วิกฤติการเมืองไทยกับบทบาทของสถาบันการศึกษาเพื่อกระบวนการสันติวิธี (ต่อ)

วิกฤติการเมืองไทยกับบทบาทของสถาบันการศึกษาเพื่อกระบวนการสันติวิธี (ต่อ)


สถาบันการศึกษากับสันติวิธี

                ขอเข้าประเด็นเกี่ยวกับบทบาทของสถาบันการศึกษาในเรื่องสันติวิธี ในต่างประเทศ เช่นที่อเมริกา  ที่แคนาดา สถาบันการศึกษาหลายแห่งมีหน่วยงานเป็นหน่วยพิเศษหรือเป็นคณะเกี่ยวกับเรื่องการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นมหาวิทยาลัยแห่งเเรกในประเทศไทยที่ตั้งหน่วยงานเพื่อศึกษาวิจัยและให้บริการในเรื่องสันติวิธี โดยตั้งสถาบันสันติศึกษาขึ้นเมื่อประมาณ 10 กว่าปีมาแล้ว ในขณะที่นายแพทย์วันชัย วัฒนศัพท์ เป็นอธิการบดี ทั้งนี้โดยการแนะนำและสนับสนุนของ คุณหมอประเวศ วะสี ผมเองที่บังเอิญเป็นเพื่อนกับคุณหมอวันชัย ก็ได้สนใจเรื่องสันติวิธีและมีส่วนร่วมสนับสนุนคุณหมอวันชัยให้ดำเนินการในเรื่องสันติวิธีด้วย ซึ่งคุณหมอวันชัยก็สนใจและกระตือรือร้น ลงทุนไปเรียนรู้ที่แคนาดา ไปเห็นรูปแบบเขาก็เอามาตั้งบ้าง เรียกว่า สถาบันสันติศึกษา ในสังกัดมหาวิทยาลัยขอนแก่น 

                ต่อมา ก็ได้เกิดศูนย์สันติวิธีและธรรมาภิบาลขึ้นที่สถาบันพระปกเกล้า โดยผมเป็นผู้เสนอแนะ และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานคนแรก ต่อมาภายหลังได้ไปเชิญคุณหมอวันชัย ซึ่งเกษียณจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นแล้ว ให้มาเป็นผู้อำนวยการ ทางด้านมหาวิยาลัย ได้มีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ที่ได้ตั้งหน่วยงานขึ้นมาในเรื่องสันติวิธี ตามด้วยมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ตั้งศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธีขึ้นไม่นานมานี้ มีอาจารย์ ดร.โคทม อารียา เป็นผู้อำนวยการ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจารย์ ดร.อมรา พงศาพิชญ์ คณบดีคณะรัฐศาสตร์ ได้ตั้งศูนย์หรือโครงการศึกษาสันติวิธีและความขัดแย้ง อาจมีมหาวิทยาลัยอื่นๆอีกที่ได้ดำเนินการในเรื่องสันติวิธีในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง และผมพึ่งทราบด้วยความยินดีว่า มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒก็ได้ตั้งสถาบันสันติศึกษาหรืออะไรทำนองนี้ขึ้นมาด้วยแล้วเหมือนกัน

                ท่านอาจจะทราบหรือไม่ว่าสภาความมั่นคงแห่งชาติของไทยได้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ สันติวิธี เดี๋ยวนี้ก็ยังมีอยู่ ซึ่งคณะกรรมการนี้ได้เสนอให้ออกเป็นคำสั่งนายกรัฐมนตรีว่าด้วยเรื่องยุทธศาสตร์สันติวิธีและให้ถือเป็นนโยบายสำคัญอันจะนำมาซึ่งความมั่นคงของประเทศ คำสั่งนี้ท่านนายกทักษิณได้ลงนามประกาศใช้แล้ว เป็นคำสั่งที่ 187/2546 นั่นคือประกาศใช้มาเกือบ 3 ปีแล้ว และล่าสุดได้มีการเสนอเรื่องยุทธศาสตร์สันติวิธีเข้าไปในครม . ซึ่ง ครม. ก็เห็นชอบ และได้มอบหมายให้สถาบันพระปกเกล้า เป็นหน่วยงานที่จะไปสนับสนุนสถาบันการศึกษาต่างๆ อันได้แก่มหาวิทยาลัยทั้งหลาย ในการที่จะมีหน่วยงาน หรือมีการศึกษาวิจัยหรือมีการให้บริการในเรื่องสันติวิธี

                รวมแล้วจะเห็นว่าในประเทศไทยเรา สถาบัน การศึกษาระดับอุดมศึกษาหรือระดับมหาวิทยาลัยได้มีบทบาทในเรื่องสันติวิธีมาเกินกว่า 10 ปีแล้ว ทั้งกำลังก่อตัว กำลังงอกเงยมากขึ้น และเป็นเรื่องน่ายินดีที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒกำลังริเริ่ม เรื่องนี้ขึ้นด้วย

วิธีดำเนินการของสถาบันการศึกษา

                คำถามต่อไปคือ แล้วจะทำอะไร อย่างไร ผมเชื่อว่าท่านก็คงจะต้องไปศึกษาพิจารณา ดูว่าที่ไหนเขาทำกันอย่างไรบ้าง แล้วท่านก็มาพัฒนาของท่านเองในเรื่องบทบาทของมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับกระบวนการสันติวิธี กล่าวโดยทั่วไป สถาบันการศึกษามีบทบาทหน้าที่อะไรบ้างท่านคงทราบดีนะครับ ท่านจัดการเรียนการสอนและผลิตบัณฑิต ท่านมีงานศึกษาวิจัย และท่านมีงานบริการสังคม ทั้ง 3 ลักษณะนี้สันติวิธีเข้าไปได้ทั้งสิ้น เพราะสันติวิธีเป็นวิถีชีวิต เป็นวัฒนธรรม เป็นกระบวนการทางสังคม และเป็นเทคนิควิธีการ อยู่ที่ไหนก็เกี่ยวข้องได้ อยู่ที่ไหนก็ใช้ประโยชน์ได้ ในบ้านก็ใช้ประโยชน์ได้ ในครอบครัว ในชุมชน ในหน่วยงาน ในตัวเราเองยังใช้ได้เลย ฉะนั้นถ้าสถาบันการศึกษาโดยเฉพาะมมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ต้องการจะพัฒนาบทบาทในเรื่องสันติวิธีให้มากขึ้น ท่านก็สามารถจะพัฒนาแทรกเข้าไปหรือหนุนเสริมเข้าไปในการเรียนการสอน ในการวิจัยค้นคว้า และในการบริการสังคม 

                ที่จริงอาจจะอาศัยโอกาสที่เกิดวิกฤตทางการเมือง เกิดความขัดแย้งที่ยังไม่มีความรุนแรง แต่ เป็นความขัดแย้งที่กว้างใหญ่ และเป็นความขัดแย้งที่สำคัญ เราอาจใช้สถานการณ์นี้เป็นโอกาสที่เราจะพัฒนาทางการเมือง พัฒนาทางสังคมไปอีกขั้นหนึ่ง ขณะนี้ก็มีการพูดกันถึงเรื่องการปฏิรูปทางการเมือง หลายฝ่ายพูดถึงการปฏิรูปทางสังคมและการเมือง เพราะการเมืองไม่ได้อยู่โดดเดี่ยว การเมืองเป็นกลไกของสังคม มีมิติต่างๆ ทางสังคม ซึ่งรวมทั้งจิตใจ คุณธรรม วัฒนธรรม ความสัมพันธ์ต่างๆ ที่จะต้องมีการทบทวนและพัฒนาหรือปฏิรูป หรืออภิวัฒน์คือ ทำให้ดีทำให้เจริญขึ้นไปอีก ถือเป็นโอกาสที่ดี ซึ่งในการแก้ปัญหา ในการปฏิรูป ในการพัฒนา หรืออภิวัฒน์ ดังกล่าว เราสามารถประยุกต์ใช้กระบวนการสันติวิธีในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาสังคมและการเมืองได้

                บางครั้งเราใช้คำว่า เป็นกระบวนการสร้างสันติ ในภาษาอังกฤษ คือ Peace Building เป็นการสร้างสันติ ใช้สันติวิธีให้เกิดสันติสุข ก็คือมีความเห็นพ้องต้องกันหรือตกลงกันได้และ อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งที่สังคมเรามุ่งมาดปรารถนา สถาบันการศึกษาจึงอยู่ในวิสัยที่จะสอดแทรก หรือหนุนเสริม เรื่องสันติวิธีเข้าไปในการเรียนการสอน ในการศึกษาค้นคว้าวิจัย และในการบริการสังคมหรือบริการทางวิชาการ ในการทำเช่นนี้ ถ้าท่านมีหน่วยงานพิเศษที่จะทำเรื่องนี้ ก็จะมีกลุ่มบุคคลที่จับเรื่องนี้อย่างจริงจัง เขาจะต้องเข้ามาทำอย่างจริงจังและต่อเนื่องพอสมควร ถึงจะเข้าใจเรื่องนี้อย่างลึกซึ้งและปฏิบัติได้ดี สิ่งที่ยากคือการปฏิบัติ ความเข้าใจในทฤษฎีนั้นไม่ถึงกับยาก แต่เรื่องปฏิบัติให้ได้ดีนี่ยาก ต้องอาศัยทั้งความรู้ความเข้าใจที่ดี ทัศนคติที่เหมาะสม และความชำนาญที่เพียงพอ ผมเคยได้รับมอบหมายให้ช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งที่ธรรมศาสตร์ตอนที่เขาทะเลาะกันว่าจะย้ายไปรังสิตเมื่อไหร่ ด้วยความที่ผมไม่ชำนาญ แม้จะได้สนใจและศึกษา แต่ยังไม่ชำนาญ จึงคิดว่าทำได้ไม่ดีนัก ได้ผลเพียงระดับหนึ่ง คิดว่าถ้าทำอีกครั้งหนึ่งน่าจะทำได้ดีกว่า

สันติวิธีต้องสร้างสมความรู้ความชำนาญ

                ฉะนั้นเรื่องสันติวิธีจึงต้องศึกษา ต้องเรียนรู้ ต้องพัฒนา ต้องฝึกฝน ต้องสร้างสมความชำนาญ เหมือนกับการเป็นอาจารย์ ถ้าท่านมีชั่วโมงบินสูงท่านก็ทำได้ดีเมื่อเทียบกับอาจารย์ใหม่ๆ ที่ยังขาดประสบการณ์ยังไม่ได้ฝึกฝนมาก ยิ่งเรื่องสันติวิธี ยิ่งต้องฝึกฝน ยิ่งเป็นปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ยุ่งยากและซับซ้อน ก็ยิ่งต้องใช้ศิลปะวิทยาการและความชำนาญมาก ผมเคยเขียนในบทความว่าปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองครั้งนี้ ลำพังคนกลางธรรมดาอาจไม่พอ อาจต้องมีบุคคลระดับที่เป็นร่มบารมีมาช่วยด้วย นี่คือศิลปะควบคู่วิทยาการ

                ในแง่หนึ่งอาจกล่าวได้ว่า เรากำลังคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมืองด้วยสันติวิธีโดยมีพระบารมีของพระองค์ท่านช่วยเอื้ออำนวย ประเทศไทยและสังคมไทยโชคดีเป็นอย่างยิ่งที่มีพระประมุขซึ่งทรงมีพระปรีชาญาณลึกล้ำ ทรงมีพระเมตตาคุณและพระมหากรุณาธิคุณสูงส่ง ถือเป็นร่มบารมีใหญ่ที่ช่วยให้ในที่สุดแล้วเรากำลังคลี่คลายความขัดแย้งด้วยสันติวิธี โดยดึงผู้คนที่เกี่ยวข้องเข้ามาสู่กระบวนการ เป็นกระบวนการคลี่คลายความขัดแย้งด้วยสันติวิธี ที่ผมขอเรียกว่าเป็น นวัตกรรม หรือเป็น นวพัฒนาการ ที่นักรัฐศาสตร์ นักนิติศาสตร์ ควรต้องศึกษา ซึ่งมีได้ในประเทศไทยที่มีลักษณะพิเศษ มีองค์ประกอบพิเศษ สังคมอื่นประเทศอื่นคงจะมาลอกแบบไม่ได้ เช่นเดียวกับที่เราจะไปลอกแบบแคนาดาลอกแบบอเมริกามาทั้งดุ้นก็ไม่ได้และไม่ควร เราต้องพยายามพัฒนาระบบและวิธีการที่เหมาะสมของเราขึ้นมา 

                จึงกลับมาข้อสรุปเดิมว่า สถาบันการศึกษาจะมีส่วนสำคัญในการช่วยในเรื่องการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธีหรือกระบวนการสันติวิธี เพราะสถาบันการศึกษา มีคณาจารย์ ซึ่งเหมาะสมอยู่แล้วในการศึกษาวิจัย หาความจริง สร้างความดี ความจริงและความดีเป็นฐานของสันติวิธี ที่จะนำไปสู่ความสันติสุขร่วมกัน เราไม่สามารถจะมีความสันติสุขร่วมกัน ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลาย ถ้าเผื่อเราไม่มีความจริงและความดีเป็นฐาน มหาวิทยาลัยเป็นที่ๆ เหมาะสมอย่างยิ่งในการค้นหา สร้างสรรค์ พัฒนา ความจริงและความดี แล้วนำมาเผยแพร่ นำมาประยุกต์ใช้ นำมาใช้ประโยชน์ โดยมีการศึกษาทบทวนและปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่องด้วย นี่คือบทบาทของสถาบันการศึกษา

ควรมีเครือข่ายสันติวิธี

                เรื่องการแก้หรือจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี หรือการใช้สันติวิธีเพื่อสร้างสันติสุข ไม่ว่าจะในสถานการณ์ ร้อนหรือในสถานการณ์เย็น เป็นบทบาทที่มหาวิทยาลัยน่าจะมีได้อย่างเหมาะสม และผมมีความเชื่อมั่นว่ามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒแห่งนี้ มีความพร้อม มีศักยภาพ จึงขอเอาใจช่วย ขอสนับสนุนความริเริ่มของท่านที่จะมีหน่วยงาน มีคณะบุคคล ที่จะศึกษา วิจัย พัฒนา และให้บริการในเรื่องสันติวิธี ให้เกิดผลดีอย่างจริงจังและต่อเนื่อง สถาบันของท่านเองก็จะพัฒนามากขึ้นๆ ขยายวงบริการได้มากขึ้นและดีขึ้น พร้อมกันนั้น ท่านก็สามารถโยงใยกันระหว่างสถาบันการศึกษาที่มีบทบาทหรือสนใจในเรื่องสันติวิธีด้วยกัน รวมทั้งสามารถโยงใยเป็นเครือข่ายกับหน่วยงาน เช่น สถาบันพระปกเกล้า สภาความมั่นคงแห่งชาติ และอื่นๆ 

                ผมขออวยพรให้ท่านประสบความสำเร็จในเรื่องนี้ และถ้ามีอะไรที่ผมหรือองค์กรที่ผมเกี่ยวข้องจะสามารถให้ความร่วมมือหรือประสานงานด้วย ผมจะยินดี เพราะสิ่งที่คิดที่ทำในเรื่องสันติวิธี เป็นสิ่งที่มีคุณค่า เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อสังคม นำไปสู่การบรรลุวัตถุประสงค์ร่วม คือการอยู่ร่วมกัน ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลาย ด้วยความสันติ เจริญ สุข อย่างวัฒนาสถาพร ขอบคุณครับ

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

21 ก.ย. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/51076

<<< กลับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *