“โรงเรียนในฝัน” ที่เป็นความจริง และทำมาแล้ว 15 ปี

“โรงเรียนในฝัน” ที่เป็นความจริง และทำมาแล้ว 15 ปี


เยี่ยมศึกษาโรงเรียนสัตยาไส

            เมื่อวันที่ 30 – 31 พ.ค. ที่ผ่านมา ผมร่วมไปกับคณะศึกษาดูงานจาก 25 โรงเรียน ที่เข้าร่วม “โครงการเร่งสร้างคุณลักษณะที่ดีของเด็กและเยาวชนไทย” ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกับศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม (ศูนย์คุณธรรม) สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) จัดขึ้น ซึ่งจากโครงการดังกล่าวนี้เอง ทำให้ทราบถึงสถานศึกษาที่เน้นการพัฒนาคุณธรรมนำการเรียนรู้ของนักเรียน ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ “โรงเรียนสัตยาไส” (Sathya Sai School) อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี และพวกเราก็ได้ไปเยี่ยมชมกัน

                โรงเรียนสัตยาไส ก่อตั้งและอำนวยการโดย ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ดำเนินงานมา 15 ปีแล้ว ปัจจุบันมีนักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาล 1 ถึง มัธยม 6 รวมประมาณ 350 คน ครูประมาณ 50 คน นักเรียนอนุบาลมาเรียนเฉพาะกลางวัน นักเรียนประถมฯ และมัธยมฯ อยู่ประจำ

นอกจากโรงเรียนสัตยาไส แล้วยังมี “สถาบันการศึกษาสัตยาไส” (Institute of Sathyasai Education) สำหรับผู้ต้องการเรียนรู้วิธีการศึกษาแบบสัตยาไส ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวต่างประเทศ และปัจจุบันได้มีการก่อตั้งโรงเรียนแบบสัตยาไสแล้ว 57 โรงเรียนใน 35 ประเทศ โดยเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายซึ่งกันและกันด้วย

แรงบันดาลใจจากท่านสัตยาไส บาบา

โรงเรียนสัตยาไสในประเทศไทย (ซึ่งได้เป็นต้นแบบของโรงเรียนสัตยาไสในประเทศอื่นๆ) เกิดขึ้นจากแรงบันดาลใจที่ ดร.อาจอง ได้รับจากการได้ไปพบท่านสัตยาไส บาบา ที่เมืองพุทธปาตี ประเทศอินเดีย เมื่อประมาณ 25 ปีก่อน โดยท่านสัตยาไส บาบา แนะนำ ดร.อาจอง ว่า ควรใช้เวลาที่เหลือของชีวิตพัฒนาเรื่องการศึกษา โดยควรเป็นการศึกษาที่มีคุณธรรมด้วย

ดร.อาจอง อุทิศตนเต็มที่ให้กับการอำนวยการและดูแลโรงเรียนสัตยาไส ใช้เวลาส่วนใหญ่กินอยู่และอำนวยการเรียนการสอนที่นั่น ตื่นแต่เช้าประมาณ 04.30 น. ร่วมนำการสวดมนต์ การปฏิบัติสมาธิ และการเรียนรู้เรื่อง “คุณค่าความเป็นมนุษย์” ฯลฯ ร่วมกันของนักเรียนที่อยู่ประจำทั้งหมดทุกๆเช้า เริ่มแต่ 05.00 น. ก่อนที่จะไปทำกิจกรรมอื่นๆ รวมถึงการรับประทานอาหารเช้า การเข้าแถวหน้าเสาธง ฯลฯ

โรงเรียนสัตยาไส ใช้หลัก “Educare” โดยมุ่งดึงสิ่งที่ดีจากนักเรียน ตั้งคำถามที่ดีและสร้างสรรค์ โน้มนำให้สวดมนต์ ปฏิบัติสมาธิ ระลึกถึงบุญคุณของผู้อื่น บุญคุณของสรรพสิ่ง มีความนอบน้อม มีความเคารพ มีความเมตตากรุณา ฯลฯ อยู่เป็นปกตินิสัย

คุณธรรม 5 ประการในการดำเนินชีวิตและกิจกรรม

“คุณธรรม 5 ประการ” ซึ่งถือเป็นหลักในการดำเนินชีวิตและดำเนินกิจกรรมทั้งหลายในโรงเรียนสัตยาไส คือ (1) เปรมา (ความรักความเมตตา) (2) สัตยา (ความจริง) (สัตยาไสย = มารดาแห่งความจริง) (3) ธรรมะ (การประพฤติชอบ) (4) สันติ (ความสงบสุข) (5) อหิงสา (การไม่เบียดเบียน)

และมีเป้าหมายในการจัดการศึกษาตามอักษรย่อที่รวมกันเป็นคำว่า “EDUCATION” ดังนี้

  • Enlightenment                         (การรู้แจ้ง)
  • Duty and Devotion                (การปฏิบัติหน้าที่และการเสียสละอุทิศตน)
  • Understanding                         (ความเข้าใจถ่องแท้)
  • Character                                  (อุปนิสัยที่ดีงาม)
  • Action                                         (การนำความรู้ไปปฏิบัติ)
  • Thanking                                  (การมีใจกตัญญูรู้คุณ)
  • Integrity                                    (ความมีเกียรติ)
  • Oneness                                     (ความมีใจสมาน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน)
  • Nobility                                      (ความสง่างาม)

โรงเรียนใช้หลักการ “การเรียนรู้โดยนักเรียนเป็นศูนย์กลาง” และ “การเรียนรู้แบบบูรณาการ” เช่น ให้นักเรียน (เริ่มแต่ชั้นอนุบาล) ร่วมกำหนดหัวข้อและวิธีที่จะเรียนรู้ แล้วครูเป็นผู้เอื้ออำนวย (ไม่ใช่สอน) ให้นักเรียนได้เรียนรู้ โดยเน้นการเรียนรู้จากการได้ปฏิบัติ ได้เห็นได้ฟัง ได้สัมผัส ได้ทดลอง ได้คิด ฯลฯ อย่างเหมาะสม

 

การเรียนรู้อย่างบูรณาการ

ในส่วนของการเรียนรู้อย่างบูรณาการก็มีตัวอย่างของการ “บูรณาการการเรียนรู้ เรื่องสุขกาย สบายใจ ซึ่งนักเรียนชั้น ม.1 – 2 – 3 เรียนด้วยกัน เริ่มต้นด้วยการนั่งสมาธิร่วมกัน แล้วแบ่งเป็น 4 กลุ่ม แยกย้ายไปเรียนรู้ไปตามฐานการเรียนรู้ 4 ฐาน กลับมารวมกันในช่วงท้าย แต่ละกลุ่มนำเสนอผลการเรียนรู้จากแต่ละฐานพร้อมอภิปราย แล้วจบด้วยการทำสมาธิ แผ่เมตตา และทำความเคารพ

สำหรับสาระที่มีการเรียนรู้จากแต่ละฐาน ประกอบด้วยสาระการเรียนรู้ 8 กลุ่ม ได้แก่

(1) ภาษาไทย (เรียนรู้มารยาทในการสนทนาเพื่อให้ผู้อื่นรู้สึกดี)

(2) สังคม ศาสนา และวัฒนธรรม (เรียนรู้เรื่องคุณธรรมกับการดำรงชีวิต)

(3) ดนตรี (ขับร้องเพลง Think good – Speak good – Do good)

(4) คณิตศาสตร์ (เรียนรู้เรื่องปริมาณ)

(5) วิทยาศาสตร์ (เรียนรู้เรื่องสารเสพติดประเภทต่างๆและผลกระทบต่อระบบในร่างกาย)

(6) การงาน อาชีพ และเทคโนโลยี (เรียนรู้การทำยำผลไม้ อาหารที่ให้ประโยชน์ต่อร่างกาย)

(7) สุขศึกษา และพลศึกษา (เรียนรู้ประโยชน์ของการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพที่ดีพร้อสำหรับวัยที่กำลังเจริญเติบโต)

(8) ภาษาต่างประเทศ (เรียนรู้ศัพท์ภาษาอังกฤษจากบทเพลงและกิจกรรมคุณค่าความเป็น มนุษย์)

เพลง “Think good – Speak good – Do good” หรือ “Thought, Word and Deed”

Think good, speak good, do good.

This should be our creed.

Serving others as we should,

In thought, word and deed.

Life is not so easy, but if we’re to

be free, we must create unity

between the following three :

Think good, speak good, do good.

ศีล สมาธิ ปัญญา เมตตา คุณธรรม

โรงเรียนสัตยาไสได้นำหลัก “ศีล สมาธิ ปัญญา” มาประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอน เน้น “ความรักความเมตตา” และ “คุณธรรม” โดยบูรณาการเข้าไปในการเรียนการสอนและกิจกรรมทั้งหลาย เช่น ก่อนรับประทานอาหาร จะมีการสวดมนต์ ขอบคุณพ่อแม่ ครู ธรรมชาติ โดยนักเรียนนำกล่าวถ้อยคำ “ข้าวทุกจาน อาหารทุกอย่าง …..” ตามด้วยการพูดเป็นภาษาอังกฤษ (เด็กอนุบาลก็พูดอย่างนี้ ทั้งสองภาษา)

บทบาทของครู ถือว่าสำคัญมาก ต้องเข้าใจผู้เรียน มีบทบาทเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ ครูที่ดีไม่ควรเป็น “ผู้สอน” ครูต้องเป็นแบบอย่าง ไม่แนะนำให้ทำในสิ่งที่ครูทำไม่ได้ ไม่ควรพยายาม “สอนคุณธรรม” แต่ควรพยายามดึงความดีออกมาจากนักเรียน (Educare) ควรใช้วิธีจัดการเรียนรู้แบบ “ร่วมมือกัน” (พหุปัญญา) ไม่ใช่แบบ “แข่งขันกัน” ควรให้นักเรียนมีบทบาทในการเลือกว่าจะเรียนอะไร เรียนอย่างไร ที่ไหน ฯลฯ

จากคำพูดของนักเรียนเอง

ผลการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนสัตยาไส นับว่าน่าพอใจทีเดียวเช่น จากคำพูดของนักเรียนเองหลายคน (ชั้น ม.6) ดังต่อไปนี้

“เรียนที่นี่ ทำให้มีอุปนิสัยดีขึ้น มีสติ รอบคอบ”

“มีโอกาสเล่นกีฬา ปีนต้นไม้ และอื่นๆ คิดว่าดีกว่าเด็กในกรุงเทพฯ”

“มาเรียนแล้วพ่อแม่เอาใจใส่มากขึ้น ตัวเองก็พอใจไปกับพ่อแม่มากขึ้น”

“ไม่พกเงิน ไม่พกโทรศัพท์ มีความปลอดภัย”

“เห็นเพื่อนตั้งใจเรียน จึงต้องทำบ้าง”

“เคยใจร้อน เกเร เดี๋ยวนี้ใจเย็นขึ้น มีเหตุผล รับผิดชอบ รักพ่อแม่ มีสมาธิ มีคุณธรรม”

“เคยเป็นคนเกเร ไม่อยากมาอยู่โรงเรียนสัตยาไส พ่อหลอกให้มา ให้ลองอยู่ 1 ปีแลวจะออกก็ได้ หลังจากครบ 1 ปี ก็เลือกที่จะอยู่ต่อ เพราะได้พบอะไรดีๆหลายอย่าง ได้สร้างความสามารถที่ไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีอยู่”

“เคยชอบเล่นเกม กลับมาชอบกีฬามากกว่า”

“เคยสมาธิสั้นมาก มาได้ฝึกสมาธิ มีสติมากขึ้น”

“เคยอารมณ์ร้อนมาก ฝึกสมาธิแล้ว ใจเย็นลง ดีขึ้นมาก”

“ผลการเรียนดีขึ้น มีจิตสำนึกที่ดี รู้จักบาปบุญคุณโทษ”

“โดนหลอกมาอย่างคุ้มค่า! เคยเรียนได้ผลต่ำมาก และโดดเรียนเป็นประจำ เคยลองทุกสิ่งทุกอย่างที่ไม่ดีอย่างสุดๆ มาอยู่ที่นี่ ได้ค้นพบความสามารถและได้แสดงความสามารถ เดี๋ยวนี้ไปหาแม่ แม่มีความสุข”

เป็นโรงเรียนตามระบบฯพร้อมกับเป็น “โรงเรียนในฝัน”

โรงเรียนสัตยาไส เป็นโรงเรียนตามระบบที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด แต่เพิ่มเติมองค์ประกอบและมิติต่างๆเข้าไปอีก จากคำพูดของ ดร.อาจอง “ถ้านับตามระบบของกระทรวงศึกษาธิการต้องมี 100 เราเติมเข้าไปอีก 200” นักเรียนของโรงเรียนสัตยาไสเข้าสอบตามระบบของกระทรวงศึกษาตามปกติ และสอบได้ดี ไม่มีปัญหา มีนักเรียนจบ ม.6 มาแล้ว 3 รุ่น ทุกรุ่นสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ทุกคน (100%) ดร.อาจอง เป็นครูประจำชั้น ม.6 เอง พร้อมทั้งสอนวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และภาษาฝรั่งเศสด้วย

นักเรียนที่โรงเรียนสัตยาไส ไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน แต่ต้องเสียค่าอาหาร บวกค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดรวม 10,000 บาทต่อเทอม (5 เดือน) และอาหารเป็นมังสวิรัติตลอด

โรงเรียนมีเนื้อที่ทั้งหมดกว่า 300 ไร่ ใช้ปลูกข้าวประมาณ 60  ไร่ ข้าวที่ปลูกนำมากินเป็นอาหารสำหรับนักเรียนและครูได้อย่างเพียงพอ รวมทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้เชิงปฏิบัติของนักเรียนด้วย ดร.อาจอง กล่าวว่า “ที่นี่เราพยายามใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงเท่าที่ทำได้”

ยังมีสาระสำคัญที่น่าประทับใจและน่าสนใจอีกมากเกี่ยวกับโรงเรียนสัตยาไส ซึ่งไม่สามารถนำมากล่าวได้หมดแม้จะพยายาม ถ้าจะสรุปก็อาจพูดว่า

“นี่คือโรงเรียนในฝันที่เป็นความจริง และทำมาแล้ว 15 ปี”

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

20 มิ.ย. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/34744

<<< กลับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *