สังคมคู่คุณธรรมด้วยบันไดวน 4 ขั้น

สังคมคู่คุณธรรมด้วยบันไดวน 4 ขั้น


(บทความ เรื่อง “สังคมคู่คุณธรรมด้วยบันไดวน 4 ขั้น” จาก นสพ.ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 8 มกราคม 51 หน้า X-CIR 5)

                ชีวิตอยู่ดีมีสุข เป็นความปรารถนาที่เชื่อว่าทุกคนไม่ว่าอายุอานามเท่าไร ทำอาชีพแบบไหนล้วนอยากให้มีอยากให้เป็น แต่อย่างไรก็ตามการเดินสู่เป้าหมายอันเป็นยอดปรารถนาคงไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะในสังคมปัจจุบันที่เกิดความสับสนระหว่างเก่งแต่โกงนั้นควรจะยอมรับกันได้หรือเปล่า

                นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้แสดงปาฐกถาพิเศษเรื่อง “การเสริมสร้างคุณธรรมสำหรับสังคมไทย” เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างคุณธรรมให้เกิดขึ้นกับสังคมไทยต่อไป เมื่อเร็วๆ นี้ในโอกาสการประกาศผลรางวัล “กำพล วัชรพล” สำหรับวิทยานิพนธ์ด้านสื่อสารมวลชน ประจำปี 2550 ณ สำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ซึ่งนับว่าน่าคิดและน่านำไปปฏิบัติได้ และคงทำให้ความปรารถนาเป็นจริงได้ไม่ มากก็น้อย

                นายไพบูลย์ กล่าวว่า “การเสริมสร้างคุณธรรมสำหรับสังคมไทยเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่และสำคัญมาก ผมอยากให้เข้าใจว่าคำว่า คุณธรรม นั้นมีความหมายเดียวกับคำว่า ความดี เพราะคุณธรรมเป็นสิ่งที่ถูกต้องดีงามอยู่ในตัวเอง ทำแล้วจะเกิดผลดีต่อทั้งตนเองและสังคม ซึ่งเฉกเช่นเดียวกันกับความดีนั่นเอง ดังนั้น การจะเสริมสร้างคุณธรรมให้เกิดขึ้นได้นั้น เราต้องเริ่มต้นจากหลักการของบันไดวน 4 ขั้น ดังนี้

                บันไดขั้นที่ 1 การค้นหาความดี การจะสร้างสังคมที่ดีได้นั้นต้องเริ่มจากการค้นหาความดีที่มีอยู่ในตัวของบุคคลนั้นๆ ออกมาให้เป็นที่ประจักษ์ ถ้าเราอยากเห็นคนดีไม่ต้องไปไหนไกล ให้มองที่ตัวเรา , ครอบครัว , เพื่อน และคนรอบข้าง แล้วเราจะเห็นความดีมากมายที่อยู่รายรอบ แต่เราเองกลับทำตรงกันข้าม เราพยายามที่จะค้นหาแต่ความเลว ขยายความเลวที่มีอยู่น้อยนิดให้กับสังคมได้รับรู้ คนไทยมักให้ความสำคัญกับเรื่องร้ายๆ ที่ไม่เกิดประโยชน์ สิ่งดีงามจึงไม่ถูกตีแผ่ให้ปรากฏเท่าใดนัก คนทุกคนย่อมมีสิ่งดีๆ ในตัวเอง มีเกียรติมีศักดิ์ศรีและมีคุณค่า หากมีใครสักคนเห็นคุณค่าในตัวของเราและชื่นชม เราก็คงจะรู้สึกดีและอยากจะทำความดีนั้นต่อไป แต่ในทางกลับกัน ถ้าหากใครคนหนึ่งโดนขุดคุ้ยความเลวที่มีอยู่ให้คนอื่นได้รับรู้ มันก็จะยิ่งเกิดการกระทำที่ต่อต้านและกระทำความเลวนั้นๆ ซ้ำอีก เพราะฉะน การค้นหาความดีเป็นรากฐานสำคัญที่จะช่วยเพิ่มพลังแห่งความดีให้เกิดขึ้นในสังคมไทยได้อย่างน่าอัศจรรย์

                บันไดขั้นที่ 2 การเรียนรู้ความดี เมื่อเราค้นหาความดีจากบันไดขั้นที่ 1 เจอแล้ว เราก็ควรจะเรียนรู้ความดีนั้น ปฏิบัติ พัฒนาและขยายต่อไป อย่างที่เรียกกันว่า การจัดการความรู้ ซึ่งเป็นการเรียนรู้แบบบูรณาการครบด้าน ทำให้ความดีที่มีอยู่ได้เรียนรู้และถูกจัดระบบพร้อมที่จะเคลื่อนไหวต่อไป เพราะฉะนั้นการเรียนรู้ความดี จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้ความดีที่ถูกค้นหานั้นเกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

                บันไดขั้นที่ 3 การสื่อสารความดี การสื่อสารความดีนั้นทำได้ไม่ยาก โดยเริ่มต้นที่ครอบครัวเราก่อน เพราะประชากรในครอบครัวจะมีอยู่น้อยและใกล้ชิด หากสังคมไทยในทุกวันนี้ยังมีข้อจำกัดให้ต้องอยู่ห่างเหินและไกลกัน อาจบั่นทอนความสัมพันธ์นั้นได้ แต่เราก็ยังมีเครื่องมือสื่อสารอย่างโทรศัพท์ที่จะช่วยสานความสัมพันธ์ที่ดีนั้นได้อีกวิธีหนึ่งเช่นกัน แต่ในปัจจุบันเราได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับมหันตภัยของสื่อเนื่องจากเราเสพสื่อกันอย่างผิดประเภท จะมีคำพูดที่ว่า เรื่องดีๆ ขายไม่ได้แต่เรื่องร้ายๆ จะขายได้ดี แต่ผมยังมั่นใจและเชื่อว่ารายการโทรทัศน์ดีๆ ที่เป็นประโยชน์กับสังคมก็ยังเป็นที่นิยมและมีให้เห็นอยู่บ้าง

                บันไดขั้นที่ 4 การขับเคลื่อนความดี ความดีเป็นทุนและประโยชน์ หากความดีนั้นเคลื่อนไหวก็จะงอกเงยและเกิดพลังมากขึ้น เราต้องร่วมกันขับเคลื่อนความดีอย่างเป็นขบวนการ จากระดับล่างขึ้นสู่ระดับบน เช่น เมื่อเห็นความดีของคนในครอบครัว ก็ให้สังเกตดูว่าต้องเพิ่มเติมอะไรตรงไหน และพัฒนาความดีนั้นต่อไปเรื่อยๆ จากการขับเคลื่อนความดีระดับครอบครัว ควรขยายไปที่ระดับชุมชน ระดับองค์กร ระดับพื้นที่ ไปจนถึงการขับเคลื่อนในระดับประเทศ อย่างในหลายๆโรงเรียนที่ยึดหลักวิถีทางพุทธศาสนา ก็เป็นอีกหนึ่งการขับเคลื่อนความดีให้มีพลังและพัฒนาต่อไป

                การจะสร้างความดีนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เราสามารถทำได้อย่างเป็นขบวนการ จากบันไดขั้นที่ 1 ไปจนถึงขั้นที่ 4 วนแบบนี้เรื่อยไป ก็จะได้สังคมที่มีคุณธรรมและมีคุณภาพอย่างแน่นอน

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/158239

<<< กลับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *