จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 14 (30 เม.ย.50)

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 14 (30 เม.ย.50)


เวลาหยุดพักคือเวลาทำงาน (อีกแบบหนึ่ง)

สัปดาห์ที่ผ่านมา ผมยังคงมีวาระงานค่อนข้างมากทุกวัน โดยมีเรื่องสำคัญๆหลายเรื่องให้พิจารณาและดำเนินการ เช่น การประชุมคณะกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย การประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนสนับสนุนกีฬา การประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองงานเสนอ ครม. การประชุมคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ การประชุมคณะกรรมการการป้องกันแก้ไขโรคไข้หวัดนก และปัญหาการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ ฯลฯ

วันพฤหัสบดีที่ 26 มีเหตุกระทันหันต้องไปพบหารือเจ้าของที่ดินซึ่งฟ้องและแจ้งให้ตำรวจจับคนชุมชนแออัดแห่งหนึ่งไปหลายคนฐานบุกรุกที่ดินแล้วไม่ยอมย้ายออก โดยนัดพบกันตอนค่ำที่โรงแรมแห่งหนึ่ง

วันศุกร์ที่ 27 กลับถึงบ้าน 5 ทุ่ม โดยยังไม่ได้ทานอาหารค่ำ เนื่องจากกลุ่มทำงานมาหารือเรื่องการแก้ปัญหาหนี้เกษตรกรแล้วหารือติดพันไม่จบจนดึก

วันเสาร์ที่ 28 เดิมคิดว่าจะให้เป็นวันหยุดพักสัก 1 วัน แต่ได้ตัดสินใจชวนทีมงานวงเล็ก 7 คนมาหารือถึงสถานการณ์ล่าสุดและแนวดำเนินการระยะต่อไป

หารืออยู่จนบ่าย กลับบ้านแล้วออกไปเข้าเฝ้าถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ที่พระราชวังสวนจิตรลดา เนื่องในวโรกาสวันคล้ายวันราชาภิเษกสมรส

วันอาทิตย์ที่ 29 ไปจังหวัดชัยนาท เป็นประธานเปิดบ้านดินที่ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนป๋วย อึ๊งภากรณ์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยฯ พบเยาวชนที่เข้าโครงการค่ายเยาวชน “ตามรอยอาจารย์ป๋วย” และพบผู้เข้าประชุม “คณะทำงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สังคม จังหวัดชัยนาท” ก่อนเดินทางไปเยี่ยมศึกษากิจกรรมพัฒนาที่ตำบลหนองแซง อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท ซึ่ง อบต. ที่นั่นได้รางวัลผลงานดีเด่นมากมายจนนับไม่ถ้วนกลับถึงกรุงเทพฯก็ตกค่ำ

สรุปแล้ว ทั้งสัปดาห์แทบไม่ได้หยุดพัก แต่กิจกรรมวันเสาร์และอาทิตย์ที่ผ่านมานั้นไม่หนักเท่าใด จะถือว่าเป็นการหยุดพักกลายๆก็คงพอได้

ซึ่ง “การหยุดพัก” นั้น ที่จริงเป็นโอกาสให้สมองได้ผ่อนคลาย แล้วเลยเกิดความคิดดีๆผุดขึ้นได้โดยสะดวก แม้ไม่ได้พยายาม

จึงกล่าวได้ว่า “เวลาหยุดพักคือเวลาทำงาน (อีกแบบหนึ่ง)” แถมยังสามารถเป็นการทำงานที่มีประสิทธิภาพและคุณภาพได้อีกด้วย

 

สวัสดีครับ

ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/93360

<<< กลับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *