ค่อยรู้จักคนถูกเลือกเพราะเลือกกันทั่วประเทศ นี่คือการสุดโต่งของระบบ สุดไปเลยครับ ให้ผู้แทนเกษตรกรเข้าไปครึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมด และให้ผู้แทนเกษตรกรมีบทบาทมาก ผลคือทะเลาะกันยุ่งไปหมดเลยครับ ไปแก่งแย่งแข่งขัน ทะเลาะเบาะแว้งต่อสู้ พวกนั้นพวกนี้ เป็นการเมืองในระดับทางราบ แล้วพอถูกการเมืองระดับบนแทรกเข้าไปอีก คราวนี้เลยเกิดปัญหาหลายมิติจึงต้องแก้ไข ต้องฟื้นฟูกองทุนฟื้นฟูนะครับ ผมเองไม่รู้ว่าเคราะห์ดีหรือเคราะห์ร้ายที่มารับผิดชอบเป็นประธานกองทุนนี้ ในช่วงที่ทำหน้าที่ในรัฐบาลและเป็นรองนายก เดิมทีเดียวไม่ได้เป็นรองนายกเลยไม่ได้รับผิดชอบ แต่พอเป็นรองนายกได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบก็ได้พยายามที่จะเข้าไปคลี่คลายระบบต่างๆให้เข้าที่และบริหารจัดการกันได้ ซึ่งเชื่อว่าได้ทำให้ดีขึ้นมาระดับหนึ่ง

นั่นคือความเป็นอิสระ ถ้าอยากจะใช้ความเป็นอิสระให้เต็มที่ ความเป็นอิสระก็รวมถึงภาคประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของเรื่องเข้ามาบริหารจัดการเต็มที่ ไม่ใช่ไม่ดีนะครับ ไม่ใช่ว่าความเป็นอิสระไม่ดี หรือการที่ประชาชนเข้ามามีบทบาทไม่ดี เพียงแต่ปัจจัยที่เกี่ยวข้องนั้นมีมากกว่าหนึ่งประการ ซึ่งถ้าการประกอบร่วมกันไม่ดีพอ ผลก็จะไม่ดี นี่คือตัวอย่างของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ต้องขออภัยหากผมพูดถึงให้เห็นปัญหา และจุดอ่อนของกองทุน ซึ่งผมเห็นว่ามีจริง และผมก็พูดไปโดยบริสุทธิ์ใจและด้วยความปรารถนาดีนะครับ ที่อยากจะช่วยและอยากจะเห็นกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พัฒนาได้ดีขึ้น ซึ่งอาจจะต้องไปพัฒนา เช่นระบบการเลือกตั้งและอื่นๆ ก็ตั้งใจว่าจะต้องพัฒนาไม่ให้เป็นระบบที่สุดโต่ง แต่ขาดคุณภาพ และมีความทรุดโทรมอย่างที่เป็นอยู่ พร้อมกันนั้นระบบการบริหารกองทุน ระบบการบริหารคณะกรรมการต่างๆ นานา ก็ต้องพัฒนาให้ดีขึ้น

กลับมาเรื่องของสหกรณ์ อะไรเป็นเหตุให้การพัฒนาสหกรณ์ของไทยเรายังไม่ก้าวไปไกลเท่าที่ควร ? ได้มีการวิเคราะห์ว่าเรื่องความเป็นอิสระน่าจะเป็นสาเหตุหนึ่ง แต่ผมเห็นว่าคงมีมากกว่าหนึ่งเหตุ และอย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์เหตุในกรณีปัญหาหรือประเด็นทางสังคม อาจจะไม่ได้ช่วยให้เรา กำหนดยุทธศาสตร์และทิศทางให้ดีเสมอไป การที่จะกำหนดยุทธศาสตร์และแนวทางให้ดีนั้น ต้องทำมากกว่าการวิเคราะห์สาเหตุ ต้องใช้จินตนาการ ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งไม่ได้มาจากการวิเคราะห์เหตุ วิเคราะห์ผลตรงๆ  แต่มาจาก การมองลึก มองกว้าง มองไกล และความเข้าใจถึงปัจจัยต่างๆ ที่ปฏิสัมพันธ์กัน โดยหาทางทำให้ปฏิสัมพันธ์กันแล้วนำไปสู่การพัฒนาที่พึงปรารถนา

ฉะนั้นในประเด็นต่อไปที่ผมจะพูดถึง คือแนวทางการพัฒนาสหกรณ์ของประเทศไทยน่าจะเป็นอย่างไร ? ผมจึงจะไม่ขอวิเคราะห์ว่าเหตุมีอะไรบ้าง?แล้วก็เสนอแนะแนวทางไปตามเหตุ แต่ผมขอคิดรวบยอดไปเลยว่า จะมีพลังอะไรบ้าง มีปัจจัยอะไรบ้าง ซึ่งจะเป็นพลังที่เกาะเกี่ยวกัน เป็นพลังที่เกาะเกี่ยวกันนะครับ แล้วก็ขับเคลื่อนการพัฒนาสหกรณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและบังเกิดผล ผมคิดได้เป็น 5 ประการด้วยกัน ก็ถือเป็นความคิดเห็นส่วนตัวแล้วกันนะครับ เป็นความคิดเห็นส่วนตัวที่มาจากการได้เกี่ยวข้องรับรู้ขบวนการสหกรณ์ ทั้งที่เป็นขบวนการที่เป็นทางการ และขบวนการที่ไม่เป็นทางการ ที่เป็นระบบชุมชน ระบบองค์กรชุมชน และจากการที่ผมอยู่ในวงการบริหารจัดการ ทำให้คิดอะไรเป็นเชิงระบบ และคิดว่าปัจจัยสำคัญ 5 ประการนี้ หรือพลังสำคัญ 5 ประการนี้ น่าจะเป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนาสหกรณ์ไทยได้

                พลังที่หนึ่ง คือ พลังของความรู้ ผมได้พบเห็นมาจากการปฏิบัตินะครับ ไม่ใช่จากทฤษฎี ว่าพลังแห่งความรู้มีจริงและช่วยได้จริง ถ้าได้มีการศึกษาวิจัยให้ได้ความรู้ที่แท้จริง ที่ถูกต้อง ที่ลึกซึ้งและสกัดความรู้นั้นมาใช้ประโยชน์ในการขับเคลื่อน ทั้งขับเคลื่อนการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบาย ที่ใช้มากก็เช่น ในขบวนการสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งได้ใช้ระบบความรู้มากทีเดียว ถึงขั้นมีสถาบันที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายนะครับ ชื่อว่า สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ซึ่งเน้นเรื่องการวิจัยสร้างความรู้ และนำความรู้มาขับเคลื่อนเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งคิดว่าหลายท่านในที่นี้อาจได้มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น ใช้ความรู้ ในการขับเช่นเคลื่อนเรื่อง ลด ละ เลิก การดื่มสุรา ลด ละ เลิก การสูบบุหรี่ การแก้ปัญหาโรคภัยไข้เจ็บที่ร้ายแรงต่างๆ มีการใช้ความรู้มาเป็นเครื่องมือมากทีเดียว

ฉะนั้นผมคิดว่าในเรื่องสหกรณ์ก็เช่นเดียวกัน  การศึกษาวิจัย วิเคราะห์ให้ลึก ให้กว้าง ให้ไกล และนำความรู้นั้น มาประยุกต์ใช้ในการขับเคลื่อน จะเป็นประโยชน์มาก แต่คำว่า “ความรู้” ผมอยากจะรวมถึง “การจัดการความรู้” เข้าไปด้วย การจัดการความรู้เป็นแนวคิดและแนวทางค่อนข้างใหม่  ในประเทศไทยได้มีความตื่นตัวและทำเรื่องการจัดการความรู้ประมาณ 10 ปีมานี่เอง ในนานาชาติก็ประมาณ 20 ปี การจัดการความรู้หมายถึงการนำความรู้ในการปฏิบัติของผู้คนทั้งหลาย มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันแล้วพัฒนาให้เป็นความรู้ที่ลึกลงไปอีก ที่กว้างออกไปอีก ที่ดีขึ้นไปอีก คำว่าความรู้ก็ดี การจัดการความรู้ก็ดี ก็รวมถึงกิจกรรมที่ สันนิบาตสหกรณ์ฯ ทำไปแต่มากกว่า มากกว่านะครับ ที่ท่านทำมานี่ดีแล้วแต่ในความเห็นของผมยังไม่พอ คำว่าการใช้ความรู้ ใช้พลังของความรู้และการจัดการความรู้ จะไปลึก ไปมาก ไปไกล และไปอย่างมีคุณภาพ ตรงประเด็นในการขับเคลื่อนขบวนการมากกว่าที่สันนิบาตสหกรณ์ฯ ทำ แต่นั่นแปลว่าท่านเดินทางมาดีแล้ว เพียงแต่ทำให้ลึกขึ้น ให้กว้างขึ้น ให้มีคุณภาพมากขึ้น ให้ก้าวหน้ามากขึ้น ใช้แนวคิดและแนวทางที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ในประเทศไทยและนานาชาติว่าด้วยการศึกษาวิจัยและการจัดการความรู้ให้มากขึ้น ซึ่งเป็นบทบาทที่ชอบธรรมและเป็นบทบาทที่เหมาะสมของสันนิบาตสหกรณ์ แต่ก็เป็นบทบาทของสหกรณ์ทั้งหลายด้วย รวมทั้งเป็นบทบาทของบรรดาชุมนุมสหกรณ์ทั้งหลาย เป็นบทบาทของกรมส่งเสริมสหกรณ์ นั่นคือบทบาทของทุกๆ ฝ่ายที่จะช่วยทำให้ความรู้และการจัดการความรู้เป็นพลังที่สำคัญ นี่คือพลังที่หนึ่งนะครับ พลังของความรู้ ซึ่งรวมถึงการจัดการความรู้ 

พลังที่สอง คือ พลังของขบวนการ ความเป็นขบวนการ ท่านทั้งหลายเป็นขบวนการมาแต่ไหนแต่ไร ท่านถึงมีสหกรณ์ มีชุมนุมสหกรณ์ มีสันนิบาตสหกรณ์  โครงสร้างและปัจจัยแบบนี้เป็นการชี้ว่าควรต้องพัฒนาในรูปของขบวนการ แต่คำว่าขบวนการคงไม่ใช่เฉพาะโครงสร้าง ไม่ใช่เฉพาะเปลือกผิว ต้องรวมไส้ในด้วยครับ ไส้ในของขบวนการคือเรื่องจิตวิญญาณ เรื่องหลักคิด เรื่องระบบคิด เรื่องวิธีทำ เรื่องการคิดด้วยกัน  ทำด้วยกัน  พัฒนาไปด้วยกัน  รวมตัวกัน รวมตัวตามพื้นที่ ตามประเด็น ตามประเภท มีการรวมตัวหลายอย่างจึงเป็นขบวนการ ไม่ใช่แค่บริหารจัดการธุรกิจของท่านไปตามปกติและนานๆ มาประชุมกันในรูปของชุมนุม นานๆมาประชุมกันในรูปของสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย อย่างนี้ยังไม่ใช่ขบวนการครับ ยังไม่เห็นพลัง ยังดูแห้งๆ  ดูธรรมดาๆ มีแต่รูป ไม่มีแรง  ฉะนั้นทำเป็นขบวนการต้องมากกว่านี้ ต้องลึกกว่านี้ ต้องเข้มกว่านี้

ในระบบขององค์กรชุมชน เขาพยายามทำเป็นขบวนการ เขามีการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายโดยเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง เพราะองค์กรชุมชนขณะนี้มีหลากหลายเหมือนกันนะครับ หลากหลายประเภท หลากหลายลักษณะ เขาจะรวมตัวกันโดยเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง อยู่ตำบลเดียวกัน อำเภอเดียวกัน จังหวัดเดียวกัน มารวมตัวกัน นั่นวิธีหนึ่ง ขณะเดียวกันก็มีการรวมตัวกันตามประเภท อย่างที่ท่านรวมตัวกันตามประเภท ประเภทสหกรณ์การเกษตร สหกรณ์บริการ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน สหกรณ์ออมทรัพย์ และมีการเคลื่อนไหวร่วมกันตามประเด็น ตามพื้นที่ ตามประเภท การขับเคลื่อนตามประเด็นมักไม่เป็นกลไกถาวรแต่จะขับเคลื่อนตามประเด็นนั้นๆ อย่างต่อเนื่องจนบรรลุผล อย่างนี้แหละเป็นขบวนการ ซึ่งขบวนการองค์กรชุมชน ได้ก้าวหน้ามาเป็นลำดับ โดยไม่ได้มีกฎหมายรองรับ แต่ล่าสุดเขาไปได้พระราชบัญญัติซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันมากพอสมควร คือพระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน ในแง่หนึ่งจะคล้ายๆ กับสันนิบาตสหกรณ์ฯ แต่เขาจะให้รวมตัวกันในระดับพื้นที่ แล้วจะมีการประชุมเป็นขบวนการในระดับพื้นที่ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ  ฉะนั้นพลังที่สอง คือ พลังของความเป็นขบวนการ ซึ่งขณะนี้สหกรณ์ไทยเป็นขบวนการแต่ พลังของความเป็นขบวนการยังไม่มาก ทั้งๆ ที่พัฒนามาหลายสิบปีแล้ว ก็น่าจะต้องเพิ่มความเป็นขบวนการให้เข้ม ให้มีพลังมากจึงจะช่วยพัฒนาระบบสหกรณ์ได้อย่างจริงจัง

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/165587

<<< กลับ

ความเป็นอิสระกับการพัฒนาสหกรณ์ไทย (2)

ความเป็นอิสระกับการพัฒนาสหกรณ์ไทย (2)


  พลังที่สาม คือ พลังของโครงสร้าง พลังที่หนึ่ง อันได้แก่พลังของความรู้ เป็นเสมือนซอฟท์แวร์ พลังที่สอง พลังของขบวนการ เป็นเสมือนแรงไฟฟ้า ส่วนพลังที่สาม พลังของโครงสร้าง จะเป็นเสมือน ฮาร์ดแวร์ ทั้งหมดไปด้วยกัน โครงสร้างหมายถึงโครงสร้างในรูปของ กลไกต่างๆ เรามีโครงสร้างภายในสหกรณ์ ตรงนี้ไม่เป็นประเด็นเท่าไหร่นะครับ เพราะจัดไว้ค่อนข้างดี แต่โครงสร้างของขบวนการ ทั้งในประเทศ และในโลก ถ้าระดับโลก เขามีกลไกประเภทสมาคมระหว่างประเทศ ชุมนุมระหว่างประเทศ ซึ่งถือว่าดี แต่ภายในประเทศ เรามีโครงสร้าง ได้แก่ ระบบสหกรณ์ ซึ่งมีชุมนุมสหกรณ์ มีสันนิบาตสหกรณ์ฯ เรามีระบบส่งเสริม และกำกับดูแลโดยรัฐ ที่มีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นนายทะเบียน มีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นผู้ส่งเสริม และพัฒนามีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เป็นผู้คอยดูว่า ระบบบัญชี ระบบข้อมูลเรียบร้อย นี่เป็นโครงสร้างครับ คำถามคือว่าโครงสร้างนี้ ควรจะปรับปรุงอย่างไรหรือไม่ ? ซึ่งได้มีผู้ให้ความคิดความเห็นกันมา ตลอด สิบ ยี่สิบปีที่ผ่านมา ว่าน่าจะปรับปรุงโครงสร้างนี้ และครั้งล่าสุด ด้วยแรงผลักดันจากรัฐธรรมนูญว่าให้มีการส่งเสริมพัฒนาสหกรณ์ให้มีความเป็นอิสระ ซึ่งชี้ไปในเรื่องของโครงสร้างด้วย ผสมกับการเคลื่อนไหวที่มีมาตลอด สิบ ยี่สิบปี ที่เห็นว่าควรจัดโครงสร้างในการกำกับดูแล โดยที่ให้กลไกในการกำกับดูแล ไม่เป็นระบบราชการ แต่ให้เป็นองค์การอิสระ หรือองค์การมหาชน

                ตัวอย่างที่นำมาศึกษาประกอบการพิจารณาได้ คือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ “กลต.” ซึ่งเดิมมีสำนักงานนี้อยู่ในกระทรวงการคลัง เขาก็กำหนดใหม่ให้ออกจากระทรวงการคลังไปเป็นองค์การมหาชน ที่มีพระราชบัญญัติจัดตั้ง แต่รัฐมนตรียังเป็นประธานอยู่ ซึ่งในประเด็นนี้หลายฝ่ายเห็นว่ารัฐมนตรีไม่น่าจะเป็นประธาน คือไม่น่าจะให้ประธานเป็นฝ่ายการเมือง น่าจะให้ผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานจะดีกว่า นี่เป็นประเด็นย่อย แต่ที่สำคัญ คือ เป็นองค์การที่ไม่ใช่ราชการแต่เป็นของรัฐ และมีหน้าที่กำกับดูแลหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ คนทำงานก็เป็นพนักงานของรัฐ ซึ่งจะต้องมีระบบการคัดเลือก การแต่งตั้ง การกำกับดูแลที่เหมือนกับองค์การมหาชนที่พระราชบัญญัติจัดตั้งทั้งหลาย

                ล่าสุดได้มีการพิจารณาให้กรมการประกันภัย จากกระทรวงพาณิชย์ออกไปเป็นองค์การมหาชนที่มีพระราชบัญญัติจัดตั้ง ชื่อ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ “คปภ.” คือเจริญรอยตาม กลต. หรือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ โดยได้มีพระราชบัญญัติกำหนดให้ออกไปแล้วนะครับ ดังนั้นกรมการประกันภัยจึงไม่ได้อยู่ในกระทรวงพาณิชย์แล้ว ออกไปเป็นองค์การมหาชนที่มีพระราชบัญญัติจัดตั้งแล้ว ก็เลยมาเร่งความคิดว่าน่าจะจัดให้มีสำนักงานที่ดูแลในเรื่องสหกรณ์ ให้เป็นองค์การของรัฐแต่อยู่นอกระบบราชการ ซึ่งหมายถึงการโอนกรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ออกไปนั่นเอง แต่การโอนออกไปก็มีกรรมวิธีนะครับ คือไปตั้งใหม่และเปิดโอกาสให้ข้าราชการโอนไปได้ตามความสมัครใจ ไม่ไปก็ได้ นั่นเป็นเรื่องรายละเอียด แต่เหตุผลเบื้องหลังคือ ต้องการโครงสร้างแบบนี้เพื่อจะให้กลไกที่มาดูแลระบบสหกรณ์มีความเป็นอิสระมากขึ้น ไม่ใช่อิสระ 100% หรอกครับ ยังต้องอยู่ภายใต้นโยบายของรัฐบาล    รัฐบาลยังต้องกำกับดูแลเชิงนโยบายอยู่ครับ

                ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นตลาดหลักทรัพย์ การประกันภัย หรือกรณีอื่นๆ ที่ว่ามีความเป็นอิสระ ไม่ใช่แปลว่าจะอิสระจากรัฐบาลหรอกนะครับ รัฐบาลยังต้องดูแลในเชิงนโยบาย แต่ว่ามีความคล่องตัวในการบริหาร และมีความใกล้ชิดกับขบวนการและประชาชนมากขึ้น คือมีความเป็นราชการน้อยลง ความเป็นของประชาชนมากขึ้น แต่ไม่ได้เป็นเครื่องประกันนะครับว่า การจัดโครงสร้างอย่างนั้นแล้วผลจะเป็นอย่างที่ตั้งใจเสมอไป อย่างที่ผมอธิบายให้ฟังเรื่องกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร อาจจะถูกแทรกแซงด้วยพลังต่างๆได้นะครับ ไม่มีอะไรที่จะแน่ใจ 100%

                อย่างไรก็ตาม แนวความคิดเรื่องความเป็นอิสระของกลไกที่ดูแลสหกรณ์ ก็ได้เกิดขึ้นแล้ว ล่าสุดคือการใส่หลักการเข้าไปในรัฐธรรมนูญ แล้วก็มีตัวอย่างของกรมการประกันภัย จึงทำให้ความคิดที่จะมีสำนักงานดูแลสหกรณ์ ที่ยังเป็นของรัฐบาลแต่อยู่นอกระบบราชการ มีความเข้มมากขึ้น  และล่าสุดในแผนพัฒนาสหกรณ์ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์นำเสนอ ก็ได้บรรจุข้อความว่าให้มีการไปศึกษารูปแบบ กลไกการกำกับดูแลสหกรณ์ที่เหมาะสม โดยเฉพาะศึกษาความเหมาะสมที่จะมีสำนักงานทำนองกรมการประกันภัยที่ได้แปรรูปไปเป็นสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย 

                นี่คือ พลังที่สาม พลังของโครงสร้าง คือโครงสร้างในระดับประเทศนะครับ โครงสร้างจะไปมีผลต่อหลักการและวิธีการดำเนินงาน ถ้าผมจะเปรียบเทียบกับขบวนการสหกรณ์ที่ไม่เป็นทางการก็คือขบวนการองค์กรชุมชนนะครับ ขบวนการองค์กรชุมชนเป็นระบบสหกรณ์ที่ไม่เป็นทางการ รัฐบาลส่งเสริมด้วยการมีสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน เป็นองค์การมหาชน ซึ่งอยู่ภายใต้รัฐบาล แต่เป็นองค์การมหาชน มีคณะกรรมการของตัวเอง มีประธานของตัวเอง มีผู้อำนวยการบริหารสำนักงานแต่ไม่มีอธิบดีซึ่งเป็นข้าราชการ พนักงานที่ทำงานก็เป็นพนักงานของรัฐ กรรมการก็จะมีตัวแทนจากภาคประชาชน หนึ่งในสาม ตัวแทนของรัฐ หนึ่งในสาม และมีผู้ทรงคุณวุฒิ หนึ่งในสาม รวมกันเป็นคณะกรรมการ คงพอจะเทียบเคียงกันได้นะครับ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากลไกเช่นนั้นเป็นประโยชน์ แต่ที่เป็นประโยชน์ได้อาจจะไม่ใช่เพราะกลไกอย่างเดียวแต่เป็นผลมาจากประเด็นอย่างอื่นด้วย อย่างที่ผมบอกไปแล้วนะครับว่า การที่จะเกิดผลอะไรมักไม่ได้มาจากประเด็นเดียวแต่มาจากหลายประเด็น หลายปัจจัยนะครับ นี่คือพลังที่สามครับ คือ พลังของโครงสร้าง 

                พลังที่สี่ คือ พลังแห่งนโยบาย นโยบายในที่นี้หมายความรวมถึง นโยบายของรัฐตั้งแต่แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐที่บรรจุลงในรัฐธรรมนูญ   นั่นคือนโยบายใหญ่เลยนะครับ แต่แค่นั้นยังไม่พอ ต้องมีนโยบายของรัฐบาลแต่ละยุคแต่ละสมัย ซึ่งผมต้องยอมรับว่า รัฐบาลแทบจะทุกยุคทุกสมัยที่ผ่านมา ยังไม่เคยมีรัฐบาลไหน ที่มีนโยบายเรื่องสหกรณ์ชัดๆ และดีๆ รวมถึงรัฐบาลนี้ด้วยนะครับ เพราะว่ารัฐบาลนี้ซึ่งผมร่วมอยู่ด้วย ก็พอจะมีเหตุผลนะครับว่าเราเป็นรัฐบาลชั่วคราว เราเข้ามาในสถานการณ์พิเศษ  เราไม่มีฉันทานุมัติจากประชาชนให้มาบริหารประเทศ แต่เนื่องจากสถานการณ์คับขัน ทำให้เราต้องเข้ามาและดูแลในช่วงเปลี่ยนผ่านนะครับ จะไปทำอะไรเหมือนรัฐบาลที่เขาได้รับการเลือกตั้งมาคงไม่ได้ อันที่จริงเรามีนโยบายที่ได้ประกาศไว้ คือ นโยบายทางด้านเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง ต่างประเทศ และการเมืองการปกครอง แต่การที่จะเจาะลึกลงไปเฉพาะด้านเช่นเรื่องสหกรณ์นั้นเราไปไม่ถึง เพราะว่าแค่การเกษตรนี่ก็เยอะมากแล้ว บางเรื่องยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกัน ล่าสุดคือเรื่อง จีเอ็มโอ ยังถกเถียงกันอยู่มาก เรื่องสหกรณ์ก็คงจะถกเถียงกันอยู่บ้าง แต่เรื่องสหกรณ์คงไม่ถกเถียงกันรุนแรงอะไรหรอกครับ เพียงแต่ว่า เทียบกับอีกหลายๆสิบเรื่อง สหกรณ์คงไม่ได้เข้ามาในระดับที่เป็นนโยบายแนวหน้าของรัฐบาลชุดนี้ แต่ผมเองเห็นว่าถ้าเป็นรัฐบาลปกติน่าจะมีนโยบายด้านสหกรณ์ เพราะเป็นเรื่องสำคัญ เกี่ยวข้องกับประชาชนเป็น 10 ล้านคนนะครับ ซึ่งนับเฉพาะที่เป็นสมาชิก ถ้านับครอบครัวด้วยมากมายเลยครับ สหกรณ์เป็นขบวนการที่สำคัญ กระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนมากมาย และเป็นเรื่องที่ดีมากๆ  ผมจึงอยากเห็นนโยบายของรัฐบาลในเรื่องนี้ให้ชัดเจน ให้หนักแน่น ให้สอดรับกับรัฐธรรมนูญ โดยขยายความต่อและแปลออกมาในรูปของกฎหมายที่ดี ซึ่งเราก็อยู่ระหว่างการยกร่างพระราชบัญญัติแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติสหกรณ์ แต่ผมเรียนท่านอธิบดีไปแล้วนะครับว่าคงไม่ทัน ไม่ทันในรัฐบาลนี้ ไม่ทันในสภาชุด สนช. นี้ เพราะว่าสภาชุด สนช. กำลังถูกกดดันว่าให้เลิกพิจารณากฎหมายได้แล้ว มีคนบอกว่าพอได้แล้ว เมื่อเช้าก็มีบทความจากหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งบอกว่า พอแล้ว พอได้แล้ว จุดที่จะตัดคือ สัปดาห์หน้าเราจะมีการเลือกตั้งคือวันที่ 23 ธันวาคม  ฉะนั้นถ้าจะหยุดในวันที่ 23 ธันวาคม ก็มีเหตุผลนะครับ แต่การหยุดหมายถึงหยุดทำหน้าที่เป็นรัฐสภา ขณะนี้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เขาทำหน้าที่เป็นรัฐสภาคือเป็นสองสภา หมายถึงเป็นทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ต้องยุบมาเป็นสภาเดียวนั่นคือพอมีสภาผู้แทนราษฎรแล้วเขาจะปรับบทบาทเป็นวุฒิสภา สนช. จะกลายเป็นวุฒิสภาอย่างเดียว จนกระทั่งมีวุฒิสมาชิกตามรัฐธรรมนูญเข้ามาเรียบร้อยแล้ว สนช. ก็หมดบทบาท  ขณะนี้จึงเหลือทางเลือกระหว่างว่าจะประชุมไปจนถึง 28 ธันวาคม หรือ 21 ธันวาคม ฉะนั้นกฎหมายที่จะเข้าไปถ้าไม่ได้บรรจุวาระไว้แล้วคงจะไปไม่ทัน ที่บรรจุวาระไว้แล้วอาจจะได้เข้าสู่การพิจารณา อาจจะผ่านวาระที่ 1ไป แต่วาระที่ 2 และ 3 คงจะไม่ทัน ก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลต่อไปจะมาเลือกดูว่ากฎหมายที่ผ่านวาระที่ 1 แล้ว จะนำฉบับไหนมาขอให้สภาพิจารณาต่อ ถ้าเลือกมาสภาก็พิจารณาต่อ ถ้าไม่เลือกก็ตกไป แต่ตกไปไม่ได้แปลว่าเลิกกันเลยนะครับ อย่างกฎหมายสหกรณ์นี่รัฐบาลต่อไปก็เสนอได้ กระทรวงเกษตรก็เสนอได้ ขบวนการสหกรณ์ก็เสนอได้ เราเป็นประชาชนนี่ครับ เรารวมตัวกันหนึ่งหมื่นคนขึ้นไปก็เสนอกฎหมายได้ แต่ที่สำคัญไม่ใช่เรื่องจำนวนเท่านั้น ยังสำคัญที่สาระ สำคัญที่วิธีนำเสนอ สำคัญที่การขับเคลื่อนขบวนการในสังคม ฉะนั้นทุกท่านเสนอได้ครับ กฎหมายสหกรณ์ เพียงแต่ว่าก่อนเสนอถ้ามีขบวนการ มีการปรึกษาหารือ มีการระดมความคิดร่วมกันเยอะๆอย่างนี้แหละครับจึงจะดี และถึงแม้รัฐบาลเป็นผู้เสนอ รัฐบาลก็ควรต้องมีการระดมความคิดเห็นอย่างกว้างขวางจากประชาชน ในอนาคตผมหวังว่าจะไม่มีกฎหมายใดใด  ที่ออกโดยไม่ได้ผ่านการระดมความคิดเห็นจากประชาชนให้กว้างขวางพอ ซึ่งเป็นหลักการประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ไม่ใช่แค่ประชาธิปไตยแบบตัวแทน ที่แล้วมาเรามีประชาธิปไตยแบบตัวแทน เราเลือก สส. แล้ว สส. ก็ทำหน้าที่แทนเราหมดเลย อย่างนี้ยังไม่ดีพอ ต้องเป็นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม คือประชาชนต้องมีส่วนร่วมในกระบวนการต่างๆที่มีผลต่อสังคม ฉะนั้นจะออกกฎหมายต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม ยิ่งกฎหมายสหกรณ์ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมเยอะๆจึงจะดี

                ดังนั้นพลังแห่งนโยบายต้องรวมถึงการมีข้อความในรัฐธรรมนูญ มีนโยบายของรัฐบาล มีการออกพระราชบัญญัติ มีระเบียบข้อบังคับที่ดี และก็มีนโยบายในการกำกับดูแล ส่งเสริมพัฒนา  มีงบประมาณ มีบุคลากรที่เหมาะสม เหล่านี้รวมอยู่ในคำว่า “นโยบาย” ทั้งสิ้น นี่คือพลังแห่งนโยบาย ซึ่งผมคิดว่าที่แล้วมานโยบายด้านสหกรณ์ไม่ได้รับความสำคัญเท่าที่ควร ซึ่งได้มีผู้วิเคราะห์ว่าสาเหตุหนึ่งมาจากการจัดกลไกและองค์กรในการกำกับและส่งเสริมซึ่งไปอยู่ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งพอพูดถึงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คนจะไม่ได้นึกถึงสหกรณ์เท่าไหร่ แต่จะนึกถึงการเกษตรเป็นหลัก ซึ่งเรื่องการเกษตรอย่างเดียวก็เป็นเรื่องใหญ่โตกว้างขวางมาก สหกรณ์เป็นเรื่องรอง จะนึกถึงกันทีหลัง เพราะฉะนั้นนโยบายของรัฐบาลเท่าที่ผ่านมาในเรื่องสหกรณ์จึงไม่เข้ม ไม่หนักแน่น และไม่นำสู่การพัฒนาขบวนการสหกรณ์ได้ดีเท่าที่ควร

                พลังสุดท้าย พลังที่ห้า  คือ พลังของการจัดการ การจัดการเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ เป็นความสามารถที่จะทำให้บรรลุผล แต่การจัดการเป็นสิ่งที่ในประเทศไทยเรา ยังไม่มีความสามารถมากเท่าที่ควรโดยเฉพาะในการจัดการภาครัฐ และการจัดการทางสังคม ถ้าเป็นการจัดการในภาคธุรกิจคิดว่าเราใช้ได้เมื่อเทียบกับนานาชาติ แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นเก่งมากและยังจะต้องพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ ส่วนการจัดการในภาครัฐและการจัดการทางสังคมเรายังอ่อน ในความเห็นของผม ควรต้องพัฒนาให้มากขึ้น การจัดการภาครัฐต้องรวมถึงการจัดการของหน่วยงาน เช่น กระทรวง และกรม ที่เกี่ยวข้องกับสหกรณ์ ซึ่งหากมีการจัดการที่ดี มีคุณภาพ พร้อมทั้งประสิทธิภาพ และประสิทธิผล จะมีส่วนช่วยการพัฒนาขบวนการสหกรณ์ได้ 

                การจัดการของขบวนการสหกรณ์เองก็มีความสำคัญมาก การจัดการของชุมนุมสหกรณ์ การจัดการของสันนิบาตสหกรณ์ การจัดการของสหกรณ์แต่ละแห่ง ล้วนมีความสำคัญมากทั้งสิ้น

                พลังของการจัดการนั้นมีความสำคัญมาก ผมทราบว่าทางสันนิบาตสหกรณ์ได้มีหลักสูตรพัฒนาเรื่องการจัดการอยู่ ซึ่งดีแล้ว แต่ยังไม่พอ ต้องทำให้การจัดการมีคุณภาพ มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล สูงกว่าในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการจัดการของสหกรณ์ การจัดการของชุมนุมสหกรณ์ การจัดการของสันนิบาตสหกรณ์ การจัดการของกรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กระทรวงเกษตรฯ และการจัดการของรัฐบาล ซึ่งผมเองได้อยู่ในรัฐบาลมาปีเศษ ผมเห็นประเด็นเรื่องการจัดการเยอะเลย พอดีผมสนใจเรื่องการจัดการ ได้คิดอยู่ว่าเมื่อหมดหน้าที่ในรัฐบาลแล้วผมอาจจะขอพักสัก 3 เดือน และคิดว่าอาจจะเขียนหนังสือสักเล่มหนึ่ง เรื่องประสบการณ์ในรัฐบาล และข้อคิดต่างๆ รวมถึงเรื่องการจัดการ ผมเชื่อว่าถ้าเราพัฒนาการจัดการในแต่ละระดับตามที่กล่าวมาแล้วของสหกรณ์ ของเครือข่าย หรือชุมนุมสหกรณ์ ของสันนิบาตสหกรณ์ และการจัดการของกลไกของรัฐทั้งหลาย เชื่อว่าจะเป็นพลังที่สำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาสหกรณ์ ซึ่งรวมถึงการพัฒนาขบวนการสหกรณ์ ให้เดินไปได้ดียิ่งขึ้น

                สรุป รวมความแล้วมี 5 พลังที่ผมคิดว่าจะผสมผสานกันในการพัฒนาสหกรณ์ ซึ่งรวมถึงการพัฒนาขบวนการสหกรณ์ คือ ไม่ใช่พลังใดพลังหนึ่งนะครับ แต่ทั้ง 5 พลังผสมผสานกัน ได้แก่ 

  1. พลังของความรู้ และการจัดการความรู้
  2. พลังของความเป็นขบวนการ
  3. พลังของโครงสร้าง ซึ่งรวมถึงการมีกลไกที่ดีและเหมาะสม
  4. พลังของนโยบาย รวมถึงนโยบายในระดับต่างๆ และในรูปแบบต่างๆ เช่นในรูปแบบของกฎหมาย ในรูปแบบของยุทธศาสตร์ของรัฐ ในรูปแบบของการมีงบประมาณที่เพียงพอ เหล่านี้รวมอยู่ในคำว่านโยบาย และ
  5. พลังของการจัดการ ได้แก่ การจัดการในระดับต่างๆ และในภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาคประชาชนและภาครัฐ ตลอดจนกลไกต่างๆ ที่อยู่ในการขับเคลื่อนขบวนการสหกรณ์ 

                ท่านผู้มีเกียรติครับ ผมพูดมานานกว่าที่คิดไว้ คิดว่าจะครึ่งชั่วโมงแต่กลายเป็นสี่สิบห้าหรือเกือบห้าสิบนาที ขออภัยที่ใช้เวลามากไปหน่อย และขอขอบคุณที่ท่านให้ความสนใจการบรรยายพิเศษที่ผมได้นำเสนอมา หวังว่าคงจะเป็นประโยชน์ และสามารถนำไปประกอบการพิจารณาของทุกท่านได้ ซึ่งเข้าใจว่าในวันนี้ท่านจะพิจารณากันถึงเรื่องแนวทางการพัฒนาขบวนการสหกรณ์ ซึ่งอาจจะต้องถึงขั้นปฏิรูป จึงหวังว่าหากท่านได้นำข้อคิดต่างๆที่ผมนำเสนอไปประกอบการพิจารณาแล้ว จะสามารถร่วมกันคิด ร่วมกันพิจารณา จนกระทั่งได้ข้อสรุปที่ดี และนำไปสู่การปฏิบัติที่จะช่วยให้ระบบและขบวนการสหกรณ์ของพวกท่านทั้งหลาย เจริญก้าวหน้า เข้มแข็งมั่นคง เป็นประโยชน์อันเหมาะสมต่อสมาชิกสหกรณ์ ต่อสังคม และต่อประเทศชาติโดยรวม ขอบคุณครับ

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/165588

<<< กลับ

ความเห็นเกี่ยวกับการเมืองใหม่ เน้นชุมชน

ความเห็นเกี่ยวกับการเมืองใหม่ เน้นชุมชน


(จากข่าว   “พันธมิตรเผยแผนรัฐบาลชง ตั้ง ‘ส.ส.ร.’”  ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 24 กันยายน 51   หน้า 1 ต่อหน้า 15) 

                พันธมิตรเผยแผนรัฐบาลเตรียมตั้ง ส.ส.ร. หวังยุติความขัดแย้ง  สงสัยมีวาระซ่อนเร้น ใช้เป็นเหยื่อล่อปลา   “บวรศักดิ์-ไพบูลย์”  ชูสูตรสภาองค์กรชุมชน ช่วยสร้างการเมืองใหม่

“ไพบูลย์”  เผยสูตรใหม่เน้นชุมชน

                วันเดียวกัน ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน มีการประชุมผู้แทนสภาองค์กรชุมชนที่เป็นสมาชิกสภาพัฒนาการเมือง 76 จังหวัด และมีการเสวนาเรื่อง  “สภาองค์กรชุมชนกับการพัฒนา การเมืองภาคพลเมือง” โดยนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม  อดีตรองนายกรัฐมนตรีและประธานอนุกรรมการสนับสนุนสภาองค์กรชุมชน กล่าวว่า แม้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตการณ์มาหลายครั้ง แต่ก็ยังอยู่ในขั้นตอนของการค้นหารูปแบบการเมืองที่ควรจะเป็น เช่น การเมืองใหม่ ซึ่งคำว่าใหม่โดยทั่วไปหมายถึงดีขึ้น แต่จะดีขึ้นอย่างไรคงต้องมีข้อคิดและทฤษฎีมากมายหลายสูตร แต่สูตรที่ยังไม่ค่อยมีการเสนอคือสิ่งที่ชุมชนทำกันอยู่แล้ว และเป็นการเมืองในความหมายกว้าง โดยมีการจัดการสังคม ชีวิตผสมผสานกันไป

                นายไพบูลย์  กล่าวว่า  รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็ยังไม่นำไปสู่การเมืองที่ปรารถนา เพราะรัฐธรรมนูญเป็นการกำหนดโครงสร้างกลไก แต่การเมืองมีมากกว่านั้น มีกระบวนการเงื่อนไข วัฒนธรรม และความคิดจิตใจที่ผันแปรเป็นพลวัตไม่หยุดนิ่ง หรืออยู่อย่างโดดๆ แต่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม การที่คำนึงถึงการเกาะเกี่ยวแต่รัฐธรรมนูญอย่างเดียวโดยไม่พัฒนาสังคมให้เท่าทันจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่มีการเรียกร้องหาการเมืองใหม่  ซึ่งยากประสบความสำเร็จหากคิดและทำการเมืองในความหมายแคบ  หรือแก้ไข  รัฐธรรมนูญเพียงอย่างเดียว

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/211161

<<< กลับ

วิสัยทัศน์สื่อสาธารณะ “ไทยพีบีเอส” (องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย / สสท.)

วิสัยทัศน์สื่อสาธารณะ “ไทยพีบีเอส” (องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย / สสท.)


ทิศทางของไทยพีบีเอส

                – เป็นสื่อกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะที่เป็นของประชาชน ดำเนินงานโดยประชาชนมีส่วนร่วม และมุ่งให้เกิดประโยชน์สร้างสรรค์สูงสุด ต่อประชาชน และต่อสังคม

เนื่องจากที่มาของ ไทยพีบีเอส คือ สื่อสาธารณะของประชาชน การดำเนินงานจึงควรยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งส่วนหนึ่งต้องทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมและมีบทบาทในโทรทัศน์สาธารณะ และสื่ออื่นๆ เพื่อให้เป็นสถานีของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน และยืนอยู่บนพื้นฐานของการสร้างประโยชน์ที่แท้จริงอย่างลึกซึ้งและยั่งยืน

เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมคุณภาพ และอยู่บนพื้นฐานของความเป็นไทย ซึ่งการจะสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งคุณภาพได้นั้น ไทยพีบีเอสจะต้องยืนอยู่บนพื้นฐานของความซื่อตรงต่อจรรยาบรรณ และมีจิตสำนึกสาธารณะ ด้วยการบริการข้อมูลข่าวสารที่เที่ยงตรง รอบด้าน สมดุล ไม่เอนเอียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ทำให้ประชาชนได้คิด วิเคราะห์ และควรให้ความสำคัญกับข่าวชุมชนท้องถิ่นบนพื้นฐานของความหลากหลายทางวัฒนธรรม สะท้อนถึงปัญหาของแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างกระบวนการเรียนรู้ในสังคม เกิดความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน และยังเป็นการสร้างความเข้มแข็งในสังคม โดยสามารถนำประเด็นเนื้อหาในพื้นที่ของตนมาเผยแพร่สู่สาธารณะ จนนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด

ยึดถือประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ เนื่องจากไทยพีบีเอส ต่างจากองค์การสื่ออื่นๆ เพราะไทยพีบีเอส เน้นการรับใช้สังคมเป็นหลัก จึงควรนำเสนอเนื้อหาที่มีคุณภาพ ไม่ผูกติดกับเรตติ้ง แต่ยังคำนึงถึงความเป็นปุถุชนของผู้ชมผู้เป็นเจ้าของ โดยมีความบันเทิงที่มีสาระ และมีสัดส่วนสาระประโยชน์ด้านการศึกษาอย่างเหมาะสมและมีคุณภาพสูง เน้นความหลากหลาย โดยปราศจากอคติทางการเมืองและผลประโยชน์เชิงพาณิชย์

ยกระดับสังคมแห่งภูมิปัญญา ผ่านการให้ความรู้แก่ประชาชนให้ก้าวหน้าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกเพื่อประโยชน์ระดับชาติและระดับท้องถิ่น

ในยุคปัจจุบัน สังคมเติบโตอย่างก้าวกระโดดบนการสื่อสารอย่างไร้พรมแดน ทำให้วัฒนธรรมโลกตะวันตกและตะวันออกเข้ามาสู่สังคมไทยอย่างรวดเร็ว ไทยพีบีเอสจะต้องเป็นสื่อกลางที่ให้สังคมได้เรียนรู้และเข้าใจอย่างรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมรอบข้างอย่างไม่ตื่นตระหนกและไม่นิ่งเฉยจนเกินไป ซึ่งการเรียนรู้นั้นจะต้องคำนึงถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมอย่างเข้าใจ และอยู่ร่วมกันได้ในสังคม โดยไม่ลืมความเป็นไทย

สำหรับการเรียนรู้ในระดับท้องถิ่น บนความงดงามทางวัฒนธรรมที่ฝังรากลึก ต้องมีการเผยแพร่ให้สังคมได้รับรู้ ตลอดจนการปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนในพื้นที่ไม่ลืมตัวตน ไม่ลืมบ้านเกิดและรักถิ่นฐานของตน ทำให้เกิดการกลับไปพัฒนาท้องถิ่นอย่างเข้าใจและยั่งยืน

ส่งเสริมสังคมประชาธิปไตย ไทยพีบีเอสต้องเป็นส่วนหนึ่งของการปลูกฝังให้สังคมเกิดการเรียนรู้ความเป็น “พลเมือง” เพราะประชาชนจะไม่ถูกมองว่าเป็นเพียง “ผู้บริโภค” หรือถูกเอารัดเอาเปรียบในการรับรู้ข่าวสารข้อมูลเพียงด้านเดียวและฉาบฉวย แต่ต้องทำให้เกิดการมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ร่วมกันพัฒนา ร่วมกันเสนอประเด็นในพื้นที่ เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งในสังคม

สนับสนุนกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ ผ่านการเข้าไปสนับสนุนกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ และการจัดกิจกรรมให้กับประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมกับทางสถานี ซึ่งจะเป็นการสร้างความเข้มแข็ง และความยั่งยืนของประชาชนต่อสถานี เช่น การรณรงค์วันครอบครัว ซึ่งถือเป็นสถาบันหลักที่สำคัญของสังคม โดยการสร้างความรัก ความเข้าใจกัน ผ่านกิจกรรมของรายการ และให้ผู้ชมเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งถือว่าเป็นการสื่อสารสองทาง และได้ร่วมมือในทางปฏิบัติ หรือกิจกรรมรณรงค์ให้สังคมได้ตระหนักถึงภัยร้ายที่จะเกิดขึ้นกับสุขภาพและสุขภาวะของประชาชน การสร้างสังคมให้มีสุขภาพและสุขภาวะที่ดี เป็นต้น โดยไทยพีบีเอสต้องเป็นตัวกลางเชื่อมโยงกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อเป็นสื่อกลางในการสื่อสารให้กับสังคม

ปัจจัยสำคัญสู่ความสำเร็จตามวิสัยทัศน์ 

  1. ความเป็นเจ้าของและการมีส่วนร่วมของประชาชนที่เป็นจริงและมีความหมาย

                เนื่องจาก ไทยพีบีเอส เป็นของประชาชน ประชาชนจึงต้องมีส่วนร่วมสูงสุดทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อกำหนดทิศทางการให้บริการของไทยพีบีเอส จึงต้องมีช่องทางที่หลากหลายในการรับฟังความคิดเห็นของผู้ชม ไม่ว่าจะเป็น “สภาผู้ชม” ที่มาจากแต่ละภูมิภาคและความหลากหลายทางสังคมตามกฎหมาย โดยสภาผู้ชม จะคอยติดตาม ตรวจสอบคุณภาพของเนื้อหาที่นำเสนอ เพื่อนำไปสู่การปรับปรุง ซึ่งถือเป็นเครื่องประกันว่าจะไม่หลุดจากความนิยมของประชาชน โดยการนำข้อเสนอแนะจากสภาผู้ชมไปพัฒนาให้ตอบสนองตามความต้องการในบริบทของสังคมไทย และการแทรกแซงก็จะเป็นไปได้ยาก เพราะประชาชนมีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้น พร้อมกับการมีกระบวนการจัดการที่ดี โดยมีการสับเปลี่ยน หมุนเวียน ผู้ที่เข้ามาเป็นตัวแทน เพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาดอำนาจในสภาผู้ชม

                นอกจากนี้ควรเปิดช่องทางรับฟังความเห็นที่หลากหลาย เช่น การสร้างเว็บไซต์เพื่อรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะต่างๆ ซึ่งจะเป็นการสร้างเครือข่ายผู้ชมของไทยพีบีเอสอีกทางหนึ่ง การเปิดสายโทรศัพท์ให้ผู้ชมเสนอแนะ ติชม ร้องเรียน หรือการรับฟังผ่านการเขียนจดหมาย เพื่อให้ความคิดเห็นและคำแนะนำจากสภาผู้ชมและจากผู้ชมที่แสดงความคิดเห็นผ่านมายังสื่อต่างๆ นำสู่การปรับปรุงแผนแม่บทการบริหารกิจการและรายการของไทยพีบีเอส ให้เหมาะสมและทันกับสถานการณ์อย่างดีที่สุด

  1. บทบาทที่สร้างสรรค์และเหมาะสมของคณะกรรมการนโยบาย 

                เพื่อให้เกิดความเป็นอิสระในการพัฒนาสื่ออย่างสร้างสรรค์ บทบาทของคณะกรรมการนโยบายจึงควรเป็นผู้วางทิศทางผ่านการกำหนดนโยบายขององค์กร ตลอดจนการกำหนดข้อบังคับด้านจริยธรรมเพื่อคุ้มครองรักษาความเป็นอิสระ โดยการปฏิสัมพันธ์ของคณะกรรมการนโยบาย และฝ่ายบริหารจัดการต้องเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ และเหมาะสม โดยไม่เข้าไปแทรกแซงการทำงานของฝ่ายปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความเป็นอิสระ

  1. การบริหารจัดการที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพสูง

สิ่งสำคัญของการบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ ต้องเกิดจากการจัดการที่ดีในหลายมิติ ทั้งการวางระบบการจัดการ บุคลากร ข้อบังคับด้านจริยธรรม เทคโนโลยี สภาผู้ชม การสนับสนุนจากประชาชน และจากรัฐบาล

และสิ่งแรกของการนำมาซึ่งการบริหารจัดการที่ดี คือ การได้ผู้อำนวยการสถานีที่ดี เพื่อนำสู่การสร้างบุคลากรที่ดีและมีคุณภาพ สามารถเลือกใช้บุคลากรให้เหมาะสมกับงาน ดังนั้นการสรรหาผู้อำนวยการสถานีจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ควบคู่ไปกับการวางระบบการบริหารจัดการที่มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพ ว่องไว ได้ผล และประหยัดงบประมาณ

  1. บุคลากรสื่อที่มีคุณภาพ ผ่านการสร้างและพัฒนาอย่างสม่ำเสมอ

                 รูปแบบการนำเสนอเพื่อเป็นที่นิยมและน่าติดตาม ส่วนหนึ่งมาจากบุคลากรที่มีคุณภาพ ซึ่ง ต้องผ่านการสร้างและพัฒนาอย่างสม่ำเสมอ โดยการพัฒนาศักยภาพบุคลากร ควบคู่ไปกับการสร้างจิตสำนึกสาธารณะ เพื่อพัฒนาการผลิตรายการที่สร้างสรรค์ และการพัฒนาสัดส่วนรายการที่เหมาะสมกับสังคมไทย

  1. การประยุกต์ใช้หลักการและวิธีการทางการตลาดที่มีประสิทธิผล ทั้งในเชิงผลผลิตขององค์กร และในเชิงสังคม

โดยดึงเทคนิคการตลาด เพื่อดึงความสนใจของคนมาประยุกต์ใช้ควบคู่กับการตลาดทางสังคม เพื่อผลิตรายการที่มีคุณภาพ และตรงตามกลุ่มเป้าหมาย

  1. ความเป็นมืออาชีพและความเคร่งครัดสม่ำเสมอในหลักจรรยาบรรณ

                สร้างและดึงความเป็นมืออาชีพของกรรมการนโยบาย ผู้บริหาร และบุคลากร มาใช้ในการทำงานเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยยืนอยู่บนหลักจรรยาบรรณของความเป็นสื่อสาธารณะ ซึ่งควรประกอบด้วย ความเที่ยงตรง เป็นกลาง และเป็นธรรม ซื่อตรงต่อจรรยาบรรณและความเป็นอิสระของวิชาชีพ รับผิดชอบต่อสาธารณชน สนองผลประโยชน์สาธารณะ เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสิทธิส่วนบุคคล คุ้มครองเด็กและเยาวชน รวมถึงการคำนึงต่อผลกระทบทางจิตใจของการปฏิบัติต่อเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายและผู้ที่อยู่ในภาวะเศร้าโศก

  1. การใช้สื่อหลายระบบและเทคโนโลยีที่เหมาะสมเท่าทันการพัฒนาของสังคม

                ไทยพีบีเอส จะต้องเป็นสื่อสาธารณะที่ก้าวทันต่อการพัฒนาของสังคมและเทคโนโลยี เนื่องจากกระแสโลกาภิวัฒน์ที่นำสู่ความเชื่อมโยงทางเทคโนโลยี ทำให้เกิดการใช้สื่อในหลายช่องทาง ซึ่งไทยพีบีเอส ในฐานะสื่อสาธารณะของประชาชน จึงควรปรับตัวให้ทันต่อพัฒนาการของสังคมและเทคโนโลยี เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงสื่อบนช่องทางที่หลากหลาย ซึ่งปฏิสัมพันธ์และผสมผสานกันได้ด้วย

  1. การศึกษา เรียนรู้ วิจัย และพัฒนา อย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง 

                การพัฒนาสังคมต้องพัฒนาแนวคิดและองค์ความรู้ที่มีอยู่ในสังคมไทย ซึ่งความรู้ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ เช่น รายการสารคดี ยังไม่เพียงพอ ประเทศไทยจะเติบโตได้ต้องมีการพัฒนาแนวคิด รายการสารคดีที่มีประเด็นเนื้อหาของสังคมไทย ให้เกิดการเรียนรู้เข้าใจ ความเป็นมาของประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต วัฒนธรรม หรือความงดงามของความเป็นไทย แม้กระทั่งการเปิดโลกวัฒนธรรมให้กับเพื่อนบ้านได้เห็นความงดงามของไทย

                ดังนั้นควรมีการศึกษา เรียนรู้ วิจัย และพัฒนา อย่างต่อเนื่อง เช่นการศึกษาดูงานจากประเทศอื่นๆ ที่ประสบความสำเร็จในการผลิตรายการที่มีสาระสร้างสรรค์พร้อมกับเป็นที่นิยม เพื่อเป็นข้อมูลนำมาพัฒนารายการใหม่ๆที่เข้ากับบริบทของสังคมไทย ต้องมีการลงทุนที่ดี และอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อให้เกิดความหลากหลายของเนื้อหา และมีรายการในรูปแบบใหม่ๆที่มีคุณภาพ เหมาะกับทุกกลุ่มวัย ตลอดจนการศึกษาพฤติกรรมของกลุ่มผู้ชม เช่น ช่วงเวลาใดที่เด็กรับชมรายการโทรทัศน์มากที่สุด ช่วงเวลาใดที่เป็นกิจกรรมของครอบครัว เพื่อให้การนำเสนอตรงตามความต้องการของผู้ชม โดยไทยพีบีเอสจะต้องเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างรากฐานความรู้ จินตนาการ ให้กับเด็ก เยาวชน และไม่ควรละเลย รายการสำหรับผู้สูงอายุ เช่นกัน

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/229051

<<< กลับ

ไม่เป็น (โรค) ไม่รู้ (สึก) : “สุขภาวะ” เป็นเรื่องที่ควร “สร้างสม” ตลอดชีวิต

ไม่เป็น (โรค) ไม่รู้ (สึก) : “สุขภาวะ” เป็นเรื่องที่ควร “สร้างสม” ตลอดชีวิต


หากผมไม่เป็นโรคที่หนักหน่วงถึง 3 ครั้งในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา ผมคงไม่รู้ซึ้งว่าผมไม่ได้มี “สุขภาวะ” ดีอย่างที่คิด และเกิดความตระหนักอย่างชัดเจนว่า เรื่อง “สุขภาวะ” นั้น ควรต้อง “สร้างสม” กันตลอดชีวิต ยิ่งคิดได้และลงมือปฏิบัติเร็วเท่าใดก็ยิ่งดีเท่านั้น

ไม่เป็น (โรค)   ไม่รู้ (สึก)

ผมเคยคิดว่าผมเป็นคนหนึ่งที่เอาใจใส่ดูแลสุขภาพตนเองได้ค่อนข้างดี เช่นกินอาหารที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ออกกำลังกาย พักผ่อน พัฒนาจิต มีสัมพันธภาพที่ดีกับคนรอบข้าง ฯลฯ

สอดคล้องกับความหมายของคำว่า “สุขภาพ” หรือ “สุขภาวะ” ที่หมายถึงภาวะเป็นสุขทางกาย ทางจิตใจ ทางปัญญาหรือจิตวิญญาณ และทางสังคม

ผมเคยคิดว่า โดยทั่วไปผมมีสุขภาพในเกณฑ์ดี ในทางร่างกาย ผมไม่ค่อยป่วยหรือมีโรคภัยไข้เจ็บ เป็นหวัดเป็นไข้น้อยมาก นานๆจึงเป็นสักครั้ง และผมมักปล่อยให้หายเองหรือรักษาด้วยวิธีธรรมชาติ เช่น ดื่มน้ำ พักผ่อน นั่งสมาธิ ซึ่งโดยมากอาการหวัดอาการไข้จะหายไปในเวลาอันสั้น ตลอดชีวิตการทำงาน ผมใช้สวัสดิการการรักษาพยาบาลและมีค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลน้อยมาก

ผมไม่เคยต้องเข้านอนในโรงพยาบาลหรือต้องรับการผ่าตัดหรือการรักษาพยาบาลโรคประเภทหนักๆตั้งแต่วัยเด็กถึงผ่านวัยเกษียณอายุ

                จนกระทั่งเมื่อผมมีอายุ 63 ปีเศษ ในปี 2547

ปรากฏว่า ผมมีก้อนเนื้อที่ส่วนหัวของตับอ่อน ซึ่งไปกดท่อน้ำดี น้ำดีไม่เข้าสู่ระบบย่อยอาหาร ทำให้ผมรับประทานอาหารไม่ได้

ผมจึงต้องเข้าโรงพยาบาลเพื่อรับการผ่าตัด เป็นการผ่าตัดใหญ่ ใช้เวลาประมาณ 8 ชั่วโมงครึ่ง แพทย์ตัดเอาตับอ่อนส่วนหัว (พร้อมก้อนเนื้อ) ออกไปประมาณ 30 % ท่อน้ำดีพร้อมถุงน้ำดีทั้งหมด กระเพาะประมาณ 30 % และ Duodenum (ส่วนเชื่อมจากกระเพาะสู่ลำไส้เล็ก) ประมาณ 30 ซม.

ผมอยู่พักฟื้นในโรงพยาบาลเป็นเวลาหนึ่งเดือนครึ่ง แล้วกลับมาพักฟื้นต่อที่บ้านก่อนที่จะค่อยๆทยอยกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ โดยใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 6 เดือนหลังการผ่าตัด กว่าที่สุขภาพจะกลับมาเทียบเท่าหรือใกล้เคียงกับก่อนการล้มป่วย

การเจ็บป่วยครั้งนั้น ทำให้ผมให้ความเอาใจใส่กับการดูแลสุขภาพมากขึ้นเท่าที่จะทำได้ และดูเหมือนว่าสุขภาพของผมทั้ง 4 ด้าน คือ กาย จิตใจ ปัญญา (จิตวิญญาณ) และสังคม อยู่ในเกณฑ์ที่น่าจะพอใจได้

จวบจนเดือนตุลาคม 2550 เมื่อผมมีอายุประมาณ 66 ปีครึ่ง ผมต้องเข้ารับการรักษาและนอนในโรงพยาบาลอีกครั้งด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันรวม 3 เส้น

ครั้งนี้แพทย์ใช้วิธี “สวนหัวใจ” ซึ่งใช้เวลาสั้นๆ และผมต้องพักฟื้นในโรงพยาบาลเพียงหนึ่งสัปดาห์ แล้วกลับมาพักฟื้นต่อที่บ้านอีกหนึ่งสัปดาห์ก็สามารถกลับไปทำงานและใช้ชีวิตตามปกติได้

แต่ผมต้องรับประทานยาป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน (ซึ่งมีราคาค่อนข้างสูง) หลายเม็ดต่อวันทุกวันไปตลอดชีวิต ! รวมทั้งต้องดูแลระมัดระวังเรื่องอาหาร การออกกำลังกาย และสุขภาพจิต มากเป็นพิเศษ มิฉะนั้นอาการหลอดเลือดหัวใจอุดตันอาจกลับมาอีก ซึ่งสามารถมีอันตรายถึงชีวิตได้อย่างเฉียบพลัน !

หลังจากการรักษาด้วยวิธี “สวนหัวใจ” เรียบร้อยแล้ว ผมรู้สึกมีสุขภาพปกติและใช้ชีวิตปกติต่อไปได้ แต่ไม่นานหลังจากนั้น คือในเดือนเมษายน 2551 ผมไปตรวจร่างกาย พบว่ามีก้อนเนื้อเกิดขึ้นที่ไขมันหุ้มไตข้างขวา แพทย์แนะนำให้ผ่าตัดเอาไตข้างขวาออก

                ผมจึงต้องเข้ารับการ “ผ่าตัดใหญ่” เป็นครั้งที่สองในชีวิต เมื่อเดือนมิถุนายน 2551 ขณะที่มีอายุ 67 ปีเศษ ครั้งนี้การผ่าตัดใช้เวลาประมาณ 9 ชั่วโมง แพทย์ตัดไตข้างขวากับลำไส้ที่อยู่ใกล้เคียงประมาณ 5 ซม. ออกไป

ผมพักฟื้นในโรงพยาบาลหนึ่งเดือน แล้วกลับมาพักฟื้นและฟื้นฟูร่างกายที่บ้าน สังเกตว่าครั้งนี้การฟื้นฟูร่างกายมีความยากและใช้เวลานานกว่าเมื่อผ่าตัดใหญ่ครั้งแรกในปี 2547 ขณะที่เขียนบทความนี้การผ่าตัดผ่านพ้นไป 4 เดือนเศษแล้ว สุขภาพของผมดีขึ้นและสามารถใช้ชีวิตปกติได้พอสมควร แต่การฟื้นฟูร่างกายยังคงต้องดำเนินการอยู่

การฟื้นฟูร่างกายที่ว่านี้ รวมถึงการพยายามป้องกันไม่ให้สภาพ “เนื้องอก” หรือ “มะเร็ง” (Cancer) นั่นเอง กลับมาอีก หรือถ้าจะกลับมา (ซึ่งย่อมมีโอกาสเป็นเช่นนั้นเพราะเกิดมา 2 ครั้งแล้ว) ก็ในเวลาที่นานที่สุด

ขณะเดียวกัน ผมก็ต้องดูแลไม่ให้โรคหลอดเลือดอุดตัน (ซึ่งเคยเกิดแล้ว) เกิดขึ้นอีก หรือเกิดขึ้นได้ยากที่สุด เท่าที่จะทำได้

ข้อคิดเรื่องสุขภาพ

                ประสบการณ์ด้านสุขภาพของผมที่มีสุขภาพค่อนข้างดีถึงดีมากมาตลอดตั้งแต่วัยเด็กจนอายุ 63 ปีเศษ แต่มาเป็นโรคชนิดหนักหน่วงถึง 2 โรค ซึ่งในปัจจุบันเป็นโรคที่ทำให้คนไทย (และคนในประเทศอื่นๆส่วนใหญ่) เสียชีวิตสูงสุดเป็นอันดับต้นๆ คือใน 1-3 อันดับแรก ทำให้ผมได้ศึกษาเรื่องราวและครุ่นคำนึงถึงเรื่องที่เกี่ยวข้อง ได้ข้อคิดและข้อสรุปที่เห็นว่าจะเป็นประโยชน์ในการนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้สนใจทั้งหลายดังนี้ครับ

ข้อที่หนึ่ง  โรคทั้งหลายที่คนเราเป็น โดยเฉพาะโรคหนักหน่วงเช่นโรคมะเร็งและโรคหัวใจโดยทั่วไปแล้ว มิได้เกิดจากเหตุฉับพลัน แต่มาจากการสะสมของสาเหตุหลากหลายเป็นเวลานานๆ อาจเป็น 10 ปี 20 ปี หรือกว่านั้น ทำให้ร่างกาย “เสียความสมดุล” สะสมมากขึ้นๆ มี “ภูมิคุ้มกัน” อ่อนแอลงๆ ปัจจัยอันเป็นที่มาของโรคชนิดต่างๆสะสมมากขึ้นๆ เมื่อถึงจุดหนึ่งหรือสถานะหนึ่ง อาการของโรคจึงปรากฏ เช่นเนื้องอกเกิดขึ้นที่อวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่ง มีสารอุดทางเดินของเลือดในที่ใดที่หนึ่ง หรือแม้กระทั่งโรคเป็นไข้เป็นหวัด ก็มาจากการสะสมความไม่สมดุลและความอ่อนแอของภูมิคุ้มกันที่มากจนถึงระดับที่เมื่อร่างกายเผชิญกับสภาวะที่ผิดปกติ จึงเกิดอาการเป็นไข้เป็นหวัด ซึ่งถ้าร่างกายมีความสมดุลดีและมีภูมิคุ้มกันแข็งแรงพอจะไม่มีอาการเป็นไข้เป็นหวัดดังกล่าว

โรคอื่นๆไม่ว่าจะเป็นโรคกระเพาะ โรคลำไส้ โรคกระดูก โรคกล้ามเนื้อ โรคทางเดินอาหาร โรคทางเดินหายใจ โรคปอด โรคตับ โรคไต โรคสมอง โรคผิวหนัง ฯลฯ รวมทั้งโรคจิตโรคประสาท โดยทั่วไปแล้วล้วนมีสาเหตุมาจากการสะสมของปัจจัยต่างๆ ซึ่งในที่สุดทำให้อาการของโรคปรากฏขึ้น

ข้อที่สอง สาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดการสะสมของปัจจัยอันทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆพอสรุปได้ดังนี้ คือ (1) อาหารที่ไม่เหมาะสม (2) การออกกำลังกายที่ไม่เพียงพอ (3) การพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ (4) สภาพจิตใจที่ไม่ดีพอ (5) แบบแผนการดำเนินชีวิตรวมถึงข้อบกพร่องหรือความไม่เหมาะสมหรือความไม่สมดุลบางประการหรือหลายประการ

ปัจจัยอันก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บเหล่านี้ มีผลกระทบหรือปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกันด้วย ดังนั้นโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้นจึงอาจเป็นผลสุดท้ายของสาเหตุข้อใดข้อหนึ่งที่สะสมจนถึงจุดที่อาการโรคปรากฏ หรืออาจมาจากสาเหตุหลายข้อที่สะสมรวมทั้งผสมผสานปฏิสัมพันธ์กันแล้วทำให้เกิดโรคขึ้น

ข้อที่สาม คนเราย่อมปรารถนาจะมีสุขภาพดีกันทั้งนั้น แต่คำว่า   “สุขภาพ” ที่ดีที่สุดเป็นอย่าไร ความหมายที่เป็นสากล (ตามคำจำกัดความขององค์การอนามัยโลก คือ World Health Organization หรือ WHO ) ของ คำว่า “สุขภาพ” คือประกอบด้วย (1) สุขภาพทางกาย (2) สุขภาพทางจิตใจรวมถึงอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ (3) สุขภาพทางปัญญาหรือจิตวิญญาณที่เข้าถึงคุณธรรม ความดี และความสงบมั่นคงทางจิตใจอย่างลึกซึ้ง และ (4) สุขภาพทางสังคมหรือทางสัมพันธภาพกับผู้คนและกลุ่มคนในสังคม ดังนั้น ความปรารถนาที่จะมีสุขภาพดีของเราจึงควรเป็น “สุขภาพ” ที่ครอบคลุมบูรณาการความหมายทั้ง 4 ด้านของ “สุขภาพ” จึงจะถือว่าน่าพอใจที่สุด

ข้อที่สี่ หนทางสู่ “สุขภาพ” ที่พึงปรารถนา เป็นเรื่องที่ควรสะสมหรือสร้างสมกันตลอดชีวิต ถ้าเป็นไปได้ คือ ตั้งแต่ก่อนเกิดและในวัยเด็ก (ซึ่งจะต้องดูแลดำเนินการโดยพ่อ แม่) ต่อเนื่องตลอดไปจนชั่วชีวิต เพื่อให้ปัจจัยต่างๆที่มีส่วนช่วยสร้างสุขภาพเกิดขึ้นอย่างดีที่สุดและมากที่สุด ปัจจัยสร้างสุขภาพดังกล่าว ได้แก่   (1) อาหารที่เหมาะสม (2) การออกกำลังกายที่เพียงพอ (3) การพักผ่อนที่เพียงพอ (4) สภาพจิตใจที่ดีพอ และ(5) แบบแผนการดำเนินชีวิต รวมถึงอาชีพการงานและกิจวัตรกิจกรรมต่างๆ ที่มีความเหมาะสม ทั้งนี้โดยไม่เปิดโอกาสให้ข้อบกพร่องหรือความไม่เหมาะสมหรือความไม่สมดุลในทางใดทางหนึ่งหรือหลายทางเกิดขึ้นและสะสมจนเป็นเหตุให้เกิดเป็นโรคภัยไข้เจ็บต่างๆขึ้นในที่สุด

“สุขภาวะ” เป็นเรื่องที่ควร “สร้างสม” ตลอดชีวิต

การ “สร้างสม” ปัจจัยสร้างสุขภาพดังกล่าวข้างต้นนั้น ยิ่งเริ่มได้เร็วเท่าใดก็ดีเท่านั้น ผู้เป็นพ่อเป็นแม่ควรเริ่มให้กับบุตรธิดาของตนตั้งแต่เนิ่นๆที่สุด ยิ่งเริ่มคิดและลงมือทำตั้งแต่ก่อนลูกเกิดหรือเมื่อยังอยู่ในครรภ์มารดาก็เป็นการดี สำหรับผู้ที่เป็นเด็กหรือเยาวชน เริ่มดูแลตนเองได้พอสมควร ก็ควรคิดและปฏิบัติในอันที่จะ “สร้างสม” ปัจจัยสร้างสุขภาพทั้ง 5 ข้อ โดยอาจอยู่ภายใต้การแนะนำดูแลของพ่อแม่ครูอาจารย์ด้วยตามสมควร ส่วนคนที่เจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว ก็ควรดูแลตนเองอย่างเต็มที่ในเรื่องการ “สร้างสม” ปัจจัยสร้างสุขภาพโดยเริ่มคิดและลงมือทำเสียตั้งแต่เนิ่นๆ ซึ่งในขณะนั้นอาจจะคิดว่าตนเองมีสุขภาพดีอยู่ดังเช่นที่ผมเคยคิด แต่ในความเป็นจริง ปัจจัยก่อโรคอาจจะกำลังสะสมมากขึ้นๆโดยเราไม่รู้ตัว ซึ่งกรณีโรคมะเร็งและโรคหัวใจ (และหลอดเลือด) มักมีภาวะเช่นนั้น

ในกรณีที่เราได้ปล่อยให้ปัจจัยก่อโรคมีโอกาสสะสมจนเราเกิดโรคขึ้นจริงๆแล้ว ก็ยังไม่สายเกินไปที่จะคิดแก้ไขและป้องกัน เพราะนั่นคือดีที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ และโอกาสที่โรคจะหายไปหรือไม่กลับมาเกิดอีกก็ย่อมมีอยู่เสมอ โดยยังสามารถใช้หลัก “ปัจจัยสร้างสุขภาพ 5 ประการ” มาประยุกต์ปฏิบัติอันได้แก่ (1) อาหารเหมาะสม (2) ออกกำลังกายเพียงพอ (3) พักผ่อนเพียงพอ (4) พัฒนาจิตใจ (5) แบบแผนการดำเนินชีวิตเหมาะสม

กรณีศึกษาจากประสบการณ์จริง

ผมเองเข้ากรณีที่เพิ่งกล่าวถึง คือ ได้เกิดโรคที่มีความหนักหน่วงถึง 3 ครั้งในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา เป็นโรคเนื้องอกหรือมะเร็ง 2 ครั้ง และโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน 1 ครั้ง ผมจึงต้องให้แพทย์เป็นผู้แก้ไขคือ รักษาด้วยการผ่าตัด (กรณีโรคเนื้องอกหรือมะเร็ง) และสวนหัวใจ (กรณีโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน) ส่วนผมได้เริ่มปฏิบัติในเชิงป้องกันโดยอาศัยหลัก “ปัจจัยสร้างสุขภาพ 5 ข้อ” มาประยุกต์เข้ากับกรณีของตนเอง ดังนี้

  1. อาหาร หลังจากการเจ็บป่วยครั้งล่าสุดซึ่งชี้ว่าอาหารจะเป็นเรื่องหนึ่งที่มีความสำคัญในการป้องกันการกลับมาของโรค ผมได้เลือกที่จะรับประทานอาหารในแนว “ธรรมชาตินิยม” ได้แก่ “แมคโครไบโอติกส์” (Macrobiotics) หรือ “ชีวจิต” โดยประยุกต์ดัดแปลงบ้างตามที่ผมเห็นสมควรเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพของตัวผมและภาวะแวดล้อม อาหารที่เป็นพื้นคือ ข้าวกล้องหรือธัญพืชไม่ขัดสีหรือขัดสีน้อย ผักหลายๆชนิด รับประทานแบบสดหรือปรุงแต่งไม่มาก ถั่วและเมล็ดพืชหลายๆชนิดทั้งเปลือกอ่อนและเปลือกแข็ง ผลไม้หลายๆชนิด ส่วนใหญ่รับประทานแบบสดหรือคั้นน้ำ ซึ่งที่กล่าวมาคืออาหารแนว “ธรรมชาตินิยม” หลักๆ โดยผมได้เสริมด้วยปลาและไข่สลับกันไปมาตามคำแนะนำของแพทย์และนักโภชนาการที่ผมปรึกษาอยู่ เรื่องอาหารแนว “ธรรมชาตินิยม” ยังมีแง่มุมที่พึงปฏิบัติอีกหลายประการ เช่น การเลือกวัตถุดิบ เครื่องมือในการปรุง กรรมวิธีการปรุง วิธีรับประทาน ทัศนคติและ “ธรรมะ” ในการรับประทาน ฯลฯ ซึ่งผมได้พยายามปฏิบัติเท่าที่สามารถทำได้
  2. การออกกำลังกาย ผมพยายามออกกำลังกายทุกเช้าให้ได้อย่างสม่ำเสมอ ความสม่ำเสมอเป็นเรื่องสำคัญพอๆกับวิธีการออกกำลังกายที่ดี ซึ่งต้องเลือกให้เหมาะกับสภาพของแต่ละคน ผมได้เลือกออกกำลังกายที่ประกอบด้วย “การหายใจลึกยาว” ประมาณ 10 นาที “การยืดอวัยวะ” ประมาณ 15 นาที “การเสริมกำลังแขนขา” ประมาณ 10 นาที และ “การเดินเร็ว” ประมาณ 20 นาที รวมทั้งหมดผมใช้เวลาในการออกกำลังกายตอนเช้าประมาณ 1 ชั่วโมง หรือกว่าเล็กน้อย และในระหว่างออกกำลังกายทั้งหมดนี้ ผมพยายามใช้ “สมาธิ” และ “พลังจิต” เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งของ “พลังปราณ” (หรือพลัง “ชี่”) ควบคู่ไปด้วย
  3. การพักผ่อน ผมพยายามเข้านอนให้เป็นเวลาที่ไม่ดึกนัก และพยายามนอนหลับให้ได้ประมาณคืนละ 7 ชั่วโมง ในเรื่องนี้คุณภาพของการหลับเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งกรณีของผมคิดว่ายังไม่ถึงกับดีนักและจะต้องพยายามปรับปรุงพัฒนาต่อไป นอกจากนั้น ผมก็พยายามให้ร่างกายและจิตใจได้พักผ่อนในรูปแบบต่างๆในช่วงเวลากลางวันด้วยเท่าที่พึงทำได้
  4. สภาพจิตใจ ผมโชคดีที่ได้สนใจพยายามพัฒนาสภาพจิตใจโดยอาศัยธรรมะของพระพุทธเจ้ามาตั้งแต่วัยหนุ่มจวบจนปัจจุบัน ทำให้สามารถเผชิญภาวะเป็นโรคประเภทหนักหน่วงทั้ง 3 ครั้งได้โดยมีจิตใจสงบเป็นปกติ มาบัดนี้ที่ผมอยู่ในภาวะเป็นทั้งโรคมะเร็งและโรคหลอดเลือดหัวใจ จึงยิ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาสภาพจิตใจมากขึ้นเพราะเชื่อว่า สภาพจิตใจมีผลอย่างสำคัญต่อการรักษาและป้องกันการเป็นโรคต่างๆโดยเฉพาะโรคมะเร็งและโรคหัวใจ การพัฒนาสภาพจิตใจที่ผมพยายามปฏิบัติ ได้แก่ การปฏิบัติสมาธิวิปัสสนา การฝึกพลังจิต การสร้างทัศนคติเชิงบวกและสร้างสรรค์เกี่ยวกับชีวิต   เกี่ยวกับผู้คนรอบข้าง เกี่ยวกับภาวะแวดล้อมและสถานการณ์ต่างๆที่ต้องเผชิญ และอื่นๆ

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/234131

<<< กลับ

 

ไม่เป็น (โรค) ไม่รู้ (สึก) : “สุขภาวะ” เป็นเรื่องที่ควร “สร้างสม” ตลอดชีวิต (ต่อ)

ไม่เป็น (โรค) ไม่รู้ (สึก) : “สุขภาวะ” เป็นเรื่องที่ควร “สร้างสม” ตลอดชีวิต (ต่อ)


  1. แบบแผนการดำเนินชีวิต ผมพยายามดูแลให้แบบแผนการดำเนินชีวิตของผมอยู่ในแนวพอเพียงพอประมาณและเรียบง่ายราบรื่น  ไม่สุดโต่งเร่งร้อนหรือมีภาวะบีบคั้นกดดันเกินสมควร  ซึ่งควรเป็นผลดีต่อสุขภาพหรือสุขภาวะทั้งทางร่างกายและจิตใจ  คงต้องยอมรับว่าในช่วงที่ผมทำหน้าที่ผู้บริหารในคณะรัฐบาล  การจัดแบบแผนการดำเนินชีวิตอย่างที่ผมคิดว่าเหมาะสม  ย่อมทำให้ยากหน่อย  ครั้นมาบัดนี้ที่ผมเป็นคนเกษียณอายุและพ้นภาระการเป็นผู้บริหารแล้ว  จึงสามารถจัดแบบแผนการดำเนินชีวิตได้ใกล้เคียงกับที่คิดว่าควรจะเป็น

เพื่อ  “สุขภาวะ”  ที่ดีขึ้นของคนทุกคน

                นั่นนั้นคือการพยายามปฏิบัติ 5 ข้อเพื่อพัฒนาและสร้างสม  “ปัจจัยสร้างสุขภาพ”   ซึ่งผมสรุปได้หลังจากการต้องเข้ารับการ  “ผ่าตัดใหญ่”  ครั้งล่าสุด  เมื่อเดือนมิถุนายน  2551  ที่ผมนำมากล่าวถึงในบทความนี้  มิใช่เพื่อแสดง  “สูตรสำเร็จ”  หรือคิดว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุดแต่ประการใด  เป็นความพยายามคิดและทำเท่าที่ผมสามารถคิดได้ทำได้  ภายใต้สถานการณ์ที่ผมเผชิญอยู่  จุดประสงค์ของบทความนี้  รวมถึงการเล่าถึงประสบการณ์และความพยายามของผมในเรื่องสุขภาพ  ก็โดยหวังว่าจะมีส่วนช่วยเป็นข้อมูล  เป็นข้อคิด  และเป็นแรงกระตุ้นให้ผู้ที่สนใจได้นำไปพิจารณาดู  โดยทุกท่านสามารถพิจารณาหาข้อสรุปเองหรือนำสิ่งที่ผมเสนอไปประยุกต์ดัดแปลงให้เหมาะกับสถานการณ์ของแต่ละคนได้ตามที่เห็นว่าสมควร

                ผมหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเห็นคนไทยและคนทั้งโลกมี  “สุขภาวะ”  ดีขึ้น  ทั้งทางกาย  ทางจิตใจ  ทางปัญญาหรือจิตวิญญาณ  และทางสังคม  โดยเฉพาะอยากเห็นว่ามีการ  “ป้องกัน”  และการ  “สร้างเสริมสุขภาพ”  ด้วยการ  “สร้างสมปัจจัยสร้างสุขภาพ”  กันอย่างกว้างขวางตั้งแต่ช่วงต้นของชีวิตหรือโดยเร็วที่สุดต่อเนื่องไปจนตลอดชีวิต  โดยในส่วนของผมเองนั้นยินดีใช้เวลาในช่วงท้ายของชีวิตที่ยังเหลืออยู่  อุทิศให้กับการ  “สนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ”  เท่าที่จะสามารถทำได้

                (ลงในหนังสือ  “สุขภาวะ  สร้างได้”  เรื่องราวดีๆที่สร้างสุขภาวะที่ดีให้ทุกคน  ประกอบด้วยความเรียงจากเด็ก  เยาวชน  คนหนุ่มสาว  และประชาชนจากทั่วประเทศ  พร้อมนักเขียนกิตติมศักดิ์  คำนำโดย  ประเวศ  วะสี  จัดพิมพ์เผยแพร่โดย  สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ  ธันวาคม  2551)

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/234137

<<< กลับ