สำนึกไทยที่พึงปรารถนา (ต่อ)

สำนึกไทยที่พึงปรารถนา (ต่อ)


3.4 กลไกการผลักดันสำนึกจากผู้รับผิดชอบบ้านเมือง
กลไกสำคัญในการผลักดันสำนึกที่ดี  ให้แพร่หลายไปยังทุกส่วนของสังคม คือความตระหนักของผู้มีอำนาจ ทั้งนี้เมื่อกล่าวถึงอำนาจไม่ได้หมายถึงอำนาจของบุคคล  แต่เป็นอำนาจของสถาบัน  ในระบอบประชาธิปไตยไม่ได้ให้อำนาจกับบุคคลอีกต่อไป  แต่ได้ถ่ายโอนไปเป็นอำนาจของสถาบัน หรืออำนาจของตำแหน่ง เป็นอำนาจเชื่อมประสานในทุกส่วนของสังคม  ทำให้สังคมเข้มแข็ง  ซึ่งเป็นผลให้ตำแหน่งนั้นเข้มแข็งไปด้วย  การผลักดันสำนึกที่พึงปรารถนาเข้าสู่ผู้รับผิดชอบบ้านเมืองทำได้ดังนี้
3.4.1 กระบวนการสร้างคนดี
กระบวนการสร้างคนดีในสังคมนั้นมีความเป็นไปได้  แต่ยังไม่มากพอ  อาจกล่าวได้ว่าในขณะที่มีคนดี 1 คน แต่มีคนไม่ดีถึง 2 คน ดังนั้น ถึงเป็นคนดีชั้นยอดอย่างไรก็ไม่เพียงพอ  จึงจำเป็นต้องทำให้มีคนดีจำนวนมากขึ้นในสังคม และให้มีพลังเพียงพอด้วย ทั้งนี้คนดีจะต้องเป็นต้นแบบสำหรับให้คนทั่วไปนำไปเป็นเยี่ยงอย่าง หรือเป็นแรงบันดาลใจได้ดังกระบวนการต่อไปนี้
1)   สนับสนุนคนดีให้มีโอกาสกระทำความดี  ตลอดจนให้ได้รับการตำแหน่งสำคัญในองค์กร  ซึ่งหมายถึงว่าในการพิจารณาความดีความชอบนั้น นอกจากจะพิจารณาที่ความรู้ความสามารถแล้ว ต้องพิจารณาถึงคุณธรรม และจริยธรรมประกอบด้วย
2)   ให้กำลังใจคนที่ทำดี เช่น การให้รางวัล การประกาศเกียรติคุณ การจัดทำทำเนียบเครือข่ายผู้กระทำความดี ผู้มีคุณธรรม เป็นต้น
3)   ส่งเสริมสนับสนุนให้คนดีเป็นวิทยากร เป็นต้นแบบทางความคิด ทำให้คนดีได้เผยแพร่ความคิด และขยายกว้างมากขึ้น
3.4.2 กระบวนการเลือกผู้นำที่ดี
ลักษณะของสังคมแต่ก่อนนั้นต้องพึ่งพาอาศัยผู้นำเป็นหลักเพราะคนส่วนใหญ่ไม่สามารถพัฒนาความเข้มแข็งขึ้นมาเองได้ ต้องพึ่งอำนาจ พึ่งผู้นำ โดยผู้นำต้องไปสร้างระบบปกป้องดูแลราษฏร แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป คนส่วนใหญ่มีขีดความสามารถและความเข้มแข็งสูงขึ้น สามารถดูแลตนเองได้ รวมกลุ่มกันเป็นชุมชนน้อยใหญ่ได้ และในสังคมขนาดใหญ่ก็สามารถดูแลกันเองได้โดยอาศัยระบบการปกครอบแบบประชาธิปไตย  ดังนั้นความจำเป็นที่ต้องมีผู้นำเพียงคนเดียวก็หมดไป
อย่างไรก็ดี แม้ในระบอบประชาธิปไตยก็ยังมีผู้นำอยู่ เพียงแต่เป็นผู้นำที่ได้มาจากการเลือกตั้งเป็นหลักและมีจำนวนคนมาก กระจายไปหลายระดับเช่น ระดับประเทศ ระดับจังหวัด ระดับท้องถิ่น สภาพที่พึงปรารถนาเกี่ยวกับผู้นำในระบอบประชาธิปไตยก็คือ เมื่อมีผู้นำต้องมีกลไกที่ถ่วงดุลและเสริมอำนาจ โดยเป็นอำนาจร่วมกันและมีองค์ประกอบที่เกื้อกูลซึ่งกันและกัน ระบบทั้งระบบจึงสามารถดำเนินไปไดด้วยดี เหมือนร่างกายคนเราหากอำนาจอยู่ที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายก็จะไม่ยั่งยืน แต่ที่คนเราอยู่ได้จนถึงอายุที่สมควรแก่วัย เป็นเพราะทุกส่วนของร่างกายเกื้อกูลกันและถ่วงดุลซึ่งกันและกัน
3.4.3 ผลักดันสำนึกที่ดีผ่านระบบราชการ
ระบบราชการมีความยิ่งใหญ่แต่อ่อนแอ สมควรต้อง “ปฏิรูป” ซึ่งกำลังทำกันอยู่ อย่างไรก็ดีเวลาพูดถึง “การปฏิรูประบบราชการ” โดยมากมักกล่าวกันเฉพาะจุด แต่ไม่ได้พิจารณาถึงการปฏิรูปทั้งระบบ เมื่อกล่าวถึงเฉพาะจุดจะเกิดประเด็นว่ากระทบใคร กระทบระบบอย่างไร ซึ่งเป็นผลกระทบที่ก่อให้เกิดความเสียหายบางส่วน อาทิเช่น การลดตำแหน่งในระบบราชการลง เพราะเห็นว่าระบบราชการมีขนาดใหญ่เกินไปก็ลดตำแหน่งลง 25 % เป็นต้น อย่างนี้เรียกว่าคิดแบบส่วนเดียว ไม่ได้คิดทั้งระบบ แท้ที่จริงการปฏิรูปทั้งระบบคือเมื่อปฏิรูปแล้วจะได้ระบบใหม่ที่เกื้อกูลซึ่งกันและกัน
ระบบไม่ได้อยู่นิ่ง แต่มีความเคลื่อนไหว กล่าวคือระบบมีหลายองค์ประกอบที่เกี่ยวพันซึ่งกันและกันพร้อม ๆ กับมีการเคลื่อนไหว และในขณะที่เคลื่อนไหวก็มีความเกี่ยวพันกันด้วย  เหมือนระบบสุริยะจักรวาลที่ไม่มีดาวดวงใดหยุดนิ่งอยู่กับที่ ล้วนมีการเคลื่อนไหวและเกี่ยวพันกัน พร้อมนั้นทั้งระบบสุริยะจักวาลโดยรวมก็เคลื่อนไหวไปด้วย
ถ้าพิจารณาทั้งระบบที่เป็นการปฏิสัมพันธ์ขององค์ประกอบต่างๆ พร้อมกับที่มีการเคลื่อนไหวไปด้วย ก็ต้องพิจารณาให้ครบถ้วนจึงจะสามารถออกแบบระบบใหม่ที่ไม่มีใครเดือดร้อนโดยไม่มีเหตุผลสมควร เป็นต้นว่าถ้าเราจะยุบหน่วยงานหนึ่งก็มีที่ทางให้คนของหน่วยงานสามารถมีทางเลือกที่เหมาะสม ถ้าจะยุบอำนาจของคนบางคนลงคนที่มีอำนาจอยู่เดิมก็ควรจะมีสิ่งทดแทนตามสมควร เช่น การให้เกียรติ การยกย่อง และเกิดมีบารมีแทนอำนาจ จะเห็นได้ว่าถ้าคิดเชิงระบบให้ครบถ้วนจะไม่มีใครเสียหายและไม่มีใครเดือดร้อน
ความอ่อนแอที่สำคัญส่วนหนึ่งของระบบราชการ ก็คือ ความอ่อนแอในเรื่อง “สำนึก” นั้นเอง ฉะนั้นในการปฏิรูประบบราชการจึงต้องมุ่งสร้าง “สำนึก” ที่เหมาะสมไปด้วย โดยอาจจำเอา “คุณธรรม 7 ประการ” ซึ่งรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่ง (ธนาคารออมสิน) ใช้เป็นหลักใน “การกำกับดูแลกิจการที่ดี” (Good governance) มาประยุกต์ใช้เพื่อสร้าง “สำนึก” ในระบบราชการดังต่อไปนี้
1)   “ความสุจริตโปร่งใส” ได้แก่ สำนึกที่จะปฏิบัติงานด้วย ความซื่อสัตย์ สุจริต เปิดเผย เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง เพียงพอและติดตามได้
2)   “ความถูกต้องดีงาม” ได้แก่ สำนึกที่จะบริหารและปฏิบัติงานด้วยความถูกต้องและเหมาะสม ไม่มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ไม่เกิดผลเสียหาย ไม่ผิดทำนองคลองธรรม ไม่ผิดจรรยาบรรณ
3)   “ความเสมอภาคยุติธรรม” ได้แก่ สำนึกที่จะมีกฎเกณฑ์เงื่อนไขที่ชัดเจน ให้ความชอบธรรม และความเท่าเทียมกันในการปฏิบัติหรือการบริการ
4)   “ความมีคุณภาพประสิทธิภาพ” ได้แก่ สำนึกว่าต้องปฏิบัติงานให้มีคุณภาพเป็นที่พึงพอใจ และใช้ทรัพยากรที่มีอย่างจำกัดให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด
5)   “ความรับผิดรับชอบ” ได้แก่ สำนึกที่จะมีความกล้าหาญในการยอมรับผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ และพร้อมเสมอที่จะให้มีกระบวนการตรวจสอบและวัดผล
6)   “การร่วมคิดร่วมทำ” ได้แก่ สำนึกที่เคารพและให้ความสำคัญกับความคิดของผู้อื่นเช่นเดียวกับความคิดของตนเอง โดยเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามามีบทบาทในการร่วมเสนอความคิดร่วมตัดสินใจหรือร่วมดำเนินการ
7)   “ความมีเมตตาไมตรี” ได้แก่ สำนึกที่จะปฏิบัติตนต่อผู้อื่นด้วยความรัก ความเป็นมิตร ความเอื้ออาทร ความหวังดี และความมีน้ำใจต่อกัน
3.4.4 การมีส่วนร่วมสร้างสำนึกที่ดี
กระบวนการของการมีส่วนร่วมสร้างสำนึกที่ดี คือให้คนที่เกี่ยวข้องหรือรับผลกระทบมีส่วนร่วมในการร่วมคิดร่วมทำ ทั้งนี้อาจใช้เวลาพอสมควรในการคิดร่วมกัน ออกแบบร่วมกัน จนกระทั่งได้รูปแบบที่ถูกใจร่วมกัน แล้วขับเคลื่อนไปด้วยกัน ซึ่งวิธีการดังกล่าวจะก่อให้เกิดแรงต่อต้านน้อยหรืออาจไม่มีเลย เรียกว่าคิดเชิงระบบทั้งในแง่ขององค์ประกอบและในแง่ของกระบวนการ
การสร้างระบบใหม่นั้น ถึงแม้ว่าในบางตำแหน่ง บางอำนาจ อาจถูกตัดถูกลดลงไป แต่ในกระบวนการของการมีส่วนร่วมในการคิดออกแบบระบบใหม่ที่ดีกว่านั้น ก็เพื่อประโยชน์ทางสังคม ประเทศชาติ และลูกหลานในอนาคต ซึ่งความรู้สึกของคนที่กำลังสูญเสียอำนาจจะลดน้อยลงเพราะระบบใหม่ที่ดีกว่าได้ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม ผ่านการปรุงแต่งร่วมกัน ทำให้มองเห็นส่วนที่ดีของระบบใหม่แม้ว่าต้องสละจากอำนาจเดิม ขณะเดียวกันก็อาจเกิดจิตสำนึกขึ้นใหม่ว่าอำนาจที่มีอยู่เดิมนั้นไม่ใช่เป็นสิ่งที่ดี จึงเหมาะสมแล้วที่อำนาจดังกล่าวจะลดน้อยลงหรือแม้กระทั่งหมดสิ้นไป
อย่างไรก็ดี เราอาจมองว่า “ควรมีบารมีมากกว่ามีอำนาจ” เช่น คนที่เป็นนักพัฒนาสังคมซึ่งไม่มีอำนาจเลยแต่มีบารมีสูง และมีอิทธิพลทางความคิด ได้แก่ พระพุทธทาสภิกขุ ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์  ศ.นพ.ประเวศ  วะสี   เป็นต้น ในทางกลับกันบางคนมีอำนาจในการควบคุมดูแลบังคับบัญชาคน แต่ไม่มีอิทธิพลทางความคิดเนื่องจากไม่มีบารมีมากพอ
อีกสิ่งหนึ่งที่ควรทำคือ คนที่มีกำลังเข้มแข็งต้องกระจายกำลังกันพร้อม ๆ กับช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ไม่ว่าจะเป็นในองค์กร ในชุมชนหรือในสังคม ทั้งนี้เพื่อขยายเครือข่ายความร่วมมือและการมีส่วนร่วมในการสร้างสำนึกที่ดีให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ในส่วนต่างๆ ของสังคม
3.4.5 ส่งเสริมสนับสนุนการสร้างสำนึกที่พึงปรารถนาในชุมชน
ชุมชนที่เข้มแข็งจะเป็นรากฐานที่เข้มแข็งของสังคม ดังนั้นจึงควรส่งเสริมสนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน เพื่อการนี้ควรส่งเสริมสนับสนุนสำนึกที่พึงปรารถนาต่างๆ ในชุมชนดังต่อไปนี้
1)   สำนึกที่จะรวมพลังสร้างสรรค์ด้วยการจัดตั้งเป็นกลุ่มเป็นองค์กร ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ พร้อมๆกับการมีสำนึกที่เคารพและยอมรับในความแตกต่างหลากหลาย ตลอดจนเรียนรู้ที่จะใช้ประโยชน์จากความแตกต่างหลากหลายดังกล่าว
2)   สำนึกที่จะพึ่งตนองและช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันภายในชุมชน สำนึกดังกล่าวนี้จะนำพามาซึ่งการเรียนรู้ การพัฒนา และการยกระดับของชุมชน
3)   สำนึกที่คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมและมุ่งทำประโยชน์ให้ส่วนรวม ซึ่งจะเกิดผลดีต่อชุมชนและสมาชิกในชุมชนก็จะได้รับประโยชน์ตามไปด้วย
4)   สำนึกที่จะก่อให้เกิดการพัฒนาและการจัดการที่ดี มีระบบการทำงานที่มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร และใช้บุคลากรในชุมชนหรือหน่วยงานอย่างถูกต้องเหมาะสม
5)   สำนึกที่จะดุแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและให้มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่าและยั่งยืน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนในปัจจุบัน พร้อมกับป้องกันปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติให้แก่ชุมชนรุ่นหลัง
6)   สำนึกที่จะเรียนรู้และเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายแห่งการเรียนรู้รวมทั้งมีการติดต่อสื่อสารกันหลากหลายรูปแบบ ยิ่งมีการติดต่อสื่อสาร ยิ่งมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ก็ยิ่งทำให้สิ่งที่ดีงามและการเรียนรู้ต่างๆ แพร่หลายออกไปมาก
เมื่อชุมชนสามารถสร้างสำนึกที่พึงปรารถนาขึ้นได้ และมีการตอกย้ำพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สำนึกที่พึงปรารถนาเหล่านั้นจะค่อยๆ กลายเป็นวัฒนธรรมชุมชน และเป็นพลังหนุนช่วยให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง มีศักยภาพในการพึ่งตนเองและจัดการตนเองได้ดีขึ้น

4. บทส่งท้าย
การนำพาสำนึกไทยที่พึงปรารถนา เป็นเรื่องของทุกฝ่ายในสังคม ต้องร่วมกันสร้างเพื่อให้เป็นเสาหลักปักลงในสังคมไทย ต้องคิดอย่างเป็นศิลป์ไปด้วย มิใช่เป็นศาสตร์เพียงอย่างเดียว ถ้าคิดในเชิงศาสตร์จะเริ่มจากสิ่งที่เป็นสัจธรรม โดยค้นหาสิ่งที่เป็น “ธรรมะ” แล้วนำมาเผยแพร่ แต่ถ้าคิดเชิงศิลปะด้วยจะต้องคิดว่าทำอย่างไรจึงจะได้ผล โดยใช้กุศโลบายและวิธีการที่เหมาะสม
สิ่งที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนมาจากการเรียนรู้ ทั้งที่เป็นการเรียนรู้ด้วยตนเอง และการเรียนรู้ร่วมกับคนอื่น แต่ท้ายสุดต้องรู้ด้วยตนเองจึงจะสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตัวเราได้ เมื่อคิดอย่างนี้จึงต้องเน้นหนักและผลักดันที่การเรียนรู้ร่วมกันของคน ได้แก่ กลุ่มคนในองค์กร ในชุมชน  และในสังคม
การเรียนรู้ร่วมกันคือ การเปิดโอกาสให้คนได้มาคิดร่วมกันและทำร่วมกัน โดยส่งเสริมด้วยการหากลวิธี  อาทิ เช่น เวลาที่เรียนรู้ร่วมกันก็ให้เรียนรู้เกี่ยวกับชีวิต เกี่ยวกับความเป็นจริง และให้เห็นคุณประโยชน์ แล้วจึงเอาสิ่งที่มีคุณค่า สิ่งที่เป็นธรรมะ มาเป็นเครื่องมือให้คนเหล่านี้ โดยสามัญสำนึกของคนเมื่อได้มีโอกาสมาคิดร่วมกันทำร่วมกัน สิ่งที่ดีทั้งหลายมักจะปรากฏออกมา  แต่ถ้าต่างคนต่างคิดต่างคนต่างทำโดยยึดตัวเองเป็นหลักแล้ว สิ่งทีเลวมักจะเกิดขึ้นได้ง่าย เช่น ความเห็นแก่ตัว การเอาแต่ใจตัวเอง ฯลฯ แต่พอไปคิดร่วมกันทำร่วมกันแล้วจะถูกปรากฏการณ์ในสังคมทำให้ต้องคิดเผื่อแผ่ไปถึงคนอื่น ไม่ให้เห็นแก่ตัวเองมากเกินไป เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ปรับจิตสำนึกให้ค่อย ๆ เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น
กลไกหลักของสำนึกไทยที่พึงปรารถนาคือ การเรียนรู้ร่วมกัน คิดร่วมกัน ทำร่วมกัน ของคนในสังคม ซึ่งอานุภาพในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ประเพณี วัฒนธรรม และมาตรฐานทางสังคมต่าง ๆ ยิ่งถ้าได้เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายหลาย ๆ เครือข่าย และดำเนินการอย่างต่อเนื่องก็จะมีการถ่วงดุลซึ่งกันและกัน มีการสำรวจตัวเอง มีการพิสูจน์ว่าผลลัพธ์ในแต่ละช่วงดีเพียงพอแล้วหรือยัง และมีความพยายามปรับปรุงให้เหมาะสมเพื่อนำสู่ผลที่ต้องการ เป็นปฏิสัมพันธ์ในแนวราบระหว่างส่วนต่างๆ ในชุมชนและสังคม เพื่อให้ชุมชนและสังคมพัฒนาไปในแนวทางที่สมาชิกของชุมชนและสังคมเห็นร่วมกันว่าเป็นสิ่งอันพึงปรารถนา
สิ่งที่สำคัญคือ เครื่องมือและวิธีการต่าง ๆ ทั้งที่เป็นศาสตร์และศิลป์ที่ถูกต้องเหมาะสม ควรมีการเลือกเอาออกมาใช้เพื่อเป็นกลไกใน “การคัดสรรสำนึกที่พึงปรารถนา” ซึ่งถือเป็นความงดงามที่ได้รับการเลือกสรรจากผู้คนภายในสังคม และเมื่อสำนึกอันเป็นส่วนที่ละเอียดอ่อน ผ่านการขัดเกลาและปลูกฝังให้ลึกลงไปในจิตใจแล้วสำนึกที่ดี ที่อยู่ภายใน จะเป็นพลังขับเคลื่อนนำพาสังคมไทยให้ฝ่าวิกฤตไปได้อย่างไม่ยากนัก และความเจริญ ความสันติสุขจะดำรงอยู่กับสังคมไทยอย่างยั่งยืนนาน
(หมายเหตุ            เป็นเอกสารประกอบการเป็นวิทยากรในหัวข้อ “การสร้างคน สร้างชาติ สร้างจิตสำนึก และมโนธรรมในสังคม” ในหลักสูตร “นักบริหารระดับสูง : ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์” จัดโดยสำนักงาน กพ. เมื่อ 25 พ.ค. 49)
ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
26 พ.ค. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/31752

<<< กลับ

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *