จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 12 (18 เม.ย.50)

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 12 (18 เม.ย.50)


5 สัปดาห์ที่เข้มข้นที่สุดในชีวิต

ผมทำหน้าที่ในฐานะ “รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์” มาได้ 5 สัปดาห์เต็มๆ กล่าวได้ว่าเป็น “5 สัปดาห์ที่เข้มข้นที่สุดในชีวิต” เป็น 5 สัปดาห์ที่ผมทำงานแทบไม่ได้หยุดแม้วันเสาร์อาทิตย์และวันหยุดราชการ และเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้ผมไม่ได้เขียน “จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม” มาจนถึงวันนี้ (วันที่ 17 เมษายน ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดให้เป็นวันหยุดราชการเนื่องในเทศกาลสงกรานต์เพิ่มขึ้นอีก 1 วัน)

ในฐานะเป็นรองนายกรัฐมนตรีดูแลด้านสังคม ผมได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลงานของ    7 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และได้รับมอบหมายให้ดูแล(เป็นประธาน)คณะกรรมการตามกฎหมายและตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีอีก รวม 21 คณะ กับได้รับมอบหมายอื่น ๆ อีก ความรับผิดชอบของผมจึงมีมากทีเดียว

สัปดาห์แรก (12-18 มี.ค.50)

ผมได้รับข้อเสนอแนะจากคณะที่ปรึกษาให้เข้าไปดูแลปัญหาหมอกควันปกคลุมภาคเหนือตอนบนเกินกว่าอัตรามาตรฐาน ถึงขั้นเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนและเป็นเช่นนี้มาตั้งแต่ต้นเดือน ผมจึงเดินทางไปสำรวจสถานการณ์และประชุมหารือกับผู้เกี่ยวข้องทั้งจากภาครัฐและนอกภาครัฐที่จังหวัดเชียงใหม่ในวันอังคารที่ 13 เม.ย. (หลังจากร่วมประชุม ครม. ยังไม่จบดี) และเดินทางอีกครั้งหนึ่งไปจังหวัดเชียงใหม่และเชียงรายในวันศุกร์ที่ 16 เม.ย. รวมทั้งได้ตั้ง “คณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ” ซึ่งผมเป็นประธาน ให้เป็นกลไกกลางในการดูแลแก้ไขปัญหาเรื่องหมอกควันซึ่งกระทบจังหวัดในภาคเหนือตอนบนโดยเฉพาะเชียงใหม่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอน ซึ่งถูกกระทบมากเป็นพิเศษ

วันเสาร์ที่ 17 มี.ค. มีการประชุม ครม.นัดพิเศษ ใช้เวลาทั้งวัน พิจารณาเรื่องการจัดทำงบประมาณปี 2551 และมีช่วงเวลา “หารือนอกรอบเฉพาะคณะรัฐมนตรี” ประมาณ 2 ชั่วโมง ด้วย

สัปดาห์ที่ 2 (19-25 มี.ค.)

คณะที่ปรึกษาเสนอให้จับประเด็นเรื่องปัญหาสื่อไม่เหมาะสมที่เป็นอันตรายและสร้างปัญหาให้สังคม จึงตั้ง “คณะกรรมการสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” ขึ้นโดยผมเป็นประธาน ให้เป็นกลไกกลางในการแก้ไขปัญหาสื่อไม่เหมาะสมทำนองเดียวกับที่มีคณะกรรมการเป็นกลไกกลางในการแก้ไขปัญหาเรื่องหมอกควันภาคเหนือที่ได้ตั้งไปเมื่อสัปดาห์ก่อนหน้า

ในสัปดาห์นี้ได้ไปเยี่ยมคารวะและขอรับคำแนะนำจากคุณอานันท์  ปันยารชุน และคุณบรรหาร  ศิลปอาชา ในฐานะเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีที่ผมได้รู้จักและได้เคยมีส่วนปฏิบัติงานบางอย่างให้ โดยมีกำหนดจะไปเยี่ยมคารวะและขอรับคำแนะนำจาก พลเอกเปรม  ติณสูลานนท์ คุณชวน หลีกภัย และพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ด้วย

วันพุธที่ 21 มี.ค. เดินทางพร้อมท่านนายกฯ พลเอกสุรยุทธ์  จุลานนท์ ไปจังหวัดปัตตานี พบรับฟังรายงานและหารือกับผู้ดูแลเรื่องความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แล้วเดินทางต่อไปยังจังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อร่วมในกิจกรรมเปิดตัว “ยุทธศาสตร์ประชาชนอยู่ดีมีสุข” ที่รัฐบาลจะดำเนินการควบคู่กับ “โครงการพัฒนาหมู่บ้าน/ชุมชนตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (คพพ.)” โดยจะใช้งบประมาณรวมกัน 10,000 ล้านบาท

วันเสาร์ที่ 24 มี.ค. เดินทางไปจังหวัดพัทลุง เยี่ยมศึกษาและร่วมรายการ “สภาชาวบ้าน” ที่ตำบลลำสินธุ กิ่งอำเภอศรีนครินทร์ ร่วมประชุมกับผู้ว่าราชการจังหวัดและคนอื่น ๆ ที่ศาลากลางจังหวัดเพื่อรับฟังและหารือเกี่ยวกับการพัฒนาชุมชนและสังคมในจังหวัดพัทลุง แล้วไปเยี่ยมศึกษาชุมชนตำบล ควนรู อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา (ดีเด่นเรื่องแผนชุมชน การเมืองสมานฉันท์ ฯลฯ) ก่อนเดินทางกลับกรุงเทพฯ

สัปดาห์ที่ 3 (26 มี.ค. – 1 เม.ย.)

ยังคงต้องใช้เวลาพอสมควรกับเรื่องปัญหาหมอกควันภาคเหนือเพราะสถานการณ์หมอกควันยังไม่ดี บางวันอัตราฝุ่นละเอียดขึ้นไปสูงมาก เป็นเหตุให้คณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือตัดสินใจขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน ประกาศเขตภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินในทั้ง 2 จังหวัด (เพิ่มจากจังหวัดเชียงรายซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศไว้แล้ว)

ปัญหาหนี้สินเกษตรกร เป็นปัญหาซับซ้อนสะสมคุกรุ่นมานาน รวมถึงมีการชุมนุมประท้วง เรียกร้อง กดดัน โดยกลุ่มต่าง ๆ เดิมรองนายกฯ โฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ดูแลอยู่ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรที่ ครม. แต่งตั้งขึ้น เมื่อผมได้รับมอบหมายให้เป็นรองนายกฯ  กำกับดูแลงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงรับโอนหน้าที่ประธาน “คณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร” มาด้วย ซึ่งผ่านการรับทราบของคณะรัฐมนตรีในวันอังคารที่ 27 มี.ค. และผมก็ได้เชิญประชุมคณะกรรมการทันทีในวันพฤหัสบดีที่ 29 มี.ค. เนื่องจากมีสถานการณ์ตึงเครียดคุกรุ่นอยู่แล้วจากกลุ่มเกษตรกรอย่างน้อย 3 กลุ่มใหญ่

ในสัปดาห์นี้ได้เริ่มประชุมและเริ่มงาน “คณะกรรมการสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” และเริ่มหารืองานด้านสังคมที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่ง คือ ปัญหาโรคเอดส์ โดยมีคุณมีชัย วีระไวทยะ และคณะมาร่วมหารือด้วย

วันศุกร์ที่ 30 มี.ค. ไปจังหวัดสระแก้ว ร่วมกิจกรรมโครงการ “เบญจภาคี” สนับสนุนชุมชนประยุกต์ใช้ “เศรษฐกิจพอเพียง” รวมถึงการฟื้นฟูธรรมชาติและพัฒนาพลังงานทางเลือก “เบญจภาคี” ในที่นี้คือ (1) ชุมชน (2) หน่วยงานรัฐ (จังหวัดฯลฯ) (3) สถาบันการศึกษา (ในที่นี้ได้แก่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ) (4) ธุรกิจ (5) ประชาสังคม (หรือองค์กรพัฒนาเอกชน) และสื่อ และได้ไปเยี่ยมศึกษา “โครงการบ้านมั่นคงชนบท” ที่ตำบลวังสมบูรณ์ กึ่งอำเภอวังสมบูรณ์ กับ “โครงการศูนย์ข้อมูลหมู่บ้าน” ที่หมู่บ้านบ่อลูกรัง ตำบลคลองหินปูน อำเภอวังน้ำเย็นด้วย

วันเสาร์ที่ 31 มี.ค. ไปร่วมพิธีและสนทนากับนายกรัฐมนตรีประเทศศรีลังกา ที่วัดธรรมาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

วันอาทิตย์ที่ 1 เม.ย. ไปจังหวัดนครราชสีมา พบกับกลุ่มเกษตรกรมีปัญหาหนี้สิน ที่มีคุณประพาส  โงกสูงเนิน เป็นหัวหน้ากลุ่ม เยี่ยมศึกษาศูนย์ดำเนินงานของกลุ่ม 2 แห่ง ที่อำเภอสูงเนิน และสนทนาหารือกันนานพอสมควร ได้สาระดี ก่อนกลับได้แวะเยี่ยมศึกษาชุมชน ตำบลหนองบุญมาก อำเภอหนองบุญมาก ซึ่งมีผลงานการพัฒนาที่ก้าวหน้าได้ผลดีน่าชื่นชม ต่างกันอย่างชัดเจนกับกลุ่มที่มีปัญหาหนี้สิน

สัปดาห์ที่ 4 (2-8 เม.ย.)

เป็นสัปดาห์แห่งความระทึกใจพอสมควร เพราะนายกฯ และรองนายกฯ โฆษิต ไม่อยู่ทั้งคู่ เดินทางไปภารกิจที่ประเทศญี่ปุ่น ตลอด 4 วันทำการของสัปดาห์ ผมจึงต้องทั้งรักษาการแทนนายกรัฐมนตรี และทำการแทนรองนายกฯ โฆษิต รวมถึงทำหน้าที่ประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันอังคารที่ 3 เม.ย.

วันจันทร์ที่ 2 เม.ย. ประชุม “คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์” ซึ่งผมเป็นประธาน และมีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการดำเนินการซึ่งมีคุณมีชัย วีระไวทยะ เป็นประธานอนุกรรมการ ให้ลงมือดำเนินการไปได้เลย โดยจะได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นเงินรวมกันประมาณ 500 ล้านบาท และจะเน้นการป้องกันในหมู่เยาวชนเป็นสำคัญ

วันอังคารที่ 3 เม.ย. ประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งผมทำหน้าที่ประธาน และดูว่าเรื่องต่างๆผ่านพ้นไปด้วยดี แต่แล้วก็เกิดเหตุความสับสนเกี่ยวกับการขึ้นเงินเดือนให้กับเจ้าหน้าที่ของ “สำนักงานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)” ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไป ต้องใช้ความพยายามตลอดค่ำวันอังคารที่ 3 วันพุธที่ 4 และต่อมาถึงวันพฤหัสบดีที่ 5 จึงทำให้สถานการณ์คลี่คลายและดูว่าเรียบร้อยลงได้

วันศุกร์ที่ 6 เม.ย. (วันจักรี และเป็นวันหยุดราชการ) ไปจังหวัดแม่ฮ่องสอน (โดยเครื่องบินของกระทรวงเกษตรฯ ไปจังหวัดเชียงใหม่ แล้วต่อด้วยเฮลิคอปเตอร์ไปจังหวัดแม่ฮ่องสอน) เพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาหมอกควันซึ่งจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีปัญหารุนแรงกว่าจังหวัดอื่น ๆ โดยเฉพาะได้ไปสนับสนุนให้เกิดความเข้าใจและความร่วมมือที่ดีขึ้นระหว่างทางจังหวัดกับชุมชนท้องถิ่น (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวเขา)

วันเสาร์ที่ 7 เม.ย. ไปจังหวัดกาฬสินธิ์ ร่วมกิจกรรมมหกรรมชีวิตเศรษฐกิจพอเพียงที่ตำบลสายนาวัง กิ่งอำเภอนาคู (คุณบำรุง คะโยทา เป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบล และเป็นประธานจัดงาน) เยี่ยมศึกษาแปลงนาเศรษฐกิจพอเพียงของกำนันอำนาจ และตั้งวงสนทนาเรื่องปัญหาหนี้สินเกษตรกรและแนวทางแก้ไขโดยเกษตรกรผู้มีปัญหาหนี้สินและผู้เกี่ยวข้องต่าง ๆ เป็นผู้ร่วมวงสนทนา ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง แล้วเดินทางไปค้างคืนที่ตัวจังหวัดกาฬสินธิ์

วันอาทิตย์ที่ 8 เม.ย. เดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์ไปจังหวัดศรีสะเกษ พบรับฟังและหารือเรื่องหนี้สินเกษตรกรกับกลุ่มสมัชชาเกษตรรายย่อยที่มีคุณนคร  ศรีวิพัฒน์ เป็นหัวหน้า ณ “ศูนย์เรียนรู้วิสาหกิจชุมชน” ที่อำเภอกันทรลักษณ์ จากนั้นไปเยี่ยมศึกษาชุมชนตำบลเสียว กิ่งอำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ  ซึ่งเป็นตำบลที่มีการพัฒนาก้าวหน้าหลายด้าน รวมถึงแผนชุมชน สวัสดิการชุมชน “การเมืองสมานฉันท์” และ “สภาองค์กรชุมชน” จากนั้นไปจังหวัดอุบลราชธานี เยี่ยมศึกษาศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงที่บ้านแก่งเจริญ ตำบลบัวชมพู อำเภอพิบูลมังสาหาร  แล้วไปที่อำเภอเมือง พบรับฟังปัญหาการทับซ้อนในการใช้ประโยชน์จากที่ดินระหว่างชาวบ้านในชุมชน 5 แห่งกับทางราชการ ก่อนเดินทางกลับกรุงเทพฯ

สัปดาห์ที่ 5 (9-17 เม.ย. โดยมีวันหยุดสงกรานต์ยาว 5 วัน รวมอยู่ด้วย)

ท่านนายกฯ กลับจากญี่ปุ่นแล้ว (ตั้งแต่วันพฤหัสที่ 5 เม.ย.) แต่ไปเข้ารับการตรวจสุขภาพแบบพิเศษซึ่งทำให้ต้องพักอยู่ในโรงพยาบาล 3 วัน ระหว่าง 9-11 เม.ย.  และเป็นผลให้ผมต้องไปทำหน้าที่เปิดการสัมมนาและกล่าวปาฐกถาพิเศษแทนนายกฯ ในการสัมมนาที่จัดโดยกระทรวงยุติธรรม เรื่องเกี่ยวกับขบวนการยุติธรรมชุมชน และความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ในวันจันทร์ที่ 9 และไปเปิดการสัมมนาพร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษแทนนายกฯ ในงานวันผู้สูงอายุแห่งชาติ (วันพุธที่ 11) ส่วนการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันอังคารที่ 8 มีรองนายกฯ โฆษิต ทำหน้าที่ประธานการประชุม

ระหว่างวันหยุดสงกรานต์ (ในวันศุกร์ที่ 13 เม.ย. ผมได้ไปตรวจเยี่ยมจุดเฝ้าระวังเรื่องอุบัติเหตุจากการจราจร 1 จุดที่จังหวัดนครปฐม 3 จุดที่จังหวัดราชบุรี และเยี่ยมกิจกรรมชุมชน 1 แห่ง ที่จังหวัดเพชรบุรี (ได้พบคารวะ “ปู่เย็น” ด้วย)

วันเสาร์ที่ 14 เม.ย. ไปรดน้ำสงกรานต์ญาติผู้ใหญ่ ทั้งช่วงเช้าและช่วงบ่าย วันอาทิตย์ที่ 15 เม.ย. ไปเยี่ยมพบพระพยอม กัลยาโณ เป็นการส่วนตัว เยี่ยมพบพระผู้ใหญ่ 2 รูป ที่วัดบวรนิเวศวิหาร (เป็นพระอาจารย์และพระพี่เลี้ยงของผมเมื่อครั้งผมบวช ณ วัดนี้ ในปี พ.ศ. 2512) ช่วงบ่ายไปเป็นประธานในงานวันผู้สูงอายุที่วัดโคนอน เขตภาษีเจริญ จัดโดย “บ้านบางแค” ร่วมกับชุมชนหลายแห่งในบริเวณนั้น

วันจันทร์ที่ 16 เม.ย. ไปจังหวัดเชียงรายพร้อมคณะที่มี รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคนอื่น ๆ รวมทั้งสื่อมวลชนจำนวนหนึ่ง เดินทางโดยเครื่องบินของกองทัพอากาศ ( C130) ไปเยี่ยมสำนักงานโครงการพัฒนาดอยตุงเพื่อรับรู้สภาพและข้อมูลพร้อมทั้งปรึกษาหารือกับผู้เกี่ยวข้องฝ่ายต่าง ๆ รวมถึงผู้นำชุมชนรอบๆ บริเวณพระตำหนักดอยตุง ในเรื่องเกี่ยวกับการเกิด “ไฟป่า” ขึ้นอย่างรุนแรงถึง 7 จุด รอบพระตำหนักเมื่อวันที่ 1 เมษายน ที่ผ่านมา และเพลิงได้ลุกลามเข้าใกล้พระตำหนักมากอย่างน่าตกใจ การไปครั้งนี้ช่วยให้ผมได้เห็นสภาพ ได้รับรู้ ได้ข้อมูล และได้ข้อคิดเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าที่เป็นประโยชน์หลายประการ ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้ทั้งที่โครงการพัฒนาดอยตุงและเป็นการทั่วไปได้ด้วย

วันอังคารที่ 17 เม.ย. ผมได้อยู่บ้าน เขียนจดหมายฉบับนี้ และไปรดน้ำสงกรานต์ญาติผู้ใหญ่อีก 2 ราย

ตลอด 5 สัปดาห์ที่ผมทำงานในฐานะรองนายกรัฐมนตรีดูแลด้านสังคม ผมต้องเรียนรู้ คิดค้น พิจารณา และดำเนินการในเรื่องใหม่ ๆ หลายประการ โดยใช้เวลาที่มีอยู่ค่อนข้างเต็มที่ บางช่วงก็เป็นเพราะความเร่งรัดของภารกิจและของสถานการณ์ บางช่วงก็ด้วยความพยายามที่จะทำงานให้ได้มากและดี บ่อยครั้งไปเริ่มวันทำงานแต่เช้า (ก่อน 8.00 น.) และกลับถึงบ้านค่อนข้างมืดค่ำแล้ว (3 หรือ 4 ทุ่มก็บ่อย) นั่นคือส่วนหนึ่งของเหตุผลที่ทำให้ผมกล่าวว่า 5 สัปดาห์ที่ผ่านมาเป็น “5 สัปดาห์ที่เข้มข้นที่สุดในชีวิต”

การปฏิบัติงานของผมในหน้าที่ใหม่ตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค. เป็นต้นมา ได้รับการสนับสนุนอย่างมาก อย่างดี และอย่างน่าพึงพอใจ จาก “ทีมงาน” ที่มีเลขานุการ (ทพ.กฤษดา  เรืองอารีย์รัชต์) ที่ปรึกษา (ดร.กิตติวัฒน์  อุชุปาละนันท์) และ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ (คุณสิน  สื่อสวน)  เป็นแกน โดยมี “ผู้ช่วย” อีกหลายคน ทั้งที่มาช่วยงานเต็มเวลาและมาช่วยงานบางเวลา และยังรวมถึง “คณะที่ปรึกษา” ที่มี นพ.สุวิทย์  วิบูลผลประเสริฐ  เป็นประธาน ซึ่งมาประชุมปรึกษาหารือทุกวันทำงานบ้าง สัปดาห์ละครั้งบ้าง ผมรู้สึกขอบคุณทีมงานรวมถึงที่ปรึกษาทุกคนเป็นอย่างยิ่ง และเห็นว่าทีมงานและที่ปรึกษาเป็นปัจจัยสำคัญมากต่อคุณภาพและความสำเร็จในการปฏิบัติงานของผมตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายอยู่ในขณะนี้

                                                                 สวัสดีครับ

                                                                         ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/91012

<<< กลับ

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 13 (23 เม.ย.50)

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 13 (23 เม.ย.50)


ทำงานหนักกับดูแลสุขภาพต้องไปด้วยกัน

มีผู้ถามผมบ่อยครั้งว่า “งานมากไหม” “งานหนักไหม”

ผมก็มักตอบว่า “งานก็ย่อมต้องมากและหนัก เพราะรัฐบาลมีเวลาน้อย แต่มีเรื่องต้องทำมาก ปัญหาก็รุมเร้าอยู่หลายด้าน หลายแบบ”

สัปดาห์ที่ผ่านมาก็ไม่เป็นข้อยกเว้น ทุกวันมีงานและกิจกรรมมากและหลากหลายอย่างเต็มๆทั้งวัน ตั้งแต่เช้าจนค่ำหรือดึก (วันที่ 18 มีการประชุม “เฉพาะ ครม.” 2 ชั่วโมงครึ่ง ก่อนการประชุมตามวาระปกติ วันที่ 22 เป็นประธานการประชุม “คณะกรรมการสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” ครั้งที่ 2 วันที่ 23 เป็นประธานการประชุมปฏิบัติการ “ขับเคลื่อนสังคม” ฯลฯ)

เสาร์อาทิตย์ที่ผ่านมา (21, 22 เม.ย.) ผมก็มีภารกิจของหน้าที่เต็มทั้ง 2 วัน โดยวันเสาร์ที่ 21 เป็นภารกิจในกรุงเทพฯ (ร่วมพิธีในงาน “รวมพลังไทยเทิดไท้องค์ราชัน” (“ทำบุญประเทศ”) ที่ท้องสนามหลวง ศาลหลักเมือง และอุโบสถวัดพระแก้ว ฯลฯ) และวันอาทิตย์ 22 เป็นภารกิจที่จังหวัดตรัง (เรื่องน้ำตกทะลักคร่าชีวิตคนไป 38 คน เมื่อวันที่ 14 เม.ย. ที่ผ่านมา)

ขณะเดียวกัน ได้มีผู้ใกล้ชิดหลายคน (รวมถึงคนที่เป็นหมอ) เตือนผมให้ผมดูแลสุขภาพให้ดี ให้มีเวลาพักผ่อนบ้างไม่ใช่ทำงานตลอดเวลา เช่นให้ได้หยุดอยู่บ้านสัก 1 วันใน 1 สัปดาห์ เป็นต้น

ผมเองก็รู้สึกอยู่เหมือนกันว่า ระยะหลังๆนี้ ผมพักผ่อนไม่เพียงพอ รู้สึกว่าร่างกายส่งสัญญาณบางอย่างอยู่เหมือนกัน

ดังนั้น จึงตั้งใจ (อีกครั้งหนึ่ง) ว่า “การทำงานหนักกับการดูแลสุขภาพ รวมถึงการพักผ่อนให้เพียงพอ ต้องไปด้วยกัน”

 

                                           สวัสดีครับ

                                           ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/91942

<<< กลับ

การสร้างองค์การแห่งคุณธรรม จริยธรรม

การสร้างองค์การแห่งคุณธรรม จริยธรรม


(ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การสร้างองค์การแห่งคุณธรรม จริยธรรม” ลงในจุลสารออมสิน ฉบับเดือนเมษายน 50 หน้าที่ 12)

ปาฐกถาพิเศษ

เรื่อง การสร้างองค์การแห่งคุณธรรม จริยธรรม

โดย นายไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม

รองนายกรัฐมนตรีและ

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

วันจันทร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2550

ณ หอประชุมบุรฉัตร ธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่

———————————-

ท่านประธานกรรมการธนาคารออมสิน ท่านกรรมการธนาคารออมสิน ท่านผู้อำนวยการธนาคารออมสิน และเพื่อนพนักงานชาวธนาคารออมสินที่รักทุกคนครับ

มาวันนี้ผมมีความรู้สึกที่สำคัญ 2 อย่าง อย่างแรกคือรู้สึกมีความสุขครับ ที่นี่คุ้นเคยได้อยู่ประมาณ 3 ปี แต่เผลอแป๊ป เดียวครับเกือบ 7 ปีแล้ว ที่ผมได้อำลาจากที่นี่ไป ก่อนเวลาที่จำเป็นนิดหน่อย ความรู้สึกที่ 2 คือ ชื่นชม ชื่นชมความริเริ่มและความพยายามของท่านผู้อำนวยการ คณะกรรมการ และพนักงานธนาคารออมสิน ในอันที่จะสร้างองค์การแห่งคุณธรรมและจริยธรรม ซึ่งก็คือธนาคารออมสินนั่นเอง การสร้างองค์การแห่งคุณธรรมและจริยธรรม ในความเห็นของผมไม่ใช่เรื่องยาก คำว่าคุณธรรมจริยธรรมก็ไม่ใช่เรื่องยาก แต่บางทีคนไปตีความให้ยากไปเอง ง่าย ๆ คุณธรรมจริยธรรมมี 3 อย่างที่สำคัญ

อย่างที่ 1 คือ ความดี ความดีใคร ๆ ก็รู้นะครับ เกิดมาเรารู้กันโดยธรรมชาติ ของคนที่อยู่ร่วมกันในสังคม ในครอบครัว เราจะรู้ว่าอะไรดีอะไรไม่ดี อะไรควรอะไรไม่ควร ถ้าเราทำสิ่งที่ดีทำสิ่งที่ควร เรียกว่าทำความดี ไม่เชื่อลองถามทุกคนดูสิครับ ความดีคืออะไร ทุกคนตอบได้ ทำอะไรไม่ดีก็รู้ตัวนะครับ ไม่ต้องให้ใครมาบอก เป็นส่วนใหญ่ เอาอย่างนี้แล้วกันนะครับ อาจจะไม่ใช่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ว่าเป็นส่วนใหญ่ โดยหลักใหญ่แล้วรู้ว่าอะไรดีไม่ดี ที่เราใช้คำว่า รู้ผิดชอบชั่วดี นั่นคือความดี

ส่วนที่ 2 ความถูกต้อง ความถูกต้องเป็นเรื่องที่ คล้าย ๆ กับศีล มีข้อห้าม มีข้อต้องทำ มีทั้งความถูกต้องตามกฎหมาย ในเมื่อเราอยู่ร่วมกันในสังคม มีกฎหมายซึ่งเป็นข้อตกลงของสังคมนั่นเองนะครับ ผ่านกระบวนการทางนิติบัญญัติ ความถูกต้องในเชิงจรรยาบรรณ ซึ่งเป็นข้อตกลงการปฏิบัติภายในองค์กร ว่าสิ่งนี้ต้องทำ สิ่งนี้ต้องละเว้น การทุจริต คดโกงลักขโมย เราก็รู้ว่าเป็นสิ่งที่ต้องไม่ทำ ต้องละเว้น  เรามีกรณีของพนักงานที่ประพฤติไม่ชอบอยู่เนือง ๆ ในแทบทุกองค์กรนะครับ ก็รวมทั้งธนาคารออมสิน นี่เราต้องยอมรับ คือในคน 100 คน ก็จะมีคนที่ไม่ดีอยู่ หรือไม่ใช่คนไม่ดีนะครับ แต่เป็นคนซึ่งได้ปฏิบัติในสิ่งที่ไม่ดี สิ่งที่ไม่ถูกต้อง เขาอาจจะเป็นคนดีเป็นส่วนใหญ่ แต่มีจุดอ่อนหรือมีสถานการณ์ที่ทำให้เขาต้องทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เราก็รู้กันอยู่ ฉะนั้น ความสุจริต ความทุจริต หรือความถูกต้องความไม่ถูกต้อง การปฏิบัติตามกฎหมายตามข้อบังคับตามจรรยาบรรณที่กำหนดไว้เราเรียกว่าความถูกต้อง รับผลประโยชน์มาจากลูกค้าเงินกู้ เพื่อจะได้ผ่านเงินกู้ให้โดยไม่ถูกกติกา อย่างนี้เป็นต้น ก็คือความไม่ถูกต้อง ฉะนั้นความถูกต้องเป็นส่วนที่ 2 ของคำว่าคุณธรรมจริยธรรม

ส่วนที่ 3 คือ ความเป็นธรรม ความเป็นธรรมอยู่ระหว่างความดีกับความถูกต้อง ความเป็นธรรมคือความเสมอภาค ความเท่าเทียม ธนาคารออมสิน ต้องดูแลลูกค้าอย่างเท่าเทียม อย่างเสมอภาค ไม่ใช่ว่าถ้าลูกค้ารายใหญ่ก็ให้ประโยชน์เยอะหน่อย ถ้าลูกค้ารายย่อยก็ให้น้อยหน่อย คำว่ามากหรือน้อยนั่นก็เป็นเรื่องของตัวเลข แต่มากหรือน้อยในความหมายที่ว่าถ้าให้มากแปลว่าไม่เป็นธรรม คือไม่เสมอภาค แต่การที่จะมีกติกาเรื่องอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้าที่มีจำนวนมากและมีเหตุมีผล ถ้าเป็นกติกาเป็นที่รู้กันทั่วไป อย่างนั้นถือว่าใช้ได้ แต่ถ้าเผื่อว่าลูกค้ารายใหญ่มา เราก็ดูแลอย่างดี โอ้โลมปฏิโลม ช่วยเหลือเกื้อกูลให้ได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ มากกว่าที่ควรจะได้ แต่ถ้าเป็นรายย่อยมาก็ไม่ค่อยได้สนใจ หรือไม่พยายามที่จะให้เขาได้รับประโยชน์ที่พึงได้ อย่างนี้เรียกว่าไม่เป็นธรรม

ฉะนั้นรวม 3 สิ่ง ความดี ความถูกต้อง ความเป็นธรรม ก็คือความหมายของคำว่า คุณธรรม จริยธรรม ที่จริงเราจะตีความหมายต่าง ๆ นานา ก็ย่อมได้นะครับ แต่ถือว่าเป็นความเห็นของผมว่า มองง่าย ๆ แล้วกัน ว่าคุณธรรมจริยธรรมก็คือ 1. ความดี 2. ความถูกต้อง 3. ความเป็นธรรม เพื่อจะได้เห็นชัดและนำไปปฏิบัติได้ นี่คือส่วนสำคัญนะครับ หลักการ ปรัชญา ถ้าเรานำมาปฏิบัติไม่ได้ ก็ไม่เกิดประโยชน์เท่าที่ควร คุณธรรมจริยธรรมเป็นหลักการ เป็นหลักคิด จะเรียกว่าเป็นปรัชญา เป็นธรรมะ ก็ได้นะครับ แต่เราต้องแปลมาเป็นปฏิบัติให้ได้ ผมจึงคิดว่าถ้าแปลอย่างที่ผมว่ามานะครับ คือ ความดี ความถูกต้อง ความเป็นธรรม น่าจะปฏิบัติได้ไม่ยาก

ขั้นต่อไปก็คือแล้วจะปฏิบัติอย่างไร ตรงนี้จะว่ายากก็ยาก แต่จะว่าง่ายก็ง่าย ที่ว่ายากก็คือองค์กรทั้งหลาย มักจะทำแล้วไม่ค่อยได้ผล หรือได้ผลน้อยกว่าที่ควร นั่นคือมันยาก แต่ถ้ามองอีกนัยหนึ่ง ผมคิดว่าไม่ยาก และที่จะเสนอแนะก็คือวิธีปฏิบัติที่ผมเชื่อว่าไม่ยาก วิธีปฏิบัติในเรื่องนี้ผมคิดว่าสำคัญที่สุดก็คือผู้บริหาร ถ้าเจาะลงไปก็ต้องเป็นท่านผู้อำนวยการ เพราะเป็นผู้บริหารสูงสุดขององค์กร ถ้าในประเทศเราต้องยกให้ท่านนายกรัฐมนตรี เป็นผู้นำในเชิงการปกครอง ในจังหวัดก็มีผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ตำบลก็มีนายก อบต. เป็นต้นนะครับ ผู้บริหารสูงสุดสำคัญที่สุด ที่จะพาองค์กรไปทางใดทางหนึ่ง ถัดจากผู้บริหารสูงสุด ผมคิดว่าคือคณะกรรมการ คณะกรรมการเป็นกลไกการกำกับดูแลองค์กรที่สำคัญที่สุดในองค์กร เพราะเป็นคณะบุคคลซึ่งได้รับมอบหมายจากสังคม ผมใช้คำว่าจากสังคมนะครับ ผ่านรัฐบาล ที่ว่าจากสังคมก็เพราะว่าธนาคารออมสินก็เช่นเดียวกับรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐทั้งหลาย เจ้าของคือสังคม ไม่ใช่รัฐบาลครับ สังคมเป็นเจ้าของ สังคมก็อาศัยกลไกของรัฐบาลแต่งตั้งคณะกรรมการ มาดูแล มากำกับ มาให้ทิศทาง ฉะนั้นคณะกรรมการจึงเป็นกลไกที่สำคัญที่สุดรองจากผู้อำนวยการ ผมยังให้น้ำหนักกับผู้อำนวยการเป็นอันดับหนึ่งนะครับ เพราะว่าท่านอยู่ทุกวันทำงาน แต่ในความเป็นจริงท่านก็อยู่ตลอด 24 ชั่วโมงต่อวัน 7 วันต่อสัปดาห์ ในความคิดจิตใจผมเชื่อว่าเป็นเช่นนั้น ท่านเดินทางไปต่างประเทศก็ยังเขียนจดหมายถึงพนักงานรวมเป็นเล่มขายได้อีก คณะกรรมการประชุมกันอาจจะเดือนละครั้ง แต่มีคณะอนุกรรมการย่อย ๆ ก็ทำงานมาก แต่ที่สำคัญก็คือว่าเป็นกลไกที่กำหนดทิศทางกำหนดนโยบายกำหนดหลักการสำคัญ ๆ ถ้า    2 กลไกนี้ครับ คือระหว่างผู้อำนวยการกับคณะกรรมการ เข้าใจ เห็นความสำคัญและมุ่งมั่นที่จะพัฒนา     คุณธรรมจริยธรรม ต่อไปเป็นเรื่องไม่ยาก การที่ผู้อำนวยการก็ดี คณะกรรมการก็ดี จะเห็นความสำคัญ และมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของธนาคารออมสิน ก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องยากใช่ไหมครับ เพราะคุณธรรมจริยธรรมไม่ใช่เรื่องยากอยู่แล้วที่จะเข้าใจ การมีความมุ่งมั่นก็ไม่ใช่เรื่องยากครับเพราะเป็นหน้าที่ของท่านอยู่แล้ว ถ้าเผื่อสองจุดนี้ มีความมุ่งมั่น จุดต่อไปก็จะง่ายขึ้น แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเกิดโดยอัตโนมัตินะครับ ก็ต้องใช้ความพยายามอีกเหมือนกัน

เมื่อคณะกรรมการและผู้อำนวยการมีนโยบายชัดเจน และเป็นผู้นำทางความคิด ทางการจัดการ มีการให้ทิศทางและสนับสนุนด้วยงบประมาณตามสมควร สิ่งที่ต้องทำต่อไปก็คือ บรรดาหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีผู้บริหารหน่วยงาน เป็นผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานสูงสุดและผู้บริหารรอง ๆ ลงไป ที่นี่ก็คงจะเป็นฝ่าย เป็นสำนัก เป็นภาค เป็นสาขา ไล่เรียงลงไป ผู้บริหารหรือคณะผู้บริหารของแต่ละหน่วยงาน ก็ชอบที่จะนำนโยบายเรื่องคุณธรรมจริยธรรมไปประยุกต์ใช้ไปปฏิบัติ

แต่ตรงนี้เป็นศิลปะที่ผมมักจะแนะนำเสมอนะครับ คือแนะนำว่า ไม่ใช่คณะกรรมการและ ผู้อำนวยการผลิตหนังสือที่เรียกว่าจรรยาบรรณ แล้วก็ส่งไป แล้วบอกว่าจงปฏิบัติตามนี้ แล้วหวังว่าจะเกิดขึ้น  ไม่พอ สิ่งที่จะช่วยให้เกิดขึ้นก็คือ เปิดโอกาสและส่งเสริม สนับสนุนด้วยนโยบาย และด้วยงบประมาณตามสมควรให้แต่ละหน่วยงานได้ไปคิดเองทำเอง ไม่ต้องไปบอก เพราะผมคิดว่าอะไรคือความดี อะไรคือความถูกต้อง อะไรคือความเป็นธรรม แต่ละหน่วยงาน ผู้บริหารหน่วยงาน พนักงานในหน่วยงาน คิดได้  และควรเป็นคนคิด คิดแล้วมาทำความตกลงกันภายในหน่วยงานแล้วทำตามนั้น เมื่อทำไปก็สร้างระบบติดตามประเมินผลตามไปด้วย ติดตามประเมินผลได้อย่างไร นำมาเรียนรู้และจัดการความรู้ การเรียนรู้จากการปฏิบัติ ที่ภาษาเทคนิคอาจจะใช้คำว่า After Action Review  AAR ก็เป็นคำที่ใช้กันนะครับ พัฒนามาจากวิธีการของกองทัพอเมริกัน เมื่อทำสงครามกับที่ต่าง ๆ เขาก็ใช้เทคนิคที่เรียกว่า AAR  แล้วธุรกิจก็ได้นำไปประยุกต์ใช้กันมาก โดยเฉพาะในกระบวนการที่เรียกว่า การจัดการความรู้ ก็คือ ทำไปแล้วเรียนรู้จากการกระทำ ไม่ใช่ทำแล้วก็ทำไป แล้วพรุ่งนี้ก็ทำอีกโดยไม่เรียนรู้จากเมื่อวาน ถ้านำเรื่องคุณธรรมจริยธรรมมาคิดเองทำเอง ทำไปแล้วติดตามประเมินผลแล้วเรียนรู้จากที่เราทำ นั่นเรียกว่า AAR เป็นส่วนหนึ่งของคำว่าการจัดการความรู้

คำว่าจัดการความรู้จะมากกว่านั้น คือนำสิ่งที่ทำ มาพินิจพิจารณา ให้คนที่ทำนั้นเอง มาพินิจพิจารณา แล้วเรียนรู้จากที่ทำ ประมวล วิเคราะห์ สังเคราะห์ ออกมาเป็นความรู้ บันทึกไว้เพื่อใช้ประโยชน์ในภายหลัง และเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับกลุ่มอื่น ๆ หน่วยงานอื่น ๆ ในแต่ละฝ่ายมีหลายหน่วยงาน แต่ละหน่วยงานก็ไปประยุกต์การสร้างคุณธรรมจริยธรรมตามที่ได้ไปคิดเองทำเอง แล้วหลาย ๆ หน่วยงานนอกจากจะเรียนรู้จากสิ่งที่ตนทำแล้ว ก็มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันโดยมีระบบที่มานั่งคุยกัน ล้อมวงคุยกัน เอาข้อมูล เอาการปฏิบัติจริงมาพูดกัน แล้วให้คนที่ทำนั่นแหละมาพูด ไม่ต้องเอาวิทยากรที่ไหนมาพูด ถ้ามีวิทยากร ก็มาเป็นผู้เอื้ออำนวย ที่เราเรียกว่าคุณอำนวย ภาษาอังกฤษคือ Facilitator   เอื้ออำนวยให้เกิดการเรียนรู้และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มีการวิเคราะห์สังเคราะห์จัดระบบความคิด มีการบันทึกเป็นระบบข้อมูลไว้ เพื่อจะได้ใช้ประโยชน์ต่อไป พูดถึงการบันทึกและการทำระบบข้อมูล

ผมเพิ่งไปจังหวัดสระแก้วเมื่อวันศุกร์นี้เอง ก็ประทับใจมาก ที่มีชาวบ้านในหมู่บ้านนะครับ มีระบบข้อมูลและระบบความรู้ น่าประทับใจมาก เขานำข้อมูลต่าง ๆ ความรู้ต่าง ๆ บันทึกไว้ในคอมพิวเตอร์ แล้วก็มาฉายดูกันเป็นระยะ ๆ แล้วใช้คอมพิวเตอร์อย่างมีประสิทธิภาพนะครับ ผู้ใหญ่บ้านมานำเสนอเป็น Power Point ซึ่งทำเอง และทำได้ดีกว่าผมอีก แล้วได้ใช้ความรู้ที่เขามีใส่คอมพิวเตอร์ไว้ให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม เกิดประโยชน์ต่อหมู่บ้านอย่างเป็นรูปธรรม แล้วหมู่บ้านเขามีการพัฒนาน่าชื่นชม เขาพัฒนามาประมาณ 5 ปี โดยการสนับสนุนของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ที่ผมลาออกจากออมสินไปเป็นประธานสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ถึงแม้จะไม่ใช่ผู้บริหารเต็มเวลา แล้วระบบข้อมูลและความรู้ที่หมู่บ้านนี้ได้ขยายไปหมู่บ้านอื่น ๆ หลายหมู่บ้านในตำบล และหลายตำบลในจังหวัดสระแก้ว ผมเองได้ใช้ความพยายามที่จะส่งเสริมระบบข้อมูลและความรู้ขึ้นทั่วทุกท้องถิ่น จะเป็นประโยชน์มหาศาล

นี่ก็เล่าให้ฟัง ให้เห็นว่าเรื่องการใช้ข้อมูลและความรู้ให้เป็นประโยชน์นั้น ชาวบ้านทำแล้วนะครับ ทำแล้วก้าวหน้าด้วย ฉะนั้นออมสินไม่ควรจะน้อยหน้ากว่าชาวบ้าน ที่จะมีระบบข้อมูลและความรู้ในเรื่องคุณธรรมและจริยธรรม นอกเหนือไปจากเรื่องอื่น ๆ ถ้าใช้ระบบข้อมูล ระบบความรู้ แล้วมีการจัดการความรู้ภายในหน่วยงานย่อย ระหว่างหน่วยงานย่อย ภายในหน่วยงานใหญ่ ระหว่างหน่วยงานใหญ่ และต่อไปครับ ภายในธนาคารออมสิน และระหว่างธนาคารออมสินกับองค์การอื่น ๆ อาจจะเป็นรัฐวิสาหกิจด้วยกัน หรือจะเป็นหน่วยงานประเภทกระทรวง กรม ต่าง ๆ ผมได้เริ่มต้นที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่งคงของมนุษย์ หลังจากเข้าไปเป็นรัฐมนตรีนะครับ ก็มีโครงการที่เรียกว่า ราชการไทยใสสะอาด ทำกันมาหลายปีแล้วครับ แต่ไปดูจริง ๆ ก็ยังงั้น ๆ แหละ เพราะว่ามีนโยบายบอกไว้ให้ทำ เขาก็ทำ จุดอ่อนที่ผมค้นพบก็คือว่า ไม่ได้เปิดโอกาสให้ข้าราชการเขาได้คิดเองทำเอง แล้วก็นำเอาสิ่งที่คิดแล้วทำแล้วมาเรียนรู้ แล้วมีการจัดการความรู้ ผมก็เลยไปส่งเสริมให้เขาสร้างระบบจัดการความรู้ขึ้นมา ได้ประสานความร่วมมือกับสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม หรือ สคส. ที่มีคุณหมอวิจารณ์ พานิช เป็นผู้อำนวยการ ดร.ประพนธ์ ผาสุขยืด เป็นรองผู้อำนวยการ ที่ได้เคยขอความร่วมมือให้มาช่วยจัดการจัดการความรู้ให้กับเครือข่ายครูที่จังหวัดสมุทรปราการ ท่านที่เกี่ยวข้องคงจะทราบ และเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาเครือข่ายครูจังหวัดสมุทรปราการก็มีการประชุมใหญ่ เขาขอให้ผมไปพูดเปิด เพราะว่าผมเคยไปพูดให้เขาหนหนึ่ง และขณะนี้เรื่องของครู การแก้หนี้ครูการพัฒนาชีวิตครูก็ได้รับการฟื้นฟูขึ้นมา เป็นเรื่องที่ผมชื่นชมยินดีอีกเรื่องหนึ่ง หลังจากที่เริ่มต้นเมื่อปี 2543 แล้วก็พัฒนาเรื่อยมาจนกระทั่งสามารถพัฒนาชีวิตครูหรือว่าช่วยครูที่เข้าโครงการ ไม่ทราบเดี๋ยวนี้เท่าไรแล้ว หกหมื่น เจ็ดหมื่นคน ใช้เงินไปห้าหกหมื่นล้าน แต่ว่ายอดคงเหลือเข้าใจว่าสี่หมื่นกว่าล้านบาท เงินไม่ใช่น้อยนะครับ ที่ธนาคารออมสินได้ดำเนินการไปเพื่อพัฒนาชีวิตครู ก็เป็นโครงการที่ควรอย่างยิ่งจะต้องมีระบบการเรียนรู้และจัดการความรู้ ที่ผมได้พยายาม พยายาม จนกระทั่งในที่สุดก็กำลังดำเนินการอยู่ การเรียนรู้และการจัดการความรู้จะช่วยโครงการพัฒนาชีวิตครูอย่างยิ่งเลยครับ

เช่นเดียวกัน โครงการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมในธนาคารออมสินจะได้ประโยชน์อย่างยิ่งจากกระบวนการจัดการความรู้ ผมมั่นใจเลยครับ ผสมกับที่เปิดโอกาสและสนับสนุนให้พนักงานในกลุ่มต่าง ๆ ในองค์กรย่อย ในหน่วยงานย่อยได้คิดเองทำเอง อย่าไปบอกว่าที่ดีเป็นอย่างไร ให้เขาคิดเองทำเอง แล้วมาเรียนรู้กันเอง แล้วมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับกลุ่มอื่น ๆ ทำเช่นนี้อย่างต่อเนื่อง ผมมีความมั่นใจครับว่าธนาคารออมสินจะพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม ในภาคปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมและอย่างเป็นจริง และอย่างมีคุณภาพ และจะเป็นองค์การชั้นนำ ที่จะมีผลต่อการขยาย หรือสร้างเครือข่ายองค์การแห่งคุณธรรมจริยธรรมในภาครัฐ สามารถต่อไปถึงภาคเอกชน ซึ่งขณะนี้ผมก็ได้ประสานความร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์ฯและองค์กรภาคธุรกิจนะครับ ให้เขามีสถาบัน CSR Corporate Social Responsibility  ได้ทราบมาว่าคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯได้อนุมันติแล้ว จะเปิดตัวปลายเดือนเมษายน โดยที่เป็นความร่วมมือภายในตลาดหลักทรัพย์ฯรวมถึงบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯและองค์การธุรกิจอื่น ๆ เป็นต้นว่า หอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สภาตลาดทุนแห่งประเทศไทย เป็นต้น นั่นคือเรื่องความดีนั่นเอง ในภาคธุรกิจคำว่า Corporate Social Responsibility ผมเสนอให้เขาใช้คำว่า เป็นสถาบันธุรกิจเพื่อสังคม ธุรกิจเพื่อสังคมก็คือธุรกิจที่คำนึงถึงสังคม และเพื่อประโยชน์ต่อสังคม เป็นการต่างตอบแทนระหว่างธุรกิจกับสังคม ธุรกิจทำประโยชน์ให้สังคม สังคมก็ทำประโยชน์ให้กับธุรกิจ ต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์ เช่นเดียวกับที่ผมเชื่อว่า ธนาคารออมสินยังคงดำเนินการตามหลัก 3 ประสานที่ ผู้ประกาศได้กล่าวถึง ที่ว่าสังคมได้ประโยชน์ ธนาคารเจริญ พนักงานเป็นสุข

ผมเชื่อว่าเวลาที่ผ่านมา ได้ชี้ให้เห็นว่าธนาคารออมสินได้ทำประโยชน์ให้กับสังคม ชัดเจน แล้วธนาคารออมสินก็มีความเจริญก้าวหน้ามาเป็นลำดับนะครับ ที่ผมไม่อาจบอกได้ก็คือข้อสุดท้าย เพราะว่าไม่ได้อยู่ที่นี่ แต่ความเป็นสุขนี่วัดได้นะครับ ผมอยากจะแนะด้วยซ้ำไปว่า ให้ลองสร้างตัวชี้วัดความสุขขึ้นมา พวกเราก็คงได้ยินเรื่อง GNH Growth National  Happiness  เป็นระบบคิด เป็นหลักการ เป็นแนวทางการพัฒนา ซึ่งได้รับความสนใจมากขึ้นในช่วงประมาณ 5 ปีที่ผ่านมา และประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่สนใจเรื่องนี้

ที่จริงประเทศไทยตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 ได้ให้ความสนใจกับความอยู่เย็นเป็นสุขของประชาชน ที่ไม่ใช่แค่มีรายได้ประชาชาติสูง ได้พูดไว้ในแผนฯ 8  ว่าต้องสร้างตัวชี้วัดผลสุดท้ายที่เกิดกับคน นั่นก็คือความสุขของคน ความสันติสุข ความมั่นคงของคน  เพราะแผนฯ 8 บอกว่าคนเป็นศูนย์กลาง พอดีหลังจากแผนฯ 8 ประกาศใช้ เราเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ รัฐบาลก็มัววุ่นวายเรื่องแก้วิกฤติ พอมาแผนฯ 9 เราได้รัฐบาลที่ค่อนข้างไปในทางการใช้เงิน และการขยายการซื้อการขายซึ่งก็ไม่ผิดอะไรนะครับ แต่ว่าเกินไปหรือไม่ก็เป็นประเด็นที่ต้องพูดในเวทีอื่น จนกระทั่งมาแผนฯ 10 เราก็มาพูดถึงเศรษฐกิจพอเพียง อีกครั้งหนึ่ง ที่จริง แผนฯ 9 พูดถึงเศรษฐกิจพอเพียงนะครับ แต่ไม่ได้นำมาปฏิบัติเลย จนใกล้จะหมดแผนฯ 9 พอดีประจวบกับ 60 ปี ครองราชย์ และก็มา 80 ปี พระชนมพรรษา กับกระบวนการเรื่อง GNH ก็ทำให้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงกับเรื่องความสุขมวลรวมของประชาชาติ หรือความสุขของสังคม ความสุขของชุมชน ความสุขของท้องถิ่น เป็นประเด็นสำคัญขึ้นมา แล้วผมกำลังส่งเสริมให้ทุกชุมชนทุกท้องถิ่นสร้างตัวชี้วัดความสุข ที่ว่าชุมชนเป็นสุข ท้องถิ่นเป็นสุข อำเภอเป็นสุข จังหวัดเป็นสุขนั้น เป็นอย่างไร ได้มีการพัฒนากันมาไม่ใช่น้อยแล้วนะครับ

ฉะนั้นจึงไม่ยาก แต่รายละเอียดผมคงไม่ขอพูดถึงนะครับ แต่ที่พูดถึงเพราะอยากให้ธนาคารออมสิน ถ้าเห็นว่าเรื่องความสุขพนักงานเป็นเรื่องสำคัญ สร้างตัวชี้วัดขึ้นมาได้ครับ ตัวชี้วัดความสุขของพนักงาน แล้วไม่ต้องไปให้ใครมาบอกนะครับ คิดกันเอง คิดกันในหน่วยงานต่าง ๆ แล้วจะเห็นเองว่า ส่วนหนึ่งของความสุขนั้นมาจากการมีคุณธรรมจริยธรรม

ที่จริงแล้วข้อนี้เป็นผลงานวิจัยนะครับ ระดับสากล ที่วิจัยการพัฒนาของธุรกิจที่มีขนาดใหญ่หรือขนาดปานกลางแต่เจริญก้าวหน้ามาอย่างยาวนานและพบว่าจำนวนมากเลยเป็นธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม นั่นคือมีคุณธรรมจริยธรรม ทำสิ่งที่ดี ทำสิ่งที่ถูกต้อง ทำสิ่งที่เป็นธรรม แล้วปรากฏว่าธุรกิจมีความเจริญก้าวหน้า เพราะอะไรครับ เพราะสังคมเห็นว่าธุรกิจนี้ดี จึงมาเป็นลูกค้า จึงค้าขายด้วย จึงมารับบริการ จึงสนับสนุน มีตัวอย่างมากมายครับ ถึงขั้นที่เกิดอุบัติเหตุมีปัญหาปรากฏว่า ธุรกิจนั้น ๆ ทำประโยชน์ให้  ชุมชน ให้สังคม ก็ได้รับการสนับสนุนจากชุมชน จากสังคม

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/92847

<<< กลับ

การสร้างองค์การแห่งคุณธรรม จริยธรรม (ต่อ)

การสร้างองค์การแห่งคุณธรรม จริยธรรม (ต่อ)


เราไม่ต้องมองไกลนะครับ ในประเทศไทยเรา กรณีบริษัทน้ำมันบางจาก กรณีบริษัทมติชน ที่มีปัญหา ผมอาจจะไม่สามารถพูดได้ว่าสองบริษัทนี้ดีมากน้อยแค่ไหน เอาเป็นว่าเขาได้ทำบางสิ่งบางอย่างที่สังคมเห็นคุณค่า ฉะนั้นพอมีปัญหาสังคมเข้าไปช่วยครับ นั่นคือกรณีพิเศษ แต่ในกรณีปกติแล้วถ้าธุรกิจไหนทำประโยชน์ให้สังคมมาก สังคมจะสนับสนุน ทั้งในฐานะที่เป็นลูกค้าและการสนับสนุนเรื่องอื่น และนอกจากนั้นครับปรากฏว่าพนักงานที่ทำงานในบริษัทที่รับผิดชอบต่อสังคม บริษัทที่มีคุณธรรมจริยธรรม มีความภาคภูมิใจ มีความผูกพัน มีความรัก กับบริษัท ที่เขาเรียกว่ามี Loyalty จึงกลายเป็นบุคลากรที่มีคุณค่ากับบริษัท เพราะว่าเมื่อมีความรัก ความผูกพัน ความภาคภูมิใจ อะไรจะเกิดขึ้นครับ เขาอุทิศตน เขาอุทิศเวลา เขาอุทิศสมอง เขาอุทิศกำลังใจให้ จึงทำให้พนักงานเหล่านั้นมีความภูมิใจและมีความสุขในการทำงาน ในชีวิตการทำงาน  ซึ่งมีความหมายยิ่งกว่าความสุขที่เกิดขึ้นเพราะว่าได้เงินเดือนสูง เงินเดือนสูงก็อาจจะช่วยให้มีความสุข แต่ก็อาจไม่แน่ ไม่ยั่งยืน ถ้ามีอย่างอื่นที่มากระทบในทางที่ทำให้เกิดความทุกข์ หรือความไม่พอใจแล้ว เงินเดือนสูงไม่มีคุณค่าเลย อาจจะมีบางกรณีนะครับ บางคนอึดอัดเต็มทีอยากจะออก แต่เสียดายเงิน แต่เงินเดือนดีเหลือเกิน ก็อาจจะมีอยู่บ้าง 

            แต่โดยทั่วไปกล่าวได้ว่า ความสุขนั้นเกิดจากการมีคุณธรรมจริยธรรม และการที่บุคคลเหล่านั้นได้ปฏิบัติคุณธรรมจริยธรรมเป็นความสุขในตัว ความสุขในใจ ฉะนั้นเรื่องคุณธรรมจริยธรรมกับเรื่องความสุขของพนักงาน จึงเป็นเรื่องเกี่ยวพันกัน ก็จะเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อ ทุกฝ่ายใช่ไหมครับ แต่ทีนี้การทำตัวชี้วัดนั้นไม่ยาก สนุกด้วยนะครับลองทำดู อาจจะเป็นตัวอย่างให้ที่อื่นมาเรียนรู้แล้วก็ลองไปทำบ้าง เพราะความสุขเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าท่านวัดวัดความสุขได้ทำให้เราตื่นตัว ทำให้เราสนใจ เราจะได้ดูว่า ถ้าความสุขมีแนวโน้มลดลงเพิ่มขึ้น เราจะได้มาดูว่าแล้วเราจะมาปรับปรุงอย่างไร เพื่อให้ความสุขเรามากขึ้น ถามว่าความสุขในที่นี้มีความหมายหลายมิติหลายองค์ประกอบ ซึ่งผมเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้ท่านไปคิดเองได้ ไม่ต้องให้นักวิชาการมาบอก แต่ถ้าอยากจะศึกษาจากที่เขาเคยทำกันมาก็มีครับ มีเยอะ ความสุขของคน ของครอบครัว ของชุมชน ของท้องถิ่น ระดับตำบล ระดับจังหวัด มีให้ศึกษาได้ ในประเทศออสเตรเลียมีตัวอย่างว่า เทศบาลแห่งหนึ่งเขาจะวัดความสุข เขาก็วัดหลายอย่าง แต่อย่างหนึ่งที่เขาวัดก็คือให้คนไปสังเกตดูว่าเวลาคนเดินมาเยอะ ๆ มีคนหัวเราะกี่คน คิดเป็นเปอร์เซ็นต์เท่าไร คนเดินมาหน้ามุ่ย เคร่งเครียด นั่นแปลว่าความสุขไม่ค่อยมี ก็เป็นเทคนิคนะครับ อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เป็นเครื่องชี้ได้ 

            อยากจะพูดอีกหน่อยหนึ่งครับว่า การปฏิบัติคุณธรรมและจริยธรรมไม่ใช่แปลว่าเป็นการไปทำความดี ความถูกต้อง ความเป็นธรรม ที่ไม่ใช่อยู่ในกิจการ ท่านอาจจะนึกถึงว่าทำความดีก็ไปเป็นอาสาสมัคร ไปช่วยดูแลคนแก่ คนเจ็บป่วย สมัยที่ผมเป็นผู้อำนวยการก็มีคณะอาสาสมัครวันเสาร์-อาทิตย์ก็ออกไปต่างจังหวัด ไปส่งเสริมเรื่องการทำบัญชีที่ถูกต้อง ไปส่งเสริมเรื่องปุ๋ยชีวภาพ อาจจะมีครอบครัวพนักงานติดตามไป บางคนเป็นแพทย์ไปช่วยตรวจสุขภาพ บางคนเป็นช่างตัดผมไปตัดผมให้เด็ก ก็แล้วแต่ก็มีหลาย ๆ อย่าง อันนั้นเป็นความดีครับ ดีนะครับ ควรทำนะครับ แต่ว่าความดี ความถูกต้อง ความเป็นธรรม ดีที่สุดคือต้องอยู่ในตัวกิจกรรม กิจการขององค์การ   เป็นความดีในธุรกิจของธนาคารออมสิน เป็นความถูกต้องในธุรกิจของธนาคารออมสิน เป็นความเป็นธรรม ในธุรกิจของธนาคารออมสิน ตรงนั้นจะสำคัญที่สุด แต่พร้อมกันนั้นเราสามารถจะมีความดี ความถูกต้อง และความเป็นธรรม นอกจากกิจการขององค์การด้วย ทำสองอย่างควบคู่กันไปก็ถือว่าดีที่สุด

            ท่านผู้มีเกียรติ เพื่อน ๆ ที่รักและเคารพทุกท่านครับ ผมได้พูดมา คิดว่ามากพอสมควร ในเรื่องซึ่งดูเหมือนเป็นนามธรรม บางทีก็ดูว่ายาก แต่ผมได้สรุปว่าจริง ๆ แล้วเป็นรูปธรรม แล้วก็ไม่ยาก ผมได้เสนอทั้งความหมายของคุณธรรมจริยธรรม แต่ที่สำคัญคือการปฏิบัติ ซึ่งผมเชื่อว่าท่านมีผู้นำที่ดี ท่านผู้อำนวยการผมก็รู้จักท่านมาหลายปี นึกถึงท่านทีไรก็นึกถึงเสียงหัวเราะ ท่านเป็นคนอารมณ์ดี และเห็นแก่ส่วนรวม เป็นคนที่ใจใหญ่ ท่านประธานก็รู้จักท่านมาหลายปี คณะกรรมการเห็นหน้าก็คุ้น ๆ ทั้งนั้น ดูชื่อท่านที่ไม่มาผมก็รู้จัก ก็ถือว่าวันนี้ผมดีใจได้มาพบท่านประธาน ท่านกรรมการ ท่านผู้อำนวยการและเพื่อน ๆ ที่ยังอยู่นะครับ ที่ยังอยู่แปลว่าอายุยังไม่มาก ถ้าอายุมากคงตามผมไปหมดแล้ว ที่ยังอยู่นี่ยังเป็นสาว ยังเป็นหนุ่มอยู่ มองทางนี้ก็มีหลายสาว ทางนี้ก็หลายหนุ่ม ส่วนน้อง ๆ ข้างหลัง บางคนก็ทันกัน บางคนก็ไม่ทัน ผมก็หวังว่าสิ่งที่ผมได้พูดมานี้คงเป็นประโยชน์บ้าง สำหรับท่านนำไปคิดไปพิจารณา และผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านจะมุ่งมั่นทำสิ่งนี้ แล้วก็มาร่วมเป็นเครือข่าย กับอีกหลายองค์การ อีกหลายหน่วยงาน เพราะว่ารัฐบาลนี้ก็พยายามอย่างยิ่งครับ ที่จะส่งเสริมเรื่องคุณธรรมจริยธรรม ความดี ความถูกต้อง ความเป็นธรรม รวมถึงเรื่องที่เราเรียกว่าธรรมาภิบาล รวมถึงสิ่งที่เรียกว่า เศรษฐกิจพอเพียง เศรษฐกิจพอเพียงก็เป็นความดีในตัวเอง เป็นความถูกต้องในตัวเอง เป็นความเป็นธรรมในตัวเอง เศรษฐกิจพอเพียง ความพอดี ความสมเหตุสมผล ความมีภูมิคุ้มกัน เพื่อให้เกิดความมั่นคง การใช้ความรู้ การใช้คุณธรรม ฉะนั้นเศรษฐกิจพอเพียงก็เป็นเรื่องที่เชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับเรื่องคุณธรรม จริยธรรม เรื่องความดี เรื่องความถูกต้อง เรื่องความเป็นธรรม รัฐบาลนี้ส่งเสริมเต็มที่ในทั้งเรื่องคุณธรรม จริยธรรม ธรรมาภิบาล เศรษฐกิจพอเพียงและเรื่องที่เกี่ยวพันกัน ทั้งในภาครัฐและนอกภาครัฐ ในภาครัฐก็คือ กระทรวง กรม องค์การมหาชน รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น นอกภาครัฐก็คือ สถาบันการศึกษา สถาบันศาสนา องค์การพัฒนาเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจ สื่อมวลชน และอื่นๆ ก็หวังว่า จะมุ่งมั่นทำสิ่งนี้ จะมีคุณธรรมจริยธรรม ธรรมาภิบาล เศรษฐกิจพอเพียง หรือปรัชญาพอเพียงในองค์การต่าง ๆ ในกลุ่มต่าง ๆ เพื่อการต่าง ๆ ทั้งในภาครัฐและนอกภาครัฐ ก็เชื่อว่าจะทำให้สังคมไทยดีขึ้น สังคมไทยดีขึ้นจะเป็นสังคมที่ดีงาม สังคมที่ผู้คนมีความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันนั่นก็เป็นความฝันอันสูงสุดของพวกเราทั้งหลาย ขอขอบคุณและสวัสดีครับ

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/92848

<<< กลับ

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 14 (30 เม.ย.50)

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 14 (30 เม.ย.50)


เวลาหยุดพักคือเวลาทำงาน (อีกแบบหนึ่ง)

สัปดาห์ที่ผ่านมา ผมยังคงมีวาระงานค่อนข้างมากทุกวัน โดยมีเรื่องสำคัญๆหลายเรื่องให้พิจารณาและดำเนินการ เช่น การประชุมคณะกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย การประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนสนับสนุนกีฬา การประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองงานเสนอ ครม. การประชุมคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ การประชุมคณะกรรมการการป้องกันแก้ไขโรคไข้หวัดนก และปัญหาการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ ฯลฯ

วันพฤหัสบดีที่ 26 มีเหตุกระทันหันต้องไปพบหารือเจ้าของที่ดินซึ่งฟ้องและแจ้งให้ตำรวจจับคนชุมชนแออัดแห่งหนึ่งไปหลายคนฐานบุกรุกที่ดินแล้วไม่ยอมย้ายออก โดยนัดพบกันตอนค่ำที่โรงแรมแห่งหนึ่ง

วันศุกร์ที่ 27 กลับถึงบ้าน 5 ทุ่ม โดยยังไม่ได้ทานอาหารค่ำ เนื่องจากกลุ่มทำงานมาหารือเรื่องการแก้ปัญหาหนี้เกษตรกรแล้วหารือติดพันไม่จบจนดึก

วันเสาร์ที่ 28 เดิมคิดว่าจะให้เป็นวันหยุดพักสัก 1 วัน แต่ได้ตัดสินใจชวนทีมงานวงเล็ก 7 คนมาหารือถึงสถานการณ์ล่าสุดและแนวดำเนินการระยะต่อไป

หารืออยู่จนบ่าย กลับบ้านแล้วออกไปเข้าเฝ้าถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ที่พระราชวังสวนจิตรลดา เนื่องในวโรกาสวันคล้ายวันราชาภิเษกสมรส

วันอาทิตย์ที่ 29 ไปจังหวัดชัยนาท เป็นประธานเปิดบ้านดินที่ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนป๋วย อึ๊งภากรณ์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยฯ พบเยาวชนที่เข้าโครงการค่ายเยาวชน “ตามรอยอาจารย์ป๋วย” และพบผู้เข้าประชุม “คณะทำงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สังคม จังหวัดชัยนาท” ก่อนเดินทางไปเยี่ยมศึกษากิจกรรมพัฒนาที่ตำบลหนองแซง อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท ซึ่ง อบต. ที่นั่นได้รางวัลผลงานดีเด่นมากมายจนนับไม่ถ้วนกลับถึงกรุงเทพฯก็ตกค่ำ

สรุปแล้ว ทั้งสัปดาห์แทบไม่ได้หยุดพัก แต่กิจกรรมวันเสาร์และอาทิตย์ที่ผ่านมานั้นไม่หนักเท่าใด จะถือว่าเป็นการหยุดพักกลายๆก็คงพอได้

ซึ่ง “การหยุดพัก” นั้น ที่จริงเป็นโอกาสให้สมองได้ผ่อนคลาย แล้วเลยเกิดความคิดดีๆผุดขึ้นได้โดยสะดวก แม้ไม่ได้พยายาม

จึงกล่าวได้ว่า “เวลาหยุดพักคือเวลาทำงาน (อีกแบบหนึ่ง)” แถมยังสามารถเป็นการทำงานที่มีประสิทธิภาพและคุณภาพได้อีกด้วย

 

สวัสดีครับ

ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/93360

<<< กลับ

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคมฉบับที่ 15 (8 พ.ค.50)

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคมฉบับที่ 15 (8 พ.ค.50)


ขยายความ “เวลาหยุดพักคือเวลาทำงาน (อีกแบบหนึ่ง)”

ที่ผมกล่าวว่า “เวลาหยุดพักคือเวลาทำงาน (อีกแบบหนึ่ง)” นั้น ขยายความได้ดังนี้ครับ

โดยปกติ เวลาที่เรากำลังทำอะไรอยู่ เช่น ประชุมพิจารณาเรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือหลายเรื่อง ปรึกษาหารือเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ดูแฟ้มเสนองานและพิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องที่อยู่ในแฟ้ม ไปทำหรือร่วมกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ให้สัมภาษณ์ แถลงข่าว หรือแม้แต่เดินทางไปยังจุดหมายใดจุดหมายหนึ่งเพื่อกิจการอย่างใดอย่างหนึ่ง ฯลฯ

ในสภาวะการณ์เหล่านี้ ความคิด จิตใจ สมอง อารมณ์ และแม้แต่ร่างกายของเรา จะผูกพันอยู่กับเรื่องที่เป็นประเด็นให้คิดพิจารณา หรือเป็นจุดสนใจ หรือเป็นจุดตั้งใจ

เรื่องอื่นๆจะถูกกันไว้ก่อน ในระบบความคิด ในสมอง และแม้แต่ในอารมณ์ความรู้สึกของเรา ซึ่งเรื่องอื่นๆนี้ย่อมมีอยู่มากมาย ทั้งที่สะสมพอกพูนไว้ และที่ยังเกิดใหม่อยู่เรื่อยๆ

ดังนั้น เมื่อใดที่เราว่างจากกิจกรรมเฉพาะเจาะจง หรือในช่วงเวลาที่เราหยุดพักจาก “งาน” อย่างใดอย่างหนึ่งนั่นเอง สมอง ความคิด อารมณ์ และแม้แต่ร่างกายของเรา จะมีโอกาสได้จัดการ ดำเนินการ หรือเกี่ยวพันกับเรื่องต่าง ๆ ที่ได้สะสมพอกพูนหรือรับรู้ไว้

ตัวอย่างเช่น เวลานอนหลับแล้วตื่นขึ้นมา เรามักพบว่าเกิดความคิดเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ที่เป็นประเด็นค้างอยู่ในใจของเรา ผมเองมีประสบการณ์เช่นนี้อยู่บ่อยๆ และมักจะเป็นความคิดดีๆเสียด้วย

หรือเวลาที่เป็นช่วง “หยุดพัก” อื่นๆ ได้แก่ ระหว่างออกกำลังกาย ระหว่างใช้ห้องน้ำ ระหว่างทานอาหาร ระหว่างนั่งรถเดินทาง ฯลฯ ผมก็มักได้ความคิดเกี่ยวกับเรื่องที่เป็นประเด็นสะสมในสมองอยู่เสมอๆ

นั่นคือ ระหว่างการ “หยุดพัก” สมองเรามิได้หยุด ยังทำงานอยู่ รวมถึงการทำงาน ในลักษณะ “เก็บตก” เรื่องที่ยังไม่ได้จัดการให้เรียบร้อย และการทำงานเกี่ยวกับเรื่องในอนาคต ซึ่งสมองก็ต้องคิดพิจารณาเพื่อจะดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นธรรมชาติปกติอยู่แล้ว

ส่วนในช่วงเวลาของการ “หยุดพักยาวหน่อย” เช่น ในวันหยุดที่ไม่มีภารกิจการงานอันเจาะจง ย่อมเป็นโอกาสให้นำ “งาน” ที่ยังค้างสะสมอยู่มาดำเนินการ รวมถึงการเคลียร์แฟ้มที่ยังไม่ได้ดู เคลียร์เอกสารที่ยังไม่ได้อ่านหรือจัดการอย่างใดอย่างหนึ่ง ติดต่อสื่อสารกับบุคคลตามที่ตั้งใจไว้แต่ยังไม่ได้ทำ ฯลฯ

เวลา “หยุดพักยาวหน่อย” ยังเป็นโอกาสให้ได้อ่านหนังสือพิมพ์ หนังสือเล่ม สิ่งพิมพ์อื่น ดู internet หรือ website ตลอดจนทำภารกิจอื่นๆที่ประสงค์จะทำหรือเห็นว่าควรทำ

ซึ่งก็เป็น “การทำงานอีกแบบหนึ่ง” นั่นเอง

และบ่อยครั้งจะพบว่าการ “ทำงาน” ในช่วงเวลา “หยุดพักยาวหน่อย” เช่นนี้ สมอง อารมณ์ ความคิด จะปลอดโปร่ง ผ่อนคลาย ช่วยให้คิดอะไรๆได้ดี ได้ลึก ได้กว้าง ได้ไกล มากกว่าในยามที่ต้องคร่ำเคร่งกับภารกิจเจาะจงในงานของแต่ละวัน

ดังนั้น การ “ทำงาน (อีกแบบหนึ่ง)” ในช่วงเวลาของการ “หยุดพัก” จึงสามารถเป็นการ “ทำงาน” ที่มีทั้งประสิทธิภาพและคุณภาพไปด้วยในตัว ซึ่งปัจจัยสำคัญมาจากความปลอดโปร่งผ่อนคลายของสมอง อารมณ์ และความคิด ดังได้กล่าวแล้ว

เรื่องสำคัญในสัปดาห์ที่ผ่านมา

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เรื่องสำคัญๆที่ผมเกี่ยวข้อง ได้แก่

  • เป็นประธานการประชุม “คณะกรรมการกองทุนหมุนเวียนเพื่อการให้กู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจน” (“กองทุน กชก.”) ซึ่งมีมติแก้ไขปรับปรุงระเบียบเพื่อให้กองทุนนี้สามารถเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่เทียบเคียงได้กับ “กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร” (กฟก.) ในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชนโดยเฉพาะเกษตรกร
  • ร่วมสนทนา ปรึกษาอย่างไม่เป็นทางการระหว่างท่านนายกรัฐมนตรีกับรองนายกฯทั้งสอง 2 ครั้ง (ในวันจันทร์ที่ 30 เม.ย. และวันศุกร์ที่ 4 พ.ค.)
  • เข้าร่วมในรายการ “นายกพบสื่อมวลชน” ที่ทำเนียบรัฐบาล
  • ร่วมงาน “รางวัลคุณภาพแห่งชาติ” ( TQA หรือ Thailand Quality Award ) ซึ่งท่านนายกฯ ไปเป็นประธานมองรางวัล และผมเคยเป็นกรรมการใน “คณะกรรมการรางวัลคุณภาพแห่งชาติ” โดยได้ลาออกเมื่อมารับตำแหน่งรัฐมนตรีในคณะรัฐบาล
  • เป็นประธานการประชุม “คณะกรรมการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ” ซึ่งปัญหาหมอกควันเฉพาะหน้าได้หมดไปแล้ว จึงเริ่มพิจารณาแผนการป้องกันแก้ไขปัญหาในอนาคตเป็นสำคัญ
  • ร่วมพิจารณาเรื่อง “การออกสลาก 2 ตัว 3 ตัว” ซึ่ง รมว.การคลัง หยิบยกขึ้นมาหารือกับนายกรัฐมนตรี และมีประเด็นให้พิจารณาค่อนข้างเข้มข้นอยู่
  • ร่วมพิจารณา “ร่าง พรบ. สภาองค์กรชุมชนท้องถิ่น” และ “ร่าง พรบ. ส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ” ในคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีคณะที่ 2 (ผมเป็นประธาน) ซึ่งที่ประชุมเห็นควรให้ไปปรึกษากันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ยังเห็นขัดแย้งกันในหลักการอยู่พอสมควร แล้วนำมาเสนอใหม่ภายใน 2 สัปดาห์
  • เข้าร่วมประชุม “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)” เพื่อชี้แจงรายงานประจำปีของ “สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)” และนำเสนอ “ร่าง พรบ. ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ”
  • เข้าเยี่ยมคารวะและขอคำแนะนำจากประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (คุณมีชัย ฤชุพันธ์) ในเรื่องเกี่ยวกับงานนิติบัญญัติของรัฐบาล
  • เป็นประธานการประชุม “คณะกรรมการฝ่ายโครงการและกิจกรรมในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550”
  • เป็นประธานการประชุม “คณะอดีตกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร” เพื่อหารือเรื่องเกี่ยวกับการสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯ ชุดใหม่ และเรื่องอื่นๆ
  • รับมอบหมายจากท่านนายกฯให้พบต้อนรับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของประเทศมาเลเซียเพื่อหารือเรื่องความร่วมมือระหว่างประเทศทั้งสอง
  • เป็นรองประธานการประชุม “คณะกรรมการอำนวยการจัดงานวันวิสาขบูชา” ซึ่งท่านนายกฯ เป็นประธานการประชุม
  • เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการประมวลความเห็นของรัฐมนตรีต่อร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
  • ร่วมหารือเรื่อง ยุทธศาสตร์สันติวิธี กับผู้บริหารจากกระทรวงยุติธรรม สถาบันพระปกเกล้า และกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ
  • เข้าเฝ้าในพระราชพิธีฉัตรมงคล และร่วมงานสโมสรสันนิบาต เนื่องในวันฉัตรมงคล ( 5 พ.ค.)
  • เป็นประธานในกิจกรรมตักบาตรพระสงฆ์ 85 รูป ที่พุทธมณฑลและเข้าร่วมในพิธีเจริญพระพุทธมนต์และเจริญจิตตภาวนา (ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)) เพื่อถวายเป็นพระกุศลและถวายพระพรชัยมงคลเนื่องในโอกาสมหามงคลเจริญพระชนมายุ 7 รอบ (84 พรรษา) 6 พฤษภาคม 2550 ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

วันที่ 7 พ.ค. เป็นวันหยุดชดเชยวันฉัตรมงคล ผมมีโอกาสได้ “หยุดพักยาวหน่อย” โดยไม่มีวาระงานที่เจาะจงจึงได้ใช้โอกาสนี้เคลียร์เอกสารที่ยังไม่ได้ดู อ่านหนังสือพิมพ์โดยเฉพาะในส่วนที่มีสาระเกี่ยวกับงาน และทำกิจกรรมต่างๆรวมถึงการไปให้เพื่อนที่เป็นแพทย์ช่วยดูสุขภาพทั่วไป และเขียน “จดหมาย” ฉบับนี้ได้ยาวหน่อยด้วย

อ้อ ! ผมได้ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ในรายการวิทยุและโทรทัศน์รวม 4 รายการด้วยครับ

สวัสดีครับ

ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/95054

<<< กลับ

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 16 (21 พ.ค.50)

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 16 (21 พ.ค.50)


หัวใจสำคัญในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ความเป็นธรรม ความเป็นเจ้าของ และการมีส่วนร่วมที่แท้จริง

                สองสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมยังคงมีภารกิจมาก กลับบ้านดึกแบบทุกวัน หาเวลาเขียนจดหมายถึงญาติมิตรไม่ได้จนกระทั่งวันนี้ (20 พ.ค. 50 ซึ่งเป็นวันอาทิตย์ และผมไม่ได้ไปลงพื้นที่ในต่างจังหวัด)

                เมื่อวันเสาร์ที่ 12 พ.ค. ผมไปจังหวัดปัตตานี ตอนเช้าไปเยี่ยมโครงการ “บ้านมั่นคง” ที่ชุมชนปูโป๊ะ ต.ตะลุโบ๊ะ อ.เมือง จ.ปัตตานี ซึ่งสร้างไปประมาณ 70 % บางบ้านก็เสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่ได้ย้ายเข้าเพราะยังขาดไฟฟ้า

                โครงการบ้านมั่นคงนี้ชาวบ้านพอใจมากเพราะเขาได้มีส่วนร่วมสูงมากในการคิด การตัดสินใจ และการดำเนินงานทั้งหมด  และเขารู้สึกเป็น “เจ้าของ” อย่างแท้จริง นั่นคือ ชาวบ้านเห็นว่า โครงการนี้เป็น “ของเขา” ไม่ใช่ “ของรัฐ”

                จากนั้นไปร่วมเวทีเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้าน รับฟังสรุปปัญหาและข้อเสนอแนะ ภาคบ่ายประชุมพร้อมกันกับผู้นำชุมชนและผู้แทนหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับงานพัฒนา ซึ่งรวมถึงเรื่อง สวัสดิการชุมชน ที่ดินทำกิน การศึกษา วิทยุชุมชน การจัดตั้ง “สภาซูรอ” และความเดือดร้อนของชาวไทยพุทธ

                วันอาทิตย์ที่ 13 พ.ค. พบกับบุคคลหลากหลาย จากภาคประชาสังคม รับฟังการให้ข้อมูลและความคิดเห็นในประเด็นปัญหาต่างๆ ได้แก่ เรื่องผู้สูงอายุ อุทยานทับที่ดินทำกินและที่ดินของชุมชน เยาวชนกับการพัฒนาชุมชน การช่วยเหลือครอบครัวที่ประสบภัยจากเหตุการณ์ความไม่สงบ การจัดการศึกษา ศาสนา การนำเสนอข่าวสาร และการปฏิบัติงานของหน่วยงานราชการ

                จากนั้นไปร่วมกับคณะท่านนายกรัฐมนตรีซึ่งมีท่านรองนายกฯโฆษิตแ ละรัฐมนตรีหลายท่ากิจนรวมอยู่ด้วย เดินทางจากจังหวัดปัตตานีไปจังหวัดยะลา ประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการต่างๆในเขต ศอ. บต. หรือเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะจังหวัดชายแดนภาคใต้ จบแล้วผมเดินทางกลับกรุงเทพฯ ในขณะที่คณะท่านนายกฯ เดินทางต่อไปยังจังหวัดกระบี่ เพื่อประชุมเกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งอันดามัน

                การไปลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ครั้งนี้ ทำให้ผมได้สัมผัสบรรยากาศ ได้พบผู้คนหลายฝ่ายและหลากหลาย ได้ข้อมูลและได้ข้อคิดที่เป็นประโยชน์หลายประการทีเดียว

                ข้อคิดที่สำคัญมากข้อหนึ่ง คือ ความตระหนักว่า หัวใจสำคัญของการแก้ปัญหาและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปสู่ความสันติสุขมั่นคง น่าจะประกอบด้วย

                1 . “ความเป็นธรรม” ทั้งในทางกฎหมายและในทางสังคม ที่ประชาชนจะเห็นและรู้สึกได้ว่ามีอยู่จริงและมีอยู่อย่างทั่วถึง

  1. “ความเป็นเจ้าของ” รวมถึงความรู้สึกว่าเป็นเจ้าของวิถีชีวิต เป็นเจ้าของโครงการเป็นเจ้าของท้องถิ่น เป็นเจ้าของพื้นที่ มีส่วนเป็นเจ้าของสังคม และมีส่วนเป็นเจ้าของประเทศ อย่างไม่ด้อยไปกว่าคนในภาคอื่นๆหรือคนกลุ่มอื่นๆ
  2. “การมีส่วนร่วมที่แท้จริง” ซึ่งหมายถึงมีส่วนร่วมในการคิด ในการพิจารณา ในการตัดสินใจ ในการดำเนินการ ในการรับผลประโยชน์ ในการติดตามประเมินผล และในการเรียนรู้และพัฒนาต่อเนื่อง ในเรื่องต่างๆซึ่งเป็นการดำเนินการของภาครัฐและกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน (ตัวอย่างที่ดีในข้อนี้ คือ “โครงการบ้านมั่นคง” ดังได้กล่าวข้างต้น)

                                                                                                สวัสดีครับ

                                                                                     ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/97508

<<< กลับ

“ไพบูลย์” แนะผนึกเบญจภาคี ฟื้นฟูชุมชนลุ่มน้ำภาคกลาง

“ไพบูลย์” แนะผนึกเบญจภาคี ฟื้นฟูชุมชนลุ่มน้ำภาคกลาง


(บทสัมภาษณ์ลงในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ วันที่ 19 พ.ค. 50  หน้า 10)

                รองนายกฯ ชี้หนทางฟื้นฟูวิถีชุมชนให้สำเร็จต้องผนึกพลังจากผู้เกี่ยวข้อง 5 ส่วน ทั้งภาคประชาชน-ประชาสังคม-องค์กรท้องถิ่น-ราชการ-รัฐบาล มาร่วมคิด ร่วมทำด้านเครือข่ายอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมลุ่มน้ำภาคกลางยื่นข้อเสนอให้รัฐกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม จัดทำแนวเขตป่าแก้ไขปัญหาเขตทับซ้อน คุมการใช้สารเคมีเกษตร จัดตั้งองค์กรอิสระบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ

                        นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้กล่าวในงาน “มหกรรมฟื้นฟูวิถีชุมชนคนลุ่มน้ำภาคกลาง” ที่จัดขึ้น ณ ศูนย์วัฒนธรรมเสาไห้ อ.เสาไห้ จ.สระบุรี เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2550 ถึงแนวทางการสนับสนุนให้ชุมชนได้เข้าไปมีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์ฟื้นฟูลุ่มน้ำทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมว่าการดำเนินงานจะสำเร็จลุล่วงไปได้จะต้องผนึกจากผู้เกี่ยวข้อง 5 ส่วนมาทำงานร่วมกัน คือ

                        1) ภาคประชาชนต้องสร้างองค์กรชุมชนที่เข้มแข็งขึ้นมาร่วมคิดร่วมทำเพื่อให้พึ่งตนเองได้ 2) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตั้งแต่ อบต.., เทศบาล, อบจ., ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่ใกล้ชิดประชาชนที่สุด จะต้องเข้ามาหนุนเสริมให้ภาคประชาชนสามารถทำงานพัฒนาได้อย่างสะดวก ทั้งด้านงบประมาณ ข้อมูล และเทคนิคต่างๆ 3) ราชการส่วนภูมิภาคทั้งกำนัน, ผู้ใหญ่บ้าน, อำเภอ, จังหวัด ซึ่งเป็นส่วนราชการที่ทำหน้าที่ด้านการปกครอง จะต้อง เดินเข้าหาประชาชน และใช้อำนาจไปในทางด้านหนุนเสริมองค์กรชุมชนมากกว่าการเข้าไปสั่งการ

                4) ภาคประชาชนสังคมต่างๆ ทั้งหน่วยงานธุรกิจ นักพัฒนาเอกชน และผู้รู้ต่างๆ ก็สามารถเข้าไปมีบทบาทในการหนุนเสริมองค์กรชุมชนได้ และ5) รัฐบาลหรือภาคนโยบายที่จะต้องเข้ามาดำเนินนโยบาย และจัดสรรงบประมาณลงไปหนุนเสริมสนับสนุนให้องค์กรชุมชนนำไปพัฒนาความเข้มแข็งได้

                รองนายกรัฐมนตรีกล่าวอีกว่า หากสามารถผนึกพลังเบญจภาคีดังกล่าวได้ ก็ให้นำหลักไตรสิกขาไปใช้ในการทำงาน ซึ่งหลักไตรสิกขานั้นประกอบด้วย 1) หลักร่วมคิด ร่วมทำ กล่าวคือ ในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นให้เข้มแข็ง ต้องให้ภาคประชาชน ซึ่งเป็นเจ้าของปัญหา เป็นหลักในการพัฒนาโดยมีภาคีอีก 4 ฝ่ายดังกล่าวทำหน้าที่สนับสนุนและร่วมกันคิดร่วมกันทำ เป็นหลักแห่งความสามัคคี สมานฉันท์ ซึ่งจะทำให้งานบรรลุเป้าหมายไปได้

                2) หลักของการจัดการความรู้ การเรียนรู้ เป็นการเรียนรู้ท่ามกลางการปฏิบัติ นำความรู้ไปพัฒนาพัฒนางานให้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ และ3) คือ หลักของการสนับสนุนด้านนโยบาย ที่หน่วยงานภาครัฐจะต้องเขาไปสนับสนุนในทุกระดับ นโยบายระดับท้องถิ่นก็เป็นหน้าที่ของ อบต., เทศบาล, อบจ. นโยบายระดับสูงก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลโดยอาจทำได้ทั้งการปรับปรุงหรือการออกกฎหมายใหม่ ตลอดจนจัดสรรงบประมาณสนับสนุนการทำงานของภาคประชาชน

                ในการจัดงานครั้งนี้มีองค์กรชุมชนที่ทำกิจกรรมด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมใน 9 จังหวัดภาคกลาง เข้าร่วมประมาณ 1,000 คน เพื่อร่วมกันคิดค้นแนวทางในการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในภาคกลาง พร้อมกับได้จัดทำข้อเสนอทางนโยบายเสนอนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรี เช่น นโยบายด้านที่ดินของรัฐจะต้องกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมการจัดทำแนวที่ดินอย่างเป็นธรรม การจัดทำแนวที่ดินเขตป่า เขตชุมชนให้มีความชัดเจนเพื่อแก้ปัญหาที่ดินทับซ้อน และเร่งผ่าน พรบ.ป่าชุมชนฉบับชาวบ้าน

                นโยบายด้านเกษตรกรรมยั่งยืนรัฐควรควบคุมการนำเข้าปุ๋ยและสารเคมี ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและควบคุมสื่อโฆษณาที่ส่งเสริมการใช้สารเคมี และนโยบายการจัดการน้ำรัฐควรตั้งองค์กรอิสระเพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการน้ำทั้งระบบ และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมกับชุมชนในการจัดการน้ำ

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

25 พ.ค. 50

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/98680

<<< กลับ

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 17 (3 มิ.ย. 50)

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 17 (3 มิ.ย. 50)


คำชี้แจงงานด้านสังคมในการแถลง “ผลการดำเนินการตามนโยบายของคณะรัฐมนตรี” ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

วันที่ 24 พฤษภาคม 2550 รัฐบาลนำโดยท่านนายกรัฐมนตรี พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้ขอแถลง “ผลการดำเนินการตามนโยบายของคณะรัฐมนตรี” ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เริ่มเวลา 10.00 น. โดยรัฐบาลได้แถลงผลการดำเนินการตามนโยบายของคณะรัฐมนตรี ที่ประกอบด้วย

  1. นโยบายการปฏิรูปการเมือง การปกครอง และการบริหาร
  2. นโยบายเศรษฐกิจ
  3. นโยบายสังคม
  4. นโยบายการต่างประเทศ
  5. นโยบายความมั่นคงของรัฐ

หลังจากท่านนายกฯแถลง (ซึ่งใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง) สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ผลัดกันอภิปราย โดยกำหนดให้อภิปรายท่านละ ไม่เกิน 15 นาที แต่อาจขยายได้ถ้ามีสาระสำคัญและประธานอนุญาต

ประมาณ 16.00 น. ฝ่ายรัฐบาลได้ขอชี้แจงบ้าง โดยรัฐมนตรีที่ชี้แจงประกอบด้วย รมว.การคลัง (ดร.ฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์) รมว.การต่างประเทศ (คุณนิตย์ พิบูลสงคราม) รมต.ประจำสำนัก นรม. (ดร.ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์) รมช.มหาดไทย (คุณบัญญัติ จันทน์เสนะ) รมว.ศึกษาธิการ (ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน) และรมว.คมนาคม (พล.ร.อ.ธีระ ห้าวเจริญ)

จากนั้นสมาชิก สนช. อภิปรายต่อ โดยมีแผนว่าฝ่ายรัฐบาลจะขอชี้แจงอีกรอบหนึ่งในช่วงเวลาตั้งแต่ประมาณ 19.00 น. แต่มาทราบในเวลาต่อมาว่าฝ่าย สนช. ขอให้ฝ่ายรัฐบาลไม่ต้องชี้แจง เพื่อฝ่าย สนช. จะได้มีเวลาเพียงพอให้สมาชิกที่ลงชื่อขออภิปรายไว้ได้อภิปรายกันครบทุกคน (รวมประมาณ 50 คน)

ผมเองได้รับการกำหนดให้พูดชี้แจงในช่วง 19.00 น. เป็นต้นไปนี้ด้วย จึงได้เตรียมสาระไว้พอเป็นแนวในการพูด แต่แล้วก็ไม่ต้องพูด ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น

ผมจึงขอนำร่างแนวการชี้แจงต่อ สนช. ในประเด็นด้านสังคมมาลงไว้ในที่นี้ ดังนี้ครับ

                                                            ร่างแนวการชี้แจงต่อ สนช.

                                                                 ประเด็นด้านสังคม

  1. ในช่วงที่รัฐบาลเข้ามาเริ่มงาน สังคมมีความแตกแยกทางด้านความคิดอย่างมากขณะที่ปัญหาหลายๆ อย่างก็ยังคงรอคอยการแก้ไข

                         – ผู้ยากไร้ ยังขาดการช่วยเหลือและขาดโอกาสทางสังคม

– เด็ก เยาวชน ยังตกอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เสี่ยง ไม่ได้รับการป้องกันที่ดีพอ

– ผู้พิการ ผู้สูงอายุและผู้ด้อยโอกาส ยังไม่ได้รับการดูแลจากสังคมอย่างเหมาะสม

  1. จากปัญหาดังกล่าว รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมให้เกิด “สังคมที่ดีงามและอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” โดยเป็น

– สังคมที่ไม่ทอดทิ้งกัน มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือเกื้อกูล

– สังคมที่เข้มแข็ง ทั้งชุมชนท้องถิ่น ประชาสังคม และกลุ่มคนต่างๆ

– สังคมที่มีคุณธรรม มีความดีงาม ความถูกต้องและความเป็นธรรม

  1. ในช่วงเวลา 7 เดือนผ่านมา รัฐบาลได้แก้ไขปัญหาที่เร่งด่วน พร้อมกับการพัฒนาให้เกิดกลไกเพื่อสร้างความเข้มแข็งของสังคมในระยะยาว
  2. การแก้ไขปัญหาระดับเร่งด่วน 

                         4.1 ในปลายปี 2549 ได้เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในประเทศไทย รัฐบาลได้ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนโดยการจัดหาที่อยู่อาศัยให้ผู้ประสบอุทกภัยใน 23 จังหวัด

– ใช้งบประมาณ 1,192 ล้านบาทสำหรับจัดหาและซ่อมแซมบ้านพักกว่า 1 แสนราย

                                         – ใช้งบ 150 ล้านบาทเพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิตชุมชนแก่ผู้ประสบภัย

– ปรับปรุงสาธารณูปโภค ฟื้นฟูสภาพแวดล้อม และสร้างระบบเตือนภัยในจังหวัดที่ประสบภัย

4.2 ปัญหาหมอกควันที่เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคม 2550

– รัฐบาลได้เข้าไปแก้ปัญหาอย่างรวดเร็วโดยตั้งศูนย์อำนวยการแก้ปัญหาหมอกควันภาคเหนือ

– วางมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาหมอกควันที่เกิดขึ้นทุกปีในระยะยาว

@ จัดทำแผนป้องกันไฟป่า ภัยแล้ง น้ำท่วม และดินถล่มอย่างบูรณาการ

@ จัดทำระบบข้อมูลและการเตือนภัย

@ ประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน

4.3 ปัญหาหนี้สินเกษตรกรที่เป็นปัญหาเรื้อรังมานาน รัฐบาลได้ดำเนินการ

– แก้ปัญหาวิกฤตเฉพาะหน้าของเกษตรกร โดยชะลอการฟ้องคดี การบังคับคดีและการขายทอดตลาดที่ดินและที่อยู่อาศัย

– จัดการหนี้เกษตรกรโดยให้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรซื้อหนี้จากสถาบันการเงิน

– แก้ไขปัญหาและพัฒนาองค์กรที่ทำหน้าที่แก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร

@ กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตร

@ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

@ กองทุนหมุนเวียนเพื่อการให้กู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจน

@ กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง

– สร้างการมีส่วนร่วมของเกษตรกรในการแก้ปัญหาหนี้สิน สามารถชวนกลุ่มผู้เรียกร้องประท้วงมาทำงานร่วมกัน

– พัฒนาวิธีการแก้ไขปัญหาแบบเบ็ดเสร็จถาวรตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

4.4 ดำเนินการจัดสวัสดิการสังคม ค้นหาและดูแลผู้ยากลำบากที่ถูกทอดทิ้งกว่า 2 แสนคน ส่งเสริมการจัดสวัสดิการชุมชน ร่วมกับองค์กรชุมชนเข้มแข็งกว่า 27,000 องค์กร ที่มีสมาชิกกว่า 2.5 ล้านคนทั่วประเทศ

4.5 สื่อไม่ปลอดภัย

– จัดตั้งคณะกรรมการสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อขจัดสื่อร้าย ขยายสื่อดี ซึ่งครอบคลุมทั้งสื่อโทรทัศน์ อินเตอร์เน็ต สื่อสิ่งพิมพ์โดยเฉพาะการ์ตูน

– ปรับปรุงกฎหมายเพื่อเพิ่มโทษกับสื่อไม่ปลอดภัย รวมถึงพิจารณาขึ้นภาษีสื่อเสี่ยง

– ดำเนินการจัดระเบียบรายการโทรทัศน์ ทั้งจัดเรตติ้งประเภทรายการไปพร้อมกับจัดช่วงเวลาเหมาะสมในการออกอากาศของรายการแต่ละประเภท

  1. การพัฒนาระยะยาวให้เกิดกลไกเพื่อสร้างความเข้มแข็งของสังคม :

– นำกองทุนที่มีอยู่แล้ว มาใช้ประโยชน์ให้เต็มที่ โดยปรับให้เป็น “กองทุนเชิงรุก” ที่มียุทธศาสตร์เพื่อช่วยเหลือ

@ คนพิการ ผู้สูงอายุ คุ้มครองเด็ก

@ เสนอเพิ่มกองทุนครอบครัว

– ปรับกองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมให้ใหญ่ขึ้น จาก 60 ล้านบาท เป็น 500 ล้านบาท

– จัดทำกฏหมายเพื่อพัฒนากลไกในการพัฒนาสังคม

@ พรบ.ส่งเสริมครอบครัว

@ พรบ.สภาองค์กรชุมชน

@ พรบ.ส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ

@ พรบ.ส่งเสริมประชาสังคมเพื่อการพัฒนา

@ พรบ.ส่งเสริมกองทุนกิจการซะกาต

การแถลงและการอภิปรายทั้งหมดใช้เวลารวมกัน ประมาณ 14 ชั่วโมง และปิดการประชุมเมื่อเวลาประมาณเที่ยงคืน (24.00 น.)

                                                                                                สวัสดีครับ

    ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/100489

<<< กลับ

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 18 (4 มิ.ย. 50)

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 18 (4 มิ.ย. 50)


การตัดสินคดียุบพรรคการเมืองผ่านพ้นไปแล้ว ถึงเวลามาช่วยกันทำให้เกิด “การเมืองแบบสร้างสรรค์ฉันมิตร เพื่อสังคมและชีวิตที่ดีกว่า”

วันที่ 30 พฤษภาคม 2550 เป็นวันประวัติศาสตร์ที่คนไทยและผู้เฝ้ามองประเทศไทย รอคอย เพราะเป็นวันตัดสินคดียุบพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องกับ 2 พรรคใหญ่ และ 3 พรรคเล็ก

มีการประกาศผลการพิจารณาตัดสินคดีอย่างละเอียด และชัดเจน โดยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ 9 ท่าน ใช้เวลาอ่านคำพิจารณาและตัดสินรวมประมาณ 10 ชั่วโมง

ผลการตัดสินคดี กระทบต่อบุคคลกลุ่มต่างๆไม่เหมือนกัน และปฏิกิริยาจากบุคคลกลุ่มต่างๆ รวมทั้งจากผู้คนทั้งหลายในสังคม ก็ต่างๆกัน

แต่ผมเองคิดว่า เมื่อการตัดสินคดียุบพรรคการเมืองผ่านพ้นไปแล้ว น่าจะถือเป็นจุดเริ่มต้นในการหันมาร่วมกันพยายามทำให้เกิด “การเมืองแบบสร้างสรรค์ฉันมิตร เพื่อสังคมและชีวิตที่ดีกว่า”

นั่นคือ เลิกคิดเป็นศัตรูกัน หรือเป็นฝ่ายตรงกันข้าม

คนไทยทั้งหมด ล้วนเป็นพี่ เป็นน้อง เป็นญาติ เป็นเพื่อน เสมือนอยู่ในครอบครัวใหญ่เดียวกัน ที่เรียกว่าประเทศไทย มีเป้าหมายสุดท้ายร่วมกันหรือเหมือนกัน ได้แก่ การมีชีวิตและสังคมที่สันติและเป็นสุข

การเมืองเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการสังคมไปสู่ความสันติและความเป็นสุข

ใครที่มองการเมืองเป็นเรื่องเพื่ออำนาจและผลประโยชน์ จึงคิดไม่ถูก ควรคิดเสียใหม่ และถ้ายังไม่เปลี่ยนความคิดให้ถูก ก็ไม่ควรเข้ามาทำงานการเมือง

“การเมืองแบบสร้างสรรค์ฉันมิตร” มีอยู่แล้วในประเทศไทย ทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น

ในระดับชาติอาจยังไม่ชัดมาก แต่มีเชื้ออยู่พอสมควร แสดงตัวให้ปรากฏเป็นระยะๆ

ในระดับท้องถิ่น ได้มีหลายตำบลและเขตเทศบาล ที่พยายามพัฒนา “การเมืองแบบสร้างสรรค์ฉันมิตร” หรือ “การเมืองแบบสมานฉันท์” ขึ้น ใช้การพูดจาหารือระหว่างประชาชนในท้องถิ่นด้วยกัน จนได้ข้อสรุปร่วมกันว่าใครควรจะเป็นผู้บริหารท้องถิ่น แล้วจึงไปเลือกตั้ง เกิดบรรยากาศรู้รักสามัคคี ช่วยกันพัฒนาท้องถิ่น

ในระดับชาติ คงไม่สามารถทำขนาดนั้นได้ (เลือกผู้บริหารโดยการพูดจาหารือกันในหมู่ประชาชน) แต่ที่น่าจะทำได้ และควรพยายามทำให้ได้ คือ การพูดจาหารือกัน ทั้งในหมู่นักการเมืองและในหมู่ประชาชน เพื่อร่วมกันหาข้อสรุปที่พอใจร่วมกัน เกี่ยวกับประเด็นทางการเมืองที่สำคัญ

ขณะนี้ ได้มีประเด็นทางการเมืองที่สำคัญหลายประการ รอการขบคิดหาข้อสรุป เพื่อช่วยให้การเมืองไทยเดินไปข้างหน้าได้อย่างสร้างสรรค์

จึงควรที่ฝ่ายต่างๆซึ่งเกี่ยวข้อง จะเข้ามาพูดจาหารือกันเพื่อหาข้อสรุปที่พอใจร่วมกัน

                การพูดจาหารือกัน ควรเป็นไปอย่างฉันญาติมิตร ช่วยกันคิดว่า เป้าหมายหรือเป้าประสงค์ร่วมกันคืออะไร แล้วร่วมกันพยายามหาแนวทางและวิธีการ อันจะทำให้บรรลุเป้าหมายหรือเป้าประสงค์นั้นๆ

                ในการนี้ ถ้าต้องการ “คนกลาง” หรือ “ผู้ประสาน” มาช่วยจัดกระบวนการพูดจาหารือกัน ก็สามารถร่วมกันค้นหาและคัดสรร ให้ได้ “คนกลาง” ซึ่งเป็นที่พอใจหรือยอมรับร่วมกัน

                แต่สำหรับผู้อยู่ในวงการเมืองไทยในปัจจุบัน มีบุคคลซึ่งน่าจะเล่นบท “คนกลาง” หรือ “ผู้ประสาน” ได้เป็นอย่างดีอยู่จำนวนไม่น้อย

                นั่นคือ นักการเมืองไทย ควรจะใช้จังหวะที่จบคดียุบพรรคการเมือง หันมาพูดจาหารือกันเกี่ยวกับประเด็นการเมืองที่สำคัญ โดยไม่ต้องมี “คนกลาง” หรือ “ผู้ประสาน” หรือถ้าต้องการบุคคลดังกล่าว ก็เล่นบทกันเอง หรือร่วมกันจัดหามา ซึ่งน่าจะทำได้ไม่ยาก

                ผมเองขอเอาใจช่วยทุกฝ่ายทุกคน ที่จะร่วมกันพยายามทำให้เกิด “การเมืองแบบสร้างสรรค์ฉันมิตร เพื่อสังคมและชีวิตที่ดีกว่า” และพร้อมที่จะให้ความร่วมมือในส่วนที่ผมสามารถทำให้

                เพราะผมเชื่ออย่างเต็มเปี่ยมว่า “การเมืองแบบสร้างสรรค์ฉันมิตร เพื่อสังคมและชีวิตที่ดีกว่า” จะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญยิ่งของประเทศไทยและสังคมไทย

                                                                                                สวัสดีครับ

ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/100549

<<< กลับ