“ขับเคลื่อนสังคมแห่งความสุข ความดีต้องมาก่อนความรู้”

“ขับเคลื่อนสังคมแห่งความสุข ความดีต้องมาก่อนความรู้”


    (บทสัมภาษณ์ลงใน นสพ.ประชาชาติธุรกิจ ฉบับ 27-30 กรกฎาคม 2549 หน้าพิเศษ 4 พาดหัวว่า “ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม : ขับเคลื่อนสังคมแห่งความสุข ความดีต้องมาก่อนความรู้” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรายงานพิเศษ “ทิศทางการเมืองไทย” ที่ประกอบด้วยบทสัมภาษณ์บุคคล รวม 8 คน)

ด้วยประสบการณ์การทำงานที่ได้มีโอกาสคลุกคลีกับผู้บริหารระดับประเทศและยังได้คลุกฝุ่นกับคนจนในท้องถิ่นอยู่เนืองๆ ทำให้ “ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม” ประธานกรรมการศูนย์คุณธรรม เอ็นจีโออาวุโส มองการแก้ปัญหาวิกฤตของประเทศไทยต่างไปจากคนอื่นๆ เน้นแก้วิกฤตที่เหตุแห่งปัญหามากกว่าที่จะแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และในวันที่สังคมไทยเดินมาถึงจุดที่มีความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงระหว่างกลุ่มที่ต้องการให้ “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” เป็นนายกรัฐมนตรีและกลุ่มคนที่ไม่ต้องการให้ “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” เป็นนายกรัฐมนตรี “ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม” ก็ยังคงเดินหน้าพัฒนาฐานเรื่องคุณธรรมความดี เพื่อให้สังคมไทยเดินไปสู่จุดที่มีความสุขร่วมกันในอนาคต

เสริมฐานด้านคุณธรรมความดี

                เดินไปสู่จุดที่มีความสุขร่วมกัน

                “ไพบูลย์” ให้สัมภาษณ์ว่า โดยหลักการแล้วศูนย์คุณธรรมมีหน้าที่ในการขับเคลื่อนขบวนการคุณธรรม ซึ่งจริงๆ แล้วเรื่องของคุณธรรมมีคนเกี่ยวข้องเยอะ ทางศูนย์ก็พยายามไปหนุนเสริมกระบวนการต่างๆ ที่มีอยู่ให้มีการขับเคลื่อนแบบเป็นขบวนการ โดยทำงานในลักษณะเครือข่ายเพื่อให้มีพลัง

เช่น ชาวบ้านมีการรวมตัวกันทำแผนแม่บทชุมชน เพื่อทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ก็ต้องการอะไรหลายอย่างเข้าไปเสริม เช่น การทำมาหากิน การดูแลสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ การดูแลสัมพันธภาพที่ดีให้เกิดขึ้นในชุมชน ฉะนั้นสิ่งที่ศูนย์คุณธรรมจะทำได้คือ ไปหนุนขบวนการชุมชนเพื่อให้มีมิติในเรื่องคุณธรรมที่เด่นชัดและหนักแน่นขึ้น

หากจะขยายความในเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จะประกอบไปด้วย ความสุขทางกาย ความสุขทางใจ ความสุขทางสังคม และความสุขทางปัญญาหรือจิตวิญญาณ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าเรื่องของความสุข เรื่องของคุณธรรมความดี เรื่องการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่นั้นเกี่ยวพันผสมกลมกลืนกันอย่างแยกไม่ออก ทางศูนย์คุณธรรมจึงประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อให้ความสุขที่เกิดขึ้นเป็นความสุขที่ยั่งยืน ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

คำว่าดีขึ้นในที่นี้หมายรวมถึงชีวิตดีขึ้น ชุมชนดีขึ้น สังคมดีขึ้น รวมทั้งเศรษฐกิจดีขึ้น เมื่อสังคมดี วัฒนธรรมดี สิ่งแวดล้อมดี จิตใจคนก็ดี คุณธรรม ความดี ก็ดีตามไปด้วย

                  ซึ่งในช่วงหลังๆ สังคมไทยเริ่มหันมาสนใจประเด็นในเรื่องดัชนีชี้วัดความสุขกันมากขึ้น แต่การจะหยิบเกณฑ์บางอย่างทางสังคมเพื่อมาเป็นตัวชี้วัดความสุขแบบถูกต้อง เที่ยงตรง คงจะเป็นไปได้ยาก ยกเว้นเรื่องที่เป็นรูปธรรมจริงๆ เช่น ในแต่ละปีมีคนตายกี่คน มีคนเป็นโรคมะเร็งตายเท่าไหร่ ตรงนี้วัดได้

หรือการจัดความเจริญทางด้านเศรษฐกิจก็ไม่ได้มีตัวชี้วัดที่ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ ตัวเลขที่รัฐบาลนำมาวัดดัชนีการพัฒนาเศรษฐกิจที่เรียกว่า GNP หรือ GDP หรือผลผลิตมวลรวมประชาชาติ ก็มีลักษณะเป็นการสร้างเครื่องวัดชนิดหนึ่งขึ้นมา เป็นการประมาณการโดยอาศัยหลักวิชา

ซึ่งบางครั้งหากวิเคราะห์ให้ละเอียดก็จะเห็นว่าดัชนีที่จัดทำขึ้นแต่ละครั้งนั้นยังมีความไม่สมบูรณ์อยู่เยอะ

ซึ่งข้อเท็จจริงที่น่าสนใจคือ ในขณะที่รายได้ประชาชาติสูงขึ้น ทรัพยากรธรรมชาติก็ได้ถูกทำลายลง นั่นหมายถึงว่าเราได้ทำลายฐานทุนเพื่อนำไปสร้างรายได้ ซึ่งในระยะยาวไม่ใช่สิ่งที่ดีเลย เพราะฉะนั้นตัววัดทางด้านเศรษฐกิจ สังคม ถือเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสังคมที่ยังมีความไม่สมบูรณ์อยู่มาก

สร้างดัชนีชี้วัด ปรับวิธีคิดชุมชน

                ค้นหาความสุขแทนการสร้างรายได้

                หากวันนี้ประเทศไทยจะหันมาวัดความสุขมวลรวมประชาชาติ ก็จะมีลักษณะไม่ต่างจากการวัดด้านเศรษฐกิจและสังคมอื่นๆ โดยการสร้างตัวชี้วัดขึ้นมา

การวัดความสุขมวลรวมประชาชาติของภูฏานนั้นในช่วงที่ผ่านมาไม่ได้เข้าไปศึกษาในรายละเอียด ว่ามีการวัดกันอย่างไร จึงรู้เพียงแต่ว่าความสุขมวลรวมประชาชาติของประเทศภูฏานนั้นตั้งอยู่บนฐานหลัก 4 ประการ

ฐานแรก คือการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม ให้พึ่งตนเองได้ และมีความเสมอภาค

                ฐานที่สอง คือการอนุรักษ์ดูแลทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม                 ฐานที่สาม คือการอนุรักษ์และพัฒนาวัฒนธรรมที่ดีงาม

                  และฐานสุดท้าย ฐานที่สี่ คือการทำให้เกิด และรักษาไว้ซึ่งการบริหาร การปกครองที่ถูกต้องและเป็นธรรม ที่เรียกว่าธรรมาภิบาล

หากการคำนึงถึงความสุขมวลรวมประชาชาติของภูฏานตั้งอยู่บน 4 ฐานหลัก ก็จะสามารถสร้างดัชนีชี้วัดขึ้นมาได้ โดยวัดจาก 4 ฐาน ซึ่งอาจจะไม่วัดที่ตัวความสุขเพียงอย่างเดียว แต่วัดปัจจัยที่นำไปสู่ความสุขก็ได้

ในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยได้มีความพยายามที่จะวัดเรื่องของความอยู่เย็นเป็นสุขอยู่บ้าง ซึ่งทางสภาพัฒน์ เรียกว่าดัชนีชี้วัดความอยู่ดีมีสุข

ซึ่งภาวะที่เป็นสุขประกอบไปด้วยความเป็นสุข 4 อย่าง คือ 1.ความเป็นสุขทางกาย 2.ความเป็นสุขทางใจ 3.ความเป็นสุขทางปัญญาหรือจิตวิญญาณ แสดงความสุขที่ลึกลงไปในจิตสำนึกในการเข้าถึงคุณธรรม สัจธรรม ความดี ความงามต่างๆ 4.ความเป็นสุขทางสังคม หมายถึงความเป็นสุขในการอยู่ร่วมกัน หรืออยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข

หากหยิบความหมายของความสุข 4 อย่างมาเป็นดัชนีชี้วัดในเรื่องความสุขมวลรวมของชาติก็สามารถทำได้ เป็นการจับจุดสำคัญๆ มาวัด

การใช้ดัชนีชี้วัดไม่ได้แปลว่าความสำคัญของความสุขอยู่ที่ตัวชี้วัด แต่ความสำคัญอยู่ที่การทำให้เกิดความคิด การกระทำ และความสัมพันธ์ในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี

เช่น อาจจะมีการส่งเสริมในเรื่องของการสร้างตัวชี้วัดความสุขในชุมชน แทนที่ชาวบ้านจะมาวัดรายได้ของชุมชน ก็หันมาวัดในเรื่องของความสุขแทน เปลี่ยนวิธีคิดของชาวบ้านให้ค้นหาว่าความสุขหมายถึงอะไร

ความสุขจะต้องมาจากความดี การอยู่ร่วมกัน มาจากการมีอาชีพ มีปัจจัยสี่ ขณะเดียวกันจะต้องมีสัมพันธภาพที่ดี มีวัฒนธรรมที่ดี มีสิ่งแวดล้อมที่ดี และเมื่อคิดแล้วก็ต้องพยายามทำให้ได้ตามนั้น

การที่ชุมชนปรับความคิด คิดถึงความสุข คิดถึงปัจจัยที่ทำให้เกิดความสุข แล้วก็พยายามทำให้เกิดปัจจัยเหล่านั้นเพื่อนำไปสู่ความสุข ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เป็นการใช้ตัวชี้วัดมาปรับความคิดของชาวบ้าน ปรับการกระทำ ปรับวิถีของคนที่อยู่ร่วมกันให้มีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน

เพราะฉะนั้นตัววัดจึงเป็นเสมือนยุทธศาสตร์ที่ทำให้เกิดผลที่ดี เช่นเดียวกับวัดเรื่องรายได้ ก็จะทำให้คนไปพะวงกับรายได้ คิดแต่จะสร้างรายได้ แล้วก็เลยนำไปสู่การเบียดเบียน การเอาเปรียบ การแย่งชิงประโยชน์ การสะสม การกอบโกย ฉะนั้นเครื่องวัดไม่ได้สำคัญที่ความสมบูรณ์ของตัววัด แต่สำคัญที่ผลกระทบต่อวิธีคิด วิธีทำ วิธีอยู่ร่วมกันของคนมากกว่า

“ไพบูลย์” กล่าวต่อไปว่า สังคมหนึ่งๆ ย่อมมีสภาวะที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา สังคมไทยได้ผ่านความสันติสุข ความวุ่นวาย ความยากลำบาก หมุนเวียนเปลี่ยนไป ไม่เคยหยุดนิ่ง การจะพูดว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันดีขึ้นหรือเลวลงกว่าในอดีตคงดูได้ยาก แต่สิ่งหนึ่งที่พูดได้ คือที่ผ่านมาประเทศไทยไม่ได้มีความพยายามจะวัดในเรื่องความสุข หรือความเป็นสุขในสังคมเลย จึงเปรียบเทียบได้ยาก

ต่อไปหากมีตัวชี้วัดในเรื่องของความสุข อย่างน้อย 4 ด้าน ก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น

ที่ผ่านมาหลายฝ่ายได้พยายามทำดัชนีชี้วัดในเรื่องความสุขเหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่นสภาพัฒน์ได้ทำดัชนีชี้วัดในเรื่องความอยู่ดีมีสุข แบ่งออกเป็น 8 หมวด โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ก็ได้ร่วมกับนักวิชาการไทยทำดัชนีชี้วัดความก้าวหน้าของคน (Human Achievement Index)

และเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา นักวิชาการไทยได้ร่วมกับชาวบ้านที่อีสาน ค้นหาสิ่งที่จะวัดความเป็นสุข ซึ่งก็ได้มา 8 หมวดเช่นกัน ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มการทำมาหากิน เพราะคนเราจะมีความสุขได้ ก็มักจะหนีไม่พ้นเรื่องของการอาชีพ ความเป็นอยู่ ปัจจัยสี่ การศึกษา วัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การเมืองการปกครองที่ดี

สุดท้ายคือเรื่องของจิตใจของคน จิตใจของการอยู่ร่วมกันหรือที่เรียกกันว่าคุณธรรม จริยธรรม ถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของความเป็นสุข จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่ประเทศไทยยังไม่มีการพัฒนาเรื่องเหล่านี้อย่างจริงจังในระดับชาติ

หากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องหันมาร่วมกันพัฒนา ในระยะแรกอาจจะยังไม่ดีนัก ค่อยๆ ปรับปรุงกันไปก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ และในที่สุดก็จะกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้สามารถติดตามสภาพความเป็นไปของสิ่งที่เรียกว่า ความสุข หรือความเป็นสุขได้

คนไทยจะได้เรียนรู้ร่วมกันว่าการที่จะทำให้ชีวิตเป็นสุขนั้น จะต้องทำอะไรบ้าง ตรงนี้จะเป็นประโยชน์มาก ซึ่งควรจะเริ่มทำจากระดับท้องถิ่น เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะตรงนั้นเป็นเสมือนประเทศเล็กๆ หากทำให้คนกลุ่มเล็กๆ ระดับท้องถิ่นสามารถบริหารจัดการภายในชุมชนโดยยึดความอยู่เย็นเป็นสุขเป็นตัวตั้ง แล้วเฝ้าดูสภาพความเป็นไปว่าเป็นอย่างไร การทำให้ท้องถิ่นดีขึ้นทำอย่างไร จากนั้นจึงค่อยๆ ขยายผลยกระดับขึ้นมาเป็นจังหวัด ก็จะเห็นพัฒนาการด้านความสุขที่ชัดเจนขึ้น

แต่ทว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลเน้นให้จังหวัดทำดัชนีชี้วัดในเรื่องรายได้ เอาเศรษฐกิจเป็นตัวนำ การวัดทางด้านความอยู่เย็นเป็นสุขจึงด้อยลงไป ซึ่งหากรัฐบาลส่งเสริมให้ท้องถิ่นและจังหวัดอยู่เย็นเป็นสุข ประเทศชาติก็จะอยู่เย็นเป็นสุขตามไปด้วย

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  

               กุญแจสำคัญนำไปสู่ความสุข

                ประธานศูนย์คุณธรรมกล่าวต่อไปอีกว่า การจะนำสังคมไปสู่ความสุขต้องเริ่มต้นที่เศรษฐกิจพอเพียง เพราะระบบทุนนิยมเอาความเติบโตทางด้านเศรษฐกิจเป็นตัวนำ แต่เศรษฐกิจพอเพียงเอาความพอดีเป็นตัวนำ

                เศรษฐกิจพอเพียงจะมีลักษณะสำคัญอยู่ 5 ประการ คือ 1.พอประมาณ 2.มีเหตุผล 3.มีภูมิคุ้มกัน 4.ใช้ความรู้ ความรอบรู้ ความรอบคอบ 5.มีคุณธรรม ความดี เน้นให้ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข เพราะความพอดี ความพอประมาณ คือภูมิคุ้มกันที่ทำให้เกิดความมั่นคงเป็นปกติสุข อาจจะไม่ร่ำรวย อาจจะไม่ได้เติบโตมาก แต่ว่าอยู่ได้อย่างพอประมาณและเป็นสุข ถ้ามีความรอบรู้ รอบคอบ มีคุณธรรม มีความดี ความสุขก็จะเกิด

เพราะฉะนั้นเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ความสมดุล ความเป็นสุข จึงไปด้วยกัน ซึ่งต่างจากระบบทุนนิยม บริโภคนิยม วัตถุนิยม ที่มักจะนำไปสู่ความสุดโต่ง ความเกินดุล คือบริโภคมากไป ใช้วัตถุมากไป ใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากไป แล้วก็อยู่ร่วมกันแบบแข่งขันกันมากไป แทนที่จะให้เกิดความอยู่ด้วยกันอย่างเสมอภาค หรือแบบมีความสุข สังคมก็มีแต่ความขัดแย้ง

การจะก้าวไปสู่สังคมที่ดีและมีความสุข หลายอย่างต้องเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น การเมืองการปกครองต้องดี ระดับความคิดความอ่าน การรวมตัวกันของภาคประชาชนต้องมีพลัง ถ้าภาคประชาชนยังคิดอ่านแบบง่ายๆ สั้นๆ เอารายได้ เอาการบริโภคในปัจจุบันเป็นตัวหลัก แม้จะต้องกู้หนี้ยืมสินก็ยอม แล้วอยู่กันแบบตัวใครตัวมัน ไม่มีการรวมตัวกัน ก็จะนำไปสู่การเมืองการปกครองที่ไม่ดี ภาคประชาชนก็ไม่เข้มแข็ง

จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ระบอบการเมืองการปกครองของไทยมักจะดึงดูดคนที่ใฝ่หาอำนาจและผลประโยชน์เข้ามาทำงาน ฉะนั้นหากภาคประชาชนเป็นกำลังที่เข้มแข็ง นักการเมืองนักการปกครองก็จะปรับพฤติกรรมของเขาให้เกื้อกูลต่อภาคประชาชน

แต่ถ้าภาคประชาชนไม่เข้มแข็ง แล้วโน้มเอียงไปในทางชอบพึ่งพิงผู้อุปถัมภ์ ทางฝ่ายการเมือง ฝ่ายนักปกครอง ก็จะเบี่ยงเบนไปทางเอาประโยชน์ เอาอำนาจเป็นหลัก แต่ถ้าประเทศไทยโชคดีได้นักการปกครองที่ดี ก็สามารถที่จะไปเกื้อกูลให้ภาคประชาชน เข้มแข็งได้

หรือถ้ามีนักปกครองที่ดี เขาเหล่านั้นก็จะไม่ไปครอบงำประชาชน ไม่ไปเอาประโยชน์ส่วนตัว แต่ว่าไปบริการ ไปรับใช้ประชาชน แล้วไปเอื้อเฟื้อเกื้อกูลให้ประชาชนเข้มแข็ง

แต่ถ้านักการเมืองไปทำให้ประชาชนกลายเป็นผู้รับการอุปถัมภ์ ตรงนั้นจะไม่ใช่คุณสมบัตินักการเมือง นักการปกครองที่ดี

นักการเมือง นักการปกครองที่ดี ควรจะมีทศพิธราชธรรม และมีหลักการบริหารที่เอื้อต่ออำนาจของประชาชน ทำให้ประชาชนเข้มแข็ง

แต่ในปัจจุบันมีนักการเมืองจำนวนไม่ใช่น้อย จะชอบเข้าไปทำให้ประชาชนเป็นผู้รับการอุปถัมภ์ เพราะตัวเองจะได้ประโยชน์ แล้วใช้ฐานเสียงที่มีอยู่นั้นกุมอำนาจ แสวงหาผลประโยชน์วนเวียนอยู่อย่างนั้น

“บางคนบอกว่าจะต้องทำให้สังคมไทยเป็นสังคมฐานความรู้ แต่โดยส่วนตัวอยากเสนอแนะว่า เราควรจะทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่มีคุณธรรมนำการเรียนรู้ ถ้าสังคมไทยใช้ฐานความรู้เป็นหลัก การดำเนินชีวิตก็จะเน้นไปที่วัตถุ เพราะความรู้เป็นอาวุธ กิเลสของคนจะเอาความรู้ไปเป็นอาวุธ เพื่อเอาเปรียบคนอื่นๆ ทำร้ายคนอื่น หรือครอบงำคนอื่นๆ หรือเอาผลประโยชน์เข้าตัวเอง

แต่สังคมที่ใช้ฐานคุณธรรม หรือใช้คุณธรรม ใช้ความดีนำความรู้ คุณธรรมและความดี เป็นสิ่งที่มีคุณค่าในตัวเอง มีแล้วดี แล้วถ้าเป็นคุณธรรมนำการเรียนรู้ ก็จะทำให้การเรียนรู้เป็นการเรียนรู้ที่อยู่บนฐานที่ดี ในกรอบที่ดี ก็จะเดินไปในทิศทางที่ดี

ถ้าใช้คุณธรรมนำความรู้ ความรู้ที่เปรียบเสมือนอาวุธ ก็จะกลายเป็นอาวุธทำความดี ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ ดังนั้นเราจึงควรเปลี่ยนจากความคิดที่จะสร้างสังคมฐานความรู้ หรือแม้กระทั่งในโรงเรียนที่บอกว่า เก่ง ดี มีความสุข ควรเปลี่ยนมาเป็น ทำความดี มีความสุข พัฒนาความสามารถ หรือ ดี สุข สามารถ”

“ไพบูลย์” กล่าวว่า เมื่อคนทำความดี ความดีก็จะก่อให้เกิดความสุข ศูนย์คุณธรรมเชื่อว่าบนฐานเรื่องของคุณธรรม ความดี หากทำไปเรื่อยๆ สังคมจะเข้มแข็งขึ้น

                และในวันที่สังคมไทยมีความเข้มแข็ง มีฐานของคุณธรรมความดี เรื่องที่ไม่ดี ไม่งามต่างๆ ก็จะลดน้อยลง ปัญหาในเรื่องจริยธรรมที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ปัญหาเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น การทะเลาะ การแตกแยกของสังคมก็จะค่อยๆ คลี่คลายไปทางที่ดีขึ้น

แผน 10 ต้องชี้ทิศทางความสุขให้ชัด

สำหรับทิศทางการพัฒนาในเรื่องความสุขแบบยั่งยืนของสภาพัฒน์ มีโอกาสทำให้สังคมไทยมีความสุขได้มากน้อยแค่ไหน “ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม” กล่าวว่า เท่าที่ดูแผนฯ 10 เห็นว่าไม่ต่างจากแผนฯ 8 หรือแผนฯ 9 เท่าไหร่นัก

แผนฯ 10 จัดเป็นแผนที่ดี มีการประมวลความคิด ความเห็นจากประชาชนทุกภาคส่วน พูดถึงสิ่งที่พึงประสงค์ คือ ความเป็นสุขของประชาชน แต่เรื่องเหล่านี้พูดกันมาตั้งแต่แผนฯ 8 แล้ว หากย้อนกลับไปดูรายละเอียดในแผนฯ 8 จะเห็นว่าเขียนไว้ชัดว่า มีจุดมุ่งหมายในการพัฒนา โดยใช้คำว่า “จะพัฒนาประเทศให้คนมีความสุข ครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเข้มแข็ง สังคมสันติ สิ่งแวดล้อมยั่งยืน”

แผนฯ 9 ก็เช่นกัน มีเรื่องทำนองนี้บรรจุอยู่แล้ว ยังเพิ่มเรื่องของ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” เข้าไปด้วย เป็นปรัชญานำทาง

ฉะนั้นการที่สภาพัฒน์ระบุว่า เป้าหมายของแผนฯ 10 คือ เรื่องของความเป็นสุข จึงไม่มีอะไรที่จะต้องคาดหวังว่าผลลัพธ์จะแตกต่างจากแผนฯ 8 และหรือแผนฯ 9 เว้นแต่ว่าจะมีการปรับความคิดกันใหม่ ปรับวิธีทำงานกันใหม่

โดยส่วนตัวแล้วเห็นว่า ในแผนฯ 10 ควรจะจัดทำในลักษณะของแผนฯชี้ทิศทาง ไม่ใช่แผนฯละเอียดมากอย่างที่ทำในปัจจุบัน เท่าที่ดูมีละเอียดถึงขั้นมาตรการเล็กๆน้อยๆ ซึ่งไม่จำเป็นเพราะสิ่งที่ต้องการคือทิศทางเท่านั้นส่วนแผนการปฏิบัติย่อยๆนั้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ประชาชนเป็นคนคิด เพราะหากทิศทางดีแล้ว แผนปฏิบัติก็จะดีตาม

การที่สภาพัฒน์ไปคิดโครงการต่างๆไว้หมดแล้วแผนปฏิบัติการต้องใช้ถึง 5 ปี บางเรื่องบางอย่างก็ไม่ทันสถานการณ์ ดังนั้นสภาพัฒน์ควรเสนอวิสัยทัศน์ความอยู่เย็นเป็นสุขก็เพียงพอแล้ว ส่วนจะวัดความสุขอย่างไรนั้น ให้ท้องถิ่นเป็นคนจัดการ ให้ประชาชนเป็นผู้วัดและติดตาม

ที่สำคัญในแผนฯ 10 บอกว่าจะใช้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญานำทาง ตรงนี้ จะต้องบอกให้ชัดว่าจะมีกลไกอย่างไร มีกระบวนการการทำงานอย่างไร มีงบประมาณสนับสนุนขนาดไหน เพราะในแผนฯ 9 ก็เขียนเรื่องนี้ไว้เช่นเดียวกัน แต่ไม่มีกลไกอะไร การปฏิบัติจึงไม่เกิด

ปรัชญาเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องที่ดีมากที่จะไปหนุนเสริมวิสัยทัศน์ในเรื่องของความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน ดังนั้นจะต้องทำให้ชัด

สรุปแล้วแผนฯ 10 จะต้องกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนทั้งในเรื่องของความอยู่เย็นเป็นสุขแล้วใช้ประโยชน์จากปรัชญานำทาง คือเศรษฐกิจพอเพียง ให้เป็นจริงให้ได้

และสุดท้ายยุทธศาสตร์ในเรื่องของความดี การเรียนรู้ การจัดการ ต้องขยายความตรงนี้ ส่วนรายละเอียดอื่นๆรัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศจะต้องทำอยู่แล้ว

  ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

28 ก.ค. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/41315

<<< กลับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *