จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 12 (18 เม.ย.50)

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 12 (18 เม.ย.50)


5 สัปดาห์ที่เข้มข้นที่สุดในชีวิต

ผมทำหน้าที่ในฐานะ “รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์” มาได้ 5 สัปดาห์เต็มๆ กล่าวได้ว่าเป็น “5 สัปดาห์ที่เข้มข้นที่สุดในชีวิต” เป็น 5 สัปดาห์ที่ผมทำงานแทบไม่ได้หยุดแม้วันเสาร์อาทิตย์และวันหยุดราชการ และเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้ผมไม่ได้เขียน “จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม” มาจนถึงวันนี้ (วันที่ 17 เมษายน ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดให้เป็นวันหยุดราชการเนื่องในเทศกาลสงกรานต์เพิ่มขึ้นอีก 1 วัน)

ในฐานะเป็นรองนายกรัฐมนตรีดูแลด้านสังคม ผมได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลงานของ    7 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และได้รับมอบหมายให้ดูแล(เป็นประธาน)คณะกรรมการตามกฎหมายและตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีอีก รวม 21 คณะ กับได้รับมอบหมายอื่น ๆ อีก ความรับผิดชอบของผมจึงมีมากทีเดียว

สัปดาห์แรก (12-18 มี.ค.50)

ผมได้รับข้อเสนอแนะจากคณะที่ปรึกษาให้เข้าไปดูแลปัญหาหมอกควันปกคลุมภาคเหนือตอนบนเกินกว่าอัตรามาตรฐาน ถึงขั้นเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนและเป็นเช่นนี้มาตั้งแต่ต้นเดือน ผมจึงเดินทางไปสำรวจสถานการณ์และประชุมหารือกับผู้เกี่ยวข้องทั้งจากภาครัฐและนอกภาครัฐที่จังหวัดเชียงใหม่ในวันอังคารที่ 13 เม.ย. (หลังจากร่วมประชุม ครม. ยังไม่จบดี) และเดินทางอีกครั้งหนึ่งไปจังหวัดเชียงใหม่และเชียงรายในวันศุกร์ที่ 16 เม.ย. รวมทั้งได้ตั้ง “คณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ” ซึ่งผมเป็นประธาน ให้เป็นกลไกกลางในการดูแลแก้ไขปัญหาเรื่องหมอกควันซึ่งกระทบจังหวัดในภาคเหนือตอนบนโดยเฉพาะเชียงใหม่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอน ซึ่งถูกกระทบมากเป็นพิเศษ

วันเสาร์ที่ 17 มี.ค. มีการประชุม ครม.นัดพิเศษ ใช้เวลาทั้งวัน พิจารณาเรื่องการจัดทำงบประมาณปี 2551 และมีช่วงเวลา “หารือนอกรอบเฉพาะคณะรัฐมนตรี” ประมาณ 2 ชั่วโมง ด้วย

สัปดาห์ที่ 2 (19-25 มี.ค.)

คณะที่ปรึกษาเสนอให้จับประเด็นเรื่องปัญหาสื่อไม่เหมาะสมที่เป็นอันตรายและสร้างปัญหาให้สังคม จึงตั้ง “คณะกรรมการสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” ขึ้นโดยผมเป็นประธาน ให้เป็นกลไกกลางในการแก้ไขปัญหาสื่อไม่เหมาะสมทำนองเดียวกับที่มีคณะกรรมการเป็นกลไกกลางในการแก้ไขปัญหาเรื่องหมอกควันภาคเหนือที่ได้ตั้งไปเมื่อสัปดาห์ก่อนหน้า

ในสัปดาห์นี้ได้ไปเยี่ยมคารวะและขอรับคำแนะนำจากคุณอานันท์  ปันยารชุน และคุณบรรหาร  ศิลปอาชา ในฐานะเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีที่ผมได้รู้จักและได้เคยมีส่วนปฏิบัติงานบางอย่างให้ โดยมีกำหนดจะไปเยี่ยมคารวะและขอรับคำแนะนำจาก พลเอกเปรม  ติณสูลานนท์ คุณชวน หลีกภัย และพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ด้วย

วันพุธที่ 21 มี.ค. เดินทางพร้อมท่านนายกฯ พลเอกสุรยุทธ์  จุลานนท์ ไปจังหวัดปัตตานี พบรับฟังรายงานและหารือกับผู้ดูแลเรื่องความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แล้วเดินทางต่อไปยังจังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อร่วมในกิจกรรมเปิดตัว “ยุทธศาสตร์ประชาชนอยู่ดีมีสุข” ที่รัฐบาลจะดำเนินการควบคู่กับ “โครงการพัฒนาหมู่บ้าน/ชุมชนตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (คพพ.)” โดยจะใช้งบประมาณรวมกัน 10,000 ล้านบาท

วันเสาร์ที่ 24 มี.ค. เดินทางไปจังหวัดพัทลุง เยี่ยมศึกษาและร่วมรายการ “สภาชาวบ้าน” ที่ตำบลลำสินธุ กิ่งอำเภอศรีนครินทร์ ร่วมประชุมกับผู้ว่าราชการจังหวัดและคนอื่น ๆ ที่ศาลากลางจังหวัดเพื่อรับฟังและหารือเกี่ยวกับการพัฒนาชุมชนและสังคมในจังหวัดพัทลุง แล้วไปเยี่ยมศึกษาชุมชนตำบล ควนรู อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา (ดีเด่นเรื่องแผนชุมชน การเมืองสมานฉันท์ ฯลฯ) ก่อนเดินทางกลับกรุงเทพฯ

สัปดาห์ที่ 3 (26 มี.ค. – 1 เม.ย.)

ยังคงต้องใช้เวลาพอสมควรกับเรื่องปัญหาหมอกควันภาคเหนือเพราะสถานการณ์หมอกควันยังไม่ดี บางวันอัตราฝุ่นละเอียดขึ้นไปสูงมาก เป็นเหตุให้คณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือตัดสินใจขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน ประกาศเขตภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินในทั้ง 2 จังหวัด (เพิ่มจากจังหวัดเชียงรายซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศไว้แล้ว)

ปัญหาหนี้สินเกษตรกร เป็นปัญหาซับซ้อนสะสมคุกรุ่นมานาน รวมถึงมีการชุมนุมประท้วง เรียกร้อง กดดัน โดยกลุ่มต่าง ๆ เดิมรองนายกฯ โฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ดูแลอยู่ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรที่ ครม. แต่งตั้งขึ้น เมื่อผมได้รับมอบหมายให้เป็นรองนายกฯ  กำกับดูแลงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงรับโอนหน้าที่ประธาน “คณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร” มาด้วย ซึ่งผ่านการรับทราบของคณะรัฐมนตรีในวันอังคารที่ 27 มี.ค. และผมก็ได้เชิญประชุมคณะกรรมการทันทีในวันพฤหัสบดีที่ 29 มี.ค. เนื่องจากมีสถานการณ์ตึงเครียดคุกรุ่นอยู่แล้วจากกลุ่มเกษตรกรอย่างน้อย 3 กลุ่มใหญ่

ในสัปดาห์นี้ได้เริ่มประชุมและเริ่มงาน “คณะกรรมการสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” และเริ่มหารืองานด้านสังคมที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่ง คือ ปัญหาโรคเอดส์ โดยมีคุณมีชัย วีระไวทยะ และคณะมาร่วมหารือด้วย

วันศุกร์ที่ 30 มี.ค. ไปจังหวัดสระแก้ว ร่วมกิจกรรมโครงการ “เบญจภาคี” สนับสนุนชุมชนประยุกต์ใช้ “เศรษฐกิจพอเพียง” รวมถึงการฟื้นฟูธรรมชาติและพัฒนาพลังงานทางเลือก “เบญจภาคี” ในที่นี้คือ (1) ชุมชน (2) หน่วยงานรัฐ (จังหวัดฯลฯ) (3) สถาบันการศึกษา (ในที่นี้ได้แก่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ) (4) ธุรกิจ (5) ประชาสังคม (หรือองค์กรพัฒนาเอกชน) และสื่อ และได้ไปเยี่ยมศึกษา “โครงการบ้านมั่นคงชนบท” ที่ตำบลวังสมบูรณ์ กึ่งอำเภอวังสมบูรณ์ กับ “โครงการศูนย์ข้อมูลหมู่บ้าน” ที่หมู่บ้านบ่อลูกรัง ตำบลคลองหินปูน อำเภอวังน้ำเย็นด้วย

วันเสาร์ที่ 31 มี.ค. ไปร่วมพิธีและสนทนากับนายกรัฐมนตรีประเทศศรีลังกา ที่วัดธรรมาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

วันอาทิตย์ที่ 1 เม.ย. ไปจังหวัดนครราชสีมา พบกับกลุ่มเกษตรกรมีปัญหาหนี้สิน ที่มีคุณประพาส  โงกสูงเนิน เป็นหัวหน้ากลุ่ม เยี่ยมศึกษาศูนย์ดำเนินงานของกลุ่ม 2 แห่ง ที่อำเภอสูงเนิน และสนทนาหารือกันนานพอสมควร ได้สาระดี ก่อนกลับได้แวะเยี่ยมศึกษาชุมชน ตำบลหนองบุญมาก อำเภอหนองบุญมาก ซึ่งมีผลงานการพัฒนาที่ก้าวหน้าได้ผลดีน่าชื่นชม ต่างกันอย่างชัดเจนกับกลุ่มที่มีปัญหาหนี้สิน

สัปดาห์ที่ 4 (2-8 เม.ย.)

เป็นสัปดาห์แห่งความระทึกใจพอสมควร เพราะนายกฯ และรองนายกฯ โฆษิต ไม่อยู่ทั้งคู่ เดินทางไปภารกิจที่ประเทศญี่ปุ่น ตลอด 4 วันทำการของสัปดาห์ ผมจึงต้องทั้งรักษาการแทนนายกรัฐมนตรี และทำการแทนรองนายกฯ โฆษิต รวมถึงทำหน้าที่ประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันอังคารที่ 3 เม.ย.

วันจันทร์ที่ 2 เม.ย. ประชุม “คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์” ซึ่งผมเป็นประธาน และมีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการดำเนินการซึ่งมีคุณมีชัย วีระไวทยะ เป็นประธานอนุกรรมการ ให้ลงมือดำเนินการไปได้เลย โดยจะได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นเงินรวมกันประมาณ 500 ล้านบาท และจะเน้นการป้องกันในหมู่เยาวชนเป็นสำคัญ

วันอังคารที่ 3 เม.ย. ประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งผมทำหน้าที่ประธาน และดูว่าเรื่องต่างๆผ่านพ้นไปด้วยดี แต่แล้วก็เกิดเหตุความสับสนเกี่ยวกับการขึ้นเงินเดือนให้กับเจ้าหน้าที่ของ “สำนักงานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)” ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไป ต้องใช้ความพยายามตลอดค่ำวันอังคารที่ 3 วันพุธที่ 4 และต่อมาถึงวันพฤหัสบดีที่ 5 จึงทำให้สถานการณ์คลี่คลายและดูว่าเรียบร้อยลงได้

วันศุกร์ที่ 6 เม.ย. (วันจักรี และเป็นวันหยุดราชการ) ไปจังหวัดแม่ฮ่องสอน (โดยเครื่องบินของกระทรวงเกษตรฯ ไปจังหวัดเชียงใหม่ แล้วต่อด้วยเฮลิคอปเตอร์ไปจังหวัดแม่ฮ่องสอน) เพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาหมอกควันซึ่งจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีปัญหารุนแรงกว่าจังหวัดอื่น ๆ โดยเฉพาะได้ไปสนับสนุนให้เกิดความเข้าใจและความร่วมมือที่ดีขึ้นระหว่างทางจังหวัดกับชุมชนท้องถิ่น (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวเขา)

วันเสาร์ที่ 7 เม.ย. ไปจังหวัดกาฬสินธิ์ ร่วมกิจกรรมมหกรรมชีวิตเศรษฐกิจพอเพียงที่ตำบลสายนาวัง กิ่งอำเภอนาคู (คุณบำรุง คะโยทา เป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบล และเป็นประธานจัดงาน) เยี่ยมศึกษาแปลงนาเศรษฐกิจพอเพียงของกำนันอำนาจ และตั้งวงสนทนาเรื่องปัญหาหนี้สินเกษตรกรและแนวทางแก้ไขโดยเกษตรกรผู้มีปัญหาหนี้สินและผู้เกี่ยวข้องต่าง ๆ เป็นผู้ร่วมวงสนทนา ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง แล้วเดินทางไปค้างคืนที่ตัวจังหวัดกาฬสินธิ์

วันอาทิตย์ที่ 8 เม.ย. เดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์ไปจังหวัดศรีสะเกษ พบรับฟังและหารือเรื่องหนี้สินเกษตรกรกับกลุ่มสมัชชาเกษตรรายย่อยที่มีคุณนคร  ศรีวิพัฒน์ เป็นหัวหน้า ณ “ศูนย์เรียนรู้วิสาหกิจชุมชน” ที่อำเภอกันทรลักษณ์ จากนั้นไปเยี่ยมศึกษาชุมชนตำบลเสียว กิ่งอำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ  ซึ่งเป็นตำบลที่มีการพัฒนาก้าวหน้าหลายด้าน รวมถึงแผนชุมชน สวัสดิการชุมชน “การเมืองสมานฉันท์” และ “สภาองค์กรชุมชน” จากนั้นไปจังหวัดอุบลราชธานี เยี่ยมศึกษาศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงที่บ้านแก่งเจริญ ตำบลบัวชมพู อำเภอพิบูลมังสาหาร  แล้วไปที่อำเภอเมือง พบรับฟังปัญหาการทับซ้อนในการใช้ประโยชน์จากที่ดินระหว่างชาวบ้านในชุมชน 5 แห่งกับทางราชการ ก่อนเดินทางกลับกรุงเทพฯ

สัปดาห์ที่ 5 (9-17 เม.ย. โดยมีวันหยุดสงกรานต์ยาว 5 วัน รวมอยู่ด้วย)

ท่านนายกฯ กลับจากญี่ปุ่นแล้ว (ตั้งแต่วันพฤหัสที่ 5 เม.ย.) แต่ไปเข้ารับการตรวจสุขภาพแบบพิเศษซึ่งทำให้ต้องพักอยู่ในโรงพยาบาล 3 วัน ระหว่าง 9-11 เม.ย.  และเป็นผลให้ผมต้องไปทำหน้าที่เปิดการสัมมนาและกล่าวปาฐกถาพิเศษแทนนายกฯ ในการสัมมนาที่จัดโดยกระทรวงยุติธรรม เรื่องเกี่ยวกับขบวนการยุติธรรมชุมชน และความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ในวันจันทร์ที่ 9 และไปเปิดการสัมมนาพร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษแทนนายกฯ ในงานวันผู้สูงอายุแห่งชาติ (วันพุธที่ 11) ส่วนการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันอังคารที่ 8 มีรองนายกฯ โฆษิต ทำหน้าที่ประธานการประชุม

ระหว่างวันหยุดสงกรานต์ (ในวันศุกร์ที่ 13 เม.ย. ผมได้ไปตรวจเยี่ยมจุดเฝ้าระวังเรื่องอุบัติเหตุจากการจราจร 1 จุดที่จังหวัดนครปฐม 3 จุดที่จังหวัดราชบุรี และเยี่ยมกิจกรรมชุมชน 1 แห่ง ที่จังหวัดเพชรบุรี (ได้พบคารวะ “ปู่เย็น” ด้วย)

วันเสาร์ที่ 14 เม.ย. ไปรดน้ำสงกรานต์ญาติผู้ใหญ่ ทั้งช่วงเช้าและช่วงบ่าย วันอาทิตย์ที่ 15 เม.ย. ไปเยี่ยมพบพระพยอม กัลยาโณ เป็นการส่วนตัว เยี่ยมพบพระผู้ใหญ่ 2 รูป ที่วัดบวรนิเวศวิหาร (เป็นพระอาจารย์และพระพี่เลี้ยงของผมเมื่อครั้งผมบวช ณ วัดนี้ ในปี พ.ศ. 2512) ช่วงบ่ายไปเป็นประธานในงานวันผู้สูงอายุที่วัดโคนอน เขตภาษีเจริญ จัดโดย “บ้านบางแค” ร่วมกับชุมชนหลายแห่งในบริเวณนั้น

วันจันทร์ที่ 16 เม.ย. ไปจังหวัดเชียงรายพร้อมคณะที่มี รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคนอื่น ๆ รวมทั้งสื่อมวลชนจำนวนหนึ่ง เดินทางโดยเครื่องบินของกองทัพอากาศ ( C130) ไปเยี่ยมสำนักงานโครงการพัฒนาดอยตุงเพื่อรับรู้สภาพและข้อมูลพร้อมทั้งปรึกษาหารือกับผู้เกี่ยวข้องฝ่ายต่าง ๆ รวมถึงผู้นำชุมชนรอบๆ บริเวณพระตำหนักดอยตุง ในเรื่องเกี่ยวกับการเกิด “ไฟป่า” ขึ้นอย่างรุนแรงถึง 7 จุด รอบพระตำหนักเมื่อวันที่ 1 เมษายน ที่ผ่านมา และเพลิงได้ลุกลามเข้าใกล้พระตำหนักมากอย่างน่าตกใจ การไปครั้งนี้ช่วยให้ผมได้เห็นสภาพ ได้รับรู้ ได้ข้อมูล และได้ข้อคิดเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าที่เป็นประโยชน์หลายประการ ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้ทั้งที่โครงการพัฒนาดอยตุงและเป็นการทั่วไปได้ด้วย

วันอังคารที่ 17 เม.ย. ผมได้อยู่บ้าน เขียนจดหมายฉบับนี้ และไปรดน้ำสงกรานต์ญาติผู้ใหญ่อีก 2 ราย

ตลอด 5 สัปดาห์ที่ผมทำงานในฐานะรองนายกรัฐมนตรีดูแลด้านสังคม ผมต้องเรียนรู้ คิดค้น พิจารณา และดำเนินการในเรื่องใหม่ ๆ หลายประการ โดยใช้เวลาที่มีอยู่ค่อนข้างเต็มที่ บางช่วงก็เป็นเพราะความเร่งรัดของภารกิจและของสถานการณ์ บางช่วงก็ด้วยความพยายามที่จะทำงานให้ได้มากและดี บ่อยครั้งไปเริ่มวันทำงานแต่เช้า (ก่อน 8.00 น.) และกลับถึงบ้านค่อนข้างมืดค่ำแล้ว (3 หรือ 4 ทุ่มก็บ่อย) นั่นคือส่วนหนึ่งของเหตุผลที่ทำให้ผมกล่าวว่า 5 สัปดาห์ที่ผ่านมาเป็น “5 สัปดาห์ที่เข้มข้นที่สุดในชีวิต”

การปฏิบัติงานของผมในหน้าที่ใหม่ตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค. เป็นต้นมา ได้รับการสนับสนุนอย่างมาก อย่างดี และอย่างน่าพึงพอใจ จาก “ทีมงาน” ที่มีเลขานุการ (ทพ.กฤษดา  เรืองอารีย์รัชต์) ที่ปรึกษา (ดร.กิตติวัฒน์  อุชุปาละนันท์) และ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ (คุณสิน  สื่อสวน)  เป็นแกน โดยมี “ผู้ช่วย” อีกหลายคน ทั้งที่มาช่วยงานเต็มเวลาและมาช่วยงานบางเวลา และยังรวมถึง “คณะที่ปรึกษา” ที่มี นพ.สุวิทย์  วิบูลผลประเสริฐ  เป็นประธาน ซึ่งมาประชุมปรึกษาหารือทุกวันทำงานบ้าง สัปดาห์ละครั้งบ้าง ผมรู้สึกขอบคุณทีมงานรวมถึงที่ปรึกษาทุกคนเป็นอย่างยิ่ง และเห็นว่าทีมงานและที่ปรึกษาเป็นปัจจัยสำคัญมากต่อคุณภาพและความสำเร็จในการปฏิบัติงานของผมตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายอยู่ในขณะนี้

                                                                 สวัสดีครับ

                                                                         ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/91012

<<< กลับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *