จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 9 (26 ก.พ. 50)

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 9 (26 ก.พ. 50)


สัปดาห์ที่มีกิจกรรมหลากหลาย

ผมคิดว่าจะบันทึกกิจกรรมเชิงการบริหารเวลาต่อไปอีก 2 สัปดาห์ เพื่อให้ครบประมาณ 1 เดือน (จาก 5 ก.พ. 50)

   19 ก.พ. (จันทร์)

– บันทึกเทปคำปราศรัยวันสตรีสากล

– พบหารือกับคณะจากธนาคารออมสิน เรื่องสินเชื่อเพื่อการพัฒนาสำหรับคนพิการ

– เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการประสานสนับสนุนการแก้ไขปัญญหาชุมชนแออัด

– ประชุมคณะทำงานรัฐมนตรี

            20 ก.พ. (อังคาร)

– (7.30 น.) ประชุมรัฐมนตรี 5 กระทรวง + 3 รมต.ประจำสำนักนายกฯ เรื่อง วาระเพื่อเด็กและเยาวชน ปี 2550 ซึ่งกระทรวง พม. เป็นเจ้าภาพหลัก

– ประชุมคณะรัฐมนตรี

– หารือเจ้าหน้าที่สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ เรื่องการรายงานผลงานของกระทรวง

– ประชุมผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานในสังกัดกระทรวง พม.

– ประชุมหารือเรื่อง ปัญหาบ้านเอื้ออาทรกับนโยบายและทิศทางของการเคหะแห่งชาติในอนาคต (กับประธานคณะกรรมการ ประธานคณะกรรมการประเมินผล ผู้ว่าการ และกรรมการ กับกรรมการประเมินผลอีกจำนวนหนึ่ง)

            21 ก.พ. 50 (พุธ)

– (07.30 น.) ประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองงานเสนอคณะรัฐมนตรีมนตรี (คณะที่ 3) เป็นการประชุมนัดแรกหลังได้รับการแต่งตั้งเมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว เรื่องที่พิจารณา คือ ร่าง พรบ. พัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ. ….. ซึ่งเป็นเรื่องของกระทรวง พม.

– ประชุมคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ในฐานะรองประธาน

– เป็นประธานเปิดงาน “วิชาการพิพัฒน์ พิชญฯวัฒน์ สู่สากล บนรากฐานไทย” ของโรงเรียนพิชญศึกษา อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ชมผลงานวิจัย ผลงานกิจกรรมการ เรียนรู้ และฐานการเรียนรู้ต่างๆในบริเวณโรงเรียน

– ให้สัมภาษณ์นิตยสาร “G-Mag” (Governance Magazine) ในประเด็นเกี่ยวกับด้านการพัฒนาสังคม การพัฒนาคุณภาพชีวิต และการสร้างสังคมสมดุล

– พบสนทนากับคณะกรรมการชมรมอาสาสมัครป้องกันยาเสพติด กรุงเทพมหานคร

– ประชุมหารือเรื่อง “วิทยุโทรทัศน์สาธารณะ” และ “ร่าง พรบ. องค์การแพร่ภาพและกระจายเสียงสาธารณะ พ.ศ. …” ที่ห้องประชุมมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ

            22 ก.พ. (พฤหัสบดี)

– (7.30 น.) ประชุมหารือกับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและคณะเกี่ยวกับความร่วมมือในการพัฒนาสังคม รวมถึงการส่งเสริมการจัดการสวัสดิการสังคม (ตาม พรบ. ส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม พ.ศ. 2546)

– เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สังคม

– ประชุมคณะทำงานรัฐมนตรีพร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง หารือเรื่องวิธีใช้เงิน 200,000 บาทต่อจังหวัดที่ “กองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม” ได้อนุมัติให้นำไปใช้สนับสนุนกระบวนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาสังคมในแต่ละจังหวัด

– ประชุมคณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (ประจำเดือน)

– ประชุม “คณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประชาชนอยู่ดีมีสุข” ซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน แต่ครั้งนี้รองนายกฯ (โฆษิต) ทำหน้าที่ประธานการประชุม และเป็นการประชุมนัดแรกหลังจากได้รับการแต่งตั้งเมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว

            23 ก.พ. (ศุกร์)

– ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ 1 ฉบับ เรื่องเกี่ยวกับการบริหารงานของกระทรวง

– เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ

– เดินทางไป จ.เชียงราย

– บรรยายพิเศษ “ยุทธศาสตร์การสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นและประชาสังคม” ในการประชุมใหญ่ประจำปีของสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย ณ หอประชุมสมเด็จย่า มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง อ.เมือง จ.เชียงราย และร่วมลงนาม (เป็นพยาน) ใน “บันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนสังคมไปสู่สังคมที่ดีงาม และอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” ระหว่าง สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย กระทรวงมหาดไทย (กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น) และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

            24 ก.พ. (เสาร์)

– (เช้า) เปิดการประชุมและปาฐกถาพิเศษ ในการประชุม (ครั้งแรก) ของ “คณะทำงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สังคม จังหวัดเชียงราย” ณ โรงแรมทีคการ์เด้น สปา แอนด์ รีสอร์ท อ.เมือง จ.เชียงราย อยู่ร่วมประชุมและให้ข้อสังเกตก่อนพักรับประทานอาหารกลางวัน

– (บ่าย) เป็นประธานเปิดงาน “มหกรรมวัฒนธรรมชาวลีซูเพื่อเทิดพระเกียรติ” ณ บ้านปางสา ต.ป่าตึง อ.แม่จัน จ.เชียงราย ร่วมกิจกรรมวัฒนธรรมกับชาวลีซู (จาก 3 จังหวัด และมีชาวลาหู่ จำนวนหนึ่งด้วย)

– เดินทางกลับกรุงเทพมหานคร

– (ค่ำ) เป็นประธานเปิดงาน “คอยริยะฮ์สัมพันธ์” และบรรยายพิเศษ เรื่อง “สังคมอยู่ดีมีสุข” ณ มัสยิดคอยริยะฮ์ (เกาะใหญ่) ต.พระยาบันลือ อ.ลาดบัวหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา ชมนิทรรศการ และฟังเรื่องราวเกี่ยวกับการใช้ “กองทุนซะกาต” เพื่อสวัสดิการชุมชน ฯลฯ

25 ก.พ. (อาทิตย์)

– อยู่บ้าน อ่านหนังสือพิมพ์ บันทึกความคิด อ่านเอกสารงาน แก้ไขร่างบทนำเสนอ (เป็นภาษาอังกฤษ) สำหรับการประชุม ณ ต่างประเทศในสัปดาห์หน้า ฯลฯ

– เขียน “จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 9 (26 ก.พ. 50)

นับเป็นสัปดาห์ที่ผมได้มีกิจกรรมอันหลากหลายทีเดียว รวมถึงได้เห็น “ความหลากหลายทางวัฒนธรรม” ซึ่งเป็นทั้งความงดงามและความมีคุณค่าในสังคมพร้อมกันไป

สวัสดีครับ

ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/80743

<<< กลับ

 

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 10 (6 มี.ค. 50)

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 10 (6 มี.ค. 50)


สัปดาห์แห่ง “ความสั่นสะเทือน”

            ผมไม่ได้คาดคิดเลยว่า ในสัปดาห์ที่ผ่านมา จะเกิด “ความสั่นสะเทือน” ขึ้นนั้นคือ การลาออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ของ มรว.ปรีดียาธร เทวกุล ส่งผลสะเทือนต่อรัฐบาล ต่อสถานการณ์ในประเทศ และนำไปสู่การปรับคณะรัฐมนตรีอย่างมีนัยสำคัญเป็นครั้งแรกของรัฐบาล พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ภายหลังการเข้าบริหารราชการแผ่นดินได้ยังไม่ถึง 5 เดือน

            ผมขอบันทึกกิจกรรมประจำวันต่ออีก 1 สัปดาห์ตามที่ได้ตั้งใจไว้ ดังนี้ครับ

            26 ก.พ. 50 (จันทร์)

                  – เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาโครงสร้างระบบราชการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

                  – ร่วมแถลงข่าวเรื่องร่าง พรบ.สภาองค์กรชุมชนท้องถิ่นและรับมอบบันทึกข้อเสนอจากตัวแทนผู้นำชุมชน

                  – ปาฐกถานำด้วยหัวข้อ “สังคมสร้างสรรค์สุข” ในการสัมมนาวิชาการ โครงการ “ปฏิวัติจิตสำนึก ปฏิรูปศีลธรรม สมานฉันท์ เพื่อการปฏิรูปประเทศไทย” จัดโดยสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักนายกรัฐมนตรี

                  – อัดเทปสัมภาษณ์ เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง สำหรับรายการโทรทัศน์ “แผ่นดินพอเพียง”

                  – ประชุมคณะทำงานรัฐมนตรี

                  – ประชุมพิจารณาเอกสาร (เป็นภาษาอังกฤษ) เพื่อการนำเสนอในการประชุมต่างประเทศใน อีก 3 วันข้างหน้า

                  – ประชุมหารือเรื่องการบูรณาการโครงการสำคัญๆเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นและสังคม

            27 ก.พ. 50 (อังคาร)

                  – ประชุมคณะรัฐมนตรี

                  – แถลงข่าวกิจกรรมเนื่องในวันมาฆบูชา

                  – ประชุมผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ

                  – ต้อนรับผู้มาพบเพื่อขอบคุณ

                  – พบหารือกับคณะของยุวพุทธสมาคมแห่งประเทศไทย

                  – (ค่ำ) ร่วมออกรายการโทรทัศน์ สนทนาเรื่องการจัดสวัสดิการของเกษตรกร

            28 ก.พ. 50 (พุธ)

                  – ประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 3 

                  – ประชุม (ในฐานะรองประธาน คนที่ 1) คณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ (ท่านรองนายกฯ มรว.ปรีดียาธร เทวกุล ทำหน้าที่เป็นประธานอยู่จนเวลาประมาณ 11.00 น. ก็ได้ขอออกจากห้องประชุมไปโดยการประชุมได้ดำเนินต่อไปจนเสร็จสิ้นเมื่อเวลาประมาณ 12.00 น.)

                  – เวลาประมาณ 11.30 น. มรว.ปรีดียาธร เทวกุล แถลงต่อสื่อมวลชนว่าได้ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต่อท่านนายกรัฐมนตรีแล้ว เมื่อเวลาประมาณ 11.00 น.

                  – ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “ท้องถิ่นเข้มแข็งด้วยคุณธรรม” และเป็นประธานมอบรางวัลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดีเด่น จัดโดยนิตยสาร “เส้นทางธุรกิจ”

                  – เดินทางไปกรุงฮานอย ประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เพื่อเข้าประชุมระดับนานาชาติในวันรุ่งขึ้น

                  – (ค่ำ) ประชุมหารือกับคณะจากประเทศไทยที่มาร่วมประชุมด้วย เรื่องเอกสารสำหรับการนำเสนอในวันรุ่งขึ้น

            1 มี.ค. 50 (พฤหัสบดี)

                  – ร่วมประชุมสัมมนาว่าด้วย “เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” (East and South East Asia MDG Forum) จัดโดย UN ESCAP ร่วมกับรัฐบาลสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

                  – เป็นผู้อภิปรายหัวข้อ “Thailand Perspectives on the MDG’s” 

                  – ในระหว่างการประชุมให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ 1 ฉบับจากประเทศไทย

                  – ร่วมงานเลี้ยงรับรองตอนค่ำ หลังเสร็จสิ้นการประชุมวันแรก

                  – ร่วมรับประทานอาหารค่ำในร้านอาหารเวียดนาม กับข้าราชการสถานทูตไทยและคณะผู้ร่วมประชุมจากประเทศไทย และนั่งรถชมเมืองยามค่ำ

            2 มี.ค. 50 (ศุกร์)

                  – เดินทางกลับประเทศไทย

                  – ประชุมหารือเรื่องการดำเนินโครงการส่งเสริมสวัสดิการชุมชนและสวัสดิการสังคม

                  – (ค่ำ) รับประทานอาหารพร้อมปรึกษาหารือเรื่องการร่วมมือระหว่างกระทรวงในการส่งเสริมการพัฒนาอย่างบูรณาการทั้งจังหวัดกับผู้ทรงคุณวุฒิอาวุโส 1 ท่าน รัฐมนตรีอีก 3ท่าน เลขานุการรัฐมนตรี 2คน และข้าราชการอาวุโส 2 คน

            3 มี.ค. 50 (เสาร์)

                  – เป็นประธานเปิดตัวโครงการ “ครอบครัวคุณธรรม นำสังคมเข้มแข็งเทิดไท้องค์ราชัน” (พาลูกจูงหลานเข้าวัด/โบสถ์/มัสยิด) ที่วัดอุดมธรรมโปษะกฤษณะวราราม ชุมชนหมู่บ้านร่วมเกื้อ เขตทวีวัฒนา กทม.

                  – พบท่านนายกรัฐมนตรี ที่บ้านพิษณุโลก

                  – (เดินทางไป จ.กาญจนบุรี) ร่วมรับฟังและให้ความเห็นในการประชุมสัมมนาเรื่อง “ความเห็นและข้อเสนอแนะของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กับการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล” ที่ จ.กาญจนบุรี จัดโดยสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติร่วมกับสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

            4 มี.ค. 50 (อาทิตย์)

                  – หนังสือพิมพ์หลายฉบับลงข่าวในหน้า 1 เกี่ยวกับการปรับคณะรัฐมนตรี โดยคาดคะเนผู้ที่อาจได้รับแต่งตั้งในตำแหน่งต่างๆ ซึ่งมีชื่อผมรวมอยู่ด้วย และทำให้เกิด “ความสั่นสะเทือน” ในลักษณะหนึ่ง

                  – นัดหารือกับคณะทำงานรัฐมนตรีเรื่องเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลด้านสังคม

            5 มี.ค. 50 (จันทร์/หยุดราชการ)

                  – นัดหารือกับผู้ทำงานในภาคประชาชนเกี่ยวกับความเป็นไปในจังหวัดชายแดนภาคใต้และบุคคลที่เกี่ยวข้อง

                  – อ่านหนังสือพิมพ์ ดูแฟ้ม เขียนบันทึกความคิด เขียน “จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม” ฯลฯ

            การบันทึกกิจกรรมในลักษณะที่สะท้อนการบริหารเวลาของผม คงจะยุติลงหลังจากสัปดาห์นี้เป็นต้นไป คิดว่าพอให้ภาพได้ดีพอสมควรว่าผมใช้เวลาไปในกิจกรรมหรือเรื่องประเภทไหนบ้างและพอเห็นลู่ทางที่จะปรับปรุงการบริหารเวลาของผมให้ดีขึ้น

            สำหรับผลสืบเนื่องจากการลาออกของ มรว.ปรีดิยาธร เทวกุล คงจะชัดเจนมากขึ้นในสัปดาห์นี้ โดยเฉพาะในเรื่องการปรับคณะรัฐมนตรี

                                                                                    สวัสดีครับ

                                                                ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/82276

<<< กลับ

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 11 (12 มี.ค.50)

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 11 (12 มี.ค.50)


เรื่องที่ไม่น่าเกิด ได้เกิดขึ้น (สำหรับผม)

            การได้รับแต่งตั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรี คือสิ่งที่ผมไม่เคยคิดถึงหรือคิดประสงค์จะเป็นและไม่เคยคาดคิดแม้แต่น้อยว่าจะเกิดขึ้นได้ แต่ก็ได้เกิดขึ้นแล้ว โดยได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเมื่อวันที่ 7 มีนาคม  เข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณตน เมื่อวันที่ 8 มีนาคม เวลา 16.30 และผมจะเข้าไปนั่งที่ทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 12 มีนาคม เวลาประมาณ 8.00 น.

             ผมเลือกที่ใช้ห้องทำงานในตึกบัญชาการ (ทำเนียบรัฐบาล) เพียงแห่งเดียว เพื่อให้หมอพลเดช ซึ่งจะขึ้นมาเป็น รมช.การพัฒนาสังคมฯ  ได้ใช้ห้องรัฐมนตรี พม.ที่ผมเคยใช้อยู่ (ห้องทำงานที่กระทรวง พม. สำหรับ รมว.และทีมงานมีค่อนข้างจำกัด) โดยจะให้มีการส่งเอกสารไปมาระหว่างกระทรวง พม. กับผมในฐานะ รมว.พม.(ซึ่งผมยังคงครองตำแหน่งนี้ ควบกับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี) เป็นระยะ ๆ ตามความเหมาะสม แทนการที่ผมจะพาตัวเองมาดูเอกสารที่กระทรวง พม. ดังนั้น ผมจึงไม่จำเป็นต้องมีห้องทำงานไว้ให้ตนเองที่กระทรวง พม.

            ผมต้องเร่งจัดทีมงานช่วยผมในฐานะรองนายกรัฐมนตรีด้านสังคม ขณะนี้ได้ตัวเลขานุการรองนายกฯ ด้านสังคม (เรียกเป็นทางการว่า “รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี”) (คือ ทพ.กฤษฎา) และประธานคณะทำงาน  หรือประธานคณะที่ปรึกษารองนายกฯ ด้านสังคม (คือ นพ.สุวิทย์) แล้ว และได้ขอให้ที่ปรึกษา รมว.พม.โอนไปช่วยงานรองนายกฯ ด้านสังคมด้วย อีก 2 คน (คือคุณเอนก และคุณจิริกา) ที่เหลือคาดว่าจะทยอยจัดหามาให้ได้ในเร็ววัน

            ตลอดชีวิตการทำงานของผม ผมไม่เคยแม้แต่ครั้งเดียวที่จะขวนขวายแสวงหาหรือ “อยากได้” ตำแหน่งงานสำคัญๆให้ตนเอง ไม่ว่าจะเป็นที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย  ธนาคารไทยทนุ  มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยฯ สำนักงานพัฒนาชุมชนเมือง (การเคหะแห่งชาติ)  ธนาคารออมสิน สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือตำแหน่งรัฐมนตรีและล่าสุดตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี

             แต่เมื่อได้รับแต่งตั้งแล้ว ก็จะพยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุดครับ

  

                                                                             สวัสดีครับ

                                                          ไพบูลย์   วัฒนศิริธรรม

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/83626

<<< กลับ

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 12 (18 เม.ย.50)

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 12 (18 เม.ย.50)


5 สัปดาห์ที่เข้มข้นที่สุดในชีวิต

ผมทำหน้าที่ในฐานะ “รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์” มาได้ 5 สัปดาห์เต็มๆ กล่าวได้ว่าเป็น “5 สัปดาห์ที่เข้มข้นที่สุดในชีวิต” เป็น 5 สัปดาห์ที่ผมทำงานแทบไม่ได้หยุดแม้วันเสาร์อาทิตย์และวันหยุดราชการ และเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้ผมไม่ได้เขียน “จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม” มาจนถึงวันนี้ (วันที่ 17 เมษายน ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดให้เป็นวันหยุดราชการเนื่องในเทศกาลสงกรานต์เพิ่มขึ้นอีก 1 วัน)

ในฐานะเป็นรองนายกรัฐมนตรีดูแลด้านสังคม ผมได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลงานของ    7 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และได้รับมอบหมายให้ดูแล(เป็นประธาน)คณะกรรมการตามกฎหมายและตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีอีก รวม 21 คณะ กับได้รับมอบหมายอื่น ๆ อีก ความรับผิดชอบของผมจึงมีมากทีเดียว

สัปดาห์แรก (12-18 มี.ค.50)

ผมได้รับข้อเสนอแนะจากคณะที่ปรึกษาให้เข้าไปดูแลปัญหาหมอกควันปกคลุมภาคเหนือตอนบนเกินกว่าอัตรามาตรฐาน ถึงขั้นเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนและเป็นเช่นนี้มาตั้งแต่ต้นเดือน ผมจึงเดินทางไปสำรวจสถานการณ์และประชุมหารือกับผู้เกี่ยวข้องทั้งจากภาครัฐและนอกภาครัฐที่จังหวัดเชียงใหม่ในวันอังคารที่ 13 เม.ย. (หลังจากร่วมประชุม ครม. ยังไม่จบดี) และเดินทางอีกครั้งหนึ่งไปจังหวัดเชียงใหม่และเชียงรายในวันศุกร์ที่ 16 เม.ย. รวมทั้งได้ตั้ง “คณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ” ซึ่งผมเป็นประธาน ให้เป็นกลไกกลางในการดูแลแก้ไขปัญหาเรื่องหมอกควันซึ่งกระทบจังหวัดในภาคเหนือตอนบนโดยเฉพาะเชียงใหม่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอน ซึ่งถูกกระทบมากเป็นพิเศษ

วันเสาร์ที่ 17 มี.ค. มีการประชุม ครม.นัดพิเศษ ใช้เวลาทั้งวัน พิจารณาเรื่องการจัดทำงบประมาณปี 2551 และมีช่วงเวลา “หารือนอกรอบเฉพาะคณะรัฐมนตรี” ประมาณ 2 ชั่วโมง ด้วย

สัปดาห์ที่ 2 (19-25 มี.ค.)

คณะที่ปรึกษาเสนอให้จับประเด็นเรื่องปัญหาสื่อไม่เหมาะสมที่เป็นอันตรายและสร้างปัญหาให้สังคม จึงตั้ง “คณะกรรมการสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” ขึ้นโดยผมเป็นประธาน ให้เป็นกลไกกลางในการแก้ไขปัญหาสื่อไม่เหมาะสมทำนองเดียวกับที่มีคณะกรรมการเป็นกลไกกลางในการแก้ไขปัญหาเรื่องหมอกควันภาคเหนือที่ได้ตั้งไปเมื่อสัปดาห์ก่อนหน้า

ในสัปดาห์นี้ได้ไปเยี่ยมคารวะและขอรับคำแนะนำจากคุณอานันท์  ปันยารชุน และคุณบรรหาร  ศิลปอาชา ในฐานะเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีที่ผมได้รู้จักและได้เคยมีส่วนปฏิบัติงานบางอย่างให้ โดยมีกำหนดจะไปเยี่ยมคารวะและขอรับคำแนะนำจาก พลเอกเปรม  ติณสูลานนท์ คุณชวน หลีกภัย และพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ด้วย

วันพุธที่ 21 มี.ค. เดินทางพร้อมท่านนายกฯ พลเอกสุรยุทธ์  จุลานนท์ ไปจังหวัดปัตตานี พบรับฟังรายงานและหารือกับผู้ดูแลเรื่องความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แล้วเดินทางต่อไปยังจังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อร่วมในกิจกรรมเปิดตัว “ยุทธศาสตร์ประชาชนอยู่ดีมีสุข” ที่รัฐบาลจะดำเนินการควบคู่กับ “โครงการพัฒนาหมู่บ้าน/ชุมชนตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (คพพ.)” โดยจะใช้งบประมาณรวมกัน 10,000 ล้านบาท

วันเสาร์ที่ 24 มี.ค. เดินทางไปจังหวัดพัทลุง เยี่ยมศึกษาและร่วมรายการ “สภาชาวบ้าน” ที่ตำบลลำสินธุ กิ่งอำเภอศรีนครินทร์ ร่วมประชุมกับผู้ว่าราชการจังหวัดและคนอื่น ๆ ที่ศาลากลางจังหวัดเพื่อรับฟังและหารือเกี่ยวกับการพัฒนาชุมชนและสังคมในจังหวัดพัทลุง แล้วไปเยี่ยมศึกษาชุมชนตำบล ควนรู อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา (ดีเด่นเรื่องแผนชุมชน การเมืองสมานฉันท์ ฯลฯ) ก่อนเดินทางกลับกรุงเทพฯ

สัปดาห์ที่ 3 (26 มี.ค. – 1 เม.ย.)

ยังคงต้องใช้เวลาพอสมควรกับเรื่องปัญหาหมอกควันภาคเหนือเพราะสถานการณ์หมอกควันยังไม่ดี บางวันอัตราฝุ่นละเอียดขึ้นไปสูงมาก เป็นเหตุให้คณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือตัดสินใจขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน ประกาศเขตภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินในทั้ง 2 จังหวัด (เพิ่มจากจังหวัดเชียงรายซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศไว้แล้ว)

ปัญหาหนี้สินเกษตรกร เป็นปัญหาซับซ้อนสะสมคุกรุ่นมานาน รวมถึงมีการชุมนุมประท้วง เรียกร้อง กดดัน โดยกลุ่มต่าง ๆ เดิมรองนายกฯ โฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ดูแลอยู่ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรที่ ครม. แต่งตั้งขึ้น เมื่อผมได้รับมอบหมายให้เป็นรองนายกฯ  กำกับดูแลงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงรับโอนหน้าที่ประธาน “คณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร” มาด้วย ซึ่งผ่านการรับทราบของคณะรัฐมนตรีในวันอังคารที่ 27 มี.ค. และผมก็ได้เชิญประชุมคณะกรรมการทันทีในวันพฤหัสบดีที่ 29 มี.ค. เนื่องจากมีสถานการณ์ตึงเครียดคุกรุ่นอยู่แล้วจากกลุ่มเกษตรกรอย่างน้อย 3 กลุ่มใหญ่

ในสัปดาห์นี้ได้เริ่มประชุมและเริ่มงาน “คณะกรรมการสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” และเริ่มหารืองานด้านสังคมที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่ง คือ ปัญหาโรคเอดส์ โดยมีคุณมีชัย วีระไวทยะ และคณะมาร่วมหารือด้วย

วันศุกร์ที่ 30 มี.ค. ไปจังหวัดสระแก้ว ร่วมกิจกรรมโครงการ “เบญจภาคี” สนับสนุนชุมชนประยุกต์ใช้ “เศรษฐกิจพอเพียง” รวมถึงการฟื้นฟูธรรมชาติและพัฒนาพลังงานทางเลือก “เบญจภาคี” ในที่นี้คือ (1) ชุมชน (2) หน่วยงานรัฐ (จังหวัดฯลฯ) (3) สถาบันการศึกษา (ในที่นี้ได้แก่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ) (4) ธุรกิจ (5) ประชาสังคม (หรือองค์กรพัฒนาเอกชน) และสื่อ และได้ไปเยี่ยมศึกษา “โครงการบ้านมั่นคงชนบท” ที่ตำบลวังสมบูรณ์ กึ่งอำเภอวังสมบูรณ์ กับ “โครงการศูนย์ข้อมูลหมู่บ้าน” ที่หมู่บ้านบ่อลูกรัง ตำบลคลองหินปูน อำเภอวังน้ำเย็นด้วย

วันเสาร์ที่ 31 มี.ค. ไปร่วมพิธีและสนทนากับนายกรัฐมนตรีประเทศศรีลังกา ที่วัดธรรมาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

วันอาทิตย์ที่ 1 เม.ย. ไปจังหวัดนครราชสีมา พบกับกลุ่มเกษตรกรมีปัญหาหนี้สิน ที่มีคุณประพาส  โงกสูงเนิน เป็นหัวหน้ากลุ่ม เยี่ยมศึกษาศูนย์ดำเนินงานของกลุ่ม 2 แห่ง ที่อำเภอสูงเนิน และสนทนาหารือกันนานพอสมควร ได้สาระดี ก่อนกลับได้แวะเยี่ยมศึกษาชุมชน ตำบลหนองบุญมาก อำเภอหนองบุญมาก ซึ่งมีผลงานการพัฒนาที่ก้าวหน้าได้ผลดีน่าชื่นชม ต่างกันอย่างชัดเจนกับกลุ่มที่มีปัญหาหนี้สิน

สัปดาห์ที่ 4 (2-8 เม.ย.)

เป็นสัปดาห์แห่งความระทึกใจพอสมควร เพราะนายกฯ และรองนายกฯ โฆษิต ไม่อยู่ทั้งคู่ เดินทางไปภารกิจที่ประเทศญี่ปุ่น ตลอด 4 วันทำการของสัปดาห์ ผมจึงต้องทั้งรักษาการแทนนายกรัฐมนตรี และทำการแทนรองนายกฯ โฆษิต รวมถึงทำหน้าที่ประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันอังคารที่ 3 เม.ย.

วันจันทร์ที่ 2 เม.ย. ประชุม “คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์” ซึ่งผมเป็นประธาน และมีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการดำเนินการซึ่งมีคุณมีชัย วีระไวทยะ เป็นประธานอนุกรรมการ ให้ลงมือดำเนินการไปได้เลย โดยจะได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นเงินรวมกันประมาณ 500 ล้านบาท และจะเน้นการป้องกันในหมู่เยาวชนเป็นสำคัญ

วันอังคารที่ 3 เม.ย. ประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งผมทำหน้าที่ประธาน และดูว่าเรื่องต่างๆผ่านพ้นไปด้วยดี แต่แล้วก็เกิดเหตุความสับสนเกี่ยวกับการขึ้นเงินเดือนให้กับเจ้าหน้าที่ของ “สำนักงานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)” ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไป ต้องใช้ความพยายามตลอดค่ำวันอังคารที่ 3 วันพุธที่ 4 และต่อมาถึงวันพฤหัสบดีที่ 5 จึงทำให้สถานการณ์คลี่คลายและดูว่าเรียบร้อยลงได้

วันศุกร์ที่ 6 เม.ย. (วันจักรี และเป็นวันหยุดราชการ) ไปจังหวัดแม่ฮ่องสอน (โดยเครื่องบินของกระทรวงเกษตรฯ ไปจังหวัดเชียงใหม่ แล้วต่อด้วยเฮลิคอปเตอร์ไปจังหวัดแม่ฮ่องสอน) เพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาหมอกควันซึ่งจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีปัญหารุนแรงกว่าจังหวัดอื่น ๆ โดยเฉพาะได้ไปสนับสนุนให้เกิดความเข้าใจและความร่วมมือที่ดีขึ้นระหว่างทางจังหวัดกับชุมชนท้องถิ่น (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวเขา)

วันเสาร์ที่ 7 เม.ย. ไปจังหวัดกาฬสินธิ์ ร่วมกิจกรรมมหกรรมชีวิตเศรษฐกิจพอเพียงที่ตำบลสายนาวัง กิ่งอำเภอนาคู (คุณบำรุง คะโยทา เป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบล และเป็นประธานจัดงาน) เยี่ยมศึกษาแปลงนาเศรษฐกิจพอเพียงของกำนันอำนาจ และตั้งวงสนทนาเรื่องปัญหาหนี้สินเกษตรกรและแนวทางแก้ไขโดยเกษตรกรผู้มีปัญหาหนี้สินและผู้เกี่ยวข้องต่าง ๆ เป็นผู้ร่วมวงสนทนา ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง แล้วเดินทางไปค้างคืนที่ตัวจังหวัดกาฬสินธิ์

วันอาทิตย์ที่ 8 เม.ย. เดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์ไปจังหวัดศรีสะเกษ พบรับฟังและหารือเรื่องหนี้สินเกษตรกรกับกลุ่มสมัชชาเกษตรรายย่อยที่มีคุณนคร  ศรีวิพัฒน์ เป็นหัวหน้า ณ “ศูนย์เรียนรู้วิสาหกิจชุมชน” ที่อำเภอกันทรลักษณ์ จากนั้นไปเยี่ยมศึกษาชุมชนตำบลเสียว กิ่งอำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ  ซึ่งเป็นตำบลที่มีการพัฒนาก้าวหน้าหลายด้าน รวมถึงแผนชุมชน สวัสดิการชุมชน “การเมืองสมานฉันท์” และ “สภาองค์กรชุมชน” จากนั้นไปจังหวัดอุบลราชธานี เยี่ยมศึกษาศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงที่บ้านแก่งเจริญ ตำบลบัวชมพู อำเภอพิบูลมังสาหาร  แล้วไปที่อำเภอเมือง พบรับฟังปัญหาการทับซ้อนในการใช้ประโยชน์จากที่ดินระหว่างชาวบ้านในชุมชน 5 แห่งกับทางราชการ ก่อนเดินทางกลับกรุงเทพฯ

สัปดาห์ที่ 5 (9-17 เม.ย. โดยมีวันหยุดสงกรานต์ยาว 5 วัน รวมอยู่ด้วย)

ท่านนายกฯ กลับจากญี่ปุ่นแล้ว (ตั้งแต่วันพฤหัสที่ 5 เม.ย.) แต่ไปเข้ารับการตรวจสุขภาพแบบพิเศษซึ่งทำให้ต้องพักอยู่ในโรงพยาบาล 3 วัน ระหว่าง 9-11 เม.ย.  และเป็นผลให้ผมต้องไปทำหน้าที่เปิดการสัมมนาและกล่าวปาฐกถาพิเศษแทนนายกฯ ในการสัมมนาที่จัดโดยกระทรวงยุติธรรม เรื่องเกี่ยวกับขบวนการยุติธรรมชุมชน และความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ในวันจันทร์ที่ 9 และไปเปิดการสัมมนาพร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษแทนนายกฯ ในงานวันผู้สูงอายุแห่งชาติ (วันพุธที่ 11) ส่วนการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันอังคารที่ 8 มีรองนายกฯ โฆษิต ทำหน้าที่ประธานการประชุม

ระหว่างวันหยุดสงกรานต์ (ในวันศุกร์ที่ 13 เม.ย. ผมได้ไปตรวจเยี่ยมจุดเฝ้าระวังเรื่องอุบัติเหตุจากการจราจร 1 จุดที่จังหวัดนครปฐม 3 จุดที่จังหวัดราชบุรี และเยี่ยมกิจกรรมชุมชน 1 แห่ง ที่จังหวัดเพชรบุรี (ได้พบคารวะ “ปู่เย็น” ด้วย)

วันเสาร์ที่ 14 เม.ย. ไปรดน้ำสงกรานต์ญาติผู้ใหญ่ ทั้งช่วงเช้าและช่วงบ่าย วันอาทิตย์ที่ 15 เม.ย. ไปเยี่ยมพบพระพยอม กัลยาโณ เป็นการส่วนตัว เยี่ยมพบพระผู้ใหญ่ 2 รูป ที่วัดบวรนิเวศวิหาร (เป็นพระอาจารย์และพระพี่เลี้ยงของผมเมื่อครั้งผมบวช ณ วัดนี้ ในปี พ.ศ. 2512) ช่วงบ่ายไปเป็นประธานในงานวันผู้สูงอายุที่วัดโคนอน เขตภาษีเจริญ จัดโดย “บ้านบางแค” ร่วมกับชุมชนหลายแห่งในบริเวณนั้น

วันจันทร์ที่ 16 เม.ย. ไปจังหวัดเชียงรายพร้อมคณะที่มี รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคนอื่น ๆ รวมทั้งสื่อมวลชนจำนวนหนึ่ง เดินทางโดยเครื่องบินของกองทัพอากาศ ( C130) ไปเยี่ยมสำนักงานโครงการพัฒนาดอยตุงเพื่อรับรู้สภาพและข้อมูลพร้อมทั้งปรึกษาหารือกับผู้เกี่ยวข้องฝ่ายต่าง ๆ รวมถึงผู้นำชุมชนรอบๆ บริเวณพระตำหนักดอยตุง ในเรื่องเกี่ยวกับการเกิด “ไฟป่า” ขึ้นอย่างรุนแรงถึง 7 จุด รอบพระตำหนักเมื่อวันที่ 1 เมษายน ที่ผ่านมา และเพลิงได้ลุกลามเข้าใกล้พระตำหนักมากอย่างน่าตกใจ การไปครั้งนี้ช่วยให้ผมได้เห็นสภาพ ได้รับรู้ ได้ข้อมูล และได้ข้อคิดเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าที่เป็นประโยชน์หลายประการ ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้ทั้งที่โครงการพัฒนาดอยตุงและเป็นการทั่วไปได้ด้วย

วันอังคารที่ 17 เม.ย. ผมได้อยู่บ้าน เขียนจดหมายฉบับนี้ และไปรดน้ำสงกรานต์ญาติผู้ใหญ่อีก 2 ราย

ตลอด 5 สัปดาห์ที่ผมทำงานในฐานะรองนายกรัฐมนตรีดูแลด้านสังคม ผมต้องเรียนรู้ คิดค้น พิจารณา และดำเนินการในเรื่องใหม่ ๆ หลายประการ โดยใช้เวลาที่มีอยู่ค่อนข้างเต็มที่ บางช่วงก็เป็นเพราะความเร่งรัดของภารกิจและของสถานการณ์ บางช่วงก็ด้วยความพยายามที่จะทำงานให้ได้มากและดี บ่อยครั้งไปเริ่มวันทำงานแต่เช้า (ก่อน 8.00 น.) และกลับถึงบ้านค่อนข้างมืดค่ำแล้ว (3 หรือ 4 ทุ่มก็บ่อย) นั่นคือส่วนหนึ่งของเหตุผลที่ทำให้ผมกล่าวว่า 5 สัปดาห์ที่ผ่านมาเป็น “5 สัปดาห์ที่เข้มข้นที่สุดในชีวิต”

การปฏิบัติงานของผมในหน้าที่ใหม่ตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค. เป็นต้นมา ได้รับการสนับสนุนอย่างมาก อย่างดี และอย่างน่าพึงพอใจ จาก “ทีมงาน” ที่มีเลขานุการ (ทพ.กฤษดา  เรืองอารีย์รัชต์) ที่ปรึกษา (ดร.กิตติวัฒน์  อุชุปาละนันท์) และ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ (คุณสิน  สื่อสวน)  เป็นแกน โดยมี “ผู้ช่วย” อีกหลายคน ทั้งที่มาช่วยงานเต็มเวลาและมาช่วยงานบางเวลา และยังรวมถึง “คณะที่ปรึกษา” ที่มี นพ.สุวิทย์  วิบูลผลประเสริฐ  เป็นประธาน ซึ่งมาประชุมปรึกษาหารือทุกวันทำงานบ้าง สัปดาห์ละครั้งบ้าง ผมรู้สึกขอบคุณทีมงานรวมถึงที่ปรึกษาทุกคนเป็นอย่างยิ่ง และเห็นว่าทีมงานและที่ปรึกษาเป็นปัจจัยสำคัญมากต่อคุณภาพและความสำเร็จในการปฏิบัติงานของผมตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายอยู่ในขณะนี้

                                                                 สวัสดีครับ

                                                                         ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/91012

<<< กลับ

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 13 (23 เม.ย.50)

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 13 (23 เม.ย.50)


ทำงานหนักกับดูแลสุขภาพต้องไปด้วยกัน

มีผู้ถามผมบ่อยครั้งว่า “งานมากไหม” “งานหนักไหม”

ผมก็มักตอบว่า “งานก็ย่อมต้องมากและหนัก เพราะรัฐบาลมีเวลาน้อย แต่มีเรื่องต้องทำมาก ปัญหาก็รุมเร้าอยู่หลายด้าน หลายแบบ”

สัปดาห์ที่ผ่านมาก็ไม่เป็นข้อยกเว้น ทุกวันมีงานและกิจกรรมมากและหลากหลายอย่างเต็มๆทั้งวัน ตั้งแต่เช้าจนค่ำหรือดึก (วันที่ 18 มีการประชุม “เฉพาะ ครม.” 2 ชั่วโมงครึ่ง ก่อนการประชุมตามวาระปกติ วันที่ 22 เป็นประธานการประชุม “คณะกรรมการสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” ครั้งที่ 2 วันที่ 23 เป็นประธานการประชุมปฏิบัติการ “ขับเคลื่อนสังคม” ฯลฯ)

เสาร์อาทิตย์ที่ผ่านมา (21, 22 เม.ย.) ผมก็มีภารกิจของหน้าที่เต็มทั้ง 2 วัน โดยวันเสาร์ที่ 21 เป็นภารกิจในกรุงเทพฯ (ร่วมพิธีในงาน “รวมพลังไทยเทิดไท้องค์ราชัน” (“ทำบุญประเทศ”) ที่ท้องสนามหลวง ศาลหลักเมือง และอุโบสถวัดพระแก้ว ฯลฯ) และวันอาทิตย์ 22 เป็นภารกิจที่จังหวัดตรัง (เรื่องน้ำตกทะลักคร่าชีวิตคนไป 38 คน เมื่อวันที่ 14 เม.ย. ที่ผ่านมา)

ขณะเดียวกัน ได้มีผู้ใกล้ชิดหลายคน (รวมถึงคนที่เป็นหมอ) เตือนผมให้ผมดูแลสุขภาพให้ดี ให้มีเวลาพักผ่อนบ้างไม่ใช่ทำงานตลอดเวลา เช่นให้ได้หยุดอยู่บ้านสัก 1 วันใน 1 สัปดาห์ เป็นต้น

ผมเองก็รู้สึกอยู่เหมือนกันว่า ระยะหลังๆนี้ ผมพักผ่อนไม่เพียงพอ รู้สึกว่าร่างกายส่งสัญญาณบางอย่างอยู่เหมือนกัน

ดังนั้น จึงตั้งใจ (อีกครั้งหนึ่ง) ว่า “การทำงานหนักกับการดูแลสุขภาพ รวมถึงการพักผ่อนให้เพียงพอ ต้องไปด้วยกัน”

 

                                           สวัสดีครับ

                                           ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/91942

<<< กลับ

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 14 (30 เม.ย.50)

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 14 (30 เม.ย.50)


เวลาหยุดพักคือเวลาทำงาน (อีกแบบหนึ่ง)

สัปดาห์ที่ผ่านมา ผมยังคงมีวาระงานค่อนข้างมากทุกวัน โดยมีเรื่องสำคัญๆหลายเรื่องให้พิจารณาและดำเนินการ เช่น การประชุมคณะกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย การประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนสนับสนุนกีฬา การประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองงานเสนอ ครม. การประชุมคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ การประชุมคณะกรรมการการป้องกันแก้ไขโรคไข้หวัดนก และปัญหาการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ ฯลฯ

วันพฤหัสบดีที่ 26 มีเหตุกระทันหันต้องไปพบหารือเจ้าของที่ดินซึ่งฟ้องและแจ้งให้ตำรวจจับคนชุมชนแออัดแห่งหนึ่งไปหลายคนฐานบุกรุกที่ดินแล้วไม่ยอมย้ายออก โดยนัดพบกันตอนค่ำที่โรงแรมแห่งหนึ่ง

วันศุกร์ที่ 27 กลับถึงบ้าน 5 ทุ่ม โดยยังไม่ได้ทานอาหารค่ำ เนื่องจากกลุ่มทำงานมาหารือเรื่องการแก้ปัญหาหนี้เกษตรกรแล้วหารือติดพันไม่จบจนดึก

วันเสาร์ที่ 28 เดิมคิดว่าจะให้เป็นวันหยุดพักสัก 1 วัน แต่ได้ตัดสินใจชวนทีมงานวงเล็ก 7 คนมาหารือถึงสถานการณ์ล่าสุดและแนวดำเนินการระยะต่อไป

หารืออยู่จนบ่าย กลับบ้านแล้วออกไปเข้าเฝ้าถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ที่พระราชวังสวนจิตรลดา เนื่องในวโรกาสวันคล้ายวันราชาภิเษกสมรส

วันอาทิตย์ที่ 29 ไปจังหวัดชัยนาท เป็นประธานเปิดบ้านดินที่ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนป๋วย อึ๊งภากรณ์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยฯ พบเยาวชนที่เข้าโครงการค่ายเยาวชน “ตามรอยอาจารย์ป๋วย” และพบผู้เข้าประชุม “คณะทำงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สังคม จังหวัดชัยนาท” ก่อนเดินทางไปเยี่ยมศึกษากิจกรรมพัฒนาที่ตำบลหนองแซง อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท ซึ่ง อบต. ที่นั่นได้รางวัลผลงานดีเด่นมากมายจนนับไม่ถ้วนกลับถึงกรุงเทพฯก็ตกค่ำ

สรุปแล้ว ทั้งสัปดาห์แทบไม่ได้หยุดพัก แต่กิจกรรมวันเสาร์และอาทิตย์ที่ผ่านมานั้นไม่หนักเท่าใด จะถือว่าเป็นการหยุดพักกลายๆก็คงพอได้

ซึ่ง “การหยุดพัก” นั้น ที่จริงเป็นโอกาสให้สมองได้ผ่อนคลาย แล้วเลยเกิดความคิดดีๆผุดขึ้นได้โดยสะดวก แม้ไม่ได้พยายาม

จึงกล่าวได้ว่า “เวลาหยุดพักคือเวลาทำงาน (อีกแบบหนึ่ง)” แถมยังสามารถเป็นการทำงานที่มีประสิทธิภาพและคุณภาพได้อีกด้วย

 

สวัสดีครับ

ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/93360

<<< กลับ

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคมฉบับที่ 15 (8 พ.ค.50)

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคมฉบับที่ 15 (8 พ.ค.50)


ขยายความ “เวลาหยุดพักคือเวลาทำงาน (อีกแบบหนึ่ง)”

ที่ผมกล่าวว่า “เวลาหยุดพักคือเวลาทำงาน (อีกแบบหนึ่ง)” นั้น ขยายความได้ดังนี้ครับ

โดยปกติ เวลาที่เรากำลังทำอะไรอยู่ เช่น ประชุมพิจารณาเรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือหลายเรื่อง ปรึกษาหารือเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ดูแฟ้มเสนองานและพิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องที่อยู่ในแฟ้ม ไปทำหรือร่วมกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ให้สัมภาษณ์ แถลงข่าว หรือแม้แต่เดินทางไปยังจุดหมายใดจุดหมายหนึ่งเพื่อกิจการอย่างใดอย่างหนึ่ง ฯลฯ

ในสภาวะการณ์เหล่านี้ ความคิด จิตใจ สมอง อารมณ์ และแม้แต่ร่างกายของเรา จะผูกพันอยู่กับเรื่องที่เป็นประเด็นให้คิดพิจารณา หรือเป็นจุดสนใจ หรือเป็นจุดตั้งใจ

เรื่องอื่นๆจะถูกกันไว้ก่อน ในระบบความคิด ในสมอง และแม้แต่ในอารมณ์ความรู้สึกของเรา ซึ่งเรื่องอื่นๆนี้ย่อมมีอยู่มากมาย ทั้งที่สะสมพอกพูนไว้ และที่ยังเกิดใหม่อยู่เรื่อยๆ

ดังนั้น เมื่อใดที่เราว่างจากกิจกรรมเฉพาะเจาะจง หรือในช่วงเวลาที่เราหยุดพักจาก “งาน” อย่างใดอย่างหนึ่งนั่นเอง สมอง ความคิด อารมณ์ และแม้แต่ร่างกายของเรา จะมีโอกาสได้จัดการ ดำเนินการ หรือเกี่ยวพันกับเรื่องต่าง ๆ ที่ได้สะสมพอกพูนหรือรับรู้ไว้

ตัวอย่างเช่น เวลานอนหลับแล้วตื่นขึ้นมา เรามักพบว่าเกิดความคิดเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ที่เป็นประเด็นค้างอยู่ในใจของเรา ผมเองมีประสบการณ์เช่นนี้อยู่บ่อยๆ และมักจะเป็นความคิดดีๆเสียด้วย

หรือเวลาที่เป็นช่วง “หยุดพัก” อื่นๆ ได้แก่ ระหว่างออกกำลังกาย ระหว่างใช้ห้องน้ำ ระหว่างทานอาหาร ระหว่างนั่งรถเดินทาง ฯลฯ ผมก็มักได้ความคิดเกี่ยวกับเรื่องที่เป็นประเด็นสะสมในสมองอยู่เสมอๆ

นั่นคือ ระหว่างการ “หยุดพัก” สมองเรามิได้หยุด ยังทำงานอยู่ รวมถึงการทำงาน ในลักษณะ “เก็บตก” เรื่องที่ยังไม่ได้จัดการให้เรียบร้อย และการทำงานเกี่ยวกับเรื่องในอนาคต ซึ่งสมองก็ต้องคิดพิจารณาเพื่อจะดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นธรรมชาติปกติอยู่แล้ว

ส่วนในช่วงเวลาของการ “หยุดพักยาวหน่อย” เช่น ในวันหยุดที่ไม่มีภารกิจการงานอันเจาะจง ย่อมเป็นโอกาสให้นำ “งาน” ที่ยังค้างสะสมอยู่มาดำเนินการ รวมถึงการเคลียร์แฟ้มที่ยังไม่ได้ดู เคลียร์เอกสารที่ยังไม่ได้อ่านหรือจัดการอย่างใดอย่างหนึ่ง ติดต่อสื่อสารกับบุคคลตามที่ตั้งใจไว้แต่ยังไม่ได้ทำ ฯลฯ

เวลา “หยุดพักยาวหน่อย” ยังเป็นโอกาสให้ได้อ่านหนังสือพิมพ์ หนังสือเล่ม สิ่งพิมพ์อื่น ดู internet หรือ website ตลอดจนทำภารกิจอื่นๆที่ประสงค์จะทำหรือเห็นว่าควรทำ

ซึ่งก็เป็น “การทำงานอีกแบบหนึ่ง” นั่นเอง

และบ่อยครั้งจะพบว่าการ “ทำงาน” ในช่วงเวลา “หยุดพักยาวหน่อย” เช่นนี้ สมอง อารมณ์ ความคิด จะปลอดโปร่ง ผ่อนคลาย ช่วยให้คิดอะไรๆได้ดี ได้ลึก ได้กว้าง ได้ไกล มากกว่าในยามที่ต้องคร่ำเคร่งกับภารกิจเจาะจงในงานของแต่ละวัน

ดังนั้น การ “ทำงาน (อีกแบบหนึ่ง)” ในช่วงเวลาของการ “หยุดพัก” จึงสามารถเป็นการ “ทำงาน” ที่มีทั้งประสิทธิภาพและคุณภาพไปด้วยในตัว ซึ่งปัจจัยสำคัญมาจากความปลอดโปร่งผ่อนคลายของสมอง อารมณ์ และความคิด ดังได้กล่าวแล้ว

เรื่องสำคัญในสัปดาห์ที่ผ่านมา

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เรื่องสำคัญๆที่ผมเกี่ยวข้อง ได้แก่

  • เป็นประธานการประชุม “คณะกรรมการกองทุนหมุนเวียนเพื่อการให้กู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจน” (“กองทุน กชก.”) ซึ่งมีมติแก้ไขปรับปรุงระเบียบเพื่อให้กองทุนนี้สามารถเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่เทียบเคียงได้กับ “กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร” (กฟก.) ในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชนโดยเฉพาะเกษตรกร
  • ร่วมสนทนา ปรึกษาอย่างไม่เป็นทางการระหว่างท่านนายกรัฐมนตรีกับรองนายกฯทั้งสอง 2 ครั้ง (ในวันจันทร์ที่ 30 เม.ย. และวันศุกร์ที่ 4 พ.ค.)
  • เข้าร่วมในรายการ “นายกพบสื่อมวลชน” ที่ทำเนียบรัฐบาล
  • ร่วมงาน “รางวัลคุณภาพแห่งชาติ” ( TQA หรือ Thailand Quality Award ) ซึ่งท่านนายกฯ ไปเป็นประธานมองรางวัล และผมเคยเป็นกรรมการใน “คณะกรรมการรางวัลคุณภาพแห่งชาติ” โดยได้ลาออกเมื่อมารับตำแหน่งรัฐมนตรีในคณะรัฐบาล
  • เป็นประธานการประชุม “คณะกรรมการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ” ซึ่งปัญหาหมอกควันเฉพาะหน้าได้หมดไปแล้ว จึงเริ่มพิจารณาแผนการป้องกันแก้ไขปัญหาในอนาคตเป็นสำคัญ
  • ร่วมพิจารณาเรื่อง “การออกสลาก 2 ตัว 3 ตัว” ซึ่ง รมว.การคลัง หยิบยกขึ้นมาหารือกับนายกรัฐมนตรี และมีประเด็นให้พิจารณาค่อนข้างเข้มข้นอยู่
  • ร่วมพิจารณา “ร่าง พรบ. สภาองค์กรชุมชนท้องถิ่น” และ “ร่าง พรบ. ส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ” ในคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีคณะที่ 2 (ผมเป็นประธาน) ซึ่งที่ประชุมเห็นควรให้ไปปรึกษากันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ยังเห็นขัดแย้งกันในหลักการอยู่พอสมควร แล้วนำมาเสนอใหม่ภายใน 2 สัปดาห์
  • เข้าร่วมประชุม “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)” เพื่อชี้แจงรายงานประจำปีของ “สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)” และนำเสนอ “ร่าง พรบ. ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ”
  • เข้าเยี่ยมคารวะและขอคำแนะนำจากประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (คุณมีชัย ฤชุพันธ์) ในเรื่องเกี่ยวกับงานนิติบัญญัติของรัฐบาล
  • เป็นประธานการประชุม “คณะกรรมการฝ่ายโครงการและกิจกรรมในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550”
  • เป็นประธานการประชุม “คณะอดีตกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร” เพื่อหารือเรื่องเกี่ยวกับการสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯ ชุดใหม่ และเรื่องอื่นๆ
  • รับมอบหมายจากท่านนายกฯให้พบต้อนรับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของประเทศมาเลเซียเพื่อหารือเรื่องความร่วมมือระหว่างประเทศทั้งสอง
  • เป็นรองประธานการประชุม “คณะกรรมการอำนวยการจัดงานวันวิสาขบูชา” ซึ่งท่านนายกฯ เป็นประธานการประชุม
  • เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการประมวลความเห็นของรัฐมนตรีต่อร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
  • ร่วมหารือเรื่อง ยุทธศาสตร์สันติวิธี กับผู้บริหารจากกระทรวงยุติธรรม สถาบันพระปกเกล้า และกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ
  • เข้าเฝ้าในพระราชพิธีฉัตรมงคล และร่วมงานสโมสรสันนิบาต เนื่องในวันฉัตรมงคล ( 5 พ.ค.)
  • เป็นประธานในกิจกรรมตักบาตรพระสงฆ์ 85 รูป ที่พุทธมณฑลและเข้าร่วมในพิธีเจริญพระพุทธมนต์และเจริญจิตตภาวนา (ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)) เพื่อถวายเป็นพระกุศลและถวายพระพรชัยมงคลเนื่องในโอกาสมหามงคลเจริญพระชนมายุ 7 รอบ (84 พรรษา) 6 พฤษภาคม 2550 ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

วันที่ 7 พ.ค. เป็นวันหยุดชดเชยวันฉัตรมงคล ผมมีโอกาสได้ “หยุดพักยาวหน่อย” โดยไม่มีวาระงานที่เจาะจงจึงได้ใช้โอกาสนี้เคลียร์เอกสารที่ยังไม่ได้ดู อ่านหนังสือพิมพ์โดยเฉพาะในส่วนที่มีสาระเกี่ยวกับงาน และทำกิจกรรมต่างๆรวมถึงการไปให้เพื่อนที่เป็นแพทย์ช่วยดูสุขภาพทั่วไป และเขียน “จดหมาย” ฉบับนี้ได้ยาวหน่อยด้วย

อ้อ ! ผมได้ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ในรายการวิทยุและโทรทัศน์รวม 4 รายการด้วยครับ

สวัสดีครับ

ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/95054

<<< กลับ

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 16 (21 พ.ค.50)

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 16 (21 พ.ค.50)


หัวใจสำคัญในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ความเป็นธรรม ความเป็นเจ้าของ และการมีส่วนร่วมที่แท้จริง

                สองสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมยังคงมีภารกิจมาก กลับบ้านดึกแบบทุกวัน หาเวลาเขียนจดหมายถึงญาติมิตรไม่ได้จนกระทั่งวันนี้ (20 พ.ค. 50 ซึ่งเป็นวันอาทิตย์ และผมไม่ได้ไปลงพื้นที่ในต่างจังหวัด)

                เมื่อวันเสาร์ที่ 12 พ.ค. ผมไปจังหวัดปัตตานี ตอนเช้าไปเยี่ยมโครงการ “บ้านมั่นคง” ที่ชุมชนปูโป๊ะ ต.ตะลุโบ๊ะ อ.เมือง จ.ปัตตานี ซึ่งสร้างไปประมาณ 70 % บางบ้านก็เสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่ได้ย้ายเข้าเพราะยังขาดไฟฟ้า

                โครงการบ้านมั่นคงนี้ชาวบ้านพอใจมากเพราะเขาได้มีส่วนร่วมสูงมากในการคิด การตัดสินใจ และการดำเนินงานทั้งหมด  และเขารู้สึกเป็น “เจ้าของ” อย่างแท้จริง นั่นคือ ชาวบ้านเห็นว่า โครงการนี้เป็น “ของเขา” ไม่ใช่ “ของรัฐ”

                จากนั้นไปร่วมเวทีเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้าน รับฟังสรุปปัญหาและข้อเสนอแนะ ภาคบ่ายประชุมพร้อมกันกับผู้นำชุมชนและผู้แทนหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับงานพัฒนา ซึ่งรวมถึงเรื่อง สวัสดิการชุมชน ที่ดินทำกิน การศึกษา วิทยุชุมชน การจัดตั้ง “สภาซูรอ” และความเดือดร้อนของชาวไทยพุทธ

                วันอาทิตย์ที่ 13 พ.ค. พบกับบุคคลหลากหลาย จากภาคประชาสังคม รับฟังการให้ข้อมูลและความคิดเห็นในประเด็นปัญหาต่างๆ ได้แก่ เรื่องผู้สูงอายุ อุทยานทับที่ดินทำกินและที่ดินของชุมชน เยาวชนกับการพัฒนาชุมชน การช่วยเหลือครอบครัวที่ประสบภัยจากเหตุการณ์ความไม่สงบ การจัดการศึกษา ศาสนา การนำเสนอข่าวสาร และการปฏิบัติงานของหน่วยงานราชการ

                จากนั้นไปร่วมกับคณะท่านนายกรัฐมนตรีซึ่งมีท่านรองนายกฯโฆษิตแ ละรัฐมนตรีหลายท่ากิจนรวมอยู่ด้วย เดินทางจากจังหวัดปัตตานีไปจังหวัดยะลา ประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการต่างๆในเขต ศอ. บต. หรือเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะจังหวัดชายแดนภาคใต้ จบแล้วผมเดินทางกลับกรุงเทพฯ ในขณะที่คณะท่านนายกฯ เดินทางต่อไปยังจังหวัดกระบี่ เพื่อประชุมเกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งอันดามัน

                การไปลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ครั้งนี้ ทำให้ผมได้สัมผัสบรรยากาศ ได้พบผู้คนหลายฝ่ายและหลากหลาย ได้ข้อมูลและได้ข้อคิดที่เป็นประโยชน์หลายประการทีเดียว

                ข้อคิดที่สำคัญมากข้อหนึ่ง คือ ความตระหนักว่า หัวใจสำคัญของการแก้ปัญหาและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปสู่ความสันติสุขมั่นคง น่าจะประกอบด้วย

                1 . “ความเป็นธรรม” ทั้งในทางกฎหมายและในทางสังคม ที่ประชาชนจะเห็นและรู้สึกได้ว่ามีอยู่จริงและมีอยู่อย่างทั่วถึง

  1. “ความเป็นเจ้าของ” รวมถึงความรู้สึกว่าเป็นเจ้าของวิถีชีวิต เป็นเจ้าของโครงการเป็นเจ้าของท้องถิ่น เป็นเจ้าของพื้นที่ มีส่วนเป็นเจ้าของสังคม และมีส่วนเป็นเจ้าของประเทศ อย่างไม่ด้อยไปกว่าคนในภาคอื่นๆหรือคนกลุ่มอื่นๆ
  2. “การมีส่วนร่วมที่แท้จริง” ซึ่งหมายถึงมีส่วนร่วมในการคิด ในการพิจารณา ในการตัดสินใจ ในการดำเนินการ ในการรับผลประโยชน์ ในการติดตามประเมินผล และในการเรียนรู้และพัฒนาต่อเนื่อง ในเรื่องต่างๆซึ่งเป็นการดำเนินการของภาครัฐและกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน (ตัวอย่างที่ดีในข้อนี้ คือ “โครงการบ้านมั่นคง” ดังได้กล่าวข้างต้น)

                                                                                                สวัสดีครับ

                                                                                     ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/97508

<<< กลับ

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 17 (3 มิ.ย. 50)

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 17 (3 มิ.ย. 50)


คำชี้แจงงานด้านสังคมในการแถลง “ผลการดำเนินการตามนโยบายของคณะรัฐมนตรี” ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

วันที่ 24 พฤษภาคม 2550 รัฐบาลนำโดยท่านนายกรัฐมนตรี พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้ขอแถลง “ผลการดำเนินการตามนโยบายของคณะรัฐมนตรี” ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เริ่มเวลา 10.00 น. โดยรัฐบาลได้แถลงผลการดำเนินการตามนโยบายของคณะรัฐมนตรี ที่ประกอบด้วย

  1. นโยบายการปฏิรูปการเมือง การปกครอง และการบริหาร
  2. นโยบายเศรษฐกิจ
  3. นโยบายสังคม
  4. นโยบายการต่างประเทศ
  5. นโยบายความมั่นคงของรัฐ

หลังจากท่านนายกฯแถลง (ซึ่งใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง) สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ผลัดกันอภิปราย โดยกำหนดให้อภิปรายท่านละ ไม่เกิน 15 นาที แต่อาจขยายได้ถ้ามีสาระสำคัญและประธานอนุญาต

ประมาณ 16.00 น. ฝ่ายรัฐบาลได้ขอชี้แจงบ้าง โดยรัฐมนตรีที่ชี้แจงประกอบด้วย รมว.การคลัง (ดร.ฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์) รมว.การต่างประเทศ (คุณนิตย์ พิบูลสงคราม) รมต.ประจำสำนัก นรม. (ดร.ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์) รมช.มหาดไทย (คุณบัญญัติ จันทน์เสนะ) รมว.ศึกษาธิการ (ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน) และรมว.คมนาคม (พล.ร.อ.ธีระ ห้าวเจริญ)

จากนั้นสมาชิก สนช. อภิปรายต่อ โดยมีแผนว่าฝ่ายรัฐบาลจะขอชี้แจงอีกรอบหนึ่งในช่วงเวลาตั้งแต่ประมาณ 19.00 น. แต่มาทราบในเวลาต่อมาว่าฝ่าย สนช. ขอให้ฝ่ายรัฐบาลไม่ต้องชี้แจง เพื่อฝ่าย สนช. จะได้มีเวลาเพียงพอให้สมาชิกที่ลงชื่อขออภิปรายไว้ได้อภิปรายกันครบทุกคน (รวมประมาณ 50 คน)

ผมเองได้รับการกำหนดให้พูดชี้แจงในช่วง 19.00 น. เป็นต้นไปนี้ด้วย จึงได้เตรียมสาระไว้พอเป็นแนวในการพูด แต่แล้วก็ไม่ต้องพูด ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น

ผมจึงขอนำร่างแนวการชี้แจงต่อ สนช. ในประเด็นด้านสังคมมาลงไว้ในที่นี้ ดังนี้ครับ

                                                            ร่างแนวการชี้แจงต่อ สนช.

                                                                 ประเด็นด้านสังคม

  1. ในช่วงที่รัฐบาลเข้ามาเริ่มงาน สังคมมีความแตกแยกทางด้านความคิดอย่างมากขณะที่ปัญหาหลายๆ อย่างก็ยังคงรอคอยการแก้ไข

                         – ผู้ยากไร้ ยังขาดการช่วยเหลือและขาดโอกาสทางสังคม

– เด็ก เยาวชน ยังตกอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เสี่ยง ไม่ได้รับการป้องกันที่ดีพอ

– ผู้พิการ ผู้สูงอายุและผู้ด้อยโอกาส ยังไม่ได้รับการดูแลจากสังคมอย่างเหมาะสม

  1. จากปัญหาดังกล่าว รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมให้เกิด “สังคมที่ดีงามและอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” โดยเป็น

– สังคมที่ไม่ทอดทิ้งกัน มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือเกื้อกูล

– สังคมที่เข้มแข็ง ทั้งชุมชนท้องถิ่น ประชาสังคม และกลุ่มคนต่างๆ

– สังคมที่มีคุณธรรม มีความดีงาม ความถูกต้องและความเป็นธรรม

  1. ในช่วงเวลา 7 เดือนผ่านมา รัฐบาลได้แก้ไขปัญหาที่เร่งด่วน พร้อมกับการพัฒนาให้เกิดกลไกเพื่อสร้างความเข้มแข็งของสังคมในระยะยาว
  2. การแก้ไขปัญหาระดับเร่งด่วน 

                         4.1 ในปลายปี 2549 ได้เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในประเทศไทย รัฐบาลได้ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนโดยการจัดหาที่อยู่อาศัยให้ผู้ประสบอุทกภัยใน 23 จังหวัด

– ใช้งบประมาณ 1,192 ล้านบาทสำหรับจัดหาและซ่อมแซมบ้านพักกว่า 1 แสนราย

                                         – ใช้งบ 150 ล้านบาทเพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิตชุมชนแก่ผู้ประสบภัย

– ปรับปรุงสาธารณูปโภค ฟื้นฟูสภาพแวดล้อม และสร้างระบบเตือนภัยในจังหวัดที่ประสบภัย

4.2 ปัญหาหมอกควันที่เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคม 2550

– รัฐบาลได้เข้าไปแก้ปัญหาอย่างรวดเร็วโดยตั้งศูนย์อำนวยการแก้ปัญหาหมอกควันภาคเหนือ

– วางมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาหมอกควันที่เกิดขึ้นทุกปีในระยะยาว

@ จัดทำแผนป้องกันไฟป่า ภัยแล้ง น้ำท่วม และดินถล่มอย่างบูรณาการ

@ จัดทำระบบข้อมูลและการเตือนภัย

@ ประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน

4.3 ปัญหาหนี้สินเกษตรกรที่เป็นปัญหาเรื้อรังมานาน รัฐบาลได้ดำเนินการ

– แก้ปัญหาวิกฤตเฉพาะหน้าของเกษตรกร โดยชะลอการฟ้องคดี การบังคับคดีและการขายทอดตลาดที่ดินและที่อยู่อาศัย

– จัดการหนี้เกษตรกรโดยให้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรซื้อหนี้จากสถาบันการเงิน

– แก้ไขปัญหาและพัฒนาองค์กรที่ทำหน้าที่แก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร

@ กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตร

@ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

@ กองทุนหมุนเวียนเพื่อการให้กู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจน

@ กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง

– สร้างการมีส่วนร่วมของเกษตรกรในการแก้ปัญหาหนี้สิน สามารถชวนกลุ่มผู้เรียกร้องประท้วงมาทำงานร่วมกัน

– พัฒนาวิธีการแก้ไขปัญหาแบบเบ็ดเสร็จถาวรตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

4.4 ดำเนินการจัดสวัสดิการสังคม ค้นหาและดูแลผู้ยากลำบากที่ถูกทอดทิ้งกว่า 2 แสนคน ส่งเสริมการจัดสวัสดิการชุมชน ร่วมกับองค์กรชุมชนเข้มแข็งกว่า 27,000 องค์กร ที่มีสมาชิกกว่า 2.5 ล้านคนทั่วประเทศ

4.5 สื่อไม่ปลอดภัย

– จัดตั้งคณะกรรมการสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อขจัดสื่อร้าย ขยายสื่อดี ซึ่งครอบคลุมทั้งสื่อโทรทัศน์ อินเตอร์เน็ต สื่อสิ่งพิมพ์โดยเฉพาะการ์ตูน

– ปรับปรุงกฎหมายเพื่อเพิ่มโทษกับสื่อไม่ปลอดภัย รวมถึงพิจารณาขึ้นภาษีสื่อเสี่ยง

– ดำเนินการจัดระเบียบรายการโทรทัศน์ ทั้งจัดเรตติ้งประเภทรายการไปพร้อมกับจัดช่วงเวลาเหมาะสมในการออกอากาศของรายการแต่ละประเภท

  1. การพัฒนาระยะยาวให้เกิดกลไกเพื่อสร้างความเข้มแข็งของสังคม :

– นำกองทุนที่มีอยู่แล้ว มาใช้ประโยชน์ให้เต็มที่ โดยปรับให้เป็น “กองทุนเชิงรุก” ที่มียุทธศาสตร์เพื่อช่วยเหลือ

@ คนพิการ ผู้สูงอายุ คุ้มครองเด็ก

@ เสนอเพิ่มกองทุนครอบครัว

– ปรับกองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมให้ใหญ่ขึ้น จาก 60 ล้านบาท เป็น 500 ล้านบาท

– จัดทำกฏหมายเพื่อพัฒนากลไกในการพัฒนาสังคม

@ พรบ.ส่งเสริมครอบครัว

@ พรบ.สภาองค์กรชุมชน

@ พรบ.ส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ

@ พรบ.ส่งเสริมประชาสังคมเพื่อการพัฒนา

@ พรบ.ส่งเสริมกองทุนกิจการซะกาต

การแถลงและการอภิปรายทั้งหมดใช้เวลารวมกัน ประมาณ 14 ชั่วโมง และปิดการประชุมเมื่อเวลาประมาณเที่ยงคืน (24.00 น.)

                                                                                                สวัสดีครับ

    ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/100489

<<< กลับ

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 18 (4 มิ.ย. 50)

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 18 (4 มิ.ย. 50)


การตัดสินคดียุบพรรคการเมืองผ่านพ้นไปแล้ว ถึงเวลามาช่วยกันทำให้เกิด “การเมืองแบบสร้างสรรค์ฉันมิตร เพื่อสังคมและชีวิตที่ดีกว่า”

วันที่ 30 พฤษภาคม 2550 เป็นวันประวัติศาสตร์ที่คนไทยและผู้เฝ้ามองประเทศไทย รอคอย เพราะเป็นวันตัดสินคดียุบพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องกับ 2 พรรคใหญ่ และ 3 พรรคเล็ก

มีการประกาศผลการพิจารณาตัดสินคดีอย่างละเอียด และชัดเจน โดยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ 9 ท่าน ใช้เวลาอ่านคำพิจารณาและตัดสินรวมประมาณ 10 ชั่วโมง

ผลการตัดสินคดี กระทบต่อบุคคลกลุ่มต่างๆไม่เหมือนกัน และปฏิกิริยาจากบุคคลกลุ่มต่างๆ รวมทั้งจากผู้คนทั้งหลายในสังคม ก็ต่างๆกัน

แต่ผมเองคิดว่า เมื่อการตัดสินคดียุบพรรคการเมืองผ่านพ้นไปแล้ว น่าจะถือเป็นจุดเริ่มต้นในการหันมาร่วมกันพยายามทำให้เกิด “การเมืองแบบสร้างสรรค์ฉันมิตร เพื่อสังคมและชีวิตที่ดีกว่า”

นั่นคือ เลิกคิดเป็นศัตรูกัน หรือเป็นฝ่ายตรงกันข้าม

คนไทยทั้งหมด ล้วนเป็นพี่ เป็นน้อง เป็นญาติ เป็นเพื่อน เสมือนอยู่ในครอบครัวใหญ่เดียวกัน ที่เรียกว่าประเทศไทย มีเป้าหมายสุดท้ายร่วมกันหรือเหมือนกัน ได้แก่ การมีชีวิตและสังคมที่สันติและเป็นสุข

การเมืองเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการสังคมไปสู่ความสันติและความเป็นสุข

ใครที่มองการเมืองเป็นเรื่องเพื่ออำนาจและผลประโยชน์ จึงคิดไม่ถูก ควรคิดเสียใหม่ และถ้ายังไม่เปลี่ยนความคิดให้ถูก ก็ไม่ควรเข้ามาทำงานการเมือง

“การเมืองแบบสร้างสรรค์ฉันมิตร” มีอยู่แล้วในประเทศไทย ทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น

ในระดับชาติอาจยังไม่ชัดมาก แต่มีเชื้ออยู่พอสมควร แสดงตัวให้ปรากฏเป็นระยะๆ

ในระดับท้องถิ่น ได้มีหลายตำบลและเขตเทศบาล ที่พยายามพัฒนา “การเมืองแบบสร้างสรรค์ฉันมิตร” หรือ “การเมืองแบบสมานฉันท์” ขึ้น ใช้การพูดจาหารือระหว่างประชาชนในท้องถิ่นด้วยกัน จนได้ข้อสรุปร่วมกันว่าใครควรจะเป็นผู้บริหารท้องถิ่น แล้วจึงไปเลือกตั้ง เกิดบรรยากาศรู้รักสามัคคี ช่วยกันพัฒนาท้องถิ่น

ในระดับชาติ คงไม่สามารถทำขนาดนั้นได้ (เลือกผู้บริหารโดยการพูดจาหารือกันในหมู่ประชาชน) แต่ที่น่าจะทำได้ และควรพยายามทำให้ได้ คือ การพูดจาหารือกัน ทั้งในหมู่นักการเมืองและในหมู่ประชาชน เพื่อร่วมกันหาข้อสรุปที่พอใจร่วมกัน เกี่ยวกับประเด็นทางการเมืองที่สำคัญ

ขณะนี้ ได้มีประเด็นทางการเมืองที่สำคัญหลายประการ รอการขบคิดหาข้อสรุป เพื่อช่วยให้การเมืองไทยเดินไปข้างหน้าได้อย่างสร้างสรรค์

จึงควรที่ฝ่ายต่างๆซึ่งเกี่ยวข้อง จะเข้ามาพูดจาหารือกันเพื่อหาข้อสรุปที่พอใจร่วมกัน

                การพูดจาหารือกัน ควรเป็นไปอย่างฉันญาติมิตร ช่วยกันคิดว่า เป้าหมายหรือเป้าประสงค์ร่วมกันคืออะไร แล้วร่วมกันพยายามหาแนวทางและวิธีการ อันจะทำให้บรรลุเป้าหมายหรือเป้าประสงค์นั้นๆ

                ในการนี้ ถ้าต้องการ “คนกลาง” หรือ “ผู้ประสาน” มาช่วยจัดกระบวนการพูดจาหารือกัน ก็สามารถร่วมกันค้นหาและคัดสรร ให้ได้ “คนกลาง” ซึ่งเป็นที่พอใจหรือยอมรับร่วมกัน

                แต่สำหรับผู้อยู่ในวงการเมืองไทยในปัจจุบัน มีบุคคลซึ่งน่าจะเล่นบท “คนกลาง” หรือ “ผู้ประสาน” ได้เป็นอย่างดีอยู่จำนวนไม่น้อย

                นั่นคือ นักการเมืองไทย ควรจะใช้จังหวะที่จบคดียุบพรรคการเมือง หันมาพูดจาหารือกันเกี่ยวกับประเด็นการเมืองที่สำคัญ โดยไม่ต้องมี “คนกลาง” หรือ “ผู้ประสาน” หรือถ้าต้องการบุคคลดังกล่าว ก็เล่นบทกันเอง หรือร่วมกันจัดหามา ซึ่งน่าจะทำได้ไม่ยาก

                ผมเองขอเอาใจช่วยทุกฝ่ายทุกคน ที่จะร่วมกันพยายามทำให้เกิด “การเมืองแบบสร้างสรรค์ฉันมิตร เพื่อสังคมและชีวิตที่ดีกว่า” และพร้อมที่จะให้ความร่วมมือในส่วนที่ผมสามารถทำให้

                เพราะผมเชื่ออย่างเต็มเปี่ยมว่า “การเมืองแบบสร้างสรรค์ฉันมิตร เพื่อสังคมและชีวิตที่ดีกว่า” จะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญยิ่งของประเทศไทยและสังคมไทย

                                                                                                สวัสดีครับ

ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/100549

<<< กลับ