วิกฤติการเมืองไทยกับบทบาทของสถาบันการศึกษาเพื่อกระบวนการสันติวิธี

วิกฤติการเมืองไทยกับบทบาทของสถาบันการศึกษาเพื่อกระบวนการสันติวิธี


   (ปาฐกถาพิเศษ เนื่องในวันสถาปนามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2549  ณ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ สุขุมวิท 11 กรุงเทพฯ)

วิกฤตที่ให้บทเรียนมีคุณค่า

                เมื่อไม่นานมานี้เราก็มีวิกฤตทางธรรมชาติเหตุการณ์สึนามิ เรามีวิกฤตเกี่ยวกับน้ำท่วมอาคารถล่มก็มีอยู่เสมอ สถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เป็นวิกฤต แต่ถ้าเรามองโดยยกตัวเองขึ้นเหนือเหตุการณ์ แล้วมองอย่างวิชาการ หรือมองแบบธรรมะ ธรรมะคือความเป็นจริง คือธรรมชาติ ก็จะเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย คือปรากฏการณ์ เป็นปรากฏการณ์ที่ย่อมผันแปรจากสิ่งหนึ่งไปสู่สิ่งหนึ่ง และในปรากฏการณ์นี้ก็มีพัฒนาการ อาจถึงขั้นที่ผมเรียกว่า นวพัฒนาการ คือ มีพัฒนาการใหม่ๆอยู่ในปรากฏการณ์ด้วย

                เมื่อสักครู่ผมเรียนถามท่านอธิการบดีว่ามีคณะรัฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒหรือไม่ ท่านบอกว่ามี เป็นภาควิชา ผมคิดว่าในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาเป็นช่วงการเรียนรู้ที่น่าสนใจ อย่างยิ่ง สำหรับคนไทยและสังคมไทย โดยเฉพาะนักรัฐศาสตร์  ยิ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาจะเห็นว่าทำให้เกิดปัญญา เกิดแสงสว่าง เกิดความเขัาใจ หรือคิดว่าเข้าใจในเรื่องของการบริหารจัดการประเทศ การบริหารจัดการสังคม ที่เราอาจจะเรียกว่ารัฐศาสตร์

                ผมเชื่อว่าอาจารย์หลายๆ ท่านคงคิดแบบเดียวกับผม ว่าบทเรียน ความรู้ความเข้าใจ ที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์การเมืองไทยมีมากทีเดียว จริงอยู่เรามีต้นทุน คือความเครียด ความกังวล ความขัดแย้ง การต่อสู้ ความรู้สึกคับข้องใจ รู้สึกเดือดร้อน รู้สึกเป็นทุกข์ มีให้เห็นอยู่ทั่วไป การพัฒนาประเทศเกิดภาวะสะดุดหยุดชะงัก  เหล่านี้คือ ต้นทุนของสิ่งที่เราเรียกว่าวิกฤตทางการเมือง

                ท่ามกลางวิกฤตได้เกิดพัฒนาการ ความรู้ความเข้าใจ ความตื่นตัวของคนในสังคม เกี่ยวกับเรื่องประชาธิปไตย การมีส่วนร่วม บทบาทของภาคประชาชน จริยธรรม ความถูกต้อง ความชอบธรรม เหล่านี้คือการเรียนรู้ เป็นพัฒนาการทางปัญญา ของคนไทยและสังคมไทยเกี่ยวกับการเมือง การปกครอง ที่ผมเห็นว่ามีคุณค่ายิ่ง และที่อาจเรียกว่า นวพัฒนาการ คือ ได้เกิดพัฒนาการใหม่ๆ ขึ้นมา การใช้รัฐธรรมนูญ การใช้กฎหมาย การใช้กระบวนการทางสังคม การค้นหาทางออก โดยเฉพาะที่ได้รับอานิสงส์และพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นส่วนหนึ่งของนวพัฒนาการ ในเรื่องการเมืองการปกครองของสังคมไทย

โดยสรุปแล้ว ในฐานะที่ท่านทั้งหลายเป็นนักวิชาการ ผมจึงอยากจะเสนอว่าเราไม่จำเป็นต้องมองว่าสังคมไทยหรือการเมืองไทยเกิดวิกฤต แต่มองว่าเป็นปรากฏการณ์ที่มีทั้งจุดอ่อนจุดแข็ง มีทั้งปัญหา และความเสียหาย พร้อมกับมีโอกาส และพัฒนาการ เมื่อหักกลบลบหนี้กันแล้วผมคิดว่าคงไม่ติดลบ อาจจะเป็นบวกพอประมาณ ที่พูดเช่นนี้อาจเป็นการมองโลกในแง่ดี แต่ผมคิดว่าการมองโลกในแง่ดีน่าจะเป็นคุณมากกว่ามองโลกในแง่ร้าย หรือถ้ามองให้เป็นสัจธรรมก็จะยิ่งดีขึ้นไปอีก ถ้ามองเป็นสัจธรรมจะไม่มีอะไรดีไม่มีอะไรร้าย ที่พระพุทธทาสบอกว่ามันเป็นเช่นนั้นเองหรือ ตถตา

ความขัดแย้งกับสันติวิธี

                ท่ามกลางความขัดแย้งและวิกฤตได้มีความพยายามที่จะนำสันติวิธีมาใช้ ผมเองก็ได้เขียนบทความในเรื่องสันติวิธี โดยไม่ได้คาดหวังอะไรมาก เขียนไปเพื่อแสดงความคิดเห็นให้คนอื่นได้รับรู้บ้าง ปรากฏว่ามีคนขานรับ มาชวนผมไปช่วยดำเนินการให้มีการพูดจากันระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้อง แต่ทำได้รอบเดียว เพราะสถานการณ์พลิกผันไปเร็วมาก เท่าที่ทำไปก็เห็นว่า สันติวิธีเป็นไปได้ โดยจัดให้คนที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งกัน ไม่ถึงระดับสูงสุดแต่เป็นระดับกลาง มาคุยกันว่าสิ่งที่เราต้องการร่วมกันคืออะไร จะมีทางไปถึงจุดนั้นได้อย่างไร ลองตั้งประเด็นว่าอะไรบ้างที่เราสามารถเห็นพ้องต้องกันได้ อะไรที่ยังไม่เห็นพ้องต้องกัน ปรากฏว่าหลายข้อเห็นพ้องต้องกันได้ แม้กระทั่งข้อที่บอกว่าน่าจะมีคณะกรรมการอิสระเข้ามาตรวจสอบกรณีการขายหุ้นชินคอร์เปอร์เรชั่น คิดว่าข้อนี้ตกลงกันได้นะครับ แต่ไม่สามารถจะสานต่อได้ เนื่องจากว่าเหตุการณ์พลิกผันเร็วมาก ในที่สุดเหตุการณ์อย่างอื่นก็มามีกระแสเหนือกว่าความพยายามในเรื่องสันติวิธี

                ที่จริงได้มีฝ่ายอื่นพยายามอยู่เหมือนกันที่จะใช้กระบวนการสันติวิธี สันติวิธี หมายถึง มาพูดคุยกันไม่ใช่มาเถียงกัน ไม่ใช่มาโต้กัน หรือโต้กันคนละเวทีก็ไม่ใช่สันติวิธี แต่ความพยายามที่ว่านั้นก็ยังไม่สำเร็จเช่นกัน

                กลับมาดูว่าในสังคมเรา เรื่องของความขัดแย้งย่อมมีเป็นธรรมดา และขณะนี้เราเห็นความขัดแย้งระดับใหญ่ก็คือ ความขัดแย้งในสังคม อาจจะถือว่าเป็นความขัดแย้งที่แบ่งคนได้มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ของประเทศไทย แบ่งเป็นสองข้างเลย และแบ่งย่อยไปถึงว่าในแต่ละจังหวัดก็มีสองข้าง ในแต่ละหน่วยงานก็มีสองข้าง ในกลุ่มก็มีสองข้าง แม้กระทั่งในระดับครอบครัวก็ยังมีสองข้าง

                ความขัดแย้งสามารถมีอยู่ทั่วไป ในมหาวิทยาลัยอาจมีความขัดแย้งที่ไม่ได้เกี่ยวกับการเมือง แต่เป็นความขัดแย้งเกี่ยวกับเรื่องของท่านเอง ในโรงเรียนก็อาจมีความขัดแย้งระหว่างครูด้วยกัน ระหว่างนักเรียนกับนักเรียน  ระหว่างครูกับนักเรียน ระหว่างครูกับผู้ปกครอง ในบางประเทศมีความขัดแย้งถึงขั้นรุนแรง อาจจะเกี่ยวข้องกับการมีผิวสีที่ไม่เหมือนกัน ด้วยเหตุนี้สังคมจึงคิดค้นวิธีการที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติท่ามกลางความแตกต่าง และท่ามกลางโอกาสที่จะมีความขัดแย้งเมื่อใดก็ได้

ความพยายามที่จะใช้กระบวนการสันติวิธีมีมานานตั้งแต่สมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าได้มีบทบาทในการคลี่คลายความขัดแย้งในหมู่ประชาชน หรือระหว่างรัฐที่มีเรื่องขัดข้องกันอยู่

สันติวิธีแบบชั้นเดียวกับแบบสองชั้น

                กล่าวโดยทั่วไป กระบวนการสันติวิธีนี้ ผมได้เคยแยกไว้ให้ฟัง ง่ายๆ ที่จริงเรื่องมันซับซ้อน แต่ผมพยายามพูดให้ ง่ายๆ สันติวิธีมีแบบชั้นเดียวกับแบบสองชั้น การเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชน เพื่อประชาธิปไตย เขาก็อ้างว่าเป็นกระบวนการสันติวิธี เป็นวิธีอหิงสา ถ้าไปดูประกาศของเขายังแถมคำว่า อโหสิ อีกด้วย อหิงสามาจากมหาตมะ คานธี หรือ Non-violence วิธีการที่ฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยใช้เป็นสันติชั้นเดียว ก็คือใช้กระบวนการที่ไม่รุนแรง ไม่ใช้อาวุธ ขนาดบอกว่าถ้าถูกตีจะไม่ตีตอบ แต่ที่ว่าชั้นเดียวก็คือ เป็นสันติวิธีเพื่อที่จะเอาชนะอีกฝ่ายหนึ่ง เพื่อเอานายกออกให้ได้ เพื่อให้อีกฝ่ายหนึ่งต้องยอมจำนน ในขณะที่ฝ่ายรัฐบาลก็ใช้สันติวิธี ไม่ใช้ความรุนแรงเช่นเดียวกัน ซึ่งต่างจากที่ทางใต้นะครับ ทางใต้นั้นใช้ความรุนแรง เช่น กรณีตากใบเป็นต้น แต่ครั้งนี้ไม่ใช้ความรุนแรง ตำรวจไม่ถืออาวุธ แต่รัฐบาลก็พยายามจะเอาชนะเหมือนกัน คือพยายามให้พันธมิตรต้องสลายไป ต้องเลิกไป แถมมีการใช้มาตรการทางกฎหมายด้วย ก็ถือเป็นสันติวิธีเพราะไม่ได้ใช้อาวุธ แต่วิธีอย่างนี้เรียกได้ว่า เป็นสันติวิธีชั้นเดียว

                สันติวิธีที่ไม่ใช่ชั้นเดียว แต่เป็นสันติวิธีสองชั้น หมายถึง การใช้กระบวนการที่เป็นสันติเพื่อให้บรรลุผลที่เป็นสันติ นั่นคือมีความตกลงร่วมกัน หรือพอใจร่วมกัน หรือชนะด้วยกันนั่นเอง อย่างนี้ถึงจะเรียกว่าสันติวิธีที่สมบูรณ์แบบ คือเป็นกระบวนการสันติและเกิดสันติตลอดกระบวนการตั้งแต่ต้นจนจบ

ประเด็นสำคัญคือ ทำอย่างไรจะได้มาซึ่งสันติวิธีสองชั้น ในการนี้ควรพิจารณาถึงสถานการณ์สองแบบ แบบที่หนึ่ง ได้แก่ในสถานการณ์เย็น คือไม่ได้มีปัญหาขัดแย้งรุนแรง ในสถานการณ์แบบนี้การใช้สันติวิธีสองชั้นดูจะไม่ยากนักแม้ไม่ถึงกับง่าย แต่ในสถานการณ์แบบที่สองจะยากกว่า คือในสถานการณ์ร้อน เช่นถึงขั้นต่อสู้กันด้วยอาวุธที่ศรีลังกา ตะวันออกกลาง หรือทางภาคใต้ของเรา

ตัวอย่างสันติวิธีในประเทศไทย

ตัวอย่างหนึ่งของกระบวนการสันติวิธีที่น่าสนใจ และเป็นสันติวิธีแบบสองชั้น ได้แก่ การแก้ปัญหาสลัมหรือชุมชนแออัดในเมือง ในกรุงเทพฯ มีชุมชนแออัดอยู่ประมาณ 1,000 แห่ง แถวสุขุมวิทนี้ไม่ค่อยมี ที่คลอง เตยเยอะหน่อย และทั้งประเทศมีชุมชนแออัดประมาณ 2,000 กว่าแห่ง การแก้ปัญหาชุมชนแออัด เคยทำด้วยวิธีไล่รื้อ เกิดเป็นความขัดแย้งรุนแรง ผมเคยดูวิดีโอเกี่ยวกับการไล่รื้อ เขาบันทึกภาพสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้น ดูแล้วสะเทือนใจมาก เพราะว่าตำรวจเข้าไปรื้อย้ายโดยใช้กำลัง ชาวบ้านก็วิ่งวุ่น กอดข้าวกอดของ ไม่ยอมไป ตำรวจลากไป ลูกหลานเห็นพ่อแม่ถูกลากไปก็วิ่งมากอด เป็นภาพที่สะเทือนใจมาก เหตุเกิดเพราะเจ้าของที่ดินเขาต้องการที่ดินมาทำประโยชน์ แรกๆ ก็ให้อยู่ ต่อมาที่ดินแพงขึ้นจึงต้องการให้ชาวบ้านออกไป ชาวบ้านไม่ยอมออกเพราะว่าอยู่มานานแล้ว และยังไม่มีที่ไปที่ลงตัว เกิดเป็นความขัดแย้งยืดเยื้อในหลายกรณี และบางกรณีในอดีตได้กลายเป็นความรุนแรง

ถามว่าปัญหาชุมชนแออัดเช่นนี้ จะใช้กระบวนการสันติวิธีแบบสองชั้นได้ไหม คำตอบคือ ได้ เมื่อเช้านี้ผมอยู่จังหวัดขอนแก่น ไปทำพิธีเปิดโครงการบ้านมั่นคง เป็นโครงการที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ซึ่งเป็นองค์กรมหาชน ผมเคยเป็นประธาน เดี๋ยวนี้เป็นประธานที่ปรึกษา สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนสนับสนุนโครงการนี้  ด้วยวิธีเชิญชวนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาวางแผนด้วยกัน พัฒนาด้วยกัน ทุกฝ่ายมีใครบ้าง สำคัญที่สุดคือชาวบ้านที่อยู่ในสลัมหรือชุมชนแออัด ให้เขาเป็นแกนกลางในการพัฒนา แต่กว่าจะให้เขามาคิดที่จะพัฒนาได้นี้ ต้องใช้กระบวนการที่เรียกว่า กระบวนการทางสังคม

                กรณีของสลัมที่จังหวัดขอนแก่นซึ่งได้ย้ายไปอยู่ที่ใหม่และผมได้ไปทำพิธีเปิดเมื่อเช้านี้ เขาใช้เวลาประมาณสองปี เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน มหาวิทยาลัยขอนแก่น และเทศบาลนครขอนแก่น ที่น่าสนใจคือ มีนักพัฒนาชุมชนเข้าไป มีอาจารย์คณะสถาปัตยกรรมไปช่วยคิดในเรื่องการวางผังวางแปลน มีอาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ไปช่วยดำเนินการในทางสังคม มีเจ้าหน้าที่เทศบาล มีเจ้าหน้าที่ของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน มีผู้นำชุมชน ทำงานร่วมกันมาเป็นเวลาสองปี จนกระทั่งสามารถพัฒนาโครงการที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันได้ เจ้าของที่เดิม เจ้าของที่ใหม่ เทศบาลที่ดูแล และชาวบ้านเอง สามารถตกลงกันได้ ไม่ต้องมีการไล่รื้อ ไม่ต้องทำให้ประชาชนต้องย้ายออกไปก่อนเวลาที่เขาพร้อม แต่สามารถที่จะมีโครงการร่วมกัน และเกิดเป็นความพอใจร่วมกันขึ้นมาได้ เมื่อเช้าผู้ว่าราชการจังหวัดก็ไป นายกเทศมนตรีก็ไป อธิการบดีส่งรองอธิการบดีไป อย่างนี้เราเรียกว่าเป็นสันติวิธี ทำให้เรื่องซึ่งเป็นปัญหาได้รับการคลี่คลายแก้ปัญหาแล้วมีความเห็นพ้องต้องกันได้โดยสันติ อย่างไรก็ดี กรณีที่กล่าวมานี้เป็นการใช้สันติวิธีในสถานการณ์เย็น ที่ว่าเย็นเพราะว่าแม้เป็นปัญหาแต่ก็ยังไม่มีความขัดแย้งแบบปะทะกันหรือต่อสู้กัน

ตัวอย่างสันติวิธีในต่างประเทศ

                ตัวอย่างที่น่าสนใจในต่าง ประเทศก็มี เช่นที่ประเทศเเคนนาดา ซึ่งได้เคยมีการพาประธานรัฐสภาไทยกับส .ส.และส.ว.บางท่านไปดูงาน ที่แคนาดา เขามีกระบวนการที่เรียกว่า Citizens’ Dialogue ซึ่งได้มีผู้ใช้ภาษาไทยว่า สานเสวนาประชาชน หรือสานเสวนาประชาคม ก็คือการพูดคุยกันในหมู่ประชาชน เขาจะเลือกประชาชนที่สนใจและเกี่ยวข้องเป็นกลุ่มๆ กลุ่มละประมาณ 40 – 50 คน ทำหลายพื้นที่ ในกรณีที่เป็นเรื่องสำคัญ มีตัวอย่างที่ไปดูมาเช่นว่า ทิศทางการพัฒนาประเทศแคนาดาจะไปทางไหน หรือว่าระบบบริการสุขภาพควรจะเป็นอย่างไร เขาก็จัดให้คนมาพูดคุยกัน จนกระทั่งได้มีความเห็นร่วม ซึ่งความเห็นร่วมจะต้องมีการสังเคราะห์และก็พูดคุยกันยกระดับขึ้นไป ในที่สุดก็ไปพูดคุยกันในระดับนโยบายแล้วได้ความเห็นร่วมออกมา นี่ก็เป็นสันติวิธีอีกแบบหนึ่งซึ่งใช้เทคนิคที่เรียกว่า Citizens’ Dialogue หรือที่แปลเป็นไทยว่า สานเสวนาประชาคม

                ในประเทศสวีเดนเมื่อไม่กี่ปีมานี้ เขาจะพัฒนาระบบสร้างเสริมสุขภาพหรือ Health Promotion รัฐสภาได้ตั้งคณะกรรมาธิการที่ประกอบไปด้วยตัวแทนจากทุกพรรคการเมือง ทั้งฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน ตั้งคณะกรรมาธิการแล้ว คณะกรรมาธิการก็ไปจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนรวมถึงข้าราชการและรัฐบาลท้องถิ่นอันได้แก่ เทศบาลทั้งหลาย ใช้เวลารวมประมาณสามปี ใช้วิธีการหลากหลายและระดมความคิดกันหลายรอบหลายมิติมาก จนกระทั่งได้ความเห็นร่วมออกมา แล้วจึงไปเสนอในรัฐสภาเพื่อออกเป็นพระราชบัญญัติ ซึ่งพระราชบัญญัตินี้ก็ได้ออกมาโดยเรียบร้อย และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในระบบการสร้างเสริมสุขภาพของสวีเดน เมื่อปีที่แล้วเขานำเสนอเรื่องนี้ในการประชุมที่จัดโดยองค์การอนามัยโลกในประเทศไทย น่าสนใจมาก

                ประเทศไทยเราเองก็มีขบวนการสร้างเสริมสุขภาพที่ใช้กระบวนการรับฟัง ความเห็นของประชาชนจำนวนมาก มีการพูดคุยกันในระดับชาวบ้าน ระดับคนชั้นกลาง ระดับนักวิชาการ ข้าราชการ นักกฎหมาย ที่เกี่ยวข้อง หลายรอบมาก ซึ่งนำไปสู่ความเห็นพ้องต้องกันที่จะมีพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ แล้วดำเนินการจนเรื่องเข้ารัฐสภา ผ่านวาระแรกแล้วเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่สอง บังเอิญเกิดยุบสภาเรื่องจึงจะต้องถอยไปหน่อยหนึ่ง คือกลับไปตั้งคณะกรรมาธิการใหม่

สันติวิธีในสถานการณ์ร้อน

                ตัวอย่างที่กล่าวมาล้วนเป็นการใช้กระบวนการสันติวิธี ซึ่งมีเทคนิค มีวิธีการมากพอสมควร แต่เป็นการใช้ในสถานการณ์เย็น ทีนี้ในเป็นสถานการณ์ร้อนจะเป็นยังไง สถานการณ์ร้อนคือมีความขัดแย้งแล้ว สู้กันแล้ว บางแห่งใช้อาวุธแล้ว กรณีประเทศไทยความขัดแย้งทางการเมืองยังไม่ได้มีการใช้อาวุธ แต่ก็สู้กันด้วยวาจา สู้กันด้วยกลยุทธ์ต่างๆ ในจิตใจมีความเป็นปฎิปักษ์ ไม่เป็นมิตร อย่างนี้เรียกว่า สถานการณ์ร้อน

                แต่แม้ในสถานการณ์ร้อน ก็มีกระบวนการสันติวิธีได้ ที่ใช้กันอยู่เราเรียกว่ากระบวนการแก้ไขความขัดแย้งด้วยสันติวิธี หรือ Conflict Resolution through peaceful means หรือ Conflict Management บ้างก็เรียกว่า Conflict Transformation เป็นการแปรเปลี่ยนความขัดแย้ง แปรเปลี่ยนให้ไปในรูปที่จัดการได้ แม้ในกรณีที่รบพุ่งกันมาเป็นสิบๆปี เช่นที่ตะวันออกกลาง เขาก็ได้จัดให้มีการเจรจากันเพื่อจะแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธี คือ แก้ปัญหาด้วยการไม่ใช้อาวุธ แต่ด้วยการพูดจากัน ที่ศรีลังกาขัดแย้งกันมาคงไม่น้อยกว่า 20 ปี ก็กำลังมีชาวนอร์เวย์มาเป็นคนกลางช่วยให้มีการเจรจากัน แต่ว่าคุยกันไปทีนึงแล้วก็หยุด คุยกันใหม่แล้วก็หยุด มีการมาคุยกันที่ประเทศไทยครั้งหนึ่งท่านอาจจะจำได้ ได้ความคืบหน้าไปบ้างแล้วก็หยุด

                คงต้องยอมรับว่า ถ้าเกิดความขัดแย้งรุนแรงถึงขั้นแบบที่ศรีลังกาหรือที่ ตะวันออกกลาง หรือที่บางประเทศในอัฟริกา มันก็ยาก แม้ในประเทศไทยที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เราก็ยังไม่ก้าวหน้าจนถึงขั้นที่สามารถจัดกระบวนการแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธีได้ เพราะยังหาคู่ขัดแย้งไม่เจอ ถ้ามีคู่ขัดแย้งชัดก็สามารถชวนมาคุยกันได้ แต่นี่หาไม่เจอว่าคู่ขัดแย้งคือใคร รู้แต่ผลของการกระทำของเขา คือ มีการทำร้าย มีการฆ่า มีการทำลายชีวิตและทรัพย์สิน ส่วนในกรณีความขัดแย้งทางการเมืองซึ่งเรารู้ว่าใครคือคู่กรณี สามารถจะเชิญชวนมาเจรจากันได้

สันติวิธีเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์

ในการเจรจาเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธีนั้น มีวิทยาการอันเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ซึ่งต้องเรียนรู้ ต้องพัฒนา ต้องฝึกฝน ผมเองเคยไปร่วมกระบวนการนี้ในกรณีของการวางท่อก๊าซไทย – พม่า ไม่ใช่ไทย – มาเลเซีย แต่เป็นไทย – พม่า ที่กาญจนบุรี โดยเป็นผู้จัดกระบวนการร่วมกับคุณหมอวันชัย วัฒนศัพท์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ขณะนั้นท่านเป็นผู้อำนวยการสถาบันสันติศึกษา ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นหน่วยงานเล็กๆ ที่ให้บริการทางวิชาการ จัดฝึกอบรม ให้การเรียนรู้ และให้บริการที่จะไปดำเนินการแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธี

ปัญหาความขัดแย้งอันเนื่องจากท่อก๊าซไทย – พม่า ถือเป็นโจทย์ชิ้นใหญ่พอสมควร ตอนนั้นผมเป็นสมาชิกวุฒิสภาและอยู่ในคณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อม มีการร้องเรียน เรื่องเกี่ยวกับการวางท่อก๊าซไทย – พม่า คณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมเห็นว่าน่าจะลองใช้กระบวนการสันติวิธีและติดต่อสถาบันสันติศึกษาให้ช่วยดำเนินการ เมื่อถามไปยังฝ่ายรัฐ ฝ่ายรัฐเห็นด้วยตอบตกลง ครั้นเมื่อไปติดต่อชาวบ้าน ชาวบ้านบอกขอดูก่อนว่าใครจะมาจัดการ ต้องใช้เวลาคุยกับชาวบ้านสามรอบถึงตอบตกลง จากนั้นจึงจัดกระบวนการเจรจาระหว่างคู่กรณี ซึ่งฟากของฝ่ายรัฐบาลมอบหมายให้ปตท.ดูแล สถาบันสันติศึกษาได้จัดให้ ปตท.และชาวบ้าน เข้ากระบวนการเรียนรู้เรื่องสันติวิธี ใช้เวลาฝ่ายละสองวัน แยกกันยังไม่เจอกัน ต้องเรียนรู้ว่าสันติวิธีเป็นอย่างไร และเขาจะต้องเตรียมตัวอย่างไร

พอทั้งสองฝ่ายได้เรียนรู้เริ่มต้นแล้ว จึงให้มาเจอกัน ใช้เวลาอีกสองวันเจรจากันว่า จะเจรจากันอย่างไร หรือเจรจาหาข้อตกลงเกี่ยวกับวิธีเจรจา คือยังไม่พูดว่าปัญหาเรื่องท่อก๊าซเป็นอย่างไร แต่พูดว่าจะคุยกันแบบไหน จะนั่งกันอย่างไร ใครดำเนินการ จะเปิดให้ใครเข้าร่วมบ้าง ภายใต้เงื่อนไขอย่างไร และอื่นๆ  ขั้นตอนนี้คล้ายๆ กับที่ ทปอ . หรือที่ประชุมอธิการบดี และ P – NET พยายามจะจัดให้มีการเจรจา กันระหว่างคู่ขัดแย้งทางการเมืองในขณะนี้ แต่วิธีการที่เขาทำเขายังไม่สามารถคุยเรื่องกระบวนการให้จบ เขาไปคิดอะไรบางอย่างแล้วเสนอออกไป ฝ่ายหนึ่งบอกว่าเห็นด้วยแค่นี้แต่มีเงื่อนไขอย่างนั้น อีกฝ่ายหนึ่งบอกว่ามีเงื่อนไขอย่างนี้ ในที่สุดก็ตกลงกันไม่ได้ในขั้นกระบวนการ จึงไม่สามารถเปิดการเจรจาได้ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าเรื่องการแก้ความขัดแย้งด้วยสันติวิธีนี้ มีศาสตร์ มีศิลป์ มีกระบวนการ มีวิธีการ ที่ต้องเรียนรู้ ต้องพัฒนา ต้องฝึกฝน ให้เพียงพอ จึงจะสามารถดำเนินการได้เป็นผลสำเร็จ

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

21 ก.ย. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/51072

<<< กลับ

วิกฤติการเมืองไทยกับบทบาทของสถาบันการศึกษาเพื่อกระบวนการสันติวิธี (ต่อ)

วิกฤติการเมืองไทยกับบทบาทของสถาบันการศึกษาเพื่อกระบวนการสันติวิธี (ต่อ)


สถาบันการศึกษากับสันติวิธี

                ขอเข้าประเด็นเกี่ยวกับบทบาทของสถาบันการศึกษาในเรื่องสันติวิธี ในต่างประเทศ เช่นที่อเมริกา  ที่แคนาดา สถาบันการศึกษาหลายแห่งมีหน่วยงานเป็นหน่วยพิเศษหรือเป็นคณะเกี่ยวกับเรื่องการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นมหาวิทยาลัยแห่งเเรกในประเทศไทยที่ตั้งหน่วยงานเพื่อศึกษาวิจัยและให้บริการในเรื่องสันติวิธี โดยตั้งสถาบันสันติศึกษาขึ้นเมื่อประมาณ 10 กว่าปีมาแล้ว ในขณะที่นายแพทย์วันชัย วัฒนศัพท์ เป็นอธิการบดี ทั้งนี้โดยการแนะนำและสนับสนุนของ คุณหมอประเวศ วะสี ผมเองที่บังเอิญเป็นเพื่อนกับคุณหมอวันชัย ก็ได้สนใจเรื่องสันติวิธีและมีส่วนร่วมสนับสนุนคุณหมอวันชัยให้ดำเนินการในเรื่องสันติวิธีด้วย ซึ่งคุณหมอวันชัยก็สนใจและกระตือรือร้น ลงทุนไปเรียนรู้ที่แคนาดา ไปเห็นรูปแบบเขาก็เอามาตั้งบ้าง เรียกว่า สถาบันสันติศึกษา ในสังกัดมหาวิทยาลัยขอนแก่น 

                ต่อมา ก็ได้เกิดศูนย์สันติวิธีและธรรมาภิบาลขึ้นที่สถาบันพระปกเกล้า โดยผมเป็นผู้เสนอแนะ และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานคนแรก ต่อมาภายหลังได้ไปเชิญคุณหมอวันชัย ซึ่งเกษียณจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นแล้ว ให้มาเป็นผู้อำนวยการ ทางด้านมหาวิยาลัย ได้มีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ที่ได้ตั้งหน่วยงานขึ้นมาในเรื่องสันติวิธี ตามด้วยมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ตั้งศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธีขึ้นไม่นานมานี้ มีอาจารย์ ดร.โคทม อารียา เป็นผู้อำนวยการ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจารย์ ดร.อมรา พงศาพิชญ์ คณบดีคณะรัฐศาสตร์ ได้ตั้งศูนย์หรือโครงการศึกษาสันติวิธีและความขัดแย้ง อาจมีมหาวิทยาลัยอื่นๆอีกที่ได้ดำเนินการในเรื่องสันติวิธีในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง และผมพึ่งทราบด้วยความยินดีว่า มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒก็ได้ตั้งสถาบันสันติศึกษาหรืออะไรทำนองนี้ขึ้นมาด้วยแล้วเหมือนกัน

                ท่านอาจจะทราบหรือไม่ว่าสภาความมั่นคงแห่งชาติของไทยได้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ สันติวิธี เดี๋ยวนี้ก็ยังมีอยู่ ซึ่งคณะกรรมการนี้ได้เสนอให้ออกเป็นคำสั่งนายกรัฐมนตรีว่าด้วยเรื่องยุทธศาสตร์สันติวิธีและให้ถือเป็นนโยบายสำคัญอันจะนำมาซึ่งความมั่นคงของประเทศ คำสั่งนี้ท่านนายกทักษิณได้ลงนามประกาศใช้แล้ว เป็นคำสั่งที่ 187/2546 นั่นคือประกาศใช้มาเกือบ 3 ปีแล้ว และล่าสุดได้มีการเสนอเรื่องยุทธศาสตร์สันติวิธีเข้าไปในครม . ซึ่ง ครม. ก็เห็นชอบ และได้มอบหมายให้สถาบันพระปกเกล้า เป็นหน่วยงานที่จะไปสนับสนุนสถาบันการศึกษาต่างๆ อันได้แก่มหาวิทยาลัยทั้งหลาย ในการที่จะมีหน่วยงาน หรือมีการศึกษาวิจัยหรือมีการให้บริการในเรื่องสันติวิธี

                รวมแล้วจะเห็นว่าในประเทศไทยเรา สถาบัน การศึกษาระดับอุดมศึกษาหรือระดับมหาวิทยาลัยได้มีบทบาทในเรื่องสันติวิธีมาเกินกว่า 10 ปีแล้ว ทั้งกำลังก่อตัว กำลังงอกเงยมากขึ้น และเป็นเรื่องน่ายินดีที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒกำลังริเริ่ม เรื่องนี้ขึ้นด้วย

วิธีดำเนินการของสถาบันการศึกษา

                คำถามต่อไปคือ แล้วจะทำอะไร อย่างไร ผมเชื่อว่าท่านก็คงจะต้องไปศึกษาพิจารณา ดูว่าที่ไหนเขาทำกันอย่างไรบ้าง แล้วท่านก็มาพัฒนาของท่านเองในเรื่องบทบาทของมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับกระบวนการสันติวิธี กล่าวโดยทั่วไป สถาบันการศึกษามีบทบาทหน้าที่อะไรบ้างท่านคงทราบดีนะครับ ท่านจัดการเรียนการสอนและผลิตบัณฑิต ท่านมีงานศึกษาวิจัย และท่านมีงานบริการสังคม ทั้ง 3 ลักษณะนี้สันติวิธีเข้าไปได้ทั้งสิ้น เพราะสันติวิธีเป็นวิถีชีวิต เป็นวัฒนธรรม เป็นกระบวนการทางสังคม และเป็นเทคนิควิธีการ อยู่ที่ไหนก็เกี่ยวข้องได้ อยู่ที่ไหนก็ใช้ประโยชน์ได้ ในบ้านก็ใช้ประโยชน์ได้ ในครอบครัว ในชุมชน ในหน่วยงาน ในตัวเราเองยังใช้ได้เลย ฉะนั้นถ้าสถาบันการศึกษาโดยเฉพาะมมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ต้องการจะพัฒนาบทบาทในเรื่องสันติวิธีให้มากขึ้น ท่านก็สามารถจะพัฒนาแทรกเข้าไปหรือหนุนเสริมเข้าไปในการเรียนการสอน ในการวิจัยค้นคว้า และในการบริการสังคม 

                ที่จริงอาจจะอาศัยโอกาสที่เกิดวิกฤตทางการเมือง เกิดความขัดแย้งที่ยังไม่มีความรุนแรง แต่ เป็นความขัดแย้งที่กว้างใหญ่ และเป็นความขัดแย้งที่สำคัญ เราอาจใช้สถานการณ์นี้เป็นโอกาสที่เราจะพัฒนาทางการเมือง พัฒนาทางสังคมไปอีกขั้นหนึ่ง ขณะนี้ก็มีการพูดกันถึงเรื่องการปฏิรูปทางการเมือง หลายฝ่ายพูดถึงการปฏิรูปทางสังคมและการเมือง เพราะการเมืองไม่ได้อยู่โดดเดี่ยว การเมืองเป็นกลไกของสังคม มีมิติต่างๆ ทางสังคม ซึ่งรวมทั้งจิตใจ คุณธรรม วัฒนธรรม ความสัมพันธ์ต่างๆ ที่จะต้องมีการทบทวนและพัฒนาหรือปฏิรูป หรืออภิวัฒน์คือ ทำให้ดีทำให้เจริญขึ้นไปอีก ถือเป็นโอกาสที่ดี ซึ่งในการแก้ปัญหา ในการปฏิรูป ในการพัฒนา หรืออภิวัฒน์ ดังกล่าว เราสามารถประยุกต์ใช้กระบวนการสันติวิธีในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาสังคมและการเมืองได้

                บางครั้งเราใช้คำว่า เป็นกระบวนการสร้างสันติ ในภาษาอังกฤษ คือ Peace Building เป็นการสร้างสันติ ใช้สันติวิธีให้เกิดสันติสุข ก็คือมีความเห็นพ้องต้องกันหรือตกลงกันได้และ อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งที่สังคมเรามุ่งมาดปรารถนา สถาบันการศึกษาจึงอยู่ในวิสัยที่จะสอดแทรก หรือหนุนเสริม เรื่องสันติวิธีเข้าไปในการเรียนการสอน ในการศึกษาค้นคว้าวิจัย และในการบริการสังคมหรือบริการทางวิชาการ ในการทำเช่นนี้ ถ้าท่านมีหน่วยงานพิเศษที่จะทำเรื่องนี้ ก็จะมีกลุ่มบุคคลที่จับเรื่องนี้อย่างจริงจัง เขาจะต้องเข้ามาทำอย่างจริงจังและต่อเนื่องพอสมควร ถึงจะเข้าใจเรื่องนี้อย่างลึกซึ้งและปฏิบัติได้ดี สิ่งที่ยากคือการปฏิบัติ ความเข้าใจในทฤษฎีนั้นไม่ถึงกับยาก แต่เรื่องปฏิบัติให้ได้ดีนี่ยาก ต้องอาศัยทั้งความรู้ความเข้าใจที่ดี ทัศนคติที่เหมาะสม และความชำนาญที่เพียงพอ ผมเคยได้รับมอบหมายให้ช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งที่ธรรมศาสตร์ตอนที่เขาทะเลาะกันว่าจะย้ายไปรังสิตเมื่อไหร่ ด้วยความที่ผมไม่ชำนาญ แม้จะได้สนใจและศึกษา แต่ยังไม่ชำนาญ จึงคิดว่าทำได้ไม่ดีนัก ได้ผลเพียงระดับหนึ่ง คิดว่าถ้าทำอีกครั้งหนึ่งน่าจะทำได้ดีกว่า

สันติวิธีต้องสร้างสมความรู้ความชำนาญ

                ฉะนั้นเรื่องสันติวิธีจึงต้องศึกษา ต้องเรียนรู้ ต้องพัฒนา ต้องฝึกฝน ต้องสร้างสมความชำนาญ เหมือนกับการเป็นอาจารย์ ถ้าท่านมีชั่วโมงบินสูงท่านก็ทำได้ดีเมื่อเทียบกับอาจารย์ใหม่ๆ ที่ยังขาดประสบการณ์ยังไม่ได้ฝึกฝนมาก ยิ่งเรื่องสันติวิธี ยิ่งต้องฝึกฝน ยิ่งเป็นปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ยุ่งยากและซับซ้อน ก็ยิ่งต้องใช้ศิลปะวิทยาการและความชำนาญมาก ผมเคยเขียนในบทความว่าปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองครั้งนี้ ลำพังคนกลางธรรมดาอาจไม่พอ อาจต้องมีบุคคลระดับที่เป็นร่มบารมีมาช่วยด้วย นี่คือศิลปะควบคู่วิทยาการ

                ในแง่หนึ่งอาจกล่าวได้ว่า เรากำลังคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมืองด้วยสันติวิธีโดยมีพระบารมีของพระองค์ท่านช่วยเอื้ออำนวย ประเทศไทยและสังคมไทยโชคดีเป็นอย่างยิ่งที่มีพระประมุขซึ่งทรงมีพระปรีชาญาณลึกล้ำ ทรงมีพระเมตตาคุณและพระมหากรุณาธิคุณสูงส่ง ถือเป็นร่มบารมีใหญ่ที่ช่วยให้ในที่สุดแล้วเรากำลังคลี่คลายความขัดแย้งด้วยสันติวิธี โดยดึงผู้คนที่เกี่ยวข้องเข้ามาสู่กระบวนการ เป็นกระบวนการคลี่คลายความขัดแย้งด้วยสันติวิธี ที่ผมขอเรียกว่าเป็น นวัตกรรม หรือเป็น นวพัฒนาการ ที่นักรัฐศาสตร์ นักนิติศาสตร์ ควรต้องศึกษา ซึ่งมีได้ในประเทศไทยที่มีลักษณะพิเศษ มีองค์ประกอบพิเศษ สังคมอื่นประเทศอื่นคงจะมาลอกแบบไม่ได้ เช่นเดียวกับที่เราจะไปลอกแบบแคนาดาลอกแบบอเมริกามาทั้งดุ้นก็ไม่ได้และไม่ควร เราต้องพยายามพัฒนาระบบและวิธีการที่เหมาะสมของเราขึ้นมา 

                จึงกลับมาข้อสรุปเดิมว่า สถาบันการศึกษาจะมีส่วนสำคัญในการช่วยในเรื่องการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธีหรือกระบวนการสันติวิธี เพราะสถาบันการศึกษา มีคณาจารย์ ซึ่งเหมาะสมอยู่แล้วในการศึกษาวิจัย หาความจริง สร้างความดี ความจริงและความดีเป็นฐานของสันติวิธี ที่จะนำไปสู่ความสันติสุขร่วมกัน เราไม่สามารถจะมีความสันติสุขร่วมกัน ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลาย ถ้าเผื่อเราไม่มีความจริงและความดีเป็นฐาน มหาวิทยาลัยเป็นที่ๆ เหมาะสมอย่างยิ่งในการค้นหา สร้างสรรค์ พัฒนา ความจริงและความดี แล้วนำมาเผยแพร่ นำมาประยุกต์ใช้ นำมาใช้ประโยชน์ โดยมีการศึกษาทบทวนและปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่องด้วย นี่คือบทบาทของสถาบันการศึกษา

ควรมีเครือข่ายสันติวิธี

                เรื่องการแก้หรือจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี หรือการใช้สันติวิธีเพื่อสร้างสันติสุข ไม่ว่าจะในสถานการณ์ ร้อนหรือในสถานการณ์เย็น เป็นบทบาทที่มหาวิทยาลัยน่าจะมีได้อย่างเหมาะสม และผมมีความเชื่อมั่นว่ามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒแห่งนี้ มีความพร้อม มีศักยภาพ จึงขอเอาใจช่วย ขอสนับสนุนความริเริ่มของท่านที่จะมีหน่วยงาน มีคณะบุคคล ที่จะศึกษา วิจัย พัฒนา และให้บริการในเรื่องสันติวิธี ให้เกิดผลดีอย่างจริงจังและต่อเนื่อง สถาบันของท่านเองก็จะพัฒนามากขึ้นๆ ขยายวงบริการได้มากขึ้นและดีขึ้น พร้อมกันนั้น ท่านก็สามารถโยงใยกันระหว่างสถาบันการศึกษาที่มีบทบาทหรือสนใจในเรื่องสันติวิธีด้วยกัน รวมทั้งสามารถโยงใยเป็นเครือข่ายกับหน่วยงาน เช่น สถาบันพระปกเกล้า สภาความมั่นคงแห่งชาติ และอื่นๆ 

                ผมขออวยพรให้ท่านประสบความสำเร็จในเรื่องนี้ และถ้ามีอะไรที่ผมหรือองค์กรที่ผมเกี่ยวข้องจะสามารถให้ความร่วมมือหรือประสานงานด้วย ผมจะยินดี เพราะสิ่งที่คิดที่ทำในเรื่องสันติวิธี เป็นสิ่งที่มีคุณค่า เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อสังคม นำไปสู่การบรรลุวัตถุประสงค์ร่วม คือการอยู่ร่วมกัน ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลาย ด้วยความสันติ เจริญ สุข อย่างวัฒนาสถาพร ขอบคุณครับ

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

21 ก.ย. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/51076

<<< กลับ

นักวิชาการหนุน “ทักษิณ” ถอย ใช้กระบวนการสันติลดวิกฤติ

นักวิชาการหนุน “ทักษิณ” ถอย ใช้กระบวนการสันติลดวิกฤติ


(ข้อความข่าวจาก นสพ. กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 17 กันยายน 2549 หน้า 1, 3)

นักวิชาการ หวั่นสังคมวิกฤติ เกิดสงครามกลางเมือง แนะ “ทักษิณ” ถอย ดับความแตกแยก เหตุวิกฤติหลักมาจาก “ผู้นำ” และลดการผูกขาด ขจัดกลุ่มทุนการเมืองที่ได้อภิสิทธิ์กว่ารายอื่น ขณะเดียวกัน ต้องยึดหลักสมานฉันท์ในการแก้ปัญหา รวมทั้งอภิวัฒน์สื่อกันอย่างจริงจัง

“กรุงเทพธุรกิจ” ได้จัดโครงการเสวนา “วาระรัฐบาลใหม่” ในหัวข้อ “ทางออกฝ่าวิกฤติความขัดแย้งของชาติ” เมื่อวันที่ 14 กันยายน ที่ผ่านมา โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วย นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ประธานกรรมการศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.อารง สุทธาศาสน์ ผู้อำนวยการสถาบันศึกษาโลกอิสลาม และดร.เทียนชัย วงศ์ชัยสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันวิถีทรรศน์

นายไพบูลย์ กล่าวว่า ถ้าพูดถึงความขัดแย้งระดับชาติในปัจจุบัน มี 3 กลุ่มใหญ่ กลุ่มแรกคือ ความขัดแย้งทางการเมือง ที่เกิดการแบ่งเป็น 2 ฝ่ายใหญ่ๆ ฝ่ายเอากับฝ่ายไม่เอา กลุ่มที่ 2 คือความขัดแย้ง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อเนื่องมาถึงกลไกของรัฐ นโยบายของรัฐ แล้วก็ต่อไปถึงสังคมไทยด้วย กลุ่มที่ 3 เป็นความขัดแย้งเกี่ยวกับนโยบายและโครงการสาธารณะซึ่งมีอยู่มาก แบบที่ 3 ที่จริงเป็นเรื่องปกติในนานาประเทศจะมีอยู่เสมอ คือ ความขัดแย้งเกี่ยวกับนโยบาย และโครงการสาธารณะ แต่สำหรับประเทศไทยมันถูกโยงเข้าไปในเรื่องกลไกของรัฐนโยบายของรัฐและอื่นๆ

ซึ่งเหล่านี้เกี่ยวพันไปถึงระบบ โครงสร้าง ทัศนคติ จิตสำนึกลึกลงไป ฉะนั้นถ้าเผื่อว่าจะแก้ไขหรือผ่อนคลาย ไม่ใช่เรื่องที่จะคิดง่ายๆ ทำง่ายๆ เช่น บางคนบอกปฏิวัติรัฐประหารคงไม่ใช่ หรือว่าเลือกตั้งให้รู้ไปว่าฝ่ายไหนชนะฝ่ายไหนแพ้ก็ไม่ใช่ หรือบอกว่ายอมกันเถอะแล้วมาจับมือกันก็ไม่ใช่

“สาเหตุขัดแย้งที่ใหญ่มากเป็นสาเหตุเชิงโครงสร้าง หมายถึงระบบการเมือง ระบบเศรษฐกิจ ระบบสังคม ที่เราเป็นสังคมเชิงดิ่ง สังคมเชิงอุปถัมภ์ สังคมเชิงอำนาจ และยังมีเรื่องของกิเลส ความโลภ ความอยากได้ อยากมี อยากรวย ความโกรธหรือความเป็นปฏิปักษ์ความอาฆาตมาดร้ายต่อกัน

ทางออกที่คิดได้คือ พยายามให้อยู่ด้วยกันได้อย่างร่มรื่น อยู่ด้วยกันได้อย่างสันติ อย่างมีความสมานฉันท์ แต่เหตุที่รัฐบาลนี้มีปัญหามากในแง่ของความไม่ลงตัวเกิดความขัดแย้งขึ้นเพราะว่าไม่มีความสมาน สมานนี่แปลว่ารัฐบาลกับประชาชนต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกลมกลืนเข้าหากัน นั่นหมายถึงว่ารัฐบาลไม่ได้มองตัวเองว่าอยู่เหนือประชาชน หรือว่าแปลกแยกจากประชาชน และคำว่าประชาชนต้องหมายถึงประชาชนทั้งหมด ถ้ารัฐบาลไปมองว่าประชาชนบางส่วนไม่ใช่พวก ประชาชนบางส่วนเป็นศัตรู นี่แปลว่าไม่สมาน

แนะผู้นำถอย-พักรบเปิดสมานฉันท์

นายไพบูลย์ กล่าวอีกว่า ทางออกที่สรุปได้มี 4 ทางคือ ข้อ1 ทำตัวสมานโดยเฉพาะคนที่มีอำนาจในการจัดการ ข้อ 2 ทำให้มีการลดกิเลสและนำไปสู่ความซื่อสัตย์ ความสุจริต ความมีคุณธรรมจริยธรรม ข้อ 3 จัดกระบวนการและมีพฤติกรรมที่เหมาะสม เช่น กระบวนการที่เรียกว่าสันติวิธี และข้อ 4 ผู้นำควรตัสินใจดำเนินการในทางที่จะช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น

“การแก้ปัญหาวันนี้ ผู้นำต้องถอยออกมา พักรบ เปิดช่องให้ใจ เชื่อว่าหลังกลับจากต่างประเทศ ท่านคงคิด และอาจทำอะไรอย่างที่เราคาดไม่ถึงได้ สิ่งหนึ่งที่ผมอยากเสนอให้พิจารณา คือ จัดประชุมครม.สัญจรที่สวนโมกข์ ไชยา ประชุมเสร็จก็นิมนต์พระมานำปฏิบัติสมาธิวิปัสสนาร่วมกัน เพื่อจะได้เกิดปัญญาที่ถือเป็นก้าวแรกของการเปิดช่องให้ใจ นอกจากนั้น ต้องมีการปฏิรูประบบ และอภิวัฒน์วัฒนธรรม” นายไพบูลย์ กล่าว

วิกฤติส่วนตัวผู้นำส่งผลระดับชาติ

ดร.อารง กล่าวว่า ถ้าเราจะดูวิกฤติที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ เราจะต้องย้อนไปดูอดีตสักนิดนึงว่าเรื่องทั้งหมดมันเกิดจากวิกฤติของผู้นำเพียงคนเดียวเท่านั้นเอง คนอื่นไม่เกี่ยว เกิดจากคนกลุ่มหนึ่งตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับจริยธรรมของผู้นำเท่านี้เอง มีหรือไม่มีอีกเรื่องหนึ่ง เพียงแต่ว่าตั้งข้อสงสัย แต่ผู้นำแทนที่จะคลี่คลายก็ผลักวิกฤติตัวเองให้เป็นวิกฤติทางการเมือง ให้เป็นวิกฤติของชาติ เรื่องก็บานปลายใหญ่โต ทุกระบบก็ขัดแย้งกันหมด หากไม่แก้ไข อาจจะเลวร้ายถึงสงครามกลางเมือง

ดังนั้นทางออกจุดแรกคือ การเว้นวรรคทางการเมืองของผู้นำ เพราะผู้นำในขณะนี้คนจำนวนมากกลืนเข้าไปไม่ได้หมือนคนเป็นไข้ “กินของดีก็คายออก กินของไม่ดีก็คายออก” เพราะฉะนั้นการที่หลายคนพูดว่าผู้นำจะต้องเว้นวรรคในทางการเมืองเป็นทางออกที่ดีทางหนึ่ง เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันปั่นจากวิกฤติของผู้นำเพียงคนเดียว

“เว้นวรรคแล้วก็ต้องทำลายระบอบด้วย คือ จุดเริ่มต้นถ้าไม่เว้นวรรคคลี่คลายไม่ได้หรอก ที่สำคัญท่านผู้นำต้องใจกว้างพอ ไม่ต้องมาตำหนิท่านหรอก แต่การถอยมาสักระยะหนึ่งจะคลี่คลายได้จุดหนึ่ง ประการที่สอง การเลือกตั้งนี่สำคัญ ยิ่งเร็วก็ยิ่งดี มันก็จะคลี่คลายจุดเดือดได้อีกจุดหนึ่งเหมือนกัน ส่วนรัฐบาลใหม่ ควรทำอะไรให้มันแตกต่างจากรัฐบาลชุดนี้เป็นสิ่งที่ดี เพราะสิ่งที่รัฐบาลชุดนี้หลายๆ คนได้ทำนั้น เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความแตกแยกค่อนข้างจะมาก”

ชี้กลุ่มทุนเป็นปัจจัยความขัดแย้ง

ด้าน ดร.ผาสุก กล่าวยอมรับว่า กลุ่มทุน กลุ่มธุรกิจของไทย เป็นตัวประกอบที่สำคัญตัวหนึ่งในการเมือง และสังคมไทย พอเราพูดถึงความขัดแย้ง ถึงแม้ในช่วงระยะต้นๆ เราจะพบว่ากลุ่มทุนจะเงียบ ไม่ออกมาแสดงอะไร แต่ความขัดแย้งมันคุกรุ่นอยู่ก่อนแล้ว เช่นเมื่อวันก่อน คุณบัณฑูร ล่ำซำ ลุกขึ้นมาพูดว่าทุนเทศทับทุนไทย อันนี้มันเป็นตัวแสดงความขัดแย้งระหว่างการแข่งขันของทุนต่างประเทศกับทุนไทย

“ปัจจุบันใครใกล้ชิดกับอำนาจ ก็สามารถเข้าถึงโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ หรือสัมปทานบางอย่าง หรือว่าสิทธิพิเศษอะไรบางอย่าง ก็อาจอยู่รอดปลอดภัยได้ดีกว่าคนอื่นๆ ตรงนี้มันนำไปสู่ความขัดแย้ง บางคนจะวิเคราะห์ออกมาว่ามันเป็นการขัดแย้งระหว่างทุนเก่ากับทุนใหม่ แล้วก็ให้คำจัดความว่าทุนเก่าคือ ทุนอาจจะโยงกับศักดินาแต่ที่พูดชัดเจนคือ เป็นทุนแบบดั้งเดิม อันนี้เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ข้อเท็จจริงคือ ความขัดแย้งมันเป็นเรื่องที่เกี่ยวโยงกับว่า คุณเป็นทุนที่อยู่วงนอก หรืออยู่วงในของการเมือง”

ชี้ทางออกกำจัดผูกขาด-อภิสิทธิ์

ดร.ผาสุก อธิบายว่าที่ตอนนี้ มันกลายเป็นเรื่องของทุนนิยมพรรคพวก ส่วนทุนวงนอกตอนแรกๆ ก็ต้องเงียบเสียงไว้ก่อน เพราะถ้าขืนเสียงดังก็อาจจะถูกตัดขา หรือตัดหู แต่ระยะต่อมาเราเริ่มได้ยินเสียงแล้วว่าทุนที่อยู่วงนอกเริ่มบอกแล้วว่า ตอนนี้ทำอะไรมันติดขัดไปหมดเลย มีการแทรกแซงเต็มไปหมด

“ความขัดแย้งตอนนี้มันเริ่มถึงจุดที่กลุ่มทุนที่อยู่วงนอกเริ่มรู้สึกว่าทนไม่ได้แล้ว จึงเริ่มประสานกับส่วนอื่นๆ ที่มีความไม่พอใจในเรื่องอื่นๆ และจากจุดนี้ต่อไปดิฉันคิดว่าเมื่อกลุ่มทุนที่เป็นผู้ขัดแย้งแสดงชัดเจนขึ้น ก็เป็นจุดวิกฤติของอำนาจรัฐบาลปัจจุบัน” ดร.ผาสุก กล่าว

ทางออกในประการแรก คือ โยงกับเรื่องนักธุรกิจวงนอกวงใน ก็คือจะต้องกำจัดการผูกขาดทั้งหลาย การเข้าถึงอภิสิทธิ์ทั้งหลายโดยรูปธรรม

“สิ่งสำคัญอีกอันที่ต้องตามมาก็คือ การจัดการกับปัญหาคอร์รัปชันที่ทำให้เกิดเอาเงินภาษีของประชาชนไปเข้ากระเป๋าตัวเอง หรือนำไปใช้อย่างสาดเสียเทเสีย อันนี้เป็นเรื่องที่จะต้องจัดการอย่างจริงจัง” ดร.ผาสุก กล่าว

เทียนชัย หนุนพลังประชาชนสู้

ดร.เทียนชัย เห็นว่า ไม่คิดว่าคุณทักษิณจะลาออก ไม่มีทาง เราต้องอยู่กับท่านอีกนาน เพราะคนๆ นี้เงินมันเยอะ เงินกับอำนาจมันอยู่ด้วยกัน ทางออกผมคิดว่ามันอยู่ที่ประชาชน คำถามคือ ปัจจุบันประชาชนจะแสดงอำนาจที่เราเรียกประชาธิปไตยออกมาได้อย่างไร อย่างมีพลังที่สุดที่เราสามารถจะแสดงได้ มันคือตัวที่จะดุลอำนาจ และจะไปควบคุมพฤติกรรมต่างๆ ที่มันเลวร้ายทั้งหมด

เขายังกล่าวอีกว่าสิ่งแรกที่จะต้องทำคือ การอภิวัฒน์สื่อ เพราะบทบาทของสื่อนี่สำคัญมากในยุคโลกาภิวัตน์ ทางออกที่สอง เป็นขบวนการทางสังคม ที่กลุ่มทางสังคมต้องออกมาช่วยกันแสดง ไม่ใช่พวกอาจารย์เท่านั้นที่ต้องออกมา แต่ว่าจะต้องมีองค์กรทางสังคมอื่นๆ แสดงบทบาทกัน อย่างเช่น สภาพัฒน์ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นต้น

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

26 ก.ย. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/51936

<<< กลับ

แกะรอยเส้นทางความสุข “ภูฏาน” : สัมผัสคมคิดวิถีสร้างสุขมนุษยชาติ(บทสัมภาษณ์)

แกะรอยเส้นทางความสุข “ภูฏาน” : สัมผัสคมคิดวิถีสร้างสุขมนุษยชาติ(บทสัมภาษณ์)


(บทสัมภาษณ์ ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม เรียบเรียงโดย เอื้อมพร สิงหกาญจน์ ซึ่งได้ตัดแต่งให้กระชับมากขึ้นและนำไปลงเป็นบทความใน นสพ. ประชาชาติธุรกิจ ฉบับ 7 – 10 ก.ย. 49 หน้า 44)

วันนี้ “ภูฏาน”กลายเป็นประเทศที่มีความโดดเด่นน่าสนใจ เป็นสถานที่ที่หลายคนอยากไปเยือน อยากไปสัมผัสมากที่สุดประเทศหนึ่ง เพราะนอกจากทัศนียภาพและภูมิประเทศที่สวยงามแล้ว ภูฏานยังเป็นประเทศที่ได้รับการกล่าวขานว่าประชาชนอยู่กันอย่างมีความสุข

หลังจากมกุฎราชกุมาร จิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก แห่งราชอาณาจักรภูฏาน ได้เดินทางมาร่วมงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา คนไทยจำนวนไม่น้อยก็หันมาให้ความสนใจ คำว่า GNH (Gross National Happiness) หรือความสุขมวลรวมประชาชาติ อันเป็นหลักการบริหารประเทศของภูฏาน หลายภาคส่วนอาศัยกระแสหลักนี้ผลักดันเรื่องของความสุขมวลรวมประชาชาติ หรือสังคมอยู่เย็นเป็นสุข เป็นวาระแห่งชาติสำหรับประเทศไทยด้วย

ตามล่าหาความจริงเกี่ยวกับ “ความสุขมวลรวมประชาชาติ”

ล่าสุดระหว่าง 25 – 29 สิงหาคม 2549 “ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม” ประธานศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม หรือที่รู้จักกันในนามศูนย์คุณธรรม ได้พาคณะคนไทยรวม 16 ชีวิต จาก 11 องค์กร อันประกอบไปด้วยพระ 1 รูป ปราชญ์ชาวบ้าน 1 คน ตัวแทนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 1 คน ตัวแทนจากสำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ (สปรส.) 1 คน ผู้อำนวยการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI) 1 คน รองเลขาธิการสภาพัฒน์ 1 คน อาจารย์จากมหาวิทยาลัย 1 คน นักวิชาการจากสถาบันการบริหารและจิตวิทยา 1 คน ผู้บริหารจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) 1 คน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม 2 คน และผู้บริหารศูนย์คุณธรรม 4 คน บินลัดฟ้าข้ามผ่านโลกทุนนิยมเสรี ไปทำความเข้าใจ ศึกษาความเป็นมาของธงชัยในเรื่องความสุขมวลรวมประชาชาติของราชอาณาจักรภูฏาน ว่าเขาพัฒนากันอย่างไร ปฏิบัติกันอย่างไร ได้ผลอย่างไร

ประเทศภูฏานได้นำหลักการที่เรียกว่าความสุขมวลรวมประชาติ หรือ GNH มาเป็นธงชัยในการบริหารบ้านเมือง เป็นทั้งเป้าหมาย หลักคิด และแนวดำเนินการ มาตั้งแต่ประมาณปี 2517

ปฐมบทเรื่องนี้ เริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อครั้งพระราชาธิบดีองค์ปัจจุบัน ซึ่งมีพระนามว่า จิกมี ซิงเย วังชุก เสด็จขึ้นครองราชย์ ในปี 2515 จากนั้นไม่นาน ก็ประกาศธงชัยเรื่อง GNH เน้นไปที่ 4 เสาหลัก คือ 1.การพัฒนาเศรษฐกิจสังคมอย่างยั่งยืน เท่าเทียม และพึ่งพาตนเองได้ 2.การอนุรักษ์ดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 3.การรักษาส่งเสริมคุณค่าทางวัฒนธรรม และ 4.การส่งเสริมหลักธรรมาภิบาล หรือการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี

ผู้ใหญ่ในภูฏานท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า เดิมทีเดียว GNH เป็นเพียงพระราโชบายของพระราชาธิบดี ต่อมาได้ปรับมาเป็นนโยบายรัฐบาล โดยให้เป็นเป้าหมายและหลักการสำคัญเพื่อกำกับนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินให้เอื้ออำนวยต่อการสร้างความอยู่เย็นเป็นสุขของประชาชน ซึ่งไม่ได้หมายถึงการพยายามทำให้เกิดความสุขรายบุคคล แต่มุ่งมั่นในการบริหารประเทศให้อยู่บนฐานและทิศทางการสร้างความสุขโดยรวมของประชาชนเป็นสำคัญ และเป็นการผสมผสานให้เกิดความพอดีระหว่างการพัฒนาและผลลัพธ์ทางวัตถุ กับการพัฒนาและผลลัพธ์ทางจิตใจ

รัฐบาลจะต้องคิดและพยายามในเรื่องของการสร้างความสุขมากกว่าการสร้างความร่ำรวย เพราะถ้าฝ่ายรัฐเน้นเรื่องความร่ำรวย ก็จะไปสร้างสิ่งต่างๆในลักษณะที่ก่อให้เกิดแต่ความร่ำรวยแก่คนบางกลุ่ม แต่อาจไปทำลายธรรมชาติ ทำลายวัฒนธรรม ทำลายสังคม หนุนนำความโลภ และสร้างความสุขแบบวัตถุนิยมที่ไม่ยั่งยืน

เรื่อง GNH ในภูฏานแม้ว่าจะเริ่มมานาน แต่เพิ่งมีการับรู้ ศึกษา วิเคราะห์ วิจารณ์ กันอย่างกว้างขวางในช่วง ประมาณ 10 ปีที่ผ่านมานี่เอง

แนวคิดเกี่ยวกับ “ความสุข” ในประเทศไทย

ซึ่งหากย้อนกลับมาดูประเทศไทย จะเห็นว่าเริ่มได้ยินเรื่องในแนวเดียวกันนี้มาประปรายบ้างเมื่อประมาณ 10 ปีที่ผ่านมาเช่นกัน แต่มาเริ่มเข้มข้นจนเป็นกระแสชัดเจนของสังคมในช่วงที่มีการฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีในปีนี้ โดยเป็นการผสมอุดมการณ์ความอยู่เย็นเป็นสุข หรือสุขภาวะ เข้ากับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อันเป็นพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา

“ด้วยความเป็นหนุ่มรูปหล่อ มีพระจริยวัตรงดงาม ของมกุฎราชกุมาร จิกมี่ เคเซอร์ นัมเกล วังชุก แห่งราชอาณาจักรภูฏาน ประกอบกับความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประเทศภูฏานกับประเทศไทย ทำให้ประเทศภูฏานโดดเด่นขึ้นมาพร้อมๆ กับแนวคิดว่าด้วยความสุขมวลรวมประชาชาติ ซึ่งจริงๆ แล้วประเทศไทยสนใจพัฒนาประเทศโดยเน้นความอยู่เย็นเป็นสุขของประชาชนมาตั้งแต่แผนฯ 8 ถึงแผนฯ 9  แต่ยังไม่มีรูปธรรมในเรื่องการพัฒนาที่ชัดเจน ดังนั้นในแผนฯ 10 ที่จะเริ่มประกาศใช้ในเดือนตุลาคม 2549 นี้ จึงมีการชูธงไปที่การพัฒนาอันจะก่อให้เกิด “ความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน”ในสังคมไทย โดยมี “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” เป็นปรัชญานำทาง

GNH หรือความสุขมวลรวมประชาชาติ จึงไม่ถึงกับเป็นของใหม่สำหรับประเทศไทย แต่เป็นสิ่งที่คนไทยให้ความสนใจอยู่แล้ว และที่ผ่านมาได้มีความพยายามสร้างตัวชี้วัด เพื่อบ่งบอกถึงสภาวะความอยู่เย็นเป็นสุขในหลายรูปหลายแบบ มีขบวนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือบางทีเรียกว่าสุขภาวะ คือ ภาวะความเป็นสุข และอื่นๆ

กล่าวได้ว่า คำว่า “ความสุขมวลรวมประชาชาติ” ของภูฏาน มีลักษณะคล้ายๆกับ “ความอยู่เย็นเป็นสุข” หรือ “สุขภาวะ” และ “เศรษฐกิจพอเพียง” ของประเทศไทยนั่นเอง คณะของเราจึงอยากไปเรียนรู้และแลกเปลี่ยนข้อมูลความคิดเห็นกับบุคคลต่างๆของประเทศภูฏาน เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้นเกี่ยวกับเรื่องนี้”

สู่ “ดินแดนแห่งมังกรผู้รักสันติ”

“ไพบูลย์” เล่าว่า สิ่งแรกที่กระทบสายตา ทันทีที่เท้าเหยียบผืนแผ่นดินภูฏาน คือความงดงามตระการตาของภูมิประเทศ ทัศนียภาพโดยรอบ ที่มีลักษณะเป็นภูเขาลูกใหญ่ ลูกน้อย สลับกันไปอย่างดูเหมือนไม่รู้จบ

“ภูฏาน” แปลว่าดินแดนบนที่สูง หรืออาณาจักรบนฟ้า แต่ชาวภูฏานเรียกประเทศตนเองว่า “ดรุกยุล” หรือ “ดินแดนแห่งมังกรผู้รักสันติ” และเรียกเผ่าพันธุ์ตนเองว่า “ดรุกปา” หรือ “ชาวมังกรสันติ”

“ก่อนเดินทางได้อ่านเอกสาร ศึกษาจากคำบอกเล่าของผู้รู้ ก็เห็นว่าภูฏานเป็นประเทศที่เป็นภูเขาทั้งสิ้น แทบจะไม่มีพื้นที่ราบเลย ขนาดสนามบินยังต้องตั้งอยู่ห่างจากเมืองหลวงถึง 70 กว่ากิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางจากสนามบินถึงเมืองหลวงประมาณชั่วโมงครึ่ง ไต่ไหล่เขาไปเรื่อยๆ

พอไปสัมผัสจริงๆ ภาพก็ชัดขึ้น สนามบินของภูฏานจะมีรูปแบบคล้ายๆ กับสนามบินในจังหวัดแม่ฮ่องสอนของประเทศไทย เครื่องบินขึ้นลงค่อนข้างลำบาก ต้องใช้ความระมัดระวังสูง เครื่องบินขนาดใหญ่มากก็ใช้ไม่ได้ เพราะภูมิประเทศที่เป็นภูเขาลูกใหญ่สลับซับซ้อนมาก แต่สิ่งที่น่าสนใจคือภูฏานสามารถรักษาพื้นที่ป่าไว้ได้ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ภูมิประเทศโดยรวมจึงสวยสดงดงามมาก

“ไพบูลย์” เล่าด้วยความชื่นชมว่า ประเทศภูฏานนั้น นอกจากเรื่องศิลปะ วัฒนธรรม วิถีชีวิต วิถีการอยู่ร่วมกัน จะน่าสนใจแล้ว ระบบและวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองก็ยังน่าสนใจมาก

ประเทศภูฏานมีประชากรประมาณ 700,000 คน มีเนื้อที่ของประเทศประมาณ 47,000 ตารางกิโลเมตร หรือพอๆกับจังหวัดแม่ฮองสอน เชียงราย เชียงใหม่ และลำพูนรวมกัน ได้แบ่งพื้นที่ทั้งหมดออกเป็น 20 จังหวัด จังหวัดหนึ่งจะมีศูนย์กลาง เรียกว่า DZONG (ซอง) เป็นศาสนสถาน และศูนย์กลางของพระ ในขณะเดียวกันก็เป็นป้อมปราการ และเป็นศูนย์การบริหารจังหวัดสำหรับจังหวัดนั้นๆ ด้วย

ศูนย์การบริหารแต่ละจังหวัดนั้น ดั้งเดิมมีพระเป็นผู้บริหารดูแล เนื่องจากในประวัติศาสตร์ประเทศภูฏานนั้นได้ก่อตัวขึ้นมาจากการที่พระไปรวบรวมผู้คน รวบรวมจังหวัดต่างๆ เข้ามาไว้ด้วยกัน แล้วมีการบริหารปกครองกันต่อๆมา เพราะฉะนั้น พระจึงได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการบริหารกิจการบ้านเมือง วัดซึ่งเป็นศูนย์กลางอยู่แล้วจึงกลายเป็นที่ทำการสำหรับการบริหารไปด้วย

ต่อมาเมื่อมีพระราชาธิบดีเกิดขึ้น เมื่อเกือบ 100 ปีที่ผ่านมา พระราชาธิบดีก็เข้ามาทำหน้าที่ในการบริหารประเทศควบคู่ไปกับบทบาทของพระสงฆ์

DZONG (ซอง) จึงเป็นที่อยู่ของพระสงฆ์ เป็นศูนย์กลางการประกอบภารกิจของสงฆ์ ไปพร้อมๆ กับการเป็นศูนย์กลางการบริหารราชการแผ่นดิน และเป็นป้อมปราการ

DZONG (ซอง) ส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในทำเลที่เหมาะสม บางจังหวัดอาจจะอยู่ใกล้กับแม่น้ำในหุบเขา บางจังหวัดอาจจะอยู่บนภูผาที่สูงชัน

วิถีชีวิตชาวภูฏาน

“วิถีชีวิตของชาวภูฏาน โดยทั่วไปค่อนข้างเรียบง่าย ปลูกบ้านหลังไม่เล็กไม่ใหญ่ กระจายไปตามภูเขา อยู่กันแบบพออยู่พอกิน เน้นกิจกรรมทางด้านศาสนา เช่น การสวดมนต์ การประกอบพิธีกรรมต่างๆยังมีอยู่มาก

และประเพณีสำคัญอย่างหนึ่งที่ชาวภูฏานยังคงอนุรักษ์ไว้จนถึงยุคปัจจุบัน คือ ทุกครอบครัวจะให้ลูกชายคนเล็กไปอยู่กับพระเพื่อเรียนหนังสือตั้งแต่อายุ 8 ขวบจนถึงอายุ 20 ปี จากนั้นจึงค่อยตัดสินใจอีกครั้งว่าจะเป็นพระต่อไปหรือจะออกมาใช้ชีวิตเป็นฆราวาส ซึ่งเด็กชายจำนวนมากก็เลือกที่จะเป็นพระไปตลอดชีวิต

ด้วยเหตุนี้ ความใกล้ชิดระหว่างประชาชนชาวภูฏานกับศาสนาจึงมีมาก”

“ประธานศูนย์คุณธรรม” เล่าต่อว่า ด้วยความที่ภูฏานมีลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาลูกใหญ่ ลูกน้อย สลับกันไป ประชากรส่วนใหญ่จึงยึดอาชีพเกษตรกรรมในการเลี้ยงชีพ ซึ่งบางส่วนทำในลักษณะขั้นบันได เน้นการพึ่งตนเองเป็นหลัก เนื่องจากการติดต่อคมนาคมยังค่อนข้างลำบากอยู่มาก ผลไม้ที่เห็นปลูกกันมากคือ แอปเปิ้ล แต่ในยุคปัจจุบันได้มีอาชีพอื่นๆ ผสมผสานเข้ามาด้วย

หากดูโดยรวม ภาคเกษตรน่าจะเป็นภาคที่สร้างรายได้หลักให้กับประเทศภูฏาน แต่ความจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น “ประธานศูนย์คุณธรรม” บอกว่า แม้ว่าประชากรส่วนใหญ่ของภูฏานจะมีอาชีพเกษตรกรรม แต่ผลผลิตทางด้านการเกษตรก็ไม่สามารถสร้างรายได้ให้กับภูฏานมากนัก เพราะเป็นการเกษตรแบบพึ่งตนเอง ส่วนใหญ่จึงผลิตแล้วบริโภคกันภายในประเทศเสียมากกว่า ส่วนรายได้หลักของภูฏานจริงๆ มาจากพลังงานน้ำ เพราะภูมิประเทศที่เป็นภูเขาสลับกับหุบเขา ทำให้ภูฏานมีน้ำที่อุดมสมบูรณ์ สามารถกั้นเขื่อนผลิตไฟฟ้าไปขายให้กับประเทศอินเดียและสร้างรายได้เข้าประเทศมากถึงระดับเป็นรายได้หลักทีเดียว

ส่วนรายได้จากการท่องเที่ยวถือว่ายังค่อนข้างน้อย เนื่องจากในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไปที่ภูฏานเป็นหลักพันเท่านั้น ยกเว้นปีล่าสุดที่นักท่องเที่ยวมีจำนวนมากที่สุดถึงประมาณ 13,000 คน สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ไม่ใช่ว่าภูฏานไม่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว แต่เป็นเพราะว่ารัฐบาลภูฏานจำกัดในเรื่องของการท่องเที่ยว เกรงว่าจะไปกระทบกับสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติรวมถึงวัฒนธรรมประเพณีต่างๆที่มีอยู่ ซึ่งหากเทียบกับประเทศไทยเฉพาะภูเก็ตจังหวัดเดียวปีหนึ่งมีคนมาเที่ยวไม่ต่ำกว่า 4 ล้านคน ซึ่งนำรายได้เข้ามามากแต่สิ่งที่สูญเสียไปก็มีมากด้วย

แนวปฏิบัติตาม “สี่เสาหลัก” ของ “ความสุขมวลรวมประชาชาติ”

“ประธานศูนย์คุณธรรม” เล่าว่า หลายสิ่งหลายอย่างที่ได้เห็นในภูฏาน ทำให้สัมผัสได้ถึงความสุขแบบเรียบง่ายที่กระจายไปทุกพื้นที่ แต่นั่นยังไม่ใช่แก่นของ GNH ที่คณะจากประเทศไทยต้องการไปทำความเข้าใจ

สิ่งที่อยากรู้ คือ 4 เสาหลักของความสุขมวลรวมประชาชาติ ซึ่งได้แก่ 1.การพัฒนาเศรษฐกิจสังคมอย่าง ยั่งยืน เท่าเทียม และพึ่งพาตนเองได้ 2.การอนุรักษ์ดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 3.การรักษาส่งเสริมคุณค่าทางวัฒนธรรม และ 4.การส่งเสริมหลักธรรมาภิบาล หรือการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี นั้น ภูฏานได้สร้างระบบอย่างไร มีแนวปฏิบัติอย่างไร แล้วผลลัพท์ที่ออกมาเป็นอย่างไร เหล่านี้ต่างหากที่คณะผู้เดินทางอยากไปเห็นของจริง

จากการได้สนทนากับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงหลักๆในภูฏาน เช่น กระทรวงมหาดไทย และวัฒนธรรม กระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น ก็เริ่มเห็นภาพชัดขึ้น เห็นแนวทางในการดำเนินการที่ชัดเจนและสอดคล้องกัน เพราะทุกกระทรวงได้ยึดเรื่อง GNH เป็นหลักในการดำเนินงาน มีการปลูกฝังเรื่องความสุขมวลรวมประชาชาติเข้าไปในสถานศึกษาและอื่นๆ

นอกจากการทัศนศึกษา DZONG (ซอง) รวม 4 แห่งแล้ว คณะผู้เดินทางได้ไปเยี่ยมโรงเรียนระดับประถมศึกษา 1 แห่ง และระดับมัธยมศึกษา 1 แห่ง กับไปดูความเป็นอยู่ของชาวบ้าน 1 หมู่บ้าน ได้เห็นวิถีชีวิตที่แท้จริงของชาวภูฏานส่วนหนึ่ง รวมทั้งได้พูดคุยกับชาวบ้านทั้งที่เป็นผู้ใหญ่และเด็กเยาวชนหลายคน

“เรามีโอกาสเข้าไปในบ้านหลังหนึ่งในหมู่บ้านเล็กๆที่ไปเยี่ยมโดยไม่มีการวางแผนไว้ก่อนบ้านหลังนี้ เป็นที่อยู่อาศัยของสตรีสูงวัยพร้อมทั้งลูกหลานรวม 10 คน เป็นบ้าน 2 ชั้น มี 2 ห้องนอน กับ 1 ห้องพระด้วยซึ่งใช้เป็นห้องนอน

สังเกตว่าเขาจะนอนกางมุ้งกับพื้นเป็นหลัก นอกจากห้องนอนแล้วจะมีห้องพระหรือห้องสวดมนต์ ซึ่งอาจใช้เป็นห้องนอนด้วย มีรูปพระพุทธเจ้าหรือพระโพธิสัตว์และอาจมีรูปพระเจ้าแผ่นดินด้วยสำหรับกราบไหว้บูชา นอกนั้นก็มีห้องครัวและห้องเก็บสิ่งของแล้วแต่อาชีพของเจ้าของบ้าน เช่นเก็บเครื่องมือการเกษตรและวัสดุกับผลผลิตการเกษตร

ห้องพระหรือห้องสวดมนต์นั้นถือว่าเป็นห้องที่มีความสำคัญมาก ทุกบ้านจะต้องมี ไม่ว่ายากดีมีจนก็จะต้องมีห้องพระ เป็นห้องประกอบกิจกรรมทางศาสนารวมทั้งสวดมนต์ บางบ้านใช้นอนด้วย หากเป็นบ้านของผู้มีศักดิ์สูงหน่อยก็จะเก็บห้องนี้ไว้เป็นพิเศษสำหรับต้อนรับแขกผู้มีเกียรติ หรือพระที่เดินทางมาจากที่ไกลๆ ให้เข้ามาพักที่ห้องพระ

ชาวภูฏานจะสวดมนต์ทุกวัน เราได้รับการบอกเล่าว่า พระราชมารดาของพระเจ้าแผ่นดินสวดมนต์เป็นประจำทุกคืน และกราบแบบภูฏานคืนละ 108 ครั้ง

บริเวณฝาผนังของบ้านที่เราได้เข้าไปดู มีการวาดภาพตกแต่งสวยงาม เป็นวัฒนธรรมของชาวภูฏานที่น่าชื่นชม กล่าวคือ มีจิตรกรรมฝาผนังแทนวอลเปเปอร์ แม้ในบ้านของชาวบ้านที่อยู่ในหมู่บ้านธรรมดาๆ ”

บ้านเรือนและความเป็นอยู่

“โรงแรมที่เราเข้าไปพักในคืนสุดท้ายก่อนขึ้นเครื่องบินกลับประเทศไทย เคยเป็นบ้านของเจ้าเมืองเก่า ที่ฝาผนังห้องเต็มไปด้วยภาพวาดและลวดลายสวยงามตระการตา มีภาพสัญลักษณ์มงคล 8 ประการ เป็นต้น นับเป็นวัฒนธรรมที่งดงามมาก

บ้านเรือนเท่าที่เห็นทั้งในเมืองและในชนบทล้วนปลูกสร้างด้วยสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของภูฏาน เข้าใจว่าเป็นเช่นนี้ทั้งประเทศ เพราะมีกฏหมายกำหนดให้บ้านทุกหลังที่ก่อสร้างจะต้องเป็นแบบภูฏาน ไม่ให้เป็นแบบอื่นๆ มองไปทางไหนจึงดูสวยงามไม่ระเกะระกะ สีสันอาจแตกต่างกันไปบ้างแต่รูปทรงจะคล้ายๆกัน ขนาดของบ้านส่วนมากดูค่อนข้างใหญ่ ผนังของบ้านค่อนข้างหนาโดยเฉพาะที่เป็นบ้านเก่า โดยสร้างจากดินที่นำมาอัดให้ติดกันคล้ายๆ กับเป็นซีเมนต์เพื่อความแข็งแรงและกันความหนาวเย็นเพราะภูฏานเป็นเมืองหนาว

เท่าที่เห็น ไม่ว่าจะเป็นบ้านผู้ที่มีศักดิ์สูง หรือบ้านชาวบ้านธรรมดาต่างมีห้องพระเหมือนกัน แต่ห้องพระของชาวบ้านจะไม่มีการตกแต่งสวยงามเท่ากับบ้านของผู้ที่มีฐานะทางการเงินดีกว่า ”

“ประชาชนชาวภูฏานดูจะใช้ชีวิตอย่างพออยู่ พอกิน เราไม่เห็นความฟุ่มเฟื่อย หรือความหรูหรา และก็ไม่ได้เห็นความยากจนข้นแค้นอะไรนัก เดิมทีได้รับข้อมูลว่าประเทศภูฏานไม่มีขอทาน แต่ช่วงที่เราไปเดินตลาดสดได้พบขอทาน 2 คน เป็นคนแก่

เรื่องอบายมุข เหล้า บุหรี่  การพนัน นัยว่าเริ่มมีเพิ่มขึ้นเพราะโลกาภิวัตน์ที่คืบคลานเข้ามา แต่เป็นการเพิ่มขึ้นจากฐานที่เล็ก ซึ่งรัฐบาลภูฏานก็ดูกังวลอยู่ไม่ใช่น้อยและพยายามที่จะหาหนทางป้องกันอยู่

สิ่งไหนที่เป็นอบายมุขหรือเป็นสิ่งไร้ประโยชน์หรือเป็นพิษเป็นภัยต่อสังคม รัฐบาลภูฏานจะจำกัดการขยายตัว เช่น แต่ก่อนรายการมวยปล้ำที่ถ่ายทอดผ่านทีวีจะได้รับความนิยมอย่างมาก แต่เมื่อรัฐบาลเห็นว่าการนำเสนอกิจกรรมลักษณะนี้จะเป็นการส่งเสริมความรุนแรงก็ได้มีคำสั่งให้ยกเลิกการถ่ายทอดรายการมวยปล้ำทางทีวี

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

28 ก.ย. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/52358

<<< กลับ

แกะรอยเส้นทางความสุข “ภูฏาน” : สัมผัสคมคิดวิถีสร้างสุขมนุษยชาติ

แกะรอยเส้นทางความสุข “ภูฏาน” : สัมผัสคมคิดวิถีสร้างสุขมนุษยชาติ


เยาวชนกับการเรียนการสอนในสถานศึกษา

                ช่วงเวลาไม่กี่วันที่ได้มีโอกาสซึมซับความสุขที่ภูฏาน “ประธานศูนย์คุณธรรม” บอกว่า จากศาสนสถาน สถานที่บริหารราชการ ไปถึงบ้านชาวบ้านในชนบท พบว่า นโยบายของรัฐบาลที่ยึดถือ “ความสุขมวลรวมประชาชาติ” เป็นเป้าหมายสูงสุดหรือเป็นธงชัยในการบริหารประเทศนั้น มีผลเชื่อมโยงถึงวิถีปฏิบัติของส่วนต่างๆในสังคมตลอดจนการดำเนินชีวิตของชาวภูฏานอย่างชัดเจน 

                เด็กเล็กๆ ตั้งแต่ระดับประถมจะได้รับอิทธิพลจากแนวคิดและแนวนโยบายว่าด้วยความสุขมวลรวมประชาชาติ แม้จะไม่ได้เป็นบทเรียนโดยตรง ส่วนนักเรียนระดับมัธยมจะมีเรื่องความสุขมวลรวมประชาชาติอยู่ในบทเรียนมากกว่า 1 วิชา

                “ผมได้ถามครูใหญ่ของโรงเรียนระดับประถมศึกษาแห่งหนึ่ง ว่าทางโรงเรียนนำเรื่องความสุขมวลรวมประชาชาติมาประยุกต์เป็นภาคปฏิบัติอย่างไรบ้าง เขาตอบว่า เป็นการผสมกลมกลืนอยู่ในเรื่องการเรียนการสอนทั้งหมด ไม่ได้นำมาเป็นบทเรียนในวิชาใดวิชาหนึ่งอย่างชัดเจน

                หนุ่มคนหนึ่งจากโรงเรียนมัธยมเล่าให้ฟังว่า เรื่องความสุขมวลรวมประชาชาตินั้น อยู่ในวิชาเรียนรวม 3 วิชา ดูเหมือนจะเป็นวิชาหน้าที่พลเมือง (Bhutan Civics) ภูมิศาสตร์ และภาษาอังกฤษ”

                “ไพบูลย์” บอกว่า สิ่งที่ประทับใจอีกอย่างหนึ่งและต้องหมายเหตุไว้เลย คือ ภูฏานจัดให้นักเรียนเรียนภาษาอังกฤษตั้งแต่ระดับอนุบาล ดังนั้นคนภูฏานที่อายุต่ำกว่า 40 ปีลงมาจึงสามารถพูดภาษาอังกฤษได้อย่างดีหรือค่อนข้างดี เด็กตัวเล็กๆก็สามารถสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษกับพวกเราได้ และเด็กเหล่านั้น มีความเป็นธรรมชาติ สดใส กล้าหาญ ไม่เอียงอาย ไม่หวาดกลัว ทักทายและสนทนาโต้ตอบกับผู้มาเยือนอย่างเป็นกันเอง 

                และนี่คือสิ่งที่ดี ในขณะที่ภูฏานจำกัดการทะลักของโลกาภิวัตน์แต่ก็เปิดประตู่สู่โลกภายนอกทางภาษา คนภูฏานจึงไปเรียนต่อต่างประเทศกันเยอะ เพราะฐานภาษาอังกฤษดี 

                โดยรวมแล้ว สังคมภูฏานอยู่กันอย่างพออยู่พอกิน นิยมความเรียบง่าย ไม่มุ่งที่จะก้าวให้ทันความเจริญทางวัตถุเหมือนกับนานาชาติ แต่มุ่งที่การอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข แบบพอประมาณ มีศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว มีวัฒนธรรมเป็นฐาน มีสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย มีระบบการปกครองที่ดี

พัฒนาการสู่อนาคต

                จะเห็นว่า เรื่องความสุขมวลรวมประชาชาติ เริ่มต้นจากพระราชปณิธาน เป็นปรัชญา เป็นหลักคิด แล้วแปลเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ตั้งอยู่บน 4 เสาหลัก ตามด้วยการดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบายดังกล่าวผ่านหน่วยงานต่างๆของรัฐ ส่วนเรื่องการสร้างตัวชี้วัดความสุขและความสำเร็จของ 4 เสาหลักนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาที่ยังไม่มีความชัดเจนแน่นอนทีเดียว

                วันนี้ภูฏานกำลังเตรียมการที่จะก้าวจากการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขในปี 2008 รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐจึงมีภารกิจหลักเพิ่มขึ้นอีกประการหนึ่ง ได้แก่ การนำรัฐธรรมนูญไปชี้แจง ไปพูดคุยกับประชาชน และการเตรียมความพร้อมต่างๆสู่ระบอบการปกครองแบบใหม่ 

                “ประธานศูนย์คุณธรรม”บอกต่อไปว่า ระหว่างเดินทางเยี่ยมศึกษาประเทศภูฏาน คณะทำงานทั้ง 16 ชีวิต 11 องค์กรได้มีการประชุมกันอย่างต่อเนื่อง ตอนเช้าบ้าง ค่ำบ้าง ในรถบ้าง และสุดท้ายสรุปตรงกันว่า การพิจารณาทำอะไรสำหรับประเทศไทย จะต้องคิดจากฐานของประเทศไทย คิดจากสถานการณ์และสภาพแวดล้อมของไทย คิดจากระบบและสภาพของสังคมไทย เป็นหลัก ส่วนเรื่องของประเทศอื่นที่ดีมีคุณค่าในฐานะเป็นแรงบันดาลใจ หรือเป็นข้อคิด เป็นบทเรียนที่มีประโยชน์ เราก็สามารถนำมาเป็นเครื่องช่วยหรือนำมาประกอบการพิจารณาด้วยได้

                สำหรับศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม หรือศูนย์คุณธรรมได้พยายามส่งเสริมในเรื่องของคุณธรรมความดี ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของสังคมที่พึงปรารถนา คุณธรรมความดีจะช่วยให้เกิดความสุข ซึ่งเป็นความสุขที่ดีและยั่งยืน ความดีกับความสุขจะเป็นร่มและเป็นเชื้อให้กับการสร้างความสามารถซึ่งมักจะเป็นความสามารถในทางที่ดี คือไม่ใช่ความสามารถชนิดที่ไปทำความเดือดร้อนหรือความทุกข์ให้กับคนอื่น หรือไปทำความเสียหายให้กับสังคมหรือสิ่งแวดล้อม 

                “ความดี ความสุข ความสามารถ จึงเป็น 3 องค์ประกอบที่เกื้อกูลซึ่งกันและกันในทางที่ดี จะเรียกว่าเป็น ‘รัตนตรัยแห่งสังคมที่พึงปรารถนา’ ก็น่าจะได้ และนี่อาจจะเป็นฐานคิดหรือแนวความคิดในการสร้าง ‘ความสุข’ หรือ ‘สังคมอยู่เย็นเป็นสุข’ ในประเทศไทย” คือคำกล่าวทิ้งท้ายของ คุณไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ประธานศูนย์คุณธรรม ที่ให้คำสัมภาษณ์ภายหลังการพาคณะไปเยี่ยมศึกษาประเทศภูฏาน.

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

28 ก.ย. 49

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/52364

<<< กลับ

จาก “ความสุขมวลรวมประชาชาติ” ของภูฏาน สู่อุดมการณ์ “สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” ของไทย

จาก “ความสุขมวลรวมประชาชาติ” ของภูฏาน สู่อุดมการณ์ “สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” ของไทย


ตามล่าหา “GNH” (Gross National Happiness)

ระหว่างวันที่ 25 – 29 สิงหาคม 2549 คณะของเรา 14 ชีวิต จาก 10 องค์กร ผนวกด้วยผู้นำการทัศนศึกษาเชิงวัฒนธรรมอีก 2 คน จากประเทศไทย ได้มุ่งสู่ประเทศภูฏาน เพื่อค้นหาตัว “GNH” (“Gross National Happiness” หรือ “ความสุขมวลรวมประชาชาติ) อันลือเลื่องไปทั่วโลกและได้รับความสนใจเป็นพิเศษในประเทศไทย

เราพยายามไปดูว่าตัว “GNH” หน้าตาเป็นอย่างไร มีพี่น้องลูกหลายแผ่ขยายไปมากเพียงใด ได้รับความนิยมและนำไปอยู่ในหน่วยงานของรัฐ หน่วยงานของเอกชน ในองค์กร ในสถาบัน และในหมู่ประชาชนทั่วไป อย่างเข้มข้นจริงจังขนาดไหน และวิธีเลี้ยงดู “GNH” ให้เจริญงอกงาม มีชีวิตชีวา เขาทำกันอย่างไร ฯลฯ

เราตั้งเป้าหมายไว้มาก และรู้อยู่แล้วว่าคงไม่สมประสงค์ทั้งหมดหรอก คงได้เท่าที่เป็นไปได้ภายในเวลาเพียง 5 วัน และภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ

“ GNH ” หรือ “ Gross National Happiness ” ถือกำเนิดในประเทศภูฏาน ในปี 2517 โดยเป็นพราะราชดำริและพระราชปณิธานของพระราชาธิบดี จิกมี ซิงเย วังชุก หลังจากที่พระองค์ได้ขึ้นครองราชย์ในปี 2515

พราะราชปณิธานนั้น คือ “ Gross National Happiness is more important than Gross National Product. ” หรือ “ความสุขมวลรวมประชาชาติ มีความสำคัญมากกว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ”

น่าจะเทียบเคียงได้กับ “พระปฐมบรมราชโองการ” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของไทย ที่ว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

ปัจจุบันพระราชดำริและพระราชปณิธานของพระราชาธิบดี ได้ฝังรากชัดเจนเป็นอุดมการณ์และเป้าประสงค์แห่งชาติ ( National Goal) ซึ่งปรากฏในร่างรัฐธรรมนูญที่จะเริ่มใช้ในปี 2008 ปรากฏในวิสัยทัศน์และนโยบายของรัฐบาล เป็นธงชัยและแนวดำเนินการให้กับหน่วยงานภาครัฐทั้งหลาย ลงไปถึงอยู่ในหนังสือเรียนและบทเรียนสำหรับนักเรียนระดับมัธยมอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม

GNH อยู่ในรัฐธรรมนูญและอยู่ในโรงเรียน

ร่างรัฐธรรมนูญ (ซึ่งมี 34 มาตรา) มาตรา 9 ว่าด้วยหลักการสำหรับนโยบายแห่งรัฐ ( Principles of State Policy ) วรรค 2 ระบุชัดเจนว่า รัฐต้องมุ่งสร้างเงื่อนไขทั้งหลายอันจะนำสู่การบรรลุ ความสุขมวลรวมประชาชาติ ( The State shall strive to promote those conditions that will enable the pursuit of Gross National Happiness. )

ในหนังสือเรียน “ Bhutan Civics ” ว่าด้วยระบบการปกครอง สถาบันทางสังคม และหน้าที่พลเมืองของภูฏาน บทที่ 9 (จากทั้งหมด 10 บท) เป็นบทว่าด้วย National Goals (เป้าหมายแห่งชาติ) และระบุชัดเจนว่า เป้าหมายแห่งชาติที่สำคัญประกอบด้วย

  1. Gross National Happiness (ความสุขมวลรวมประชาชาติ)
  2. People’s participation (การมีส่วนร่วมของประชาชน)
  3. National self – reliance (การพึ่งพาตนเองได้ของชาติ)
  4. Sustainability                (การพัฒนาอย่างยั่งยืน)
  5. Preservation and promotion of cultural and traditional values

(การรักษาและส่งเสริมคุณค่าทางวัฒนธรรม และประเพณี)

  1. National integration (ความเป็นปึกแผ่นแห่งชาติ)

ในหมู่บ้านเล็กๆแห่งหนึ่ง ซึ่งไกลจากเมืองหลวงพอสมควรและเราได้เข้าไปเยี่ยมโดยไม่ได้วางแผนเตรียมการไว้ล่วงหน้า เด็กหนุ่มคนหนึ่งซึ่งเรียนชั้นมัธยมปลาย เล่าว่า เขาเรียนเกี่ยวกับ GNH ในบทเรียนรวม 3 วิชา คือ หน้าที่พลเมือง ภูมิศาสตร์ และภาษาอังกฤษ

สำหรับโรงเรียนชั้นประถม ครูใหญ่ของโรงเรียนที่เราได้ไปเยี่ยมบอกว่าไม่มีการสอน GNH ในหลักสูตรโดยตรง แต่ GNH เป็นหลักสำคัญที่โรงเรียนจะประยุกต์สอดแทรกให้กลมกลืนอยู่ทั่วๆไป และครูใหญ่ผู้นั้นมีความภูมิใจว่าโรงเรียนเขาเป็นโรงเรียนแห่งความสุข และเขามั่นใจว่าเด็กนักเรียนของเขามีความสุขกับชีวิตในโรงเรียน ซึ่งวัดได้จากการที่เด็กเต็มใจอยากมาโรงเรียนและไม่ขาดเรียนเป็นต้น

สี่เสาหลักของ GNH

เราพบว่า GNH ไม่ใช่อุดมการณ์ลอยๆ แต่มีแนวปฏิบัติชัดเจน เรียกว่า “สี่เสาหลัก” ( Four Pillars ) ดังนี้

  1. การพัฒนาเศรษฐกิจสังคมอย่างยั่งยืน เท่าเทียม และพึ่งพาตนเองได้
  2. การอนุรักษ์ดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  3. การรักษาส่งเสริมคุณค่าทางวัฒนธรรม
  4. การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี (หรือการมีธรรมาภิบาล)

ทั้ง 4 เสาหลักนี้ปรากฏอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญชัดเจน แสดงถึงความจริงจังหนักแน่นในระดับชาติ เรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมอย่างยืน เท่าเทียม และพึ่งพาตนเองได้ (เสาหลักที่ 1 ) กับเรื่องการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี (เสาหลักที่ 4 ) ปรากฏโดยปริยายอยู่ในมาตรา 9 ว่าด้วยหลักการของนโยบายแห่งรัฐ ( Principles of State policy ) ส่วนเสาหลักที่ 2 การอนุรักษ์ดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับเสาหลักที่ 3 การรักษาส่งเสริมคุณค่าทางวัฒนธรรม ปรากฏเด่นชัดในร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 5 (ว่าด้วย “ Culture ”) และมาตรา 4 (ว่าด้วย “ Environment ”) ตามลำดับ

เฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม เขากำหนดไว้ในร่างรัฐธรรมนูญเลยว่าจะต้องรักษาพื้นที่ป่าไว้ให้มีไม่น้อยว่าร้อยละ 60 ตลอดไป

เมื่อมีโอกาสได้ประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงและองค์กรต่างๆของภูฏาน พบว่าเขาสามารถอธิบายขยายความการนำ GNH ตามแนวทางของ “สี่เสาหลัก” ไปปฏิบัติได้อย่างชัดเจนพอสมควร

เรารับทราบด้วยว่า เขากำลังพยายามพัฒนาตัวชี้วัด GNH ในลักษณะต่างๆ ทั้งที่เป็น “ภาวะเป็นสุข” (วัดเชิงภววิสัย) และ “ความรู้สึกสุข” (วัดเชิงอัตวิสัย) แต่ยังไม่ถึงกับลงตัวแน่ชัดและใช้ปฏิบัติอย่างเป็นทางการ ซึ่งเขายินดีและประสงค์จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับประเทศไทยในเรื่องการพัฒนาตัวชี้วัดเกี่ยวกับ “ความสุข” ดังกล่าว

สู่อุดมการณ์ “สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” ของประเทศไทย

สะท้อนมาดูประเทศไทยของเรา เรามีพระปฐมบรมราชโองการตั้งแต่ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 ว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” ซึ่งเป็นพระราชสัตยาธิษฐานตามโบราณราชประเพณีของพระมหากษัตริย์ไทย

ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2540 – 44) ได้เริ่มต้นนวัตกรรมทางความคิดที่ให้ “คนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา” และมีการประดิษฐ์คำพูดเชิงวัสัยทัศน์ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้ “คนมีความสุข ครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเข้มแข็ง สังคมสันติ สิ่งแวดล้อมยั่งยืน”

ในแผนฯ 8 ยังระบุด้วยว่าจะมีการสร้างดัชนีชี้วัดเพื่อวัดผลกระทบขั้นสุดท้ายของการพัฒนา ทั้งในด้านการพัฒนา คน สังคม เศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม

ครั้นมาถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2545 – 49) ได้สานต่อแนวคิด “คนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา” และน้อมนำพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่าด้วย “เศรษฐกิจพอเพียง” มาเป็นปรัชญานำทางในการพัฒนาประเทศ

จุดมุ่งหมายในการพัฒนาประเทศตามแผนฯ 9 มุ่งเน้นให้เกิด “การพัฒนาที่ยั่งยืน และความอยู่ดีมีสุขของคนไทย” โดยกำหนดสภาพสังคมไทยที่พึงประสงค์ ว่าควรเป็น “สังคมที่เข้มแข็งและมีดุลยภาพ” บนพื้นฐานของการอนุรักษ์วัฒนธรรมและเอกลักษณ์ของความเป็นไทย และสังคมที่พึงประสงค์ดังกล่าว ควรประกอบไปด้วย 3ลักษณะ ได้แก่ (1) สังคมคุณภาพ (2) สังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้ และ(3) สังคมสมานฉันท์และเอื้ออาทรต่อกัน

ภายใต้แผนฯ 9 ยังได้มีการพัฒนา “ดัชนีชี้วัดความอยู่ดีมีสุข” และดัชนีหรือตัวชี้วัดอื่นๆ ได้แก่ ดัชนีชี้วัดความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ ดัชนีชี้วัดการพัฒนาที่ยั่งยืน ดัชนีชี้วัดทุนทางสังคม เป็นต้น

และในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550 – 54) ได้กำหนดเป็น “วิสัยทัศน์ประเทศไทย”ว่า มุ่งพัฒนาสู่ “สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” โดย “คนไทยมีคุณธรรมนำความรอบรู้ รู้เท่าทันโลก ครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเข้มแข็ง สังคมสันติสุข เศรษฐกิจมีคุณภาพ เสถียรภาพ และเป็นธรรม สิ่งแวดล้อมมีคุณภาพและทรัพยากรธรรมชาติยั่งยืน อยู่ภายใต้ระบบบริหารจัดการประเทศที่มีธรรมาภิบาล ดำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และอยู่ในประชาคมโลกได้อย่างมีศักดิ์ศรี”

ไทยกับภูฏานจะเป็นเพื่อนร่วมเดินทางกันได้ดี

จะเห็นว่าอุดมการณ์ “สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” ของประเทศไทย ตามที่ระบุในแผนฯ 10 กับแนวคิด “ความสุขมวลรวมประชาชาติ” ( Gross National Happiness – GNH ) ของภูฏานนั้น เทียบเคียงกันได้อย่างดี รวมทั้งข้อความใน “วิสัยทัศน์ประเทศไทย” ยังสอดครับกับแนวทาง “4 เสาหลัก” ของภูฏานอีกด้วย

ในรายละเอียดของแผนฯ 10 ได้กำหนดเป็น “ยุทธศาตร์” ขับเคลื่อนแผนพัฒนาฯสู่การปฏิบัติ รวม 5 ยุทธศาสตร์ ดังนี้

  1. ยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพคนและสังคมไทยสู่สังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้
  2. ยุทธศาสตร์การสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและสังคมเป็นรากฐานที่มั่นคงของประเทศ
  3. ยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้สมดุลและยั่งยืน
  4. ยุทธศาสตร์การพัฒนาบนฐานความหลากหลายทางชีวภาพและการสร้างความมั่นคงของฐานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม
  5. ยุทธศาตร์การเสริมสร้างธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการประเทศ

อ่านแล้วน่าจะถือได้ว่าประเทศไทยกับภูฏาน สามารถและควรจะเป็น “เพื่อนร่วมเดินทาง” ในเส้นทางแห่งการพัฒนาประเทศได้เป็นอย่างดี เพราะต่างมีเป้าหมายและแนวทางที่คล้ายกันมาก

เมื่อเป็นเพื่อนกันก็สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้เอื้อเฟื้อเกื้อกูลซึ่งกันและกันในเรื่องต่างๆและด้วยวิธีการต่างๆอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเกิดประโยชน์ทั้งในเชิงรูปธรรมและในทางจิตใจต่อทั้งสองฝ่าย

แนวทางปฏิบัติสำหรับประเทศไทยที่ควรลงมือทำ

ในขณะที่ภูฏานเดินหน้าไปแล้วพอสมควรทีเดียวในการใช้ “ความสุขมวลรวมประชาชาติ” หรือ “ GNH ” เป็นเป้าหมายหลักในการพัฒนาประเทศ โดยไม่ให้ความสำคัญกับ “ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ” หรือ “ GNP ” มากนัก ประเทศไทยเราเองแม้จะมีเป้าหมายเรื่องการพัฒนาคนและการสร้าง “ความเป็นสุข” ( Well-being ) ของคนและสังคม มาตั้งแต่แผนฯ 8 แต่ในความเป็นจริงแล้ว รัฐบาลไทยและสังคมไทยโดยรวมได้เน้น “ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ” ( GNP ) หรือ “ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ” ( Gross Domestic Product – GDP ) กับเรื่องของรายได้ที่เป็นตัวเงินเป็นเป้าหมายหลักในการพัฒนาประเทศมาจนทุกวันนี้

ดังนั้น ในโอกาสของการเข้าสู่ช่วงเวลาของแผนฯ 10 ที่กำหนดให้ “ความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” เป็น “วิสัยทัศน์ประเทศไทย” ภายใต้ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” จึงเป็นจังหวะเวลาเหมาะสมอย่างยิ่งที่ทั้งรัฐบาลไทย ฝ่ายการเมือง หน่วยงาน องค์กร สถาบัน ท้องถิ่น ชุมชน และสังคมไทยโดยรวม จะเอาจริงเอาจังกับการมุ่งมั่นดำเนินการต่างๆรวมถึงการปฏิบัติตามแนวทาง “เศรษฐกิจพอเพียง” ให้ได้อย่างดีที่สุด

แนวทางตามยุทธศาสตร์ทั้ง 5 ประการที่ระบุในแผนฯ 10 นั้นถือได้ว่าดีพออยู่แล้ว แต่สำคัญที่ต้องพยายามปฏิบัติให้ได้

จะปฏิบัติได้ ต้องรู้ว่าใครเกี่ยวข้องกับการดำเนินการตามยุทธศาสตร์เหล่านั้น แล้วจัดกระบวนการให้บุคคล หน่วยงาน องค์กร สถาบัน ฯลฯที่เกี่ยวข้อง มาร่วมมือประสานงานประสานพลังกันให้ได้อย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพ

บทบาทในการจัดกระบวนการเช่นนี้ น่าจะเป็นของสภาพัฒน์ (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ – สศช.) แต่สภาพัฒน์ไม่จำเป็นและไม่สมควรต้องมีบทบาทเป็นผู้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ทั้ง 5 ประการนั้น เพราะบทบาทหน้าที่ที่จะดำเนินการตามยุทธศาสตร์ดังกล่าว มีผู้รับผิดชอบครบถ้วนอยู่แล้ว

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/52975

<<< กลับ

จาก “ความสุขมวลรวมประชาชาติ” ของภูฏาน สู่อุดมการณ์ “สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” ของไทย (ต่อ)

จาก “ความสุขมวลรวมประชาชาติ” ของภูฏาน สู่อุดมการณ์ “สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” ของไทย (ต่อ)


ถึงเวลาทำดัชนีชี้วัดความสุขให้ใช้งานได้อย่างมีคุณประโยชน์แท้จริง

เรื่องสำคัญมากอีกเรื่องหนึ่งที่ควรลงมือทำอย่างจริงจัง คือการพัฒนาดัชนีชี้วัดความสุข ให้สามารถใช้งานได้อย่างมีคุณประโยชน์แท้จริง โดยเป็นที่ยอมรับร่วมกันของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย

จะทำให้เกิดผลเช่นนี้ได้ ต้องจัดกระบวนการให้ผู้เกี่ยวข้องที่สำคัญๆทั้งหมดมาร่วมมือประสานงานกันในความพยายามร่วมกัน

ในการนี้ควรต้องให้ความสำคัญต่อภาคประชาชน ภาคชุมชน และภาคท้องถิ่น ให้มากเป็นพิเศษ เพราะภาคเหล่านี้เป็นเป้าหมายสำคัญของการพัฒนา และควรเป็น “ตัวตั้ง” ในการวัด “ความสุข” หรือ “ความอยู่เย็นเป็นสุข” ดังนั้น การกำหนดตัวชี้วัดหรือดัชนีชี้วัด จึงควรต้องให้ประชาชน ชุมชน และท้องถิ่น มีบทบาทสำคัญทั้งในการให้ข้อมูลและความคิดเห็น ในการให้ความเห็นชอบต่อระบบและวิธีการที่จะนำมาใช้ ในการนำระบบและวิธีการที่ตกลงกันมาประยุกต์ใช้จริง และในการติดตามผล พร้อมกับการศึกษาเรียนรู้และพัฒนาต่อไปอย่างต่อเนื่อง

เรื่องดัชนีชี้วัดความสุขนี้ กำลังได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆในระดับนานาชาติ ดังนั้น ประเทศไทยจึงสามารถทำเรื่องนี้ของเราไป พร้อมๆกับการศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้ปฏิบัติและผู้สนใจในประเทศอื่นๆด้วย ซึ่งแน่นอนย่อมรวมถึงประเทศภูฏานที่ได้พยายามพัฒนาดัชนีชี้วัดความสุขทั้งที่เป็นเชิง ภววิสัย (ภาวะเป็นสุข) และเชิงอัตวิสัย (ความรู้สึกสุข) อยู่แล้ว

ที่สำคัญ ควรมองเรื่องดัชนีชี้วัดความสุขหรือความอยู่เย็นเป็นสุข เป็น “เครื่องมือ” หรือเป็น “กุศโลบาย” ให้เกิดการตื่นตัว การพัฒนาความคิด การพัฒนาทัศนคติ การพัฒนาศาสตร์และศิลป์ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการสร้างการมีส่วนร่วมและการร่วมมือประสานงานระหว่างผู้เกี่ยวข้อง อันจะนำไปสู่การร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมเรียนรู้ และร่วมปรับปรุงพัฒนา อย่างต่อเนื่อง

การใช้ดัชนีชี้วัดความสุขหรือความอยู่เย็นเป็นสุข เป็น “เครื่องมือ” หรือ “กุศโลบาย” เช่นนี้ สำคัญกว่า มีคุณค่ามากกว่า และเป็นประโยชน์มากกว่าการมีดัชนีชี้วัดที่ถูกต้องสมบูรณ์ ซึ่งการจะสร้างความถูกต้องสมบูรณ์ของดัชนีชี้วัดที่ว่านี้ ย่อมยากมากอยู่แล้ว และถ้าจะหาข้อสรุปที่เห็นพ้องต้องกันในระหว่างผู้เกี่ยวข้องทั้งหลาย ก็ย่อมยากมากยิ่งขึ้นไปอีก

ดังนั้นจึงไม่ควรมุ่งหาดัชนีชี้วัดที่ถูกต้องสมบูรณ์ แต่ควรมุ่งสร้าง “เครื่องมือ” ที่สามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ดีในระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย จะเป็นประโยชน์คุ้มค่าและมีความเหมาะสมกว่ามาก

การลงทุนที่คุ้มค่า

กล่าวโดยสรุป ถ้าคณะ “ตามล่าหา GNH ” ที่เดินทางไปประเทศภูฏานรวม 5 วัน สามารถช่วยกันทำให้มีการดำเนินการใน 2 เรื่องใหญ่ที่เสนอมาข้างต้น คือ

(1) การร่วมมือประสานงานอย่างจริงจังและต่อเนื่องภายใต้อุดมการณ์และยุทธศาสตร์ของแผนฯ 10 ในระหว่างผู้เกี่ยวข้องทั้งหลาย และ

(2) การร่วมมือประสานงานในระหว่างผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายเพื่อพัฒนาดัชนีชี้วัดความสุขหรือความอยู่เย็นเป็นสุขจนสามารถนำมาใช้ร่วมกันได้อย่างเป็นประโยชน์และต่อเนื่อง

ถ้าทั้ง 2 เรื่องนี้เกิดได้จริง ค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่คณะผู้ “ตามล่าหา GNH ” ดังกล่าวต้องใช้ไป ก็จะคุ้มเกินคุ้มหลายตลบ

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/52976

<<< กลับ

การบริการวิชาการแก่ชุมชนเพื่อชุมชนแข็งแรง

การบริการวิชาการแก่ชุมชนเพื่อชุมชนแข็งแรง


(ปาฐกถาพิเศษ วันศุกร์ที่ 8 กันยายน 2549 ณ ห้องประชุมชั้น 3 อาคารวิจัยและการศึกษาต่อเนื่องฯ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ)

                  เรียนท่านอธิการบดี ท่านคณาจารย์ นักศึกษา ท่านผู้มีเกียรติที่เคารพทุกท่าน ผมควรจะเริ่มด้วยอย่างนี้นะครับ (ตุ๊กตาหัวเราะ) จะเป็นครั้งแรกรึเปล่าไม่ทราบที่ประเทศไทยมีกิจกรรมหัวเราะเพื่อสุขภาพ ในต่างประเทศเขามีมาสักพักหนึ่งแล้ว มีการนัดกันไปในที่กลางแจ้งแล้วก็หัวเราะกันเป็นการใหญ่ สารพัดเทคนิควิธีการในการหัวเราะ ซึ่งสร้างสุขภาพทั้งทางกาย ทางใจ ทางจิตวิญญาณ เพราะการหัวเราะนั้นทำให้ร่างกายเกิดการสูบฉีดโลหิต หลั่งสารที่เรียกว่าสารความสุขออกมา ต้องขอชื่นชมในความริเริ่มที่ดีของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โดยเฉพาะความริเริ่มในการให้บริการแก่ชุมชน รวมทั้งความมุ่งประสงค์ที่จะให้เกิดความเข้มแข็งของชุมชน หรือในที่นี้ใช้คำว่าชุมชนแข็งแรง

วันนี้เป็นการมานำเสนอผลการดำเนินงานของโครงการต่างๆ ผมเชื่อว่าท่านทั้งหลายจะได้ทบทวนประสบการณ์ที่ทำมาแล้วเพื่อเรียนรู้ สรุปบทเรียน ข้อคิด ทั้งในเชิงที่เป็นกำลังใจให้เราทำในสิ่งที่ดีต่อไป และในเชิงการค้นพบสิ่งที่สามารถจะแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้นในปีต่อๆไป นั่นคือเข้าหลักการพัฒนาที่เป็นวงจร อาจจะใช้สูตรที่เรียกว่า PDCA ท่านคงคุ้นอยู่ Plan Do Check Action คือเมื่อได้คิดแล้วนำมาปฏิบัติ ปฏิบัติแล้ววัดผล ประเมินผล จากนั้นนำไปสู่การคิดใหม่เพื่อปรับปรุงพัฒนา อภิวัฒน์ให้ดีขึ้นไปอีก

การเข้าไปสู่พื้นที่ใหม่ที่ไม่คุ้นเคย

การให้บริการแก่ชุมชนเป็นการเดินเข้าไปสู่พื้นที่ใหม่ที่ท่านคณาจารย์และนักศึกษาอาจจะยังไม่คุ้นเคย สิ่งที่ท่านคุ้นเคยคือการเรียนการสอน การวิจัย แต่การให้บริการวิชาการแก่สังคมหรือแก่ชุมชนเทียบกับการเรียนการสอนและการวิจัย น่าจะถือเป็นพื้นที่ใหม่ ผมจงใจใช้คำว่าพื้นที่ใหม่เพราะนึกไปถึงเรื่องซึ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่วันมานี้ เมื่อวันที่ 4 กันยายน ในที่นี้หลายท่านคงจะรู้จัก Mr.Steve Irwin ที่มีสมญานามว่านักล่าจระเข้ Crocodile Hunter มีชื่อเสียงไปทั่วโลก เขาเป็นคนที่คุ้นเคยมากกับเรื่องบนบก หรือกึ่งบกกึ่งน้ำก็คือเรื่องของจระเข้ งู สัตว์เลื้อยคลานนี้เขาชำนาญมาก เขาสามารถไปจับจระเข้ ไปจับงู เขาไปให้อาหารจระเข้ตัวใหญ่ด้วยมือข้างหนึ่ง และมืออีกข้างหนึ่งอุ้มลูกอายุไม่ถึงปี แสดงถึงความมั่นใจและต้องการให้ลูกได้เรียนรู้เรื่องสัตว์เลื้อยคลาย สัตว์ที่ดุร้าย ตั้งแต่ยังพูดไม่ได้ แต่ครั้งนั้นก็ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กว้างขวางว่าเอาเด็กเล็กๆ ไปเสี่ยงโดยเขาไม่รู้เรื่องด้วย เมื่อวันที่ 4 กันยายน Mr.Steve Irwinเข้าไปในถิ่นที่เขาไม่คุ้นเคย หรือคุ้นเคยน้อยกว่า ก็คือลงไปใต้น้ำ จะไปถ่ายทำสารคดีกับปลากระเบน ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Stingrayด้วยเหตุผลที่อาจจะอธิบายชัดเจนไม่ได้ ปรากฏว่าปลากระเบนซึ่งปกติไม่ทำร้ายใคร เว้นแต่คับขัน ได้เอาเงี่ยงที่ปลายหางแทงเข้าไปที่หน้าอกของ นาย Steve Irwinทะลุถึงหัวใจ Steveดึงออกมา ทำให้บาดแผลเจ็บปวดรุนแรงมาก แล้วก็ทนความเจ็บปวดไม่ไหว เสียชีวิตไป เรื่องนี้เป็นเรื่องน่าเศร้า แต่ว่าเป็นอุทาหรณ์ว่าเวลาเราเข้าไปในถิ่นที่ไม่คุ้นเคย ไม่ควรประมาท ควรต้องศึกษาสถานการณ์ให้ถ่องแท้ รวมทั้งมีความเคารพยำเกรงในสิ่งที่เราอาจจะไม่รู้ หรือรู้ไม่ถ้วนทั่ว ด้วยความไม่ประมาท เมื่อได้ศึกษาได้เรียนรู้ให้ถ่องแท้ มีความยำเกรงตามสมควรแก่สิ่งที่เราอาจจะยังไม่รู้ มีความไม่ประมาท สิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นก็คือ การให้ความรัก ความปรารถนาดีต่อสิ่งที่เราเข้าไปเกี่ยวข้อง พยายามเห็นถึงคุณค่าสิ่งดีๆ ที่มีอยู่ ทำให้เกิดความชื่นชม ความนับถือ และความเคารพ หรืออย่างน้อยที่สุดก็พึงเคารพในสิ่งที่มีอยู่และเป็นอยู่ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นมนุษย์ คน สัตว์ หรือพืช จากนั้นการที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งที่เราเข้าไปเกี่ยวข้อง จะเป็นการให้บริการ จะเป็นการเรียนรู้ด้วยกัน วางแผนด้วยกัน จะเป็นการพัฒนาในทางใดทางหนึ่ง จึงจะเกิดขึ้นด้วยความเหมาะสม  ปลอดภัยและเกิดความเจริญวัฒนาร่วมกัน

อาจกล่าวได้ว่าสิ่งที่ผมพูดมาถึงหลักการในการที่เข้าไปในถิ่นที่เราไม่คุ้นเคย หรือแม้แต่ในถิ่นซึ่งเราอาจจะคิดว่าเราคุ้นเคย แต่ความรู้นั้นเท่าไหร่ก็ไม่หมด ฉะนั้นการที่มีความยำเกรง มีความไม่ประมาท เอาใจใส่ที่จะศึกษาเรียนรู้ให้ถ่องแท้ ก็คือ การเข้าใจ หรือความ พยายามจะเข้าใจ การมีความรักความปรารถนาดี การเห็นคุณค่า การเคารพ การนับถือ ก็คือ การเข้าถึง และการให้บริการ หรือการมีปฏิสัมพันธ์ ร่วมเรียนรู้ ร่วมพัฒนาด้วยกัน คือการพัฒนา กระผมได้ขออนุญาตนำพระราชดำรัส หรือพระบรมราโชวาทที่ใช้ถ้อยคำว่า “เข้าใจ  เข้าถึง  และพัฒนา”  มาประยุกต์ใช้ทั้งกรณีศึกษาเรื่องของ Mr.Steve Irwin และโยงเข้าสู่เรื่องที่เราจะพูดกันในวันนี้ คือ “การบริการวิชาการแก่ชุมชนเพื่อชุมชนแข็งแรง”

  การจัดการดูแลตนเองของชุมชน

ผมอาจจะมีความรู้ไม่มากในเรื่องหลายเรื่องที่ท่านทั้งหลายไปให้บริการ ตามรายการโครงการต่างๆ ที่ท่านทำ หลายโครงการเป็นโครงการที่อาศัยความรู้พิเศษ ความชำนาญพิเศษ ซึ่งเกิดขึ้นจากการเรียนการสอนและการวิจัยของมหาวิทยาลัย แต่ก็มีบางโครงการที่เข้าไปเพื่อให้บริการแก่ชุมชนเป็นการทั่วไปและในภาพรวม เช่นที่อำเภอตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นต้น ในส่วนที่เกี่ยวกับการพัฒนาชุมชนในภาพรวม การสร้างความเข้มแข็งของชุมชนหรือความแข็งแรงของชุมชน เป็นเรื่องที่ผมพอจะมีความรู้ความเข้าใจอยู่พอสมควร เนื่องจากได้เกี่ยวข้องมาเป็นเวลาเกือบ 20 ปี มากบ้างน้อยบ้างไม่ได้เข้มข้นตลอด ในชุมชนท้องถิ่นของประเทศไทยในปัจจุบัน ได้มีพัฒนาการในเรื่องของการดูแลตนเอง จัดการตนเอง พัฒนาตนเอง โดยมีหน่วยงานต่างๆ ทั้งของรัฐและที่ไม่ใช่ของรัฐเป็นผู้สนับสนุน นับว่ามีเป็นอันมาก ในบทบรรยายที่ผมได้ให้เอกสารแก่ท่านทั้งหลายไปเกี่ยวกับเรื่องจิตสำนึกและระบบคิดในการพัฒนาชุมชน ซึ่งผมได้ไปพูดที่สโมสรโรตารีบางรักเมื่อไม่นานมานี้ ผมได้พูดถึง คุณประยงค์  รณรงค์ ซึ่งเป็นชาวบ้านที่ตำบลไม้เรียง อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช ผู้ซึ่งได้รับรางวัลแม็กไซไซเมื่อ 2 ปีมาแล้ว เป็นผู้นำชุมชนคนแรกของประเทศไทยที่ได้รับรางวัลแม็กไซไซ ก่อนหน้านั้นจะเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงในระดับชาติ คุณประยงค์ รณรงค์ เป็นระดับชาวบ้านคนแรก วุฒิการศึกษาเพียง ป.4 แต่ถ้าถามถึงความรู้ความสามารถ ผมคิดว่าเทียบเท่าปริญญาเอกได้ ซึ่งคุณประยงค์ก็ได้รับปริญญาเอกกิตติมศักดิ์จากหลายมหาวิทยาลัยหลังจากที่ได้รับรางวัลแม็กไซไซ

เมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้วผมได้ร่วมในคณะไปเยี่ยมประเทศภูฏาน ไม่ได้ไปตามเจ้าชายจิ๊กมี แต่ไปตามล่าแนวคิดเรื่อง GNH  Gross National Happiness ความสุขมวลรวมประชาชาติ มีคุณประยงค์ รณรงค์ ไปด้วย ก็ได้เห็นถึงความรู้ความสามารถของคุณประยงค์ และมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับภูฏาน ในเรื่องการพัฒนาชุมชน โดยให้คุณประยงค์เป็นผู้นำเสนอ และระหว่างเดินทางคุณประยงค์ก็ได้พูดหลายสิ่งหลายอย่างให้คณะได้ฟัง ซึ่งคณะที่ไปมีทั้งแพทย์ ทั้งผู้ทรงคุณวุฒิ จบปริญญาเอกปริญญาโทมากมาย ต่างประทับใจในความรู้ความสามารถของคุณประยงค์ รณรงค์ นั่นเป็นสิ่งสะท้อนอย่างหนึ่งว่าสิ่งที่เรานึกว่าเป็นชาวบ้านหรือว่าเป็นคนท้องถิ่นที่อาจจะมีความรู้น้อยในความหมายของการเรียนรู้แบบตามระบบ แต่ความรู้ความเข้าใจที่เดี๋ยวนี้เราเรียกว่าภูมิปัญญาท้องถิ่น และมีบุคคลจำนวนมากที่ได้รับการขนานชื่อว่าเป็นปราชญ์ชาวบ้าน ได้สะท้อนถึงความรู้ความสามารถของชุมชน หลายชุมชนนับร้อยนับพันขณะนี้ที่สามารถทำแผนพัฒนาชุมชน นั่นคือระบบการจัดการตนเองของชุมชน สามารถเก็บข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล จัดระบบข้อมูล นำมาสะท้อนให้เห็นปัญหา โอกาส ศักยภาพในการพัฒนา แล้วทำโครงการพัฒนาโดยเน้นการพึ่งตนเอง ไม่หวังพึ่งคนอื่น แต่ถ้าจะมีการสนับสนุนจากที่อื่นก็ไม่ได้ปฏิเสธ แต่จะพยายามประสานการสนับสนุนให้สอดคล้องต้องกัน

ความเข้มแข็งของชุมชนในชนบทและในเมือง

ชุมชนบางตำบลเขาสามารถที่จะบอกกับหน่วยราชการทั้งหลาย รวมทั้งหน่วยงานวิชาการ หรือหน่วยงานเอกชนว่า ถ้าจะไปสนับสนุนเขาขอให้ไปถามเขาก่อน ให้เขาเห็นชอบก่อน ถ้าจะเอาป้ายไปปัก เขาจะปักให้ แต่เขาจะเลือกว่าปักที่ไหน ถ้าจะไปพบเขา เขาจะนัดวันให้ไปพบ ไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็ไป เช่นเดือนหนึ่งเขาจะกำหนดไว้ 2 วัน ใครจะมาให้มาใน 2 วันนี้ หรือให้มาพร้อมกัน นี่คือความสามารถของชุมชนในการจัดการตนเอง เกิดสิ่งที่เรียกว่าแผนแม่บทชุมชนพึ่งตนเอง หรือแผนชีวิตชุมชน ที่ทำกันเป็นขบวนการ และผู้นำชุมชนขับเคลื่อนขบวนการกันเอง ไม่ใช่หน่วยงานไปขับเคลื่อน ชาวบ้านขับเคลื่อนกันเอง เกิดขึ้นมาในรอบประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา แต่มาทำเข้มข้นประมาณ 5 ปีที่ผ่านมา คุณประยงค์ รณรงค์ เป็นผู้ริเริ่มที่สำคัญ ซึ่งทำมากว่า 10 ปี มีคนไปค้นพบแล้วนำมาเผยแพร่ ทำให้เกิดการขยายผล แต่ที่สำคัญและขยายผลมากๆ อย่างมีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ ก็คือในช่วงที่ขยายผลด้วยพลังของชุมชนเอง ก่อนหน้านั้นมีความพยายามของหน่วยราชการที่จะไปขยายผลแบบครอบคลุมทั่วประเทศ มีหน่วยงาน 5 หน่วยงานร่วมกัน ส่งวิทยากรไปทั่วประเทศขยายผลครบหมดทุกตำบลทั่วประเทศ ได้ผลเชิงปริมาณแต่ไม่ได้ผลเชิงคุณภาพ อย่างไรก็ตามไม่ได้ถือว่าเสียหายไปหมด ชุมชนที่ฉลาดที่เข้าใจได้นำเอาสิ่งที่ดีมาปะติดปะต่อ ร่วมกำลังกันเป็นเครือข่ายแผนแม่บทชุมชนพึ่งตนเอง 4 ภาค และขับเคลื่อนขบวนการกันมาได้ 4 – 5 ปีแล้ว ขณะนี้ได้สามารถทำไปถึงขั้นที่ไปประสานกับทางจังหวัดให้กลายเป็นแผนบูรณาการระดับจังหวัด โดยชุมชนมีบทบาทสำคัญ ได้เริ่มไป 12 จังหวัดเมื่อปีที่แล้ว ปีนี้ขยายไปอีก 30 จังหวัด และคงจะขยายต่อไป

สำหรับในเมืองได้มีขบวนการบ้านมั่นคง เป็นสภาพชุมชนเข้มแข็งแบบคนจนในเมือง ในเมืองนั้น คำว่า “ชุมชน” จะมีความหมายค่อนข้างหลากหลาย การรวมตัวกันเพื่อเป็นขบวนการที่จัดการเรื่องที่อยู่อาศัยให้เรียบร้อย  เรียกว่า บ้านมั่นคง แต่พร้อมๆ กับการจัดการเรื่องที่อยู่อาศัย ได้จัดการเรื่องการใช้ชีวิต การออมทรัพย์ การจัดสวัสดิการ การพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน และอื่นๆ เรียกว่าเป็นขบวนการชุมชนผู้มีรายได้น้อยในเมือง โดยอาศัยโครงการบ้านมั่นคง ซึ่งเป็นโครงการที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนหรือ พ.อ.ช. เป็นผู้ดำเนินการ  โดยได้งบประมาณจากรัฐ ซึ่งรัฐมีหน้าที่ต้องจัดงบประมาณอยู่แล้วในการที่จะดูแลชุมชนรายได้น้อยต่างๆ เรื่องที่อยู่อาศัยเป็นเรื่องที่รัฐบาลจะสนับสนุนในเรื่องของสาธารณูปโภค  สาธารณูปการ เช่นเดียวกับที่ทำให้กับประชาชนทั่วไป รวมถึงเช่นคนที่ไปซื้อบ้านเอื้ออาทรที่การเคหะแห่งชาติจัดอยู่ จะได้รับบริการสาธารณูปโภค   สาธารณูปการจากรัฐบาล  ส่วนค่าบ้านนั้นก็ต้องซื้อ  ต้องผ่อนส่ง  เช่นเดียวกัน ชุมชนแออัดในเมือง ชุมชนรายได้น้อย ในส่วนของตัวบ้าน ซึ่งต้องสร้าง ต้องผ่อนส่งเหมือนกัน เพียงแต่มีแหล่งเงินที่อัตราดอกเบี้ยต่ำ ให้ผ่อนระยะยาว ทำให้เขาสามารถที่จะมีบ้าน มีที่อยู่อาศัยเล็กๆที่พออยู่ได้ สำหรับคนที่ถือว่ารายได้น้อย แต่มิได้แปลว่าเขาได้รับฟรีนะ เขาซื้อ  เขาผ่อนส่ง เขาลงทุน  เหตุนี้เขาจึงต้องมีการออมทรัพย์และจัดตั้งเป็นสหกรณ์ เพื่อจะทำโครงการให้สหกรณ์เป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย  และสมาชิกผ่อนส่งกับสหกรณ์  ถ้าสมาชิกไม่อยู่   ทรัพย์สินนั้นยังเป็นของสหกรณ์ สามารถที่จะจัดการดูแลกันต่อไปได้   นั่นคือเรื่องของการพัฒนาความเข้มแข็งของชุมชนทั้งในชนบทและในเมือง ที่ชุมชนจัดการกันเอง  ดูแลกันเอง จะกล่าวว่าสมบูรณ์เป็นที่น่าพอใจหรือยัง คงยัง ยังจะต้องพัฒนาไปอีกมาก แต่ถือว่าได้เริ่มมาอย่างดี และเป็นสิ่งที่น่าชื่นชม น่าภูมิใจ  ที่ผู้คนที่เราถือว่ามีรายได้น้อย อาจจะเรียกว่ายากจนหรือด้อยโอกาส สามารถที่จะจัดการตนเอง ขับเคลื่อนตนเองได้ดีเช่นนี้

การพัฒนาที่ชุมชนเป็นผู้มีบทบาทสำคัญ

วิธีการทำนองนี้สอดคล้องกับแนวทางที่องค์การระหว่างประเทศคือธนาคารโลก พยายามสนับสนุนอยู่ เขาเรียกว่า Community-Driven Development (CDD)ซึ่งต่างจากคำว่า Community-Based Development จะเห็นว่าคำพูดมีความหมาย ทำไมเขาจึงจงใจประดิษฐ์คำพูดนี้ขึ้นมา เพราะเขาเห็นว่าที่แล้วมานั้น เวลามีการพัฒนาชุมชน เริ่มต้นรัฐจะเป็นคนไปจัดการให้ คือชุมชนเป็นฝ่ายรับอย่างเดียว ปรากฏว่าไม่ทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ชุมชนไม่เข้มแข็ง

ต่อมาอีกขั้นหนึ่งเรียกว่า Community-Based Developmentก็คือการพัฒนาที่มีฐานอยู่ที่ชุมชน ถึงแม้จะไปเกี่ยวเอาชุมชนเข้ามาเป็นฐาน เรียกว่า Community-basedก็พบว่ายังโน้มไปในทางที่ชุมชนไม่ได้มีบทบาทสำคัญเพียงพอ ฝ่ายรัฐหรือฝ่ายองค์กรพัฒนาเอกชน หรือในบางกรณีอาจจะเป็นสถาบันการศึกษา ยังมีบทบาทสำคัญ ทำให้การพัฒนาของชุมชนก็ยังไม่ยั่งยืน ไม่แท้จริงและไม่ยั่งยืน เหมือนกับลูกที่เลี้ยงไม่โตทำนองนั้น พ่อแม่ยังดูแลอยู่เรื่อย ต่อมาวิวัฒนาการล่าสุดจึงได้พบว่าถ้าจะให้ชุมชนเข้มแข็ง แข็งแรงจริงๆ เกิดการพัฒนายั่งยืน ต้องให้ชุมชนมีบทบาทสำคัญ เป็นคนคิด เป็นคนศึกษา เป็นคนเรียนรู้ เป็นคนตัดสินใจ เป็นคนทำ รับผลของการทำ ถ้าทำไม่ถูก ทำไม่ดี ก็รับผลไม่ดี แล้วเรียนรู้จากผลที่ไม่ดี นี่คือวิธีที่ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง ถ้าจะเปรียบเทียบก็ไม่ต่างอะไรกับการเลี้ยงลูกที่ต้องให้ล้มบ้าง ต้องให้พบความผิดพลาด แล้วเรียนรู้ด้วยตนเอง หรือใกล้เข้ามา การจัดการเรียนการสอนที่เราเรียกว่า Child-centered บ้าง Student-centered บ้าง คือการเรียนการสอนที่ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ที่มีคนไปแผลงเป็น ควาย Center เป็นการพูดตลกๆ แต่ว่าสะท้อนถึงความไม่เข้าใจของคนจำนวนมากในเรื่องการเรียนการสอนที่ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ที่จริงที่นี่เป็นสถาบันการศึกษา คงจะมีความเข้าใจในเรื้องนี้ดี แต่ผมคิดว่าในประเทศไทยโดยทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นในโรงเรียน ในมหาวิทยาลัย  การเรียนการสอนที่ให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ถ้าจะมีบ้างก็คงเป็นการเริ่มต้น ยังไม่ได้พัฒนาไปมากจนน่าพึงพอใจ แต่เชื่อว่าท่านที่อยู่ในทีนี้คงเข้าใจและพยายามอยู่ เพียงแต่การที่จะเปลี่ยนจากระบบเดิมที่เป็นการเรียนการสอนที่ผู้สอนเป็นศูนย์กลาง เปลี่ยนมาเป็นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ไม่ง่าย  เพราะว่าไปติดกับระบบต่างๆ เช่นเดียวกับการพัฒนาชุมชนที่จะเปลี่ยนจากการพัฒนาชุมชนที่ผู้พัฒนาก็คือ หน่วยงานรัฐ หรือว่าหน่วยงานภายนอกเป็นศูนย์กลาง จะเปลี่ยนไปเป็นการพัฒนาที่ประชาชนหรือชุมชนเป็นศูนย์กลาง เปลี่ยนไม่ง่าย แต่ที่ผมเล่าให้ฟังนั้นชี้ให้เห็นว่าในประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนไปแล้วอย่างสำคัญ คำว่าอย่างสำคัญแปลว่าทำมาเป็นเวลาพอสมควร อย่างน้อย 4-5 ปี และได้ผลที่สามารถชี้ให้เห็นได้ พาไปดูได้ เขียนออกมาเป็นรายงานได้ และมีรายงานอยู่มากพอสมควร ถ้าท่านสนใจ อย่างน้อยที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน มีเอกสาร มีเว็บไซต์ มีซีดี ดีวีดีอยู่เยอะมาก ที่จะไปศึกษาเรียนรู้

การให้บริการเพื่อชุมชนแข็งแรง

เมื่อคำนึงถึงความเป็นจริงเช่นนี้ผมคิดว่าการที่จะไปให้บริการแก่ชุมชนเพื่อชุมชนแข็งแรง ต้องเน้นคำหลังนี้ว่าเพื่อชุมชนแข็งแรง ถ้าเราจะให้บริการแบบให้พอใจ ให้ชอบใจ เหมือนกับไปลูบหลัง ไปโอบกอด เอาของไปให้ เอาขนมไปให้ เอาเงินไปให้ อย่างนี้ไม่ยาก อย่างนี้เรียกว่าให้บริการที่ผู้ให้แข็งแรง เหมือนอย่างเราเอาเงินไปแจกใคร คนแจกมีความสุขเพราะได้แจก คนรับก็จะมีความสุขตอนรับแจก แต่เมื่อเวลาผ่านไปแล้วผู้รับอาจไม่มีความสุขเหลืออยู่ ในขณะที่คนให้ให้แล้วมีความสุขไปเรื่อยๆ เพราะเป็นคนให้ การให้ทำให้มีความสุขซึ่งเป็นเรื่องที่ดีและควรได้รับการส่งเสริม แต่ผู้รับจะมีความสุขตอนรับ หลังจากนั้นไม่นานความสุขอาจจะหายไป อาจจะเกิดความทุกข์ขึ้นมาแทน เพราะยังไม่สามารถพึ่งตนเองได้ จัดการตนเองไม่ได้ ก็ต้องมาขอรับใหม่ เพื่อจะมีความสุขใหม่ กลายเป็นเสมือนเสพสิ่งเสพติด ฉะนั้นถ้าเราเน้นพยางค์หลังคือเพื่อชุมชนแข็งแรง การให้บริการแก่ชุมชนจึงต้องใช้หลักเดียวกับที่ท่านใช้ในกรณีการเรียนการสอน ก็คือต้องผู้ให้รับบริการเป็นศูนย์กลาง ผมเชื่อว่าในโครงการที่ท่านทำท่านมีความพยายามอย่างนั้นอยู่แล้ว เป็นต้นว่าไปศึกษาไปเรียนรู้เรื่องของชุมชนในท้องถิ่นที่ท่านจะไปให้บริการ แต่ผมไม่ทราบละเอียดพอว่า ความละเอียดลออ ความแน่วแน่ ความมุ่งมั่นในการที่จะให้ประชาชนหรือชุมชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ถึงกับง่ายนักจากประสบการณ์ที่ผมพบ คือคนให้มีแนวโน้มที่ว่าอาจจะมีข้อจำกัดเรื่องเวลา การที่จะให้ความละเอียดลออและอดทน อดทนที่จะให้ผู้รับบริการได้คิด ได้ไตร่ตรอง ได้ศึกษา ได้พิจารณา แล้วก็มีเวลาที่จะพัฒนาตนเอง อาจจะล้มลุกคลุกคลานบ้าง ผิดบ้าง เรียนรู้จากความผิด มันใช้เวลา คนให้บริการอาจจะรู้สึกไม่ทันใจ อาจจะถูกกดดันจากการทำโครงการที่มีเงื่อนเวลา จะต้องใช้เงินเมื่อนั้น ต้องทำเวลานี้ ไม่เช่นนั้นโครงการจะล่าช้า จะถือว่าโครงการไม่ดีไม่มีประสิทธิภาพ เรื่องนี้จะเกิดขึ้นกับหน่วยราชการเป็นอันมาก เพราะหน่วยราชการจะถูกระบบงบประมาณกดทับอยู่ คุณต้องใช้ คุณต้องทำให้ทันเมื่อนั้นเมื่อนี้ ยิ่งสมัยนี้มีการให้คะแนน เพื่อจะดูว่าผลงานดีแค่ไหน เพื่อจะมาให้รางวัลตอนครึ่งปีหรือปลายปี ต่างๆ นานา ทำให้มีความกดดัน ฉะนั้นโอกาสที่ผู้ให้บริการจะใจร้อนเกินไป เร่งรีบเกินไป รวบรัดเกินไป มีอยู่เสมอ ทั้งๆที่อยากจะพยายามทำในหลักการที่ให้ผู้รับบริการเป็นศูนย์กลาง แม้เชื่อในหลักการ ที่ผมประสบมา เวลาทำจริงโอกาสจะเบี่ยงเบนไปจากหลักการมีอยู่เสมอ ด้วยความบีบคั้นของปัจจัยต่างๆ เช่น ปัจจัยเรื่องแผนงาน ปัจจัยเรื่องงบประมาณ ปัจจัยผู้บังคับบัญชา หรือบางครั้งก็จากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของตนเอง มีอยู่เหมือนกัน

สามเสาหลักของชุมชนเข้มแข็ง

โดยทั่วไปชุมชนจะแข็งแรง ชุมชนจะเข้มแข็ง ผมคิดว่ามีเสาหลักหรือฐานหลักอยู่ใหญ่ๆ 3 ประการ

                เสาหลักประการแรก ได้แก่ ความดี ความดีนี้รวมถึงความมีคุณธรรม จริยธรรม ซื่อสัตย์ สุจริต คิดดี พูดดี ทำดี ถ้าใช้คำของ ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์  พลเอกเปรมบอกว่า สี่คำ ซื่อสัตย์ สุจริต คุณธรรม จริยธรรม  พลเอกเปรมจะพูดอยู่เรื่อย พูดเสียจนถูกมองว่าไม่เป็นกลาง พูดถึงความดีมากไปไม่เป็นกลาง เป็นกลางนี่ต้องอยู่ตรงกลางระหว่างความดีกับความเลว ซึ่งคุณอานันท์ก็บอกว่าผมไม่เป็นกลาง ผมจะไม่อยู่ตรงกลางระหว่างความดีกับความเลว ผมต้องอยู่ข้างความดี ฉะนั้นพลเอกเปรมจึงบอกว่าต้องซื่อสัตย์ สุจริต มีคุณธรรม จริยธรรม แต่ความดีก็รวมถึงความรัก ความเมตตา กรุณา ความชื่นชมยินดีเวลาคนอื่นเขาทำดี ถ้าถามคนว่าความดีคืออะไร ผมคิดว่าคนจะรู้ จะตอบได้ อย่างน้อยเขาก็รู้ว่ารอบๆ ตัวเขาอะไรดี อะไรไม่ดี เขาบอกได้  ฉะนั้นเสาหลักข้อที่ 1 คือความดี

                เสาหลักข้อที่ 2 การเรียนรู้ ชุมชนจะเข้มแข็งต้องเรียนรู้ เรียนรู้หมายถึงสามารถวิเคราะห์ ศึกษา ค้นหา สรุปความรู้ จัดหมวดหมู่  นำมาคิดพิจารณา ไตร่ตรอง สรุปเป็นข้อคิด สรุปเป็นข้อพึงกระทำ หรือสรุปเป็นแผนงาน นี่คือการเรียนรู้  ที่ชาวบ้านทำแผนแม่บทชุมชน มีการเรียนรู้สูงมาก เพราะเขาไปเก็บข้อมูลเอง ข้อมูลรายได้ ข้อมูลรายจ่าย ข้อมูลทรัพย์สิน หนี้สิน ข้อมูลทรัพยากร  บางครั้งบางแห่งไปไกลถึงทุนทางสังคม วัฒนธรรม ภูมิปัญญา ประวัติศาสตร์ เขามีนะ บางแห่งไปไกลถึงขนาดนั้น การไปเก็บข้อมูลแล้วมาคิดวิเคราะห์กัน คือการเรียนรู้ทั้งสิ้น จากการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ แล้วทำเป็นแผนงาน จากนั้นลงมือทำ ทำเสร็จมาปรึกษากันเป็นระยะๆ ว่าเป็นอย่างไรเป็นการเรียนรู้  ที่ตำบลของคุณประยงค์ รณรงค์ จะมีโรงเรียนมังคุด โรงเรียนเงาะ โรงเรียนยาง เขาจะเรียนรู้จากประสบการณ์จริง และเป็นการเรียนรู้ที่มหาวิทยาลัยต้องไปเรียนจากชาวบ้าน เขาทำได้จริง ที่สุพรรณบุรีก็มีโรงเรียนชาวนา มาเรียนกันทุกสัปดาห์ ใครปลูกข้าวแบบไหน  ใช้ปุ๋ยธรรมชาติ ใช้วิธีการต่างๆ เช่น ปลูกข้าวโดยไม่ต้องไถ หรือว่านำเอาหอยเชอร์รี่มาทำเป็นปุ๋ยชีวภาพ หรือการทดลองปลูกข้าวด้วยวิธีต่างๆ ชาวบ้านเรียนรู้ที่นครสวรรค์ก็มี และบางครั้งชาวบ้านทำแล้วได้ผลดีมาก ขนาดนักวิชาการจากกระทรวงเกษตรบอกไม่เชื่อ แต่พอไปดูแล้วเขาเชื่อ ว่าชาวบ้านทำได้ สรุปได้ว่าการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในระดับชุมชนมีเยอะมาก

                เสาหลักข้อที่ 3 คือการจัดการ การจัดการหมายถึงการที่รู้จักนำเอาปัจจัยต่างๆ กระบวนการต่างๆ มาเข้าระบบ เข้าวิธีการ แล้วทำให้เกิดผลที่พึงปรารถนา การจัดการกับการเรียนรู้จะไปด้วยกัน การจัดการที่ดีต้องมีการเรียนรู้ แต่การจัดการจะประสบความสำเร็จอย่างแท้จริงได้ นอกจากเรียนรู้แล้วต้องอาศัยความดีด้วย                 ฉะนั้น 3 เสาหลักนี้  ความดี  การเรียนรู้  และการจัดการ เป็นสิ่งที่จะช่วยให้ชุมชนได้พัฒนาความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ถ้าขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นต้นว่า ขาดเรื่องความดี ชุมชนจะไปได้ไม่ไกล ความเสื่อมถอยจะเข้ามา ความยั่งยืนจะไม่เกิด ซึ่งเราได้พบเห็นมากมาย ฉะนั้น ความดี คุณธรรม จริยธรรม ความดีงาม ความมีน้ำใจ ความรัก ความเมตตา ความปรารถนาดีต่อกัน จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ที่จริงไม่ใช่เฉพาะในระดับชุมชน ในระดับสังคมก็เป็นเช่นนั้น สังคมคือชุมชนใหญ่นั่นเอง เราต้องการทั้ง 3 อย่าง คือความดี การเรียนรู้ และการจัดการ ทั้งในสังคมและในกรณีของชุมชน

ชุมชนต้องเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา

เมื่อเป็นเช่นนี้ ในการไปให้บริการกับชุมชน ผมเองจะระมัดระวังเรื่องถ้อยคำ เพราะว่าถ้อยคำจะสื่อความคิด เช่น คำว่าไปสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน ผมจะไม่ใช้ เพราะถ้าเราบอกว่าเราไปสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน ก็เหมือนกับว่า อย่างผมจะไปสร้างความเข้มแข็งให้สุขภาพของท่าน ผมทำไม่ได้หรอก ท่านทั้งหลายต้องสร้างสุขภาพขึ้นมาเอง ฉันใด ชุมชนก็ต้องสร้างความเข้มแข็งของเขาขึ้นมาฉันนั้น ฉะนั้นสิ่งที่เราจะทำได้คือไปให้บริการ ไปสนับสนุน ไปอำนวยความสะดวก ไปเอื้ออำนวย ภาษาอังกฤษใช้คำว่า facilitation ให้ชุมชนได้มีการเรียนรู้และพัฒนาด้วยตัวเขาเอง นั่นถึงจะเป็นการทำให้เกิดความเข้มแข็งของชุมชน ฉะนั้นความคิดตรงนี้สำคัญ ในบทบรรยายที่ผมได้ให้ข้อเขียนกับท่านไป ได้พูดถึงจิตสำนึกและระบบคิด ถ้าเรามีจิตสำนึกและระบบคิดอย่างหนึ่ง การคิด การพูด การทำ จะเป็นแบบหนึ่ง ถ้าเรามีจิตสำนึกและระบบคิดในเชิงที่เอาตัวเราเป็นตัวตั้ง นึกว่าชุมชนอ่อนแอ เราจะต้องไปช่วยให้แข็งแรง เวลาเราคิด เราพูด เราทำเป็นโครงการ จะออกมาในแนวสงเคราะห์เป็นหลัก แต่ถ้าจิตสำนึกและระบบคิดของเรามีความลึกซึ้งในเรื่องของความเข้มแข็งของชุมชน  ตามแนวที่ผมได้พูดถึง เวลาเราไปพูดกับชาวบ้าน เราจะมุ่งให้ชาวบ้านได้คิดที่จะพัฒนาตนเองเป็นสำคัญ

ฉะนั้นหวังว่าท่านทั้งหลายที่ไปให้บริการกับชุมชนเพื่อชุมชนแข็งแรง จะได้คำนึงถึงปัจจัยสำคัญๆ ที่ผมได้กล่าวมา ที่จะเป็นฐานของความแข็งแรงของชุมชน และความสำคัญของการที่ชุมชนต้องเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา ถ้าจะให้บริการ ก็ให้บริการที่ชุมชนเป็นศูนย์กลาง แม้ในกรณีที่ท่านมีความชำนาญพิเศษไป ก็ไม่ได้แปลว่าความชำนาญพิเศษของท่านจะเป็นที่ต้องการทันที หรือกระบวนการที่ชุมชนจะต้องการ อาจจะไม่เหมือนกัน จังหวะเวลาจะต่างๆ ไป หรือการประยุกต์ใช้ในวิถีชีวิตของเขา ที่จะให้เกิดประโยชน์

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/55338

<<< กลับ

ขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง ระดับชาติ – ชุมชน – ครัวเรือน

ขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง ระดับชาติ – ชุมชน – ครัวเรือน


    (บทสัมภาษณ์พิเศษโดย กิ่งอ้อ เล่าฮง , ปกรณ์ พึ่งเนตร ลงใน นสพ. กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 8 ตุลาคม 2549)

                “เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเรามีอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องส่งเสริมให้มากขึ้น เพื่อลดความเร่าร้อนรุนแรงของเศรษฐกิจในแบบมุ่งรายได้ มุ่งเติบโต และมุ่งเอาชนะ คือเราต้องพยายามเดินสายกลางให้มากขึ้น เพื่อดึงพวกสุดโต่งให้กลับมา”

ในขณะที่ทุกภาคส่วนของประเทศไทย หรืออาจจะเป็นทั่วโลก กำลังตื่นเต้นกับ จีเอ็นเอช (GNH – Gross National Happiness) หรือความสุขมวลรวมประชาชาติ ที่ประเทศภูฏานใช้เป็น “ธงนำ” ในการพัฒนาชาติ แต่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า ประเทศไทยของเราก็พูดเรื่องราวลักษณะเดียวกันนี้มาหลายปีดีดักแล้ว

ที่สำคัญเรายังมี “เศรษฐกิจพอเพียง” อันเป็นพระบรมราโชบายที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้กับปวงชนชาวไทย เพื่อเป็นปรัชญานำพาชาติให้พัฒนาอย่างยั่งยืนในยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งนับว่ามีคุณูปการและกำลังได้รับความสนใจจากนานาประเทศไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า จีเอ็นเอช  เช่นกัน

ยิ่ง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ประกาศใช้ “เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นหลักในการพัฒนาประเทศ ยิ่งทำให้ปรัชญานี้ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง

แต่การขับเคลื่อน “เศรษฐกิจพอเพียง” ให้เห็นผลเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะในรัฐบาลชั่วคราวที่มีเวลาจำกัดเพียง 1 ปีนั้น ย่อมต้องใช้บุคคลที่มีความรู้ความเข้าใจอย่างสูง รวมทั้งทำงานด้านนี้มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

และชื่อที่มีการเอ่ยถึง จนกลายเป็น “แคนดิเดท” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงด้านสังคมกระทรวงใดกระทรวงหนึ่งอยู่ในขณะนี้ ก็คือ ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

กล่าวสำหรับไพบูลย์ ชื่อของเขาปรากฏอยู่ในตำแหน่งสำคัญๆ ต่างๆ มากมาย อาทิเช่น ประธานสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ทว่าตำแหน่งล่าสุดที่เขาได้รับมอบหมายจากคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) นอกเหนือจากตำแหน่งรัฐมนตรีที่กำลังลุ้นกันอยู่ในขณะนี้ ก็คือประธานคณะที่ปรึกษาฝ่ายการเสริมสร้างสมานฉันท์และความเป็นธรรมในสังคม

และนี่คือสายธารความคิดของเขาเกี่ยวกับ จีเอ็นเอช กับเศรษฐกิจพอเพียง ที่กำลังจะเป็น “เป้าหมายใหม่” ของประเทศไทย ที่น่าจะเรียกได้ว่าสวนทางแบบ 180 องศา กับรัฐบาลก่อนหน้าที่มีผู้นำชื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร !

                “จริงๆ เรื่อง จีเอ็นเอช ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มีการคิดและทำกันมาตลอด” ไพบูลย์ เอ่ยขึ้นในเบื้องแรก และว่า การจะบริหารประเทศและสังคมท้องถิ่นให้ได้ผลอย่างไรนั้น โดยทั่วไปย่อมต้องการให้ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข หรืออยู่ดีมีสุข หรือมีความผาสุก แบบที่เรียกว่า Well being  ไม่ว่าประเทศไทยหรือประเทศอื่นๆ ก็จะเห็นตรงกันเช่นนี้

อย่างไรก็ดี ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา โลกของเรามีพัฒนาการความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจสูงมาก ทำให้นักเศรษฐศาสตร์คิด “ตัวชี้วัด” รายได้ประชาชาติเป็น จีดีพี ( GDP – Gross Domestic Product) หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศขึ้นมา ซึ่งเชื่อมโยงกับการจ้างงาน  การผลิต และการใช้จ่ายของประชาชน

                “ต้องยอมรับว่า จีดีพี มีจุดเด่นตรงที่วัดได้ด้วยตัวเงิน ทำให้เห็นภาพชัด และโลกของเราทุกวันนี้ก็มีเงินเป็นสื่อกลาง ทำให้นโยบายของรัฐบาลต่างๆ หันไปผูกโยงกับเรื่องเศรษฐกิจมากขึ้น ส่วนความผาสุกหรือความสุขมวลรวมประชาชาติ ที่เรียกว่า จีเอ็นเอช นั้น วัดได้ยากกว่า” 

ไพบูลย์ อธิบายว่า หลักการของ จีเอ็นเอช นั้นตั้งอยู่บนเสาหลัก 4 ประการ คือ 1.การพัฒนาเศรษฐกิจสังคมให้ยั่งยืน เท่าเทียม และพึ่งพาตนเองได้ 2.การอนุรักษ์ดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 3.การอนุรักษ์ส่งเสริมคุณค่าทางวัฒนธรรม และ 4.การมีธรรมาภิบาล หรือการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี

ด้วยหลักการดังกล่าวนี้ ไพบูลย์ บอกว่า ประเทศไทยเองก็ให้ความสำคัญ เพราะในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8  (ปี 2540-2544) ก็พูดถึงการพัฒนาที่ทำให้เกิดเป้าหมาย “ชีวิตที่เป็นสุข” โดยมีคนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งในแผนฯ 8 ใช้คำว่า “การพัฒนาเพื่อให้คนมีความสุข ครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเข้มแข็ง สังคมสันติ และสิ่งแวดล้อมยั่งยืน” 

ต่อมาในแผนฯ 9 (2545-2549)  ก็ยังเน้นเรื่อง “อยู่ดีมีสุข” อย่างต่อเนื่อง โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ได้พัฒนาตัวชี้วัดขึ้นมา เพื่อวัดความอยู่ดีมีสุขของประชาชน ซึ่งการวัดแบบนี้ซับซ้อนและยากกว่าการวัดด้วย จีดีพี

กระทั่งในแผนฯ 10 (2550 เป็นต้นไป) ก็มุ่งการพัฒนาเพื่อให้คนอยู่อย่างเป็นสุข โดยมีวิสัยทัศน์ให้ประเทศไทยมี “สังคมที่อยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” ซึ่งแสดงถึงความเป็นปึกแผ่น โดยใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญานำทาง

                “นี่เป็นการชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยก็คิดเรื่องนี้มาตั้งแต่แผนฯ 8 กระทั่งถึงแผนฯ 10 ก็พูดเรื่องสังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน โดยมีเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเสาหลัก” ไพบูลย์ ระบุ

เขาอธิบายว่า ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีหลักอยู่ 5 ประการคือ 1.ความพอประมาณ 2.ความมีเหตุผล  3.ความมีภูมิคุ้มกัน 4.ความรอบรู้รอบคอบ และ 5.คุณธรรมความดี ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วก็มีหลักการในทางเดียวกันกับ จีเอ็นเอช จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่รัฐบาลชุดใหม่ประกาศเดินหน้าเรื่องความผาสุกของประชาชนโดยใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักการสำคัญ

อย่างไรก็ดี คำว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” ดูจะยังมีความสับสนในแง่ของความหมาย แต่ ไพบูลย์ บอกว่า จริงๆ แล้วคนไทยที่ใช้ชีวิตอย่างพอเพียงก็มีไม่น้อย ซึ่งไม่เฉพาะแต่เพียงชาวบ้านเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงคนที่มีฐานะดี มีหน้าที่การงานในระดับสูง และข้าราชการอีกเป็นจำนวนมาก เพราะแท้ที่จริงแล้วการใช้ชีวิตอย่างพอเพียงก็คือไม่โลภ ใช้ชีวิตแต่พอดี ไม่ฟุ้งเฟ้อ และมีความสุขตามอัตภาพ

                “เพราะฉะนั้นเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเรามีอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องส่งเสริมให้มากขึ้น เพื่อลดความเร่าร้อนรุนแรงของเศรษฐกิจในแบบมุ่งรายได้ มุ่งการเติบโต และมุ่งเอาชนะ คือเราต้องพยายามเดินสายกลางให้มากขึ้น เพื่อดึงพวกสุดโต่งให้กลับมา” 

ไพบูลย์ ย้ำว่า เศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่ค้าขายกับใคร แต่อยู่ที่เจตนาของการทำธุรกิจมากกว่า

                “เราต้องดูที่เจตนา ถ้าหวังร่ำรวยกว่าคนอื่น ใหญ่โตกว่าคนอื่น ก็ไม่ใช่เศรษฐกิจพอเพียง แต่ถ้าเจตนาอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข มองคนอื่นเป็นมิตร ไม่ใช่คู่แข่ง หรือถ้าจะแข่งขันก็แข่งกันแบบเป็นมิตร และอนุรักษ์สิ่งที่มีคุณค่าไว้ เช่น สิ่งแวดล้อม หรือวัฒนธรรมอันดีงาม แบบนี้ก็ถือเป็นเศรษฐกิจพอเพียงได้” 

ไพบูลย์ บอกว่า จริงๆ แล้วเศรษฐกิจพอเพียงต้องถือเป็นปรัชญาของโลก เพราะโลกกำลังหาทางออกจากภยันตรายของมวลมนุษยชาติอันเกิดจากความโลภ อาทิเช่น ปัญหาโลกร้อน ซึ่งเศรษฐกิจพอเพียงคือทางออก

                “พอดีก็คือสมดุล เมื่อสมดุลก็จะยั่งยืน แต่เรื่องเศรษฐกิจก็ยังคงอยู่ การค้าขายก็ยังคงอยู่ เพียงแต่เราต้องรู้ว่าเราผลิตเพื่อบริโภคและจำหน่าย ดังนั้นถ้าเราบริโภคแต่พอดี ก็จะผลิตและจำหน่ายอย่างพอดี แต่ถ้าเราบริโภคมาก เราก็ต้องผลิตมากและส่งออกมากเพื่อนำเงินเข้ามาบริโภค ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือการบริโภคน้ำมันของบ้านเรา ถ้าบริโภคมาก จะต้องนำข้าวกี่เกวียนไปแลก ” เขายกตัวอย่างพร้อมตั้งคำถาม และว่า

                “ผมมองว่าประเทศไทยกำลังก้าวหน้า ล้ำหน้าประเทศอื่นด้วยซ้ำ ที่ยกเอาเรื่องความผาสุก การอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข และเศรษฐกิจพอเพียงขึ้นมาเป็นปรัชญาในการพัฒนาประเทศ” 

ไพบูลย์ บอกอีกว่า กระบวนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงดำเนินมาอย่างเงียบๆ ตั้งแต่แผนฯ 9 ที่อัญเชิญแนวคิด “เศรษฐกิจพอเพียง” มาเป็นปรัชญาในการพัฒนาประเทศ โดยมีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งมี ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา เป็นประธาน มีสำนักงานอยู่ที่สภาพัฒน์ และพยายามเผยแพร่ให้ความรู้กระจายออกไปยังวงการต่างๆรวมถึงสถานศึกษาและธุรกิจ

                “ปีนี้พลังเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเกิดขึ้นมาก เนื่องจากเป็นปีมหามงคล มีการเฉลิมฉลองในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ทำให้มีกระแสและมีความตื่นตัวสูง แต่ต้องยอมรับว่าในเชิงปฏิบัติยังน้อยอยู่ ถือว่าเพิ่งเริ่มต้น เพราะฉะนั้นต้องขับเคลื่อนต่อไป โดยยกระดับให้เป็นองค์ความรู้มากขึ้น รวมถีงการทำให้เป็นหลักสูตรสอนในสถานศึกษา และการดำเนินการอื่นๆ”

ไพบูลย์ บอกว่า หากจะเปรียบสิ่งที่กำลังทำในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ก็ไม่ต่างจากหยดน้ำเล็กๆ มากมายไหลมารวมกันเป็นแม่น้ำสายใหญ่ ซึ่งต้องพยายามให้เกิดเป็นแม่น้ำสายหลักให้ได้ เพราะในแง่ปฏิบัติแล้ว วันนี้เศรษฐกิจพอเพียงยังเปรียบเสมือนลำธารเท่านั้น

                “ผมคิดว่า 1 ปีนับจากนี้น่าจะเป็นโอกาสอันดีที่เศรษฐกิจพอเพียงจะก้าวหน้าต่อไป และถ้าไปได้ดี ย่อมมีพลังขับเคลื่อนหลังจากนั้น ไม่ว่าใครจะเข้ามาเป็นรัฐบาลบริหารประเทศต่อไปก็ตาม” 

ไพบูลย์ บอกด้วยว่า การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ใช่แค่การขับเคลื่อนระดับชาติ แต่ต้องทำในระดับชุมชนไปพร้อมกันด้วย เช่น การเสริมความรู้ให้คนในท้องถิ่นรู้จักทำแผนชุมชน กระตุ้นให้คนในหมู่บ้านมานั่งพูดคุยกันเพื่อแก้ปัญหาของตัวเอง เป็นต้น เพราะเมื่อแต่ละชุมชนรู้ปัญหา ก็จะคิดหาทางออกร่วมกัน โดยอาจจะตั้งวิสาหกิจชุมชนขึ้นมา เพื่อร่วมกันคลี่คลายปัญหาอย่างมีเหตุผล

นอกจากนั้น ยังต้องปลูกฝังแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงลงไปถึงระดับครัวเรือน เพื่อให้รู้จักคิดวิเคราะห์ว่าแต่ละครัวเรือนมีปัญหาอะไร มีรายจ่ายเท่าไหร่ ทำไมถึงมีหนี้สิน

                “ถ้าแต่ละครัวเรือนรู้ความจริงของตัวเองว่าในแต่ละเดือนเราหมดเงินไปกับการดื่มเหล้าเท่าไหร่ สูบบุหรี่เท่าไหร่ เมื่อความจริงเกิดขึ้น ความดีงามก็จะตามมา ความคิดดีๆ ก็จะเกิดขึ้น” ไพบูลย์ บอก

เขายังเห็นว่า ความเข้าใจและการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจเพียงจะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อีกด้วย เพราะความต้องการดำรงอยู่ในอัตลักษณ์ของชาวมลายูมุสลิมภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ ซึ่งสอดคล้องกับแนวเศรษฐกิจพอเพียง เป็นเรื่องที่ฝ่ายรัฐในอดีต คงจะยังไม่เข้าใจและให้ความสำคัญมากพอ จึงกลายเป็นต้นตอหนึ่งของปัญหาอันนำไปสู่ความรุนแรงในภาคใต้

                “ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเรื่อง จีเอ็นเอช และเศรษฐกิจพอเพียงในปีหน้านี้ ซึ่งจะมีนักคิด นักพัฒนา และบุคคลระดับชั้นนำจากหลายๆ ประเทศเข้าร่วม ซึ่งผมเชื่อว่าจะสามารถผลักดันแนวคิดนี้ให้เป็นเป้าหมายหลักของชาติและของสังคมโลกเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างยั่งยืนต่อไป”

(ล้อมกรอบ)

เห็นด้วย คปค.ตั้งคณะที่ปรึกษา

เปิดช่องทางสื่อสารภาคประชาสังคม

ภายหลังการยึดอำนาจการปกครองของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ได้เพียงไม่กี่วัน คปค.ก็ออกคำสั่งที่ 17/2549 แต่งตั้งคณะที่ปรึกษา 4 ชุด ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ เป็นจำนวนมาก

และชื่อ ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ก็ปรากฏเป็นหนึ่งในนั้น ในฐานะประธานคณะที่ปรึกษาฝ่ายการเสริมสร้างสมานฉันท์และความเป็นธรรมในสังคม

ไพบูลย์ เล่าให้ฟังว่า หลังได้รับแต่งตั้ง ก็ได้เรียกประชุมคณะที่ปรึกษาไปแล้ว 1 ครั้ง แต่ประเด็นการหารือยังไม่ได้ลงรายละเอียดมากนัก เพียงแต่หารือกันเพื่อกำหนดกรอบงานกว้างๆ

                “ผมว่าก็ดีที่ คปค.คิดในเรื่องแบบนี้ ถือว่าจับประเด็นได้ดี การมีคณะที่ปรึกษาเป็นช่องทางหนึ่งที่จะได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน และสื่อสารกับประชาชนได้มากขึ้น โดยภาคประชาสังคมเองก็สามารถเคลื่อนไหวในประเด็นต่างๆ ผ่านกลไกของคณะที่ปรึกษาได้ ถือเป็นช่องทางที่เสริมเข้ามาเพื่อให้แนวทางดำเนินการมีความหลากหลายมากขึ้น และน่าจะเป็นประโยชน์กับสังคมและประชาชนในภาพรวม”

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

24 ต.ค. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/55563

<<< กลับ

ปฏิรูปการคัดหาและแต่งตั้ง กรรมการรัฐวิสาหกิจ

ปฏิรูปการคัดหาและแต่งตั้ง กรรมการรัฐวิสาหกิจ


      (บทความ จาก นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 25 ตุลาคม 2549 เขียนโดย นวพร เรืองสกุล)

คณะกรรมการรัฐวิสาหกิจถูกยกขึ้นมาทบทวนทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนอำนาจทางการเมือง

กระแสการเปลี่ยนแปลงมักเกิดขึ้นในรัฐวิสาหกิจที่มีข่าวกระเส็นกระสายมาก่อนว่า กรรมการที่ได้รับแต่งตั้งในครั้งที่ผ่านมา เป็นตัวแทนของกลุ่มอำนาจที่เพิ่งผ่านพ้นอย่างชัดเจน (เมื่อกล่าวถึงรัฐวิสาหกิจในที่นี้ ใช้คำในความหมายกว้างที่รวมถึงกิจการอื่นๆ ที่ตั้งโดยเงินภาษีอากรของประเทศด้วย)

แต่ไม่ใช่ว่าผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งโดยรัฐบาลที่ผ่านพ้นทุกรัฐบาล จะถูกตั้งข้อสงสัย หรือร้อนๆ หนาวๆ กับการเปลี่ยนแปลงกันทุกคน บางคนอยู่ต่อมาด้วยดี ซึ่งก็มักเป็นคนที่มีคุณสมบัติและการวางตัวรวมทั้งได้แสดงบทบาทกรรมการจนเป็นที่ยอมรับของบุคคลที่เกี่ยวข้องในรัฐวิสาหกิจนั้นๆ (อาจจะมีคนที่ปรับเปลี่ยนท่าทีเก่ง สามารถกลมกลืนไปได้กับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงปนอยู่บ้าง)

ผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจยกแผง ไม่เห็นด้วยกับการที่ต้องมีกรรมการรัฐวิสาหกิจบางแห่งต้องถูก “บีบ” ให้ลาออก เมื่อมีการเปลี่ยนอำนาจทางการเมือง เพราะเมื่อมีความปั่นป่วนในระดับยอดสุดขององค์กร นโยบายภายในของรัฐวิสาหกิจนั้นๆ จะขาดความต่อเนื่อง และบางครั้งทำให้การดำเนินธุรกิจต้องชะงักไปชั่วคราว

แต่ผู้เขียนก็ไม่เห็นด้วยกับการรักษาคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจบางแห่งที่มีอยู่ในเวลานี้

การตั้งกรรมการแบบพวกใครพวกมัน จะมีความสามารถและความเหมาะสมกับรัฐวิสาหกิจนั้นๆ หรือไม่ ไม่ใช่เรื่องสำคัญ ตรงนี้ต่างหากที่เป็นต้นตอของปัญหา และทำให้เกิดการเปลี่ยนล้างบางบ่อยๆ

การตั้งคนรู้จักเป็นกรรมการไม่ใช่เรื่องเสียหาย ถ้าคนๆ นั้นมีความสามารถจริง ความรู้สึกเป็นคะแนนบวกเสียอีก แต่ถ้าตั้งคนรู้จักที่ไม่มีความรู้ และไม่ใช่เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่องานของรัฐบาลที่ไปเกี่ยวข้องกับรัฐวิสาหกิจนั้นๆ หรือไม่รู้ว่าจะทำงานให้รัฐวิสาหกิจที่ตั้งเข้าไปได้หรือไม่ เหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำให้คนทั่วไปมองเห็นว่าการตั้งนั้นๆ ไม่เหมาะสม

ในเมื่อรัฐบาลกำลังมีความตั้งใจและปฏิรูปการเมือง สังคม และวิธีบริหารเศรษฐกิจกันแล้วใคร่ขอเสนอให้ช่วยกันปฏิรูปวิธีการแต่งตั้งคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจเสียด้วย เพื่อให้ได้คณะกรรมการรัฐวิสาหกิจอย่างเป็นระบบขึ้น และเพื่อให้ไม่ต้องรื้อคณะกรรมการทั้งคณะทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนผู้กุมอำนาจการเมือง

ในการคัดหากรรมการในกิจการทั่วไป ต้องคำนึงถึงจำนวนกรรมการที่มาของกรรมการและคุณสมบัติของกรรมการ ประเด็นสำคัญที่แฝงอยู่เบื้องต้นก็คือการจัดส่วนให้ลงตัวระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ จึงจะได้การทำงานที่มีการตรวจสอบถ่วงดุลกันพอสมควร

คุณสมบัติเบื้องต้นของกรรมการคือ มีความเป็นอิสระจากการครอบงำ โดยที่คณะกรรมการเข้าใจตรงกันว่า ผลงานที่ต้องรับผิดชอบคือ ความเจริญก้าวหน้าของกิจการที่ตนเป็นกรรมการอยู่ กรรมการทุกคนมีความรับผิดชอบต่อผลการปฏิบัติงานตามหน้าที่ มีความรู้ความเข้าใจในการดำเนินธุรกิจอย่างดี และมีเวลาเพียงพอในการดูแลการดำเนินธุรกิจ และติดตามการดำเนินงานของบริษัทได้

ผู้เขียนจึงมีข้อเสนอว่า เราควรจะคิดแบ่งสรรกรรมการในแต่ละรัฐวิสาหกิจเสียใหม่ให้เป็นหลักเป็นเกณฑ์ เพื่อใช้เป็นแนวปฏิบัติต่อไป

จำนวนกรรมการ ปกติจะมีกำหนดไว้ชัดเจน โดยส่วนมากมักจะต้องระวังไม่ให้มากเกินไป (เกินไปมักหมายถึงเกิน 12-15 คน)

ที่มาของกรรมการ กรรมการรัฐวิสาหกิจน่าจะแบ่งที่มาออกเป็นส่วนต่างๆ ได้ ดังนี้

ก. กรรมการที่มาโดยตำแหน่ง ควรจำกัดจำนวนไว้ให้เป็นข้างน้อยมากๆ

ข. กรรมการที่มาโดยการแต่งตั้ง แบ่งเป็นการแต่งตั้งของหัวหน้ารัฐบาล (หรือผู้ที่รัฐบาลมอบหมาย) การแต่งตั้งของรัฐสภา ของพรรคฝ่ายค้าน ฯลฯ ตามแต่จะกำหนด (ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะต้องให้สมาชิกเท่านั้นได้สิทธิเป็นกรรมการ แต่หมายถึงการให้โควต้าสิทธิในการแต่งตั้งกรรมการ) ในการกำหนดส่วนของรัฐบาลนั้น อาจจะเลือกได้อีกหลายวิธี เช่น

(1) การแต่งตั้งบุคคล โดยระบุให้ต้องคัดเลือกมาจากสถาบัน สมาคม หรือองค์กรที่กำหนด ซึ่งผู้แต่งตั้งอาจจะคัดเลือกเอง หรือให้สมาคมต่างๆ เป็นผู้เสนอชื่อมาให้พิจารณาก่อนก็ได้

(2) การแต่งตั้งบุคคลโดยไม่ระบุที่มา แต่ระบุอาชีพ

(3) การแต่งตั้งบุคคลตามความพอใจ

ใน 3 วิธีนี้จะเลือกใช้บางวิธีหรือใช้ทั้ง 3 วิธีก็ได้

ค. การให้บุคคลกลุ่มต่างๆ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งภายนอกและภายในองค์กร ได้มีโอกาสเลือกผู้เข้ามาเป็นตัวแทนโดยตรง หรือให้องค์กรเฉพาะด้าน เช่น สมาคมวิชาชีพต่างๆ คัดเลือกแล้วเสนอชื่อตัวแทน

การแต่งตั้งในลักษณะตามข้อ ข.ข้างต้น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า ท่านเคยทำเมื่อท่านได้รับมอบหมายจากคณะรัฐบาลให้คุมงานการเคหะแห่งชาติ

ท่านเล่าว่าท่านกำหนดเองว่าต้องการ สถาปนิก วิศวกร นักกฎหมาย และนักการเงินอย่างละคน

ท่านได้ขอชื่อมาจากแหล่งชำนาญการเฉพาะ คือสมาคมสถาปนิกสยาม สมาคมวิศวกรรมสถานฯเสนอชื่อสถาปนิกและวิศวกรมา นักกฎหมายขอความร่วมมือไปทางศาล และทางด้านการเงินได้ติดต่อกับธนาคารกรุงเทพฯ ซึ่งท่านรู้จักให้ส่งผู้ชำนาญด้านการเงินไปเป็นกรรมการ

ในการแต่งตั้งครั้งนั้นท่านไม่ได้เลือกตัวบุคคลด้วยตนเองเลยแม้แต่คนเดียว นับว่าเป็นวิธีการแต่งตั้งที่เป็นระบบและพึ่งตัวบุคคลน้อยลง (แม้จะยังพึ่งบ้างคือพึ่งให้เป็นแหล่งให้หาบุคคลให้ ไม่ได้เป็นการวางระบบอย่างเป็นทางการเต็มร้อย)

ที่สำคัญคือได้สร้างวิธีการเลือกที่ไม่ยึดบุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นตัวตั้ง

การจัดสัดส่วนที่มาของกรรมการอย่างดี จะสร้างสมดุลด้านอาชีพ ความชำนาญและได้กลุ่มผลประโยชน์ที่หลากหลายเข้ามาอยู่ร่วมกัน เป็นการสะท้อนภาพใหญ่ของสังคมได้ดีขึ้น

อายุของกรรมการแต่ละคน กรรมการที่มาโดยตำแหน่ง

(ก) มีวาระตามตำแหน่งที่ตนครองอยู่ กรรมการที่มาจากการแต่งตั้ง

(ข) ควรกำหนดให้เป็นไปตามอายุของผู้แต่งตั้งเข้ามา เช่น ถ้ารัฐบาลเป็นผู้ตั้ง เมื่อพ้น 3 เดือนจากอายุของรัฐบาลชุดนั้น กรรมการที่มาตามโควต้านี้ก็หมดวาระโดยอัตโนมัติ เพื่อไม่ให้เกิดการสร้างฐานอำนาจข้ามเวลา และไม่ให้ผู้ที่รับช่วงการบริหารงานการเมืองคณะต่อไปเกิดความลำบากใจหรือทำงานไม่ได้ ต้องเกิดการบีบบังคับทั้งทางตรงและทางอ้อมให้ลาออก หรือเปลี่ยนนอกวาระ สร้างความปั่นป่วนโดยใช่เหตุ ส่วนกรรมการที่มาจากากรเลือกตั้ง

(ค) อยู่ตามวาระที่กำหนด เว้นแต่ที่มาตามการเลือกของคณะกรรมการที่บริหารสมาคมหรือองค์กรใด ให้มาตามวาระของคณะกรรมการสมาคมนั้นๆ

อาจจะเป็นที่น่าเสียดายอยู่บ้าง ถ้ากรรมการที่มาจากการแต่งตั้งตาม (ข) และมาจากสายอาชีพที่ทำงานได้ดีมีประโยชน์ต่อรัฐวิสาหกิจอย่างแท้จริงที่จะต้องหมดวาระไปด้วยตามรัฐบาลที่แต่งตั้งตนเข้ามา แต่ต้องถือว่าเป็นต้นทุนที่ต้องยอมรับ และถ้าหากว่าทำงานได้ผลจริงก็อาจจะได้รับการแต่งตั้งใหม่ก็ได้

อาจจะมีผู้แย้งว่า รัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศ เป็นผู้รับผิดชอบผลงานทั้งปวง ก็ต้องมีอำนาจเต็มในการตั้งกรรมการทั้งคณะของรัฐวิสาหกิจ ไม่เช่นนั้นก็ทำงานตามนโยบายไม่ได้

การคิดเช่นนั้นเป็นการคิดแบบ “ใครชนะ ก็รวบหัวรวบหางได้ไปหมด” ทั้งๆ ที่บางครั้งรัฐบาลเป็นรัฐบาลผสม และประเทศที่มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร ยากที่จะเกิดกรณีที่คณะรัฐบาลได้เสียงจากประชาชนเพียงพรรคเดียวทั้งประเทศ ระบบประชาธิปไตยคือการบริหารโดยผู้มีเสียงข้างมาก แต่ก็ต้องดูแลรับฟังเสียงข้างน้อย

การให้ใครก็ตามที่เป็นฝ่ายคุมอำนาจรัฐ ได้คุมรัฐวิสาหกิจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เป็นการสร้างอำนาจเผด็จการที่ขาดการตรวจสอบขึ้นมา

อีกประการหนึ่ง ก็ทำให้เกิดความไม่แน่นอน และไม่ต่อเนื่องในรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นองค์กรที่มีชีวิตยืนยาวกว่าคณะบุคคลหนึ่งคณะบุคคลใดที่ได้อำนาจรัฐ ซึ่งเปลี่ยนแปลงบ่อยกว่า

ประการสุดท้าย ถ้าฝ่ายใดเข้ามายึดครองอำนาจการเมืองยาวนาน ถ้าไม่มีฝ่ายอื่นๆ เข้าร่วมรับรู้การบริหารด้วย การครอบครองตำแหน่งกรรมการในรัฐวิสาหกิจไว้ทั้งหมด ทำให้พรรคการเมืองอื่นๆ ขาดการเรียนรู้ พรรคการเมืองที่เข้ามาเป็นรัฐบาลครั้งแรกหรือเว้นวรรคการเป็นรัฐบาลมานานต้องเรียนรู้ใหม่ทั้งหมด ซึ่งน่าจะเป็นผลเสียต่อรัฐวิสาหกิจเอง

เพราะจะต้องมีช่องของการเรียนรู้และตั้งต้นใหม่

การใช้แนวทางตามที่นำเสนอมาโดยย่อๆ ข้างต้น น่าจะทำให้การเปลี่ยนแปลงผู้มีอำนาจการเมือง การเทือนถึงรัฐวิสาหกิจแค่ 2 ประเด็นคือ กระเทือนกรรมการตัวแทนฝ่ายการเมือง และกระเทือนนโยบายหลักของรัฐวิสาหกิจเฉพาะส่วน ซึ่งต้องดำเนินไปให้สอดคล้องกับนโยบายใหญ่ของรัฐบาล

ผู้เขียนได้เคยเขียนบางประเด็นไว้ในหนังสือชื่อ “บรรษัทภิบาล เรื่องที่นักลงทุนและกรรมการต้องรู้” เมื่อปี 2545 ขอนำเรื่องเกี่ยวกับสัดส่วนกรรมการของกองทุน CaIPERS ซึ่งเป็นกองทุนบำนาญภาครัฐของมลรัฐแคลิฟอร์เนียมาอ้างอิง ณ ที่นี้

CaIPERS มีกรรมการ 13 คน แยกเป็น 3 กลุ่มคือ (ก) มาโดยตำแหน่ง (ข) มาจากการแต่งตั้ง และ (ค) มาโดยการเลือกตั้ง

ไม่ว่าจะมาจากการแต่งตั้งหรือมาจากการเลือกตั้ง มีการกำหนดที่มาอย่างชัดเจนตัวอย่างเช่น

มาโดยตำแหน่งก็คือ ผู้ทำงานด้านการเงิน การคลัง และงานบุคคลของมลรัฐ

มาโดยการแต่งตั้ง จะมีการระบุผู้แต่งตั้งไว้ชัดเจน และระบุด้วยว่าจะต้องตั้งจากองค์กรไหนแปลได้ว่า มีอิสระที่จะแต่งตั้ง แต่ต้องอยู่ในขอบเขตที่กำหนด กรณีข้างต้นระบุให้ผู้ว่าการมลรัฐแต่งตั้งได้ 2 คน จากองค์กรที่กำหนดและจากอาชีพที่กำหนด และให้ประธานสภาผู้แทนร่วมกันอนุกรรมการกฎหมายของรัฐ แต่งตั้งได้ 1 คน

ที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งมาจากการเลือกตั้งของสมาชิก โดยซอยแยกลงไปเพื่อให้ได้ตัวแทนสมาชิกครบทุกกลุ่มที่ผลประโยชน์และความสนใจอาจจะไม่ตรงกัน เพื่อให้ทุกกลุ่มมีส่วนมีเสียงอยู่ในคณะกรรมการ

กรรมการคนที่ 13 มาโดยการเลือกตั้ง แต่เป็นการเลือกตั้งกึ่งโดยตำแหน่ง เพราะเลือกมาจากคณะกรรมการข้ารัฐการ (เข้าใจว่าคณะกรรมการนี้เป็นส่วนหนึ่งในข้ารัฐการระดับบริหารของมลรัฐ)

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นการเสนอเบื้องต้นเพื่อให้มีทางเลือกอีกทางหนึ่ง เพื่อแก้ปัญหาที่เผชิญหน้ารัฐวิสาหกิจทุกยุคทุกสมัย

โดยหวังว่าจะเป็นการจุดประกายความคิดเพื่อการถกเถียงและหารูปแบบที่เหมาะสมยิ่งขึ้นต่อไป

เมื่อจะนำไปใช้ก็ต้องไม่หวังผลเลิศว่าระบบจะแก้ทุกปัญหาได้ เพราะไม่ว่าคนจะออกแบบระบบดีเพียงใด ก็คนอีกนั่นแหละที่จะเป็นตัวการทำให้ระบบยุ่งเหยิงผิดรูปไปได้

แต่เชื่อว่าการมีแบบแผนน่าจะดีกว่าไม่มี เพราะทำให้บิดเบี้ยวได้น้อยลงและถ้าบิดเบี้ยวไปก็เห็นได้ชัดขึ้น

ไพบูลย์ วั ฒนศิริธรรม

30 ต.ค. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/56474

<<< กลับ