บทบาทของภาควิชาการและประชาสังคมในภาวะการเมืองในปัจจุบัน

บทบาทของภาควิชาการและประชาสังคมในภาวะการเมืองในปัจจุบัน


(12 มี.ค. 49) ไปร่วมประชุมชน เรื่อง “บทบาทของภาควิชาการและประชาสังคมในภาวะการเมืองในปัจจุบัน” จัดโดย (1) ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล (ดร.โคทม อารียา เป็นผู้อำนวยการ) (2) ศูนย์ข่าวสารสันติภาพ มูลนิธิเพื่อการศึกษาประชาธิปไตยและการพัฒนา (ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เป็นผู้อำนวยการ) (3) ศูนย์สันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า (นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ เป็นผู้อำนวยการ) (4) ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ดร.อมรา พงศ์ศาพิชญ์ เป็นผู้อำนวยการ) และ (5) เครื่อข่ายพุทธิกา ทั้งนี้ โดยความเอื้อเฟื้อด้านสถานที่ของสำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ดร.โคทม อารียา เป็นประธาน)
ผู้ดำเนินการประชุม คือ ดร.โคทม อารียา โดยมีผู้เริ่มอภิปรายซึ่งนั่งบนเวทีอีก 3 คน ได้แก่ นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ ดร.อมรา พงศ์ศาพิชญ์ และผม (ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม) ซึ่งเป็นประธานกรรมการศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม (ศูนย์คุณธรรม)
ทางผู้จัดการประชุมในอัดสำเนาบทความที่ผมเขียน เรื่อง “‘สันติวิธี’ กับทางออกจากวิกฤตสังคมไทย” แจกผู้เข้าประชุมด้วย ผู้เข้าประชุมมาจากภาควิชาการและภาคประชาสังคมเป็นหลัก รวมประมาณ 50 คน
ที่ประชุมได้แสดงความเห็นกันหลากหลาย รวมถึงการใช้กระบวนการ “สันติวิธี” การมี “คนกลาง” ช่วยเอื้ออำนวยและหรือเป็น “ร่มบารมี” ฯลฯ
ที่ผมเห็นว่ามีความสำคัญและน่าสนใจเป็นพิเศษ คือข้อเสนอให้บุคคลในภาควิชาการ (คณาจารย์มหาวิทยาลัย ฯลฯ) มีบทบาทในเรื่องการให้ข้อมูล ความรู้ การเผยแพร่ความรู้รวมถึงข้อเท็จจริงและความเป็นจริงต่างๆ ตลอดจนการจัดการความรู้ ให้แก่ประชาชนโดยเฉพาะในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ ซึ่งคณาจารย์มหาวิทยาลัยก็กระจายตัวทั่วประเทศอยู่แล้ว อันเป็นวิธีช่วยให้ประชาชนทั่วประเทศโดยเฉพาะประชาชนฐานรากมีความรู้ความเข้าใจเท่าทันการเปลี่ยนแปลงและความเป็นไปในสังคม ทั้งเป็นการปูพื้นฐานที่ดีให้กับการเป็นสังคมประชาธิปไตยที่เป็นอารยะ เจริญ ก้าวหน้า และมั่นคง ไปพร้อมกัน

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
14 มี.ค. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/19021

<<< กลับ

การส่งเสริมการทำความดีอันเนื่องจากวันสำคัญต่างๆในรอบปี

การส่งเสริมการทำความดีอันเนื่องจากวันสำคัญต่างๆในรอบปี


(17 มี.ค. 49) เป็นประธานการประชุม จัดโดยศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม (ศูนย์คุณธรรม) เพื่อหารือระดมความคิดเกี่ยวกับ การส่งสริมการทำความดีอันเนื่องจากวันสำคัญต่างๆในรอบปี โดยเฉพาะวันวิสาขบูชา ซึ่งจะมาถึงในเวลาอีกไม่นาน (12 พ.ค. 49)

ที่ประชุมระดมความคิดได้หลากหลายและเป็นความคิดดีๆซึ่งแปลงเป็นข้อเสนอเบื้องต้นให้ดำเนินโครงการ 9 โครงการ ดังนี้
1. โครงการบันทึกการทำความดีระหว่างเข้าพรรษา
2. โครงการสัปดาห์ระดมธรรมเพื่อสันติสุข เทศกาลวันวิสาขบูชาโลก
3. โครงการคืนวิถีชีวิตชาวพุทธให้สังคมไทย
4. โครงการ 90 ล้านความดี 60 ปีทรงครองราชย์สันติภาพสู่ดวงใจ (หรือโครงการ 9 ล้านความดี ถวายในหลวง)
5. โครงการการประกวดโครงงานคุณธรรมเฉลิมพระเกียรติ (เยาวชนไทยทำดีถวายในหลวง) (กำลังดำเนินการอยู่แล้ว)
6. โครงการเขียนความดีจากใจถวายในหลวง
7. โครงการความดีรอบตัวที่ฉันเห็น
8. โครงการขบวนการก่อการดี (เน้นเยาวชนโดยอาศัยตัวดี-เดี๋ยวเป็นรูปธรรมในการสื่อ)
9. โครงการพัฒนาองค์ความรู้อันเกี่ยวเนื่องในโอกาส 100 ปีท่านพุทธทาสเพื่อสังคมไทย

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
21 มี.ค. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/20189

<<< กลับ

สรุปความเห็น “การประยุกต์แนวคิดความมั่นคงของมนุษย์ในบริบท 3 จังหวัดชายแดนใต้”

สรุปความเห็น “การประยุกต์แนวคิดความมั่นคงของมนุษย์ในบริบท 3 จังหวัดชายแดนใต้”


1.กรณี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือโจทย์ที่แท้จริงและท้าทายต่อนโยบายสร้างความมั่นคงของมนุษย์ ของรัฐบาลไทย และของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
2. สถานการณ์และปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (“ทุกข์”) เป็นที่รับรู้กันอยู่เพียงพอแล้ว
3. การวิเคราะห์สาเหตุของปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (“สมุทัย”) ควรใช้แนวที่คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ได้วิเคราะห์ไว้ โดยแบ่งสาเหตุเป็น 3 ชั้น คือ (1) ชั้นบุคคล     (2) ชั้นโครงสร้าง และ (3) ชั้นวัฒนธรรม
4. การกำหนดเป้าหมายในการแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (“นิโรธ”) ควรถือว่า “ความมั่นคงของมนุษย์” เป็นเป้าหมายสุดท้าย ซึ่งมีชุดตัวชี้วัด 10 หมวด ได้แก่ (1) ที่อยู่อาศัย (2) สุขภาพอนามัย         (3) การศึกษา (4) การมีงานทำและรายได้ (5) ความมั่นคงส่วนบุคคล (6) ครอบครัว (7) การสนับสนุนทางสังคม (8) สังคม-วัฒนธรรม (9) สิทธิและความเป็นธรรม (10) การเมืองและธรรมาภิบาล (คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบชุดตัวชี้วัดนี้เมื่อ 30 สิงหาคม 2548)
5. แนวทางสู่เป้าหมายในการแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (“มรรค”) ควรประกอบด้วยยุทธศาสตร์ 5 ประการดังนี้ (1) การส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนและท้องถิ่นรวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (2) การเชื่อมประสานพลังสร้างสรรค์ของฝ่ายต่างๆสู่เป้าหมายร่วมกัน (3) บทบาทเอื้ออำนวยของฝ่ายรัฐรวมถึงการมีกฎหมาย ข้อบังคับ โครงสร้าง และกลไกที่เหมาะสม (4) การใช้หลักการและกระบวนการแก้ความขัดแย้งด้วยสันติวิธี (หรือ “การสร้างสันติ” – Peace building) (5) การจัดการความรู้และพัฒนาร่วมกันอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ โดยมี “ชุดตัวชี้วัดความมั่นคงของมนุษย์” เป็น “ยุทธศาสตร์ของยุทธศาสตร์” พร้อมกับเป็น “แกนหลัก” และ “เป้าหมายสุดท้ายร่วมกัน” ของยุทธศาสตร์ทั้ง 5 ประการ ดังแสดงด้วยภาพต่อไปนี้
ยุทธศาสตร์แก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

หมายเหตุ  เป็นสรุปความเห็นที่นำเสนอในการอภิปราย เมื่อ 9 พ.ค. 49 หัวข้อ “การประยุกต์แนวคิดความมั่นคงของมนุษย์ในบริบท 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสัมมนาระดับชาติ เรื่อง “ประเทศไทยกับความมั่นคงของมนุษย์ : จุดยืนและก้าวต่อไป” จัดโดย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ระหว่าง 8 – 9 พฤษภาคม 2549
ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
11 พ.ค. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/28066

<<< กลับ

สำนึกไทยที่พึงปรารถนา

สำนึกไทยที่พึงปรารถนา


(ตัดตอนและดัดแปลงเล็กน้อยจากหนังสือ “สำนึกไทยที่พึงปรารถนา” โดย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม และสังคม สัญจร จัดพิมพ์โดย มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ พ.ศ. 2543)
คำนิยม
สำนึกหรือจิตสำนึก (Consciousness) กำหนดการรับรู้ ความรู้สึกนึกคิด และพฤติกรรมของมนุษย์ หากสำนึกแคบ การรับรู้ ความรู้สึกนึกคิด และพฤติกรรมก็แคบ ถ้าสังคมใหญ่แต่สำนึกเล็กก็จะเกิดความขัดแย้ง ทำให้ไม่สามารถรักษาความเป็นปรกติของสังคมไทย การยกระดับสำนึกของคนในชาติจึงควรเป็นแกนกลางของยุทธศาสตร์การพัฒนาชาติ
คนไทยต้องมีจิตใหญ่ จึงจะสามารถแก้ปัญหาใหญ่ๆที่กำลังเผชิญอยู่ได้ “สำนึกไทยที่พึงปรารถนา” ที่ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม และสังคม สัญจร นำเสนอนี้ คือมารดาแห่งการปฏิรูปทั้งปวง (Mother of all reforms) เพราะจิตสำนึกคือส่วนที่ลึกและทรงพลังที่สุด ถ้าจิตสำนึกเปลี่ยนทุกอย่างก็เปลี่ยน หวังว่า “สำนึกไทยที่พึงปรารถนา” จะช่วยให้เกิดพลังสร้างสรรค์มหาศาลในการนำชีวิต และสังคมไทยไปสู่สิ่งที่ดีที่สุด
ประเวศ วะสี
20 พฤศจิกายน 2543

1. คำปรารถ
สำนึกเป็นสิ่งที่อยู่ลึกในจิตใจของคน เป็นตัวชี้นำ กำกับ กลั่นกรองพฤติกรรมของคน ตลอดจนองค์ประกอบทั้งหลายในสังคม ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว กลุ่มคน องค์กร ชุมชน หรือสังคมโดยรวม ล้วนได้รับอิทธิพลจาก “สำนึก” ของคนไม่ทางตรงก็ทางอ้อม
จะเห็นได้ว่าความดี ความเลว ความเจริญ ความเสื่อม ตลอดจนพิธีกรรม ประเพณี วัฒนธรรม ในแต่ละสังคมก็ล้วนเป็นผลสืบเนื่องมาจาก “สำนึก” ของคนเช่นกัน ดังนั้น “สำนึก” จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก แต่ขณะเดียวกันก็เป็นเรื่องที่เข้าใจยาก จับต้องยาก มองเห็นยาก และพัฒนายาก

2. สำนึกที่พึงปราถนา
สำนึกที่พึงปรารถนาคือ สำนึกร่วมของผู้คนในสังคม เพื่อก่อให้เกิดแบบอย่างอันดีในการนำไปสู่การสร้างพฤติกรรมของคน กลุ่ม สังคม ให้สามารถดำรงอยู่ร่วมกันอย่างมีสันติสุข ทั้งนี้สำนึกดังกล่าวจะเป็นเช่นใดย่อมขึ้นอยู่กับคนในสังคมนั้นว่าต้องการให้เป็นแบบใดไม่ว่าจะเป็นแบบสนุกสนาน แบบตื่นเต้น แบบเสี่ยงหรือเกื้อกูลกันโดยไม่เบียดเบียนธรรมชาติและมีความยั่งยืน เมื่อมีความปรารถนาเช่นใดผู้คนภายในสังคมย่อมต้องสร้างสำนึกให้สอดคล้องกับความต้องการนั้น ดังนั้นสำนึกที่พึงปรารถนาก็คือสำนึกที่จะนำไปสู่สภาพที่สังคมต้องการ
2.1 ลักษณะสำนึกไทยที่พึงปรารถนา
สังคมโดยรวมยอมรับกันว่า “สังคมสันติสุข” คือสังคมที่คนส่วนใหญ่ต้องการ ทั้งนี้วิวัฒนาการของแต่ละสังคมอาจจะแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับแรงผลักทางสำนึกของทุกๆส่วนในสังคมนั้น ในส่วนของสำนึกไทยที่พึงปราถนาที่พิจารณาจากความมีสันติสุข น่าจะมีภาพลักษณ์ดังนี้

ต้นจากความหมายของ “สังคมดี”
สังคมที่ดีคือ “สังคมแห่งความสุข” เป็นสังคมที่มีผู้คนอยู่ร่วมกันอย่างอบอุ่น มีสันติ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่สะดวกสบายพอสมควร มีจิตใจสงบสุข สามารถอยู่ร่วมกันโดยไม่เบียดเบียนกัน ไม่เบียดเบียนธรรมชาติจนส่งผลกระทบต่อตัวเองและลูกหลานในภายหลัง ทั้งนี้ต้องเข้าใจว่าสังคมแห่งความสุข เป็นความสุขของคนส่วนใหญ่ในสังคม ไม่ใช่สังคมที่คนส่วนน้อยมีความสุข แต่คนส่วนใหญ่มีความทุกข์ ดังนั้นสังคมดีจึงหมายรวมถึงการลดความทุกข์ให้คนส่วนใหญ่ด้วย
2.1.2 สังคมที่เน้นสันติสุข
สังคมสันติสุขเป็นสังคมที่เน้นความเรียบง่าย ความประหยัด การอดออม เน้นการพัฒนาทางจิตใจและปัญญามากกว่าวัตถุ เน้นการรวมกลุ่มคนมากกว่าให้มีบุคคลที่โดดเด่นโดยลำพังตัว ซึ่งจะก่อให้เกิดการแก่งแย่งแข่งขันในลักษณะใครดีใครอยู่
อย่างไรก็ดี ถ้าเราชอบสังคมที่ตื่นเต้นมีความเป็นเลิศ ยอดเยี่ยม มีวีรบุรุษวีรสตรี มีวัตถุแปลกใหม่ที่ไม่เหมือนใคร ตลอดจนมีทัศนคติว่าถ้ามีการบริโภคมากย่อมแสดงถึงความสามารถที่เหนือกว่าผู้อื่น ก็ต้องมีกระบวนการสร้างสำนึกอีกแบบหนึ่ง คือสร้างสำนึกให้เป็นแบบเน้นการพัฒนาศักยภาพจนสุดความสามารถ ต้องคิดสร้างวัตถุที่ยิ่งใหญ่ ต้องมีการแข่งขันตลอดเวลาว่าใครจะเก่งที่สุด แต่ความสงบสุขหรือสันติสุขจะลดน้อยลง ซึ่งสำนึกดังกล่าวอาจเหมาะกับสังคมบางแห่งแต่ไม่น่าเหมาะกับสังคมไทย
2.1.3 สังคมที่ตกลงร่วมกัน
สังคมที่พึงปรารถนาย่อมมีลักษณะของการตกลงร่วมของผู้คนภายในสังคมว่าประสงค์ให้สังคมเป็นแบบใด ตัวอย่างของการตกลงร่วมกันที่เป็นรูปธรรมเด่นชัด คือการที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2540 – 2544) ถึงแม้จะไม่สามารถระดมผู้คนทั้งสังคมได้หมดทุกคน แต่ถือได้ว่ามีคนจำนวนมากที่สุดเท่าที่เคยมีมาในการร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตั้งแต่ฉบับแรกจนถึงฉบับที่ 7
การตกลงร่วมกันอีกครั้งหนึ่งคือ กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ที่ถือว่าเป็นการตกลงร่วมกันของคนในสังคมมากที่สุด บทเรียนดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าไม่ยากเกินไปในการสร้างกระบวนการให้คนในสังคมมีส่วนร่วมในการกำหนดข้อตกลงตามความต้องการของทั้งสังคม
2.2 รูปธรรมของสำนึกไทยที่พึงปรารถนา
การนำคนส่วนใหญ่ในสังคมมาร่วมกันคิดร่วมกันทำ อาจพิจารณาจากประสบการณ์ร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 และฉบับที่ 9 ควบคู่กับการยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ซึ่งสร้างกลไกในการร่วมคิดร่วมระดมความเห็นจนสรุปได้ว่าต้องการให้สังคมไทยเป็นอย่างไร และคิดต่อไปด้วยว่าจะสร้างสำนึกแบบใด จะเห็นได้ว่าการใช้กระบวนการสร้างสำนึกแบบใหม่ที่พึงปราถนา สามารถทำได้ง่ายขึ้นเพราะผ่านกระบวนการคิดร่วมกันตกลงร่วมกัน ทั้งนี้อาจโยงไปถึงเรื่องยุทธศาสตร์หรือวิธีการสร้างสำนึกที่พึงปรารถนาให้บังเกิดผลด้วย เป็นกระบวนการที่คนในสังคมร่วมกันคิด ร่วมกันดำเนินการ โดยมีรูปธรรมที่จะนำพาการต่อยอดทางความคิด ดังนี้
2.2.1 ส่งเสริมให้มีเวทีสร้างสำนึกที่พึงปรารถนา
ควรส่งเสริมการสร้างเวทีขนาดเล็กและใหญ่เพื่อระดมความคิดเห็นต่อการสร้างสังคมที่พึงปรารถนาและคิดต่อไปถึงวิธีการ โดยส่วนหนึ่งของวิธีการก็คือ “การมีสำนึกที่ดี” เพราะสำนึกเป็นปัจจัยหลักในการผลักดันหรือในการกำหนดพฤติกรรม เมื่อตกลงได้ว่าสำนึกที่ดีเป็นอย่างไร ก็ต้องคิดต่อว่าวิธีการดำเนินการต่อไปควรจะเป็นอย่างไรด้วย ทั้งนี้อาจใช้เวทีโฆษณาประชาสัมพันธ์ สร้างแบบอย่างที่ดี เผยแพร่แบบอย่างที่ดีหรืออาจจะใช้กระบวนการศึกษาทั้งในระบบโรงเรียนหรือนอกโรงเรียนก็ได้ แล้วแต่วิธีการที่สังคมจะคิดและเลือกสรร
2.2.2 สำนึกที่พึงปรารถนาในมิติของศาสนา
ด้วยศาสนาเป็นกรอบของการกำหนดสำนึกและพิธีกรรม โดยมากเป้าหมายของศาสนาคือการสร้างสำนึกที่ดี พฤติกรรมที่ดี แต่ความเข้าใจศาสนาที่ผิวเผินบอกได้เพียงว่าอะไรควรทำอะไรไม่ควรทำ ซึ่งก็ดีในระดับหนึ่ง แต่ถ้าจะให้ดียิ่งขึ้นต้องลงลึกไปถึงการสร้างสำนึกที่ดี ทั้งนี้พุทธศาสนามีความลึกซึ้งมาก สามารถลงลึกไปถึงจิตใต้สำนึกได้
อย่างไรก็ดี หากมีการปฏิบัติที่ผิดเพี้ยนและไม่เหมาะสม แต่ไปยอมรับกันว่าเป็นหลักการของศาสนา ศาสนาก็เป็นเหตุให้เกิดสำนึกที่ไม่พึงปรารถนา และเป็นผลเสียต่อการพัฒนาสังคม แต่ถ้าใช้กรอบของศาสนาที่ถูกต้อง ทำในสิ่งที่ควรทำ ก็กลายเป็นปัจจัยในการสร้างสำนึกที่ดี และศาสนาก็เป็นส่วนหนึ่งในหลายกลไกที่ช่วยสร้างสังคมให้ดีขึ้น
เนื่องจากศาสนามีผู้ปฏิบัติหรือผู้ที่อ้างว่านับถือศาสนากระทำอย่างผิดเพี้ยนอยู่มิใช่น้อย ฉะนั้นจำเป็นต้องปรับปรุงการปฏิบัติตามศาสนาเพื่อให้ถูกต้องและเหมาะสม เพื่อเป็นเครื่องมือที่ดีให้กับสังคมอย่างที่ศาสนาควรจะเป็น เพราะแรกเริ่มนั้นศาสนาคือปัจจัยช่วยให้สังคมดี ศาสนาเกิดขึ้นเพื่อช่วยแก้ปัญหาให้สังคม และช่วยรักษาความดีให้สังคม แต่พอนานไปผู้ปฏิบัติตามศาสนาจำนวนมากขึ้นๆ ก็ค่อยๆ ผิดเพี้ยนไปจากหลักการที่ถูกต้อง กลายเป็นตัวปัญหาให้สังคม หรืออย่างน้อยก็ไม่ได้ช่วยให้เกิดการพัฒนาสังคมอย่างที่ควรจะเป็น
พุทธธรรมมีคุณภาพสูงมาก เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ เป็นศาสตร์ในแง่ที่เป็นหลักวิชา มีความเป็นระบบ มีขั้นตอน สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ทำนองเดียวกับวิทยาศาสตร์ ส่วนเป็นศิลป์เพราะมีวิธีปฏิบัติ มีการนำไปใช้ในรูปแบบที่หลากหลายในสถานการณ์ต่างๆ ฉะนั้นเป็นเครื่องมือให้คน กลุ่มคน ชุมชนและสังคมนำมาใช้ประโยชน์ได้ ถ้าหากได้คิดร่วมกันว่าจะนำพุทธศาสนามาใช้ประโยชน์อย่างไร ควรเริ่มต้นจากคนที่อยู่ใกล้ที่สุดคือพระสงฆ์ ซี่งท่านคือผู้ปฏิบัติคือผู้ที่เป็นแบบอย่างให้ประชาชนทั่วไปรับรู้ว่าพุทธธรรมมีคุณประโยชน์อย่างไร สิ่งแรกที่ต้องทำก็คือให้ผู้ปฏิบัติพุทธธรรมหรือขบวนการสงฆ์นั้นได้พัฒนาเพื่อให้เกิดความเสื่อมใส เพราะถ้าผู้ปฏิบัติคือพระสงฆ์ที่เปรียบเสมือนครูทำไม่ดีเสียเองแล้วความเลื่อมใสก็จะไม่เกิด จะไปโน้มนำประชาชนว่าอย่าเชื่อถือเครื่องรางของขลังก็คงบอกไม่ได้ แต่ประชาชนก็มีส่วนทำให้พระไขว้เขวเช่นกัน เช่นไปนิมนต์ให้ทำในสิ่งที่พระไม่ควรทำ หรือในขณะที่พระพยายามลดวัตถุ ประชาชนก็พยายามเอาวัตถุไปให้ ดังนั้นพระสงฆ์จึงต้องมีความเข้มแข็งและแสดงออกให้ประชาชนทั่วไปเห็นเป็นตัวอย่าง จึงจะสามารถสอนและให้คำแนะนำคนอื่นได้ ถือเป็นการเริ่มที่วงการสงฆ์
การใช้ประโยชน์จากพุทธธรรมบางครั้งต้องใช้ศิลปะ เช่น พระสุบินที่จังหวัดตราด ท่านนำเรื่องการออมทรัพย์มาเป็นเครื่องมือในการสร้างศีลธรรมในชุมชน อีกทั้งยังใช้ศิลปะในการรวมกลุ่มของประชาชน มีกิจกรรมการออมทรัพย์ การปล่อยกู้ การสร้างวินัย การสร้างคุณธรรม ทำให้การอยู่ร่วมกันดีขึ้น และท่านเองก็วางตัวได้ดี ปราศจากข้อตำหนิ มีชีวิตเรียบง่าย ไม่ฟุ้งเฟ้อ ไม่หลงไปกับวัตถุ ไม่เรี่ยไร เมื่อมีคนมานิมนต์ไปเทศนาได้เงินมาก็ใช้ในกิจกรรมส่งเสริมกลุ่มออมทรัพย์ แนะนำให้คนออมทรัพย์ นี่คือตัวอย่างที่ดีของการประยุกต์พุทธธรรมให้ผู้คนปฏิบัติตามอย่างชาญฉลาดและมีศิลปะ
2.2.3 เครือข่ายสำนึกที่พึงปรารถนา
เมื่อเรารู้ว่าอะไรคือสำนึกที่พึงปรารถนาแล้ว ก็ต้องขยายวงออกไป โดยเฉพาะการสร้างเครือข่ายโดยชุมชนในระดับหมู่บ้าน เมื่อรวมกันหลายหมู่บ้านก็กลายเป็นเครือข่ายตำบล เครือข่ายอำเภอ เครือข่ายจังหวัด ซึ่งการสร้างเครือข่ายที่เชื่อมโยงถึงกันและกันเป็นความเข้มแข็งร่วมกัน ในขณะที่การใช้ความชำนาญเฉพาะด้านที่เป็นสายสัมพันธ์เชิงดิ่งจากส่วนกลางก็ยังสามารถมีได้ แต่ต้องเน้นในเชิงวิชาการหรือการดูแลเฉพาะกิจเฉพาะด้าน เมื่อผนวกกับสายสัมพันธ์เชิงราบระหว่างชุมชนด้วยกันจะทำให้เกิดพลังและการพัฒนาที่ผสมผสานได้ความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

3. พลังขับเคลื่อนสู่สำนึกที่พึงปรารถนา
การที่สังคมจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด  จำเป็นที่คนในสังคมจะต้องเห็นว่าสังคมนั้นมีปัญหา  เข้าใจปัญหา  และมีความประสงค์ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง  ทั้งนี้จำเป็นต้องใช้พลังของคนในสังคมเป็นหลัก  แต่การใช้พลังเพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ จำเป็นต้องกลไกอื่นประกอบด้วย  ด้งนั้นอาจใช้สำนึกเป็นพลังในการขับเคลื่อนสังคมได้ดังนี้
3.1 เส้นทางสังคมสู่สำนึกที่พึงปรารถนา
เส้นทางสู่สำนึกที่พึงปรารถนาหมายถึง การขับเคลื่อนของคนในสังคมเพื่อสร้างจิตสำนึกอันดีงามร่วมกัน  จะไม่ใช่เรื่องของ “ผู้นำทางสังคม” เพียงลำพัง แต่เป็นเรื่องร่วมกันของทุกผู้คนในสังคม ซึ่งในส่วนของผู้นำทางสังคม นักวิชาการ ในฐานะที่ผ่านโลกมามาก พบเห็นลักษณะอันดีงามมากมายจากหลายแห่ง อาจช่วยชี้นำ หรือช่วยเสนอทางเลือกได้ว่าสำนึกที่พึงปรารถนาควรเป็นเช่นใด แต่การตัดสินใจควรเป็นมิติของคนทั้งสังคม โดยต้องพิจารณาให้มีความสอดคล้องและเหมาะสมกับชุมชนและสังคมของเรา ดังนั้น สำนึกที่ดีควรเป็นการเลือกสรรภายในชุมชนและสังคมของเราเอง ไม่ใช่การนำเอาสิ่งแปลกปลอมจากภายนอกเข้ามายึดถือปฏิบัติตามโดยไม่ได้คำนึงถึงเหตุผลที่แท้จริง
3.1.1 การได้มาซึ่งสำนึกไทยที่พึงปรารถนา
เมื่อสังคมไทยมีความปรารถนาในการสร้างสำนึกร่วมกันในทางที่ถูกต้อง  จำเป็นต้องนำเสนอลักษณะของสำนึกเพื่อให้คนในสังคมร่วมกันพิจารณา  แต่ไม่ได้หมายความว่าภายในสังคมหนึ่งต้องมีสำนึกเพียงประการเดียว  อาจมีได้หลากหลายแต่ไม่ควรขัดแย้งกัน ควรส่งเสริมซึ่งกันและกัน  เช่นสำนึกที่ว่า “ทำดีได้ดี” ย่อมสัมพันธ์กับสำนึกที่ “คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน” หรือสอดคล้องกับการกล้ายืนหยัดทำให้สิ่งที่ถูกต้อง การปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อตรง มีความมุ่งมั่นในผลสำเร็จของงาน ยึดมั่นในระบบคุณธรรม ดำรงชีวิตอย่างเหมาะสม เป็นต้น จะเห็นได้ว่าแม้จะมีสำนึกหลากหลายแต่สอดรับไปในทิศทางเดียวกัน
3.1.2 การกำหนดสัญลักษณ์ของสังคมที่ดีและพึงปรารถนา
ลักษณะของสัญลักษณ์ทางสังคมที่ดี คือ การที่สมาชิกของสังคมแต่ละคนสามารถใช้ศักยภาพของตนในทางที่ถูกต้อง แล้วได้รับการส่งเสริม มีการรับรู้ผลของการกระทำและจะส่งผลถึงตนอย่างไรบ้าง เช่น “ถ้ากระทำดีย่อมได้รับผลดีตอบแทนและหากทำไม่ดีย่อมได้รับการลงโทษ” ซึ่งสอดคล้องกับหลักพระพุทธศาสนาที่ว่า “ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว” หรือ “กรรมเป็นผลของการกระทำ”
3.1.3 อุดมคติของสังคมที่ดี
การจะสร้างสังคมที่ดีได้ต้องอาศัยความร่วมมือกันของคนในสังคม  การร่วมกันสร้างสังคมนั้นต้องใช้กระบวนการในระดับชาติ  เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้ร่วมกันวิเคราะห์ถึงปัญหาที่เกาะกินสังคมร่วมกันตัดสินใจเลือกแนวทางการแก้ไขที่เหมาะสม ร่วมกันดำเนินการอย่างขันแข็ง  และผลสุดท้ายประชาชนก็จะได้รับประโยชน์จากการะทำดังกล่าว  ดังนั้นต้องมีการเรียนรู้ร่วมกันของคนในสังคมจึงจะสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ประเพณี มาตรฐานทางสังคมเพื่อให้เป็นสังคมที่ดีงามได้ ตัวอย่างรูปธรรมที่ควรระลึกถึงในเชิงอุดมคติคือ หลักศีลธรรมประจำตัว ที่ ดร. ป๋วย  อึ๊งภากรณ์  ได้ บรรยายไว้เมื่อปี พ.ศ. 2512 ดังนี้
1) “ความจริง” หรือที่ทางพุทธธรรมเรียกว่า “สัจจะ” เป็นธรรมะที่ควรใฝ่หาทั้งทางโลกและทางธรรม ทั้งทางวิทยาศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์ จะเห็นได้ว่า “สัจจะ” จะเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติ
2) “ความงาม” เป็นศิลปะทางจิตใจของมนุษยชาติ เพราะมนุษย์แตกต่างจากสัตว์ที่เราไม่ได้อยู่ด้วยวัตถุเพียงอย่างเดียว เราต้องการความพึงพอใจลึกซึ้งเข้าไปในศิลปะอันงดงาม รวมถึงภูมิประเทศที่ตรึงตา ดอกไม้สีสันสวยงาม คำพูดที่จับใจ ดนตรีไพเราะ จินตกวีนิพนธ์ วีรกรรมและการเสียสละของมนุษย์ สิ่งที่มีความงามเหล่านี้ทำความเจริญให้ก่อเกิดในจิตใจ นับเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาของมนุษยชาติ
3) “ความดี” เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงและกำกับโลก ถ้าโลกเรามีแต่ความชั่วเป็นเกณฑ์ มนุษย์จะเบียดเบียนกันและกัน แทนที่จะบำรุงหมู่คณะให้เจริญ สำนึกด้านความดีจะทำให้รู้จักการแยกแยะว่าอะไรดีอะไรไม่ดี มีหิริโอตตัปปะ คือการละอายและเกรงกลัวที่จะทำสิ่งไม่ดี มีความตั้งใจ พยายามที่จะทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นและส่วนรวมเป็นต้น
การมีอุดมคติจะเป็นเสมือนเครื่องเตือนใจและเตือนตนให้อยู่ในกรอบของการดำรงชีวิตที่ดี
3.2 กลไกและกระบวนการสร้างสำนึกที่พึงปรารถนา
กลไกและกระบวนการสร้างสำนึกที่พึงปรารถนาขึ้นอยู่กับการถ่วงดุลที่เหมาะสม มีกระบวนการเรียนรู้และรวมศูนย์การสื่อสาร เพื่อเป็นแรงผลักดันสู่ทิศทางที่พึงปรารถนา
3.2.1บทบาทของผู้นำและของประชาชน
ทุกสังคมต้องมีผู้นำไม่ว่าจะเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการ แต่การมีผู้นำแบบใดแบบหนึ่งไม่ได้แปลว่าไม่ต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชน เพราะประชาชนก็ต้องเกื้อกูลผู้นำ ถ้าประชาชนไม่เข้มแข็ง ผู้นำจะต้องทำงานหนักและเหน็ดเหนื่อยโดยอาจไม่ได้ผลเท่าที่ควร แต้ถ้าประชาชนเข้มแข็งผู้นำจะทำงานได้ผลโดยไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยมาก ผู้นำริเริ่มดำเนินการเพียงเล็กน้อย ประชาชนก็สานต่อไปได้ หรือถ้าผู้นำทำท่าว่าจะซวนเซบ้างประชาชนก็สามารถถ่วงดุล และผลักดันการขับเคลื่อนในทางที่ดีให้เดินต่อไปได้
ผู้นำมีหลายระดับเช่น ในระดับประเทศมีนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกรัฐสภา ปลัดกระทรวง อธิบดี ในระดับจังหวัดมีผู้ว่าราชการจังหวัด ประธานองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ในระดับอำเภอ มีนายอำเภอ ในระดับตำบลและหมู่บ้านมีประธานองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ ที่กล่าวมานั้นคือผู้นำที่เป็นทางการ ส่วนผู้นำที่ไม่เป็นทางการได้แก่ ผู้นำในสังคม ผู้นำชุมชน ผู้นำองค์กร นักธุรกิจชั้นนำ ศิลปินชั้นนำ ผู้นำแรงงาน ผู้นำเกษตรกร นักวิชาการแนวหน้า นักกิจกรรมสังคมที่สำคัญ พระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ของทุกศาสนาและอื่น ๆ ผู้นำในสังคมทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการเหล่านี้ล้วนมีหรือสามารถมีบทบาทสำคัญในการริเริ่มสร้างสรรค์ โน้มนำ หล่อหลอม พัฒนาสำนึกที่ดีต่างๆ ให้เกิดขึ้นในสังคมอย่างเป็นรูปธรรม
3.2.2. การสื่อสารด้านสำนึกต้องรวมศูนย์
ปัจจุบันการสื่อสารมีความรวดเร็วมาก ต่างจากในอดีตที่การติดต่อสื่อสารแต่ละครั้งยืดยาวและเนิ่นนาน ทางด้านสำนึกที่พึงปรารถนาจำเป็นต้องมีการเน้นหนักเรื่องการควบคุมโดยศูนย์กลางโดยเผยแพร่ในสิ่งที่ทุกคนเห็นว่าดีหรือเป็นกลไกให้ผู้อื่นร่วมเผยแพร่ ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างทำ
ทั้งนี้ต้องมีผู้นำที่เข้าใจกระบวนการสื่อสาร  เพื่อสร้างสำนึกที่ดีและควรมีอำนาจในการกำกับดูแลคนได้  ทั้งนี้ต้องไม่ใช่ลักษณะของการปกครองที่จะต้องควบคุมกำกับดูแล  แต่เป็นการประสานพลังกันระหว่างผู้นำกับประชาชน เพราะพลังที่แท้จริงมาจากประชาชน และผู้นำควรมองการสื่อสารอย่างเป็นองค์รวม ถึงเสมือนเป็นการสื่อสารเพื่อประชาชนนั่นเอง
3.2.3 กระบวนการศึกษาเรียนรู้ สร้างสำนึก สร้างชาติ
ระบบการศึกษาเรียนรู้เป็นส่วนสำคัญในการสร้างสำนึก สร้างชาติ สร้างสังคม สร้างคน ทั้งนี้ระบบการศึกษาที่คนโดยทั่วไปเข้าใจก็คือ “ระบบการศึกษาที่เป็นทางการ” แต่ความหมายที่แท้จริงรวมถึงระบบการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในตัวบุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กร และสังคม ซึ่งเรียกว่า “ระบบการศึกษาที่สมบูรณ์” ความสำคัญจึงอยู่ที่การผลักดันสำนึกที่พึงปรารถนาเข้าสู่ระบบการศึกษาให้ได้
ดังที่กล่าวไว้ว่า การสร้างสำนึกมาจากตัวเองและจากปัจจัยภายนอก หรือกระบวนการเรียนรู้โดยระบบหรือกลไกที่สร้างขึ้นมาอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ลักษณะที่เป็นทางการก็คือระบบโรงเรียน  สถาบันการศึกษา และที่ไม่เป็นทางการก็คือการเรียนรู้ภายใน องค์กร ชุมชน สังคม การเรียนรู้ผ่านสื่อมวลชน ผ่านปฏิสัมพันธ์ต่างๆ  ภายในสังคม ถ้ามองอย่างนี้ก็อาจกล่าวว่า ระบบการศึกษาทั้งหมดคือ กระบวนการที่สามารถสร้างสำนึกที่พึงปรารถนา
3.3 สื่อมวลชนที่มีสำนึกและนำพาสำนึกที่ดีสู่สาธารณชน
การสร้างสำนึกโดยอาศัยบทบาทของสื่อมวลชนสามารถมองในแง่ของ “เครื่องมือ” หรือ “ทางผ่าน” ของข้อมูลข่าวสารที่มีผู้ผลิตผู้สร้างโดยส่งข่าวสารไปยังผู้รับสื่อโดยทั่วไป แต่ต้องรับรู้ว่าวัฒนธรรม ค่านิยม ความคิด และสำนึกของผู้ผลิตและผู้สร้างได้แฝงเร้นเข้าไปในสื่อและสื่อก็มีอานุภาพมากพอที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมวงกว้าง ดังนั้นต้องมีกระบวนการสร้างสำนึกที่ดีให้กับผู้ที่ทำหน้าที่เป็นสื่อมวลชนเพราะสื่อมีอิทธิพลมากในการขยายสำนึกที่พึงปรารถนา
3.3.1 สื่อมวลชนกับบทบาทในการนำพาสำนึกที่พึงปรารถนา
บทบาทนำพาสำนึกที่พึงปรารถนาจะเริ่มต้นจากการรับรู้ว่าลักษณะของสำนึกไทยที่พึงปรารถนาเป็นเช่นใด  ซึ่งวิธีการพิจารณาอย่างง่ายที่สุดคือใช้ความรู้สึกแทนตนเองว่าเป็นสาธารณะและคิดว่า “สำนึกที่พึงปรารถนาควรเป็นเช่นใด” ที่เมื่อสร้างขึ้นแล้วจะนำพาสังคมสู่ความสันติสุขและความเจริญก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ที่กล่าวมาคือความเชื่อพื้นฐานว่า สื่อมวลชนมีสำนึกที่ดีเปี่ยมด้วยคุณธรรม จริยธรรม และสามารถเผยแพร่สำนึกดังกล่าวสู่สาธารณชนได้อย่างกว้างขวาง
3.3.2 สื่อมวลชนกับบทบาทต่อต้านสำนึกที่ผิดเพี้ยน
นอกจาการเสนอลักษณะของสำนึกที่ดีแล้ว  อีกบทบาทหนึ่งคือการต่อต้านสำนึกที่ผิดเพี้ยน แม้ว่าบางสำนึกจะเป็นสำนึกหลักของประเทศชาติไปแล้ว เช่น สำนึกเรื่องการห้อมล้อมอำนาจ สำนึกในเรื่องความไม่เรียบง่าย สำนึกเรื่องความฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย สำนึกด้านการอุปถัมภ์ค้ำชู ฯลฯ ซึ่งการต่อต้านสำนึกที่ผิดเพี้ยนอาจเป็นเรื่องของการไม่ให้ความร่วมมือ  หรืออาจเป็นเรื่องของการนำเสนอข่าวสารในเชิงคัดค้านโต้แย้ง และพยายามชี้ให้เห็นว่าสำนึกที่ไม่ดีดังกล่าวส่งผลในแง่ร้ายต่อสังคมไทยอย่างไร  ดังนั้นการให้การเรียนรู้เกี่ยวกับสำนึกที่ผิดเพี้ยนจึงเป็นเรื่องที่สำคัญต่อการฟื้นฟูสำนึกที่พึงปรารถนา
3.3.3 สื่อมวลชนกับบทบาทการสร้างการเรียนรู้
สื่อมวลชนนอกจากจะทำหน้าที่ในการนำเสนอข่าวสารแล้วยังสามารถสร้างกระบวนการเรียนรู้ได้ด้วย  โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่ช่องว่างระหว่างการสื่อสารลดน้อยลง การสร้างการเรียนรู้อาจกระทำได้จากการนำเสนอ “สิ่งดีเปรียบเทียบกับสิ่งไม่ดี” และให้สาธารณชนเป็นผู้เลือกสรร ซึ่งไม่ใช่กระบวนการยัดเยียดที่จะทำให้ผู้รับเกิดการปฏิเสธ ในทางกลับกันการได้เลือกเองทำให้สิ่งที่เลือกนั้นจะดำรงอยู่กับผู้เลือกได้นานว่าถูกเสนอให้เลือกหรือถูกเสนอให้ดำเนินการ

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

29 พ.ค. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/31748

<<< กลับ

สำนึกไทยที่พึงปรารถนา (ต่อ)

สำนึกไทยที่พึงปรารถนา (ต่อ)


3.4 กลไกการผลักดันสำนึกจากผู้รับผิดชอบบ้านเมือง
กลไกสำคัญในการผลักดันสำนึกที่ดี  ให้แพร่หลายไปยังทุกส่วนของสังคม คือความตระหนักของผู้มีอำนาจ ทั้งนี้เมื่อกล่าวถึงอำนาจไม่ได้หมายถึงอำนาจของบุคคล  แต่เป็นอำนาจของสถาบัน  ในระบอบประชาธิปไตยไม่ได้ให้อำนาจกับบุคคลอีกต่อไป  แต่ได้ถ่ายโอนไปเป็นอำนาจของสถาบัน หรืออำนาจของตำแหน่ง เป็นอำนาจเชื่อมประสานในทุกส่วนของสังคม  ทำให้สังคมเข้มแข็ง  ซึ่งเป็นผลให้ตำแหน่งนั้นเข้มแข็งไปด้วย  การผลักดันสำนึกที่พึงปรารถนาเข้าสู่ผู้รับผิดชอบบ้านเมืองทำได้ดังนี้
3.4.1 กระบวนการสร้างคนดี
กระบวนการสร้างคนดีในสังคมนั้นมีความเป็นไปได้  แต่ยังไม่มากพอ  อาจกล่าวได้ว่าในขณะที่มีคนดี 1 คน แต่มีคนไม่ดีถึง 2 คน ดังนั้น ถึงเป็นคนดีชั้นยอดอย่างไรก็ไม่เพียงพอ  จึงจำเป็นต้องทำให้มีคนดีจำนวนมากขึ้นในสังคม และให้มีพลังเพียงพอด้วย ทั้งนี้คนดีจะต้องเป็นต้นแบบสำหรับให้คนทั่วไปนำไปเป็นเยี่ยงอย่าง หรือเป็นแรงบันดาลใจได้ดังกระบวนการต่อไปนี้
1)   สนับสนุนคนดีให้มีโอกาสกระทำความดี  ตลอดจนให้ได้รับการตำแหน่งสำคัญในองค์กร  ซึ่งหมายถึงว่าในการพิจารณาความดีความชอบนั้น นอกจากจะพิจารณาที่ความรู้ความสามารถแล้ว ต้องพิจารณาถึงคุณธรรม และจริยธรรมประกอบด้วย
2)   ให้กำลังใจคนที่ทำดี เช่น การให้รางวัล การประกาศเกียรติคุณ การจัดทำทำเนียบเครือข่ายผู้กระทำความดี ผู้มีคุณธรรม เป็นต้น
3)   ส่งเสริมสนับสนุนให้คนดีเป็นวิทยากร เป็นต้นแบบทางความคิด ทำให้คนดีได้เผยแพร่ความคิด และขยายกว้างมากขึ้น
3.4.2 กระบวนการเลือกผู้นำที่ดี
ลักษณะของสังคมแต่ก่อนนั้นต้องพึ่งพาอาศัยผู้นำเป็นหลักเพราะคนส่วนใหญ่ไม่สามารถพัฒนาความเข้มแข็งขึ้นมาเองได้ ต้องพึ่งอำนาจ พึ่งผู้นำ โดยผู้นำต้องไปสร้างระบบปกป้องดูแลราษฏร แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป คนส่วนใหญ่มีขีดความสามารถและความเข้มแข็งสูงขึ้น สามารถดูแลตนเองได้ รวมกลุ่มกันเป็นชุมชนน้อยใหญ่ได้ และในสังคมขนาดใหญ่ก็สามารถดูแลกันเองได้โดยอาศัยระบบการปกครอบแบบประชาธิปไตย  ดังนั้นความจำเป็นที่ต้องมีผู้นำเพียงคนเดียวก็หมดไป
อย่างไรก็ดี แม้ในระบอบประชาธิปไตยก็ยังมีผู้นำอยู่ เพียงแต่เป็นผู้นำที่ได้มาจากการเลือกตั้งเป็นหลักและมีจำนวนคนมาก กระจายไปหลายระดับเช่น ระดับประเทศ ระดับจังหวัด ระดับท้องถิ่น สภาพที่พึงปรารถนาเกี่ยวกับผู้นำในระบอบประชาธิปไตยก็คือ เมื่อมีผู้นำต้องมีกลไกที่ถ่วงดุลและเสริมอำนาจ โดยเป็นอำนาจร่วมกันและมีองค์ประกอบที่เกื้อกูลซึ่งกันและกัน ระบบทั้งระบบจึงสามารถดำเนินไปไดด้วยดี เหมือนร่างกายคนเราหากอำนาจอยู่ที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายก็จะไม่ยั่งยืน แต่ที่คนเราอยู่ได้จนถึงอายุที่สมควรแก่วัย เป็นเพราะทุกส่วนของร่างกายเกื้อกูลกันและถ่วงดุลซึ่งกันและกัน
3.4.3 ผลักดันสำนึกที่ดีผ่านระบบราชการ
ระบบราชการมีความยิ่งใหญ่แต่อ่อนแอ สมควรต้อง “ปฏิรูป” ซึ่งกำลังทำกันอยู่ อย่างไรก็ดีเวลาพูดถึง “การปฏิรูประบบราชการ” โดยมากมักกล่าวกันเฉพาะจุด แต่ไม่ได้พิจารณาถึงการปฏิรูปทั้งระบบ เมื่อกล่าวถึงเฉพาะจุดจะเกิดประเด็นว่ากระทบใคร กระทบระบบอย่างไร ซึ่งเป็นผลกระทบที่ก่อให้เกิดความเสียหายบางส่วน อาทิเช่น การลดตำแหน่งในระบบราชการลง เพราะเห็นว่าระบบราชการมีขนาดใหญ่เกินไปก็ลดตำแหน่งลง 25 % เป็นต้น อย่างนี้เรียกว่าคิดแบบส่วนเดียว ไม่ได้คิดทั้งระบบ แท้ที่จริงการปฏิรูปทั้งระบบคือเมื่อปฏิรูปแล้วจะได้ระบบใหม่ที่เกื้อกูลซึ่งกันและกัน
ระบบไม่ได้อยู่นิ่ง แต่มีความเคลื่อนไหว กล่าวคือระบบมีหลายองค์ประกอบที่เกี่ยวพันซึ่งกันและกันพร้อม ๆ กับมีการเคลื่อนไหว และในขณะที่เคลื่อนไหวก็มีความเกี่ยวพันกันด้วย  เหมือนระบบสุริยะจักรวาลที่ไม่มีดาวดวงใดหยุดนิ่งอยู่กับที่ ล้วนมีการเคลื่อนไหวและเกี่ยวพันกัน พร้อมนั้นทั้งระบบสุริยะจักวาลโดยรวมก็เคลื่อนไหวไปด้วย
ถ้าพิจารณาทั้งระบบที่เป็นการปฏิสัมพันธ์ขององค์ประกอบต่างๆ พร้อมกับที่มีการเคลื่อนไหวไปด้วย ก็ต้องพิจารณาให้ครบถ้วนจึงจะสามารถออกแบบระบบใหม่ที่ไม่มีใครเดือดร้อนโดยไม่มีเหตุผลสมควร เป็นต้นว่าถ้าเราจะยุบหน่วยงานหนึ่งก็มีที่ทางให้คนของหน่วยงานสามารถมีทางเลือกที่เหมาะสม ถ้าจะยุบอำนาจของคนบางคนลงคนที่มีอำนาจอยู่เดิมก็ควรจะมีสิ่งทดแทนตามสมควร เช่น การให้เกียรติ การยกย่อง และเกิดมีบารมีแทนอำนาจ จะเห็นได้ว่าถ้าคิดเชิงระบบให้ครบถ้วนจะไม่มีใครเสียหายและไม่มีใครเดือดร้อน
ความอ่อนแอที่สำคัญส่วนหนึ่งของระบบราชการ ก็คือ ความอ่อนแอในเรื่อง “สำนึก” นั้นเอง ฉะนั้นในการปฏิรูประบบราชการจึงต้องมุ่งสร้าง “สำนึก” ที่เหมาะสมไปด้วย โดยอาจจำเอา “คุณธรรม 7 ประการ” ซึ่งรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่ง (ธนาคารออมสิน) ใช้เป็นหลักใน “การกำกับดูแลกิจการที่ดี” (Good governance) มาประยุกต์ใช้เพื่อสร้าง “สำนึก” ในระบบราชการดังต่อไปนี้
1)   “ความสุจริตโปร่งใส” ได้แก่ สำนึกที่จะปฏิบัติงานด้วย ความซื่อสัตย์ สุจริต เปิดเผย เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง เพียงพอและติดตามได้
2)   “ความถูกต้องดีงาม” ได้แก่ สำนึกที่จะบริหารและปฏิบัติงานด้วยความถูกต้องและเหมาะสม ไม่มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ไม่เกิดผลเสียหาย ไม่ผิดทำนองคลองธรรม ไม่ผิดจรรยาบรรณ
3)   “ความเสมอภาคยุติธรรม” ได้แก่ สำนึกที่จะมีกฎเกณฑ์เงื่อนไขที่ชัดเจน ให้ความชอบธรรม และความเท่าเทียมกันในการปฏิบัติหรือการบริการ
4)   “ความมีคุณภาพประสิทธิภาพ” ได้แก่ สำนึกว่าต้องปฏิบัติงานให้มีคุณภาพเป็นที่พึงพอใจ และใช้ทรัพยากรที่มีอย่างจำกัดให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด
5)   “ความรับผิดรับชอบ” ได้แก่ สำนึกที่จะมีความกล้าหาญในการยอมรับผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ และพร้อมเสมอที่จะให้มีกระบวนการตรวจสอบและวัดผล
6)   “การร่วมคิดร่วมทำ” ได้แก่ สำนึกที่เคารพและให้ความสำคัญกับความคิดของผู้อื่นเช่นเดียวกับความคิดของตนเอง โดยเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามามีบทบาทในการร่วมเสนอความคิดร่วมตัดสินใจหรือร่วมดำเนินการ
7)   “ความมีเมตตาไมตรี” ได้แก่ สำนึกที่จะปฏิบัติตนต่อผู้อื่นด้วยความรัก ความเป็นมิตร ความเอื้ออาทร ความหวังดี และความมีน้ำใจต่อกัน
3.4.4 การมีส่วนร่วมสร้างสำนึกที่ดี
กระบวนการของการมีส่วนร่วมสร้างสำนึกที่ดี คือให้คนที่เกี่ยวข้องหรือรับผลกระทบมีส่วนร่วมในการร่วมคิดร่วมทำ ทั้งนี้อาจใช้เวลาพอสมควรในการคิดร่วมกัน ออกแบบร่วมกัน จนกระทั่งได้รูปแบบที่ถูกใจร่วมกัน แล้วขับเคลื่อนไปด้วยกัน ซึ่งวิธีการดังกล่าวจะก่อให้เกิดแรงต่อต้านน้อยหรืออาจไม่มีเลย เรียกว่าคิดเชิงระบบทั้งในแง่ขององค์ประกอบและในแง่ของกระบวนการ
การสร้างระบบใหม่นั้น ถึงแม้ว่าในบางตำแหน่ง บางอำนาจ อาจถูกตัดถูกลดลงไป แต่ในกระบวนการของการมีส่วนร่วมในการคิดออกแบบระบบใหม่ที่ดีกว่านั้น ก็เพื่อประโยชน์ทางสังคม ประเทศชาติ และลูกหลานในอนาคต ซึ่งความรู้สึกของคนที่กำลังสูญเสียอำนาจจะลดน้อยลงเพราะระบบใหม่ที่ดีกว่าได้ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม ผ่านการปรุงแต่งร่วมกัน ทำให้มองเห็นส่วนที่ดีของระบบใหม่แม้ว่าต้องสละจากอำนาจเดิม ขณะเดียวกันก็อาจเกิดจิตสำนึกขึ้นใหม่ว่าอำนาจที่มีอยู่เดิมนั้นไม่ใช่เป็นสิ่งที่ดี จึงเหมาะสมแล้วที่อำนาจดังกล่าวจะลดน้อยลงหรือแม้กระทั่งหมดสิ้นไป
อย่างไรก็ดี เราอาจมองว่า “ควรมีบารมีมากกว่ามีอำนาจ” เช่น คนที่เป็นนักพัฒนาสังคมซึ่งไม่มีอำนาจเลยแต่มีบารมีสูง และมีอิทธิพลทางความคิด ได้แก่ พระพุทธทาสภิกขุ ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์  ศ.นพ.ประเวศ  วะสี   เป็นต้น ในทางกลับกันบางคนมีอำนาจในการควบคุมดูแลบังคับบัญชาคน แต่ไม่มีอิทธิพลทางความคิดเนื่องจากไม่มีบารมีมากพอ
อีกสิ่งหนึ่งที่ควรทำคือ คนที่มีกำลังเข้มแข็งต้องกระจายกำลังกันพร้อม ๆ กับช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ไม่ว่าจะเป็นในองค์กร ในชุมชนหรือในสังคม ทั้งนี้เพื่อขยายเครือข่ายความร่วมมือและการมีส่วนร่วมในการสร้างสำนึกที่ดีให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ในส่วนต่างๆ ของสังคม
3.4.5 ส่งเสริมสนับสนุนการสร้างสำนึกที่พึงปรารถนาในชุมชน
ชุมชนที่เข้มแข็งจะเป็นรากฐานที่เข้มแข็งของสังคม ดังนั้นจึงควรส่งเสริมสนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน เพื่อการนี้ควรส่งเสริมสนับสนุนสำนึกที่พึงปรารถนาต่างๆ ในชุมชนดังต่อไปนี้
1)   สำนึกที่จะรวมพลังสร้างสรรค์ด้วยการจัดตั้งเป็นกลุ่มเป็นองค์กร ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ พร้อมๆกับการมีสำนึกที่เคารพและยอมรับในความแตกต่างหลากหลาย ตลอดจนเรียนรู้ที่จะใช้ประโยชน์จากความแตกต่างหลากหลายดังกล่าว
2)   สำนึกที่จะพึ่งตนองและช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันภายในชุมชน สำนึกดังกล่าวนี้จะนำพามาซึ่งการเรียนรู้ การพัฒนา และการยกระดับของชุมชน
3)   สำนึกที่คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมและมุ่งทำประโยชน์ให้ส่วนรวม ซึ่งจะเกิดผลดีต่อชุมชนและสมาชิกในชุมชนก็จะได้รับประโยชน์ตามไปด้วย
4)   สำนึกที่จะก่อให้เกิดการพัฒนาและการจัดการที่ดี มีระบบการทำงานที่มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร และใช้บุคลากรในชุมชนหรือหน่วยงานอย่างถูกต้องเหมาะสม
5)   สำนึกที่จะดุแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและให้มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่าและยั่งยืน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนในปัจจุบัน พร้อมกับป้องกันปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติให้แก่ชุมชนรุ่นหลัง
6)   สำนึกที่จะเรียนรู้และเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายแห่งการเรียนรู้รวมทั้งมีการติดต่อสื่อสารกันหลากหลายรูปแบบ ยิ่งมีการติดต่อสื่อสาร ยิ่งมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ก็ยิ่งทำให้สิ่งที่ดีงามและการเรียนรู้ต่างๆ แพร่หลายออกไปมาก
เมื่อชุมชนสามารถสร้างสำนึกที่พึงปรารถนาขึ้นได้ และมีการตอกย้ำพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สำนึกที่พึงปรารถนาเหล่านั้นจะค่อยๆ กลายเป็นวัฒนธรรมชุมชน และเป็นพลังหนุนช่วยให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง มีศักยภาพในการพึ่งตนเองและจัดการตนเองได้ดีขึ้น

4. บทส่งท้าย
การนำพาสำนึกไทยที่พึงปรารถนา เป็นเรื่องของทุกฝ่ายในสังคม ต้องร่วมกันสร้างเพื่อให้เป็นเสาหลักปักลงในสังคมไทย ต้องคิดอย่างเป็นศิลป์ไปด้วย มิใช่เป็นศาสตร์เพียงอย่างเดียว ถ้าคิดในเชิงศาสตร์จะเริ่มจากสิ่งที่เป็นสัจธรรม โดยค้นหาสิ่งที่เป็น “ธรรมะ” แล้วนำมาเผยแพร่ แต่ถ้าคิดเชิงศิลปะด้วยจะต้องคิดว่าทำอย่างไรจึงจะได้ผล โดยใช้กุศโลบายและวิธีการที่เหมาะสม
สิ่งที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนมาจากการเรียนรู้ ทั้งที่เป็นการเรียนรู้ด้วยตนเอง และการเรียนรู้ร่วมกับคนอื่น แต่ท้ายสุดต้องรู้ด้วยตนเองจึงจะสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตัวเราได้ เมื่อคิดอย่างนี้จึงต้องเน้นหนักและผลักดันที่การเรียนรู้ร่วมกันของคน ได้แก่ กลุ่มคนในองค์กร ในชุมชน  และในสังคม
การเรียนรู้ร่วมกันคือ การเปิดโอกาสให้คนได้มาคิดร่วมกันและทำร่วมกัน โดยส่งเสริมด้วยการหากลวิธี  อาทิ เช่น เวลาที่เรียนรู้ร่วมกันก็ให้เรียนรู้เกี่ยวกับชีวิต เกี่ยวกับความเป็นจริง และให้เห็นคุณประโยชน์ แล้วจึงเอาสิ่งที่มีคุณค่า สิ่งที่เป็นธรรมะ มาเป็นเครื่องมือให้คนเหล่านี้ โดยสามัญสำนึกของคนเมื่อได้มีโอกาสมาคิดร่วมกันทำร่วมกัน สิ่งที่ดีทั้งหลายมักจะปรากฏออกมา  แต่ถ้าต่างคนต่างคิดต่างคนต่างทำโดยยึดตัวเองเป็นหลักแล้ว สิ่งทีเลวมักจะเกิดขึ้นได้ง่าย เช่น ความเห็นแก่ตัว การเอาแต่ใจตัวเอง ฯลฯ แต่พอไปคิดร่วมกันทำร่วมกันแล้วจะถูกปรากฏการณ์ในสังคมทำให้ต้องคิดเผื่อแผ่ไปถึงคนอื่น ไม่ให้เห็นแก่ตัวเองมากเกินไป เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ปรับจิตสำนึกให้ค่อย ๆ เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น
กลไกหลักของสำนึกไทยที่พึงปรารถนาคือ การเรียนรู้ร่วมกัน คิดร่วมกัน ทำร่วมกัน ของคนในสังคม ซึ่งอานุภาพในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ประเพณี วัฒนธรรม และมาตรฐานทางสังคมต่าง ๆ ยิ่งถ้าได้เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายหลาย ๆ เครือข่าย และดำเนินการอย่างต่อเนื่องก็จะมีการถ่วงดุลซึ่งกันและกัน มีการสำรวจตัวเอง มีการพิสูจน์ว่าผลลัพธ์ในแต่ละช่วงดีเพียงพอแล้วหรือยัง และมีความพยายามปรับปรุงให้เหมาะสมเพื่อนำสู่ผลที่ต้องการ เป็นปฏิสัมพันธ์ในแนวราบระหว่างส่วนต่างๆ ในชุมชนและสังคม เพื่อให้ชุมชนและสังคมพัฒนาไปในแนวทางที่สมาชิกของชุมชนและสังคมเห็นร่วมกันว่าเป็นสิ่งอันพึงปรารถนา
สิ่งที่สำคัญคือ เครื่องมือและวิธีการต่าง ๆ ทั้งที่เป็นศาสตร์และศิลป์ที่ถูกต้องเหมาะสม ควรมีการเลือกเอาออกมาใช้เพื่อเป็นกลไกใน “การคัดสรรสำนึกที่พึงปรารถนา” ซึ่งถือเป็นความงดงามที่ได้รับการเลือกสรรจากผู้คนภายในสังคม และเมื่อสำนึกอันเป็นส่วนที่ละเอียดอ่อน ผ่านการขัดเกลาและปลูกฝังให้ลึกลงไปในจิตใจแล้วสำนึกที่ดี ที่อยู่ภายใน จะเป็นพลังขับเคลื่อนนำพาสังคมไทยให้ฝ่าวิกฤตไปได้อย่างไม่ยากนัก และความเจริญ ความสันติสุขจะดำรงอยู่กับสังคมไทยอย่างยั่งยืนนาน
(หมายเหตุ            เป็นเอกสารประกอบการเป็นวิทยากรในหัวข้อ “การสร้างคน สร้างชาติ สร้างจิตสำนึก และมโนธรรมในสังคม” ในหลักสูตร “นักบริหารระดับสูง : ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์” จัดโดยสำนักงาน กพ. เมื่อ 25 พ.ค. 49)
ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
26 พ.ค. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/31752

<<< กลับ

 

แนวทางการดำเนินงานเมืองไทยแข็งแรงระดับพื้นที่ ปี 2549

แนวทางการดำเนินงานเมืองไทยแข็งแรงระดับพื้นที่ ปี 2549


(5 มิ.ย. 49) ไปร่วมประชุมและกล่าวปราศัยในการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “แนวทางการดำเนินงานเมืองไทยแข็งแรงระดับพื้นที่ ปี 2549 ” เวทีภาคเหนือ ที่จังหวัดเชียงใหม่ ได้แสดงความเห็นโดยอาศัยบันทึกย่อดังต่อไปนี้

“เมืองไทยแข็งแรง” หมายความรวมถึง

  • ประชาชนแข็งแรง
  • พื้นที่ (พร้อมประชาชนในพื้นที่) แข็งแรง
  • พื้นที่ย่อย (ที่มีระบบจัดการอย่างบูรณาการ) แข็งแรง
  • ตำบล / เทศบาล แข็งแรง
  • “พื้นที่ปฐมภูมิ” (ตำบล / เทศบาล) แข็งแรง
  • “พื้นที่ทุติยภูมิ” (จังหวัด / กลุ่มจังหวัด) แข็งแรง
  • “พื้นที่ตติยภูมิ” (ภูมิภาค / ประเทศ) แข็งแรง

ยุทธศาสตร์          :  “พื้นที่เป็นฐาน บูรณาการทุกส่วน”

            หรือ        :  “พื้นที่เป็นตัวตั้ง ประชาชนและกลไกในพื้นที่มีบทบาทสำคัญ

สอดรับกับ           :  “ชุมชน / ตำบล เป็นสุข”

:  “เมือง / เทศบาล น่าอยู่”

ซึ่งเป็นฐานของ   :  “จังหวัดแข็งแรง”

เปรียบเทียบกับ    :  “แก้ปัญหาความยากจน” ซึ่งเป็นด้านหนึ่งของเหรียญเดียวกันที่อีกด้านหนึ่ง คือ “เมืองไทยแข็งแรง”

            เริ่มจาก               :  “พื้นที่” โดย“พื้นที่” เพื่อ“พื้นที่”

ส่งเสริมให้            – จัดการตนเอง

– จัดการกันเอง

– จัดการเชื่อมประสานกับภายนอก

ภาพแสดง

  1. การเชื่อมประสานระหว่างกลไกและกิจกรรมภายในพื้นที่
  2. การเชื่อมประสานระหว่างกลไกและกิจกรรมภายนอกพื้นที่
  3. การเชื่อมประสานระหว่างภายในพื้นที่กับภายนอกพื้นที่

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

22 มิ.ย. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/35083

<<< กลับ

ข้อคิดเกี่ยวกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10

ข้อคิดเกี่ยวกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10


1. “แผนฯ 10” ควรมีลักษณะใหม่ที่เป็น “แผนชี้ทิศทาง” จริงๆ นั่นคือ มีสาระสำคัญๆในเชิง วิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์ และทิศทาง ที่ไม่มีรายละเอียดมากเหมือนในแผนฯฉบับก่อนๆ หรือเหมือนที่ร่างไว้แล้วในร่างแผนฯ 10 “แผนชี้ทิศทาง” นี้ ควรเป็น “แผนฯของสังคม” มากกว่าเป็น “แผนฯของรัฐบาล” คล้ายๆกับที่ “แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ” ในหมวด 5 ของรัฐธรรมนูญ มิใช่เป็น “แนวนโยบายของรัฐบาล” ทั้งนี้เพราะในปัจจุบันได้มีระบบการจัดทำ “แผนการบริหารราชการแผ่นดิน” ตามอายุของแต่ละรัฐบาลอยู่แล้ว ซึ่งหน่วยงานต่างๆของรัฐต้องยึดถือเป็นหลัก จึงไม่ควรมีแผนฯในลักษณะคล้ายกัน ซึ่งจะทำให้เกิดความสับสนว่าจะยึดถือแผนใดเป็นหลักในการปฏิบัติงาน

2. แผนฯ 10 ควรมีวิสัยทัศน์ที่จะก่อให้เกิดสภาวะ “ความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” ( “Peace and Happiness Together”) น่าจะดีกว่าการใช้คำว่า “ความอยู่ดีมีสุข” (“Green and Happiness Society”) ตามที่ปรากฎในร่างแผนฯ 10

3. เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการอัญเชิญพระราชดำริ “เศรษฐกิจพอเพียง” มาเป็น “ปรัชญานำทาง” ในแผนฯ 10 ต่อจากแผนฯ 9 แต่ควรทำให้มีความหมายและบังเกิดผลอย่างแท้จริงด้วยการระบุกลไก วิธีการ งบประมาณ ฯลฯ ที่เหมาะสมเพื่อให้ประเทศไทยสามารถเป็น “ประเทศพอเพียง” ในทุกมิติ ทุกภาคส่วน และทุกระดับของสังคมไทย (รวมถึงในมิติการเมืองการปกครอง ในภาคธุรกิจ ในระดับผู้นำทางการเมืองและผู้นำทางสังคม ฯลฯ เป็นต้น)

4. “ยุทธศาสตร์” ที่สำคัญเพื่อนำสู่สภาวะ “ความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” ตามแนวทางของ “เศรษฐกิจพอเพียง” น่าจะประกอบไปด้วย (1) ความดี (2) การเรียนรู้ และ(3) การจัดการ โดยมีรายละเอียดดังระบุในภาพข้างต้น และควรมีหลักการ “คุณธรรมนำการเรียนรู้” แทนที่จะใช้หลักการ “ความรู้คู่คุณธรรม” ตามที่ยกร่างไว้

5. ควรมีการพัฒนาระบบข้อมูล สารสนเทศ และตัวชี้วัด ที่เป็นของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน

6. ควรมีแนวทางการพัฒนาที่ “พื้นที่เป็นตัวตั้ง” “ประชาชนเป็นศูนย์กลาง” และ “ทุกฝ่ายประสานร่วมมือ”

7. ในการพัฒนาคนและสังคม ควรให้ครบถ้วนทั้ง “บุคคล” “โครงสร้าง” และ “จิตสำนึกและวัฒนธรรม” อย่างสมดุลย์และเพียงพอ

(บันทึกความคิดสำหรับการอภิปรายในการประชุมกลุ่มที่ 1 เรื่อง “การพัฒนาคุณภาพคนและสังคมไทยสู่สังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้” ร่วมกับ แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต และ ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน โดยมีรศ.ดร.จุรี วิจิตรวาทการ เป็นประธานการอภิปราย และคุณกิติศักดิ์ สินธุวนิช (รองเลขาธิการสภาพัฒน์) เป็นผู้นำเสนอ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “การประชุมประจำปี 2549” เรื่อง “แผนพัฒนาฯฉบับที่ 10 : สังคมที่มีความสุขอย่างยั่งยืน” จัดโดย สศช. (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) เมื่อ 30 มิ.ย. 49 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี)

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

13 ก.ค. 49

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/38476

<<< กลับ

บันได 5 ขั้น แก้ปัญหาความยากจน : แปรวิกฤตความยากจน สร้างชุมชนเข้มแข็ง

บันได 5 ขั้น แก้ปัญหาความยากจน : แปรวิกฤตความยากจน สร้างชุมชนเข้มแข็ง


ในห้วงเวลาที่ประเทศไทยกำลังสาละวนอยู่กับการแก้ปัญหาความยากจน โดยการถือตัวเลขรายได้เป็นเกณฑ์ ก็มีเรื่องราวหนึ่งผ่านเข้ามานั่นก็คือความรู้ที่ว่าประเทศภูฏาณ เขาวัดฐานะของประชาชนที่ความสุขมวลรวม หรือ GNH โดยยึดถือหลัก 4 ประการ คือ การพัฒนาต้องเน้นความเสมอภาค การดูแลสิ่งแวดล้อม ดูแลวัฒนธรรม และจะต้องมีธรรมาภิบาล

ในขณะที่บ้านเรา ถ้าใครมีรายได้ต่อปีต่ำกว่า 20,000 บาท ถือว่าเป็นคนจน ซึ่งเรื่องนี้ประมวลดูคร่าวๆแล้ว ผู้คนไม่ค่อยจะเห็นด้วยซักเท่าไหร่ จะอย่างไรก็ตาม ก็ต้องยอมรับว่า “ความจน” เป็นปัญหาสำคัญที่กัดกร่อนชีวิตผู้คนมาเป็นเวลานาน เป็นบ่อเกิดของปัญหาต่างๆ อีกมากมาย โดนศูนย์อำนวยการปฏิบัติการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนภาคประชาชน หรือ ศตจ.ปชช. จึงเดินหน้าแก้จน ตามทิศทางของตนเองอย่างไม่หยุดนิ่ง

ศตจ.ปชช.ได้ใช้ยุทธศาสตร์งานพัฒนาที่สั่งสมบ่มเพาะมานาน 6 ประเด็น ไปเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาความยากจน นั้นก็คือ การปรับวิถีการผลิตไปสู่เกษตรกรรมยั่งยืน ทำแต่พอกินไม่หวังร่ำรวย การแก้ปัญหาที่ดินที่ทำกินให้กับชาวชนบทที่ไม่มีที่ดินที่ทำกินเป็นของตนเอง การที่ชุมชนจะต้องเป็นเจ้าของทรัพยากรธรรมชาติและมีสิทธิในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยชาวชุมชนเองทั้งดิน น้ำ ป่า และชายฝั่ง การร่วมกันจัดตั้งกองทุนสวัสดิการเป็นของชาวบ้านเอง เป็นการแบ่งปันเอื้ออาทรต่อกัน การร่วมกันแก้ปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยให้กับคนจนในเมือง การร่วมกันพัฒนากองทุนของชาวบ้านเองไปสู่การแก้หนี้ และประการสุดท้ายขบวนการชาวบ้านจะต้องช่วยเหลือต่อกันยามที่เกิดภัยพิบัติต่างๆ ซึ่งการแก้ปัญหาทั้ง 7 ประการนี้ มีกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนโดยใช้กระบวนการจัดทำแผนแม่บทชุมชนเป็นเครื่องมือ พร้อมมีการตั้ง ศตจ.ปชช.ประจำจังหวัดขึ้นใน 42 จังหวัด เพื่อให้ภาคประชาชนได้มีพื้นที่ทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัด โดยยึดแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเข็มทิศใหญ่ ซึ่งดูๆ ไปแล้วก็มีส่วนคล้ายกับแนว “ความสุขมวลรวม” ของประเทศภูฏาณอยู่ไม่น้อย

เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2549 ที่ผ่านมา ศตจ.ปชช. ประจำจังหวัดทั้ง 42 จังหวัด รวมประมาณ 1,000 คน ได้มาประชุมหารือเพื่อทำความเข้าใจเรื่องการแก้ไขปัญหาความยากจน มีอยู่ช่วงหนึ่งได้เชิญ อ.ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ประธานศูนย์คุณธรรมและประธานที่ปรึกษาสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) มาปาฐกถาพิเศษในเรื่อง “แปรวิกฤตความยากจน สร้างชุมชนเข้มแข็ง” ซึ่งมีสาระที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก

อ.ไพบูลย์บอกว่า วันนี้ภาคประชาชนเปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อ 10 กว่าปีมาก ที่ผ่านมาเรามักจะได้ยินคำว่า “รัฐทำราษฎร์ตาม” ต่อมาได้รับอิทธิพลจากแผนพัฒนาฉบับที่ 8 ที่เอาประชาชนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาจนทำให้คำกล่าวข้างต้นเปลี่ยนไปเป็น “รัฐกับประชาชนร่วมกันพัฒนา” คือภาคประชาชนร่วมรับรู้ ร่วมมือกันทำ แต่มาวันนี้ได้พัฒนาไปอีกระดับนั่นก็คือ ราษฎร์ทำ รัฐหนุน กล่าวคือ ประชาชนมีส่วนอย่างสำคัญในการพัฒนา สามารถกำหนดแนวคิดทิศทางความต้องการของตนเองและชักชวนให้ภาครัฐและหน่วยงานต่างๆ เข้ามาหนุนมาช่วยกันทำงานในแนวทางของประชาชนได้มากขึ้น

อ.ไพบูลย์ให้ข้อคิดอีกว่า ในการแปรวิกฤตความยากจนเพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็งนั้น จะต้องอาศัยปัจจัยในการขับเคลื่อนสามอย่างด้วยกัน คือ ใจ สมอง และสองมือ

เริ่มที่ ใจ คนมีใจเป็นใหญ่ เป็นส่วนที่คอยกำกับการกระทำทั้งหลายทั้งปวง ดังนั้น คนที่จะทำงานให้ดีได้ ใจต้องมีคุณธรรม และต้องทำความคิดให้ตรงให้ถูกต้อง หากมีใจที่เข้มแข็งและวิถีคิดถูกต้อง ก็จะแปรวิกฤตเป็นโอกาสได้ ที่สำคัญก็คือคนเราจะต้องตั้งปณิธานให้มั่น ต้องเป็นปณิธานในทางที่ดี เช่น “เราจะใช้ชีวิตอย่างพอเพียง” อย่างนี้ก็จะหายจนได้ และต้องเอาชนะปัญหาให้ได้ด้วยจิตใจที่เข้มแข็ง

ส่วนที่สองคือ สมอง หมายถึง การรู้จักวางแผน เพื่อนำไปสู่การจัดการร่วมกัน ชาวบ้านจะแก้ปัญหาหรือทำงานอย่างโดดเดี่ยวไม่ได้ จะต้องวางแผนร่วม จัดการร่วม และรับประโยชน์ร่วม โดยมีบันไดที่ก้าวไปสู่ความสำเร็จ 5 ขั้น

บันไดขั้นแรก ต้องเน้นทำงานในพื้นที่เล็กๆ อย่าไปคิดทำพื้นที่ใหญ่ เพราะจะไม่แน่นหนา ต้องเน้นที่พื้นที่เล็กก่อน เช่น ครอบครัว หมู่บ้าน ตำบล ฯลฯ ค่อยเป็นค่อยไป เพราะในพื้นที่เล็กสามารถจัดการร่วมกันได้ดี ดังนั้น พื้นที่ยิ่งใหญ่ก็ทำยิ่งยาก สู้เลือกทำในพื้นที่เล็กๆ จะเกิดความเข้มแข็งมากกว่า

บันไดขั้นที่สอง ดูว่าในพื้นที่เล็กมีองค์ประกอบดีๆ อะไรบ้าง แล้วเอามาดูร่วมกัน ออกความคิดร่วมกันให้มากที่สุด มีการจัดการร่วมกันให้เป็นองค์กรชุมชน ทั้งผู้ใหญ่บ้าน กำนัน องค์การบริหารส่วนตำบล ฯลฯ ทุกภาคส่วนจะมีแผนแล้วเอาแผนนั้นมาปรับใช้ เรียนรู้ร่วมกัน แก้ไขปัญหาด้วยกัน เอาของดีภายในชุมชนมาจัดหมวดหมู่ เช่น เกษตรกรรม สวัสดิการ ทรัพยากรธรรมชาติ ฯลฯ โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น อบต. หน่วยงานส่วนภูมิภาค และภาคประชาชน เป็น 3 ประสานร่วมกันทำ

ส่วนบันไดขั้นที่สาม การจัดการที่จะประสบผลสำเร็จต้องมีข้อมูล ความรู้ ตัวชี้วัด เป้าหมาย สี่อย่างนี้ต้องมีการจัดเก็บข้อมูลให้ดี เช่น การเก็บข้อมูลรายรับรายจ่าย แล้วตั้งเป้าหมายไว้ เมื่อทุกคนมีข้อมูลแล้วก็เอามารวมกัน ทำเป็นแผนแบบผสมผสาน โดยคนในชุมชนมีความเห็นตรงกัน

บันไดขั้นที่สี่ ควรจะมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในพื้นที่เดียวกัน หารือกันอยู่เป็นนิตย์และพร้อมเพรียงกัน พัฒนาความรู้ความสามารถเป็นระยะๆ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างพื้นที่ใกล้เคียงกัน มาประชุมเรียนรู้เพื่อจะได้มีอะไรดีๆ แล้วมาแลกกัน

ส่วนบันไดขั้นสุดท้าย เราต้องมองถึงความเชื่อมโยงประสานกันระหว่างพื้นที่ นำมาสานต่อกันเป็นขั้นๆ ขึ้นมา ให้เป็นหมู่บ้าน ตำบล จังหวัด ไปจนถึงระดับประเทศ นำมาเกี่ยวโยงเข้าด้วยกัน ทำให้แผนงาน นโยบาย ผสมผสานกลมกลืนกัน จนมีคุณภาพประสิทธิภาพใหม่อย่างมีพลัง เมื่อถักทอกันเป็นเครือข่าย มีการประสานกันจนประสบผลสำเร็จได้แล้ว ทุกอย่างก็จะเป็นผลดีต่อตัวเราและเพื่อนๆ ทั้งประเทศ นี่คือสิ่งที่มีคุณค่ายิ่ง

ส่วนที่สาม สองมือ ทุกคนมีกันอยู่แล้ว เรามีสองมือบวกกับเพื่อนๆ อีกสองมือ ในชุมชนมีเท่าไหร่เอามารวมกันจนเป็นพันๆ มือ นี่คือความสามัคคี แล้วลงมือปฏิบัติ พัฒนา ปรับปรุง จนเกิดเป็นประสบการณ์ การได้เรียนรู้ใหม่ๆ จะได้ประสบการณ์ จากนั้นก็นำสิ่งที่ได้กระทำไปสรุป เมื่อเราทำเช่นนี้อย่างต่อเนื่องก็จะได้ผลดียิ่งๆ ขึ้น นั่นคือการก้าวไปข้างหน้า จนสร้างความเชื่อมั่นแล้วเดินไปด้วยกัน เช่นนี้แล้วความยากจนก็จะไม่เหลืออยู่ในระบบความคิด เพราะคนได้ร่วมกันขจัดความยากจนไปแล้ว

            อาจารย์กล่าวย้ำในตอนท้ายว่า ต้องอาศัยใจ สมอง และสองมือ เชื่อมโยง รวมจิต รวมใจ เพื่อให้แต่ละพื้นที่เรียนรู้และพัฒนาไปจนครบวงจร ก็จะก้าวไปสู่สังคมแห่งความสุขอย่างยั่งยืนได้

                  (จาก นสพ.มติชนรายวัน 16 ก.ค. 49 หน้า 9 เป็นรายงานจากการสัมมนาที่จัดโดย “ศูนย์อำนวยการปฏิบัติการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนภาคประชาชน” (ศตจ.ปชช.) เมื่อ 4 ก.ค. 49 ที่โรงแรมแอมบาสเดอร์ กรุงเทพฯ)  

ไพบูลย์ วัฒนศริธรรม

17 ก.ค. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/39511

<<< กลับ

จิตสำนึกและระบบคิดในการพัฒนาชุมชน

จิตสำนึกและระบบคิดในการพัฒนาชุมชน


เมื่อปี 2547 มีชาวไทยคนหนึ่งได้รับรางวัลแม็กไซไซ คนๆ นี้ จบการศึกษาแค่ ป.4 เป็นชาวบ้านที่อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช เหตุที่ได้รับรางวัลเพราะเขาได้สั่งสมความรู้ ภูมิปัญญา ความสามารถ เกิดเป็นสิ่งที่เราเรียกว่า “ชุมชนเข้มแข็ง” ในตำบลที่เขาอยู่คือตำบลไม้เรียง “ชุมชนเข้มแข็ง” หมายถึงชุมชนที่คิดพึ่งตนเอง จัดการตนเอง ดูแลซึ่งกันและกัน ทำให้นักวิชาการและนักพัฒนาจำนวนหนึ่งซึ่งประทับใจและชื่นชม ได้ไปศึกษา ไปเรียนรู้ และนำมาเผยแพร่ ต่อมามีคนสนใจไปเยี่ยมเยือนและทำความเข้าใจมากขึ้น มาทดลองทำบ้าง เมื่อครั้งเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 มีโครงการชื่อว่า “กองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม” ซึ่งผมมีส่วนในการยกร่างและเสนอรัฐบาลให้เห็นชอบ ได้รับอนุมัติเงินประมาณ 4,800 ล้านบาท ไปส่งเสริมเรื่องการฟื้นฟูชุมชนและการทำแผนชุมชนได้ผลระดับหนึ่ง

ต่อมาเมื่อโครงการนั้นเสร็จสิ้นก็มีหน่วยงานอื่นๆ รวมทั้งสภาพัฒน์และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนที่ผมเป็นประธานและเป็นผู้ช่วยก่อตั้งขึ้นมา ได้มาสานงานต่อจนถึงทุกวันนี้ คำว่า “แผนชุมชน” เป็นที่เข้าใจและยอมรับในวงกว้างรวมทั้งในภาครัฐบาล  เมื่อรัฐบาลมีนโยบายแก้ปัญหาความยากจน ตั้ง “ศูนย์อำนวยการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจน” หรือ ศตจ. ก็ได้เปิดโอกาสให้ขบวนการชุมชนสมทบเข้ามาชื่อว่า ศตจ.ปชช. หรือ “ศูนย์อำนวยการปฎิบัติการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนภาคประชาชน” เป็นเครือข่ายชุมชนที่ทำแผนแม่บทชุมชนเข้ามาร่วมงานกับรัฐบาล ทำไปจนกระทั่งถึงระดับหนึ่งก็มีการบูรณาการงานของชาวบ้านเข้ากับงานของรัฐบาล ได้ทดลองทำใน 12 จังหวัดนำร่องในการบูรณาการงานพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาความยากจน

ทางด้านในเมืองได้มีขบวนการคนจนในเมืองรวมกลุ่มเป็นชุมชนด้วยการสนับสนุนของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ได้ร่วมกันทำโครงการที่ชื่อว่า “โครงการบ้านมั่นคง” เป็นโครงการที่ชาวบ้านมีบทบาทสำคัญมากในการคิด การวางแผน และการกำหนดเรื่องสำคัญที่เกี่ยวข้อง ได้ทำโครงการบ้านมั่นคงขยายไปขณะนี้ประมาณ 200 เขตเทศบาลทั่วประเทศ รวมถึงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ทั้งหมดนี้คือวิวัฒนาการของคำว่า “การพัฒนาชุมชน” เมื่อผมเข้ามาทำงานในด้านนี้ก็ได้มีโอกาสร่วมงานกับชาวบ้านทั้งในชนบทและในเมือง ได้พบได้เห็นได้ซึมซับได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และได้รับเอาสิ่งที่ดี ๆ สิ่งที่มีคุณค่า สิ่งที่เป็นภูมิปัญญาจากชาวบ้านมากมายจริงๆ สั่งสมผสมผสานกลายเป็นสิ่งที่ผมเรียกว่า “ระบบคิด” และถ้าลึกลงไปเรียกว่า “จิตสำนึก” สิ่งเหล่านี้สั่งสมก่อรูปขึ้นมาในที่สุดก็เป็นตัวกำกับการคิดการพูดการทำของเรา

ฉะนั้น “จิตสำนึก” และ “ระบบคิด” จึงเป็นสิ่งสำคัญมากในความเห็นของผม โดยเฉพาะในงานพัฒนาชุมชน สิ่งที่ผมได้สั่งสมมาคือการได้เห็นศักยภาพ เห็นขีดความสามารถ เห็นภูมิปัญญา รับรู้ถึงคุณค่าศักดิ์ศรีของคนทุกคน ผมจะไม่ใช้คำว่า “ไปช่วยเหลือ”“ไปสงเคราะห์”“ไปสร้างอำนาจให้” แต่จะใช้คำว่า “ไปสนับสนุนให้เขาสร้างความสามารถขึ้นมา ให้เขาสร้างศักยภาพขึ้นมา ให้เขาสร้างอำนาจขึ้นมา” สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากการที่ผมได้คลุกคลีสัมผัสอยู่ในวงการพัฒนาชุมชนเป็นเวลาเกือบ 20 ปี ผมหวังว่าในการทำกิจกรรมพัฒนาชุมชนของท่านทั้งหลาย คงจะได้ตระหนักถึงมิติเหล่านี้ นั่นคือ การที่เราไปทำงานกับชุมชนก็เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้คนและชุมชนเขาได้จัดการตนเอง ได้พัฒนาตนเอง ได้เรียนรู้ ได้เพิ่มศักยภาพของเขาเอง และนั่นจะเป็นการพัฒนาที่แท้จริง เป็นการพัฒนาที่เรียกว่า “ประชาชนเป็นศูนย์กลาง” (People-centered Development) ซึ่งเป็นปรัชญาที่ปรากฏอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของประเทศไทยอยู่แล้ว

สิ่งที่นำมาพูดในวันนี้เป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ โยงไปถึงสิ่งทีลึกอยู่ในใจที่เรียกว่า “จิตสำนึก” และรวมถึงเป็นสิ่งที่อยู่ในสมองที่เรียกว่า “ระบบคิด” หวังว่าท่านจะได้นำไปประกอบการคิดการพิจารณาของท่าน และนำไปสู่การทำกิจกรรมที่ดียิ่งขึ้น ตลอดจนนำมาซึ่งความสุขใจ ความอิ่มใจ ความภาคภูมิใจ รวมทั้งตัวท่านเองก็ได้เรียนรู้ ได้พัฒนาความคิด พัฒนาความสามารถของท่าน พร้อมกันไปด้วย

                (สรุปคำบรรยายในฐานะวิทยากรพิเศษในวันเริ่มต้นปีโรตารี 2549-2550 ของสโมสรโรตารีบางรัก ณ โรงแรมตะวันนารามาดา เมื่อ 6 ก.ค. 49)

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

18 ก.ค. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/39512

<<< กลับ

การประยุกต์แนวคิดความมั่นคงของมนุษย์ในบริบท 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

การประยุกต์แนวคิดความมั่นคงของมนุษย์ในบริบท 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้


            (สรุปคำอภิปราย หัวข้อ “การประยุกต์แนวคิดความมั่นคงของมนุษย์ในบริบท 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสัมมนาระดับชาติ เรื่อง “ประเทศไทยกับความมั่นคงของมนุษย์: จุดยืนและก้าวต่อไป” 8-9 พฤษภาคม 2549 ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ จัดโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์)

ความมั่นคงของมนุษย์ สามารถเป็นผลลัพธ์สุดท้ายของการพัฒนา ในการพัฒนาอาจ มุ่งเน้นด้านใดด้านหนึ่งหรือหลาย ๆ ด้าน แต่ท้ายที่สุดมนุษย์ทุกคนย่อมต้องการชีวิตที่มั่นคงและมีความสุข อย่างเช่น ประเทศภูฏาน ได้ริเริ่มการใช้ตัวชี้วัดการพัฒนาที่เรียกว่า ตัวชี้วัดความสุขมวลรวมประชาชาติ หรือ Gross National Happiness (GNH) ความสุขของแต่ละคนอาจมีความหมายที่ต่างกันไป อาจเป็นความสุขที่ฉาบฉวยหรือโลดโผน แต่ความสุขที่ลึกซึ้งหมายถึง การมีชีวิตที่ปกติสุข ที่ดำเนินไปได้อย่างราบรื่น สงบ เรียบร้อย และอยู่ร่วมกันกับเพื่อนมนุษย์อย่างสันติสุข หรืออีกนัยหนึ่ง เป็นความมั่นคงของมนุษย์ที่ไม่ถูกกระทบจากปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้เป็นทุกข์หรือเดือดร้อน เป็นลักษณะเดียวกันกับการพัฒนาแบบยั่งยืน ตามแบบการพัฒนาเพื่อชีวิตที่เป็นสุขของประเทศภูฏาน หรือตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งประกอบด้วยความพอประมาณ ความมีเหตุผล การมีภูมิคุ้มกันที่ดีพอ การใช้ความรู้อย่างรอบคอบ และการมีคุณธรรมความดี ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่มุ่งหมายไปที่การพัฒนาที่พึงปรารถนา คือการมีชีวิตที่เป็นสุข สงบ และอยู่ร่วมกันอย่างสันติที่ยั่งยืน

เมื่อเรานิยามความมั่นคงของมนุษย์ในความหมายนี้ก็จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาเรื่องอื่นๆ ได้ทุกเรื่อง และในกรณีสถานการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ น่าจะเป็นกรณีที่ชัดที่สุดของประเทศที่จะประยุกต์แนวคิดและหลักการของความมั่นคงของมนุษย์ได้เป็นอย่างดี หรืออีกนัยหนึ่ง สถานการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือเป็นโจทย์ที่แท้จริงและท้าทายของรัฐบาลไทยและของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ

หากมองว่าปัญหานี้มีความสำคัญ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ น่าจะประยุกต์ใช้ตัวชี้วัดความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งกระทรวงฯได้พัฒนาขึ้นมาและได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว ประกอบด้วยตัวชี้วัด 10 หมวด ได้แก่ (1) ที่อยู่อาศัย (2) สุขภาพอนามัย (3) การศึกษา (4) การมีงานทำและรายได้ (5) ความมั่นคงส่วนบุคคล (6) ครอบครัว (7) การสนับสนุนทางสังคม (8) สังคมและวัฒนธรรม (9) สิทธิและความเป็นธรรม และ (10) การเมืองและธรรมาภิบาล

ถ้าหากใช้ตัวชี้วัดทั้ง 10 หมวดนี้นำไปวัดความมั่นคงของมนุษย์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะทำให้รู้ถึงระดับความมั่นคงของมนุษย์ในพื้นที่นี้ได้ และหากทำอย่างต่อเนื่องทุกปีก็จะเห็นความเคลื่อนไหวและการเปลี่ยนแปลงในแต่ละด้าน หรือแม้แต่จะนำไปเปรียบเทียบกับจังหวัดอื่นก็สามารถทำได้

            การประยุกต์แนวคิดความมั่นคงของมนุษย์ในบริบท 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ตามหลักอริยสัจจ์ 4

  •        สถานการณ์และปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ทุกข์) เป็นที่รับรู้กันอยู่เพียงพอแล้ว
  • ·    การวิเคราะห์สาเหตุของปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  (สมุทัย) ควรใช้แนวที่คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ได้วิเคราะห์ไว้ โดยแบ่งสาเหตุเป็น 3 ชั้น คือ 1) ชั้นบุคคล  2) ชั้นโครงสร้าง และ 3) ชั้นวัฒนธรรม
  • ·    การกำหนดเป้าหมายในการแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (นิโรธ) ควรถือว่า ความมั่นคงของมนุษย์ เป็นเป้าหมายสุดท้ายโดยใช้ตัวชี้วัด 10 หมวดของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2548 ได้แก่ ที่อยู่อาศัย สุขภาพอนามัย การศึกษา การมีงานทำและรายได้ ความมั่นคงส่วนบุคคล ครอบครัว การสนับสนุนทางสังคม  สังคมและวัฒนธรรม  สิทธิและความเป็นธรรม และการเมืองและธรรมาภิบาล
  • ·    แนวทางสู่เป้าหมายในการแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (มรรค) ควรประกอบด้วยยุทธศาสตร์ 5 ประการ ดังนี้ 1) การส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนและท้องถิ่น รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  2) การเชื่อมประสานพลังสร้างสรรค์ของฝ่ายต่าง ๆ สู่เป้าหมายร่วมกัน  3) บทบาทเอื้ออำนวยของฝ่ายรัฐรวมถึงการมีกฎหมาย ข้อบังคับ โครงสร้างและกลไกที่เหมาะสม 4) การใช้หลักการและกระบวนการแก้ความขัดแย้งด้วยสันติวิธี (หรือการสร้างสันติ-Peace Building)  5) การจัดการความรู้และพัฒนาร่วมกันอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ โดยมี ชุดตัวชี้วัดความมั่นคงของมนุษย์ เป็น ยุทธศาสตร์ของยุทธศาสตร์ พร้อมกับเป็น แกนหลัก และ เป้าหมายสุดท้ายร่วมกัน ของยุทธศาสตร์ทั้ง 5 ประการ ดังแสดงด้วยผังต่อไปนี้  

ยุทธศาสตร์แก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

9 ส.ค. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/43764

<<< กลับ