จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 17 (3 มิ.ย. 50)

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 17 (3 มิ.ย. 50)


คำชี้แจงงานด้านสังคมในการแถลง “ผลการดำเนินการตามนโยบายของคณะรัฐมนตรี” ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

วันที่ 24 พฤษภาคม 2550 รัฐบาลนำโดยท่านนายกรัฐมนตรี พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้ขอแถลง “ผลการดำเนินการตามนโยบายของคณะรัฐมนตรี” ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เริ่มเวลา 10.00 น. โดยรัฐบาลได้แถลงผลการดำเนินการตามนโยบายของคณะรัฐมนตรี ที่ประกอบด้วย

  1. นโยบายการปฏิรูปการเมือง การปกครอง และการบริหาร
  2. นโยบายเศรษฐกิจ
  3. นโยบายสังคม
  4. นโยบายการต่างประเทศ
  5. นโยบายความมั่นคงของรัฐ

หลังจากท่านนายกฯแถลง (ซึ่งใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง) สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ผลัดกันอภิปราย โดยกำหนดให้อภิปรายท่านละ ไม่เกิน 15 นาที แต่อาจขยายได้ถ้ามีสาระสำคัญและประธานอนุญาต

ประมาณ 16.00 น. ฝ่ายรัฐบาลได้ขอชี้แจงบ้าง โดยรัฐมนตรีที่ชี้แจงประกอบด้วย รมว.การคลัง (ดร.ฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์) รมว.การต่างประเทศ (คุณนิตย์ พิบูลสงคราม) รมต.ประจำสำนัก นรม. (ดร.ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์) รมช.มหาดไทย (คุณบัญญัติ จันทน์เสนะ) รมว.ศึกษาธิการ (ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน) และรมว.คมนาคม (พล.ร.อ.ธีระ ห้าวเจริญ)

จากนั้นสมาชิก สนช. อภิปรายต่อ โดยมีแผนว่าฝ่ายรัฐบาลจะขอชี้แจงอีกรอบหนึ่งในช่วงเวลาตั้งแต่ประมาณ 19.00 น. แต่มาทราบในเวลาต่อมาว่าฝ่าย สนช. ขอให้ฝ่ายรัฐบาลไม่ต้องชี้แจง เพื่อฝ่าย สนช. จะได้มีเวลาเพียงพอให้สมาชิกที่ลงชื่อขออภิปรายไว้ได้อภิปรายกันครบทุกคน (รวมประมาณ 50 คน)

ผมเองได้รับการกำหนดให้พูดชี้แจงในช่วง 19.00 น. เป็นต้นไปนี้ด้วย จึงได้เตรียมสาระไว้พอเป็นแนวในการพูด แต่แล้วก็ไม่ต้องพูด ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น

ผมจึงขอนำร่างแนวการชี้แจงต่อ สนช. ในประเด็นด้านสังคมมาลงไว้ในที่นี้ ดังนี้ครับ

                                                            ร่างแนวการชี้แจงต่อ สนช.

                                                                 ประเด็นด้านสังคม

  1. ในช่วงที่รัฐบาลเข้ามาเริ่มงาน สังคมมีความแตกแยกทางด้านความคิดอย่างมากขณะที่ปัญหาหลายๆ อย่างก็ยังคงรอคอยการแก้ไข

                         – ผู้ยากไร้ ยังขาดการช่วยเหลือและขาดโอกาสทางสังคม

– เด็ก เยาวชน ยังตกอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เสี่ยง ไม่ได้รับการป้องกันที่ดีพอ

– ผู้พิการ ผู้สูงอายุและผู้ด้อยโอกาส ยังไม่ได้รับการดูแลจากสังคมอย่างเหมาะสม

  1. จากปัญหาดังกล่าว รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมให้เกิด “สังคมที่ดีงามและอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” โดยเป็น

– สังคมที่ไม่ทอดทิ้งกัน มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือเกื้อกูล

– สังคมที่เข้มแข็ง ทั้งชุมชนท้องถิ่น ประชาสังคม และกลุ่มคนต่างๆ

– สังคมที่มีคุณธรรม มีความดีงาม ความถูกต้องและความเป็นธรรม

  1. ในช่วงเวลา 7 เดือนผ่านมา รัฐบาลได้แก้ไขปัญหาที่เร่งด่วน พร้อมกับการพัฒนาให้เกิดกลไกเพื่อสร้างความเข้มแข็งของสังคมในระยะยาว
  2. การแก้ไขปัญหาระดับเร่งด่วน 

                         4.1 ในปลายปี 2549 ได้เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในประเทศไทย รัฐบาลได้ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนโดยการจัดหาที่อยู่อาศัยให้ผู้ประสบอุทกภัยใน 23 จังหวัด

– ใช้งบประมาณ 1,192 ล้านบาทสำหรับจัดหาและซ่อมแซมบ้านพักกว่า 1 แสนราย

                                         – ใช้งบ 150 ล้านบาทเพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิตชุมชนแก่ผู้ประสบภัย

– ปรับปรุงสาธารณูปโภค ฟื้นฟูสภาพแวดล้อม และสร้างระบบเตือนภัยในจังหวัดที่ประสบภัย

4.2 ปัญหาหมอกควันที่เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคม 2550

– รัฐบาลได้เข้าไปแก้ปัญหาอย่างรวดเร็วโดยตั้งศูนย์อำนวยการแก้ปัญหาหมอกควันภาคเหนือ

– วางมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาหมอกควันที่เกิดขึ้นทุกปีในระยะยาว

@ จัดทำแผนป้องกันไฟป่า ภัยแล้ง น้ำท่วม และดินถล่มอย่างบูรณาการ

@ จัดทำระบบข้อมูลและการเตือนภัย

@ ประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน

4.3 ปัญหาหนี้สินเกษตรกรที่เป็นปัญหาเรื้อรังมานาน รัฐบาลได้ดำเนินการ

– แก้ปัญหาวิกฤตเฉพาะหน้าของเกษตรกร โดยชะลอการฟ้องคดี การบังคับคดีและการขายทอดตลาดที่ดินและที่อยู่อาศัย

– จัดการหนี้เกษตรกรโดยให้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรซื้อหนี้จากสถาบันการเงิน

– แก้ไขปัญหาและพัฒนาองค์กรที่ทำหน้าที่แก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร

@ กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตร

@ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

@ กองทุนหมุนเวียนเพื่อการให้กู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจน

@ กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง

– สร้างการมีส่วนร่วมของเกษตรกรในการแก้ปัญหาหนี้สิน สามารถชวนกลุ่มผู้เรียกร้องประท้วงมาทำงานร่วมกัน

– พัฒนาวิธีการแก้ไขปัญหาแบบเบ็ดเสร็จถาวรตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

4.4 ดำเนินการจัดสวัสดิการสังคม ค้นหาและดูแลผู้ยากลำบากที่ถูกทอดทิ้งกว่า 2 แสนคน ส่งเสริมการจัดสวัสดิการชุมชน ร่วมกับองค์กรชุมชนเข้มแข็งกว่า 27,000 องค์กร ที่มีสมาชิกกว่า 2.5 ล้านคนทั่วประเทศ

4.5 สื่อไม่ปลอดภัย

– จัดตั้งคณะกรรมการสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อขจัดสื่อร้าย ขยายสื่อดี ซึ่งครอบคลุมทั้งสื่อโทรทัศน์ อินเตอร์เน็ต สื่อสิ่งพิมพ์โดยเฉพาะการ์ตูน

– ปรับปรุงกฎหมายเพื่อเพิ่มโทษกับสื่อไม่ปลอดภัย รวมถึงพิจารณาขึ้นภาษีสื่อเสี่ยง

– ดำเนินการจัดระเบียบรายการโทรทัศน์ ทั้งจัดเรตติ้งประเภทรายการไปพร้อมกับจัดช่วงเวลาเหมาะสมในการออกอากาศของรายการแต่ละประเภท

  1. การพัฒนาระยะยาวให้เกิดกลไกเพื่อสร้างความเข้มแข็งของสังคม :

– นำกองทุนที่มีอยู่แล้ว มาใช้ประโยชน์ให้เต็มที่ โดยปรับให้เป็น “กองทุนเชิงรุก” ที่มียุทธศาสตร์เพื่อช่วยเหลือ

@ คนพิการ ผู้สูงอายุ คุ้มครองเด็ก

@ เสนอเพิ่มกองทุนครอบครัว

– ปรับกองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมให้ใหญ่ขึ้น จาก 60 ล้านบาท เป็น 500 ล้านบาท

– จัดทำกฏหมายเพื่อพัฒนากลไกในการพัฒนาสังคม

@ พรบ.ส่งเสริมครอบครัว

@ พรบ.สภาองค์กรชุมชน

@ พรบ.ส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ

@ พรบ.ส่งเสริมประชาสังคมเพื่อการพัฒนา

@ พรบ.ส่งเสริมกองทุนกิจการซะกาต

การแถลงและการอภิปรายทั้งหมดใช้เวลารวมกัน ประมาณ 14 ชั่วโมง และปิดการประชุมเมื่อเวลาประมาณเที่ยงคืน (24.00 น.)

                                                                                                สวัสดีครับ

    ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/100489

<<< กลับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *