ไม่เป็น (โรค) ไม่รู้ (สึก) : “สุขภาวะ” เป็นเรื่องที่ควร “สร้างสม” ตลอดชีวิต (ต่อ)

ไม่เป็น (โรค) ไม่รู้ (สึก) : “สุขภาวะ” เป็นเรื่องที่ควร “สร้างสม” ตลอดชีวิต (ต่อ)


  1. แบบแผนการดำเนินชีวิต ผมพยายามดูแลให้แบบแผนการดำเนินชีวิตของผมอยู่ในแนวพอเพียงพอประมาณและเรียบง่ายราบรื่น  ไม่สุดโต่งเร่งร้อนหรือมีภาวะบีบคั้นกดดันเกินสมควร  ซึ่งควรเป็นผลดีต่อสุขภาพหรือสุขภาวะทั้งทางร่างกายและจิตใจ  คงต้องยอมรับว่าในช่วงที่ผมทำหน้าที่ผู้บริหารในคณะรัฐบาล  การจัดแบบแผนการดำเนินชีวิตอย่างที่ผมคิดว่าเหมาะสม  ย่อมทำให้ยากหน่อย  ครั้นมาบัดนี้ที่ผมเป็นคนเกษียณอายุและพ้นภาระการเป็นผู้บริหารแล้ว  จึงสามารถจัดแบบแผนการดำเนินชีวิตได้ใกล้เคียงกับที่คิดว่าควรจะเป็น

เพื่อ  “สุขภาวะ”  ที่ดีขึ้นของคนทุกคน

                นั่นนั้นคือการพยายามปฏิบัติ 5 ข้อเพื่อพัฒนาและสร้างสม  “ปัจจัยสร้างสุขภาพ”   ซึ่งผมสรุปได้หลังจากการต้องเข้ารับการ  “ผ่าตัดใหญ่”  ครั้งล่าสุด  เมื่อเดือนมิถุนายน  2551  ที่ผมนำมากล่าวถึงในบทความนี้  มิใช่เพื่อแสดง  “สูตรสำเร็จ”  หรือคิดว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุดแต่ประการใด  เป็นความพยายามคิดและทำเท่าที่ผมสามารถคิดได้ทำได้  ภายใต้สถานการณ์ที่ผมเผชิญอยู่  จุดประสงค์ของบทความนี้  รวมถึงการเล่าถึงประสบการณ์และความพยายามของผมในเรื่องสุขภาพ  ก็โดยหวังว่าจะมีส่วนช่วยเป็นข้อมูล  เป็นข้อคิด  และเป็นแรงกระตุ้นให้ผู้ที่สนใจได้นำไปพิจารณาดู  โดยทุกท่านสามารถพิจารณาหาข้อสรุปเองหรือนำสิ่งที่ผมเสนอไปประยุกต์ดัดแปลงให้เหมาะกับสถานการณ์ของแต่ละคนได้ตามที่เห็นว่าสมควร

                ผมหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเห็นคนไทยและคนทั้งโลกมี  “สุขภาวะ”  ดีขึ้น  ทั้งทางกาย  ทางจิตใจ  ทางปัญญาหรือจิตวิญญาณ  และทางสังคม  โดยเฉพาะอยากเห็นว่ามีการ  “ป้องกัน”  และการ  “สร้างเสริมสุขภาพ”  ด้วยการ  “สร้างสมปัจจัยสร้างสุขภาพ”  กันอย่างกว้างขวางตั้งแต่ช่วงต้นของชีวิตหรือโดยเร็วที่สุดต่อเนื่องไปจนตลอดชีวิต  โดยในส่วนของผมเองนั้นยินดีใช้เวลาในช่วงท้ายของชีวิตที่ยังเหลืออยู่  อุทิศให้กับการ  “สนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ”  เท่าที่จะสามารถทำได้

                (ลงในหนังสือ  “สุขภาวะ  สร้างได้”  เรื่องราวดีๆที่สร้างสุขภาวะที่ดีให้ทุกคน  ประกอบด้วยความเรียงจากเด็ก  เยาวชน  คนหนุ่มสาว  และประชาชนจากทั่วประเทศ  พร้อมนักเขียนกิตติมศักดิ์  คำนำโดย  ประเวศ  วะสี  จัดพิมพ์เผยแพร่โดย  สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ  ธันวาคม  2551)

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/234137

<<< กลับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *