วิสัยทัศน์สื่อสาธารณะ “ไทยพีบีเอส” (องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย / สสท.)

วิสัยทัศน์สื่อสาธารณะ “ไทยพีบีเอส” (องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย / สสท.)


ทิศทางของไทยพีบีเอส

                – เป็นสื่อกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะที่เป็นของประชาชน ดำเนินงานโดยประชาชนมีส่วนร่วม และมุ่งให้เกิดประโยชน์สร้างสรรค์สูงสุด ต่อประชาชน และต่อสังคม

เนื่องจากที่มาของ ไทยพีบีเอส คือ สื่อสาธารณะของประชาชน การดำเนินงานจึงควรยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งส่วนหนึ่งต้องทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมและมีบทบาทในโทรทัศน์สาธารณะ และสื่ออื่นๆ เพื่อให้เป็นสถานีของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน และยืนอยู่บนพื้นฐานของการสร้างประโยชน์ที่แท้จริงอย่างลึกซึ้งและยั่งยืน

เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมคุณภาพ และอยู่บนพื้นฐานของความเป็นไทย ซึ่งการจะสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งคุณภาพได้นั้น ไทยพีบีเอสจะต้องยืนอยู่บนพื้นฐานของความซื่อตรงต่อจรรยาบรรณ และมีจิตสำนึกสาธารณะ ด้วยการบริการข้อมูลข่าวสารที่เที่ยงตรง รอบด้าน สมดุล ไม่เอนเอียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ทำให้ประชาชนได้คิด วิเคราะห์ และควรให้ความสำคัญกับข่าวชุมชนท้องถิ่นบนพื้นฐานของความหลากหลายทางวัฒนธรรม สะท้อนถึงปัญหาของแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างกระบวนการเรียนรู้ในสังคม เกิดความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน และยังเป็นการสร้างความเข้มแข็งในสังคม โดยสามารถนำประเด็นเนื้อหาในพื้นที่ของตนมาเผยแพร่สู่สาธารณะ จนนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด

ยึดถือประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ เนื่องจากไทยพีบีเอส ต่างจากองค์การสื่ออื่นๆ เพราะไทยพีบีเอส เน้นการรับใช้สังคมเป็นหลัก จึงควรนำเสนอเนื้อหาที่มีคุณภาพ ไม่ผูกติดกับเรตติ้ง แต่ยังคำนึงถึงความเป็นปุถุชนของผู้ชมผู้เป็นเจ้าของ โดยมีความบันเทิงที่มีสาระ และมีสัดส่วนสาระประโยชน์ด้านการศึกษาอย่างเหมาะสมและมีคุณภาพสูง เน้นความหลากหลาย โดยปราศจากอคติทางการเมืองและผลประโยชน์เชิงพาณิชย์

ยกระดับสังคมแห่งภูมิปัญญา ผ่านการให้ความรู้แก่ประชาชนให้ก้าวหน้าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกเพื่อประโยชน์ระดับชาติและระดับท้องถิ่น

ในยุคปัจจุบัน สังคมเติบโตอย่างก้าวกระโดดบนการสื่อสารอย่างไร้พรมแดน ทำให้วัฒนธรรมโลกตะวันตกและตะวันออกเข้ามาสู่สังคมไทยอย่างรวดเร็ว ไทยพีบีเอสจะต้องเป็นสื่อกลางที่ให้สังคมได้เรียนรู้และเข้าใจอย่างรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมรอบข้างอย่างไม่ตื่นตระหนกและไม่นิ่งเฉยจนเกินไป ซึ่งการเรียนรู้นั้นจะต้องคำนึงถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมอย่างเข้าใจ และอยู่ร่วมกันได้ในสังคม โดยไม่ลืมความเป็นไทย

สำหรับการเรียนรู้ในระดับท้องถิ่น บนความงดงามทางวัฒนธรรมที่ฝังรากลึก ต้องมีการเผยแพร่ให้สังคมได้รับรู้ ตลอดจนการปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนในพื้นที่ไม่ลืมตัวตน ไม่ลืมบ้านเกิดและรักถิ่นฐานของตน ทำให้เกิดการกลับไปพัฒนาท้องถิ่นอย่างเข้าใจและยั่งยืน

ส่งเสริมสังคมประชาธิปไตย ไทยพีบีเอสต้องเป็นส่วนหนึ่งของการปลูกฝังให้สังคมเกิดการเรียนรู้ความเป็น “พลเมือง” เพราะประชาชนจะไม่ถูกมองว่าเป็นเพียง “ผู้บริโภค” หรือถูกเอารัดเอาเปรียบในการรับรู้ข่าวสารข้อมูลเพียงด้านเดียวและฉาบฉวย แต่ต้องทำให้เกิดการมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ร่วมกันพัฒนา ร่วมกันเสนอประเด็นในพื้นที่ เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งในสังคม

สนับสนุนกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ ผ่านการเข้าไปสนับสนุนกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ และการจัดกิจกรรมให้กับประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมกับทางสถานี ซึ่งจะเป็นการสร้างความเข้มแข็ง และความยั่งยืนของประชาชนต่อสถานี เช่น การรณรงค์วันครอบครัว ซึ่งถือเป็นสถาบันหลักที่สำคัญของสังคม โดยการสร้างความรัก ความเข้าใจกัน ผ่านกิจกรรมของรายการ และให้ผู้ชมเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งถือว่าเป็นการสื่อสารสองทาง และได้ร่วมมือในทางปฏิบัติ หรือกิจกรรมรณรงค์ให้สังคมได้ตระหนักถึงภัยร้ายที่จะเกิดขึ้นกับสุขภาพและสุขภาวะของประชาชน การสร้างสังคมให้มีสุขภาพและสุขภาวะที่ดี เป็นต้น โดยไทยพีบีเอสต้องเป็นตัวกลางเชื่อมโยงกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อเป็นสื่อกลางในการสื่อสารให้กับสังคม

ปัจจัยสำคัญสู่ความสำเร็จตามวิสัยทัศน์ 

  1. ความเป็นเจ้าของและการมีส่วนร่วมของประชาชนที่เป็นจริงและมีความหมาย

                เนื่องจาก ไทยพีบีเอส เป็นของประชาชน ประชาชนจึงต้องมีส่วนร่วมสูงสุดทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อกำหนดทิศทางการให้บริการของไทยพีบีเอส จึงต้องมีช่องทางที่หลากหลายในการรับฟังความคิดเห็นของผู้ชม ไม่ว่าจะเป็น “สภาผู้ชม” ที่มาจากแต่ละภูมิภาคและความหลากหลายทางสังคมตามกฎหมาย โดยสภาผู้ชม จะคอยติดตาม ตรวจสอบคุณภาพของเนื้อหาที่นำเสนอ เพื่อนำไปสู่การปรับปรุง ซึ่งถือเป็นเครื่องประกันว่าจะไม่หลุดจากความนิยมของประชาชน โดยการนำข้อเสนอแนะจากสภาผู้ชมไปพัฒนาให้ตอบสนองตามความต้องการในบริบทของสังคมไทย และการแทรกแซงก็จะเป็นไปได้ยาก เพราะประชาชนมีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้น พร้อมกับการมีกระบวนการจัดการที่ดี โดยมีการสับเปลี่ยน หมุนเวียน ผู้ที่เข้ามาเป็นตัวแทน เพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาดอำนาจในสภาผู้ชม

                นอกจากนี้ควรเปิดช่องทางรับฟังความเห็นที่หลากหลาย เช่น การสร้างเว็บไซต์เพื่อรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะต่างๆ ซึ่งจะเป็นการสร้างเครือข่ายผู้ชมของไทยพีบีเอสอีกทางหนึ่ง การเปิดสายโทรศัพท์ให้ผู้ชมเสนอแนะ ติชม ร้องเรียน หรือการรับฟังผ่านการเขียนจดหมาย เพื่อให้ความคิดเห็นและคำแนะนำจากสภาผู้ชมและจากผู้ชมที่แสดงความคิดเห็นผ่านมายังสื่อต่างๆ นำสู่การปรับปรุงแผนแม่บทการบริหารกิจการและรายการของไทยพีบีเอส ให้เหมาะสมและทันกับสถานการณ์อย่างดีที่สุด

  1. บทบาทที่สร้างสรรค์และเหมาะสมของคณะกรรมการนโยบาย 

                เพื่อให้เกิดความเป็นอิสระในการพัฒนาสื่ออย่างสร้างสรรค์ บทบาทของคณะกรรมการนโยบายจึงควรเป็นผู้วางทิศทางผ่านการกำหนดนโยบายขององค์กร ตลอดจนการกำหนดข้อบังคับด้านจริยธรรมเพื่อคุ้มครองรักษาความเป็นอิสระ โดยการปฏิสัมพันธ์ของคณะกรรมการนโยบาย และฝ่ายบริหารจัดการต้องเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ และเหมาะสม โดยไม่เข้าไปแทรกแซงการทำงานของฝ่ายปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความเป็นอิสระ

  1. การบริหารจัดการที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพสูง

สิ่งสำคัญของการบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ ต้องเกิดจากการจัดการที่ดีในหลายมิติ ทั้งการวางระบบการจัดการ บุคลากร ข้อบังคับด้านจริยธรรม เทคโนโลยี สภาผู้ชม การสนับสนุนจากประชาชน และจากรัฐบาล

และสิ่งแรกของการนำมาซึ่งการบริหารจัดการที่ดี คือ การได้ผู้อำนวยการสถานีที่ดี เพื่อนำสู่การสร้างบุคลากรที่ดีและมีคุณภาพ สามารถเลือกใช้บุคลากรให้เหมาะสมกับงาน ดังนั้นการสรรหาผู้อำนวยการสถานีจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ควบคู่ไปกับการวางระบบการบริหารจัดการที่มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพ ว่องไว ได้ผล และประหยัดงบประมาณ

  1. บุคลากรสื่อที่มีคุณภาพ ผ่านการสร้างและพัฒนาอย่างสม่ำเสมอ

                 รูปแบบการนำเสนอเพื่อเป็นที่นิยมและน่าติดตาม ส่วนหนึ่งมาจากบุคลากรที่มีคุณภาพ ซึ่ง ต้องผ่านการสร้างและพัฒนาอย่างสม่ำเสมอ โดยการพัฒนาศักยภาพบุคลากร ควบคู่ไปกับการสร้างจิตสำนึกสาธารณะ เพื่อพัฒนาการผลิตรายการที่สร้างสรรค์ และการพัฒนาสัดส่วนรายการที่เหมาะสมกับสังคมไทย

  1. การประยุกต์ใช้หลักการและวิธีการทางการตลาดที่มีประสิทธิผล ทั้งในเชิงผลผลิตขององค์กร และในเชิงสังคม

โดยดึงเทคนิคการตลาด เพื่อดึงความสนใจของคนมาประยุกต์ใช้ควบคู่กับการตลาดทางสังคม เพื่อผลิตรายการที่มีคุณภาพ และตรงตามกลุ่มเป้าหมาย

  1. ความเป็นมืออาชีพและความเคร่งครัดสม่ำเสมอในหลักจรรยาบรรณ

                สร้างและดึงความเป็นมืออาชีพของกรรมการนโยบาย ผู้บริหาร และบุคลากร มาใช้ในการทำงานเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยยืนอยู่บนหลักจรรยาบรรณของความเป็นสื่อสาธารณะ ซึ่งควรประกอบด้วย ความเที่ยงตรง เป็นกลาง และเป็นธรรม ซื่อตรงต่อจรรยาบรรณและความเป็นอิสระของวิชาชีพ รับผิดชอบต่อสาธารณชน สนองผลประโยชน์สาธารณะ เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสิทธิส่วนบุคคล คุ้มครองเด็กและเยาวชน รวมถึงการคำนึงต่อผลกระทบทางจิตใจของการปฏิบัติต่อเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายและผู้ที่อยู่ในภาวะเศร้าโศก

  1. การใช้สื่อหลายระบบและเทคโนโลยีที่เหมาะสมเท่าทันการพัฒนาของสังคม

                ไทยพีบีเอส จะต้องเป็นสื่อสาธารณะที่ก้าวทันต่อการพัฒนาของสังคมและเทคโนโลยี เนื่องจากกระแสโลกาภิวัฒน์ที่นำสู่ความเชื่อมโยงทางเทคโนโลยี ทำให้เกิดการใช้สื่อในหลายช่องทาง ซึ่งไทยพีบีเอส ในฐานะสื่อสาธารณะของประชาชน จึงควรปรับตัวให้ทันต่อพัฒนาการของสังคมและเทคโนโลยี เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงสื่อบนช่องทางที่หลากหลาย ซึ่งปฏิสัมพันธ์และผสมผสานกันได้ด้วย

  1. การศึกษา เรียนรู้ วิจัย และพัฒนา อย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง 

                การพัฒนาสังคมต้องพัฒนาแนวคิดและองค์ความรู้ที่มีอยู่ในสังคมไทย ซึ่งความรู้ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ เช่น รายการสารคดี ยังไม่เพียงพอ ประเทศไทยจะเติบโตได้ต้องมีการพัฒนาแนวคิด รายการสารคดีที่มีประเด็นเนื้อหาของสังคมไทย ให้เกิดการเรียนรู้เข้าใจ ความเป็นมาของประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต วัฒนธรรม หรือความงดงามของความเป็นไทย แม้กระทั่งการเปิดโลกวัฒนธรรมให้กับเพื่อนบ้านได้เห็นความงดงามของไทย

                ดังนั้นควรมีการศึกษา เรียนรู้ วิจัย และพัฒนา อย่างต่อเนื่อง เช่นการศึกษาดูงานจากประเทศอื่นๆ ที่ประสบความสำเร็จในการผลิตรายการที่มีสาระสร้างสรรค์พร้อมกับเป็นที่นิยม เพื่อเป็นข้อมูลนำมาพัฒนารายการใหม่ๆที่เข้ากับบริบทของสังคมไทย ต้องมีการลงทุนที่ดี และอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อให้เกิดความหลากหลายของเนื้อหา และมีรายการในรูปแบบใหม่ๆที่มีคุณภาพ เหมาะกับทุกกลุ่มวัย ตลอดจนการศึกษาพฤติกรรมของกลุ่มผู้ชม เช่น ช่วงเวลาใดที่เด็กรับชมรายการโทรทัศน์มากที่สุด ช่วงเวลาใดที่เป็นกิจกรรมของครอบครัว เพื่อให้การนำเสนอตรงตามความต้องการของผู้ชม โดยไทยพีบีเอสจะต้องเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างรากฐานความรู้ จินตนาการ ให้กับเด็ก เยาวชน และไม่ควรละเลย รายการสำหรับผู้สูงอายุ เช่นกัน

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/229051

<<< กลับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *