บันได 5 ขั้น แก้ปัญหาความยากจน : แปรวิกฤตความยากจน สร้างชุมชนเข้มแข็ง

บันได 5 ขั้น แก้ปัญหาความยากจน : แปรวิกฤตความยากจน สร้างชุมชนเข้มแข็ง


ในห้วงเวลาที่ประเทศไทยกำลังสาละวนอยู่กับการแก้ปัญหาความยากจน โดยการถือตัวเลขรายได้เป็นเกณฑ์ ก็มีเรื่องราวหนึ่งผ่านเข้ามานั่นก็คือความรู้ที่ว่าประเทศภูฏาณ เขาวัดฐานะของประชาชนที่ความสุขมวลรวม หรือ GNH โดยยึดถือหลัก 4 ประการ คือ การพัฒนาต้องเน้นความเสมอภาค การดูแลสิ่งแวดล้อม ดูแลวัฒนธรรม และจะต้องมีธรรมาภิบาล

ในขณะที่บ้านเรา ถ้าใครมีรายได้ต่อปีต่ำกว่า 20,000 บาท ถือว่าเป็นคนจน ซึ่งเรื่องนี้ประมวลดูคร่าวๆแล้ว ผู้คนไม่ค่อยจะเห็นด้วยซักเท่าไหร่ จะอย่างไรก็ตาม ก็ต้องยอมรับว่า “ความจน” เป็นปัญหาสำคัญที่กัดกร่อนชีวิตผู้คนมาเป็นเวลานาน เป็นบ่อเกิดของปัญหาต่างๆ อีกมากมาย โดนศูนย์อำนวยการปฏิบัติการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนภาคประชาชน หรือ ศตจ.ปชช. จึงเดินหน้าแก้จน ตามทิศทางของตนเองอย่างไม่หยุดนิ่ง

ศตจ.ปชช.ได้ใช้ยุทธศาสตร์งานพัฒนาที่สั่งสมบ่มเพาะมานาน 6 ประเด็น ไปเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาความยากจน นั้นก็คือ การปรับวิถีการผลิตไปสู่เกษตรกรรมยั่งยืน ทำแต่พอกินไม่หวังร่ำรวย การแก้ปัญหาที่ดินที่ทำกินให้กับชาวชนบทที่ไม่มีที่ดินที่ทำกินเป็นของตนเอง การที่ชุมชนจะต้องเป็นเจ้าของทรัพยากรธรรมชาติและมีสิทธิในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยชาวชุมชนเองทั้งดิน น้ำ ป่า และชายฝั่ง การร่วมกันจัดตั้งกองทุนสวัสดิการเป็นของชาวบ้านเอง เป็นการแบ่งปันเอื้ออาทรต่อกัน การร่วมกันแก้ปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยให้กับคนจนในเมือง การร่วมกันพัฒนากองทุนของชาวบ้านเองไปสู่การแก้หนี้ และประการสุดท้ายขบวนการชาวบ้านจะต้องช่วยเหลือต่อกันยามที่เกิดภัยพิบัติต่างๆ ซึ่งการแก้ปัญหาทั้ง 7 ประการนี้ มีกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนโดยใช้กระบวนการจัดทำแผนแม่บทชุมชนเป็นเครื่องมือ พร้อมมีการตั้ง ศตจ.ปชช.ประจำจังหวัดขึ้นใน 42 จังหวัด เพื่อให้ภาคประชาชนได้มีพื้นที่ทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัด โดยยึดแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเข็มทิศใหญ่ ซึ่งดูๆ ไปแล้วก็มีส่วนคล้ายกับแนว “ความสุขมวลรวม” ของประเทศภูฏาณอยู่ไม่น้อย

เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2549 ที่ผ่านมา ศตจ.ปชช. ประจำจังหวัดทั้ง 42 จังหวัด รวมประมาณ 1,000 คน ได้มาประชุมหารือเพื่อทำความเข้าใจเรื่องการแก้ไขปัญหาความยากจน มีอยู่ช่วงหนึ่งได้เชิญ อ.ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ประธานศูนย์คุณธรรมและประธานที่ปรึกษาสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) มาปาฐกถาพิเศษในเรื่อง “แปรวิกฤตความยากจน สร้างชุมชนเข้มแข็ง” ซึ่งมีสาระที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก

อ.ไพบูลย์บอกว่า วันนี้ภาคประชาชนเปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อ 10 กว่าปีมาก ที่ผ่านมาเรามักจะได้ยินคำว่า “รัฐทำราษฎร์ตาม” ต่อมาได้รับอิทธิพลจากแผนพัฒนาฉบับที่ 8 ที่เอาประชาชนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาจนทำให้คำกล่าวข้างต้นเปลี่ยนไปเป็น “รัฐกับประชาชนร่วมกันพัฒนา” คือภาคประชาชนร่วมรับรู้ ร่วมมือกันทำ แต่มาวันนี้ได้พัฒนาไปอีกระดับนั่นก็คือ ราษฎร์ทำ รัฐหนุน กล่าวคือ ประชาชนมีส่วนอย่างสำคัญในการพัฒนา สามารถกำหนดแนวคิดทิศทางความต้องการของตนเองและชักชวนให้ภาครัฐและหน่วยงานต่างๆ เข้ามาหนุนมาช่วยกันทำงานในแนวทางของประชาชนได้มากขึ้น

อ.ไพบูลย์ให้ข้อคิดอีกว่า ในการแปรวิกฤตความยากจนเพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็งนั้น จะต้องอาศัยปัจจัยในการขับเคลื่อนสามอย่างด้วยกัน คือ ใจ สมอง และสองมือ

เริ่มที่ ใจ คนมีใจเป็นใหญ่ เป็นส่วนที่คอยกำกับการกระทำทั้งหลายทั้งปวง ดังนั้น คนที่จะทำงานให้ดีได้ ใจต้องมีคุณธรรม และต้องทำความคิดให้ตรงให้ถูกต้อง หากมีใจที่เข้มแข็งและวิถีคิดถูกต้อง ก็จะแปรวิกฤตเป็นโอกาสได้ ที่สำคัญก็คือคนเราจะต้องตั้งปณิธานให้มั่น ต้องเป็นปณิธานในทางที่ดี เช่น “เราจะใช้ชีวิตอย่างพอเพียง” อย่างนี้ก็จะหายจนได้ และต้องเอาชนะปัญหาให้ได้ด้วยจิตใจที่เข้มแข็ง

ส่วนที่สองคือ สมอง หมายถึง การรู้จักวางแผน เพื่อนำไปสู่การจัดการร่วมกัน ชาวบ้านจะแก้ปัญหาหรือทำงานอย่างโดดเดี่ยวไม่ได้ จะต้องวางแผนร่วม จัดการร่วม และรับประโยชน์ร่วม โดยมีบันไดที่ก้าวไปสู่ความสำเร็จ 5 ขั้น

บันไดขั้นแรก ต้องเน้นทำงานในพื้นที่เล็กๆ อย่าไปคิดทำพื้นที่ใหญ่ เพราะจะไม่แน่นหนา ต้องเน้นที่พื้นที่เล็กก่อน เช่น ครอบครัว หมู่บ้าน ตำบล ฯลฯ ค่อยเป็นค่อยไป เพราะในพื้นที่เล็กสามารถจัดการร่วมกันได้ดี ดังนั้น พื้นที่ยิ่งใหญ่ก็ทำยิ่งยาก สู้เลือกทำในพื้นที่เล็กๆ จะเกิดความเข้มแข็งมากกว่า

บันไดขั้นที่สอง ดูว่าในพื้นที่เล็กมีองค์ประกอบดีๆ อะไรบ้าง แล้วเอามาดูร่วมกัน ออกความคิดร่วมกันให้มากที่สุด มีการจัดการร่วมกันให้เป็นองค์กรชุมชน ทั้งผู้ใหญ่บ้าน กำนัน องค์การบริหารส่วนตำบล ฯลฯ ทุกภาคส่วนจะมีแผนแล้วเอาแผนนั้นมาปรับใช้ เรียนรู้ร่วมกัน แก้ไขปัญหาด้วยกัน เอาของดีภายในชุมชนมาจัดหมวดหมู่ เช่น เกษตรกรรม สวัสดิการ ทรัพยากรธรรมชาติ ฯลฯ โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น อบต. หน่วยงานส่วนภูมิภาค และภาคประชาชน เป็น 3 ประสานร่วมกันทำ

ส่วนบันไดขั้นที่สาม การจัดการที่จะประสบผลสำเร็จต้องมีข้อมูล ความรู้ ตัวชี้วัด เป้าหมาย สี่อย่างนี้ต้องมีการจัดเก็บข้อมูลให้ดี เช่น การเก็บข้อมูลรายรับรายจ่าย แล้วตั้งเป้าหมายไว้ เมื่อทุกคนมีข้อมูลแล้วก็เอามารวมกัน ทำเป็นแผนแบบผสมผสาน โดยคนในชุมชนมีความเห็นตรงกัน

บันไดขั้นที่สี่ ควรจะมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในพื้นที่เดียวกัน หารือกันอยู่เป็นนิตย์และพร้อมเพรียงกัน พัฒนาความรู้ความสามารถเป็นระยะๆ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างพื้นที่ใกล้เคียงกัน มาประชุมเรียนรู้เพื่อจะได้มีอะไรดีๆ แล้วมาแลกกัน

ส่วนบันไดขั้นสุดท้าย เราต้องมองถึงความเชื่อมโยงประสานกันระหว่างพื้นที่ นำมาสานต่อกันเป็นขั้นๆ ขึ้นมา ให้เป็นหมู่บ้าน ตำบล จังหวัด ไปจนถึงระดับประเทศ นำมาเกี่ยวโยงเข้าด้วยกัน ทำให้แผนงาน นโยบาย ผสมผสานกลมกลืนกัน จนมีคุณภาพประสิทธิภาพใหม่อย่างมีพลัง เมื่อถักทอกันเป็นเครือข่าย มีการประสานกันจนประสบผลสำเร็จได้แล้ว ทุกอย่างก็จะเป็นผลดีต่อตัวเราและเพื่อนๆ ทั้งประเทศ นี่คือสิ่งที่มีคุณค่ายิ่ง

ส่วนที่สาม สองมือ ทุกคนมีกันอยู่แล้ว เรามีสองมือบวกกับเพื่อนๆ อีกสองมือ ในชุมชนมีเท่าไหร่เอามารวมกันจนเป็นพันๆ มือ นี่คือความสามัคคี แล้วลงมือปฏิบัติ พัฒนา ปรับปรุง จนเกิดเป็นประสบการณ์ การได้เรียนรู้ใหม่ๆ จะได้ประสบการณ์ จากนั้นก็นำสิ่งที่ได้กระทำไปสรุป เมื่อเราทำเช่นนี้อย่างต่อเนื่องก็จะได้ผลดียิ่งๆ ขึ้น นั่นคือการก้าวไปข้างหน้า จนสร้างความเชื่อมั่นแล้วเดินไปด้วยกัน เช่นนี้แล้วความยากจนก็จะไม่เหลืออยู่ในระบบความคิด เพราะคนได้ร่วมกันขจัดความยากจนไปแล้ว

            อาจารย์กล่าวย้ำในตอนท้ายว่า ต้องอาศัยใจ สมอง และสองมือ เชื่อมโยง รวมจิต รวมใจ เพื่อให้แต่ละพื้นที่เรียนรู้และพัฒนาไปจนครบวงจร ก็จะก้าวไปสู่สังคมแห่งความสุขอย่างยั่งยืนได้

                  (จาก นสพ.มติชนรายวัน 16 ก.ค. 49 หน้า 9 เป็นรายงานจากการสัมมนาที่จัดโดย “ศูนย์อำนวยการปฏิบัติการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนภาคประชาชน” (ศตจ.ปชช.) เมื่อ 4 ก.ค. 49 ที่โรงแรมแอมบาสเดอร์ กรุงเทพฯ)  

ไพบูลย์ วัฒนศริธรรม

17 ก.ค. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/39511

<<< กลับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *