ตุ้มโฮมฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่นอีสาน เพื่อการแก้ปัญหาความยากจน

ตุ้มโฮมฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่นอีสาน เพื่อการแก้ปัญหาความยากจน


(28 เม.ย. 48) ตอนเช้าไปร่วมพิธีเปิดโครงการบ้านมั่นคง “ชุมชนตะวันใหม่” (ซึ่งย้ายมาจาก “ชุมชนไดนาโม”) ในเขตเทศบาลนครขอนแก่น โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น (นายเจตน์ ธนวัตน์) เป็นประธาน
“โครงการบ้านมั่นคงสำหรับชุมชนแออัด” ในเขตเทศบาลนครขอนแก่น เป็นความร่วมมือระหว่างเทศบาลนครขอนแก่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น (โดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และคณะมนุษยศาสตร์) และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) โดยสนับสนุนให้ชุมชนแออัดนั้นเองเป็นผู้มีบทบาทสำคัญและเป็นแกนหลักในการพัฒนา
ตอนสายประมาณ 10.00-11.30 น. เดินทางไปที่บริเวณสนามหน้าศาลากลางจังหวัดขอนแก่นซึ่งเป็นที่จัดงาน “มหาบุญไทบ้าน อีสานพอเพียง” เข้าร่วมการบันทึกเทปโทรทัศน์ช่อง 11 รายการ “เวทีชาวบ้าน” หัวข้อ “ตุ้มโฮมฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่นอีสาน เพื่อการแก้ไขปัญหาความยากจน” (“ตุ้มโฮม” คือ ร่วมกัน) ผู้เข้าร่วมรายการเป็นหลักประกอบด้วย 1.คุณสังคม เจริญทรัพย์ (ประธานร่วมศูนย์ต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจน ภาคประชาชน – ศตจ.ปชช.) 2.คุณสมคิด ศิริวัฒนกุล (กรรมการ ศตจ.ปชช.) 3.คุณเจตน์ ธนวัฒน์ (ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น) 4.คุณพิชัย รัตนพล (ประธานสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน – พอช.) และ 5.ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม (ประธานที่ปรึกษาสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน) โดยมีคุณประพจน์ ภู่ทองคำ เป็นผู้ดำเนินรายการ ส่วน “ชาวบ้าน” ที่ร่วม “เวที” ด้วยก็ได้แก่ชาวบ้านที่มาร่วมงาน “มหาบุญไทบ้าน อีสานพอเพียง” ที่ดำเนินมาตั้งแต่วันที่ 26 เม.ย. 49 นั่นเอง
ต่อมาประมาณ 12.00 น. ไปร่วมพิธีเปิด “ศูนย์ประสานงานขบวนองค์กรชุมชนภาคอีสาน” และ “ศูนย์อำนวยการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนภาคประชาชน ภาคอีสาน” ซึ่งอยู่ในบริเวณหน้าศาลากลาง จังหวัดขอนแก่น

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
2 พ.ค. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/26434

<<< กลับ

“โรงเรียนในฝัน” ที่เป็นความจริง และทำมาแล้ว 15 ปี

“โรงเรียนในฝัน” ที่เป็นความจริง และทำมาแล้ว 15 ปี


เยี่ยมศึกษาโรงเรียนสัตยาไส

            เมื่อวันที่ 30 – 31 พ.ค. ที่ผ่านมา ผมร่วมไปกับคณะศึกษาดูงานจาก 25 โรงเรียน ที่เข้าร่วม “โครงการเร่งสร้างคุณลักษณะที่ดีของเด็กและเยาวชนไทย” ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกับศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม (ศูนย์คุณธรรม) สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) จัดขึ้น ซึ่งจากโครงการดังกล่าวนี้เอง ทำให้ทราบถึงสถานศึกษาที่เน้นการพัฒนาคุณธรรมนำการเรียนรู้ของนักเรียน ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ “โรงเรียนสัตยาไส” (Sathya Sai School) อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี และพวกเราก็ได้ไปเยี่ยมชมกัน

                โรงเรียนสัตยาไส ก่อตั้งและอำนวยการโดย ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ดำเนินงานมา 15 ปีแล้ว ปัจจุบันมีนักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาล 1 ถึง มัธยม 6 รวมประมาณ 350 คน ครูประมาณ 50 คน นักเรียนอนุบาลมาเรียนเฉพาะกลางวัน นักเรียนประถมฯ และมัธยมฯ อยู่ประจำ

นอกจากโรงเรียนสัตยาไส แล้วยังมี “สถาบันการศึกษาสัตยาไส” (Institute of Sathyasai Education) สำหรับผู้ต้องการเรียนรู้วิธีการศึกษาแบบสัตยาไส ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวต่างประเทศ และปัจจุบันได้มีการก่อตั้งโรงเรียนแบบสัตยาไสแล้ว 57 โรงเรียนใน 35 ประเทศ โดยเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายซึ่งกันและกันด้วย

แรงบันดาลใจจากท่านสัตยาไส บาบา

โรงเรียนสัตยาไสในประเทศไทย (ซึ่งได้เป็นต้นแบบของโรงเรียนสัตยาไสในประเทศอื่นๆ) เกิดขึ้นจากแรงบันดาลใจที่ ดร.อาจอง ได้รับจากการได้ไปพบท่านสัตยาไส บาบา ที่เมืองพุทธปาตี ประเทศอินเดีย เมื่อประมาณ 25 ปีก่อน โดยท่านสัตยาไส บาบา แนะนำ ดร.อาจอง ว่า ควรใช้เวลาที่เหลือของชีวิตพัฒนาเรื่องการศึกษา โดยควรเป็นการศึกษาที่มีคุณธรรมด้วย

ดร.อาจอง อุทิศตนเต็มที่ให้กับการอำนวยการและดูแลโรงเรียนสัตยาไส ใช้เวลาส่วนใหญ่กินอยู่และอำนวยการเรียนการสอนที่นั่น ตื่นแต่เช้าประมาณ 04.30 น. ร่วมนำการสวดมนต์ การปฏิบัติสมาธิ และการเรียนรู้เรื่อง “คุณค่าความเป็นมนุษย์” ฯลฯ ร่วมกันของนักเรียนที่อยู่ประจำทั้งหมดทุกๆเช้า เริ่มแต่ 05.00 น. ก่อนที่จะไปทำกิจกรรมอื่นๆ รวมถึงการรับประทานอาหารเช้า การเข้าแถวหน้าเสาธง ฯลฯ

โรงเรียนสัตยาไส ใช้หลัก “Educare” โดยมุ่งดึงสิ่งที่ดีจากนักเรียน ตั้งคำถามที่ดีและสร้างสรรค์ โน้มนำให้สวดมนต์ ปฏิบัติสมาธิ ระลึกถึงบุญคุณของผู้อื่น บุญคุณของสรรพสิ่ง มีความนอบน้อม มีความเคารพ มีความเมตตากรุณา ฯลฯ อยู่เป็นปกตินิสัย

คุณธรรม 5 ประการในการดำเนินชีวิตและกิจกรรม

“คุณธรรม 5 ประการ” ซึ่งถือเป็นหลักในการดำเนินชีวิตและดำเนินกิจกรรมทั้งหลายในโรงเรียนสัตยาไส คือ (1) เปรมา (ความรักความเมตตา) (2) สัตยา (ความจริง) (สัตยาไสย = มารดาแห่งความจริง) (3) ธรรมะ (การประพฤติชอบ) (4) สันติ (ความสงบสุข) (5) อหิงสา (การไม่เบียดเบียน)

และมีเป้าหมายในการจัดการศึกษาตามอักษรย่อที่รวมกันเป็นคำว่า “EDUCATION” ดังนี้

  • Enlightenment                         (การรู้แจ้ง)
  • Duty and Devotion                (การปฏิบัติหน้าที่และการเสียสละอุทิศตน)
  • Understanding                         (ความเข้าใจถ่องแท้)
  • Character                                  (อุปนิสัยที่ดีงาม)
  • Action                                         (การนำความรู้ไปปฏิบัติ)
  • Thanking                                  (การมีใจกตัญญูรู้คุณ)
  • Integrity                                    (ความมีเกียรติ)
  • Oneness                                     (ความมีใจสมาน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน)
  • Nobility                                      (ความสง่างาม)

โรงเรียนใช้หลักการ “การเรียนรู้โดยนักเรียนเป็นศูนย์กลาง” และ “การเรียนรู้แบบบูรณาการ” เช่น ให้นักเรียน (เริ่มแต่ชั้นอนุบาล) ร่วมกำหนดหัวข้อและวิธีที่จะเรียนรู้ แล้วครูเป็นผู้เอื้ออำนวย (ไม่ใช่สอน) ให้นักเรียนได้เรียนรู้ โดยเน้นการเรียนรู้จากการได้ปฏิบัติ ได้เห็นได้ฟัง ได้สัมผัส ได้ทดลอง ได้คิด ฯลฯ อย่างเหมาะสม

 

การเรียนรู้อย่างบูรณาการ

ในส่วนของการเรียนรู้อย่างบูรณาการก็มีตัวอย่างของการ “บูรณาการการเรียนรู้ เรื่องสุขกาย สบายใจ ซึ่งนักเรียนชั้น ม.1 – 2 – 3 เรียนด้วยกัน เริ่มต้นด้วยการนั่งสมาธิร่วมกัน แล้วแบ่งเป็น 4 กลุ่ม แยกย้ายไปเรียนรู้ไปตามฐานการเรียนรู้ 4 ฐาน กลับมารวมกันในช่วงท้าย แต่ละกลุ่มนำเสนอผลการเรียนรู้จากแต่ละฐานพร้อมอภิปราย แล้วจบด้วยการทำสมาธิ แผ่เมตตา และทำความเคารพ

สำหรับสาระที่มีการเรียนรู้จากแต่ละฐาน ประกอบด้วยสาระการเรียนรู้ 8 กลุ่ม ได้แก่

(1) ภาษาไทย (เรียนรู้มารยาทในการสนทนาเพื่อให้ผู้อื่นรู้สึกดี)

(2) สังคม ศาสนา และวัฒนธรรม (เรียนรู้เรื่องคุณธรรมกับการดำรงชีวิต)

(3) ดนตรี (ขับร้องเพลง Think good – Speak good – Do good)

(4) คณิตศาสตร์ (เรียนรู้เรื่องปริมาณ)

(5) วิทยาศาสตร์ (เรียนรู้เรื่องสารเสพติดประเภทต่างๆและผลกระทบต่อระบบในร่างกาย)

(6) การงาน อาชีพ และเทคโนโลยี (เรียนรู้การทำยำผลไม้ อาหารที่ให้ประโยชน์ต่อร่างกาย)

(7) สุขศึกษา และพลศึกษา (เรียนรู้ประโยชน์ของการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพที่ดีพร้อสำหรับวัยที่กำลังเจริญเติบโต)

(8) ภาษาต่างประเทศ (เรียนรู้ศัพท์ภาษาอังกฤษจากบทเพลงและกิจกรรมคุณค่าความเป็น มนุษย์)

เพลง “Think good – Speak good – Do good” หรือ “Thought, Word and Deed”

Think good, speak good, do good.

This should be our creed.

Serving others as we should,

In thought, word and deed.

Life is not so easy, but if we’re to

be free, we must create unity

between the following three :

Think good, speak good, do good.

ศีล สมาธิ ปัญญา เมตตา คุณธรรม

โรงเรียนสัตยาไสได้นำหลัก “ศีล สมาธิ ปัญญา” มาประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอน เน้น “ความรักความเมตตา” และ “คุณธรรม” โดยบูรณาการเข้าไปในการเรียนการสอนและกิจกรรมทั้งหลาย เช่น ก่อนรับประทานอาหาร จะมีการสวดมนต์ ขอบคุณพ่อแม่ ครู ธรรมชาติ โดยนักเรียนนำกล่าวถ้อยคำ “ข้าวทุกจาน อาหารทุกอย่าง …..” ตามด้วยการพูดเป็นภาษาอังกฤษ (เด็กอนุบาลก็พูดอย่างนี้ ทั้งสองภาษา)

บทบาทของครู ถือว่าสำคัญมาก ต้องเข้าใจผู้เรียน มีบทบาทเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ ครูที่ดีไม่ควรเป็น “ผู้สอน” ครูต้องเป็นแบบอย่าง ไม่แนะนำให้ทำในสิ่งที่ครูทำไม่ได้ ไม่ควรพยายาม “สอนคุณธรรม” แต่ควรพยายามดึงความดีออกมาจากนักเรียน (Educare) ควรใช้วิธีจัดการเรียนรู้แบบ “ร่วมมือกัน” (พหุปัญญา) ไม่ใช่แบบ “แข่งขันกัน” ควรให้นักเรียนมีบทบาทในการเลือกว่าจะเรียนอะไร เรียนอย่างไร ที่ไหน ฯลฯ

จากคำพูดของนักเรียนเอง

ผลการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนสัตยาไส นับว่าน่าพอใจทีเดียวเช่น จากคำพูดของนักเรียนเองหลายคน (ชั้น ม.6) ดังต่อไปนี้

“เรียนที่นี่ ทำให้มีอุปนิสัยดีขึ้น มีสติ รอบคอบ”

“มีโอกาสเล่นกีฬา ปีนต้นไม้ และอื่นๆ คิดว่าดีกว่าเด็กในกรุงเทพฯ”

“มาเรียนแล้วพ่อแม่เอาใจใส่มากขึ้น ตัวเองก็พอใจไปกับพ่อแม่มากขึ้น”

“ไม่พกเงิน ไม่พกโทรศัพท์ มีความปลอดภัย”

“เห็นเพื่อนตั้งใจเรียน จึงต้องทำบ้าง”

“เคยใจร้อน เกเร เดี๋ยวนี้ใจเย็นขึ้น มีเหตุผล รับผิดชอบ รักพ่อแม่ มีสมาธิ มีคุณธรรม”

“เคยเป็นคนเกเร ไม่อยากมาอยู่โรงเรียนสัตยาไส พ่อหลอกให้มา ให้ลองอยู่ 1 ปีแลวจะออกก็ได้ หลังจากครบ 1 ปี ก็เลือกที่จะอยู่ต่อ เพราะได้พบอะไรดีๆหลายอย่าง ได้สร้างความสามารถที่ไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีอยู่”

“เคยชอบเล่นเกม กลับมาชอบกีฬามากกว่า”

“เคยสมาธิสั้นมาก มาได้ฝึกสมาธิ มีสติมากขึ้น”

“เคยอารมณ์ร้อนมาก ฝึกสมาธิแล้ว ใจเย็นลง ดีขึ้นมาก”

“ผลการเรียนดีขึ้น มีจิตสำนึกที่ดี รู้จักบาปบุญคุณโทษ”

“โดนหลอกมาอย่างคุ้มค่า! เคยเรียนได้ผลต่ำมาก และโดดเรียนเป็นประจำ เคยลองทุกสิ่งทุกอย่างที่ไม่ดีอย่างสุดๆ มาอยู่ที่นี่ ได้ค้นพบความสามารถและได้แสดงความสามารถ เดี๋ยวนี้ไปหาแม่ แม่มีความสุข”

เป็นโรงเรียนตามระบบฯพร้อมกับเป็น “โรงเรียนในฝัน”

โรงเรียนสัตยาไส เป็นโรงเรียนตามระบบที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด แต่เพิ่มเติมองค์ประกอบและมิติต่างๆเข้าไปอีก จากคำพูดของ ดร.อาจอง “ถ้านับตามระบบของกระทรวงศึกษาธิการต้องมี 100 เราเติมเข้าไปอีก 200” นักเรียนของโรงเรียนสัตยาไสเข้าสอบตามระบบของกระทรวงศึกษาตามปกติ และสอบได้ดี ไม่มีปัญหา มีนักเรียนจบ ม.6 มาแล้ว 3 รุ่น ทุกรุ่นสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ทุกคน (100%) ดร.อาจอง เป็นครูประจำชั้น ม.6 เอง พร้อมทั้งสอนวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และภาษาฝรั่งเศสด้วย

นักเรียนที่โรงเรียนสัตยาไส ไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน แต่ต้องเสียค่าอาหาร บวกค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดรวม 10,000 บาทต่อเทอม (5 เดือน) และอาหารเป็นมังสวิรัติตลอด

โรงเรียนมีเนื้อที่ทั้งหมดกว่า 300 ไร่ ใช้ปลูกข้าวประมาณ 60  ไร่ ข้าวที่ปลูกนำมากินเป็นอาหารสำหรับนักเรียนและครูได้อย่างเพียงพอ รวมทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้เชิงปฏิบัติของนักเรียนด้วย ดร.อาจอง กล่าวว่า “ที่นี่เราพยายามใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงเท่าที่ทำได้”

ยังมีสาระสำคัญที่น่าประทับใจและน่าสนใจอีกมากเกี่ยวกับโรงเรียนสัตยาไส ซึ่งไม่สามารถนำมากล่าวได้หมดแม้จะพยายาม ถ้าจะสรุปก็อาจพูดว่า

“นี่คือโรงเรียนในฝันที่เป็นความจริง และทำมาแล้ว 15 ปี”

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

20 มิ.ย. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/34744

<<< กลับ

โรงเรียนวิถีพุทธน่าชื่นชม : โรงเรียนบ้านจ้อง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่

โรงเรียนวิถีพุทธน่าชื่นชม : โรงเรียนบ้านจ้อง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่


     (7 มิ.ย. 49) ร่วมกับคณะที่ประสานงานโดย “ศูนย์คุณธรรม” ไปเยี่ยมศึกษาการดำเนินงานของ โรงเรียนบ้านจ้อง ต.ตลาดใหญ่ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ (ก่อนเดินทางต่อไปประชุม “เครือข่ายสร้างสังคมคุณธรรม ครั้งที่ 1” ที่โรงแรมวายเอ็มซีเอ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ในวันเดียวกัน ดังนั้น จึงมีเวลาเยี่ยมศึกษาโรงเรียนบ้านแม่จ้องในเวลาเพียงสั้นๆประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง)

โรงเรียนบ้านแม่จ้องเป็นหนึ่งใน “โรงเรียนวิถีพุทธ” ซึ่งมีจำนวนนับหมื่นโรงเรียนทั่วประเทศ แต่ที่ทำอย่างจริงจังและทำได้ดีอย่างโรงเรียนบ้านแม่จ้องน่าจะยังมีไม่มากเท่าใด

สำหรับโรงเรียนบ้านแม่จ้อง ได้รับเลือกจาก สพฐ. (สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน) ให้เป็น “โรงเรียนต้นแบบวิถีพุทธ” หรือ “โรงเรียนวิถีพุทธกัลยาณมิตร” ซึ่งได้แก่ โรงเรียนที่ผู้บริหารและคณะครูมีความปรารถนาที่จะนำหลักธรรมสอดแทรกเข้าไปในวิถีชีวิตของครู นักเรียน และชุมชน อย่างจริงจัง และผู้บริหารและครูมีความทุ่มเท มีความรักกับงานโรงเรียนวิถีพุทธ ตลอดจนมีศักยภาพความพร้อมที่จะพัฒนาตนเองเป็นแม่ข่ายให้กับโรงเรียนวิถีพุทธอื่นๆ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ช่วยเหลือเกื้อกูล และก่อให้เกิดพัฒนาไปด้วยกันและร่วมกันอย่างต่อเนื่อง

จากการเยี่ยมศึกษาเพียงชั่วโมงครึ่ง ได้เห็นและได้ฟังเรื่องน่าสนใจและน่าชื่นชมมากทีเดียวเกี่ยวกับโรงเรียนบ้านแม่จ้อง ซึ่งมีอาจารย์สนธิชัย สมเกตุ เป็นผู้อำนวยการ และคุณอนันต์ ยอดยิ่ง เป็นประธานคณะกรรมการสถานศึกษา มีนักเรียนชั้นอนุบาลถึง ป.6 รวมประมาณ 120 คน

การสร้างสรรค์ที่สำคัญ คือ การบูรณาการวิถีพุทธตลอดกระบวนการตั้งแต่นักเรียนมาถึงโรงเรียนจนกลับบ้าน ใช้หลัก “ศีล – สมาธิ – ปัญญา”, “Constructionism”, และ “บ-ว-ร (บ้านวัดโรงเรียน) แบบแม่จ้อง” ในการจัดการเรียนการสอนและการบริหารจัดการ

มีวิธีการบางอย่างที่เป็นนวัตกรรมแปลกจากที่ปฏิบัติกันทั่วไป (ห้องเรียนใต้ต้นไม้ เรียกห้องเรียนว่า “บ้าน…..” โดยไม่ระบุชั้น ให้นักเรียนนั่งกับพื้นรอบโต๊ะเรียนแทนนั่งเก้าอี้ ฯลฯ) แต่วิธีเหล่านี้ก็เป็นที่ยอมรับและเป็นโรงเรียนที่มีคนมาศึกษาดูงานกันมาก

ผลงานดีเด่นที่ภาคภูมิใจ ได้แก่ การได้รับรางวัลชนะเลิศ โรงเรียนส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมดีเด่นระดับประเทศ ประจำปี 2548 ได้รับรางวัลชนะเลิศโรงเรียนรางวัลพระราชทาน ระดับประถมศึกษาโรงเรียนขนาดเล็ก ประจำปี 2548 และอื่นๆ อีกมาก

ปัจจัยที่ช่วยให้ประสบความสำเร็จ ได้แก่ การที่คณะผู้บริหาร คณะครู และชุมชน ตลอดจนเจ้าอาวาสและพระที่วัดซึ่งอยู่ติดกับโรงเรียน มีความร่วมมือกันดี ผู้บริหารและครูเป็นคนดี ปลอดอบายมุข รวมทั้งมีความอุทิศตน มีความมุ่งมั่นพยายาม มีความสามารถ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และปัจจัยอื่นๆ

สรุปแล้ว เป็นการเยี่ยมศึกษาแบบสั้นๆ ที่สร้างความประทับใจ ความชื่นชมยินดี และแรงบันดาลใจ ให้แก่คณะผู้เยี่ยมศึกษาได้ดีทีเดียว

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

26 มิ.ย. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/35689

<<< กลับ

“วิสัยทัศน์” (VISION) อนาคตการศึกษาไทย

“วิสัยทัศน์” (VISION) อนาคตการศึกษาไทย


เรื่องการศึกษาของไทยมีความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าสังคมไทยได้รับการขัดเกลาโดยระบบการศึกษาที่เป็นอยู่มากว่า 100 ปีแล้ว แต่ความคาดหวังของสังคมที่จะให้การศึกษาไทยไปสู่ทิศทางที่ต้องการคือความสุขของทุกคนก็ยังไปไม่ถึง ดังนั้นทุกคน ทุกองคาพยพ จะต้องทำหน้าที่เคลื่อนตัวไปสู่เป้าหมายให้ได้

            วารสาร “วงการครู” ได้มาสัมภาษณ์แล้วนำไปลงเป็น “เรื่องจากปก” ฉบับ เดือนพฤษภาคม 2549 โดยใช้หัวข้อและมีสาระดังต่อไปนี้

              “ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม กับ VISION อนาคตการศึกษาไทย”

                  ทีมงานกองบรรณาธิการวารสาร “วงการครู” ได้สัมภาษณ์พิเศษ นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม บุคคลที่เป็นทั้งนักปราชญ์ นักคิด นักปฏิบัติ เคยทำงานคลุกคลีมาแล้วหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม ชุมชน โดยเฉพาะด้านการศึกษาถือเป็นผู้หนึ่งที่มีส่วนสำคัญในการร่วมร่าง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติฉบับปัจจุบัน ซึ่งท่านสะท้อนให้เห็นถึงอนาคตการศึกษาของไทย กับแนวทางที่จะก้าวไปสู่เป้าหมายของสังคมที่คาดหวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนในแวดวงการศึกษาน่าจะหยิบยกบางประเด็นไปประยุกต์ใช้ได้

    

          ถาม หัวใจหลักของการปฏิรูประบบการศึกษาไทย ในมุมมองของท่านมีแนวทางอย่างไรบ้าง

            ตอบ ประเด็นหลักๆที่ต้องพิจารณาได้แก่ ประการแรก เน้นการเรียนการสอน ข้อสำคัญผู้เรียนจะต้องเป็นศูนย์กลางของการเรียนการสอน ไม่ใช่ อาจารย์ หรือครู และการเรียนรู้นั้นจะต้องเป็นความรู้ที่นำไปสู่การปฏิบัติได้ในชีวิตจริง ซึ่งผู้เรียนต้องได้ความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้องด้วย เป้าหมายของการเรียนการสอนนั้นต้องได้ 3 อย่าง คือ 1. ความดี 2. ความสุข และ 3. ความสามารถ การเรียนการสอนหากเริ่มกันที่ความดีแล้ว เรื่องของความสุขจะตามมา เมื่อเกิดความสุข พลังที่จะพัฒนาความรู้ความสามารถนั้นก็จะเกิดขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก ซึ่งทั้ง 3 ตัวนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ก็สามารถที่จะทำได้ โดยแกนหลักคือรัฐบาลนั่นเอง ถ้ารัฐบาลหรือกระทรวงศึกษาฯมองในเรื่องดังกล่าว ทุกกระบวนการจะเดินตามอย่างที่ว่าได้ แต่ในขณะนี้บอกว่า เก่ง ดี มีความสุขเหมือนเป็นการกระตุ้นถึงความเก่ง การเก่งคือการเอาชนะ ต้องยึดตัวเองเป็นหลัก เอารัดเอาเปรียบ เพื่อประโยชน์ของตัวเองฝ่ายเดียว เมื่อใดก็ตามที่ไม่เก่ง ไม่เป็นผู้ชนะ ไม่มีสิ่งใดมาชดเชยชีวิตได้ ก็ลงเอยด้วยความทุกข์ เป็นความเลวร้ายที่ทรุดโทรมลงเรื่อยๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าห่วงเช่นกัน

ประการที่2 ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับครู การพัฒนาครูก็สำคัญยิ่ง การสร้างครู การดูแลครู ให้เป็นผู้ที่มีความดี ความสุข และความสามารถนั้น ต้องพิจารณา เพราะเมื่อครูมีทั้งความดี ความสุขและความสามารถแล้ว ครูก็สามารถทำหน้าที่ที่ดี รัฐบาลจึงควรจะทำให้ครูมีครบทั้ง 3 อย่างนี้ ดูตัวอย่างง่ายๆ เรื่องของหนี้สินครู ซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่คู่กับครูมาตลอดนั้น ทำให้ครูมีความทุกข์ แล้วการพัฒนาความรู้ความสามารถก็จะไม่เต็มที่

สำหรับประการสุดท้าย เป็นเรื่องของระบบบริหารการศึกษา ตรงนี้ต้องมองไปที่ ปรัชญา แนวคิด นโยบาย ก็คือ พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติที่ทำโดยรัฐบาล รวมถึงการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น ต้องมีองค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแล คงต้องปฏิบัติหรือพัฒนาให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งก็เป็นเรื่องของเขตพื้นที่การศึกษา เรื่องของการกระจายอำนาจไปสู่ส่วนท้องถิ่น เรื่องของการศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบ ในระดับอุดมศึกษา เป็นต้น ทั้งหมดนี้ต้องปฏิรูปการบริหารจัดการ เรื่องของคุณภาพ และความมีประสิทธิภาพ จะต้องสอดคล้องกับ ปรัชญา แนวคิด หลักการที่ดี ซึ่งปรากฏอยู่ใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาตินั่นเอง

ความจริง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติในปัจจุบันดีมาก แต่การนำไปปฏิบัติยังไม่สัมฤทธิ์ผล ล้วนแต่เกิดจากระบบการบริหารไม่เข้มแข็ง หรือการบริหารจัดการไม่ดีพอไม่มีประสิทธิภาพ เช่น การเน้นปฏิรูปหรือให้ความสำคัญในเรื่องของการปรับโครงสร้าง ของกระทรวง หรือหน่วยงานภายในกระทรวงเอง นำสู่ปัญหาข้อขัดแย้งหลายอย่าง ดังนั้นทุกอย่างต้องเริ่มที่รัฐบาล กระทรวงศึกษาฯ สถาบันการศึกษาต่างๆ ที่จะต้องนำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง

“หากจะปฏิรูปการศึกษา ต้องเน้นการปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนรู้ ไม่ใช่แค่เพียงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเท่านั้น”

ถาม กรณีการกระจายอำนาจนำระบบการศึกษาไปให้ส่วนท้องถิ่นจัดการดูแล ท่านเห็นด้วยหรือไม่

ตอบ เรื่องการศึกษาเป็นเรื่องของการสร้างและพัฒนาคน ให้เป็นคนดี มีคุณภาพในอนาคต ดังนั้นทุกคนควรจะมีการร่วมมือกัน ลูกหลานก็เป็นคนท้องถิ่นนั้นๆ โดยหลักการควรจะมีกลไกในการจัดการดูแลตนเอง นั่นก็คือท้องถิ่นน่าจะเป็นผู้ที่ดูแลจัดการ ซึ่งเป็นเรื่องที่เหมาะสมดีกว่าคนอื่นมาดูแลจัดการเพราะท้องถิ่นเป็นเจ้าของพื้นที่ เป็นเรื่องของประชาชนในท้องถิ่น และเป็นเรื่องของลูกหลานเขา ฉะนั้น ลูกหลานของคนในพื้นที่ ในชุมชน เขาต้องดูแลอย่างดีเพื่อพัฒนาลูกหลานเขาในอนาคต ก็เป็นเรื่องที่เหมาะสม กระทรวงศึกษาธิการเป็นหน่วยงานกลางในระดับชาติ มีหน้าที่ในเชิงยุทธศาสตร์ นโยบาย สนับสนุน กำกับดูแลในเรื่องที่สำคัญๆเชื่อมโยงทุกส่วน ซึ่งบทบาทของท้องถิ่นกับกระทรวงศึกษาฯต้องประสานพลังเพื่อการพัฒนาบุคลากร เด็ก และเยาวชน ประเด็นอยู่ที่ว่า ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาฯจัดการแบบรวมศูนย์ พอเปลี่ยนมาเป็นการกระจายอำนาจ ช่วงเปลี่ยนถ่ายนี้เองมันเป็นศิลปะและสำคัญมาก ที่มีปัญหาขึ้นมาเพราะใช้กระบวนการที่มีปัญหา จึงจัดการไม่ได้ ผมคิดว่าต้องมีการออกแบบวิธีการให้ดี โดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านทรัพยากรต่างๆให้มีคุณภาพ เป็นเรื่องของการประสานบทบาทของแต่ละฝ่าย ส่วนกลางกำกับดูแลในเชิงยุทธศาสตร์ ส่วนท้องถิ่นให้ประชาชนดูแลกันเอง คิดว่าจะดีขึ้น ขณะนี้มีท้องถิ่นหลายแห่งที่มีการจัดการศึกษาเองได้ดีอยู่แล้ว

            ถาม เรื่องหนี้สินครู ท่านใกล้ชิดปัญหามากสมัยเป็นผอ.ออมสิน มีแนวทางช่วยเหลือครูอย่างไร

            ตอบ สมัยผมเป็นผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ได้เห็นปัญหาความทุกข์ของครูมาก โดยเฉพาะเรื่องหนี้สินครู ผมเลยจัดตั้ง “โครงการพัฒนาชีวิตครู” โดยใช้เงินกองทุนของออมสินกว่า 40,000 ล้านบาท ช่วยแก้ปัญหาหนี้สินครูได้ในระดับหนึ่งประมาณ 50,000 – 60,000 คน และขณะนี้ก็ยังช่วยเหลือกันอยู่ หนี้สินครูเป็นปัญหาสั่งสมมานาน แต่ต้องสร้างกลไกในเรื่องของการพึ่งตนเอง และร่วมมือกัน ใช้หลักการคือเจ้าของปัญหาต้องเป็นคนแก้ปัญหา เป็นการร่วมมือกันระหว่าง ศธ. ธนาคารออมสิน และครู ช่วงหลังมามีการประสานอีกหน่วยงานคือสหกรณ์ออมทรัพย์ครูมาร่วมด้วย ขณะนี้มี สกศค. (สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา) ดูแลอยู่ แต่ต้องสานต่อในเชิงพัฒนาให้มาก แล้วสิ่งต่างๆจะตามมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของทัศนคติ ความร่วมมือ ความสามารถในการจัดการ ยังต้องแก้ไข โครงการนี้ไม่ใช้งบประมาณของรัฐ แต่ใช้เงินธนาคารออมสินเป็นหลัก เรื่องหนี้สินครูขณะนี้กระทบหนักเหมือนกัน ครูที่เป็นหนี้มากเกินกำลังส่งคืนั้นมีจำนวนกว่าแสนคน นี่คือความทุกข์ของครู แต่จะคลี่คลายได้ถ้ารัฐรู้ปัญหา รู้วิธีการ มีความมุ่งมั่นที่ดี ก็น่าจะแก้ไขปัญหาได้  

            ถาม การศึกษาของบ้านเราเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านแตกต่างกันแค่ไหน

            ตอบ เท่าที่ทราบในต่างประเทศ อย่างเวียดนาม ให้ความสำคัญกับอาชีพครูมาก ซึ่งครูมีรายได้สูง เป็นอาชีพที่ได้รับการส่งเสริมและมีเกียรติ เมื่อมาดูบ้านเราในอดีต ข้าราชการครูจะเป็นผู้ที่ได้รับการเคารพนับถืออย่างมาก คนเมื่อก่อนอยากเป็นครูเพราะได้รับการเชิดชูจากสังคม แต่เดี๋ยวนี้มันผิดแผกไปจากเดิม คนที่เคยเป็นครูก็ไม่อยากเป็นครู กลายสภาพเป็นอาชีพที่อยู่ในลำดับท้ายๆในสังคมไทยไป ตรงนี้ล้วนมาจากหลายๆ สาเหตุ แต่ข้อสำคัญคือเกิดจากระบบราชการที่อ่อนด้อยมายาวนาน เป็นผลให้เกิดความอ่อนด้อยของข้าราชการเอง ตัวข้าราชการเสื่อมถอย ความจริงในเรื่องการศึกษานั้นคนที่สำคัญคือตัวครู การที่ครูมีคุณภาพด้อยลงจึงมีผลกระทบมาก แต่การที่จะทำให้ครูมีศักยภาพสูงก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ อธิบดีเก่งหนึ่งคนไม่มีความหมาย เมื่อครูด้อยก็จะกระทบในเรื่องของการพัฒนาความรู้ความสามารถเมื่อสะสมนานๆ เข้าจึงน่าเป็นห่วง ดังนั้นเราต้องสร้างครูใหม่ ซึ่งต้องใช้เวลา

            ถาม ในอนาคตอยากเห็นการศึกษาไทยแบบไหน

            ตอบ ต้องมองที่รัฐบาลว่าจะมีนโยบาย ยุทธศาสตร์ ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไร เพราะจุดที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้คือรัฐ เพราะเป็นหน่วยงานที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ รัฐต้องมีนโยบายรวมถึงยุทธศาสตร์ที่ดี และต้องรวมพลังกับคนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ตัวครู และบุคลากรส่วนต่างๆล้วนเป็นพลังที่จะต้องพูดจากับรัฐบาล นอกจากนี้ก็มีผู้ปกครอง เยาวชน ซึ่งควรมีบทบาทสำคัญที่ต้องแสดงออกถึงความต้องการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็เช่นกัน มีส่วนในการเข้ามาช่วย และ หลายๆ ฝ่ายต้องประสานเชื่อมโยงแลกเปลี่ยน เรียนรู้ ที่จะนำไปสู่การพัฒนาให้เกิดขึ้น สิ่งที่ออกมาคือการกระทำน่าจะไปในทางที่ดีขึ้น กระทรวงศึกษาฯเอง มีคนเก่งเยอะมาก แต่ก็น่าฉงน ที่ไม่สามารถจัดการเรื่องการศึกษาให้ดีขึ้นได้ หรือจะเป็นเพราะฝ่ายการเมือง ผู้ที่มีอำนาจยังทำหน้าที่ไม่ดีพอ ก็ต้องแสดงความรับผิดชอบเพราะประชาชนให้มาทำหน้าที่แล้วต้องทำไห้ดี หรือจะเป็นข้าราชการที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง แต่ทั้งนี้ต้องมีการเกื้อกูลและถ่วงดุลกันด้วย การเมืองต้องทำหน้าที่ให้ดีขึ้นและทำให้ได้ผล ถือเป็นหน้าที่และภารกิจที่สังคมคาดหวัง

              ถาม ทำไมรัฐบาลทุกยุคไม่เคยประกาศผลงานด้านการศึกษาตามที่สังคมคาดหวังเลย

            ตอบ การจัดการด้านการศึกษานั้น เราเห็นเพียงแต่รูปแบบที่เปลี่ยนไปเท่านั้นเอง แต่เนื้อหาสาระยังเดิมๆ อาจเป็นเพราะเรื่องการศึกษา เป็นเรื่องที่ใหญ่ ซับซ้อนและสะสมปัญหามานาน การแก้ไขอย่างที่สังคมความคาดหวังนั้นจึงยังไม่เห็นผลชัดเจน ประหนึ่งมีกำแพงใหญ่ขวางกั้นอยู่

อย่างไรก็ดี มีแนวคิดของนายแพทย์ประเวศ วะสี มาใช้พังทลายกำแพงนี้ได้ เรียกว่าแนวคิด “สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” ซึ่งประกอบด้วยพลัง 3 อย่าง พลังแรกเรียกว่า “พลังปัญญา” เป็นพลังที่มาจากความคิด การวิจัย การจัดการระบบความรู้ต่างๆ ทั้งหมดให้เข้าใจเหตุผล อย่างเจาะจง เจาะลึก พลังที่สอง คือ “พลังสังคม” มาจากสังคมในทุกภาคส่วน ที่เกี่ยวข้องมากมาย รวมถึง ครู อาจารย์ บุคคลากรทางการศึกษา ผู้ปกครอง เยาวชน ซึ่งเกาะเกี่ยวผสมผสานแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิด เชื่อมต่อพลังปัญญา จะเกิดพลังที่ยิ่งใหญ่ ผลักดันไปสู่ผู้มีอำนาจ นั่นคือพลังที่สาม หรือ “พลังนโยบาย” เป็นเรื่องของอำนาจทางการเมือง ที่จะตัดสินใจบริหารจัดการได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม เรื่องที่ยากหากได้รับการดูแลทั้งทางลึกและกว้างเป็นพลวัตรจะสำเร็จ แนวคิดนี้ได้ทำมาแล้วกับเรื่องการปฏิรูปการเมืองและกำลังใช้อยู่ขณะนี้ใน เรื่องของการสร้างเสริมสุขภาพ ทั้งนี้ต้องทำเป็นขบวนการและทำต่อเนื่องด้วย

            จะเห็นว่าเรื่องการจัดการศึกษา เป็นเรื่องใหญ่ เป็นรากฐานของการปลูกฝังและพัฒนาคน ให้เป็นคนที่มีคุณภาพมีศักยภาพ อันจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศได้ในอนาคต ขณะเดียวกันก็มีความเชื่อมโยงเกี่ยวเนื่องกับระบบ และกับคนทุกภาคส่วน ดังนั้น การแสวงหาความร่วมมือเพื่อเชื่อมโยงพลังความรู้ ความสามารถ และความพยายาม จึงน่าจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยผลักดันให้การปฏิรูปการศึกษาสัมฤทธิ์ผลอย่างแท้จริง  

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

6 ก.ค. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/37521

<<< กลับ

แนวทางในการขับเคลื่อนขบวนองค์กรการเงินชุมชน

แนวทางในการขับเคลื่อนขบวนองค์กรการเงินชุมชน


      (1 ก.ค. 49) ไปร่วม “มหกรรมจัดการความรู้ เรื่อง สถาบันการเงินเพื่อสวัสดิการชุมชน” จัดโดย “หน่วยจัดการความรู้องค์กรการเงินชุมชน มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์” ร่วมกับ “มูลนิธิดร.ครูชบ–ปราณี ยอดแก็ว” และ “สมาคมสวัสดิการภาคประชาชนสงขลา” โดยการสนับสนุนของ สกว. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย) และ ศตจ. (ศูนย์อำนวยการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนแห่งชาติ) โดยจัดที่ตำบลน้ำขาว อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา และที่ห้องประชุมโรงแรมกรีนเวิลด์พาเลซ อำภอเมือง จังหวัดสงขลา (ผมไปร่วมเฉพาะที่ตำบลน้ำขาว)

มหกรรมนี้เกี่ยวข้องกับการทำกรณีศึกษาและการจัดการความรู้จากประสบการณ์การสร้างสถาบันการเงินเพื่อสวัสดิการชุมชนรวม 5 กรณีใน 5 จังหวัด คือ

1. สงขลา  (เครือข่ายสัจจะลดรายจ่ายวันละ 1 บาททำสวัสดิการภาคประชาชนแก้จนอย่างยั่งยืน)

            2. ลำปาง  (เครือข่ายออมทรัพย์เพื่อสร้างสวัสดิการวันละบาท)

                       3. ตราด  (เครือข่ายสัจจะสะสมทรัพย์พัฒนาคุณธรรมครบวงจรชีวิต)

            4. สมุทรปราการ  (เครือข่ายกองทุนหมู่บ้านตำบลในคลองบางปลากด)

            5. นครศรีธรรมราช (เครือข่ายกองทุนหมู่บ้านตำบลกะหรอ กึ่งอำเภอนบพิตำ)

ผู้เป็นหลักในการทำการศึกษา คือ อาจารย์ภีม ภคเมธาวี จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นการศึกษาที่มีคุณค่าน่าชื่นชม ควรนำไปใช้ประโยชน์ได้ดี โดยหลายๆฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบองค์กรการเงินเพื่อสวัสดิการชุมชน ทั้งในฐานะองค์กรการเงินชุมชนเอง ในฐานะผู้กำหนดนโยบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ และในฐานะหน่วยงานหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือสนใจในการพัฒนาระบบสถบันการเงินเพื่อสวัสดิการชุมชน            ในเวทีกลางแจ้งที่ตำบลน้ำขาว อำเภอจะนะ ผมได้เป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อ “แนวทางในการขับเคลื่อนขบวนองค์กรการเงินชุมชน” โดยให้ความเห็นว่าในอนาคต ขบวนองค์กรการเงินชุมชนอาจได้รับการขับเคลื่อนไปภายใต้แนวทางใดแนวทางหนึ่งดังนี้

1. แนวทางแบบ “รัฐโน้มนำ” ซึ่งจะเกิดขึ้นหากรัฐบาลใช้ “กองทุนหมู่บ้าน” เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนขบวนองค์กรการเงินชุมชน

2. แนวทางแบบ “รัฐหนุนแนว” ซึ่งจะเกิดขึ้นถ้ารัฐบาลดำเนินการตามข้อเสนอใน “ร่างแผนแม่บทองค์กรการเงินชุมชน” ซึ่งกระทรวงการคลังเป็นแม่งานและอยู่ระหว่างการแก้ไขปรับปรุงขั้นสุดท้าย

3. แนวทางแบบ “ประชาชนนำน้าว” ซึ่งจะเกิดขึ้นในกรณีที่ภาคประชาชนมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนขบวนองค์กรการเงินโดยรัฐบาลให้การรับรู้และสนับสนุนตามที่ประชาชนเสนอแนะหรือตามที่เห็นว่าเหมาะสมสอดรับกับแนวทางของภาคประชาชน

ผมให้ความเห็นว่า ทั้ง 3 แนวทางมีความเป็นไปได้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน แต่ผมเองเห็นว่าแนวทางแบบที่ 2 และ 3 น่าจะดีกว่าแนวทางแบบที่ 1 และไม่ว่ากรณีจะเป็นอย่างไร สิ่งที่มีคุณค่าแน่นอนและควรดำเนินการให้บังเกิดผลดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ได้แก่

1. การให้ประชาชนมีบทบาทสำคัญในการพัฒนา หรือ “การพัฒนาที่ประชาชนเป็นศูนย์กลาง” ซึ่งเป็นแนวทางที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 และ 9

2. การประสานความร่วมมือและสนับสนุนจากฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะที่เป็นหน่วยงานภาครัฐด้วยกัน

3. การพัฒนาระบบข้อมูลและสารสนเทศที่ดีพอและมากพอ

4. การจัดการความรู้อย่างทั่วถึงและต่อเนื่อง รวมถึงการจัดการความรู้ภายในองค์กร การจัดการความรู้ระหว่างองค์กร การจัดการความรู้ภายในเครือข่ายและระหว่างเครือข่าย การจัดการความรู้ภายประเทศและระหว่างประเทศ ตลอดจนควรมีการศึกษาวิจัยที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์ประกอบด้วย

5. การพัฒนาความสามารถในการจัดการ รวมถึง การจัดการองค์กรตนเอง การจัดการเครือข่าย การจัดการสนับสนุน (จากแหล่งต่างๆ) ให้ได้ทั้งคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความราบรื่นเรียบร้อย ฯลฯ

ไพบุลย์ วัฒนศิริธรรม

13 ก.ค. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/38472

<<< กลับ

หลักการสำคัญในการสร้างความอยู่เย็นเป็นสุขปราศจากความยากจนของประชาชน (ต่อ)

หลักการสำคัญในการสร้างความอยู่เย็นเป็นสุขปราศจากความยากจนของประชาชน (ต่อ)


ข้อสุดท้ายในเรื่องการจัดการคือ การเป็นองค์กรที่เรียนรู้ กลุ่มคนที่เรียนรู้ และเครือข่ายที่เรียนรู้ คำว่าเป็นองค์กร กลุ่มคนหรือเครือข่ายที่เรียนรู้ มีความหมายลึกซึ้งกว้างขวาง แต่รวมๆแล้วหมายถึง (1) การที่มีวิสัยทัศน์ร่วมกันอย่างชัดเจน เช่นวิสัยทัศน์คือการอยู่ร่วมกันอย่างอยู่เย็นเป็นสุขของประชาชน  (2) มีการคิดเชิงระบบ หมายถึงการมองเห็นทุกอย่างเกี่ยวพันเชื่อมโยงกัน ซึ่งการมองเห็นความเกี่ยวพันเชื่อมโยงของสิ่งทั้งหลายนั้นเป็นเรื่องสำคัญมาก (3) การมีระบบคิดที่สร้างสรรค์รวมถึงการคิดเชิงบวกอันจะช่วยให้เกิดการพัฒนาได้ง่ายและราบรื่น (4) การเรียนรู้ร่วมกันเป็นทีมรวมถึงการเรียนรู้ร่วมกันผ่านการปฏิบัติ และ (5) การที่ทุกคนในองค์กรเป็นนักเรียนรู้ ช่างคิด ช่างพิจารณา ช่างศึกษาค้นคว้าอยู่เป็นประจำ ลักษณะทั้ง 5 ประการนี้เป็นองค์ประกอบของการเป็นองค์กรหรือกลุ่มคนหรือเครือข่ายที่มีการเรียนรู้ซึ่งรวมถึงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องด้วย

            รวมแล้วจึงเป็นองค์ประกอบของการจัดการที่มีคุณภาพ ได้แก่หนึ่งคุณธรรมจริยธรรม สองการใช้ข้อมูลและข้อสนเทศ   สามการจัดการความรู้  และสี่การเป็นองค์กรหรือกลไกที่เรียนรู้

ท่านผู้มีเกียรติและเพื่อนพี่น้องที่รักและเคารพทุกท่าน ผมขอขอบคุณอีกครั้งที่เชิญมาพูดและร่วมกิจกรรมในวันนี้ เชื่อว่าพวกเราได้ทำสิ่งที่ดีมากๆ เป็นสิ่งที่มีคุณค่ามหาศาล เป็นงานใหญ่ งานสำคัญ และหวังว่าเราจะได้ร่วมใจ ร่วมพลัง ร่วมความเป็นกัลยาณมิตร ความเป็นภาคีพันธมิตร ขยายแนวร่วม ขยายกิจกรรม พร้อมทั้งยกระดับคุณภาพในทุกด้านๆ ให้ดียิ่งขึ้น เพื่อประโยชน์สุขและความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันของประชาชนชาวไทย ซึ่งจะเป็นการถวายความจงรักภักดี ร่วมเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยการทำความดีเป็นปฏิบัติบูชาร่วมกัน ขอบคุณครับ

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

4 มิ.ย. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/38811

<<< กลับ

ภาคประชาชนกับการขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพ

ภาคประชาชนกับการขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพ


(2 ก.ค. 49) ไปปาฐกถาปิด “งานสร้างสุข ภาคใต้” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงาน “4 ปี 4 ภาค พลังสร้างสุขทั่วไทย” และได้มีการจัดงานไปแล้ว 3 ภาค ภาคใต้เป็นภาคสุดท้าย จัดที่อาคารเรียนรวม คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ระหว่าง 30 มิ.ย. –1 ก.ค. 49 สรุปสาระสำคัญของปาฐกถาได้ดังนี้

แนวทางการขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน ควรมีองค์ประกอบที่สำคัญ คือ

1. เป็นการขับเคลื่อนของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน ประชาชนเป็นเจ้าของประเด็น เป็นเจ้าของปัญหา เป็นผู้แก้ปัญหา  เป็นผู้พัฒนา ทั้งนี้ เพื่อให้บรรลุผลสุดท้ายที่พึงปรารถนา อันได้แก่ “ความอยู่เย็นเป็นสุข อย่างบูรณาการ” ของประชาชน

2. เป็นการขับเคลื่อนโดยมีพื้นที่เป็นตัวตั้ง หรือ ขับเคลื่อนเชิงพื้นที่ ผนวกด้วยการขับเคลื่อนเชิงประเด็น ทั้งนี้ โดยประชาชนและองค์ประกอบในพื้นที่มีบทบาทสำคัญ ในขณะที่บุคคล องค์กร หน่วยงาน และโครงการจากภายนอกพื้นที่เป็นฝ่ายสนับสนุน ไม่ใช่ฝ่ายเจ้าของเรื่อง

3. ประชาชนในพื้นที่ควรเป็นผู้บูรณาการการสร้างเสริมสุขภาพ ทั้งภายในพื้นที่ด้วยกันและจากภายนอกพื้นที่ ทั้งการบูรณาการเชิงประเด็นและการบูรณาการเชิงหน่วยงาน ทั้งนี้ คำว่า “ประชาชนในพื้นที่” หมายความรวมถึงองค์กรและกลไกทั้งหลาย ที่อยู่ในพื้นที่ และ บุคคล องค์กร หน่วยงาน โครงการจากภายนอกพื้นที่ ควรเชื่อมประสานความร่วมมือกันให้ดีที่สุดด้วย

4. ควรมีระบบข้อมูล สารสนเทศ และตัวชี้วัด ที่ทุกฝ่ายใช้ร่วมกัน โดยประชาชนในพื้นที่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดเนื้อหาพร้อมกระบวนการในการจัดเก็บ รวมทั้งมีบทบาทสำคัญในการใช้ประโยชน์และแก้ไขปรับปรุงเป็นระยะๆ ในการนี้สมควรมีโครงการสนับสนุนที่มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความต่อเนื่อง รองรับด้วย

5. ควรมีการจัดการความรู้ทั้งภายในพื้นที่และข้ามพื้นที่ ทั้งภายในเครือข่ายและข้ามเครือข่าย ทั้งภายในประเด็นและข้ามประเด็น ทั้งภายในประเทศและข้ามประเทศ

6. ควรเชื่อมโยงงานสร้างเสริมสุขภาพและการจัดการความรู้เข้ากับ การสื่อสารสาธารณะ และการเสนอแนะนโยบายสาธารณะ ทั้งที่เป็นนโยบายสาธารณะ ระดับท้องถิ่น ระดับจังหวัด ระดับกลุ่มจังหวัด และระดับประเทศ รวมทั้งอาจให้ถึงระดับข้ามประเทศ ในการนี้อาจมีกระบวนการ “ประชาพิจารณ์” หรือ “การปรึกษาสาธารณะ” ที่เหมาะสมด้วยก็ได้

7. ควรมีการพัฒนาคุณภาพในการจัดการ ทั้งในเชิงคุณธรรม คุณภาพ และประสิทธิภาพ ทั้งที่เป็นการจัดการตนเอง (ภายในองค์กร ภายในท้องถิ่น) การจัดการเครือข่าย (ความร่วมมือ การเชื่อมประสาน การขับเคลื่อนขบวนการ ฯลฯ) และการจัดการการสนับสนุนจากภายนอก ทั้งนี้ คำว่า “การจัดการ” รวมถึงการจัดการงาน/กิจกรรม เงิน/ทรัพยากร คน/กลุ่มคน และ “การจัดการทางสังคม” (Social management)

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

17 ก.ค. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/39290

<<< กลับ

“ขับเคลื่อนสังคมแห่งความสุข ความดีต้องมาก่อนความรู้”

“ขับเคลื่อนสังคมแห่งความสุข ความดีต้องมาก่อนความรู้”


    (บทสัมภาษณ์ลงใน นสพ.ประชาชาติธุรกิจ ฉบับ 27-30 กรกฎาคม 2549 หน้าพิเศษ 4 พาดหัวว่า “ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม : ขับเคลื่อนสังคมแห่งความสุข ความดีต้องมาก่อนความรู้” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรายงานพิเศษ “ทิศทางการเมืองไทย” ที่ประกอบด้วยบทสัมภาษณ์บุคคล รวม 8 คน)

ด้วยประสบการณ์การทำงานที่ได้มีโอกาสคลุกคลีกับผู้บริหารระดับประเทศและยังได้คลุกฝุ่นกับคนจนในท้องถิ่นอยู่เนืองๆ ทำให้ “ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม” ประธานกรรมการศูนย์คุณธรรม เอ็นจีโออาวุโส มองการแก้ปัญหาวิกฤตของประเทศไทยต่างไปจากคนอื่นๆ เน้นแก้วิกฤตที่เหตุแห่งปัญหามากกว่าที่จะแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และในวันที่สังคมไทยเดินมาถึงจุดที่มีความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงระหว่างกลุ่มที่ต้องการให้ “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” เป็นนายกรัฐมนตรีและกลุ่มคนที่ไม่ต้องการให้ “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” เป็นนายกรัฐมนตรี “ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม” ก็ยังคงเดินหน้าพัฒนาฐานเรื่องคุณธรรมความดี เพื่อให้สังคมไทยเดินไปสู่จุดที่มีความสุขร่วมกันในอนาคต

เสริมฐานด้านคุณธรรมความดี

                เดินไปสู่จุดที่มีความสุขร่วมกัน

                “ไพบูลย์” ให้สัมภาษณ์ว่า โดยหลักการแล้วศูนย์คุณธรรมมีหน้าที่ในการขับเคลื่อนขบวนการคุณธรรม ซึ่งจริงๆ แล้วเรื่องของคุณธรรมมีคนเกี่ยวข้องเยอะ ทางศูนย์ก็พยายามไปหนุนเสริมกระบวนการต่างๆ ที่มีอยู่ให้มีการขับเคลื่อนแบบเป็นขบวนการ โดยทำงานในลักษณะเครือข่ายเพื่อให้มีพลัง

เช่น ชาวบ้านมีการรวมตัวกันทำแผนแม่บทชุมชน เพื่อทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ก็ต้องการอะไรหลายอย่างเข้าไปเสริม เช่น การทำมาหากิน การดูแลสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ การดูแลสัมพันธภาพที่ดีให้เกิดขึ้นในชุมชน ฉะนั้นสิ่งที่ศูนย์คุณธรรมจะทำได้คือ ไปหนุนขบวนการชุมชนเพื่อให้มีมิติในเรื่องคุณธรรมที่เด่นชัดและหนักแน่นขึ้น

หากจะขยายความในเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จะประกอบไปด้วย ความสุขทางกาย ความสุขทางใจ ความสุขทางสังคม และความสุขทางปัญญาหรือจิตวิญญาณ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าเรื่องของความสุข เรื่องของคุณธรรมความดี เรื่องการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่นั้นเกี่ยวพันผสมกลมกลืนกันอย่างแยกไม่ออก ทางศูนย์คุณธรรมจึงประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อให้ความสุขที่เกิดขึ้นเป็นความสุขที่ยั่งยืน ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

คำว่าดีขึ้นในที่นี้หมายรวมถึงชีวิตดีขึ้น ชุมชนดีขึ้น สังคมดีขึ้น รวมทั้งเศรษฐกิจดีขึ้น เมื่อสังคมดี วัฒนธรรมดี สิ่งแวดล้อมดี จิตใจคนก็ดี คุณธรรม ความดี ก็ดีตามไปด้วย

                  ซึ่งในช่วงหลังๆ สังคมไทยเริ่มหันมาสนใจประเด็นในเรื่องดัชนีชี้วัดความสุขกันมากขึ้น แต่การจะหยิบเกณฑ์บางอย่างทางสังคมเพื่อมาเป็นตัวชี้วัดความสุขแบบถูกต้อง เที่ยงตรง คงจะเป็นไปได้ยาก ยกเว้นเรื่องที่เป็นรูปธรรมจริงๆ เช่น ในแต่ละปีมีคนตายกี่คน มีคนเป็นโรคมะเร็งตายเท่าไหร่ ตรงนี้วัดได้

หรือการจัดความเจริญทางด้านเศรษฐกิจก็ไม่ได้มีตัวชี้วัดที่ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ ตัวเลขที่รัฐบาลนำมาวัดดัชนีการพัฒนาเศรษฐกิจที่เรียกว่า GNP หรือ GDP หรือผลผลิตมวลรวมประชาชาติ ก็มีลักษณะเป็นการสร้างเครื่องวัดชนิดหนึ่งขึ้นมา เป็นการประมาณการโดยอาศัยหลักวิชา

ซึ่งบางครั้งหากวิเคราะห์ให้ละเอียดก็จะเห็นว่าดัชนีที่จัดทำขึ้นแต่ละครั้งนั้นยังมีความไม่สมบูรณ์อยู่เยอะ

ซึ่งข้อเท็จจริงที่น่าสนใจคือ ในขณะที่รายได้ประชาชาติสูงขึ้น ทรัพยากรธรรมชาติก็ได้ถูกทำลายลง นั่นหมายถึงว่าเราได้ทำลายฐานทุนเพื่อนำไปสร้างรายได้ ซึ่งในระยะยาวไม่ใช่สิ่งที่ดีเลย เพราะฉะนั้นตัววัดทางด้านเศรษฐกิจ สังคม ถือเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสังคมที่ยังมีความไม่สมบูรณ์อยู่มาก

สร้างดัชนีชี้วัด ปรับวิธีคิดชุมชน

                ค้นหาความสุขแทนการสร้างรายได้

                หากวันนี้ประเทศไทยจะหันมาวัดความสุขมวลรวมประชาชาติ ก็จะมีลักษณะไม่ต่างจากการวัดด้านเศรษฐกิจและสังคมอื่นๆ โดยการสร้างตัวชี้วัดขึ้นมา

การวัดความสุขมวลรวมประชาชาติของภูฏานนั้นในช่วงที่ผ่านมาไม่ได้เข้าไปศึกษาในรายละเอียด ว่ามีการวัดกันอย่างไร จึงรู้เพียงแต่ว่าความสุขมวลรวมประชาชาติของประเทศภูฏานนั้นตั้งอยู่บนฐานหลัก 4 ประการ

ฐานแรก คือการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม ให้พึ่งตนเองได้ และมีความเสมอภาค

                ฐานที่สอง คือการอนุรักษ์ดูแลทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม                 ฐานที่สาม คือการอนุรักษ์และพัฒนาวัฒนธรรมที่ดีงาม

                  และฐานสุดท้าย ฐานที่สี่ คือการทำให้เกิด และรักษาไว้ซึ่งการบริหาร การปกครองที่ถูกต้องและเป็นธรรม ที่เรียกว่าธรรมาภิบาล

หากการคำนึงถึงความสุขมวลรวมประชาชาติของภูฏานตั้งอยู่บน 4 ฐานหลัก ก็จะสามารถสร้างดัชนีชี้วัดขึ้นมาได้ โดยวัดจาก 4 ฐาน ซึ่งอาจจะไม่วัดที่ตัวความสุขเพียงอย่างเดียว แต่วัดปัจจัยที่นำไปสู่ความสุขก็ได้

ในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยได้มีความพยายามที่จะวัดเรื่องของความอยู่เย็นเป็นสุขอยู่บ้าง ซึ่งทางสภาพัฒน์ เรียกว่าดัชนีชี้วัดความอยู่ดีมีสุข

ซึ่งภาวะที่เป็นสุขประกอบไปด้วยความเป็นสุข 4 อย่าง คือ 1.ความเป็นสุขทางกาย 2.ความเป็นสุขทางใจ 3.ความเป็นสุขทางปัญญาหรือจิตวิญญาณ แสดงความสุขที่ลึกลงไปในจิตสำนึกในการเข้าถึงคุณธรรม สัจธรรม ความดี ความงามต่างๆ 4.ความเป็นสุขทางสังคม หมายถึงความเป็นสุขในการอยู่ร่วมกัน หรืออยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข

หากหยิบความหมายของความสุข 4 อย่างมาเป็นดัชนีชี้วัดในเรื่องความสุขมวลรวมของชาติก็สามารถทำได้ เป็นการจับจุดสำคัญๆ มาวัด

การใช้ดัชนีชี้วัดไม่ได้แปลว่าความสำคัญของความสุขอยู่ที่ตัวชี้วัด แต่ความสำคัญอยู่ที่การทำให้เกิดความคิด การกระทำ และความสัมพันธ์ในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี

เช่น อาจจะมีการส่งเสริมในเรื่องของการสร้างตัวชี้วัดความสุขในชุมชน แทนที่ชาวบ้านจะมาวัดรายได้ของชุมชน ก็หันมาวัดในเรื่องของความสุขแทน เปลี่ยนวิธีคิดของชาวบ้านให้ค้นหาว่าความสุขหมายถึงอะไร

ความสุขจะต้องมาจากความดี การอยู่ร่วมกัน มาจากการมีอาชีพ มีปัจจัยสี่ ขณะเดียวกันจะต้องมีสัมพันธภาพที่ดี มีวัฒนธรรมที่ดี มีสิ่งแวดล้อมที่ดี และเมื่อคิดแล้วก็ต้องพยายามทำให้ได้ตามนั้น

การที่ชุมชนปรับความคิด คิดถึงความสุข คิดถึงปัจจัยที่ทำให้เกิดความสุข แล้วก็พยายามทำให้เกิดปัจจัยเหล่านั้นเพื่อนำไปสู่ความสุข ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เป็นการใช้ตัวชี้วัดมาปรับความคิดของชาวบ้าน ปรับการกระทำ ปรับวิถีของคนที่อยู่ร่วมกันให้มีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน

เพราะฉะนั้นตัววัดจึงเป็นเสมือนยุทธศาสตร์ที่ทำให้เกิดผลที่ดี เช่นเดียวกับวัดเรื่องรายได้ ก็จะทำให้คนไปพะวงกับรายได้ คิดแต่จะสร้างรายได้ แล้วก็เลยนำไปสู่การเบียดเบียน การเอาเปรียบ การแย่งชิงประโยชน์ การสะสม การกอบโกย ฉะนั้นเครื่องวัดไม่ได้สำคัญที่ความสมบูรณ์ของตัววัด แต่สำคัญที่ผลกระทบต่อวิธีคิด วิธีทำ วิธีอยู่ร่วมกันของคนมากกว่า

“ไพบูลย์” กล่าวต่อไปว่า สังคมหนึ่งๆ ย่อมมีสภาวะที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา สังคมไทยได้ผ่านความสันติสุข ความวุ่นวาย ความยากลำบาก หมุนเวียนเปลี่ยนไป ไม่เคยหยุดนิ่ง การจะพูดว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันดีขึ้นหรือเลวลงกว่าในอดีตคงดูได้ยาก แต่สิ่งหนึ่งที่พูดได้ คือที่ผ่านมาประเทศไทยไม่ได้มีความพยายามจะวัดในเรื่องความสุข หรือความเป็นสุขในสังคมเลย จึงเปรียบเทียบได้ยาก

ต่อไปหากมีตัวชี้วัดในเรื่องของความสุข อย่างน้อย 4 ด้าน ก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น

ที่ผ่านมาหลายฝ่ายได้พยายามทำดัชนีชี้วัดในเรื่องความสุขเหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่นสภาพัฒน์ได้ทำดัชนีชี้วัดในเรื่องความอยู่ดีมีสุข แบ่งออกเป็น 8 หมวด โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ก็ได้ร่วมกับนักวิชาการไทยทำดัชนีชี้วัดความก้าวหน้าของคน (Human Achievement Index)

และเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา นักวิชาการไทยได้ร่วมกับชาวบ้านที่อีสาน ค้นหาสิ่งที่จะวัดความเป็นสุข ซึ่งก็ได้มา 8 หมวดเช่นกัน ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มการทำมาหากิน เพราะคนเราจะมีความสุขได้ ก็มักจะหนีไม่พ้นเรื่องของการอาชีพ ความเป็นอยู่ ปัจจัยสี่ การศึกษา วัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การเมืองการปกครองที่ดี

สุดท้ายคือเรื่องของจิตใจของคน จิตใจของการอยู่ร่วมกันหรือที่เรียกกันว่าคุณธรรม จริยธรรม ถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของความเป็นสุข จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่ประเทศไทยยังไม่มีการพัฒนาเรื่องเหล่านี้อย่างจริงจังในระดับชาติ

หากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องหันมาร่วมกันพัฒนา ในระยะแรกอาจจะยังไม่ดีนัก ค่อยๆ ปรับปรุงกันไปก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ และในที่สุดก็จะกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้สามารถติดตามสภาพความเป็นไปของสิ่งที่เรียกว่า ความสุข หรือความเป็นสุขได้

คนไทยจะได้เรียนรู้ร่วมกันว่าการที่จะทำให้ชีวิตเป็นสุขนั้น จะต้องทำอะไรบ้าง ตรงนี้จะเป็นประโยชน์มาก ซึ่งควรจะเริ่มทำจากระดับท้องถิ่น เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะตรงนั้นเป็นเสมือนประเทศเล็กๆ หากทำให้คนกลุ่มเล็กๆ ระดับท้องถิ่นสามารถบริหารจัดการภายในชุมชนโดยยึดความอยู่เย็นเป็นสุขเป็นตัวตั้ง แล้วเฝ้าดูสภาพความเป็นไปว่าเป็นอย่างไร การทำให้ท้องถิ่นดีขึ้นทำอย่างไร จากนั้นจึงค่อยๆ ขยายผลยกระดับขึ้นมาเป็นจังหวัด ก็จะเห็นพัฒนาการด้านความสุขที่ชัดเจนขึ้น

แต่ทว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลเน้นให้จังหวัดทำดัชนีชี้วัดในเรื่องรายได้ เอาเศรษฐกิจเป็นตัวนำ การวัดทางด้านความอยู่เย็นเป็นสุขจึงด้อยลงไป ซึ่งหากรัฐบาลส่งเสริมให้ท้องถิ่นและจังหวัดอยู่เย็นเป็นสุข ประเทศชาติก็จะอยู่เย็นเป็นสุขตามไปด้วย

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  

               กุญแจสำคัญนำไปสู่ความสุข

                ประธานศูนย์คุณธรรมกล่าวต่อไปอีกว่า การจะนำสังคมไปสู่ความสุขต้องเริ่มต้นที่เศรษฐกิจพอเพียง เพราะระบบทุนนิยมเอาความเติบโตทางด้านเศรษฐกิจเป็นตัวนำ แต่เศรษฐกิจพอเพียงเอาความพอดีเป็นตัวนำ

                เศรษฐกิจพอเพียงจะมีลักษณะสำคัญอยู่ 5 ประการ คือ 1.พอประมาณ 2.มีเหตุผล 3.มีภูมิคุ้มกัน 4.ใช้ความรู้ ความรอบรู้ ความรอบคอบ 5.มีคุณธรรม ความดี เน้นให้ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข เพราะความพอดี ความพอประมาณ คือภูมิคุ้มกันที่ทำให้เกิดความมั่นคงเป็นปกติสุข อาจจะไม่ร่ำรวย อาจจะไม่ได้เติบโตมาก แต่ว่าอยู่ได้อย่างพอประมาณและเป็นสุข ถ้ามีความรอบรู้ รอบคอบ มีคุณธรรม มีความดี ความสุขก็จะเกิด

เพราะฉะนั้นเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ความสมดุล ความเป็นสุข จึงไปด้วยกัน ซึ่งต่างจากระบบทุนนิยม บริโภคนิยม วัตถุนิยม ที่มักจะนำไปสู่ความสุดโต่ง ความเกินดุล คือบริโภคมากไป ใช้วัตถุมากไป ใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากไป แล้วก็อยู่ร่วมกันแบบแข่งขันกันมากไป แทนที่จะให้เกิดความอยู่ด้วยกันอย่างเสมอภาค หรือแบบมีความสุข สังคมก็มีแต่ความขัดแย้ง

การจะก้าวไปสู่สังคมที่ดีและมีความสุข หลายอย่างต้องเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น การเมืองการปกครองต้องดี ระดับความคิดความอ่าน การรวมตัวกันของภาคประชาชนต้องมีพลัง ถ้าภาคประชาชนยังคิดอ่านแบบง่ายๆ สั้นๆ เอารายได้ เอาการบริโภคในปัจจุบันเป็นตัวหลัก แม้จะต้องกู้หนี้ยืมสินก็ยอม แล้วอยู่กันแบบตัวใครตัวมัน ไม่มีการรวมตัวกัน ก็จะนำไปสู่การเมืองการปกครองที่ไม่ดี ภาคประชาชนก็ไม่เข้มแข็ง

จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ระบอบการเมืองการปกครองของไทยมักจะดึงดูดคนที่ใฝ่หาอำนาจและผลประโยชน์เข้ามาทำงาน ฉะนั้นหากภาคประชาชนเป็นกำลังที่เข้มแข็ง นักการเมืองนักการปกครองก็จะปรับพฤติกรรมของเขาให้เกื้อกูลต่อภาคประชาชน

แต่ถ้าภาคประชาชนไม่เข้มแข็ง แล้วโน้มเอียงไปในทางชอบพึ่งพิงผู้อุปถัมภ์ ทางฝ่ายการเมือง ฝ่ายนักปกครอง ก็จะเบี่ยงเบนไปทางเอาประโยชน์ เอาอำนาจเป็นหลัก แต่ถ้าประเทศไทยโชคดีได้นักการปกครองที่ดี ก็สามารถที่จะไปเกื้อกูลให้ภาคประชาชน เข้มแข็งได้

หรือถ้ามีนักปกครองที่ดี เขาเหล่านั้นก็จะไม่ไปครอบงำประชาชน ไม่ไปเอาประโยชน์ส่วนตัว แต่ว่าไปบริการ ไปรับใช้ประชาชน แล้วไปเอื้อเฟื้อเกื้อกูลให้ประชาชนเข้มแข็ง

แต่ถ้านักการเมืองไปทำให้ประชาชนกลายเป็นผู้รับการอุปถัมภ์ ตรงนั้นจะไม่ใช่คุณสมบัตินักการเมือง นักการปกครองที่ดี

นักการเมือง นักการปกครองที่ดี ควรจะมีทศพิธราชธรรม และมีหลักการบริหารที่เอื้อต่ออำนาจของประชาชน ทำให้ประชาชนเข้มแข็ง

แต่ในปัจจุบันมีนักการเมืองจำนวนไม่ใช่น้อย จะชอบเข้าไปทำให้ประชาชนเป็นผู้รับการอุปถัมภ์ เพราะตัวเองจะได้ประโยชน์ แล้วใช้ฐานเสียงที่มีอยู่นั้นกุมอำนาจ แสวงหาผลประโยชน์วนเวียนอยู่อย่างนั้น

“บางคนบอกว่าจะต้องทำให้สังคมไทยเป็นสังคมฐานความรู้ แต่โดยส่วนตัวอยากเสนอแนะว่า เราควรจะทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่มีคุณธรรมนำการเรียนรู้ ถ้าสังคมไทยใช้ฐานความรู้เป็นหลัก การดำเนินชีวิตก็จะเน้นไปที่วัตถุ เพราะความรู้เป็นอาวุธ กิเลสของคนจะเอาความรู้ไปเป็นอาวุธ เพื่อเอาเปรียบคนอื่นๆ ทำร้ายคนอื่น หรือครอบงำคนอื่นๆ หรือเอาผลประโยชน์เข้าตัวเอง

แต่สังคมที่ใช้ฐานคุณธรรม หรือใช้คุณธรรม ใช้ความดีนำความรู้ คุณธรรมและความดี เป็นสิ่งที่มีคุณค่าในตัวเอง มีแล้วดี แล้วถ้าเป็นคุณธรรมนำการเรียนรู้ ก็จะทำให้การเรียนรู้เป็นการเรียนรู้ที่อยู่บนฐานที่ดี ในกรอบที่ดี ก็จะเดินไปในทิศทางที่ดี

ถ้าใช้คุณธรรมนำความรู้ ความรู้ที่เปรียบเสมือนอาวุธ ก็จะกลายเป็นอาวุธทำความดี ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ ดังนั้นเราจึงควรเปลี่ยนจากความคิดที่จะสร้างสังคมฐานความรู้ หรือแม้กระทั่งในโรงเรียนที่บอกว่า เก่ง ดี มีความสุข ควรเปลี่ยนมาเป็น ทำความดี มีความสุข พัฒนาความสามารถ หรือ ดี สุข สามารถ”

“ไพบูลย์” กล่าวว่า เมื่อคนทำความดี ความดีก็จะก่อให้เกิดความสุข ศูนย์คุณธรรมเชื่อว่าบนฐานเรื่องของคุณธรรม ความดี หากทำไปเรื่อยๆ สังคมจะเข้มแข็งขึ้น

                และในวันที่สังคมไทยมีความเข้มแข็ง มีฐานของคุณธรรมความดี เรื่องที่ไม่ดี ไม่งามต่างๆ ก็จะลดน้อยลง ปัญหาในเรื่องจริยธรรมที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ปัญหาเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น การทะเลาะ การแตกแยกของสังคมก็จะค่อยๆ คลี่คลายไปทางที่ดีขึ้น

แผน 10 ต้องชี้ทิศทางความสุขให้ชัด

สำหรับทิศทางการพัฒนาในเรื่องความสุขแบบยั่งยืนของสภาพัฒน์ มีโอกาสทำให้สังคมไทยมีความสุขได้มากน้อยแค่ไหน “ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม” กล่าวว่า เท่าที่ดูแผนฯ 10 เห็นว่าไม่ต่างจากแผนฯ 8 หรือแผนฯ 9 เท่าไหร่นัก

แผนฯ 10 จัดเป็นแผนที่ดี มีการประมวลความคิด ความเห็นจากประชาชนทุกภาคส่วน พูดถึงสิ่งที่พึงประสงค์ คือ ความเป็นสุขของประชาชน แต่เรื่องเหล่านี้พูดกันมาตั้งแต่แผนฯ 8 แล้ว หากย้อนกลับไปดูรายละเอียดในแผนฯ 8 จะเห็นว่าเขียนไว้ชัดว่า มีจุดมุ่งหมายในการพัฒนา โดยใช้คำว่า “จะพัฒนาประเทศให้คนมีความสุข ครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเข้มแข็ง สังคมสันติ สิ่งแวดล้อมยั่งยืน”

แผนฯ 9 ก็เช่นกัน มีเรื่องทำนองนี้บรรจุอยู่แล้ว ยังเพิ่มเรื่องของ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” เข้าไปด้วย เป็นปรัชญานำทาง

ฉะนั้นการที่สภาพัฒน์ระบุว่า เป้าหมายของแผนฯ 10 คือ เรื่องของความเป็นสุข จึงไม่มีอะไรที่จะต้องคาดหวังว่าผลลัพธ์จะแตกต่างจากแผนฯ 8 และหรือแผนฯ 9 เว้นแต่ว่าจะมีการปรับความคิดกันใหม่ ปรับวิธีทำงานกันใหม่

โดยส่วนตัวแล้วเห็นว่า ในแผนฯ 10 ควรจะจัดทำในลักษณะของแผนฯชี้ทิศทาง ไม่ใช่แผนฯละเอียดมากอย่างที่ทำในปัจจุบัน เท่าที่ดูมีละเอียดถึงขั้นมาตรการเล็กๆน้อยๆ ซึ่งไม่จำเป็นเพราะสิ่งที่ต้องการคือทิศทางเท่านั้นส่วนแผนการปฏิบัติย่อยๆนั้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ประชาชนเป็นคนคิด เพราะหากทิศทางดีแล้ว แผนปฏิบัติก็จะดีตาม

การที่สภาพัฒน์ไปคิดโครงการต่างๆไว้หมดแล้วแผนปฏิบัติการต้องใช้ถึง 5 ปี บางเรื่องบางอย่างก็ไม่ทันสถานการณ์ ดังนั้นสภาพัฒน์ควรเสนอวิสัยทัศน์ความอยู่เย็นเป็นสุขก็เพียงพอแล้ว ส่วนจะวัดความสุขอย่างไรนั้น ให้ท้องถิ่นเป็นคนจัดการ ให้ประชาชนเป็นผู้วัดและติดตาม

ที่สำคัญในแผนฯ 10 บอกว่าจะใช้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญานำทาง ตรงนี้ จะต้องบอกให้ชัดว่าจะมีกลไกอย่างไร มีกระบวนการการทำงานอย่างไร มีงบประมาณสนับสนุนขนาดไหน เพราะในแผนฯ 9 ก็เขียนเรื่องนี้ไว้เช่นเดียวกัน แต่ไม่มีกลไกอะไร การปฏิบัติจึงไม่เกิด

ปรัชญาเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องที่ดีมากที่จะไปหนุนเสริมวิสัยทัศน์ในเรื่องของความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน ดังนั้นจะต้องทำให้ชัด

สรุปแล้วแผนฯ 10 จะต้องกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนทั้งในเรื่องของความอยู่เย็นเป็นสุขแล้วใช้ประโยชน์จากปรัชญานำทาง คือเศรษฐกิจพอเพียง ให้เป็นจริงให้ได้

และสุดท้ายยุทธศาสตร์ในเรื่องของความดี การเรียนรู้ การจัดการ ต้องขยายความตรงนี้ ส่วนรายละเอียดอื่นๆรัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศจะต้องทำอยู่แล้ว

  ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

28 ก.ค. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/41315

<<< กลับ

กองทุนเพื่อการจัดการทรัพยากรท้องถิ่นกับชุมชนเข้มแข็ง(1)

กองทุนเพื่อการจัดการทรัพยากรท้องถิ่นกับชุมชนเข้มแข็ง(1)


(เรียบเรียงโดย ศรินทร์ทิพย์ จานศิลา sarintiptan@yahoo.com 0-4674-2772 ลงใน จดหมายข่าว “ป่ากับชุมชน” ฉบับ เมษายน – มิถุนายน 2549 ซึ่งจัดทำโดย “แผนงานสนับสนุนความร่วมมือในประเทศไทย” (www.ThaiCF.org) ของ “ศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชนแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (RECOFTC))

“กองทุน”  เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการจัดการทรัพยากรท้องถิ่น

“กองทุน” เป็นเพียงเครื่องมือ ไม่ใช่เป้าหมาย ควรทำเพื่อความสำเร็จของชุมชนเป็นหลัก

“ชุมชนเข้มแข็ง” คือ…….. ชุมชนที่มีความสามารถในการจัดการ

การจัดการทรัพยากรท้องถิ่นต้องอาศัยกองทุนเป็นส่วนใหญ่  ดังนั้น  ต้องจัดการ “กองทุน” และ “ทรัพยากรท้องถิ่น” ภายใต้การจัดการชุมชนโดยรวม

จากคำกล่าวข้างต้นเป็นเสมือนบทสรุปในการบรรยายพิเศษของคุณไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ประธานกรรมการศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม ในหัวข้อ “กองทุนเพื่อการจัดการทรัพยากรท้องถิ่นกับชุมชนเข้มแข็ง” ในการประชุมสรุปบทเรียน เรื่อง “ป่าชุมชน…สู่ความเข้มแข็งและการพึ่งตนเองบนฐานการจัดการทรัพยากรท้องถิ่น” ซึ่งมีตัวแทนจากชุมชนในพื้นที่โครงการ 8 พื้นที่ ตัวแทนจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และองค์กรภาคีความร่วมมือเข้าร่วม เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2549 จัดโดยแผนงานสนับสนุนความร่วมมือในประเทศไทย ศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชนแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (RECOFTC)

หลักใหญ่ใจความสำคัญ ได้บรรยายและชี้ให้เห็นความสำคัญของ 3 ประเด็นหลัก คือ

จัดการอะไร ?

จัดการอย่างไร ? จึงจะเกิดการจัดการทรัพยากรท้องถิ่นกับชุมชนเข้มแข็งได้

จัดการให้เกิดอะไร ? ทำไมต้องจัดการ ?

“ชุมชนเข้มแข็ง” คือ.ชุมชนที่มีความสามารถในการจัดการ ซึ่งมีทั้งการจัดการในภาคธุรกิจ ภาครัฐ และภาคประชาชน สิ่งที่ชุมชนควรรู้และต้องจัดการใน 9 เรื่อง มีรายละเอียดดังนี้

จัดการข้อมูล

จัดการอะไร

สำหรับรายละเอียดของข้อมูลจะต่างกันตรงที่มีการทำมากหรือทำน้อย ทำเป็นระยะเวลาสั้นหรือยาว ทำเป็นระบบหรือทำแบบฉาบฉวย  เก็บข้อมูลอย่างหยาบหรือละเอียด  ทำเป็นครั้งคราวหรือต่อเนื่อง มีการจดบันทึกหรือจัดทำเป็นเอกสารอย่างเป็นระบบ ฯลฯ
การจัดการข้อมูลถือได้ว่าเป็นเรื่องพื้นฐาน หากชุมชนสามารถจัดการข้อมูลได้ดี เก็บข้อมูลได้ละเอียดมาก เป็นข้อมูลที่เชื่อถือได้ ก็ถือได้ว่ามีพื้นฐานที่ดีด้วย และได้ยกตัวอย่างการทำแผนชุมชนที่ถูกจุดประกายมาจากคุณประยงค์ รณรงค์ ซึ่งเริ่มต้นด้วยการพูดคุยกัน มีการเก็บข้อมูลครัวเรือน ค่าใช้จ่าย และรายได้ภายในครัวเรือน เป็นต้น

จัดการความรู้

พยายามรวบรวม ชักจูงให้นำความรู้เหล่านั้นออกมาจากผู้รู้  ยกตัวอย่างเช่น ศูนย์คุณธรรมฯ ได้ส่งเสริมเรื่องการจัดการความรู้ในเกาะลันตาใหญ่ จังหวัดกระบี่  โดยการค้นหาว่าใครเก่งเรื่องอะไร ใครรู้ ใครทำเรื่องอะไรได้  ใครมีความดีอะไร แล้วนำมาติดป้ายไว้ที่ศูนย์กลางของหมู่บ้าน  ฯลฯ  นอกจากนั้นการพบปะ พูดคุย แลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกันก็ทำให้เกิดการจัดการความรู้ ข้อดีของการจัดการความรู้ คือ เป็นการสื่อสัมพันธไมตรี เกิดปัญญา อีกทั้งยังได้แนวทางการดำเนินชีวิตและแนวทางในการทำมาหากินอีกด้วย

จัดการคน

คนเรามีความแตกต่างกัน เช่น บางคนเป็นคนดีบางคนก่อกวนและสร้างปัญหา ดังนั้น ในการจัดการคนจึงต้องมีความเหมาะสม  ยกตัวอย่างหมู่บ้านสามขา จังหวัดลำปางที่มีกิจกรรมมากมาย สิ่งที่น่าสนใจคือ ที่นั่นใช้หลัก 10% นั่นคือ ในคน 10 คน อย่างน้อยน่าจะมีคนเก่ง รู้เรื่องราวต่างๆ และเป็นคนดี อย่างน้อย 1 คน จากนั้นรวบรวมคนเหล่านั้นแล้วจัดตั้งเป็นสภาหมู่บ้าน นัดพบปะกันเป็นประจำ และที่สำคัญ ”คน” เป็นต้นเหตุของความดี ความไม่ดี ความสำเร็จ และความไม่สำเร็จ

จัดการความสัมพันธ์

ความสัมพันธ์ดีมาก คือ การมีความสามัคคี ไว้ใจได้ รักใคร่ กลมเกลียว ร่วมกันทำงาน  (การจัดการความสัมพันธ์ อาจใช้คำว่า การจัดการทางสังคมหรือเชิงสังคม ) และเป็นที่มาของการจัดตั้งวิทยาลัยการจัดการทางสังคม(วจส.) ซึ่งมีหลักสูตรเกี่ยวกับการจัดการความสัมพันธ์และสังคม

จัดการกิจกรรม

ยกตัวอย่างเช่น การรวมตัวกันทำวิสาหกิจชุมชน การรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมในชุมชน ฯลฯ

จัดการเงิน

ยกตัวอย่างเช่น  การทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย สามารถตรวจสอบได้ โปร่งใส มีเงินหมุนเวียนพอใช้

จัดการกองทุน

มีการเก็บเงินออม  มีสมาชิก มีการชำระหนี้ มีการนำผลกำไรมาใช้ประโยชน์ต่างๆ

จัดการองค์กร

มีการจัดตั้งองค์กรทั้งที่เป็นทางการ และไม่เป็นทางการ แต่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งสามารถทำสัญญา และเสียภาษีได้ เช่น สหกรณ์ กลุ่มอนุรักษ์ป่า กลุ่มออมทรัพย์ เป็นต้น สำหรับการจัดการองค์กรนั้นเป็นการทำเพื่อให้เกิดความชัดเจนว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน งบประมาณเท่าไหร่ การดำเนินงานเป็นอย่างไร เป็นต้น

จัดการชุมชน

เป็นการจัดการทุกเรื่องในชุมชน  เช่น  ทรัพยากรธรรมชาติ  วัฒนธรรม  สังคม  เศรษฐกิจ จัดการทั้งหมดเป็นองค์รวมและบูรณาการ

การที่ชุมชนจะเข้มแข็งได้นั้น ชุมชนต้องสามารถจัดการเรื่องต่างๆ ทั้ง 9 เรื่องข้างต้นได้เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นการจัดการที่ชุมชนทำอยู่แล้ว เพียงแต่มากน้อยต่างกัน

จัดการอย่างไร

“วงจรการจัดการ”

วงจรการจัดการ เป็นวัฏจักร หมุนวนกันไปเรื่อยๆ มี 5 ขั้นตอนหลัก ประกอบด้วย 1) การเรียนรู้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นพื้นฐาน ที่มาจากประสบการณ์ และการแลกเปลี่ยน 2) การใช้ความคิด มาจากการพูดคุยกัน และจากการเรียนรู้ 3) การวางแผน มาจากความตั้งใจในการจะดำเนินการอะไร ซึ่งหากมีการจดบันทึกจะเป็นการดี 4) การทำ และสุดท้าย คือ 5) การวัดผล

จัดการให้เกิดอะไร

นิยามของคำว่า “ทุน” คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงทุนที่เป็น “เงิน”  แต่ทุนโดยแท้จริงแล้วมีหลายประเภท ได้แก่           สิ่งแรกที่ต้องพยายามให้เกิดคือ ความดี  ถ้าไม่มีจะสั่นคลอน ในขณะเดียวกันความดีต้องควบคู่ไปกับความถูกต้อง  ดีงาม  มีศีลธรรม  จริยธรรม และความสุจริต ซึ่งเป็นพื้นฐานในการนำไปสู่ความสำเร็จ นอกจากนั้นการจัดการยังมีเป้าหมายเพื่อให้กิดความสามารถ  ความสามัคคี  และความสำเร็จ ซึ่งความสำเร็จที่ดี มั่นคง และยั่งยืนนั้นจะต้องมาจากทั้ง 3 ส่วนรวมกันคือ ความดี ความสามารถ และความสามัคคี

ทุนธรรมชาติ   เช่น  ป่า ต้นไม้ น้ำ เป็นต้น

ทุนมนุษย์ เช่น  คนที่มีความรู้ ความดี ความสามารถ เป็นต้น

ทุนเงิน เช่น  เงินทองที่นำมาจับจ่ายใช้สอย เงินที่ยืมมา ได้รับการจัดสรรมา เป็นต้น

ทุนทางสังคม  เช่น  ความสัมพันธ์ที่ดีของคนในสังคม รักใคร่ สามัคคี ทำงานร่วมกันอย่างพร้อมเพรียง มีพลัง เป็นต้น

กล่าวโดยสรุป  “การจัดการคน  จัดการเงิน จัดการทรัพยากรท้องถิ่น และอื่นๆ  ควรทำภายใต้แนวคิดของการจัดการชุมชนให้ดี หากชุมชนใดมีกองทุนอยู่แล้ว มีกลุ่มออมทรัพย์อยู่แล้ว ก็สามารถกันเงินออกมาส่วนหนึ่ง เพื่อทำเรื่องทรัพยากรได้ อาจเป็นกองทุนใหญ่หรือเล็ก  หรือตั้งขึ้นมาใหม่ก็ได้ ยกตัวอย่างการจัดการที่น่าสนใจและเกิดขึ้นแล้วของชุมชนคลองเปี๊ยะ จังหวัดสงขลา มีโครงการพ่อแม่ปลูกต้นไม้ให้ลูก หรือการจัดการกองทุนสวัสดิการที่จังหวัดสงขลา (ครูชบ ยอดแก้ว) และรวมทั้งกองทุนสวัสดิการวันละบาทที่จังหวัดลำปาง

กองทุนทรัพยากรอาจอยู่ในกองทุนใหญ่ก็ได้ ซึ่งต้องเป็นกองทุนที่มีความตั้งใจ มีวัตถุประสงค์ มีกิจกรรม และมีคนดูแลชัดเจน  หากไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร  จะเอาเงินจากไหน  ก็ขอให้เริ่มต้นที่ตัวเราเอง

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

2 ก.ค. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/42205

<<< กลับ

มาตรฐานบริการสาธารณสุข : ควรใช้ความพยายาม “5 ย.”

มาตรฐานบริการสาธารณสุข : ควรใช้ความพยายาม “5 ย.”


(บันทึกความคิดสำหรับการอภิปราย หัวข้อ “มุมมองต่อมาตรฐานบริการสาธารณสุข” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสัมมนาวิชาการ “การพัฒนาคุณภาพสู่มาตรฐานบริการสาธารณสุข” 20-21 กรกฎาคม 2549 ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพมหานคร จัดโดย กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (โดยสำนักพัฒนาระบบบริการสุขภาพ) กระทรวงสาธารณสุข ผู้ร่วมอภิปรายอื่น คือ นพ.เอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์ (ประธานคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานสาธารณสุข สปสช.) ร้อยตรีสนธยา มโหทาน (ประธานชมรมอาสาสมัครสาธารณสุขภาคกลาง) และนายคำเดื่อง ภาษี (ปราชญ์ชาวบ้านภาคอีสาน) โดยมี นพ.ชาญวิทย์ ทระเทพ (ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบบริการสุขภาพ) เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย)

พัฒนาการเกี่ยวกับมาตรฐานบริการสาธารณสุข

  • การรักษา ป้องกัน ส่งเสริม/สร้างเสริม
  • การส่งเสริมคุณภาพ / มาตรฐาน ด้วยระบบต่างๆ

–          TQM (Total Quality Management)

–          ISO 9000: 2000

–          HA (Hospital Accreditation)

–          PHSS (Public Health Service Standard)

–          HNQA (Hospital Network Quality Andit)

–          HCQA (Hospital Care Quuality Award)

มาตรฐานบริการสาธารณสุข

  • การได้ตามมาตรฐาน = ผลที่เกิดขึ้นต่อผู้รับบริการ =  มิติเชิงเทคนิค
  • ความพยายามให้ได้ตามมาตรฐาน =มิติเชิงการจัดการ
  • การร่วมกันกำหนดมาตรฐานและดูแลให้ได้ตามมาตรฐาน =มิติเชิงสังคม

ความพยายาม “5 ย.” (5 มิติ) (ข้อเสนอแนะ)

  1. ยลให้ทั่ว :  ปรับปรุงเอกสารคู่มือ จัดหมวดหมู่ให้ดี คำนึงถึงมุมมองของประชาชนผู้รับบริการด้วย การใช้ภาษาให้เข้าใจง่าย รูปแบบให้น่าอ่านน่าสนใจ อาจมีแบบเป็นการ์ตูนด้วย
  2. หยั่งให้ลึก :  เข้าถึงมิติจิตใจ/จิตสำนึก/จิตวิญญาณ ของผู้ให้บริการและผู้รับบริการ
  3. โยงให้กว้าง :  ครอบคลุมถึงการสร้างเสริมสุขภาพ การมีส่วนร่วมของประชาชนและฝ่ายต่างๆ การประสานพลังพหุภาคี การใช้หลักการพื้นที่เป็นตัวตั้งและประชาชนเป็นศูนย์กลาง การใช้ยุทธศาสตร์ “โรงพยาบาลชุมชนเข้มแข็ง” ผนวกกับ “ชุมชนเข้มแข็ง”
  4. ยกให้สูง :  สามารถอาศัย TQM, ISO 9000: 2000, HA, HNQA, ต่อด้วย PDCA (Plan, Do, Check, Action) และ KM (Knowledge Management) ฯลฯ
  5. ย่างเยื้องให้ไกล :  ดำเนินการอย่างมีพหุปฏิสัมพันธ์ อย่างมีพลวัต อย่างจริงจัง อย่างต่อเนื่อง (ย่างเยื้อง = เดินอย่างมีลีลา)

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

8 ส.ค. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/43776

<<< กลับ