ประกาศ 3 ยุทธศาสตร์ ชู “คุณธรรม” พื้นฐานสังคม

ประกาศ 3 ยุทธศาสตร์ ชู “คุณธรรม” พื้นฐานสังคม


  (ข่าวการจัดเวทีเสวนา “ยุทธศาสตร์สังคมแห่งชาติ” ลงใน นสพ. มติชน ฉบับวันที่ 7 พฤศจิกายน 2549 หน้าที่ 1)

                “ไพบูลย์”ประกาศ 3 ยุทธศาสตร์”สังคมเข้มแข็ง มีคุณธรรมไม่ทอดทิ้งกัน” ลุ้นอบต.-กำนันผู้ใหญ่บ้านดูแลผู้ถูกทอดทิ้งในท้องถิ่น ผลักดันชุมชนให้เกิดความเข้มแข็งทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การศึกษา วัฒนธรรม และชู”คุณธรรม”ให้เป็นพื้นฐานของสังคม

                กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านสังคม 3 ด้าน เพื่อให้สังคมไทยไม่ทอดทิ้งกัน เกิดความเข้มแข็งและมีคุณธรรม ทั้งนี้ กระทรวงมีนโยบายเร่งด่วน 4 ข้อเพื่อสร้างความสมานฉันท์ ฟื้นฟู และพัฒนา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ฟื้นฟูพัฒนาชุมชนที่ประสบภัยน้ำท่วม 46 จังหวัด และสร้างสังคมคุณธรรม โดยตั้งเป้าให้เกิดผลภายในหนึ่งปี 

                เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน ที่กรมประชาสงเคราะห์ สถานสงเคราะห์เด็กหญิงบ้านราชวิถี กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จัดเวทีเสวนา “ยุทธศาสตร์สังคมแห่งชาติ” โดยนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พร้อมกับตัวแทนเครือข่ายต่างๆ ที่มีประสบการณ์กรณีทำความดีไม่ทอดทิ้งกันเข้าร่วมเสวนา 

                นโยบายและยุทธศาสตร์สังคมแห่งชาติ รัฐบาลมีเจตจำนงและนโยบายในการบริหารประเทศที่ชัดเจน ภายใต้ระยะเวลาอันจำกัด เพื่อที่จะนำพาประเทศไปสู่ “สังคมที่ดีงามและอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” เป็นสังคมที่เข้มแข็ง คนในชาติมีความสมานฉันท์อยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันบนพื้นฐานคุณธรรม โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้กำหนดเป็น

                ยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านสังคม 3 ประการ คือ 

                1.ยุทธศาสตร์ “สังคมไทยไม่ทอดทิ้งกัน” ภาครัฐจะสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างประชาชนและองค์กรต่างๆ โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) กำนัน ผู้ใหญ่บ้านในทุกตำบลร่วมกับภาคประชาชนดูแลผู้ถูกทอดทิ้งในตำบลของตนเองโดยในระยะสั้นช่วงเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2549 ถึงเดือนมีนาคม 2550 เพื่อถวายความดีเป็นปฏิบัติบูชาต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสครองราชย์ครบ 60 ปี และเป็นการสร้างพื้นฐานที่ดีต่อการร่วมกันสร้างสังคมเอื้ออาทร คนไทยไม่ทอดทิ้งกัน 

                2.ยุทธศาสตร์ “สังคมเข้มแข็ง” จะส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการรวมตัวกันขององค์กรชุมชน ประชาสังคมและองค์กรท้องถิ่น เพื่อร่วมกันจัดทำแผนเพื่อพัฒนาไปสู่ความเข้มแข็ง เพื่อให้คนในชุมชน พึ่งตนเองและจัดการปัญหาได้ในทุกเรื่อง ทุกระดับ เช่น การช่วยเหลือผู้ถูกทอดทิ้ง การสร้างระบบเศรษฐกิจพอเพียง การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การศึกษา ศิลปวัฒนธรรม สุขภาพของคนในชุมชน ยุทธศาสตร์ “สังคมจะเข้มแข็ง” จะบรรลุผลได้ภาครัฐต้องสนับสนุนให้เกิด พ.ร.บ. ที่จำเป็นต่อการพัฒนาของภาคประชาชน เช่น พ.ร.บ.ส่งเสริมสภาองค์กรชุมชนท้องถิ่น 

                3.ยุทธศาสตร์ “สังคมคุณธรรม” ต้องทำให้คุณธรรมเป็นพื้นฐานของผู้คนในสังคม ทำให้ความดีงามอยู่ทั้งในความรู้สึกนึกคิด และการปฏิบัติเป็นปกติของคนในสังคม 

                ในระยะแรก เริ่มจากการสร้างความสมานฉันท์ในพรรคการเมือง สร้างความสมานฉันท์ในชุมชนท้องถิ่น และสร้างความสมานฉันท์ 3 จังหวัดภาคใต้ โดยพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) ทั้ง 3 จังหวัด ร่วมกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอบต.) และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) จัดทำแผนแม่บทชุมชนฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่น เพื่อสนับสนุนทั้งเรื่องที่อยู่อาศัยและการประกอบอาชีพ รวมทั้งจะจัดตั้ง “คลินิคยุติธรรมจังหวัด” ขึ้น โดยศูนย์คุณธรรมร่วมกับกระทรวงยุติธรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ และสถาบันพระปกเกล้า เพื่อเป็นหน่วยงานที่ช่วยจัดการคดีความต่างๆ เรื่องราวที่ไม่เป็นธรรมของคนในชุมชน ให้คนในชุมชนร่วมกันจัดการแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง เพื่อสร้างเป็นกระบวนการแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี ส่วนในระยะยาวจะมีการจัดทำแผนแม่บทสังคมคุณธรรมเสนอต่อรัฐบาลต่อไป

                เรื่องการส่งเสริมสังคมคุณธรรม จะมีการรณรงค์จัดโครงการหน่วยงานซื่อสัตย์ ใสสะอาด และโครงการจิตอาสาทำความดีของบุคลากรของกระทรวง โดยเริ่มต้นจากกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ อาจจะกำหนดให้ข้าราชการสามารถไปปฏิบัติภารกิจเป็นอาสาสมัครได้ โดยไม่นับเป็นวันลาของราชการ จะกำหนดสัก 5 วันต่อปี รูปแบบการทำงานอาสาสมัครนั้น ต้องให้แต่ละหน่วยงานไปกำหนดรูปแบบที่เหมาะสนกันเอง โดยกระทรวง จะทำหน้าที่เพียงการสนับสนุนให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะ 

                การทำงานด้านสังคม จะจัดตั้งให้มีคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สังคม ประมาณ 40 คน โดยคัดเลือกมาจากนักวิชาการ ข้าราชการผู้ปฏิบัติงาน และตัวแทนภาคประชาชนจากทั่วทุกภาคของประเทศ ในการทำหน้าที่รายงานความคืบหน้าของการทำงาน ต่อคณะทำงานด้านนโยบาย ว่าการทำงานมีข้อติดขัดเรื่องใด เพื่อนำมาแก้ไขปรับปรุงทิศทางการทำงานให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

                วันเดียวกัน นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงถึงการพัฒนาดัชนีชี้วัดความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันในสังคมไทยว่า สศช.จะใช้องค์ประกอบ 5 ประการ ในการศึกษา ประกอบด้วย 1.การที่คนไทยมีสุขภาวะที่ดี โดยวัดจากภาวะที่จิตใจ อารมณ์ ร่างกาย และสติปัญญาที่สมดุล เข้าถึงหลักศาสนา มีคุณธรรมนำความรอบรู้ มีจิตสำนึกต่อประโยชน์ส่วนรวม สามารถคิดและทำอย่างถูกต้องและมีเหตุผล 2.พิจารณาจากความสามารถในการประกอบสัมมาชีพ มีรายได้และหลักประกันความมั่นคงในชีวิต 

                3.ครอบครัวอยู่ร่วมกันด้วยความรัก ความอบอุ่นและมีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน 4.อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และ 5.มีสิทธิเสรีภาพ เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน โดยจะใช้การปรับปรุงเป็นรายปีต่อปี เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการและการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยมากที่สุด อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะสามารถระบุรายละเอียดของดัชนีที่นำมาใช้วัดอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรมที่สุดได้ภายในเดือนมกราคม 2550 

                “สิ่งสำคัญที่เราจะต้องเร่งเข้าไปดูคือ เรื่องการลดช่องว่างการกระจายรายได้ระหว่างผู้ที่มีรายได้มาก และผู้ที่มีรายได้น้อย โดยเฉพาะชาวบ้านในชนบทที่ประสบปัญหามาก เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายการกระจายรายได้ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10” นายอำพนกล่าว

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

10 พ.ย. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/58512

<<< กลับ

สร้างแผนที่คนดี คุณธรรมนำฯ

สร้างแผนที่คนดี คุณธรรมนำฯ


(รายงานพิเศษ โดย บูรพา โชติช่วง ลงใน นสพ.สยามรัฐ ฉบับวันที่ 13 พฤศจิกายน 2549 หน้าที่ 26)

                รัฐบาล พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ เตรียมจัดทำนโยบายยุทธศาสตร์ตั้งทิศทางใหม่ของสังคมไทย โดยใช้พื้นฐานความสมานฉันท์ของคนไทยทุกกลุ่มเป็นตัวตั้ง ทั้งยึดแนวทางเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม เพื่อสังคมไทยที่ดีงาม นายแพทย์ ประเวศ วะสี กล่าวถึงแนวทางดังกล่าว ได้ให้ทรรศนะดังนี้  

                เมื่อครั้งที่ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี คิดว่าทุกอย่างมาจากฉันคนเดียว เคยเตือนท่านแล้วเมื่อปี 2544 ระวังท่านจะตกโครงสร้างมรณะ เขียนรูปให้ดูด้วย ถ้านายกฯ ใช้อำนาจ 1 ไม่ได้ผล 2 อำนาจอื่นมันตีกลับ แล้วท่านนายกฯ จะต้องตกโครงสร้างมรณะ วิธีการที่ดีควรเปิดพื้นที่ทางสังคมและพุทธิปัญญาให้กว้างขวาง แต่ท่านก็ไม่สนใจ แต่ขณะนี้มันเปิดแล้ว หมายถึงนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ เปิดท้องฟ้าให้สว่าง 

                เป็นแนวทางเสริมสร้างสุขภาพบ้านเมืองของรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งแต่เดิมจะเห็นว่าทิศทางเดิมตั้งคำถามไปว่า “ทำอย่างไรถึงจะรวย” ก็จะเห็นว่าคนทำสารพัดอย่าง ค้าเด็ก ค้าผู้หญิง ค้ากำไร สิ่งแวดล้อม นับวันเอากำไรเกินควร จนเกิดคอร์รัปชัน กลายเป็นปัญหาแก้ความยากจนไม่ได้ เพราะมีการเอาเปรียบคนอ่อนแอตลอดเวลา 

                แต่ตอนนี้เราต้องมาตั้งคำถามใหม่ “ความดีคืออะไร?” ช่วยกันคิด ถ้าตอบได้ช่วยกันตอบ ไม่ใช่ทุกคนไม่รู้ ทุกคนรู้ เช่น ความซื่อสัตย์สุจริต ความมีน้ำใจ เหล่านี้เป็นต้น 

                รัฐบาลนี้กำลังตั้งทิศทางประเทศใหม่ โดยใช้ความดีคืออะไร เท่าที่ทราบนายกมีความมุ่งมั่นให้หลายกระทรวง ทั้งกระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพัฒนาสังคมฯ กระทรวงกีฬาฯ สำนักนายกฯ และอีกหลายกระทรวง รวมไปถึงสถาบันการศึกษา สื่อมวลชน เชิญมาระดมความคิดกับทิศทางสังคมที่ดีงาม อยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันของคนไทย 

                นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมฯ ได้พูดถึง 3 ยุทธศาสตร์ที่ผ่านมา ผมขอเพิ่มเติมรายละเอียดย่อๆ ลงไป เพื่อให้เห็นรูปธรรมมากขึ้น 

                ยุทธศาสตร์ที่ 1 สังคมไม่ทอดทิ้งกัน เมื่อประกาศเป็นนโยบายแล้วสามารถทำได้ทั้งประเทศภายใน 3 เดือน เพราะเครื่องมือเรามีอยู่แล้ว เงินทองมีอยู่แล้ว ยกตัวอย่างให้ฟัง ในสังคมจะมีคนที่ถูกทอดทิ้ง คนจน คนแก่ คนบ้าบอ ลูกกำพร้า เห็นได้ทางโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์มีอยู่ตลอด แต่ที่จริงแล้วในประเทศเรามีอาหารอย่างเพียงพอ และส่งออกด้วย 

                เมื่อมองท้องถิ่น เรามีตำบลประมาณ 7,000 ตำบล หมู่บ้านกว่า 70,000 หมู่บ้าน และในตำบลมี อบต. มีประชาคม มีวัด มีโรงเรียนประจำในแต่ละตำบล สมมติว่าตำบลมีจำนวนประชาคม 10,000 คน เราสำรวจภายใน 2 อาทิตย์จะรู้ว่าในตำบลนั้นมีใครถูกทอดทิ้ง 

                ตรงนี้เรามีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขายินดีจะจ่าย 37.5 บาทต่อหัว เมื่อรวมคน 10,000 คนก็เท่ากับ 375,000 บาท อบต.เองยินดีสมทบ 100,000 บาท ตรงนี้ได้มีการพูดคุยกับ อบต.แล้ว เขายินดี ทั้งหมดเป็นเงินเกือบ 500,000 บาท โรงพยาบาลชุมชนยังสมทบอีก และกระทรวงพัฒนาสังคมฯ ที่จะช่วยเบื้องต้นสำหรับคนที่ถูกทอดทิ้งในตำบล 

                นอกจากนี้ ถ้าคนในสังคมมีสปิริตพอ สามารถเป็นอาสาสมัคร หรือรัฐบาลประกาศเป็นนโยบาย ให้นักเรียน นักศึกษา ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจช่วยกัน คนหนึ่งใช้เวลา 2 อาทิตย์ต่อปีเป็นอาสาสมัคร โดยไม่คิดวันลา เพื่อมาช่วยดูแลคนจน คนพิการ และอีกร้อยแปดคนที่ถูกทอดทิ้ง อย่างนักเรียนอาชีวะ พวกเขาทำประโยชน์ในสังคมได้ เมื่อเขาทำก็เกิดความภาคภูมิใจตัวเอง แต่เสียอย่างเดียวคนไทยชอบดูถูกมองเขาไม่มีเกียรติ 

                ยุทธศาสตร์ที่ 2 ความเข้มแข็งของชุมชน ท้องถิ่น และประชาสังคม ไม่มีประชาธิปไตยประเทศไหนที่ปราศจากความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น แต่ประชาธิปไตยของเรายึดเอาส่วนกลาง ลองไปดูประเทศอื่นๆ ท้องถิ่นต้องแข็งแรง อย่างอเมริกาเมื่อแรกตั้งประเทศ ต้องให้ท้องถิ่นเข้มแข็งก่อน จะเห็นว่ามีคำว่า ยูไนเต็ดสเตท คำว่า “สเตท” คือท้องถิ่น ถ้าเราไม่กระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น ศีลธรรมก็ไม่มีวันเกิด 

                เรามีพระบาทพระเจ้าอยู่หัว เรามีพระพุทธศาสนามานาน ถามว่า ทำไมศีลธรรมเสื่อม เพราะว่าสัมพันธ์เราเป็นทางดิ่ง ระหว่างผู้มีอำนาจกับผู้ไม่มีอำนาจ สังคมใดที่เป็นทางดิ่ง เศรษฐกิจจะไม่ดี การงานจะไม่ดี และศีลธรรมจะไม่ดี ฉะนั้นทุกคนมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีความเสมอภาค 

                ที่จะลงมือทำได้เลย คือ แต่ละจังหวัดเรามีผู้ว่าฯ ผู้ว่าฯ ต้องทำงานร่วมกับประชาสังคม แล้วพัฒนาอย่างบูรณาการทั้งจังหวัด แต่การพัฒนาที่ผ่านมาเอากรมเอาสำนักเป็นตัวตั้ง ซึ่งกรมบูรณาการไม่ได้ เพราะกรมเล่นเป็นเรื่องๆ เช่น กรมข้าว กรมน้ำ กรมดิน ฉะนั้นตอนนี้ต้องเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง ช่วยให้บูรณาการได้ และแก้ปัญหาไปพร้อมๆ กันได้ ทั้งความยากจน รักษาสิ่งแวดล้อม เรื่องวัฒนธรรม ศีลธรรม ฉะนั้นผู้ว่าฯ และกระทรวงต้องทำงานเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์ 

                ยุทธศาสตร์ที่ 3 สังคม คุณธรรม เช่น การศึกษา ควรนำเอาคุณธรรมนำความรู้ แต่เดิมการศึกษาเอาความรู้นำคุณธรรม ขณะนี้ทราบว่าคุณ วิจิตร ศรีสะอ้าน รมว.ศึกษาธิการ จะมีการปรับใหญ่หันมาใช้คุณธรรมนำความรู้อีกเช่นกัน เรามีองค์กรศาสนา มีวัดกว่า 30,000 แห่ง ถ้าไปส่งเสริมความเข้มแข็งขององค์กรศาสนาก็จะทำให้สังคมมีคุณธรรมมากขึ้น ซึ่งต้องมีการจัดการ 

                พระบางรูป ท่านอาจจัดการไม่เป็น ก็ต้องเอาคนอื่นมาช่วย อาจมาจากคนในชุมชนที่เข้มแข็ง หรือคนนอก ทำวัดให้สะอาด ให้ร่มรื่น มีหลวงปู่สอนกรรมฐาน เพราะเดี๋ยวนี้คนเครียดมากขึ้นจากการทำงาน เมื่อเขาจะกลับบ้าน ก็จะได้แวะไปวัด ไปไหว้พระ นั่งกรรมฐาน จิตใจได้สงบ และวัดควรจัดกิจกรรมให้ผู้สูงอายุ เพราะจะเหงาเมื่อเวลาอยู่บ้านคนเดียว ลูกหลานมัวแต่ยุ่งธุรกิจ เมื่อวัดจัดกิจกรรมผู้สูงอายุ พอเช้ามาลูกหลานพาพ่อแม่มาฝากไว้ที่วัด เย็นมารับกลับ 

                ทั้งหมดขึ้นอยู่กับวิธีการจัดการ ถ้าจัดการเป็นจะเกิดประโยชน์มากมาย บางเรื่องรัฐบาลจัดการไม่เป็น บางเรื่องเอ็นจีโอจัดการไม่เป็น คนที่จัดการเป็นคือนักธุรกิจ ลองนึกภาพดูถ้ามีนักธุรกิจเพื่อกิจการส่งเสริมศาสนาจริง จะช่วยให้วัดและชุมชนมีการจัดการที่ดี ซึ่งขณะนี้มีอยู่แล้วที่เขาพร้อมให้ความร่วมมือ 

                อาสาสมัครและสื่อสาร ถือว่าเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะขยายความดี ถ้าเราไปสอนให้คนทำดี อันนี้ถือว่ายากมาก แต่เมื่อคิดให้ดีความดีมีอยู่แล้ว พ่อก็ใช่ แม่ก็ใช่ คนรอบตัวเราก็ใช่ แต่ก็ไม่มีคนรู้ ฉะนั้นความดีมีอยู่ในพื้นที่ทุกตารางเมตร แล้วเราจะทำอย่างไร เราต้องไปหา และในที่นี้เรามีโรงเรียนกว่า 30,000 โรง ทำโครงการแผนที่คนดีขึ้นมาสิ วัดทุกวัด ชุมชนทุกแห่งทำแผนที่คนดี ที่สุดเราก็จะไปเจอ บางท่านเป็นครู เป็นพระ เป็นชาว บ้าน ข้าราชการ นักธุรกิจแล้วแต่ ก็จะรู้ว่ามีคนดีอยู่ในชุมชน 

                คือเดิม เราไม่มองของดีที่เรามีอยู่ ถ้ามีการทำแผนที่คนดีทั้งแผ่นดิน แล้วเอามาศึกษากันจะรู้ว่าเกิดพลังมหาศาล เดี๋ยวนี้เราศึกษาแต่คนทำชั่ว ใครไปข่มขืนใคร ใครไปฆ่าใคร แต่ความดีมีอยู่เยอะกลับไปค่อยปรากฏทางหน้าสื่อ อย่างที่ไต้หวันมีมูลนิธิคุนจื่อจี๋ มีสถานีโทรทัศน์ของเขาเอง แพร่ภาพ 24 ชั่วโมง ใครทำอะไรดี ใครช่วยใคร นำมาออกอากาศให้เห็น นี่เรียกว่ายุทธศาสตร์การศึกษาของเขา เพื่อขยายความดี ซึ่งบ้านเรามีสถานีโทรทัศน์ แต่ไม่ค่อยนำเสนอ 

                เมื่อมองแนวทางเสริมสร้างสุขภาพบ้านเมืองของรัฐบาลนี้ ดูมีเวลาน้อย ฉะนั้นเราทุกคนในสังคมไทยต้องช่วยกัน เรื่องนี้จะมีการระดมความคิดเห็นกัน มีสื่อประมาณ 100 คน ผู้ทรงคุณวุฒิประมาณ 100 คน และทุกสาขาอาชีพเข้าร่วม ที่ตึกสันติไมตรีในวันศุกร์ที่ 17 พฤศจิกายน 2549 นี้ เรามาช่วยกันเพื่อความสงบสุขสังคมไทยที่ยั่งยืน 

                หมายเหตุ นายแพทย์ ประเวศ วะสี ให้ทรรศนะแนวทางเสริมสร้างสุขภาพบ้านเมือง เมื่อวันอาทิตย์ที่ 12 พฤศจิกายน 2549 ภายหลังการประชุมคณะกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ (กวช.) ที่สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) กระทรวงวัฒนธรรม

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

17 พ.ย. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/60708

<<< กลับ

“อยู่เย็นเป็นสุข” ภารกิจพลิกฟื้นสังคม “สามพี่น้อง” ตระกูล NGO

“อยู่เย็นเป็นสุข” ภารกิจพลิกฟื้นสังคม “สามพี่น้อง” ตระกูล NGO


(รายงานพิเศษ โดย นิติราษฎร์ บุญโย ลงในนสพ.เนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 24-30 พฤศจิกายน 2549 หน้า 86)

ปลายสัปดาห์ที่แล้ว น.พ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส เปิดประเด็น ‘พัฒนายุทธศาสตร์สังคมแห่งชาติ จุดประกายความคิด กำหนดทิศสู่สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน’ ที่ทำเนียบรัฐบาล ให้ได้ขบคิดเกี่ยวกับ ‘สังคมสมานฉันท์’ เพื่อความสงบสุขและปรองดองของคนในชาติ ภายหลังคนไทยแตกแยก-แบ่งฝักฝ่าย จากวิกฤติการเมืองครั้งที่ผ่านมา

ความกระจ่างชัดของนโยบายจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ดังกล่าวนั้น ดูเหมือนยังขาดคำอธิบายในแง่รูปธรรมและการลงมือปฏิบัติอยู่ไม่น้อย ว่าแผนระยะสั้นและระยะยาวจะดำเนินการไปอย่างไร ในช่วงเวลา 1 ปีของรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์

ดังนั้น “เนชั่นสุดสัปดาห์” จึงหาโอกาสไปจับเข่าคุยกับ น.พ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขานุการประจำรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อถามไถ่เป้าหมายและความเป็นไปได้ของนโยบายดังกล่าว ว่ามีความเป็นรูปธรรมได้มากน้อยขนาดไหน!

พูดถึงกระทรวงพัฒนาสังคมฯ ที่มีเจ้ากระทรวงชื่อ ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ซึ่งอาจจะคุ้นชื่อในฐานะเป็น “พี่ใหญ่” ของเหล่า NGO ทั้งหลาย เพราะทำงานคร่ำหวอดด้านชุมชนชาวบ้านร้านตลาดมานานปีดีดัก อีกทั้งยังมีมิตรรู้ใจ “ฝ่ายรุก” อย่าง เอนก นาคะบุตร ที่ปรึกษา “รมต.ไพบูลย์” และยังเป็นผู้จัดการมูลนิธิการศึกษาเพื่อชีวิตและสังคม ซึ่งทำงานด้านชุมชนมานานเช่นกัน

ส่วนมิตรคู่ใจ “ฝ่ายบุ๋น” อีกคนหนึ่ง คือ “น.พ.พลเดช” ที่คลุกกคลีกับชาวบ้านเรื่อง “การมีส่วนร่วมภาคประชาชน” มานานพอสมควรแล้ว ดังนั้น จึงไม่แปลกใจว่า หมอพลเดช จะกล่าวถึงบุคคลทั้งสองเสมือนว่าเป็น “สามพี่น้อง”

“เราสามคนพี่น้อง เราก็ตกลงปลงใจว่า เอาล่ะ 1 ปีนี้ เราคงต้องมาช่วยกัน..เราไม่เคยบริหารแบบนี้มาก่อนในฐานะเข้าไปบริหารกระทรวง เราอยู่ในฐานะฝ่ายการเมือง เรากระโดดจาก NGO โดยที่ไม่ได้คิดอะไรมาก่อน ฉะนั้น เราต้องเรียนรู้ระบบการบริหารราชการ ว่าเขามีการบริหารอย่างไร ต้องดูแลตรงนี้ด้วย ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่ท้าทาย และกว่าที่จะมีการตกผลึก 3 ยุทธศาสตร์ มันต้องมีการคิด การพูดคุย ปรึกษาหารือ ในที่สุดเขียนออกมา เพื่อใช้ในการสื่อสารให้เป็นที่ยอมรับ ใช้เวลาเพียง 3 อาทิตย์…”

น.พ.พลเดช อธิบายถึงหลักการกว้างๆ ของนโยบาย “สังคมอยู่เย็นเป็นสุข” อย่างเป็นกันเองว่า การปฏิรูปสังคมเริ่มเป็นรูปเป็นร่างมาตั้งแต่ปี 2543 ขณะนั้น ทำงานด้านชุมชนกับสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา จึงเห็นโครงสร้างชุมชนเชิงรายละเอียดได้อย่างชัดเจน ซึ่งยังขาดเพียงการเชื่อมต่อโครงสร้างใหญ่ระดับประเทศให้มีความเกี่ยวพันกัน เพื่อให้สังคมที่เข้มแข็งและพึ่งตนเองได้

“พวกผมมีเวลาแค่ปีเดียว ถ้าผมแบ่งเวลาปีเดียวไปด้านอื่น ก็จะมีเวลาทำในสิ่งที่ควรทำได้น้อย เปรียบเสมือนว่า พวกผมสามคนเป็นช่างเชื่อมเหล็ก ที่จะต้องถูกหย่อนลงไปในอุโมงค์ลึก เพื่อทำหน้าที่ไปอ๊อก ไปเชื่อมโครงสร้าง คือเรื่องกฎหมาย ในเวลาที่จำกัด เพราะถ้าอ๊อกไม่เสร็จ อ๊อกไม่ได้ ถึงเวลาออกซิเจนมันหมด เขาต้องดึงเราขึ้นแล้ว หมดเวลาแล้ว ก็หมดโอกาสทำ ถูกไหม…”

“เราตั้งใจว่า การปฏิรูปสังคมต้องเคลื่อนอย่างน้อย 10 ปี เราจะเคลื่อนอย่างนี้ 10 ปี แต่ 1 ปีของเราที่อยู่ในกระทรวงนี้ จะเป็นหนึ่งปีของการจัดทัพ เพื่อการเดินทางไกล พอจัดทัพเสร็จ หรือไม่เสร็จก็ตาม เราก็ต้องออกจากกระทรวงนี้ เราต้องเดินทางไกล เพราะฉะนั้น 1 ปี จะต้องจัดทัพให้ได้มากที่สุดเท่าที่เราทำได้ เหมือนเราจะเดินทัพทางไกล ขบวนของเรา มันเยอะเหลือเกินนะ เราก็ต้องดู จัดทัพ จัดขบวนกัน…”

แววตาแห่งความมุ่งมั่นของคุณหมอจากแพทยศาสตร์ศิริราช ช่างเปล่งประกายอย่างเชื่อมั่น ว่าแนวทางนี้ จะนำสังคมไทยสู่เข้มแข็งทั้งจิตวิญญาณและการพัฒนาประเทศ ซึ่งได้ชี้ให้เห็นทิศทางและกรอบการทำงานตามยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านสังคม 3 ประการ คือ ยุทธศาสตร์สังคมไทยไม่ทอดทิ้งกัน ยุทธศาสตร์สังคมเข้มแข็ง และยุทธศาสตร์สังคมคุณธรรม ที่ได้วางเอาไว้

“พอกำหนดทิศทางชัดแล้ว การส่งสัญญาณที่แรงก็มีความสำคัญ เวทีเมื่อวานที่ทำเนียบฯ จึงเป็นเวทีส่งสัญญาณ จุดประกายว่า เราจะไปสู่สังคมที่ดีงามและอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันถูกไหม พอเราส่งสัญญาณที่แรงและชัดเจนอย่างนี้ จะทำให้ขบวนของเราได้ยินทั่วถึง เข้าใจตรงกันว่าเราจะไปร่วมกัน ซึ่งในปีที่ 1 ต้องทำเป้าหมายให้ชัดเจน ส่งสัญญาณให้แรง จัดทัพจัดขบวนให้ดี ว่าเราจะเดินทางไกล ไม่ใช่ว่า 1 ปี จะถึงเป้าหมายแล้ว ไม่ใช่ ต้องบอกอย่างนี้ก่อน ถ้าไม่อย่างงั้นแล้ว ผ่านไป 1 ปี ไม่เห็นได้อะไร ไม่เห็นถึงสักที อะไรอย่างนี้ ฉะนั้น เราต้องบอกว่าสังคมที่ดีงามและอยู่เย็นเป็นสุขนั้น มันคือเป้าหมายปลายทาง…”

ตัวเลขที่คุณหมอนักพัฒนา กล่าวอ้างอิงเกี่ยวกับกลุ่มคนที่จะต้องเข้าไปดูแลเป็นกลุ่มแรก คือ กลุ่มคนที่ด้อยโอกาส กลุ่มคนที่ถูกทอดทิ้ง ซึ่งคาดการณ์ว่ามีจำนวนนับ 10 ล้านใน 63 ล้านคน

แยกออกเป็น กลุ่มคนยากจนที่เคยไปจดทะเบียนกับคุณทักษิณจำนวน 8 ล้านคน กลุ่มคนพิการ 1.1 ล้านคน กลุ่มคนไทยเผ่าต่างๆ ที่ไม่มีบัตรประชาชน จำนาน 5 แสนคน กลุ่มคนที่ติดเชื้อเอดส์และลูก จำนวน 3 แสนคน ร่วมถึงคนไทยใน 3 จังหวัดชายแดนใต้และคนไทย 3 จังหวัดชายแดนใต้ด้านพม่าที่มีเส้นปักเขตแดนไม่ชัดเจนอีกประมาณ 3 หมื่นคน ซึ่งคนกลุ่มคนเหล่านี้ต้องการกำลังใจจากชุมชน โดยชุมชนมีส่วนร่วม

“ยุทธศาสตร์แรก คือ สังคมที่ไม่ทอดทิ้งกัน เพื่อส่งสัญญาณให้คนไทยทั้งหมดว่า เราจะทำไปสู่สังคมที่เข้มแข็งและอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน ซึ่งการที่เราดูแลคนเหล่านี้อย่างพร้อมเพรียงทั่วถึง เราจะทำอย่างไร และถ้าเราทำได้ มันจะยกระดับจิตใจ จิตสำนึกของคนไทย…”

“ดังนั้น วิธีการ เราปรับใหม่ ตอนไปนี้ ชุมชนท้องถิ่นไปช่วย ทางหน่วยงานรัฐไปเสริม พอทำอย่างนี้ปั๊บ ชุมชนท้องถิ่นมีอยู่เต็มประเทศเลย ตำบลต่างๆ กว่า 6,000 ถึง 7,000 ตำบล และองค์กรชุมชนต่างๆ 5-6 หมื่นองค์กร ซึ่งอยู่ในท้องที่ใครท้องที่มัน สามารถดูแลกันได้ และการดูแลบุคคลเหล่านี้ อาจไม่จำเป็นต้องใช้เงินเสมอไป เงินเป็นคำตอบสุดท้าย หัวใจสำคัญกว่า…”

เลขานุการ ‘รมต.ไพบูลย์’ ยืนยันว่า ภายใน 3 เดือนแรกนี้ จะสำรวจทั้งหมด ทุกตำบล ว่ามีคนถูกทอดทิ้งอยู่ที่ไหนบ้าง เราต้องรู้ และลงไปช่วยได้เลย เราจะไปดูแล 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ไม่สงบ เราจะไปเยี่ยมบ้าน ไปให้กำลังใจ มีอยู่ประมาณ 2,500 คน ในช่วงก่อนวันที่ 5 ธันวาคมที่จะถึงนี้ และรวมถึงกลุ่มผู้ประสบภัยธรรมชาติด้วย

“กลุ่ม 47 จังหวัด มี 355 อำเภอ ที่ถูกน้ำท่วม เราจะไปตั้งกองทุนในระดับอำเภอ เพื่อให้ท้องถิ่นในอำเภอเขาใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการ ฟื้นฟูตนเอง ฟื้นฟูกันเอง โดยชุมชนเป็นตัวตั้ง ชุมชนเป็นคนจัดการ ไม่ใช่ให้รัฐจัดการ เราได้เรียนรู้จากเหตุการณ์สึนามิ เพราะปรากฏว่า สิ่งของที่บริจาคต่างๆ ไปกองๆ ไว้ จากคนทั่วประเทศ เพราะไม่มีคนจัดการ ซึ่งชาวบ้านได้สะท้อนออกมาว่า ไม่ต้องส่งอะไรมาหรอก เขาต้องการกองทุนที่บริหารจัดการกันเอง เขารู้ว่าบางคน มันต้องการเงิน แค่ 500 บาท บางคนก็ต้องแบบอื่น แต่ทางส่วนกลางมันไม่รู้ไง จึงมีสิ่งของจำนวนมากเลย แต่ไม่ใช่สิ่งที่ต้องการของชาวบ้าน และถ้าเราให้เงินกองทุนไปจัดการกันเอง มีกรรมการ มีอะไรต่างๆ จะช่วยได้ตรงจุดมากกว่า และทันเวลามากกว่า”

ขณะที่ยุทธศาสตร์สังคมเข้มแข็งนั้น หมอพลเดชอธิบายว่า จะตั้งศูนย์ประสานงานอาสาสมัครและการให้ ทุกจังหวัด ศูนย์ดังกล่าวจะเป็นฐานข้อมูลว่ามีคนเดือดร้อนภายในจังหวัดนั้นๆ ส่วนยุทธศาสตร์สังคมคุณธรรม ช่วงปลายปีนี้ จะประกาศรายชื่อวัดตัวอย่าง 300 แห่ง หรือศาสนสถาน อาจเป็นโบสถ์คริสต์ และมัสยิดก็ตาม มีสถานที่ ‘สะอาด สงบ สว่าง’ หมายความว่า สะอาด เจริญหูเจริญตา ส่วนสงบ คือร่มเย็น และสว่าง คือทำให้จิตใจตื่นรู้ในธรรมะ ซึ่งในสถานที่เหล่านั้นจะต้องมีผู้นำศาสนาที่ดีด้วย

ขณะเดียวกัน เมื่อถามว่าจะสร้างความสมานฉันท์คนในชาติได้อย่างไร ซึ่งหมอพลเดชจะใช้วิธีการ ‘เชิดชูสิ่งที่ดี’ โดยจะประกาศ 100 ตำบลตัวอย่างของการเมืองสมานฉันท์ หมายความว่า ในตำบลนั้น เป็นพื้นที่ที่มีการเมืองท้องถิ่นเป็นการเมืองสมานฉันท์ ไม่ต่อสู้ฟาดฟันเข่นฆ่ากัน เอาที่ดีมาชูก่อน ซึ่งมันมีอยู่แล้ว

“เราจะไปหา แล้วเราชูขึ้นมา ส่วนที่แตกแยกก็ไม่เอา ไม่เป็นไร ก็ปล่อยไป ซึ่งการที่ชูสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา เพื่อแสดงให้เห็นความดีงามในสังคม เรามีการแข่งขันกันอย่างสุภาพบุรุษ แข่งตามกติกา และสามารถสะท้อนถึงการเมืองระดับชาติด้วย ว่าทำไมเขาดีกว่าพวกคุณล่ะ”

ทั้งนี้ “หมอเอ็นจีโอ” ยังย้ำถึงนโยบายรัฐบาลเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงอีกด้วยว่า ทาง พม. จะทำให้นโยบายดังกล่าวสัมผัสและเรียนรู้ได้จริง พร้อมทั้งยกย่องคนดี-ขยันทำงานด้วย

“ช่วงปลายปี ผมจะประกาศ 25,000 ครอบครัว มากหรือน้อยล่ะ เป็นเศรษฐกิจพอเพียง คุณเดินไปดู เดินไปจับได้ แต่ก่อนเราจะคิดว่าเศรษฐกิจพอเพียงเป็นนามธรรม เราจะให้เห็นเป็นรูปธรรม เพราะมีอยู่แล้ว สามารถสัมผัสได้…

“เราจะประกาศ 100 สามัญชนคนดี คือเวลาเราจะชูคนดี มักจะชูคนมีชื่อเสียง คนชั้นสูง แต่ตอนนี้ เรากลับเปลี่ยน เราจะไปหาสามัญชนคนดีแทน…”

อย่างไรก็ตาม การเดินทางไกลของหมอพลเดช เพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น และยังไม่รู้ผลของอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้า แต่ระยะสั้นนี้ จะสร้าง “ศรัทธา” ให้เกิดแนวร่วม เพื่อที่จะร่วมเดินทางไปด้วยกันให้ได้ ซึ่งผลงานภายใน 1 ปีของ “รัฐบาลสุรยุทธ์” จะเป็นคำตอบ

สำหรับอนาคต “สังคมดีงามและอยู่เย็นเป็นสุข” ได้เป็นอย่างดี!!!

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

29 พ.ย. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/64088

<<< กลับ

 

สังคมดีงาม อยู่เย็นเป็นสุข ไม่ไกลเกินจริง

สังคมดีงาม อยู่เย็นเป็นสุข ไม่ไกลเกินจริง


(บทสัมภาษณ์พิเศษลงในนิตยสารประชาคมท้องถิ่น ฉบับที่ 72 ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2550 หน้า 92-95)

            ภาย หลังเข้ามานั่งบริหารงานในกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ผู้คร่ำหวอดในแวดวงการพัฒนา เชี่ยวชาญและมีความเข้าใจต่อความเป็นไปในบริบททางสังคมไทยด้านต่างๆ ได้ลงมือลุยงานอย่างมืออาชีพ ประสานกับองค์กรท้องถิ่น เครือข่ายภาคประชาสังคม หน่วยงานราชการทั้งส่วนกลางและภูมิภาค นำนโยบายด้านสังคมของรัฐบาลมากำหนดเป้าหมายใหญ่เพื่อนำสังคมไปสู่สังคมที่ดีงามและอยู่เย็นเป็นสุขอย่างยั่งยืน

รัฐมนตรีไพบูลย์  เปิดเผยกับ ประชาคมท้องถิ่น ถึงแนวทางการดำเนินงานในการจัดการระบบเชิงรุกที่ปรับเปลี่ยนวิถีการทำงานพัฒนาสังคมแนวใหม่ รวมทั้งการดำเนินการในโครงการต่างๆตลอดระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมาว่า พม.ได้สร้างนวัตกรรมในระบบการจัดการเพื่อปรับเปลี่ยนบทบาทและภาพพจน์ใหม่ ภายใต้แนวทางการจัดการ 3 บริบท คือ การจัดการในบริบทพื้นที่ การจัดการในบริบทกลุ่มเป้าหมาย และการจัดการในประเด็นการพัฒนา ซึ่งได้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการตามยุทธศาสตร์สังคม 2550 ขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือในการทำงาน

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา พม.ได้ร่วมปฏิบัติภารกิจเร่งด่วน 4 เรื่อง ที่เป็นรูปธรรม คือ การช่วยบรรเทาความเดือดร้อนและฟื้นฟูพัฒนาอันเนื่องมาจากอุทกครั้งใหญ่ด้วยงบประมาณ 1,347 ล้านบาท การเตรียมการร่วมคลี่คลายปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยงบประมาณ 517 ล้านบาท การสร้างเครือข่ายและจัดตั้งกลไกเพื่อร่วมคลี่คลายปัญหาความแตกแยกและสร้างความสมานฉันท์ในสังคม รวมทั้งการสร้างธรรมาภิบาลในหน่วยงานของกระทรวงฯ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพม. กล่าวเพิ่มเติมในรายละเอียดด้านต่างๆว่า สำหรับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สังคมไม่ทอดทิ้งกันครอบคลุม 7,416 ตำบล 1,145 เทศบาลทั่วประเทศ โดยที่ผ่านมาได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ฯ โดยมีเครือข่ายองค์กรชุมชน เครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เครือข่ายภาคประชาสังคมและหน่วยงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเข้าร่วม ซึ่งรวมถึงเครือข่ายสังคมไม่ทอดทิ้งกันใน 76 จังหวัด ที่ได้ร่วมปฏิบัติการค้นหาผู้ยากลำบากในพื้นที่ โดยใช้ตำบลและเทศบาลเป็นตัวตั้ง พร้อมให้การช่วยเหลือเบื้องต้น รวมทั้งการจัดทำขยายข้อมูลที่เป็นระบบ

เช่นเดียวกับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สังคมเข้มแข็งพร้อมกันไปเป็นขบวน ให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการและคณะทำงานเพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนเชิงรุกและเชิงรับ โดยคณะกรรมการประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคชุมชนท้องถิ่น องค์กรพัฒนาเอกชน ภาคประชาสังคม องค์กรสนับสนุน และส่วนราชการของกระทรวง จำนวน 45 คน ขณะที่คณะกรรมการระดับจังหวัด 76 คณะ ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิจากชุมชนท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาสังคม และส่วนราชการในพื้นที่จำนวนรวมประมาณ 3,000 คน ซึ่ง จากผลการดำเนินงานด้านชุมชนท้องถิ่นเข้มเข้มแข็ง มีกระบวนการประเมินและรับรององค์กรชุมชนเป้าหมายจำนวน 40,000 องค์กร ซึ่งมีองค์กรที่ได้รับรองสถานภาพแล้วจำนวน 27,510 องค์กรและอยู่ระหว่างดำเนินการ 12,490 องค์กร เช่นเดียวกับการดำเนินโครงการบ้านมั่นคง เมื่อเดือนธันวาคม 2549 ที่ผ่านมา มีการพัฒนากระบวนการในเมืองใน 75 จังหวัด(ยกเว้นกรุงเทพมหานคร) 214 เมือง/เขต 96 โครงการ พัฒนาระบบสาธารณูปโภคใน 64 จังหวัด 158 เมือง/เขต 440 โครงการ 773 ชุมชน 45,496 ครัวเรือน

            “เราเริ่มจากเป้าหมายใหญ่ เนื่องจากงานพัฒนาสังคมมีเป้าหมายสังคมดีงามอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันโดยมียุทธศาสตร์ 3 แนวที่เกาะเกี่ยวกัน ได้แก่สังคมไม่ทอดทิ้งกัน นั่นคือสังคมช่วยเหลือเกื้อกูล ดูแลซึ่งกันและกัน สังคมเข้มแข็ง  ก็คือ สังคมที่ชุมชนเข้มแข็ง ประชาสังคมเข้มแข็ง และ 3 สังคมคุณธรรม ความดีความถูกต้อง ความเป็นธรรมในสังคม เราดำเนินการนำยุทธศาสตร์รวมกันลงไปในท้องถิ่น โดยเราส่งเสริมให้ท้องถิ่นค้นหาคนที่ยากลำบากเพื่อที่จะได้ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ทั้งระหว่างชาวบ้านด้วยกัน อบต.เทศบาลและกระทรวง ตลอดถึงราชการส่วนภูมิภาคส่วนกลางทั้งหมด”

ขณะที่การดำเนินงานด้านกลุ่มคนเข้มแข็ง ได้มีการส่งเสริมความเสมอภาคของหญิงชาย โดยมีการจัดสัมมนาวิชาการผู้บริหารภาครัฐด้านการเสริมสร้างบทบาทของหญิงชายเพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจ ตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริมความเสมอภาคของหญิงชายในระบบราชการและนำความรู้ไปปรับใช้ในหน่วยงานรวมทั้งการเข้าไปตั้งศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน(ศพค.) โดยสนับสนุนให้งบประมาณ 75 จังหวัด เพื่อจัดกิจกรรมสำหรับศพค.เดิมจำนวน 2,677 ศูนย์และจัดศพค.ใหม่อีกจำนวน 453 ศูนย์ อีกทั้งการดำเนินโครงการโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ซึ่งมีการจัดทำบันทึกข้อตกลงภายในประเทศ เรื่องแนวทางการปฏิบัติร่วมกันในการดำเนินการกรณีเด็กและหญิงที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคใต้ฝั่งตะวันตก

            “การป้องกันลดความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงระดับครอบครัว ระดับท้องถิ่น หรือระดับชาติ ส่วนหนึ่งของการป้องกันความรุนแรง คือการสรางภูมิคุ้มกัน การสร้างทัศนคติวิถีชีวิตความรู้ความชำนาญในการจัดการแก้ไขความรุนแรงด้วยสันติวิธีให้อยู่ในวิถีชีวิต ส่งเสริมการรู้รักสามัคคี การสมานฉันท์ เพื่อคลี่คลายความรุนแรง ความขัดแย้ง นี่คือการทำงานที่เอาประเด็นเป็นตัวตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการให้ การช่วยเหลือสังคม การป้องกันลดความรุนแรงการส่งเสริมชีวิตมั่นคง ต่างๆเหล่านี้ถือว่าเป็นการเริ่มต้นกรุยทางที่จะเดินต่อไปในวันข้างหน้า”

เช่นเดียวกับการดำเนินโครงการเสริมสร้างเด็ก โดยมีการฝึกอบรมทีมสหวิชาชีพระดับจังหวัด(ครู ก)ใน 4 ภาค จำนวน 5 ครั้ง มีผู้เข้าร่วมอบรมรวม 800 คน เพื่อส่งเสริมให้ทีมวิชาชีพฯมีหลักการแนวคิด ความรู้ ความสามารถที่เข้มแข็งในพื้นที่ระดับจังหวัด และการยกระดับศูนย์พัฒนาและฝึกอาชีพคนพิการแห่งเอเชียและแปซิฟิก( APCD)ให้เป็นองค์การมหาชน ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนนำร่างพระราชกฤษฎีกาฯเสนอคณะกรรมการพัฒนาโครงสร้างระบบราชการของกระทรวง ขณะที่โครงการจัดตั้งศูนย์อเนกประสงค์สำหรับผู้สูงอายุในชุมชน เพื่อจัดบริการให้เข้าถึงผู้สูงอายุในชุมชน และให้ผู้สูงอายุได้ใช้ทักษะในการมีส่วนร่วมกับชุมชนและพิทักษ์สิทธิของตนเองโดยได้ดำเนินการใน 4 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ เชียงใหม่ พัทลุง หนองคาย และตราด

อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สังคมคุณธรรมโดยหวังผลในระยะยาว ทางกระทรวงฯได้มีการจัดทำแผนงาน โดยจัดทำโครงการส่งเสริมการทำความดี ซึ่งจะให้ส่วนราชการในสังกัดกระทรวงทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคดำเนินการค้นหาคนดี-เรื่องดีๆทั่วประเทศ ตั้งเป้าหมายไว้จำนวน 500 กรณีศึกษา โครงการพัฒนาระบบการจัดการความรู้ โครงการเสวนาเครือข่ายอาสาสมัครทำความดี ซึ่งได้ขับเคลื่อนโครงการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2549 โดยมีการจัดประชุมสัมมนา เรื่องการให้อาสาสมัครในสังคมไทย การจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมการให้และการอาสาช่วยเหลือสังคม การออกระเบียบกระทรวงว่าด้วยแนวทางปฏิบัติในการส่งเสริมการให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการอาสาสมัคร พ.ศ.2549 การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการส่งเสริมการให้และการอาสาสมัครช่วยเหลือสังคม พร้อมทั้งเตรียมนำเสนอ “แผนปฏิบัติการพัฒนาระบบสวัสดิการสังคมและชีวิตมั่นคง พ.ศ.2550-2554” เพื่อการเห็นชอบและอนุมัติงบประมาณปีละ 3,000 ล้านบาท จากคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ (ก.ส.ค.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

            “โครงการเกี่ยวกับการส่งเสริมการให้การเอื้อเฟื้อแบ่งปันการช่วยเหลือสังคมการอาสาสมัคร โดยการส่งเสริมให้ข้าราชการนำไปปฏิบัติ อนุญาตให้ข้าราชการไปพัฒนาแบบอาสาสมัครสังคมปีละไม่เกิน 5 วันทำงาน โดยไม่ถือเป็นการลา เพื่อส่งเสริมให้ข้าราชการทำความดี เปิดโลกทัศน์ สร้างจิตสำนึก ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมสังคมโดยรวมให้มีการให้แบบอาสาสมัครช่วยเหลือสังคมให้มากยิ่งขึ้น นี่ก็เป็นตัวอย่างที่เราเอาประเด็นเป็นตัวตั้ง เราก็จะมีศูนย์การป้องกันและลดความรุนแรงด้วย”

สำหรับการช่วยให้สังคมท้องถิ่นเข้มแข็งส่วนหนึ่งได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว เช่นการส่งเสริมให้ทำแม่บทชุมชน การส่งเสริมเรื่องการทำสวัสดิการ เป็นการช่วยให้ชุมชนเข้มแข็ง สามารถแก้ปัญหา สามารถพัฒนา อย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันกลไกหนึ่งที่จะช่วยได้มาก คือการมีสภาชุมชนท้องถิ่น เพื่อจะได้มีเวทีและกลไกในการติดตามสถานการณ์ รับรู้ข้อมูล ทำความเข้าใจ ระดมความคิดว่าท้องถิ่นตนควรจะพัฒนาไปอย่างไร ตลอดจนการติดตามดูแลการบริหารจัดการของท้องถิ่น ซึ่งหลายตำบลหลายเทศบาลได้ทำกันอยู่แล้วเพียงแต่ว่าเป็นการเกิดตามธรรมชาติ ตรงนี้น่าจะมีพระราชบัญญัติส่งเสริมการมีสภา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการยกร่างพระราชบัญญัติเพื่อให้สังคมและประชาชนมาร่วมคิดร่วมพิจารณาก่อนที่จะนำเสนอรัฐบาลต่อไป

            “คิดว่า 3 เดือนเศษ เราได้ทำและวางรากฐาน มีผลงานเบื้องต้นในทั้ง 3 ด้าน ทั้ง 3 เรื่อง เป็นเรื่องที่สลับซับซ้อน การพัฒนาต้องทำกันเป็นเดือนๆเป็นปีๆหรืออาจจะเป็นสิบๆปีต้องทำอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้เราวางรากฐานให้ส่วนที่ดีมีมากขึ้น ส่วนที่ไม่ดีถ้าไม่หมดไปก็ให้ลดลง พยายามส่งเสริมส่วนที่ดีให้ได้รับการสานต่อ เป็นส่วนหนึ่งที่ทุกฝ่ายจะช่วยกันทำให้สังคมดีงาม”

อย่างไรตาม ในส่วนของการทำงานร่วมกับองค์กรภาคีหรือองค์กรเครือข่าย นับเป็นสิ่งสำคัญที่จะเป็นพลังในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านต่างๆไปข้างหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ เช่นเดียวกับการทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ถือเป็นองค์กรหัวใจหลักที่อยู่ใกล้ชิดประชาชนระดับรากหญ้ามากที่สุด

            “อบต.และเทศบาลเป็นจุดหมายสำคัญและประชาชนชนมีบทบาทสำคัญ ทุกฝ่ายให้ความร่วมมือ ซึ่งมีตัวอย่าง ผมไปร่วมสัมมนาที่จังหวัดนครนายกมีตัวแทน 8 จังหวัด เข้าร่วม เราพูดถึงการจัดสวัสดิการชุมชนโดยชุมชนเข้ามาดำเนินการ ปีละ 365 บาท คือออมวันละบาท ชาวบ้านจัดการกันเอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสนับสนุน บางแห่งก็สนับสนุนงบประมาณ บางแห่งก็สนับสนุนกิจกรรม ฉะนั้นจึงเป็นการทำงานเชิงรุกที่ประชาชนมีส่วนร่วมที่สำคัญ โดยมีเป้าหมายสุดท้ายคือความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น”

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม บอกว่า ที่ผ่านมาการการทำงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีพัฒนาการมาตลอด เช่น การดูแลด้านสังคม อบจ. เทศบาลมักจะทำได้ดี ในเรื่องงบประมาณบุคลากร อบต.ก็เห็นการทำงานที่เป็นรูปธรรมที่ดูแลเรื่องเด็กเยาวชนผู้สูงอายุการพัฒนาแบบสร้างสรรค์ เทศบาลก็ทำในเรื่องการดูแลทำให้คนจนมีที่อยู่อาศัยภายใต้โครงการบ้านมั่นคง

            “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นกลไกของประชาชนเพื่อประชานการดูแลจัดการค่อนข้างสะดวกรวดเร็ว เพียงแต่ว่าหลักการสำคัญคือให้ประชาชนเข้ามามีบทบาทสำคัญ โดยเฉพาะ อบต.ยิ่งเป็นกลไกของประชาชน เพราะเขาได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนและประชาชนก็เป็นกำลังสำคัญ เป็นเจ้าของเรื่องอย่างแท้จริง การพัฒนาใดๆถ้าให้ประชาชนมีบทบาทจะทำได้ดีแก้ไขปัญหาได้”

            ขณะที่ทุกฝ่ายก็ต้องเข้ามาให้ความร่วมมือ ไม่ใช่แค่ประชาชนกับอบต. ราชการทุกภาคส่วนในภูมิภาคเช่น สถานีอนามัย การเกษตร พัฒนาสังคม  ก็ต้องร่วมด้วยเพื่อเนื้องานจะได้มีประสิทธิภาพ  สังคมก็จะเป็นสุข ฉะนั้น อบต.หรือองค์กรปกครองท้องถิ่นจะต้องเรียนรู้ในเรื่องการพัฒนาสังคม การแก้ปัญหาสังคม ส่งเสริมให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางมีบทบาทสำคัญ ทำไปเรียนรู้ไปพร้อมกับการเรียนรู้จากคนอื่น เรียนรู้จากอบต.อื่นในพื้นที่ที่ต่างกัน เพราะการเรียนรู้ร่วมกันจะก่อให้เกิดประโยชน์มหาศาล

            “จากการติดตามการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในแง่ความก้าวหน้าไม่ว่าจะเป็นอบต.เทศบาลหรืออบจ.ผู้นำเขาก็มีการพัฒนา ผู้นำอบต.ที่มีคุณวุฒิ มีประสบการณ์มีความคิดอ่านดีๆมีเยอะขึ้น ผมค่อนข้างมีความหวังว่าการบริหารท้องถิ่นจะดีขึ้นตามลำดับ เพียงแต่สังคมและรัฐบาลกลางควรเปิดโอกาสและชื่นชมยินดีกับความก้าวหน้าที่เขาทำได้ อย่าไปเอาแต่เรื่องที่เขาทำไม่ดีที่มันเกิดขึ้นบางแห่ง เอามาพูดและมองไปว่าเหมือนกันทั้งหมด มันก็เสียหายไปหมด บางแห่งมีดีก็ไปมองว่าไม่ดีไปหมด จริงๆแล้วควรจะให้กำลังใจว่า สิ่งที่ดีมีอยู่เยอะ ยกย่องเชิดชูให้กำลังใจนำไปเผยแพร่ให้มีการเรียนรู้จากสิ่งดีๆที่เขาทำ

            ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลส่วนกลางที่ต้องเข้าไปดูแลการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดสื่อมวลชนและสังคม ถ้ามีทัศนคติเชิงบวก ไปค้นหาความเจริญก้าวหน้าที่น่าชื่นชม เอามาเผยแพร่ จะดีกว่าไปค้นหาสิ่งที่ไม่ดีแล้วเอามาโพนทะนา

            นับจากนี้ไป…สังคมดีงาม สังคมแห่งคุณธรรม รวมทั้งการสร้างความสมานฉันท์ในสังคมไทย อาจจะไม่ใช่เพียงแค่แนวคิดเชิงอุดมคติอีกต่อไป หากการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านต่างๆจากทุกภาคส่วนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสิ่งที่คิดว่าเป็นไปไม่ได้อาจจะเป็นไปได้ เพราะตลอดระยะเวลากว่า 3-4 เดือนที่ผ่านมา อาจารย์ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ได้กรุยทางและทำให้เห็นแล้วว่า สังคมอยู่เย็นเป็นสุข อยู่ใกล้แค่เอื้อมนี้เอง

ล้อมกรอบ

กฎหมายที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เตรียมผลักดันเพื่อการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์อย่างเป็นระบบจำนวน 20 ฉบับ ดังนี้ (1)กฎหมายในแผนเดิมของ พม.ที่รอเข้าสภานิติบัญญัติ(1 ฉบับ) คือ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ…… (2 ) กฎหมายในแผนเดิมของ พม.ที่รอเข้าครม.รอบที่ 2 (5 ฉบับ) คือ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ…../ พ.ร.บ.การเคหะแห่งชาติ พ.ศ……/ พ.ร.บ.การส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ……….. / พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่…) พ.ศ. …….และ พ.ร.บ.คนขอทาน พ.ศ……. (3) กฎหมายในแผนเดิมของพม.ที่รอเข้าครม.รอบที่ 1 (7 ฉบับ) คือ พ.ร.บ.ปราบปรามวัตถุยั่วยุพฤติกรรมอันตราย พ.ศ……. / พ.ร.บ.พัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ. ……. / พ.ร.บ.หอพัก พ.ศ……./ พ.ร.บ.วิชาชีพสังคมสงเคราะห์ พ.ศ……./พ.ร.บ.ส่งเสริมโอกาสและความเท่าเทียมกันระหว่างเพศ พ.ศ……. /พ.ร.ฎ. จัดตั้งศูนย์พัฒนาและอบรมคนพิการแห่งเอเชียและแปซิฟิก (องค์การมหาชน) กฎกระทรวงกำหนดสัดส่วนการจ้างงานคนพิการของสถานประกอบการเอกชน พ.ศ……(4) กฎหมายใหม่ตามยุทธศาสตร์สังคมที่กำลังเตรียมเสนอครม. รอบที่ 1 (7 ฉบับ) คือ พ.ร.บ.สถาบันวิจัยยุทธศาสตร์สังคมแห่งชาติ พ.ศ………../ พ.ร.บ.ส่งเสริมประชาคมในการพัฒนา พ.ศ……../ พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนท้องถิ่น พ.ศ…………/พ.ร.บ.การแพร่ภาพและกระจายเสียงแห่งชาติ พ.ศ………/ พ.ร.บ.ส่งเสริมครอบครัว พ.ศ………./ พ.ร.บ.ส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ พ.ศ…………. /พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการพัฒนาสังคม พ.ศ. …………..

ล้อมกรอบ

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2550 อนุมัติตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 1 ซึ่งมีหม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล  รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ เห็นชอบข้อเสนอการให้และการอาสาช่วยเหลือสังคม  ตามมติของคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2549 วันที่ 4 ธันวาคม 2549 เรื่อง ข้อเสนอการให้และการอาสาช่วยเหลือสังคม มีดังนี้

  1. กำหนดเรื่องการให้และการอาสาช่วยเหลือสังคมเป็นวาระแห่งชาติโดยมีเนื้อหาประกอบด้วย การรณรงค์จิตสำนึกการให้และการอาสาช่วยเหลือสังคม การขับเคลื่อนนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ได้แก่ มาตรการด้านการเงินการคลัง มาตรการด้านการศึกษา และมาตรการที่เอื้อให้ประชาชนเอกชน  และข้าราชการเข้าร่วมในงานอาสาสมัคร 2. ประกาศให้ปี พ.ศ. 2550 ซึ่งตรงกับวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระชนมายุครบ 80 พรรษา เป็นปีแห่งการให้และการอาสาช่วยเหลือสังคม 3. มอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ จัดกิจกรรมเพื่อตอบสนองต่อวาระแห่งชาติในเรื่องการให้และการอาสาช่วยเหลือสังคมรวมทั้งปีแห่งการให้และการอาสาช่วยเหลือสังคม โดยให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นหน่วยงานหลักในการประสานงานและส่งเสริมการดำเนินงานดังกล่าว 4. อนุญาตให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติงานอาสาสมัครโดยไม่ถือเป็นวันลาและให้ถือเป็นวันปฏิบัติราชการได้ไม่เกิน 5 วันทำการต่อปีไม่มีผลทำให้เกิดความเสียหายต่องานราชการ และต้องได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชา พร้อมทั้งเชิญชวนภาคเอกชนให้พนักงานลาไปปฏิบัติงานอาสาสมัครโดยไม่ถือเป็นวันลา

ทั้งนี้หน่วยงานที่รับอาสาสมัครไปช่วยปฏิบัติงานองค์กรสาธารณประโยชน์จะต้องระบุเนื้อหางานให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติทราบ รวมทั้งอาสาสมัครจะต้องนำหลักฐานการอนุญาตให้ไปปฏิบัติงานจากหน่วยงานต้นสังกัดแสดงต่อองค์การสวัสดิการสังคม ให้สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติออกตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานและจัดให้มีการประเมินและทบทวนการดำเนินงานเป็นประจำทุกปี

อีกทั้งขอความร่วมมือให้เจ้าของสถานประกอบการอนุญาตให้ลูกจ้างลาไปปฏิบัติงานอาสาสมัครตามแต่จะพิจารณาเห็นสมควร

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

7 มี.ค. 50

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/82470

<<< กลับ

ศิลปะสร้างความ “สมานฉันท์” บนเส้นทางแห่ง “ความขัดแย้ง”

ศิลปะสร้างความ “สมานฉันท์” บนเส้นทางแห่ง “ความขัดแย้ง”


บทสัมภาษณ์ ลงในหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 17 เมษายน 2550 หน้า 11

ปัญหาความขัดแย้ง ไม่สมานฉันท์ทุกวันนี้ จะแก้กันอย่างไร

สำหรับเรื่องการเมืองที่ดูตึงเครียดขัดข้องอยู่ขณะนี้ คิดว่าต้องพยายามช่วยกันหาทางออก ให้มันคลี่คลาย ทางที่ผมคิดได้ก็คือ การได้พูดได้จากันระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้อง คงต้องเริ่มจากวงเล็กๆ แล้วค่อยขยายออกไป เข้าใจว่ามีการพูดจากันบ้างแล้ว อย่าง อาจารย์ธีรภัทร์ (เสรีรังสรรค์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี) ที่ไปพูดจากับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ผมว่าอะไรทำนองนี้ดี เพราะลึกๆ แล้ว เราคนไทยด้วยกัน สังคมเดียวกัน ขัดข้องขัดแย้งกันแล้วมันจะนำไปสู่อะไร การต่อสู้เอาชนะกัน ถ้าชนะแล้วได้อะไร สิ่งที่น่าจะต้องการคืออยู่ร่วมกันได้เหมือนพี่เหมือนน้อง ความขัดข้อง ขัดแย้ง ก็มีได้เป็นธรรมดา แต่เราไม่ต้องการทำให้สังคม ครอบครัวแตกสลาย อาจไม่ต้องรักใคร่กลมเกลียวกันเต็มที่ แต่ต้องอยู่ร่วมกันได้

สถานการณ์ตอนนี้ สายเกินกว่าจะคุยกันหรือไม่

ไม่มีอะไรสายไป ขนาดเขารบกันมาเป็นสิบปี ยังพูดจากันได้ ของเรายังไม่ถึงขนาดรบกัน แค่ตึงเครียด

แต่ถ้าอีกฝ่ายไม่อยากคุยจะทำอย่างไร

ตรงนี้เป็นศิลปะ ซึ่งไม่มีสูตรสำเร็จ มันต้องหาทางไป เอาเป็นว่าผมเต็มใจและยินดีที่จะเป็นส่วนหนึ่ง แต่การกระทบกระทั่งที่เกิดขึ้นมันมีความเกี่ยวพัน ทุกอย่างสะเทือนกันไปหมดไม่ว่า รัฐบาล คมช. กลุ่มนั้นกลุ่มนี้ อีกทั้งมีปัจจัยแทรกซ้อนเกี่ยวพันและสลับซับซ้อนกว่าแต่ก่อน ผมว่าเวลานี้ แรงกระทบกระทั่ง กดดันมากกว่าที่ผ่านๆ มา

กลัวหรือไม่ว่ารัฐบาลจะตกม้าตายไปก่อนที่จะอยู่ครบวาระ

ทัศนคติในการดำเนินชีวิตของผมคือ ทำหน้าที่ในปัจจุบันให้ดีที่สุด นึกถึงอนาคตด้วย เพื่อป้องกันปัญหาโดยการสร้างระบบ แต่ข้างหน้าอะไรจะเกิดขึ้น ผมทำใจ พร้อมรับสถานการณ์ เมื่อเกิดสถานการณ์ใดๆ ก็ต้องดำเนินการไปตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ไม่อยากไปคาดคะเนว่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ก็วิเคราะห์ประเมินอยู่

ครม.รู้สึกอกสั่นขวัญหายหรือไม่ กับคำพูดเปิดทางของนายกฯที่พร้อมลาออกหากการเมืองเกิดวิกฤต

ไม่หวั่นไหวหรอก ไม่วิตกกังวลอะไร เพราะผมไม่ได้มีชีวิตอยู่เพื่อตัวเอง ผมมีชีวิตอยู่เพื่อทำประโยชน์เท่าที่ทำได้ ผมไม่ต้องการอะไร มาอยู่ในรัฐบาลก็ไม่ได้ขวนขวายที่จะมา แต่สถานการณ์เป็นเหตุให้มา ดังนั้น ไม่ผูกพันติดยึดตำแหน่ง พร้อมรับสิ่งที่จะเกิดขึ้น ถ้าเราทำหน้าที่ให้ดีที่สุด อะไรจะเกิดก็เกิด และเชื่อว่า ครม.โดยรวมก็คิดทำนองนี้ คือ ไม่ได้หวั่นไหว เราเอาใจช่วยนายกฯ เพราะทราบดีว่าท่านตั้งใจ เราเป็นรัฐมนตรีในคณะของท่าน เราต้องอยู่ร่วมกับท่าน เป็นอะไรก็เป็นด้วยกัน (หัวเราะ)

ปัญหาส่วนหนึ่งเพราะ ครม.ไม่เก๋าเกมการเมือง

ต้องยอมรับว่า ครม.ชุดนี้เกือบหมด ไม่ได้เป็นนักการเมืองโดยพื้นฐาน แม้กระทั่งนายกฯ ส่วนใหญ่เราเป็นนักบริหาร งานก็ขับเคลื่อนไป แต่ก็มีข้อจำกัดในเรื่องความอืดของระบบราชการ และความไม่ลงตัวภายนอก ซึ่งมีมานานแล้ว สมัยคุณทักษิณก็เจอ แต่คุณทักษิณสามารถบายพาส คือ เลื่อนระบบราชการไปได้ แต่รัฐบาลนี้ไม่อยู่ในฐานะอย่างนั้น แต่หลังจากมาเป็นรัฐบาลได้สักระยะ คิดว่าหลายคนได้เรียนรู้ความเป็นการเมือง (หัวเราะ)

เราเป็นนักบริหารอยู่ข้างหลังมากกว่าอยู่ข้างหน้า แต่ก็ได้เรียนรู้ว่า การเป็นนักการเมืองต้องอยู่ข้างหน้ามากกว่าอยู่ข้างหลัง น้ำท่วม ชาวบ้านก็อยากเห็นรัฐมนตรีลงไปยืนแช่น้ำมากกว่า การเมืองไทยมันเป็นอย่างนี้ เพราะสังคมมันคาดหวังให้นักการเมืองเล่นบทของตัวเอง ดังนั้น ถ้าประชาชนไม่เห็นหน้าเห็นตา ก็ไม่มีผลงาน แต่ก็สะท้อนความไม่เข้มแข็งของสังคมที่มองแต่ตัวผู้นำมาแก้ปัญหาให้

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

18 เม.ย. 50

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/90986

<<< กลับ

การสร้างองค์การแห่งคุณธรรม จริยธรรม

การสร้างองค์การแห่งคุณธรรม จริยธรรม


(ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การสร้างองค์การแห่งคุณธรรม จริยธรรม” ลงในจุลสารออมสิน ฉบับเดือนเมษายน 50 หน้าที่ 12)

ปาฐกถาพิเศษ

เรื่อง การสร้างองค์การแห่งคุณธรรม จริยธรรม

โดย นายไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม

รองนายกรัฐมนตรีและ

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

วันจันทร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2550

ณ หอประชุมบุรฉัตร ธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่

———————————-

ท่านประธานกรรมการธนาคารออมสิน ท่านกรรมการธนาคารออมสิน ท่านผู้อำนวยการธนาคารออมสิน และเพื่อนพนักงานชาวธนาคารออมสินที่รักทุกคนครับ

มาวันนี้ผมมีความรู้สึกที่สำคัญ 2 อย่าง อย่างแรกคือรู้สึกมีความสุขครับ ที่นี่คุ้นเคยได้อยู่ประมาณ 3 ปี แต่เผลอแป๊ป เดียวครับเกือบ 7 ปีแล้ว ที่ผมได้อำลาจากที่นี่ไป ก่อนเวลาที่จำเป็นนิดหน่อย ความรู้สึกที่ 2 คือ ชื่นชม ชื่นชมความริเริ่มและความพยายามของท่านผู้อำนวยการ คณะกรรมการ และพนักงานธนาคารออมสิน ในอันที่จะสร้างองค์การแห่งคุณธรรมและจริยธรรม ซึ่งก็คือธนาคารออมสินนั่นเอง การสร้างองค์การแห่งคุณธรรมและจริยธรรม ในความเห็นของผมไม่ใช่เรื่องยาก คำว่าคุณธรรมจริยธรรมก็ไม่ใช่เรื่องยาก แต่บางทีคนไปตีความให้ยากไปเอง ง่าย ๆ คุณธรรมจริยธรรมมี 3 อย่างที่สำคัญ

อย่างที่ 1 คือ ความดี ความดีใคร ๆ ก็รู้นะครับ เกิดมาเรารู้กันโดยธรรมชาติ ของคนที่อยู่ร่วมกันในสังคม ในครอบครัว เราจะรู้ว่าอะไรดีอะไรไม่ดี อะไรควรอะไรไม่ควร ถ้าเราทำสิ่งที่ดีทำสิ่งที่ควร เรียกว่าทำความดี ไม่เชื่อลองถามทุกคนดูสิครับ ความดีคืออะไร ทุกคนตอบได้ ทำอะไรไม่ดีก็รู้ตัวนะครับ ไม่ต้องให้ใครมาบอก เป็นส่วนใหญ่ เอาอย่างนี้แล้วกันนะครับ อาจจะไม่ใช่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ว่าเป็นส่วนใหญ่ โดยหลักใหญ่แล้วรู้ว่าอะไรดีไม่ดี ที่เราใช้คำว่า รู้ผิดชอบชั่วดี นั่นคือความดี

ส่วนที่ 2 ความถูกต้อง ความถูกต้องเป็นเรื่องที่ คล้าย ๆ กับศีล มีข้อห้าม มีข้อต้องทำ มีทั้งความถูกต้องตามกฎหมาย ในเมื่อเราอยู่ร่วมกันในสังคม มีกฎหมายซึ่งเป็นข้อตกลงของสังคมนั่นเองนะครับ ผ่านกระบวนการทางนิติบัญญัติ ความถูกต้องในเชิงจรรยาบรรณ ซึ่งเป็นข้อตกลงการปฏิบัติภายในองค์กร ว่าสิ่งนี้ต้องทำ สิ่งนี้ต้องละเว้น การทุจริต คดโกงลักขโมย เราก็รู้ว่าเป็นสิ่งที่ต้องไม่ทำ ต้องละเว้น  เรามีกรณีของพนักงานที่ประพฤติไม่ชอบอยู่เนือง ๆ ในแทบทุกองค์กรนะครับ ก็รวมทั้งธนาคารออมสิน นี่เราต้องยอมรับ คือในคน 100 คน ก็จะมีคนที่ไม่ดีอยู่ หรือไม่ใช่คนไม่ดีนะครับ แต่เป็นคนซึ่งได้ปฏิบัติในสิ่งที่ไม่ดี สิ่งที่ไม่ถูกต้อง เขาอาจจะเป็นคนดีเป็นส่วนใหญ่ แต่มีจุดอ่อนหรือมีสถานการณ์ที่ทำให้เขาต้องทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เราก็รู้กันอยู่ ฉะนั้น ความสุจริต ความทุจริต หรือความถูกต้องความไม่ถูกต้อง การปฏิบัติตามกฎหมายตามข้อบังคับตามจรรยาบรรณที่กำหนดไว้เราเรียกว่าความถูกต้อง รับผลประโยชน์มาจากลูกค้าเงินกู้ เพื่อจะได้ผ่านเงินกู้ให้โดยไม่ถูกกติกา อย่างนี้เป็นต้น ก็คือความไม่ถูกต้อง ฉะนั้นความถูกต้องเป็นส่วนที่ 2 ของคำว่าคุณธรรมจริยธรรม

ส่วนที่ 3 คือ ความเป็นธรรม ความเป็นธรรมอยู่ระหว่างความดีกับความถูกต้อง ความเป็นธรรมคือความเสมอภาค ความเท่าเทียม ธนาคารออมสิน ต้องดูแลลูกค้าอย่างเท่าเทียม อย่างเสมอภาค ไม่ใช่ว่าถ้าลูกค้ารายใหญ่ก็ให้ประโยชน์เยอะหน่อย ถ้าลูกค้ารายย่อยก็ให้น้อยหน่อย คำว่ามากหรือน้อยนั่นก็เป็นเรื่องของตัวเลข แต่มากหรือน้อยในความหมายที่ว่าถ้าให้มากแปลว่าไม่เป็นธรรม คือไม่เสมอภาค แต่การที่จะมีกติกาเรื่องอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้าที่มีจำนวนมากและมีเหตุมีผล ถ้าเป็นกติกาเป็นที่รู้กันทั่วไป อย่างนั้นถือว่าใช้ได้ แต่ถ้าเผื่อว่าลูกค้ารายใหญ่มา เราก็ดูแลอย่างดี โอ้โลมปฏิโลม ช่วยเหลือเกื้อกูลให้ได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ มากกว่าที่ควรจะได้ แต่ถ้าเป็นรายย่อยมาก็ไม่ค่อยได้สนใจ หรือไม่พยายามที่จะให้เขาได้รับประโยชน์ที่พึงได้ อย่างนี้เรียกว่าไม่เป็นธรรม

ฉะนั้นรวม 3 สิ่ง ความดี ความถูกต้อง ความเป็นธรรม ก็คือความหมายของคำว่า คุณธรรม จริยธรรม ที่จริงเราจะตีความหมายต่าง ๆ นานา ก็ย่อมได้นะครับ แต่ถือว่าเป็นความเห็นของผมว่า มองง่าย ๆ แล้วกัน ว่าคุณธรรมจริยธรรมก็คือ 1. ความดี 2. ความถูกต้อง 3. ความเป็นธรรม เพื่อจะได้เห็นชัดและนำไปปฏิบัติได้ นี่คือส่วนสำคัญนะครับ หลักการ ปรัชญา ถ้าเรานำมาปฏิบัติไม่ได้ ก็ไม่เกิดประโยชน์เท่าที่ควร คุณธรรมจริยธรรมเป็นหลักการ เป็นหลักคิด จะเรียกว่าเป็นปรัชญา เป็นธรรมะ ก็ได้นะครับ แต่เราต้องแปลมาเป็นปฏิบัติให้ได้ ผมจึงคิดว่าถ้าแปลอย่างที่ผมว่ามานะครับ คือ ความดี ความถูกต้อง ความเป็นธรรม น่าจะปฏิบัติได้ไม่ยาก

ขั้นต่อไปก็คือแล้วจะปฏิบัติอย่างไร ตรงนี้จะว่ายากก็ยาก แต่จะว่าง่ายก็ง่าย ที่ว่ายากก็คือองค์กรทั้งหลาย มักจะทำแล้วไม่ค่อยได้ผล หรือได้ผลน้อยกว่าที่ควร นั่นคือมันยาก แต่ถ้ามองอีกนัยหนึ่ง ผมคิดว่าไม่ยาก และที่จะเสนอแนะก็คือวิธีปฏิบัติที่ผมเชื่อว่าไม่ยาก วิธีปฏิบัติในเรื่องนี้ผมคิดว่าสำคัญที่สุดก็คือผู้บริหาร ถ้าเจาะลงไปก็ต้องเป็นท่านผู้อำนวยการ เพราะเป็นผู้บริหารสูงสุดขององค์กร ถ้าในประเทศเราต้องยกให้ท่านนายกรัฐมนตรี เป็นผู้นำในเชิงการปกครอง ในจังหวัดก็มีผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ตำบลก็มีนายก อบต. เป็นต้นนะครับ ผู้บริหารสูงสุดสำคัญที่สุด ที่จะพาองค์กรไปทางใดทางหนึ่ง ถัดจากผู้บริหารสูงสุด ผมคิดว่าคือคณะกรรมการ คณะกรรมการเป็นกลไกการกำกับดูแลองค์กรที่สำคัญที่สุดในองค์กร เพราะเป็นคณะบุคคลซึ่งได้รับมอบหมายจากสังคม ผมใช้คำว่าจากสังคมนะครับ ผ่านรัฐบาล ที่ว่าจากสังคมก็เพราะว่าธนาคารออมสินก็เช่นเดียวกับรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐทั้งหลาย เจ้าของคือสังคม ไม่ใช่รัฐบาลครับ สังคมเป็นเจ้าของ สังคมก็อาศัยกลไกของรัฐบาลแต่งตั้งคณะกรรมการ มาดูแล มากำกับ มาให้ทิศทาง ฉะนั้นคณะกรรมการจึงเป็นกลไกที่สำคัญที่สุดรองจากผู้อำนวยการ ผมยังให้น้ำหนักกับผู้อำนวยการเป็นอันดับหนึ่งนะครับ เพราะว่าท่านอยู่ทุกวันทำงาน แต่ในความเป็นจริงท่านก็อยู่ตลอด 24 ชั่วโมงต่อวัน 7 วันต่อสัปดาห์ ในความคิดจิตใจผมเชื่อว่าเป็นเช่นนั้น ท่านเดินทางไปต่างประเทศก็ยังเขียนจดหมายถึงพนักงานรวมเป็นเล่มขายได้อีก คณะกรรมการประชุมกันอาจจะเดือนละครั้ง แต่มีคณะอนุกรรมการย่อย ๆ ก็ทำงานมาก แต่ที่สำคัญก็คือว่าเป็นกลไกที่กำหนดทิศทางกำหนดนโยบายกำหนดหลักการสำคัญ ๆ ถ้า    2 กลไกนี้ครับ คือระหว่างผู้อำนวยการกับคณะกรรมการ เข้าใจ เห็นความสำคัญและมุ่งมั่นที่จะพัฒนา     คุณธรรมจริยธรรม ต่อไปเป็นเรื่องไม่ยาก การที่ผู้อำนวยการก็ดี คณะกรรมการก็ดี จะเห็นความสำคัญ และมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของธนาคารออมสิน ก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องยากใช่ไหมครับ เพราะคุณธรรมจริยธรรมไม่ใช่เรื่องยากอยู่แล้วที่จะเข้าใจ การมีความมุ่งมั่นก็ไม่ใช่เรื่องยากครับเพราะเป็นหน้าที่ของท่านอยู่แล้ว ถ้าเผื่อสองจุดนี้ มีความมุ่งมั่น จุดต่อไปก็จะง่ายขึ้น แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเกิดโดยอัตโนมัตินะครับ ก็ต้องใช้ความพยายามอีกเหมือนกัน

เมื่อคณะกรรมการและผู้อำนวยการมีนโยบายชัดเจน และเป็นผู้นำทางความคิด ทางการจัดการ มีการให้ทิศทางและสนับสนุนด้วยงบประมาณตามสมควร สิ่งที่ต้องทำต่อไปก็คือ บรรดาหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีผู้บริหารหน่วยงาน เป็นผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานสูงสุดและผู้บริหารรอง ๆ ลงไป ที่นี่ก็คงจะเป็นฝ่าย เป็นสำนัก เป็นภาค เป็นสาขา ไล่เรียงลงไป ผู้บริหารหรือคณะผู้บริหารของแต่ละหน่วยงาน ก็ชอบที่จะนำนโยบายเรื่องคุณธรรมจริยธรรมไปประยุกต์ใช้ไปปฏิบัติ

แต่ตรงนี้เป็นศิลปะที่ผมมักจะแนะนำเสมอนะครับ คือแนะนำว่า ไม่ใช่คณะกรรมการและ ผู้อำนวยการผลิตหนังสือที่เรียกว่าจรรยาบรรณ แล้วก็ส่งไป แล้วบอกว่าจงปฏิบัติตามนี้ แล้วหวังว่าจะเกิดขึ้น  ไม่พอ สิ่งที่จะช่วยให้เกิดขึ้นก็คือ เปิดโอกาสและส่งเสริม สนับสนุนด้วยนโยบาย และด้วยงบประมาณตามสมควรให้แต่ละหน่วยงานได้ไปคิดเองทำเอง ไม่ต้องไปบอก เพราะผมคิดว่าอะไรคือความดี อะไรคือความถูกต้อง อะไรคือความเป็นธรรม แต่ละหน่วยงาน ผู้บริหารหน่วยงาน พนักงานในหน่วยงาน คิดได้  และควรเป็นคนคิด คิดแล้วมาทำความตกลงกันภายในหน่วยงานแล้วทำตามนั้น เมื่อทำไปก็สร้างระบบติดตามประเมินผลตามไปด้วย ติดตามประเมินผลได้อย่างไร นำมาเรียนรู้และจัดการความรู้ การเรียนรู้จากการปฏิบัติ ที่ภาษาเทคนิคอาจจะใช้คำว่า After Action Review  AAR ก็เป็นคำที่ใช้กันนะครับ พัฒนามาจากวิธีการของกองทัพอเมริกัน เมื่อทำสงครามกับที่ต่าง ๆ เขาก็ใช้เทคนิคที่เรียกว่า AAR  แล้วธุรกิจก็ได้นำไปประยุกต์ใช้กันมาก โดยเฉพาะในกระบวนการที่เรียกว่า การจัดการความรู้ ก็คือ ทำไปแล้วเรียนรู้จากการกระทำ ไม่ใช่ทำแล้วก็ทำไป แล้วพรุ่งนี้ก็ทำอีกโดยไม่เรียนรู้จากเมื่อวาน ถ้านำเรื่องคุณธรรมจริยธรรมมาคิดเองทำเอง ทำไปแล้วติดตามประเมินผลแล้วเรียนรู้จากที่เราทำ นั่นเรียกว่า AAR เป็นส่วนหนึ่งของคำว่าการจัดการความรู้

คำว่าจัดการความรู้จะมากกว่านั้น คือนำสิ่งที่ทำ มาพินิจพิจารณา ให้คนที่ทำนั้นเอง มาพินิจพิจารณา แล้วเรียนรู้จากที่ทำ ประมวล วิเคราะห์ สังเคราะห์ ออกมาเป็นความรู้ บันทึกไว้เพื่อใช้ประโยชน์ในภายหลัง และเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับกลุ่มอื่น ๆ หน่วยงานอื่น ๆ ในแต่ละฝ่ายมีหลายหน่วยงาน แต่ละหน่วยงานก็ไปประยุกต์การสร้างคุณธรรมจริยธรรมตามที่ได้ไปคิดเองทำเอง แล้วหลาย ๆ หน่วยงานนอกจากจะเรียนรู้จากสิ่งที่ตนทำแล้ว ก็มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันโดยมีระบบที่มานั่งคุยกัน ล้อมวงคุยกัน เอาข้อมูล เอาการปฏิบัติจริงมาพูดกัน แล้วให้คนที่ทำนั่นแหละมาพูด ไม่ต้องเอาวิทยากรที่ไหนมาพูด ถ้ามีวิทยากร ก็มาเป็นผู้เอื้ออำนวย ที่เราเรียกว่าคุณอำนวย ภาษาอังกฤษคือ Facilitator   เอื้ออำนวยให้เกิดการเรียนรู้และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มีการวิเคราะห์สังเคราะห์จัดระบบความคิด มีการบันทึกเป็นระบบข้อมูลไว้ เพื่อจะได้ใช้ประโยชน์ต่อไป พูดถึงการบันทึกและการทำระบบข้อมูล

ผมเพิ่งไปจังหวัดสระแก้วเมื่อวันศุกร์นี้เอง ก็ประทับใจมาก ที่มีชาวบ้านในหมู่บ้านนะครับ มีระบบข้อมูลและระบบความรู้ น่าประทับใจมาก เขานำข้อมูลต่าง ๆ ความรู้ต่าง ๆ บันทึกไว้ในคอมพิวเตอร์ แล้วก็มาฉายดูกันเป็นระยะ ๆ แล้วใช้คอมพิวเตอร์อย่างมีประสิทธิภาพนะครับ ผู้ใหญ่บ้านมานำเสนอเป็น Power Point ซึ่งทำเอง และทำได้ดีกว่าผมอีก แล้วได้ใช้ความรู้ที่เขามีใส่คอมพิวเตอร์ไว้ให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม เกิดประโยชน์ต่อหมู่บ้านอย่างเป็นรูปธรรม แล้วหมู่บ้านเขามีการพัฒนาน่าชื่นชม เขาพัฒนามาประมาณ 5 ปี โดยการสนับสนุนของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ที่ผมลาออกจากออมสินไปเป็นประธานสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ถึงแม้จะไม่ใช่ผู้บริหารเต็มเวลา แล้วระบบข้อมูลและความรู้ที่หมู่บ้านนี้ได้ขยายไปหมู่บ้านอื่น ๆ หลายหมู่บ้านในตำบล และหลายตำบลในจังหวัดสระแก้ว ผมเองได้ใช้ความพยายามที่จะส่งเสริมระบบข้อมูลและความรู้ขึ้นทั่วทุกท้องถิ่น จะเป็นประโยชน์มหาศาล

นี่ก็เล่าให้ฟัง ให้เห็นว่าเรื่องการใช้ข้อมูลและความรู้ให้เป็นประโยชน์นั้น ชาวบ้านทำแล้วนะครับ ทำแล้วก้าวหน้าด้วย ฉะนั้นออมสินไม่ควรจะน้อยหน้ากว่าชาวบ้าน ที่จะมีระบบข้อมูลและความรู้ในเรื่องคุณธรรมและจริยธรรม นอกเหนือไปจากเรื่องอื่น ๆ ถ้าใช้ระบบข้อมูล ระบบความรู้ แล้วมีการจัดการความรู้ภายในหน่วยงานย่อย ระหว่างหน่วยงานย่อย ภายในหน่วยงานใหญ่ ระหว่างหน่วยงานใหญ่ และต่อไปครับ ภายในธนาคารออมสิน และระหว่างธนาคารออมสินกับองค์การอื่น ๆ อาจจะเป็นรัฐวิสาหกิจด้วยกัน หรือจะเป็นหน่วยงานประเภทกระทรวง กรม ต่าง ๆ ผมได้เริ่มต้นที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่งคงของมนุษย์ หลังจากเข้าไปเป็นรัฐมนตรีนะครับ ก็มีโครงการที่เรียกว่า ราชการไทยใสสะอาด ทำกันมาหลายปีแล้วครับ แต่ไปดูจริง ๆ ก็ยังงั้น ๆ แหละ เพราะว่ามีนโยบายบอกไว้ให้ทำ เขาก็ทำ จุดอ่อนที่ผมค้นพบก็คือว่า ไม่ได้เปิดโอกาสให้ข้าราชการเขาได้คิดเองทำเอง แล้วก็นำเอาสิ่งที่คิดแล้วทำแล้วมาเรียนรู้ แล้วมีการจัดการความรู้ ผมก็เลยไปส่งเสริมให้เขาสร้างระบบจัดการความรู้ขึ้นมา ได้ประสานความร่วมมือกับสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม หรือ สคส. ที่มีคุณหมอวิจารณ์ พานิช เป็นผู้อำนวยการ ดร.ประพนธ์ ผาสุขยืด เป็นรองผู้อำนวยการ ที่ได้เคยขอความร่วมมือให้มาช่วยจัดการจัดการความรู้ให้กับเครือข่ายครูที่จังหวัดสมุทรปราการ ท่านที่เกี่ยวข้องคงจะทราบ และเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาเครือข่ายครูจังหวัดสมุทรปราการก็มีการประชุมใหญ่ เขาขอให้ผมไปพูดเปิด เพราะว่าผมเคยไปพูดให้เขาหนหนึ่ง และขณะนี้เรื่องของครู การแก้หนี้ครูการพัฒนาชีวิตครูก็ได้รับการฟื้นฟูขึ้นมา เป็นเรื่องที่ผมชื่นชมยินดีอีกเรื่องหนึ่ง หลังจากที่เริ่มต้นเมื่อปี 2543 แล้วก็พัฒนาเรื่อยมาจนกระทั่งสามารถพัฒนาชีวิตครูหรือว่าช่วยครูที่เข้าโครงการ ไม่ทราบเดี๋ยวนี้เท่าไรแล้ว หกหมื่น เจ็ดหมื่นคน ใช้เงินไปห้าหกหมื่นล้าน แต่ว่ายอดคงเหลือเข้าใจว่าสี่หมื่นกว่าล้านบาท เงินไม่ใช่น้อยนะครับ ที่ธนาคารออมสินได้ดำเนินการไปเพื่อพัฒนาชีวิตครู ก็เป็นโครงการที่ควรอย่างยิ่งจะต้องมีระบบการเรียนรู้และจัดการความรู้ ที่ผมได้พยายาม พยายาม จนกระทั่งในที่สุดก็กำลังดำเนินการอยู่ การเรียนรู้และการจัดการความรู้จะช่วยโครงการพัฒนาชีวิตครูอย่างยิ่งเลยครับ

เช่นเดียวกัน โครงการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมในธนาคารออมสินจะได้ประโยชน์อย่างยิ่งจากกระบวนการจัดการความรู้ ผมมั่นใจเลยครับ ผสมกับที่เปิดโอกาสและสนับสนุนให้พนักงานในกลุ่มต่าง ๆ ในองค์กรย่อย ในหน่วยงานย่อยได้คิดเองทำเอง อย่าไปบอกว่าที่ดีเป็นอย่างไร ให้เขาคิดเองทำเอง แล้วมาเรียนรู้กันเอง แล้วมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับกลุ่มอื่น ๆ ทำเช่นนี้อย่างต่อเนื่อง ผมมีความมั่นใจครับว่าธนาคารออมสินจะพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม ในภาคปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมและอย่างเป็นจริง และอย่างมีคุณภาพ และจะเป็นองค์การชั้นนำ ที่จะมีผลต่อการขยาย หรือสร้างเครือข่ายองค์การแห่งคุณธรรมจริยธรรมในภาครัฐ สามารถต่อไปถึงภาคเอกชน ซึ่งขณะนี้ผมก็ได้ประสานความร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์ฯและองค์กรภาคธุรกิจนะครับ ให้เขามีสถาบัน CSR Corporate Social Responsibility  ได้ทราบมาว่าคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯได้อนุมันติแล้ว จะเปิดตัวปลายเดือนเมษายน โดยที่เป็นความร่วมมือภายในตลาดหลักทรัพย์ฯรวมถึงบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯและองค์การธุรกิจอื่น ๆ เป็นต้นว่า หอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สภาตลาดทุนแห่งประเทศไทย เป็นต้น นั่นคือเรื่องความดีนั่นเอง ในภาคธุรกิจคำว่า Corporate Social Responsibility ผมเสนอให้เขาใช้คำว่า เป็นสถาบันธุรกิจเพื่อสังคม ธุรกิจเพื่อสังคมก็คือธุรกิจที่คำนึงถึงสังคม และเพื่อประโยชน์ต่อสังคม เป็นการต่างตอบแทนระหว่างธุรกิจกับสังคม ธุรกิจทำประโยชน์ให้สังคม สังคมก็ทำประโยชน์ให้กับธุรกิจ ต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์ เช่นเดียวกับที่ผมเชื่อว่า ธนาคารออมสินยังคงดำเนินการตามหลัก 3 ประสานที่ ผู้ประกาศได้กล่าวถึง ที่ว่าสังคมได้ประโยชน์ ธนาคารเจริญ พนักงานเป็นสุข

ผมเชื่อว่าเวลาที่ผ่านมา ได้ชี้ให้เห็นว่าธนาคารออมสินได้ทำประโยชน์ให้กับสังคม ชัดเจน แล้วธนาคารออมสินก็มีความเจริญก้าวหน้ามาเป็นลำดับนะครับ ที่ผมไม่อาจบอกได้ก็คือข้อสุดท้าย เพราะว่าไม่ได้อยู่ที่นี่ แต่ความเป็นสุขนี่วัดได้นะครับ ผมอยากจะแนะด้วยซ้ำไปว่า ให้ลองสร้างตัวชี้วัดความสุขขึ้นมา พวกเราก็คงได้ยินเรื่อง GNH Growth National  Happiness  เป็นระบบคิด เป็นหลักการ เป็นแนวทางการพัฒนา ซึ่งได้รับความสนใจมากขึ้นในช่วงประมาณ 5 ปีที่ผ่านมา และประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่สนใจเรื่องนี้

ที่จริงประเทศไทยตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 ได้ให้ความสนใจกับความอยู่เย็นเป็นสุขของประชาชน ที่ไม่ใช่แค่มีรายได้ประชาชาติสูง ได้พูดไว้ในแผนฯ 8  ว่าต้องสร้างตัวชี้วัดผลสุดท้ายที่เกิดกับคน นั่นก็คือความสุขของคน ความสันติสุข ความมั่นคงของคน  เพราะแผนฯ 8 บอกว่าคนเป็นศูนย์กลาง พอดีหลังจากแผนฯ 8 ประกาศใช้ เราเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ รัฐบาลก็มัววุ่นวายเรื่องแก้วิกฤติ พอมาแผนฯ 9 เราได้รัฐบาลที่ค่อนข้างไปในทางการใช้เงิน และการขยายการซื้อการขายซึ่งก็ไม่ผิดอะไรนะครับ แต่ว่าเกินไปหรือไม่ก็เป็นประเด็นที่ต้องพูดในเวทีอื่น จนกระทั่งมาแผนฯ 10 เราก็มาพูดถึงเศรษฐกิจพอเพียง อีกครั้งหนึ่ง ที่จริง แผนฯ 9 พูดถึงเศรษฐกิจพอเพียงนะครับ แต่ไม่ได้นำมาปฏิบัติเลย จนใกล้จะหมดแผนฯ 9 พอดีประจวบกับ 60 ปี ครองราชย์ และก็มา 80 ปี พระชนมพรรษา กับกระบวนการเรื่อง GNH ก็ทำให้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงกับเรื่องความสุขมวลรวมของประชาชาติ หรือความสุขของสังคม ความสุขของชุมชน ความสุขของท้องถิ่น เป็นประเด็นสำคัญขึ้นมา แล้วผมกำลังส่งเสริมให้ทุกชุมชนทุกท้องถิ่นสร้างตัวชี้วัดความสุข ที่ว่าชุมชนเป็นสุข ท้องถิ่นเป็นสุข อำเภอเป็นสุข จังหวัดเป็นสุขนั้น เป็นอย่างไร ได้มีการพัฒนากันมาไม่ใช่น้อยแล้วนะครับ

ฉะนั้นจึงไม่ยาก แต่รายละเอียดผมคงไม่ขอพูดถึงนะครับ แต่ที่พูดถึงเพราะอยากให้ธนาคารออมสิน ถ้าเห็นว่าเรื่องความสุขพนักงานเป็นเรื่องสำคัญ สร้างตัวชี้วัดขึ้นมาได้ครับ ตัวชี้วัดความสุขของพนักงาน แล้วไม่ต้องไปให้ใครมาบอกนะครับ คิดกันเอง คิดกันในหน่วยงานต่าง ๆ แล้วจะเห็นเองว่า ส่วนหนึ่งของความสุขนั้นมาจากการมีคุณธรรมจริยธรรม

ที่จริงแล้วข้อนี้เป็นผลงานวิจัยนะครับ ระดับสากล ที่วิจัยการพัฒนาของธุรกิจที่มีขนาดใหญ่หรือขนาดปานกลางแต่เจริญก้าวหน้ามาอย่างยาวนานและพบว่าจำนวนมากเลยเป็นธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม นั่นคือมีคุณธรรมจริยธรรม ทำสิ่งที่ดี ทำสิ่งที่ถูกต้อง ทำสิ่งที่เป็นธรรม แล้วปรากฏว่าธุรกิจมีความเจริญก้าวหน้า เพราะอะไรครับ เพราะสังคมเห็นว่าธุรกิจนี้ดี จึงมาเป็นลูกค้า จึงค้าขายด้วย จึงมารับบริการ จึงสนับสนุน มีตัวอย่างมากมายครับ ถึงขั้นที่เกิดอุบัติเหตุมีปัญหาปรากฏว่า ธุรกิจนั้น ๆ ทำประโยชน์ให้  ชุมชน ให้สังคม ก็ได้รับการสนับสนุนจากชุมชน จากสังคม

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/92847

<<< กลับ

การสร้างองค์การแห่งคุณธรรม จริยธรรม (ต่อ)

การสร้างองค์การแห่งคุณธรรม จริยธรรม (ต่อ)


เราไม่ต้องมองไกลนะครับ ในประเทศไทยเรา กรณีบริษัทน้ำมันบางจาก กรณีบริษัทมติชน ที่มีปัญหา ผมอาจจะไม่สามารถพูดได้ว่าสองบริษัทนี้ดีมากน้อยแค่ไหน เอาเป็นว่าเขาได้ทำบางสิ่งบางอย่างที่สังคมเห็นคุณค่า ฉะนั้นพอมีปัญหาสังคมเข้าไปช่วยครับ นั่นคือกรณีพิเศษ แต่ในกรณีปกติแล้วถ้าธุรกิจไหนทำประโยชน์ให้สังคมมาก สังคมจะสนับสนุน ทั้งในฐานะที่เป็นลูกค้าและการสนับสนุนเรื่องอื่น และนอกจากนั้นครับปรากฏว่าพนักงานที่ทำงานในบริษัทที่รับผิดชอบต่อสังคม บริษัทที่มีคุณธรรมจริยธรรม มีความภาคภูมิใจ มีความผูกพัน มีความรัก กับบริษัท ที่เขาเรียกว่ามี Loyalty จึงกลายเป็นบุคลากรที่มีคุณค่ากับบริษัท เพราะว่าเมื่อมีความรัก ความผูกพัน ความภาคภูมิใจ อะไรจะเกิดขึ้นครับ เขาอุทิศตน เขาอุทิศเวลา เขาอุทิศสมอง เขาอุทิศกำลังใจให้ จึงทำให้พนักงานเหล่านั้นมีความภูมิใจและมีความสุขในการทำงาน ในชีวิตการทำงาน  ซึ่งมีความหมายยิ่งกว่าความสุขที่เกิดขึ้นเพราะว่าได้เงินเดือนสูง เงินเดือนสูงก็อาจจะช่วยให้มีความสุข แต่ก็อาจไม่แน่ ไม่ยั่งยืน ถ้ามีอย่างอื่นที่มากระทบในทางที่ทำให้เกิดความทุกข์ หรือความไม่พอใจแล้ว เงินเดือนสูงไม่มีคุณค่าเลย อาจจะมีบางกรณีนะครับ บางคนอึดอัดเต็มทีอยากจะออก แต่เสียดายเงิน แต่เงินเดือนดีเหลือเกิน ก็อาจจะมีอยู่บ้าง 

            แต่โดยทั่วไปกล่าวได้ว่า ความสุขนั้นเกิดจากการมีคุณธรรมจริยธรรม และการที่บุคคลเหล่านั้นได้ปฏิบัติคุณธรรมจริยธรรมเป็นความสุขในตัว ความสุขในใจ ฉะนั้นเรื่องคุณธรรมจริยธรรมกับเรื่องความสุขของพนักงาน จึงเป็นเรื่องเกี่ยวพันกัน ก็จะเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อ ทุกฝ่ายใช่ไหมครับ แต่ทีนี้การทำตัวชี้วัดนั้นไม่ยาก สนุกด้วยนะครับลองทำดู อาจจะเป็นตัวอย่างให้ที่อื่นมาเรียนรู้แล้วก็ลองไปทำบ้าง เพราะความสุขเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าท่านวัดวัดความสุขได้ทำให้เราตื่นตัว ทำให้เราสนใจ เราจะได้ดูว่า ถ้าความสุขมีแนวโน้มลดลงเพิ่มขึ้น เราจะได้มาดูว่าแล้วเราจะมาปรับปรุงอย่างไร เพื่อให้ความสุขเรามากขึ้น ถามว่าความสุขในที่นี้มีความหมายหลายมิติหลายองค์ประกอบ ซึ่งผมเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้ท่านไปคิดเองได้ ไม่ต้องให้นักวิชาการมาบอก แต่ถ้าอยากจะศึกษาจากที่เขาเคยทำกันมาก็มีครับ มีเยอะ ความสุขของคน ของครอบครัว ของชุมชน ของท้องถิ่น ระดับตำบล ระดับจังหวัด มีให้ศึกษาได้ ในประเทศออสเตรเลียมีตัวอย่างว่า เทศบาลแห่งหนึ่งเขาจะวัดความสุข เขาก็วัดหลายอย่าง แต่อย่างหนึ่งที่เขาวัดก็คือให้คนไปสังเกตดูว่าเวลาคนเดินมาเยอะ ๆ มีคนหัวเราะกี่คน คิดเป็นเปอร์เซ็นต์เท่าไร คนเดินมาหน้ามุ่ย เคร่งเครียด นั่นแปลว่าความสุขไม่ค่อยมี ก็เป็นเทคนิคนะครับ อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เป็นเครื่องชี้ได้ 

            อยากจะพูดอีกหน่อยหนึ่งครับว่า การปฏิบัติคุณธรรมและจริยธรรมไม่ใช่แปลว่าเป็นการไปทำความดี ความถูกต้อง ความเป็นธรรม ที่ไม่ใช่อยู่ในกิจการ ท่านอาจจะนึกถึงว่าทำความดีก็ไปเป็นอาสาสมัคร ไปช่วยดูแลคนแก่ คนเจ็บป่วย สมัยที่ผมเป็นผู้อำนวยการก็มีคณะอาสาสมัครวันเสาร์-อาทิตย์ก็ออกไปต่างจังหวัด ไปส่งเสริมเรื่องการทำบัญชีที่ถูกต้อง ไปส่งเสริมเรื่องปุ๋ยชีวภาพ อาจจะมีครอบครัวพนักงานติดตามไป บางคนเป็นแพทย์ไปช่วยตรวจสุขภาพ บางคนเป็นช่างตัดผมไปตัดผมให้เด็ก ก็แล้วแต่ก็มีหลาย ๆ อย่าง อันนั้นเป็นความดีครับ ดีนะครับ ควรทำนะครับ แต่ว่าความดี ความถูกต้อง ความเป็นธรรม ดีที่สุดคือต้องอยู่ในตัวกิจกรรม กิจการขององค์การ   เป็นความดีในธุรกิจของธนาคารออมสิน เป็นความถูกต้องในธุรกิจของธนาคารออมสิน เป็นความเป็นธรรม ในธุรกิจของธนาคารออมสิน ตรงนั้นจะสำคัญที่สุด แต่พร้อมกันนั้นเราสามารถจะมีความดี ความถูกต้อง และความเป็นธรรม นอกจากกิจการขององค์การด้วย ทำสองอย่างควบคู่กันไปก็ถือว่าดีที่สุด

            ท่านผู้มีเกียรติ เพื่อน ๆ ที่รักและเคารพทุกท่านครับ ผมได้พูดมา คิดว่ามากพอสมควร ในเรื่องซึ่งดูเหมือนเป็นนามธรรม บางทีก็ดูว่ายาก แต่ผมได้สรุปว่าจริง ๆ แล้วเป็นรูปธรรม แล้วก็ไม่ยาก ผมได้เสนอทั้งความหมายของคุณธรรมจริยธรรม แต่ที่สำคัญคือการปฏิบัติ ซึ่งผมเชื่อว่าท่านมีผู้นำที่ดี ท่านผู้อำนวยการผมก็รู้จักท่านมาหลายปี นึกถึงท่านทีไรก็นึกถึงเสียงหัวเราะ ท่านเป็นคนอารมณ์ดี และเห็นแก่ส่วนรวม เป็นคนที่ใจใหญ่ ท่านประธานก็รู้จักท่านมาหลายปี คณะกรรมการเห็นหน้าก็คุ้น ๆ ทั้งนั้น ดูชื่อท่านที่ไม่มาผมก็รู้จัก ก็ถือว่าวันนี้ผมดีใจได้มาพบท่านประธาน ท่านกรรมการ ท่านผู้อำนวยการและเพื่อน ๆ ที่ยังอยู่นะครับ ที่ยังอยู่แปลว่าอายุยังไม่มาก ถ้าอายุมากคงตามผมไปหมดแล้ว ที่ยังอยู่นี่ยังเป็นสาว ยังเป็นหนุ่มอยู่ มองทางนี้ก็มีหลายสาว ทางนี้ก็หลายหนุ่ม ส่วนน้อง ๆ ข้างหลัง บางคนก็ทันกัน บางคนก็ไม่ทัน ผมก็หวังว่าสิ่งที่ผมได้พูดมานี้คงเป็นประโยชน์บ้าง สำหรับท่านนำไปคิดไปพิจารณา และผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านจะมุ่งมั่นทำสิ่งนี้ แล้วก็มาร่วมเป็นเครือข่าย กับอีกหลายองค์การ อีกหลายหน่วยงาน เพราะว่ารัฐบาลนี้ก็พยายามอย่างยิ่งครับ ที่จะส่งเสริมเรื่องคุณธรรมจริยธรรม ความดี ความถูกต้อง ความเป็นธรรม รวมถึงเรื่องที่เราเรียกว่าธรรมาภิบาล รวมถึงสิ่งที่เรียกว่า เศรษฐกิจพอเพียง เศรษฐกิจพอเพียงก็เป็นความดีในตัวเอง เป็นความถูกต้องในตัวเอง เป็นความเป็นธรรมในตัวเอง เศรษฐกิจพอเพียง ความพอดี ความสมเหตุสมผล ความมีภูมิคุ้มกัน เพื่อให้เกิดความมั่นคง การใช้ความรู้ การใช้คุณธรรม ฉะนั้นเศรษฐกิจพอเพียงก็เป็นเรื่องที่เชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับเรื่องคุณธรรม จริยธรรม เรื่องความดี เรื่องความถูกต้อง เรื่องความเป็นธรรม รัฐบาลนี้ส่งเสริมเต็มที่ในทั้งเรื่องคุณธรรม จริยธรรม ธรรมาภิบาล เศรษฐกิจพอเพียงและเรื่องที่เกี่ยวพันกัน ทั้งในภาครัฐและนอกภาครัฐ ในภาครัฐก็คือ กระทรวง กรม องค์การมหาชน รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น นอกภาครัฐก็คือ สถาบันการศึกษา สถาบันศาสนา องค์การพัฒนาเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจ สื่อมวลชน และอื่นๆ ก็หวังว่า จะมุ่งมั่นทำสิ่งนี้ จะมีคุณธรรมจริยธรรม ธรรมาภิบาล เศรษฐกิจพอเพียง หรือปรัชญาพอเพียงในองค์การต่าง ๆ ในกลุ่มต่าง ๆ เพื่อการต่าง ๆ ทั้งในภาครัฐและนอกภาครัฐ ก็เชื่อว่าจะทำให้สังคมไทยดีขึ้น สังคมไทยดีขึ้นจะเป็นสังคมที่ดีงาม สังคมที่ผู้คนมีความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันนั่นก็เป็นความฝันอันสูงสุดของพวกเราทั้งหลาย ขอขอบคุณและสวัสดีครับ

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/92848

<<< กลับ

การส่งเสริมสร้างคุณธรรมสำหรับไทย (ตอนที่ 1)

การส่งเสริมสร้างคุณธรรมสำหรับไทย (ตอนที่ 1)


ปาฐกถาพิเศษ โดย นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

                                                                     รองนายกรัฐมนตรี

                                 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

                         ในโอกาสวัน “กำพล วัชรพล” จัดโดย มูลนิธิไทยรัฐ ณ อาคารสำนักงาน นสพ.ไทยรัฐ

วันที่ 27 ธันวาคม 2550

 

เรียนคุณหญิงประณีตศิลป์ วัชรพล ท่านประธานกรรมการมูลนิธิไทยรัฐ ท่านผู้มีเกียรติที่เคารพทุกท่านครับ เรื่องการเสริมสร้างคุณธรรมสำหรับสังคมไทย ควรจะเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องสำคัญ และเป็นที่น่ายินดีที่ได้มีการเคลื่อนไหวในเรื่องการเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรม ความดี กันมากขึ้นในสังคมไทย โดยเฉพาะในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน

ในโอกาสนี้ผมใคร่ขอเสนอ “บันไดวน 4 ขั้น” ในการเสริมสร้างคุณธรรมและความดี ที่เรียกว่าบันไดวน เพราะว่าเป็นขั้นบันไดที่จะต่อเนื่อง และวนเวียนขึ้นไปหรือลงมา แล้วแต่กรณี แต่เราย่อมคาดหวังว่าจะเป็นการวนขึ้นไปสู่สภาพที่ดีขึ้น ดีขึ้น และเป็นบันไดที่อาจจะเดินข้ามจากหนึ่งไปสาม กลับมาสองแล้วไปสี่ จากสี่ก็ไปหนึ่งใหม่ วนขึ้นไปเป็นลำดับ

คำว่า “คุณธรรม” หมายความได้ต่างๆ นาๆ เพื่อให้ง่าย ผมขอใช้คำว่า “ความดี” แทนคุณธรรม เพราะความดีคือสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่ดีในตัว ทำแล้วดี เกิดผลดี เช่นเดียวกับคุณธรรม คุณธรรมเป็นเรื่องที่ดี เป็นความถูกต้อง เป็นความดีงาม เป็นความเป็นธรรม เป็นเรื่องที่ดีทั้งสิ้น ฉะนั้นพูดง่ายๆ คุณธรรมคือความดี และความดีเป็นคุณธรรม ถ้าสังคมเรามีความดีมากเท่าไหร่ ต่อเนื่องลึกซึ้งมากเท่าไหร่ แพร่ขยายกว้างขวางมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นฐาน เป็นโครง เป็นพลังให้กับสังคมมากขึ้นเท่านั้น

“บันไดขั้นที่หนึ่ง” ของการเสริมสร้างความดีในสังคม คือ การค้นหาความดี เราอยากเห็นความดี เราอยากทำความดี เราอยากให้มีความดีมากๆ ในสังคม ไม่ต้องไปที่ไหนไกล มองที่ตัวเรา มองที่ครอบครัว มองที่เพื่อน มองในองค์กร ในชุมชนและในสังคม จะพบความดีมากมาย ถ้าไม่มีความดีในตัวเรา ในครอบครัว ในองค์กร ในชุมชน ในสังคม ป่านนี้เราคงย่อยยับอับจนเป็นอันมาก ถ้าไม่มีความดีอยู่ในเครือข่ายไทยรัฐ ป่านนี้คงไม่มีหนังสือพิมพ์ที่ยิ่งใหญ่ รวมทั้งงอกงามเป็นมูลนิธิไทยรัฐที่ทำประโยชน์มาก เกิดโรงเรียนไทยรัฐที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ แต่เพราะมีความดีเราจึงอยู่ดัวยกันได้และเจริญงอกงามอยู่เป็นประจำ

แต่ก็น่าแปลกใจนะครับ ในสังคม ในสื่อสารมวลชน แม้กระทั่งในการพูดจา บ่อยครั้งเหลือเกินเราทำตรงกันข้าม เราพยายามค้นหาความเลว ค้นหาความไม่ดี บางทีไม่มีความไม่ดีอยู่นะครับ แต่เราอยากเห็นความไม่ดี เราเลยไปสร้างขึ้นมาทั้งๆ ที่ ไม่มีความจริง หรือมีอยู่เล็กน้อยเราขยายให้ใหญ่ มีความดีกับความไม่ดีอยู่คู่กัน หรือมีความดีอยู่มากพร้อมกับมีความไม่ดีอยู่บ้าง เราไม่สนใจความดี แต่เราไปค้นเอาความไม่ดีขึ้นมา ถ้าเราลองตั้งสติ นั่นคือสิ่งที่ควรทำหรือไม่ควรทำ ลองคิดดู ในครอบครัวเรา ถ้าทุกวันที่เราเจอกันพ่อ แม่ ลูก เราเที่ยวค้นหาว่าลูกคนไหนมีความเลวอะไรบ้าง พ่อเลวยังไงบ้าง แม่ไม่ดียังไงบ้าง ครอบครัวนั้นคงจะไม่มีความสุขเป็นแน่แท้ ในความเป็นจริงก็มีครับ ครอบครัวที่เป็นเช่นนั้น และย่อมถึงซึ่งความเสื่อมโทรม บางครั้งหายนะ บางครั้งเป็นข่าวอื้อฉาวในสังคม เพราะความที่ค้นหาความเลวมาห่ำหั่นกัน แต่ครอบครัวส่วนใหญ่เป็นครอบครัวที่อบอุ่นมีความสุข เจอหน้า พ่อ แม่ ลูก เราคงไม่ถามว่าวันนี้ลูกทำความเลวอะไรบ้าง หรือว่าไอ้หนูทำไมแย่อย่างนี้ บ่อยครั้งที่พ่อแม่ผู้รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ค้นหาความไม่ดีของลูกและพร่ำบ่น จนลูกซึ่งมีทั้งดีและไม่ดีกลายเป็นคนไม่ดีไปเลย

จากอุทาหรณ์ง่ายๆ นี้ครับ จะเห็นว่าการค้นหาความดี สร้างคุณอนันต์ แต่การมุ่งค้นหาความไม่ดี สามารถสร้างโทษมหันต์ ผมเกี่ยวข้องกับองค์กรหนึ่งคือ “ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม” หรือ “ศูนย์คุณธรรม” มีหลักการและหลักคิดเป็นอันมากที่เราจะนำมาประยุกต์ใช้ ข้อหนึ่งคือการส่งเสริมความดีและการค้นหาความดี ได้มีการไปทำวิจัยเชิงปฏิบัติการที่เกาะลันตาใหญ่ จังหวัดกระบี่ ในชุมชนหนึ่งมีนักวิจัยเข้าไป ชวนชาวบ้านมาพูดคุย ถามว่าคนไหนเขาดียังไงบ้าง พบว่าทุกคนมีความดี ทุกคนมีจุดแข็ง ทุกคนสร้างประโยชน์ นำมาประมวลเป็นข้อมูล เอาไปติดไว้ที่ท่ามกลางหมู่บ้าน ชาวบ้านมาดู เกิดความประทับใจว่า โอ้โฮ พวกเรานี้ก็มีดีต่างๆนาๆ มากทีเดียว ถ้าเผื่อเรานำความดีมาเชื่อมโยงกัน นำมาใช้ นำมาประสานเข้าด้วยกัน เราก็สามารถเป็นหมู่บ้านที่เข้มแข็ง มีความสุขได้ไม่ยาก

ทดลองทำกรณีโรงเรียน ทีแรกไปถามเด็กนักเรียนว่ามีปัญหาหรือความไม่ดีอะไรบ้าง จะแก้ไขปัญหาอย่างไร ปรากฏว่าไม่ค่อยประสบความสำเร็จ นักเรียนไม่ค่อยสนใจ ต่อมาลองใหม่ ถามเอ๊ะพวกเรามีดีอะไรบ้าง แล้วเราจะทำให้ดีขึ้นได้ยังไง ปรากฏว่านักเรียนสนุกมีความสุข แล้วก็ทำกันมากขึ้น การค้นหาความดีเป็นยุทธศาสตร์ เป็นศิลปะ ในทางวิชาการบริหารได้มีเทคนิค ที่เรียกว่า Appreciative Inquiry (แอพพรีซิเอทีฟ อินไควเออรี่) หรือ เอไอ อีกเทคนิคหนึ่งคล้ายๆ กันที่เขาเรียกว่า เอไอซี หรือ Appreciation Influence Control (แอพพรีซิเอชัน อินฟลูเอนซ์ คอนโทรล) สองเทคนิคนี้สอดคล้องต้องกันและไปในทิศทางที่ตั้งอยู่บนหลักคิดว่า ความดี ความเข้มแข็ง ความสามารถ มีอยู่เป็นอันมาก ถ้าค้นหาให้พบ และนอกจากพบแล้วให้ความชื่นชม ให้เกียรติ ให้คุณค่า จะเกิดพลังยิ่งใหญ่ขึ้นมา คนทุกคน มีความดีมีความเข้มแข็งมีความสามารถ และคนทุกคนมีเกียรติมีศักดิ์ศรีมีคุณค่า เมื่อคนทุกคนรู้สึกมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีคุณค่า ไม่ใช่รู้สึกเพราะรู้สึกเองแต่รู้สึกเพราะว่ามีคนมาเห็นมีคนมาชื่นชม ก็เกิดกำลังใจ เกิดความภาคภูมิใจ เกิดพลังที่จะคิดและทำและพูดในสิ่งที่ดีมากขึ้น เทคนิคนี้ได้ใช้กันอย่างกว้างขวาง เป็นเทคนิคในการจัดการ ช่วยให้องค์กรทั้งเล็กและใหญ่พัฒนาก้าวหน้าได้มาก เป็นศาสตร์ที่เขียนเป็นวิทยานิพนธ์ เป็นตำรา เป็นคู่มือการบริหาร ขยายวงกว้างออกไป ฉะนั้นเรื่องการค้นหาความดี ชื่นชมความดี เป็นทั้งหลักการ และเป็นเทคนิควิธีการด้วย ที่จะทำให้ความดีปรากฏตัว เพิ่มพลัง ขยายวงมากขึ้นได้อย่างน่าอัศจรรย์ ในโรงเรียน ที่นี่ท่านทั้งหลายมาจากโรงเรียนกันมาก บางแห่งคงใช้อยู่แล้ว ซึ่งควรใช้ต่อไปโดยพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น ถ้ายังไม่ได้ใช้ก็ควรพิจารณานำมาใช้ เพราะผมเชื่อมั่นว่าเทคนิคของการค้นหาความดีนี้ เป็นเครื่องมือที่ใช้ได้จริงในการที่จะส่งเสริมคุณธรรม ส่งเสริมความดี นั่นเป็นบันไดขั้นที่1

“บันไดขั้นที่ 2” คือ การเรียนรู้ความดี ความดีหรือคุณธรรมนั้น เมื่อปรากฏอยู่ เมื่อเราค้นหามาได้ สามารถและควรที่จะนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เปรียบเทียบ เชื่อมโยง สานต่อ พัฒนาต่อ สร้างนวัตกรรมต่อ เราเรียกว่าเป็น “การเรียนรู้” การเรียนรู้คือการปฏิบัติและพัฒนา การเรียนรู้ไม่ได้หมายถึงการเรียนรู้ข้อมูลเท่านั้น การเรียนรู้ที่แท้จริงก็คือการได้ปฏิบัติและพัฒนาด้วย ท่านทั้งหลายซึ่งเป็นนักการศึกษาคงเข้าใจดี การเรียนรู้ความดีมีวิธีการได้หลายอย่าง ที่ใช้กันมากขณะนี้อย่างหนึ่งเรียกว่า “การจัดการความรู้” หรือ Knowledge Management เป็นการเรียนรู้ที่รอบด้านบูรณาการ สามารถที่จะ เกิดความซาบซึ้ง เกิดความลึกซึ้ง และเกิดการพัฒนาได้มาก เพราะการเรียนรู้เช่นนี้ นั่นคือในระบบการจัดการความรู้ ไม่ได้มีแต่สาระ แต่เข้าไปถึงจิตใจ เข้าไปถึงอารมณ์ เป็นการเรียนรู้แบบบูรณาการ ครบมิติ ครบด้าน ทำให้ความรู้ที่มีอยู่ นอกจากได้รับการค้นพบ เช่นเดียวกับการค้นหาความดีแล้ว ยังจะมีการนำมาประมวล จัดระบบ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ให้เกิดความเป็นพลวัต ความมีชีวิตจิตใจ เกิดการเคลื่อนไหว และเกิดการนำไปปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติเขาเรียกว่า เป็นผู้เรียนรู้ หรือผู้ปฏิบัติเชิงการเรียนรู้ ถ้าทำกันในกลุ่มเขาเรียกว่าชุมชนผู้ปฏิบัติหรือชุมชนที่เรียนรู้ ซึ่งในภาษาของการจัดการความรู้ จะเรียกว่าคอมมิวนิตี้ออฟแพรคทิส (Community of Practice) หรือ ซีโอพี หรือ ในภาษาของ Learning Organization (เลิร์นนิ่ง ออร์แกนไนเซชั่น) หรือองค์กรเรียนรู้ ก็เรียกว่า Learning Team หรือ Learning Group (เลิร์นนิ่งทีม หรือ เลิร์นนิ่งกรุ๊ป) คือ เป็นกลุ่มที่เรียนรู้ เป็นทีมที่เรียนรู้ ฉะนั้นการเรียนรู้ความดี จึงเป็นเครื่องมือสำคัญอีกเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยให้ความดีที่มีอยู่นั้นเกิดพลังขึ้นมา เกิดปฏิสัมพันธ์ และเกิดพัฒนาการต่อเนื่องได้เป็นอย่างดี

บันไดขั้นที่ 3 ครับ การสื่อสารความดี ในครอบครัวเราต้องสื่อสาร ครอบครัวสื่อสารไม่ยากเพราะว่ามีสมาชิกไม่กี่คน และอยู่ใกล้ชิดกัน ปัจจุบันสมาชิกครอบครัวอาจจะต้องอยู่ห่างกันบ้าง ก็มีเครื่องมือสื่อสารทำให้สื่อสารกันได้สะดวก ในองค์กร ในชุมชน เราต้องสื่อสาร ยิ่งในสังคม การสื่อสารได้กลายเป็นเรื่องสำคัญ มีทั้งคุณค่าและมีทั้งปัญหา ในสมัยรัฐบาลปัจจุบันที่ผมเข้ามาเกี่ยวข้องและเป็นรองนายกรัฐมนตรี ดูแลด้านสังคม ได้หยิบยกประเด็นเรื่องการสื่อสาร เป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่ง และได้ตั้งคณะกรรมการมาดำเนินการ ชื่อว่า คณะกรรมการสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ด้วยเห็นความสำคัญของสื่อและการสื่อสาร ที่มีทั้งคุณและโทษ คุณนั้นมากมายแน่นอนครับ ทุกวันนี้ถ้าใครไม่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารน่าจะไม่ใช่คนที่อยู่ในโลกปัจจุบัน ต้องเกี่ยวข้องและเกี่ยวข้องมากกับการสื่อสาร แต่พร้อมกันนั้นเราจะพบว่าในบทวิเคราะห์วิจารณ์ทางด้านสังคม จะพูดถึงมหันตภัยของสื่ออันตรายที่เกิดขึ้นกับเด็ก เยาวชน ครอบครัว คนทั่วไป อย่างไรก็ดี ในความพยายามของรัฐบาลปัจจุบันที่เข้ามาทำหน้าที่ชั่วคราว ในระยะเปลี่ยนผ่าน ก็มีส่วนหนึ่งที่ได้พยายามที่จะให้เกิดการพัฒนาเรื่องการสื่อสาร โดยเฉพาะสื่อสารมวลชน ในทางที่สร้างสรรค์ ที่ปลอดภัย ซึ่งรวมถึงกรณีของการจัดระดับความเหมาะสมของรายการโทรทัศน์ และการดูแลในเรื่องของการโฆษณาสินค้าทางโทรทัศน์ที่มีผลกระทบต่อเด็กและเยาวชน เป็นต้น ซึ่งอาจจะมีข้อที่ยังถกเถียง ยังวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่นะครับ โดยเฉพาะวันนี้ผมมาพูดที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ซึ่งได้มีบทวิเคราะห์วิจารณ์ทั้งในทางสนับสนุนและในทางคัดค้าน ในเรื่องการจัดระดับความเหมาะสมของรายการโทรทัศน์ แต่นั่นเป็นเรื่องธรรมดาครับที่ย่อมมีการวิเคราะห์วิจารณ์ในทางต่างๆกันได้ และก็เป็นอิสระ เป็นเสรีภาพของสื่อที่จะทำ แต่ที่แน่ๆ ก็คือว่า เห็นความสำคัญของสื่อและการสื่อสาร

มาโยงเข้าเรื่องความดีและคุณธรรม การใช้สื่อ การสื่อสาร จึงเป็นเครื่องมือสำคัญมากอีกเครื่องมือหนึ่ง ที่จะช่วยให้ความดีที่มีอยู่ได้รับการรับรู้ แพร่กระจายออกไป และไปหนุนเสริมให้เกิดความดีมากขึ้น ขยายวงมากขึ้น รายการโทรทัศน์ วิทยุ สื่อสิ่งพิมพ์ สื่ออินเตอร์เน็ต ล้วนแล้วแต่สามารถจะช่วยให้เกิดการสื่อสารในเรื่องความดีมากกว่าในเรื่องความไม่ดี เป็นที่น่าสังเกตว่า มักจะมีคำกล่าวว่าเรื่องดีๆ ขายไม่ได้ ต้องเรื่องร้ายๆ ถึงจะขายดี เป็นจริงเช่นนั้นหรือไม่ เป็นไปได้ไหมที่เรื่องดีๆ ขายได้ และเรื่องดีๆสร้างประโยชน์ได้

ในบางประเทศเช่นที่ประเทศไต้หวัน ซึ่งบังเอิญผมเคยไปมา เขามีสถานีโทรทัศน์ เป็นสถานีโทรทัศน์ที่ไม่หวังกำไร ที่เป็นสาธารณะ บริหารงานโดยไม่ใช่เป็นธุรกิจ แต่เป็นประชาสังคม มีรายได้จากการบริจาคและอื่นๆรวมถึงรายได้จากการเก็บและแยกขยะ โดยเขามีขบวนการเก็บขยะมาแปรรูปและจำหน่าย ทำเป็นขบวนการทั่วประเทศ มีอาสาสมัครตั้งแต่เด็กเล็กๆ จนกระทั่งคนแก่อายุ 70-80 บางครั้งประธานาธิบดีก็ไปช่วยเก็บขยะด้วย ได้ขยะมา แยกแยะอย่างดี นำไปจำหน่าย ซึ่งเขามีความพิถีพิถันมาก เป็นศาสตร์และเป็นศิลปะทีเดียวนะครับ ผมไปเห็นมา เช่นว่า กระดาษหนังสือนี่นะครับ เขาจะมานั่งตัด ที่เป็นสีนั้นแยกไปอีกพวกหนึ่ง ขาวดำอีกพวกหนึ่ง เพราะมูลค่าต่างกัน ถ้าเป็นสายไฟ เขาจะมีวิธีเอาปลอกสายไฟนั้นออกให้เหลือแต่ทองแดง เพราะถ้านำขยะไปจำหน่ายระหว่างที่แยกอย่างมีหลักวิชาและอย่างพิถีพิถันกับไม่แยก ราคาจะต่างกันเยอะ ผลคือการเก็บขยะของเขา สามารถนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการสถานีโทรทัศน์ซึ่งทันสมัย และเทียบเคียงกับสถานีโทรทัศน์ของธุรกิจได้เลย เขาสามารถมีรายได้จากการเก็บขยะถึง 25% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ที่เหลือก็มาจากการบริจาค และจากการโฆษณาที่มีแต่การแสดงชื่อบริษัท ไม่มีการโฆษณาสินค้า ปรากฏว่ารายการของโทรทัศน์แห่งนี้มีแต่เรื่องดีๆพร้อมกับเป็นที่นิยมของประชาชนด้วย

ในการนำเสนอเรื่องการทำความดี เขามีศิลปะ มีเทคนิควิธีการ ทำให้คนชอบและนิยม นั่นคือคนซื้อนั่นเอง ทำให้สถานีโทรทัศน์แห่งนี้ได้รับการจัดอันดับอยู่ในลำดับต้นๆ หนึ่งหรือสองหรือสามของสถานีโทรทัศน์ในประเทศ นี่เป็นตัวอย่าง และก็มีสถานีโทรทัศน์ทำนองนี้อีกหลายช่องที่ประเทศไต้หวัน แสดงว่าเรื่องดีๆ ทำให้ขายได้ ก็ได้ ในประเทศไทยเรา ผมเคยได้ยินคำบอกเล่าจากสื่อมวลชนอาวุโส ซึ่งเกี่ยวข้องกับหนังสือพิมพ์ไทยรัฐด้วยว่า มีแน่นอนที่ว่าเรื่องดีๆ ขายได้ เพราะเขาเคยเขียนเล่าเรื่องที่เป็นการทำความดี ปรากฏว่าคนอ่านกันมากเลย นิยมกันมากเลย และถามหาเขียนจดหมายมาโทรศัพท์มามากมาย ก็แปลว่าเรื่องดีๆนั้นขายได้ครับ แต่ต้องมีศิลปะ มีวิธีการให้ดีนะครับ

ฉะนั้นถ้าเรามีการค้นหาความดี เรามีการเรียนรู้ความดี เราสามารถจะสื่อสารความดีให้เป็นที่รับรู้ ให้เป็นที่สนใจ และประทับใจ ผมเชื่อว่ารายการโทรทัศน์ที่ดีๆ ก็มีใช่ไหมครับขณะนี้ ที่คนนิยมกัน แต่บางรายการน่าเสียดายที่ว่าที่คนนิยมนั้นน่ะ ไม่ใช่เป็นของไทย เป็นของต่างประเทศ แต่ก็แปลว่าเรื่องดีๆ ขายได้ แล้วคนไทยก็น่าจะทำได้ ทำออกมาให้สื่อของเรา ได้สื่อสารความดีเป็นหลัก เรื่องดีๆก็จะแพร่ขยายออกไป เราก็จะอยู่ในบรรยากาศของความดี มีจิตใจ อารมณ์ ได้คิดได้ฟังได้เห็นในเรื่องที่ดี เมื่อคิดเรื่องที่ดี ก็จะไปทำเรื่องที่ดี พอเราคิดเรื่องที่ดี ทำเรื่องที่ดี อยู่ในบรรยากาศของความดีมากขึ้นๆ เรื่องไม่ดีจะลดไปเองโดยปริยาย

กลับมาพูดถึงในระดับครอบครัว ถ้าเราค้นหาความดี เรียนรู้ความดี สื่อสารความดีกันในครอบครัว ทำเรื่องดีๆ ไปมากๆ เรื่องไม่ดีจะน้อยลงหรือหมดไปเลย ที่แม่อาจจะมีจุดอ่อนบ้าง พ่ออาจจะทำอะไรไม่ดีบ้าง ลูกอาจจะเกเรบ้าง แต่พอเราเน้นเรื่องความดี ทำเรื่องดีไห้มากๆ ส่วนที่ไม่ดีจะค่อยๆหายไป แต่ตรงกันข้าม ถ้าเราไปหยิบยกความเลวขึ้นมาด่าทอกัน เอาเรื่องความเลว มากล่าวหากัน ชี้หน้าว่ากัน ความเลวจะยิ่งมากขึ้น ซึ่งรวมถึงการทำความเลวที่เป็นการประชดด้วย

ตัวอย่างเช่น เมื่อต้นปีที่ผ่านมา พอผมเข้ามารับหน้าที่รองนายกรัฐมนตรี ปัญหาแรกที่ต้องจัดการคือปัญหาหมอกควันที่ภาคเหนือ ผมก็รีบไปจัดการ เพราะในด้านการดูแลพื้นที่ผมได้รับมอบหมายให้ดูแลภาคเหนือตอนบนด้วย ซึ่งมีปัญหาหมอกควัน ก็ไปจัดการ ซึ่งเรื่องหมอกควันนี้เป็นเรื่องยาว แต่ว่ามีอยู่ประเด็นหนึ่ง ที่เกี่ยวกับการทำความไม่ดีเพื่อประชด คือ ราชการด้วยความที่ไม่เข้าใจเรื่องของชาวบ้าน โดยเฉพาะชาวเขา ก็ไปออกกติกาบังคับโน่นบังคับนี่เกี่ยวกับการเผาป่า ซึ่งชาวเขาเขาไม่เข้าใจ หรือเขาทำตามไม่ได้ พอเขาทำตามไม่ได้ ก็ถูกจับถูกลงโทษ ชาวเขาจำนวนหนึ่งเลยเผามากขึ้นเป็นการประชด คือในส่วนที่เขาทำดีเราอาจไม่ได้ไปค้นพบและชื่นชมให้มากพอ แต่เราเที่ยวไปคิดว่าเขาทำไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ และไปกล่าวหาเขา ไปจับเขามาทำโทษ ผลจึงออกมาว่า ที่เขาเคยทำดีเลยเลิกทำ แล้วมาทำสิ่งที่ไม่ดีเป็นการแก้แค้น เป็นการประชด เขาพูดเองนะครับ ว่าบางทีเขาก็เผาเพื่อประชด เพราะว่าเขาทำดีไปไม่มีใครรับรู้ ไม่มีใครชื่นชม และยังถูกจับอีก ถูกกล่าวหาอีก อย่างนี้เป็นต้นนะครับ จึงเป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนด้วยว่าเรื่องความดีนั้น เราควรพยายามค้นหา พยายามชื่นชม พยายามเรียนรู้และพัฒนา พยายามสื่อสาร จึงจะเป็นผลดีและเกิดประโยชน์

คราวนี้ก็มาถึง บันไดขั้นที่ 4 คือ การขับเคลื่อนความดี ความดีเป็นทุน ความดีเป็นประโยชน์ ความดีเป็นเครื่องมือ เป็นปัจจัย ถ้าขับเคลื่อนให้เคลื่อนไหว ให้เชื่อมโยง ให้ประสาน ให้เกิดพลัง ถ้าไม่ทำลึก ก็ทำกว้าง ความดีจะงอกเงย มีพลังมากขึ้น เกิดประโยชน์มากขึ้น ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่า ในระยะหลังๆ ที่ผมกล่าวตั้งแต่ตอนต้นว่าได้มีขบวนการความดีมากขึ้น องค์กรที่ผมกล่าวถึงเมื่อตอนต้น คือ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม หรือศูนย์คุณธรรม เป็นองค์กรหรือองค์การของรัฐ เป็นองค์การย่อยอยู่ในองค์การมหาชน ที่ชื่อว่า สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ หรือ สบร. เป็นองค์การมหาชนในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี มีองค์การย่อยซึ่งเคยมีอยู่ 7 องค์การย่อย แต่ปัจจุบันได้มีการควบรวมเหลือ 5 องค์การย่อย

ศูนย์คุณธรรมเป็นหนึ่งใน 5 องค์การย่อยนั้น ซึ่งได้ใช้กระบวนการขับเคลื่อนความดี ด้วยการส่งเสริมให้มีการจัดประชุมสัมมนาที่เรียกว่าสมัชชาในระดับพื้นที่ ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในระดับพื้นที่ที่เป็นจังหวัด และหลายๆจังหวัดก็มาร่วมกันจัดสมัชชาระดับภาค แล้วปีหนึ่งก็มาจัดสมัชชาระดับชาติ ซึ่งจัดมาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งที่ 2 เมื่อต้นปี 2550 สมัยรัฐบาลปัจจุบัน ใช้หัวข้อว่า “ถึงเวลาคุณธรรมนำสังคมไทย” ผลการจัดสมัชชา ทำให้ได้ข้อสรุปซึ่งนำเสนอต่อรัฐบาลด้วย ขณะเดียวกันสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้หยิบยกเรื่องคุณธรรมความดีขึ้นมา แล้วมีข้อเสนอมาที่รัฐบาล รัฐบาลก็ดำเนินการตามข้อเสนอ ซึ่งรวมถึงการยกร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการส่งเสริมคุณธรรม อย่างไรก็ดีร่างพระราชบัญญัตินี้ ไม่สามารถจะผ่านการพิจารณาเสร็จสิ้นไปสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ ยังวนเวียนอยู่ในระดับของรัฐบาล แต่ก็ได้มีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีขึ้นมาว่าด้วยการส่งเสริมคุณธรรม อย่างไรก็ตาม เรื่องการขับเคลื่อนคุณธรรมด้วยการส่งเสริมให้มีสมัชชาในระดับจังหวัด ระดับภาค ระดับชาติ ได้ทำมาปีนี้เป็นปีที่ 3 นะครับ ได้ทำมาจนกระทั่งถึงขั้นที่จะจัดสมัชชาระดับชาติ ในปลายเดือนมกราคมที่จะถึงนี้ ซึ่งคาดว่าจะยังอยู่ในสมัยรัฐบาลนี้นะครับ เว้นแต่รัฐบาลใหม่ตั้งได้รวดเร็วมาก จนกระทั่งรัฐบาลนี้ต้องพ้นหน้าที่ไปก่อนปลายเดือนมกราคม แต่เรื่องรัฐบาลนี้รัฐบาลหน้าไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าการขับเคลื่อนความดี ในลักษณะที่เป็นขบวนการ คือไม่ได้ทำกันเรื่องเดียวหรือจุดเดียว ถ้าจัดสมัชชาระดับพื้นที่ หรือท้องถิ่น หรือจังหวัด แปลว่าคนที่นั่นเขามาพบปะพูดคุยกันว่า เรื่องคุณธรรมความดีนั้นเป็นอย่างไร มีอยู่แล้วแค่ไหน ยังไม่มีแค่ไหน หรือมีสิ่งที่ไม่ดีอะไรบ้าง แล้วเราควรจะทำอะไรอีก เพื่อให้พื้นที่ของเรา ท้องถิ่นของเรา จังหวัดของเรา ดีขึ้น มีคุณธรรม มีความดีมากขึ้น นำไปสู่ชุมชนและสังคมที่ดีขึ้น

ชุมชนและสังคมที่ดีขึ้น จะเป็นชุมชนและสังคมที่มีความสุขด้วย ซึ่งสามารถจำแนกต่อไปได้ว่าความสุขมีอะไรบ้าง ความสุขทางร่างกาย สุขภาพดี ความสุขทางจิตใจ มีจิตใจเป็นปกติสุข ความสุขทางสังคม หมายถึงอยู่ร่วมกันแล้วเป็นปกติสุข มีสันติสุข ความสุขที่สามารถมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี มีปัจจัย 4 เพียงพอ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย ความสุขที่ได้พัฒนาสติปัญญาผ่านการศึกษา ความสุขที่มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ความสุขที่มีสิ่งแวดล้อมที่ดีพอ ความสุขที่ระบบการเมืองการปกครองเอื้ออำนวยให้สิทธิเสรีภาพ ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการตนเอง ก็แล้วแต่จะจำแนกไปว่าความสุขมีอะไรบ้างนะครับ จะเรียกว่าความสุขมวลรวม หรือ Gross Happiness ก็ได้ ซึ่งขณะนี้ได้มีขบวนการระดับประเทศที่เขาเรียกว่า GNH หรือ Gross National Happiness ที่จะมาแทนหรือเสริม GNP หรือ GDP คือ Gross National Product หรือ Gross Domestic Product พอดีเห็นหน้าคุณสมชาย กรุสวนสมบัติ ท่านเคยเป็นรองเลขาธิการสภาพัฒน์ฯ ซึ่งทำเรื่องรายได้ประชาชาติ ทำเรื่องการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไม่ใช่สิ่งเดียวที่ประชาชนต้องการถูกไหมครับ ดังคำกล่าวสมัยคุณสมชายยังอยู่ที่สภาพัฒน์ฯว่า พัฒนามา 7 แผนหรือแผน 1-7 ได้ผลคือเศรษฐกิจดีแต่สังคมมีปัญหาและการพัฒนาไม่ยั่งยืน ฉะนั้นแผน 8 จึงหันมาเน้นการพัฒนาคนและสังคม แผน 9 ยังคงเน้นการพัฒนาคนและสังคมโดยมีปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญานำทาง แผน 10 เจริญรอยตามแผน 8 และ 9 โดยตอกย้ำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอีกครั้งหนึ่ง และมีเป้าหมายสูงสุดหรือวิสัยทัศน์การพัฒนาว่า “สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” ซึ่งการพัฒนาประเทศให้เกิดความสุขจะต้องรวมถึงการมีสิ่งแวดล้อมที่ดีด้วย เช่น วันนี้เราพูดถึงเรื่องโลกร้อน โดยจะต้องพัฒนาสังคมให้อยู่ได้ในโลกโดยที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เพราะถ้าทำลายไปแล้วจะกลับมาเป็นมหันตภัยกับประชาชนกับมนุษย์

(ยังมีต่อ)

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/157162

<<< กลับ

การส่งเสริมสร้างคุณธรรมสำหรับไทย (ตอนที่ 2)

การส่งเสริมสร้างคุณธรรมสำหรับไทย (ตอนที่ 2)


ฉะนั้นในการขับเคลื่อนความดี วิธีหนึ่ง คือการจัดสมัชชาเพื่อจะดูเรื่องความดี เรื่องคุณธรรมเป็นอย่างไร มีอยู่แล้วอย่างไร ยังไม่มีอะไร ควรจะและไม่ควรจะทำอย่างไร เพื่อให้เกิดคุณธรรมความดี และนำไปสู่การมีชีวิต มีชุมชน มีสังคมที่ดี ที่มีความความสุขแบบหลายๆ มิติ แบบหลายๆอย่าง ที่จะเรียกว่าแบบบูรณาการก็ได้ คำว่า ความสุขนี้บ้างครั้งเราเรียกว่าสุขภาวะ คือภาวะที่เป็นสุข ภาษาอังกฤษคือ Health หรือสุขภาพ ซึ่งประกอบด้วย สุขภาพทางกาย ทางใจ ทางปัญญาหรือทางจิตวิญญาณ และทางสังคม การจัดสมัชชาเช่นนี้จะเกิดเป็นขบวนการขึ้นในระดับชุมชนหรือระดับท้องถิ่น ระดับจังหวัด ระดับภาค แล้วขึ้นมาระดับชาติ

ในปีที่ผ่านมาเราได้เห็น ในระบบการศึกษา ที่กระทรวงศึกษาธิการ ได้ใช้แนวคิดและยุทธศาสตร์ ที่ใช้คำว่าคุณธรรมนำความรู้ ใช่ไหมครับ แล้วก็ส่งเสริมให้เกิดขึ้นในสถาบันการศึกษาต่างๆ โรงเรียนหลายแห่งเป็นโรงเรียนวิถีพุทธ หรือวิถีธรรม ซึ่งมีดีกรีหรือความเข้มต่างๆกัน โรงเรียนไทยรัฐหลายแห่งก็เป็นโรงเรียนวิถีพุทธ ผมเคยไปเยี่ยมโรงเรียนไทยรัฐบางแห่งเหมือนกัน โดยที่ไม่ได้จงใจจะไปโรงเรียนไทยรัฐ แต่ว่าไปโรงเรียนที่ดีบังเอิญเป็นโรงเรียนไทยรัฐ ก็ถือว่าโรงเรียนไทยรัฐ เป็นโรงเรียนอยู่ในกลุ่มที่ดีหลายแห่ง นี่เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการที่ใช้เรื่องคุณธรรมนำความรู้ โดยทำให้เป็นระบบ เป็นขบวนการ มีการขับเคลื่อนให้เกิดพลังขึ้นมา ผมไม่แน่ใจว่าอีกเรื่องหนึ่งเป็นขบวนการแค่ไหนที่มีข้อความว่าคุณธรรมนำไทย เอาเป็นว่าถือเป็นความพยายามส่วนหนึ่ง ที่จะให้เรื่องคุณธรรมเรื่องความดี ไปเป็นกำลังขับเคลื่อนในสังคม

ดังนั้นบันไดขั้นที่ 4 ที่เป็นการขับเคลื่อนความดี จึงรวมถึงขบวนการหลายๆอย่างที่กล่าวมา ที่จะให้ความดีเป็นขบวนการ ไม่ใช่เป็นแค่อุดมการณ์ หรือเป็นแค่จินตนาการที่อยากมีความดี แต่ทุกวันนี้เรามักพูดถึงเรื่องความเลว แล้วเราก็ได้แต่บ่นว่า ไอ้นั่นไม่ดี ไอ้นี่ไม่ดี แต่ถ้าเราให้เรื่องความดีเป็นขบวนการ แปลว่าเราคิดเรื่องความดี เราทำเรื่องความดี แล้วเราพยายามเชื่อมต่อ เชื่อมประสานกันให้เกิดเป็นขบวนการ ตั้งแต่ระดับย่อยไปถึงระดับใหญ่ เริ่มจากระดับตัวเอง ระดับครอบครัว ระดับชุมชน ระดับองค์กร ซึ่งไทยรัฐเป็นองค์กร ระดับสถาบัน เช่น โรงเรียน สถาบันการศึกษา สำหรับระดับชุมชน หรือท้องถิ่น อาจจะเป็นหมู่บ้าน เป็นตำบล เป็นเขตเทศบาล หรือใหญ่ขึ้นไปเป็นพื้นที่ระดับจังหวัด ทั้งหมดนี้ควรทำให้เป็นขบวนการ ขบวนการอาจจะเป็นแบบทำทุกเรื่องในพื้นที่เดียวกัน อย่างนี้เราเรียกว่าขบวนการเชิงพื้นที่ หรืออาจเป็นขบวนการเชิงประเด็น เช่นเป็นขบวนการเรื่องความซื่อสัตย์ ขบวนการเรื่องความสามัคคี ขบวนการเรื่องความกตัญญู ก็สามารถจะสร้างเป็นขบวนการได้

อย่างไรก็ดีในเรื่องสร้างขบวนการนี้ ถ้าจะคิดให้ละเอียด ให้ลึก ให้กว้าง คงมีประเด็นอีกมิใช่น้อย ที่จะทำให้ขบวนการนี้เกิดผลสำเร็จได้จริง เกิดพลังได้จริง ซึ่งผมเห็นว่า ถ้าจะทำให้ขบวนการความดีมีพลังอย่างเต็มที่ ควรจะต้องมองปัจจัยสำคัญๆ ที่มีผลต่อการมีความดีต่อการมีคุณธรรมด้วย 

ปัจจัยสำคัญข้อที่ 1 ซึ่งผมเองเห็นว่าสำคัญมาก คือ โครงสร้างในสังคม ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างทางการปกครองหรือโครงสร้างทางสังคมที่มีสถาบันต่างๆ โครงสร้างนี้มีผลอย่างสำคัญต่อเรื่องความดี เรื่องคุณธรรม แต่บางครั้งเราชินอยู่กับโครงสร้าง เราก็รับผลของโครงสร้าง เช่น โครงสร้างทางการเมืองการปกครองที่รวมศูนย์อำนาจ ทำให้เกิดอำนาจที่ส่วนกลาง แล้วเกิดช่องทางที่จะทำสิ่งที่ใช้อำนาจ ซึ่งโยงกับการได้รับผลประโยชน์อันมิชอบ กลายเป็นเรื่องทุจริตคอรัปชันต่อกันเป็นทอดๆ ถ้าถามว่าทำไมประเทศไทยมีการทุจริตกันมาก ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากโครงสร้างที่ไม่เหมาะสมนี่เอง ฉะนั้นเรื่องโครงสร้างในสังคม รวมถึงระบบต่างๆที่ประกอบกันเป็นโครงสร้าง จึงเป็นเรื่องสำคัญ

ปัจจัยสำคัญ ข้อที่ 2 คือ นโยบาย ได้แก่ นโยบายของรัฐ นโยบายของหน่วยงาน นโยบายระดับจังหวัด นโยบายระดับเทศบาล นโยบายที่ออกมาในรูปของกฎหมาย กติกาต่างๆ เหล่านี้จะมีผลอย่างสำคัญต่อเรื่องคุณธรรมความดี นโยบายที่ดีและเหมาะสม จะช่วยกระตุ้นหรือเอื้ออำนวยต่อการทำความดี ตรงกันข้าม นโยบายที่ไม่ดีหรือไม่เหมาะสม จะเพาะเชื้อความไม่ดีและนำไปสู่การทำสิ่งที่ไม่ดี

ปัจจัยสำคัญ ข้อที่ 3 เป็นเรื่องของวัฒนธรรม วัฒนธรรมที่สั่งสมมานับ สิบๆปี หรือเป็นร้อยๆปี วัฒนธรรมไทยชนิดหนึ่งที่กล่าวขวัญกันมากว่ามีทั้งคุณ และมีทั้งโทษ คือ วัฒนธรรมอุปถัมภ์นิยม เรานิยมการอุปถัมภ์ เรามีผู้ใหญ่ เรามีผู้น้อย เรามีผู้ให้ เรามีผู้รับ ในแง่หนึ่งเป็นข้อดีครับ เป็นความเมตตา กรุณา เอื้ออาทร ช่วยเหลือเกื้อกูล แต่พร้อมกันนั้นก็ทำให้เกิดความสัมพันธ์เชิงอำนาจบารมีที่ไม่เท่ากัน ที่ทำให้เกิดการเอาเปรียบ เกิดการเอาประโยชน์ เกิดการใช้ระบบอุปถัมภ์ เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ หรือเพื่อประโยชน์ของตนและพวกพ้องที่ไม่สุจริต หรือไม่ถูกต้อง หรือไม่เป็นธรรม นั่นคือเอื้อต่อการทำสิ่งที่ไม่ดีบางประการ หรือหลายประการ ฉะนั้นวัฒนธรรมจึงเป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่มีผลต่อการทำความดีหรือไม่ดี แต่วัฒนธรรมนั้นไม่ใช่สิ่งที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้โดยเร็ว วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่สร้างสม ถ้าจะเปลี่ยนแปลงต้องค่อยๆเปลี่ยน และต้องเปลี่ยนโดยประชาชนนั้นเอง จะไปบังคับไม่ได้ เช่นในอดีตเคยมีผู้บริหารประเทศพยายามจะบังคับการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรม ก็ทำได้ระดับหนึ่ง แต่จะมีปฏิกิริยาตอบกลับ สิ่งใดที่ไม่ได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แล้วไปบังคับให้ทำก็จะมีปฏิกิริยาเสมอ และอาจจะย้อนกลับมาเป็นอย่างเดิม

ปัจจัยสำคัญ ข้อที่ 4 ได้แก่ ความสามารถในการจัดการ เรื่องนี้สำคัญมาก เราอาจจะมีความคิด มีระบบ มีขบวนการต่างๆ แต่ในการดำเนินการอะไรนั้น เรื่องการจัดการสำคัญมาก ไม่ว่าจะเป็นการจัดการมาตรการ การจัดการองค์กร การจัดการระดับพื้นที่ เช่น ตำบล เทศบาล การจัดการระดับจังหวัด และท้ายสุดคือการจัดการระดับประเทศ ที่ผมมีโอกาสได้เข้าไปอยู่ในรัฐบาล ก็ได้เห็นมิติของการจัดการในระดับรัฐ ทำให้ผมมีข้อคิดหลายๆอย่าง ในเรื่องการจัดการของรัฐ แต่เนื่องจากว่ารัฐบาลนี้มาอยู่เพียงช่วงสั้น ผมเองก็มีหน้าที่จำกัด ฉะนั้นจะไปเปลี่ยนแปลงอะไรมากคงไม่อยู่ในวิสัยที่จะทำได้หรือควรทำ เพราะการเปลี่ยนแปลงระบบการจัดการโดยเฉพาะของรัฐ ต้องใช้เวลา

อย่างก็ตาม การจัดการจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราสามารถขับเคลื่อนเรื่องราวต่างๆได้สำเร็จ หรือทำให้เกิดผลในทางที่ดีขึ้น เช่นเดียวกับที่การจัดการช่วยให้ธุรกิจ เช่น ไทยรัฐ เป็นต้น เจริญเติบโต ยิ่งใหญ่ได้ แต่ใช้เวลาใช่ไหมครับ และต้องใช้ความสามารถในการจัดการสูง ในระบบการเมืองการปกครองก็ต้องใช้การจัดการเป็นอันมาก ฉะนั้นการจัดการจึงเป็นปัจจัยสำคัญอีกส่วนหนึ่งที่จะมีผลต่อการขับเคลื่อนเรื่องคุณธรรมความดี

สำหรับการขับเคลื่อนความดีในระดับท้องถิ่น ในระดับหมู่บ้านหรือตำบล มักจะรวมอยู่หรือบูรณาการอยู่ ในระบบหรือกระบวนการของการพัฒนาท้องถิ่นหรือการพัฒนาชุมชน ที่ส่งเสริมให้ชาวบ้านเป็นคนคิดเป็นคนทำ ซึ่งได้พบว่าชาวบ้านมีความสามารถสูงที่จะคิดที่จะทำ รวมถึงที่จะจัดการตนเอง ให้ดีขึ้นๆและทำกันได้มากขึ้นๆเป็นลำดับ เกิดเป็นขบวนการที่รวมถึงการจัดประชุม สัมมนา สมัชชา และอื่นๆ ขยายวงมากขึ้น นำไปสู่การพัฒนาทั้งเศรษฐกิจ จิตใจ สังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม ตลอดจนคุณธรรมความดี บูรณาการกันไปหมดนะครับ ซึ่งแสดงว่าเรื่องความดี เรื่องคุณธรรม ไม่ใช่เป็นเรื่องที่แยกออกจากเรื่องอื่นๆของชีวิตและของชุมชนหรือสังคม แต่เป็นเนื้อในของเรื่องต่างๆ เป็นเนื้อในของเรื่องโดยรวมของชีวิต ของชุมชน ของสังคม รวมถึงขององค์กรและสถาบัน เช่นหนังสือพิมพ์และโรงเรียน ความดีเป็นเนื้อในอยู่ในหลาย ๆ ด้าน ของสิ่งที่เรียกว่าชีวิต ชุมชน สังคม องค์กร และสถาบันต่างๆ

ท่านผู้มีเกียรติครับ ผมได้พูดมาพอสมควรเกี่ยวกับเรื่องการเสริมสร้างคุณธรรมในสังคม ซึ่งผมขอใช้คำง่าย ๆ ว่าเป็นการเสริมสร้างความดีในสังคม โดยใช้แนวคิดหลัก ได้แก่ บันไดวน 4 ขั้น ที่ใช้คำว่าบันไดวน เพื่อให้เห็นว่าไม่ได้จบ ไม่ใช่ว่าหนึ่งแล้วต้องไปสอง สองแล้วต้องไปสาม สามแล้วต้องไปสี่ แล้วจบ แต่วนไปเรื่อยๆครับ และวนแบบไม่ต้องตามลำดับเสมอไป อาจจะวนแบบหนึ่ง สอง สาม สี่ หรือหนึ่ง สอง สี่ สาม หรือสอง หนึ่ง สาม สี่ สำคัญที่ว่าเป็นการส่งเสริมความดีที่วนขึ้นไปเรื่อยๆ วนขึ้นอย่างต่อเนื่อง ช่วยให้ทำได้ดีขึ้นๆ ขยายวงมากขึ้นๆ เป็นขบวนการใหญ่ขึ้นๆ

ผมยังมีความเชื่อมั่นว่าในสังคมไทยมีความดีอยู่เป็นอันมาก คนไทยหรือมนุษย์ทุกคนครับ มีความดีอยู่เป็นหลัก ความไม่ดีเป็นรอง ถ้าคิดอย่างนี้ เชื่ออย่างนี้ แล้วค้นหาความดีอยู่เสมอ เรียนรู้ความดีอยู่เสมอ สื่อสารความดีอยู่เสมอ ขับเคลื่อนความดีอยู่เสมอ ผมก็มั่นใจว่า ชีวิตของคนไทยจะดีขึ้นได้ ชุมชนดีขึ้นได้ องค์กรและสถาบันดีขึ้นได้ สังคมหรือประเทศดีขึ้นได้ รวมถึงมนุษยชาติก็จะดีขึ้นได้ ด้วยการเอาความดีเป็นหลัก เอาความดีเป็นแกน เอาความดีเป็นเครื่องมือ และความดีเป็นเป้าหมาย

สุดท้ายนี้ ผมขอเอาใจช่วยท่านทั้งหลายที่มีภารกิจหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นการบริหารสถาบันการศึกษา การบริหารองค์กร การบริหารครอบครัว และรวมถึงการบริหารตนเองด้วยนะครับ ให้ท่านสามารถใช้ความดีที่มีอยู่ในตัวท่าน ในองค์กรของท่าน ในหน่วยงานของท่าน ในชุมชนที่ท่านอยู่ แล้วก็ขยายวง จับมือ เชื่อมโยงความดีทั้งหลาย ขับเคลื่อนเป็นขบวนการอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่ชีวิต องค์กร สถาบัน ชุมชน และสังคม ที่ดีขึ้นๆ เป็นลำดับ บังเกิดเป็นทั้งความสุข ความพอใจ ความเจริญรุ่งเรืองของท่านทั้งหลาย พร้อมๆ กับความสุข ความเจริญ ความรุ่งเรืองของส่วนรวม ขอบคุณครับ

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/166102

<<< กลับ

ความเห็นเกี่ยวกับวิกฤตการเมืองไทย

ความเห็นเกี่ยวกับวิกฤตการเมืองไทย


(จากสกู๊ป “3 ผู้อาวุโสแนะผ่าทางตัน เลี่ยง ‘สงครามกลางเมือง’” ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 8 กันยายน 2551 หน้า 2)

                                                                                                   ความเห็นของ ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

                                                                                                  อดีตรองนายกรัฐมนตรี

พอจะเห็นทางออกของประเทศในยามนี้หรือไม่

                จริงๆ แล้วการดูแลและจัดการบริหารประเทศเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบ ไม่ว่าจะเกิดปัญหาอะไร จะดีหรือไม่ดีก็ตาม รัฐบาลต้องจัดการให้เรียบร้อย ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ ส่วนฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ ก็ทำหน้าที่ของตัวเองไป ขณะที่ในส่วนของประชาชนควรเข้ามามีส่วนร่วม แต่ปัญหาคือตอนนี้ประชาชนถูกแยกเป็นกลุ่มๆ จึงเข้าไปจัดการลำบาก แต่รัฐบาลยังเป็นหนึ่งเดียวกันอยู่ ดังนั้น หลายฝ่ายจึงเห็นตรงกันว่า หากต้องการให้ความขัดแย้งคลี่คลายควรใช้สันติวิธี แต่ในทางปฏิบัติมีรายละเอียดที่ซับซ้อนมาก

                เราต้องหาคนกลางซึ่งเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย และไม่ใช่การตั้งโต๊ะนั่งเจรจากันเลย เพราะต้องผ่านหลายขั้นตอนและค่อยๆ ไป หาจุดเริ่มต้นให้ได้ก่อน อาจไม่จำเป็นต้องใช้เวลามาก แม้ไม่สำเร็จก็ต้องพยายามต่อไป เพื่อหาวิธีให้คู่ปรปักษ์ได้คุยกันซึ่งเป็นเรื่องยาก

แต่ปัญหาเฉพาะหน้าขณะนี้คือทั้ง 2 ฝ่ายกำลังเผชิญหน้ากัน 

                ต้องทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายตระหนักว่าการใช้ความรุนแรงไม่ใช่ทางออก ควรหาทางพูดจากัน แต่ตอนนี้รัฐบาลไม่อยากพูด พันธมิตรก็ไม่อยากพูด ยังดีที่มีคนอื่นเห็นว่าควรมีการพูดจากัน พูดทีละฝ่ายก็ได้แล้วค่อยๆ ขยับขึ้นไปซึ่งตรงนี้เป็นศิลปะ การที่เสนอให้ประธานวุฒิสภาเข้ามาทำหน้าที่นี้ก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องทำกันหลายขั้นตอน เรื่องนี้คล้ายกับปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งคู่ปฏิปักษ์คือรัฐและฝ่ายต่อต้าน เพียงแต่ภาคใต้ยากกว่าเพราะไม่รู้ว่าเป็นใคร และทั้งคู่ต่างใช้ความรุนแรงกันแล้ว จึงไม่รู้ว่าอีกฝ่ายหนึ่งควรพูดคุยกับใคร แต่ที่นี่รู้แล้วว่าเป็นกลุ่มพันธมิตร                     จริงๆ แล้วสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้ก็มีสิ่งดีๆ เกิดขึ้นเหมือนกัน คือประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในเหตุการณ์บ้านเมืองมากขึ้น เรื่องการใช้ความรุนแรงก็มีการออกมาต่อต้านกันมาก

พูดกันว่าหากปล่อยให้สถานการณ์เป็นไปในลักษณะนี้อาจกลายเป็นสงครามกลางเมือง

                ทุกอย่างเป็นไปได้ทั้งนั้น เพราะการเกิดแผ่นดินไหวทุกครั้งมาจากการสะสมแรงกดดันทีละน้อย ดังนั้น เราต้องเปลี่ยนทิศทางการสะสมจากแรงกดดันมาสู่การผ่อนคลาย โดยเชื่อมต่อและพูดคุยกัน ยิ่งถ้ารัฐคิดอยากทำเรื่องสันติวิธีจะง่ายขึ้น ซึ่งตอนนี้ยังไม่แน่ใจว่ารัฐคิดเรื่องนี้หรือไม่ จริงๆ แล้วเคยมีคำสั่งของนายกรัฐมนตรี 187/2546 พูดถึงแนวทางและวิธีการสันติวิธีไว้แล้ว ดังนั้น หากริเริ่มโดยรัฐ ทุกอย่างจะง่ายขึ้นโดยมีปัจจัย 3 ประการ คือ 1.การสร้างกระบวนการและวิธีจัดการ 2.ทัศนคติในการสร้างบรรยากาศ และ 3.เรื่องสาระ 

                หากทั้ง 2 ข้อแรกไม่เกิดขึ้นก็ไม่อาจเกิดสาระที่ดีได้

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/207030

<<< กลับ